วันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ปล่อยดาว


ระวังเป็นน้ำผึ้งเพียงหนึ่งหยด
ที่ราดรดเปลวไฟให้โหมกล้า
แรกเริ่มอาจเป็นเพียงลมแผ่วมา
สุดท้ายคือมหาวาตภัย

โบราณว่าเชือดไก่ให้ลิงดู
แต่เชือดคนคนยิ่งสู้รู้หรือไม่!
มนุษย์ต่างจากสัตว์ที่ใด?
ตรงที่มีความเห็นใจให้แก่กัน

คุณขังดวงดาวให้ดับลง
ลูกกรงคุณใหญ่แค่ไหนนั่น?
ปลายปืนอาจปิดตะวันจันทร์
ฤาขวางกั้นดวงดาวที่พราวฟ้า

ดวงดาวอาจอ่อนแรงแสงริบหรี่
อำนาจที่คุณมีย่อมใหญ่กว่า
แต่รู้เถิดเมื่อดับดาวสักดวงมา
หมื่นล้านดาวหาญกล้าจะลุกฮือ!

๒๙ มิ.ย. ๕๘

วันพฤหัสบดีที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2558

คิดถึง (๗)

เป็นเพราะเราห่างกันวันหนึ่ง
เลยรู้ว่าคิดถึงมากแค่ไหน
มองหมื่นแสนล้านดาวดวงใด
ก็ยังไม่เหมือนดาวในดวงตา

เธอได้ยินเสียงลมกระซิบไหม
สายลมหอบความห่วงใยฉันไปหา
คิดถึงนะ... คิดถึงทุกเวลา
แม้ฉันจะจากมาไม่ถึงวัน

แววตาหวานชวนหวั่นไหวใครคนหนึ่ง
ช่างหวานซึ้งตรึงใจในความฝัน
คิดถึงเกินคำจะจำนรรจ์
ด้วยใจไหวหวั่นเดียวดาย

เพียงเพราะเราห่างกันแค่วันหนึ่ง
เลยรู้ว่าคิดถึงใจแทบสลาย
ขอโทษที่คิดถึงมากมาย
เพราะเธอมีความหมายมากเกินใคร

คิดถึงนะ... คิดถึงเธอที่สุด
คิดถึงเกินหยุดคิดถึงได้
ฟังสิฟัง... ลมรำเพยเผยความนัย
ว่ามีใครคนหนึ่ง... คิดถึงนะ

มิ.ย. ๒๕๕๘

วันพุธที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2558

นัย / ตา (๔)

ปัญหาอยู่ที่นัยน์ตาเธอ
ที่ฉันเผลอสบเข้าเช้าวันก่อน
หัวใจจึงจวนเจียนจะขาดรอน
อาวรณ์วุ่นวายไม่เว้นวัน

ปัญหาอยู่ที่นัยน์ตาเธอ
ที่ฉันเผลอรับไว้ในความฝัน
งามดุจดาวทั้งโพ้นฟ้ามารวมกัน
หมื่นแสนทางช้างเผือกนั้นยังพ่ายแพ้

ปัญหาคือฉันเผลอสบตา
พอรู้ตัวเกินกว่าหาทางแก้
ถึงจะหักห้ามใจไม่เหลียวแล
หัวใจกลับอ่อนแอเกินต้านทาน

สลัดทิ้งอย่างไรก็ไม่หลุด
นัยน์ตาพิสุทธิ์แสนหวาน
สลักลงตรงกลางใจไปชั่วกาล
ซึ้งซ่านตราตรึงถึงวิญญาณ์

ปัญหาคือตอนนี้ที่ใจฉัน
คอยเฝ้าฝันหวานซึ้งคะนึงหา
หัวใจไหวหวั่นทุกวันเวลา
เพราะหลงรักนัยน์ตาคนน่ารัก!

