วันจันทร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2558

ปีศาจแห่งเล็กซิงตัน (Lexington Ghosts) / Haruki Murakami


รวมเรื่องสั้นชุดสุดท้ายในโปรเจคท์ "แฟนมูราคามิรวมหัว" ซึ่งมีทั้งหมด 3 เล่ม ถ้าเล่มแรก (เส้นแสงที่สูญหายฯ) คือบันทึกวัยเยาว์อันแหว่งวิ่นเว้าโหวง เล่มสอง (คำสาปร้านเบเกอรี่) เป็นการตะโกนอย่างเงียบงันของปัจเจก เล่มสามก็คงเป็นงานแนวทดลองที่พยายามขยายพื้นที่ประวัติศาสตร์และความทรงจำของปัจเจกเพื่อให้ตัวตนของเราดำรงอยู่ได้ในวันที่ทุกสิ่งรอบตัวกำลังล่มสลายลงอย่างช้า ๆ อย่างที่เฮียแกว่า "ผมอยากสร้างสรรค์อดีตขึ้นใหม่อีกครั้ง (re-create the past) มากกว่าจะผลิตซ้ำอดีต (re-produce the past)"

น่าแปลกว่าคราวนี้ผมกลับติดใจเรื่องที่เล่าเรียบ ๆ ตัวละครก็เรียบ ๆ อย่าง "เงียบงัน" ที่กลับรู้สึกสั่นไหวรุนแรงทันทีที่อ่านจบ ขณะที่บางเรื่องอย่าง "ปีศาจแห่งเล็กซิงตัน" "มนุษย์น้ำแข็ง" หรือ "ชายคนที่เจ็ด" รู้สึกแวบแรกว่าน่าจะดีเพราะแปลกดี แต่พอปล่อยเวลาตกตะกอนสักพักก็พบว่าเรื่องนั้นไม่ได้เขย่าให้เราสั่นสะเทือนมากนัก อีกเรื่องที่คิดว่าดีก็คือ "โทนี ทะกิทะนิ" เรื่องเล่าถึงการพลัดพรากจากความทรงจำแบบที่มูราคามิถนัด แม้จะเคยรู้สึกแบบนี้กับนิยายมูราคามิเล่มอื่น ๆ บ่อยแล้ว แต่เรื่องนี้ก็ทำให้เรารู้สึกถึงความแปร่งปร่าของความเหงาที่เกิดจากการถูกตัวตนในอดีตของตัวเองทอดทิ้งได้ในอีกรสชาติหนึ่ง ส่วน "การมาถึงของปีศาจเขียว" เป็นเรื่องที่ถ้าเป็นนักเขียนใหม่เขียนมาจะถามว่า แกเขียนอะไรของแก๊ แต่ในเมื่อเป็นเฮียมู เราก็ได้แต่ย้อนกลับไปอ่านอีกรอบก่อนจะได้ข้อสรุปคล้าย ๆ กับที่คนแปลเขียนไว้ท้ายเรื่องนั่นแหละ (ฮา)

โดยภาพรวม นี่คงเป็นเล่มที่ชอบน้อยที่สุดในชุดแฟนรวมหัว เพราะรู้สึกว่าบางเรื่องคอนเซปต์มันใหญ่เกินจะเล่าด้วยเรื่องสั้น อย่าง "การมาถึงของปีศาจเขียว" หรือ "ชายคนที่เจ็ด" หรือบางเรื่องแนว ๆ เดียวกันก็รู้สึกว่าเล่มคำสาปร้านเบเกอรี่ทำได้ดีกว่า แต่ก็อย่างว่าแหละ นักเขียนระดับเฮียมูก็คงรู้ว่าทำอะไรอยู่ แฟนานุแฟนเฮียก็คงต้องตามอ่านกันต่อไป จะชอบหรือจะชังอย่างไร อย่างน้อยก็คงอดคิดไม่ได้ว่าเฮียแกเขียนหนังสือได้ "กล้าและบ้าบิ่น" จริง ๆ นั่นแหละ

------------------------------------------
Quotations:

"น่าจะสักสองอาทิตย์ได้ที่ผมได้แต่นอนหลับไป หลับจนกระทั่งเวลากร่อนสลายและละลายหายไปราวกับไม่มีอยู่ และไม่ว่าผมจะหลับไปนานสักเท่าไร มันก็เหมือนไม่เคยจะเพียงพอเลย ตอนนั้น โลกแห่งนิทรารมณ์กลับกลายเป็นโลกแห่งความจริง ชีวิตประจำวันเริ่มเป็นสิ่งไร้ค่า เป็นความไร้สาระและสถานที่ชั่วคราว เป็นโลกที่มีอยู่เพียงผิวเผินและขาดแคลนสีสันแห่งชีวิต ผมไม่อยากจะอยู่ในโลกแบบนั้นอีกต่อไป พอเวลาค่อย ๆ ผ่านไป ผมชักเริ่มเข้าใจแล้วว่าพ่อรู้สึกอย่างไรตอนที่แม่ตาย คุณรู้ใช่ไหมว่า ผมกำลังหมายความว่าอะไร หลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นใหม่ในรูปแบบที่แตกต่างออกไป ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลง สิ่งเดิมมันก็อยู่ไม่ได้"

