วันศุกร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2559

จดหมายถึงเพื่อน / กนกพงศ์ สงสมพันธุ์


เล่มนี้อ่านจบมาหลายเดือนแต่ยังไม่ได้รีวิวซะที ทำให้รู้สึกเหมือนติดค้างพี่กนกพงศ์อยู่เล็กน้อย วันนี้พอจะมีเวลาเลยเขียนเก็บไว้เป็นความประทับใจเล่มหนึ่งส่งท้ายปีก็แล้วกัน

"จดหมายถึงเพื่อน" คือหนังสือรวบรวมจดหมายที่กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ นักเขียนหนุ่มตลอดกาลเขียนถึงเพื่อนรักอย่างขจรฤทธิ์ รักษา เนื้อหาพูดถึงเรื่องราวในวงการวรรณกรรม หนังสือหนังหาที่กนกพงศ์อ่าน กิจกรรมของนักเขียนหนุ่ม เพื่อนรักเพื่อนร้ายประดามี และเรื่องสัพเพเหระอื่น ๆ ที่เราจะเข้าใจกนกพงศ์มากขึ้นโดยไม่ต้องตามอ่านระหว่างบรรทัดเหมือนในเรื่องสั้น

อ่านเล่มนี้จบ แวบแรกที่เรานึกถึงก็คือเรื่องสั้นที่ไม่เคยตีพิมพ์มาก่อนของกนกพงศ์ที่สำนักพิมพ์นาครเอามาตีพิมพ์ในราหูอมจันทร์เล่มต้น ๆ ที่พูดถึงเพื่อนนักเขียน เพื่อนกวีในละแวกบ้าน ในที่สุดเราก็ได้กระจ่างว่าเพื่อนเหล่านี้เป็นใคร สำคัญอย่างไรถึงโผล่อยู่ในเรื่องสั้นที่ไม่เคยตีพิมพ์ของกนกพงศ์อยู่บ่อย ๆ

แวบที่สอง นึกถึงเรื่องสั้น "พิธีเลื่อนยศให้กับผู้พันแซนเดอร์ส" ของพี่ขจรฤทธิ์ที่ตีพิมพ์ในราหูอมจันทร์เล่มแรก อ่านตอนนั้นไม่รู้ว่าพี่เขียดแกแดกดันใครรู้แต่อ่านแล้วขำมาก คงจะเป็นเรื่อง "รู้กัน" ระหว่างแกกับกนกพงศ์ หลังจากอ่านจดหมายพวกนี้ ถ้ากลับไปอ่านเรื่องนั้นอีกรอบคงขำกว่าเดิม

แวบที่สาม ในเล่มอัดแน่นด้วยการเล่าถึงบรรยากาศความซบเซาของวงการวรรณกรรมในยุคที่ "ปราบดา" และ "วินทร์" ยังถือเป็น "เมนสตรีม" อยู่เลย ถ้ากนกพงศ์มีชีวิตยืนยาวมาจนถึงปัจจุบัน ได้เห็นการต่อแถวยาวเป็นกิโลเพื่อซื้อหนังสือของนักเขียนเบสต์เซลเลอร์อย่างนิ้วกลม ได้เห็น "กาละแมร์" ขึ้นปกนิตยสารไรต์เตอร์ (แถมยังขายดีจนพิมพ์ครั้งที่สอง) ไม่รู้ว่า "บรรณาธิการรุ่นที่สอง" อย่างกนกพงศ์จะพูดกับ "บรรณาธิการผู้ก่อตั้ง" อย่างพี่ขจรฤทธิ์ว่าอย่างไรบ้าง จดหมายถึงเพื่อนจะแซบกว่านี้สักกี่ร้อยดีกรี

เล่มนี้อาจไม่ใช่หนังสือประเภทที่คนอยากเป็นนักเขียนอ่านแล้วจะเกิดกำลังใจ ยิ่งคนที่เขียนหนังสือแนว "ขายยาก" แบบแกอ่านแล้วคงจะใจเสียมากกว่าเกิดแรงฮึด เพราะขนาดมือกระบี่เรื่องสั้นอันดับต้น ๆ ของแผ่นดินอย่างกนกพงศ์ก็ยังมีความท้อแท้ ความอึดอัด ความเศร้า ความผิดหวังบางอย่างที่ระบายอย่างตรงไปตรงมากับเพื่อน อ่านแล้วก็สะท้อนใจว่า นี่ขนาดเจ้าสำนักวรรณกรรมเพื่อชีวิต (คนสุดท้าย) อย่างกนกพงศ์ยังท้อบ้างบางจังหวะ แล้วลูกกระจ๊อกอย่างเราจะเหลืออะไรให้หวังได้บ้างวะ (ฮา)

แต่หากอยากอ่านเพื่อรู้จัก Last Man Standing ของวงการวรรณกรรมเพื่อชีวิตแบบไม่ต้องตามเก็บระหว่างบรรทัด หนังสือเล่มนี้ก็ถือว่าตอบโจทย์ในการเปิดเปลือยตัวตนบางส่วนของกนกพงศ์ให้เรารู้จัก-ศึกษาเพื่อจะเข้าใจนักเขียนหนุ่มตลอดกาลมากขึ้น นอกจากนี้จดหมายเหล่านี้ยังเป็น "บทบันทึกประวัติศาสตร์" ของวงการวรรณกรรมในช่วงที่กนกพงศ์ยังมีชีวิตอยู่ (หรืออาจจะเรียกว่าเป็นบทบันทึกประวัติศาสตร์วรรณกรรมเพื่อชีวิตยุคสุดท้ายก็ได้ ถ้านับว่ากนกพงศ์เป็นนักเขียนเพื่อชีวิตคนสุดท้าย) หรือที่จริงถ้าไม่คิดอะไรมาก อ่านเล่น ๆ ก็สนุกมากอยู่แล้ว เพราะกนกพงศ์ก็เขียนจดหมายได้น่าอ่านพอ ๆ กับเรื่องสั้นที่เขาเขียนนั่นแหละ
------------------------------------------
Quotations:

เมื่อมีการรวบรวม “จดหมายถึงเพื่อน” ออกมาเป็นเล่ม ผมก็ยังหวังแบบเดียวกับที่ไพวรินทร์พูดไว้ที่กระทรวงศึกษาธิการในวันที่เรารำลึกถึงกนกพงศ์ว่า หากได้บันทึกถึงสิ่งที่เราได้พูดคุยกับกนกพงศ์นั้น มันมีมุมมองความคิดที่นำมาใช้อธิบายเรื่องต่าง ๆ ได้มากมาย สิ่งเหล่านี้อยู่ในขั้น “จินตนาการ” คือมันอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคตของสังคมเราด้วย เหมือนเรื่องสั้น “โลกใบเล็กของซัลมาน” ที่บอกถึงการแย่งชิงทรัพยากรที่ทุนกระทำต่อคนพื้นเมือง ซึ่งวันนี้ไม่เพียงแต่ที่กระบี่ ที่มีการปิดล้อมอารยธรรมดั้งเดิมให้ขาดลมหายใจ แม้แต่สุสานสาธารณะที่ฝังศพของชาวเกาะสิเหร่มานับพันปี ก็ถูกนายทุนยึดครอง (ไม่ต้องบอกว่าเป็นนายทุนพรรคการเมืองไหน) หรือในเรื่องสั้น “สะพานขาด” ในฉากที่รถถังในนามกองทัพของประเทศแล่นมาถึงสะพาน ทางขวาคือบ้าน ทางซ้ายคือนาข้าว เมื่อรถถังเลือกเคลื่อนสายพานตัดผ่านนาข้าวในฤดูพรรษานั้น กนกพงศ์ตั้งคำถามว่ากองทัพเป็นใคร ใหญ่กว่าพระพุทธเจ้าหรือไร พระพุทธเจ้ายังสั่งสาวกมิให้แม้แต่เหยียบย่ำด้วยเท้าน้อย ๆ แน่นอน... ในระยะที่ผ่านมา วาทกรรมการพัฒนาได้รุกรานคนเหล่านี้อย่างหนัก เสาไฟฟ้าแรงสูง เขื่อน ถนน ล้วนปักลงบนกลางหัวใจคนเหล่านี้ทั้งสิ้น หากเราไม่ติดเรื่องฉากและสถานที่ นำเอาเรื่องเหล่านี้มาใช้ในระดับ “จินตนาการ” มันจะอธิบายสังคมได้อย่างลึกล้ำ ผมยกงานเก่า ๆ สมัยที่ความคิดความอ่านของเขายังนิ่ม ๆ มาเป็นตัวอย่างเพื่อง่ายแก่ความเข้าใจ
(คำนิยมของเจน สงสมพันธุ์ หน้า 9)
-----------
จึงไม่เป็นเรื่องแปลกที่หนังสืองานศพของคนส่วนใหญ่หรือทั้งหมดในโลกนี้จึงมีแต่เรื่องดี ๆ ที่ได้กระทำไว้ ส่วนเรื่องชั่ว ๆ เช่น โกง ทรยศ หักหลัง หรือมักมากในกามนั้น ไม่จำเป็นต้องบันทึกไว้ ปล่อยให้เวลามันค่อยทำลายประวัติศาสตร์ส่วนนี้ไปอย่างช้า ๆ ไม่นานคนบนโลกใบนี้ก็จะลืมไปเองว่าเขาได้ทำกรรมชั่วอะไรไว้บ้าง อีกสิบปีหรืออีกร้อยปีต่อมา ถ้าอยากจะอ่านเรื่องของเขา อยากรู้รายละเอียดของชีวิตเขา เราก็จะได้อ่านแต่เรื่องดี ๆ
(คำนำของขจรฤทธิ์ รักษา หน้า 13)
-----------
ญี่ปุ่นไม่มีวงการวรรณกรรม มันเป็นอาชีพหนึ่ง ธุรกิจหนึ่ง ซึ่งเป็นมาแต่ไหนแต่ไร เขาเองยังแปลกใจที่มาอยู่เมืองไทยแล้วเห็นว่ามีงานวรรณกรรมเยอะมาก นักเขียนก็แห่กันไปร่วม แต่วรรณกรรมกลับไม่เจริญรุ่งเรือง ที่ญี่ปุ่นโอกาสน้อยมากที่นักอ่านจะได้เจอนักเขียน และยิ่งน้อยลงไปอีกกับโอกาสที่นักเขียนจะมาเจอนักเขียนด้วยกัน ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างทำงาน ไม่สัมพันธ์เกี่ยวข้องใด ๆ กัน

