วันอังคารที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2553

เปราะบาง (๒)

๏ แล้วเพลง "เปราะบาง" ก็แว่วมา
และแล้วน้ำตาก็เริ่มไหล
ทั้งที่คิดว่าเข้มแข็งแล้วนะใจ
เหตุใดจึงร้องไห้ง่ายเพียงนี้

๏ ฉันคงเป็นคนอ่อนแอ
คนขี้แพ้ผู้อ่อนไหวไร้ศักดิ์ศรี
เสียใจก็ร้องไห้ทุกที
แล้วก็เขียนบทกวีปลอบใจตน

๏ เขียนถึงรักที่จากไปไม่หวนกลับ
เขียนถึงรักที่แตกดับใจสับสน
วกวน,วกวน,วกวน
อยู่กับใครบางคนที่คุ้นเคย

๏ เพียงคำไม่กี่คำคอยเข่นฆ่า
ความปวดร้าวจากแววตาที่ชาเฉย
เจ็บซ้ำซ้ำเกินทนไหวนะใจเอย
จะเฉยเมยให้ทรมานนานเท่าใด

๏ แล้วเพลง "เปราะบาง" ก็แว่วมา
และแล้วน้ำตาก็เริ่มไหล
เปราะบางเหลือเกินนะหัวใจ
เพียงเพราะใครที่ไม่มีแม้คำลา

"ร่องรอยจากคำไม่กี่คำยังทำให้ปวดร้าว แค่เพียงแววตาที่ว่างเปล่ายังทำให้มีน้ำตา
ทำไมมันช่างเปราะบางเหลือเกิน ไม่รู้เมื่อไหร่จะเข้มแข็งพอ..."* ๚ะ๛


"หนุ่มอักษร... นอนตื่นสาย"
๒๑/๑๒/๒๕๕๓

*เพลง เปราะบาง ของ Bodyslam

วันศุกร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ทัณฑ์เงียบ (จบ)

แล้วความเงียบก็รื้อทำลายตัวมันเอง
เพียงเพื่อทำให้ทัณฑ์เงียบงดงามกว่าเดิม

ที่นั่น, เขาฟังถ้อยคำอย่างตื่นเต้น, ราวกับเด็กน้อยพบของเล่นชิ้นใหม่แสนถูกใจ
เขาคิดว่านั่นเป็นถ้อยคำแรกที่เขาจะได้รับรู้
เมื่อฟังจบ, เขาจึงพบว่า นั่นคือถ้อยคำสุดท้ายที่เขาจะได้รับรู้

คำเพียงไม่กี่คำ
ได้เติมเต็มบทกวีให้สมบูรณ์นิรันดร์ด้วยความว่างเปล่า





๑๗/๑๒/๒๕๕๓

วันอังคารที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ทัณฑ์เงียบ (๕): ยินยอม

แล้วก็ถึงวันที่ฉันควรจะคิดถึงเธอ
ทั้งที่ฉันไม่มีสิทธิ์แม้เพียงคิดถึงเธอ
เธอเป็นเหมือนฤดูฝนที่ไม่มีวันมาถึง
และเพียงพอสำหรับการงอกงามของดอกไม้แห่งความหวัง

เพราะโคลเวอร์สี่กลีบคือสัญลักษณ์แห่งโชคดี
ฉันจึงเป็นเพียงก้านไร้ใบอันเหี่ยวแห้งโรยราของโคลเวอร์
ซ้ำยังจมอยู่ที่ก้นบ่อยาพิษร้าย
สถานที่เดียวกับที่ฉันตามหาเธอ, แม้รู้ว่าไม่มีทางได้พบ

ความเว้าแหว่งในชีวิตฉัน
คงเป็นเรื่องสุดท้ายของสุดท้ายที่สิ่งสมบูรณ์อย่างเธอจะสนใจ
ฉันเขียนบทกวีเพื่อตามหาสิ่งที่ขาดหาย
แต่กลับพบว่าชีวิตของฉันขาดวิ่นมากขึ้นเรื่อย ๆ

ความเงียบคือความทรมานเพียงอย่างเดียวที่เธอมอบให้ฉัน
หากมันเหมือนฝนโบกขพรรษ, ฉันยินดีเปียก
ใช่เพียงเพื่อปลุกตนเองให้ฟื้นจากการหลับใหล
แต่เพื่อยืนยันแก่ตนเองว่า, ฉันยังสัมผัสเธอได้


๑๔/๑๒/๒๕๕๓

เพื่อนร่วมทาง

๏ ฉันให้ยืมไหล่นี้ดีไหม
วันที่เธอหลับใหลไม่เป็นท่า
หวังเพียงเธอหลับสนิทในนิทรา
ยามที่เธอเหนื่อยล้ามาตามทาง

๏ ไหล่ฉันอาจไม่ใหญ่เท่าใดนัก
คงพอพักเพียงเพลินเพลินอย่าเมินหมาง
ไหล่ของใครคนหนึ่งซึ่งอ้างว้าง
รอให้คนข้างข้างมาพักพิง

๏ ในความวุ่นวายของเมืองหลวง
ใจทุกดวงต่างเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่ง
เร่งขันแข่งแซงหน้า,ช้าถูกทิ้ง
หยุดวิ่งคือโง่งมจมหายไป

๏ หลับตาเถิด, หลับตา, ถ้าเหนื่อยนัก
แล้วเพลงรักจะขานขับเมื่อหลับใหล
เถิดเติมเต็มความหวังกำลังใจ
เพื่อต่อสู้กับวันใหม่ไปอีกวัน

๏ ในค่ำคืนเหน็บหนาวอ่อนล้า
เราคือคนแปลกหน้าทั้งเธอฉัน
แต่ไออุ่นที่อุ่นไอให้แก่กัน
คงพอเติมเต็มฝันอันเบาบาง

๏ ไม่ใช่ไหล่ใครคนหนึ่งซึ่งรู้จัก
แต่ให้เธอพิงพักอยู่ไม่ห่าง
เพราะอย่างน้อยเราก็คือเพื่อนร่วมทาง
บนถนนอันอ้างว้าง-ไม่ต่างกัน ๚ะ๛


"หนุ่มอักษร... นอนตื่นสาย"
๑๔/๑๒/๒๕๕๓

แด่... เพื่อนร่วมทางแปลกหน้าบนรถเมล์ ผู้ซบไหล่นิทรามาตลอดทาง

วันอาทิตย์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ฤดูร้าว

๏ รอยน้ำค้างร้างหล่นบนยอดหญ้า
คือน้ำตาที่ค้างหล่นบนร่องแก้ม
เศษดอกรักยังหล่นค้างทิ้งร่างแซม
แต่งแต้มสวนใจที่ใกล้ตาย

๏ เมื่อแสงแดดยังแผดเผาให้เร่าร้อน
เงาอาวรณ์ยังทิ้งร่างไม่จางหาย
เคยเข้มแข็งก็อ่อนไหวใจละลาย
สุดท้ายวิ่งคว้าไขว่แม้ไม่มี

๏ ดอกโศกค่อยผลิบานช้าช้า
รดด้วยน้ำตาเต็มที่
โรยปุ๋ยความเจ็บช้ำซ้ำอีกที
พรวนดินด้วยฤดีที่แหลกลาญ

๏ เมฆฝนหอบฝนความหม่นเศร้า
ปะทะลมความเหงาที่พัดผ่าน
เป็นมรสุมอกหักรักร้าวราน
ฤดูกาลนานเนิ่นเกินจะทน

๏ ดอกรักจึงโรยราไม่เหลือร่าง
เหลือเพียงความอ้างว้างหมองหม่น
ฤดูรักแสนสั้นผ่านพ้น
เพียงใครหนึ่งคนเดินจากไป

๏ ความเหงาเข้ากุมใจจนไหวหวั่น
ความเศร้าเข้าแทรกฝันจนหวั่นไหว
แล้วน้ำตาก็หยาดหยดรดแผลใจ
ยิ่งร้องไห้ยิ่งพ่ายแพ้ซ้ำแผลเดิม ๚ะ๛


"หนุ่มอักษร... นอนตื่นสาย"
๑๒/๑๒/๒๕๕๓

วันศุกร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ยังมีรัฐธรรมนูญใหม่บนพาน

๏ แล้วฝุ่นก็ตรลบกลบเกลื่อนตา
แล้วฟ้าก็ครืนครั่นเสียงสั่นไหว
แล้วคนโง่ก็โกลาว้าวุ่นไป
แล้วคนหัวใสก็นิ่งรอ

๏ ทุกทุกวิกฤตคือโอกาส
จากมือผู้ประมาทพลาดพลั้งก่อ-
วิกฤตการณ์เข้าซ้ำตำหัวตอ
เข้าทางคนหัวหมอรอล้มกระดาน

๏ ฉีกทิ้งกฎเกณฑ์เล่นสนุก
ต่อเติมแต้มรุกทุกด้าน
เข้ากุมชะตากรรมสำราญ
ใครฤาอาจหาญมาต่อกร

๏ กินรวบทั้งวงลงหน้าตัก
ใครคิดยึกยักย่อมสั่งสอน
คิดจะสู้ก็เสียท่าแทบทุกตอน
กว่ารู้ตัวก็เกินย้อนกลับไป

๏ แล้วฝุ่นก็จางหายจากสายตา
แล้วฟ้าก็นิ่งงันหายหวั่นไหว
แล้วคนก็นิ่งเงียบทันใด
พบรัฐธรรมนูญใหม่บนพาน!

(จะตีกันอีกกี่ครั้งก็ช่างปะไร
ยังมีรัฐธรรมนูญใหม่ไว้รอคุณ!) ๚ะ๛


วุฒินันท์ ชัยศรี
๑๐/๑๒/๒๕๕๓

แด่... วันรัฐธรรมนูญของประเทศที่มีจำนวนรัฐธรรมนูญแปรผกผันกับความเป็นประชาธิปไตย

วันอังคารที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2553

แด่ "ควาย" ที่ตายแล้ว!

๏ เพลงใครเคยร้องหนอ
"รอมอตอเต้าหู้ยี้"
ด่าได้ก็ด่าดี
ด่าทั้งปีด่าทั้งวัน

๏ นั่นแหละ! เขาคนนี้
นักดนตรี "หนุ่มสุพรรณ"
จากบ้านมาสานฝัน
สร้างตำนานเพื่อชีวิต

๏ ใครเล่าจะลืมลง
"ลุงขี้เมา" ผู้หลงผิด
"กัญชา" ย่อมยาพิษ
ยังมีมิตร "ทะเลใจ"

๏ ใครนะใครเคยบอก
จะ "ล้างบาง" ประเทศไทย
ผู้แทนฯ แสนจัญไร
ต้องหมดสิ้นใต้ตีน "ควาย"

"ประเทศกำลังพัฒนา จะเลือกใครมาควรต้องมีเป้าหมาย
ผู้แทนบางคนมักใหญ่ มุ่งเอากำไรเมื่อได้เข้าในสภา
แย่งเป็นรัฐมนตรี ทำตัวบัดสีมีให้เห็นอยู่เต็มตา
มันดูถูกชาวประชาถือว่ารวย รวยไหมครับ ส.ส. รวยซิ
คนจนไม่ใช่คนโง่ ผู้แทนพุงโต แหกตาประชาชน
ล้างบางกันดูสักหน ขอแรงคนจน ช่วยเป็นคนล้างบาง"*

๏ แล้ว "ควาย" ก็ลืมบ้าน
อุดมการณ์ก็เริ่มจาง
เพื่อชีวิตก็เปลี่ยนข้าง
มาเป็นเพื่อชีวิต "กู"

๏ บาวแดงขวดซิเฮีย!
เป็นอาเสี่ยสิสุดหรู
ใครโง่ก็เชิญสู้
ด้วยดนตรีกวีศิลป์

๏ "เสี่ย น. ซอยรางน้ำ"
จอมกอบโกยและโกงกิน
เอาเงินฟาดหัวสิ้น
วิญญาณขายได้หลายตังค์

๏ เพื่อชีวิตมีสังกัด
จะกัดใครคงต้องระวัง
มีพ่อเป็นคนดัง
เชิญนั่งนิ่งรอเศษเนื้อ

๏ อุดมการณ์ก็เหมือนทราย
สร้างปราสาทแสนงามเหลือ
แต่พังได้ทุกเมื่อ
เพียงน้ำเงินมางัดง้าง

๏ แล้ว "ควาย" ก็ตายสนิท
"เพลงเพื่อชีวิต" ก็จืดจาง
แล้วใครจะ "ล้างบาง"
ให้สังคมหายเส็งเคร็ง! ๚ะ๛


วุฒินันท์ ชัยศรี
๐๗/๑๒/๒๕๕๓

* เพลง ล้างบาง ของ คาราบาว

วันอาทิตย์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2553

พระภัทรมหาราชาศิรวาท

โคลงสองสุภาพ
๏ ภูมิพลมหาราชเจ้า    จอมกษัตริย์เหนือเกล้า
ทั่วทั้งธรณี

โคลงสามสุภาพ
๏ กวีวัจน์วรวิศิษฏ์            ร้อยลิขิตเลื่องฟ้า
เถกิงเกียรติ ธ ก้องหล้า    เลิศแคว้นแดนสยาม

โคลงสี่สุภาพ
๏ ประณามพจน์รจเรขเรื้อง    รุจิรา
เฉลิมฉัตรจอมกษัตรา          เพริศแพร้ว
ธ ปกเกศปวงประชา             ชโยภาส
เรืองรัฐโสตถิสวัสดิ์แผ้ว        ผ่องพ้นภัยขษัย

ร่ายสุภาพ
๏ ไผทผองเพ็ญสุข        บำราศทุกข์นิราดูร           พูนพิพัฒน์สวัสดิ์ศรี
พระภูมีปกเกศ               คุ้มประเทศวิเศษวิศิษฏ์    ทรงทศพิธราชธรรม์
เลิศขวัญชาติเศวตฉัตร   เรืองจำรัสแดนทอง         “เราจะครองแผ่นดิน    
ปกชีวินพสกนิกร            โดยธรรมพรเพ็ญโสตถิ     เพื่อประโยชน์สุขผล
แห่งมหาชนชาวสยาม” ทุกเขตคามสดับดล     ประจักษ์ผลกระจ่างเนตร
พระภูเบศวร์แก้วิกฤติ      ชุบชีพิตราษฎร์ลำเค็ญ    ทรงบำเพ็ญพระกรณีย์
จอมกวีประพันธ์ศาสตร์   คีตาราชนฤมิต                เกษตรทฤษฎีใหม่        
ประยุกต์ไร่นาสวน          พิพัฒน์มวลภูธร              ธ ทรงสอนครรลองชีวิต
เศรษฐกิจพอเพียง          แซ่ซ้องเสียงสรรเสริญ   เจริญยศยรรยง
ขัตติยะองค์ยิ่งฟ้า           เหนือกษัตริย์ทุกแหล่งหล้า
โลกล้วนสดุดี    พระเอย

กลอนสุภาพ
๏ องค์ราชะนวมินทร์ภิญโญภาส
นวมราชเรืองจำรัสโสตถิรัศมี
น้อมศิระอภิวันท์กตัญชุลี
บุญจักรีล้นเกศพิเศษพิชัย
๏ จอมกษัตริย์วัฒนาประชาราษฎร์    
ร่มฉัตรชาติเชวงสฤษฏ์พิสิฐสมัย
ธ คุ้มเกล้าจิรกาลผ่านภพไผท    
อุโฆษไกรเกริกเกียรติกฤดาการ

กาพย์ยานี ๒๒
๏ เทียนธรรม ธ ส่องทิศ        
ราชกิจเกื้อทุกสถาน
น้ำพระทัยดังสายธาร        
ผ่านพิภพสงบเย็น
๏ บารมีศรีภูวนาถ        
ยังปวงราษฎร์ไร้ทุกข์เข็ญ
โพธิ์ธรรม ธ บำเพ็ญ        
เป็นโพธิ์ทองแห่งผองไทย

สัททุลวิกกีฬิตฉันท์ ๑๙
๏ สรวมศรีสิทธิวิรุฬห์พระคุณรตนตรัย
พร้อมเพรียงเผดียงชัย        เฉลิม
๏ ล่วงแปดสิบพระวษาสวัสดิ์ชยเผดิม
พร้องพรขจรเพิ่ม        พิบูลย์
๏ ขอจงทรงพระสราญพิมานชนม์ประมูล
ร้อยล้ำฉนำคูณ        พิพิธ
๏ เจียรทีฆายุสุผลอนนตอดิสิทธิ์
เพ็ญสุขเขษมนิจ        นิรันดร์ ๚ะ๛


ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้า นายวุฒินันท์ ชัยศรี
ร้อยวจีกวีวัจน์ถวาย

วันเสาร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ไปทำงานไม่ทัน!!

บันทึกเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม

3.00 น. ว่าจะเล่นเกมคลายเครียดก่อนนอน แต่ดันติดลมไปหน่อย จ๊าก! วันนี้รับเขียนสกู๊ปให้ TK park งานเริ่ม 12.30 น. เอาน่ายังตื่นสายได้

9.30 น. วันที่ 4 ธ.ค. นาฬิกาปลุกดัง  ฮึ่ย... ขออีกครึ่ง ชม. น่านะ สิบโมงก็ยังทันถมเถ

10.30 น. สะดุ้งเฮือก! ตายละวา กะว่าจะทำกับข้าวกินก่อนไปซะหน่อย จะไปหาข้าวกินแถว TK ก็แพงฉิบ อืม... ไปเรือละกัน ครึ่ง ชม. ถึง ลุกขึ้นกรอกข้าวสารใส่หม้อ อาบน้ำรอ หม้อข้าวดีดปึ๊ง เปิดกระทะไฟฟ้า โยนหมูยอลงไปเสียงฉู่ฉ่า กลับสองสามที ตักข้าวใส่จานเหยาะซอส โปะหมูยอ ไหม้ไปนิดนึงแถมแห้งเพราะไม่ได้ใส่น้ำมัน แต่เอาน่ะพอกินได้ (คิดในใจว่าเมื่อไหร่จะมีคนมาทำกับข้าวอร่อย ๆ ให้กิน เฮ้อ...)

11.20 น. หอบสังขารต้วมเตี้ยมมาอยู่ท่าเรือเรียบโร้ยย

11.30 น. เรือมาแล้ว เย้... แต่! ไปแล้ว อ้าว วิ่งฉิวไปเฉยเลย ท่ามกลางสายตางงเต๊กของผู้โดยสาร เอาไงดีวะ รอเรือเที่ยวต่อไปละกัน จะไปรถเมล์ตอนนี้ก็คงไม่ทัน

11.40 น. เรือมาอีกลำ แล้วก็ไปอีกลำ ฮ่วย มันอันหยังน่อ งานตูเริ่มเที่ยงครึ่ง ๆ ๆ นะเฟร้ยยยยย

11.50 น. เพิ่งเห็นป้ายเล็ก ๆ ตรงท่าเรือว่า "4 ธ.ค. เรืองดวิ่งจากท่าวัดศรีฯ - ประตูน้ำ ตั้งแต่เวลา 11.00 - 13.00"!
"@&%$+!%#!!!!"
สบถ ออกมาไม่เป็นคำพูด! ซวยล่ะ ไม่มีเรือจ้างพาไปถึงฝั่งฝันแล้ว จะไปพึ่งรถเมล์ก็รถติดแสรด จะขึ้นรถไฟฟ้าก็สงสัยว่าจะพาตัวเองไปขึ้นที่ท่าไหน ทางออกเดียวคือแท็กซี่!

12.00 น. ลักพาตัวเองจากท่าเรือมาอยู่ในแท็กซี่เรียบร้อย

12.10 น. ด่าแท็กซี่ในใจว่ามรึงพากรูมาติดแหง็กทำไม บอกว่าไปทางพระราม 9 ยังจะดื้อดึงพามาทางเพชรบุรี บอกรถไม่ติด ที่น่าเจ็บใจคือพอรถติดทีไร คุณพี่แท็กซี่ก็จะหยิบไอโฟนขึ้นมากดยิก ๆ ๆ หน็อย...

12.20 น. "พี่ครับ ผมขอแวะเข้าห้องน้ำหน่อยนะครับ ปวดฉี่มาก" รู้สึกเหมือนถูกกระทำชำเราทางจิตใจอย่างรุนแรง คุณมรึงพาผมมาติดแหง็กแล้วยังจะแวะฉี่อีก โฮกกกกกก!! แต่ตอนนั้นไม่อยู่ในสภาพจะต่อล้อต่อเถียงกับใคร ได้แต่พยักหน้าแบบไม่มองหน้าแท็กซี่ จะทำอะไรก็ทำซะ กรูผิดเองที่เลือกขึ้นคันนี้ (มาคิดทีหลังว่าเราน่าจะวิ่งออกไปโบกแท็กซี่คันอื่นดีกว่า ประหยัดเงินด้วย ฮา)

12.45 น. คุณพี่พาผมกระดึ๊บ ๆ มาถึงจนได้นะ
"ช่วยเลี้ยวเข้าไปส่งข้างใน..."
"ไม่ได้ครับ เลี้ยวเข้าไปแล้วออกมายาก"
ฮ่วย คุณพี่เป็นแท็กซี่หรือเป็นเจ้านายกรูฟระ! อาชีพบริการเขาทำกันแบบนี้เหรอครับพี่ ไอ้... เอาล่ะอย่าเพิ่งด่า เสียเวลาทำงานมามากแล้ว ปิดประตูโครม! จังหวะเดียวกับที่ปากสบถคำไม่สุภาพออกมา พร้อมกับสองขาที่วิ่งด่วนจี๋ไปรษณีย์จ๋า

12.46 น. คิดในใจว่าจะแก้ตัวกับพี่ฟ้ายังไงดีเรื่องมาสาย (ฮา)

12.50 น. ฉุดกระชากลากถูสังขารตัวเองมาจนถึง TK park แต่เอ๊ะ! ทำไมมันเงียบ ๆ พิกล เห็นพี่สต๊าฟเอาคียบอร์ดไฟฟ้ามาตั้งแล้วล่ะ แต่ทำไมดูใจเย็นเหลือเกิน พี่ฟ้าก็ไม่อยู่แถวนี้ซะด้วย

13.00 น. ชักไม่ได้การ หรือเขาจะจัดงานที่อื่น กำลังจะกดเบอร์หาพี่ฟ้า สายตาก็ไปป๊ะโปสเตอร์งาน "บทเพลงพระราชนิพนธ์ฯ" เริ่มงานเวลา 15.30 น. เอิ๊ก!

สรุปว่าวันนี้รีบมาแทบตาย ส่งสายตาพิฆาตขู่แท็กซี่ก็หลายหน เพื่อไปแอบงีบรอเวลาทำงานบนออฟฟิศ TK ฮ่วย...

*บันทึกเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ก่อนจะไปทำงาน กรุณาโทรหาพี่เจ้าของงานก่อนนะจ๊ะ*

วันพุธที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ขอเชิญร่วมงาน “ชุมนุมช่างวรรณกรรม” ประจำปี 2553 ส่งท้าย ช่อการะเกด ยุคที่ 3

ขอเชิญร่วมงาน “ชุมนุมช่างวรรณกรรม” ประจำปีพุทธศักราช 2553 ส่งท้าย ช่อการะเกด ยุคที่ 3

"ลาที...มิใช่ลาก่อน"

วันเสาร์ที่ 11 ธันวาคม 2553

ตั้งแต่เวลา 14.00 น. เป็นต้นไป

14.00 น.ลงทะเบียน เพื่อทราบว่ามีผู้ใดบ้างมาเป็นเกียรติ
14.30 น.อันเนื่องมาจากราชประสงค์ “หนังทดลอง” ชุดที่ 2 ของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี
15.00 น.เปิดตัวหนังสือ เพื่อนพ้องแห่งวันวาร : รวมเรื่องสั้น ‘สุภาพบุรุษ’ สนทนากับผู้ชำระต้นฉบับ วรรณา สวัสดิ์ศรี และบรรณาธิการ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ดำเนินการสนทนาโดย นกป่า อุษาคเณย์
16.00 น.ปาฐกถาช่างวรรณกรรมประจำปี 2553 “เรื่องสั้นไทยสมัยใหม่” โดย รศ.ดร.สรณัฐ ไตลังคะ นายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ
17.00 น.ประกาศเกียรติ “นักเขียนช่อการะเกดเกียรติยศ” ประจำปีพุทธศักราช 2553 “มกุฏ อรฤดี”
17.30 น.พักดื่มน้ำชา-กาแฟ (ย้ายมาที่ลานน้ำพุ)
18.00 น.ประกาศผลการ “ประดับช่อฯ” ในฐานะ รางวัลช่อการะเกดยอดเยี่ยมประจำปี 2553
19.30 น.เปิดใจตัวแทน ช่อการะเกด รุ่นที่ 1, รุ่นที่ 2 และรุ่นที่ 3
20.00 น.เจาะใจผู้สนับสนุน ช่อการะเกด รุ่นที่ 3 (สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ และเวียง-วชิระบัวสนธ์)
20.30 น.ปัจฉิมกถา "ลาที...มิใช่ลาก่อน" โดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี
21.00 น.สังสรรค์ตามอัธยาศัย จนกว่าเราจะพบกันอีก

--------------------------------------

ในที่สุด ช่อการะเกด ยุคที่ 3 ก็ถึงเวลาของมันแล้ว แม้จะเตรียมใจมา่ก่อนหน้า แต่เมื่อถึงเวลาก็ใจหาย

สำหรับผม ช่อการะเกดเป็นอะไรมากกว่าหนังสือรวมเรื่องสั้น เพราะมันเป็นส่วนสำคัญหนึ่งในใบปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิตของผม ถ้าไม่มีช่อการะเกด ยุคที่ 3 ผมก็ไม่มีหัวข้อทำสารนิพนธ์ และเรียนไม่จบ

ถึงแม้ว่าลักษณาการจบของผมจะออกอาการป่วย ๆ อยู่บ้าง เพราะความขี้เกียจตัวเป็นขนในการทำสารนิพนธ์ ทำให้ผลงานสารนิพนธ์ชื่อว่า "วิเคราะห์ช่อการะเกดยุคที่ 3" เป็นผลงานที่ไม่ดีนักเมื่อเทียบกับชื่อหัวข้อ กล่าวได้ว่าผมเอาหัวข้อดี ๆ มาปู้ยี่ปู้ยำไปเสียอย่างนั้น จึงไม่กล้าเอาให้ใครดูจริง ๆ จัง ๆ อย่าว่าแต่จะเผยแพร่ให้คนในวงการช่อการะเกดรู้เลย หากกลับไปที่ตู้เก็บสารนิพนธ์ที่ภาควิชา จะไปเซ็นกำกับไว้ตรงหน้าปกว่า "โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน"

น่าแปลกใจที่การเว้นช่วงของยุคที่ 1,2 และ 3 จะมีระยะห่างประมาณ 8-9 ปีเสมอ ดังนั้นในอีก 9 ปีข้างหน้า ผมจะมีอายุ 32 ปี เวลานั้นผมหวังเล็ก ๆ ไว้ในใจว่า คงจะมีกลุ่มคน หรือแรงกระเพื่อมทางวรรณกรรมในระดับเดียวกับช่อการะเกด และจะยินดีอย่างยิ่งหากแรงกระเพื่อมนั้นมาจากหนังสือที่ชื่อ "ช่อการะเกด" เอง สมดังคำที่ทิ้งท้ายว่า "ลาที...มิใช่ลาก่อน"

ขอพลังสร้างสรรค์จงอยู่คู่กับพวกเราทุกคน ...อย่างน้อยก็จนกว่าโลกนี้จะหมดศรัทธาในศิลปะ


วุฒินันท์ ชัยศรี
๒๔/๑๑/๒๕๕๓

วันอังคารที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ค่ำบางคืนไม่กล้าเมา แต่คืนนี้เราไม่เมาไม่ได้!

๏ เพราะสุรานั้นมีฤทธิ์เป็นพิษร้าย
อาจประหารเราให้ตายยากถ่ายถอน
จึงตัดใจจากสุราไม่อาวรณ์
เป็นนักกลอนดวดนมสดงดสุรา

๏ แต่ผิดหวังครั้งนี้ช่างหนักนัก
พิษรักแฝงเร้นคอยเข่นฆ่า
กรีดใจให้ตายช้าช้า
นานเนิ่นเกินกว่าจะหลุดพ้น

๏ ร่ำร่ายกลอนกานท์กี่ล้านบท
ผจงจดบทกวีกี่ล้านหน
มิอาจลืมภาพใครเพียงคน
ที่เวียนวนอยู่ทุกวันหวั่นฤทัย

๏ แม้เลิกดื่มนานแล้วนะเหล้าจ๋า
แต่จะกินเพียงน้ำตาก็ไม่ไหว
ต้องรินรดความช้ำร่ำเมรัย
ลืมความร้าวรานใจไปอีกวัน

๏ ดื่มเพื่อลืมว่าใจนี้เคยมีรัก
ดื่มให้หนักรำงับใจที่ไหวหวั่น
ดื่มให้ใจได้ลืมใครเคยใกล้กัน
เพื่อมีสุขในห้วงฝันแม้ชั่วคราว

๏ น้ำเมาขมแต่น้ำคำเธอขมกว่า
ขมที่สุดคือน้ำตาที่ไหลผ่าว
เอ้าริน! แล้วชนแก้วกับแสงดาว
ทิ้งรักในห้วงหาวให้หายไป

๏ "ค่ำบางคืนไม่กล้าเมา แต่คืนนี้เราไม่เมาไม่ได้
เพราะความรักที่พลัดพรากไป ยากเกินใจจะตัดได้ลง
คงเป็นเพราะสวรรค์ไม่ส่ง นรกไม่สร้าง รักจึงจางร้างใจ
เหลือแต่ตัวบาดรักท่วมกาย หล่นจมลงในสายธารที่สิ้นหวัง..."* ๚ะ๛


"หนุ่มอักษร... นอนตื่นสาย"
๒๓/๑๑/๒๕๕๓

*จากเพลง ดอกไผ่บาน ของ หนุ่มบาว-สาวปาน

ใยจึงมาสมานฉันท์ในวันนี้

๏ ใยจึงมาสมานฉันท์ในวันนี้
วันที่เลือดยังไม่หยุดไหล
วันที่น้ำตายังท่วมใจ
วันที่เลือดไทยยังท่วมแดน

๏ ใยจึงคิดสมานฉันท์วันนี้หนอ
ควรต้องรอให้มีศพสักหมื่นแสน
โหมกระพือให้คลุ้มคลั่งเถิดไฟแค้น
อัดแน่นลงในใจมนุษย์

๏ อย่าคิดสมานฉันท์กันดีกว่า
เมื่อทุกคนอยากเข่นฆ่าไม่สิ้นสุด
ปล่อยสันดานออกมาอย่ายื้อยุด
จนกว่าจะคิดหยุดประหารกัน

๏ ปรองดองอะไรนั่นฝันไปเถอะ
สันติภาพน่ะหรือ เฮอะ! เพียงภาพฝัน
ประวัติศาสตร์ของผองเราคือโรมรัน
การเข่นฆ่านั้นเที่ยงธรรม

๏ ผู้ชนะนั้นหรือคือเหนือกว่า
ผู้แพ้ย่อมด้อยค่าราคาต่ำ
ผิดถูกดีเลวขาวดำ
แท้เป็นเพียงวาทกรรมอำพรางตน

๏ เมื่อเราล้วนเกิดจากอวิชชา
คือไม่ควรเกิดมาตั้งแต่ต้น
เมื่ออำนาจเสือกมีค่ากว่าชีพคน
เถิด! เชิญฆ่าให้ศพล้นจนพอใจ

๏ จงรบกันให้ชนะอย่าละลด
หรือจนกว่าจะตายหมดก่อนดีไหม
แล้วค่อยร่ำน้ำตาอาลัย
ถึงทุกคนที่จากไปไม่หวนคืน
...
แด่... ทุกคนที่จากไปไม่หวนคืน ๚ะ๛


วุฒินันท์ ชัยศรี
๒๓/๑๑/๒๕๕๓

วันจันทร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

คืนลอยกระทง

"ทำไมเราต้องยอมเสียตัววันลอยกระทงด้วยนะ ไม่เข้าใจเลย วันอื่นยังจะมีความหมายพิเศษ ๆ กว่าอีก เช่นว่า วันวาเลนไทน์ วันเกิด..."
"เกิดอยาก จึ๋ย ๆ อะเหรอตัวเอง" เขายิ้มกว้าง กอดแน่นขึ้น พลางทำนิ้วปูไต่
"บ้า อย่ามาทำอ้อนนะ คนยิ่งเหนื่อย ๆ อยู่"
"เหนื่อยเหรอ... เดี๋ยวช่วยให้หายเหนื่อยเอามั้ย?"
จากนิ้วปูไต่ กลายเป็นมือปลาหมึกชอนไชไปทั่วร่าง ปากกว้าง ๆ นั่นก็ไม่อยู่สุข คอยงับหูให้ขนลุกเกรียว
"นี่ พอได้แล้ว ซนนักนะ"
เผี๊ยะ!
"อู๊ยยย ตีจริงนี่นา"
"ก็ตีจริงน่ะสิ คนอาไรซนอย่างกะลูกลิงโด๊ปยาบ้า"
"ก็ลิงจั๊ก ๆ รักจริง ๆ ไงจ๊ะ"
"แหม ลื่นเป็นปลาไหลถูสบู่เลยนะ"
ก๊อก ๆ ๆ
"ใครมาล่ะเนี่ย แป๊บนะจ๊ะ" เขาเงยหน้าขึ้นจากการซุกไซ้ ลุกขึ้นเดินไปดูอาคันตุกะผ่านช่องแอบมอง ก่อนจะทำหน้าตกใจสุดขีด
"ฉิบหาย! แฟนพวกเรามา รีบแต่งตัวเร็ว"
ก๊อก ๆ  ๆ
"พี่ขา... นี่หนูเองนะ"
"จ้า... จ้า" เขาทำเสียงยานคางเหมือนเมากรึ่ม ๆ ทั้งที่กำลังใส่เสื้อกางเกงด้วยสปีดเร็วกว่านรก
ประตูเปิดผลัวะ!
เราสองคนแต่งตัวลวก ๆ นั่งอยู่คนละฟาก มีเหล้าและกับแกล้มเล็กน้อยที่เหลือจากเมื่อเย็นคั่นกลางอยู่
"ฮั่นแน่ ตั้งวงกินเหล้ากันอีกแล้วสองหนุ่ม ดูสิเมาแล้วเสื้อยับหมดเลย นี่ถึงเวลานัดแล้วนะจ๊ะ"
"จ้า... ก็รอพวกเธออยู่นานแล้วล่ะ ไปกันเถอะ" ผมควงแฟนผม ส่วนเขาก็เดินไปกับแฟนเขา คู่ใครคู่มัน

ไม่รู้คืนนี้คู่นั้นจะลงเอยอย่างไร แต่ขอแค่คืนนี้แฟนผมอย่ามาอ้อนละกัน คนยิ่งเหนื่อย ๆ อยู่!

วันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ถ้าหากพรุ่งนี้ฉันตาย...

๏ ถ้าหากพรุ่งนี้ฉันตาย...
มันจะมีความหมายกับเธอไหม
ถ้าหากต้องพลัดพรากจากกันไป
เธอจะเหลือสิ่งใดในความจำ

๏ เธอจะลืมเรื่องราวเหล่านี้ไหม...
เพลงรักเพลงใดเคยดื่มด่ำ
เรื่องราวความหลังอยากฟังซ้ำ
ทุกถ้อยคำจำได้ไม่ลบเลือน

๏ เธอจะลืมเรื่องราวของเราไหม
หรืออาจลืมว่าใครเคยเป็นเพื่อน
ในค่ำคืนของลมหนาวและดาวเดือน
ใจย้ำเตือนรอยน้ำค้างต่างน้ำตา

๏ เธอจะลืมเพลงรักของเราไหม
บรรเลงให้เธอฟังยังยิ้มร่า
เพลงรักเคยร้องร่วมกันมา
จะเหลือค่าแค่ไหนในใจเธอ

๏ เธอจะลืมบทกวีเหล่านี้ไหม
ลำนำรักที่ใครเคยพร่ำเพ้อ
ลืมคนเคยฝันใฝ่ใจละเมอ
คนที่เจอความเจ็บช้ำอยู่ร่ำไป

๏ พรุ่งนี้ฉันอาจไม่ตาย...
แต่คงหมดความหมายแล้วใช่ไหม
ไม่มีแล้ว... คนเคยห่วงใย
เจ็บเหลือเกินนะใจ... ตายทั้งเป็น ๚ะ๛


"หนุ่มอักษร... นอนตื่นสาย"
๑๕/๑๑/๒๕๕๓

วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ไม่รู้เลยว่าเผลอรักได้อย่างไร

๏ เคยถามตัวเองอยู่หลายครา
แต่ก็หาคำตอบไม่ได้
ไม่รู้เลยว่าเผลอรักไปเมื่อใด
เราเดินทางอย่างไรในสัมพันธ์

๏ ไม่เคยคิดไกลเกินเพื่อน
ความรักรางเลือนเหมือนภาพฝัน
ไม่เคยรู้ว่ามีใครอยู่ใกล้กัน
จนถึงวันต้องลาร้างห่างกันไป

๏ จึงรู้วันวานนั้นหวานซึ้ง
คิดถึงเสียจนทนไม่ไหว
ความรักเร้ารุมราวสุมไฟ
หัวใจคร่ำครวญรัญจวนฤดี

๏ กว่ารู้ตัวก็สายไป...
คนที่เคยชิดใกล้กลับห่างหนี
จนเมื่อมารู้ตัวอีกที
มิอาจถอนรักนี้กลับคืนมา

๏ รู้ว่ารักเมื่อหัวใจเธอไร้รัก
ใจแน่นหนักวันที่ใจนี้ไร้ค่า
ความหวั่นไหวเคยวูบไหวในแววตา
พอเวลาห่างลับกลับหายไป

๏ เฝ้าถามตัวเองอยู่หลายครา
แล้วก็หาคำตอบไม่ได้
ไม่รู้เลยว่าเผลอรักได้อย่างไร
รู้เพียงแค่หัวใจจะไม่ลืม ๚ะ๛


"หนุ่มอักษร... นอนตื่นสาย"
๑๑/๑๑/๒๕๕๓

วันพุธที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ความรักคือการให้?

๏ เคยคิดว่ารักคือการให้
จึงมอบทั้งใจไม่มีเหลือ
และมิได้มีใจเหลือเฟือ
จึงไม่เผื่อเหลือไว้ให้ใครแล้ว

๏ สุดท้ายเธอจากไป...
เหลือเพียงลมหายใจแผ่วแผ่ว
กับเสี้ยวความหวังที่ไร้แวว
และความเหงาที่ทอดแนวเป็นทางเดิน

๏ เพราะฉันรักเธอจึงให้เธอ
แต่เป็นเพียงความหลงเพ้อตื้นเขิน
ใจทั้งใจที่มอบให้ใครเขาเชิญ?
เธอจึงหมางเมินไม่ใยดี

๏ ใจทั้งใจที่มอบให้จึงไร้ค่า
เป็นขยะอุจาดตาน่าบัดสี
ใจทั้งใจฉันพร้อมยอมพลี
จึงไม่มีคุณค่ามาแลกกัน

๏ เคยคิดว่ารักคือแลกใจ
จึงมอบดวงฤทัยของฉัน
เป็นเครื่องหมายบอกนัยสัมพันธ์
หวังเพียงเธอนั้นเหลียวมอง

๏ แล้วมอบหัวใจให้คืนบ้าง
จะไม่ห่างกันไกลใจทั้งสอง
แต่เมื่อเผลอมอบใจให้จับจอง
เธอกลับครองแล้วปล่อยไว้ไม่ใยดี

๏ เพราะให้ไปหมดแล้วไม่มีเหลือ
ไม่เคยเผื่อหัวใจไว้หลีกหนี
ใจจึงทุกข์ทนทบทวี
จนกว่าซากใจนี้จะแหลกไป

๏ เศษเสี้ยวใจหวังจะได้จากเธอนั้น
เธอไม่มีให้ฉันแล้วใช่ไหม
ฉันรักใครก็ให้ใจไปทั้งใจ
หรือว่าเธอจะไม่ให้คนไม่รัก? ๚ะ๛


"หนุ่มอักษร... นอนตื่นสาย"
๑๑/๑๑/๒๕๕๓

วันอาทิตย์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

เถิดความรักจงอิ่มเอมเต็มหัวใจ

๏ ให้ความรักอิ่มเอมเต็มหัวใจ
แล้วค่อยค่อยผลิใบให้รักหวาน
รู้ไหม.. เมื่อ "รักจริง" เบ่งบาน
รักจักอยู่ยาวนานนิรันดร

๏ เพาะบ่มรักไว้ในฤดี
เติมใจดวงนี้ให้เต็มก่อน
ค่อยสะสมรักไว้อย่าใจร้อน
ประเดี๋ยวรักจักจากจรไปจากใจ

๏ อย่าเพิ่งบอกว่ารัก
จนกว่าจะแน่นหนักมิหวั่นไหว
จนกว่ารักมากกว่ารักที่พูดไป
จนมิกล้าห่างไกลไปกว่านี้

๏ เพาะบ่มความรักไว้เสียก่อน
รดน้ำความอาทรเต็มที่
เติมปุ๋ยความห่วงใยให้เต็มฤดี
กุหลาบรักหลากสีจึงผลิบาน

๏ เติมรักจนอิ่มเอมเต็มหัวใจ
แล้วจึงค่อยระบัดใบให้รักหวาน
ให้รักอยู่ในใจไปชั่วกาล
ให้ผู้คนได้กล่าวขานตำนานรัก! ๚ะ๛


"หนุ่มอักษร... นอนตื่นสาย"
๐๗/๑๑/๒๕๕๓

วันศุกร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

สาวแว่นสุดยอด!!

สาวแว่นสุดยอด!
สาวแว่นสุดยอด?
นั่นสิ ทำไมสาวแว่นสุดยอด??

พยายามจะคิดวิเคราะห์ปมปัญหาในจิตใจข้อนี้ของตัวเองมานาน แต่ก็หาคำตอบที่กระจ่างใจไม่ได้สักที แม้จะพยายามใช้ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของซิกมันด์ ฟรอยด์ มาจับแล้วก็ตาม (เพราะไม่รู้ว่าซิกมันด์ ฟรอยด์ พูดอะไรถึงแว่นรึเปล่า ฮ่วย!)

ปมปัญหาในจิตใจนั้นมักจะเกิดจากเรื่องราวในวัยเด็ก นึกย้อนไปถึงวัยเด็กว่ามีปมอะไรเกี่ยวกับแว่น นึกออกเรื่องเดียวคือชอบอ่านการ์ตูน ดร.สลัมป์กับหนูน้อยอาราเล่มาก โตมาแล้วยังนึกอยู่ว่าชอบได้ไง เพราะมันเป็นการ์ตูนจิตป่วนขนานแท้!! (แต่ปัจจุบันก็ซื้อ Ultimate Edition เก็บไว้ 555) สาเหตุที่สาวแว่นสุดยอด! ก็อาจเป็นเพราะชอบอาราเล่จังมาก แล้วอาราเล่ก็๋ใส่แว่นซะด้วยสิ

หรือจะเป็นตอน ม.ต้น ที่ริอ่านมีรักครั้งแรก รักเขาข้างเดียวข้าวเหนียวนึ่ง แอบซึ้งรุ่นพี่ ม. 5 คนหนึ่งอยู่ข้างเดียวแต่เขาไม่เหลียวแล จำได้ว่ารุ่นพี่คนนั้นเป็นสาวแว่นสุดยอด! ประมาณว่าถอดแว่นแล้วสวย ใส่แว่นแล้วน่ารัก เลยเป็น Imagine ติดในใจว่า สาวแว่นต้องหน้าตาดี! โอ้... สาวแว่นสุดยอด!

หรือแว่นจะเป็น Symbolic ของอะไรสักอย่าง อะไรล่ะ... เด็กเรียนขั้นเนิร์ดเมพ? ความเรียบร้อยเหมือนผ้าพับไว้? ความอ่อนหวานปานน้ำผึ้ง? สาวแว่นใน Imagine ของหลายคนมักจะเป็นไปว่าเป็นเด็กเรียนจัด อยู่แต่กับตำรา เป็นคนขี้อาย ไม่ประสีประสาโลก ดังนั้นจึงต้องให้เราเหล่าชายฉกรรจ์กร้านโลกคอยสอนหลายสิ่งหลายอย่างให้ เหอ เหอ (หัวเราะหื่น) หลายครั้งก็รู้ว่ามันไม่จริงหรอก แต่ทำมั๊ย ทำไม เจอสาวแว่นแล้วต้องบอก สาวแว่นสุดยอด! ทุกที

แต่น่าแปลกที่มีแฟนกี่คน ๆ ไม่มีใครใส่แว่นเลย เอ๊อะ งง

สรุปว่าบันทึกนี้เป็นบันทึกจิตป่วน เขียนขึ้นตอนจิตใจเรรวนป่วนปั่นฝันเฟื่อง เพื่อจะบอกอะไรใครก็ไม่รู้ ไร้สาระสุด ๆ 555
แต่ที่แน่ ๆ...
สาวแว่นสุดยอด!!!

วันเสาร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2553

หน้ากาก

สวมใส่ใบหน้าแปลกปลอมเพื่อทุกคนยอมรับ
แม้หนาหนักก็เต็มใจสวม
อีกไม่นานคงได้ถอดออก

ใบหน้าปลอมแน่นสนิท
คนดูนิยมชมชอบ
หน้ากากฝังรากลงหัวใจช้า ๆ
แปลกปลอมแต่จำเป็น
หัวใจหยั่งรู้และปฏิเสธสิ้น
สองมือกลับกดหน้ากากแนบแน่นบนใบหน้า

หลอกลวงคนทั้งโลก
แต่หลอกตัวเองไม่ได้เลยสักวินาที
อึดอัดไม่มีทางออก
ตีสองหน้าเพื่อเอาตัวรอด
วันแล้ววันเล่า
ความจริงอยู่ตรงหน้าแต่ไม่กล้าเอื้อมมือออกไป
แทนที่ความจริงด้วยการหลอกลวง
คนทั้งโลกต่างปรบมือชื่นชม ยิ้มรับชื่นบาน
แต่ทุกคำชมกรีดหัวใจไม่เหลือชิ้นดี

ถอดหน้ากากคือแผลฉกรรจ์บนใบหน้า
แต่ผลคือไม่ต้องแบกหน้ากากหนาหนัก
หัวใจไม่กล้าพอแม้แต่จะออกแรงดึง
ได้แต่ปล่อยให้ฝังรากลึกบนใบหน้า
สุดท้ายติดแน่นกว่าเดิม
ดึงออกคือแผลหนักหนากว่าเดิม

ลังเลถดถอยเป็นถอดใจ
ความกล้าถูกกัดกร่อนจนไม่เหลือ
ปล่อยชีวิตตามยถากรรม
หน้ากากติดแน่นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
รับอวัยวะแปลกปลอมบนใบหน้าอย่างเต็มใจ
ตีสองหน้าคือปกติชีวิต
ยิ้มรับคำชมเมื่อการแสดงจบลง

โค้งคำนับ
เสียงผู้ชมปรบมือเพื่อใคร?


๓๐/๑๐/๒๕๕๑

วันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2553

บางคำที่ไม่อาจบอก

๏ อัดอั้นอะไรไว้มากมาย
คำที่มีความหมายในใจฉัน
"คิดถึง" "ห่วงใย" "ผูกพัน"
แต่ไม่กล้าพูดมันแม้เพียงนิด

๏ พูดคุยทักทายคล้ายเป็นเพื่อน
กลบเกลื่อนน้ำเสียงเสียสนิท
เธอคงมองเหมือนมิ่งมิตร
ที่ไม่คิดอะไรในใจเลย

๏ ทั้งที่คิดถึงเสมอมา
รอเวลาให้หัวใจได้เปิดเผย
เธอไม่รู้ใครคนหนึ่งซึ่งคุ้นเคย
เขาเฉลยคำหวานผ่านแววตา

๏ ไม่เคยมั่นใจว่าดีพอ
จึงท้อทุกครั้งนั่งแหงนหน้า
เฝ้ามองดวงดาวที่พราวฟ้า
ไม่กล้าคว้าดาวดวงนั้น

๏ แต่จะลืมอย่างไรก็ไม่ลืม
ภาพคนเคยปลื้มยังเต็มฝัน
รอยยิ้มพิมพ์ใจเคยให้กัน
แล้วจะลบเลือนมันได้อย่างไร

๏ ไม่รู้จะมีหรือไม่มี
วันที่ก้อนดินเคียงดาวได้
กว่าจะถึงวันนั้น,อาจสายไป
ดาวคงเผลอมอบใจให้แก่เดือน

๏ อัดอั้นอะไรไว้มากมาย
คำที่มีความหมายมากเกินเพื่อน
คำ "รัก" จะเก็บไว้ไม่ลบเลือน
แม้สุดท้ายอาจต้องเปื้อนรอยน้ำตา ๚ะ๛


"หนุ่มอักษร... นอนตื่นสาย"
๒๓/๑๐/๒๕๕๓ แค่ได้ยินเสียงในรอบปี ก็ดีแค่ไหนแล้วนะ

วันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ขอโทษนะ... ถ้าทำให้ลำบากใจ


๏ บังเอิญพบกันวันนี้...
รู้สึกดีอย่างที่ฉันรู้สึกไหม
รู้สึกตื่นเต้นดีใจ
หรือว่าไม่... ไม่มีอะไรสักนิดเดียว

๏ เจ็บนะ... รู้ไหม
รู้ว่าเธอไม่มีใจจะแลเหลียว
ทั้งที่เคยสนิทสนมกลมเกลียว
กลับปล่อยฉันให้เปล่าเปลี่ยวทรมาน

๏ เผลอคิดว่าเราจะรักกัน
ใฝ่ฝันถึงวันคืนชื่นหวาน
เวลาเดินไปเพียงไม่นาน
วันวานกลับเลือนลางอย่างเงียบงัน

๏ เธอไม่ใช่คนผิดเลยสักนิด
คนเดียวที่ผิดคือฉัน
ข้อบังคับระหว่างใจ "ไม่รักกัน"
คนที่เผลอลบมันคือฉันเอง

๏ ทั้งที่ย้ำกับใจจะไม่รัก
ทำแน่นหนักเสแสร้งแกล้งปากเก่ง
กว่ารู้ตัวลำนำรักก็บรรเลง
อยู่ในใจวังเวงเดียวดาย

๏ กลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ไหม...
อย่ามองเหมือนหมดใจไร้ความหมาย
หรืออย่างน้อยก็เพียงทักทาย
อย่าทำหน้าเหนื่อยหน่ายแบบนี้เลย

๏ ขอเวลาฉันสักพักนะคนดี...
จะเก็บความรู้สึกนี้ไม่เปิดเผย
จะกลับไปเป็นเพื่อนเหมือนเช่นเคย
นะ... อย่าเฉยเมยเหมือนเป็นเช่นคนไกล

๏ บังเอิญพบกันวันนี้...
รู้สึกไม่ค่อยดีใช่ไหม
เพียงแววตาหมางเมินเดินจากไป
น้ำตาก็รินไหล... เพียงลำพัง
....
ไม่เป็นไรหรอกนะ, ไม่เป็นไร
น้ำตาที่รินไหล... จะเช็ดเอง ๚ะ๛



"หนุ่มอักษร... นอนตื่นสาย"
๐๖/๑๐/๒๕๕๓

วันอาทิตย์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2553

กวีฝันถึงสันติภาพใช่อ่อนแอ


๏ เธอไม่ผิดหรอกกวี...
คงจะดีหากโลกไร้เรื่องเข่นฆ่า
เติมไฟเกลียดเคียดแค้นไปมา
สุดท้ายก็ตายห่- ไปทั้งเมือง

๏ ฤๅกวีควรสุมไฟในใจมนุษย์
ชักฉุดเอาเรื่องไม่เป็นเรื่อง
เร่งเร้าคนตายให้เปล่าเปลือง
ขุ่นเคืองกันต่อไปหลายชั่วคน

๏ ย้อมโลกเคยสวยด้วยสีเลือด
สุมไฟให้ใจเดือดหมองหม่น
สนองกิเลสความบ้าตัณหาตน
จมในวังวนไม่เว้นวัน

๏ พันธกิจของปากกาคือไม่ฆ่า
พันธกิจของปากหมาคือห้ำหั่น
ปากกาที่ยุใครให้ฆ่ากัน
คือปากกาอาธรรม์เป็นแน่แท้!

