วันจันทร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

รักเก่า

ถ้าอยากให้แน่ใจว่า
เราพร้อมแล้วสำหรับการมีรักครั้งใหม่
ให้ลองไปยืนตรงหน้า สบตากับคนเก่า
หากยังรู้สึกใจสั่นอยู่ แม้เพียงบางเบา
ก็อย่าเพิ่งไปเริ่มใหม่กับใครเลย

วันศุกร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ปนัดดา/น้ำตา/หน้ากากเต่า


มีไม่กี่คนที่รู้ว่าผมเป็นแฟนบอยของปนัดดา เรืองวุฒิ หนึ่งในนั้นก็คือคุณแฟนเก่าที่บังเอิญเห็นเพลงเกือบทุกอัลบั้มของปนัดดาบรรจุอยู่ในเครื่องเล่นเพลง พอเธอรู้ความจริงนี้แล้วถึงกับเอามือทาบอกอุทานว่า "ผู้ชายที่ชอบฟังเพลงปนัดดามักจะเป็นเกย์ กอล์ฟเป็น..ใช่ไหม?" (ตรรกะอะร้าย?) แม้ว่าจะตามเก็บเพลงของเธอไว้เธอแทบทุกอัลบั้ม แต่ที่ฟังแบบเอาจริงเอาจัง (ซื้อเทปฟัง) ก็ถึงแค่อัลบั้ม "บานไม่รู้โรย" และหลังจากนั้นก็แค่ตามข่าวอยู่ห่าง ๆ ยิ่งช่วงหลังที่ค่ายเพลงทำให้เธอกลายเป็นตัวแทนเพลงเมียน้อย (สู้กับเพลงเมียหลวงของปาน ธนพร) ก็ไม่ได้ตามอีกเลย

พอได้ยินจากในเฟซบุ้คว่าเธอคือหน้ากากเต่าในรายการเดอะแมสก์ซิงเกอร์ ซีซั่น 2 คนที่ไม่มีทีวีในห้องและไม่ติดตามรายการโทรทัศน์ใด ๆ อย่างผมเลยต้องไปหารายการย้อนหลังมาฟังด้วยความคิดถึง พอได้ฟังแล้วเรื่องราวเก่า ๆ สมัยเป็นแฟนบอยก็ลอยมาตามน้ำเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ของเธอ

อาจจะนับว่าเป็นโชคดีก็ได้ที่ผมเริ่มต้นฟังเพลงของปนัดดาจริง ๆ จัง ๆ ในอัลบั้มที่ 2 "ดอกไม้ในหัวใจ" ซึ่งตอนนั้นพัฒนาการในการร้องเพลง เนื้อหาของเพลง จังหวะดนตรี การวางลำดับแทร็กมันเป๊ะปังมาก ๆ ทำให้ผมตกหลุมรักเธอไปเต็มหัวใจและเป็นแฟนบอยเธอมานับแต่นั้น พอมาฟังอีกทีตอนโตแล้วก็รู้เลยว่าทีมงานตั้งใจทำอัลบั้มนี้จริง ๆ ฟังทุกเพลงจนจบอัลบั้มจะอิ่มเอมเหมือนได้อ่านนิยายรักดี ๆ สักเล่มหนึ่ง (สมัยก่อนฟังจากเทป กดข้ามเพลงไม่ได้ 55)

ย้อนกลับไปที่อัลบั้มแรก "ดาวกระดาษ" เพลงที่ทำให้ทุกคนรู้จักเธอ ตอนนั้นผมยัง 10 ขวบเล่นโดดยางกับเพื่อนอยู่เลยจึงไม่ได้ทำความรู้จักเธอมากนัก แต่ถึงได้ฟังตอนนั้นก็อาจจะแค่ชอบ ยังไม่ถึงกับตกหลุมรัก แน่นอนว่าเสียงเธอสวย แต่ลูกเล่นอะไรต่าง ๆ ยังไม่ปล่อยออกมามากนัก ภาพรวมของอัลบั้มแรกก็ยังไม่อิ่มเอมเท่าอัลบั้มต่อมา เหมือนว่าตัวเธอเองหรือค่ายเพลงก็ยังคลำทางกันอยู่ว่าจะผลักดันเธอออกมาแนวไหน

