วันพุธที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ขัดใจ..แต่ ไม่เป็นไร

ขึ้นหัวเรื่องมาก็ชวนงงเสียแล้ว เรื่องก็ไม่มีอะไรมากหรอกครับ พอดีมีเพื่อนส่ง FWD Mail มา บอกว่ามีโครงการ Poem for King คือแต่งกลอนถวายในหลวง พอคลิกดู เฮ้ยย... เพื่อนพ้องพี่น้องป้า ๆ ลุง ๆ ในวงการแต่งไปหมดแล้วนี่หว่า ยาวไปแล้วหกเจ็ดหน้า ไอ้ผมก็เลยอยากแต่งบ้าง อืมมม คนก่อนลงท้ายด้วยสระไอ ลุยเลยละกัน แบบหรู ๆ

จอมกษัตริย์วัฒนาประชาราษฎร์
ร่มฉัตรชาติเชวงสฤษดิ์พิสิฐสมัย
ธ คุ้มเกล้าจิรกาลผ่านภพไผท
อุโฆษไกรเกริกเกียรติกฤดาการ

พอกำลังจะกดส่ง อ่านดูอีกที มันหรูไปหน่อยแฮะ แล้วก็อีกอย่างดูแหล ๆ ไปหน่อย 55 ผมเองก็ไม่ชอบมากนักกับกลอนแนวอาเศียรวาทหรู ๆ (แต่ทำเวอร์ประจำเวลามีงาน) ไหน ๆ ก็ไม่ได้แต่งอ่านในงานแบบว่าถวายบังคมอะไรทำนองนี้ เลยคิดว่า ขอแบบแต่งง่าย ๆ แต่ดูจริงใจ ๆ ดีกว่า เลยเปลี่ยนเป็น

เก็บดอกความรักสมัครสมาน
เสกสนธิ์กลกานท์แห่งกาลสมัย
เป็นด้ายทิพย์ร้อยรักรวมหัวใจ
ต่างมาลัยถวายพระองค์ทรงพระเจริญ

อ่า... ดูง่าย ๆ และจริงใจขึ้นเยอะ กดอัพปุ๊บ รอไปวันหนึ่ง กลอนได้ขึ้นแล้ว แต่ว่า...

เก็บดอกความรักสมัครสมาน
เสกสรรค์อนันตกานต์แห่งสมัย
เป็นด้ายทิพย์ร้อยรักรวมหัวใจ
ต่างมาลัยถวายพระองค์ทรงพระเจริญ

นั่นมันอะไรก๊านนน แล้วจะแปลวรรคนั้นว่าอาร๊ายยยย

คือก็เข้าใจครับว่า "สนธิ์" เนี่ยมันไม่มีในพจนานุกรม ก็กระผมแผลงมาจาก "สนธิ" งายคร้าบ ที่แปลว่า "รวมให้กลมกลืน" คือจะแปลวรรคนั้นว่า เอาฉันทลักษณ์แห่งกาลสมัย (ก็กลอนไง) มาร้อยเรียงหัวใจเป็นมาลัย อะไรทำนองนี้ แล้ว "กานท์" เนี่ย ไม่ได้เขียนผิดจากคำว่า "กานต์" ที่แปลว่าที่รัก แต่เป็นคำเรียกกลอนในสมัยก่อน เช่นในยวนพ่ายโคลงดั้น "สารสยามภาคพร้อง กลกานท นี้ฤๅ" แล้วก็... จะตัด "กาล" อีกคำออกทำไมเนี่ย เข้าใจอะนะว่าติดสัมผัสแบบสุนทรภู่ที่ไม่ให้สัมผัสซ้ำ แต่ทำไม ร.๒ ถึงทรงพระราชนิพนธ์วรรคที่ว่า "จำปีเอ๋ยกี่ปีจะมาพบ" ได้เล่า ของอย่างนี้มันอยู่ที่จังหวะคำมิใช่หรือ?

