วันอังคารที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2553

ว่าด้วยหนังสือ "เด็กชายผู้ไม่เคยเห็นเลนิน"

พอดีว่าช่วงนี้ หนังสือรางวัล Young Thai Artist Award 2008 ได้ทยอยพิมพ์ออกมาแล้ว และก็บังเอิ๊ญบังเอิญว่ามีชื่อของผมและหนังสือนามอุโฆษ(เว่อร์ไป) "เด็กชายผู้ไม่เคยเห็นเลนิน" ติดอยู่ในซอกมุมเล็ก ๆ ของหน้ากระดาษหนังสือที่ได้รับรางวัลเหล่านั้น แฟนานุแฟนหนังสือของผมทั้งรุ่นเพื่อนและรุ่นน้อง (ไม่มีหรอก ติ๊ต่างเอาเอง ฮ่า ๆ ๆ) ที่ไม่ทราบเรื่องการประกวดในสองปีก่อนเลยเกิดอาการ "ฟีเว่อร์" และไถ่ถามถึงหนังสือเล่มนี้กันมาไม่ขาดสาย (อันนี้น่ะ ผมเว่อร์เอง ฟีไม่ได้เว่อร์แต่ประการใด อิอิ) ด้วยความที่ขี้เกียจชี้แจงบ่อย ๆ ก็เลยเอาลิ้งค์เก่าที่เคยลงไว้ใน HI5 มาลงไว้ที่นี่อีกรอบครับ

หะหาย หะหาย นี่มันปกหนังสือ... "เด็กชายผู้ไม่เคยเห็นเลนิน"!!!
(ที่ทำเอง กร๊ากกก)






"เด็กชายผู้ไม่เคยเห็นเลนิน"
1 ใน 6 เล่มสุดท้ายรางวัล Young Thai Artist Award 2008
อย่าสนใจเลยกับหนังสือเล่มนี้
เพราะมันเป็นหนังสือที่ไม่มีวันได้ตีพิมพ์ออกมาสู่บรรณพิภพ
นั่นไม่ทำให้ผมเซ็งเท่าไร
ที่ผมเซ็งก็คือ เพื่อนที่พอจะรู้จักการประกวดนี้ถามผมตลอดว่า "เมื่อไหร่จะตีพิมพ์วะ"
พอผมตอบว่า "ไม่ได้ตีพิมพ์"
เพื่อนก็จะถามกลับว่า "อ้าว ปกติเขาจะตีพิมพ์ 6 เล่มที่เข้ารอบไม่ใช่เหรอ"
พร้อมกับสีหน้าในทำนองว่า "มึงโม้ป่าวเนี่ยเรื่องเข้ารอบ 6 คน"
ครั้นจะตอบว่า "เออ กูก็งงเหมือนกัน" ก็กระไรอยู่
ได้แต่จนใจ ไม่รู้จะตอบคำถามยังไง
เรื่องของเรื่องคือมันเข้ารอบ 6 คนจริงแหละ แต่พอถึงรอบตัดสิน กรรมการรอบตัดสิน (ซึ่งเป็นคนละชุดกับรอบคัดเลือก) ก็ดึงออกซะ 4 เล่ม ให้ 1 เล่มได้ยอดเยี่ยม 1 เล่มได้ดีเด่น ส่วนอีก 4 เล่มที่เหลือได้รับรางวัลชมเชย (และจะไม่ได้รับการตีพิมพ์ เพราะอยู่นอกเหนือสัญญาของนานมีบุ้คส์ที่จะตีพิมพ์เฉพาะรางวัลยอดเยี่ยม ดีเด่น และ Jury's Mention) ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การประกวด ทำเอา 4 คนที่โดนดึงออกจากรอบ 6 คนสุดท้าย อึ้ง กิม กี่ ไปตามกัน ผมเองไม่เสียดายรางวัลเท่าไหร่ เสียดายเงินมากกว่า เพราะแทนที่จะได้ 50,000 ดั๊นเหลือแค่ 20,000 ซะนี่!
หลัง ๆ ผมเลยไม่พูดแล้วว่าผมเข้ารอบ 6 คน ขี้เกียจอธิบาย
บางทีมันก็เป็นแค่ความฝันชั่วขณะตด เมื่อกลิ่นจางก็หายไป...

