วันพฤหัสบดีที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

บางบทบันทึกในวันรับพระราชทานปริญญามหาบัณฑิต

1. Man vs Game กับสามหนุ่มกลุ่มสุดท้าย

ข้าพเจ้าปิดฉากชีวิตนิสิตปริญญาโทด้วยอมตะวจีอย่าง "วินนิ่งไหมสาด" และรบราฆ่าฟันกันอย่างนักรบแห่งพันธสัญญาในโลกสมมติในนามสามหนุ่มกลุ่มสุดท้ายจนถึงเช้า ก่อนจะเอาชุดตามวิทยฐานะมาสวมทับสังขารอันอิดโรยแล้วก้าวเดินไปสู่พิธีรับพระราชทานปริญญาบัตร

สามหนุ่มกลุ่มสุดท้าย หมายความถึงสามหนุ่มผู้ว่างเว้นจากการถือครองกรรมสิทธิ์ชีวิตของงานประจำ ซึ่งนับเป็นกลุ่มสุดท้ายของเพื่อน ๆ สมัยมัธยมที่ได้งานได้การ รวมถึงเป็นฝั่งเป็นฝากันไปสิ้นแล้ว

ว่ากันตามวุฒิการศึกษา ข้าพเจ้าอาจจะมิปริญญาหลายใบกว่าพวกเขาทั้งสอง แต่เมื่อถอดเปลือกลวงหลอกทั้งหลายออกไป เราทั้งสามคนก็ยังเหมือนกันตรงที่คำว่าชีวิตมั่นคงตามความหมายของพจนานุกรมฉบับทุนนิยมยังปฏิเสธเราอยู่ เฉกเช่นเดียวกับความเท่าเทียมกันต่อหน้าปุ่มกดสิบสี่ปุ่มบนจอยขนาดเหมาะมือ

Man vs Game อันที่จริงเป็นฉายาซึ่งยินดีและเต็มใจจะมอบให้แก่เพื่อนผู้กระทำวีรกรรมกล้าหาญและยิ่งใหญ่เช่นว่าเผลอหลับไปทั้งที่มือกำจอยเกมเอาไว้ หรือการตะลุยเคลียร์เกมติดต่อกันสองวันสองคืนไม่หลับไม่นอน แต่เมื่อนับมาถึงเวลานี้ ข้าพเจ้าพบว่าตนเองก็ไม่ต่างจากฉายาดังกล่าวนัก

ข้าพเจ้ายังเป็นแมนวีเอสเกม พาตัวเองเข้าไปสู่การแข่งขันมากมายที่ผ่านเข้ามาในชีวิตและทุ่มเทกับมันสุดหัวจิตหัวใจเพียงเพื่อจะพบว่าชัยชนะนั้นแสนจะกลวงเปล่า ข้าพเจ้าอาจตะโกนดีใจที่ส่งลูกเข้าไปตุงตาข่ายฝ่ายตรงข้ามได้ หรือการพลิกกลับมาคว้าชัยชนะในตอนท้าย แต่เมื่อปิดเครื่อง ทุกอย่างก็รีเซ็ตกลับที่เดิม

ข้าพเจ้าพยายามพิสูจน์ตัวเองว่ากูก็เขียนหนังสือเป็นเพื่อลบคำปรามาสของนักเขียนแล้งน้ำใจบางคน โดยการพางานเขียนของตัวเองลงสู่สนามประกวดต่าง ๆ วันที่ประกาศผลรางวัลซึ่งมีชื่อข้าพเจ้าติดโผอยู่ ข้าพเจ้าอาจรู้สึกพองโต แต่เมื่อกลับมาที่บ้าน นอนหลับไปสักคืน เพียงตื่นขึ้นมา ทุกอย่างก็รีเซ็ตกลับไปที่จุดเดิม

ถ้วยรางวัลถูกเก็บไว้ในมุมอับ ๆ ของห้อง และถ้าไม่ปัดฝุ่นเสียบ้าง หยากไย่ก็จะมาจับจองพื้นที่ หนังสือซึ่งตีพิมพ์ผลงานของข้าพเจ้า ถูกกองรวม ๆ อยู่กับหนังสือพิมพ์ที่รอวันชั่งกิโลขาย