...ชาวญี่ปุ่นคนนั้นเขายิ่งงงที่ผมบอกว่า ตอนนี้วรรณกรรมไทยมีปัญหา เพราะวรรณกรรมแปลเข้ามาตีตลาด เขาไม่เข้าใจว่าคนไทยเปรียบเทียบได้อย่างไรว่าวรรณกรรมแปลดีกว่าวรรณกรรมไทย ในเมื่อสำหรับชาวญี่ปุ่น แม้จะยอมรับว่างานของตอลสตอยหรือดอสโตเยฟสกี้นั้นยอดเยี่ยม แต่มันก็ยอดเยี่ยมแบบรัสเซีย เหมือนที่เฮมิงเวย์ก็ยอดเยี่ยมแบบอเมริกา ญี่ปุ่นเองก็ต้องมียอดเยี่ยมของเขา ซึ่งไม่อาจไปแข่งขันกับใครได้ และใครจะมาแข่งก็ไม่ได้
(หน้า 25)
-----------
ไม่ใช่เหตุผลหรอกครับที่บอกว่า ก็วรรณกรรมสมัยใหม่ของเราเริ่มมาได้แค่ร้อยปีกว่า ๆ เท่านั้นเอง มันเป็นข้ออ้างเพื่อไม่ต้องรับผิดชอบกับความรู้สึกหดหู่เสียมากกว่า ผมว่าร้อยปีมันก็เยอะพอสมควรในการพัฒนาอะไรไป มันควรไปไกลกว่านี้ แต่นี่กลายเป็นว่า เรายังอยู่กันที่ก้าวแรกอยู่เลย ร้อยปีของเรากับห้าสิบปีหรือยี่สิบปีแทบไม่ต่างกัน ในเมื่อถึงวันนี้ คุณกับผม กับใคร ๆ อีกหลายคน ยังเขียนหนังสือกันด้วยความรู้สึกว่า เราต้องสร้างงานเพื่อเป็นรากฐานของวรรณกรรมไทยอยู่เลย ผ่านไปร้อยกว่าปีแล้ว เรายังทำหน้าที่เดินขนดินมาถมพื้นเพื่อสร้างบ้านกันอยู่เลย
(หน้า 27)
-----------
การเขียนหนังสือเล่มใหญ่ไม่ใช่เรื่องง่าย หนังสือใหญ่สร้างพันธะแก่คนอ่านโดยปริยายของมันอย่างหนึ่งว่า เมื่อจบแล้วมันต้องมีอะไรติดอยู่ในหัว ประทับในอารมณ์ พื้นที่มากมายมหาศาลของตัวหนังสือนั่น มันต้องมีอะไรสักอย่างสิน่า ดูได้เลย งานเขียนเล่มใหญ่ ๆ โดยเฉพาะฉากรัสเซีย แม้เราจะรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง แต่เมื่ออ่านจบไป มันจะมีบางอย่างที่เรารู้สึกหนัก ๆ ตกค้างอยู่ รู้สึกเหมือนโดนทุบหัว ฟลิกเกอร์ไม่ได้ให้ความรู้สึกนั้น ความน่าเบื่อมันเกิดมีขึ้นเสียก่อน เมื่อเกิดความน่าเบื่อเสียแล้ว ข้างหน้าก็มีแต่ความล้มเหลว
(หน้า 37)
-----------
ข่าวครูในโรงเรียนของเมียเขานินทาเขาเข้าหูผมบ่อย แน่ละ ในสังคมครูย่อมมีการแข่งขัน อิจฉาริษยา และตั้งข้อรังเกียจ เมียของเขามีผัวเป็นนักเขียน ได้ช่วยเขียนตำรา แล้วเมียของเขาก็เอาไปโม้ข่มคนอื่น เท่าที่เป็นอยู่นี้ ผมถือว่าศักดิ์ศรีของนักเขียนเสียหายไปมากแล้ว ครูคนอื่น ๆ ก็เข้าใจว่า อ๋อ นักเขียนก็เป็นอย่างนี้เอง ไม่ได้วิเศษวิโสอะไร ช่วยเมียทำอาจารย์สาม เป็นการเอาเปรียบคนอื่น โดยตรรกะที่ว่า ผมก็เป็นนักเขียน ผมอาจพลอยเสื่อมไปด้วยก็ได้ เพราะยังไงผมก็เป็นเพื่อนของเขา เป็นพวกนักเขียนด้วยกัน
(หน้า 46)
-----------
แต่ผมเห็นว่าวิกฤติวรรณกรรมที่เป็นอยู่นี้ก็เพราะนักเขียนเราไม่ยอมทำงานกัน แล้วก็พูดให้ฟังว่า ธุรกิจหนังสือเป็นอย่างไร สายส่ง ร้านหนังสือเป็นอย่างไร จุดใหญ่ใจความอยู่ที่การยึดครองแผงของหนังสือแปล เพราะพวกเราไม่ยอมทำงานกัน

ได้เวลาหกโมง ผมสรุปจบลงตรงที่ว่า การแก้วิกฤตินี้มีอยู่ทางเดียว คือเราต้องช่วยกันทำงานเสียก่อน ไอ้จะไปเย้ว ๆ ส่งเสริมหรือกระตุ้นการขายนั้นเสียเวลา หนึ่ง เราจะขายอะไร ในเมื่อไม่มีสินค้าไปขาย สอง การเย้ว ๆ แบบนั้น แทนที่จะได้เขียนกันบ้าง ก็กลับไม่ได้เขียน มันจะยิ่งวิกฤติไปกันใหญ่
(หน้า 50-51)
-----------
ในสถานการณ์ตลาดวรรณกรรมบ้านเราเป็นแบบนี้ มันคงเสี่ยงพอสมควรกับการฝากชีวิตไว้กับการเขียนหนังสือแต่เพียงอย่างเดียว จะทำอย่างไรล่ะครับ หากเราไม่มีคนอ่าน ผมสะทกสะท้อนพอสมควรกับความคิดที่ว่า คนอ่านได้เปลี่ยนรุ่นไปแล้ว จริงเท็จอย่างไรไม่รู้ แต่ผมมักแวบความรู้สึกขึ้นอย่างนั้น จากที่เมื่อก่อนผมเคยเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า ขอเพียงเราเขียนดี งานมีคุณภาพ และยืนหยัดอย่างต่อเนื่อง เราก็จะมีคนอ่านของเราเอง ซึ่งคงไม่ได้หมายถึงร่ำรวย เป็นเบสต์เซลเลอร์ ขอเพียงแค่พออยู่ได้ ผมหวังแค่นั้น และเชื่อมั่นเช่นนั้น แต่ถึงวันนี้เขียนดีอาจไม่เป็นคำตอบ ในเมื่อทุกอย่างมันเป็นเทรนด์ เป็นกระแส โลกตกอยู่ในยุคของการโฆษณา เราจะเขียนหนังสือกันไปเงียบ ๆ แล้วปล่อยให้ผลงานไปหาคำตอบของมันเอาเองยังไงก็เสี่ยง
(หน้า 71)
-----------
นับวัน ต่อสิ่งที่ผมประจักษ์ด้วยตนเอง ผมจึงยิ่งเสียดายเพื่อนนักเขียนที่เป็นครูของผมทุกคน ไปติดกับดักทางความคิด ที่ส่งผ่านมาจากส่วนกลาง เขาคิดว่าสังคมเป็นโพสต์โมเดิร์น จึงพยายามเกาะติด ขณะที่ผมมองเห็นว่า ที่แท้พวกเขาตกเป็นทาสทางความคิดของนักวิชาการจากส่วนกลาง แค่นั้นเอง

...ที่ว่าน่ากลัวก็คือ เขาไม่รู้ ไม่เฉลียวใจว่า กรอบความคิดย่อมมีผลต่อพฤติกรรมในชีวิตจริง ทุกวันนี้ครูอะไรต่าง ๆ ที่เป็นนักวิจัยเหล่านี้ กลายเป็นห่างเหินจากเพื่อนบ้านร่วมพื้นที่ ร่วมสังคมโดยสิ้นเชิง มองเพื่อนบ้านโง่เง่า ด้อยพัฒนา กักขฬะ ไม่ได้เรื่องไปเสียหมด วางตัวเป็นนักวิชาการ ไม่สัมพันธ์คบหา

