วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ว่าด้วยนิทานเรื่องนายทหารกับเจ้าหญิง

"ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระราชาได้จัดงานเลี้ยงสำหรับคัดเลือกเจ้าหญิงที่โฉมงามที่สุดในอาณาจักร ตอนนั้น มีนายทหารนายหนึ่งมีหน้าที่ยืนเฝ้ายาม เขาเห็นพระราชธิดาของพระราชา เขาเห็นว่าเธอเป็นสิ่งที่สวยงามกว่าทุกสิ่ง และเขาก็ตกหลุมรักเธออย่างมากด้วย

"แต่เขาเป็นเพียงนายทหารธรรมดาคนนึง แต่เธอเป็นถึงพระราชธิดา แต่แล้วในที่สุด เขาก็ทำสำเร็จในการได้พบกับเจ้าหญิง เขาบอกกับเธอว่า เขาไม่สามารถอยู่ได้หากปราศจากเธอ

"เจ้าหญิงรับรู้ และก็รู้สึกได้ถึงสิ่งที่อยู่ลึก ๆ ในความรู้สึกของเขา ดังนั้นเจ้าหญิงจึงตรัสว่า "ถ้าท่านรอคอยได้เป็นเวลา 100 วัน และ 100 คืนที่ใต้ระเบียงห้องฉัน ถ้าทำได้ฉันก็จะเป็นของท่าน"---

"เมื่อได้ฟังดังนั้น ทหารนายนั้นก็ไป แล้วเขาก็รอคอย ผ่านไป 1 วัน 2 วัน แล้วก็ 10 วัน จากนั้นก็ 20 วัน--- ทุก ๆ เย็นเจ้าหญิงก็จะมองออกไปและพบว่าเขาไม่ได้ขยับเลยแม้ว่ามีลมฝนลมหนาว แม้แต่พายุหิมะ เขาก็ยังยืนอยู่ที่นั่น แม้นกจะขี้ใส่หัวเขา ผึ้งมาต่อยเขา เขาก็ไม่ยอมขยับเขยื้อนเลย เขายังยืนนิ่งอยู่อย่างนั้น

"ในที่สุด คืนวันที่ 90 ร่างกายของเขาผอมแห้งและก็ซีดเซียว น้ำตาเริ่มไหลลงมาจากดวงตาของเขา เขาไม่สามารถกลั้นมันไว้ได้ เขาไม่มีแม้แต่เรี่ยวแรงที่จะหลับตาและขยับร่างกาย ตลอดเวลาเจ้าหญิงยังคอยดูเขาอยู่

"และเมื่อถึงวันสุดท้าย คือคืนวันที่ 99 นายทหารคนนั้นก็เดินจากไป---"

นิทานเรื่องนี้ ข้าพเจ้าเคยได้ยินเมื่อตอนเด็ก ๆ เป็นเรื่องเดียวกับที่อัลเฟรโดเล่าให้โตโตฟังในเรื่อง Cinema Paradiso ขณะที่ชายหนุ่มกำลังอยู่ในห้วงรัก แต่เมื่อเล่าจบ อัลเฟรโดไม่มีบทสรุปให้โตโต้

"และอย่าถามว่ามันหมายถึงอะไร เพราะฉันก็ไม่รู้เหมือนกัน---"

เมื่อความรักไม่สมหวัง โตโต้จึงคิดว่าเขาเข้าใจนิทานที่อัลเฟรโดเล่า

"คุณจำเรื่องทหารและเจ้าหญิงได้ไหม--- ตอนนี้ผมเข้าใจแล้วล่ะว่าทำไมทหารถึงได้จากไปในตอนจบ ใช่---อีกแค่คืนเดียวเจ้าหญิงก็จะเป็นของเขาตลอดกาลแล้ว แต่เธอก็ไม่อาจรักษาสัญญาที่ให้ไว้ได้ นั่นเป็นเรื่องที่โหดร้ายเกินไป มันอาจฆ่าเขา---

"อย่างน้อยที่สุดของคืนที่ 99 เขาแค่จดจำว่าเธอควรเป็นของเขา---"

----------

แต่สำหรับข้าพเจ้าแล้ว---ไม่ใช่หรอก โตโต้เข้าใจผิดด้วยความเยาว์วัย

ความจริงของนิทานเรื่องนี้---ความจริงของนายทหาร---เรียบง่ายและโหดร้ายกว่านั้นมาก

แต่อย่าถามข้าพเจ้าว่ามันหมายถึงอะไร เพราะข้าพเจ้าไม่มีคำตอบให้--- คำตอบนั้นอยู่พ้นที่จะอธิบายด้วยถ้อยคำ มีเพียงความรู้สึกอย่างนายทหารผู้นั้นเท่านั้นที่จะตอบได้ว่าเหตุใดนายทหารผู้นั้นจึงเดินจากไปในคืนที่ 99

อันที่จริงเขา---นายทหารคนนั้นน่าจะรู้แล้วตั้งแต่วันที่เขาหลั่งน้ำตาในคืนวันที่ 90 แต่เขาต้องใช้เวลาอีกถึง 9 วันเพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งที่เขารู้นั้นเป็นเรื่องจริง ก่อนจะตัดสินใจ---

นี่คือนิทานที่บอกเล่าความจริงของความรัก---และความรู้สึกอันหนักหนาสาหัสมากเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งจะรู้สึกได้


วุฒินันท์ ชัยศรี
๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๔

วันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2554

Bangkok Traffic Love Stories

1.

วันก่อน ผมมีโอกาสได้ดูภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง อย่าไปสนเลยในรายละเอียดของเรื่อง เพราะเรื่องที่ผมจะพูดถึงมีแค่พาหนะในเรื่องที่ชวนให้ผมนึกถึงคำว่า ไทม์แมชชีน นั่นคือ รถเมล์

ภาพยนตร์ที่ถ่ายทำฉากรถเมล์นั้นมีหลายเรื่อง บ้างก็เอามาเป็นการดำเนินเรื่องหลักเลยก็เช่น เมล์นรก หมวยยกล้อ เป็นต้น ส่วนเรื่องที่ผมได้ชมนี้ รถเมล์ปรากฎเป็นฉากยาวพอสมควร น่าแปลกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทำมานานแล้ว ผ่านมายี่สิบกว่าปี รถเมล์เคยเป็นอย่างไร ตอนนี้ก็ไม่เปลี่ยนแปลง (มีเพียงการขับเร็วขึ้น กระเป๋าหยาบคายขึ้น ไม่ค่อยสนใจจะจอดให้ตรงป้าย ขี่แซงปาดเลนเหมือนรถมอเตอร์ไซค์ - เท่านั้นที่เปลี่ยนไป)

น่ายินดีที่ประเทศไทยยังคงอนุรักษ์พาหนะนี้ไว้ในรูปแบบเดิมที่สุด หากใครคิดจะทำหนังแนวพีเรียดย้อนยุคไปสักสิบยี่สิบปี มาถ่ายทำในรถเมล์น่าจะเหมาะ คงได้บรรยากาศเหมือนเมื่อยี่สิบปีก่อน

นี่คือไทม์แมชชีนของความรู้สึก (รุ่นย้อนเวลาได้อย่างเดียว) นวัตกรรมที่ชาวไทยจะต้องภูมิใจ

2.