อัลบั้มที่ดูเหมือนจะคลำทางถูกคือไดอารี่เล่มแดง 1-4 ที่เอาเพลงเก่า ๆ มาให้เธอร้องคัฟเวอร์ (ซึ่งวิธีการเดียวกันนี้ไปเป๊ะปังสุด ๆ ในอัลบั้ม Replay the Memories อีก 3 ปีต่อมา) ฟังแล้วก็เริ่มเห็นทิศทางและลีลาลูกเล่นในเสียงหวานเศร้าของเธอมากขึ้น เธอและค่ายเหมือนจะเริ่มรู้แล้วว่าจะเล่นกับเสียงของเธอได้มากน้อยแค่ไหนก่อนจะไปลงตัวในอัลบั้มต่อมา รวมทั้ง "เขียนฟ้าด้วยปากกาดาว" และ "บานไม่รู้โรย"

แต่โปรเจคท์ที่ดึงศักยภาพเสียงของเธอออกมาถึงขีดสุดก็คือการไปร่วมงานกับ Grammy Gold ในโปรเจคท์ที่นำเพลงสุนทราภรณ์มาขับร้องใหม่ เธอได้ร่วมประชันกับนักร้องหญิงระดับดาวค้างฟ้าอย่าง อรวี สัจจานนท์ นันทิดา แก้วบัวสาย ศรัณย่า ส่งเสริมสวัสดิ์ และสู้กับนักร้องรุ่นพี่ ๆ ได้ไม่น้อยหน้าเลยในเพลงที่ต้องร้องร่วมกันหรือร้องประสานกัน ยิ่งโดยเฉพาะในชุดอัลบั้มเดี่ยวของแต่ละคน (ของปนัดดาคือชุดที่ 8) จึงไม่เกินเลยที่กรรมการคนหนึ่งบอกว่าศักยภาพเสียงของเธออยู่ในระดับ Go Inter ได้สบาย ๆ ไม่เชื่อลองไปหา "คนจะรักกัน" "ยังจำได้ไหม" "ฝันถึงกันบ้างนะ" ฯลฯ มาฟังแล้วจะเห็นว่าลูกเล่นของเสียงเธอมีเยอะแค่ไหน

ถึงจุดหนึ่งที่เพลงแนวเมียน้อยเพลงหนึ่งดังขึ้นมา ก็มีคน (ไม่รู้ใคร) พยายามจะดันเธอให้ร้องเพลงไปทางนั้นอย่างเต็มที่จนกลายเป็นไอดอลเมียน้อยแข่งกับไอดอลเมียหลวงอย่างปาน ธนพร พอมีเรื่องนี้ก็ทำให้ผมไม่ค่อยได้ติดตามผลงานเธอในช่วงหลัง ๆ แต่ไม่รู้เพราะสาเหตุนี้รึเปล่าที่ทำให้ชื่อของเธอเงียบ ๆ ไป หรืออาจจะเป็นเพราะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านเพลงจากเทปซีดีเป็นดิจิทัลโหลดเต็มรูปแบบ หรืออาจเป็นเพราะการเกิดขึ้นของนักร้องหน้าใหม่จำนวนมหาศาลจากรายการประกวดร้องเพลงต่าง ๆ ฯลฯ แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ชื่อของปนัดดาก็ค่อย ๆ เงียบหายไปจากความรับรู้ของผมตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