ผมอยู่ในสถานที่เดียวกันนี้ ทำตัวเสมือนน้ำ และอยู่ในที่ต่ำ ผมจึงได้ยินคำนินทาว่าร้ายจากชาวบ้านถึงนักวิชาการของเรามากเหลือเกิน กระทั่งนับวันผมชักลังเลที่จะคบหา กลัวชาวบ้านจะพลอยหมั่นไส้ไปอีกคน
(หน้า 77)
-----------
ในความเป็นนักเขียนนั้น น่าจะมีอะไรบางอย่างซึ่งน่าเคารพยำเกรง ผมเจอลักษณะแบบนี้กับตัวเองบ่อย จนเป็นสถิติให้คิดเชื่อมั่นได้ ช่วงขณะที่ผมกับน้าหงาคุยกัน ไม่มีใครกล้าเข้ามายุ่งเหมือนเราอยู่กันสองคนในโลก มีคนอื่นคอยมุงดู พวกนักดนตรีอื่น ๆ นอบน้อมดี นอบน้อมจนเกินไปเสียด้วยซ้ำ ตอนแรกโน้น ผมก็งง ๆ อยู่เหมือนกันกับท่าทีของคนเหล่านี้ พวกเขาดัง เป็นที่รู้จักของมหาชน น่าจะกร่างใส่ผม แต่กลับไม่ อาจเป็นไปได้นะครับที่พวกนักดนตรี ศิลปินเหล่านั้น รู้ตัวเองดีว่าในหัวหาได้มีอะไร ขณะข้างหน้าเบื้องหน้านี้คือนักเขียน นักเขียนที่มีความหมายรวมถึงนักคิดนะครับ (ส่วนผมจะเป็นนักคิดจริง หรือมีอะไรในหัวหรือไม่ ไม่รู้) พวกเขาจึงเกรง เว้นแต่น้าหงา ที่เขาเป็นนักเขียนอยู่ด้วย

ศักดิ์ศรีของนักเขียนในวงศิลปินนั้น เหนือกว่าทุกแขนง แม้นักเขียนจะเป็นศิลปินที่ยากจนที่สุดก็ตาม
(หน้า 99)
-----------
“การเดินทางของพาย พาเทล” ดีจริง ๆ นะครับ หวังว่าคุณคงอ่านแล้ว

ชอบไหม

ชอบหรือไม่ชอบ ผมไม่แปลกใจอันใด เพราะเห็นอยู่ว่าบางคนอาจไม่ชอบก็เป็นได้เหมือนกัน มันดูเป็นนิทานเกินไป ขาดความจริงจัง ซ้ำเหมือนจะไม่ได้ลึกซึ้งในแง่ปรัชญาใดมาก แต่ผมชอบมาก ชอบในแง่ที่มันเป็น “เรื่องเล่าสมัยใหม่” ผมได้มองวิธีเขียนของเรื่องเล่าสมัยนี้ เป็นนิทานและสนุก ทำให้ง่าย และมีประโยคกินใจเพียงแต่พองาม ให้คนอ่านได้คิดใคร่ครวญ

แน่ละ คนอ่านในที่นี้คือชนชั้นกลางผู้อยู่ในกระแส เป็นคนอ่านรุ่นใหม่ คนอ่านของยุคสมัยนี้ ผมคิดว่าคนอ่านทุกวันนี้คงไม่พร้อมจะจับ “เรื่อง” ทั้งเรื่อง คงไม่มีความพยายามมากพอที่จะวิเคราะห์เอากับตัวเรื่องทั้งหมด เขาคงพอใจที่จะอ่านอะไรที่สนุกเหมือนจริงก็ได้ ไม่เหมือนก็ได้ และพึงใจที่จะเก็บซับบางประโยคซึ่งกระทบต่อชีวิตเขา ประโยคง่าย ๆ ที่เขารู้สึกอยู่แล้ว อาทิ ปรัชญาง่าย ๆ เกี่ยวกับโลกที่หมุนเร็วและหมุนช้า อะไรประมาณนี้ เขาซึมซับประโยคเหล่านั้นได้ โดยไม่ต้องคิดถึงเรื่องราวทั้งหมด
(หน้า 115-116)
-----------
คุณควรรู้ไว้อย่างหนึ่งนะครับ วันนั้นผมนุ่งกางเกงขาสั้น (เพราะยังมีแผลที่เท้า) รองเท้าแตะ เสื้อยีน แต่พอเป็นนักเขียนซีไรต์ขึ้นมา ผมก็เลยกลับนั่งอยู่ที่โต๊ะนั้นอย่างผู้ยิ่งใหญ่ บรรดา สส. ผู้ทรงเกียรติทั้งหลายต่างก็นิ่งฟังผม นึก ๆ ก็ครึ้มใจดีนะครับ
(หน้า 120)
-----------
อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้นิยายเรื่องนี้น่าสนใจ คือตัวละคร ที่เลวระยำทั้งพระเอกนางเอก คนเขียนช่างเลือกตัวละครได้เก่ง ทำให้คนอ่านทั้งเกลียด ทั้งสมเพช ทั้งสงสารไปในขณะเดียวกัน แล้วที่สุดก็เหมือนจะลึกซึ้งได้ว่า ตัวละครที่ปะปนอยู่ด้วยนิสัยเลว ๆ แบบนี้เองคือคนจริง ๆ ทำให้ยิ่งอ่านไปยิ่งนึกรักพวกเขา ผูกพันกันโดยไม่รู้ตัว

แกบรรยายความคิดจิตใจของผู้หญิงได้เก่งเหลือเกิน ที่ผมเห็นว่าคุ้มค่า คุ้มเวลาแก่การอ่าน ก็ด้วยได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้แหละ ผมเห็นว่าพวกเราโดยมากจะอ่อนด้อยในการพรรณนาตัวละครผู้หญิง พูดอีกทีเราแทบไม่ใช้ตัวละครผู้หญิงด้วยซ้ำ เพราะพรรณนาไม่ถูก สร้างพวกหล่อนขึ้นมาไม่ได้ จำได้ว่าพี่ชาติของเราเคยคุยเรื่องงานเขียนของพี่ประมวล แกคงไม่รู้จะแนะนำอย่างไรละครับ นอกจากบอกออกไปตรง ๆ ว่า “มึงควรจะมีนางเอกบ้าง”

การที่เราไม่มีผู้หญิงที่เป็นตัวตนอยู่ในงานเขียน ทำให้งานของพวกเราลดเสน่ห์ลงไปมากทีเดียว
(หน้า 124-125)
-----------
ผมเลือกม่านมายา (ในจำนวนหนังสือเป็นร้อย ๆ) ด้วยประโยคแรกของหนังสือโดนใจเหลือเกิน "ฉันเคยรักเขาถึงเพียงนี้ได้อย่างไร"

ผมคิดว่านี่เป็นประโยคที่ผู้หญิงร่วมครึ่งโลกเคยถามกับตัวเอง ผู้หญิงซึ่งผิดหวังต่อผู้ชายที่เลือกและรัก วันหนึ่งเมื่ออะไร ๆ มันเปลี่ยนไป ต่างออกไป อารมณ์ของผู้หญิงก็จะเป็นดังประโยคนี้ มองผู้ชาย (แอบมอง) แล้วก็นึกสงสัยขึ้นมาอย่างประหลาด เคยรักเขาถึงเพียงนี้ได้อย่างไร

เป็นประโยคตั้งต้นนิยายที่ง่ายและเจ๋ง ในความรู้สึกของผมนะครับ
(หน้า 132)
-----------
ผมเคยบอกใช่ไหมครับว่า เราจะไปจัดค่ายนักเขียน กระตุ้นให้เด็ก ๆ เขาอ่านหนังสือกันได้อย่างไร ในเมื่อเมียของพวกเราไม่อ่าน เราควรทำให้เมียอ่านหนังสือให้ได้เสียก่อน
(หน้า 141)
-----------
แต่หนังสือที่ผมอ่านช่วงนี้ และถือว่าชอบคือ “เมียเจ้า” ของเอมี ตัน คนนี้เขียนหนังสือดีจริง ๆ ครับ ฝีมือยอดเยี่ยม ต้องยอมรับว่าเขาเขียนได้สนุก แม้จะเป็นเรื่องหนัก สนุกขนาดผมต้องอ่านรวดเดียวจบ วางไม่ลง และทำให้ผมสะทกสะเทือนไปกับเรื่องเล่าถึงแม่ของเขากับชีวิตในประเทศจีนยุคสงคราม ผมนับถือฝีมือ ไม่แปลกที่สตีเฟน คิง สรรเสริญเยินยอ หากจะขาดหรือพร่องไปสำหรับเอมี ตัน ก็เห็นจะเป็นทัศนะของเขา ที่มันไม่ยิ่งใหญ่หรือลุ่มลึก นิยายของเอมี ตัน จึงเป็นได้แค่นิยายที่ดี เพราะเขียนดี แต่ไม่ยิ่งใหญ่ระดับโลกแบบของนักเขียนใหญ่ท่านอื่น ๆ คุณอาจอ่านแล้ว หรือถ้ายังก็ลองดูนะครับ แล้วจะได้เห็นว่าทัศนะของคนเขียนก็เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญในนิยาย
(หน้า 157)
-----------
ปัญหาของแกอยู่ตรงนี้แหละครับ ลงว่าได้ถอดใจเสียแล้ว การเขียนก็เป็นเรื่องยากยิ่ง งานเขียนนั้นต้องสร้างมันด้วยใจ ด้วยความอดทน พยายาม อุตสาหะ หลายหนที่ถึงขั้นต้องต่อสู้เอาด้วยความเหนื่อยหนัก ถึงขั้นที่พูดได้เลยว่า แลกมาด้วยชีวิต แต่เมื่อถอดใจเสียแล้ว จะเหลืออะไรไปต่อสู้เอามันมา