ป้ายนั้นเป็นภาพนักธุรกิจใส่สูท ใส่หมวกกันน็อค สะพายเป้ ปั่นจักรยาน โปรยด้วยคำชวนเชื่อว่า หันมาปั่นจักรยาน ลดการใช้พลังงาน ลดโลกร้อน พร้อมแปะตรากรุงเทพมหานคร

สวนทางกับภาพรถติดยาวเหยียดบนท้องถนน ไฟแดงจากท้ายรถนับหมื่นตลอดถนนรามคำแหงวาวโรจน์เหมือนดวงตาของยักษ์ที่กำลังโกรธเคือง ผมมองลอดเข้าไปในรถ แต่ละคันบรรจุคนไว้คันละคน ทิ้งที่ว่างของคนนั่งข้าง ๆ และคนนั่งข้างหลังไว้ให้กลวงเปล่าพอ ๆ กับหัวใจ

ยักไหล่ ปั่นจักรยานต่อ อาจจะมีผมเพียงคนเดียวในย่านนี้ที่ปั่นจักรยานจากลำสาลีไปทำธุระที่หน้ารามฯ โดยลัดเลาะไปตามฟุตบาท ระยะทางนั้นอาจไกล แต่ก็ไม่ไกลเกินกว่าจะปั่นไปได้ ระยะทางไกลที่สุดที่ผมทำไว้คือจากจุฬาฯ มาที่รามคำแหง เพราะจักรยานใหญ่เกินกว่าจะใช้รถขนมาได้ จึงต้องปั่นมาเองเมื่อต้องย้ายหอพัก

หันไปยิ้มให้กับป้ายนักธุรกิจใส่สูทปั่นจักรยาน ความฝันอันแสนหวานของคนกรุงเทพฯ ขณะที่โลกความจริง กรุงเทพฯ ไม่มีพื้นที่ไว้สำหรับจักรยานแม้แต่มิลลิเมตรเดียว และบางจุดบนฟุตบาทก็เป็นพื้นที่สำหรับแม่ค้าไว้เรียกร้องสิทธิในการขายของโดยอ้างคำว่าเป็นคนจน และเพิกเฉยต่อสิทธิในการเดินของประชาชน ยังไม่รวมถึงอุบัติเหตุจากมอเตอร์ไซค์รับจ้างตีนผี และรถเมล์หรือแท็กซี่ที่เร่งร้อนจะไปส่งรถ ซึ่งมักจะเหยียบคันเร่งเหมือนกำลังแข่งกับรถเก็บศพของปอเต็กตึ้ง

มีก็แต่คนที่รักชีวิตเพียงครึ่งเดียวเท่านั้นแหละที่เอาจริงเอาจังกับการเดินทางด้วยจักรยานในกรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมร

3.

ข่าวว่าภาษีรถคันแรกจะลดลงเป็นแสน น่าจะเป็นข่าวดีของประชาชนคนไทยที่นิยมซื้อรถมาขับราวกับเป็นประเทศที่ผลิตรถและกลั่นน้ำมันเองได้ แถมด้วยข่าวน้ำมันลดราคา ช่างเป็นความฝันอันแสนหวานสำหรับคนที่อยากได้ชื่อว่าประสบความสำเร็จในชีวิตโดยขับรถโก้หรูกลับไปอวดญาติที่บ้านนอก แม้ว่าชีวิตในกรุงเทพฯ จะต้องนั่งแช่อยู่บนถนนนานกว่าครึ่งชีวิต โดยไม่เกี่ยวว่าถนนนั้นจะชื่อว่าทางด่วนหรือไม่ด่วน ไม่เคยมีทางด่วนไหนทำหน้าที่ของมันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ในเมื่อมันถูกบรรจุด้วยปริมาณรถมากพอ ๆ กับถนนธรรมดา

ไทม์แมชชีนของความรู้สึกที่ชื่อรถเมล์ บรรจุคนไว้จนไม่เหลือที่ว่างแม้แต่ตารางนิ้วเดียว กลิ่นตัวของนักวิ่งและนักบอลเพิ่งเลิกเล่นที่ขึ้นรถกันมาเป็นทีมชวนให้คลื่นเหียนจวนเจียนจะเป็นลม เพลงหมอลำเพลงโปรดของคนขับที่เปิดเสียงเบา ๆ ระดับหูแตกยิ่งชวนให้ใครหลายคนที่ไม่ซาบซึ้งกับวัฒนธรรมอีสานรู้สึกหงุดหงิดรำคาญใจ รถเมล์คันนั้นรายล้อมด้วยรถเก๋งหลากสีสันที่บรรจุคนไว้คันละคน ไม่น่าแปลกที่ใครก็แห่ไปซื้อรถ อย่างน้อยมันก็ส่วนตัว สบาย เปิดฟังเพลงที่ชอบได้ในโลกส่วนตัวเล็ก ๆ นี้

ไทม์แมชชีนของความรู้สึก (รุ่นย้อนเวลาได้อย่างเดียว) ยี่สิบปีก่อนเป็นอย่างไร ตอนนี้ก็เป็นอย่างนั้น แถมยังห่วยกว่าเดิมเรื่อย ๆ

แต่จะโทษเขาได้ล่ะหรือ ผมเคยฟังคนขับบ่นกับกระเป๋ารถเมล์ ในเมื่อรถเยอะขึ้นทุกวัน รถจึงติด ส่งรถไม่ทัน ขาดทุน วิ่งได้วันละรอบก็บุญโข รอบวิ่งก็น้อยลง รถขาด แต่ละรอบจึงต้องยัดคนเยอะ ๆ เข้าไว้ คนเยอะก็ยิ่งน่าอึดอัด อากาศก็ร้อน รถก็มาติดหนักกว่าเดิมอีก แล้วจะสำมะหาอันใดกับการบริการ (วะ)

รถเยอะ-รถติด-รถเมล์ห่วย-คนหันไปซื้อรถ-รถเยอะ-รถติด-รถเมล์ห่วย-คนหันไปซื้อรถ-รถเยอะ-รถติด-ฯลฯ

4.