การเลือกปลอมตัวในฐานะหน้ากากเต่า พอดูจากการดีไซน์หน้ากาก ผมนึกถึงท่านผู้เฒ่าเต่าจากเรื่องดราก้อนบอล ไม่รู้ว่าเป็นความจงใจของเธอเองหรือเปล่า (เห็นในไอจีก็พูดศัพท์ที่มาจากเรื่องดราก้อนบอล) แต่ถ้าเป็นความตั้งใจของเธอ หน้ากากเต่าก็คงมีความหมายพิเศษบางอย่าง เพราะหากใครติดตามเรื่องดราก้อนบอลมาตั้งแต่ตอนแรก ผู้เฒ่าเต่าก็คือสุดยอดจอมยุทธที่เก่งที่สุดในโลก (ในขณะนั้น) และการประลองชิงเจ้ายุทธจักรครั้งแรกในการ์ตูน ผู้เฒ่าเต่าก็คือคนที่พิชิตรางวัลชนะเลิศได้ (กว่าโงคูพระเอกของเรื่องจะชนะเลิศก็ต้องรอจนครั้งที่สาม) ก่อนที่คนเขียนจะขยายสเกลของเรื่องออกไปยืดยาวจนสู้กันจักรวาลระเบิด ฯลฯ และลืมเลือนบทของผู้เฒ่าเต่าไปเกือบจะสิ้นเชิง

การเลือกปรากฎตัวในฐานะผู้เฒ่าเต่าของปนัดดา ก็คล้ายกับผู้เฒ่าเต่าที่อยากจะบอกให้โลกรู้ว่า แม้ว่าทุกคนแทบจะลืมเลือนไปแล้ว แต่ครั้งหนึ่งคนคนนี้ก็เคยเป็นคนเก่งที่สุดในโลก คนคนนี้คือเจ้ายุทธจักรมาตั้งแต่ก่อนที่ดาวเด่นคนอื่นในเรื่องจะมีบทบาทขึ้นมา และฝีมือของคนคนนี้ยังเป็นของแท้และดั้งเดิม

หากวัดกันที่ฝีมือและน้ำเสียง ปนัดดา เรืองวุฒิ ก็เป็นนักร้องมืออาชีพที่มีศักยภาพไม่น้อยหน้าใครเลยในประเทศนี้ แต่การอยู่ในวงการนี้ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้ดวงดาวจำรัสแสงหรือวูบดับลง น้ำตาและเสียงสะอื้นตอนท้ายรายการคงจะมีความหมายหลายอย่างที่อัดอั้นภายในใจ ไม่ว่าน้ำตาของเธอจะหลั่งออกมาเพราะความตื้นตันใจที่คนยังไม่ลืม หรือความน้อยใจลึก ๆ ที่ถูกประเมินค่าต่ำกว่าฝีมือที่มีมาโดยตลอด แต่เสียงของปนัดดาในวันนี้ยังคงเป็นเสียงเปี่ยมคุณภาพไม่เคยเปลี่ยนแปลง

และเสียงของเธอยังทำให้ผมมีความสุขได้เสมอ

-----------------
ภาคผนวก: TOP 10 of my Fav Panadda's Songs
1. คนแปลกหน้า (อัลบั้ม ดอกไม้ในหัวใจ)
2. หยดเดียว (อัลบั้ม ดาวกระดาษ)
3. ดีพอหรือเปล่า (อัลบั้ม ดอกไม้ในหัวใจ)
4. Short But Sweet (อัลบั้ม บานไม่รู้โรย)
5. แสงดาวกับดอกไม้ไฟ (อัลบั้ม เขียนฟ้าด้วยปากกาดาว)
6. ฝากใจฝัน (อัลบั้ม แกรมมี่โกลด์ซีรีส์ สุนทราภรณ์ 12)
7. ต้นไม้ไม่โตในวันเดียว (อัลบั้ม ดอกไม้กับเปลวไฟ)
8. แค่มีเธอ (เพลงประกอบละคร ชีวิตเพื่อฆ่า หัวใจเพื่อเธอ)
9. ปาฏิหาริย์ (อัลบั้ม Replay the Memories)
10. ไดอารี่สีแดง (อัลบั้ม ไดอารี่เล่มแดง 3)

วันจันทร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

หึง

...ก็ยังอดหึงไม่ได้
แต่มีสิทธิ์อะไรจะไปหึง
รู้ทั้งรู้ใจก็ยื้อดื้อดึง
แอบรักแอบคิดถึงลำพัง

แอบหวงแอบห่วงอยู่ห่างห่าง
แม้ภาพหวังเปล่าว่างจนเลิกหวัง
แต่เห็นใครมาเกาะแกะก็ชิงชัง
ฮึดฮัดเสียงดังอยู่เดียวดาย