...กรณีของพี่ทั้งสอง หรือใครอื่นที่แวดล้อมผมอยู่ มีผลต่อผมพอสมควร ผมกำลังมีชีวิตอยู่ท่ามกลางผู้ใช้ชีวิตหลังความตาย พวกเขาไม่ได้หวังถึงวันข้างหน้าอีกแล้ว เอาแต่สรรเสริญเยินยอตัวเองกับวันที่ผ่านมา ผมมองดูคนเหล่านี้แล้ว ไม่ก่อให้เกิดกำลังใจหรือพลังในการทำงานใด ๆ ทั้งสิ้น ซ้ำร้ายหลายหนที่ผมรู้สึกหดหู่
(หน้า 182-183)
-----------
ปัญหานี้ไม่เกิดกับวัยหนุ่มนะครับ เพราะวัยหนุ่ม เรายังเต็มด้วยความทะเยอะทะยาน อยากมีชื่อเสียง เงินทอง อยากมีคนรัก ผู้หญิง ความทะเยอะทะยานนั้นได้สร้างความใฝ่ฝัน เป็นเป้าหมายให้ชีวิต และโดยเรี่ยวแรง พละกำลังของวัยหนุ่ม ทำให้เราโถมเข้าหามัน เป็นจังหวะสมาธิโดยธรรมชาติ นี่น่าจะเป็นคำตอบได้ว่า ทำไมนักเขียนโดยส่วนใหญ่จึงสร้างงานดี ๆ ไว้ในวัยหนุ่ม ครั้นเวลาผ่านไป เติบโตเป็นผู้ใหญ่ ก็กลับเขียนไม่ได้ หายหน้าหายตากันไปหมด
(หน้า 243)
-----------
กนกพงศ์ สงสมพันธุ์. จดหมายถึงเพื่อน. กรุงเทพฯ : บ้านหนังสือ, 2554.

วันอังคารที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ความเปลี่ยนแปลง

ภาพโคลสอัพนัยน์ตาหวานซึ้งที่เขาเป็นคนถ่าย
ฉันเองก็มีภาพนั้น
มองผ่านเลนส์เรตินาของดวงตาละเมอฝัน
เก็บไว้ในเมมโมรีส่วนเสี้ยวความทรงจำ
ที่ยิ่งพยายามลบเท่าไรก็ยิ่งแจ่มชัดมากเท่านั้น

ฉันเคยยืนตรงที่เขายืนอยู่
ทั้งที่เธอเคยกลายเป็นความจริงของฉัน
ผ่านพ้นภาพฝันกระทั่งมือสัมผัสมือ
ในวันที่แหวนวงนั้นยังอยู่ที่เดิมของมัน
...เขาเป็นทุกอย่างที่ฉันเป็นไม่ได้
หรืออย่างน้อยฉันก็ไม่เคยเป็นได้เลย
ต่อให้พยายามสักแค่ไหน
นั่นยิ่งตอกย้ำความเปล่ากลวงของคำสัญญา
ที่ฉันทำลายด้วยมือฉันเอง

ฉันขอโทษที่พยายามเปิดกล่องของชโรดิงเจอร์
ก่อนจะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่แบบที่เธอเกลียด
ส่วนหนึ่งของวิญญาณที่หล่อเลี้ยงด้วยแรงบันดาลใจจากเธอ
กลับเป็นมะเร็งร้ายร้าวราน
และลบเลือนด้วยแรงกระชากของกาลเวลา
นั่นก็เพียงพอแล้วที่ฉันควรกลบฝังทุกอย่างเอาไว้ที่เดิม
ไม่แตะต้องมันอีก

"เมื่อสิ่งหนึ่งเปลี่ยนไป ปราณก็อดไม่ได้ที่จะกลัวว่าสิ่งอื่น ๆ ที่เหลืออยู่จะเปลี่ยนตาม สู้ทิ้งทุกอย่างเอาไว้ที่เก่า...ตรงที่พรากจาก โดยไม่แตะต้องเลยดีกว่า ทิ้งมันเอาไว้อย่างนั้น ที่ไหนสักแห่งลึกร้างกลางแก่นใจ แล้วบอกตัวเองให้เชื่อให้ได้ว่ามันจะคงอยู่คงเป็นเช่นนั้น ไม่มีวันเปลี่ยนแปร"
(ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต หน้า ๑๔๗)

ธันวาคม ๒๕๕๙

วันอาทิตย์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2559

บางข้อความถึงเธอ

- "ลองมีแฟนเป็นคนเหี้ย ๆ อย่างเราดูสิ แล้วไอ้ปัญหาที่เธอหนักอกหนักใจอยู่มันจะกลายเป็นเรื่องเล็ก... เล็กพอ ๆ กับขนาดหน้าอกเธอนั่นแหละ"

- ไม่รู้ตั้งแต่เมื่อไรที่ฉันรับเอารอยยิ้มของเธอมาเป็นเครื่องพยุงชีพหัวใจ

- แม้เธอไม่ใช่พิคาชู แต่ไฟฟ้าแสนโวลต์จากรอยยิ้มเธอก็พุ่งเข้าช็อตหัวใจฉันจนเจียนตายไปหลายครั้ง

- คุณใช้วิธีไหนซ่อนห้วงจักรวาลไว้ในแววตา

- คุณคือเหตุผลเดียวที่ทำให้ลมหายใจของผมยังมีความหมายอยู่

- อยากให้ดวงหน้าพริ้มฝันของคุณเป็นสิ่งแรกที่ฉันมองเห็นเมื่อลืมตาตื่นทุกชื่นเช้า

- การตกหลุมรักในความรู้สึกของผมน่ะเหรอ... มันเหมือนตอนที่คุณเผลอเหม่อลอยขณะเครื่องบินทะยานขึ้นจากพื้นดิน วินาทีนั้นใจคุณวูบหาย...หายไป คุณหลงคิดว่านั่นเป็นความรู้สึกชั่วพริบตา แต่ไม่ใช่... ใจคุณไม่เคยกลับมา หลงเหลือแต่เพียงความเปล่าโหวงเต็มอก หัวใจคุณกลายเป็นสมบัติชั่วนิรันดร์ของใครคนหนึ่ง และที่มันยังเต้นอยู่ได้ก็ด้วยความคิดถึงที่มีต่อเค้าคนนั้น... เพียงเท่านั้น

- สิ่งเดียวที่มนุษย์ไม่สามารถทำให้อ่อนเยาว์กว่าอายุได้คือแววตา

- การกอดคือฮีตเตอร์ที่อบอุ่นที่สุดนับแต่มนุษย์เริ่มรู้จักความหนาวที่เกิดจากความเหงา

-
คงมีเพียงบางริมฝีปาก... ที่เราอยากฝากจุมพิตสุดท้ายเอาไว้

วันพุธที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

อำลาครูจิ๋ว


คือบุคคลผู้ควรค่าเรียกว่า "ครู"
มิใช่ผู้บังคับบัญชาชี้นิ้วสั่ง
หลายคราเราประมาทเคยพลาดพลั้ง
ครูก็ยังเมตตาเอื้ออาทร

สามปีที่ไม้ใหญ่ให้ร่มเงา
พวกเราได้เรียนรู้คำครูสอน
จำเนียรกาลผ่านวาระจะจากจร
ดวงใจจึงอาวรณ์ไม่เว้นวาย

เหล่าเด็กเด็กเคยเดินตามหลังผู้ใหญ่
พอครูเดินลับไปก็ใจหาย
หนทางเวิ้งว้างเปล่าดาย
ไม่มีแสงแห่งจุดหมายมานำทาง

ภูมิใจที่ได้ติดตามครู
ได้รับใช้ได้เรียนรู้อยู่ไม่ห่าง
คำสอนครูอยู่ในใจไม่เคยจาง
ครูแผ้วถางทางเดินไว้ให้ก้าวมา

พระคุณครูจากวันนั้นถึงวันนี้
คงไม่มีสิ่งใดจะสมค่า
จึงกลั่นถ้อยร้อยรสพจนา
เป็นบทกวีอำลาอาลัยรัก

๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๙

วันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

หลงรักนักวิ่ง (๓)

สารภาพว่าตั้งแต่หัดวิ่งจนถึงวันนี้ เราก็ยังไม่ชอบการวิ่งอยู่ดี แต่เราเชื่ออย่างที่หลายคนเชื่อว่า ความรักแม่งเป็นพลังที่ทำให้มนุษย์ทำสิ่งยิ่งใหญ่เกินตัวได้เสมอ

วันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2559

เกงการ์ฮาโลวีน


สำหรับคนที่เล่น Pokemon GO ในช่วงนี้ คงได้เห็นหน้าเจ้าโกส (Gastly) โกสต์ (Haunter) หรือเกงการ์ (Gengar) โปเกมอนธาตุผี/พิษ (Ghost/Poison) ที่ทาง Niantic ปล่อยมาเพื่อรับเทศกาลฮาโลวีนกันบ้างแล้ว (จริง ๆ ต้องบอกว่าช่วงนี้เห็นจนเบื่อเพราะโผล่หน้าถี่ยิ่งกว่านกน้อยปั๊ปโปะเสียอีก)

