วันเสาร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

พฤศจิกามหาวิบัติ (๑)

๏ ขณะที่คุณตระหนกกับซากศพ
คุณกลับไม่เคารพเขาทั้งหลาย
คุณไม่เห็นความตายเป็นความตาย
แต่เห็นเป็นความหมายการต่อรอง

๏ เมื่อการเมืองเหมือนเกมกีฬาสี
รูปธรรมความดีมีเพียงสอง
ทุกทุกความชอบธรรมตามครรลอง
มีก็แต่พวกพ้องของตน

๏ หากมีร่างร่วงหล่นลงพื้น
และมีเสียงสะอื้นสักเพียงหน
'แค่มีใครตายเพียงหนึ่งคน
ก็พ้นเรื่องผิดถูกชั่วดี'*

๏ คุณกลับแย่งความชอบธรรมเหมือนส่ำสัตว์
ดั่งแร้งหิวโซซัดน่าบัดสี
คุณอ้างสิทธิ์การเข่นฆ่าทันที
เพื่อให้การต่อตีนั้นชอบธรรม

๏ คุณแกล้งลืมความเป็นมาของซากศพ
ก่อนปลุกเร้าแนวรบโหมกระหน่ำ
คุณประณามคนอื่นว่าสาริยำ
แท้คุณย้ำความชั่วในตัวคุณ! ๚ะ๛

๑ ธันวาคม ๒๕๕๖

*วรรคหนึ่งจากบทกวี "กวีฝันถึงสันติภาพใช่อ่อนแอ" ที่เขียนให้เพื่อนกวี โอบอ้อม หอมจันทร์ เมื่อปี ๒๕๕๓

วันอังคารที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ภาพขาวดำ

พิมพ์แล้วลบ พิมพ์แล้วลบ...
ร่างที่ 1 แปลงกายเป็นร่าง 2 3 4 ก่อนจะตรงดิ่งลงถังขยะ
รูปประโยคสั้นกระชับที่คล้ายเป็นอาวุธ กลับย้อนมาทิ่มแทงตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า
วันที่ก้าวข้ามงานเก่า ๆ ไม่พ้น นึกถึงเซียนภาพขาวดำคนหนึ่ง
"พี่ไม่คิดจะถ่ายภาพสีบ้างเหรอ" ข้าพเจ้าเผลอทำคำถามโง่ ๆ หล่นจากปาก
เซียนภาพขาวดำยิ้มกระหยิ่ม
"แค่ขาว-ดำมึงก็เล่นได้ทั้งชาติแล้ว จะเล่นสีทำไม"
หวังว่าพยัญชนะ 44 รูป สระ 21 รูป และวรรณยุกต์อีก 4 รูป จะมีอะไรให้ข้าพเจ้าเล่นไปได้อีกทั้งชาติเหมือนกัน

วันเสาร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

บทบันทึกเพื่อความเข้าใจตัวเอง หมายเลข ๑

๑. เราไม่ได้ไร้เดียงสาจนต้องดิ้นรนเห่อไปตามกระแสเรื่องการทำตามฝัน ใช่ว่าเราไม่เคยลอง แถมยังล้มมาหลายครั้งแล้ว เรารู้ว่าคนเหลวไหลไร้สาระอย่างเราคงทำอะไรที่ยิ่งใหญ่ไม่สำเร็จหรอก เราแค่ไม่อาจนิ่งดูดายเมื่อเห็นตัวเองในอนาคตค่อย ๆ พังทลายความฝันด้วยมือตัวเองลงช้า ๆ อันที่จริงเราจะปล่อยให้มันพังลงไปเลยก็ได้ เพราะมันก็ไม่ใช่เรื่องยิ่งใหญ่อะไรมากมาย เพียงแต่พอนึกถึงหน้าเพื่อนสนิทคนหนึ่งแล้ว หากวันหนึ่งเราบอกกับมันว่า "เฮ้ย กูเลิกแล้วว่ะ" เราว่าตัวเราเองนั่นแหละที่จะตายตาไม่หลับ

๒. เราไม่รู้ว่าเวลาที่ควรคิดถึงอนาคตอย่างจริงจังนี่คือตอนอายุเท่าไหร่ เราเคยพูดเรื่องนี้กับเพื่อนตอนอายุ ๒๖ เขาบอกว่ายังเร็วเกินไปที่จะคิดเรื่องนี้ หวังว่าถ้าเราพูดเรื่องนี้ตอนอายุเกิน ๓๐ แล้ว คงจะไม่โดนเพื่อนตอกหน้ากลับมาว่า มึงมาคิดอะไรเอาป่านนี้