ความเห็นจากกรรมการรอบตัดสิน :

"ผลงานยังไม่ถึงขั้น ไม่สมควรได้รับการตีพิมพ์"

แต่ไหน ๆ ก็บ้าจี้ทำปกหนังสือไว้รอแล้ว เลยเอามาโชว์ซะหน่อย ฮ่า ๆ
ในเล่มประกอบด้วยเรื่องสั้นที่ "ไม่ถึงขั้น" 8 เรื่อง
สะท้อนถึงสัญชาตญาณดิบและความโหดร้ายที่มนุษย์กระทำต่อกัน

1. เด็กชายผู้ไม่เคยเห็นเลนิน
2. หลง
3. เหยื่อ
4. ยุติธรรม
5. เจ้าพ่อไทร
6. ช้างเผือก
7. เพื่อชาติ
8. ใบไม้ผลิสีเลือด

อย่าแปลกใจหากจะเห็นผลงานไม่ถึงขั้นเหล่านี้ โผล่อยู่ตามหน้านิตยสารบางฉบับ
ผมมิได้ "ลักไก่" แต่อย่างใด
หลังจากชวดรางวัล YTAA 2008 แล้ว เรื่องสั้นชุดนี้ก็แยกร่างไปตามนิตยสารต่าง ๆ
ได้ตีพิมพ์บ้าง ไม่ได้พิมพ์บ้าง
และจะไม่กลับมารวมร่างกันอีกแล้วแน่นอน
ลาก่อน "เด็กชายผู้ไม่เคยเห็นเลนิน"

และพบกันใน YTAA 2010
ผมจะเรียกมันว่า "นัดล้างตา" ครั้งนี้ผมไม่เอาอะไรมากหรอก
ขอแค่รางวัล "ยอดเยี่ยม" และเงินสามแสนก็พอ

ว่ะฮ่าฮ่าฮ่าฮ่า! (ขี้โม้จริง ๆ)

วันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2553

กรรณะ...วีรบุรุษผู้พ่ายแพ้?


เมื่อวาน ผมเพิ่งได้ทำ Quiz ใน FaceBook ว่าด้วย "คุณคือใครในมหากาพย์ มหาภารตะ" ผลออกมาว่า ผมคล้าย "กรรณะ" กรี๊ด ๆ ๆ ตัวละครในดวงใจ (คำพูดที่ Quote มาจากเรื่องที่อยู่ซ้ายมือของบล็อกก็เป็นคำพูดของกรรณะครับ) ที่แต่คำบรรยายดูจะไม่ถูกใจจอร์จไปหน่อย แถมรูปยังเอารูปตอนเข็นรถมาอีก แน๊ รูปเท่ ๆ อย่างตอนแผลงศรไม่เอามาเลย (ว่าแล้วก็เอามาเองซะเลย แฮ่ ๆ)

จะด้วยความไม่ถูกใจ หรืออัดอั้นตันใจอย่างไรก็แล้วแต่ ผมก็ได้เขียนเกี่ยวกับตัวละครนี้ไว้ยืดยาวพอสมควร เลยคิดว่าน่าจะเอามาลงไว้ในบล็อกเผื่อเก็บไว้อ่าน หรือเผื่อว่าหลายคนที่ได้อ่าน อาจจะเข้าใจตัวละครนี้มากขึ้น และเข้าใจว่า ทำไมผมถึงชอบ... ฝ่ายร้าย ไม่สิ พระรอง ก็ไม่อีกแหละ เอาเหอะ จะเป็นอะไรก็คือ "กรรณะ" ก็แล้วกัน

กรรณะ เป็นตัวละครผมคิดว่าที่น่าเห็นใจที่สุดในเรื่องมหาภารตะ ชีวิตของกรรณะถูกกำหนดด้วยชะตากรรมทั้งชีวิต เขาเป็นบุตรของสุริยเทพ ควรจะได้เป็นพี่ชายคนโตของฝ่ายปาณฑพ (ฝ่ายตัวเอก) แต่โชคชะตากลับเล่นตลกให้เขาเกิดมาผิดเวลา! เหตุเพราะนางกุนตีในวัยสาวเพียงอยากทดลองมนตร์ บุตรพระสุริยเทพจึงต้องกลายไปเป็นคนในวรรณะศูทร เพราะนางกุนตีจำต้องทิ้งเขาไปเนื่องจากเกรงคำครหาที่มีลูกขณะที่ยังไม่ได้แต่งงาน คนเลี้ยงม้าจึงเก็บกรรณะไปเลี้ยง