ทุกอย่างที่ข้าพเจ้าทุ่มเทด้วยจิตวิญญาณ สุดท้ายในสายตาของคนที่ไม่เข้าใจก็ไม่ต่างจากเกมสนุก ๆ สักเกมหนึ่ง ที่เมื่อถึงวันหนึ่งเครื่องเกมจะปิดลง และทุกอย่างรีเซ็ตกลับมาสู่โลกความจริง

โลกความจริงซึ่งข้าพเจ้านั้นอ่อนแอและกำลังจะแพ้พ่ายโดยไม่มีทางสู้

และไม่มีเปลือกหอยชื่อว่า "กำลังเรียนต่อ" มาห่อหุ้มตัวตนอันเปราะบางอีกต่อไป

อาจจะมีบางวินาทีที่ข้าพเจ้าคิดว่าพรุ่งนี้คือชัยชนะแท้จริง แต่การสวมบทแมนวีเอสเกมในคืนนี้ทำให้ข้าพเจ้าแน่ใจว่า พรุ่งนี้ก็เป็นอีกวันที่ชัยชนะของข้าพเจ้าจะหายไปเมื่อปิดเครื่องเกม ข้ามพ้นเส้นแบ่งของความฝัน และพบคำว่าชีวิตจริงยืนรอขย้ำเหยื่ออยู่ตรงหน้า นั่นคือการรีเซ็ตตัวเองกลับสู่สถานะความล้มเหลวที่มิอาจเบือนหน้าหนี

ดิมิทาร์ เบอร์บาตอฟ เป็นกองหน้าที่ข้าพเจ้าเลือกลงสนามบ่อยที่สุดในการเล่นวินนิ่ง "เฮียช้า" อาจจะขาดความเร็ว แต่มีความคม มีลูกพลิกแพลงบ่อย ๆ ทำประตูได้ทั้งการเตะและโหม่ง ขอแค่บอลกระเด็นมาถึงก็เกือบจะแน่ใจว่าใส่สกอร์ได้ชัวร์

แต่ในชีวิตจริง "เบิร์บ" เป็นกองหน้าที่แทบจะไม่ได้ลงสนาม และกำลังจะถูกขายทิ้งอย่างไม่ต้องการความเข้าใจใด ๆ ทั้งสิ้น

ชีวิตจริงก็โหดร้ายเช่นนี้หรือมิใช่?

2. ความคาดหวังสีชมพู

ด้วยความที่ข้าพเจ้าเผชิญกับพิษของรถติดมามากพอ จึงเลือกที่จะเดินทางออกมาจากที่พักตั้งแต่ตีสี่ครึ่ง ผลก็คือข้าพเจ้าต้องมาเดินแกร่วในจุฬาฯ ตั้งแต่ตีห้า

ข้าพเจ้าคิดว่าที่นี่คือมหาวิทยาลัยแห่งความเร่งร้อน ข้าพเจ้านิยามเอาตามความรู้สึกเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับศิลปากรและรามคำแหง ที่ศิลปากรนั้นเวลาดูเหมือนจะเดินช้ากว่าปกติ ข้าพเจ้ามีเวลาทำอะไรตั้งมากมายเมื่อเรียนที่นั่น ส่วนรามคำแหงนั้นอยู่ใกล้ที่พักของข้าพเจ้ามากเสียจนรู้สึกว่าเป็นบ้านหลังที่สอง และกาลเวลาในรามคำแหงนั้นคือกาลเวลาปกติที่เดินไปตามวิถีทางของมัน ส่วนที่จุฬาฯ ดูเหมือนว่าทุกอย่างจะดูรีบร้อน ข้าพเจ้าไม่มีเวลามองดูใบไม้พลิกไหวอย่างเอื่อยเฉื่อยเหมือนตอนอยู่ศิลปากร หรือนั่งลงริมสระน้ำแล้วเขียนบทกวีสักชิ้นเหมือนตอนอยู่รามคำแหง เหมือนว่าทุกคนกำลังรีบเดินไปที่ไหนสักแห่ง แล้วข้าพเจ้าต้องเดินตามให้ทัน ทั้งที่นาฬิกาก็เดินไปตามปกติเหมือนกันทุกที่

แต่เช้ามืดวันนี้ จุฬาฯ ดูเงียบสงบ และกระแสเวลาเดินอย่างเชื่องช้าไม่ต่างจากที่ศิลปากร

