วันจันทร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ความสัมพันธ์ไม่ชัดเจน

๏ ความสัมพันธ์ไม่ชัดเจน...
เราเว้นช่องว่างความหวั่นไหว
ตั้งเป็นระยะห่างของหัวใจ
ที่จะถมเท่าไรก็ไม่พอ

๏ เคยขีดเส้นความเป็นเพื่อนเตือนหัวใจ
ข้อห้ามปรามไว้หลายร้อยข้อ
กาลเวลาผ่านไปไม่รั้งรอ
เราก็เผลอถักทอความสัมพันธ์

๏ ช่องว่างห่างไกลกลับชิดใกล้
ข้ามเส้นเพื่อนไปทั้งเธอฉัน
คิดจะหวนกลับไปก็ไม่ทัน
ทางจะเดินต่อจากนั้นก็ไม่มี

๏ แต่เราก็เผลอเดินไป...
บนทางที่หัวใจควรหลีกหนี
กว่าจะรู้ก็ถลำไปทั้งฤดี
เกินที่หัวใจห้ามไว้ทัน

๏ คือช่วงเวลาหนึ่ง...
เคยหวานซึ้งเต็มใจไหวหวั่น
สองมือทอรักถักสัมพันธ์
คืนวันหวานไหวดังใจปอง

๏ แต่เรารักกันไม่ได้...
ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจเราทั้งสอง
ว่ารักของเราผิดครรลอง
แม้ความรักจะเรียกร้องอยู่เต็มฤดี

๏ ข้อห้ามร้อยข้อเคยฝังกลบ
เส้นเพื่อนเคยเลือนลบเคยหลีกหนี
ต้องหวนกลับไปใช้อีกที
ในวันที่หัวใจไม่เหมือนเดิม

๏ รักนำพาเรามาไกลเกินจะกลับ
ความเป็นเพื่อนเลือนลับเกินจะเริ่ม
ยิ่งขว้างรักทิ้งไปใจยิ่งเติม
ยิ่งพูนเพิ่มความห่วงใยเมื่อไกลตา

๏ ใช้กำแพงความรู้สึกคอยกั้นกาง
แต่เหมือนยิ่งไกลห่างยิ่งโหยหา
ยิ่งห้ามรักรักยิ่งฝืนกลับคืนมา
ความเหว่ว้าในหัวใจไม่เคยจาง

๏ แต่เมื่อเรามาชิดใกล้
กลับถูกผลักไสให้ไกลห่าง
เหมือนมีม่านหมอกเบาบาง
กั้นขวางความรู้สึกของหัวใจ

๏ ความสัมพันธ์ไม่ชัดเจน...
เราเว้นช่องว่างความหวั่นไหว
ดีแล้ว-หากมันชัดเมื่อใด
ฉันกลัวเราต้องห่างไกล...ตลอดกาล ๚ะ๛


๒๗/๐๗/๒๕๕๓ วันที่ยังไม่หายคิดถึง... คนที่ไม่ควรรัก

โลกความจริงเราห่างกันเหลือเกิน

๏ อยากจะกอดเธอเอาไว้...
กลับมีกำแพงใสกั้นอยู่

ฉันรู้-และฉันเชื่อว่าเธอรู้
ไม่มีทางเคียงคู่-ไม่มีทาง


๏ แต่จะทำอย่างไร...
ยิ่งเราชิดใกล้ยิ่งไกลห่าง
แต่เมื่อความไกลมากั้นกาง
ระยะทางของหัวใจกลับใกล้กัน

๏ เราอาจพบกันช้าเกินไป
หัวใจจึงมีสิทธิ์แค่คิดฝัน

เหมือนอาทิตย์เผลอใจให้พระจันทร์
ไม่มีวันจะสมหวังดังใจปอง

๏ ทั้งที่รู้อย่างนั้น...
กลับเผลอผูกสัมพันธ์เราสอง 

ร้อยเรียงรักเป็นลำนำร่วมทำนอง
กว่ารู้ตัวใจก็ต้องเจ็บทั้งใจ

๏ ปมสัมพันธ์เกินเพื่อนเป็นเง
ื่อนตาย
จะคลายปมรักอย่างไรไหว

นอกเสียจากกลืนเก็บความเจ็บไว้
เอาน้ำตาเป็นกรรไกรใช้ตัดรั

๏ ภาพความทรงจำ...
กลับซ้ำหัวใจให้เจ็บหนัก
รอยยิ้มอายอายเมื่อทายทัก
ยังสลักในหัวใจไม่เคยจาง

๏ อยากจะกอดเธอเอาไว้...
เหมือนมีกำแพงใสกั้นขวาง
คว้าได้เพียงลมเบาบาง

โลกความจริงเราห่างกันเหลือเกิน... ๚ะ๛


๒๖/๐๗/๒๕๕๓ วันดี ๆ ที่หัวใจเผลอคิดถึง... คนที่ไม่ควรรัก

สิ่งเล็กเล็กที่เรียกว่ารัก: โศกนาฏกรรมและการก้าวผ่านวัยของ "เงือกน้อย"

หมายเหตุก่อนอ่าน
- ข้อเขียนนี้เปิดเผยเรื่องราวทั้งหมดของภาพยนตร์
- ข้อเขียนนี้เป็นบทวิจารณ์ภาพยนตร์ที่ยังไม่สมบูรณ์ เนื่องจาก
(๑) เขียนขึ้นจากความทรงจำที่ได้ชมเพียงหนึ่งรอบ อาจมีชื่อตัวละคร Quote คำพูด หรือเหตุการณ์คลาดเคลื่อนไปบ้าง
(๒) เหมาะสำหรับผู้ที่เคยดูมาก่อน เพราะในการอธิบายแต่ละฉาก จะพูดถึงอย่างกว้าง ๆ
(๓) ไม่มีตำราในการอ้างอิงและตรวจสอบความหมายของ Technical Term (แปลว่าอะไรดีเนี่ย ศัพท์ทางวิชาการ?) อยู่ใกล้ ๆ มือ จึงได้แต่อธิบายเท่าที่สมองก้อนน้อย ๆ นี้พอจะเข้าใจ
- ขอบคุณน้องเอ๋ย สำหรับประเด็นดี ๆ ที่ทำให้ข้อเขียนนี้สมบูรณ์ขึ้น
- ข้อเขียนนี้ไม่เหมาะสำหรับผู้ไม่ชอบอ่านอะไรยาว ๆ

..................................

เป็นเรื่องแปลกอย่างหนึ่งที่ว่า ภาพยนตร์ไทยดี ๆ หลาย ๆ เรื่องมักจะมีตัวอย่างหนัง (Trailer) สับขาหลอกว่าเป็นหนังอีกเรื่องหนึ่ง เท่าที่ผมนึกได้ในตอนนี้ก็มีเรื่อง รักแห่งสยาม (ที่ทำ Trailer เป็นหนังรักกุ๊กกิ๊กวัยใส) ความจำสั้น..แต่รักฉันยาว (ที่ทำ Trailer เป็นหนังรักของเป้กับญารินดา) และเรื่องสิ่งเล็กเล็กฯ นี้ อาจเป็นเพราะภาพยนตร์ไทย "อาย" ที่จะแสดงความดีเด่นของหนังออกมาทางตัวอย่างหนัง หรือเพราะกลัวว่าถ้าคนรู้ว่าหนัง "ดี" แล้วคนจะไม่ไปดู (?) ก็ไม่ทราบได้

สิ่งเล็กเล็กที่เรียกว่ารัก ก็เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ทำ Trailer เป็นหนังรักกุ๊กกิ๊ก ผสมอาการถวิลหา (Nostalgia) วัยมัธยมฯ ให้คนดูได้อมยิ้มกัน แต่เมื่อเข้าไปดูในโรง ในหนังกลับมีอะไรมากกว่านั้น

หนังใช้เวลาในช่วงแรกอย่างรวบรัด เล่าถึงความประทับใจต่าง ๆ ของน้ำที่มีต่อพี่โชน รุ่นพี่สุดหล่อ สุดเท่ สุภาพบุรุษสุด ๆ แม้บางฉากจะดูเหมือนจงใจใส่เข้ามาให้พี่โชนดู "หล่อ" มากไปหน่อย อย่างฉากซื้อเป๊ปซี่ให้ แต่ก็ไม่ถึงขนาดยัดเยียดแต่อย่างใด

บางคนที่คิดเยอะอาจมองว่า นี่มันรักกันเร็วไปหรือเปล่า? แต่ลองนึกกลับไปสมัยมัธยมเถิด ท่านจะพบว่า ในตอนนั้นเวลาเราเผลอหลงรัก หรือเผลอปลื้มใคร มันแป๊บเดียวจริง ๆ อาจเป็นเพราะภาวะทางอารมณ์ในช่วงนั้นนับว่าเป็นวัยที่อ่อนไหว ใช้ความรู้สึกนำเหตุผล จึงทำให้หลายคนเผลอหลงรักใครแบบที่ตัวเองอธิบายไม่ได้ แต่แท้จริงแล้ว ปมปัญหาในใจนั้นเป็นเรื่องที่พอจะอธิบายได้
.............................

ภูมิหลังและปมในใจของตัวละคร

หนังช่วงแรกบอกให้เรารู้จักภูมิหลังของตัวละครน้ำว่า เป็นเด็กขาดความอบอุ่นที่ควรได้รับจากพ่อ เธอจึงมองหาผู้ชายที่มีลักษณะคล้ายพ่อของเธอเพื่อมาเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไป นั่นคือพี่โชน

พี่โชนคล้ายพ่อของน้ำตรงไหน?

ข้อมูลที่เรารู้เกี่ยวกับพ่อของน้ำอาจมีแค่ว่า เขาไปทำงานเป็นผู้ช่วยกุ๊กที่อเมริกา แต่นั่นก็เพียงพอแล้ว เพราะทำให้เห็นว่า พ่อของน้ำเป็นผู้ชายที่มีความละเอียดอ่อนอย่างศิลปิน (Artistic) จึงทำงานศิลปะอย่างการทำอาหารได้ดี ผู้ชายที่น้ำสนใจจึงต้องมีความละเอียดอ่อนอย่างศิลปินเช่นกัน และพี่โชนก็มีความเป็นศิลปินอยู่ไม่น้อย นั่นคือชอบถ่ายรูป

แม้สัดส่วนของภูมิหลังโชนมีน้อยกว่าน้ำ แต่ภูมิหลังของเขาจำเป็นมากในการทำความเข้าใจตัวละครตัวนี้ เพราะดูจะเป็นเรื่องเหลือเชื่อที่คนหล่อลากไส้อย่างโชนจะมาแอบชอบเด็กหน้าปลวกอย่างน้ำได้ เราจะได้ทราบในหนังช่วงต่อมาว่า เขาเป็นเด็กชายที่เกิดมาพร้อมกับบาดแผลในอดีต (trauma) คือเกิดมาในวันที่พ่อของเขายิงลูกโทษไม่เข้า ทำให้ทีมจังหวัดไม่ได้แชมป์ประเทศไทย บาดแผลนี้ทำให้เขาไม่กล้าเล่นฟุตบอลอย่างจริง ๆ จัง ๆ และไม่กล้าเตะลูกโทษ แม้ว่าเขาจะเล่นฟุตบอลได้ดีเพียงใดก็ตาม

trauma ในใจของเขาเป็นบาดแผลที่ค่อนข้างลึกทีเดียว เห็นได้จากตอนที่เขาพูดกับน้ำอย่างขมขื่นว่า "มันเป็นเหมือนนามสกุลพี่ไปแล้ว.. ไอ้โชน พ่อยิงลูกโทษไม่เข้า" กระทั่งพ่อและแม่ของเขาก็ยังเป็นห่วงเรื่องปมในใจข้อนี้ของเขา หนังมาเน้นย้ำในฉากที่พ่อแอบมาดูโชนยิงลูกโทษครั้งแรกแต่ไม่เข้า พ่อของโชนแทบจะหนีกลับบ้านเลยทีเดียว

นั่นจึงเป็นคำอธิบายว่า ทำไมโชนถึงเป็นผู้ชายที่สุภาพบุรุษสุด ๆ มีนิสัยชอบ take care คนอื่น (อาจจะถึงขนาดไปทั่ว!) เพราะในวัยเด็กของเขาคงต้องเผชิญกับการไม่ยอมรับจากคนอื่นมาไม่น้อยจากบาดแผลข้อนี้ของเขา การเติบโตผ่านวัยเด็กของเขาจึงส่งผลมาถึงตอนเป็นวัยรุ่น ๓ ประการที่สำคัญกับการดำเนินเรื่องในหนังคือ

(๑) เขาเป็นผู้ชายที่ขาดความมั่นใจในตนเอง เพราะในตอนเด็กไม่ได้รับการยอมรับจากเพื่อน
(๒) เขาเป็นคนที่มีบาดแผลทางความรู้สึก จึงสนใจผู้หญิงที่ห่วงใยความรู้สึกของเขา
(๓) จากข้อ (๑) เขาจึงเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับเพื่อนสนิทในวัยเด็กมาก

