วันอังคารที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2564

องก์ที่ 3 : องก์สุดท้ายของนาฏกรรมชีวิต

 

(1.)
หากมีคำถามว่า อะไรที่ยังผลักดันให้ผมเขียนเรื่องสั้นรางวัลพานแว่นฟ้า นอกเหนือจากเรื่องเกียรติยศเงินรางวัล
คำตอบก็คือ โมเมนต์เล็ก ๆ ในช่วงประกาศผล วินาทีพลิกกระดาษเพื่อ "เปิดชื่อผู้เขียน" ก่อนจะแถลงข่าว ผมรอเวลานี้เพื่อจะทำเซอร์ไพรส์ให้กับครูผู้ที่ผมเคารพรักอย่างยิ่งคือ อ.รื่นฤทัย ว่า "อ๋อ เรื่องของกอล์ฟนี่เอง" (ขอบคุณระบบปิดชื่อผู้เขียนของรางวัลพานแว่นฟ้ามา ณ ที่นี้ด้วย) ซึ่งก็จะเป็นหัวข้อเรียกเสียงหัวเราะตอนพูดคุยทักทายในงานรับรางวัลที่รัฐสภาทุกปี
นักวิจัยท่านอื่นบูชาครูด้วยงานวิจัยเรื่องใหม่ แต่ผมที่ได้รับโอกาสทำวิจัยจากครูในหัวข้อ "เรื่องสั้นรางวัลพานแว่นฟ้า" กลับบูชาครูด้วย "เรื่องสั้นรางวัลพานแว่นฟ้า" เรื่องใหม่ อาจจะฟังดูผิดวัตถุประสงค์ตอนที่ขอทุนวิจัยไปสักหน่อย (ฮา) แต่ก็เป็นสิ่งที่นักวิจัยก้นกุฏิผู้ขยันเขียนเรื่องสั้นมากกว่าเขียนวิจัยพอจะใช้แทนมาลัยบูชาครูทุกปีได้บ้าง

(2.)
องก์ที่ 3 เป็นคำศัพท์ที่มักจะใช้ในละครหรือภาพยนตร์ กล่าวถึงเนื้อหาในช่วงสุดท้ายหรือบทสรุปสุดท้ายของเรื่องราวทั้งหมด หากเปรียบเรื่องสั้นในปี 62-63 (อำนาจ/พลเมืองดี) เป็นหนังไตรภาค เรื่องสั้นเรื่องนี้ก็คือภาคสุดท้าย บทสรุปของเรื่องราว "ละครการเมือง" ที่เรื่องเล่ามิอาจเปลี่ยนแปลงโลก ทว่าผู้แพ้ก็ยังคงต้องเขียนวรรณกรรมต่อไป แต่นั่นก็อาจเป็นเพียงเฉพาะนาฏกรรมชีวิตของตัวผู้เขียนซึ่งยังคงหลงทางสายชีวิตและควานหาองก์ที่สามของตนเองไม่พบ

(3.)
องก์สุดท้ายในนาฏกรรมชีวิตของ อ.รื่นฤทัย ครูก็ยังคงทำงานเพื่อยังประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นตราบจนลมหายใจสุดท้าย ในงานประกาศผลรางวัลพานแว่นฟ้าปีนี้ ทุกคนในงานต่างก็เอ่ยคำอาลัย ระลึกถึงคุณงามความดีของครู ตัวผมเองก่อนการเสวนาได้กล่าวระลึกถึงครูเพียงสั้น ๆ แต่ก็ทำเอาก้อนสะอื้นมาจุกอยู่ที่คอเมื่อนึกขึ้นมาได้ว่า "โมเมนต์เล็ก ๆ ในช่วงประกาศผล" คงจะไม่ได้เป็นหัวข้อเรียกเสียงหัวเราะระหว่างผมกับครูอีกแล้ว แต่ก็พยายามข่มใจทำเสียงปกติ พูดเนื้อหาการเสวนาต่อไป เพราะหากครูมองมาจากสรวงสวรรค์ชั้นกวี คงอยากจะเห็นเราทำงานอย่างเต็มความสามารถเพื่อเป็นประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นมากกว่า แม้ว่าคงไม่ได้สักส่วนเสี้ยวเมื่อเทียบกับสิ่งที่ครูสร้างไว้แก่โลกใบนี้

(4.)
เรื่องสั้นพานแว่นฟ้าของผมทั้งสามเรื่องในช่วงปี 2562-2564 (อำนาจ/พลเมืองดี/องก์ที่ 3) หากจะมีประโยชน์แก่ใคร หรือแก่วงการวรรณกรรม/การวิจัยบ้าง ขอยกคุณความดีทั้งหมดแด่ อ.รื่นฤทัย ครูผู้มอบโอกาสการวิจัย เปิดมุมมองใหม่ทางวรรณกรรม และมอบ "ชีวิตใหม่" ในการกลับมาเขียนเรื่องสั้นอีกครั้ง
ด้วยความระลึกถึงครูผู้เป็นแรงบันดาลใจไม่รู้จบ

วันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2564

การสอนเขียนออนไลน์

(1.)
ปัญหาหนึ่งที่พบในการสอนวิชาการเขียนแบบออนไลน์ก็คือ การคอมเมนต์งาน
เบามือเกินไป เด็กก็ไม่ได้อะไร
แต่ถ้าหนักมือเกินไป เด็กก็เสียกำลังใจในการเขียน (เรายังจำได้ในผลประเมินอาจารย์ปีแรก ๆ คอมเมนต์หนึ่งบอกว่า หนูเคยคิดว่าหนูเขียนหนังสือได้ จนกระทั่งเจอคอมเมนต์อาจารย์ หนูท้อจนอยากจะเลิกเขียนเลย โอ้ยตายลูก...)
ทั้งที่ย้ำเสมอว่าผมก็แค่คนคนหนึ่ง ความเห็นของผมไม่ใช่คำตัดสิน อนาคตคุณอาจเป็นนักเขียนที่ยิ่งใหญ่ของโลกก็ได้ นักเขียนดัง ๆ มากมายหลายคนก็ไม่ได้เกิดมาเทพเลย แต่ขัดเกลาตัวเองผ่านคอมเมนต์ทั้งนั้น
แต่คนเสียกำลังใจไปแล้วก็นะ...
ยุคหลังเลยเบามือลง เคลือบน้ำตาลให้ทานง่ายขึ้นมาหน่อย แต่ก็มิวายมีคนใจเสียแทบทุกปี (แฮ่ ๆ)

(2.)
วิชาการเขียน เป็นวิชาบังคับของหลักสูตร แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนจะเขียนเชิงครีเอทีฟได้ อันนี้เราก็เข้าใจ และพยายามไม่รีดเค้นจากเด็กจนเกินสมควรถ้าเห็นแววว่าเขาไม่ได้มุ่งมั่นจะเดินมาทางสายนี้ (เพราะที่จริงงานสายนี้ก็ไม่ได้มีมากมาย และหลายงานก็ไม่ได้ทำให้ร่ำรวย)
ปกติแล้วถ้าเป็นการคอมเมนต์แบบต่อหน้า เรายังพอมองเห็นสีหน้า แววตาของเด็ก ลองหย่อนระเบิดลงไปสักลูกแล้วดูปฏิกิริยา ถ้าเด็กหน้าไม่เปลี่ยนสี มุ่งมั่นจะเขียนให้ดีขึ้น ก็แจงแจงคอมเมนต์ทั้งหมดที่มองเห็น (เด็กกลุ่มนี้มักจะเขียนงานดีเป็นพื้นอยู่แล้ว) ถ้าเด็กหน้าเสีย ก็เบามือลง แตะเฉพาะจุดสำคัญ เหยาะคำชมให้กำลังใจลงไปสักหน่อย อย่าเพิ่งท้อนะตัวเธอว์ ถ้าเป็นเด็กประเภทรับได้เฉพาะคำชม ก็มอบกระเช้าของขวัญพร้อมดอกไม้ช่อใหญ่ ๆ ให้เลิศลอย แอบซ่อนจุดที่อยากแก้ไขด้วยคำว่า งานคุณดีมากเลย ถ้าปรับตรงนี้ได้ก็จะดีขึ้นกว่าเดิมอีก อะไรทำนองนี้
แต่พอเป็นออนไลน์ โดยเฉพาะกับเด็กกลุ่มนี้ที่ไม่เคยสอนเลย (ปกติจะได้สอนเด็กนอกหลักสูตรตัวเองตอนปี 1 บางวิชา แต่เทอมนั้นไปทำงานที่จีนพอดี) ไม่เคยเห็นหน้า ไม่รู้ว่าเด็กแต่ละคนเป็นอย่างไร ความมั่นใจในตัวเองมากน้อยแค่ไหน อยากจะเรียนรู้จากเรามากน้อยเพียงใด หรือแค่อยากได้เกรดจากเรา
ไม่รู้อะไรสักอย่าง...
ก็เลยคอมเมนต์งานไปแบบกว้าง ๆ กลาง ๆ แต่ผลก็คือ เด็กก็แก้มาเท่าที่เราคอมเมนต์ไปแบบกว้าง ๆ กลาง ๆ นั่นแหละ บางการแก้ไขก็ชวนให้ "สูน" เช่นว่า สามย่อหน้านี้เนื้อความเดียวกันหมดเลยนะครับ ลองปรับให้เป็นย่อหน้าเดียวไหม การแก้กลับมาก็คือ ตีบรรทัดของทั้งสามย่อหน้าไปรวมกัน นี่ไง กลายเป็นย่อหน้าเดียว (แบบยาว ๆ) แล้ว อันนี้ไม่รู้เด็กกวงติงหรือไม่เข้าใจเรื่องย่อหน้าจริง ๆ แต่คิดว่าเป็นอย่างหลัง ก็มาเขียนอธิบายและแก้ไขกันไปตามสภาพพพพพ (ออกเสียงแบบ พส)
แก้กลับไปกลับมาสามสี่รอบ ออดอ้อนว่า หนูแก้เยอะขนาดนี้ต้องให้ A แล้วล่ะ ได้แต่หัวเราะ รับปากไม่ได้...

(3.)
วิชาฝึกฝนทักษะการเขียนแบบนี้ คงจำเป็นต้องได้พบเจอพูดคุยกันจริง ๆ ไม่เช่นนั้นสิ่งที่เราให้กับเด็กได้คงลดน้อยถอยลงจนแทบไม่ได้อะไรเลย ได้แต่หวังลม ๆ แล้ง ๆ ว่าเราคงจะได้เจอกับเด็ก ๆ ในเร็ววันนะ