๏ ปากกาต้องเป็นโล่ใช่เป็นดาบ
ใช่ใช้ปราบใครใครแต่ใช้แก้
กวีฝันถึงสันติภาพใช่อ่อนแอ
เพียงไม่อยากเดินแห่ศพประจาน

๏ ที่สุดของชัยชนะคือไม่ฆ่า
คือได้ชัยชนะมาไม่ร้าวฉาน
คืนที่พระพุทธองค์ผจญมาร
ท่านมิได้ประหารมารสักตน

๏ สงครามเกิดขึ้นแล้วกี่ครั้ง
น้ำตาต้องรินหลั่งแล้วกี่หน
แค่มีใครตายเพียงหนึ่งคน
ก็พ้นเรื่องผิดถูกชั่วดี

๏ ใช้ปากกาปกป้องปวงประชา
ใช่เร่งเร้าให้เข่นฆ่ากันเร็วรี่
นั่นคือพันธกิจของกวี
มิให้มารมาย่ำยีบีฑาเรา

๏ ก้าวให้พ้นความคลั่งแค้นระหว่างคน
ก้าวให้พ้นการเข่นฆ่าความขลาดเขลา
อย่าเร่งฆ่าเพราะไม่รู้เพราะหูเบา
ปล่อยไฟแค้นแผดเผาปิดหูปิดตา

๏ เธอไม่ผิดหรอกกวี...
คงจะดีหากสิ้นไร้เรื่องเข่นฆ่า
(เพราะพวกเราล้วนเกิดจากอวิชชา
อีกเดี๋ยวก็ตายห่- กันหมดแล้ว!) ๚ะ๛


แด่... โอบอ้อม หอมจันทร์ กวีสาวผู้ฝันถึงสันติภาพ ในโลกที่ยังเต็มไปด้วยสงคราม
๐๓/๑๐/๒๕๕๓

วันพุธที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2553

เปราะบางเหลือเกินนะหัวใจ

๏ ร้าวรานเหลือเกินนะหัวใจ
ยิ่งปลอบโยนยิ่งไร้ความหมาย
ทั้งที่เห็นว่ามีใครเคียงข้างกาย
แต่รู้สึกคล้ายคล้ายว่าไม่มี

๏ ถนนที่ทอดยาวชื่อความเหงา
มีเพียงความว่างเปล่าทุกพื้นที่
ไม่มีผู้ใดมาใยดี
ทุกเสี้ยววินาทีคือลำพัง

๏ โอบกอดลมหนาวเป็นเพื่อน
ค่อยลบลืมเลือนความหลัง
แม้ทุกภาพเคยคุ้นตาย้อนมาประดัง
แต่ทุกครั้งก็คว้าได้เพียงสายลม

๏ ไม่มีเธอในวันนี้หรือพรุ่งนี้
มีเพียงทุกนาทีที่ขื่นขม
ไม่มีใครเคียงข้างกันวันทุกข์ตรม
ทุกครั้งที่ฉันล้ม... ต้องลุกเอง

๏ เจ็บปวดเหลือเกินนะหัวใจ
ต่อหน้าใครใครทำอวดเก่ง
แม้หัวใจไร้หวังแสนวังเวง
ทำปากกล้าไม่กลัวเกรงใครทั้งนั้น

๏ แต่พออยู่คนเดียวเงียบเงียบ
กลับเย็นเยียบหัวใจไหวหวั่น
ข้างกายเคยมีใครอยู่ใกล้กัน
เหลือเพียงภาพฝันเดียวดาย

๏ เปราะบางเหลือเกินนะหัวใจ
แล้วน้ำตาก็รินไหลอย่างง่ายง่าย
ยิ่งฝืนยิ่งสะอื้นจนเจียนตาย
ความเจ็บช้ำคอยทำร้ายทุกนาที

๏ เจ็บปวดที่สุดของความรัก
ใช่ยามอกหักรักหลีกหนี
แต่คือคนรักมีเหมือนไม่มี
แผลใจทบทวีทุกคืนวัน

๏ สองมือเย็นเฉียบเพราะลมหนาว
หัวใจรานร้าวยิ่งหนาวสั่น
ไม่มีแล้วมือเคยให้ไออุ่นกัน
ต้องใช้มือเย็นเฉียบนั้น... กอดตัวเอง ๚ะ๛


"หนุ่มอักษร... นอนตื่นสาย"
๒๘/๐๙/๒๕๕๓

วันศุกร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2553

Kick Ass เกรียนโคตรมหาประลัย: อารมณ์เกรียน ๆ ของหนังเกรียนที่ไม่เกรียน

 
"คนธรรมดาก็เป็นฮีโร่ได้" ว้าว ๆ ๆ

แน่นอนเราไม่ได้พูดถึงคนธรรมดา (ตรงไหน) แบบบรู๊ซ เวย์น มหาเศรษฐีหนุ่มผู้ไปฝึกศิลปะการต่อสู้จากต่างแดน และใช้เครื่องมือสุดไฮเทคประกอบการเป็นซูเปอร์ฮีโร่นามแบทแมน (ยังไม่รวมถึงการก้าวข้ามความหวาดกลัวและตราบาปในวัยเด็ก โอ้... ดราม่าสุด ๆ) แต่เราพูดถึงคนธรรมดาจริงจริ๊ง... คนธรรมดาที่ใจยังไม่กล้าพอจะกระโดดข้ามตึก, คนธรรมดาที่ต้องนับ 1..2..3 ก่อนตัดสินใจเอาตัวไปเสี่ยงดงส้นทีนอันธพาล โดยมีอาวุธแค่กระบองเล็ก ๆ ที่ฟาดใครก็แค่เจ็บคันนิดหน่อย

แต่คนธรรมดาคนนั้นดันใส่ชุดประหลาด ๆ เพื่ออำพรางโฉมหน้าที่แท้จริง แอ่น แอน แอ้นนนน นี่มันซูเปอร์ฮีโร่แบบในการ์ตูนนี่หว่าเฮ้ย โอ... เขาต้องมีพลังพิเศษแน่ ๆ ไม่ทันขาดคำ ส้นทีนของอันธพาลก็ประเคนไปเต็มหน้าของ "ฮีโร่"

ให้มันได้อย่างนี้สิ! ฮีโร่แบบ "คนธรรมดา!"

.............
พล็อตเรื่องแบบ "คนธรรมดาก็เป็นฮีโร่ได้" ถ้าไม่เอามาใช้ทำหนังตลกล้อเลียน ก็ทำได้แค่หนังที่พูดถึงความเจ็บปวดและการเสียสละของฮีโร่ การยอมทิ้งชีวิตธรรมดาแลกกับการเป็นฮีโร่ ออกแนวดราม่า ๆ

แต่พอดูตัวอย่างหนังเรื่อง Kick Ass เอ๊ะ! มันจะเอาฮาอย่างเดียวก็ใช่ที่ ทำไมแอบมีพูดถึงความเจ็บปวดของฮีโร่ แต่เอ๊ะ! ฮีโร่ผู้เจ็บปวดประเภทไหนกันใส่ชุดฮีโร่เดินไปซื้อโค้กกินที่ร้านสะดวกซื้อ อ้าว! แล้วยังมีคนใส่หน้ากากโผล่มาอีกตั้งหลายคน ว้าว! มันมีหลายรสชาติจริง ๆ น่าดูโคตร ๆ ตอนนั้นผมเสียดายมากเพราะหนังเข้าตอนสงกรานต์ ช่วงกลับบ้านพอดี เลยอดดูในโรง (จ. ชัยภูมิไม่มีโรงหนังครับพี่น้อง!!) เลยหันมาเล็งแผ่นแทน แต่แผ่นก็ออกช้าสุด ๆ ไม่ทันใจวัยรุ่นเลย ทันทีที่ได้แผ่น เลยต้องรีบดู แต่...

ดูเหมือนว่า Matthew Vaughn จะยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะทำให้หนังเรื่องนี้เป็นหนังซูเปอร์ฮีโร่, หนังที่บอกเล่าความเจ็บปวดและการเสียสละของฮีโร่, หนังที่คนธรรมดาต้องอุทิศตนเพื่อการเป็นฮีโร่ หรือจะเป็นหนังเอาฮาดี แถมยังมีต้นฉบับการ์ตูนมาคอยกดดัน เลยจับทุกอย่างใส่ไปให้หมดในเรื่องเดียว อารมณ์แบบ Action+Comedy+Drama นิด ๆ

ผลก็เลยเป็นว่า พอบทจะซึ้ง น้ำตาก็ไม่ไหล เพราะมันดันซึ้งแบบฮา ๆ พอบทจะหัวเราะ ก็หัวเราะได้แห้ง ๆ เพราะมันฮาแบบเครียด ๆ ทั้งที่ทีมพากย์พันธมิตรช่วยยื้อความฮาสุดชีวิตแล้ว พับผ่าสิ บางทีสถานการณ์ของเรื่องอาจไม่เอื้ออำนวยให้พันธมิตรยิงมุกตามถนัด เมื่อเทียบกับหนังล้อเลียนซูเปอร์ฮีโร่ฮาขี้แตกอย่าง Superhero Movie เลยปล่อยมุกมาได้แค่กระปริบกระปรอย สำหรับท่านที่ดู DVD เปิดซับได้ ขอแนะนำให้เปิดเสียงพากย์ไทย (ฟังพันธมิตรพากย์เอาฮา) เปิดซับอังกฤษ (อ่านบทหนังเอาฮา) ในซับอังกฤษมีคำด่าฮา ๆ เยอะ แต่ถ้าท่านนิยมฟังเสียงอังกฤษก็แล้วไป


.............
เอาล่ะ ที่ยอมรับจริง ๆ ก็ต้องเป็นฉากแอ็คชั่นที่มันส์สุดทีนมาก โดยเฉพาะฉากโหดเลือดสาดของ Hit Girl ที่แสดงโดย Chloë Grace Moretz สำหรับเรื่องนี้ ถ้ามีคะแนนเต็มสิบ ผมให้เธอสองร้อยแปดสิบ เธอเล่นขโมยซีนทุกคนไปหมดเลยแม้แต่นักแสดงระดับ Nicolas Cage และ ปล. ฉากบู๊ต้องดูด้วยความเกรียนปนโรคจิตเล็กน้อย แล้วจะได้ความสะใจโคตร ๆ ที่หนังได้เรท 18+ มาก็เพราะฉากเลือดสาดนี่มันเล่นกันแบบโหดเอาจริงเอาจังนี่แหละ แถมคนบู๊เป็นเด็กผู้หญิงตัวเล็ก ๆ อีกตะหาก ถูกใจโลลิค่อนโรคจิตอย่างผมยิ่งนัก (จ๊ากกก) แถมดนตรีประกอบฉากแต่ละครั้งโคตรฮา แต่มันสาดดดด

ส่วนเรื่องอื่น ๆ เช่น เนื้อหาสาระ ความดราม่า ความฮา ผมให้คะแนนกลาง ๆ อารมณ์แบบว่าถึงจะไปดูในโรงก็คงไม่ถึงขนาดเสียดายเงิน เนื้อหาสาระนั้นมีแน่ แต่ไม่ต้องถึงกับใช้ทฤษฎีอะไรเข้ามาจับ ขอแค่ใช้อารมณ์เกรียนที่มีติดตัว (ถ้ามี) ในการเข้าถึง แล้วจะพบว่า ว้าว! นี่แหละความเกรียนแบบวัยรุ่นล่ะ แม้ปมปัญหาหลาย ๆ เรื่องยังไม่คลี่คลาย แต่ก็ดูเหมือนจะทำให้มีภาคต่อ (?) งั้นก็เก็บปมเรื่องไว้ไม่นำมาให้คะแนนละกัน

........
ไม่ถึงขนาดแนะนำว่า "ต้องดู" แต่ถ้าคุณเป็นคอหนังซูเปอร์ฮีโร่ หรือหนังแอ็คชั่นคอเมดี้ หรือไม่อยากพลาดหนังแนว ๆ แห่งยุคสมัย ก็สมควรไปหามาชม อย่างน้อยก็ไม่รู้สึกเสียดายเวลาสองชั่วโมงที่ใช้ตะลุยไปกับหนังอย่างแน่นอน

๑๗/๐๘/๒๕๕๓

วันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2553

เป็นเพราะฉันไม่เคยจำ...

๏ เธอเคยเตือนฉันไว้...
อย่าปล่อยหัวใจให้ไหวหวั่น
อย่าเผลอสร้างเงื่อนไขความสัมพันธ์
เมื่อเรานั้นไม่ชัดเจนอยู่เช่นนี้

๏ แต่รักเป็นเรื่องของหัวใจ
มิใช่ใช้สมองตรองถ้วนถี่
รักมิรู้ผิดชอบฤๅชั่วดี
รักย่อมเป็นเช่นที่รักอยากเป็น

๏ หรือฉันควรทิ้งทุกสิ่งไป
เก็บรอยยิ้มพิมพ์ใจมิให้เห็น
เก็บภาพความทรงจำเคยชัดเจน
ฝังกลบหลบเร้นความรักไว้

๏ ความทรงจำระหว่างเราไม่มากเลย
เธออาจลืมหรือทำเฉยแต่ฉันไม่
เธอก็รู้ทุกครั้งฉันรักใคร
ฉันมิเคยเผื่อใจไว้สักครั้ง

๏ ความรักของเราอาจต้องจบ
แต่ฉันมิอาจลบภาพความหลัง
แม้รอยยิ้มเสียงหวานใสเคยได้ฟัง
จะประดังมาซ้ำใจให้เจ็บช้ำ

๏ คิดถึงเธอทุกทีที่อ่อนไหว
แล้วก็เผลอร้องไห้ใจเพ้อพร่ำ
ทั้งที่จำคำเตือนเธอได้ทุกคำ
แต่ใจฉันไม่เคยจำ...ว่า "ห้ามรัก" ๚ะ๛


"หนุ่มอักษร...นอนตื่นสาย"
๑๕/๐๙/๒๕๕๓ วันที่เผลอคิดถึง...คนที่ไม่คิดถึงเรา

วันจันทร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ความสัมพันธ์ไม่ชัดเจน

๏ ความสัมพันธ์ไม่ชัดเจน...
เราเว้นช่องว่างความหวั่นไหว
ตั้งเป็นระยะห่างของหัวใจ
ที่จะถมเท่าไรก็ไม่พอ

๏ เคยขีดเส้นความเป็นเพื่อนเตือนหัวใจ
ข้อห้ามปรามไว้หลายร้อยข้อ
กาลเวลาผ่านไปไม่รั้งรอ
เราก็เผลอถักทอความสัมพันธ์

๏ ช่องว่างห่างไกลกลับชิดใกล้
ข้ามเส้นเพื่อนไปทั้งเธอฉัน
คิดจะหวนกลับไปก็ไม่ทัน
ทางจะเดินต่อจากนั้นก็ไม่มี

๏ แต่เราก็เผลอเดินไป...
บนทางที่หัวใจควรหลีกหนี
กว่าจะรู้ก็ถลำไปทั้งฤดี
เกินที่หัวใจห้ามไว้ทัน

๏ คือช่วงเวลาหนึ่ง...
เคยหวานซึ้งเต็มใจไหวหวั่น
สองมือทอรักถักสัมพันธ์
คืนวันหวานไหวดังใจปอง

๏ แต่เรารักกันไม่ได้...
ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจเราทั้งสอง
ว่ารักของเราผิดครรลอง
แม้ความรักจะเรียกร้องอยู่เต็มฤดี

๏ ข้อห้ามร้อยข้อเคยฝังกลบ
เส้นเพื่อนเคยเลือนลบเคยหลีกหนี
ต้องหวนกลับไปใช้อีกที
ในวันที่หัวใจไม่เหมือนเดิม

๏ รักนำพาเรามาไกลเกินจะกลับ
ความเป็นเพื่อนเลือนลับเกินจะเริ่ม
ยิ่งขว้างรักทิ้งไปใจยิ่งเติม
ยิ่งพูนเพิ่มความห่วงใยเมื่อไกลตา

๏ ใช้กำแพงความรู้สึกคอยกั้นกาง
แต่เหมือนยิ่งไกลห่างยิ่งโหยหา
ยิ่งห้ามรักรักยิ่งฝืนกลับคืนมา
ความเหว่ว้าในหัวใจไม่เคยจาง

๏ แต่เมื่อเรามาชิดใกล้
กลับถูกผลักไสให้ไกลห่าง
เหมือนมีม่านหมอกเบาบาง
กั้นขวางความรู้สึกของหัวใจ