เธอจะมีคู่ครองเรื่องของเธอ
ใครจะสนเราคนเพ้อน่าเบื่อหน่าย
แต่ถ้าเธอมีตัวจริงคงเฉาตาย
ใจเอยคงฟูมฟายทุรายทุรน

มีหมื่นล้านความในใจไม่เคยบอก
แล้วก็หลบมาช้ำชอกหมองหม่น
เป็นแค่ดินอย่าเอื้อมเดือนเตือนใจตน
เป็นแค่คนไม่มีสิทธิ์จะคิดไกล

อย่างน้อยขอแอบหึงนิดหนึ่งนะ
แล้วฉันจะแสร้งยิ้มยินดีให้
เธอพบคนแสนดีก็ดีไป
ฉันร้องไห้แค่ขาดใจก็หายแล้ว!

วันศุกร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ระลึกถึง LINKIN PARK



เราจำไม่ได้หรอกว่าเพลงแรกของ Linkin Park ที่ฟังคือเพลงอะไร จำได้แต่ตอนนั้นเราเป็นเด็กกะโปกที่ไม่รู้ว่านอกเหนือจากแกรมมี่และอาร์เอสยังมีเพลงของค่ายอื่น ๆ อยู่ในโลก 555 เพลงทันสมัยแบบนี้คนที่เอามาให้ฟังก็คงไม่พ้นโปรดิวเซอร์ลาย ที่มักจะนำเข้าอารยธรรมใหม่ ๆ ให้เพื่อน ๆ ได้เปิดหูเปิดตา เราก็คงเหมือนเด็กยุค '90 แทบทุกคนที่ฟังแล้ว เฮ้ย สนุกว่ะ โดยยังไม่รู้หรอกว่ามันเป็นแนวร็อค ป๊อป นูเมทัลอะไร

ตั้งต้นจากความชอบ พอฟังมาก ๆ เข้าก็เริ่มร้องติดปาก พอติดในหัวมากเข้าก็อยากจะระบายออกมา บวกกับยุคนั้นแถวบ้านเรา การเล่นดนตรีเป็นวงบูมมาก มีห้องซ้อม มีงานประกวดเยอะแยะไปหมด ในที่สุดเราก็ฟอร์มวงผู้ร่วมอุดมการณ์ LP ขึ้นมา โดยมีหัวหอกคือเอ -มือกีตาร์ใหญ่ ผู้ประกาศกร้าวตั้งแต่ตอนตั้งวงว่า "กูไม่เล่นเพลงไทย" และสมาชิกที่ร่วมจมหัวจมท้ายตระเวนไปประกวดหลายที่ จะไปเล่นเพลง LP ในงานเพลงเพื่อชีวิตก็ยังเกือบเคย (โชคดีที่นักร้องเส้นเสียงอักเสบพอดี 555)

ความทรงจำของเราที่มีกับ LP ส่วนมากจึงเป็นเพลงที่อยู่ในอัลบั้ม Hybrid Theory กับ Meteora เพลงดังขึ้นมาเมื่อไรก็จะเห็นภาพการซ้อมเพลง LP ในห้องซ้อมที่โคตรจะต่างคนต่างซ้อม มือกีตาร์ใหญ่ก็มักจะปรับเสียงตัวเองให้ดังสุด โชว์โซโล่เท่ ๆ ที่เพิ่งแกะมาเมื่อวาน อ๊อก-มือเบสก็ตีเบสดึม ๆ ไม่สนใจใคร เอิร์ธ-มือกลองก็ซ้อมตีจังหวะของตัวเองอยู่ โอ๊ต-มือกีตาร์น้อย กับป๋อม-จอมแร็พ มองเพื่อนร่วมวงทำนองว่า พวกมึงจะเริ่มกันจริง ๆ เมื่อไร เสียตังค์ค่าซ้อมไปร้อยนึง ซ้อมจริง ๆ ยี่สิบบาท ที่เหลือคือด่ากัน 555

