วันจันทร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546

นิราศอัมพวา (๑)


*หมายเหตุก่อนอ่าน

เนื่องจากครั้งที่ข้าพเจ้าได้เผยแพร่ "นิราศอัมพวา (๒): แรมร้างรักห่างเรื้อ, เถือมีดกรีดสะเก็ดแผลแห้งผากเพื่อตามหากระแสทรงจำที่สาบสูญ" ได้มีคนถามมาว่า มีนิราศอัมพวาหมายเลข ๒ แล้วมีหมายเลข ๑ ไหม ข้าพเจ้าตอบว่ามี แต่นำมาให้อ่านไม่ได้เพราะในขณะนั้นยังหาไม่พบ

นิราศอัมพวาหมายเลข ๑ (ซึ่งอันที่จริงไม่มีเลขกำกับ) นี้ เป็นผลงานชิ้นแรก ๆ ที่ผู้เขียนได้เขียนขึ้น เข้าใจว่าตอนนั้นอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ ครั้งที่ไปเข้าค่ายอะไรสักอย่างที่อัมพวา แต่ไม่ถือว่าเป็นผลงานแรกทีเดียว เพราะก่อนหน้านั้นมี "นิราศไทรทอง" ซึ่งต้นฉบับสูญหายไปหมดแล้ว ส่วนนิราศอัมพวานี้ตอนแรกข้าพเจ้าก็เข้าใจว่าต้นฉบับสูญหายไปเช่นกัน หากจะมีเหลืออยู่ก็น่าจะเป็นต้นฉบับที่ส่งไปให้หญิงสาวเจ้าของนิราศฉบับนี้ ซึ่งไม่รู้ว่าตอนนี้ต้นฉบับเหล่านั้นเป็นตายร้ายดีอย่างไร

แต่บังเอิญวันก่อนข้าพเจ้าพบสมุดเล่มหนึ่ง ซึ่งจำได้ว่าเป็นสมุดกลอนสมัยมัธยม ข้าพเจ้าจึงค้นหาว่าได้เขียนนิราศอัมพวาไว้ในนี้ไหม ปรากฏว่ามี แต่เป็นลักษณะต้นฉบับแท้ ๆ คือมีรอยขีดฆ่าเต็มไปหมด บวกกับลายมือซึ่งค่อนข้างหวัด ทำให้ข้าพเจ้าต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการแกะต้นฉบับ นอกจากนั้นยังพบกระดาษสองสามแผ่นสอดไว้ท้ายเล่ม เป็นการเขียนบางบทในนิราศนี้ใหม่ ลงท้ายกระดาษว่า "ปรับปรุง มกราคม ๒๕๔๗" นิราศฉบับที่ข้าพเจ้านำมาเผยแพร่นี้จึงพิมพ์รวมกับบทที่แก้ไขไว้ด้วย มีเพียงสิ่งเดียวที่ต่างจากต้นฉบับคือการแบ่งบท เพราะข้าพเจ้าเห็นว่าต้นฉบับเดิมเขียนติดกันเป็นพืด ถือเป็นการสร้างความยากลำบากให้แก่ผู้อ่านจนเกินไป

อย่างไรก็ตาม สำหรับงานชิ้นแรก ข้าพเจ้าพบว่ายังมีหลายส่วนที่ยังเทิ่ง ๆ อยู่ตามประสาคนหัดเขียนกลอน เช่นว่า ใช้คำแปลก ๆ ไม่มีความหมาย ส่งสัมผัสผิด สัมผัสซ้ำ เสียงท้ายวรรคแปร่ง ๆ แต่ข้าพเจ้าก็ไม่แก้ไขเพราะถือว่าเป็นงานที่สมบูรณ์ในช่วงนั้นไปแล้ว

การนำมาลงเผยแพร่ ก็เพื่อเป็นการบันทึกอีกหนึ่งงานของผู้เขียน (ขณะนั้นกวียังไม่มีชื่อว่า "หนุ่มอักษร... นอนตื่นสาย") ทำให้นิราศอัมพวาทั้งสองฉบับต่างเติมเต็มตัวมันเองให้สมบูรณ์ขึ้น หวังว่าผู้อ่านจะได้ "สราญใจ" สมดังเจตนารมณ์ของผู้เขียนในขณะนั้น