๓. ถึงวันนี้เราเตรียมอุปกรณ์สำหรับปั่นจักรยานทางไกลเกือบครบแล้ว เหลือก็แค่ฟิตซ้อมกำลังขาและเตรียมพร้อมกำลังใจ ทว่าอันที่จริงเราลืมไปว่าควรต้องเตรียมชุดปะยาง สูบลมแบบพกพา และความรู้เรื่องการปะยางเบื้องต้นด้วย เพราะไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้างในการเดินทางอันยาวไกล แต่ก็นั่นแหละ เราก็ยังเป็นเราวันยังค่ำ เราคงไม่ยอมคิดเรื่องนี้หรือเตรียมให้พร้อม และมานั่งเศร้าเสียใจเมื่อยางรั่วกลางทางในจุดที่ห่างไกลจากร้านซ่อมไม่รู้กี่ร้อยกิโลเมตร

๔. เราคิดว่าสุดท้ายแล้วเราก็ต้องหกล้มซมซานกลับมาในวังวนเดิม ๆ ได้แต่หวังว่ามันจะไม่เร็วเกินไปนัก อย่างน้อยก็ขอให้หลังจากเราได้เล่าเรื่องของเพื่อนที่เรารักที่สุดจบแล้วก็พอ ก่อนที่อะไร ๆ จะสายเกินไปและไม่มีโอกาสกลับมาแก้ตัว

๕. เรารู้ว่ามันอาจฟังดูน่ารำคาญสำหรับบางคน เรื่องที่เราชอบทำตัวเหมือนพระเอกหนังโศก แบบว่ามีบาดแผลในใจ ก้าวข้ามความเจ็บปวดไม่พ้นอะไรทำนองนั้น แต่จนถึงทุกวันนี้ บางคืนเรายังคงฝันร้าย และเรายังทำใจไม่ได้กับบางเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิต

๖. บางครั้งการร้องไห้บ่อยกว่า ร้องเสียงดังกว่า ไม่ได้แปลว่าเสียใจมากกว่า อย่าคิดว่าคนอื่นไม่เสียใจกับการสูญเสีย เขาแค่เข้มแข็งมากพอจะไม่คร่ำครวญสามเวลาหลังอาหารเหมือนเรา

๗. อย่าไปคิดว่าตัวเองเก่งกาจมากพอจะแบกโลกได้ทั้งใบ สองไหล่ก็เล็กแค่นี้ เอาแค่แบกชีวิตตัวเองก็ยังลำบาก

๘. เราเองก็อยากมีคำตอบชัด ๆ ให้ครอบครัวบ้างสักเรื่อง แต่คำตอบที่เราคิดว่าชัดเจน ส่วนมากจะไม่มีใครได้ยิน

๙. เรารู้ว่าถ้าทำลืม ๆ ไปซะ เราคงใช้ชีวิตได้ง่ายกว่านี้ แต่ก็นั่นแหละ เรื่องบางเรื่องรู้แล้วก็ทำเป็นลืมไม่ได้

๑๐. อันที่จริงเราเกลียดตัวเองมากกว่าเกลียดระบบสักร้อยเท่าได้มั้ง แต่ก็อย่างว่าแหละ เรามักจะให้อภัยตัวเองก่อนอย่างอื่น ปัญหามันเลยวนเวียนมาทำร้ายเราไม่รู้จักจบสิ้น

๑๖ พ.ย. ๕๖

วันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

Synecdoche, New york : the epic of SMALLEST things and the Death of Director


หมายเหตุก่อนอ่าน
1. เปิดเผยเรื่องราวในภาพยนตร์
2. เขียนขึ้นจากความทรงจำหลังการชมเพียงหนึ่งรอบ อาจมีคำพูด ฉาก หรือตัวละครคลาดเคลื่อนไปบ้าง
3. ก่อนอ่าน ควรชมภาพยนตร์อย่างน้อยหนึ่งรอบ เนื่องจากลำดับเรื่องและกลวิธีการเล่าเรื่องซับซ้อนพอสมควร ทำให้ผู้เขียนซึ่งยังอ่อนประสบการณ์ไม่อาจเล่าเรื่องตามลำดับให้เข้าใจได้ง่าย
4. ขอบคุณภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

--------------------------------------------

หลังจากโดน Synecdoche, New york ภาพยนตร์ฝีมือการกำกับเรื่องแรกของของนักเขียนบทมือฉมัง Charlie Kaufman เขย่าเสียจนนอนไม่หลับ เลยคิดว่าต้องลุกขึ้นมาเขียนถึงเรื่องนี้เพื่อบำบัดใจสักหน่อย

จะเริ่มเล่าเรื่องย่ออย่างไรดี? เอาเป็นว่ากล่าวอย่างรวบรัดละกัน (อยากอ่านเรื่องย่อเต็ม ๆ ก็เสิร์ชหาในเน็ตนะ 55) เป็นเรื่องราวของ เคเดน โคดาร์ด ผู้กำกับละครเวทีที่มีชื่อเสียง วันหนึ่งเขาต้องเผชิญหน้ากับโรคประหลาดที่ทำให้อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายเขาทำงานผิดปกติทีละอย่าง ๆ ขณะที่เขาเผชิญโรคร้าย อเดล ภรรยาของเขาก็ทิ้งเขาไปและไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในนิวยอร์ก โดยนำลูกสาวคือโอลีฟไปด้วย ในที่สุดเขาจึงตัดสินใจทิ้งทุกอย่างในชีวิต และนำเงินที่ได้มาจากกองทุนเพื่อเนรมิตโกดังขนาดยักษ์ในนิวยอร์กให้กลายเป็นสถานที่แสดงละครเวทีซึ่งจะเป็นละครที่ถ่ายทอดตัวตนของเขาออกมาได้อย่างตรงไปตรงมาที่สุด