๏ ความสัมพันธ์ไม่ชัดเจน...
เราเว้นช่องว่างความหวั่นไหว
ดีแล้ว-หากมันชัดเมื่อใด
ฉันกลัวเราต้องห่างไกล...ตลอดกาล ๚ะ๛


๒๗/๐๗/๒๕๕๓ วันที่ยังไม่หายคิดถึง... คนที่ไม่ควรรัก

โลกความจริงเราห่างกันเหลือเกิน

๏ อยากจะกอดเธอเอาไว้...
กลับมีกำแพงใสกั้นอยู่

ฉันรู้-และฉันเชื่อว่าเธอรู้
ไม่มีทางเคียงคู่-ไม่มีทาง


๏ แต่จะทำอย่างไร...
ยิ่งเราชิดใกล้ยิ่งไกลห่าง
แต่เมื่อความไกลมากั้นกาง
ระยะทางของหัวใจกลับใกล้กัน

๏ เราอาจพบกันช้าเกินไป
หัวใจจึงมีสิทธิ์แค่คิดฝัน

เหมือนอาทิตย์เผลอใจให้พระจันทร์
ไม่มีวันจะสมหวังดังใจปอง

๏ ทั้งที่รู้อย่างนั้น...
กลับเผลอผูกสัมพันธ์เราสอง 

ร้อยเรียงรักเป็นลำนำร่วมทำนอง
กว่ารู้ตัวใจก็ต้องเจ็บทั้งใจ

๏ ปมสัมพันธ์เกินเพื่อนเป็นเง
ื่อนตาย
จะคลายปมรักอย่างไรไหว

นอกเสียจากกลืนเก็บความเจ็บไว้
เอาน้ำตาเป็นกรรไกรใช้ตัดรั

๏ ภาพความทรงจำ...
กลับซ้ำหัวใจให้เจ็บหนัก
รอยยิ้มอายอายเมื่อทายทัก
ยังสลักในหัวใจไม่เคยจาง

๏ อยากจะกอดเธอเอาไว้...
เหมือนมีกำแพงใสกั้นขวาง
คว้าได้เพียงลมเบาบาง

โลกความจริงเราห่างกันเหลือเกิน... ๚ะ๛


๒๖/๐๗/๒๕๕๓ วันดี ๆ ที่หัวใจเผลอคิดถึง... คนที่ไม่ควรรัก

สิ่งเล็กเล็กที่เรียกว่ารัก: โศกนาฏกรรมและการก้าวผ่านวัยของ "เงือกน้อย"

หมายเหตุก่อนอ่าน
- ข้อเขียนนี้เปิดเผยเรื่องราวทั้งหมดของภาพยนตร์
- ข้อเขียนนี้เป็นบทวิจารณ์ภาพยนตร์ที่ยังไม่สมบูรณ์ เนื่องจาก
(๑) เขียนขึ้นจากความทรงจำที่ได้ชมเพียงหนึ่งรอบ อาจมีชื่อตัวละคร Quote คำพูด หรือเหตุการณ์คลาดเคลื่อนไปบ้าง
(๒) เหมาะสำหรับผู้ที่เคยดูมาก่อน เพราะในการอธิบายแต่ละฉาก จะพูดถึงอย่างกว้าง ๆ
(๓) ไม่มีตำราในการอ้างอิงและตรวจสอบความหมายของ Technical Term (แปลว่าอะไรดีเนี่ย ศัพท์ทางวิชาการ?) อยู่ใกล้ ๆ มือ จึงได้แต่อธิบายเท่าที่สมองก้อนน้อย ๆ นี้พอจะเข้าใจ
- ขอบคุณน้องเอ๋ย สำหรับประเด็นดี ๆ ที่ทำให้ข้อเขียนนี้สมบูรณ์ขึ้น
- ข้อเขียนนี้ไม่เหมาะสำหรับผู้ไม่ชอบอ่านอะไรยาว ๆ

..................................

เป็นเรื่องแปลกอย่างหนึ่งที่ว่า ภาพยนตร์ไทยดี ๆ หลาย ๆ เรื่องมักจะมีตัวอย่างหนัง (Trailer) สับขาหลอกว่าเป็นหนังอีกเรื่องหนึ่ง เท่าที่ผมนึกได้ในตอนนี้ก็มีเรื่อง รักแห่งสยาม (ที่ทำ Trailer เป็นหนังรักกุ๊กกิ๊กวัยใส) ความจำสั้น..แต่รักฉันยาว (ที่ทำ Trailer เป็นหนังรักของเป้กับญารินดา) และเรื่องสิ่งเล็กเล็กฯ นี้ อาจเป็นเพราะภาพยนตร์ไทย "อาย" ที่จะแสดงความดีเด่นของหนังออกมาทางตัวอย่างหนัง หรือเพราะกลัวว่าถ้าคนรู้ว่าหนัง "ดี" แล้วคนจะไม่ไปดู (?) ก็ไม่ทราบได้

สิ่งเล็กเล็กที่เรียกว่ารัก ก็เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ทำ Trailer เป็นหนังรักกุ๊กกิ๊ก ผสมอาการถวิลหา (Nostalgia) วัยมัธยมฯ ให้คนดูได้อมยิ้มกัน แต่เมื่อเข้าไปดูในโรง ในหนังกลับมีอะไรมากกว่านั้น

หนังใช้เวลาในช่วงแรกอย่างรวบรัด เล่าถึงความประทับใจต่าง ๆ ของน้ำที่มีต่อพี่โชน รุ่นพี่สุดหล่อ สุดเท่ สุภาพบุรุษสุด ๆ แม้บางฉากจะดูเหมือนจงใจใส่เข้ามาให้พี่โชนดู "หล่อ" มากไปหน่อย อย่างฉากซื้อเป๊ปซี่ให้ แต่ก็ไม่ถึงขนาดยัดเยียดแต่อย่างใด

บางคนที่คิดเยอะอาจมองว่า นี่มันรักกันเร็วไปหรือเปล่า? แต่ลองนึกกลับไปสมัยมัธยมเถิด ท่านจะพบว่า ในตอนนั้นเวลาเราเผลอหลงรัก หรือเผลอปลื้มใคร มันแป๊บเดียวจริง ๆ อาจเป็นเพราะภาวะทางอารมณ์ในช่วงนั้นนับว่าเป็นวัยที่อ่อนไหว ใช้ความรู้สึกนำเหตุผล จึงทำให้หลายคนเผลอหลงรักใครแบบที่ตัวเองอธิบายไม่ได้ แต่แท้จริงแล้ว ปมปัญหาในใจนั้นเป็นเรื่องที่พอจะอธิบายได้
.............................

ภูมิหลังและปมในใจของตัวละคร

หนังช่วงแรกบอกให้เรารู้จักภูมิหลังของตัวละครน้ำว่า เป็นเด็กขาดความอบอุ่นที่ควรได้รับจากพ่อ เธอจึงมองหาผู้ชายที่มีลักษณะคล้ายพ่อของเธอเพื่อมาเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไป นั่นคือพี่โชน

พี่โชนคล้ายพ่อของน้ำตรงไหน?

ข้อมูลที่เรารู้เกี่ยวกับพ่อของน้ำอาจมีแค่ว่า เขาไปทำงานเป็นผู้ช่วยกุ๊กที่อเมริกา แต่นั่นก็เพียงพอแล้ว เพราะทำให้เห็นว่า พ่อของน้ำเป็นผู้ชายที่มีความละเอียดอ่อนอย่างศิลปิน (Artistic) จึงทำงานศิลปะอย่างการทำอาหารได้ดี ผู้ชายที่น้ำสนใจจึงต้องมีความละเอียดอ่อนอย่างศิลปินเช่นกัน และพี่โชนก็มีความเป็นศิลปินอยู่ไม่น้อย นั่นคือชอบถ่ายรูป

แม้สัดส่วนของภูมิหลังโชนมีน้อยกว่าน้ำ แต่ภูมิหลังของเขาจำเป็นมากในการทำความเข้าใจตัวละครตัวนี้ เพราะดูจะเป็นเรื่องเหลือเชื่อที่คนหล่อลากไส้อย่างโชนจะมาแอบชอบเด็กหน้าปลวกอย่างน้ำได้ เราจะได้ทราบในหนังช่วงต่อมาว่า เขาเป็นเด็กชายที่เกิดมาพร้อมกับบาดแผลในอดีต (trauma) คือเกิดมาในวันที่พ่อของเขายิงลูกโทษไม่เข้า ทำให้ทีมจังหวัดไม่ได้แชมป์ประเทศไทย บาดแผลนี้ทำให้เขาไม่กล้าเล่นฟุตบอลอย่างจริง ๆ จัง ๆ และไม่กล้าเตะลูกโทษ แม้ว่าเขาจะเล่นฟุตบอลได้ดีเพียงใดก็ตาม

trauma ในใจของเขาเป็นบาดแผลที่ค่อนข้างลึกทีเดียว เห็นได้จากตอนที่เขาพูดกับน้ำอย่างขมขื่นว่า "มันเป็นเหมือนนามสกุลพี่ไปแล้ว.. ไอ้โชน พ่อยิงลูกโทษไม่เข้า" กระทั่งพ่อและแม่ของเขาก็ยังเป็นห่วงเรื่องปมในใจข้อนี้ของเขา หนังมาเน้นย้ำในฉากที่พ่อแอบมาดูโชนยิงลูกโทษครั้งแรกแต่ไม่เข้า พ่อของโชนแทบจะหนีกลับบ้านเลยทีเดียว

นั่นจึงเป็นคำอธิบายว่า ทำไมโชนถึงเป็นผู้ชายที่สุภาพบุรุษสุด ๆ มีนิสัยชอบ take care คนอื่น (อาจจะถึงขนาดไปทั่ว!) เพราะในวัยเด็กของเขาคงต้องเผชิญกับการไม่ยอมรับจากคนอื่นมาไม่น้อยจากบาดแผลข้อนี้ของเขา การเติบโตผ่านวัยเด็กของเขาจึงส่งผลมาถึงตอนเป็นวัยรุ่น ๓ ประการที่สำคัญกับการดำเนินเรื่องในหนังคือ

(๑) เขาเป็นผู้ชายที่ขาดความมั่นใจในตนเอง เพราะในตอนเด็กไม่ได้รับการยอมรับจากเพื่อน
(๒) เขาเป็นคนที่มีบาดแผลทางความรู้สึก จึงสนใจผู้หญิงที่ห่วงใยความรู้สึกของเขา
(๓) จากข้อ (๑) เขาจึงเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับเพื่อนสนิทในวัยเด็กมาก

ลักษณะข้อ (๑) และ (๒) ของโชน จึงเป็นคำอธิบายว่า ทำไมเขาถึงชอบน้ำตั้งแต่ตอนที่น้ำยังไม่สวย เพราะผู้หญิงคนอื่น ๆ มาทำดีหรือให้ของขวัญเขาเพราะรูปกายภายนอก หรือเพราะอยากครอบครองเขา แต่ไม่มีใครที่เข้ามาพร้อมกับก้าวลึกเข้าไปในความรู้สึกของเขาเหมือนน้ำ ในฉากที่น้ำซื้อยา (หรือปลาสเตอร์?) ให้โชน พร้อมกับพูดด้วยถ้อยคำที่ห่วงใยในความรู้สึก (โดยไม่รู้ตัว น้ำนับว่าเป็นคนที่เข้าใจผู้ชายแนว Artist ที่สุด จากการมีพ่อเป็นคน Artist จึงรู้ว่าคนเช่นนี้ต้องการการ take care ความรู้สึกมากกว่าอย่างอื่น) จึงทำให้โชนประทับใจในตัวน้ำนับแต่นั้น ภายหลังเมื่อน้ำแอบให้ช็อคโกแลต โชนจึงเก็บไว้ในตู้เย็นอย่างดี (เช่นเดียวกับที่น้ำเก็บเป๊ปซี่ของโชนไว้)

อีกประการหนึ่ง น้ำเป็นส่วนสำคัญในการช่วยให้โชนก้าวผ่าน trauma เรื่องยิงลูกโทษมาได้ นั่นคือฉากที่โชนตัดสินใจยิงลูกโทษด้วยตัวเองเป็นครั้งแรก อาจเป็นเพราะโชนรู้ว่าน้ำดูอยู่ด้วย อย่างไรก็ตาม ในหนังไม่ได้บอกว่าโชนจะยิงลูกนั้นเพื่อให้น้ำเห็นว่าเขาทำได้ (บางทีโชนอาจจะอยากก้าวข้าม trauma ด้วยตนเองก็เป็นได้) แต่ผมมองว่าตั้งแต่ที่ได้รู้จักน้ำ และเห็นการเปลี่ยนแปลงของน้ำ ทำให้โชนรู้ว่าคนเรานั้นเปลี่ยนแปลงกันได้จริง ๆ การเปลี่ยนแปลงตนเองของน้ำจึงทำให้โชนกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองบ้าง

อีกประการหนึ่ง การเปิดตัวของหนังที่พูดถึงภาพถ่ายแบบ Close-Up ของโชน โชนกล่าวว่า ชอบที่จะมองลึกลงไปให้เห็นอะไรดี ๆ ข้างใน นั่นแสดงว่าโชนเป็นคนที่ไม่ได้มองคนอื่นเพียงรูปกายภายนอก และโชนยังชอบอวัยวะ "ดวงตา" มากที่สุด นั่นก็คือ ดวงตาเป็นอวัยวะเดียวที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลง หรือปรุงแต่งเป็นอย่างอื่นได้ แม้น้ำจะสามารถขัดผิวให้ขาว จัดฟันให้เป็นระเบียบ แต่งผมให้สวย ฯลฯ จะมีก็แต่เพียงดวงตาเท่านั้นที่น้ำไม่สามารถแปรเปลี่ยนให้เป็นอื่นได้ (นอกซะจากใส่คอนแทคเลนส์เปลี่ยนสีตา เหอะ ๆ) ดวงตาจึงแสดงถึงอัตลักษณ์ที่แท้จริงของแต่ละคน การชอบดวงตาของโชนจึงเป็นสิ่งที่แสดงว่า โชนชอบน้ำที่เป็นน้ำจริง ๆ ไม่ว่ารูปกายภายนอกของน้ำจะเป็นเด็กหน้าปลวกหรือภายหลังเปลี่ยนแปลงมาเป็นเด็กสวยก็ตามที

และลักษณะข้อ (๓) จึงทำให้เกิดตัวละคร "ท้อป" เพื่อนสนิทในวัยเด็กของโชนที่สนิทกันอย่าง "เพื่อนตาย" เพราะท้อปคงจะเป็นเพื่อนคนเดียวในวัยเด็กของโชนที่ทำให้โชนผ่านวัยเด็กอันแสนขมขื่นมาได้ ความรักเพื่อนคนนี้ของโชนเห็นได้จากฉากต่าง ๆ เช่น เมื่อท้อปเข้ามา เขากลายเป็นคนป๊อปในโรงเรียนแทนโชน แต่โชนก็ไม่รู้สึกอิจฉาท้อปเลย หรือฉากยิงลูกโทษ ท้อปก็เป็นคนอาสาจะยิงลูกโทษแทนโชนเอง และเป็นคนแรกที่หยิบยื่นโอกาสให้โชนยิงใหม่อีกครั้ง นั่นแสดงว่าเขาเข้าใจบาดแผลของโชนมากเพียงใด

เหตุนี้โชนจึงไม่ยอมเสียเพื่อนสนิทที่สุดอย่างท้อปไป และทำให้เขาตัดสินใจเลือกเพื่อนมากกว่าเลือกสมหวังในความรัก คำขอที่ดูบ้าบออย่าง "กูขออย่างหนึ่ง มึงอย่าเป็นแฟนกับน้ำ" จึงเป็นคำขอที่โชนรับฟังได้ และโชนเลือกที่จะทำตามที่เพื่อนรักขอ
...................................

Little Mermaid ที่ชื่อน้ำ

หากจะมีเทพนิยายเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่อง หลายคนคงนึกถึง "สโนว์ไวท์" ละครเวทีที่ทำให้น้ำกับโชนได้มาใกล้ชิดกันอีกขั้น การที่มีเทพนิยายเรื่องสโนวไวท์เข้ามาในเรื่องนั้น นอกจากจะล้อเลียนเรื่องค่านิยม "ความขาว"ของคนไทย (เพราะแค่น้ำขาวขึ้นจากเครื่องสำอางค์ ก็สวยขึ้นเยอะ) ยังมีหน้าที่อีก ๒ ประการคือ

(๑) เป็นการชักนำ "เจ้าชาย" ให้มาจุมพิตสโนวไวท์ แบบ ม.ค.ป.ด. (หมาคาบไปแ_ก) นั่นคือ "ท้อป" ที่มาสนใจน้ำครั้งแรกเพราะได้ดูเธอเล่นเป็นสโนว์ไวท์ ท้อปจึงเปรียบเสมือนเจ้าชายที่จู่ ๆ มาจากไหนไม่รู้ แล้วก็มาจุมพิต คือขอน้ำเป็นแฟน แล้วก็ได้แต่งงานกัน คือได้คบกันชั่วระยะเวลาหนึ่ง ขณะที่โชน คนทำฉากที่คอยดูแลช่วยเหลือน้ำมาโดยตลอด เปรียบได้กับคนแคระ กลับไม่สามารถทำอะไรได้ ทำได้ดีที่สุดแค่ "เป็นตัวแสดงแทน" เพียงชั่วครู่ และยังไม่ได้จุมพิตเจ้าหญิงเลยด้วยซ้ำ

(๒) เป็นการส่งนัยล่วงหน้าว่าในเรื่องจะมีเรื่องราวของเทพนิยายอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง
เทพนิยายเรื่องดังกล่าวคือ  The Little Mermaid
-เทพนิยายเรื่องนี้เข้ามาเกี่ยวข้องตั้งแต่เมื่อไหร่? อย่างไร?