เคซีย์เงียบไปชั่วขณะ เหมือนกำลังคิดอะไรอยู่ ช่วงเวลานี้เป็นปลายฤดูใบไม้ร่วงแล้ว บางครั้งบางคราวเสียงลูกโอ๊กที่ตกกระทบพื้นก็แว่วเข้ามากระทบหูของผม
"สรุปว่า มีแค่อย่างเดียวที่ผมพอจะพูดได้" เคซีย์ยกศีรษะของเขาขึ้นหน่อย และรอยยิ้มอันเป็นเอกลักษณ์ก็หวนคืนสูริมฝีปากของเขา "ถ้าผมตาย ก็คงไม่มีใครในโลกนี้ที่จะดำดิ่งหลับใหลลึกยาวนานปานนั้นอีกแล้ว"
(ปีศาจแห่งเล็กซิงตัน: หน้า 36)

ในตอนแรกอะโอะกิมันเลยมองเอาด้วยสายตาเหมือนยิ้มเยาะผม ราวกับจะพูดว่า "เป็นไงล่ะ" ผมรู้ว่าเรื่องทั้งหมดนี่เป็นฝีมือของอะโอะกิ เขาเองก็รู้ว่าผมรู้เรื่องนั้น เราจ้องกันเขม็งอยู่ชั่วครู่หนึ่ง แต่ระหว่างที่ผมมองคนคนนี้ จู่ ๆ ผมก็เริ่มมีความรู้สึกประหลาด ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ มันเป็นความรู้สึกชนิดที่ผมไม่เคยรู้สึกมาก่อน แน่นอนผมโกรธอะโอะกิ บางทีผมแค้นมันจนอยากฆ่าให้ตาย แต่ในรถไฟที่คนแน่นขนัดขบวนนั้น แทนที่จะรู้สึกโกรธหรือแค้น สิ่งที่ผมรู้สึกกลับใกล้เคียงกับความเศร้าหรือสงสารมากกว่า "คนเราวัดความเก่งหรือภูมิใจในชัยชนะกันได้ด้วยเรื่องแค่นี้จริง ๆ หรือ ผู้ชายคนนี้พอใจและมีความสุขได้ด้วยเรื่องแค่นี้จริง ๆ หรือ" พอคิดอย่างนี้แล้ว ผมกลับรู้สึกเศร้าอยู่ลึก ๆ ในใจมากกว่า ผู้ชายคนนี้คงไม่อาจเข้าใจในความสุขหรือความภูมิใจอันแท้จริงไปได้ตลอดกาล จนกระทั่งเขาตาย ผู้ชายคนนี้คงไม่อาจรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนอันสงบเงียบที่พวยพุ่งมาจากส่วนลึกของร่างกายได้สักครั้ง

มนุษย์บางประเภทก็ขาดความลึกซึ้งโดยสิ้นเชิง ผมไม่ได้กำลังบอกว่าตัวเองมีความลึกซึ้งหรอกนะครับ สิ่งที่ผมอยากจะพูดคือ เรามีความสามารถที่จะเข้าถึงความลึกซึ้งนั้นได้หรือไม่ต่างหาก แต่คนอย่างพวกเขาไม่มีความสามารถแบบนั้นเลย นั่นคือชีวิตที่แบนราบและกลางกลวง จะดึงดูดสายตาให้คนมองได้สักเท่าไร จะภูมิใจในชัยชนะของตนเองออกนอกหน้าแค่ไหน ข้างในพวกเขาก็ยังว่างเปล่า
(เงียบงัน: หน้า 76)

ผมไม่เคยสนใจเรื่องอนาคต ผมไม่เคยมีความคิดเรื่องนั้น น้ำแข็งไม่เคยกักขังอนาคต มีเพียงวันวานเท่านั้นที่ถูกผนึกรักษาเอาไว้ ราวกับว่าอดีตยังคงมีชีวิต ทุกเรื่องราวของโลกใบนี้จะถูกเก็บรักษาเอาไว้อยู่ข้างในอย่างแจ่มชัดและห่างไกล น้ำแข็งผนึกเก็บทุกสิ่งทุกอย่างเอาไว้ในลักษณะเช่นนั้น ชัดเจนและใสกระจ่าง นั่นแหละคือแก่นแท้ของน้ำแข็ง
(มนุษย์น้ำแข็ง: หน้า 90)

เขาจะเข้าไปในห้องเป็นบางครั้ง และอยู่ในนั้นราว 1-2 ชั่วโมง ไม่ได้ทำอะไรเป็นพิเศษ เพียงแค่ปลดปล่อยจิตใจให้ว่างโล่ง เขาจะนั่งลงกับพื้น มองไปบนผนังกำแพงว่างเปล่า มองเงาร่างของเงาภรรยาที่จากไปแล้ว แต่เมื่อหลายเดือนผ่านไป เขาสูญเสียความสามารถในการจดจำสิ่งต่าง ๆ ที่เคยอยู่ในห้อง สีสันและกลิ่นของมันเลือนหายไปจากความทรงจำของเขาก่อนที่เขาจะทันรู้ตัว กระทั่งห้วงอารมณ์กระจ่างชัดที่เขาเฝ้าทะนุถนอมก็หลุดลอยไป ราวกับมันล่าถอยไปจากความทรงจำของเขา คล้ายกับฝุ่นผงในอากาศ ความทรงจำของเขาเปลี่ยนรูปร่าง และการเปลี่ยนแต่ละครั้งมันก็สลัวรางขึ้นเรื่อย ๆ ความทรงจำแต่ละเรื่องในตอนนี้คือเงาร่างของเงาของเงา สิ่งเดียวที่ยังคงแจ่มชัดสำหรับเขาคือความรู้สึกสูญสลาย บางครั้งเขาแทบจะนึกภาพใบหน้าของภรรยาไม่ออก แต่สิ่งที่เขานึกถึงเสมอคือหญิงสาวแปลกหน้าของหยาดน้ำตาเมื่อเธอเห็นเสื้อผ้าที่ภรรยาของเขาทิ้งเอาไว้ภายในห้อง เขานึกถึงใบหน้าธรรมดาสามัญและรองเท้าหนังเก่า ๆ ของเธอ เสียงสะอื้นเบา ๆ ของเธอยังคงวนเวียนอยู่ในความทรงจำของเขา เขาไม่ได้ต้องการที่จะจดจำเรื่องใด ๆ แต่มันกลับเข้ามาในชีวิตก่อนที่เขาจะรู้ว่ามันกำลังเกิดขึ้น เป็นเวลายาวนานหลังจากที่เขาลืมเรื่องต่าง ๆ จนหมดสิ้น แม้กระทั่งชื่อของหญิงสาวคนนั้น แต่ภาพของเธอกลับมิอาจลืมเลือนได้อย่างน่าประหลาด
(โทนี ทะกิทะนิ: หน้า 136 - 137)