มิ.ย. ๒๕๕๘

วันพุธที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2558

แรงที่ชื่อ "ความรัก" ใน Interstellar


(เปิดเผยเรื่องราวในภาพยนตร์)

“Love, Tars, LOVE. It's just like Brand said. My connection with Murph, it is quantifiable. It's the key!”

Interstellar ภาพยนตร์ไซไฟที่ถูก (นักวิจารณ์ที่ไม่สนใจอ่านเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์) กล่าวหาว่าเป็นหนังครอบครัวที่มีฉากหลังเป็นอวกาศ ใช่ซะที่ไหนเล่า! นี่มันหนังไซไฟเต็มรูปแบบตะหากเฟ้ย! เรื่องราวทั้งหมดในภาพยนตร์คือทฤษฎีการเดินทางข้ามเอกภพผสานกับจินตนาการที่น่าจะเป็นไปได้ในอนาคต ลำพังแค่การดูหนังโดยไม่เข้าใจเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์มากนักก็สนุกดีอยู่แล้ว แต่ยิ่งได้อ่านหนังสือ The Science of Interstellar ที่เขียนโดยปรมาจารย์ด้านหลุมดำอย่าง Kip Thorne (ลุงแกเป็นที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์ในภาพยนตร์) ก็ยิ่งพบว่าภาพยนตร์เรื่องนี้อัดแน่นด้วยทฤษฎีเรื่องเอกภพทั้งที่พิสูจน์ได้และเป็นเพียงสมมติฐาน แทบไม่มีส่วนไหนในเรื่องเลยที่แต่งขึ้นลอย ๆ โดยไม่มีสมมติฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ นอกจากนั้นก็ยังถือว่าเป็นภาพยนตร์ที่แสดงภาพสิ่งสำคัญในเอกภพอย่างรูหนอนและหลุมดำจากจินตนาการของมนุษย์ได้ใกล้เคียงที่สุด จึงน่าจะพูดได้ว่าเป็นหนัง Sci-Fi เต็มรูปแบบ แถมยังหนักไปทาง Sci ด้วยซ้ำ (แต่ยังแมสได้อีก ลุงโนแลนแกจะเก่งไปถึงไหนเนี่ย)

หนึ่งในเรื่องราวที่โนแลนเสนอไว้อย่างน่าสนใจและอาจเป็นหัวใจของเรื่องนี้เลยก็เป็นได้คือ ความรักนั้นอาจเป็น “แรง” ชนิดหนึ่ง หรือเป็นสิ่งที่วัดปริมาตรได้ในเชิงฟิสิกส์ (Quantifiable) ซึ่งเป็นคำพูดในฉากที่คูเปอร์ตัวเอกของเรื่องพูดขึ้นหลังจากกระโจนเข้าไปในหลุมดำ และค้นพบมิติเชิงซ้อนของกาลเวลาซ่อนอยู่ในภาวะเอกฐาน (Singularity) ของหลุมดำ เขาจึงค้นพบวิธีที่จะติดต่อกับเมิร์ฟลูกสาวสุดที่รัก

ความรักจะเป็นแรงชนิดหนึ่งได้อย่างไร?

ก่อนอื่นไปที่พื้นความรู้เรื่องแรงเสียก่อน แรงพื้นฐานของจักรวาลหรือในทางฟิสิกส์เรียกว่า "อันตรกิริยาพื้นฐาน" นั้นมีอยู่ 4 ชนิด คือ แรงแม่เหล็กไฟฟ้า แรงนิวเคลียร์ชนิดเข้ม แรงนิวเคลียร์ชนิดอ่อน และที่เราคุ้นเคยกันดีที่สุดคือ แรงโน้มถ่วง แรงทั้ง 4 ชนิดคือแรงที่อนุภาคกระทำต่อกันในรูปแบบต่าง ๆ เช่น แรงนิวเคลียร์ชนิดเข้มคือการกระทำระหว่างอนุภาคระดับเล็กกว่าอะตอม แรงแม่เหล็กไฟฟ้าคือการกระทำระหว่างประจุไฟฟ้า เป็นต้น (หาอ่านได้ในหนังสือฟิสิกส์ทั่วไปนะจ๊ะ)