โอ... ขึ้นชื่อพร้อมกลอนที่กระผมม่ายด้ายแต่ง (วรรคนั้น) เยย จะแปลว่าอะไร คนที่ขึ้นชื่อว่าแต่งเองยังไม่เข้าใจเลย
แต่ก็เอาวะ งานพระราชกุศล เอาไรมาก โวยวายมากเด๋วจะเป็นอกุศลไปแทน อีกอย่าง เผลอ ๆ คนแก้จะเป็นครูบาอาจารย์ที่ผมเคารพรักน่ะซี แล้วจะหาว่าผมทำเป็นรู้นั่นรู้นี่ ไม่มีสัมมาคาราเต้ เอ้ย คารวะ เลยขอแอบมาโวยวายในบล็อกแทนละกัน รู้แค่ให้ "ใจ" ไปแล้ว ส่วนมันจะแปรเปลี่ยนเป็นอะไร ก็แล้วแต่เนอะ

วันจันทร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ขุนช้างขุนแผน สำนวนครูแจ้ง

หากยังจำกันได้ในค่าย IBook2 ผมได้อ่าน "บทอัศจรรย์" ของขุนช้างขุนแผน สำนวน "ครูแจ้ง" ให้หลาย ๆ คนฟัง ซึ่งปฏิกิริยาหลังได้ฟังแล้ว... คงไม่ต้องสาธยายมาก ^_^

นั่นคือสำนวนแบบชาวบ้านของแท้ โลดโผน เห็นภาพ และใช้สัญลักษณ์อย่างชาญฉลาดที่สุด แม้แต่เรื่อง "โจ๋งครึ่ม" โต้ง ๆ ขนาดนี้ ยังเขียนออกมาเป็นกลอนได้อย่างไพเราะและลงตัว

น่าเสียดายที่อาจจะโลดโผนเกินไปในสายตาของผู้ชำระ เมื่อรวบรวมเข้าเป็นฉบับหลวง จึงต้องตัดออกไป เรา ๆ ท่าน ๆ เลยได้อ่านแต่ฉบับที่สวยงาม ขาวสะอาด แม้จะมีคำโลดโผนโผล่มาบ้างก็แค่พอวับ ๆ แวม ๆ อาทิ บทอัศจรรย์ระหว่างพลายแก้วกับสายทอง (พี่เลี้ยงนางพิม) ที่ว่า

๏ พลางเป่าปัถมังกระทั่งทรวง
สายทองง่วงงงงวยระทวยนิ่ง
ทำตาปริบปรอยม่อยประวิง
เจ้าพลายอิงเอนทับลงกับเตียง

๏ ค่อยขยับจับเลื่อนแต่น้อยน้อย
ฝนปรอยฟ้าลั่นสนั่นเปรี้ยง
ลมพัดซัดคลื่นสำเภาเอียง
ค่อยหลีกเลี่ยงแล่นเลียบตลิ่งมา

๏ พายุหนักชักใบได้ครึ่งรอก
แต่เกลือกกลอกกลับกลิ้งอยู่หนักหนา
ทอดสมอรอท้ายเป็นหลายครา
เภตราหยุดแล่นเป็นคราวคราว

๏ สมพาสพิมดุจริมแม่น้ำตื้น
ไม่มีคลื่นแต่ระลอกกระฉอกฉาว

 ปะสายทองดุจต้องพายุว่าว
พอออกอ่าวก็จมล่มลงไป


เรือน้อยลำนั้นคงเจอพายุหนักไปหน่อย เลยล่มที่ปากอ่าวซะงั้น (ฮา)

แต่ฉบับหลวงก็จะประมาณนี้ครับ มีวับ ๆ แวม ๆ ให้หัวใจตึ๊กตั๊กเล่น แต่นอกนั้นก็ไม่มีอะไร ประเดี๋ยวจะไม่ได้เป็น "ยอดแห่งกลอนสุภาพ" นัยว่าคงต้องสุภาพไว้ เพื่อให้เด็ก ๆ อ่านแล้วใจไม่แตกไปเสียก่อน