นิราศฉบับนี้ค่อนข้างยาว กรุณามีเวลาว่างและทำใจก่อนอ่าน
-----------------------------------------------------------------------

(๑)

๏ อรุณรุ่งรับขวัญในวันใหม่
รวีส่องแสงอำพันอันอำไพ
ช่างวิไลล้นเหลือเมื่อได้ยล

มองฟ้าครามยามเช้าช่างเศร้าจิต
หากมีน้องแนบชิดคงสุขล้น
เจ้าจะอยู่อย่างไรแน่แม่หน้ามล
คิดถึงเจ้าจวนจนจะขาดใจ ฯ

(๒)

๏ แวะรอท่า "ปั๊มห้าดาว" ที่กล่าวขาน
รับประทานอาหารเช้าช่างสดใส
เที่ยวมาถึงสระบุรีที่แสนไกล
เจ้าถึงไหนใคร่ถามแม่งามงอน

เสียงแว่วหวีดวี๊ดว้ายคล้ายอย่างเคย
ทั้งสาวเอยกระเทยมาหน้าสลอน
บ้างก็งามจนใจพี่ไหวคลอน
แต่ไม่เทียบเท่าบังอรเลยสักคน ฯ

"บางบัวทอง" บางไหนมีบัวทอง
พี่คอยมองยังมิเห็นสักแห่งหน
เห็นเพียงทางอ้างว้างไหวให้วกวน
ดังใจตนที่จะตามแม่งามงอน

หัวใจนางต่างมิ่งปทุมมาศ
ใสสะอาดอุ่นไอให้ไหวอ่อน
เคยเคียงใกล้แก้วตาต่างอาทร
จึงอาวรณ์อ้างว้างเมื่อห่างไกล

น้ำใจนุชสุดกว้างดั่งธารา
คอยโอบเอื้อเจือประชาจะหาไหน
มิแปลกนักที่รักเจ้าจนหมดใจ
เก็บฤทัยไว้ข้างน้องนางนวล

พิศผ่านทางเที่ยวท่องใจล่องลอย
ยังคงคอยคิดถึงคะนึงหวน
ถึงดวงตาน่ารักคอยชักชวน
เจ้าจนจวนจะถึงค่ายแล้วหรือไร ฯ

(๓)

๏ มาถึงถิ่นอาทร "นครชัยศรี"
ถึงดินแดนส้มโอดีที่หวานใส
ส้มโอหวานฤาหวานเท่าเจ้าหวานใจ
หวานซาบซึ้งตรึงในใจพี่ยา

หวนคะนึงถึงรักเอยที่เคยหวาน
แม้เนิ่นนานยังซ่านให้ใจห่วงหา
ฤาเจ้าลืมสิ้นแล้วแม่แก้วตา
หากลืมไปใจข้าฯ คงขาดรอน

"นครชัยศรี" ชื่อนี้ช่างอบอุ่น
เหมือนสกุลพี่เป็นเจ้าแต่เก่าก่อน
จึงได้มี "ชัยศรี" เป็นชื่อนคร
แม่งามงอนเห็นอย่างไรใคร่บอกที ฯ

(๔)

"พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้ง" น่าทึ่งนัก
ด้วยประจักษ์รักษ์ไทยในวิถี
หุ่นเลขาฯ ทรามวัยสดใสดี
ดุจดั่งมีชีวันทุกอันไป

หุ่นพระองค์อริยสงฆ์ที่ทรงค่า
ดูสง่ามีราศีน่าเลื่อมใส
ค่อยก้าวย่างเหยียบย่องอย่างว่องไว
ด้วยเกรงใจกลัวท่านตื่นฟื้นขึ้นมา ฯ

๏ หุ่น "สมเด็จพระปิยะมหาราช"
ด้วยพระองค์ทรงปราชญ์เป็นหนักหนา
ทรงเลิกทาสทุกถิ่นไทยในพารา
ชาวประชาแซ่ซ้องสรรเสริญองค์

สิ้นยุคทาสชาวไทยไปนานแล้ว
แต่น้องแก้วทำให้ใจพี่ใหลหลง
ยอมเป็นทาสในเรือนใจเจ้าอนงค์
ขอมั่นคงต่อน้องหญิงยิ่งสืบไป