------------------------------------------

[Haruki Murakami, เขียน ; ธนพล เศตะพราหมณ์ ยอดมนุษย์หญิง และคณะ, แปล ; ดวงฤทัย เอสะนาชาตัง, บรรณาธิการ. ปีศาจแห่งเล็กซิงตัน Lexington Ghosts. กรุงเทพฯ : กำมะหยี่, 2553.]

วันจันทร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2558

ลมหนาว

เธอเหมือนลมหนาวผ่านมา
จูบแล้วจากลา
เหลือรอยน้ำตาร้าวราน

ความหนาวเพราะเหงาทรมาน
หนาวถึงวิญญาณ
สะท้านสะเทือนหัวใจ

หนาวเพราะมิเคยมีใคร
อาจหนาวทรวงใน
ยังพอทนไหวไม่เพ้อ

แต่หนาวเพราะเคยมีเธอ
หนาวสั่นหวั่นละเมอ
พลั้งเผลอร้องไห้ใจสั่น

สองมือเคยกุมมือกัน
เหลือเพียงมือฉัน
มือนั้นใช้กอดตัวเอง

ความหนาวห่มร่างคว้างเคว้ง
กอดความวังเวง
วิเวกหวิวหวีดกรีดใจ

เธอเหมือนลมหนาวผ่านไป
จูบลาอาลัย
ทิ้งให้หนาวช้ำลำพัง

ม.ค. ๒๕๕๘

วันศุกร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2558

นัย / ตา (๓)

"...การเปิดตัวของหนังที่พูดถึงภาพถ่ายแบบ Close-Up ของโชน เขากล่าวว่า ชอบที่จะมองลึกลงไปให้เห็นอะไรดี ๆ ข้างใน นั่นแสดงว่าโชนไม่ได้มองคนอื่นเพียงรูปกายภายนอก และโชนยังกล่าวอีกว่าเขาชอบ "ดวงตา" มากที่สุด นั่นก็คือ ดวงตาเป็นอวัยวะเดียวที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลง หรือปรุงแต่งเป็นอย่างอื่นได้ แม้น้ำจะขัดผิวให้ขาว จัดฟันให้เป็นระเบียบ แต่งผมให้สวย ฯลฯ จะมีก็แต่เพียงดวงตาเท่านั้นที่น้ำไม่สามารถแปรเปลี่ยนให้เป็นอื่นได้ ดวงตาจึงแสดงถึงอัตลักษณ์ที่แท้จริงของแต่ละคน การที่โชนชอบดวงตาจึงหมายถึงโชนชอบน้ำที่เป็นน้ำจริง ๆ ไม่ว่ารูปกายภายนอกของน้ำจะเป็นเด็กหน้าปลวกหรือภายหลังเปลี่ยนแปลงมาเป็นเด็กหน้าสวยก็ตามที..."

(สิ่งเล็กเล็กที่เรียกว่ารัก: โศกนาฏกรรมและการก้าวผ่านวัยของเงือกน้อย)

การหลงรักผู้หญิงที่ดวงตาเป็นเหมือนดาบสองคมนะ ข้อดีคือไม่ว่ารูปกายภายนอกของเค้าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร จะอ้วนขึ้น ผอมลง สวยขึ้น ขี้เหร่ลง ดัดฟัน ขัดผิว เปลี่ยนทรงผม ทำศัลยกรรม ฯลฯ เราก็ยังสบตาคู่เดิมนั้นได้ไม่รู้เบื่อ แต่เมื่อถึงวันหนึ่งที่ดวงตาคู่นั้นไม่ได้มองกลับมาที่เราด้วยความห่วงหาอาทรเช่นเคย เราก็กลับพบว่าดวงตาคู่นั้นยังเป็นดวงตาคู่เดิมที่เราเคยหลงรัก ดวงตาคู่เดิมที่ยังคงหวานซึ้งในความทรงจำ แม้จากนี้เราไม่มีสิทธิ์ใช้คำว่ารักกับเจ้าของดวงตาคู่นั้นไปตลอดกาลก็ตามที

วรรณกรรมในชีวิต : ชีวิตในวรรณกรรม / ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ



เป็นหนังสือ "ภาคบังคับ" ของผู้สนใจวรรณกรรมกับการเมืองในประเทศไทย แม้เรื่องราวทั้ง 16 บทนั้น ผู้เขียนตั้งใจว่าจะเขียนเรื่องนี้เป็น "อัตชีวประวัติทางวรรณกรรม" ซึ่งบรรจุเรื่องราวของวรรณกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทว่าก็หนีไม่พ้นที่จะต้องพูดถึงประวัติศาสตร์การเมืองและวรรณกรรมในแต่ละช่วงชีวิต โดยเฉพาะเหตุการณ์ครั้งสำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองและวรรณกรรมคือ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ที่ทำให้เกิด "ผลสะเทือนราวกับแรงกระเพื่อมของน้ำที่ยังคงส่งผ่านกาลเวลาต่อมา" และยิ่งทำให้เห็นว่า ชีวิต วรรณกรรม และการเมือง เป็นสามสิ่งที่เกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออก ไม่ว่าจะเป็นบุคคลใด หรืออยู่ท่ามกลางยุคสมัยใด

-------------------------------

ความนำ

ประวัติศาสตร์สังคมจึงเป็นทั้งโศกนาฏกรรมและความก้าวหน้า เป็นทั้งความล้มเหลวและความสำเร็จ แม้เราไม่อาจปฏิเสธความขัดแย้งแห่งชีวิตเหล่านั้นไปได้ อย่างน้อยเราควรมีโอกาส "เลือก" ด้วยตัวของเราเองบ้าง ตรงนี้เองที่ประวัติศาสตร์มีความหมายขึ้นมา กล่าวคือ สังคมไหนที่ยังปล่อยให้โศกนาฏกรรมทำนองเดียวกันนั้นเกิดซ้ำรอยซ้ำแล้วซ้ำเล่า สังคมนั้นไม่เพียงแต่ไม่อาจเรียนรู้บทเรียนจากประวัติศาสตร์เท่านั้น หากยังทำลายภูมิปัญญาอันสะสมจากประสบการณ์ของตนเองลงไป ทำให้สังคมและสมาชิกแห่งประชาสังคมของตนตกต่ำ กลายเป็นตัวตลกของประวัติศาสตร์ไปในสายตาของสังคมอื่นในที่สุด
(หน้า 14)

-------------------------------

บทที่ 1 วรรณกรรมกับการเมือง


อิตาโล คัลวิโน นักเขียนอิตาลีผู้ล่วงลับไปแล้ว เคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่า "นี่เป็นข้อขัดแย้งในอำนาจของวรรณกรรม เนื่องจากว่ามันจะแสดงออกถึงพลังอำนาจที่แท้จริงของมัน แสดงถึงพลังในการท้าทายสิทธิอำนาจของผู้ใหญ่ก็ต่อเมื่อมันถูกกดขี่บีบคั้น แต่ในสังคมเสรีที่ทำอะไรก็ได้อย่างของเรา วรรณกรรมสร้างได้ก็แต่เพียงการเอาอกเอาใจคนอ่านเป็นครั้งคราว ในขณะที่โดยทั่วไปมันสร้างแต่สิ่งไร้สาระเต็มไปหมด"
(หน้า 18)

สิ่งหนึ่งที่สังคมรวบอำนาจชอบทำ คือ การที่รัฐบาลทำตัวเป็นปราชญ์ราชบัณฑิตแต่ผู้เดียวในโลกนี้ มิลาน กุนเดรา นักเขียนเชโกสโลวะเกียฝีปากจัด ผู้ชำนาญการเขียนการเมืองเรื่องของเซ็กซ์มากกว่าการเมืองเรื่องลัทธิคอมมิวนิสต์ ให้สัมภาษณ์ว่า การเขียนเรื่องที่เป็นสองแง่สองง่ามในทางศีลธรรม อันเป็นด้านที่เป็นสีเทาในชีวิตมนุษย์ดังเช่นที่เขาชอบทำนั้น ถือเป็นการท้าทายรัฐบาลนักกดขี่ที่ต้องการเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเพียงสีขาวกับสีดำเท่านั้น เขาพูดว่า "โลกของลัทธิรวบอำนาจ ไม่ว่าจะสร้างขึ้นมาบนลัทธิมาร์กซ์หรืออะไรอื่นก็ตาม เป็นโลกของคำตอบมากกว่าโลกของคำถาม ในนั้นนวนิยายไม่มีบทบาทอะไร"
(หน้า 20)

-------------------------------

บทที่ 2 จาก "คัมภีร์" ถึง "ภัยขาว"

ตกลงหนังสือ "คัมภีร์" เลยกลายเป็นหนังสือเล่มละบาทเล่มแรกและเล่มสุดท้ายที่มีรูปลักษณ์ประหลาดที่สุด คือมีปกแต่เพียงท่อนบนสุดที่มีชื่อหนังสือคัมภีร์ กับมีหน้าสุดท้ายซึ่งเหลืออยู่ครึ่งหน้ากับชื่อเรื่องที่ดูตื่นเต้นดี แม้ไม่มีข้อความรายละเอียด แต่คิดว่าคนอ่านคงเดาได้ว่ามันควรจะพูดอะไรบ้าง

พลังของ "หนังสือ" นั้นน่าสนใจมาก บางครั้งข้อความเปิดเสรีนั้น อาจมีพลังน้อยกว่าข้อความที่ไม่อาจพูดหรือพิมพ์ออกมาอย่างโจ่งแจ้งเสียอีก
(หน้า 35)