ลำดับเรื่องอันอลหม่าน

Kaufman เริ่มเรื่องโดยการใช้ลำดับเวลา ลำดับสถานที่ และลำดับเหตุการณ์อย่างปั่นป่วนในสิบนาทีแรก เริ่มด้วยฉายให้เห็นชีวิตของเคเดนที่อลวนด้วยเสียงโทรทัศน์ เสียงอ่านบทกวีในวิทยุ เสียงร้องเพลงของลูกสาว การเปิดหนังสือพิมพ์ที่เพียงแค่พลิกหน้า วันที่ในหนังสือพิมพ์ก็เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ลูกสาวของเขาบอกว่าเป็นวันอังคารแต่แม่กลับตอบว่าเป็นวันศุกร์ การไปพบหมอเพื่อเย็บแผลแตก แต่เมื่อหมอเย็บแผลของเขาเสร็จก็แนะนำให้ไปพบจักษุแพทย์ ตามด้วยหมอที่เชี่ยวชาญเรื่องสมองและสุดท้ายก็ลงเอยที่จิตแพทย์ แล้วภาพก็ตัดสลับมาที่ละครเวทีที่เขากำกับ ซึ่งในละครเวทีเรื่องดังกล่าวมีทั้งฉากไปทำงาน ฉากขับรถชนกำแพง และฉากที่นอนรวมอยู่ในเวทีเดียว คล้ายจะบอกไวยากรณ์ของหนังกลาย ๆ ว่าจากนี้ไป ลำดับเวลา ลำดับสถานที่ และลำดับเหตุการณ์ต่าง ๆ ในเรื่องจะเป็นเสมือนละครเวที นั่นคือมีทุกฉาก ทุกสถานที่ ทุกเหตุการณ์ และทุกลำดับเวลาปรากฏอยู่ในพื้นที่เดียวกัน (เช่นเดียวกับบทละครกรีกที่ Space-Time สามารถข้ามลำดับเวลานับร้อยปีหรือการเดินทางหลายหมื่นกิโลเมตรเพียงชั่วลัดนิ้วมือ) ขึ้นอยู่กับว่าผู้กำกับจะเลือกฉายแสงไฟเข้าไปในฉากใด

ไวยากรณ์ของหนังข้อนี้ถูกย้ำเตือนอยู่เรื่อย ๆ ตลอดแทบทุกฉาก เช่นฉากที่เคเดนบอกว่าภรรยาเพิ่งทิ้งไปอาทิตย์เดียว แต่ชู้รักของเขาบอกว่านี่ผ่านมาสองปีแล้ว การก่อตั้งกองละครเวทีที่ดูเหมือนประเดี๋ยวประด๋าว ขณะที่เคเดนกำลังพูดถึงพล็อตใหม่ที่เพิ่มเข้ามา มีคนในกองถามว่าเมื่อไหร่จะมีคนมาดู เพราะนี่ผ่านไปนานถึง 17 ปีแล้ว! บ้านของฮาเซล สาวขายตั๋วที่เป็นชู้รักของเคเดน ซึ่งตัวบ้านลุกติดไฟอยู่ตลอดเวลา แต่หลายครั้งที่มองเห็นห้องเปล่า ๆ และเตียงนอนเท่านั้น ดูเหนือจริงจนคล้ายจะเป็นเพียงฉากหนึ่งในละครเวทีมากกว่าบ้าน หรือแม้แต่บันทึกของลูกสาวที่ดูเหมือนว่าจะมีหน้าบันทึกเพิ่มขึ้นทุกวันจนถึงวัยสาว แม้เขาจะพบบันทึกนี้ตอนที่ภรรยาเพิ่งจะพาลูกสาวที่ยังเล็กหนีไป ลำดับเวลาและเหตุการณ์อันอลหม่านนี้ มองผิวเผินอาจดูว่าเคเดนนั่นแหละบ้าที่จำไม่ได้ แต่ถ้าดูจากไวยากรณ์เรื่องแล้ว นี่คือการเลือกฉายแสงลงที่ฉากบางส่วนในละครเวที ซึ่งล้วนแต่เป็นเศษเสี้ยวบางส่วนในชีวิตของเคเดนนั่นเอง