แม้น้องพี่มิมีคำคอยย้ำตอบ
ทั้งใจมอบแม่งามขำจะทำไฉน
คงมิอาจพ้นพรากจากทาสใจ
ด้วยฤทัยทั้งดวงห่วงกานดา ฯ

๏ เห็น "สุวรรณมาลี" พี่ยิ่งเศร้า
"อุศเรน" อย่างเราคงด้อยค่า
ใจนางดั่ง "สุวรรณมาลี" ที่เย็นชา
โอ้อกข้าฯ ดังจะแตกแหลกลาญพลัน ฯ

"นางผีเสื้อสมุทร" สุดน่ากลัว
ทั้งรูปชั่วตัวดำดูหุนหัน
ดูน่าแปลกแยกเขี้ยวขบเคี้ยวฟัน
ช่างรังสรรค์ผันแปลกจำแนกไป

งามแฉล้มอย่างแหลมทองต้องผิวขาว
ผิวน้องสาวดูคล้ำจะทำไฉน
ถึงจะคล้ำก็แต่ตัวใช่หัวใจ
ดวงฤทัยเจ้างามยิ่งหญิงทั้งปวง ฯ

"การละเล่นเด็กไทย" ให้ชื่นจิต
แม่งูติดกันตลอดคอยลอดห่วง
ทั้งจ้ำจี้มะเขือเปราะกระเทาะทรวง
ขี่คอควงขึ้นช้างบ้างชนกัน

การละเล่นสมัยก่อนสอนหลายอย่าง
ทั้งเป็นทางที่เปิดใจให้สร้างสรรค์
ให้เรารู้รักสามัคคีพลัน
คอยปลูกปั้นเจ้าแต่เล็กเป็นเด็กดี

การละเล่นเด็กไทยสมัยก่อน
ไม่เหมือนตอนเด็กไทยสมัยนี้
ด้วยเด็กไทยทันสมัยยุคไอที
เกมส์ออนไลน์มากมีที่เล่นกัน

มิว, เอ็นเอจ, แร็กนาร็อคที่หลากหลาย
เล่นสบายแสนสนุกทั้งสร้างสรรค์
ฝึกให้เข้าสังคมได้ง่ายโดยพลัน
คุณอนันต์หลากหลายและมากมี

แต่กลับเห็นเด็กบ้างเป็นบางคน
เที่ยวซุกซนซุ่มคอยลอยหน้าหนี
เรียนไม่เห็นเล่นเกมเพลินเกินพอดี
เงินบุพการีสูญเปล่าน่าเศร้าใจ

จะเล่นเกมก็ควรแจงแบ่งเวลา
ใช้เงินให้คุ้มค่าที่หาไว้
มิควรผลาญจนละลายหายสิ้นไป
เงินมารดาหาให้ใช่หาเอง ฯ

๏ เห็น "หัวล้านชนกัน" ดูขันนัก
ทำหน้ายักษ์ชนตำดูคร่ำเคร่ง
ดูแล้วลูบหัวพลางอย่างวังเวง
ด้วยหวั่นเกรงหัวล้านเล่าจะเศร้าใจ ฯ

(๕)

๏ จึ่งมารับประทานอาหารเที่ยง
ร้านใกล้เคียงดูโอฬารเป็นร้านใหญ่
"ก๋วยเตี๋ยวหมูมะนาว" น่าเข้าไป
ลองลิ้มชิมรสไซร้ให้อิ่มพี

รสอกหักเมื่อรักเลือนเหมือนต้มยำ
ทั้งเปรี้ยวเข็ดเผ็ดซ้ำตามวิถี
ทั้งเค็มมันพลันผสมกลมกล่อมดี
แต่ทว่าหาได้มีรสหวานเลย

อิ่มท้องแล้วไม่แคล้วไม่อิ่มรัก
สุดจะหักใจแล้วน้องแก้วเอ๋ย
ไม่ได้สบตานางเหมือนอย่างเคย
จักชื่นเชยผู้ใดใครบอกที ฯ

(๖)

