วันอังคารที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2558

ขอแค่คนบอกลาสบายใจ

ก็เจ็บได้, ร้องไห้เป็นเช่นคนอื่น
แต่ต้องกลั้นก้อนสะอื้นฝืนยิ้มร่า
รับฟังทุกถ้อยคำเธอพูดมา
เสแสร้งเสมือนว่าจะเข้าใจ

หัวเราะเหมือนเป็นเรื่องเล่นเล่น
รอยยิ้มเยือกเย็นเห็นหรือไม่
แต่แววตาเว้าวอนซ่อนความนัย
เธอเห็นรอยร้าวไหมในแววตา

เหมือนทั้งโลกมืดดำความช้ำหม่น
มองไม่เห็นบางคนอยู่ตรงหน้า
เหมือนไม่ได้ยินคำจำนรรจา
คำที่เธอบอกลาช่างพร่าเลือน

ฉันเจ็บได้, ร้องไห้เป็นเช่นคนอื่น
แต่ต้องฝืนยิ้มไว้ให้เสมือน-
ว่าฉันทนไหวไม่สะเทือน
กลบเกลื่อนรอยร้าวรานให้ผ่านไป

ยิ้มรับความเศร้าหนาวสั่น
กลืนกลั้นความทุกข์ทนหม่นไหม้
ขอแค่คนบอกลาสบายใจ
ฉันจะเก็บความเจ็บไว้คนเดียว

๒๒ กันยายน ๒๕๕๘

วันศุกร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2558

คนรัก

คนรัก ๑ น. คนที่รับด้านร้ายของอีกฝ่ายได้โดยไม่รู้สึกว่าต้องทน.

(พจนานุกรมฉบับวุฒินันท์ ชัยศรี. กันยายน ๒๕๕๘.)

คนรัก ๒ น. คนที่เราปรารถนาจะเดินเคียงข้างเขาจนสุดทาง แม้หนทางข้างหน้าจะมีหุบเหวเปลวไฟ หรือมืดมิดสิ้นไร้ความหวัง.

(พจนานุกรมฉบับวุฒินันท์ ชัยศรี. ตุลาคม ๒๕๕๘.)

คนรัก ๓ น. คนที่หากเราได้สบตา เราจะรู้ได้ทันทีว่าจะใช้ชีวิตที่เหลืออยู่เพื่อใคร.

(พจนานุกรมฉบับวุฒินันท์ ชัยศรี. มกราคม ๒๕๕๙.)
คนรัก ๔ น. คนที่ไม่เคยบอกให้เราต้องเข้มแข็งเวลาที่เราร้องไห้ แต่จะคอยโอบกอดและปล่อยให้เราร้องไห้จนสาแก่ใจ เพราะเชื่อมั่นว่าเราจะกลับมาเข้มแข็งได้ดังเดิม.

(พจนานุกรมฉบับวุฒินันท์ ชัยศรี. เมษายน ๒๕๕๙.)

วันอังคารที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2558

ความตายครั้งที่สามของยุ่น


(เปิดเผยเนื้อหาในภาพยนตร์ "ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ")

"There are three deaths: the first is when the body ceases to function. The second is when the body is consigned to the grave. The third is that moment, sometime in the future, when your name is spoken for the last time."

"การตายมีสามขั้น ขั้นแรกคือเมื่อร่างกายหยุดทำงาน ขั้นที่สองคือเมื่อร่างกายถูกฝังลงหลุม ขั้นที่สามคือเมื่อถึงเวลาหนึ่ง ชื่อของคุณจะได้รับการเอ่ยถึงเป็นครั้งสุดท้าย"

(David Eagleman : "Metamorphosis" from "Sum: Forty Tales from the Afterlives" สำนวนแปลของณัฐกานต์ อมาตยกุล)

เชื่อว่าคนทำงานศิลปะทุกแขนงต่างก็หวังใจว่าความตายครั้งที่สามของตนจะมาถึงช้าที่สุด (และไม่ "กลาย" เป็นอย่างอื่นไปเสีย) ดังนั้นส่วนมากจะไม่ค่อยสนใจความตายสองครั้งแรกของตนมากนัก หากมันได้สังเวยเพื่อให้ชื่อของตนรอวัน "เกิดใหม่" ในอีกร้อยอีกพันปีข้างหน้าจากริมฝีปากของใครสักคน

ครั้งที่โอดีซีอุสเกลี้ยกล่อมให้อคีลีสเข้าร่วมรบในสงครามกรุงทรอย เขากล่าวว่าอคีลีสเป็นนักรบที่เก่งกาจและจะเป็นที่เลื่องลือไปอีกหลายชั่วอายุคน อาจจะร้อยหรือพันปี ทว่าสักวันมันก็จะถูกหลงลืม แต่หากอคีลีสเข้าร่วมสงครามกรุงทรอย "ความตายครั้งที่สาม" ของอคีลีสจะไม่เกิดขึ้นชั่วกัลปาวสาน นั่นก็คงเป็นเหตุผลว่าทำไมอคีลีสจึงกล้ากระโจนเข้าสู่สงครามแม้จะรู้อยู่แก่ใจว่านี่คือสมรภูมิสุดท้ายที่ตนต้องทิ้งชีวิตไว้ที่นี่

ยุ่นอาจเป็นทหารธรรมดาไม่ใช่อคีลีส ทว่าไม่ว่าจะเป็นทหารระดับชั้นไหนก็ต้องสู้ ยิ่งเป็นวงการกราฟฟิกแล้ว การต่อสู้เพื่อก้าวไปสู่จุดสูงสุดของวิชาชีพยิ่งเข้มข้นกว่าสงครามกรุงทรอยเสียอีก