ลักษณะข้อ (๑) และ (๒) ของโชน จึงเป็นคำอธิบายว่า ทำไมเขาถึงชอบน้ำตั้งแต่ตอนที่น้ำยังไม่สวย เพราะผู้หญิงคนอื่น ๆ มาทำดีหรือให้ของขวัญเขาเพราะรูปกายภายนอก หรือเพราะอยากครอบครองเขา แต่ไม่มีใครที่เข้ามาพร้อมกับก้าวลึกเข้าไปในความรู้สึกของเขาเหมือนน้ำ ในฉากที่น้ำซื้อยา (หรือปลาสเตอร์?) ให้โชน พร้อมกับพูดด้วยถ้อยคำที่ห่วงใยในความรู้สึก (โดยไม่รู้ตัว น้ำนับว่าเป็นคนที่เข้าใจผู้ชายแนว Artist ที่สุด จากการมีพ่อเป็นคน Artist จึงรู้ว่าคนเช่นนี้ต้องการการ take care ความรู้สึกมากกว่าอย่างอื่น) จึงทำให้โชนประทับใจในตัวน้ำนับแต่นั้น ภายหลังเมื่อน้ำแอบให้ช็อคโกแลต โชนจึงเก็บไว้ในตู้เย็นอย่างดี (เช่นเดียวกับที่น้ำเก็บเป๊ปซี่ของโชนไว้)

อีกประการหนึ่ง น้ำเป็นส่วนสำคัญในการช่วยให้โชนก้าวผ่าน trauma เรื่องยิงลูกโทษมาได้ นั่นคือฉากที่โชนตัดสินใจยิงลูกโทษด้วยตัวเองเป็นครั้งแรก อาจเป็นเพราะโชนรู้ว่าน้ำดูอยู่ด้วย อย่างไรก็ตาม ในหนังไม่ได้บอกว่าโชนจะยิงลูกนั้นเพื่อให้น้ำเห็นว่าเขาทำได้ (บางทีโชนอาจจะอยากก้าวข้าม trauma ด้วยตนเองก็เป็นได้) แต่ผมมองว่าตั้งแต่ที่ได้รู้จักน้ำ และเห็นการเปลี่ยนแปลงของน้ำ ทำให้โชนรู้ว่าคนเรานั้นเปลี่ยนแปลงกันได้จริง ๆ การเปลี่ยนแปลงตนเองของน้ำจึงทำให้โชนกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองบ้าง

อีกประการหนึ่ง การเปิดตัวของหนังที่พูดถึงภาพถ่ายแบบ Close-Up ของโชน โชนกล่าวว่า ชอบที่จะมองลึกลงไปให้เห็นอะไรดี ๆ ข้างใน นั่นแสดงว่าโชนเป็นคนที่ไม่ได้มองคนอื่นเพียงรูปกายภายนอก และโชนยังชอบอวัยวะ "ดวงตา" มากที่สุด นั่นก็คือ ดวงตาเป็นอวัยวะเดียวที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลง หรือปรุงแต่งเป็นอย่างอื่นได้ แม้น้ำจะสามารถขัดผิวให้ขาว จัดฟันให้เป็นระเบียบ แต่งผมให้สวย ฯลฯ จะมีก็แต่เพียงดวงตาเท่านั้นที่น้ำไม่สามารถแปรเปลี่ยนให้เป็นอื่นได้ (นอกซะจากใส่คอนแทคเลนส์เปลี่ยนสีตา เหอะ ๆ) ดวงตาจึงแสดงถึงอัตลักษณ์ที่แท้จริงของแต่ละคน การชอบดวงตาของโชนจึงเป็นสิ่งที่แสดงว่า โชนชอบน้ำที่เป็นน้ำจริง ๆ ไม่ว่ารูปกายภายนอกของน้ำจะเป็นเด็กหน้าปลวกหรือภายหลังเปลี่ยนแปลงมาเป็นเด็กสวยก็ตามที

และลักษณะข้อ (๓) จึงทำให้เกิดตัวละคร "ท้อป" เพื่อนสนิทในวัยเด็กของโชนที่สนิทกันอย่าง "เพื่อนตาย" เพราะท้อปคงจะเป็นเพื่อนคนเดียวในวัยเด็กของโชนที่ทำให้โชนผ่านวัยเด็กอันแสนขมขื่นมาได้ ความรักเพื่อนคนนี้ของโชนเห็นได้จากฉากต่าง ๆ เช่น เมื่อท้อปเข้ามา เขากลายเป็นคนป๊อปในโรงเรียนแทนโชน แต่โชนก็ไม่รู้สึกอิจฉาท้อปเลย หรือฉากยิงลูกโทษ ท้อปก็เป็นคนอาสาจะยิงลูกโทษแทนโชนเอง และเป็นคนแรกที่หยิบยื่นโอกาสให้โชนยิงใหม่อีกครั้ง นั่นแสดงว่าเขาเข้าใจบาดแผลของโชนมากเพียงใด

เหตุนี้โชนจึงไม่ยอมเสียเพื่อนสนิทที่สุดอย่างท้อปไป และทำให้เขาตัดสินใจเลือกเพื่อนมากกว่าเลือกสมหวังในความรัก คำขอที่ดูบ้าบออย่าง "กูขออย่างหนึ่ง มึงอย่าเป็นแฟนกับน้ำ" จึงเป็นคำขอที่โชนรับฟังได้ และโชนเลือกที่จะทำตามที่เพื่อนรักขอ
...................................

Little Mermaid ที่ชื่อน้ำ

หากจะมีเทพนิยายเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่อง หลายคนคงนึกถึง "สโนว์ไวท์" ละครเวทีที่ทำให้น้ำกับโชนได้มาใกล้ชิดกันอีกขั้น การที่มีเทพนิยายเรื่องสโนวไวท์เข้ามาในเรื่องนั้น นอกจากจะล้อเลียนเรื่องค่านิยม "ความขาว"ของคนไทย (เพราะแค่น้ำขาวขึ้นจากเครื่องสำอางค์ ก็สวยขึ้นเยอะ) ยังมีหน้าที่อีก ๒ ประการคือ

(๑) เป็นการชักนำ "เจ้าชาย" ให้มาจุมพิตสโนวไวท์ แบบ ม.ค.ป.ด. (หมาคาบไปแ_ก) นั่นคือ "ท้อป" ที่มาสนใจน้ำครั้งแรกเพราะได้ดูเธอเล่นเป็นสโนว์ไวท์ ท้อปจึงเปรียบเสมือนเจ้าชายที่จู่ ๆ มาจากไหนไม่รู้ แล้วก็มาจุมพิต คือขอน้ำเป็นแฟน แล้วก็ได้แต่งงานกัน คือได้คบกันชั่วระยะเวลาหนึ่ง ขณะที่โชน คนทำฉากที่คอยดูแลช่วยเหลือน้ำมาโดยตลอด เปรียบได้กับคนแคระ กลับไม่สามารถทำอะไรได้ ทำได้ดีที่สุดแค่ "เป็นตัวแสดงแทน" เพียงชั่วครู่ และยังไม่ได้จุมพิตเจ้าหญิงเลยด้วยซ้ำ

(๒) เป็นการส่งนัยล่วงหน้าว่าในเรื่องจะมีเรื่องราวของเทพนิยายอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง
เทพนิยายเรื่องดังกล่าวคือ  The Little Mermaid
-เทพนิยายเรื่องนี้เข้ามาเกี่ยวข้องตั้งแต่เมื่อไหร่? อย่างไร?

อันที่จริงเทพนิยายเรื่องนี้มี ๒ เวอร์ชั่น คือตัวเทพนิยายดั้งเดิมของ Hans Christian Andersen กับฉบับของดิสนีย์ที่ออกฉายในปี ๑๙๘๙ เมื่อเปรียบเทียบกับเนื้อหาในสิ่งเล็กเล็กฯ แล้ว จะคล้ายกับฉบับของดิสนีย์มากกว่า

เมื่อดูพล็อตเรื่องที่ว่า ผู้หญิงคนหนึ่งแอบชอบผู้ชาย และพยายามจะเปลี่ยนแปลงตนเองเพื่อให้เขาสนใจ พล็อตของทั้งสองเรื่องก็ดูใกล้เคียงกัน Ariel เจ้าหญิงเงือกน้อยตกหลุมรักเจ้าชาย และได้ช่วยเจ้าชายให้รอดจากการจมน้ำ คือน้ำเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเป็นกำลังใจให้โชนก้าวผ่าน Trauma ของตนเองดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น เจ้าชายโชนจดจำได้ว่าหญิงคนนั้นมีเสียงที่แสนไพเราะ นั่นคือแรงบันดาลใจที่เขาได้รับจากน้ำโดยไม่รู้ตัว แต่โชนจะไม่เคยได้ยินเสียงที่แสนไพเราะนี้จากปากของน้ำ

เสียงพูดของน้ำหายไปไหน?

Ariel ทำสัญญากับ Ursula แม่มดแห่งท้องทะเลไว้ว่า แม่มดจะเปลี่ยนเธอให้เป็นมนุษย์ (คือเปลี่ยนหางปลาให้เป็นขามนุษย์) แต่จะริบเสียงของเธอไปเสียเป็นการแลกเปลี่ยน น้ำจึงเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นคนที่สวยขึ้น เรียนเก่งขึ้น มั่นใจขึ้น แต่ก็ไม่สามารถบอกความรู้สึกที่แท้จริงได้เลย เปรียบเสมือน Ariel ที่ไม่สามารถร้องเพลงด้วยเสียงอันแสนไพเราะให้เจ้าชายฟังเพื่อยืนยันว่าเธอเป็นคนที่รักเจ้าชายและช่วยเจ้าชายไว้ในคืนนั้น

กุญแจที่บ่งบอกว่าเรื่องสิ่งเล็กเล็กฯ กับ The Little Mermaid มีความสัมพันธ์กันคือ "ปลาหมึก" !?

หากยังจำกันได้ ตอนที่ไปเที่ยวเขื่อน ฉากบนสะพานที่น้ำถือปลาหมึกขึ้นมาให้โชนกิน และโชนเล่า "เรื่องราวของปลาหมึก" นับเป็นครั้งแรกที่โชนกับน้ำได้พูดกันเรื่องความรักอย่างจริง ๆ จัง ๆ ขอให้สังเกตภาพในฉาก กล้องจงใจถ่ายภาพจากด้านบน น้ำถือปลาหมึกขึ้นมาบนสะพานแล้ววางลง ทั้งสองหันหน้าไปคนละทิศ นั่นคือการที่ทั้งสองอยู่คนละโลก น้ำอยู่ในโลกของเงือก และโชนอยู่ในโลกของมนุษย์ แต่สักพักโชนก็มานั่งลงข้างน้ำ (หันหน้าไปทางทิศเดียวกัน) โดยมีปลาหมึกคั่นกลาง นั่นคือทั้งสองมาอยู่ในโลกเดียวกันแล้ว

ถามว่าปลาหมึกเกี่ยวอะไรด้วย?

น่าคิดว่าทำไมต้องถือปลาหมึกขึ้นมา ทำไมไม่ถือน้ำหรืออะไรที่น่าจะกินง่ายกว่า ทั้งที่ในหนังไม่มีการบอกว่าโชนหรือน้ำชอบปลาหมึกเป็นพิเศษ ปลาหมึกในที่นี้จึงเป็นสัญลักษณ์ที่มีนัยกระหวัดไปถึงเทพนิยายเรื่องเงือกน้อย หากจะยังจำได้ Ursula แม่มดแห่งท้องทะเลมีรูปร่างเป็นปลาหมึก!