สิ่งที่น่าสนใจของทั้ง 4 แรงนี้คือ ความเข้มข้นของทั้ง 3 แรง ได้แก่ แรงแม่เหล็กไฟฟ้า แรงนิวเคลียร์ชนิดเข้ม แรงนิวเคลียร์ชนิดอ่อน ทั้งหมดเข้มข้นสูงกว่าแรงโน้มถ่วงอย่างมาก เทียบเป็นค่าสัมพัทธ์คือสมมติค่าให้แรงโน้มถ่วงเป็น 1 เมื่อเทียบกับแรงนิวเคลียร์ชนิดอ่อนซึ่งเบาสุดของทั้งสามแรงก็ยังมีค่าเป็น 10 ยกกำลัง 25 ของแรงโน้มถ่วง เกี่ยวกับเรื่องความเข้มข้นที่แตกต่างกันอย่างมากนี้ โปรเฟสเซอร์สุดสวยแห่งวงการฟิสิกส์ Lisa Randall สันนิษฐานว่าแรงโน้มถ่วงนั้นเป็นสิ่งที่รั่วขึ้นไปในมิติที่สูงกว่า และนี่ก็คงเป็นเหตุผลว่า เหตุใดแรงโน้มถ่วงจึงถูกใช้เป็นแรงหลักในการติดต่อสื่อสารจาก “คนในมิติที่สูงกว่า” (ในมิติที่คูเปอร์เห็น “เวลา” เป็นมิติทางกายภาพจับต้องได้) มาถึง “คนในมิติ 3+1” ได้ (มิติของเราที่มีกว้าง x ยาว x สูง และ มิติเวลาที่เดินไปข้างหน้า จับต้องไม่ได้)

ทว่าลำพังแรงโน้มถ่วงก็ยังไม่ดีพอที่จะเชื่อมต่อข้ามสเปซไทม์ได้ โดยเฉพาะจากในมิติที่สูงกว่ามิติ 3+1 ซึ่งในนั้นมีมิติเชิงซ้อนจำนวนมหาศาล ไม่เช่นนั้นเจ้าหุ่นพูดมากอย่าง Tars ที่ตกลงไปในหลุมดำก่อนคูเปอร์คงสามารถส่งข้อมูลควอนตัมที่พบในหลุมดำออกไปหาใครสักคนได้แล้ว

Tars เมื่ออยู่ท่ามกลางมิติเชิงซ้อนของเวลาในภาวะเอกฐานของหลุมดำ ก็เหมือนกับ "พวกเขา" ในมิติที่สูงกว่า ตรงที่เข้าถึงได้ทุกสเปซไทม์ของโลกในมิติ 3+1 แต่ไม่สามารถเชื่อมต่อได้เลย ดังที่คูเปอร์พูดว่า "They have access to infinite time and space, but they're not bound by anything. They can't find a specific place in time. They can't communicate."

การ "เชื่อมต่อไม่ได้" นั้นเกิดจากอะไร?

ในโลก 3+1 มิติของเรา สมมติว่าเราจะนัดเพื่อนกินข้าว ณ ที่ใดที่หนึ่ง นอกจากเราจะต้องบอกมิติของสเปซ ยังจะต้องบอกมิติเวลาด้วยว่าจะนัดหมายไปพบกันกี่โมง การเชื่อมต่อของทุกมิติจึงจะเสร็จสมบูรณ์ สิ่งมีชีวิตในสามมิติอย่างเราไม่มีปัญหากับการเคลื่อนไหวในมิติสเปซ เนื่องจากเราเข้าถึงได้ทุกมิติ อาจจะเดินขึ้น-ลง เลี้ยวซ้ายไปทางตะวันออก วกกลับมาทางเหนือมายังสถานที่นัดหมายได้ แต่สำหรับมิติเวลา เราไม่สามารถเดินไปจากหกโมงเย็นเพื่อเลี้ยวกลับไปกินข้าวกับเพื่อนตอนแปดโมงเช้าของวันเดียวกันได้