สิ่งยิ่งใหญ่กระจ้อยร่อย
 

ขณะที่ละครเวทีของเคเดนดูเหมือนจะเป็นงานชิ้นยิ่งใหญ่มหึมา งานของอเดลภรรยาคนแรกดูเหมือนจะเป็นงานชิ้นกระจ้อยร่อย คือการวาดภาพขนาดเล็กมาก ต้องใช้แว่นขยายส่องดูจึงจะเห็นรายละเอียดภาพ แต่แท้จริงแล้ว งานศิลปะของทั้งคู่ต่างเป็นกระจกสะท้อนกันและกันให้เห็นชัดเจนขึ้น

ละครเวทีของเคเดนเนรมิตโกดังขนาดใหญ่กลางนิวยอร์ก พรั่งพร้อมด้วยฉากต่าง ๆ มากมายในนั้น ทว่ามันก็มีไว้เพื่อแสดงสิ่งที่กระจ้อยร่อยเหลือเกิน นั่นคือชีวิตของเคเดนที่สุดท้ายแทบไม่มีความหมาย ขณะที่ภาพเล็ก ๆ ของอเดล กลับรวบรวมความหมายของชีวิตในชั่วขณะหนึ่ง ๆ ไว้อย่างครบถ้วน ไม่มีการใช้พื้นที่และการเติมสีอย่างเปล่าเปลือง

นอกจากนั้นภาพวาดของอเดลเท่าที่เราได้เห็นคือภาพของคนสำคัญในชีวิต ราวกับว่าเธอเรียนรู้ว่าอะไรคือแก่นสาร (Essence) ที่ตนเองอยากจะยึดถือ ขณะที่สเกลอันยิ่งใหญ่ของละครเวทีของเคเดนกลับเปล่าโหวงด้วยคนที่สำคัญบ้างไม่สำคัญบ้างเดินอยู่ทั้งในฉากและในสตูดิโอ เช่นเดียวกับในชีวิตจริงของเขาที่บอกว่ามีคนสำคัญสำหรับเขา แต่ก็เป็นเขาเองนั่นแหละที่ทำให้คนสำคัญหลุดลอยไป

การทำสตูดิโอหรือโรงละครขนาดยักษ์ของเคเดนเพื่อจะพบความจริงอันแสนกระจ้อยร่อย แท้จริงแล้วเหมือนหรือต่างอย่างไรจากการวาดภาพขนาดเล็กกระจ้อยร่อยของอเดลแต่แฝงความหมายอันยิ่งใหญ่ของชีวิตเอาไว้?

ใครกำกับชีวิตใคร

แน่นอนว่านี่คือเรื่องราวของเคเดนซึ่งเป็นผู้กำกับละครเวที และลำดับเวลาหรือลำดับเหตุการณ์ต่าง ๆ ในช่วงแรกล้วนเป็นฝีมือการกำกับของเขาเอง แต่ Kaufman ก็ทิ้งไวยากรณ์อีกข้อไว้ในเรื่องเป็นระยะ ๆ นั่นคือตัวเคเดนเองก็ถูกกำกับอยู่เช่นกัน เช่นการต้องไปหาหมอโดยคำสั่งหมออีกคนไปเรื่อย ๆ การคบกับฮาเซล พนักงานขายตั๋ว ที่เมื่อแรกจีบเธอ เธอเป็นคนบอกบทให้เขาพูด รวมถึงบอกให้เขาทำอะไรต่าง ๆ เช่น คุกเข่าขอความรัก การที่เคเดนไม่อยากมีเซ็กซ์หลังจากงานศพของแม่ แต่ชู้รักอีกคนก็เร่งเร้าจนเขาต้องยอม หนังสือของจิตแพทย์สาวที่มีบทบอกให้เขาทำสิ่งต่าง ๆ และเหตุการณ์ก็เป็นไปตามที่หนังสือเขียน ส่วนฉากที่เขาถูกกำกับที่น่าสะเทือนใจที่สุดคงหนีไม่พ้นฉากที่ลูกสาวของเขาใกล้จะตาย และเขาต้องพูดตามบทที่ลูกสาว (ที่ถูกชู้รักของเธอหลอก) กำหนดให้ว่าเขาเป็นเกย์และทิ้งแม่ไปอยู่กินกับผู้ชายเพื่อให้ลูกสาวจากไปอย่างสงบ

เช่นเดียวกับการเป็นผู้กำกับที่พยายามสร้างละครเวทีเรื่องราวของเขาเอง แต่เมื่อเวลาผ่านไปเรื่อย ๆ บทบาทผู้กำกับของเขากลับลดน้อยและพร่าเลือน เขาหานักแสดงมาเล่นเป็นตัวเขาเอง แต่เขาก็ไม่อาจกำกับให้นักแสดงเลิกจีบภรรยาคนปัจจุบันในชีวิตจริงของเขาได้ นอกจากนั้น เขาเองต่างหากที่ถูกเคเดนที่เป็นนักแสดงมากำกับชีวิตเขาเมื่อนักแสดงยื่นที่อยู่ของภรรยาเก่ามาให้เขาเดินทางไปตามหา และในที่สุดเขาก็ไม่สามารถกำกับให้เคเดนที่เป็นนักแสดงอยู่ในบทของเขาเองได้จริง ๆ ในฉากที่ชีวิตจริงเขาพยายามฆ่าตัวตายแต่ถูกใครคนหนึ่งช่วยไว้ แต่เมื่อนักแสดงอกหักและฆ่าตัวตายกลับไม่มีใครช่วยนักแสดงเหมือนในชีวิตจริงของเขา