อันที่จริงเทพนิยายเรื่องนี้มี ๒ เวอร์ชั่น คือตัวเทพนิยายดั้งเดิมของ Hans Christian Andersen กับฉบับของดิสนีย์ที่ออกฉายในปี ๑๙๘๙ เมื่อเปรียบเทียบกับเนื้อหาในสิ่งเล็กเล็กฯ แล้ว จะคล้ายกับฉบับของดิสนีย์มากกว่า

เมื่อดูพล็อตเรื่องที่ว่า ผู้หญิงคนหนึ่งแอบชอบผู้ชาย และพยายามจะเปลี่ยนแปลงตนเองเพื่อให้เขาสนใจ พล็อตของทั้งสองเรื่องก็ดูใกล้เคียงกัน Ariel เจ้าหญิงเงือกน้อยตกหลุมรักเจ้าชาย และได้ช่วยเจ้าชายให้รอดจากการจมน้ำ คือน้ำเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเป็นกำลังใจให้โชนก้าวผ่าน Trauma ของตนเองดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น เจ้าชายโชนจดจำได้ว่าหญิงคนนั้นมีเสียงที่แสนไพเราะ นั่นคือแรงบันดาลใจที่เขาได้รับจากน้ำโดยไม่รู้ตัว แต่โชนจะไม่เคยได้ยินเสียงที่แสนไพเราะนี้จากปากของน้ำ

เสียงพูดของน้ำหายไปไหน?

Ariel ทำสัญญากับ Ursula แม่มดแห่งท้องทะเลไว้ว่า แม่มดจะเปลี่ยนเธอให้เป็นมนุษย์ (คือเปลี่ยนหางปลาให้เป็นขามนุษย์) แต่จะริบเสียงของเธอไปเสียเป็นการแลกเปลี่ยน น้ำจึงเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นคนที่สวยขึ้น เรียนเก่งขึ้น มั่นใจขึ้น แต่ก็ไม่สามารถบอกความรู้สึกที่แท้จริงได้เลย เปรียบเสมือน Ariel ที่ไม่สามารถร้องเพลงด้วยเสียงอันแสนไพเราะให้เจ้าชายฟังเพื่อยืนยันว่าเธอเป็นคนที่รักเจ้าชายและช่วยเจ้าชายไว้ในคืนนั้น

กุญแจที่บ่งบอกว่าเรื่องสิ่งเล็กเล็กฯ กับ The Little Mermaid มีความสัมพันธ์กันคือ "ปลาหมึก" !?

หากยังจำกันได้ ตอนที่ไปเที่ยวเขื่อน ฉากบนสะพานที่น้ำถือปลาหมึกขึ้นมาให้โชนกิน และโชนเล่า "เรื่องราวของปลาหมึก" นับเป็นครั้งแรกที่โชนกับน้ำได้พูดกันเรื่องความรักอย่างจริง ๆ จัง ๆ ขอให้สังเกตภาพในฉาก กล้องจงใจถ่ายภาพจากด้านบน น้ำถือปลาหมึกขึ้นมาบนสะพานแล้ววางลง ทั้งสองหันหน้าไปคนละทิศ นั่นคือการที่ทั้งสองอยู่คนละโลก น้ำอยู่ในโลกของเงือก และโชนอยู่ในโลกของมนุษย์ แต่สักพักโชนก็มานั่งลงข้างน้ำ (หันหน้าไปทางทิศเดียวกัน) โดยมีปลาหมึกคั่นกลาง นั่นคือทั้งสองมาอยู่ในโลกเดียวกันแล้ว

ถามว่าปลาหมึกเกี่ยวอะไรด้วย?

น่าคิดว่าทำไมต้องถือปลาหมึกขึ้นมา ทำไมไม่ถือน้ำหรืออะไรที่น่าจะกินง่ายกว่า ทั้งที่ในหนังไม่มีการบอกว่าโชนหรือน้ำชอบปลาหมึกเป็นพิเศษ ปลาหมึกในที่นี้จึงเป็นสัญลักษณ์ที่มีนัยกระหวัดไปถึงเทพนิยายเรื่องเงือกน้อย หากจะยังจำได้ Ursula แม่มดแห่งท้องทะเลมีรูปร่างเป็นปลาหมึก!

ฉากนี้จึงเป็นภาพซ้อนทับเทพนิยายเรื่องนี้อย่างแท้จริง แม่มดปลาหมึก Ursula ทำให้เงือกน้อยกลายเป็นมนุษย์และมาอยู่ในโลกเดียวกัน ได้พูดคุยกันเรื่องความรัก เจ้าชายโชนบอกถึงความปรารถนาในใจที่มีต่อหญิงผู้มีเสียงไพเราะคนนั้น คือการบอกซ้ำ ๆ ราวกับชักชวนน้ำว่า "จับมือกัน... จับมือกัน... จับมือกัน... จับมือกัน" (ในการเล่าเรื่องราวของปลาหมึก) แต่เงือกน้อยอย่างน้ำสูญเสียเสียงให้แม่มดปลาหมึก Ursula ไปแล้ว เธอจึงไม่มีเสียง หรือไม่สามารถพูดอะไรเพื่อตอบสนองความปรารถนาของเจ้าชายได้เลย

ในหนังยิ่งเน้นย้ำความเป็นเงือกน้อยของน้ำอีกครั้งในฉากที่น้ำสารภาพรักกับโชน แต่กลับพบว่าโชนตกลงเป็นแฟนกับพี่ปิ่น เพื่อนในกลุ่มโชน น้ำถึงกับช็อค และเผลอเดินตกสระน้ำ นั่นคือฉากในเทพนิยายที่ Ariel ได้เสียงของเธอกลับมาในวินาทีสุดท้ายและร้องเพลงด้วยเสียงอันแสนไพเราะ เจ้าชายโชนจึงเพิ่งจะรู้ว่าเงือกน้อยเป็นคนที่รักเขาอย่างแท้จริง แต่สายเกินไปเสียแล้ว เธอจึงต้องกลับเป็นเงือกน้อยดังเดิม จะเห็นว่าในวินาทีที่น้ำตกลงไปในสระน้ำ กล้องจงใจตัดภาพจากที่ถ่ายมุมบนมาเป็นภาพที่ถ่ายจากขอบสระ และจับภาพตัวน้ำที่โผล่พ้นสระน้ำเพียงครึ่งตัว เราจึงเห็นเพียงครึ่งตัวบนของน้ำเท่านั้น คล้ายกับเธอเป็นเงือกน้อยที่มีท่อนล่างเป็นปลา (อยู่ในน้ำ) เพื่อสื่อให้เห็นว่าสิ่งที่เธอทำมาทั้งหมด คือการพัฒนาตนเองมาจนเป็นเธอในวันนี้ หรือคือการเปลี่ยนแปลงจากเงือกน้อยสู่มนุษย์นั้นสูญเปล่า นั่นคือการกลับไปสู่ความเป็น Little Mermaid ของเธอ ซึ่งสอดคล้องกับเรื่องราวในเทพนิยายที่เจ้าชายมอบ "kiss of true love" ให้ Ariel ไม่ทัน และเธอต้องกลับกลายเป็นเงือกน้อยตามเดิม

นั่นคือโศกนาฏกรรมในเทพนิยายที่สอดคล้องกับโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในเรื่อง
..............................

โศกนาฏกรรม และการก้าวผ่านวัยของตัวละครเอกทั้งสอง

สองสิ่งที่ขับเน้นให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นมากกว่าภาพยนตร์รักวัยใสธรรมดาก็คือ การมีเรื่องราวของโศกนาฏกรรม (Tragedy) และการใช้ผลแห่งโศกนาฏกรรม เพื่อให้ตัวละครก้าวผ่านวัย (Coming of Age) ซึ่งสามารถทำได้อย่างงดงามและลงตัวมาก

โศกนาฏกรรมคือความเศร้าสลดในชะตากรรมของตัวละครเอก อันเกิดจากความผิดพลาดหรือข้อบกพร่อง (Tragic flaw) ของตัวละครนั้น ส่วน Coming of Age ไม่ทราบว่ามีคำแปลไทยว่าอย่างไร จึงขออนุญาตแปลว่า "การก้าวผ่านวัย" ไว้ก่อน คือการที่ตัวละครในวัยหนึ่งได้เรียนรู้จากเรื่องราวหรือจากประสบการณ์ในเรื่อง และได้เติบโตพัฒนาจิตใจจนก้าวข้ามวัยนั้นมาได้

โศกนาฏกรรมของโชนและน้ำคือ การที่ทั้งคู่ไม่สมหวังในความรัก อันเกิดมาจาก Tragic flaw ว่าทั้งคู่ไม่ยอมเปิดเผยความในใจออกมาตรง ๆ ทั้งที่ทั้งสองคนต่างก็แอบชอบกันมานาน

Tragic flaw แรกของน้ำที่ไม่ยอมเปิดเผยความรู้สึกออกมาตรง ๆ ทำให้น้ำก่อปม Tragic flaw ครั้งที่สองคือ พยายามเปลี่ยนแปลงตัวเองให้สวยขึ้น เหมือนเงือกน้อยที่เปลี่ยนตัวเองเป็นคน นั่นกลับชักนำให้ "เจ้าชายท้อป" จากเรื่องสโนว์ไวท์มาตกหลุมรัก

Tragic flaw แรกของโชนที่ไม่ยอมเปิดเผยความรู้สึกออกมาตรง ๆ ทำให้โชนก่อปม Tragic flaw ครั้งที่สองขึ้นมาเอง คือ ไม่ยอมขัดขวางเมื่อท้อปของเป็นแฟนกับน้ำ ยอมถอยให้เพื่อนสนิทที่สุดอย่างท้อปสารภาพรักกับน้ำ

ปม Tragic flaw ของทั้งคู่จึงบิดแน่นขึ้นจนยากจะคลาย น้ำเองก็กลัวพี่โชนจะเกลียดน้ำเพราะปฏิเสธเพื่อนพี่โชน พี่โชนก็กลัวเพื่อนจะเสียใจเพราะหลงรักผู้หญิงคนเดียวกัน ขณะเดียวกันจากการที่เป็นคนขาดมั่นใจในตนเอง จึงคิดว่าหากน้ำคบกับพี่ท้อปไปเรื่อย ๆ ก็อาจจะลืมตนเองได้ น้ำจึงกลายเป็นแฟนของเพื่อนสนิทที่สุดของพี่โชน ยิ่งนานไป ทั้งสองจึงยิ่งเป็นเหมือนเส้นขนาน อยู่ใกล้กันแต่ไม่มีวันบรรจบกัน

Tragic flaw สุดท้ายของทั้งคู่จึงเกิดขึ้นเมื่อน้ำตัดสินใจบอกรักพี่โชนในวันที่สายไป และพี่โชนก็ตอบรับเป็นแฟนพี่ปิ่นเมื่อไม่กี่วันผ่านมา จึงนำไปสู่ Climax ของโศกนาฏกรรมความรักที่ไม่สมหวังของตัวเอกทั้งสอง แล้วในที่สุด น้ำก็เกิดความเข้าใจชีวิต (Enlightenment) และก้าวผ่านวัยได้อย่างงดงามในตอนนั้น  เห็นได้จากฉากที่หนีออกมาจากสระน้ำ เธอพบพี่ปิ่น แทนที่เธอจะวิ่งหนีเหมือนที่วิ่งหนีพี่โชน เธอกลับสวมกอดพี่ปิ่นแล้วร้องไห้ นั่นคือเธอได้เรียนรู้และพัฒนาจิตใจจนก้าวข้ามความเป็นเด็กสาวสู่ความเป็นหญิงสาวในนาทีนั้นเอง

ฉากน้ำสารภาพรักพี่โชน ต้องขอชมว่าน้องที่เล่นเป็นน้องน้ำแสดงฉากนี้ได้ยอดเยี่ยมที่สุด เรียกว่า "ถึง" อารมณ์ความรู้สึกของเด็กสาวที่หลงรักผู้ชายคนหนึ่งมาตลอด สั่นสะเทือนความรู้สึกของผู้ชม กระทั่งผมยังต้องแอบเสียน้ำตาให้เธอ

ส่วน Enlightenment ของโชนเกิดทีหลังน้ำ เมื่อภาพตัดมาที่บ้านโชน แสดงข้าวของในบ้าน และภาพความหลังที่สื่อว่าโชนแอบชอบน้ำมานานแล้วตั้งแต่ยังไม่สวย ในที่สุดโชนจึงตัดสินใจนำอัลบั้มที่โชนถ่ายภาพน้ำเก็บไว้นำไปให้น้ำ โชนได้ก้าวผ่านปมในใจของตนเองที่ไม่ยอมเปิดเผยความรู้สึก ก้าวผ่านความเป็นผู้ชายปากแข็ง ผู้ชายขี้อาย และการเป็นผู้ชายที่ไม่มั่นใจในตนเอง โดยการบอกความรู้สึกให้น้ำรู้ผ่านอัลบั้มรูปนั้น ขณะเดียวกันเขาก็ได้เดินไปในทางสายชีวิตใหม่คือ ได้เป็นนักฟุตบอลเยาวชนของสโมสรบางกอกกล๊าส Coming of Age ของโชนในฉากนี้จึงมีทั้งทางจิตใจและทางสถานะเปลี่ยนผ่านวัยของชีวิต
.............................

ตัวละครคู่ขนานแบบไร้สาระ และตอนจบแบบ "ปาหมอน"

เขียนมาถึงบรรทัดนี้ ผมต้องขอปรบมือดัง ๆ ให้กับทีมเขียนบทเรื่องนี้ที่เขียนออกมาได้ดีจริง ๆ ทำให้หนังเรื่องนี้ไม่เป็นเพียงหนังรักดาด ๆ แต่มีเรื่องราวมากมายซ่อนอยู่ในนั้น หนังเรื่องนี้ "เกือบจะ" เป็นหนังที่ยอดเยี่ยมในสายตาของผมไปแล้ว หากไม่ติดอยู่ที่ (๑) การสร้างตัวละครคู่ขนานแบบไร้สาระ (๒) ตอนจบแบบ "ปาหมอน" ซึ่งผมเดาเอาเองว่า เป็นผลกระทบมาจากความคิดไม่ได้เรื่องของนายทุนทำหนัง

(๑) ตัวละครคู่ขนานแบบไร้สาระ ที่ผมกล่าวถึงคือ ศึกชิงครูพละ คู่ระหว่างครูคนสวย(เจี๊ยบ) กับครูสอนภาษาอังกฤษที่ไม่สวย(ตุ๊กกี้) เข้าใจว่าทีมเขียนบทน่าจะทำให้เป็นตัวละครคู่ขนาน คือเป็นคู่เปรียบเทียบของน้ำกับ "น้องมะม่วง" คนสวย (น้องเฟย์? รึเปล่าลืมชื่อ) ในการชิงหัวใจพี่โชน และเป็นตัวละครเปรียบเทียบระหว่างครูสอนภาษาอังกฤษกับตัวน้ำเอง การเปรียบเทียบแรกเห็นได้จากครูทั้งสองต่างก็มีเด็กของตัวเอง ครูเจี๊ยบก็ให้ท้ายเฟย์ ครูตุ๊กกี้ก็ให้ท้ายน้ำ ครูเจี๊ยบและเฟย์มีอาวุธเป็นความสวยและมารยา ครูตุ๊กกี้และน้ำมีจิตใจดีงาม ส่วนการเปรียบเทียบที่สองคือตัวครูและน้ำเอง ครูตุ๊กกี้ยอมคนรักจนสูญเสียความเป็นตัวเอง กระทั่งกลายเป็นตัวตลก ทั้ง ๆ ที่เป็นคนสอนคำว่า inspiration ให้น้ำ ส่วนน้ำได้ก้าวผ่าน Coming of Age ของตนเอง เรียนรู้คำว่า inspiration จากครูและให้พี่โชนเป็นสิ่งนั้น การเปลี่ยนแปลงของเธอจึงเป็นการพัฒนา (develope) ไม่ใช่ change จนสูญเสียตนเอง

แต่เมื่อครูภาษาอังกฤษรับบทโดยตุ๊กกี้ และใส่ความตลกจนเกินพอดี ตัวละครนี้จึงไม่สามารถนำมาเป็นคู่เปรียบเทียบอย่างที่บทหนังต้องการได้เลย เพราะมันหลุดไปจากการเปรียบเทียบกันอย่างมาก อย่าลืมว่าการเปรียบเทียบนั้นจะต้องมีลักษณะบางประการที่ใกล้เคียงกัน แต่เมื่อตุ๊กกี้เข้ามาขับเน้นความตลกให้เด่นมากกว่าการเปรียบเทียบ ตัวละครคู่ขนานนี้จึงเสมือน "ติ่ง" ของหนัง ที่ไม่ใช่ส่วนเกิน แต่ทำหน้าที่ของตนเองได้ไม่ดีพอ คาดว่าน่าจะเป็นความจงใจของนายทุนที่ต้องการจะใส่ความตลกเข้ามาเป็นตัวชูโรง โดยไม่ได้ดูความเหมาะสมหรือบริบทของหนังเลยแม้แต่น้อย

(๒) ตอนจบแบบ "ปาหมอน" หรือตอนจบแบบขว้างหมอน เป็นภาษาชาวการ์ตูนที่หมายความว่า จบได้แย่ จบดื้อ ๆ หรือจบแบบไม่ถูกใจจอร์จ มันน่าโมโหจนต้องปาหมอนให้หายแค้น อะไรทำนองนั้น อันที่จริงผมคิดว่า ตัดจบแค่ตอนที่น้ำร้องไห้ในห้อง ขณะที่โชนเอาสมุดบันทึกมาให้ นั่นก็เป็นการจบที่เยี่ยมยอดที่สุดแล้ว แต่หนังยังมีต่อมาถึงชีวิตในวัยผู้ใหญ่ของทั้งสอง น้ำได้เป็นดีไซน์เนอร์ชื่อดัง ส่วนโชนเป็นนักฟุตบอลที่ประสบความสำเร็จและผันตัวเองมาเป็นศิลปินช่างภาพ น้ำมาออกรายการโทรทัศน์ และโชนมาสารภาพรักน้ำกลางรายการ - Happy Ending ซะงั้น!!