เกงการ์ เป็นโปเกมอนผีหน้าตาเจ้าเล่ห์ มีท่าโจมตีของธาตุความมืด ธาตุผี และธาตุพิษ ชื่อของมันดัดแปลงมาจากคำว่า Doppelgänger หรือปรากฏการณ์ร่างแฝดแยกเงาของมนุษย์ ซึ่งก็เป็นที่มาของนิสัยเจ้าเกงการ์ที่ชอบแฝงอยู่ในเงาของคนอื่น

โปเกมอนธาตุผีนับว่าเป็นธาตุที่หาไม่ค่อยจะได้ในภาคแรก ๆ ยิ่งใน Pokemon GO ช่วงก่อนหน้านี้ ความหายากยิ่งทวีคูณเพราะต้องเดินจับตอนดึก ๆ แต่ถึงจะลงทุนขนาดนั้น ในการต่อสู้จริงก็ไม่ค่อยได้ใช้บ่อยนัก แม้จะมีจุดเด่นที่พลังโจมตี แต่ค่า HP บางซะเหลือเกิน โดนสวนไม่กี่ทีก็ร่วงเอาง่าย ๆ นอกจากนี้ธาตุที่เสียเปรียบโปเกมอนผีคือธาตุพลังจิต (Psychic) และธาตุผีด้วยกัน ซึ่งก็ไม่ค่อยจะมีใครใช้อยู่แล้ว

โปเกมอนขาประจำเฝ้ายิมที่เกงการ์น่าจะได้เปรียบที่สุดคือเจ้านัซซี่ (Exeggutor) ธาตุพืช/พลังจิต (พืชแพ้พิษ พลังจิตแพ้ผี ครบสูตร) แต่ก็อย่างว่าแหละถึงวันนี้ไม่มีใครเอานัซซี่เฝ้ายิมแล้ว เหลียวไปทางไหนก็เจอแต่มังกรไคริวยึดยิมทั้งนั้น 555

ถึงจะดูไม่ค่อยมีประโยชน์ในเกม Pokemon GO เท่าไรนัก แต่สำหรับในการ์ตูน เจ้าหมอนี่เป็นโปเกมอนที่มักจะได้โผล่หน้าในซีนสำคัญ ๆ เช่นซีนเปิดเรื่องโปเกมอนภาคซาโตชิ (การถ่ายทอดสดการดวลกันระหว่างเกงการ์กับนิโดริน่า) หรือในภาคออริจิน ฉากการล่ามิวทู เกงการ์เป็นโปเกมอนตัวแรกที่เร้ดเลือกไปอัดมิวทู ดังนั้นช่วงที่หาจับง่ายแบบนี้ไล่เก็บไว้ซักตัวก็น่าจะดี ไม่แน่ว่าอีเวนต์สำคัญในอนาคตอาจจำเป็นต้องมีเจ้าหมอนี่อยู่ในทีมด้วยก็เป็นได้

วันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ความเงียบ


ความเงียบสะท้านดังอย่างประหลาด
กึกก้องกัมปนาททุกหย่อมหญ้า
กลั้นกลืนก้อนสะอื้นในอกมา
ภาพทุกภาพมัวพร่าน้ำตารื้น

ฝนโปรยเบาบางน้ำค้างหล่น
น้ำตาคนหมื่นล้านคนก็สุดฝืน
หลั่งล้นท่วมท้นใจในค่ำคืน
นองทั่วผืนแผ่นดินดุจสิ้นไทย

หนึ่งภาพที่ทุกบ้านมีทุกบ้าน
จะเงยหน้ามองท่านอย่างไรไหว
เคยเป็นภาพแห่งความหวังกำลังใจ
จากนี้ไปเหมือนไร้หลักให้พักพิง

คืนวันเคลื่อนไหวไม่เคยหยุด
แต่หัวใจเหมือนชำรุดหยุดนิ่ง
รู้ทั้งรู้แต่ไม่รับความเป็นจริง
เหมือนทุกสิ่งสูญสลายในสายลม

ความเงียบยังอื้ออึงเกินครึ่งฟ้า
เสียงกระซิบยังปวดปร่าน่าขื่นขม
เสียงหัวใจแผ่วเบาเศร้าระทม
สีดำห่มคลุมเมืองมืดทั้งเมือง

ตุลาคม ๒๕๕๙

วันอาทิตย์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ไม่โทษดาว

ไม่โทษเมฆมัวหม่นบนท้องฟ้า
ไม่โทษดวงดาริกาที่ลอยเกลื่อน
ไม่โทษกลิ่นความเหงาเคล้าแสงเดือน
หรือกำแพงความเป็นเพื่อนอันเลือนราง

ถ้าจะโทษต้องโทษใจที่ไหวอ่อน
ต้องโทษความอาวรณ์เมื่อไกลห่าง
โทษที่รักจากหัวใจไม่เคยจาง
โทษที่แพ้ความอ้างว้างเมื่อห่างตา

ขอโทษนะ...ขอโทษที่เอ่ยปาก
ว่ารักมากเพียงใดใจห่วงหา
ความรู้สึกเหมือนคลื่นคลั่งถั่งโถมมา
เกินกลั้นกลืนวาจาคำว่ารัก

นับตั้งแต่วันนั้นฉันก็แพ้
นับตั้งแต่แรกเริ่มเรารู้จัก
รู้ไหมหัวใจไม่เคยพัก
ต้องซ่อนนัยแน่นหนักความรักนี้

จะไม่โทษอีกแล้วเดือนดาวใด
จะเปิดเผยความในใจไม่หลบหนี
ความผิดเดียวคือหัวใจที่ฉันมี
ดื้อจะรักเพียงคนดี, เธอที่รัก

ต.ค. ๕๙

วันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2559

คิดถึง (๙)

ยังจำท่าเดินของเธอได้
กระโดกกระเดกไม่เหมือนใครดูน่าขำ
ห้วงจักรวาลในดวงตาสีดำ
เหมือนนำดวงดาริกามาเป็นประกาย

ลักยิ้มยามยิ้มกว้างเห็นแต่ไกล
น่ารักกว่าใครใครมองไม่หน่าย
ทุกครั้งเธอยิ้มแทนคำทักทาย
นั่นแหละคือความหมายของชื่นเช้า

ยังจำเสียงหัวเราะของเธอได้
คือระฆังขับไล่ความเงียบเหงา
เป็นแสงแรกปลุกหัวใจบางเบา
เคยหม่นเศร้าก็กลับฟื้นคืนมา

เธอคือทุกคำตอบของคำถาม
เธออยู่ในห้วงนิยามความห่วงหา
อยากให้เธอเป็นภาพแรกเมื่อลืมตา
แต่รู้ว่าได้แค่ฝัน...แค่ฝันไป

เอื้อมคว้าหาเธอกลางภาพฝัน
แต่จะคว้าเงานั้นก็ไม่ได้
ความจริงคือเธอลาจากไกล
และจะทำอย่างไรก็ไม่ลืม

...หมดหวังแล้วใจก็รู้อยู่เต็มใจ
จะร้องไห้สักเท่าไรก็ไม่ลืม

ต.ค. ๕๙

วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2559

ความรัก

ความรัก น. สิ่งที่จะไม่เปลี่ยนแปลงแม้เมื่อเห็นคนที่ตนรักอยู่ในจุดต่ำสุดของชีวิต.

(พจนานุกรมฉบับวุฒินันท์ ชัยศรี. กันยายน ๒๕๕๙.)

วันจันทร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2559

โลกสามสลึงของ "ศิลปินเถื่อน"


จะว่าไปแล้ว นับตั้งแต่ ป.อินทรปาลิตสร้างหัสนิยาย (แปลไทยเป็นไทยว่านิยายชวนหัว) เรื่องสามเกลอ พล นิกร กิมหงวนให้ดังค้างฟ้าสร้างสถิติตีพิมพ์กว่าครึ่งล้านเล่มภายในปีเดียว (น่าจะ พ.ศ. 2482) ก็ไม่เคยมีหัสนิยายเรื่องไหนของนักเขียนในยุคหลังเทียบชั้นได้ทั้งยอดพิมพ์และดีกรีความฮาน้ำตาเล็ด ถ้าจะเห็นมีนักเขียนร่วมสมัยของเราคนไหนพอเลียบ ๆ เคียง ๆ เรื่องความฮาของ ปู่ ป. ได้ก็อาจจะเป็นคุณดำรงค์ อารีกุล เจ้าของ "จักรยานแดงในรั้วเขียว" อันโด่งดัง นอกจากนี้เขาก็ยังสร้างตัวละคร "หมง หงจินเป่า" และผองเพื่อนใน "ชมรมกอดลมไว้อย่าให้หงอย" หรือเหล่าสุนัขจอมยียวนใน "ขบวนการเล็บงาม" ที่ออกวาดลวดลายอยู่บ่อย ๆ ในเซ็คชั่นเรื่องสั้นขายหัวเราะให้คนอ่านเสพติดกันงอมแงม

ที่พูดมาตั้งนานยังไม่เกี่ยวกับเรื่องที่จะรีวิวเลย (ฮา) นอกจากชื่อที่เอ่ยมาแล้ว ผมคิดว่า 'ธราธิป' น่าจะเป็นอีกหนึ่งในเพชรเม็ดงามที่วงการหัสนิยายไม่น่าจะเผลอลืม ผลงานของเขาอย่าง "เดอะกร๊วกฟาเธอร์แห่งหมู่บ้านซวยซ้ำซาก” ที่เล่าถึงเรื่องราวชีวิตบัดซบของนักเขียน (เขาเอง) ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง หรือ “โรงเรียนนักเลง” ที่เล่าถึงชีวิตช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัยรามคำแหง แม้จะไม่ได้ติดลองลิสต์ร้อยเล่มที่คนไทยควรอ่าน แต่เมื่อเปิดผ่านก็เชื่อได้ว่าจะเรียกรอยยิ้มพอเห็นไรฟันแบบชนชั้นสูง หรือหัวร่องอหายอย่างไพร่ก็ตามแต่ความศรัทธา