เท่าที่เห็น ยุ่นคือกราฟฟิกระดับกลางเก่ากลางใหม่ ไม่ใช่รุคกี้ใหม่หมาด แต่อาจยังไม่ถึงขั้นซีเนียร์ มีคนในวงการร่ำลือถึงฝีมือของยุ่น อาร์ตไดของบริษัทชั้นนำยอมรับในฝีมือถึงขนาดออกปากว่าเลิกเป็นฟรีแลนซ์เมื่อไรเดินเข้ามาทำงานได้เลย มีรุ่นน้องนับถือผลงานและเอาเป็นแบบอย่าง แต่กระนั้นเขาก็ยังดีใจออกนอกหน้าเมื่องานของแบรนด์ระดับอินเตอร์ตกมาถึงมือเขา เลยเดาเอาว่ายุ่นก็คงเหมือนนักรบยศสูงประมาณนายพลที่กำลังเฝ้ารอโอกาสครั้งใหญ่ การรับงานแบรนด์อินเตอร์ครั้งนั้นก็เหมือนได้รับเชิญให้เข้าร่วมสงครามกรุงทรอย รอวันเลื่อนชั้นเป็นแม่ทัพใหญ่ของวงการ ฝากชื่อไว้ให้ "การตายครั้งที่สาม" ไม่เกิดขึ้นชั่วกัลปาวสาน

เราไม่รู้เหตุผลที่ยุ่นตัดสินใจมาเป็นฟรีแลนซ์ชัดเจน วิถีแห่งโรนินซามูไรไร้นายหรือจะดีเท่ามีนายคุ้มหัวเป็นหลักประกันชีวิต เท่าที่เห็นคือความทุ่มเทที่มีต่องานในระดับไม่ธรรมดา ยุ่นคือคนที่พร้อมจะเสียสละทรัพยากรทุกอย่างที่มีเพื่อให้งานออกมาดีที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรส่วนตัวอย่างเวลาและร่างกาย ยุ่นไม่สนใจว่าจะนอนกี่โมง ไม่สนใจว่าวันนี้มีอะไรกิน ไม่สนแม้แต่หาเวลาไปรับเช็คด้วยซ้ำ ทั้งหมดที่ยุ่นสนใจคือรับงานมาและทุ่มเททุกอย่างให้งานออกมาดีที่สุด จึงเดาเอาเองว่ายุ่นคือคนที่พร้อมจะตัดทุกอย่างในชีวิตที่ไม่เกี่ยวกับการสร้างงานออกไปให้หมด ดังนั้นการที่ยุ่นมาเป็นฟรีแลนซ์จึงไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นผลลัพธ์

เหตุผลที่ยุ่นไปรักษาโรค ไม่ใช่เพราะห่วงสุขภาพ สำหรับยุ่นแล้วทรัพยากรร่างกายยังเคลื่อนไหวได้ ยังมีแรงทำงาน ยุ่นกล้าเผา "ยาสลบช้าง" เพียงเพราะมันทำให้ยุ่นหลับจนไม่ได้ทำงาน แต่ที่จำใจต้องไปรักษาให้หายขาดเพราะมันทำให้เสียเวลา เสียสมาธิทำงาน ยุ่นจึงพยายามขอยาจากหมออิมแบบที่ "กินแล้วหายเลย" โดยไม่ต้องมาเบียดบังทรัพยากรเวลาที่เขาจะต้องเอาไปทุ่มเทกับงาน

แต่แล้วทุกอย่างก็เปลี่ยนไปเมื่อยุ่นแบ่งเอา "ความรู้สึก" ไปใส่ใจเรื่องอื่นนอกจากโฟกัสที่งานของตัวเอง แม้ผลคือหายจากโรค แต่ผลข้างเคียงคือโอกาสในการแสดงฝีมือของยุ่นพังพินาศ เหมือนมีโอกาสเข้าร่วมสงครามกรุงทรอยแต่ทะลึ่งเหยียบกับดักตายโง่ ๆ อยู่ริมชายหาด เทพที่ไหนก็มาช่วยไม่ทัน

การเดินหันหลังออกจากห้องตรวจของหมออิมเป็นฉากที่แทบไม่มีคำพูดอะไรแต่กลับเปี่ยมความหมายและสั่นสะเทือนหัวใจอย่างยิ่ง ยุ่นอาจไม่ได้เสียใจที่จะไม่ได้พบหมออิมอีก แต่อาจเป็นความเสียใจที่ความสำเร็จของการหายป่วยช่างมีค่าเล็กน้อยเหลือเกิน (สิ่งที่กูทำสำเร็จมีแค่ทำให้ไอ้คนที่ไม่ได้มีความหมายกับใครหายป่วย...แค่นี้เองเหรอวะ!) เมื่อเทียบกับงาน "ปลดชนวนระเบิด" ที่เคยทำให้หัวใจเขาพองโตกว่านี้มหาศาล เขาอาจเสียใจที่ก้าวต่อไปไม่ได้ในทางที่บังเอิญหลงมา รู้ตัวอีกทีว่าพาตัวเองเข้ามาสู่ความว่างเปล่าน่าอดสูก็เมื่ออยู่นอกห้องตรวจโรคแล้ว

เพื่อจะไปให้ถึงจุดสูงสุดของงานศิลปะ แอนดรูว์ นีแมน พระเอกของเรื่อง Whiplash ยอมทิ้งทุกอย่างเพื่อทุ่มเทจิตวิญญาณให้แก่การตีกลอง ไม่ว่าจะเป็นการบอกเลิกแฟนสาว หรือทะเลาะกับคนในครอบครัว หรือแม้แต่ทิ้งทุกอย่างในชีวิตในฉากสุดท้ายของหนังที่โคตรจะพีค

การกลับมาเป็นฟรีแลนซ์ของยุ่นในครึ่งหลังของหนังจึงโหด จึงดิบ จึงทุ่มเทอย่างบ้าคลั่ง เพราะยุ่นผิดหวังกับตัวเองที่ยังคงหลงเหลือความรู้สึกผูกพันกับสิ่งที่ไม่จำเป็นต่องาน ผิดหวังกับความสัมพันธ์ที่เผลอสร้างกับคนอื่นรอบข้าง จึงตัดเอาความผูกพันทุกอย่างออกไปจากชีวิตเพื่อกลับมาสู่เส้นทางเดิมของตนเอง เพื่อจะให้ "ความตายครั้งที่สาม" ไม่เกิดขึ้นง่าย ๆ หากเขาได้ไปจารึกชื่อไว้ที่นิวยอร์ก ยุ่นรับทุกงานและทุ่มเทเกินร้อยยิ่งกว่ายุ่นคนก่อน เพราะวงการฟรีแลนซ์ไม่เคยมีโอกาสครั้งที่สาม