ไม่น่าเชื่อว่า ถนนสุขุมวิท โดยเฉพาะสี่แยกหน้าสยามพารากอน จะเป็นถนนที่รถติดที่สุดติดอันดับต้น ๆ ของโลก เป็นอีกหนึ่งอะเมซิ่งไทยแลนด์ที่ควรภาคภูมิใจ ข่าวนี้มาพร้อมกับข่าวว่าแอร์พอร์ตลิ้งค์กำลังขาดทุนหนัก เนื่องจากมีผู้โดยสารน้อยมากในแต่ละวัน

ข่าวว่าในประเทศที่เจริญแล้ว ระบบขนส่งมวลชนนั้นทันสมัย ไม่มีการอนุรักษ์ไทม์แมชชีนเหมือนบ้านเรา และยังสนับสนุนให้ประชาชนเดินทางโดยใช้จักรยานมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น จีน เยอรมัน โดยจะมีรถไฟเชื่อมต่อในแต่ละเมือง และในรถไฟก็จะมีโบกี้เก็บจักรยานโดยเฉพาะ เมื่อพาจักรยานมาถึงรถไฟ ก็แค่เอาไปเก็บไว้ในโบกี้ เมื่อเดินทางถึงเมืองจุดหมายก็นำจักรยานออกมาปั่นต่อไปจนถึงจุดหมาย

จักรยานของผมไม่ใช่จักรยานพับได้ จึงนำเข้าไปในแอร์พอร์ตลิ้งค์ หรือ MRT ไม่ได้ มีก็แต่ BTS เท่านั้นที่นำไปด้วยได้ แต่ก็ต้องถูกเขม่นจากผู้โดยสารคนอื่นว่าเกะกะชะมัด

หลายเรื่องประดังประเดเวียนวนอยู่ในสมองผม ลดภาษีรถคันแรก, ลดราคาน้ำมัน, ค่านิยมมีรถขับเท่ากับประสบความสำเร็จ, รถเพิ่มปริมาณ แต่ไม่ได้แก้ปัญหาจราจร, ระบบขนส่งมวลชนเหมือนไทม์แมชชีนรุ่นย้อนเวลาได้อย่างเดียว แถมยังห่วยแตก, คนหันไปซื้อรถ, ลดภาษีรถคันแรก, ลดราคาน้ำมัน, ค่านิยมมีรถขับเท่ากับประสบความสำเร็จ, รถเพิ่มปริมาณ แต่ไม่ได้แก้ปัญหาจราจร ฯลฯ ขณะที่กำลังคร่อมอยู่บนอานรอไฟเขียวกลางสี่แยก ผมอาจเหม่อลอยไปหน่อย เมื่อไฟเขียวมาจึงยังไม่ปั่นออกไป จนรถข้างหลังต้องบีบแตรยาวเตือนสติ

เมื่อปั่นขึ้นไปบนฟุตบาท พ้นอันตรายจากบรรดารถใจร้อนทั้งหลาย จึงบ่นกับตัวเองเบา ๆ "ก็บอกแล้ว มีก็แต่คนที่รักชีวิตเพียงครึ่งเดียวเท่านั้นแหละที่เอาจริงเอาจังกับการเดินทางด้วยจักรยานในกรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมร"

5.

วันนี้เป็นอีกวันที่ผมปั่นจักรยานในกรุงเทพฯ แล้วยังไม่โดนรถชนตายโหง ขณะปั่นเข้าซอยอย่างเงียบ ๆ จู่ ๆ รู้สึกรักชีวิตอีกครึ่งหนึ่งของตัวเองขึ้นมาซะเฉย ๆ

เอาล่ะ ช่างกรุงเทพฯ เถอะ ไม่ใช่บ้านผมสักหน่อย ผมจะเพิ่มมลพิษใส่อากาศในกรุงเทพฯ อีกคนคงไม่เป็นไรหรอกมั้ง ไหน ๆ เขาก็ลดภาษีรถคันแรกแล้ว แถมน้ำมันยังถูกลงเยอะ หากผมทำงานมีเงินเดือนเมื่อไหร่ ผมจะต้องออกรถมาขับสักคันบ้างเสียแล้ว


วุฒินันท์ ชัยศรี
๒๗/๐๘/๒๕๕๔

วันอังคารที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2554

พูดตรงตรง

๏ พูดตรงตรงคงเจ็บน้อยกว่า
พูดเถอะ, พูดมาว่ารักเขา
บอกกัน, บอกกันเพียงเบาเบา
อย่ายื้อคำว่าเราให้ร้าวใจ

๏ "คนที่ดี" "คนที่รัก" นั้นต่างกัน
หนึ่งคนเท่านั้นร่วมฝันได้
จะโกหกให้เจ็บช้ำทำไม
"คนที่ใช่", เธอก็รู้อยู่เต็มฤดี

๏ บอกเถอะ, บอกมาว่ารักเขา
แล้วเราก็จบลงตรงนี้
หากยื้อให้นานเนิ่นเกินนาที
น้ำตาที่ฉันมีคงมากมาย

๏ พูดตรงตรงคงเจ็บน้อยกว่า
อาจต้องเสียน้ำตา, เดี๋ยวก็หาย
ดีกว่าเจ็บปวดใจจนเจียนตาย
เมื่อสุดท้าย "รัก" ที่บอก, แค่หลอกกัน

๏ เมื่อพบคนที่ใช่...
เถิดจงตามหัวใจไปตามฝัน
อย่าห่วงใครที่เคยคุ้นเคยผูกพัน
รอยน้ำตาบนแก้มฉัน, จะเช็ดเอง ๚ะ๛


"หนุ่มอักษร... นอนตื่นสาย"
๒๓/๐๘/๒๕๕๔
*แรงบันดาลใจจากเพลง "โกหกไม่ลง พูดตรง ๆ ไม่ได้" ของ ปนัดดา เรืองวุฒิ

วันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ขอให้เหมือนเดิม

๏ ก็ไม่อยากบอกรัก
แต่หักใจไม่ได้
อยากจะเก็บให้เงียบหาย
ตายไปพร้อมกับฉัน

๏ ไม่อยากบอกว่ารักใคร
อยากเก็บไว้แค่ในฝัน
ก็เพราะกลัวเธอนั้น
ลำบากใจไม่อยากฟัง

๏ หมุนเวลาย้อนกลับไป
ย้อนกลับไปแต่หนหลัง
คำรักเคยบอกดังดัง
อุดหูไว้อย่าไปสน

๏ ก็แค่คำคำหนึ่ง
คำของใครแค่หนึ่งคน
หากคำ 'รัก' มันหนักล้น
ก็แค่วาง, แค่ปล่อยวาง

๏ ยังรออยู่นะรอยยิ้ม
เคยส่งให้เมื่อไกลห่าง
วันนี้ยิ้มกลับจืดจาง
เพราะช่องว่างจากหนึ่งคำ

๏ ถอดคำนั้นทิ้งไป
คำที่ใจเคยถลำ
ถอดจากความทรงจำ
แล้วเหมือนเดิม, เป็นเหมือนเดิม
...
ทิ้งรักไว้ในความทรงจำ
คืนที่เดิม, เราเหมือนเดิม ๚ะ๛


"หนุ่มอักษร... นอนตื่นสาย"
๒๐/๐๘/๒๕๕๔

วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ว่าด้วย "การยกระดับ" และ "บาดแผล"

"คนนั้นเค้าไม่น่ารักจริงเหรอ" เธอถามถึงหญิงสาวอีกคนที่เธอคิดว่าหน้าตาสาวเจ้าก็จัดว่าเป็นคนสวยคนหนึ่ง
"อืม... ไม่รู้สิ ก็คงน่ารักกระมัง ถ้าพี่เจอเค้าที่ศิลปากร อาจจะรู้สึกว่าน่ารักกว่านี้" ผมตอบไปตามที่รู้สึก
"ทำไมล่ะ"
"รู้จักคำว่า 'ยกระดับ' ไหม"
"อย่างไร"
"เหมือนแต่แรกเริ่มเรากินแต่กาแฟผง ซองละ 10 บาท กินมันทุกวัน ๆ ก็นึกว่ามันอร่อย วันดีคืนดีเราไปกินกาแฟสด เราก็ เฮ้ย กาแฟมันต้องแบบนี้สิ! แล้วพอเรากลับไปกินกาแฟผงก็รู้สึกเฉย ๆ ไปเลย แล้ววันดีคืนดีอีก เราได้กินกาแฟสตาร์บั๊คส์ มันก็ยกระดับกาแฟเราไปอีกขั้นหนึ่ง เฮ้ย! นี่สิวะกาแฟ! เรากลับไปกินกาแฟสดก็เฉย ๆ ละ แล้วยิ่งกาแฟผงนี่กินไม่ได้เลย"
"แล้ว?"
"ตอนพี่อยู่ชั้นมัธยมฯ พี่เห็นบางคนน่ารักก็เออ นี่แหละวะน่ารักสุดล่ะ พอมาอยู่ศิลปากร ก็เหมือนอยู่ขั้นกินกาแฟสดน่ะ คนที่น่ารักสมัยอยู่มัธยมฯ ก็เป็นเฉย ๆ ไป ถ้าพี่เห็นเค้าตอนอยู่ศิลปากรก็คงจะรู้สึกว่าเค้าน่ารัก แต่พี่มาเห็นตอนนี้มันเลยเฉย ๆ"
"พี่อยู่ระดับกินกาแฟสตาร์บั๊คส์แล้ว?" เธอทำเสียงประหลาดใจ
"ก็ตอนนี้พี่เดินสวนทางกับนางฟ้าที่คณะทุกวัน ๆ ให้ตายเถอะ ถ้าอากาศไม่ร้อนพี่คงคิดว่าเดินอยู่บนสวรรค์ คิดดูสิ สาวเดินมาสิบ สวยสิบเอ็ดคน"
"หืม?"
"อีกคนเป็นผู้ชาย แต่ก็สวยไร้ที่ติ" ผมได้ยินเสียงหัวเราะจากปลายสาย
"แบบนี้คนนั้นของพี่ก็ไม่สวยแล้วสิ" เธอหมายถึงใครคนหนึ่งที่ผมมีใจให้ในขณะนี้
"ไม่ ไม่ ไม่เหมือนกัน"
"เค้าอยู่ระดับไหน กาแฟผง กาแฟสด หรือสตาร์บั๊คส์"
"พี่จัดระดับเค้าไม่ได้"
"ทำไม"
"เค้าเป็นบาดแผลในใจพี่"
"หืม?"
"เค้าเป็นความทรงจำที่พี่สลัดไม่หลุด ไม่เคยลืมได้ เค้าอยู่อีกมิติหนึ่ง คนละมิติกับกาแฟ คนละมิติกับการบอกว่าอยู่ระดับไหน บอกว่าเค้าเป็นอย่างไร สวย ไม่สวย น่ารัก ไม่น่ารัก เหมาะ ไม่เหมาะ อยากจีบ ไม่อยากจีบ"
"หมายความว่า?"
"สำหรับเค้า พี่ไม่มีทางเลือกเลย พี่เลือกไม่ได้เลยว่าจะรักหรือไม่รักเค้า เพราะพี่รักเค้า"


๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๔

วันพุธที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ขอเป็นโหรซีไรต์บ้าง Vol.2

*หมายเหตุก่อนอ่าน

สามเล่มนี้ ผมใช้วิธีการอ่านแบบนักอ่านยากจน คือไปยืนอ่านในร้านหนังสือจนจบเล่ม ดังนั้นจึงอาจเข้าใจเรื่องทั้งหมดในเล่มแบบยังไม่ผ่านการตกตะกอนเหมือนสองเล่มก่อนหน้านี้ที่มีเวลานั่งอ่านอย่างพินิจพิจารณามากกว่า หากพูดถึงแค่ภาพรวมกว้าง ๆ หรือยกบางเรื่องมาอ้างโดยชื่อเรื่องผิด ต้องขออภัยล่วงหน้ามา ณ ที่นี้