"ศิลปินเถื่อน" (ฉบับสมบูรณ์พูนสุข) เป็นอีกหนึ่งผลงานของ 'ธราธิป' ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2533 ว่าด้วยเรื่องราวของศิลปิน 5 คน ได้แก่ เปี๊ยก อาร์ต จิตรกรหนุ่ม, รอย อนารยชน ผู้เชี่ยวชาญทางไสยศาสตร์, เป บูรพา กวีหนุ่มจากอีสาน, สินจิต นักดนตรีจากล้านนา และ "ผม" ผู้เล่าเรื่อง ซึ่งไม่ได้บอกชื่อเสียงเรียงนาม ที่ต่างต้องมาใช้ชีวิตร่วมกันในบ้านสวนสุดแสนทุรกันดาร เรื่องราววุ่น ๆ เกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน ส่วนมากจะเป็นเรื่องอาหารการกินที่อดอยากเหลือแสน หรือเรื่องที่พวกเขาบางคนไปพัวพันกับหญิงสาวแต่ก็ต้องช้ำใจกลับมาทุกราย

เอาจริง ๆ เรื่องย่อมีเท่านี้แหละ ก็เรื่องชวนขันคงไม่มีคติสอนใจอะไร ทว่าในความธรรมดาของเรื่องราวนั้นกลับแฝงไว้ด้วยพฤติกรรมจัดจ้านและบ้าบอที่ทำให้ลมหายใจของทุกตัวละครกลั้วไว้ด้วยเสียงกลั้นหัวเราะ

ลองมาดูฉากเปิดตัวของตัวละครแต่ละตัวดูบ้าง

"สินจิต นักดนตรีจากล้านนาเพื่อนผู้น่าสงสารที่สุด ตัวสูงขนาดหมาเซนต์เบอร์นาร์ดเบอร์แอล เคยเรียนมาหลายสาขาแต่มาผ่านสาขาสุดท้ายที่ศรีธัญญา

"ในหัวสมองโตๆ ของสินจิตมีเรื่องนานาชนิดตั้งแต่เล็กขนาดมดแพ้ท้อง จนถึงเรื่องใหญ่ขนาดจะอพยพหอไอเฟลมาไว้ที่ทุ่งกุลา ดวงตาเปี่ยมฝันคู่ที่ เป บูรพา รำพึงแกมอิจฉาว่า "ตาไอ้สินจิตมันเป็นดวงตาทรมานใจสาว ยิ่งกว่าตาพระลออีก อย่าว่าแต่กูเป็นลูกผู้ชายเลย นี่ถ้ามันเป็นควาย กูก็พร้อมวิ่งเข้าไปซบเขามันขอเป็นคันไถ" (น.29)

"เป บูรพา...หน้าตาแบบใบตอง คือผีตองเหลือง และดั้งยับเยินยิ่งกว่าลำห้วยในหน้าแล้ง ที่ลึกจนมองไม่เห็นพื้นผิว ...”หน้าตาเป มันเหมือนกับว่า ไม่เต็มใจมาเกิด หรือเกิดแบบลวกๆ” คนหนึ่งว่า ผมพยักหน้าเห็นด้วย" (น.151)

นอกจากฉากเปิดตัวของแต่ละคนจะงามสง่าสมราคาศิลปินแล้ว พฤติกรรมแบบหมูไม่กลัวน้ำร้อนชอบแกว่งปากไปหาตีนก็นำพาเรื่องราวปวดหัวมาให้แก้ปัญหากันไม่เว้นวัน เช่นตอนหนึ่งเมื่อในตลาดเกิดมีสาวงามย้ายเข้ามาอยู่ ศิลปินหัวงูจึงออกขายขนมจีบโดย (แกล้ง) ไม่รู้เลยว่า "เพราะมะม่วงงาม มดแดงย่อมชุม ยิ่งเป็นมะม่วงสวนคนอื่น ยังมีอย่างอื่นนอกจากมดแดง อาทิ ไม้คมแฝก และจิ๊กโก๋" (น.22) ทำเอาต่างคนต่างก็งัดกลยุทธพิชิตใจเธอมาใช้

"เปเคยเปรยว่า มีว่านชนิดที่กินแล้วมีเสน่ห์ ขนาดสาวเห็นสะกิดแม่ไหม รอยตอบเรียบๆ ว่ามี

"พอมึงกินแค่เคี้ยวหมากแหลก เดินผ่านหน้าบ้านให้เค้าเห็นทุกวัน พอสักเจ็ดวันให้หลัง เขาเห็นมึงเดินมาอีก เขาจะสะกิดแม่ทันทีว่า ...ไอ้เอี้ยนั่นมาอีกแล้ว" (น.17)

หัสนิยายเล่มนี้ไม่ได้บรรจุไว้แต่เพียงเรื่องราวบ้า ๆ บวม ๆ ของเหล่าศิลปินสามสลึง แต่ยังมีเรื่องราวความรัก มิตรภาพของเพื่อนแท้ที่ยอมตายแทนเราได้ พอ ๆ กับที่อยากจะแกล้งเราเอาให้ตายนั่นแหละ อ่านแล้วอาจจะพอให้นึกถึงความทรงจำดี ๆ กับเพื่อนบ้า ๆ ขึ้นมาบ้างสักคน (ถ้ามี) สำหรับใครที่มองหาสาระประโยชน์อันพึงมีแก่ชีวิต ข้ามเล่มนี้ไปก็ไม่นับว่าพลาดอันใด แต่สำหรับใครที่อยากจะมองหารอยยิ้มประโลมใจในวันแห้งผากของชีวิต หนังสือเล่มนี้ก็เหมาะมือสำหรับบรรเทาความกระหายทางรอยยิ้มได้บ้าง อย่างที่ เป บูรพา กล่าวไว้เมื่อจับนกเขาได้ในวันที่ไม่มีอะไรจะกิน

“กูใฝ่ฝันจะกินนกนางนวล ญาติของโจนาธาน ลิฟวิงสตัน แต่ไม่สมหวัง มากินไอ้ตัวนี้ก็ยังดีวะ” (น.133)

-------------------------
ธราธิป ชอบธรรม. ศิลปินเถื่อน. กรุงเทพฯ : แมงทับ, 2533.

วันพุธที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2559

10 ข้อสังเกตการตียิม Pokemon Go (ฉบับรากหญ้า)




1. คนที่เพิ่งหัดเล่นอาจจะยังไม่รู้ว่าการต่อสู้ระหว่างโปเกมอนมีข้อได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างธาตุ เช่น พิคาชูธาตุไฟฟ้าต่อให้ CP สูงแค่ไหนก็จะเอ๋อแดกไปเลยเมื่อเจอโปเกมอนธาตุดิน ลองไปเสิร์ชๆ ดูเรื่องธาตุแพ้ทาง จะช่วยได้เยอะเวลาตียิม


2. แต่การต่อสู้ของเทรนเนอร์รากหญ้าอย่างเราๆ ที่จับได้แต่นกหนูหมูแมวก็เป็นไปตามมีตามเกิดไม่ค่อยได้คิดเรื่องธาตุ ตัวไหน CP สูงหน่อยก็เอาไปรุมตีเค้า แล้วก็เสร็จพวกเฝ้าเสียบยิมฉิบ (ฮา)

3. เท่าที่เห็น ยิมส่วนมากที่เจอจะมีโปเกมอนเฝ้าคือยาโดแรน (Slowbro) นัสซี่ (Exeggutor) ชาวเวอร์ (Vaporeon) หรูขึ้นมาหน่อยก็เกียราดอส (Gyarados) วินดี้ (Arcanine) ลาปุรัส (Lapras) ส่วนพวกพรีเมี่ยมแน่นอนว่าเฝ้าโดยไคริว (Dragonite) คอมโบกับอีหมีคาบิกอน (Snorlax) ว่าแต่คุณพี่ๆ ไปหามาจากไหนกันเหรอครัชแบ่งผมบ้าง

4. สังเกตว่าส่วนมากตัวเฝ้ายิมจะเป็นธาตุน้ำ (มันหาง่ายสุดรึยังไง) แพ้ทางไฟฟ้าและพืช ดังนั้นถ้ามีโปเกมอนไฟฟ้าเจ๋งๆ ก็น่าปั้นเอาไว้ตียิมสักตัว หรือถ้าเบี้ยน้อยหอยน้อยหาไฟฟ้าไม่ได้ก็ปั้นเจ้านัสซี่ (พืช/พลังจิต) ไว้ปล่อยท่าโจมตีของพืชก็ได้ผลเหมือนกัน

5. คนที่ปล่อยธาตุพืชกับแมลงเฝ้ายิมนี่คงกะว่าโดนตีไส้แตกได้ใช้ยารักษาแน่ๆ เพราะโปเกมอนรากหญ้าพวกนกธาตุบิน (ได้เปรียบธาตุแมลง) กับธาตุแมลง (ได้เปรียบธาตุพืช) มีให้จับกันว่อนไปหมด

