วันอาทิตย์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

TOP 10 of my favourite Thai Short Story

หลังจากว่างเว้นการเขียนเรื่องสั้นไปเป็นปีเพราะมัวไปหมกมุ่นอยู่กับอย่างอื่น วันนี้จู่ ๆ ก็เกิดอารมณ์อยากหวนกลับมา "เล่น" กับมันอีกครั้ง เลยหยิบรวมเรื่องสั้นหลาย ๆ เล่มมาอ่านพลาง ๆ เผื่อมีความคิดใหม่ ๆ แวบเข้ามาให้เขียนบ้าง เลยนึกครึ้มอกครึ้มใจอยากลองจัดอันดับรวมเรื่องสั้นไทยที่ดีที่สุดตลอดกาลในดวงใจ 10 เล่มขึ้นมา เรียงตามลำดับความชื่นชอบ (ตอนแรกจะจัดอันดับ 10 เล่มในดวงใจไม่ว่าจะเป็น บทกวี เรื่องสั้น นวนิยาย ของไทย-เทศ แต่ว่าตัดใจให้เหลือ 10 เล่มไม่ได้จริง ๆ ขนาดจัดอันดับเฉพาะเรื่องสั้นไทยรอบนี้ ยังอยากจะขยายเป็น 20 เล่มเลย 55) ตรงกับใจท่านหรือไม่ หรืออ่านการจัดอันดับแล้วอยากไปหามาลองอ่านก็ลองมาดูกัน

1. รวมเรื่องสั้นของ อ.อุดากร
ใครจะมองว่าเป็นเรื่องสั้นโรแมนติกประโลมโลกย์ ใครจะมองว่าเป็นเรื่องสั้นตกยุค หรือใครจะมองอย่างไรก็ตาม แต่สำหรับผมแล้ว นี่คือ Best of the Best ของเรื่องสั้นไทย
เรื่องสั้นของ อ.อุดากรหลายเรื่องเป็นเรื่องสั้นในยุคแรกเริ่มที่ดูเหมือนจะตกยุคไปแล้ว เช่น เรื่องรักโรแมนติกอย่าง สยุมพรเหนือหลุมฝังศพ เรื่องตื่นเต้นเร้าใจ มุ่งสั่งสอนศีลธรรมอย่าง ตึกกรอสส์ สัญชาตญาณมืด แม้แต่เรื่องสั้นเสนอแนวคิดทางการเมืองที่ออกจะเชย ๆ อย่าง บนผืนดินไทย คาร์ล มาร์กซ์, กลิ่นดินปืน และนันทิยา แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าคุณค่าของเรื่องสั้นเหล่านี้จะตกหล่นไปตามยุคสมัย ความงามของเรื่องสั้นของ อ.อุดากรไม่ได้หยุดอยู่ที่ภาษาอันสละสลวยละเมียดละไม ไม่ได้หยุดอยู่ที่โครงเรื่องซับซ้อนและการหักมุมจบอย่างชาญฉลาด แต่อยู่ที่จิตวิญญาณแห่งการรังสรรค์เรื่องสั้นที่แสดงออกมาอย่างเหลือล้นในแต่ละเรื่อง นั่นทำให้งานของเขาเป็นอมตะมาจนถึงทุกวันนี้

2. รวมเรื่องสั้นของมนัส จรรยงค์
หากจะเปรียบรวมเรื่องสั้นของ อ.อุดากรเป็นมวยกรุง รวมเรื่องสั้นของมนัส จรรยงค์ก็เป็น "มวยลูกทุ่ง" ที่มีจังหวะจะโคนการเตะต่อยอันเป็นเอกลักษณ์ ทั้งภาษาแบบตรงไปตรงมาตามแบบตัวละครลูกทุ่ง หรือหากจะไพเราะขึ้นจากการปรุงแต่งของผู้เขียนก็ไม่ได้ไพเราะเสียจนเกินจริตความงามแบบท้องทุ่ง ใครเล่าจะลืม "จับตาย" "ซาเก๊าะ" "ท่อนแขนนางรำ" ฯลฯ เรื่องสั้นที่ตกผลึกมาจากการบ่มเพาะประสบการณ์มาทั้งชีวิต ทำให้ตัวละคร เหตุการณ์ ตลอดจนองค์ประกอบทุกอย่างในเรื่องดูราวกับมีชีวิตมีเลือดเนื้ออยู่ในหน้ากระดาษ
แต่ที่ติดใจผมที่สุดเห็นจะเป็นเรื่องสั้นชุด "เฒ่า" ที่มีตัวละครเอกลักษณ์คือ "เฒ่า" ต่าง ๆ ที่อาจินต์ ปัญจพรรค์ให้คำจำกัดความไว้ว่าเป็น "สุภาพบุรุษท้องนาผู้เสพย์สุราต่างโอสถ" คอยมาเรียกเสียงหัวเราะ แสดงเล่ห์เหลี่ยมกลโกง ตลอดจนความมีน้ำใจแบบ "นักเลงลูกทุ่ง" จนเป็นตัวละครและเรื่องราวที่ตราตรึงใจผู้อ่านมาจนทุกวันนี้
อาจกล่าวได้ว่าไม่มีใครอีกแล้วที่จะเขียนเรื่องสั้นลูกทุ่งได้ดีเท่ามนัส จรรยงค์