----------------------------------------------

๓. ๒๔ เรื่องสั้นของฟ้า / ฟ้า พูลวรลักษณ์

หลังจากซีไรต์ครั้งที่แล้ว ฟ้าทำให้ผมเข็ดขี้อ่อนขี้แก่ไปกับ "โรงเรียนที่เงียบที่สุดในโลก" เมื่อต้องรีดเค้นประเด็นและแนวคิดของนวนิยายออกมาเป็นรายงานวิชาการ ซึ่งกินความตั้งแต่ความหมายของการหายใจเข้าออกไปจนถึงทฤษฎีควอนตัมฟิสิกส์ การพบกันครั้งใหม่นี้ผมจึงต้องทำใจอยู่สักพักก่อนจะเปิดหนังสืออ่าน

แต่ก็นั่นแหละ, ฟ้ายังคงเป็นฟ้า เขายังกลับมาพร้อมกับการค้นหาความหมายบางอย่าง หรือหลายอย่างในชีวิตผ่านเรื่องสั้นทั้ง ๒๔ เรื่อง (ไม่รู้ว่าคราวนี้เขารวมเล่มประชดรางวัลซีไรต์หรือเปล่า หลังจากครั้งหนึ่ง "๗ เรื่องสั้นของฟ้า" ตกรอบซีไรต์ด้วยเหตุผลว่า มีเรื่องสั้นไม่ถึง ๘ เรื่อง อันเป็นกติกาพื้นฐาน คราวนี้เลยกลับมาด้วยจำนวนเรื่องเป็น ๓ เท่าของขั้นต่ำ)

หากมองในแง่รางวัล ในเล่มนี้ยังมีเรื่องสั้นหลายเรื่องที่ดูเหมือนว่าความคิดยังไม่ตกผลึกดี (หรือผมยังเข้าไม่ถึงเองก็ไม่ทราบได้) เมื่อมันอยู่ในเล่มจึงทำให้พลังของเล่มดรอปลงพอสมควร จึงอาจทำให้ชวดรางวัลได้ อย่างไรก็ตาม เรื่องสั้นกว่า ๘๐% ของเล่มก็นับว่ามีประเด็นเกี่ยวแก่การค้นหาความหมายของชีวิตที่น่าสนใจไม่น้อย และดูเหมือนจะตกผลึกมาจากผลงานก่อนหน้าอย่าง ๗ เรื่องสั้นของฟ้า และโรงเรียนที่เงียบที่สุดในโลก หากฟ้าไม่ต้องการกล่อง ก็ถือว่ารวมเรื่องสั้นชุดนี้ยังคงความเป็นฟ้าได้อย่างเต็มเปี่ยม ในฐานะนักเขียนเรื่องความคิดและปรัชญาอันแหลมคมให้ผู้คนครุ่นคำนึงตามไม่รู้จบ อันเป็นลักษณะที่ไม่ค่อยพบเห็นสำหรับนักเขียนไทย

ฟ้า พูลวรลักษณ์ เป็นนักเขียนอีกคนที่ผมยังคงเชียร์อยู่ ในฐานะที่เป็นมือแคนโต้ระดับพระกาฬที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผมได้เสมอ และผมยังเคยให้ซีไรต์เรตแก่ "โรงเรียนที่เงียบที่สุดในโลก" สูงถึง 90% แต่สำหรับปีนี้ความโดดเด่นของฟ้าอาจจะน้อยลงไปบ้าง เพราะหลายเล่มที่เข้ารอบก็แปลก ๆ ทั้งนั้น

S.E.A. Write Rate 80%

----------------------------------------------

๔. ภาพยนตร์ที่ถ่ายทำตลอดชีวิต / จักรพันธุ์ กังวาฬ

หากถอดถอนกฎที่ว่า จะต้องมีเรื่องสั้นไม่ต่ำกว่า ๘ เรื่องในเล่มออกไป ภาพยนตร์ที่ถ่ายทำตลอดชีวิต อาจมีพลังมากกว่านี้ เพราะเรื่องสั้นที่เขียนขึ้นใหม่ที่ระบุว่า ตีพิมพ์ครั้งแรกในเล่ม มักจะเป็นเรื่องสั้นที่ผมไม่ค่อยชอบนัก อาจเป็นเพราะเมื่อนำไปเทียบกับเรื่องสั้นที่ผ่านการตีพิมพ์จากนิตยสารอื่นจะเห็นพลังที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน เช่นเรื่อง "สารคดีที่ผู้เขียนไม่รู้ตอนจบ" เป็นเรื่องเล่าที่ทรงพลัง แต่เมื่ออยู่คู่กับ "เรื่องสั้นที่ผู้เขียนไม่รู้ตอนจบ" เรื่องหลังกลับดึงอีกเรื่องที่อยู่คู่กันให้เสียหลักไปดื้อ ๆ เหมือนว่าผู้เขียนเขียนเรื่องใหม่ขึ้นมารวมเพื่อให้ครบ ๘ เรื่องเท่านั้น ผมคิดว่ามีสัก ๕-๖ เรื่องในเล่มก็น่าจะ "อิ่ม" มากพอแล้วสำหรับการเล่นกับระยะห่างของการเล่าเรื่อง หากมีมากไปโดยคุมไม่อยู่ จะเกิดอาการท้องอืดท้องเฟ้อไปเปล่า ๆ

การทดลองวิธีการเล่าเรื่องหลากหลายรูปแบบ บางครั้งอาจเป็นเรื่องน่าติดตาม แต่หากติดกับดักในกลวิธีการเล่าเรื่องมากไปก็จะกลายเป็นเรื่องสั้นที่ไม่มีอะไรเลยแม้แต่ภาพลวงของการเล่าเรื่อง (หากเรายังคงเชื่ออยู่ว่าเรื่องสั้นคือการเล่าอะไรบางอย่าง)

หากมองแค่บางเรื่อง ถือว่าผู้เขียนก้าวหน้าขึ้นมามากในฐานะนักเขียนเรื่องสั้น มีหลายเรื่องที่ถือว่า "แน่น" จริง ๆ แต่โดยภาพรวม ผมยังชอบ "นักเดินทางสู่ห้องเก็บของใต้บันได" รวมเรื่องสั้นชุดก่อนหน้าของเขามากกว่า หากท่วงทำนองเสียดเย้ยจากเล่มก่อนหน้ามาผสานกับวิธีการเล่าเรื่องที่ลงตัวในบางเรื่องของเล่มนี้ ไม่แน่ว่าอาจมีปรากฏการณ์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นในวงการเรื่องสั้นไทยก็เป็นได้