เช่นเดียวกัน ในมิติที่สูงขึ้นไปดังเช่นมิติเชิงซ้อนในหลุมดำที่เวลาถูกทำให้กลายเป็นมิติทางกายภาพ ซึ่งหมายถึงเราเดินย้อนเลี้ยวหรือรุดหน้าไปยังมิติเวลา อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต หรือช่วงใด ๆ ก็ได้ มันจึงต้องการสิ่งที่จะเชื่อมต่อนอกเหนือจากเวลาอีก

อันที่จริงแล้วมิติเชิงซ้อนของเวลาที่คูเปอร์ได้ค้นพบในภาวะเอกฐานของหลุมดำควรจะเป็นอย่างเดียวกับที่ Tars พบ คือเต็มไปด้วยสเปซไทม์กระจัดกระจายจนจับต้นชนปลายไม่ถูก (อาจจะเป็นในฉากภาพเชิงซ้อนมหาศาลช่วงแรกที่เขาถูกดึงดูดผ่านขอบฟ้าเหตุการณ์เข้ามา) ทว่าที่สุดแล้วคูเปอร์ก็ถูกดึงดูดเข้าสู่สเปซไทม์ "พิเศษ" เพียงที่เดียว นั่นคือห้องนอนของเมิร์ฟ ลูกสาวที่เขาถวิลหาถึงตลอดเวลานับแต่จากมา ดังนั้นแรงที่ดึงดูดเขา หรือมิติที่เชื่อมต่อเขากับเมิร์ฟในมิติที่สูงกว่ามิติ 3+1 จะเป็นอะไรอย่างอื่นได้นอกจาก "ความรัก"

ความสำคัญของ "ความรัก" ในฐานะสิ่งที่วัดค่าได้ในเชิงฟิสิกส์ยิ่งถูกเน้นย้ำในฉากที่เอมีเลียพยายามโน้มน้าวให้ทุกคนเดินทางไปยังดาวเอ็ดมันส์แทนที่จะเป็นดาวแมนน์ เธอกล่าวว่าความรักอาจไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเอง แต่ถูกสร้างขึ้นในมิติที่สูงกว่าซึ่งสิ่งมีชีวิต 3 มิติอย่างเราไม่สามารถรับรู้ได้ (ลำพังแค่มิติเวลาในมิติที่ 4 เราก็ยังเกือบจะ can't consciously perceive เลย) เธอถูกความรักดึงดูดข้ามจักรวาล (across the universe) ข้ามมิติเวลา (to someone I haven't seen in a decade) เข้าไปหาเอ็ดมันส์ที่อาจตายไปแล้ว (อาจหมายความไปถึงมิติเชิงกายภาพของเอ็ดมันส์)

"Love isn't something we invented. It's observable, powerful. It has to mean something... Maybe it means something more, something we can't...yet understand. Maybe it's some evidence, some artifact of higher dimension that we can't consciously perceive. I'm drawn across the universe to someone I haven't seen in a decade who I know is probably dead."

เอมีเลียเชื่อและพยายามอธิบายถึงความสำคัญของแรงที่ชื่อความรักว่าเป็นแรงที่เดินทางข้ามสเปซไทม์ได้ ก่อนจะปิดท้ายว่าเราควรศรัทธามันแม้จะยังไม่เข้าใจก็ตาม "Love is the one thing we're capable of perceiving that transcends dimensions of time and space. Maybe we should trust that, even if we can't understand it yet."