แต่เมื่อพูดถึงฉบับชาวบ้าน แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่ขับกันแบบเอาฮา และมุกของชาวบ้านส่วนมากก็จะพูด "เรื่องอย่างว่า" อย่างโจ่งแจ้ง เพราะเป็นมุกที่เรียกเสียงฮาได้ตลอดเวลา และฮามาก ไม่เชื่อไปฟังเวลาชาวบ้านเล่นเพลงปฏิพากษ์ หรือไม่ต้องไปหาไกล ตลกคณะเสียงอีสานนี่แหละ ชุดไหนก็ได้ ดูได้เลย ชุดไหนไม่มีมุกสองแง่สองง่าม ผมยอมให้อมขี้หมามาพ่นใส่หน้าผมได้เลย และมุกพวกนี้ถือเป็นมุกที่ฮาสุด ๆ เสียด้วย

นี่ก็เรืออีกเหมือนกัน มาเจอสำนวนครูแจ้งกันหน่อย (บทนี้แหละครับที่อ่านในค่าย)

๏ เกิดพยับพยุห์พัดอัศจรรย์
สลาตันเป็นละลอกกระฉอกฉาน
ทะเลลึกดังจะล่มด้วยลมกาฬ
กระทบดานกระแทกดังกำลังแรง

๏ สำเภาจีนเจียนจมด้วยลมซัด
สลุบลัดเลียบบังเข้าฝั่งแฝง
ไหหลำแล่นตัดแหลมแคมตะแคง
ตลบตะแลงเลาะเลียบมาตามเลา


๏ ถึงปากน้ำแล่นส่งเข้าตรงร่อง
ให้ขัดข้องแข็งขืนไม่ใคร่เข้า

ด้วยร่องน้อยน้ำอับคับสำเภา

ขึ้นติดตั้งหลังเต่าอยู่โตงเตง


๏ พอกำลังลมจัดพัดกระโชก
กระแทกโคกกระท้อนโขดเรือโดดเหยง

เข้าครึ่งลำหายแคลงไม่โคลงเคลง

จุ้นจู๊เกรงเรือหักค่อยยักย้าย

๏ ด้วยคลองน้อยเรือถนัดจึงขัดขึง
เข้าติดตึงครึ่งลำระส่ำระสาย
พอชักใบขึ้นกบรอกลมตอกท้าย

ก็มิดหายไปทั้งลำพอน้ำมา


๏ พอฝนลงลมถอยเรือลอยลำ
ก็ตามน้ำแล่นล่องออกจากท่า
ทั้งสองเสร็จสมชมชื่นดังจินดา
ก็แนบหน้าผาสุขมาทุกวัน

เป็นไงครับ อึ้ง ทึ่ง สยิวกิ้วกันไหม เอ... นี่เขาพูดถึงการแล่นเรือนี่นะ อิอิ ขอบอกว่า ต่อให้คนที่ไม่มีความลามกติดตัว อ่านแล้วก็ยังพอจะรู้ครับว่าเป็นเรื่องของ "การแล่นเรือ" จริง ๆ ส่วนคนที่มีความลามกติดตัวอยู่บ้าง อ่านแล้วฮาก๊ากแน่นอน โดยเฉพาะคนที่มีคลังศัพท์ทำนองนี้ในสมอง เพราะ "ครูแจ้ง" เล่นเอามาพูดเสียแพรวพราว ได้อารมณ์ "การแล่นเรือ" จริง ๆ

นี่แหละครับคือ "เสภา" สำนวนชาวบ้าน ที่ขับกัน เล่นกันแบบไม่ต้องไว้มาดผู้ดี ก็เป็นผู้ดีแล้วขำก๊ากไม่ได้นี่นา (ตามทฤษฎีรสของสันสกฤตเขาว่าไว้อย่างนั้น)

อ่านมาถึงตอนนี้ หลายคนคงอยากรู้ว่า "ครูแจ้ง" คือใคร?