-------------------------------

บทที่ 5 เมื่อชีวิตเจอ (วรรณ) กรรม

น่าตลกที่อำนาจเผด็จการอย่างทั่วไปนั้นสามารถทำให้เกิดพลังปฏิกิริยาตอบโต้ได้แรงพอ ๆ กัน แม้ฝ่ายหลังจะไม่มีอำนาจและกำลังในการทำลายและข่มขู่เหมือนกับของทางการก็ตาม แต่มันเป็นอำนาจของความคิด ในวินาทีนั้นเองที่เรามีความรู้สึกว่า เพียงเราเขียนประโยคประท้วงสังคมเพียงวรรคเดียวบนผนังเหนือโถปัสสาวะผู้ชายในห้องน้ำในตึกห้องสมุดกลางของมหาวิทยาลัย ก็จะทำให้เกิดการสั่นสะเทือนไปทั่วทั้งในตึกและในมหาวิทยาลัยแห่งนั้น และกระทั่งถึงรัฐบาลได้
(หน้า 59)

-------------------------------

บทที่ 6 วรรณกรรมกับ "หัวใจ"

"โคะโคะโระ" เป็นวรรณกรรมเพื่อชีวิตที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและแตกต่างจากวรรณกรรมเพื่อชีวิตเพื่อประชาชนที่เรารู้จักกันอย่างยิ่ง ข้อความและเหตุการณ์ความเป็นไปที่เกิดขึ้นในเรื่องนั้น ผมรู้สึกเสมือนประหนึ่งเอาน้ำเย็นเฉียบราดลงไปในหัวใจ...ทำให้ผมได้ข้อคิดว่า วรรณกรรมหรือในความหมายที่กว้างคือภูมิปัญญาแห่งสังคมนั้น มันคือวิญญาณ (หรือหัวใจ) ของประวัติศาสตร์สังคมนั้น ๆ ตราบใดที่ยังไม่อาจ "รู้สึก" กับวรรณกรรมและความคิดของประเทศนั้น ก็ไม่อาจรู้จักและเข้าใจประวัติศาสตร์และอื่น ๆ ของประเทศนั้นได้
(หน้า 68)

-------------------------------

บทที่ 8 วรรณกรรมเพื่อพรรคเพื่อประชาชน

...เขาเริ่มคิดว่าการเป็นหมอคงไม่สามารถช่วยอะไรต่อภาวะเสื่อมทรามของสังคมจีนได้ อย่างดีแพทย์ก็รักษาโรคภัยไข้เจ็บ ให้คนไข้มีชีวิตอยู่ในทางกายภาพต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง แต่หากสังคมที่คนเหล่านั้นอาศัยอยู่ยังเน่าเฟะ การมีชีวิตอยู่กลับเป็นการช่วยต่ออายุให้พวกเขาต้องผจญเวรเผชิญกรรมและความเหลวแหลกของสังคมอีก นั่นไม่ใช่การฆ่าคนอย่างเลือดเย็นดอกหรือ

หลู่ซิ่นเขียนในบันทึกต่อไปว่า "ข้าพเจ้ารู้สึกว่าการเรียนวิชาแพทย์ไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญ กับพลเมืองที่โง่เขลาและอ่อนแอนั้น สิ่งที่เราต้องทำเป็นเบื้องแรกคือ การเปลี่ยนแปลงจิตใจของพวกเขา และในขณะนั้นข้าพเจ้ารู้สึกว่าสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงจิตใจได้ดีที่สุดได้แก่วรรณคดี"
(หน้า 87 - 88)

การใช้นโยบายพรรคคอมมิวนิสต์ไปชี้นำบงการนักเขียน มีผลทำให้นักเขียนของพรรคฯ ผู้หนึ่งคือ เจียงกวงจื่อ ถูกขับออกจากพรรคฯ จากข้อหาที่เขายังเป็นพวกลัทธิโรแมนติกและมีโลกทรรศน์นายทุนน้อย เขากล่าวว่า "ข้าพเจ้าเป็นนักโรแมนติก บรรดานักปฏิวัติทั้งปวงล้วนเป็นนักโรแมนติก ถ้าไม่โรแมนติก ใครบ้างเล่าจะเข้ามาเริ่มทำการปฏิวัติ"
(หน้า 98)

-------------------------------

บทที่ 9 ก่อนอรุณจะรุ่ง : วรรณกรรมในชีวิตรัสเซีย
พอไปเจอสภาพและบทบาทของปัญญาชนรัสเซียเข้า ผมเกือบหงายหลัง เพราะนึกไม่ถึงว่าของจริงนั้นหนักหน่วงกว่าที่เรารู้จักและถกเถียงกันเกือบตาย ก่อนอื่น คำว่าปัญญาชนในบริบทของรัสเซียนั้นเขาใช้คำว่า intelligentsiya แปลว่า ผู้นำแห่งปัญญาชนของสังคม ลักษณะสำคัญคือการเป็นชนชั้นนำ (elite) และเป็นปัญญาชนของสังคม ไม่ใช่นั่งคิดนั่งบ่นอยู่คนเดียวหรือสองสามคนในวงเหล้าเดียวกัน หากแต่ต้องแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคมออกมาให้ประจักษ์...

