วันพุธที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2563

ผู้คนในโลกภาพฝัน / อดิศร ไพรวัฒนานุพันธ์

 

นักเขียนเรื่องสั้นไซไฟของไทย หายากกว่ายาก ออกรวมเล่มสักเล่มก็แสนเข็ญ แต่อดิศร ไพรวัฒนานุพันธ์ เป็นนักเขียนไทยหนึ่งในไม่กี่คนที่มีรวมเรื่องสั้นไซไฟเป็นเล่มที่สอง และเกือบทุกเรื่องในทั้งสองเล่มผ่านการตีพิมพ์ในนิตยสารมาแล้วทั้งสิ้น น่าจะเป็นเครื่องการันตีคุณภาพของผลงานได้เป็นอย่างดี

เมื่อพูดถึงเรื่องสั้นไซไฟ (Science Fiction หรือ Sci-Fi) หลายคนมักจะนึกภาพว่าจะต้องเป็นเรื่องสั้นที่มีองค์ประกอบสำคัญในเรื่องคือเทคโนโลยีล้ำหน้าเกินกว่าที่มนุษย์จะจินตนาการได้ ในยุคที่วิทยาศาสตร์ยังทอดเท้าอย่างอ้อยอิ่ง แนวคิดสำคัญของไซไฟหลายเรื่องก็ดูจะเป็นเช่นนั้น เราเคยตื่นเต้นกับ "Le Voyage dans la Lune“ (1902) ก่อนที่มนุษย์จะฝากรอยเท้าบนดวงจันทร์ได้จริงในอีก 67 ปีต่อมา เราตื่นเต้นกับเรื่องเล่าที่เขียนถึงการเดินทางข้ามเวลา จักรวาลคู่ขนาน และเทคโนโลยีล้ำยุค จนกระทั่งเรื่องราวเหล่านั้นเริ่มไล่กวดเรามาเรื่อย ๆ และความจริงในปัจจุบันนั้นล้ำหน้าเกินกว่าที่จินตนาการจากไซไฟจะไปถึงเสียอีก

"อนาคด" (2555) งานยุคแรกของอดิศรก็มีกลิ่นอายเช่นนั้น หลายเรื่องกล่าวถึงความล้ำยุคของเทคโนโลยีในจินตนาการ เช่น การเดินทางข้ามดวงดาวที่สะดวกสบายเหมือนนั่งรถไฟฟ้า (สัมภาษณ์งานบริษัทข้ามดาว, 2555) การตัดต่อพันธุกรรมเพื่อให้มนุษย์เข้าใกล้คำว่าสมบูรณ์แบบ (มนุษย์ตกรุ่น, 2553) ระบบ "ชีวิตสบาย" ซึ่งในยุคของเรารู้จักในชื่อ Big Data Analytics ในอีกหลายปีหลังจากเรื่องนี้ตีพิมพ์ (ชีวิตสบาย, 2555)

เมื่อมองมาที่ "ผู้คนในโลกภาพฝัน" (2562) ซึ่งเรื่องสั้นทุกเรื่องกล่าวถึงเทคโนโลยีเพียงสิ่งเดียวคือ "กล่องภาพฝัน" กล่องเล็ก ๆ ขนาดเท่าโทรศัพท์มือถือที่สามารถบันดาลภาพฝันได้ทุกอย่างตามที่ใจปรารถนา สำหรับคนที่คุ้นเคยกับเทคโนโลยี Virtual Reality (VR) และ Augmented Reality (AR) กล่องภาพฝันอาจจะไม่ได้เหนือล้ำเกินจินตนาการเท่าใดนัก

แต่กล่องภาพฝันดังกล่าวกลับบันดาลเรื่องราวไม่ซ้ำรสได้มากถึง 13 เรื่อง!

การกลับมาของเรื่องสั้นไซไฟเล่มที่สองของอดิศร คล้ายจะบอกผู้อ่านถึงความสำคัญอีกประการหนึ่งของเรื่องสั้นไซไฟว่า มิใช่เป็นเพียงการเสนอเทคโนโลยีล้ำสมัยเพียงอย่างเดียว แต่เรื่องสั้นไซไฟที่ดีจะต้องพาผู้อ่านกลับเข้าไปสำรวจจิตใจของมนุษย์ ความบิดเบี้ยว กิเลสตัณหา ท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลงไปและเทคโนโลยีที่รายล้อมพวกเขาอยู่

เทคโนโลยีทำให้มนุษย์ดีขึ้นหรือไม่? หรือไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร พวกเขาก็ยังคงเดินหลงทางไม่สิ้นสุด เมื่อมีโอกาสก็กัดกินกันเองไม่แตกต่างจากสมัยเริ่มต้นอารยธรรม? กลับเป็นเทคโนโลยีล้ำสมัยที่เปิดเปลือยสันดานดิบที่แท้จริงของมนุษย์?