จะว่าไปแล้วตัวละครทุกตัวในเรื่องนี้ล้วนถูกความเจ็บปวดหรืออะไรบางอย่างกำกับอยู่ทั้งสิ้น เคเดนถูกความป่วยไข้ทั้งทางกายและทางใจจากที่ถูกภรรยาทิ้งเป็นเครื่องกำกับให้เขาสร้างละครเวทีเรื่องใหม่ อเดลถูกความเจ็บปวดและผิดหวังจากตัวเคเดนกำกับให้เนรเทศตัวเองออกไปจากชีวิตของเคเดน โอลีฟลูกสาวถูกความเจ็บปวดจากความผิดหวังในตัวเคเดนกำกับเอาไว้จนวาระสุดท้ายของชีวิต ดังที่ชู้รักของเธอหลอกเอาไว้เพื่อให้เธอตัดใจและกีดกันไม่ให้พบเคเดน เช่นเดียวกับผู้หญิงของเคเดนทุกคนที่ต่างมีชีวิตพลิกผันไปเมื่อได้คบหากับเคเดน

หรือแท้จริงแล้วเราต่างกำกับชีวิตของกันและกันไว้ด้วยความเจ็บปวด

เศษซากของตัวตน
 

นอกจากความอลหม่านของเรื่องและชะตากรรมของตัวละครที่ปวดร้าว เศษซากเหตุการณ์ สถานที่ และเวลาที่เคเดนฉีกออกเป็นส่วน ๆ แล้วดึงเราเข้าไปร่วมในฉาก พร้อมกันนั้นก็ดึงเราออกมาเป็นคนดูในฐานะผู้กำกับก็ชวนให้คนดูฉงนได้ไม่แพ้กัน

นับเนื่องแต่ฉากแรก เคเดนหมกมุ่นอยู่กับตนเองมาก เห็นได้จากขณะที่เขาดูโทรทัศน์ในแต่ละฉาก จะมีหน้าของเขาปรากฏเป็นตัวละครในโทรทัศน์อยู่เสมอ เช่นเดียวกับอาการป่วยของเขาที่จำเพาะเจาะจงต้องเป็นอาการที่อวัยวะอัตโนมัติผิดปกติ เช่น น้ำลายไม่ไหล ไม่มีน้ำตา ควบคุมการสั่นของขาไม่ได้ ยิ่งทำให้เขารู้สึกถึงตัวตนของเขาชัดเจนขึ้นอีก เพราะต้องคอยบังคับอวัยวะอัตโนมัติเหล่านี้ให้ทำงานอยู่ตลอดเวลา

ทว่าตัวตนของเคเดนเริ่มแตกร้าวขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในช่วงที่เคเดนเอาจริงเอาจังกับการสร้างสตูดิโอในโกดังขนาดยักษ์ เขาจำลองแต่ละฉาก แต่ละเหตุการณ์ในชีวิตไว้ในโกดัง หาคนมาแสดงเป็นตัวเขา พร้อมกันนั้นก็ยืนกำกับอยู่ข้างนอก ทว่าเส้นแบ่งระหว่างเคเดนและคนที่แสดงเป็นตัวเขาเองกลับพร่าเลือนลงเรื่อย ๆ เช่นในวันหนึ่งเขาสืบที่อยู่อเดล ภรรยาคนแรกมาได้ เขาจึงออกไปตามหาห้องของเธอ และพบกับหญิงชราแปลกหน้าที่อ้างว่าเป็นเพื่อนข้างห้องของอเดลและให้กุญแจห้องมา เมื่อเขาเข้าไปในห้องก็พบว่าเธอทิ้งโน้ตให้ทำความสะอาดให้ด้วย ทั้งที่เป็นเรื่องในชีวิตจริงแต่ทุกอย่างกลับเหมือนมีบทกำหนดไว้แล้วและเขาเองนั่นแหละต้องแสดงตามนั้น

เมื่อเขากลับมาที่บ้านของภรรยาคนใหม่ เขาโกหกเพื่อให้เธอสบายใจ แต่คนที่แสดงเป็นตัวเขาในฉากเดียวกันนี้กลับพูดความจริงว่าเคเดนไปทำความสะอาดที่บ้านภรรยาคนเก่า นั่นเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ภรรยาใหม่จากเขาไป ฉากนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความพร่าเลือนของเคเดนและคนที่แสดงเป็นเคเดนว่าแท้จริงแล้วใครคือนักแสดงและอะไรคือการแสดง ระหว่าง "เคเดนตัวจริง" ที่ "โกหก" ภรรยาใหม่ หรือ "เคเดนนักแสดง" ที่ "พูดความจริง" กับภรรยาใหม่ที่เป็นนักแสดง