S.E.A. Write Rate 60%

----------------------------------------------

๕. เรื่องของเรื่อง / พิเชษฐศักดิ์ โพธิ์พยัคฆ์


ผู้เขียนเคยมีชื่อในการเขียนบทกวีมาก่อน และผมเคยเห็นเรื่องสั้นหลายเรื่องผ่านตาในเวที "ช่อการะเกด" จัดเป็นนักเขียนที่น่าจับตามองคนหนึ่ง แต่พูดกันตรง ๆ ผมเห็นเหมือนที่รุ่นน้องคนหนึ่งตั้งข้อสังเกตไว้ คือเล่มนี้ดูเหมือนจะธรรมดามากกว่าเล่มอื่น ๆ ที่เข้ารอบเจ็ดเล่มสุดท้าย ในยุคที่เรื่องสั้นแข่งกันหวือหวาด้านกลวิธีการเล่าเรื่อง "เรื่องของเรื่อง" กลับมาพร้อมกับกลวิธีแบบธรรมดา ๆ หรือถ้าจะมีหวือหวาก็เพียงเล็กน้อย

แต่ก็นั่นแหละ บางเรื่องซึ่งผมเห็นว่าธรรมด๊าธรรมดา อย่างเช่นเรื่อง "มันอยู่ในนั้น" ที่ลงตีพิมพ์ในช่อการะเกด ฉบับที่ 54 ก็กลับเป็นเรื่องที่ได้รับการประดับช่อการะเกดจากสุชาติ สวัสดิ์ศรี ดังนั้นไม่แน่ว่า เรื่องธรรมดาเรียบง่ายในสายตาผมและรุ่นน้อง อาจมีอะไรลึกล้ำซ่อนอยู่ที่คนอ่านระดับธรรมดาอย่างเรา ๆ ยังเข้าไม่ถึงก็เป็นได้

(แม้ผมจะให้ซีไรต์เรตไว้น้อย แต่ก็นั่นแหละ, "ความสุขของกะทิ" ก็ได้เรตเท่านี้เหมือนกัน สุดท้ายกลับกลายเป็นวรรณกรรมซีไรต์ที่ขายดีที่สุดจนถึงปัจจุบัน)

S.E.A. Write Rate 40%

----------------------------------------------
*อนึ่ง S.E.A. Write Rate เป็นการให้เรตว่าเล่มนี้มีเปอร์เซ็นต์น่าจะได้แค่ไหนจากการคาดเดาความคิดของกรรมการรอบสุดท้าย จากความสมบูรณ์ของเล่ม ความหนักแน่นของธีม ความเข้ากันระหว่างเนื้อหากับกลวิธีที่ใช้ ฯลฯ ไม่เกี่ยวกับความชอบส่วนตัวแต่อย่างใด


วุฒินันท์ ชัยศรี
๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๔

วันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2554

กวีรักเดียงสา หมายเลข ๒: รู้เดียงสา

"จะไปรับผิดชอบหัวใจใครได้
แผลใจตัวเองยังรักษาไม่เคยหายเลย"
เสียงสัจธรรมแว่วมาจากที่ไหนสักแห่ง
ระงมเหมือนจิ้งหรีดกรีดกราวในรัตติกาล
อาจซุกซ่อนอยู่ในป่ารกชัฏของสำนึกสามานย์
หรือวางเด่นบนทุ่งโล่งของกระแสธารความสงัด

ไม่มี
ไม่เห็น
อื่นใดนอกจากความจริง

เรื่องน่าเศร้าในตอนต้นของนิทานที่ไม่มีใครเคยเล่า
โบราณอาจจะลืมกันไปหมดแล้ว, เว้นแต่เพียง "กาลครั้งหนึ่ง"
นั่นทำให้มายาคติทบซ้อนเป็นปราการนานกว่าหมื่นปี
ตัวตลกน่าหัวร่อนับตั้งแต่ยังไม่มีชื่อเรียกขาน
แต่ทันทีที่ตัวตลกเผลอหัวเราะเสียเอง มันก็มีชื่อเรียก

หนึ่งหยดน้ำกระเซ็นซ่าน
ร้อนเหมือนไฟ
น้ำตา

ตราบเท่าที่ตนเองยังไม่พบความรุงรังในชื่อเรียก
อวัยวะสามสิบเอ็ดส่วนก็จะหายสาบสูญในโลกแสนเศร้า
ใครเลยจะรู้ว่าชิ้นที่สามสิบสองของบางคนสูบฉีดความรักมากกว่าเลือด
แม้แต่กระจกวิเศษในนิทานก็ไม่เคยบอกได้
เพราะจุมพิตของเจ้าชายต่างหากที่ปลุกเจ้าหญิงให้ฟื้น
มิใช่ความห่วงใยของคนแคระ

เวลาน้อยเกินไปเสมอ
สำหรับ
สิ่งสำคัญ

พร่ำบ่นคำตถตาไม่หยุดปาก
แต่เด็กน้อยใจบาปโง่เขลาเกินกว่าจะเข้าใจแม้แต่สูตรคูณ
อาจต้องใช้ตรรกะมากกว่าหมื่นชุดเพื่อเข้าใจหนึ่งคำ
ใครบางคนสร้างกรงนกเพื่อที่จะปล่อยนก
พ้นเกินตรรกะกว่าหมื่นล้านชุดของนักรู้เดียงสาอย่างฉัน


๑๒/๐๖/๒๕๕๔

วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เจ้าหมาขาเป๋

เจ้าหมาขาเป๋อยู่ในกระบะหลังร้าน เจ้าของร้านคงเก็บไว้เป็นของแถม หรือรอคนใจบุญรับไปเลี้ยง เพราะมันขาเป๋ เวลาเดินต้องลากขาไปมา ดูไม่น่ารัก คงขายไม่ได้ ซ้ำยังเปลืองอาหาร ไม่เหมือนหมาน้อยหลายตัวหน้าร้าน พวกมันขาไม่เป๋ พวกมันจึงน่ารัก และคงขายได้ราคางาม

เจ้าหมาขาเป๋อยู่ในกระบะหลังร้าน เจ้าของร้านคงรอคนใจบุญรับไปเลี้ยง เขาคงยินดีมอบให้หากฉันเอ่ยปากขอ แต่ฉันไม่อยากขอ ฉันคิดจะซื้อในราคาเท่ากันกับหมาตัวอื่น แต่มีเงินไม่พอ พ่อบอกว่าจะซื้อของที่ฉันอยากได้ให้หากฉันสอบได้ที่หนึ่ง แต่ฉันไม่เคยได้ที่หนึ่ง เงินฉันจึงไม่เคยพอแม้แต่จะซื้อเจ้าหมาขาเป๋