ดูเหมือนว่าทุกอย่างเป็นเรื่องของความรู้สึกและความคาดหวัง

เช่นเดียวกับชุดครุยที่ข้าพเจ้ากำลังสวม และคำพูดทิ้งท้ายของเพื่อนก่อนจากมา

"ถ้ามึงจบปริญญาโทที่จุฬาฯ แล้วได้ทำงานที่เงินเดือนน้อยกว่าสามหมื่น มึงก็ควรพิจารณาตัวเองได้แล้วล่ะ" พูดพลางกดปุ่มจ่ายบอลทะลุช่องให้นักเตะบัลลงดอร์สามสมัยส่งบอลเข้าตาข่าย ทำเอาข้าพเจ้าสะอึกเพราะนี่มันช่วงทดเวลาบาดเจ็บ และข้าพเจ้าไม่รู้ว่าจะเอาตรรกะชุดไหนมาแก้ต่างตรรกะชุดนี้ของเพื่อน

มันคนละสายคนละลักษณะงาน-สถาบันไม่ได้เกี่ยวกับเงินเดือน-กูอาจจะอยากไปทำงานใกล้บ้านเพราะเกลียดรถติด-ฯลฯ

ข้าพเจ้าพบว่ามันยากเหลือเกินที่จะอธิบายให้ชัดเจนทั้งหมดในยุคที่วาทกรรมซับซ้อนถูกย่อยให้ง่ายที่สุด เช่นว่าเหลืองคือสาวกลิ้ม แดงคือบูชาทักษิณ เศรษฐกิจพอเพียงคือไถนาอยู่กับบ้าน กองทุนหมู่บ้านคือกองทุนหลอกคนโง่ให้เป็นหนี้

ข้าพเจ้าจึงเลือกที่จะเงียบไปเพื่อตั้งสมาธิให้ "เฮียช้า" โหม่งประตูชัยในช่วงต่อเวลาพิเศษ

ข้าพเจ้ารู้ดีว่าวันนี้จะต้องเผชิญกับสายตาแบบไหนจากญาติ ๆ แน่นอนว่ามันต้องเป็นสายตาชื่นชมยินดีและคาดหวังไว้สูงลิ่วไม่ต่างจากเพื่อนข้าพเจ้า นึกเล่น ๆ ว่าหากชุดครุยในวันนี้เป็นชุดของรามคำแหง สายตานั้นจะเปลี่ยนไปมากน้อยเพียงใด

สำหรับข้าพเจ้าแล้วไม่เคยคิดว่าเรียนที่ไหนแล้วจะสูงกว่าใคร เพราะข้าพเจ้าเป็นคนตัวเตี้ยประการหนึ่ง และการเรียนก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลแต่ละโอกาส ข้าพเจ้าเรียนศิลปากรเพราะเอ็นท์ติดที่นั่นแบบฉิวเฉียด ข้าพเจ้าเรียนรามเพราะนึกสนุกอยากเรียน ไม่คิดจะเรียนให้จบแต่แรกด้วยซ้ำ ส่วนการต่อโทที่จุฬาฯ เป็นเพราะที่นี่เรียนแบบแยกสายภาษา-วรรณคดีชัดเจน ส่วนที่ศิลปากรเรียนรวมกันหมด ข้าพเจ้าประเมินความสามารถตนเองแล้วว่าคงจะเรียนวิชาภาษาศาสตร์สูงกว่าปริญญาตรีไม่ได้เพราะข้าพเจ้าไม่รู้เลยว่าเสียงที่ปุ่มเหงือกมีเสียงอะไรบ้าง หากเรียนโทต่อที่ศิลปากรข้าพเจ้าต้องถูกรีไทร์แน่นอน

ทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกขึ้นอยู่กับบุคคล โอกาส ทัศนคติ ความคิด ความเชื่อ และตัวแปรอื่น ๆ อีกมากมาย โลกนี้ไม่ได้มีคำอธิบายเป็นวาทกรรมที่ง่ายดายชั้นเดียวเหมือนที่หลายคนชอบคิด

แน่นอนว่าศักดิ์ศรีแห่งชุดครุยที่ข้าพเจ้าแบกไว้นั้นมีอยู่ แต่ความหมายแห่งศักดิ์ศรีนั้นมีคำตอบสำเร็จรูปเพียงคำตอบเดียวกระนั้นหรือ

ข้าพเจ้ายักไหล่ อย่างไรเสียคำตอบสำเร็จรูปก็เป็นสิ่งที่ง่ายและนิยมมากที่สุด ไม่เช่นนั้นมาม่าคงจะไม่จะขายดีเช่นนี้