การรื้อสร้างเพื่อถอดถอนอัตตา

ขณะที่กำลังมึนงงอยู่กับความพร่าเลือนของตัวตนที่กำลังสลายลงไปเรื่อย ๆ Kaufman ก็บิดเรื่องให้ดูเหมือนจะเข้าสู่ไคลแม็กซ์ เมื่อเคเดนที่เป็นนักแสดงกระโดดตึกตายจริง ๆ ในฉากที่เคเดนตัวจริงเกือบจะกระโดดตึกแต่มีคนช่วยไว้ พวกเขาทำพิธีศพให้เคเดนนักแสดง และเคเดนก็ดูเหมือนจะพบสัจธรรมที่เป็นแก่นของหนังเรื่องนี้คือตัวตนของเขาไม่มีอยู่จริง แต่เพียงแวบเดียวเท่านั้น ฉากนี้ก็กลับกลายเป็นฉากในละครเวทีที่มีเคเดนตัวจริงยืนกำกับอยู่ข้างนอกพร้อมกับนักแสดงเป็นเคเดนคนใหม่ ฉากที่ควรจะเป็นไคลแม็กซ์ของหนังกลับกลายเป็นฉากหนึ่งในละครเวทีของเคเดนเท่านั้น

หลังจากฉากนี้ Kaufman ค่อย ๆ ให้เคเดนถอยห่างจากบทบาทผู้กำกับออกไปเรื่อย ๆ โดยมีคนที่รับบทเป็นคนทำความสะอาดมารับบทเป็นผู้กำกับแทน ส่วนเขาออกไปรับบทเป็นคนทำความสะอาด แล้วฉากงานศพที่ดูเหมือนจะเป็นไคลแม็กซ์นี้ก็วนซ้ำกลับมาอีกครั้ง แต่คราวนี้ประโยคสรุปแก่นเรื่องที่เคยออกจากปากของเคเดน กลับเป็นบาทหลวงคนหนึ่งที่ได้บทพูดนี้ไป โครงสร้างของหนังและละครเวทีซึ่งเป็นอัตตาแท้จริงของเคเดนเริ่มพังทลายจากการถูกรื้อสร้าง (Deconstruction) ครั้งแล้วครั้งเล่า

และนับจากฉากนี้ไป ละครเวทีซึ่งบอกเล่าชีวิตของเคเดนกลับดำเนินไปเรื่อย ๆ โดยที่ไม่มีเคเดน (ซึ่งกำลังรับบทเป็นคนทำความสะอาด) กำกับอีกต่อไปแล้ว นั่นคือ "เรื่องของเคเดน" ไม่จำเป็นต้องมีเคเดนก็ยังดำเนินเรื่องต่อไปได้ และเคเดนจะค่อย ๆ ถอยห่างออกไปจากชีวิตตนเองเรื่อย ๆ จากนี้ไปผู้ชมจะเริ่มสับสนกับชื่อตัวละครและบทบาทที่แต่ละตัวจะได้รับแล้ว คำว่า "I" ที่เคเดนพูดจึงคลุมเครือขึ้นเรื่อย ๆ อาจหมายถึงเคเดน หมายถึงคนทำความสะอาด หรือหมายถึงใครก็ได้ในเรื่องนี้

ในตอนท้ายเรื่อง เมื่อเขาถอยห่างออกมาจากตัวตนจนลมหายใจของเขาแทบจะไม่ได้หมายถึงใครแล้ว เขาก็ได้พบกับโน้ตของอเดลภรรยาคนแรกที่บอกเล่าถึงความเจ็บปวดต่าง ๆ ในชีวิตที่ได้เผชิญมา เขาจึงได้เรียนรู้ว่า ชีวิตที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวดและสับสนของเขานั้นช่างกระจ้อยร่อย แท้จริงแล้วชีวิตที่แต่ละคนล้วนเป็นตัวเอกของตัวเองต่างก็มีความเจ็บปวดไม่ต่างจากเขาเลย

ในที่สุดแล้ว เขาเดินทางออกมาจากอัตตาของตัวเองจนไกลสุดกู่ นับแต่ฉากที่เขาพูดเรื่องความไร้ตัวตน (ตอนที่เขาพูดในงานศพนักแสดงคนแรก) ทั้งที่เขาควรจะเรียนรู้เรื่องนี้นับแต่วินาทีที่พูดประโยคนั้นแล้ว แต่เปล่าเลย เขาเพิ่งจะเข้าใจมันจริง ๆ ก็ต่อเมื่อเดินทางมาถึงวินาทีสุดท้ายของหนังเท่านั้น นั่นคงจะเป็นเพราะว่า การพูดว่าไร้ตัวตนนั้นพูดไม่ยาก แต่กว่าจะถ่องแท้ในประโยคดังกล่าว จะต้องใช้การรื้อสร้างเพื่อถอดหลายต่อหลายสิ่งที่ประกอบขึ้นเป็นตัวตนของตัวเองไม่รู้กี่ชั้นต่อกี่ชั้น