ปัญญาชนรัสเซียหลายคนต้องถูกจับกุมคุมขัง เนรเทศ และในที่สุดถูกแขวนคอ รวมทั้งพี่ชายของเลนินด้วย แต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่อาจยับยั้งการเคลื่อนไหวของปัญญาชนและขบวนการประชาชนไปได้ จนในที่สุดพลังและคลื่นของการปฏิวัติก็ถาโถมเข้าทำลายระบบเก่าให้พังทลายลงไปในการปฏิวัติเดือนตุลาคม ค.ศ. 1917
(หน้า 104-105)

-------------------------------

บทที่ 12 "เทพ" กับ "มาร" ในงานเขียนของดอสโตลเยฟสกี้

Irving Howe ให้ข้อคิดในการวิเคราะห์วรรณกรรมกับการเมืองในรัสเซียไว้ดีมาก เขาบอกว่า เนื่องจากวรรณกรรมรัสเซียในศตวรรษที่ 19 นั้นเต็มไปด้วยความเอาจริงเอาจังยิ่งนัก อันเป็นผลมาจากสภาพสังคมการเมืองที่ถูกบีบคั้นจากพระเจ้าซาร์ สภาพดังกล่าวนี้เองทำให้การพินิจวรรณกรรมรัสเซียจะต้องถือว่า "ศาสนาเป็นเสมือนสาขาหนึ่งของการเมือง และการเมืองก็เป็นรูปแบบหนึ่งของศาสนา" ถ้าใครยังใช้กรอบวรรณกรรมวิจารณ์แบบที่ว่าสะท้อนสังคมหรือเป็นปรากฏการณ์สังคมเท่านั้น ก็จะพบอุปสรรคความยากลำบากในการทำความเข้าใจวรรณกรรมรัสเซียเหล่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานของดอสโตลเยฟสกี้ ซึ่งผลงานแห่งการสร้างสรรค์ของเขานั้น ไม่ได้หมายถึงและแสดงถึงความงาม หรือศิลปะของวรรณคดีอย่างที่คนเข้าใจกัน หากแต่การสร้างสรรค์ของเขานั้น กลับมีความหมายนัยยะถึงการพยากรณ์ของศาสดา
(หน้า 119)

-------------------------------

บทที่ 13 เสรีภาพกับความตาย

ถ้าหากเราเชื่อตามคำอธิบายของซิกมันด์ ฟรอยด์ ที่ว่ามนุษย์เป็นสัตว์ต่อต้านสังคม (anti-social) การดำรงอยู่ของมนุษย์ก็คือการถูกกดขี่โดยสังคมในระดับหนึ่ง การกดขี่ของสังคมนี้เองที่เปิดช่องให้มนุษย์สามารถอยู่รอดได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ด้วยการแปรเปลี่ยนการกดขี่ให้มาเป็นการชื่นชมดูดดื่ม (sublimation) ในสังคม กล่าวคือ การกดขี่ของสังคมผลักดันให้มนุษย์สรรค์สร้างที่พักพิงอันวิจิตรและมีรสนิยมยิ่ง สำหรับให้เขาดำรงชีวิตอย่างมีความหมายกับตัวเขาเองขึ้นมา
(หน้า 125)

-------------------------------

บทที่ 15 "คำสารภาพ" ของ ตอลสตอย

วรรณกรรมรัสเซียในศตวรรษที่ 19 จึงมีลักษณะเด่นที่แตกต่างจากยุโรป ตรงที่ว่าวรรณกรรมรัสเซียสมัยใหม่ใช้เวลาสั้นกว่าของยุโรป ในการสร้างสรรค์ด้านศิลปะและเทคนิค หรือรูปแบบจากคนหนึ่งหรือสำนักหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง แต่หลังจากทำงานวรรณกรรมระยะหนึ่ง พวกเขาก็พร้อมจะกระโดดไปสู่อีกขั้นของพัฒนาการ นั่นคือการผลักดันให้งานเขียนของพวกเขาออกไปสู่สังคมและเป็นอาวุธทางสังคม ที่ทำหน้าที่ในการช่วยสร้างสรรค์และนำการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น-และจะต้องเป็นไปโดยเร็วด้วย
(หน้า 139)

สังเกตว่า ทันทีที่ตอลสตอยไม่เชื่อศาสนาแบบเก่าอีกต่อไปแล้ว เขาก็พบว่าการสั่งสอนและเขียนให้คนอื่นกลายเป็นคนดีมีความรู้นั้นเป็นเรื่องหลอกลวงสิ้นดี เนื่องจากการทำงานอยู่ในวงวรรณกรรม เขาจึงมองเห็นชีวิตจากภายในวงการได้ชัดเจน และนำมาเปรียบเทียบกับการสั่งสอนศีลธรรมของศาสนจักร เขาคิดว่าพวกนักเขียน นักวรรณกรรม ศิลปิน และกวี ก็เหมือนกับนักศาสนาเช่นกัน เพราะแต่ละคนต่างก็มีสาวกที่ไม่เคยตั้งข้อสงสัยถึงความถูกต้องของคำสั่งสอนเหล่านั้น
(หน้า 144)

-------------------------------

บทที่ 16 สู่วิญญาณของขบวนการเดือนตุลาคม

ประการที่สองซึ่งผมชอบมากคือ ธีรยุทธบอกว่า มนุษย์นั้นต่างจากสัตว์โลกอื่น ๆ ไม่ใช่ตรงที่เป็น "สัตว์ประเสริฐ" กว่า แต่ที่สำคัญคือ "มนุษย์เรากลับมีชีวิตอยู่อย่างฝืนธรรมชาติ หรืออีกนัยหนึ่ง มนุษย์เป็นมนุษย์เพราะมีวิญญาณขบถ วิญญาณนี้จึงเก่าแก่พอ ๆ กับประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เราอาจละเลยมองข้ามสิ่งหนึ่งไปว่า การค้นพบที่ยิ่งใหญ่ของมนุษย์ก็คือการค้นพบคำว่า "ไม่" เพราะในโลกที่เป็นจริงนั้นไม่มีภาวะปฏิเสธหรือภาวะที่ไม่มีอยู่จริง"
(หน้า 153)

-------------------------------

[ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ. วรรณกรรมในชีวิต : ชีวิตในวรรณกรรม. กรุงเทพฯ : มิ่งมิตร, 2539.]