จู่ ๆ ข้าพเจ้ารู้สึกว่าชุดครุยบางเบาที่หลายคนตั้งนิคเนมให้ว่า "มุ้ง" หนักอึ้งจนเกินกว่าร่างเล็ก ๆ นี้จะแบกไหว

3. เรียนรู้เพื่อที่จะไม่รู้

ข้าพเจ้าชอบปกปริญญาบัตรสีขาว เพราะมันดูไม่เหมือนปกปริญญาบัตรดีพิกล เมื่อกลับมายังที่นั่ง ด้วยความที่ไม่แน่ใจว่าได้รับมาถูกชื่อหรือเปล่า จึงแอบแง้มดูชื่อเล็กน้อย ข้อความแรกที่ปรากฏแก่สายตาคือ มีศักดิ์และสิทธิ์แห่งปริญญาบัตรนี้ทุกประการ

ข้าพเจ้าหลับตา พยายามนึกถึงความรู้ความสามารถของตนเองที่คู่ควรกับศักดิ์และสิทธิ์แห่งปริญญามหาบัณฑิต สาขาวรรณคดีไทย แล้วความไม่แน่ใจก็เริ่มก่อตัว

หลายวันมานี้ข้าพเจ้าคิดหนักเกี่ยวแก่เรื่องการไปทำงานเป็นครูระดับมัธยมศึกษา ข้าพเจ้าพยายามนึกภาพตนเองยืนอยู่หน้าห้อง พูดถึงเนื้อหาวิชาภาษาไทย แล้วข้าพเจ้าก็นึกไม่ออกว่าตนเองจะพูดเรื่องอะไรได้ วรรณคดีสมัยสุโขทัยที่ไม่ได้เขียนขึ้นสมัยสุโขทัย? โองการแช่งน้ำซึ่งนักวรรณคดีเสนอว่าควรต้องอ่านด้วยกลบทชนิดหนึ่ง แต่ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วย? วรรณคดีท้องถิ่นซึ่งไม่ได้อยู่ในแบบเรียนมัธยม?

และนับตั้งแต่ พ.ศ. นี้ ความเรียงจำนวนหนึ่งของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล จะได้รับการจัดให้อยู่ใน genre นิราศ อ้างอิงจากการค้นคว้าอย่างหนักของเพื่อนร่วมรุ่นของข้าพเจ้า---ธนาคาร จันทิมา

ข้าพเจ้าจะอธิบายเด็กที่ถามข้าพเจ้าว่า "ครูครับ นิราศมันต้องเป็นกลอนไม่ใช่เหรอครับ" ได้อย่างไร

ข้าพเจ้าจะอธิบายความจริง ความไม่จริง ความซับซ้อน และเส้นแบ่งอันพร่าเลือนของวรรณคดีไทยออกมาเป็นข้อสอบปรนัยซึ่งใช้คัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยได้อย่างไร ในเมื่อแท้จริงแล้วความรู้ไม่เคยหยุดนิ่งมากพอจะเหลือแค่สี่ตัวเลือก

แม้แต่คำจำกัดความของคำว่า "ชาดก" ซึ่งเป็นหัวใจของวิทยานิพนธ์ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็ยังอธิบายให้ชัดเจนไม่ถูกว่าแท้จริงแล้วคืออะไร สำหรับคำจำกัดความสองสามบรรทัดที่เขียนไว้ในข้อตกลงเบื้องต้น ก็ใช้อธิบายได้เฉพาะในจักรวาล 184 หน้าในวิทยานิพนธ์ของข้าพเจ้าเท่านั้น

ยิ่งข้าพเจ้าเรียนลึกลงไป ข้าพเจ้ายิ่งพบว่าตนเองเต็มไปด้วยความไม่รู้

เป็นเพราะโลกหลังสมัยใหม่ที่พยายามจะสลายเส้นแบ่งพรมแดนความรู้ทั้งหมด กระทั่งเส้นแบ่งของความจริง-ลวง หรือเป็นเพราะการช่วงชิงอำนาจของพื้นที่ความรู้ที่แอบซ่อนอุดมการณ์บางอย่างเอาไว้ จึงทำให้สิ่งที่ข้าพเจ้ารู้นั้นเต็มไปด้วยข้อกังขามากจนเกินกว่าจะเอาไปถ่ายทอดต่อให้ใครเชื่อได้