แต่ใช่ว่าการเทหมดหน้าตักจะชนะเสมอไป ครั้งนี้ยุ่นแพ้อีก เป็นการแพ้อย่างราบคาบ และทำให้เขาได้เรียนรู้อะไรบางอย่าง... บางอย่างแบบที่คนที่ยังห่วงใยชีวิตควรได้เรียนรู้ บางอย่างแบบที่คนอย่างยุ่นแม่งไม่น่าจะรู้เลยว่ะ

เคยนึกบริภาษผู้กำกับตอนดูสิบนาทีสุดท้ายของหนังว่า เชี่ยแม่ง พี่เต๋อเปี่ยนไป๋ว่ะ แต่พอตั้งสติได้ก็เออ จริง ๆ แล้วจบแฮปปี้เอนดิ้งแบบนี้แม่งหดหู่กว่า เป็นโศกนาฏกรรมกว่าตายไปแบบพีค ๆ เยอะเลย

ฉากสุดท้ายยุ่นบอกหมออิมว่ายุ่นมีความสุขกับการดูพระอาทิตย์ตกดิน เช่นเดียวกับความสุขที่ได้มาพบหมออิมเพียงไม่กี่นาที คำพูดนี้คืออะไร? นั่นคือยุ่นถูกกลืนกลายไปกับธรรมชาติรอบตัว ความสุขเล็ก ๆ ที่เพียงแค่มองหาก็พบ ยุ่นไม่รู้สึกแปลกแยก ไม่โดดเดี่ยว ไม่อีโก้ ไม่เซลฟ์ ไม่ถูกผลักดันด้วยแรงทะเยอทะยานอย่างบ้าคลั่งของวัยหนุ่มว่ากูจะต้องโดดเด่น แตกต่าง กูจะต้องเปลี่ยนโลก กูจะต้องฝากชื่อไว้ กูต้องทำสิ่งที่ยื้อเวลาความตายครั้งที่สามให้นานที่สุด

มองในแง่หนึ่งจะว่ายุ่นเติบโตขึ้นก็ได้ ใช่ โลกแม่งก็เป็นงี้แหละ ยอมรับมันและมีความสุขกับสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ รอบตัวดิวะ งานศิลปะคือการสร้างความสุขเว้ยไม่ใช่การแข่งขันที่อยากฝากชื่อไว้ด้วยอหังการ์ของศิลปิน ศิลปะคือการจัดวางคอมโพสิชั่นทั้งตัวงานและชีวิตของศิลปิน เอาธรรมะเข้าขย่มอีกหน่อยก็ได้ว่ามนุษย์แม่งต้องเดินสายกลางว่ะ พระพุทธองค์สอนไว้

จากนี้ยุ่นอาจจัดวางชีวิตใหม่ให้สมดุล อาจเดินเข้าไปสมัครงานกราฟฟิกประจำสักที่หนึ่ง ฝีมือระดับนี้คงขึ้นเป็นอาร์ตไดได้ไม่ยาก ก้าวหน้าหน่อยมาจีบหมออิม แต่งงานแฮปปี้เอนดิ้ง หรือต่อให้คงวิถีฟรีแลนซ์เอาไว้ แต่จากนี้คงมีหลายสิ่งที่เขาต้องให้ความสำคัญนอกจากการทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างให้แก่การสร้างงาน นั่นก็เป็นอนาคตที่สุดจะคาดเดา สิ่งที่น่าสงสัยก็คือ เมื่อไม่ได้เดิมพันชีวิตและจิตวิญญาณให้แก่งาน เมื่อปราศจากความทะเยอทะยานและแรงขับเคลื่อนอย่างบ้าคลั่งของวัยหนุ่มแล้ว ยุ่นจะพาตัวเองไปได้ไกลแค่ไหน

บางทีการที่ยุ่นยังมีชีวิตอยู่ มันก็คือประจักษ์พยานการตายครั้งที่สามของยุ่นทั้งที่ยังหายใจ รอเพียงให้การตายครั้งที่หนึ่งและสองมาถึงเท่านั้นเอง

เหมือนกับเราในตอนนี้นั่นแหละ

๑๕ กันยายน ๒๕๕๘

วันจันทร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2558

กลับมา

ตื่นมาท่ามกลางความว่างเปล่า
อวลกลิ่นความเหงาอยู่เต็มตื่น
เนิ่นนานนับปีกี่วันคืน
ที่ทนฝืนกลั้นน้ำตาอาลัย

แววตาของเธอวันนั้น
เป็นเพียงแค่ความฝันใช่ไหม
รอยยิ้มเคยยิ้มพิมพ์ใจ
จู่จู่ก็หายไปไม่หวนคืน

เหมือนไม่มีเหตุผลการจากลา
เหลือก็แต่น้ำตาขมขื่น
จะหยัดร่างก็เจ็บจมล้มทั้งยืน
ทนฝืนทรมานนานนับปี

กลับมาได้ไหม...ได้หรือเปล่า
ฉันคุกเข่าร้องไห้ไร้ศักดิ์ศรี
กลับมารักกันอีกครั้งนะคนดี
หากว่าใจดวงนี้ไม่เปลี่ยนไป

หากแววตาวันนั้นไม่ใช่ฝัน
โปรดกลับมาหาฉันได้ไหม
หากแม้ซอกมุมหนึ่งของหัวใจ
ยังมีฉันเก็บไว้ในใจเธอ

๑๔ ก.ย. ๒๕๕๘

วันศุกร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2558

หลงรักนักวิ่ง (๒)

ช่วงนี้หลงรักการวิ่งเป็นพิเศษ
มันเป็นเพียงหนึ่งชั่วโมงที่ได้อยู่ในห้วงสุญญากาศส่วนตัวท่ามกลางคืนวันแห่งความทรมาน
มันเป็นเพียงชั่วโมงเดียวในหนึ่งวันที่ฉันไม่ต้องคิดถึงเธอด้วยความปวดร้าว

กันยายน ๒๕๕๘

วันอังคารที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2558

The Chaser : ไล่ล่ามนุษย์หรือปิศาจ



(เปิดเผยเนื้อหาในภาพยนตร์)