๏ มาถึงถิ่น "อุทยานรัชกาลที่ ๒"
เดินข้างน้องนวลอนงค์คงสุขี
กลับต้องเดินดายเดียวเปลี่ยวฤดี
โอ้อกพี่คิดถึงเจ้าจะขาดใจ

เดินชมสวนชวนชื่นระรื่นจิต
ฤาเทพามานิมิตประดิษฐ์ไว้
งามดั่งสวนสวรรค์ฟ้าสุราลัย
ดั่งเทพไท้ได้สร้างกลางปฐพี

เห็นเรือนไทยใหญ่โตดูโอ่อ่า
งามสง่ากว่าที่ใดในโลกนี้
ด้วยบรรจงทรงสร้างช่างงามดี
ดุจดั่งมีมนต์ขลังทั้งหลังไป

เดินดูห้องต่างต่างช่างวิจิตร
ยิ่งเพ่งพิศยิ่งสง่าจะหาไหน
ประดับห้องมองงามตามอย่างไทย
โอ้ดวงใจได้ชมสมดังจินต์ ฯ

๏ บนเรือนเด่นเห็น "ห้องดนตรีไทย"
ทั้งดวงใจไหวหวั่นพลันถวิล
ถึงนวลน้องแน่งน้อยกลอยยุพิน
มาร้างถิ่นถวิลเจ้าจึ่งเศร้าใจ

เสียงเตรงตริ๊งฉะฉิ่งฉับสดับจิต
ใจยิ่งคิดถึงนงเยาว์จึงร้าวไหว
คิดถึงรักเคยระรื่นชื่นฤทัย
โอ้เหตุใดจึงได้พรากจากบังอร

หวนถึงทิพย์ดุริยางค์ที่นางเล่น
ไพเราะเหลือเนื้อเย็นนวลสมร
พี่แนบซบไออุ่นหนุนตักนอน
อุ่นอกอ่อนอุ่นเหลือเมือได้อิง

ตะเหร่งเตร๊งตะเหร่งเตร๊งเพลงไพเราะ
เมื่อสดับรับเสนาะนะยอดหญิง
ใครไป่เทียมเนื้อเย็นพี่เห็นจริง
ไพเราะยิ่งอย่างนางฟ้ามาบรรเลง

ถวิลถึงเรณูอยากอยู่ใกล้
โอ้ปวดใจดังถูกใครมาข่มเหง
เห็นพรรคพวกเพื่อนอื่นดูครื้นเครง
แต่พี่เองคิดถึงเจ้าแสนเศร้าใจ ฯ

(๗)

๏ ออกมาท่องถึงทาง "ค่ายบางกุ้ง"
เห็นแควคุ้งโดดเด่นเป็นค่ายใหญ่
ทั้งป้อมปืนปราการละลานไป
ศัตรูใดกรายกล้ำคงช้ำทรวง

ดังค่ายใจนวลฤดีที่แน่นหนัก
พี่ทุ่มรักทั้งใจไม่คิดหวง
กลับต้องเจ็บจนช้ำเพราะคำลวง
น้ำตาร่วงด้วยรักไปไม่ถึงนาง ฯ

(๘)

๏ มาถึงที่ "สุพาณีโฮมสเตย์"
ดูว้าเหว่วิเวกไหวเมื่อไกลห่าง
นั่งศาลาข้างคลองมองตามทาง
ดูอ้างว้างเมื่อร้างรักไกลจากตา

น้ำในคลองขุ่นคล้ำช่างช้ำหม่น
น้ำใจคนรอบกายฉันนั้นขุ่นกว่า
ฉันล้มลงเหยียบส่งซ้ำช้ำอุรา
คอยหยามหน้าให้สนุกอยู่ทุกที

ถึงคราวยากลำบากพลันฉันคอยช่วย
จะเจ็บป่วยอย่างไรไม่หน่ายหนี
ฉันลำบากหันหาใครไม่เห็นมี
เจ็บฤดีพึ่งได้แต่กายตน

ขอน้ำใจน้องนุชสุดสวาท
จงสะอาดปราศจากราคีหม่น
อย่าเน่าเหม็นเห็นทุเรศเหมือนเศษคน
ที่กล่าวไว้ข้างต้นนะแก้วตา ฯ

