วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2562

เรื่องสั้นเรื่องนี้เกิดขึ้นมาเพราะเฌอปราง

ปลายเดือนพฤศจิกายน ณ Yuxi Normal University ชายหนุ่มไกลบ้านผู้เปลี่ยวเหงาต้องปีนภูเขาขึ้นไปหาข้าวกิน กิจกรรมระหว่างเดินคือไถทวิตเตอร์ตามข่าวเฌอปราง ซึ่งช่วงนั้นกิจกรรมหลักของวงคือการเลือกตั้งเซ็มบัตสึ พออ่านทวิตมากเข้าก็เกิดข้อสังเกตว่า ทำไมคนที่ใกล้เคียงกับความสมบูรณ์แบบที่สุดในวงอย่างเฌอปราง เมื่อเข้ามาอยู่ในการเลือกตั้งของ BNK48 ก็กลับกลายเป็น 'น้องสาวข้างบ้านที่มีความฝัน' ซึ่งแฟนคลับต้องเข้ามา 'ทำฝันของน้องให้เป็นจริง' เกิดการต่อรองอำนาจขึ้นระหว่างไอดอลกับแฟนคลับไม่แพ้น้องคนอื่น ๆ ในวง

หนึ่งในสมมติฐานที่พอจะนึกได้ท่ามกลางอากาศศูนย์องศาคือ ระดับอำนาจของเฌอปรางไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เธอเป็นอยู่ แต่ขึ้นอยู่กับว่าเธออยู่ภายใต้โครงสร้างอำนาจแบบไหนต่างหาก

ต้นเค้าไอเดียนี้นำมาสู่งานสองชิ้น คือ 'เปเปอร์เฌอปราง' บทความที่ไปนำเสนอในศูนย์มานุษยวิทยา และเรื่องสั้น 'อำนาจ' ที่เข้ารอบพานแว่นฟ้าปีนี้ งานสองชิ้นนี้เป็นข้อพิสูจน์ว่า หากอาจารย์มหาวิทยาลัยมีเวลาว่างมากพอ (อยู่ที่จีนสอนอย่างเดียว ว่างมาก ๆ) อาจารย์จะไม่มัวแต่เอาเวลาไปทำเรื่องไร้สาระ แต่จะมาสร้างสรรค์ผลงานที่ทำชื่อเสียงให้มหาวิทยาลัย (จริง ๆ แล้วไม่จริงหรอก ว่างแล้วก็เรื่อยเปื่อย สุดท้ายกลับมาเขียนที่ไทยตามเดดไลน์ทั้งสองเรื่อง 555)

โดยส่วนตัวเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยชอบเท่าไร อาจจะเพราะประเด็นมันจริงจัง พอได้เล่าแล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาเล่า ไม่มีช่องให้ 'เล่น' มากนัก ถ้าเทียบกับงานที่เข้ารอบตอนปี 60 ซึ่งมีทั้งฉากเข้าพระเข้านาง ฉากฉายหนังโป๊ออกทีวี ออกชื่อดารา AV อย่างโจ่งแจ้ง (ยอมใจกรรมการที่ให้เข้ารอบ) งานของปีนี้ดู 'คลีน' ไปเลย ยิ่งตัวเอกผู้เล่าเรื่องเป็นคนจริงจังตั้งใจ ซีเรียสกับชีวิต เรื่องก็เลยจริงจังไปตามเสียงเล่า ขัดกับบุคลิกจริงของคนเขียนที่เป็นคนกะล่อน ทะลึ่งทะเล้น ปากร้าย ช่างประชดเสียดสีเป็นที่สุด 555

กำลังคิดว่าจะไปต่อแถวสามชั่วโมงรอจับมือเฌอปรางเพื่อบอกว่า "เฌอครับ เฌอเป็นแรงบันดาลใจให้พี่สร้างสรรค์ผลงานหลายเรื่องเลยครับ" จะดีไหม แต่คิดว่าถ้าได้เจอน้องในระยะใกล้พอจะจับมือได้น่าจะเสียอาการถึงขั้นเป็นลมต่อหน้าน้องไปเลย ลำบากน้องไปอีก เลยไม่เอาดีกว่า 555