เอาไปเลย 12/10 กะโหลกสำหรับ The Chaser ผลงานการกำกับของนา ฮอง จิน ภาพยนตร์ที่พี่โต้ง บรรจง ปิสัญธนะกูล ผู้กำกับพันล้านคัดสรรมาให้ชมในเทศกาลภาพยนตร์คัดสรร Cinema Diverse: Director's Choice. ของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จะว่าไปครั้งนี้ก็ทิ้งช่วงจากครั้งที่แล้วตอนไปดู Synedoche, New York อยู่นานเหมือนกัน อะไร ๆ ก็เปลี่ยนไปหลายอย่าง ที่น่าตื่นเต้นคือมีคนเข้าร่วมกิจกรรมเยอะมากจนต้องมีเก้าอี้เสริม ต่างจากครั้งแรกที่เข้าไปเลือกที่นั่งได้เลย ส่วนที่ขัดใจคือครั้งนี้ไม่มีอาหารและเครื่องดื่มฟรี (ฮา) แต่ที่เหมือนกันทั้งสองครั้งที่ไปเข้าร่วมคือ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมาก ขึ้นแท่นเป็นภาพยนตร์ในดวงใจได้ทั้งสองเรื่องเลย

ว่ากันด้วยเนื้อหนังก็สมราคาคุยว่าเป็น "หนึ่งในภาพยนตร์แอ็กชั่นทริลเลอร์ที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งของประเทศเกาหลีใต้" ประเทศที่สร้างหนังแอ็คชั่นทริลเลอร์ได้ "โหดสัส" (คำของพี่โต้ง) ทั้งเรื่องก็มีพล็อตสั้น ๆ ว่าพ่อเล้าอดีตตำรวจต้องมาไล่ล่าฆาตกรโรคจิต ชิงไหวชิงพริบเพื่อตามหาหญิงสาวที่หายไป (เรื่องย่อยาวกว่านี้ก็ไปหาอ่านตามเว็บเอาก็แล้วกันนะ) บรรยากาศก็เป็นทริลเลอร์เข้ม ๆ สืบสวนสอบสวนประมาณนึง ตามหาร่องรอยคนหายและหาแรงจูงใจของฆาตกรแบบมึน ๆ นิดนึงเพราะผู้กำกับหลอกเราหลงไปหลายทางเอาเรื่อง มีแอ็คชั่นวิ่งหนีหรือวิ่งไล่ล่าทั้งมันทั้งฮาอยู่หลายฉาก มีปมดราม่าแม่ลูกมาเรียกน้ำตาแถมท้าย สรุปคือเข้มข้นคุ้มค่าทุกนาทีที่ได้ดู ไม่รู้ว่าฉบับที่ฮอลลีวูดเอาไปรีเมกนี่เข้มข้นเท่าต้นฉบับรึเปล่า

สิ่งที่รู้สึกตอนดูหนังเรื่องนี้คือทำไมเรารู้สึกว่ามันจริ๊งจริงจังวะ หรือจะเป็นเหมือนที่เค้าบอกว่าหนังทริลเลอร์ของฝรั่งมันเป็นหนังของอีกชนชั้นหนึ่ง พอเวลาดูก็เหมือนเป็นโลกอีกใบหนึ่งที่เราตื่นเต้นสนุกสนานไปกับการไล่ล่าสืบสวนของตัวเอก ซึ่งไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเราเลย แต่กับเรื่องนี้เราทั้งลุ้นทั้งด่าตัวละครเหมือนว่ามันเป็นคนข้างบ้านเรา แม่งเอ๊ย อีกนิดเดียวจะได้ตัวละ แม่งอีกนิดจะรอดแล้ว หรือเป็นเพราะตัวละครในเรื่องมีแต่คนที่เป็นมนุษย์แท้ ๆ คือเป็นคนที่มีรักโลภโกรธหลงคละเคล้ากันไปหมด มีพระเอกที่แม่งเหี้ยมาก ตำรวจดีบ้างเลวบ้าง เอาหน้าห่วงชื่อเสียงบ้าง จะจับฆาตกรเพราะจะเอามากลบข่าวผู้ว่าฯ โดนปาขี้บ้าง สืบสวนหาแรงจูงใจของฆาตกรเพราะจะได้เอาไปฟ้อง ไม่ได้สนใจสืบหาแบบจริงจังบ้าง เป็นพวก "คนสีเทา ๆ" กันทั้งเรื่อง เลยรู้สึกว่าโลกในภาพยนตร์มันขับเคลื่อนด้วยความจริงและคนจริง ๆ ชิบหาย (หรือเหตุผลมันมีง่าย ๆ แค่ว่าหน้าคนเกาหลีมันคล้าย ๆ คนไทยเท่านั้นเอง 555)

ต้องสารภาพว่าเรามัวแต่ไปตื่นเต้นกับส่วนที่เป็นการไล่ล่ากับลุ้นว่านางเอกจะรอดไหม เรื่องจะจบยังไง เลยไม่ได้ตามเก็บพวกสัญลักษณ์ รายละเอียดหนัง แรงจูงใจอะไรต่าง ๆ โชคดีที่หลังจากหนังจบ น้องมะม่วงคนชวนมาดูสะกิดให้เรานึกถึงพวกสัญลักษณ์ทางศาสนาหรือปรัชญาที่ผู้กำกับทิ้งรอยเอาไว้ในเรื่อง แต่เพราะเราไม่ได้ตั้งใจเก็บรายละเอียดเลยเบลอ ๆ ไปบ้าง อย่างรอยลิ่มที่หัวของหลานชายน้องบอกว่าเป็นเหมือนรอยไม้กางเขน แต่ทำไมเรามองเป็นรอยมงกุฎหนามของพระเยซูไปได้หว่า ไอ้ที่บอกน้องว่าพี่ยังงง ๆ กับเรื่องอยู่นี่เรื่องจริงนะไม่ได้แกล้ง (ฮา)

นึกแล้วก็คุ้น ๆ อยู่ว่าหลังหนังจบมีการเสวนา มีผู้ชมคนหนึ่งก็พยายามตีความแรงจูงใจของฆาตกรว่าเป็นเรื่องทางศาสนา เพราะมันมีการตอกลิ่ม การจับศพแขวนเหมือนห้อยไม้กางเขน ฆาตกรแม่งยังเป็นช่างแกะสลักพระเยซูที่หน้าโบสถ์อีก พระเอกก็สืบไปจนเห็นภาพส่วนต่าง ๆ ของพระเยซูในห้องที่ฆาตกรเคยอยู่ ก็เข้าเค้า ติดอยู่นิดเดียวว่าทำไมถึงมีปากคำของผู้หญิงขายตัวคนหนึ่งบอกว่าเพราะฆาตกรมันหมดสมรรถภาพทางเพศแล้ว พวกตำรวจสืบสวนก็เลยตีความว่ามันหันมาฟินกับการเจาะกระโหลกผู้หญิงแทน เหตุผลนี้แม่งก็เข้าเค้าอีกแหละ ผู้กำกับก็ไซโคมาอีกว่า "ทุกสิ่งที่ผมใส่ในหนังมีความหมาย" ฮ่วย