6. สำหรับเทรนเนอร์รากหญ้าอย่างเราๆ การตีอีหมีคาบิกอน (ธาตุธรรมดา-แพ้ทางธาตุต่อสู้) ให้ได้ผล ถ้าหาโปเกมอนธาตุต่อสู้ไม่ได้ก็อาจจะปั้นอีด้วงไครอส (หรือที่รู้จักกันในนาม 'ท่านพิณ' Pinsir!) มาตีแทน เพราะเข้าใจว่าบางตัวจะมีท่าไม้ตายเป็นท่าของธาตุต่อสู้ซึ่งธาตุธรรมดาแพ้ทาง (ถ้ามี HP มากพอที่อีหมีสวนมาแล้วจะไม่ตายไปก่อนนะ 555) หรืออีโวเจ้าเนียวโรโซ (Poliwhirl) ให้เป็นเนียวโรบอน (Poliwrath ธาตุน้ำ/ต่อสู้) ก็น่าสน อันนี้ยังไม่ได้ลองนะเก็บแคนดี้ยังไม่ครบ 555

7. เจ้าเกียราดอสเป็นธาตุน้ำ/บิน นะ ไม่ใช่มังกร ถึงจะหน้าตาเหมือนมังกรกว่าไคริวก็เถอะ 555 (เพียงแต่จะมีท่าโจมตีของธาตุมังกรด้วย) ดังนั้นโปเกมอนธาตุที่จะชนะเกียราดอสได้เด็ดขาดคือธาตุไฟฟ้า


8. เทรนเนอร์รากหญ้าอย่างเราคิดจะตบมังกรไคริว (ธาตุมังกร แพ้ทางธาตุมังกรด้วยกันและธาตุน้ำแข็ง) แต่ไม่มีปัญญาไปหามังกรหรือลาปุรัสมาไฝว้กะเค้า ตัวที่พอจะไปลุ้นกับเค้าได้ก็คงเป็นเกียราดอสกับเจ้านกพีจ็อตร่างสาม (Pidgeot) ที่มีท่าโจมตีของธาตุมังกร อันนี้เคยลองแล้ว Effective เลือดเค้าลดเยอะเหมือนกันแต่โดนสวนทีเดียวจอด 555


9. พอดีเราเป็นเทรนเนอร์เจนแรกอะ อีธาตุ Fairy ที่เค้าว่าเกิดมาเพื่อฆ่ามังกรนี่มันตัวไหนกันแนะนำหน่อยสิ เกิดไม่ทัน


10. ตอนเขียนๆ นี่ก็จะเที่ยงคืนแล้ว ยิมแถวบ้านพี่ยังเปลี่ยนสีกันเป็นว่าเล่นอยู่เลย นอนหลับพักผ่อนกันบ้าง อย่าลืมว่าพรุ่งนี้ต้องไปโรงเรียนแต่เช้ากันนะลูก 555

วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ถึงครูจิ๋ว



ว่ากันว่าเหตุผลที่คนเราจะทำงานอยู่ที่ใดที่หนึ่งนาน ๆ มีอยู่ไม่กี่ข้อ เช่น รักงานที่ทำอย่างยิ่ง หรือไม่ก็มี 'บอส' หรือผู้บังคับบัญชาที่เปี่ยมความสามารถน่าเคารพนับถือ ชวนให้เชื่อว่า "ถ้าเราได้ทำงานกับเค้า เราจะต้องเก่งขึ้นแน่ ๆ เลย" สำหรับผมในช่วงนี้ เหตุผลหลัก ๆ น่าจะเป็นข้อหลังนี่เอง

สมัยเป็นนักศึกษา ผมไม่เคยรู้จักผู้ช่วยศาสตราจารย์ดุษฎีพร ชำนิโรคศานต์ ทั้งจากการเรียนในห้องเรียนหรือการอ่านตำรา เพราะตำราที่ครูเขียนเน้นหนักไปทางสายภาษาซึ่งเป็นคนละสายกับที่ผมเรียนมา ผมจึงไม่เคยรู้ว่าความเป็น 'มาสเตอร์' ทางภาษาของครูนั้นอยู่ขั้นไหน

กระทั่งความประทับใจแรกเกิดขึ้นในช่วงแรกของการทำงาน จะด้วยความที่พ่วงยี่ห้อว่า 'เคย' เป็นนักเขียนหรืออย่างไรไม่ทราบ ผมได้รับมอบหมายให้ร่างคำนำหนังสือรวมเล่มผลงานนิสิตในค่ายภาษาไทยของสถาบันฯ จำได้ว่าตอนนั้นตั้งใจเขียนสุด ๆ ทำนองว่างานชิ้นแรกต้องให้บอสประทับใจหน่อย (แฮ่ม!) แต่สุดท้ายผลกลับออกมาว่าคำนำชิ้นนั้นเป็นงานที่ถูกตรวจแก้ยับเยินที่สุดงานหนึ่งนับตั้งแต่เคยเขียนหนังสือมา (ฮา)

เหตุการณ์ในวันนั้นให้บทเรียนแก่ผมสองเรื่อง เรื่องแรกคือ ประสบการณ์ (หัด) เขียนหนังสือเกือบสิบปีแทบไม่มีความหมายเมื่ออยู่ต่อหน้าครูผู้เป็นนายของภาษาอย่างแท้จริง และเรื่องที่สองคือ ภาษาไทยเป็นภาษาที่โคตรจะมีเหตุผล ทุกคำ ทุกวลี ทุกคำเชื่อม ล้วนแต่มีหน้าที่และเหตุผลในการมาเกาะเกี่ยวกันกลายเป็นแต่ละประโยค บทเรียนข้อหลังเป็นสิ่งที่ผมพยายามจะเน้นย้ำเสมอเมื่อตรวจงานนิสิตหรือตรวจแก้ไขงานของตัวเองก่อนจะส่งให้ครูตรวจทาน (ซึ่งสุดท้ายก็จะถูกตรวจแก้ยับเยินเสมอ ๆ -ฮา)

วันภาษาไทยแห่งชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมา ครูดุษฎีพรได้รับการยกย่องให้เป็น "ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย" และพลอยให้สถาบันฯ ได้รับเกียรติเป็น "องค์กรที่มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย" ไปด้วย ผมในฐานะผู้มีฉันทาคติอันเกิดจากการได้อยู่ใต้บังคับบัญชาของครูมาเกือบสองปีเห็นว่าไม่มีรางวัลใดที่จะเหมาะสมกับครูมากไปกว่านี้แล้ว ขอร่วมแสดงความยินดีกับครูนะครับ และหวังว่าจะได้อยู่ใต้บังคับบัญชาครูไปนาน ๆ เพื่อที่จะได้ 'ลักจำ' วิชาจากครูให้มากที่สุดครับ!

วันอังคารที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ภาพความประทับใจ

ภาพเวลาเธอยิ้มตอบ ภาพเวลาที่เธอจดจ่อกับหนังสือตรงหน้า ภาพที่เธอมองย้อนกลับมาแล้วมีแสงแฟร์ตกเป็นแบ็คกราวด์ตอนที่เราเดินตามหลัง ภาพที่เธอซ่อนยิ้มไว้ในเงาภาพซิลลูเอตต์ ภาพที่เธอหัวเราะท่ามกลางแสงช่วง Magic hour ฯลฯ จะว่าไปเรามีภาพโมเมนต์ทำนองนี้เก็บไว้ในความทรงจำเต็มไปหมด

หากความรักวัดกันที่ภาพความประทับใจที่มีต่อใครคนหนึ่ง เราว่าเราก็รักเธอไม่น้อยกว่าใครเลยนะ

วันอังคารที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2559

10 เรื่องเมืองคุนหมิง


1. ถ้านึกภาพบรรยากาศบนเครื่องบินจีนไม่ออก ให้นึกภาพฉิ่งฉาบทัวร์เวอร์ชั่นเยาวราช คนผุดลุกผุดนั่งวุ่นวายราวกับไม่ได้อยู่บนท้องฟ้าแม้แต่ตอนเครื่องจะลงจอด

2. ขอโทษจริง ๆ นะครับ ถึงผมจะลิ้นจระเข้ขนาดไหน แต่อาหารบนเครื่องบินจีนแหลกม่ายล่ายเจง ๆ

3. อะไรคือเห็ด น่องไก่ เนื้อปรุงรส ฯลฯ ซีลสุญญากาศขายแบบไม่แช่เย็น คือแบบแกะออกมากินได้เลยงี้เหรอ?

4. อากาศที่กรุงเทพฯ ปกคลุมด้วยมลพิษฉันใด อากาศที่คุนหมิงก็ห่มคลุมด้วยกลิ่นบุหรี่ฉันนั้น (ทำไมไม่เป็นกลิ่นกัญชาวะจะได้เคลิ้ม ๆ ทั้งวัน)

5. อย่างไรก็ดี อุณหภูมิที่นู่นถือว่าน่าคบหา บางช่วงเหวี่ยงขึ้นไปอยู่ที่ 30 องศา อาจารย์เค้าบอกว่าร้อนมาก เลยคุยทับไปเลยว่าแถวบ้านฉันนี่อย่างขรี้ ๆ ก็ 40 องศานะจ๊ะนาย (ควรอวดใช่ไหม?)