ฉากนี้จึงเป็นภาพซ้อนทับเทพนิยายเรื่องนี้อย่างแท้จริง แม่มดปลาหมึก Ursula ทำให้เงือกน้อยกลายเป็นมนุษย์และมาอยู่ในโลกเดียวกัน ได้พูดคุยกันเรื่องความรัก เจ้าชายโชนบอกถึงความปรารถนาในใจที่มีต่อหญิงผู้มีเสียงไพเราะคนนั้น คือการบอกซ้ำ ๆ ราวกับชักชวนน้ำว่า "จับมือกัน... จับมือกัน... จับมือกัน... จับมือกัน" (ในการเล่าเรื่องราวของปลาหมึก) แต่เงือกน้อยอย่างน้ำสูญเสียเสียงให้แม่มดปลาหมึก Ursula ไปแล้ว เธอจึงไม่มีเสียง หรือไม่สามารถพูดอะไรเพื่อตอบสนองความปรารถนาของเจ้าชายได้เลย

ในหนังยิ่งเน้นย้ำความเป็นเงือกน้อยของน้ำอีกครั้งในฉากที่น้ำสารภาพรักกับโชน แต่กลับพบว่าโชนตกลงเป็นแฟนกับพี่ปิ่น เพื่อนในกลุ่มโชน น้ำถึงกับช็อค และเผลอเดินตกสระน้ำ นั่นคือฉากในเทพนิยายที่ Ariel ได้เสียงของเธอกลับมาในวินาทีสุดท้ายและร้องเพลงด้วยเสียงอันแสนไพเราะ เจ้าชายโชนจึงเพิ่งจะรู้ว่าเงือกน้อยเป็นคนที่รักเขาอย่างแท้จริง แต่สายเกินไปเสียแล้ว เธอจึงต้องกลับเป็นเงือกน้อยดังเดิม จะเห็นว่าในวินาทีที่น้ำตกลงไปในสระน้ำ กล้องจงใจตัดภาพจากที่ถ่ายมุมบนมาเป็นภาพที่ถ่ายจากขอบสระ และจับภาพตัวน้ำที่โผล่พ้นสระน้ำเพียงครึ่งตัว เราจึงเห็นเพียงครึ่งตัวบนของน้ำเท่านั้น คล้ายกับเธอเป็นเงือกน้อยที่มีท่อนล่างเป็นปลา (อยู่ในน้ำ) เพื่อสื่อให้เห็นว่าสิ่งที่เธอทำมาทั้งหมด คือการพัฒนาตนเองมาจนเป็นเธอในวันนี้ หรือคือการเปลี่ยนแปลงจากเงือกน้อยสู่มนุษย์นั้นสูญเปล่า นั่นคือการกลับไปสู่ความเป็น Little Mermaid ของเธอ ซึ่งสอดคล้องกับเรื่องราวในเทพนิยายที่เจ้าชายมอบ "kiss of true love" ให้ Ariel ไม่ทัน และเธอต้องกลับกลายเป็นเงือกน้อยตามเดิม

นั่นคือโศกนาฏกรรมในเทพนิยายที่สอดคล้องกับโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในเรื่อง
..............................

โศกนาฏกรรม และการก้าวผ่านวัยของตัวละครเอกทั้งสอง

สองสิ่งที่ขับเน้นให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นมากกว่าภาพยนตร์รักวัยใสธรรมดาก็คือ การมีเรื่องราวของโศกนาฏกรรม (Tragedy) และการใช้ผลแห่งโศกนาฏกรรม เพื่อให้ตัวละครก้าวผ่านวัย (Coming of Age) ซึ่งสามารถทำได้อย่างงดงามและลงตัวมาก

โศกนาฏกรรมคือความเศร้าสลดในชะตากรรมของตัวละครเอก อันเกิดจากความผิดพลาดหรือข้อบกพร่อง (Tragic flaw) ของตัวละครนั้น ส่วน Coming of Age ไม่ทราบว่ามีคำแปลไทยว่าอย่างไร จึงขออนุญาตแปลว่า "การก้าวผ่านวัย" ไว้ก่อน คือการที่ตัวละครในวัยหนึ่งได้เรียนรู้จากเรื่องราวหรือจากประสบการณ์ในเรื่อง และได้เติบโตพัฒนาจิตใจจนก้าวข้ามวัยนั้นมาได้

โศกนาฏกรรมของโชนและน้ำคือ การที่ทั้งคู่ไม่สมหวังในความรัก อันเกิดมาจาก Tragic flaw ว่าทั้งคู่ไม่ยอมเปิดเผยความในใจออกมาตรง ๆ ทั้งที่ทั้งสองคนต่างก็แอบชอบกันมานาน

Tragic flaw แรกของน้ำที่ไม่ยอมเปิดเผยความรู้สึกออกมาตรง ๆ ทำให้น้ำก่อปม Tragic flaw ครั้งที่สองคือ พยายามเปลี่ยนแปลงตัวเองให้สวยขึ้น เหมือนเงือกน้อยที่เปลี่ยนตัวเองเป็นคน นั่นกลับชักนำให้ "เจ้าชายท้อป" จากเรื่องสโนว์ไวท์มาตกหลุมรัก

Tragic flaw แรกของโชนที่ไม่ยอมเปิดเผยความรู้สึกออกมาตรง ๆ ทำให้โชนก่อปม Tragic flaw ครั้งที่สองขึ้นมาเอง คือ ไม่ยอมขัดขวางเมื่อท้อปของเป็นแฟนกับน้ำ ยอมถอยให้เพื่อนสนิทที่สุดอย่างท้อปสารภาพรักกับน้ำ

ปม Tragic flaw ของทั้งคู่จึงบิดแน่นขึ้นจนยากจะคลาย น้ำเองก็กลัวพี่โชนจะเกลียดน้ำเพราะปฏิเสธเพื่อนพี่โชน พี่โชนก็กลัวเพื่อนจะเสียใจเพราะหลงรักผู้หญิงคนเดียวกัน ขณะเดียวกันจากการที่เป็นคนขาดมั่นใจในตนเอง จึงคิดว่าหากน้ำคบกับพี่ท้อปไปเรื่อย ๆ ก็อาจจะลืมตนเองได้ น้ำจึงกลายเป็นแฟนของเพื่อนสนิทที่สุดของพี่โชน ยิ่งนานไป ทั้งสองจึงยิ่งเป็นเหมือนเส้นขนาน อยู่ใกล้กันแต่ไม่มีวันบรรจบกัน

Tragic flaw สุดท้ายของทั้งคู่จึงเกิดขึ้นเมื่อน้ำตัดสินใจบอกรักพี่โชนในวันที่สายไป และพี่โชนก็ตอบรับเป็นแฟนพี่ปิ่นเมื่อไม่กี่วันผ่านมา จึงนำไปสู่ Climax ของโศกนาฏกรรมความรักที่ไม่สมหวังของตัวเอกทั้งสอง แล้วในที่สุด น้ำก็เกิดความเข้าใจชีวิต (Enlightenment) และก้าวผ่านวัยได้อย่างงดงามในตอนนั้น  เห็นได้จากฉากที่หนีออกมาจากสระน้ำ เธอพบพี่ปิ่น แทนที่เธอจะวิ่งหนีเหมือนที่วิ่งหนีพี่โชน เธอกลับสวมกอดพี่ปิ่นแล้วร้องไห้ นั่นคือเธอได้เรียนรู้และพัฒนาจิตใจจนก้าวข้ามความเป็นเด็กสาวสู่ความเป็นหญิงสาวในนาทีนั้นเอง

ฉากน้ำสารภาพรักพี่โชน ต้องขอชมว่าน้องที่เล่นเป็นน้องน้ำแสดงฉากนี้ได้ยอดเยี่ยมที่สุด เรียกว่า "ถึง" อารมณ์ความรู้สึกของเด็กสาวที่หลงรักผู้ชายคนหนึ่งมาตลอด สั่นสะเทือนความรู้สึกของผู้ชม กระทั่งผมยังต้องแอบเสียน้ำตาให้เธอ

ส่วน Enlightenment ของโชนเกิดทีหลังน้ำ เมื่อภาพตัดมาที่บ้านโชน แสดงข้าวของในบ้าน และภาพความหลังที่สื่อว่าโชนแอบชอบน้ำมานานแล้วตั้งแต่ยังไม่สวย ในที่สุดโชนจึงตัดสินใจนำอัลบั้มที่โชนถ่ายภาพน้ำเก็บไว้นำไปให้น้ำ โชนได้ก้าวผ่านปมในใจของตนเองที่ไม่ยอมเปิดเผยความรู้สึก ก้าวผ่านความเป็นผู้ชายปากแข็ง ผู้ชายขี้อาย และการเป็นผู้ชายที่ไม่มั่นใจในตนเอง โดยการบอกความรู้สึกให้น้ำรู้ผ่านอัลบั้มรูปนั้น ขณะเดียวกันเขาก็ได้เดินไปในทางสายชีวิตใหม่คือ ได้เป็นนักฟุตบอลเยาวชนของสโมสรบางกอกกล๊าส Coming of Age ของโชนในฉากนี้จึงมีทั้งทางจิตใจและทางสถานะเปลี่ยนผ่านวัยของชีวิต
.............................

ตัวละครคู่ขนานแบบไร้สาระ และตอนจบแบบ "ปาหมอน"

เขียนมาถึงบรรทัดนี้ ผมต้องขอปรบมือดัง ๆ ให้กับทีมเขียนบทเรื่องนี้ที่เขียนออกมาได้ดีจริง ๆ ทำให้หนังเรื่องนี้ไม่เป็นเพียงหนังรักดาด ๆ แต่มีเรื่องราวมากมายซ่อนอยู่ในนั้น หนังเรื่องนี้ "เกือบจะ" เป็นหนังที่ยอดเยี่ยมในสายตาของผมไปแล้ว หากไม่ติดอยู่ที่ (๑) การสร้างตัวละครคู่ขนานแบบไร้สาระ (๒) ตอนจบแบบ "ปาหมอน" ซึ่งผมเดาเอาเองว่า เป็นผลกระทบมาจากความคิดไม่ได้เรื่องของนายทุนทำหนัง

(๑) ตัวละครคู่ขนานแบบไร้สาระ ที่ผมกล่าวถึงคือ ศึกชิงครูพละ คู่ระหว่างครูคนสวย(เจี๊ยบ) กับครูสอนภาษาอังกฤษที่ไม่สวย(ตุ๊กกี้) เข้าใจว่าทีมเขียนบทน่าจะทำให้เป็นตัวละครคู่ขนาน คือเป็นคู่เปรียบเทียบของน้ำกับ "น้องมะม่วง" คนสวย (น้องเฟย์? รึเปล่าลืมชื่อ) ในการชิงหัวใจพี่โชน และเป็นตัวละครเปรียบเทียบระหว่างครูสอนภาษาอังกฤษกับตัวน้ำเอง การเปรียบเทียบแรกเห็นได้จากครูทั้งสองต่างก็มีเด็กของตัวเอง ครูเจี๊ยบก็ให้ท้ายเฟย์ ครูตุ๊กกี้ก็ให้ท้ายน้ำ ครูเจี๊ยบและเฟย์มีอาวุธเป็นความสวยและมารยา ครูตุ๊กกี้และน้ำมีจิตใจดีงาม ส่วนการเปรียบเทียบที่สองคือตัวครูและน้ำเอง ครูตุ๊กกี้ยอมคนรักจนสูญเสียความเป็นตัวเอง กระทั่งกลายเป็นตัวตลก ทั้ง ๆ ที่เป็นคนสอนคำว่า inspiration ให้น้ำ ส่วนน้ำได้ก้าวผ่าน Coming of Age ของตนเอง เรียนรู้คำว่า inspiration จากครูและให้พี่โชนเป็นสิ่งนั้น การเปลี่ยนแปลงของเธอจึงเป็นการพัฒนา (develope) ไม่ใช่ change จนสูญเสียตนเอง

แต่เมื่อครูภาษาอังกฤษรับบทโดยตุ๊กกี้ และใส่ความตลกจนเกินพอดี ตัวละครนี้จึงไม่สามารถนำมาเป็นคู่เปรียบเทียบอย่างที่บทหนังต้องการได้เลย เพราะมันหลุดไปจากการเปรียบเทียบกันอย่างมาก อย่าลืมว่าการเปรียบเทียบนั้นจะต้องมีลักษณะบางประการที่ใกล้เคียงกัน แต่เมื่อตุ๊กกี้เข้ามาขับเน้นความตลกให้เด่นมากกว่าการเปรียบเทียบ ตัวละครคู่ขนานนี้จึงเสมือน "ติ่ง" ของหนัง ที่ไม่ใช่ส่วนเกิน แต่ทำหน้าที่ของตนเองได้ไม่ดีพอ คาดว่าน่าจะเป็นความจงใจของนายทุนที่ต้องการจะใส่ความตลกเข้ามาเป็นตัวชูโรง โดยไม่ได้ดูความเหมาะสมหรือบริบทของหนังเลยแม้แต่น้อย

(๒) ตอนจบแบบ "ปาหมอน" หรือตอนจบแบบขว้างหมอน เป็นภาษาชาวการ์ตูนที่หมายความว่า จบได้แย่ จบดื้อ ๆ หรือจบแบบไม่ถูกใจจอร์จ มันน่าโมโหจนต้องปาหมอนให้หายแค้น อะไรทำนองนั้น อันที่จริงผมคิดว่า ตัดจบแค่ตอนที่น้ำร้องไห้ในห้อง ขณะที่โชนเอาสมุดบันทึกมาให้ นั่นก็เป็นการจบที่เยี่ยมยอดที่สุดแล้ว แต่หนังยังมีต่อมาถึงชีวิตในวัยผู้ใหญ่ของทั้งสอง น้ำได้เป็นดีไซน์เนอร์ชื่อดัง ส่วนโชนเป็นนักฟุตบอลที่ประสบความสำเร็จและผันตัวเองมาเป็นศิลปินช่างภาพ น้ำมาออกรายการโทรทัศน์ และโชนมาสารภาพรักน้ำกลางรายการ - Happy Ending ซะงั้น!!