เรากลับมานั่งตกผลึกอยู่วันนึงเลยนึกถึงอีกคำพูดนึงของผู้กำกับที่เค้าพูดหลังเสวนาจบประมาณว่า เค้าไม่ได้สนใจเรื่องแรงจูงใจหรือภูมิหลังของตัวละคร สิ่งที่เค้าสนใจคือมนุษย์คนหนึ่งจะตัดสินใจยังไงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้า (ประมาณนี้มั้ง) แบบนี้ก็พอเข้าใจโครงสร้างที่ผู้กำกับทำกับหนังเรื่องนี้ให้มีแต่ตัวละครสีเทา ๆ สถานการณ์ที่มันโคตรจะจริง และแรงจูงใจที่คลุมเครือ แท้จริงแล้วเค้าคงต้องการปอกเปลือกความเป็นมนุษย์ออกมา และแสดงให้เห็นว่ามนุษย์ต่างจากปิศาจตรงไหน

จุงโฮ พระเอกที่ไม่น่าจะได้ชื่อว่าเป็นพระเอกเลยเพราะไม่หล่อแล้วยังทำตัวเหี้ยมากทั้งเรื่อง (ฮา) ภูมิหลังเป็นอดีตตำรวจที่รับส่วยโดนไล่ออกเลยผันตัวมาเป็นพ่อเล้าจัดหาเด็กบริการ แต่ถึงจะเหี้ยยังไงหมอนี่ก็คงมีความเป็นมนุษย์แบบเรา ๆ ท่าน ๆ นี่แหละ รักโลภโกรธหลงประสาปุถุชน รักผลประโยชน์ตัวเองที่สุด ตอนแรกมันยังคิดอยู่ตลอดเลยว่าฆาตกรมันหลอกเด็กบริการเอาไปขายต่อ พอสืบไปสักครึ่งเรื่องถึงรู้ว่าไอ้นี่มันฆาตกรโรคจิตจริง แต่ก็ช่วยนางเอกไว้ไม่ทันแล้วเพราะหาหลักฐานไม่ทัน อัยการสั่งไม่ฟ้อง ฆาตกรมาจัดการงานที่ทำค้างไว้จนสำเร็จ

หลังจากนั้นพระเอกแม่งก็พระเอกจริง ๆ ทั้งที่มีเส้นสายกับเพื่อนตำรวจเก่า ๆ จะขอแรงมาช่วยสืบต่อหรือเป็นกองหนุนก็ได้เพราะเพื่อนมันก็อยากจับฆาตกรทั้งนั้น แต่มันก็หนีไปสืบต่อคนเดียวไปจนถึงบ้านฆาตกรพร้อมไปดวลเดี่ยวอย่างไม่กลัวถูกฆ่า เพราะคราวนี้จุงโฮไม่ได้ไปในฐานะผู้เสียผลประโยชน์เพราะเสียเด็กในเล้าเหมือนเดิม แต่ไปในฐานะผู้ชายคนหนึ่งที่อยากทวงความยุติธรรมให้ผู้หญิงคนหนึ่งโดยไม่เกี่ยงวิธีการ ฉากบีบคั้นหัวใจที่สุดคือฉากที่จุงโฮกำลังยกค้อนขึ้นเตรียมฟาดหัวคนร้ายให้สาสมกับความผิดแม้ตัวเองอาจต้องมีความผิดข้อหาฆ่าคนตาย แต่นั่นก็คือการทวงคืนความยุติธรรมในแบบของปุถุชนคนหนึ่ง พอเพื่อนตำรวจมาห้ามไว้ทัน เขาจึงมองเห็นมีจินที่เหลือแต่หัวมีน้ำไหลออกมาจากดวงตาไร้แววด้วยความรู้สึกผิดที่แก้แค้นให้ไม่ได้

ส่วนตัวฆาตกรโรคจิต หนังทิ้งปมไว้สองทางว่าแรงจูงใจคืออะไร แต่ดูจะหนักไปทางศาสนามากกว่าเพราะค่อนข้างเน้นหลายฉาก แต่ที่สุดแล้วเราว่าไม่สำคัญเท่าไรนัก เพราะไม่ว่าจะฆ่าคนด้วยเหตุผลสูงส่งเช่นการคลั่งลัทธิศาสนา หรือจะฆ่าด้วยเหตุผลต่ำ ๆ อย่างจู๋ไม่แข็งเลยเครียด ที่สุดแล้วมันก็คือการกระทำของคนที่ละทิ้งความเป็นมนุษย์ไปแล้วนั่นเอง หรือก็คือปิศาจในคราบมนุษย์ที่ต้องการฆ่าคนโดยยกสารพัดเหตุผลมาบังหน้า

The Chaser จึงเป็นหนังที่น่าจะเป็นการพาผู้ชมเข้าไปไล่ล่าสำรวจแก่นกลางความเป็นมนุษย์ของตนเองว่าท่ามกลางความรักโลภโกรธหลงอย่างปุถุชนของเรา เราค้นพบความเป็นมนุษย์หรือเป็นปิศาจที่ไล่ล่าคนอื่นด้วยสารพัดข้ออ้างที่เรียกว่าเหตุผล ไม่ว่าเปลือกนอกเราจะเป็นคนเหี้ย ๆ อย่างไร แต่ถ้าแก่นกลางในใจเราพร้อมจะจับมือน้อย ๆ ไร้ที่พึ่งในคืนฝนพรำอย่างที่พระเอกทำในตอนจบ เราก็คงยังเป็นมนุษย์อยู่ แต่ถ้าเมื่อไรเราอยากจะตอกลิ่มใส่คนอื่น ไม่ว่าจะมีเหตุผลสูงส่งเพียงใดหรือแม้แต่ไม่มีเหตุผลเพียงพอ เราก็คงกลายเป็นปิศาจไปแล้ว