เจ้าหมาขาเป๋ครางหงิง ๆ ส่งสายตาออดอ้อน ฉันตอบกลับด้วยรอยยิ้มแห้ง ๆ ฉันไม่อยากขอเจ้าของร้าน หยิบเงินในกระเป๋ามานับอีกที เงินไม่พอ ได้แต่หวังว่าสักวันฉันคงมีเงินพอมาซื้อเจ้าหมาขาเป๋

ฉันมองเจ้าหมาขาเป๋เป็นครั้งสุดท้าย ก่อนจะเดินลากขาออกไปจากร้าน

วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ขอเป็นโหรซีไรต์บ้าง Vol.1

สืบเนื่องจากวันก่อน ทะนาคาน มิตรสหายร่วมวงการน้ำหมึก ได้มาชักชวนให้ข้าพเจ้าสวมวิญญาณโหรซีไรต์ทายว่าปีนี้หวยจะออกที่เล่มไหน ข้าพเจ้าได้แต่บอกปัดเพราะไม่เคยทายถูกเลยแม้แต่ปีเดียว หากข้าพเจ้าเป็นโหร ก็นับเป็นโหรตาถั่วใช่ตาทิพย์พอ ๆ กับเปเล่ ไม่สมควรทำนายทายทักอะไรอีก เพราะความซวยจะตกอยู่ที่เล่มที่ข้าพเจ้าเก็ง อีกประการหนึ่ง เล่มที่เดาว่าจะเข้าเจ็ดเล่มก็หลุดไปหมดแล้ว เว้นแต่ นิมิตต์วิกาล ของ อ.ต้น ดังนั้นข้าพเจ้าจึงเกิดความห่อเหี่ยวอย่างมากในการที่จะเดาเจ็ดเล่มนี้

อย่างไรก็ตาม วันก่อนข้าพเจ้าโดนกระทุ้งมาจากรุ่นน้องคนหนึ่งอีกทีว่าให้ลองทายดู เนื่องจากเสียงกระทุ้งนั้นเป็นเสียงหวาน ๆ ซึ่งชวนให้หัวใจครึกครื้น ไม่ใช่เสียงของนักเขียนหนุ่มอย่างทะนาคานซึ่งชวนให้ห่อเหี่ยวใจ (ฮาฮา) จึงคิดว่า เอาน่า ทายเล่น ๆ ละกัน แต่การทายครั้งนี้ก็มีอุปสรรคอยู่ เพราะข้าพเจ้าเพิ่งได้อ่านไปแค่ ๒ ใน ๗ เล่ม บวกกับบางเรื่องของจเด็จและพิเชษฐศักดิ์ที่ได้ลงในช่อการะเกด จึงกล่าวถึงในตอนนี้ได้แค่ ๒ เล่มเท่านั้น

-------------------------------------------

๑. นิมิตต์วิกาล / อนุสรณ์ ติปยานนท์

ว่ากันตามจริง ผมชอบ "เคหวัตถุ" ผลงานเล่มก่อนหน้าของ อ.ต้นมากกว่า (แล้วก็เชียร์ให้ได้ในปีนั้น สุดท้ายก็ปิ๋ว) เพราะเล่มนั้นมีเรื่องเล่าทรงพลังระดับทัดเทียมกันทั้งเล่ม และเกาะเกี่ยวธีมเล่มอย่างเป็นเอกภาพมากกว่า ขณะที่เรื่องราวใน "นิมิตต์วิกาล" ดูเหมือนจะไม่ได้ตั้งใจมารวมกันให้ธีมของเล่มเป็นเอกภาพ (หรือผมเข้าไม่ถึงเองก็ขออภัย)

นิมิตต์วิกาล เล่าถึงเรื่องราวความเว้าแหว่งของมนุษย์ การค้นหาความหมายของบางสิ่งซึ่งไม่มีอยู่จริง เรื่องราวร่วมสมัยเหล่านี้ถูกถ่ายทอดออกมาด้วยการเล่าเรื่องที่ไม่อาจนิยามได้ เช่นเดียวกับเรื่อง นิมิตต์วิกาล เรื่องสั้นชื่อเดียวกับเล่มที่พูดถึงเส้นแบ่งเขตแดนที่ไม่มีอยู่จริงไม่ว่าจะเป็นดินแดนของสองประเทศ ดินแดนความจริง-ลวง ดินแดนความเป็น-ตาย ความสว่าง-มืด ความดี-เลว และคู่ตรงข้ามทั้งหลายในโลกที่ไม่มีพรมแดนอยู่จริง โดยนัยนี้ เรื่องเล่าทั้งหมดในนิมิตต์วิกาลจึงเป็นเรื่องที่ไม่มีเส้นแบ่งระหว่าง นิยาย/เรื่องสั้น/บทกวี/สารคดี/เรื่องจริง/เรื่องแต่ง/ความจริง/ความลวง จนคล้ายกับการถอยกลับไปสู่ "การเล่าเรื่อง" แบบโบราณกาลในยุคที่มนุษย์ยังไม่มีชื่อเรียกสิ่งต่าง ๆ ผ่านปากคำของคนร่วมสมัย ซึ่งเป็นความสำเร็จที่น่าชมเชยของนักเขียนไทยที่น้อยคนนักจะทำได้ขนาดนี้

สิ่งที่น่าเสียดายสำหรับเล่มนี้คือ ขณะที่ "น้ำตากวาง" "นิมิตต์วิกาล" และ "มรณสักขี" เป็นเรื่องเล่าที่ทรงพลังเอามาก ๆ ส่วน "เงาแห่งฝน" และ "ปัตตาเวีย" แม้จะทรงพลังน้อยกว่า แต่ก็อยู่ในระดับไล่เลี่ยกัน เรื่องที่ข้าพเจ้าคิดว่าหลุดระดับลงมาคือ "สัตว์ประหลาด" ซึ่งทำให้พลังของเล่มตกไปอย่างน่าเสียดาย ส่วน "รักแรก" และ "เรือรักที่จมลงในถ้วยกาแฟ" ดูเหมือนจะเป็นอารมณ์ที่ต่างจากเรื่องอื่นในเล่ม ชวนให้นึกถึงการตามหาบางสิ่งที่สูญหายแบบมูราคามิมากกว่า