การจบแบบนี้คือการทำลายประเด็นที่หนังสร้างมาทั้งหมด!!!

เพราะนั่นหมายความว่า โศกนาฏกรรมความรักของน้ำและโชนที่ผ่านมาทั้งหมดในเรื่องเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์ เพราะไม่สามารถทำให้ตัวเองก้าวผ่าน Coming of Age ของตนเองได้ ว่าง่าย ๆ คือทั้งสอง "ไม่เติบโต" หรือ "ไม่ได้เรียนรู้" อะไรบางอย่างจากประสบการณ์ครั้งนั้น แต่กลับยังฝังใจและยังรอให้ความรักเปลี่ยนจากโศกนาฏกรรมเป็นความสุข นั่นคือจิตใจไม่ได้รับการชำระล้าง (catharsis) จากโศกนาฏกรรม ทั้งสองจึงไม่ได้ก้าวผ่านเทพนิยายมาสู่ชีวิตจริง และก้าวผ่านวัยเพ้อฝันหวานซึ้งอย่างวัยรุ่น แต่กลับติดอยู่ในโลกของเทพนิยายทั้งที่เติบโตขึ้นจนเป็นผู้ใหญ่แล้ว

การจบแบบนี้คงไม่มีอะไรมากไปกว่าวิธีคิดในการทำหนังของนายทุน ครั้งหนึ่งผมเคยฟังคุณวิทิต คำสระแก้ว ผู้กำกับเรื่อง "กั๊กกะกาวน์" และ "เขาชนไก่" พูดถึงการเสนองานให้นายทุนฟังว่า นายทุนเขาจะคำนวณความคุ้มค่าด้วยหลักคิดง่าย ๆ เช่น เรื่องเขาชนไก่ เป็นหนังวัยมัธยม เขาก็จะคำนวณจากจำนวนเด็กมัธยมในขณะนั้น!? เนื่องจากเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่จะมาดู (ง่ายไปไหมนี่) นั่นคือ ถ้าหนังมีความเฉพาะด้านใด เขาก็จะคำนวณจากความเฉพาะด้านนั้น คงจะเช่นเดียวกับเรื่องสิ่งเล็กเล็กฯ นี้ ที่เป็นภาพยนตร์วัยมัธยม ดังนั้นกลุ่มเป้าหมายหลักน่าจะเป็นเด็กมัธยม

ดังนั้นจึงส่งผลต่อมาว่า หากจะให้จบแบบโศกนาฏกรรม คงไม่ถูกใจผู้ชมภาพยนตร์วัยเด็กเท่าไหร่ เพราะเด็กคงไม่คิดเยอะเหมือนผม (ฮา) จึงต้องปรับเปลี่ยนให้เป็น Happy Ending แบบฝัน ๆ ไปเสียในตอนท้าย ซึ่งก็น่าจะได้ผล เพราะพอออกมาจากโรง มีแต่คนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า "จบดีจัง" "จบซึ้งจัง" คงมีแต่ผมที่หดหู่อยากปาหมอนอยู่คนเดียว เหอะ ๆ (คงจะเหมือนตอนจบของ กวน มึน โฮ ที่ดูในวันเดียวกัน คนในโรงบ่นอุบว่า ทำไมจบแบบนี้ จบไม่ดีเลย แต่ผมกลับเห็นว่า จบดีชะมัด!)
..................................

บทส่งท้าย

หากไม่นับข้อเสียที่พูดมา ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็นับว่าเป็นภาพยนตร์ที่ยอดเยี่ยมเรื่องหนึ่ง ฉากหน้าเป็นภาพยนตร์รักวัยใส แต่ในเนื้อหากลับมีประเด็นให้ขบคิดมากมาย อันที่จริงผมยังหลงเหลืออีกหลายประเด็นที่ยังไม่ได้พูดถึง เช่น เรื่องเพื่อนมัธยม (เพื่อนสาวของน้ำ) เรื่องมุมมองต่างผ่าน Gender ที่ต่างกัน แต่แค่นี้ก็นับว่าเยอะ และเพียงพอในการกล่าวถึงความรู้สึกดีที่มีต่อหนังเรื่องนี้แล้ว

และทำให้เห็นว่าคนไทยนั้นมีศักยภาพและความคิดที่เจ๋งพอจะทำหนังไทยดี ๆ ได้อยู่จริง ๆ เพียงแต่หลายต่อหลายเรื่อง ความสมบูรณ์ของหนังได้ถูกทำลายไปด้วยวิธีคิดของนายทุนที่ดูถูกคนดู และคิดแต่จะขายสิ่งที่ขายง่าย ๆ เพียงอย่างเดียว

จึงได้แต่หวังลม ๆ แล้ง ๆ ว่าในอนาคตจะมีนายทุนหนังที่มีหัวคิดพอ และเห็นคุณค่าของหนังไทยว่าไม่ใช่เป็นเพียง "สินค้า" แต่คือ "งานศิลปะ"


วุฒินันท์ ชัยศรี
๒๖/๐๘/๒๐๑๐

วันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร (ในหมู่คนจัญไร)

๏ ไม่มีซึ่งมิตรแท้
และศัตรูผู้ถาวร
การเมืองเน่าเฟะฟอน
เพราะเหล่าหนอนมันบ่อนใน

๏ วันก่อนเคยก่นด่า
พอลับตาจูบกันได้
อภิปรายก็เห่าไป
ร่วมจิบไวน์หลังเลิกประชุม

๏ การเมืองคือคอกสัตว์
เอาเสือสิงห์มากองสุม
เอาแร้งแก่มากลุ้มรุม
ทึ้งศพไทยให้ย่อยยับ

๏ แบ่งเค้กดังใจหมาย
ถ่มน้ำลายก็เลียกลับ
จับมือแล้วอือรับ
กอดคอเกลอใช่คนไกล

๏ งาช้างฤาหดคืน
คำคนฝืนคำจริงได้
มีแต่คำจัญไร
ของเล่ห์ลิ้นเหล่าทรชน

๏ สันดานลิ้นสองแฉก
คอยจะแด- ซากศพคน
หวังเพียงประโยชน์ตน
กลับคำได้ไม่อายใคร

๏ เดินเบี้ยก็เสียเบี้ย
เหยียบหัวเบี้ยมาเป็นใหญ่
สมสู่เสร็จสมใจ
ก็จับมือมุ่งปรองดอง

๏ ตั้งไว้กี่ข้อหา
ถึงเวลาก็ถอนฟ้อง
รับคำตามทำนอง
เข้าใจผิด-ขออภัย

๏ ฝนตกเสียงซู่ซู่
แล้วขี้หมูก็เริ่มไหล
ปรองดองสบายใจ
เพราะจัญไรพอพอกัน! ๚ะ๛


แด่... การถอนฟ้องคดีพิพาทของแกนนำสองสี

ว่าด้วยเรื่องราวของลูกเขยครูขี่คร่าน อาแปะขายกาแฟ และความรู้ในมิติที่แตกต่าง

พื้นที่ว่างบนรถเมล์มีไม่มากนัก จึงดูเหมือนว่าเขาและเธอเหล่านั้นกำลังนั่งล้อมวงแนบชิดและแลกเปลี่ยนเรื่องราวต่าง ๆ โดยมีเบาะเล็ก ๆ เป็นฉากกั้นความเป็นส่วนตัว แต่เบาะไม่ใช่กำแพง มันจึงเก็บเสียงสนทนาที่ค่อนข้างดังไม่ได้ และนี่คือบทสนทนาของหญิงวัยกลางคนที่นั่งข้างหน้าข้าพเจ้า

"ครูน่ะเป็นอาชีพที่เอาเปรียบคนมากที่สุดแล้ว"
"ใช่ ๆ"
"วัน ๆ ไม่เห็นทำอะไรเลย มานั่งเต๊ะหน้าห้อง แล้วก็พูด ๆ ให้หมดชั่วโมงไปวัน ๆ เด็กอ่านหนังสือไม่รู้เรื่องก็ไม่เอาเป็นธุระ ปล่อยผ่านไปจนโต"
"ใช่ ๆ" ข้าพเจ้าคาดว่าคู่สนทนาคนนี้เป็นลูกขุนพลอยพยัก
"พวกข้าราชการ ทำงานกินเงินเดือนหลวง ภาษีของเราทั้งนั้น ไม่เหมือนพวกทำมาค้าขายอย่างเรา ทนหากินเช้าค่ำ ปากกัดตีนถีบ ลำบากแทบตายกว่าจะได้เงินมาแต่ละบาท"
"ใช่ ๆ" อีกคนคงเป็นลูกขุนพลอยพยักจริง ๆ

ยังไม่ทันที่ความคิดของข้าพเจ้าจะเอ่ยถามว่า มิใช่เพราะครูหรือเธอจึงสามารถคิดเลขได้ถูกต้อง ก็เป็นเสียงของเธอมากลบเสียงในใจเสียก่อน
"ฉันน่ะ แค่พ่อสอนให้คิดเลขเป็น ฉันก็ขายของเป็นแล้ว... เขาน่าจะเลิกจ้างครูไปได้แล้ว เรียนไปก็เท่านั้นแหละ ไม่เห็นเกี่ยวกับไอ้ที่จะมาทำมาหากินเลย"

.........................

คลับคล้ายคลับคลาว่าข้าพเจ้าเคยได้ยินวาทกรรมเหล่านี้มาจากที่ไหนสักแห่ง นึกไปนึกมาจึงถึงบางอ้อ... เป็นคำบ่นกระปอดกระแปดของแม่ยายของญาติข้าพเจ้า
"บ่อยากได้ดอก ลูกเขยครูน่ะมันขี่คร่าน"
(ไม่อยากได้หรอก ลูกเขยครูน่ะเป็นคนเกียจคร้าน)

สมการ ข้าราชการ = คนเกียจคร้าน เป็นตรรกะปกติของพ่อค้าแม่ขาย หรือคนหาเช้ากินค่ำที่ข้าพเจ้ารู้จัก
(ย้ำว่า "ที่ข้าพเจ้ารู้จัก" เพราะข้าพเจ้ามีคนรู้จักที่ประกอบอาชีพนี้ไม่มากนัก)
เมื่อ ข้าราชการ = ครู จึงพลอยทำให้เกิดสมการ ครู = คนเกียจคร้าน ตามไปด้วย

ข้าพเจ้าคงจะไม่พูดถึงความล้มเหลวของระบบการศึกษาพื้นฐาน ที่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการเฉพาะทางของบางพื้นที่หรือนักเรียนบางคนได้ เช่น ไม่มีหลักสูตรวิชาชีพเฉพาะทาง เช่น ปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์ ที่ไม่ใช่แค่หลักสูตรกิ๊กก๊อกในวิชา กพอ. (ไม่รู้ว่าปัจจุบันเปลี่ยนชื่อหรือยัง)
แต่เป็นการสอนระดับการรู้จักคัดเลือกพันธุ์ข้าว การวางแผนทำชลประทานให้มีน้ำเพียงพอ หรือการบริหารจัดการฟาร์มสัตว์ ซึ่งมีสอนเฉพาะในมหาวิทยาลัยบางแห่งเท่านั้น กว่าจะเข้าไปถึงระดับนั้นก็ต้องใช้เงินทองมากมาย
หรือหลักสูตรพ่อค้าแม่ค้า ซึ่งบางคนอาจบอกว่าไม่ต้องสอนเพราะมันอยู่ในสายเลือดอยู่แล้ว แต่การได้เรียนก็น่าจะทำให้ "ลัดเวลา" ได้มากขึ้น

แต่แน่ล่ะ เราไม่มีหลักสูตรเหล่านั้น เรามีแต่หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานพิมพ์เดียวกัน คือหลักสูตรการศึกษาแบบชนชั้นกลางป้อนตลาดทุนนิยม
เป็นหลักสูตรที่ทำให้นักเรียนหุงข้าวไม่เป็น ทำกับข้าวไม่เป็น ทำงานบ้านไม่เป็น นอนตื่นสาย ฉลาดแกมโกง และแบมือขอเงินพ่อแม่จนโต
แต่ข้าพเจ้าก็ยังจะไม่พูดถึงเรื่องนี้ แม้มันจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดตรรกะ ครู = คนที่ไม่มีประโยชน์ ในความคิดของบางคน

ข้าพเจ้าคงจะไม่แก้ตัว หรือไม่พูดถึงคุณค่า ความสำคัญ และความจำเป็นที่ต้องมีอาชีพ "ครู" อยู่ในโลก แม้ข้าพเจ้าจะทราบดี เพราะตระกูลของข้าพเจ้าเป็นครูกันแทบทั้งตระกูล

หรืออันที่จริง แม้ข้าพเจ้าจะพูดถึงเรื่องที่ข้าพเจ้ายกมาข้างต้นทั้งหมด ก็อาจไม่สามารถถมช่องว่างทางความคิดระหว่างข้าพเจ้ากับหญิงวัยกลางคนที่อยู่ตรงหน้าได้

.........................