3. ฟ้าบ่กั้น / ลาว คำหอม
นี่คือรวมเรื่องสั้นที่สะท้อนชีวิตคนอีสานได้ดีที่สุด ตรงที่สุด และเจ็บปวดที่สุด แต่ในความเจ็บปวดนั้นก็มีเสียงหัวเราะแบบขื่น ๆ และมีความหวังส่องประกายวิบวับอยู่ลึก ๆ ตามประสาคนอีสานผู้ไม่ย่อท้อต่อโชคชะตา ลาว คำหอมกล่าวทีเล่นทีจริงว่า เรื่องสั้นชุดนี้เป็นแค่ "วรรณกรรมฤดูกาล" แต่ฤดูกาลแห่งความ "โง่ จน เจ็บ" ของชาวอีสานนั้นยาวนานเหลือเกิน เขาพูดถูก เพราะจนถึงทุกวันนี้ เรื่องราวใน "ฟ้าบ่กั้น" หลายเรื่องก็ยังมีอยู่ตำตาในแผ่นดินอีสาน
ความดีอื่น ๆ ของหนังสือเล่มนี้คงไม่ต้องพูดมาก เพราะแค่เล่มนี้เล่มเดียวก็ทำให้ชื่อของลาว คำหอม ขึ้นหิ้งเป็นนักเขียนเรื่องสั้นยอดเยี่ยมตลอดกาลแล้ว

4. แผ่นดินอื่น / กนกพงศ์ สงสมพันธุ์
กว่าที่ "แผ่นดินแม่" จะกลายไปเป็น "แผ่นดินอื่น" นั้น มีปัญหามากมายและสลับซับซ้อนพัวพันกันจนยุ่งเหยิง จับต้นชนปลายไม่ถูก แทบไม่น่าเชื่อว่ากนกพงศ์จะสามารถเขียนเรื่องราวและกระบวนการการเปลี่ยนแปลงที่สลับซับซ้อนเหล่านั้นออกมาในรูปแบบที่ดูจะมีข้อจำกัดมากมายอย่างเรื่องสั้นได้อย่างสมบูรณ์แบบและลงตัวที่สุด นี่คือรวมเรื่องสั้นที่ยอดเยี่ยมที่สุดในบรรดาเรื่องสั้นยุคใหม่ของไทย และสมศักดิ์ศรีรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนมากที่สุดนับแต่ได้มีการจัดประกวดกันขึ้นมา
ดูเหมือนว่าชุดความคิดใน "แผ่นดินอื่น" เป็นความคิดที่ตกผลึกมาแล้วจากผลงานก่อนหน้าอย่าง "สะพานขาด" และ "คนใบเลี้ยงเดี่ยว" ความคิดในแต่ละเรื่องนั้นสลับซับซ้อนและยั่วให้ผู้อ่านตีความได้หลากหลายนัย พอ ๆ กับกลวิธีที่เขาเลือกใช้ และความซับซ้อนของปัญหาในภาคใต้ที่ยังไม่มีใครสามารถแก้ไขได้
จนถึงตอนนี้ มีงานวิจารณ์หรืองานวิจัยที่วิเคราะห์วิจารณ์รวมเรื่องสั้นชุดนี้อยู่ไม่มากนัก อาจเป็นเพราะงานของเขาดูจะ "เกิดก่อนกาล" ทำให้การวิจารณ์อย่างถึงแก่นทำได้ยากพอสมควร