วันอังคารที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2558

824 : งามพรรณ เวชชาชีวะ


ง่ายงาม คือคำจำกัดความสั้น ๆ หากจะพูดถึง 824

แต่ถ้าจะให้พูดยาวกว่านั้น นี่คือ 24 ชั่วโมงของทั้ง 8 ชีวิตที่ร้อยเรียงกันด้วยความรักและมิตรภาพ ถ้าผู้เขียนทำอย่างที่กล่าวไว้ในคำตามจริง ๆ คือจรดปากกาหลังจากวันที่ประกาศผลซีไรต์ หนังสือเล่มนี้ก็คงเป็นความสุขของกะทิฉบับขยายสเกลขึ้นจากภาพความสุขของเด็กตัวน้อยมาเป็นภาพความสุขบ้างทุกข์บ้างของผู้คนใน "ซอยอยู่สบาย" ที่เกาะเกี่ยวชะตากรรมกันอยู่อย่างบางเบา

คุณงามพรรณยังคงเป็นนักเขียนมือฉกาจในการเก็บเกี่ยวรายละเอียดชีวิตเล็ก ๆ น้อย ๆ และนำมาถ่ายทอดผ่านภาษาเรียบง่ายทว่าละเอียดลออจนเห็นภาพ แสง สี เสียง ชัดเจนทุกฉากชีวิต กระทั่งได้ยินเสียงดนตรีคลอเคล้าในบางบท แม้เป็นเพียงส่วนเสี้ยวในแต่ละช่วงเวลา แต่นั่นก็เป็นส่วนเสี้ยวของยอดภูเขาน้ำแข็งที่กำลังส่องแสงสะท้อนสวยงาม ส่วนฐานของภูเขาน้ำแข็งเราอาจกลับไปขุดได้สักส่วนหนึ่งในการแนะนำตัวละครแปดบทแรก หรืออันที่จริงเราอาจไม่ต้องสนใจเลยก็ได้

ตอนที่อายุน้อยกว่านี้ ผมเคยตั้งข้อสงสัยถึงเด็กหญิงกะทิเอาไว้ว่าทำไมเด็กคนนี้ถึงได้เข้มแข็งและมีความสุขขนาดนั้น ทั้งที่เงื่อนไขหลายอย่างในชีวิตควรจะหล่อหลอมให้เด็กหญิงกะทิเป็นเด็กหญิงเหงา ๆ คนหนึ่งที่ไขว่คว้าหาความอบอุ่นมากกว่านี้

จากวันนั้นผ่านมาห้าปี ผมอยากกลับไปถอนคำพูดตัวเอง

ชีวิตคนเราในบางจังหวะมันไม่ต้องการภูมิหลังหรือความซับซ้อนทางอารมณ์มากขนาดนั้น เงื่อนไขชีวิตอาจมีผลบ้างแต่คงหลอมคนไม่ได้เหมือนสูตรทางเคมีของนักเล่นแร่แปรธาตุ หัวใจของมนุษย์ต่างหากที่เป็นปัจจัยของความเข้มแข็ง ความอ่อนแอ ความอ่อนโยน ความเปราะบางทั้งหลาย และทำให้ชีวิตเป็นชีวิต การหยุดใคร่ครวญทบทวนอดีตและภูมิหลังอาจเป็นสิ่งจำเป็น แต่สิ่งที่จะทำให้ชีวิตเดินไปข้างหน้าคือปัจจุบันต่างหาก

นั่นคงเป็นเหตุผลที่ผู้เขียนเลือกเปิดเรื่องนวนิยายเรื่องนี้ด้วยตัวละครลุงสุขกับป้าแสง ความสำคัญของสองตัวละครนี้ยิ่งถูกตอกย้ำในบทแนะนำตัวละครลุงต่อ ทั้งที่ดูเผิน ๆ ลุงสุขกับป้าแสงเรียกว่าแทบจะไม่ได้เกี่ยวข้องใด ๆ กับซอยอยู่สบาย แม้แต่ตอนที่เป็นไคลแม็กซ์ของเรื่องซึ่งขมวดเอาตัวละครแทบทั้งหมดมาไว้ในฉาก ก็ดูเหมือนว่าทั้งสองไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องมากนัก

แต่หากตัดลุงสุขกับป้าแสงออก นวนิยายเรื่องนี้ก็ล้มไม่เป็นท่า เพราะนี่คือความสัมพันธ์ที่เรียกว่าเป็นกระดูกสันหลังของนวนิยายเรื่องนี้ ความสัมพันธ์ที่เหมือนนิยายพาฝัน ทว่าเป็นนิยายพาฝันที่ทั้งจริงและเจ็บปวด แต่อย่างไรปัจจุบันก็ยังคงอยู่ และชีวิตก็ต้องก้าวเดินต่อไป เช่นเดียวกับนิยายชีวิตของแต่ละคนในซอยนี้