the epic of SMALLEST things and the Death of Director

Charlie Kaufman ได้สร้างงานระดับ epic ขึ้นอีกหน้าหนึ่งในวงการภาพยนตร์ Synecdoche, New york เป็นภาพยนตร์ที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตทั้งด้วยสเกลเรื่องเล็กนิดเดียวและยิ่งใหญ่มหึมาไปพร้อมกัน แม้จะเป็นเพียงชีวิตเล็ก ๆ ชีวิตหนึ่ง แต่ก็เป็นมหากาพย์ที่หนักหน่วงเหมือนระดมคลื่นยักษ์เข้าใส่สมองและหัวใจไม่หยุดยั้ง เช่นเดียวกับความหมายของคำว่า Synecdoche ที่หมายถึงการพูดถึงบางส่วนเพื่อหมายถึงทั้งหมด การพูดถึงบางส่วนของชีวิตเคเดน อาจหมายถึงทั้งหมดของชีวิตเคเดน ทั้งหมดของชีวิตศิลปิน หรือกระทั่งทั้งหมดของชีวิตมนุษย์ ล้วนเป็นไปได้ทั้งสิ้น

การตั้งคำถามต่อตัวตน ความหมายของศิลปะและชีวิต ดูเหมือนจะเป็นคำถามที่ถามกันมาเนิ่นนานหลายศตวรรษ แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ได้เขย่าให้เราลุกขึ้นตั้งคำถามกับตัวเองอย่างจริงจังกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา นอกจากนี้ การค่อย ๆ หายตัวไปของผู้กำกับและการสลายเส้นแบ่งระหว่างตัวละครต่าง ๆ นั่นคือการเปิดพื้นที่ให้ผู้ชมได้แทรกซึมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของภาพยนตร์อย่างไม่รู้ตัว เฉกเช่นคำประกาศเรื่องมรณกรรมของผู้แต่งของโรลอง บาร์ต ที่จากนี้ไปผู้ชมจะต้องเติมชีวิตของตนลงไปใน epic ของตนเองเพื่อค้นหาความหมายของชีวิต


วุฒินันท์ ชัยศรี
๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๖

วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

นิรโทษกรรม (๓)



๏ คราวหลังอย่าประเมินผิวเผินอีก
คราวหลังอย่ารู้หลีกมีปีกหาง
คราวหลังอย่าคิดทำเรื่องอำพราง
เดี๋ยวจะหมดสิ้นทางถอนตัว

๏ คราวหลังอย่าแปรรูปนิติรัฐ
ให้หมดเสี้ยนขวางขัดพวกคนชั่ว
คราวหลังเรื่องเวรกรรมจงรู้กลัว
อย่ามืดมัวหลงอำนาจประกาศชัย

๏ คราวหลังอย่าเหยียบย่ำซ้ำเติมศพ
ควรเคารพอย่าย่ำยีแม้สีไหน
ว่าเขาเป็นฆาตกรก่อนนี้ไย
แล้วทำไมไม่เอาเขาไปเข้าคุก!

๏ อย่าทำเหมือนบ้านเมืองเป็นเรื่องเล่น
อย่ามองเห็นบ้านเมืองเป็นเรื่องสนุก
เร่งแต่สุมไฟฟอนให้ร้อนทุกข์
คงสักวันเถอะกลียุคจะเยี่ยมยล

๏ คลื่นมหาประชาราษฎร์เริ่มทบทวี
เท่านี้การต่อสู้ก็รู้ผล
เมื่อมองเห็นคนไทยไม่ใช่คน
ก็ปี้ป่นแบบนี้แหละที่รัก! ๚ะ๛

วุฒินันท์ ชัยศรี
๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๖

วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เลิกบุหรี่

เห็นเธอสูบบุหรี่ฉุย
แล้วพ่นควันปุ๋ยปุ๋ย
เท่กว่าใคร


อยากลองสูบบุหรี่บ้าง
เผื่อจะได้หาทาง
มาชิดใกล้


แต่ฉันแพ้ควันบุหรี่
ฉันเลยเป็นคนดี
(สสส. ว่าไว้)


กว่าจะหัดสูบบุหรี่
เธอก็คงเดินหนี
ไปแสนไกล


งั้นเลิกสูบบุหรี่กัน
เริ่มเลิกที่ตัวฉัน
เลิกทันใด


สูบบุหรี่เป็นมะเร็ง
เธอเป็นแล้วคงเซ็ง
เธอว่าไหม


ถ้าไม่มีควันบุหรี่
จะทวงคืนพื้นที่
เพื่อชิดใกล้


เลิกบุหรี่แล้วมีแฟน
มีคนให้ควงแขน
เธอสนไหม?