ความรักในฐานะแรงในทางฟิสิกส์อาจจะคล้ายคลึงกับแรงโน้มถ่วงตรงที่เราแทบจะไม่มีความรู้เกี่ยวกับมันมากนัก ซ้ำยังวัดค่าในเชิงฟิสิกส์ไม่ได้ชัดเจน แต่มัน observable และ powerful อย่างที่เอมีเลียว่า และหากแรงโน้มถ่วงส่งผ่านสเปซไทม์ได้ ความรักก็เป็น "the key" ที่เชื่อมต่อระหว่างพ่อกับลูกสาวข้ามสเปซไทม์แม้แต่ในมิติที่สูงกว่า

การที่โนแลนเลือกใช้ความรักของพ่อลูกแทนที่ความรักของหนุ่มสาว ในแง่หนึ่งก็ทำให้แรงของความรักนั้นหนักแน่นน่าเชือถือมากขึ้น เห็นได้จากฉากการโน้มน้าวของเอมีเลีย ทั้งที่เป็นแรงที่ชื่อความรักเหมือนกัน แต่เมื่อเอมีเลียจะใช้แรงนี้เดินทางไปหาเอ็ดมันส์กลับไม่ได้รับความเชื่อถือจากคนในทีมแม้แต่น้อย (ทำหน้าเหมือนเอมีเลียเพี้ยนแล้วอีกต่างหาก) ในบทหนังปูให้เห็นอยู่ตลอดว่าความรักของสองพ่อลูกคู่นี้ไม่ธรรมดา ก่อนจะจากโลกไปคูเปอร์ก็โอ๋แต่ลูกสาว พอออกไปอวกาศก็คิดถึงแต่ลูกสาวตลอดเวลา ตอนเกือบตายก็เห็นแต่หน้าลูกสาว (มึงรักลูกลำเอียงมาก) ฝ่ายเมิร์ฟก็แค้นพ่อเพราะเข้าใจผิดว่าพ่อทิ้งครอบครัวไปตั้งอาณานิคมที่ดาวอื่น ถึงขนาดด่าพ่อว่า "son of bitch" (ลูกอีดอก) แค่นี้ก็รู้แล้วว่าเมิร์ฟรักพ่อแค่ไหน อย่าลืมว่าความเกลียดชังก็คือเหรียญอีกด้านของความรัก คนที่แค้นกันสุดชีวิต ส่วนมากเริ่มมาจากความรักอย่างสุดซึ้งแทบทั้งนั้น

เมื่อคูเปอร์สามารถเชื่อมต่อกับเมิร์ฟจากมิติที่สูงกว่าไปสู่มิติ 3+1 ด้วยแรงที่ชื่อความรัก เขาได้ส่งข้อมูลจากอีกด้านของหลุมดำ (ซึ่งเชื่อกันว่าคือกฎความโน้มถ่วงควอนตัมที่พบในภาวะเอกฐานของหลุมดำ นำมาสู่การควบคุมความวิปลาสของแรงโน้มถ่วงในสถานีอวกาศจนสามารถยกอาณานิคมขนาดมหึมาขึ้นจากโลกได้) ผ่านแรงโน้มถ่วงใส่ลงไปในนาฬิกาที่คูเปอร์ให้กับเมิร์ฟ นั่นคือไคล์แมกซ์วัดใจว่าแรงที่ชื่อความรักนั้นมีอยู่จริงหรือไม่ ในจุดนี้การตั้งชื่อตัวละครลูกสาวว่า Murphy Cooper ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ไม่ได้ตั้งขึ้นลอย ๆ เพราะชื่อนี้ตั้งมาจาก "กฎของเมอร์ฟี" (Murphy's Law) ซึ่งกล่าวว่า "ทุกสิ่งที่สามารถผิดพลาด จะผิดพลาด" (Anything that can go wrong, will go wrong) (ซับไทยแปลว่า อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด คนละเรื่องเลย 55)