กล่าวสั้น ๆ คือครูเพลงที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เดิมโด่งดังในการเล่นเพลงพื้นบ้าน หันมาเล่นเสภาในปลายสมัยรัชกาลที่ ๓ และมีชื่อเสียงในด้านเสภาช่วงสมัยรัชกาลที่ ๔ ดังนั้น ลีลากลอนเสภาของครูแจ้งจึงกระเดียดไปทางเพลงยาวสองแง่สองง่าม สำนวนถึงพริกถึงขิงถูกใจชาวบ้านยิ่งนัก สำหรับประวัติยาวกว่านี้ก็ไปหาอ่านใน "ตำนานเสภา" พระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพต่อละกันครับ

แน่นอนว่าสำนวนครูแจ้งนั้น หลายสำนวนโลดโผน ลือเลื่องกระเดื่องไปทั่วแผ่นดิน แต่บางครั้งคนในวังก็มองว่า "หยาบ" ไปหน่อย จึงไม่ได้รวมเข้าฉบับหลวง แต่ก็ใช่ว่าฉบับที่อ่านกันอยู่ไม่มีสำนวนครูแจ้ง เพราะมีหลายตอนที่ครูแจ้งแต่งได้ดีเยี่ยม โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับไสยศาสตร์ เครื่องรางของขลัง เรื่องทำนองนี้ในขุนช้างขุนแผนฉบับหลวง ส่วนมากเป็นฝีมือครูแจ้งทั้งสิ้น เช่นตอนตีดาบฟ้าฟื้น

๏ จะจัดแจงตีดาบไว้ปราบศึก
ตรองตรึกหาเหล็กไว้หนักหนา
ได้เสร็จสมอารมณ์ตามตำรา
ท่านวางไว้ในมหาศาสตราคม

๏ เอาเหล็กยอดพระเจดีย์มหาธาตุ
ยอดปราสาททวารามาประสม
เหล็กขนันผีพรายทั้งตายกลม
เหล็กตรึงโลงตรึงปั้นลมสลักเพชร

และเหล็กอื่น ๆ อีกกว่าสิบชนิด พร้อมวิธีตีดาบอย่างละเอียด ไปหาอ่านเพิ่มเติมได้ในฉบับหลวงครับ

สำนวนครูแจ้งเป็นที่นิยมเช่นนี้เพราะครูแจ้งแต่งได้กระชับและเห็นภาพ คือ "ถึง" แต่สำนวนของครูแจ้งบางครั้งดู "ซาดิสม์" ไปหน่อย เช่นตอนขุนแผนฆ่านางบัวคลี่ทำกุมารทอง

๏ เอามีดคร่ำตำอกเข้าต้ำอัก

เลือดทะลักหลวมทะลุตลอดสัน

นางกระเดือกเสือกดิ้นสิ้นชีวัน

เลือดก็ดั้นดาษแดงดังแทงควาย


๏ แล้วผ่าแผ่แล่แล่งตลอดอก

แหวะหวะฉะรกให้ขาดสาย

พินิจแน่แลเห็นว่าเป็นชาย
ก็สมหมายดังใจไม่รั้งรอ

อืยยยส์... โหดจนเห็นภาพจริง ๆ แต่ถ้าไม่ได้อารมณ์แบบนี้ ก็คงไม่ใช่ "ครูแจ้ง" แน่นอน

นอกจาก "เรื่องแล่นเรือ" เรื่องไสยศาสตร์ของขลัง กับเรื่องซาดิสม์ ครูแจ้งก็ยังเขียนเรื่องอื่น ๆ รวมถึงเรื่อง "สองแง่สองง่าม" ไว้อีกหลายสำนวน แต่หลายบทถูกตัดออกจากสำนวนหลวงเพราะ "ทะลึ่ง" เกินไป แต่ถึงกระนั้นก็เถอะ ผมเชื่อ (อย่างเหลือเกิน) ว่า คนไทยชอบนักแหละเรื่องแบบนี้ พอตัดออกไป รสมันส์ ๆ ในวรรณคดีก็จืดจางลงไปนิด ผมจะยกตัวอย่างมาสักหน่อยพอให้ครึกครื้น โดยยกมาจาก "ขุนช้างขุนแผนฉบับอ่านใหม่" ของ ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านพูดถึงตอนนางศรีประจันอบรมนางพิม ก่อนจะส่งตัวเข้าหอ สำนวนหลวงดูเป็นการอบรมธรรมดา ๆ แต่ลองดูสำนวนครูแจ้งกัน

๏ งามปลื้มอย่าลืมแม่สอนสั่ง
อุตส่าห์ฟังจำไว้ให้ถ้วนถี่
อันการปรนนิบัติของสตรี
เมื่อทำดีแล้วชายไม่หน่ายใจ