ข้าพเจ้าเคยคุยกับอาแปะร้านกาแฟคนหนึ่งแถว ๆ ตลาดในหมู่บ้าน กาแฟของแกขายดีมาก แต่ก่อนแกได้กำไรวันละกว่า 3,000 บาท!! 3,000X30 = 90,000 บาท นี่มันเงินเดือนระดับผู้บริหาร CEO เลยนะเนี่ย
"เดี๋ยวนี้ขายไม่ดีเลยอาตี๋"
"ได้วันละเท่าไหร่ครับ"
"วันละสองพันกว่า ๆ เอง"
2,000X30 = 60,000+- บาท ก็ยังเยอะอยู่ดีนะอาแปะ (ฟังแล้วอยากลาออกจากที่เรียนมาช่วยแปะขายกาแฟ)

เมื่ออาแปะทราบว่าข้าพเจ้าเพิ่งเรียนจบปริญญาตรีใบที่สอง และกำลังเรียนต่อปริญญาโท แกแสดงอาการแปลกใจเป็นอย่างยิ่ง
"ลื้อจะเรียนไปทำไมตั้งสองสามใบ จะเอาไปทำอะไรนักหนา"
ครั้นจะตอบว่า "เรียนเพราะอยากรู้" ก็ดูจะกวนอวัยวะใช้เดินไปหน่อย แม้มันจะเป็นเหตุผลจริง ๆ ก็ตามที
ข้าพเจ้าได้แต่ยิ้ม คิดหาคำตอบที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดในตรรกะที่อาแปะจะเข้าใจ
"ยังไม่อยากทำงาน อยากมีข้ออ้างเที่ยวเล่นในกรุงเทพฯ" (แต่จริง ๆ นี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งเหมือนกัน แหะ ๆ)

อาแปะจบ ป.4 พูดไทยได้แต่อ่านหนังสือไทยไม่ได้ ตั้งร้านขายกาแฟแต่ยังหนุ่ม ส่งออกลูก ๆ ไปตั้งร้านขายกาแฟตามอำเภอต่าง ๆ อาแปะอาจลืมความรู้ตอน ป.4 ที่เคยเรียนมาทั้งหมดแล้ว เพราะมันไม่จำเป็นอะไรเลยกับชีวิต สิ่งที่อาแปะอยากรู้ก็คือ สูตรผสมกาแฟให้อร่อย ขายดี นอกเหนือจากนั้นคือสิ่งที่ไร้สาระ รู้ไปก็เท่านั้น
เพราะ "ความรู้" ของเราทั้งสองคน มีรูปแบบ ขนาด ลักษณะ มิติ และคุณค่าแตกต่างกัน
ตรรกะที่บอกว่า "เรียนเพราะอยากรู้" หรือคำว่าปรัชญาที่มาจาก Philos + Sophia "ความรักในความรู้" (ซึ่งบังเอิญสอดคล้องกับคำแปลของชื่อผมอย่างประหลาด วุฒิ(ความรู้) + นันท์(ยินดี) = ผู้ยินดีในความรู้) จึงมิใช่ตรรกะที่อาแปะจะเข้าใจได้

.........................

เช่นเดียวกัน ข้าพเจ้าไม่มีคำอธิบายใด ๆ ไปอธิบายให้หญิงวัยกลางคนที่นั่งข้างหน้าข้าพเจ้าเข้าใจได้ว่า เหตุใดโลกนี้จึงต้องมีครู
เพราะตรรกะของเราเป็นตรรกะคนละชุด


วุฒินันท์ ชัยศรี
๒๔/๐๘/๒๐๑๐

วันอาทิตย์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

TOP 10 of my favourite Thai Short Story

หลังจากว่างเว้นการเขียนเรื่องสั้นไปเป็นปีเพราะมัวไปหมกมุ่นอยู่กับอย่างอื่น วันนี้จู่ ๆ ก็เกิดอารมณ์อยากหวนกลับมา "เล่น" กับมันอีกครั้ง เลยหยิบรวมเรื่องสั้นหลาย ๆ เล่มมาอ่านพลาง ๆ เผื่อมีความคิดใหม่ ๆ แวบเข้ามาให้เขียนบ้าง เลยนึกครึ้มอกครึ้มใจอยากลองจัดอันดับรวมเรื่องสั้นไทยที่ดีที่สุดตลอดกาลในดวงใจ 10 เล่มขึ้นมา เรียงตามลำดับความชื่นชอบ (ตอนแรกจะจัดอันดับ 10 เล่มในดวงใจไม่ว่าจะเป็น บทกวี เรื่องสั้น นวนิยาย ของไทย-เทศ แต่ว่าตัดใจให้เหลือ 10 เล่มไม่ได้จริง ๆ ขนาดจัดอันดับเฉพาะเรื่องสั้นไทยรอบนี้ ยังอยากจะขยายเป็น 20 เล่มเลย 55) ตรงกับใจท่านหรือไม่ หรืออ่านการจัดอันดับแล้วอยากไปหามาลองอ่านก็ลองมาดูกัน

1. รวมเรื่องสั้นของ อ.อุดากร
ใครจะมองว่าเป็นเรื่องสั้นโรแมนติกประโลมโลกย์ ใครจะมองว่าเป็นเรื่องสั้นตกยุค หรือใครจะมองอย่างไรก็ตาม แต่สำหรับผมแล้ว นี่คือ Best of the Best ของเรื่องสั้นไทย
เรื่องสั้นของ อ.อุดากรหลายเรื่องเป็นเรื่องสั้นในยุคแรกเริ่มที่ดูเหมือนจะตกยุคไปแล้ว เช่น เรื่องรักโรแมนติกอย่าง สยุมพรเหนือหลุมฝังศพ เรื่องตื่นเต้นเร้าใจ มุ่งสั่งสอนศีลธรรมอย่าง ตึกกรอสส์ สัญชาตญาณมืด แม้แต่เรื่องสั้นเสนอแนวคิดทางการเมืองที่ออกจะเชย ๆ อย่าง บนผืนดินไทย คาร์ล มาร์กซ์, กลิ่นดินปืน และนันทิยา แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าคุณค่าของเรื่องสั้นเหล่านี้จะตกหล่นไปตามยุคสมัย ความงามของเรื่องสั้นของ อ.อุดากรไม่ได้หยุดอยู่ที่ภาษาอันสละสลวยละเมียดละไม ไม่ได้หยุดอยู่ที่โครงเรื่องซับซ้อนและการหักมุมจบอย่างชาญฉลาด แต่อยู่ที่จิตวิญญาณแห่งการรังสรรค์เรื่องสั้นที่แสดงออกมาอย่างเหลือล้นในแต่ละเรื่อง นั่นทำให้งานของเขาเป็นอมตะมาจนถึงทุกวันนี้

2. รวมเรื่องสั้นของมนัส จรรยงค์
หากจะเปรียบรวมเรื่องสั้นของ อ.อุดากรเป็นมวยกรุง รวมเรื่องสั้นของมนัส จรรยงค์ก็เป็น "มวยลูกทุ่ง" ที่มีจังหวะจะโคนการเตะต่อยอันเป็นเอกลักษณ์ ทั้งภาษาแบบตรงไปตรงมาตามแบบตัวละครลูกทุ่ง หรือหากจะไพเราะขึ้นจากการปรุงแต่งของผู้เขียนก็ไม่ได้ไพเราะเสียจนเกินจริตความงามแบบท้องทุ่ง ใครเล่าจะลืม "จับตาย" "ซาเก๊าะ" "ท่อนแขนนางรำ" ฯลฯ เรื่องสั้นที่ตกผลึกมาจากการบ่มเพาะประสบการณ์มาทั้งชีวิต ทำให้ตัวละคร เหตุการณ์ ตลอดจนองค์ประกอบทุกอย่างในเรื่องดูราวกับมีชีวิตมีเลือดเนื้ออยู่ในหน้ากระดาษ
แต่ที่ติดใจผมที่สุดเห็นจะเป็นเรื่องสั้นชุด "เฒ่า" ที่มีตัวละครเอกลักษณ์คือ "เฒ่า" ต่าง ๆ ที่อาจินต์ ปัญจพรรค์ให้คำจำกัดความไว้ว่าเป็น "สุภาพบุรุษท้องนาผู้เสพย์สุราต่างโอสถ" คอยมาเรียกเสียงหัวเราะ แสดงเล่ห์เหลี่ยมกลโกง ตลอดจนความมีน้ำใจแบบ "นักเลงลูกทุ่ง" จนเป็นตัวละครและเรื่องราวที่ตราตรึงใจผู้อ่านมาจนทุกวันนี้
อาจกล่าวได้ว่าไม่มีใครอีกแล้วที่จะเขียนเรื่องสั้นลูกทุ่งได้ดีเท่ามนัส จรรยงค์

3. ฟ้าบ่กั้น / ลาว คำหอม
นี่คือรวมเรื่องสั้นที่สะท้อนชีวิตคนอีสานได้ดีที่สุด ตรงที่สุด และเจ็บปวดที่สุด แต่ในความเจ็บปวดนั้นก็มีเสียงหัวเราะแบบขื่น ๆ และมีความหวังส่องประกายวิบวับอยู่ลึก ๆ ตามประสาคนอีสานผู้ไม่ย่อท้อต่อโชคชะตา ลาว คำหอมกล่าวทีเล่นทีจริงว่า เรื่องสั้นชุดนี้เป็นแค่ "วรรณกรรมฤดูกาล" แต่ฤดูกาลแห่งความ "โง่ จน เจ็บ" ของชาวอีสานนั้นยาวนานเหลือเกิน เขาพูดถูก เพราะจนถึงทุกวันนี้ เรื่องราวใน "ฟ้าบ่กั้น" หลายเรื่องก็ยังมีอยู่ตำตาในแผ่นดินอีสาน
ความดีอื่น ๆ ของหนังสือเล่มนี้คงไม่ต้องพูดมาก เพราะแค่เล่มนี้เล่มเดียวก็ทำให้ชื่อของลาว คำหอม ขึ้นหิ้งเป็นนักเขียนเรื่องสั้นยอดเยี่ยมตลอดกาลแล้ว

4. แผ่นดินอื่น / กนกพงศ์ สงสมพันธุ์
กว่าที่ "แผ่นดินแม่" จะกลายไปเป็น "แผ่นดินอื่น" นั้น มีปัญหามากมายและสลับซับซ้อนพัวพันกันจนยุ่งเหยิง จับต้นชนปลายไม่ถูก แทบไม่น่าเชื่อว่ากนกพงศ์จะสามารถเขียนเรื่องราวและกระบวนการการเปลี่ยนแปลงที่สลับซับซ้อนเหล่านั้นออกมาในรูปแบบที่ดูจะมีข้อจำกัดมากมายอย่างเรื่องสั้นได้อย่างสมบูรณ์แบบและลงตัวที่สุด นี่คือรวมเรื่องสั้นที่ยอดเยี่ยมที่สุดในบรรดาเรื่องสั้นยุคใหม่ของไทย และสมศักดิ์ศรีรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนมากที่สุดนับแต่ได้มีการจัดประกวดกันขึ้นมา
ดูเหมือนว่าชุดความคิดใน "แผ่นดินอื่น" เป็นความคิดที่ตกผลึกมาแล้วจากผลงานก่อนหน้าอย่าง "สะพานขาด" และ "คนใบเลี้ยงเดี่ยว" ความคิดในแต่ละเรื่องนั้นสลับซับซ้อนและยั่วให้ผู้อ่านตีความได้หลากหลายนัย พอ ๆ กับกลวิธีที่เขาเลือกใช้ และความซับซ้อนของปัญหาในภาคใต้ที่ยังไม่มีใครสามารถแก้ไขได้
จนถึงตอนนี้ มีงานวิจารณ์หรืองานวิจัยที่วิเคราะห์วิจารณ์รวมเรื่องสั้นชุดนี้อยู่ไม่มากนัก อาจเป็นเพราะงานของเขาดูจะ "เกิดก่อนกาล" ทำให้การวิจารณ์อย่างถึงแก่นทำได้ยากพอสมควร