5. เดอะกร๊วกฟาเธอร์ แห่งหมู่บ้านซวยซ้ำซาก / ธราธิป
เมื่อเทียบกับชื่อชั้นของเล่มอื่น ๆ และนักเขียนท่านอื่น ๆ แล้ว เล่มนี้ดูเหมือนจะ "พลิกโผ" หลุดเข้ามาแบบฟลุกสุด ๆ หลุดไม่หลุดเปล่ายังเข้ามาเป็น TOP 5 ในดวงใจได้อีกต่างหาก นี่มันรวมเรื่องสั้นอะไร มีดีอะไรกันนี่! เมื่อดูในแง่เนื้อหาแล้ว มันก็เป็นเรื่องสั้นตลก ๆ ธรรมดา กล่าวถึงหมู่บ้านเล็ก ๆ หมู่บ้านหนึ่งที่มีเรื่องฮาไม่เว้นแต่ละวัน แต่ไม่รู้ทำไม เรื่องสั้นชุดนี้ถูกรสนิยมผมเอามาก ๆ อ่านแล้วหัวเราะท้องคัดท้องแข็งตลอดเวลา อาจจะกล่าวได้ว่าเรื่องสั้นชุดนี้เข้ามาเพราะ "รสนิยม" หรือ "ความถูกจริต" ของผู้จัดอันดับล้วน ๆ ไม่เพียงแต่เล่มนี้เท่านั้น เล่มอื่น ๆ ของธราธิปก็เป็นเล่มที่ผมไม่เคยพลาด
เอาเป็นว่า นับแต่ ป.อินทรปาลิตได้สร้างหัสนิยาย "สามเกลอ" ขึ้นมาบนบรรณพิภพเพื่อสร้างเสียงหัวเราะให้คนอ่านแบบน้ำหูน้ำตาไหลแล้ว คนที่พอจะเลียบ ๆ เคียง ๆ ท่านได้ ผมเห็นว่ามีแต่ธราธิปและรวมเรื่องสั้นแบบ "หัสเรื่องสั้น" ชุดนี้

6. เสเพลบอยชาวไร่, ผู้มียี่เกในหัวใจ / 'รงค์ วงษ์สวรรค์
อย่าไปเชื่อว่าหนังสือเล่มนี้ดีเพราะเป็นหนังสือหนึ่งใน 100 เล่ม จากการจัดอันดับของใครก็ไม่รู้ แต่ต้องลองอ่านด้วยตัวเองแล้วจะรู้ว่า นี่แหละ "ตัวจริง" แห่งวงการวรรณกรรมไทย อาจจะมีคนจัดรวมเรื่องสั้นชุดนี้ในหมวดนวนิยาย (ซึ่งอันที่จริงมันก็จัดได้แหละ) แต่ผมอยากจะจัดมันอยู่ในหมวดเรื่องสั้นที่มีตัวละครร้อยเรียงกันมากกว่า ชื่อชั้นของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ อาจการันตีได้ระดับหนึ่ง แต่เนื้อหาในเล่มมีดีกว่าที่การันตีไว้เยอะ แม้จะกล่าวถึงเรื่องราวชาวบ้านทุ่งธรรมด๊าธรรมดา แต่ระดับ 'รงค์ แล้ว ฝีมือการประพันธ์ของท่านทำให้เรื่องธรรมดากลับกลายมาเป็นเรื่องสั้นระดับ "ขึ้นหิ้ง" ได้ไม่ยาก และที่สำคัญ ฮาน้ำตาเล็ด ขอบอก

7. หนังสือเล่มสอง / เดือนวาด พิมวนา
อย่าแปลกใจว่าอ่านเรื่องสั้นของเดือนวาดอยู่ดี ๆ จะรู้สึกเหมือนถูกจับแก้ผ้า เพราะนั่นคือความถนัดของเดือนวาด -คว้านลึก ชำแหละ เปิดเปลือยจิตใจของมนุษย์จนหมดเปลือก ทดสอบจิตใจของมนุษย์ด้วยสถานการณ์ต่าง ๆ นานา เมื่อมองจากวงนอกอาจจะเห็นว่าตัวละครในเรื่องทำสิ่งที่ดูไม่ฉลาดเอาเสียเลย แต่เมื่อลองคิดว่าถ้าตนเองเป็นตัวละครนั้นเราจะทำอย่างไร ยิ่งอ่านยิ่งล้วงลึกเข้าไปในจิตใจตนเองจนรู้ว่า แท้จริงแล้วจิตใจของมนุษย์นั้นอ่อนแอและเปราะบางยิ่งกว่าเครื่องปั้นดินเผาผุ ๆ เสียอีก
นี่คือความยอดเยี่ยมของเรื่องสั้นชุดนี้ และความยอดเยี่ยมของเดือนวาด พิมวนา

8. สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน / วินทร์ เลียววาริณ
วินทร์ เลียววาริณ นักเขียนดับเบิลซีไรต์ มีงานเขียนมากมาย ทำไมต้องเป็นเล่มนี้? สำหรับผมแล้ว วินทร์เป็นมือเรื่องสั้นระดับต้น ๆ ของประเทศ และรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ถือว่าเป็น "จุดสูงสุด" ที่รวมทุกอย่างในความเป็น "วินทร์" ไว้ทั้งหมด ทั้งแนวคิดในการเขียน เนื้อหา กลวิธีสร้างสรรค์เรื่อง โดยเฉพาะกลวิธีที่ใช้ในแต่ละเรื่องนั้นไม่มีเรื่องไหนที่สูญเปล่าเลย ราวกับเขาได้ตกผลึกการใช้กลวิธีในการสร้างสรรค์เรื่องมาจาก "อาเพศกำสรวล" แล้ว
คำกล่าวของคณะกรรมการซีไรต์ท่านหนึ่งที่กล่าวถึงรวมเรื่องสั้นชุดนี้ว่า "วินทร์ทำให้นิยามของคำว่าวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมเป็นจริงขึ้นมาได้" นั้น ผมเห็นว่าไม่เกินจริงเลย

9. คนบนต้นไม้ / นิคม รายยวา
พูดถึงนิคม รายยวา ใคร ๆ ก็นึกถึง "ตลิ่งสูง ซุงหนัก" นวนิยายรางวัลซีไรต์ของเขา ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นนวนิยายที่มีสัญลักษณ์ต่าง ๆ ให้ใคร่ครวญขบคิดมากมาย แต่สำหรับผมแล้ว รวมเรื่องสั้นชุดนี้กลับเป็นงานเชิงสัญลักษณ์ที่ยอดเยี่ยมมากกว่า สำรวมคำ สำรวมความ ป้อนสัญลักษณ์ไม่มาก แต่ท้าทายให้ตีความไม่รู้จบ อาจมีข้อบกพร่องอยู่บ้างตามประสางานชิ้นแรก ๆ ของผู้เขียน แต่โดยรวมแล้วผมถือว่า นี่คือวรรณกรรมแนวสัญลักษณ์ที่ดีที่สุดเท่าที่มีมาในประเทศไทย

10. วรรณกรรมตกสระ (ชื่อก่อนได้รับการตีพิมพ์: งามมีที่รัก) / ภาณุ ตรัยเวช
นี่คืองานที่ยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่รางวัล Young Thai Artist Award ได้มีการจัดประกวดขึ้นมา และถือเป็นงานที่ยอดเยี่ยมที่สุดเมื่อเทียบกับงานของบรรดานักเขียนในรุ่นราวคราวเดียวกัน หรือต่อให้เทียบกับงานของนักเขียนรุ่นใหญ่หลายคนก็ตามที เสียดายก็แค่ว่าไม่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมในปีนั้น ทั้งที่ระดับของงานนั้นเกินคำว่ายอดเยี่ยมไปหลายขุม แต่อย่างน้อยมันก็ได้พิสูจน์ระดับของงานอีกครั้งในภายหลังเมื่องานชิ้นนี้ดีพอจะเป็น 1 ใน 7 เล่มสุดท้ายของซีไรต์ และเป็นเล่มที่ "ดีพอจะได้ซีไรต์" ในทัศนะของผมอีกด้วย
รวมเรื่องสั้นชุดนี้กล่าวถึงความงาม ความรัก และความสัมพันธ์ของมนุษย์หลากแง่หลายมุม แม้หลายเรื่องจะจบลงด้วยความเศร้า แต่เมื่ออ่านจบกลับพบความงามของความรักที่แอบซ่อนอยู่ในหัวใจของมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม และที่ผมวงเล็บชื่อเดิมนั้นไว้ก็เพราะผมชอบชื่อเดิมมากกว่า ด้วยเหตุผลว่าชื่อ "งามมีที่รัก" เป็นชื่อที่สอดคล้องกับเนื้อหาของรวมเรื่องสั้นชุดนี้ทั้งหมดมากกว่าชื่อปัจจุบันนั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น