ปล. ปีนี้ส่งบทกวีด้วย แต่ตกรอบไปตั้งแต่รอบแรกแล้วครับผม อดเป็นกวีไปตามเคย แฮร่

วันเสาร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2562

รอยยิ้มของคุณเป็นสิ่งมหัศจรรย์อันดับแปดของโลก

อายุเพิ่มขึ้นอีกปีแล้วนะคุณ ยิ้มกว้าง ๆ ให้เห็นฟันสวย ๆ บ่อย ๆ นะ ผมว่ารอยยิ้มของคุณนับเป็นสิ่งมหัศจรรย์อันดับแปดของโลกได้เลย

วันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2562

เฉลิมพระนามพระชนนีพันปีขจร

เฉลิมพระชนม์มงคลสวัสดิ์พิพัฒน์พิสิฐ
เฉลิมพระเกียรติองค์สิริกิติ์สฤษฎิ์สมร
เฉลิมพระนามพระชนนีพันปีขจร
ถวายพระพรขอพระองค์ทรงพระเจริญ

วันเสาร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2562

อาลัยอาจารย์บุญส่ง

อาจารย์บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์ เป็นอาจารย์ที่เด็กอักษรฯ ศิลปากรทุกคนรู้จักและน่าจะตราตรึงในความทรงจำมากที่สุดคนหนึ่ง เพราะทุกคนจะต้องเคยผ่านวิชาบังคับ 3 ยำ (อารยธรรมตะวันตก/อารยธรรมตะวันออก/อารยธรรมไทย : เรียกสั้น ๆ ว่า ยำตก/ยำออก/ยำไทย) และในวิชาอารยธรรมไทยนี่เองที่เด็กอักษรฯ หลายคนได้ "เปิดหูเปิดตา" กับชุดความเชื่อ/ความจริงหลายเรื่องในสังคมไทย (หรือบางคนก็เรียกอาการนี้ว่า "เปิดกะลา/เบิกเนตร") บางคนตกใจเมื่อหมดคาบแรก บางคนเรียนจนจบก็ไม่เชื่อ บางคนเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง บางคนชื่นชอบถึงขั้นตามไปเก็บ "(สา)ขาปรัชญา" เป็น 1 ใน 4 สาขาวิชาในใบปริญญาของตน หรือเลือกเรียนเอก/โทปรัชญาเพราะจุดเริ่มต้นจากวิชานี้

ไม่ว่าจะชื่นชอบหรือเฉยชากับวิชาอารยธรรมไทยของอาจารย์ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการตั้งคำถามกับชุดความเชื่อที่เป็นแกนหลักของสังคมไทยและกระบวนการ Critical Thinking คือสมบัติชิ้นสำคัญที่เด็กอักษรฯ ปีหนึ่งทุกคนได้ติดตัวมาจากการเรียนวิชานี้ สิ่งนี้ทำให้พวกเรารู้จักคิดวิเคราะห์และตั้งคำถามกับชุดความเชื่อ/ความจริง/วาทกรรมทั้งหลายที่ได้พบในอีกสี่ปีตลอดการเรียนปริญญาตรี และตลอดชีวิตนับจากนั้น

เช้าวันนี้ เด็กอักษรฯ ศิลปากรทุกคนได้ทราบข่าวที่น่าใจหาย (ทั้งที่วันก่อนยังได้อ่านโพสต์ที่อาจารย์เขียนถึงซีรีส์ Hotel Del Luna แล้วก็คิดว่า เออ ถ้าอาจารย์เปิดวิชาปรัชญาจากซีรีส์จะไปขอซิตอินอยู่เลย) ผมเองนอกจากวิชาอารยธรรมไทยแล้วก็ไม่ได้เรียนกับอาจารย์อย่างใกล้ชิด จึงไม่แน่ใจว่าอาจารย์เชื่อในเรื่องชีวิตหลังความตายอย่างไรบ้าง แต่เมื่อวันนี้มาถึงก็ขอให้อาจารย์ได้สมหวังตามความเชื่อของอาจารย์นะครับ และขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของอาจารย์ ภาควิชาปรัชญา และคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรที่สูญเสียบุคลากรผู้ทรงคุณค่าไปครับ

วันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2562

ลำดวนเอ๋ยจะด่วนไปก่อนแล้ว

ลำดวนเอ๋ยจะด่วนไปก่อนแล้ว
เกดแก้วพิกุลยี่สุ่นสี
จะโรยร้างห่างสิ้นกลิ่นมาลี
จำปีเอ๋ยกี่ปีจะมาพบ

บทครวญลาสั่งเรือนคราวที่ขุนแผนพานางพิมหนีนั้นบ่งบอกลักษณะนิสัยของนางพิมได้หลายอย่าง คนที่อาลัยลากระทั่งดอกไม้ในเรือนชาน จิตใจต้องละเอียดอ่อนขนาดไหน คนเช่นนี้จะรู้สึกอย่างไรกับความผูกพันที่เกิดขึ้นในบ้านหลังหนึ่ง ไม่ว่าจะดอกไม้ที่เคยตัดแต่งรดน้ำ สัตว์เลี้ยงที่เคยป้อนข้าวปลาอาหาร บรรดาบ่าวไพร่บริวารที่คอยช่วยเหลือเลี้ยงดูกันมายาวนาน ไม่เคยทิ้งกันยามทุกข์ยากจนเห็นน้ำใจกันหมดแล้ว เมื่อวันหนึ่งนางต้องเผชิญหน้ากับคำขาดจากเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน คนเช่นนี้จะหันหลังทำเหมือนว่าเรื่องราวสิบกว่าปีในบ้านขุนช้างไม่เคยเกิดขึ้นได้หรือเปล่า?

วันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2562

ความรู้สึกเกี่ยวกับความทรงจำ

สิ่งที่คนเขียนบทจำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับตัวละคร ไม่ใช่รายละเอียดแห้งแล้งผิวเผินอย่างหน้าตา ฐานะการศึกษา ฯลฯ แต่คือ "ความรู้สึกเกี่ยวกับความทรงจำ" ต่างหาก

การจะรู้จักและเข้าใจตัวละครอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่การรู้ว่า "เคยเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นกับเขาบ้าง" แต่คือ "เขารู้สึกอย่างไรต่อเหตุการณ์นั้น" ฉะนั้นถ้าคุณอยากตั้งคำถามอะไรกับตัวละคร จงอย่าถามว่าเขาจบมาจากโรงเรียนไหน ชีวิตครอบครัวเป็นอย่างไร แต่ลองถามว่าเหตุการณ์ไหนในชีวิตที่ทำให้เขารู้สึกอับอายมากที่สุด อะไรคือเรื่องเลวร้ายที่สุดที่เคยเกิดขึ้นกับเขา เคยทนไม่ไหวจนต้องร้องไห้น้ำตาทะลักในที่สาธารณะหรือเปล่า

สิ่งที่คนเขียนบทจะต้องดึงออกมาจากตัวละครให้ได้นั้นไม่ใช่แค่ "ข้อมูลในอดีต" แต่คือ "อารมณ์และความรู้สึกต่อสิ่งที่เขาเคยประสบมา" เพราะอารมณ์และความรู้สึกเฉพาะตัวนั้นต่างหากที่ตัวละครจะพกพามาสู่แต่ละฉากแล้วมีปฏิกิริยาต่อสิ่งต่าง ๆ ที่ได้พบในปัจจุบัน จนทำให้ชีวิตของเขามีสีสันในแบบที่ไม่ซ้ำใคร

(Frank Pierson : นักเขียนบทและผู้กำกับชาวอเมริกัน)