๘ พ.ย. ๒๕๕๖

วันอาทิตย์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

จะไม่มีสงครามครั้งสุดท้าย!



๏ "จะไม่มีสงครามครั้งสุดท้าย!"
หากไม่เห็นความตายมีคุณค่า
หากไม่เห็นคนตายในสายตา
หากเห็นการเข่นฆ่าคือชอบธรรม

๏ เพลิงกาฬใกล้มอดจะปะทุ
หากเร่งสร้างพายุโหมกระหน่ำ
หากยัดเยียดกฎหมา-สาริยำ
มาเหยียบซ้ำซากศพทบทวี

๏ จะเปลี่ยนจากยุคเข็ญเป็นกลียุค
หากเร่งรุกชำเรารัฐน่าบัดสี
หากเร่งเติมแรงต้านการต่อตี
"จะไม่มีสงครามครั้งสุดท้าย!" ๚ะ๛



-----------
วุฒินันท์ ชัยศรี

๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๖

วันเสาร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

นิรโทษกรรม (๒)


เอาวะ! เลือดเพื่อนก็เลือดเพื่อน
มันไม่เหมือนเลือดกูหรอกเหวย
ขอยกมือหน่อยนะอย่าโกรธเลย
คนคุ้นเคยอย่าขุ่นเคืองเรื่องนิดเดียว

แหมก็เสียงข้างมากเขาว่ามา
สมองหม... เอ่อ... สมองข้าแม้เห็นต่างอย่างเฉลียว
แต่ฝักถั่วเพื่อนกูก็กรูเกรียว
มันเสียวเสียวถ้าไม่ยกจะตกงาน

ว้าเว้ย! ไม่เป็นกูไม่รู้หรอก
มติพรรคเขาบอกอย่างหน้าด้า... เอ่อ... ซาบซ่าน
ยึดมั่นประชาธิปไตยในหลักการ
ตามสันดานเสียงข้างมากมันลากเอา

ก็นะ! เลือดเพื่อนก็เลือดเพื่อน
เปื้อนมือสักหน่อยอย่าหงอยเหงา
เลือดเพื่อนหรือเลือดใครใช่เลือดเรา
เช็ดตูดก็หายเศร้านะเพื่อนรัก!


วุฒินันท์ ชัยศรี
๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๖

"ในกรณีนี้ ผมทำหน้าที่โหวตในฐานะ ส.ส. ถึงแม้ผมไม่เห็นด้วยในมาตรานี้ แต่ในเมื่อพรรคมีมติเสียงข้างมากมาแล้วว่าเห็นด้วยตามร่างของกรรมาธิการ จึงคิดว่าควรมีวินัยและเดินตามมติพรรค มิฉะนั้นผมอาจจะกลายเป็นเหมือน ส.ส.บางพรรคที่ชอบตีรวนในสภา ไม่เคารพต่อเสียงข้างมาก จนก่อเหตุวุ่นวายหลายครั้ง ทำให้ภาพลักษณ์สภาเสื่อมเสีย ซึ่งผมมองว่าไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง ดังนั้นผมต้องไม่เหมือนพวกเขา ผมต้องเคารพกติกาเป็นหลัก" ---- ก่อแก้ว พิกุลทอง

จากข่าว "เปิดชื่อ 18 ส.ส.เสื้อแดง โหวตหนุน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอย"
http://www.isranews.org/%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%88%E0%B8%99-%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%B2/item/24797-dang.html

วันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

นิรโทษกรรม


ให้หลั่งเลือด, ชั่วข้ามคืนก็กลืนเลือด
แม้ยังไม่แห้งเหือดฤาเลือนหาย
โบราณกล่าว, เสร็จนาให้ฆ่าควาย
แต่ขุนพลคนร้ายยังอยู่ครบ!

ทะลุซอยยังไม่ไหวไปผิดซอย
โจรบ้าห้าร้อยคอยเลี่ยงหลบ
ฝักถั่วเต็มสภาน่าบัดซบ
เหยียบกี่หมื่นแสนศพจึงรู้พอ

นิรโทษฯ คือเนรเทศนิติรัฐ!
ตกต่ำเหมือนส่ำสัตว์เสียแล้วหนอ
จากนี้ใครฆ่าใครไม่รั้งรอ
กุมอำนาจแล้วจึงขอนิรโทษกรรม

คราบเลือดไม่แห้งเหือดไม่จางหาย
คราบน้ำลายเคยก่นด่าช่างน่าขำ
เราฆ่าหรือเขาฆ่าสาริยำ
สุดท้ายก็กลับคำเพียงชั่วคืน

หลงว่าเสร็จหน้านาฆ่าโคถึก
ทว่าศึกเพิ่งเริ่มต้น-คนเริ่มตื่น
นอนกอดระเบิดเวลาอยู่เต็มกลืน
คนอาสัตย์จะหยัดยืนสักกี่น้ำ!


วุฒินันท์ ชัยศรี
๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๖