๏ สู้ถ่อมตัวปรนนิบัติคอยจัดแจง
เมื่อเขาแข็งแล้วอย่าขัดอัชฌาสัย

รู้จิตผัวว่าสมัครรักเท่าไร
ก็ยักย้ายส่ายให้ถูกใจกัน


หึ หึ... คงไม่ต้องอธิบายมั้งครับสำหรับบทนี้

ลองดูอีกสักบทหนึ่งตอนที่สอนให้ทำกับข้าวเอาใจสามี คุณแม่ก็แสนดีบอกสูตรอาหารเด็ดให้เหมือนในฉบับหลวง คือมีต้มตีนหมู ไข่ไก่สด และปลาไหลต้มยำ แต่ที่แถมมาต่างกับฉบับหลวงคือ "สรรพคุณ" ของกับข้าวว่าดีเหลือหลาย

๏ อุตส่าห์จำทำให้ผัวกินลอง
ล้วนแต่ของมีกำลังทั้งสามสิ่ง
ทำให้กินเนืองเนืองเปรื่องขึ้นจริง
ทุกสิ่งของแท้เป็นแน่นอน

๏ ทำให้กินทุกวันหมั่นสำเหนียก
แม้อ่อนเปียกก็จะแข็งเป็นไม้ท่อน

พอตกค่ำขึ้นท้ายไม่หลับนอน

พายเรือคอนเหยาะเหยาะจนเคาะระฆัง


หึ หึ... เป็นอีกบทที่คงไม่ต้องอธิบาย เชื่อว่าผู้ที่มีความสัปดนอยู่ในหัวใจเล็ก ๆ คงจะขำกิ๊กได้บ้าง

ทุกวันนี้เด็กไทยไม่ชอบอ่านวรรณคดี อาจเป็นเพราะอ่านยาก แต่ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะเรื่องราวในฉบับหลวงหรือที่สอน ๆ กันในหลักสูตรอาจจะราบเรียบไปหน่อย ผมคิดว่าหากเด็ก ๆ (ที่อาจจะโตแล้วสักหน่อยก็ได้เอ้า) ที่ชินชากับสำนวน "คุณหนู" ในรั้วโรงเรียน มีโอกาสได้อ่านสำนวน "ทะลึ่ง" ของชาวบ้าน ที่ถูกจริตของคนไทยแบบนี้ ไม่แน่ว่าอาจจะ "ติดใจ" และเผลอตกหลุมรักวรรณคดีไทยโดยไม่รู้ตัวอย่างผมก็ได้

วันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ความรักนะ...ความรัก

๏ ความรักนะ...ความรัก
มาทายทักชั่วคราวแล้วคล้อยหนี
มาแกล้งให้ไหวสั่นหวั่นฤดี
แล้วขยี้ดวงใจให้แหลกลง

๏ ความรักนะ...ความรัก
มาลวงใจให้เสียหลักและลุ่มหลง
มาร่ายมนต์กำบังตาพางวยงง
ก่อนบรรจงกรีดใจให้เจ็บร้าว

๏ ความรักนะ...ความรัก
เหนื่อยหนักเนิ่นนานและเหน็บหนาว

คืนวันอันมืดและยืดยาว
ฉันจะก้าวผ่านไปอย่างไรกัน

๏ ความรักนะ...ความรัก
เพิ่งประจักษ์เต็มตาว่าเพียงฝัน
สะดุ้งตื่นโลกก็ดับลงฉับพลัน
และรักนั้นกลับหายคล้ายไม่มี

๏ ความรักนะ...ความรัก
ใยจึงชักความช้ำมาซ้ำที่-
ดวงใจ...ดวงร้าว ดวงนี้
จะให้แหลกเป็นธุลีหรืออย่างไร

๏ ความรักนะ...ความรัก
ที่แน่นหนักดวงฤดีมีบ้างไหม
หากสิ้นแล้วซึ่งรักจริงจะทิ้งใจ
เพื่อมิต้องมอบให้ใครอีกเลย ๚ะ๛