ตลอดชีวิตของกรรณะ แม้จะปรากฏว่ามีฝีมือและวีรกรรมทัดเทียมกับอรชุน พระเอกของเรื่อง แต่ก็ไม่ได้รับการยกย่อง มีเพียงคำดูถูกว่าเป็นพวกวรรณะต่ำที่อาจหาญจะมาแข่งขันกับคนวรรณกษัตริย์อย่างอรชุน แม้ว่าหลายครั้งจะปรากฏว่า กรรณะเก่งกว่าพวกปาณฑพมากก็ตาม (ในฉบับสันสกฤตไม่สามารถอ่านได้ ในฉบับภาษาอังกฤษไม่แน่ใจว่าอ่านถูก แต่ในฉบับไทยจำได้ว่ากรรณะล้มภีมะได้แต่ไม่ฆ่าเพราะให้สัญญากับนางกุนตีไว้ และยิงธนูแม่นจนเกือบทำให้อรชุนสิ้นชีพไปครั้งหนึ่ง หากไม่ได้ฝีมือการขับรถศึกของพระกฤษณะช่วยไว้)

ไมตรีเดียวที่กรรณะได้รับมาจากมือของทุรโยธน์ ดังนั้นอาจพูดไม่ได้เต็มปากว่าถูกทุรโยธน์หลอกใช้ (แม้ว่าเจตนาแรกเริ่มของทุรโยธน์จะเป็นไปในทางหลอกใช้ก็ตาม แต่ในภายหลังทุรโยธน์ก็ปฏิบัติต่อกรรณะเฉกเช่นเพื่อนแท้คนหนึ่ง) เพราะฝ่ายธรรมะเองก็ปฏิเสธกรรณะแต่แรกเริ่ม โดยเฉพาะอรชุนที่ตั้งตัวเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่ง กรรณะจะเหลือทางเลือกใดอีกนอกจากรับไมตรีของทุรโยธน์ และทุรโยธน์เองก็ปฏิบัติต่อกรรณะอย่างเพื่อนที่ดีที่สุดจริงๆ ทั้งมอบทรัพย์สมบัติ มอบแคว้นให้ครองเพื่อเป็นการเชิดหน้าชูตาและเปลี่ยนสถานะทางสังคม หรือบางครั้งที่กรรณะไม่เห็นโดยกับแผนลอบกัดพวกปาณฑพของทุรโยธน์ กรรณะก็ปฏิเสธไม่เข้าร่วม และทุรโยธน์ก็ไม่ได้บีบบังคับให้เข้าร่วมหรือบอกเลิกคบกับกรรณะแต่อย่างใด ทั้งสองยังคงมิตรภาพที่ดีอย่างเสมอต้นเสมอปลาย จนมีผู้กล่าวว่า มิตรภาพระหว่างอรชุนและกฤษณะเป็นมิตรภาพที่ยิ่งใหญ่ก็จริง แต่ไม่เท่ามิตรภาพของกรรณะและทุรโยธน์

ในนวนิยายเรื่อง "โรงเรียนที่เงียบที่สุดในโลก" นวนิยายเข้ารอบสุดท้ายซีไรต์ของปีที่ผ่านมา ของฟ้า พูลวรลักษณ์ มีตอนหนึ่งที่ตัวละครถกเถียงกันถึงความสำคัญระหว่างสองตัวละครคือ กรรณะ และอรชุน ตัวละครหนึ่งได้แสดงทัศนะว่า การขาดกรรณะไปอาจทำให้เรื่องขาดหายไปสักบรรพสองบรรพ แต่หากขาดอรชุนไป มหาภารตะจะไม่สามารถคงอยู่ได้ เพราะอรชุนเป็นตัวละครสำคัญของเรื่อง นั่นอาจจะจริง เพราะเรื่องราวดำเนินไปโดยเน้นที่การผจญภัยของฝ่ายปาณฑพ และการสรรเสริญวีรกรรมของอรชุน นักรบผู้เก่งกล้าที่สุดของเรื่อง แต่หากถามผม ผมกลับคิดว่า หากขาดกรรณะไป เรื่องคงจืดชืดเกินกว่าจะดำเนินไปได้อย่างออกรสเช่นนี้