๏ ได้ลองลิ้มชิม "ขนมสำปันนี"
รสช่างหวานซ่านฤดีพี่หนักหนา
ชิมขนมพลางคะนึงถึงกานดา
อยากให้มาลองลิ้มชิมด้วยกัน ฯ

๏ เดินชมสวนชวนสมระทมเหลือ
ได้เคียงเนื้อนวลอนงค์คงสุขสันต์
แต่นิราศจากนางอ้างว้างพลัน
ใจพี่นั้นคะนึงนางพลางพร่ำไป ฯ

(๙)

๏ ดึกแล้วจึงล่องเรือเพื่อตามรอย
เจ้าหิ่งห้อยตามลำพูดูไสว-
สว่างแพล็บแวบวับระยับไว
โอ้ฤทัยพิศแล้วช่างแพรวพรรณ

เห็นหิ่งห้อยพลอยตรึกนึกถึงตน
ที่ไร้คนคอยค้ำจุนหนุนหลังนั่น
หิ่งน้อยน้อยฤาจะแข่งกับแสงจันทร์
เฉกเช่นฉันฤาจะแข่งแซงเจ้านาย

สกุลดังเส้นใหญ่บีบให้แพ้
ดังดวงแขคอยอรุณให้หนุนท้าย
หิ่งห้อยน้อยอย่างพี่ที่เดียวดาย
เปล่งให้ตายก็ไม่เทียบเทียมดวงเดือน

สลดแสนสังคมไทยในภายหน้า
ทุกแหล่งหล้าไม่มีที่ใดเหมือน
ด้วยระบบอุปถัมภ์คอยย้ำเตือน
ไม่เคยเลือนลบจากสังคมไทย

หากคนไทยยังเป็นอยู่เช่นนี้
คนเก่งดี "ไม่มีเส้น" จะเป็นไฉน
ว่าพลางเพ้อพูดพร่ำรำพันไป
ถอนหายใจไปตามทางพลางเหม่อลอย ฯ

๏ เห็นเจ้าติดตามเกาะกิ่งลำพู
ไม่ลองเกาะต้นอื่นดูฤาหิ่งห้อย
คงเหมือนพี่ที่รักสมัครคอย
อยากอยู่ใกล้น้องน้อยในแสงเพ็ญ ฯ

(๑๐)

๏ มาถึงกลางแม่น้ำนามแม่กลอง
สุดฝั่งคลองมองชะแง้ไม่แลเห็น
หากพลัดตกลงไปคงตายเย็น
ด้วยกว้างเช่นมหานทีทีสุดตา

อยากแนบน้องนั่งชมชื่นหิ่งห้อย
แนบมือน้อยน้องด้วยสิเหน่หา
จะแนบนบซบไออุ่นกรุ่นอุรา
หอมแก้มงามตามประสาคนรักกัน

จะกอดนางข้างกายให้หายหนาว
นอนนับดาวพราวนภางค์ช่างสุขสันต์
พี่จะอ้อนป้อนคำหวานสารพัน
มองพระจันทร์เป็นเพื่อนคงเหมือนใจ

คงแค่ฝันหวั่นจิตคิดลุ่มหลง
ฤาโฉมยงจะปลงจิตคิดหวั่นไหว
คงรักนางข้างเดียวเปลี่ยวฤทัย
โอ้กระไรใยคะนึงถึงเพียงนาง ฯ

(๑๑)

๏ ถึงที่พักนั่งพักใจให้พักจิต
กลับยิ่งคิดถึงหน้ามนคนไกลห่าง
รีบเข้านอนด้วยเหนื่อยอ่อนจรตามทาง
ยิ่งอ้างว้างดายเดียวเปล่าเปลี่ยวกาย

ลมพัดผ่านแผ่วเย็นยะเยียบหนาว
น้ำค้างพราวหนาวสั่นหวั่นมิหาย
ทั้งหนาวลมหนาวรักใยจักคลาย
โอ้หนาวกายฤาจะเท่าหนาวอุรา

หนาวฤทัยเกินข่มระทมเหลือ
อยากแนบเนื้อนวลจิตขนิษฐา
อุ่นอกใดอุ่นเท่าอุ่นแก้วตา
ถึงห่มผ้าก็หาเท่าเจ้าอุ่นจริง