หรือที่จริงการเรียนรู้ทั้งหมดเป็นไปเพื่อพิสูจน์ว่าแท้จริงแล้วเราไม่รู้ ดังเช่นอมตะวจีของโสเครตีสที่ดูยียวนแต่จริงแท้ว่า "all I know is that I know nothing"

นับจากนาทีที่คิดจบ และคาดว่าอีกหลายนาที หลายชั่วโมง หลายวันหลายปีต่อจากนี้ ข้าพเจ้าแน่ใจว่าข้าพเจ้าไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองไม่รู้

ปิดปกปริญญา ข้าพเจ้าไม่สนใจแล้วว่าในใบปริญญาจะเป็นชื่อใคร คงจะมีสักวันที่ข้าพเจ้าอยากรู้ว่าใบปริญญามหาบัณฑิตใบนี้แท้จริงเป็นชื่อข้าพเจ้าจริงหรือไม่



วุฒินันท์ ชัยศรี
๑๙ กรกฎาคม ๒๕๕๕

วันเสาร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

จดหมายถึงหญิงสาวจากทิศตะวันตก ฉบับที่ 2

เธอกล่าวว่าความรักของฉันเหมือนเพลิงที่กำลังผลาญตน
เช่นนั้นขอให้มันลุกไหม้จนไม่เหลือเศษซาก
ซึ่งมันน่าอับอายเกินทนหากฉันจะหลงเหลือชิ้นส่วนที่ไม่รักเธอทิ้งไว้บนโลกใบนี้
เถิดเธอจงรู้ว่าทุกสรรพางค์ของฉันคือเชื้อเพลิงของความรักที่มีต่อเธอ
และมันพร้อมจะมอดไหม้เป็นผงธุลี
เพื่อสังเวยแก่วินาทีที่เปลวเพลิงแห่งรักจักโชติช่วงชัชวาลที่สุด
แม้ว่าในวินาทีนั้น
เธอกำลังแลกจุมพิตกับชายอื่นอย่างดูดดื่มก็ตามที


๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๕

จดหมายถึงหญิงสาวจากทิศตะวันตก ฉบับที่ 1

กล่าวกันว่ามนุษย์คือการพลัดหลงกันของจิตวิญญาณ
ซึ่งต้องแสวงหาการเติมเต็มอันสิ้นหวัง
ฉันพบเธอในวันที่นาฬิกาเดินเร็วไปสิบห้านาที
สองมือที่ควรจะสัมผัสจึงพลัดหลง
อันที่จริงการหมุนฟันเฟืองนาฬิกากลับทิศเป็นเรื่องต้องห้าม
เพราะอาจทำให้กลไกของนาฬิกามีอายุการใช้งานสั้นลง
แต่หากฉันรู้ว่าสิบห้านาทีที่เคยคลาดเคลื่อน
จะทำให้ทุกเสี้ยววินาทีของฉันต้องทุกข์ทน
และกลวงเปล่าเกินจะถมเต็มด้วยทุกสิ่ง
ฉันจะหมุนฟันเฟืองนาฬิกาชีวิตทวนทิศครั้งแล้วครั้งเล่า
แม้ต้องเสี่ยงต่อการล่มสลายของจิตวิญญาณ
แต่ก็คุ้มเหลือเกินเมื่อแลกกับการได้สบตาเธอ
แม้เพียงวินาทีเดียว


๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๕

วันพุธที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ความเสียใจ (3)

บางทีเขาอาจจะรู้ชัดอยู่แล้วว่า ความร้าวรานอันเป็นแผลเหวอะหวะในใจของเขามีเพียงสาเหตุเดียวคือคำเลิกราของเธอที่ได้ยินทุกเช้าค่ำ เพียงแต่เขากล้าหาญน้อยเกินกว่าจะยอมรับ

เปล่าหรอก, เธอมิได้โทรศัพท์มาเพื่อตอกย้ำคำว่า เลิกกันเถอะ ให้เขาได้ยินอีกครั้ง ทุกวินาทีของเธอมีค่ามากเกินกว่าจะเสียให้แก่คนอย่างเขาซ้ำสอง เพียงแต่คำนั้นมันดังก้องในหูซ้ำเล่า วนเวียนเป็นพิษร้ายในกระแสเลือด หัวใจเต้นแผ่วลงทุกนาทีแต่ไม่เคยหยุด ทั้งที่เขาปรารถนามากกว่าสิ่งใด ฟ้าครามที่ใครคนอื่นมองเห็นทุกเช้ากลับเป็นสีมืดดำสำหรับเขาเพียงคนเดียว