เพราะกรรณะคือตัวละครที่เป็นเสมือนตัวแทนของมนุษย์ธรรมดาที่ต้องต่อสู้อย่างหนักในจิตใจตนเอง ระหว่างการเลือกธรรมะหรืออธรรม บุญคุณหรือความถูกต้อง ความขัดแย้งนี้อาจพบได้ในอีกตัวละครหนึ่งคือ ภีษมะ ผู้ที่ต้องรบกับหลานปาณฑพของตนเพื่อปกป้องกรุงหัสตินาปุระ แม้จะรู้ว่าปาณฑพเป็นฝ่ายถูกก็ตาม แต่สำหรับผมแล้ว ปมขัดแย้งในใจของภีษมะไม่รุนแรงเท่ากรรณะ เพราะถือเป็นหน้าที่และคำปฏิญาณของภีษมะที่ต้องปฏิบัติโดยไม่มีสิทธิ์เลือกอยู่แล้ว (และภายหลังภีษมะก็เลือก "ความตาย" เพื่อให้หน้าที่ของตนจบสิ้นลง) แต่สำหรับกรรณะแล้ว เขามีสิทธิ์เต็มที่ที่จะ "เลือก" ไม่ว่าจะเลือกมาเข้ากับปาณฑพซึ่งเป็นพี่น้องแท้ ๆ หรือแม้กระทั่งเลือกที่จะเป็นกลาง แต่เขาก็ไม่เลือก สำหรับเขาแล้ว สายเลือดหรือความถูกต้อง ไม่สำคัญเท่าธรรมะในใจเขาเองที่จะไม่ทรยศเพื่อน นางกุนตีเป็นแม่ของกรรณะแต่ไม่เคยได้เลี้ยง พี่น้องแท้ ๆ ของกรรณะก็ไม่มีใครยอมรับในตัวเขา บุญคุณที่ทุรโยธน์มีต่อกรรณะก็เป็นสิ่งที่ยากจะทำเป็นมองไม่เห็นหรือไม่เคยมีอยู่ ในเมื่อพวกปาณฑพคือเสี้ยนหนามเดียวในใจของทุรโยธน์ เพื่อนอย่างกรรณะจึงสมควรที่จะเป็นผู้ช่วยขจัดเสี้ยนหนามในใจของเพื่อน แม้จะรู้อยู่เต็มอกว่าทุรโยธน์กำลังทำในสิ่งที่ผิด และรู้อยู่เต็มอกว่าตนไม่สามารถเตือนสติทุรโยธน์ได้อีกแล้ว แต่กรรณะก็ไม่คิดจะหนีไป สำหรับเพื่อนตายอย่างกรรณะแล้ว ต่อให้ต้องตามไปจนสุดขอบนรก กรรณะก็จะทำ นี่มิใช่คุณธรรมที่เพื่อนมีต่อเพื่อนหรือ? นี่มิใช่สิ่งที่น่าสรรเสริญที่เพื่อนทำต่อเพื่อนหรือ?

บุรุษผู้ยิ่งใหญ่อย่างกรรณะ สุดท้ายจึงต้องตายเพราะถูกอรชุนยิงในขณะที่ไม่พร้อมรบ เนื่องจากคำยุยงของพระกฤษณะ ซ้ำก่อนหน้านี้พระอินทร์ บิดาของอรชุนก็มาแลกอาวุธศักติกับเกราะวิเศษของกรรณะ และลูกของภีมะก็ยอมโดนศักตินั้นเสียเองก่อนที่กรรณะจะได้ใช้กับอรชุน และกรรณะเองก็ยังลืมมนตร์ที่จะเรียกศรปาศุปัตเพราะถูกอาจารย์สาป การฆ่ากรรณะอย่างไม่สมศักดิ์ศรี การไม่สามารถจะป้องกันตัวเองได้ของกรรณะ และการยอมสูญเสียหลายสิ่งเพื่อที่จะฆ่ากรรณะนี้จะบอกอะไร? สิ่งเหล่านี้เองที่บอกว่า กรรณะเป็นนักรบที่เก่งกล้าน่าครั่นคร้ามมากเพียงใด และลำพังความสามารถของอรชุนเพียงคนเดียวก็ยังมิอาจโค่นนักรบอย่างกรรณะลงได้

กรรณะจึงเป็นตัวละครที่น่าสนใจมากในเรื่อง เหตุเพราะความไม่สมบูรณ์ของชีวิตที่โชคชะตาเป็นผู้กำหนด และความพยายามดิ้นรนอย่างเต็มความสามารถเพื่อเอาชนะโชคชะตาของตนนั่นเอง ผลสุดท้ายแม้กรรณะจะไม่สามารถเอาชนะชะตากรรมของตนเองได้ แต่ทุกคนก็ได้เห็นแล้วว่า เขาเป็นวีรบุรุษที่ยิ่งใหญ่มากเพียงใด

*ขอบคุณภาพประกอบจาก mohanudgiri.blogspot.com