ถึงห่มผ้าหนาหนุนอุ่นแต่กาย
ฤาอุ่นใจเท่ากอดแม่ยอดหญิง
คงอุ่นไออุ่นแอบแนบอุ่นอิง
อุ่นใจยิ่งอิงอนงค์คงอุ่นเรา

ชะเง้อมองจันทรานภาหม่น
คงเหมือนคนคนนี้ที่แสนเหงา
ดวงจันทราบนฟ้าที่ไร้เงา
ดังใจเศร้าดวงนี้ที่ไร้เธอ

เจ้าจะอยู่อย่างไรหนาแม่ยาจิต
พี่ยังคิดคอยคะนึงถึงเจ้าเสมอ
ดวงฤทัยไหวรอนอยากจรเจอ
ได้แต่เพ้อพูดพร่ำรำพันไป

ลมหนาวผ่านพัดแผ่วแล้วเริ่มง่วง
จวนจะล่วงสู่ภวังค์ดังหลับใหล
ราตรีสวัสดิ์ก่อนหนาแม่ยาใจ
ขออวยพรอรทัยให้ฝันดี ฯ

(๑๒)

๏ สะดุ้งตื่นตอนเ้ช้าเขาวิ่งวุ่น
เห็นอรุณอุ่นอัมพรจรวิถี
ทิฆัมพรอ่อนครามดูงามดี
ลุกทันทีล้างหน้าชื่นตาพลัน ฯ

ร่วมตักบาตรตั้งจิตอุทิศตน
ขอกุศลเกิดแก่พ่อแม่ฉัน
ตักข้าวแกงแต่งบรรจงจัดลงพลัน
ทั้งเลือกสรรค์สารพัดจัดปัจจัย

อยากตักบาตรร่วมขันแม่ขวัญจิต
ร่วมอุทิศส่วนกุศลผลบุญใหญ่
จะได้อยู่คู่สวาททุกชาติไป
เคียงฤทัยเจ้าอนงค์คงสุขเกิน ฯ

๏ จึงจำพรากจากจรอาวรณ์นัก
จากบ้านพัก "สุพาณี" ที่เขตเขิน
จงจรเที่ยวทุกเขตคามตามทางเดิน
คงเพลิดเพลินดำเนินรอยพลอยสุขใจ ฯ

(๑๓)

๏ ถึงถิ่นทาง "วัดบางแคน้อย"
ใจพี่พลอยมองทึ่งตะลึงไหว
ช่างวิจิตรประดิษฐ์ตามงามอย่างไทย
ด้วยภาพไม้แกะสลักงามนักแล

ด้านหลังติดวิจิตรศิลป์ดูสูงส่ง
ภาพพุทธองค์ผจญมารพาลถึงแม่-
คงคาบีบมวยผมจมจนแด-
ดิ้นพ่ายแพ้ต่อพระองค์ผู้ทรงญาณ

ทั้งผนังฝั่งบนงามล้นเหลือ
เป็นภาพเมื่อทศชาตินิราศผ่าน
วิจิตรไม้มองอึ้งตะลึงลาน
ช่างตระการตาเหลือเมื่อได้ยล

มหาชาติเวสสันดรอยู่ตอนล่าง
บรรจงสร้างอย่างวิจิตรพิศน่าสน
บอกเล่าความตามเรื่องไปในทุกคน
เป็นบุญไซร้ใจตนยินดีพลัน

เหลียวมองไปภาพไม้ใต้หลังคา
ภาพรามายณะเด่นเห็นผกผัน
คือรามลักษณ์ยักษ์กระบี่ที่โรมรัน
ดูอัศจรรย์ดังเช่นเห็นภาพจริง

เป็นประติมากรรมไทยที่ควรรักษ์
ด้วยงามนักวิจิตรไปในทุกสิ่ง
งามจนใจไหวหวั่นพรั่นประวิง
ดูงามยิ่งกว่าที่ใดในโลกา ฯ

(๑๔)

๏ มาถึงถิ่น "วัดภุมรินทร์กุฎีทอง"
เรือนไทยมองวิจิตรตามงามหนักหนา
ด้วยลายไม้รดน้ำดูงามตา
ควรรักษาไว้ให้ไทยเชยชม ฯ