5. เดอะกร๊วกฟาเธอร์ แห่งหมู่บ้านซวยซ้ำซาก / ธราธิป
เมื่อเทียบกับชื่อชั้นของเล่มอื่น ๆ และนักเขียนท่านอื่น ๆ แล้ว เล่มนี้ดูเหมือนจะ "พลิกโผ" หลุดเข้ามาแบบฟลุกสุด ๆ หลุดไม่หลุดเปล่ายังเข้ามาเป็น TOP 5 ในดวงใจได้อีกต่างหาก นี่มันรวมเรื่องสั้นอะไร มีดีอะไรกันนี่! เมื่อดูในแง่เนื้อหาแล้ว มันก็เป็นเรื่องสั้นตลก ๆ ธรรมดา กล่าวถึงหมู่บ้านเล็ก ๆ หมู่บ้านหนึ่งที่มีเรื่องฮาไม่เว้นแต่ละวัน แต่ไม่รู้ทำไม เรื่องสั้นชุดนี้ถูกรสนิยมผมเอามาก ๆ อ่านแล้วหัวเราะท้องคัดท้องแข็งตลอดเวลา อาจจะกล่าวได้ว่าเรื่องสั้นชุดนี้เข้ามาเพราะ "รสนิยม" หรือ "ความถูกจริต" ของผู้จัดอันดับล้วน ๆ ไม่เพียงแต่เล่มนี้เท่านั้น เล่มอื่น ๆ ของธราธิปก็เป็นเล่มที่ผมไม่เคยพลาด
เอาเป็นว่า นับแต่ ป.อินทรปาลิตได้สร้างหัสนิยาย "สามเกลอ" ขึ้นมาบนบรรณพิภพเพื่อสร้างเสียงหัวเราะให้คนอ่านแบบน้ำหูน้ำตาไหลแล้ว คนที่พอจะเลียบ ๆ เคียง ๆ ท่านได้ ผมเห็นว่ามีแต่ธราธิปและรวมเรื่องสั้นแบบ "หัสเรื่องสั้น" ชุดนี้

6. เสเพลบอยชาวไร่, ผู้มียี่เกในหัวใจ / 'รงค์ วงษ์สวรรค์
อย่าไปเชื่อว่าหนังสือเล่มนี้ดีเพราะเป็นหนังสือหนึ่งใน 100 เล่ม จากการจัดอันดับของใครก็ไม่รู้ แต่ต้องลองอ่านด้วยตัวเองแล้วจะรู้ว่า นี่แหละ "ตัวจริง" แห่งวงการวรรณกรรมไทย อาจจะมีคนจัดรวมเรื่องสั้นชุดนี้ในหมวดนวนิยาย (ซึ่งอันที่จริงมันก็จัดได้แหละ) แต่ผมอยากจะจัดมันอยู่ในหมวดเรื่องสั้นที่มีตัวละครร้อยเรียงกันมากกว่า ชื่อชั้นของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ อาจการันตีได้ระดับหนึ่ง แต่เนื้อหาในเล่มมีดีกว่าที่การันตีไว้เยอะ แม้จะกล่าวถึงเรื่องราวชาวบ้านทุ่งธรรมด๊าธรรมดา แต่ระดับ 'รงค์ แล้ว ฝีมือการประพันธ์ของท่านทำให้เรื่องธรรมดากลับกลายมาเป็นเรื่องสั้นระดับ "ขึ้นหิ้ง" ได้ไม่ยาก และที่สำคัญ ฮาน้ำตาเล็ด ขอบอก

7. หนังสือเล่มสอง / เดือนวาด พิมวนา
อย่าแปลกใจว่าอ่านเรื่องสั้นของเดือนวาดอยู่ดี ๆ จะรู้สึกเหมือนถูกจับแก้ผ้า เพราะนั่นคือความถนัดของเดือนวาด -คว้านลึก ชำแหละ เปิดเปลือยจิตใจของมนุษย์จนหมดเปลือก ทดสอบจิตใจของมนุษย์ด้วยสถานการณ์ต่าง ๆ นานา เมื่อมองจากวงนอกอาจจะเห็นว่าตัวละครในเรื่องทำสิ่งที่ดูไม่ฉลาดเอาเสียเลย แต่เมื่อลองคิดว่าถ้าตนเองเป็นตัวละครนั้นเราจะทำอย่างไร ยิ่งอ่านยิ่งล้วงลึกเข้าไปในจิตใจตนเองจนรู้ว่า แท้จริงแล้วจิตใจของมนุษย์นั้นอ่อนแอและเปราะบางยิ่งกว่าเครื่องปั้นดินเผาผุ ๆ เสียอีก
นี่คือความยอดเยี่ยมของเรื่องสั้นชุดนี้ และความยอดเยี่ยมของเดือนวาด พิมวนา

8. สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน / วินทร์ เลียววาริณ
วินทร์ เลียววาริณ นักเขียนดับเบิลซีไรต์ มีงานเขียนมากมาย ทำไมต้องเป็นเล่มนี้? สำหรับผมแล้ว วินทร์เป็นมือเรื่องสั้นระดับต้น ๆ ของประเทศ และรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ถือว่าเป็น "จุดสูงสุด" ที่รวมทุกอย่างในความเป็น "วินทร์" ไว้ทั้งหมด ทั้งแนวคิดในการเขียน เนื้อหา กลวิธีสร้างสรรค์เรื่อง โดยเฉพาะกลวิธีที่ใช้ในแต่ละเรื่องนั้นไม่มีเรื่องไหนที่สูญเปล่าเลย ราวกับเขาได้ตกผลึกการใช้กลวิธีในการสร้างสรรค์เรื่องมาจาก "อาเพศกำสรวล" แล้ว
คำกล่าวของคณะกรรมการซีไรต์ท่านหนึ่งที่กล่าวถึงรวมเรื่องสั้นชุดนี้ว่า "วินทร์ทำให้นิยามของคำว่าวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมเป็นจริงขึ้นมาได้" นั้น ผมเห็นว่าไม่เกินจริงเลย

9. คนบนต้นไม้ / นิคม รายยวา
พูดถึงนิคม รายยวา ใคร ๆ ก็นึกถึง "ตลิ่งสูง ซุงหนัก" นวนิยายรางวัลซีไรต์ของเขา ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นนวนิยายที่มีสัญลักษณ์ต่าง ๆ ให้ใคร่ครวญขบคิดมากมาย แต่สำหรับผมแล้ว รวมเรื่องสั้นชุดนี้กลับเป็นงานเชิงสัญลักษณ์ที่ยอดเยี่ยมมากกว่า สำรวมคำ สำรวมความ ป้อนสัญลักษณ์ไม่มาก แต่ท้าทายให้ตีความไม่รู้จบ อาจมีข้อบกพร่องอยู่บ้างตามประสางานชิ้นแรก ๆ ของผู้เขียน แต่โดยรวมแล้วผมถือว่า นี่คือวรรณกรรมแนวสัญลักษณ์ที่ดีที่สุดเท่าที่มีมาในประเทศไทย

10. วรรณกรรมตกสระ (ชื่อก่อนได้รับการตีพิมพ์: งามมีที่รัก) / ภาณุ ตรัยเวช
นี่คืองานที่ยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่รางวัล Young Thai Artist Award ได้มีการจัดประกวดขึ้นมา และถือเป็นงานที่ยอดเยี่ยมที่สุดเมื่อเทียบกับงานของบรรดานักเขียนในรุ่นราวคราวเดียวกัน หรือต่อให้เทียบกับงานของนักเขียนรุ่นใหญ่หลายคนก็ตามที เสียดายก็แค่ว่าไม่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมในปีนั้น ทั้งที่ระดับของงานนั้นเกินคำว่ายอดเยี่ยมไปหลายขุม แต่อย่างน้อยมันก็ได้พิสูจน์ระดับของงานอีกครั้งในภายหลังเมื่องานชิ้นนี้ดีพอจะเป็น 1 ใน 7 เล่มสุดท้ายของซีไรต์ และเป็นเล่มที่ "ดีพอจะได้ซีไรต์" ในทัศนะของผมอีกด้วย
รวมเรื่องสั้นชุดนี้กล่าวถึงความงาม ความรัก และความสัมพันธ์ของมนุษย์หลากแง่หลายมุม แม้หลายเรื่องจะจบลงด้วยความเศร้า แต่เมื่ออ่านจบกลับพบความงามของความรักที่แอบซ่อนอยู่ในหัวใจของมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม และที่ผมวงเล็บชื่อเดิมนั้นไว้ก็เพราะผมชอบชื่อเดิมมากกว่า ด้วยเหตุผลว่าชื่อ "งามมีที่รัก" เป็นชื่อที่สอดคล้องกับเนื้อหาของรวมเรื่องสั้นชุดนี้ทั้งหมดมากกว่าชื่อปัจจุบันนั่นเอง

วันศุกร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

การเมืองเรื่องของไข่

๏ การเมืองเรื่องของไข่
ใครเข้าใจไข่คนจน
ไข่แพงแม่- ต้องทน
คนขายไข่ใช่ร่ำรวย

๏ กว่าไข่จะเป็นไก่
ลุ้นสุดใจเหมือนซื้อหวย
จะรอดหรือจะซวย
ป่วยเป็นไข้ไร้ยาเยียว

๏ กว่าไก่จะออกไข่
ใช่คลอดครบในคราวเดียว
เลี้ยงจากลูกเจี๊ยบเทียว
เปลืองหยูกยาและอาหาร

๏ เติบโตเป็นแม่ไก่
จึงถึงวัยที่ต้องการ
ทนทุกข์ทรมาน
เร่งออกไข่ใช้ทุนรอน

๏ พันธุ์ไก่อาหารไก่
ใครผูกขาดครบวงจร
ต้นทุนหมดทั้งก้อน
ป้อนกลับไปมอบให้ "เฮีย"

๏ ไข่ไก่ของคนจน
กว่าจะออกต้องอ่อนเพลีย
ขายได้ไม่คุ้มเสีย
แล้วใครรวยก็ไม่รู้?

๏ การเมืองเรื่องของไข่
ใครเข้าใจไข่สุดหรู
แพ็คเกจเก๋น่าดู
ในเซเว่นไม่เว้นซอย

๏ แพ็คไข่ของนายทุน
มีทุกห้างไม่เหงาหงอย
ราคาสูงลิ่วลอย
อ้างบวกค่าขนส่งแพง

๏ ไข่ไก่ของนายทุน
คนกินทั่วทุกหัวระแหง
กินแล้วจะแข็งแรง
ทั้งสะอาดและปลอดภัย

๏ ไอเอสโอยังรับรอง
ห้องปลอดเชื้อระวังระไว
โรคร้ายตายหมดไป
ไม่เหมือนกรงไก่คนจน

๏ ไข่แพงก็แพงไป
เรื่องของไข่ใครจะสน
ใครจนก็ใครทน
กูกำไรขายไข่ทอง

๏ อ้างว่าอากาศแย่
ไก่ทุกแม่จึงเศร้าหมอง
ออกไข่ไม่เต็มฟอง
ท้องตลาดขาดไข่ตุน

๏ รัฐจึงต้องช่วยเหลือ
งบจุนเจือช่วยเกื้อหนุน
ไก่ร้อนพ่อ- สิคุณ!
ไก่นายทุนนอนห้องแอร์

๏ นายทุนจึงผูกขาด
ไข่ตลาดมีแต่แพ้
ซ้ำรัฐไม่เหลียวแล
ไข่คนจนทนเจ็บใจ

๏ การเมืองเรื่องไข่จบ
รอเลือนลบหลงลืมไฉน
เถิดเราเหล่าชาวไทย
ก้มหน้าไปกินไข่แพง! ๚ะ๛


๑๐/๐๗/๕๓

ปมสัมพันธ์ในมิติโมเบียส

"พี่รู้จักวงแหวนโมเบียสไหม"
อย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย เสียงของเธอดังขึ้นท่ามกลางความเงียบ
"ฮื่อ" ผมพยักหน้า
"ความสัมพันธ์ของเราเหมือนวงแหวนโมเบียสเลยนะ"

ประโยคนี้ก้องกังวานในความรู้สึก ยาวนานกว่านิจนิรันดร์ ถาโถมเข้ามาในใจยิ่งกว่าคลื่นยักษ์แห่งห้วงมหาสมุทร
ผมเงยหน้าขึ้น เหลียวมองซ้ายขวา
แต่เธอหายไปแล้ว

......

อันที่จริงควรใช้คำว่า แถบโมเบียส (Mobius strip) แต่ผมชอบคำว่าวงแหวนโมเบียสมากกว่า เพราะมันสื่อถึงลักษณะสำคัญบางประการเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับความสัมพันธ์

ยากที่ผมจะจำกัดความ หรืออธิบายให้เห็นภาพชัดเจน ขอให้นึกภาพตามวิธีทำจะง่ายกว่า คือตัดกระดาษมาหนึ่งแถบ บิดกระดาษครึ่งรอบ เอาปลายกระดาษมาเชื่อมกันเป็นวงแหวน

นั่นคือวงแหวนโมเบียส วงแหวนที่ถูกบิดครึ่งรอบ
เช่นเดียวกับมิติความสัมพันธ์ที่ถูกบิดเบือนไปจนไม่ชัดเจน แต่ไม่ถึงกับบิดเบี้ยวเสียรูปทรงทั้งหมด

.......