หากจะพูดถึงการได้ซีไรต์ เล่มนี้น่าจะเป็นการ "วัดดวง" ทำนองเดียวกับ "ทะเลน้ำนม" นวนิยายของชัชวาลย์ โคตรสงคราม ที่ข้าพเจ้าเชียร์เมื่อปีก่อนหน้า เนื่องจากลักษณะทั้งหมดของเล่มค่อนข้างจะหลุดออกไปจากกรอบที่เรา ๆ คุ้นเคย อย่างไรก็ดี ด้วยความที่คนเขียนหน้าตาดี (ไม่เกี่ยว ฮาฮา) และเป็นหนึ่งในเล่มที่ข้าพเจ้าเชียร์มาแต่แรก ก็คิดว่าคงจะเชียร์กันต่อไปจนกว่าผลจะออกมา

S.E.A. Write Rate 70%

---------------

๒. กระดูกของความลวง / เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์

ขณะที่นักเขียนท่านอื่นมาพร้อมกับชุดความคิดอะไรบางอย่างที่ซ่อนอยู่ในเนื้อเรื่องและกลวิธีการเล่าอันซับซ้อน เรวัตร์กลับเขียนเรื่องสั้นชุดนี้เพื่อให้ "รู้สึก" มากกว่า "เข้าใจ" แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่ไม่ยากนักสำหรับผู้เขียนซึ่งเป็นกวี ผู้รู้อำนาจของเสียงและถ้อยคำที่จะสั่นสะเทือนความรู้สึกของผู้อ่าน อย่าไปสนเลยว่ามันเป็นแมจิคอลหรืออะไร เพราะจุดเด่นของเล่มนี้คือเรวัตร์หยิบเอาเสียงและถ้อยคำมาวางไว้ในจุดที่เหมาะสมของฉันทลักษณ์ในแบบ "เรื่องสั้น" จึงไม่แปลกที่เมื่ออ่านจบ สิ่งแรกที่ผุดวาบมาในความคิดไม่ใช่ความเข้าใจหรือชุดความคิดในเรื่อง แต่เป็นก้อนความรู้สึกที่สั่นสะเทือนให้หัวใจไหวหวั่น

สิบสองเรื่องที่บรรณาธิการกล่าวว่าอิงอ้อมอยู่กับปีนักษัตรอย่างหลวม ๆ แท้จริงแล้วมันก็คือวงจรชีวิตไม่รู้จบของมนุษย์อย่างที่ผู้เขียนโปรยไว้ว่าเป็น "เรื่องสั้นไม่รู้สิ้น" ไม่มีความคิดอะไรใหม่ในสิบสองเรื่องนี้ มีก็แต่เพียงการคว้านควักเข้าไปในความรู้สึกของผู้อ่านอย่างถึงแก่น และตระหนักว่าชีวิตก็ไม่ต่างอะไรกับตัวอักษรที่จัดวางอยู่บนหน้ากระดาษ เพราะมันคือการประกอบสร้างกันโดยไร้แก่นสารเท่านั้น

หากอัศศิริ ธรรมโชติ "เขียนเรื่องสั้นโดยใช้ภาษากวี" รวมเรื่องสั้นชุดนี้ก็คงเป็นการทดลอง "เขียนบทกวีในรูปแบบเรื่องสั้น" ที่เป็นรูปธรรมจริง ๆ (มากกว่าอีกเรื่องสั้นชุดหนึ่งของผู้เขียนอีกคนซึ่งกล่าวอ้างวิธีการนี้ แต่ทำได้ไม่ถึง) ซึ่งเป็นอีกวิธีการเล่าเรื่องหนึ่งที่น่าจับตามอง

หากเล่มนี้จะได้ซีไรต์ก็ถือว่าไม่น่าเกลียด เพราะมีความบริบูรณ์ทั้งเนื้อหา ภาษา ธีมเล่ม ชื่อชั้นคนเขียน อย่างน้อยที่สุดเวลาเขียนคำประกาศก็คงจะเขียนได้ง่ายและครบถ้วนกว่าเล่มอื่น ๆ

S.E.A. Write Rate 80%

----------------------------------------------

*อนึ่ง S.E.A. Write Rate เป็นการให้เรตว่าเล่มนี้มีเปอร์เซ็นต์น่าจะได้แค่ไหนจากการคาดเดาความคิดของกรรมการรอบสุดท้าย จากความสมบูรณ์ของเล่ม ความหนักแน่นของธีม ความเข้ากันระหว่างเนื้อหากับกลวิธีที่ใช้ ฯลฯ ไม่เกี่ยวกับความชอบส่วนตัวแต่อย่างใด เช่น นิมิตต์วิกาลอาจจะได้ซีไรต์เรตน้อยกว่ากระดูกของความลวง แต่กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว ผมก็ยังชอบนิมิตต์วิกาลมากกว่า เป็นต้น

ถ้าได้อ่านเพิ่มเติมก่อนประกาศผล อาจจะมาเขียนต่อ Vol.2 นะคร้าบ


วุฒินันท์ ชัยศรี
๓ สิงหาคม ๒๕๕๔

วันอังคารที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2554

บางบทบันทึกในมิตรภาพของเจ้าชายน้อย

"What must I do, to tame you?" asked the little prince.
"You must be very patient," replied the fox.
"First you will sit down at a little distance from me -like that- inthe grass.
I shall look at you out of the corner of my eye, and you will say nothing.
Words are the source of Misunderstandings.
But you will sit a little closer to me, everyday..."

The Little Prince
By Antoine de Saint-Exupery

"ฉันต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้เธอเชื่อง" เจ้าชายน้อยถาม
"เธอต้องใช้ความอดทนอย่างมาก" สุนัขจิ้งจอกตอบ
"แรกเริ่ม เธอต้องนั่งบนผืนหญ้าให้ห่างฉันเล็กน้อยโดยไม่ต้องพูดอะไร
คำพูดเป็นที่มาของความเข้าใจผิด
แล้วเธอก็ค่อย ๆ ขยับเข้ามานั่งใกล้ฉันทีละน้อย ทีละน้อย
ใกล้มากขึ้นเรื่อย ๆ ทุกวัน..."

เจ้าชายน้อย
ผู้เขียน อองตวน เดอ แซงแต็กซูเปรี
๒ สิงหาคม ๒๕๕๔