การจบแบบนี้คือการทำลายประเด็นที่หนังสร้างมาทั้งหมด!!!

เพราะนั่นหมายความว่า โศกนาฏกรรมความรักของน้ำและโชนที่ผ่านมาทั้งหมดในเรื่องเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์ เพราะไม่สามารถทำให้ตัวเองก้าวผ่าน Coming of Age ของตนเองได้ ว่าง่าย ๆ คือทั้งสอง "ไม่เติบโต" หรือ "ไม่ได้เรียนรู้" อะไรบางอย่างจากประสบการณ์ครั้งนั้น แต่กลับยังฝังใจและยังรอให้ความรักเปลี่ยนจากโศกนาฏกรรมเป็นความสุข นั่นคือจิตใจไม่ได้รับการชำระล้าง (catharsis) จากโศกนาฏกรรม ทั้งสองจึงไม่ได้ก้าวผ่านเทพนิยายมาสู่ชีวิตจริง และก้าวผ่านวัยเพ้อฝันหวานซึ้งอย่างวัยรุ่น แต่กลับติดอยู่ในโลกของเทพนิยายทั้งที่เติบโตขึ้นจนเป็นผู้ใหญ่แล้ว

การจบแบบนี้คงไม่มีอะไรมากไปกว่าวิธีคิดในการทำหนังของนายทุน ครั้งหนึ่งผมเคยฟังคุณวิทิต คำสระแก้ว ผู้กำกับเรื่อง "กั๊กกะกาวน์" และ "เขาชนไก่" พูดถึงการเสนองานให้นายทุนฟังว่า นายทุนเขาจะคำนวณความคุ้มค่าด้วยหลักคิดง่าย ๆ เช่น เรื่องเขาชนไก่ เป็นหนังวัยมัธยม เขาก็จะคำนวณจากจำนวนเด็กมัธยมในขณะนั้น!? เนื่องจากเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่จะมาดู (ง่ายไปไหมนี่) นั่นคือ ถ้าหนังมีความเฉพาะด้านใด เขาก็จะคำนวณจากความเฉพาะด้านนั้น คงจะเช่นเดียวกับเรื่องสิ่งเล็กเล็กฯ นี้ ที่เป็นภาพยนตร์วัยมัธยม ดังนั้นกลุ่มเป้าหมายหลักน่าจะเป็นเด็กมัธยม

ดังนั้นจึงส่งผลต่อมาว่า หากจะให้จบแบบโศกนาฏกรรม คงไม่ถูกใจผู้ชมภาพยนตร์วัยเด็กเท่าไหร่ เพราะเด็กคงไม่คิดเยอะเหมือนผม (ฮา) จึงต้องปรับเปลี่ยนให้เป็น Happy Ending แบบฝัน ๆ ไปเสียในตอนท้าย ซึ่งก็น่าจะได้ผล เพราะพอออกมาจากโรง มีแต่คนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า "จบดีจัง" "จบซึ้งจัง" คงมีแต่ผมที่หดหู่อยากปาหมอนอยู่คนเดียว เหอะ ๆ (คงจะเหมือนตอนจบของ กวน มึน โฮ ที่ดูในวันเดียวกัน คนในโรงบ่นอุบว่า ทำไมจบแบบนี้ จบไม่ดีเลย แต่ผมกลับเห็นว่า จบดีชะมัด!)
..................................

บทส่งท้าย

หากไม่นับข้อเสียที่พูดมา ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็นับว่าเป็นภาพยนตร์ที่ยอดเยี่ยมเรื่องหนึ่ง ฉากหน้าเป็นภาพยนตร์รักวัยใส แต่ในเนื้อหากลับมีประเด็นให้ขบคิดมากมาย อันที่จริงผมยังหลงเหลืออีกหลายประเด็นที่ยังไม่ได้พูดถึง เช่น เรื่องเพื่อนมัธยม (เพื่อนสาวของน้ำ) เรื่องมุมมองต่างผ่าน Gender ที่ต่างกัน แต่แค่นี้ก็นับว่าเยอะ และเพียงพอในการกล่าวถึงความรู้สึกดีที่มีต่อหนังเรื่องนี้แล้ว

และทำให้เห็นว่าคนไทยนั้นมีศักยภาพและความคิดที่เจ๋งพอจะทำหนังไทยดี ๆ ได้อยู่จริง ๆ เพียงแต่หลายต่อหลายเรื่อง ความสมบูรณ์ของหนังได้ถูกทำลายไปด้วยวิธีคิดของนายทุนที่ดูถูกคนดู และคิดแต่จะขายสิ่งที่ขายง่าย ๆ เพียงอย่างเดียว

จึงได้แต่หวังลม ๆ แล้ง ๆ ว่าในอนาคตจะมีนายทุนหนังที่มีหัวคิดพอ และเห็นคุณค่าของหนังไทยว่าไม่ใช่เป็นเพียง "สินค้า" แต่คือ "งานศิลปะ"


วุฒินันท์ ชัยศรี
๒๖/๐๘/๒๐๑๐

วันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร (ในหมู่คนจัญไร)

๏ ไม่มีซึ่งมิตรแท้
และศัตรูผู้ถาวร
การเมืองเน่าเฟะฟอน
เพราะเหล่าหนอนมันบ่อนใน

๏ วันก่อนเคยก่นด่า
พอลับตาจูบกันได้
อภิปรายก็เห่าไป
ร่วมจิบไวน์หลังเลิกประชุม

๏ การเมืองคือคอกสัตว์
เอาเสือสิงห์มากองสุม
เอาแร้งแก่มากลุ้มรุม
ทึ้งศพไทยให้ย่อยยับ

๏ แบ่งเค้กดังใจหมาย
ถ่มน้ำลายก็เลียกลับ
จับมือแล้วอือรับ
กอดคอเกลอใช่คนไกล

๏ งาช้างฤาหดคืน
คำคนฝืนคำจริงได้
มีแต่คำจัญไร
ของเล่ห์ลิ้นเหล่าทรชน

๏ สันดานลิ้นสองแฉก
คอยจะแด- ซากศพคน
หวังเพียงประโยชน์ตน
กลับคำได้ไม่อายใคร

๏ เดินเบี้ยก็เสียเบี้ย
เหยียบหัวเบี้ยมาเป็นใหญ่
สมสู่เสร็จสมใจ
ก็จับมือมุ่งปรองดอง

๏ ตั้งไว้กี่ข้อหา
ถึงเวลาก็ถอนฟ้อง
รับคำตามทำนอง
เข้าใจผิด-ขออภัย

๏ ฝนตกเสียงซู่ซู่
แล้วขี้หมูก็เริ่มไหล
ปรองดองสบายใจ
เพราะจัญไรพอพอกัน! ๚ะ๛


แด่... การถอนฟ้องคดีพิพาทของแกนนำสองสี

ว่าด้วยเรื่องราวของลูกเขยครูขี่คร่าน อาแปะขายกาแฟ และความรู้ในมิติที่แตกต่าง

พื้นที่ว่างบนรถเมล์มีไม่มากนัก จึงดูเหมือนว่าเขาและเธอเหล่านั้นกำลังนั่งล้อมวงแนบชิดและแลกเปลี่ยนเรื่องราวต่าง ๆ โดยมีเบาะเล็ก ๆ เป็นฉากกั้นความเป็นส่วนตัว แต่เบาะไม่ใช่กำแพง มันจึงเก็บเสียงสนทนาที่ค่อนข้างดังไม่ได้ และนี่คือบทสนทนาของหญิงวัยกลางคนที่นั่งข้างหน้าข้าพเจ้า

"ครูน่ะเป็นอาชีพที่เอาเปรียบคนมากที่สุดแล้ว"
"ใช่ ๆ"
"วัน ๆ ไม่เห็นทำอะไรเลย มานั่งเต๊ะหน้าห้อง แล้วก็พูด ๆ ให้หมดชั่วโมงไปวัน ๆ เด็กอ่านหนังสือไม่รู้เรื่องก็ไม่เอาเป็นธุระ ปล่อยผ่านไปจนโต"
"ใช่ ๆ" ข้าพเจ้าคาดว่าคู่สนทนาคนนี้เป็นลูกขุนพลอยพยัก
"พวกข้าราชการ ทำงานกินเงินเดือนหลวง ภาษีของเราทั้งนั้น ไม่เหมือนพวกทำมาค้าขายอย่างเรา ทนหากินเช้าค่ำ ปากกัดตีนถีบ ลำบากแทบตายกว่าจะได้เงินมาแต่ละบาท"
"ใช่ ๆ" อีกคนคงเป็นลูกขุนพลอยพยักจริง ๆ

ยังไม่ทันที่ความคิดของข้าพเจ้าจะเอ่ยถามว่า มิใช่เพราะครูหรือเธอจึงสามารถคิดเลขได้ถูกต้อง ก็เป็นเสียงของเธอมากลบเสียงในใจเสียก่อน
"ฉันน่ะ แค่พ่อสอนให้คิดเลขเป็น ฉันก็ขายของเป็นแล้ว... เขาน่าจะเลิกจ้างครูไปได้แล้ว เรียนไปก็เท่านั้นแหละ ไม่เห็นเกี่ยวกับไอ้ที่จะมาทำมาหากินเลย"

.........................

คลับคล้ายคลับคลาว่าข้าพเจ้าเคยได้ยินวาทกรรมเหล่านี้มาจากที่ไหนสักแห่ง นึกไปนึกมาจึงถึงบางอ้อ... เป็นคำบ่นกระปอดกระแปดของแม่ยายของญาติข้าพเจ้า
"บ่อยากได้ดอก ลูกเขยครูน่ะมันขี่คร่าน"
(ไม่อยากได้หรอก ลูกเขยครูน่ะเป็นคนเกียจคร้าน)

สมการ ข้าราชการ = คนเกียจคร้าน เป็นตรรกะปกติของพ่อค้าแม่ขาย หรือคนหาเช้ากินค่ำที่ข้าพเจ้ารู้จัก
(ย้ำว่า "ที่ข้าพเจ้ารู้จัก" เพราะข้าพเจ้ามีคนรู้จักที่ประกอบอาชีพนี้ไม่มากนัก)
เมื่อ ข้าราชการ = ครู จึงพลอยทำให้เกิดสมการ ครู = คนเกียจคร้าน ตามไปด้วย

ข้าพเจ้าคงจะไม่พูดถึงความล้มเหลวของระบบการศึกษาพื้นฐาน ที่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการเฉพาะทางของบางพื้นที่หรือนักเรียนบางคนได้ เช่น ไม่มีหลักสูตรวิชาชีพเฉพาะทาง เช่น ปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์ ที่ไม่ใช่แค่หลักสูตรกิ๊กก๊อกในวิชา กพอ. (ไม่รู้ว่าปัจจุบันเปลี่ยนชื่อหรือยัง)
แต่เป็นการสอนระดับการรู้จักคัดเลือกพันธุ์ข้าว การวางแผนทำชลประทานให้มีน้ำเพียงพอ หรือการบริหารจัดการฟาร์มสัตว์ ซึ่งมีสอนเฉพาะในมหาวิทยาลัยบางแห่งเท่านั้น กว่าจะเข้าไปถึงระดับนั้นก็ต้องใช้เงินทองมากมาย
หรือหลักสูตรพ่อค้าแม่ค้า ซึ่งบางคนอาจบอกว่าไม่ต้องสอนเพราะมันอยู่ในสายเลือดอยู่แล้ว แต่การได้เรียนก็น่าจะทำให้ "ลัดเวลา" ได้มากขึ้น

แต่แน่ล่ะ เราไม่มีหลักสูตรเหล่านั้น เรามีแต่หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานพิมพ์เดียวกัน คือหลักสูตรการศึกษาแบบชนชั้นกลางป้อนตลาดทุนนิยม
เป็นหลักสูตรที่ทำให้นักเรียนหุงข้าวไม่เป็น ทำกับข้าวไม่เป็น ทำงานบ้านไม่เป็น นอนตื่นสาย ฉลาดแกมโกง และแบมือขอเงินพ่อแม่จนโต
แต่ข้าพเจ้าก็ยังจะไม่พูดถึงเรื่องนี้ แม้มันจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดตรรกะ ครู = คนที่ไม่มีประโยชน์ ในความคิดของบางคน

ข้าพเจ้าคงจะไม่แก้ตัว หรือไม่พูดถึงคุณค่า ความสำคัญ และความจำเป็นที่ต้องมีอาชีพ "ครู" อยู่ในโลก แม้ข้าพเจ้าจะทราบดี เพราะตระกูลของข้าพเจ้าเป็นครูกันแทบทั้งตระกูล

หรืออันที่จริง แม้ข้าพเจ้าจะพูดถึงเรื่องที่ข้าพเจ้ายกมาข้างต้นทั้งหมด ก็อาจไม่สามารถถมช่องว่างทางความคิดระหว่างข้าพเจ้ากับหญิงวัยกลางคนที่อยู่ตรงหน้าได้

.........................

ข้าพเจ้าเคยคุยกับอาแปะร้านกาแฟคนหนึ่งแถว ๆ ตลาดในหมู่บ้าน กาแฟของแกขายดีมาก แต่ก่อนแกได้กำไรวันละกว่า 3,000 บาท!! 3,000X30 = 90,000 บาท นี่มันเงินเดือนระดับผู้บริหาร CEO เลยนะเนี่ย
"เดี๋ยวนี้ขายไม่ดีเลยอาตี๋"
"ได้วันละเท่าไหร่ครับ"
"วันละสองพันกว่า ๆ เอง"
2,000X30 = 60,000+- บาท ก็ยังเยอะอยู่ดีนะอาแปะ (ฟังแล้วอยากลาออกจากที่เรียนมาช่วยแปะขายกาแฟ)

เมื่ออาแปะทราบว่าข้าพเจ้าเพิ่งเรียนจบปริญญาตรีใบที่สอง และกำลังเรียนต่อปริญญาโท แกแสดงอาการแปลกใจเป็นอย่างยิ่ง
"ลื้อจะเรียนไปทำไมตั้งสองสามใบ จะเอาไปทำอะไรนักหนา"
ครั้นจะตอบว่า "เรียนเพราะอยากรู้" ก็ดูจะกวนอวัยวะใช้เดินไปหน่อย แม้มันจะเป็นเหตุผลจริง ๆ ก็ตามที
ข้าพเจ้าได้แต่ยิ้ม คิดหาคำตอบที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดในตรรกะที่อาแปะจะเข้าใจ
"ยังไม่อยากทำงาน อยากมีข้ออ้างเที่ยวเล่นในกรุงเทพฯ" (แต่จริง ๆ นี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งเหมือนกัน แหะ ๆ)

อาแปะจบ ป.4 พูดไทยได้แต่อ่านหนังสือไทยไม่ได้ ตั้งร้านขายกาแฟแต่ยังหนุ่ม ส่งออกลูก ๆ ไปตั้งร้านขายกาแฟตามอำเภอต่าง ๆ อาแปะอาจลืมความรู้ตอน ป.4 ที่เคยเรียนมาทั้งหมดแล้ว เพราะมันไม่จำเป็นอะไรเลยกับชีวิต สิ่งที่อาแปะอยากรู้ก็คือ สูตรผสมกาแฟให้อร่อย ขายดี นอกเหนือจากนั้นคือสิ่งที่ไร้สาระ รู้ไปก็เท่านั้น
เพราะ "ความรู้" ของเราทั้งสองคน มีรูปแบบ ขนาด ลักษณะ มิติ และคุณค่าแตกต่างกัน
ตรรกะที่บอกว่า "เรียนเพราะอยากรู้" หรือคำว่าปรัชญาที่มาจาก Philos + Sophia "ความรักในความรู้" (ซึ่งบังเอิญสอดคล้องกับคำแปลของชื่อผมอย่างประหลาด วุฒิ(ความรู้) + นันท์(ยินดี) = ผู้ยินดีในความรู้) จึงมิใช่ตรรกะที่อาแปะจะเข้าใจได้

.........................