รวมเรื่องสั้นชุดนี้ซึ่งมีแกนกลางอยู่ที่ "กล่องภาพฝัน" นำพาผู้อ่านไปพบกับโลกทั้ง 13 ใบของแต่ละตัวละคร มีทั้งปัญหาความหมกมุ่น ปวดร้าว ลวงหลอก ที่กล่องภาพฝันก็ไม่อาจเยียวยา (คนบ้า, ภาพฝันค้าง, ดวลกำปั้น) เรื่องราวระหว่างผู้ปกครองและผู้ถูกปกครองที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะยุคสมัยใด (อธิษฐานแล้วรวย, เรื่องเล่าข้างถนน, ภาพผู้นำ) หรือแม้แต่เรื่องสืบสวนสอบสวนที่ชวนให้ลุ้นระทึกจนถึงหน้าสุดท้าย (สืบความจริง)

เรื่องที่ผมชอบที่สุดสองเรื่อง น่าแปลกที่เป็นเรื่องซึ่งไม่ต้องใช้เทคโนโลยีกล่องภาพฝันในเรื่องเลย นั่นคือ "น้ำตารูปปั้น" (2557) เรื่องราวปาฏิหาริย์ที่รูปปั้นหลั่งน้ำตาได้โดยไม่ต้องใช้กล่องภาพฝัน และ "เรื่องเล่าข้างถนน" (2557) นักปลุกระดมต่อต้านอำนาจรัฐซึ่งมีที่มาอย่างคาดไม่ถึง แต่นักปลุกระดมก็ได้ทิ้งบางสิ่งซึ่งสำคัญมากพอจะเปลี่ยนแปลงอนาคต ทั้งสองเรื่องต่างก็เป็นเรื่องที่ทำให้เรากลับมาทบทวนความจริงของกล่องภาพฝันว่า แท้จริงแล้วเป็นกล่องภาพฝันหรืออะไรกันแน่ที่บันดาลให้ใจเราบิดเบี้ยวและหลงงมงายไปกับภาพตรงหน้า

อาจจะเหมือนกับที่ผู้กองพยัคฆ์กล่าวไว้ในเรื่อง "สืบความจริง" ว่า "การจะเห็นความจริงใช่ว่าต้องมองโดยปราศจากภาพฝันรบกวนเสมอไป จ่าเห็นความจริงได้ถ้าจ่าอยากเห็น..."

แต่มนุษย์ก็เป็นเช่นนี้เสมอมา เราไม่เคยต้องการมองเห็นความจริง เราเพียงอยากเห็นสิ่งที่เราอยากเห็น ไม่ว่าจะมีกล่องภาพฝันหรือไม่

"ผู้คนในโลกภาพฝัน" จึงเป็นรวมเรื่องสั้นไซไฟลำดับสองของอดิศร ไพรวัฒนานุพันธ์ที่ใช้การ "ถอยหลัง" เพื่อ "ก้าวกระโดด" ให้เห็นพัฒนาการของนักเขียนไซไฟของไทย โดยการกลับมาใช้เทคโนโลยีที่จับต้องได้เพื่อเข้ามาสำรวจแง่มุมต่าง ๆ ของจิตใจมนุษย์ให้ลึกลงไปอีกขั้น กาลเวลา 7 ปี ที่ทิ้งระยะจาก "อนาคด" เรื่องสั้นไซไฟเล่มแรก นับว่าไม่สูญเปล่าเลย

สิงหาคม 2563

วันเสาร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2563

คือนกน้อยนอกกรงเถื่อน

นกน้อยในกรงขัง
ย่อมระวังว่าเสรี
คือโรคอันเกิดมี
แก่ปีกซึ่งใฝ่ถึงฝัน*

เด็กน้อยมิใช่นก
ซึ่งเกิดในกรงอาธรรม์
กรงใดจะกางกั้น
เมื่อปีกกล้าท้าเวหน

หากฟ้ายังเลือกนก
ปีกเสรีฤๅยอมทน
หากคนเท่ากับคน
เขามาโค่นผู้ใดหรือ?

เกินกาลจะขังนก
ให้นบน้อมในกำมือ
แสนปีกจะบินฮือ
สู่ขอบฟ้ามหานที

นกน้อยนอกกรงเถื่อน
ย่อมเตือนตนว่าเสรี
คือสิทธิ์สถิตที่
ปีกแห่งฝันนิรันดร

๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๓

*จากคำกล่าวว่า "Birds born in a cage think flying is an illness." ของ Alejandro Jodorowsky