๏ เสียงฉับฉิ่งตริ่งเตรงบรรเลงแว่ว
เสียงเจื้อยแจ้วดนตรีไทยคงใช่สม
ชะรอยวัดจัดศึกษาน่านิยม
ประโลมลมชมชื่นรื่นบรรเลง

เห็นเด็กน้อยนั่งสีซออ้ออู้อี้
ระนาดตีจะเข้คล่องมองดูเก่ง
กลองตีรับกรับปนอลเวง
ดูครื้นเครงบรรเลงเล่นเห็นงามไป

แลชักเชิดหุ่นกระบอกดูกลอกกลับ
ยามสดับได้สนุกทุกคนใกล้
ทั้งสุขสันต์หรรษาพาชื่นใจ
ศิลปะไทยควรรักษ์ประจักษ์จริง ฯ

๏ เสียงครื้นเครงคือ "เรือนดนตรีไทย"
ที่บรรเลงเพลงให้ไพเราะยิ่ง
"หลวงประดิษฐไพเราะ" เสนาะพริ้ง
ให้ทุกสิ่งสืบทอดตลอดมา

ให้ลูกหลานชาวไทยได้ประจักษ์
ได้รู้รักษ์ดนตรีไทยที่สูงค่า
ดนตรีไทยไพเราะเสนาะอุรา
ควรรักษาด้วยใจที่ใฝ่จริง ฯ

(๑๕)

๏ แล้วแวะชม "บ้านทำน้ำตาลมะพร้าว"
พบเรื่องราววิถีไทยในทุกสิ่ง
น้ำตาลสดหยดหวานผึ้งพาลชิง
คอยประวิงเคี่ยวให้ได้น้ำตาล

ภุมรินทร์บินร่อนว่อนมากมาย
ยอมตกตายเพื่อลิ้มชิมความหวาน
ดุจพี่รักนวลอนงค์คงทรมาน
ใจร้าวรานถูกรักกรีดจนซีดเซียว

หลงรักนางทั้งใจไม่หวั่นจิต
เจ้าไม่คิดแม้แต่จะแลเหลียว
ตกหลุมรักจักตายอยู่ดายเดียว
ช่างเปล่าเปลี่ยวเสียวปลาบวาบวิญญาณ์

ผึ้งทั้งหลายตายตามความหวานหอม
ใจพี่พร้อมยอมตายตามสิเหน่หา
รักของนางช่างหวานแม่กานดา
โอ้ใจข้าฯ สุดหักรักอาลัย ฯ

(๑๖)

"ดอนหอยหลอด" ดอนจมมิสมดอน
น้ำขึ้นก่อนจะหาดอนที่ตอนไหน
มองน้ำกว้างสุดตาพาอ่อนใจ
คงมิได้ชมดอนอ่อนอุรา ฯ

๏ แวะกินข้าวซื้อของพลางกลางตลาด
จำนิราศสมุทรสงครามยามบ่ายกว่า
จำจากไปไกลแล้วแม่แก้วตา
จำต้องลากลับสู่ภูมิลำเนา ฯ

(๑๗)

๏ จบนิราศอัมพวาแต่ครานี้
ด้วยฤกษ์ดีเดือนสิบสองต้องวันเสาร์
เยือนสมุทรสงครามตามใจเรา
ยกมาเล่าตามจริงทุกสิ่งอัน ฯ

หวังให้นิราศนี้ที่ปรากฏ
มีครบรสทั้งเสา, นา, พิ, สัล*
หวังผู้อ่านสราญใจได้อ่านกัน
เห็นภาพได้โดยพลันทุกอันไป

หวังสุดท้าย, หวังเจ้าอ่านแม่ขวัญจิต
ยิ้มสักนิดหนาแม่แลสดใส
เพียงเจ้าชอบพี่ก็ชื่นระรื่นใจ
จำจากไกลแล้วหนาขอลาเอย ๚ะ๛


พฤศจิกายน ๒๕๔๖
ปรับปรุง มกราคม ๒๕๔๗


*รสแห่งวรรณคดีไทยทั้ง ๔ อันกอปรด้วย เสาวรจนี นารีปราโมทย์ พิโรธวาทัง สัลลาปังคพิสัย