หายใจ เขาบอกตัวเอง หายใจลึก ๆ หลังจากที่เคยบอกและบังคับตัวเองให้เลิกหายใจ แต่เมื่อถึงที่สุดร่างกายก็ไม่ยอมรับคำสั่ง ตอนนี้เขาจำต้องหายใจ เพื่อหาวิธีอย่างอื่นที่จะหยุดหายใจ

คว้าก ดังขึ้นเหมือนฉีกกระดาษ ตามด้วยเสียงงันในความมืด เขาสะบัดคัตเตอร์เข้าที่แขนซ้าย แต่อาจไม่ลึกพอ จึงไม่รู้สึกถึงเลือดสักหยด หรือเป็นหัวใจส่วนลึกของเขาเองที่ขลาดเกินกว่าจะลงน้ำหนักที่ใบมีดขึ้นสนิมนั้น บัดซบ! ทั้งที่เมื่อก่อนเขาร่านแร่แส่เสือกหัวใจตัวเองเข้าไปพุ่งชนคมมีดอาบพิษโดยไม่คิดชีวิต แต่พอมีเหตุผลสำคัญมากพอที่จะเลิกหายใจกลับรักตัวกลัวตาย!

ความเจ็บปวดค่อยระบัดใบ ไหลออกมาเป็นน้ำกรดกร่อนใจร้อนผ่าว

น้ำตาลูกผู้ชาย นับไม่ได้ว่ากี่ครั้งที่เผลอหลั่ง หากมันมีค่าเหมือนเพชร หรือแม้แต่เศษเหรียญสตางค์แดง ป่านนี้เขาก็คงร่ำรวยไร้ใครเทียม แต่เมื่อมันลากเอาความอ่อนแอและการคร่ำครวญของคนขี้แพ้ออกมาประจานเขาจนหมดรูป มันก็ไร้ค่าเกินกว่าจะกล่าวถึง

ฉันไม่สนเธอหรอก เธอมันน่าเบื่อ น่ารำคาญ เธอเข้ามาจุ้นจ้านกับชีวิตฉันไปเสียทุกเรื่อง การเลิกกับเธอคือสวรรค์นิรันดร์ เขาบอกเพื่อนของเขาไปเช่นนั้น ยืดอกนิด ๆ เพียงเพื่อให้แน่ใจว่าตนเองคือยอดชายที่หญิงสาวต้องศิโรราบแทบเท้าไม่เว้นแม้แต่เธอผู้หยิ่งทะนง ทั้งที่เรื่องจริงเป็นเขาที่กอดเท้าเธอแน่น อ้อนวอนไม่ให้จากไปเหมือนสุนัขถูกนายทิ้ง

เขาร้องไห้จนสำรอกออกมา มีเพียงแต่ลมที่พ้นไปจากปากของเขา กี่วันแล้วที่อวัยวะย่อยอาหารของเขาไม่ได้ทำงาน เพียงเพราะคำบอกเลิกของเธอเข้าไปขวางทุกทางเดินอาหาร การสำรอกของเขาจึงว่างเปล่าพอ ๆ กับน้ำตา

ความเสียใจ

เขาสะกดคำนี้ลงบนแขนซ้ายด้วยคัตเตอร์ เสียงดังครืดคราดในความมืด เขาไม่รู้สึกถึงเลือดแม้เพียงหยด เขาค่อยเขียนทีละตัวอักษร ค-ว-า-ม-เ-สี-ย-ใ-จ

เขาเขียนคำว่าความเสียใจลงบนแขนซ้าย แต่อันที่จริงทั่วสรรพางค์ต่างหากที่กำลังสะอึกสะอื้นกับคำนี้ เขาจับต้นชนปลายไม่ถูกว่าเขาเสียใจเรื่องของเธอ เรื่องของตัวเอง เรื่องความสัมพันธ์ที่ต้องจบลง หรือเรื่องอะไรกันแน่ เขารู้แค่ว่าทั้งหมดนี้คือความเสียใจที่มากเกินกว่าวิญญาณเล็ก ๆ ของเขาจะแบกรับเอาไว้ได้

ในความมืด เขาสิ้นเปลืองความคำนึงอยู่แต่เรื่องของเธอ ซึ่งเอ่อล้นด้วยน้ำตามากพอ ๆ กับการได้ยินคำบอกลา


๔ กรกฎาคม ๒๕๕๕