ไม่น่าเชื่อว่านี่เป็นผลงานเรื่องยาวเรื่องแรกของผู้กำกับ หรือถ้าเป็นผลงานเรื่องแรกจริง ผู้กำกับก็คงได้เรียนรู้มนุษย์มาไม่น้อยเลยจึงถ่ายทอดความเป็นมนุษย์ออกมาได้เข้มข้นแบบนี้ทั้งที่ไม่ใช่หนังดราม่า แต่จะว่าเป็นผลงานเรื่องแรกก็น่าเชื่ออยู่เพราะมีบางจุดที่ดูจะบังเอิญและจงใจหลายส่วนเพื่อให้เรื่องกระชับและไปต่อได้เร็ว ๆ หรือเพิ่มความดราม่า อย่างจู่ ๆ สองตัวเอกก็ขับรถมาชนกันเลยไม่ต้องหาตัวละ นางเอกหลบมาอยู่ร้านสะดวกซื้อดันเจอเจ้าของร้านปากเปราะซวยอีกกู หรือลูกสาวนางเอกเดินหลงไปโดนใครฟาดหัวก็ไม่รู้ คงเพื่อให้พระเอกเซ็นรับเป็นลูกเพิ่มความดราม่าเข้าไปอีกหน่อยมั้ง (ฮา) แต่ชีวิตเราแม่งก็อาจจะมีแต่เรื่องบังเอิญแบบนี้เกิดขึ้นจริงก็ได้ ชีวิตถึงมีเรื่องราวให้เล่าได้

ส่วนเรื่องความเป็นทริลเลอร์ การมีภูมิหลังและแรงจูงใจของตัวละครไม่ชัดเจนนักไม่รู้ว่าจะเป็นข้อดีหรือข้อเสีย แต่ก็อย่างว่า ถ้ามีภูมิหลังและแรงจูงใจให้เห็นมากไป มันจะกลายเป็นตัวละครในหนังทริลเลอร์ฝรั่งซึ่งจบแล้วก็จบเลย ไม่ใช่มนุษย์จริง ๆ แบบที่เรายังติดค้างและขบคิดกับมันมาจนถึงวันนี้

๘ กันยายน ๒๕๕๘

วันศุกร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2558

เงาภาพซิลลูเอตต์

ระเบียงห้องเช่าโกโรโกโสคือกรอบรูปบรรจุภาพแสงแรกเร้ารึงความคะนึงหา
ริ้วเมฆน้ำเงินอมม่วงหม่นสลับกับแสงเรื่อแดงดังเปลวเพลิงใกล้มอดดับ ฉาบทาด้วยหมอกมืดที่ค่อยจางลงจากแสงสีทองอุ่นเรืองที่ถักทอขึ้นมาจากขอบฟ้าอีกฟากฝั่ง
ขาดก็แต่เพียงใครคนหนึ่งยืนอยู่ที่ระเบียง มองกลับมาอย่างแสนรัก ซ่อนรอยยิ้มหวานเบาบางไว้ในเงาภาพซิลลูเอตต์สมบูรณ์แบบ
ฉันอาจไม่มีวันได้เห็นภาพนั้นด้วยสองตาเปื้อนรอยน้ำตาอุ่นชื้นรื้นจาง
แต่ฉันเชื่อหมดหัวใจว่า นั่นคือรอยยิ้มที่งดงามที่สุดในโลกหม่นเศร้านี้


ก.ย. ๒๕๕๘

วันพุธที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2558

ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต / วีรพร นิติประภา


จริง ๆ เล่มนี้อ่านจบนานมากตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว แต่ต้องทำใจอยู่หลายเดือนเหมือนกันกว่าจะกล้าเขียนถึง เพราะจำได้ว่าหลังอ่านจบเราจิตตกถึงขนาดไม่พูดกับใครไปสองสามวัน กลายเป็นตะกอนความเศร้าขนาดใหญ่ที่ตกค้างในใจ เผลอกวนให้ตะกอนมันฟุ้งขึ้นมาทีไรก็ทำให้ปวดร้าวขึ้นมาทุกครั้ง แต่เพื่อฉลองที่เล่มนี้เป็นหนึ่งในเก้าเล่มสุดท้ายรางวัลซีไรต์ก็เลยถือโอกาสเขียนถึงเสียเลย


พอนึกย้อนไปถึงเล่มนี้ เราคิดถึงสองเรื่องที่ดูไม่น่าจะเกี่ยวกับนิยายเล่มนี้เลย เรื่องแรกคือคำพูดที่เรามักจะบอกเด็กที่เรียนวิชาการเขียนย่อหน้าอยู่เสมอว่า ขนาดของความคิดจะเป็นตัวกำหนดขนาดของบทเขียนเสมอ ยิ่งความคิดของเราใหญ่และซับซ้อนมากขึ้นเท่าไร บทเขียนก็จะยาวและโครงสร้างก็จะซับซ้อนมากขึ้นเท่านั้น

หลังอ่านนวนิยายเรื่องนี้จบ เราไม่รู้ว่าคนเขียนแบกรับมวลความเศร้าก้อนใหญ่และซับซ้อนขนาดนี้ไว้ได้อย่างไร ยิ่งกว่านั้นคือต้องแบกรับมันจนกระทั่งเขียนนิยายเรื่องนี้จบลง ซึ่งระหว่างทางที่แบกรับต้องจาริกเข้าไปในความรู้สึกร้าวรานของตัวเอง ต้องใช้ไปกี่บาดแผลทางใจที่จะเค้นเอาความเศร้าออกมาในแต่ละตัวอักษร หลังอ่านจบ เรารู้ว่าความยาวของบทเขียนความเศร้าเรื่องนี้ไม่ได้มีแค่ 256 หน้าเท่าที่มีในเล่ม แต่คือสิ่งที่ไม่ได้เขียนอีกหลายร้อยหลายพันหน้าซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัด

เรื่องที่สองซึ่งยิ่งไม่เกี่ยวกับนวนิยายเล่มนี้คือเรานึกถึงการบรรยายฉากเวลาจะออกรบในเรื่องรามเกียรติ์ฉบับรัชกาลที่ 1 เวลาที่แต่ละตัวละครจะออกรบจะมีแพทเทิร์นคือจะต้องอาบน้ำ แต่งองค์ทรงเครื่อง นั่งรถศึกชิลล์ ๆ ชมนกชมไม้ก่อนจะถึงสมรภูมิ ไม่ว่าจะเป็นศึกที่มึงควรจะรีบไปแค่ไหน น้องถูกฆ่าตาย-ทหารมาแจ้ง-ฮึ้ยกูโกรธทนไม่ไหว แต่สุดท้ายมึงก็ต้องไปอาบน้ำ แต่งองค์ทรงเครื่อง นั่งรถศึกชิลล์ ๆ ชมนกชมไม้ก่อนจะถึงสมรภูมิอยู่ดี สิ่งที่น่าสนใจคือไม่ว่าฉากแพทเทิร์นพวกนี้มีเนื้อหาซ้ำกันมากแค่ไหน แต่กวียุคนั้นเก่งมากที่เขียนบรรยายแทบไม่ซ้ำกันเลย เรียกว่าคอนเทนต์เดิมแต่เปลี่ยนดีไซน์ได้ดีไม่น่าเบื่อ

ตอนอ่านนวนิยายเล่มนี้ พอเข้าฉากเศร้า เรากลับทึ่งเหมือนตอนอ่านฉากซ้ำในรามเกียรติ์ ใช่ ตอนนี้เศร้า ตอนนี้ก็เศร้าอีกแล้ว แต่คนเขียนเขียนถึงความเศร้าได้ไม่ซ้ำเลย เราจึงเพิ่งรู้ว่าความเศร้ามีเป็นร้อยเป็นพันเฉดสีขนาดนี้

ถ้าจะจำกัดความ นวนิยายเล่มนี้คือกลุ่มก้อนของมวลความเศร้าขนาดใหญ่หลายร้อยหลายพันเฉดสี นวนิยายที่จะกระตุ้นตะกอนความเศร้าประดามีที่เก็บไว้ในใจให้ฟุ้งขึ้นมาจนน้ำตารื้นหรือสะอึกสะอื้นอีกครั้ง

เราไม่แปลกใจถ้าคนรุ่นหนึ่งอ่านแล้วอาจไม่เข้าใจว่าตัวละครตัวนี้ทำไมทำแบบนี้ บางสิ่งบางอย่างไม่สมเหตุสมผล บางความเศร้าไม่เห็นต้องเศร้าเลย เช่นว่า

"เธอเป็นหญิงสาวหน้าตาธรรมดา ท่าทางธรรมดา ผู้ซึ่งจะยืนมองท้องฟ้าทุกเช้าระหว่างรอรถเมล์ตอนเขายังเรียนมหาวิทยาลัยอยู่ เขาไม่เคยคิดจะทำความรู้จักกับเธอ ไม่เคยคิดจะตามเธอขึ้นรถไป ไม่เคยอยากรู้ว่าเธอเป็นใคร ทำอะไร อยู่ที่ไหน มาจากไหนหรือกำลังจะไปไหน เขาพอใจแค่จะมองเธอเช่นนั้น...ยืนหลังตรง มีมือจับอยู่ที่สายกระเป๋าซึงพาดเฉลียงกลางอกเหมือนปฏิญาณตน เงยหน้ามองขึ้นบนท้องฟ้าเรื่อราง กลางเมืองฝันสลาย

"เขาแค่อยากมีเธอให้ยืนมองเช่นนั้นไปทุกเช้า ไม่มากกว่านั้น ไม่น้อยกว่านั้น แล้วเธอก็หายไป เขารอ แต่เธอไม่เคยมาอีก เขาไม่อยากไปโรงเรียน ไม่อยากเห็นซีกเสี้ยวเซียวซีดของท้องฟ้ายามเช้า และรู้สึกเหมือนมีก้อนหินหนัก ๆ กดทับอยู่ข้างใน อยู่มาวันหนึ่งก้อนหินนั่นก็หายไปด้วยเช่นกัน หลงเหลือไว้แต่หลุมโพรงว่างเปล่าตรงที่มันทับอยู่...ข้างในหลุมโพรงว่างเปล่าที่อยู่ข้างในหลุมโพรงว่างเปล่าที่อยู่ข้างในหลุมโพรงว่างเปล่า หลุมอื่น ๆ" (น.91)

สำหรับคนรุ่นหนึ่ง แค่คนแปลกหน้าที่ไม่แม้แต่รู้จักชื่อหายไปจากชีวิตจะเป็นความเศร้าได้อย่างไร แต่สำหรับคนในยุคสมัยอันแสนเปราะบางอย่างยุคของเรา เรารู้ว่านี่คือความเศร้าและเจ็บปวดที่สมเหตุสมผลที่สุดแล้ว

สิ่งเดียวที่รู้สึกว่าเบาบางไปสักหน่อยคือบทบาทของชลิกา เส้าที่สามของความรักสามเส้าครั้งนี้ แม้จะรู้ว่าสิ่งที่ไม่ได้พูดในนิยายต่างหากที่เศร้านักหนา แต่เราก็อยากให้ชลิกามีเสียงมากกว่านี้สักหน่อยเพราะรู้สึกว่าเรากับชลิกามีอะไรคล้ายกันหลายอย่าง

ไม่ว่าเล่มนี้จะได้ประดับตราซีไรต์หรือไม่ แต่การที่ "นวนิยายรักน้ำเน่าฉบับมาตรฐาน" (จากคำนำสำนักพิมพ์) มาได้ถึงขนาดนี้ก็นับว่าสมฐานะนวนิยายรักชั้นดีแล้ว นวนิยายรักในโลกนี้มีมากมายมหาศาล แต่เล่มที่จะตราตรึงหัวใจเราคงมีไม่กี่เรื่อง และเราคิดว่าเล่มนี้คือหนึ่งในนั้น

สิ่งที่ต้องเตือนอย่างเดียวก่อนอ่านคือนวนิยายเล่มนี้อาจไม่เหมาะกับคนที่มักจะเอาความเศร้าเบาบางเป็นเพียงอาหารหวานหล่อเลี้ยงหัวใจ เพราะมันเศร้าขมเหมือนยาแรง กินไม่ระวังจะน็อคเอาง่าย ๆ เว้นแต่จะมีรสนิยมชื่นชอบการเฆี่ยนตีหัวใจตัวเองด้วยความรวดร้าว