ก่อนหน้านี้ในฉากที่เอมีเลียโน้มน้าวให้เดินทางไปดาวเอ็ดมันส์ คูเปอร์บอกว่าการที่เอมีเลียเชื่อเรื่องแรงของความรักนั้นอาจจะผิดได้ (ตามกฎของเมอร์ฟี) เพราะตอนนั้นคูเปอร์ยังไม่รู้ว่าภายในมิติที่สูงกว่ามิติ 3+1 นั้น ความรักทำให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่างเขากับลูกสาว จนเมื่อเขาหล่นมาในภาวะเอกฐานของหลุมดำจึงเข้าใจว่าแรงที่ชื่อความรักมีจริง ดังนั้นในนาทีที่ Tars เจ้าหุ่นพูดมากถามคูเปอร์ว่า "ถ้าเธอไม่กลับมาเอานาฬิกา (ที่ใส่ข้อมูลควอนตัมไว้ล่ะ)" หรือถ้าพูดแบบกฎของเมอร์ฟีคือ "ความศรัทธาเรื่องแรงชื่อความรักจะผิดพลาดได้หรือไม่" คูเปอร์จึงแน่ใจและยืนยันไปว่าเมิร์ฟกลับมาเอานาฬิกาแน่ "Because I gave it to her." หรือพูดในภาษาแรงแห่งความรักคือ "เธอกลับมาเอานาฬิกาแน่ (เพราะความรักนั้นเชื่อมโยงเราสองคนไว้)"

ทุกสิ่งที่ผิดพลาดได้ จะผิดพลาด แต่คูเปอร์เข้าใจแล้วว่าแรงที่ชื่อความรักนั้นมีอยู่จริง ดังนั้นแม้ถูกทดสอบด้วยกฎของเมอร์ฟีก็ไม่มีทางผิดพลาดเด็ดขาด

ความรักจึงอาจจะเป็นแรงพื้นฐานอีกชนิดหนึ่งในจักรวาลซึ่งมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับแรงโน้มถ่วง ในแง่ที่มันอาจรั่วอยู่ระหว่างมิติ 3+1 ของเราไปถึงมิติที่สูงกว่าเช่นเดียวกับแรงโน้มถ่วง รวมถึงเหนี่ยวนำวัตถุที่มีคุณสมบัติพิเศษบางอย่างข้ามสเปซไทม์ หรือแม้แต่ในมิติที่สูงกว่านั้น สมมติอย่างสุดโต่งให้เห็นภาพเช่นว่าแรงที่ชื่อความรักนั้นเหนี่ยวนำสิ่งที่เรียกว่าวิญญาณ (Soul) ดังนั้นเรื่องคู่แท้หรือบุพเพสันนิวาส เรื่องความรักข้ามภพข้ามชาติก็อาจอธิบายได้ในเชิงฟิสิกส์ เพราะในเมื่อมิติเวลา อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต เป็นสิ่งที่มีอยู่และจับต้องได้ทางกายภาพ (โดยเฉพาะในมิติที่สูงกว่ามิติ 3+1 ซึ่งสามารถมองเห็นมิติเวลาในทางกายภาพ) แรงที่ชื่อความรักซึ่งส่งข้ามสเปซไทม์ได้ ก็ย่อมเหนี่ยวนำคนสองคนมาพบกันในเวลาและสถานที่ที่เหมาะสม ซึ่งอาจเป็นจุดใดจุดหนึ่งของโลกคู่ขนานในจักรวาลอันกว้างใหญ่ หรือพูดในภาษาชาวมิติ 3+1 ก็คือ "พบกันในชาตินี้" นั่นเอง

คำกล่าวที่ดูเหมือนจะติดตลกของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ที่ว่า "Gravitation is not responsible for people falling in love." จึงอาจไม่ใช่การพูดเพียงให้ขบขัน แต่เป็นเพราะแรงโน้มถ่วงและแรงที่ชื่อความรักนั้นเป็นแรงคนละชนิดกันในจักรวาลนี้ต่างหาก

มิถุนายน 2558