แต่ความทรงจำที่พีคที่สุดคืองานประกวดวงดนตรีของโรงเรียน กรรมการให้เล่นสองเพลงและเพลงแรกแม่งพลาด เพลงที่สองคือ Faint ซึ่งจำได้ว่าซ้อมกันมาแบบไม่ได้เข้ากันซักกะนิด แต่จะด้วยการเล่นที่กูปลงแล้ววะ ไม่ได้รางวัลหรอก หรือว่าผีเข้าอย่างไรก็ตามแต่ ปรากฏว่าเฮ้ยแม่งเล่นเข้ากันเป๊ะมาก ขนาดคนร้องเองฟังอยู่ตรงนั้นยังรู้สึกเลยว่าเฮ้ยแม่งเล่นกันโคตรพร้อมเพรียงอย่างกับเปิดเทป ในที่สุดก็พลิกได้รางวัลชนะเลิศไป แม้จะมีคนครหาว่าพ่อของมือเบสเป็นกรรมการเลยได้รางวัล แต่ให้พวกกูเถอะนะ บทมันเขียนมาแล้วว่าทีม Underdog ที่กำลังถอดใจยอมแพ้จะกลับมาชนะด้วยปาฏิหาริย์ ตอนซ้อมมาสิบรอบร้อยรอบพวกกูก็ยังไม่เคยเล่นได้ขนาดนี้เลย 555

วันเวลาช่วงมัธยมฯ ผ่านไป ทุกคนก็แยกย้ายไปตามทางของตัวเอง เหลือทิ้งไว้แต่ความทรงจำดี ๆ ของกลุ่มเพื่อนที่ร่วมต่อสู้มาด้วยกันกับบทเพลงของ Linkin Park

แน่นอนว่าหลังจากสองอัลบั้มแรก แนวทางของเพลง LP ก็เป็นอะไรที่เราเข้าถึงยาก แถมเรายังไม่ได้เล่นเป็นวงกับเพื่อน ๆ อีกต่อไปแล้ว ทำให้ความประทับใจอะไรต่าง ๆ ก็ค่อยเลือนรางไป แต่ยังไง LP ก็เหมือนเมียหลวง อยู่กันจนเบื่อหน้า ด่าทอกันยังไงก็ยังติดตามฟังมันทุกอัลบั้มเรื่อยมา

ไม่รู้ว่าคนอื่น ๆ ในวงรู้สึกอย่างไร จดจำเพลงของ LP แบบไหน แต่สำหรับเรามันไม่ได้เป็นแค่เพลง แต่มันมีความทรงจำถึงทุกคนอยู่ในเพลงพวกนั้นด้วย เฮ้ยเพลงนี้ตอนเล่นแม่งทะเลาะกัน เพลงนี้แอบมาซ้อมกับมือกลองสองคน เพลงนี้ซ้อมแทบตายแม่งไม่เคยเอาไปเล่น เพลงนี้เล่นปิดท้ายเวลาไปซ้อม เสือกเล่นดีจนวงที่มานั่งต่อคิวเปิดประตูเข้ามาดู แต่พอเอาไปเล่นจริงหมาไม่แดก เพลงนี้เล่นที่เวทีเดอะเกรทตอนตีสอง แม่งมีแต่ขี้เมามาเต้นหน้าฮ้าน 555

ทุกวันนี้บางทีเวลาเราเหนื่อย ๆ ท้อ ๆ ก็จะเปิดเพลง LP ฟัง และจมไปกับความทรงจำช่วงที่เคยเล่นดนตรีกับเพื่อน ๆ จินตนาการว่าตัวเองอยู่หน้าเวทีและตะโกน Shut up when I'm talking to you! ในเพลง One Step Closer ส่วนเพลงในอัลบั้มใหม่ ๆ ก็จินตนาการว่า ถ้าอยู่ในห้องซ้อมหรือออกไปเล่นหน้าเวทีคงสนุกอย่างนั้นอย่างนี้

การตายของเชสเตอร์ในวันนี้ จึงไม่ได้เป็นแค่การตายของนักร้องคนหนึ่ง แต่เป็นการสูญเสียของวงดนตรีที่เคยเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเรา และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส่วนหนึ่งส่วนนั้นเป็นความทรงจำที่ดีที่สุดเท่าที่เราเคยมีในชีวิต