เช่นเดียวกัน ข้าพเจ้าไม่มีคำอธิบายใด ๆ ไปอธิบายให้หญิงวัยกลางคนที่นั่งข้างหน้าข้าพเจ้าเข้าใจได้ว่า เหตุใดโลกนี้จึงต้องมีครู
เพราะตรรกะของเราเป็นตรรกะคนละชุด


วุฒินันท์ ชัยศรี
๒๔/๐๘/๒๐๑๐

วันอาทิตย์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

TOP 10 of my favourite Thai Short Story

หลังจากว่างเว้นการเขียนเรื่องสั้นไปเป็นปีเพราะมัวไปหมกมุ่นอยู่กับอย่างอื่น วันนี้จู่ ๆ ก็เกิดอารมณ์อยากหวนกลับมา "เล่น" กับมันอีกครั้ง เลยหยิบรวมเรื่องสั้นหลาย ๆ เล่มมาอ่านพลาง ๆ เผื่อมีความคิดใหม่ ๆ แวบเข้ามาให้เขียนบ้าง เลยนึกครึ้มอกครึ้มใจอยากลองจัดอันดับรวมเรื่องสั้นไทยที่ดีที่สุดตลอดกาลในดวงใจ 10 เล่มขึ้นมา เรียงตามลำดับความชื่นชอบ (ตอนแรกจะจัดอันดับ 10 เล่มในดวงใจไม่ว่าจะเป็น บทกวี เรื่องสั้น นวนิยาย ของไทย-เทศ แต่ว่าตัดใจให้เหลือ 10 เล่มไม่ได้จริง ๆ ขนาดจัดอันดับเฉพาะเรื่องสั้นไทยรอบนี้ ยังอยากจะขยายเป็น 20 เล่มเลย 55) ตรงกับใจท่านหรือไม่ หรืออ่านการจัดอันดับแล้วอยากไปหามาลองอ่านก็ลองมาดูกัน

1. รวมเรื่องสั้นของ อ.อุดากร
ใครจะมองว่าเป็นเรื่องสั้นโรแมนติกประโลมโลกย์ ใครจะมองว่าเป็นเรื่องสั้นตกยุค หรือใครจะมองอย่างไรก็ตาม แต่สำหรับผมแล้ว นี่คือ Best of the Best ของเรื่องสั้นไทย
เรื่องสั้นของ อ.อุดากรหลายเรื่องเป็นเรื่องสั้นในยุคแรกเริ่มที่ดูเหมือนจะตกยุคไปแล้ว เช่น เรื่องรักโรแมนติกอย่าง สยุมพรเหนือหลุมฝังศพ เรื่องตื่นเต้นเร้าใจ มุ่งสั่งสอนศีลธรรมอย่าง ตึกกรอสส์ สัญชาตญาณมืด แม้แต่เรื่องสั้นเสนอแนวคิดทางการเมืองที่ออกจะเชย ๆ อย่าง บนผืนดินไทย คาร์ล มาร์กซ์, กลิ่นดินปืน และนันทิยา แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าคุณค่าของเรื่องสั้นเหล่านี้จะตกหล่นไปตามยุคสมัย ความงามของเรื่องสั้นของ อ.อุดากรไม่ได้หยุดอยู่ที่ภาษาอันสละสลวยละเมียดละไม ไม่ได้หยุดอยู่ที่โครงเรื่องซับซ้อนและการหักมุมจบอย่างชาญฉลาด แต่อยู่ที่จิตวิญญาณแห่งการรังสรรค์เรื่องสั้นที่แสดงออกมาอย่างเหลือล้นในแต่ละเรื่อง นั่นทำให้งานของเขาเป็นอมตะมาจนถึงทุกวันนี้

2. รวมเรื่องสั้นของมนัส จรรยงค์
หากจะเปรียบรวมเรื่องสั้นของ อ.อุดากรเป็นมวยกรุง รวมเรื่องสั้นของมนัส จรรยงค์ก็เป็น "มวยลูกทุ่ง" ที่มีจังหวะจะโคนการเตะต่อยอันเป็นเอกลักษณ์ ทั้งภาษาแบบตรงไปตรงมาตามแบบตัวละครลูกทุ่ง หรือหากจะไพเราะขึ้นจากการปรุงแต่งของผู้เขียนก็ไม่ได้ไพเราะเสียจนเกินจริตความงามแบบท้องทุ่ง ใครเล่าจะลืม "จับตาย" "ซาเก๊าะ" "ท่อนแขนนางรำ" ฯลฯ เรื่องสั้นที่ตกผลึกมาจากการบ่มเพาะประสบการณ์มาทั้งชีวิต ทำให้ตัวละคร เหตุการณ์ ตลอดจนองค์ประกอบทุกอย่างในเรื่องดูราวกับมีชีวิตมีเลือดเนื้ออยู่ในหน้ากระดาษ
แต่ที่ติดใจผมที่สุดเห็นจะเป็นเรื่องสั้นชุด "เฒ่า" ที่มีตัวละครเอกลักษณ์คือ "เฒ่า" ต่าง ๆ ที่อาจินต์ ปัญจพรรค์ให้คำจำกัดความไว้ว่าเป็น "สุภาพบุรุษท้องนาผู้เสพย์สุราต่างโอสถ" คอยมาเรียกเสียงหัวเราะ แสดงเล่ห์เหลี่ยมกลโกง ตลอดจนความมีน้ำใจแบบ "นักเลงลูกทุ่ง" จนเป็นตัวละครและเรื่องราวที่ตราตรึงใจผู้อ่านมาจนทุกวันนี้
อาจกล่าวได้ว่าไม่มีใครอีกแล้วที่จะเขียนเรื่องสั้นลูกทุ่งได้ดีเท่ามนัส จรรยงค์

3. ฟ้าบ่กั้น / ลาว คำหอม
นี่คือรวมเรื่องสั้นที่สะท้อนชีวิตคนอีสานได้ดีที่สุด ตรงที่สุด และเจ็บปวดที่สุด แต่ในความเจ็บปวดนั้นก็มีเสียงหัวเราะแบบขื่น ๆ และมีความหวังส่องประกายวิบวับอยู่ลึก ๆ ตามประสาคนอีสานผู้ไม่ย่อท้อต่อโชคชะตา ลาว คำหอมกล่าวทีเล่นทีจริงว่า เรื่องสั้นชุดนี้เป็นแค่ "วรรณกรรมฤดูกาล" แต่ฤดูกาลแห่งความ "โง่ จน เจ็บ" ของชาวอีสานนั้นยาวนานเหลือเกิน เขาพูดถูก เพราะจนถึงทุกวันนี้ เรื่องราวใน "ฟ้าบ่กั้น" หลายเรื่องก็ยังมีอยู่ตำตาในแผ่นดินอีสาน
ความดีอื่น ๆ ของหนังสือเล่มนี้คงไม่ต้องพูดมาก เพราะแค่เล่มนี้เล่มเดียวก็ทำให้ชื่อของลาว คำหอม ขึ้นหิ้งเป็นนักเขียนเรื่องสั้นยอดเยี่ยมตลอดกาลแล้ว

4. แผ่นดินอื่น / กนกพงศ์ สงสมพันธุ์
กว่าที่ "แผ่นดินแม่" จะกลายไปเป็น "แผ่นดินอื่น" นั้น มีปัญหามากมายและสลับซับซ้อนพัวพันกันจนยุ่งเหยิง จับต้นชนปลายไม่ถูก แทบไม่น่าเชื่อว่ากนกพงศ์จะสามารถเขียนเรื่องราวและกระบวนการการเปลี่ยนแปลงที่สลับซับซ้อนเหล่านั้นออกมาในรูปแบบที่ดูจะมีข้อจำกัดมากมายอย่างเรื่องสั้นได้อย่างสมบูรณ์แบบและลงตัวที่สุด นี่คือรวมเรื่องสั้นที่ยอดเยี่ยมที่สุดในบรรดาเรื่องสั้นยุคใหม่ของไทย และสมศักดิ์ศรีรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนมากที่สุดนับแต่ได้มีการจัดประกวดกันขึ้นมา
ดูเหมือนว่าชุดความคิดใน "แผ่นดินอื่น" เป็นความคิดที่ตกผลึกมาแล้วจากผลงานก่อนหน้าอย่าง "สะพานขาด" และ "คนใบเลี้ยงเดี่ยว" ความคิดในแต่ละเรื่องนั้นสลับซับซ้อนและยั่วให้ผู้อ่านตีความได้หลากหลายนัย พอ ๆ กับกลวิธีที่เขาเลือกใช้ และความซับซ้อนของปัญหาในภาคใต้ที่ยังไม่มีใครสามารถแก้ไขได้
จนถึงตอนนี้ มีงานวิจารณ์หรืองานวิจัยที่วิเคราะห์วิจารณ์รวมเรื่องสั้นชุดนี้อยู่ไม่มากนัก อาจเป็นเพราะงานของเขาดูจะ "เกิดก่อนกาล" ทำให้การวิจารณ์อย่างถึงแก่นทำได้ยากพอสมควร

5. เดอะกร๊วกฟาเธอร์ แห่งหมู่บ้านซวยซ้ำซาก / ธราธิป
เมื่อเทียบกับชื่อชั้นของเล่มอื่น ๆ และนักเขียนท่านอื่น ๆ แล้ว เล่มนี้ดูเหมือนจะ "พลิกโผ" หลุดเข้ามาแบบฟลุกสุด ๆ หลุดไม่หลุดเปล่ายังเข้ามาเป็น TOP 5 ในดวงใจได้อีกต่างหาก นี่มันรวมเรื่องสั้นอะไร มีดีอะไรกันนี่! เมื่อดูในแง่เนื้อหาแล้ว มันก็เป็นเรื่องสั้นตลก ๆ ธรรมดา กล่าวถึงหมู่บ้านเล็ก ๆ หมู่บ้านหนึ่งที่มีเรื่องฮาไม่เว้นแต่ละวัน แต่ไม่รู้ทำไม เรื่องสั้นชุดนี้ถูกรสนิยมผมเอามาก ๆ อ่านแล้วหัวเราะท้องคัดท้องแข็งตลอดเวลา อาจจะกล่าวได้ว่าเรื่องสั้นชุดนี้เข้ามาเพราะ "รสนิยม" หรือ "ความถูกจริต" ของผู้จัดอันดับล้วน ๆ ไม่เพียงแต่เล่มนี้เท่านั้น เล่มอื่น ๆ ของธราธิปก็เป็นเล่มที่ผมไม่เคยพลาด
เอาเป็นว่า นับแต่ ป.อินทรปาลิตได้สร้างหัสนิยาย "สามเกลอ" ขึ้นมาบนบรรณพิภพเพื่อสร้างเสียงหัวเราะให้คนอ่านแบบน้ำหูน้ำตาไหลแล้ว คนที่พอจะเลียบ ๆ เคียง ๆ ท่านได้ ผมเห็นว่ามีแต่ธราธิปและรวมเรื่องสั้นแบบ "หัสเรื่องสั้น" ชุดนี้

6. เสเพลบอยชาวไร่, ผู้มียี่เกในหัวใจ / 'รงค์ วงษ์สวรรค์
อย่าไปเชื่อว่าหนังสือเล่มนี้ดีเพราะเป็นหนังสือหนึ่งใน 100 เล่ม จากการจัดอันดับของใครก็ไม่รู้ แต่ต้องลองอ่านด้วยตัวเองแล้วจะรู้ว่า นี่แหละ "ตัวจริง" แห่งวงการวรรณกรรมไทย อาจจะมีคนจัดรวมเรื่องสั้นชุดนี้ในหมวดนวนิยาย (ซึ่งอันที่จริงมันก็จัดได้แหละ) แต่ผมอยากจะจัดมันอยู่ในหมวดเรื่องสั้นที่มีตัวละครร้อยเรียงกันมากกว่า ชื่อชั้นของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ อาจการันตีได้ระดับหนึ่ง แต่เนื้อหาในเล่มมีดีกว่าที่การันตีไว้เยอะ แม้จะกล่าวถึงเรื่องราวชาวบ้านทุ่งธรรมด๊าธรรมดา แต่ระดับ 'รงค์ แล้ว ฝีมือการประพันธ์ของท่านทำให้เรื่องธรรมดากลับกลายมาเป็นเรื่องสั้นระดับ "ขึ้นหิ้ง" ได้ไม่ยาก และที่สำคัญ ฮาน้ำตาเล็ด ขอบอก

7. หนังสือเล่มสอง / เดือนวาด พิมวนา
อย่าแปลกใจว่าอ่านเรื่องสั้นของเดือนวาดอยู่ดี ๆ จะรู้สึกเหมือนถูกจับแก้ผ้า เพราะนั่นคือความถนัดของเดือนวาด -คว้านลึก ชำแหละ เปิดเปลือยจิตใจของมนุษย์จนหมดเปลือก ทดสอบจิตใจของมนุษย์ด้วยสถานการณ์ต่าง ๆ นานา เมื่อมองจากวงนอกอาจจะเห็นว่าตัวละครในเรื่องทำสิ่งที่ดูไม่ฉลาดเอาเสียเลย แต่เมื่อลองคิดว่าถ้าตนเองเป็นตัวละครนั้นเราจะทำอย่างไร ยิ่งอ่านยิ่งล้วงลึกเข้าไปในจิตใจตนเองจนรู้ว่า แท้จริงแล้วจิตใจของมนุษย์นั้นอ่อนแอและเปราะบางยิ่งกว่าเครื่องปั้นดินเผาผุ ๆ เสียอีก
นี่คือความยอดเยี่ยมของเรื่องสั้นชุดนี้ และความยอดเยี่ยมของเดือนวาด พิมวนา

8. สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน / วินทร์ เลียววาริณ
วินทร์ เลียววาริณ นักเขียนดับเบิลซีไรต์ มีงานเขียนมากมาย ทำไมต้องเป็นเล่มนี้? สำหรับผมแล้ว วินทร์เป็นมือเรื่องสั้นระดับต้น ๆ ของประเทศ และรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ถือว่าเป็น "จุดสูงสุด" ที่รวมทุกอย่างในความเป็น "วินทร์" ไว้ทั้งหมด ทั้งแนวคิดในการเขียน เนื้อหา กลวิธีสร้างสรรค์เรื่อง โดยเฉพาะกลวิธีที่ใช้ในแต่ละเรื่องนั้นไม่มีเรื่องไหนที่สูญเปล่าเลย ราวกับเขาได้ตกผลึกการใช้กลวิธีในการสร้างสรรค์เรื่องมาจาก "อาเพศกำสรวล" แล้ว
คำกล่าวของคณะกรรมการซีไรต์ท่านหนึ่งที่กล่าวถึงรวมเรื่องสั้นชุดนี้ว่า "วินทร์ทำให้นิยามของคำว่าวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมเป็นจริงขึ้นมาได้" นั้น ผมเห็นว่าไม่เกินจริงเลย

9. คนบนต้นไม้ / นิคม รายยวา
พูดถึงนิคม รายยวา ใคร ๆ ก็นึกถึง "ตลิ่งสูง ซุงหนัก" นวนิยายรางวัลซีไรต์ของเขา ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นนวนิยายที่มีสัญลักษณ์ต่าง ๆ ให้ใคร่ครวญขบคิดมากมาย แต่สำหรับผมแล้ว รวมเรื่องสั้นชุดนี้กลับเป็นงานเชิงสัญลักษณ์ที่ยอดเยี่ยมมากกว่า สำรวมคำ สำรวมความ ป้อนสัญลักษณ์ไม่มาก แต่ท้าทายให้ตีความไม่รู้จบ อาจมีข้อบกพร่องอยู่บ้างตามประสางานชิ้นแรก ๆ ของผู้เขียน แต่โดยรวมแล้วผมถือว่า นี่คือวรรณกรรมแนวสัญลักษณ์ที่ดีที่สุดเท่าที่มีมาในประเทศไทย

10. วรรณกรรมตกสระ (ชื่อก่อนได้รับการตีพิมพ์: งามมีที่รัก) / ภาณุ ตรัยเวช
นี่คืองานที่ยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่รางวัล Young Thai Artist Award ได้มีการจัดประกวดขึ้นมา และถือเป็นงานที่ยอดเยี่ยมที่สุดเมื่อเทียบกับงานของบรรดานักเขียนในรุ่นราวคราวเดียวกัน หรือต่อให้เทียบกับงานของนักเขียนรุ่นใหญ่หลายคนก็ตามที เสียดายก็แค่ว่าไม่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมในปีนั้น ทั้งที่ระดับของงานนั้นเกินคำว่ายอดเยี่ยมไปหลายขุม แต่อย่างน้อยมันก็ได้พิสูจน์ระดับของงานอีกครั้งในภายหลังเมื่องานชิ้นนี้ดีพอจะเป็น 1 ใน 7 เล่มสุดท้ายของซีไรต์ และเป็นเล่มที่ "ดีพอจะได้ซีไรต์" ในทัศนะของผมอีกด้วย
รวมเรื่องสั้นชุดนี้กล่าวถึงความงาม ความรัก และความสัมพันธ์ของมนุษย์หลากแง่หลายมุม แม้หลายเรื่องจะจบลงด้วยความเศร้า แต่เมื่ออ่านจบกลับพบความงามของความรักที่แอบซ่อนอยู่ในหัวใจของมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม และที่ผมวงเล็บชื่อเดิมนั้นไว้ก็เพราะผมชอบชื่อเดิมมากกว่า ด้วยเหตุผลว่าชื่อ "งามมีที่รัก" เป็นชื่อที่สอดคล้องกับเนื้อหาของรวมเรื่องสั้นชุดนี้ทั้งหมดมากกว่าชื่อปัจจุบันนั่นเอง