6. ทักษะภาษาอังกฤษไม่ว่าจะระดับ Excellent, Novice หรือ Snake ๆ Fish ๆ ล้วนไร้ความหมายเมื่อคิดจะซื้อของในตลาด ซาลาเปา Pork Pig อะไรไม่รู้จัก ต้องดันจมูกขึ้นแล้วร้องอู๊ด ๆ ถึงจะได้กินซาลาเปาไส้หมู

7. ต้องสตรองแค่ไหนถึงจะกล้ามาทำงานทำความสะอาดห้องน้ำที่จีน

8. นอกจากขุมทองเหลืองอร่ามที่มักจะพบบนคอห่านแล้ว พวกยังชอบไม่ปิดประตูห้องน้ำตอนอึอีกตะหาก ภาพตราตรึงใจที่สุดในทริปนี้คือเห็นคนนั่งขรี้ห้อยโตงเตงนี่แหละ

9. ไม่น่าเชื่อว่าภาษาไทยคือ 1 ใน 4 ภาษาบนป้ายของสถานที่ท่องเที่ยวในคุนหมิง (มีภาษาจีน อังกฤษ ไทย และเกาหลี) และเข้าใจว่าคนจีนคงคิดว่าฟ้อนต์ Tahoma คือฟ้อนต์ไทยที่สวยที่สุดจริง ๆ นั่นแหละมั้ง

10. กระเช้าขึ้นภูเขาดังในภาพ ทำให้ได้เรียนรู้รูปธรรมของคำว่า "แขวนชีวิตอยู่บนเส้นด้าย"

วันเสาร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2559

Bat v Sup แผนโค่นหนุ่มบ้านนาผู้หาญท้าอำนาจ


(บันทึกความรู้สึกหลังชมภาพยนตร์ ไม่เปิดเผยเนื้อหาสำคัญในภาพยนตร์)

ไอ้ที่เค้าเล่าลือกันมาว่าเรื่องนี้ทำมาเอาใจแฟนบอยนี่น่าจะจริง เพราะภูมิหลังของจักรวาล DC กับการเข้าใจนิสัยตัวละครโดยเฉพาะแบทแมนมาก่อนเป็นพื้น (แบทแมนในคอมมิคจะนิสัยเสียบวกน่ารักน่าชังกว่าแบทแมนของโนแลน) จะช่วยให้ยอมรับเหตุผลของตัวละครง่ายขึ้น และถ้าก่อนดูได้อ่านคอมมิค Bat v Sup Prequel 5 เล่ม จะเข้าใจเส้นเรื่องของทั้ง 5 ตัวละครหลักมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่ถูกตัดเส้นเรื่องทิ้งไปเลยทั้งที่โคตรสำคัญอย่าง Lex กับท่านวุฒิสมาชิกฟินส์ พอมาโผล่ในหนังเลยงงๆ กันทั้งตัวละครทั้งคนดูว่า เฮ้ย ทำไมแกร้ายงี้วะเล็กซ์ ท่านวุฒิสมาชิกโผล่มาทำไมครัชท่าน

สิ่งที่คนบ่นกันมากที่สุดน่าจะเป็นลำดับการเล่าเรื่องนี่แหละ ถ้าเอาตามคอมมิค Prequel บทเต็ม ๆ นี่น่าจะมีถึง 5 เส้นเรื่อง (พี่ทำแยกสองพาร์ตหรือไตรภาคเถอะถ้างั้น 555) แต่ในเมื่อย่อให้เหลือภาคเดียว วิธีเล่าเลยต้องใช้สองเส้นเรื่องหลักคือเส้นเรื่องแบทกะซุป แล้วพี่ Zack แกก็ดันเล่าแบบคอมมิคเลยคือตัดสลับกันระหว่างสองเส้นเรื่อง คือถ้าพลิกหน้ากระดาษก็พอตามทัน แต่พอเป็นหนัง กำลังอินกับเส้นเรื่องแบท ก็ตัดมาที่ความน่าสงสารของซุปในอีกเส้นเรื่อง ก็นั่นแหละฮะท่านผู้ชม ต้องใช้แรงตามเรื่องเยอะชิบหาย

ความไม่สมดุลอีกเรื่องคือพี่ Zack มีเวลาเล่าภูมิหลังซูเปอร์แมนเต็ม ๆ ใน Man of Steel แต่มีเวลาเล่าภูมิหลังพี่แบทรวมๆ แล้วแค่สิบยี่สิบนาทีเองมั้ง เลยต้องใช้ภาษาภาพ (ฉากเชื่อมโยงกับ Man of Steel ต้นเรื่องแค่ราวๆ สามสี่นาที แต่เบนเอฟเฟล็กเล่นได้สุด ๆ) ใช้สัญลักษณ์ (ในนิมิต/ความฝันของบรูซที่มาเป็นระยะ ๆ) และ Easter eggs ห่าเหวมากมายแซมไว้ในเรื่อง แต่ก็ไม่พอจะให้คนเชื่อในเหตุผลที่สองคนนี้จะต่อยตีและกลับมาดีกันอยู่ดี อีกอย่างภาพของแบทแมนโนแลนน่าจะยังสตรองในความคิดคนดูอยู่ เทียบกันแล้วแบทแมนของแซคเลยดูเป็นเด็กขี้ดื้อเอาแต่ใจไปเลย (ฮา) ถ้ามีหนังแยกเป็นแบทแมนของแซคเลยน่าจะทำให้ฉากสำคัญในหนังเรื่องนี้สมเหตุสมผล (ในแบบแบทคอมมิค) ขึ้นอีกหน่อย

สำหรับแฟนบอยแบทแมน สิ่งที่ทำให้ฟินที่สุดนอกจากนิสัยขี้ดื้อ ๆ ขี้โกง ๆ ถอดแบบคอมมิคมาเป๊ะ ก็คือฉากการต่อสู้ของแบทแมนที่แทบจะถอดแบบแอคชั่นของเกมซีรีส์ Arkham มาทั้งยวง ฉากขับ Batmobile เท่ ๆ ฉากต่อสู้ที่จับศัตรูแขวนห้อยหัว ยิง Grapple gun ดึงศัตรูมาต่อย นี่มันท่าเด็ดในเกมทั้งนั้นเลยนี่หว่า 555 เทียบกับฉากต่อสู้ใน The Dark Knight ของโนแลนแล้วเรื่องนั้นเหมือนเด็กน้อยตีกันไปเลย ถือว่า Zack ทำการบ้านจุดนี้มาดี ให้ผ่าน แต่เรื่องที่ขับรถขับเครื่องบินแล้วยิงศัตรูแบบเอาให้ตายนี่ไม่รู้ว่าจะผิดกฎของแบทแมนไหม หรือคิดซะว่าเป็นแบทเวอร์ชันโหดเถื่อน

เสียดายอย่างเดียวไม่มีฉากโชว์ความเทพด้านการสืบสวนของแบทแมน ไอ้ประเภทที่ว่าอีกฝ่ายทำหน้าเหลอหลา ถามแบทว่า มึงรู้ได้ไงวะ ก่อนแบทแมนจะตอบกลับด้วยประโยคประจำตัว "กูคือแบทแมน" แต่นี่เหมือนแบทรู้ทุกอย่างช้ากว่าชาวบ้านไปหนึ่งก้าวเสมอ แต่เอาเหอะ อย่างน้อยก็ดูเหมือนสืบ ๆ อะไรอยู่บ้าง ถึงจะเป็นการขโมยข้อมูลเค้ามาก็เถอะ

ขนาดแฟนบอยยังเสียงแตกออกเป็นสองฝ่ายว่าชอบและไม่ชอบ นับประสาอะไรกับคนดูหนังทั่วไป ถ้าจะให้แนะนำก็ดูได้เพลิน ๆ ล่ะนะถ้าชอบหนังซูเปอร์ฮีโร่ แต่ถ้าอยากจะอินเต็มที่ก็คงต้องทำการบ้านก่อนดูสักนิด อย่างน้อยคอมมิค Prequel 5 เล่ม โดยเฉพาะเล่มของ Lex และ Batman น่าจะต้องผ่านตาสักหน่อย จะได้เข้าใจว่าทำไมสองโคตรอภิมหาเศรษฐีผู้คุ้นเคยกับอำนาจมหาศาลในมือถึงได้ไม่ชอบขี้หน้าบุรุษเหล็กกันนัก

มี.ค. 59

ปล. ก่อนฉายเรื่องนี้เพิ่งเห็นตัวอย่างหนัง The Lego Batman Movie แกนี่มันลูกรักของ DC จริง ๆ เลยนะแบท 555

วันอังคารที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2559

คิดถึง (๘)

ถามว่าคิดถึงเธอมากแค่ไหน
มากกว่าลมหายใจนิดหน่อย
เผลอแพล็บก็แวบไปใจมันลอย
เกินรั้งคงต้องปล่อยไปตามใจ

ความคิดถึงถ้าไปถึงคนคิดถึง
รับหน่อยสักนิดนึงถ้ารับไหว
มันตีตั๋วเที่ยวเดียวเปลี่ยวฤทัย
ขืนเธอไม่คอยท่าคงหน้างอ

เธอล่ะคิดถึงกันบ้างหรือเปล่า
จันทร์เจ้าจะสุกใสเพียงใดหนอ
เปิดหน้าต่างรับจันทร์ฉันเฝ้ารอ
ให้จันทร์ส่ง จอ.มอ. แนบใจมา

จะส่งยิ้มแข่งกับดาวพราวพร่าง
ท่ามกลางความคิดถึงคะนึงหา
ถักทอถ้อยคิดถึงที่ขอบฟ้า
เป็นสะพานดาริการะย้ารวง

ถามว่าคิดถึงเธอมากแค่ไหน
คิดถึงเกินสิ่งใดที่ใจห่วง
หากมีดาวความคิดถึงสักหนึ่งดวง
โปรดหล่นร่วงให้จุมพิตสักนิดนะ!