วงแหวนโมเบียส คือวงแหวนลวงตาต้องคำสาป
มองผิวเผิน จะลากเส้นให้บรรจบกัน คงทำได้ไม่ยากเลย
เริ่มลากเส้นจากจุดหนึ่ง เมื่อครบรอบ เส้นที่ลากไว้จะไม่เชื่อมต่อกัน หากไม่ลากซ้ำรอยเดิม เส้นที่ลากไว้นั้นจะไม่มีวันบรรจบตลอดกาล และต้องลากเส้นต่อไปนิรันดร์

ความสัมพันธ์แบบวงแหวนโมเบียส คือความสัมพันธ์ลวงตาต้องคำสาป
มองผิวเผิน ทั้งสองสามารถเคียงคู่กันได้ไม่ยากเลย ต่างมองไม่เห็นอุปสรรคที่จะมาขัดขวางแม้สักส่วนเสี้ยว
แต่เมื่อเริ่มผูกปมสัมพันธ์เกินเพื่อน เส้นความสัมพันธ์เริ่มลากไป ไม่มีวันจะมาเชื่อมต่อ กาลเวลาไม่เคยรอให้ลากซ้ำรอยเดิม สุดท้ายสายสัมพันธ์ที่สร้างไว้กลับไม่มีวันได้พบ ไม่มีวันบรรจบ และไม่มีวันหยุดลากเส้นความสัมพันธ์ได้แม้จะรู้อยู่แก่ใจว่าไม่มีทางลงเอย ยิ่งฝืนลากเส้นต่อไป ยิ่งจมดิ่งลงในหุบเหวแห่งความสับสนและสิ้นหวัง
ทนทุกข์ยิ่งกว่าเส้นขนาน เพราะเส้นขนานนั้นแม้จะไม่ได้อยู่ด้วยกันตลอดกาล แต่อย่างน้อยยังได้เดินเคียงคู่กันเนิ่นนานตลอดไป

ความสัมพันธ์แบบวงแหวนโมเบียส ทั้งสองไม่มีทางได้พบกัน จนกว่าความนิรันดร์จะสิ้นสุดลง

ปมสัมพันธ์ในมิติโมเบียส คือความสัมพันธ์ที่เป็นเพียงภาพลวงตา คลุมเครือ สับสน ไม่ชัดเจน เจ็บปวดทรมานแสนสาหัส และไม่มีวันถอนตัวได้ ทั้งหมดคือราคาที่ต้องจ่ายเพื่อแลกกับความหวังลม ๆ แล้ง ๆ มาต่ออายุความสุขที่เหลืออยู่เพียงน้อยนิดเหมือนเปลวเทียนริบหรี่ท่ามกลางพายุฝนโหมกระหน่ำ

.......

ผมจำได้เสมอ ทุกเรื่องราวระหว่างผมกับเธอ

นานแล้วสินะ ที่เรารู้จักกัน แต่ไม่ได้สร้างความสัมพันธ์ใดต่อกัน เพราะเราต่างก็มีปมสัมพันธ์ของตัวเองที่ผูกเอาไว้แน่นหนาแล้ว

ลืมไปเสียสนิทว่า โชคชะตาก็เหมือนเด็กน้อยซุกซน ชอบแกล้งเขี่ยมดให้แตกแถวเล่น ๆ ไม่หวังอะไรมากไปกว่าความสนุกสนานส่วนตัว

โชคชะตาแกล้งตัดปมสัมพันธ์ของทั้งสองคู่ทิ้งเสีย เราต่างกลายเป็นคนอ้างว้างอยู่ชั่วขณะ แล้วโชคชะตาก็จับเรามาเดินบนเส้นทางสายเดียวกัน ใช้ความรู้สึกดีต่อกันเป็นกาวเชื่อมหัวใจ สายใยความสัมพันธ์ที่ต่างอยู่อย่างโดดเดี่ยวค่อยถักทอขึ้นมาเป็นปมสัมพันธ์แน่นหนา หัวใจของเราทั้งสองหลอมรวมเป็นแถบกระดาษเดียวกัน พร้อมจะเชื่อมเป็นวงแหวนแสนงดงาม
แต่โชคชะตากลับบิดมิติเวลาไปเสียครึ่งรอบ...

มิติเวลาที่บิดเบี้ยวเพียงครึ่งรอบ มากพอจะทำให้เธอมีปมสัมพันธ์ที่เป็นเงื่อนตายกับอีกคน ความรักของเรากลายเป็นสิ่งผิด
ปมสัมพันธ์ที่เราร่วมกันถักทอขึ้น จึงอยู่ในมิติโมเบียส

เรารักกันไปแล้ว แต่เรารักกันไม่ได้...

.......

"ความสัมพันธ์ของเราเหมือนวงแหวนโมเบียสเลยนะ"
เสียงกังวานใสของเธอดังขึ้นอีกครั้ง ผมเงยหน้า คราวนี้เห็นเธออยู่ในชุดสวยที่ผมชอบให้เธอใส่ รอยยิ้มเอียงอายระบายอยู่บนใบหน้าของเธอ เหมือนทุกครั้งที่เธอทักทายผม
"อย่าไปนะ"
ผมตะโกน แต่ไม่มีแม้เสียงกระซิบเล็ดลอดออกมา
เธออยู่ตรงหน้าแล้ว เพียงเอื้อมมือไปผมก็จะคว้าเธอเอาไว้ได้ แล้วเราก็จะได้อยู่ด้วยกัน...
เอื้อมไปสุดมือ แต่ผมคว้าเธอไว้ไม่ได้
อีกครั้งที่เธอยิ้ม แต่คราวนี้กลับเป็นรอยยิ้มเปื้อนน้ำตา...

"อย่าไปนะ... อย่าไป..."
ลืมตาขึ้นช้า ๆ ผมพบเพียงความมืดมนอนธการห่อหุ้มกาย ได้ยินเพียงเสียงสะอึกสะอื้นเจียนตายของตัวเองดังซ้ำไปมาในความเงียบงัน


วุฒินันท์ ชัยศรี
๐๙/๐๘/๒๕๕๓

วันพฤหัสบดีที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

จินตนาการ


๏ เมฆน้อยนั้นลอยลิ่ว
ปลิวตามลมโอบล้อมอยู่
ย้ายปีกยกปีกชู
เป็นพิหกกลางห้วงหาว

๏ เกาะกันเป็นก้อนกลม
บนพรมฟ้าที่ทอดยาว
เรียงเป็นลูกชิ้นขาว
เสียบใส่ไม้ไว้ทอดกิน

๏ หรือคือพฤกษาใหญ่
ที่ทอดใบไปทุกถิ่น
บดแดดที่แผดสิ้น
เป็นร่มงามยามร่มเงา

๏ บางครั้งกลับครางครืน
ฟ้าคงฝืนสะอื้นเศร้า
ครืนครั่นเสียงสั่นเทา
แล้วสาดเทน้ำตาทิ้ง

๏ บางคราวฟ้าอ่อนไหว
ก็อ่อนใจไปทุกสิ่ง
ลมไล้ก็ไหววิ่ง
ลอยลิ่วลิ่วตามแรงลม

๏ ปุยไหมบนใยเมฆ
ใครสรรเสกให้งามสม
พระเจ้าชอบกินขนม
จึงเสกเมฆเป็นสายไหม

๏ ท้องฟ้าเป็นสีฟ้า
แต่ต่างตาต่างมองไป
ฟ้าใครก็ฟ้าใคร
ต่างนัยน์ตาต่างอารมณ์ ๚ะ๛

วันพุธที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

"ทางด่วน" หน้ารามคำแหง

"เร็ว ๆ ดิ เดี๋ยวไม่ทัน มึงลง "ทางด่วน" มาเลย"

อาจเป็นเพราะทนความอืดอาดของผมไม่ไหว หรืออาจเป็นเพราะเห็นฝูงชนเบียดเสียดอยู่เต็มบาทวิถี ราวกับอยู่บนรถเมล์สายสุดท้ายของชุมชนแออัด เพื่อนผมจึงกวักมือเรียกให้ลงไปอยู่บน "ทางด่วน" ด้วยกัน เพื่อให้เวลาที่เหลืออยู่น้อยแสนน้อยเพียงพอต่อการไปถึงสถานที่นัดหมาย

"อันตรายตายห่ะ มึงยังจะให้กูลง-"
ไม่ทันขาดคำ มอเตอร์ไซค์วิ่งเฉียดแขนผมไปนิดเดียว
"เออน่ะ นิด ๆ หน่อย ๆ เพิ่มความตื่นเต้นให้ชีวิต" เพื่อนผมยักคิ้ว ก่อนจะสำทับ "ไปเร็ว ๆ เดี๋ยวพวกนั้นไม่รอนะเว้ย"

ผมนึกกังวลว่า การลง "ทางด่วน" ครั้งนี้จะมีตำรวจมาจับหรือเปล่า แต่ก็ใจชื้นขึ้นหน่อยเมื่อเห็นว่า มีคนจำนวนมากเริ่มใช้บริการ "ทางด่วน" เหมือนผมแล้ว

ไชโย! ประเทศประชาธิปไตย เสียงข้างมากชนะ!

ผมยักไหล่ ก่อนจะเร่งฝีเท้าตามเพื่อนให้ทัน

...............

"ทางด่วน" เป็นศัพท์เฉพาะที่ผมและผองเพื่อนรามฯ บัญญัติความหมายขึ้นใหม่ ใช้เรียกพื้นที่ช่องซ้ายสุดของถนนฝั่งตรงข้ามมหาวิทยาลัยรามคำแหง

ต้องขออธิบายสภาพภูมิศาสตร์หน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหงสักนิดว่า เป็นพื้นที่ที่ดีพอจะชิงแชมป์ "ถนนสายรถติดที่สุดในประเทศไทย" ได้แบบสบาย ๆ

ถนนกว้างเพียง ๖ เลน และระยะทางตลอดพื้นที่มหาวิทยาลัยเป็นถนนที่ไม่มีแยกอื่นมายุ่งเกี่ยว ดังนั้นใครเผลอหลงเข้ามาแล้วก็จำต้องขับกินลมชมวิวอยู่บริเวณนี้สักครู่ใหญ่ ๆ

นอกจากนี้ พื้นที่นี้ยังเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยที่มีนักศึกษามากที่สุดในประเทศ และอัตราค่าครองชีพของที่นี่ค่อนข้างเหมาะสมกับคนเบี้ยน้อยหอยน้อย จึงเกิดการชุมนุมกันของประชากรจำนวนมหาศาลโดยมิได้นัดหมาย เมื่อคนเยอะรถจึงแยะ ทั้งรถส่วนตัว แท็กซี่ รถเมล์ เมื่อรถแยะรถจึงติด และเมื่อถนนไม่กว้าง ไม่มีแยกระบาย รถจึงติดเป็นกาวตราช้าง

ต่อไปก็ถึงคิวอธิบายพื้นที่ฝั่งตรงข้ามมหาวิทยาลัย ด้วยเหตุปัจจัยที่มีประชากรหนาแน่น ความต้องการสินค้าจึงสูงตามไปด้วย แต่สตุ้งสตางค์ของประชากรมีไม่มากนัก เมื่อคำนวณตามหลักเศรษฐศาสตร์แล้ว สินค้าที่เหมาะสมที่สุดในการขายย่อมมิใช่กระเป๋ายี่ห้อ "กุชชี่" หรือ "พราดา" ราคาเหยียบหมื่นจากต่างประเทศ แต่เป็นกระเป๋าราคา 199 ติดยี่ห้อกุชชี่แบกะดิน เมื่อเป็นสินค้าแบกะดินจึงต้องหาดินในการแบขาย ในที่สุดจึงลงเอย ณ ทางเท้าฝั่งตรงข้ามมหาวิทยาลัยที่บรรดาพ่อค้าแม่ขายต่างจับจองเป็นพื้นที่ตั้งร้านขายของ เหลือเพียงช่องแคบ ๆ ให้คนแย่งกันเดิน

รถเยอะ ถนนแคบ รถจึงติดฉันใด คนเยอะ ทางเท้าเหลือให้เดินแค่ช่องแคบ ๆ คนจึงติดกันเป็นตังเมไม่แพ้รถติดฉันนั้น

ถ้านึกภาพไม่ออกว่าเวลาที่คนเยอะ ๆ แล้วเดินเบียดเสียดกันบนทางเท้าหน้ารามคำแหงเป็นเช่นใด ขอให้นึกภาพรถเมล์ที่มีคนยัดแน่นจนไม่มีช่องหายใจ กระนั้นกระเป๋ารถเมล์ยังอุตส่าห์ตะโกน "ชิดในหน่อยพี่ ชิดในหน่อย" จนต้องมีคนตะโกนตอบมาว่า "เบียดกันจนจะเป็นผัวเป็นเมียกันแล้วโว้ย"

เพื่อไม่ให้กลายเป็นผัวเป็นเมียกันทั้งบนรถเมล์และทางเท้า จึงเป็นที่มาของการขยายทางเดิน โดยการจับจองช่องซ้ายสุดของถนนติดกับบาทวิถี ตั้งเป็น "ทางด่วน" ตาม "กติกู" ใครที่คิดจะใช้บริการก็ไม่ต้องจ่ายค่าบริการอื่นใดนอกจาก "ความเสี่ยง" ที่จะโดนรถเมล์หรือมอเตอร์ไซค์รับจ้างอารมณ์หงุดหงิดขับซิ่งมาสอยก้น

..................

อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่เป็นประชากรย่านรามคำแหงมานานหลายปี ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้นบน "ทางด่วน" หน้ารามคำแหง คือเริ่มมีคนใช้บริการมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วง "คนติด" หนัก ๆ จนรถบนถนนต้องยอมยกเลนซ้ายสุดให้เป็นสิทธิ์ขาดของประชาชนคนเดินเท้า ผลก็คือ คนไม่ติดมาก แต่รถติดยิ่งกว่ากาวตราช้างที่แห้งมานานนับสิบปี

ผมนึกย้อนไปถึงช่วงแรกที่มีสินค้ามาตั้งร้านวางขายบนทางเท้า ผู้คนต่างบ่นว่าไม่มีทางเดิน แต่เมื่อมีพ่อค้าแม่ค้าเอาสินค้ามาวางหนักเข้า พื้นที่บนบาทวิถีก็กลายเป็นพื้นที่สำหรับขายสินค้าไปโดยปริยาย ประชาชนยอมรับเสียงส่วนใหญ่ของพ่อค้าแม่ค้าโดยดุษณี

ช่วงแรกที่มีการเปิดใช้ "ทางด่วน" ของคนเดิน บรรดาคนขับรถต่างก่นด่าประชาชนเดินเท้าอย่างอารมณ์เสีย เพราะทำให้รถติดหนักกว่าเดิม ร่ำ ๆ จะขับชนคนบน "ทางด่วน" ให้รู้แล้วรู้รอด แต่นานเข้า บรรดารถยนต์บนท้องถนนก็ยอมหลีกทางให้ประชาชนเสียงส่วนใหญ่ใช้ "ทางด่วน" เป็นช่องทางพิเศษโดยดุษณี

เรื่องราวการตั้งร้านบนบาทวิถี หรือการขยาย "ทางด่วน" ก็คงจะเหมือนกับสินค้าที่วางขายบนทางเท้า เต็มไปด้วยบรรดาของก๊อปแบรนด์เนม และภาพยนตร์-เพลงละเมิดลิขสิทธิ์ สินค้าผิดกฎหมายทุกชิ้นได้รับฉันทามติจากประชาชนในย่านนี้ให้สามารถขายได้อย่างถูกกฎหมาย ผมเดาเอาจากการที่มีคนอุดหนุนมากมายทุกวัน ทั้งที่สถานีตำรวจนครบาลบางกะปิอยู่ห่างไปแค่ป้ายรถเมล์เดียว

โดยไม่ตั้งใจ ผมนึกย้อนไปถึงข้อเขียนเก่า ๆ ที่เคยเขียนไว้ทำนองว่า เสียงข้างมากอาจไม่ใช่เสียงที่ถูกต้องเสมอไป แล้วก็มีผู้เข้าแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเสียยืดยาว กระนั้นผมก็ยังคงเชื่อในสิ่งที่เขียน

ในตอนนี้ผมเห็นพลังของเสียงข้างมากแล้ว จึงอาจต้องกลับไปทบทวนว่า สิ่งที่ผมเคยเขียนไปนั้นยังถูกต้องอยู่หรือเปล่าหนอ?


วุฒินันท์ ชัยศรี
๐๗/๐๘/๒๕๕๓

ความทรงจำเรื่อง "ลุงบุญมีระลึกชาติ"

ครั้งแรกที่ผมรู้จักชื่อคุณเจ้ย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ไม่ได้มาจากการสัมผัสงานของเขาโดยตรง แต่รู้จักผ่านบทวิจารณ์ภาพยนตร์เรื่อง "สัตว์ประหลาด" (Tropical Malady) ของรุ่นน้องคนหนึ่ง เธอเขียนออกมาได้ค่อนข้างดีแม้ขณะนั้นจะอยู่แค่ปี ๓

ผมคิดว่า ความงามของอัญมณีไม่ได้อยู่ที่คนเจียระไนเพียงฝ่ายเดียว แต่อัญมณีเองก็ต้องมีความคงทนงดงามอยู่ในตัวเองด้วย ฉันใดก็ฉันนั้น ภาพยนตร์เรื่อง "สัตว์ประหลาด" ก็คงต้องมีอะไรดี ๆ อยู่ข้างในไม่น้อย รุ่นน้องผมจึงสามารถสกัดเอาแง่มุมต่าง ๆ ที่น่าสนใจของภาพยนตร์ออกมาเป็นบทวิจารณ์ชวนอ่านได้ ผมจึงไปเสาะแสวงหา "สัตว์ประหลาด" เพื่อลองเข้าสู่โลกของคุณเจ้ยด้วยตนเอง

ทันทีที่ภาพยนตร์จบลง ผมรู้สึกว่ามีเศษความคิดหล่นกระจัดกระจายรอบตัว ราวกับเป็นชิ้นส่วนจิ๊กซอว์ที่คุณเจ้ยโยนออกมาให้ผมทีละชิ้น ๆ ก่อนที่จะแสดงภาพเต็มของจิ๊กซอว์เพียงเสี้ยววินาที แล้วหนีหายไปดื้อ ๆ ผมรู้ว่ามีคำตอบสมบูรณ์ของภาพยนตร์อยู่จริง แต่ปรากฎเลือนรางในความรู้สึก จนไม่สามารถหยิบชิ้นส่วนเหล่านั้นมาต่อเป็นภาพสมบูรณ์ได้ นี่เองเป็นเสน่ห์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะเชื้อเชิญให้ผู้ชมตีความได้ไม่รู้จบ ผมจึงไม่แปลกใจที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลขวัญใจกรรมการ (Jury Prize) จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ แม้จะมีหลายส่วนในภาพยนตร์ที่ผมไม่สามารถตีความได้เลยแม้แต่น้อยด้วยระดับสติปัญญาในขณะนั้น (หรือแม้ในขณะนี้ก็ตามที)

แต่แล้วกาลเวลาก็จับภาพยนตร์ของคุณเจ้ยโยนทิ้งไว้ในกล่องความทรงจำส่วนลึก ก่อนจะดึงเรื่องอื่นเข้ามาชุลมุนในความสนใจ จนผมเผลอลืมเรื่องของคุณเจ้ยไปเสียสนิท

.................

กระทั่งภาพยนตร์เรื่อง "ลุงบุญมีระลึกชาติ" ผลงานล่าสุดของเขาได้รับรางวัลปาล์มทองคำ ซึ่งนับเป็นรางวัลสูงสุดในงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ชื่อของคุณเจ้ยและชิ้นส่วนความคิดจากผลงานเรื่องก่อนหน้าจึงหวนกลับมาอยู่ในความสนใจของผมอีกครั้ง รุ่นน้องคนที่เคยแนะนำให้ผมรู้จักคุณเจ้ยผ่านบทวิจารณ์แทบจะฉุดกระชากลากคอผมเข้าไปสัมผัสโลกของคุณเจ้ยเป็นคำรบสองทันทีที่ภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉายในเมืองไทย

การเข้าไปในโลกของเขาครั้งใหม่นี้ ดูเหมือนว่าคุณเจ้ยจะโยนจิ๊กซอว์ออกมามากกว่าเดิม และให้ดูภาพสมบูรณ์นานกว่าเดิมอีกนิดจนพอจะเห็นเรื่องราวต่าง ๆ ชัดเจนขึ้น กอปรกับชิ้นส่วนความคิดจากครั้งที่ได้ดู "สัตว์ประหลาด" ก็มาช่วยเสริมให้เห็นภาพของเรื่องนี้ชัดเจนขึ้น แม้จะไม่ถึงขนาดประกอบชิ้นส่วนทั้งหมดเป็นภาพสมบูรณ์ได้ก็ตามที

แต่การได้ชมเพียงรอบเดียวออกจะน้อยเกินไปสำหรับการนำมาเขียนวิจารณ์ให้มีน้ำมีนวล ผมจึงต้องพับเรื่องการวิจารณ์เก็บไว้ในกระเป๋าเสียก่อน ทำได้เพียงเขียนบันทึกสิ่งที่จับต้องได้ในการชมภาพยนตร์รอบนี้ไว้ในสมุดว่า:

แท้จริงแล้ว เรื่องผีหรือวิญญาณ ตลอดจนการกลับชาติมาเกิด มิใช่อื่นใดเลยนอกจากจิตวิญญาณที่มีอยู่แล้วในตัวมนุษย์ทุกคน และต้องใช้สัญชาตญาณดั้งเดิมของมนุษย์เป็นสื่อสัมผัส

จิตวิญญาณของมนุษย์แต่ละคนนั้น ต่างก็มี "ความทรงจำ" ที่สร้างอัตลักษณ์และประวัติศาสตร์ของตนเอง ดังนั้นการรับรู้ถึงจิตวิญญาณและความทรงจำ ไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือผู้อื่น จึงเป็นเครื่องยืนยันว่ามนุษย์ผู้นั้นมีตัวตนและมีคุณค่าในฐานะมนุษย์อย่างแท้จริง

ขณะที่ "กระบวนการสร้างมนุษย์ให้เป็นอารยะ" ทั้งหลายที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์โลก เช่น การสร้างโลกสมัยใหม่ การสร้างรัฐ-ชาติ โลกาภิวัตน์ ฯลฯ พยายามกีดกันมนุษย์ออกจากสัญชาตญาณดั้งเดิม ปฏิเสธอัตลักษณ์และประวัติศาสตร์บุคคลโดยการทำลาย "ความทรงจำ" ของจิตวิญญาณทิ้งไป และสร้างความทรงจำใหม่ให้อยู่ในกรอบเดียวกัน เพื่อให้มนุษย์สูญสิ้นตัวตน ลดคุณค่ากลายเป็นเพียงฟันเฟืองเล็ก ๆ ในกลไกการขับเคลื่อนโลกให้เดินไปข้างหน้า

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร จิตวิญญาณและสัญชาตญาณดั้งเดิมยังคงมีอยู่ในตัวมนุษย์เสมอ และไม่มีวันจะถูกทำลายลงไปได้ ไม่ว่าเขาและเธอเหล่านั้นจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

......................

นอกจากสิ่งที่เขียนไว้ในสมุดแล้ว ชิ้นส่วนความคิดจากภาพยนตร์ที่เก็บไว้ในความทรงจำยังมีอีกหลายส่วนที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องราวที่สังคมไทยไม่กล้าพูดถึง เช่น เรื่องศาสนา เรื่องระบอบกษัตริย์ เรื่องคอมมิวนิสต์ ฯลฯ ซึ่งผมและรุ่นน้องได้ถกเถียงกันอย่างเมามันอยู่หลายชั่วโมงหลังจากเรื่องราวของลุงบุญมีจบลง ภาพยนตร์ของคุณเจ้ยยังคงเสน่ห์ "การตีความได้ไม่รู้จบ" ไว้เสมอ และดูเหมือนว่าความคิดของพวกเราจะแตกกิ่งก้านสาขาออกไปมากกว่าเดิม

เร็ว ๆ นี้ ผมเพิ่งได้ข่าวว่า "ลุงบุญมีระลึกชาติ" จะเปิดรอบฉาย และสาขาที่ฉายเพิ่ม รวมทั้งออกเดินสายไปฉายยังต่างจังหวัด น่าดีใจว่าภาพยนตร์ที่เชิญชวนให้เกิดความงอกเงยทางปัญญาได้รับการตอบรับจากประชาชนมากขึ้น แม้ว่าอาจจะเป็นผลข้างเคียงมาจากการได้รับรางวัล หรือการดูตามกระแสก็ตามที แต่อย่างไรเสีย คนดูเยอะก็คงดีกว่าคนดูน้อย การที่คนจำนวนมากขึ้นไปดูหนังแบบนี้ก็น่าจะเชื้อเชิญให้เกิดการ "ออกกำลังกายทางปัญญา" ร่วมกันมากขึ้น เอากระแสตักตวงปริมาณไว้ก่อน ประเดี๋ยวคุณภาพของประชากรก็เพิ่มขึ้นเองน่า

คิดจบ ผมก็รู้สึกทะแม่ง ๆ กับตรรกะชวนงงงวยของตัวเอง

ขณะที่ผมคิดจะตีตั๋วเข้าไปชมอีกครั้ง พอดีรายการเรื่องเล่าเช้านี้ได้แสดงอันดับหนังทำเงินในเมืองไทยประจำสัปดาห์ อันดับหนึ่งคือ "ตุ๊กกี้ เจ้าหญิงขายกบ"

ทำเอาผมลังเลใจ... จะดูลุงบุญมี หรือตุ๊กกี้ดีนะ?


วุฒินันท์ ชัยศรี
๐๗/๐๘/๒๕๕๓