=======================
Quotations: (จริง ๆ มีโควตสวย ๆ เยอะมาก ถ้าเอามาทั้งหมดก็คือลอกทั้งเล่มมา (ฮา) เลยคัดมาแต่ของตัวละครชื่อปราณละกัน เพราะเรารู้สึกว่าเข้าใจความเจ็บปวดของปราณมากที่สุดนะ)

รอยยิ้มพรายไร้ที่มา มิตรภาพลึกรางผาดเผิน ความบังเอิญเหนือจริง กับหญิงสาวที่ซ่อนครึ่งใบหน้าเอาไว้ในเงาสลัว แค่นั้นก็เพียงพอที่เขาจะปล่อยหัวใจให้ล่มสลายลงในปลายคืน...บางคืน แล้วยอมให้ใครสักคนซึ่งไม่เคยเห็นหน้ามาก่อนพาเขาไปยังห้องหับหลับนอนที่ไม่เคยไป เป็นคู่รักชั่วคราวครั้งละคืนหรือสองของหญิงสาวมากหน้าหลายตา เพื่อจะมาค้นพบเอาบัดนี้...ในอายุยี่สิบหกว่าการกอดรัดฟัดเหวี่ยงคนแปลกหน้ากับอัตกามว่างเปล่าบนเรือนร่างกันและกันของคนสองคน พาเขาดั้นด้นไปไกลได้แค่ไม่ต้องตื่นแต่ลำพังบนผ้าปูที่นอนซึ่งยังเรียบตึงเท่านั้น (น. 53)

ระหว่างหลายปีที่ผันผ่าน ปราณเขียนเพลงให้ครอบครัวของเขาเอาไว้หลายเพลง...แต่เขาก็ได้แต่เก็บซ่อนบทเพลงพวกนั้นเอาไว้ในใจ ไม่เคยเล่า ไม่เคยเล่นให้ใครฟัง และไม่เคยกลับไปเยี่ยมบ้านแม่น้ำอย่างที่ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้กับชลิกา เมื่อสิ่งหนึ่งเปลี่ยนไป ปราณก็อดไม่ได้ที่จะกลัวว่าสิ่งอื่น ๆ ที่เหลืออยู่จะเปลี่ยนตาม สู้ทิ้งทุกอย่างเอาไว้ที่เก่า...ตรงที่พรากจาก โดยไม่แตะต้องเลยดีกว่า ทิ้งมันเอาไว้อย่างนั้น ที่ไหนสักแห่งลึกร้างกลางแก่นใจ แล้วบอกตัวเองให้เชื่อให้ได้ว่ามันจะคงอยู่คงเป็นเช่นนั้น ไม่มีวันเปลี่ยนแปร (น. 147)

เธอแตะรอยแตกบนริมฝีปากเบา ๆ ด้วยปลายนิ้ว ปราณเบือนหน้าหนี รวดร้าวบิดริ้วขึ้นข้างใน ไม่รู้จะบอกเธออย่างไรว่าเขายังเจ็บ ไม่ใช่ตรงนั้น แต่ลึกลงไป ไม่ได้บอกว่าเขาเจ็บแค่ไหน ไม่ได้บอกว่าเขาทำอย่างไรกับความเจ็บปวดนั่น ไม่ได้บอกเธอว่าชั่วขณะหนึ่งเขาลืมตัวไปว่าเป็นใคร เดียวดายมาอย่างไร ฟันฝ่าชีวิตมาแบบไหน เคยผ่านอะไรต่อมิอะไรมามากมายเพียงใด ก่อนจะมาฟั่นเฟือนเลอะเทอะ...ว่าเขามีใคร (น. 186)

ในโลกที่ไม่มีอะไรน่าประทับใจให้จดจำ เขาแทบนึกไม่ออกด้วยซ้ำว่าจะลืมเธออย่างที่ตั้งใจได้อย่างไร จนกระทั่งได้พบผู้ชายอังกฤษที่เดินทางมารอบโลกเพื่อติดตั้งระบบไฟฟ้ารอบกรงหมีให้กับสวนสัตว์คนหนึ่ง ซึ่งเขาเล่าให้ฟังว่าเวลาหมีที่ขังโดนลูกกรงไฟฟ้าชอร์ตเจ็บเอาหลาย ๆ ครั้ง พวกมันจะเรียนรู้ที่จะไม่ไปใกล้ที่ตรงนั้นอีกโดยสัญชาตญาณ จนแม้เมื่อเอาสายไฟหรือกระทั่งลูกกรงออกตลอดชั่วอายุขัย... พวกมันก็จะไม่ยอมกลับไปเฉียดกรายเข้าใกล้บริเวณนั้นอีกเลย

เขาจึงไปหาเข็มหมุดมาพกติดตัวเอาไว้เล่มหนึ่ง ทุกทีที่คิดถึงเธอขึ้นมา ปราณก็จะเอาเข็มนั่นทิ่มแทงปลายนิ้วตัวเองหลาย ๆ ครั้ง ในช่วงแรก ๆ เขาถึงกับรับงานเล่นดนตรีไม่ได้เพราะปลายนิ้วระบมจนกดสายกีตาร์ไม่ไหว แล้วยังเผลอเอาเข็มนั่นข่วนขูดอกตนจนเป็นลายเลือดพร้อยด้วยหลายหนเมื่อทนถูกความโหยหากลุ้มรุมกัดกินไม่ไหวในบางคืน แต่ต่อมาเวลาคิดถึงเธอเขาก็จะเริ่มรู้สึกเจ็บปลายนิ้วขึ้นมาเองเฉย ๆ โดยไม่ต้องใช้เข็มทิ่ม และในที่สุดก็รู้สึกเจ็บขึ้นมาเองล่วงหน้าตั้งแต่ก่อนจะเริ่มคิดถึงเธอเสียอีก ซึ่งทำให้เขาสามารถรีบหาอะไรหมกมุ่นทำตัดหน้าเพื่อหลบเลี่ยงตัดรอนการต้องคิดถึงเธอลงไปได้ทีละน้อย และยิ่งระยะห่างระหว่างการคิดถึงเธอแต่ละครั้งถูกถ่างถอยออกกว้างเท่าไร ความทรงจำเกี่ยวกับเธอก็ยิ่งเลือนรางจางลงเท่านั้น (น. 237)

------------------------------------------
วีรพร นิติประภา. ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556.