ลุงสุขกับป้าแสงจึงเปรียบเสมือนภาพแทน (Representation) ขณะเดียวกันก็เป็นภาพปฏิทรรศน์ (Paradox) ในความสัมพันธ์ของตัวละครทั้งหมดในซอย ความพาฝันที่แฝงความปวดร้าวของชีวิตของลุงสุข ต่างอะไรจากความปวดร้าวที่แฝงความพาฝันของลุงต่อ ป้าแหวง สันทัด มีนา หรือกระทั่งเจ้ามอมแมม

ชื่อของตัวละครหลายตัวยิ่งขับเน้นภาพปฏิทรรศน์ของแต่ละตัวละคร ลุงสุข ควรจะสุขตามชื่อ แต่ใครเลยจะตอบได้ว่าสิ่งที่ลุงต่อสู้อยู่นั้นทำให้ลุงสุขตามชื่อหรือไม่? ป้าแสงก็เปรียบเสมือนแสงดาวแห่งความฝันและความหวังทั้งชีวิตของลุงสุข แต่ที่จริงป้าแสงเป็นแสงแรกอรุณหรือแสงสุดท้ายที่กำลังริบหรี่?

เช่นเดียวกับลุงต่อ ชีวิตที่ควรจะเดินต่อกลับหยุดนิ่งเพราะมีบางคนที่ลืมสัญญา เจ้ามอมแมม คล้ายจะตั้งมาล้อกับเรื่อง "มอม" ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ที่รอเจ้าของแท้จริงมาทั้งชีวิต แต่คราวนี้ผู้เขียนโยนคำถามหนักหน่วงของชีวิตเข้าใส่มอมแมมเมื่อเจ้าของของเจ้ามอมแมมตายไปแล้วจริง ๆ เมื่อสองตัวละครที่ถูกลืมสัญญาคือลุงต่อและเจ้ามอมมาพบกัน จึงเสมือนว่าทำให้ชีวิตกลับเข้าสู่ปัจจุบันและเดินต่อไปได้ใช่หรือไม่?  ป้าแหวง ผู้มีชีวิตเว้าแหว่งที่ยอมเสี่ยงชีวิตเพื่อความรัก เรื่องแสนจะจริงที่จบลงราวกับเรื่องพาฝัน เช่นเดียวกับมีนาและสันทัด ชีวิตที่แสนจะจริงอันแอบซ่อนเรื่องพาฝันอย่างดอกฟ้าและหมาวัด เหมือนบทเกริ่นการณ์ที่ล้อไปกับชีวิตคนอื่น ๆ หรือไม่ คงไม่มีใครรู้นอกจากเจ้าตัวในเรื่อง

สภาวะขัดแย้งของความสุขและความทุกข์ สภาวะขัดแย้งของภาพชีวิตและภาพพาฝัน ทุกอย่างถูกผลักดันให้ดำเนินไปได้ด้วยสิ่งเดียวคือ หัวใจ

หัวใจนั่นเองที่ทำให้ชีวิตเป็นชีวิต

24 ชั่วโมงนี้อาจจะพิเศษกว่า 24 ชั่วโมงอื่นเมื่อมันได้รับการประกอบขึ้นเป็นเรื่องเล่า ทว่าเมื่อเรื่องเล่าจบลง 24 ชั่วโมงข้างหน้าชีวิตก็ยังคงต้องดำเนินต่อไป ลุงสุขก็ยังคงดูแลป้าแสงด้วยความรัก ด้วยหัวใจที่ทั้งสุขและทุกข์ เช่นเดียวกับความสุขอมทุกข์ ความทุกข์เคล้าสุขของอีก 7 ชีวิตในนวนิยายเรื่องนี้ ขอเพียงแค่มีความรักและความฝันไว้เติมเชื้อไฟให้หัวใจได้สู้ต่อบ้างก็พอแล้ว

นั่นแหละคือสิ่งที่เรียกว่าชีวิต และนั่นแหละคือความง่ายงามของ 824 ดังที่ผู้เขียนได้สรุปทุกสิ่งทุกอย่างของนวนิยายเล่มนี้ไว้ในย่อหน้าหนึ่งของคำนำว่า

“824 เป็นเพียงเส้นทางหนึ่งที่ผู้เขียนเลือกพาผู้อ่านไปพบกับแปดชีวิตที่ล้วนมีหัวใจหนึ่งเดียวในอก หัวใจที่มีความหวัง ความฝัน และความรักที่จะมอบให้ ความสมหวังในความรักเป็นสิ่งที่หัวใจทุกดวงปรารถนา แต่การจะได้มาย่อมต้องแลกด้วยสิ่งต่าง ๆ รวมทั้งความรักเองด้วย”

------------------------------------------
Quotations:

ลุงต่อไปธนาคารก็จริง แต่ไม่ใช่เพื่อถอนเงินจากบัญชีเงินฝากที่จำนวนเงินลดน้อยถอยลงอย่างน่าใจหาย แต่แกยังไปธนาคารเลือดเพื่อขายเลือดอีกด้วย แกนอนน้ำตาไหลย้อนอยู่ในอกยามที่เลือดถ่ายจากตัวเพื่อแลกเป็นเงิน ไม่มีใครรู้ว่าทุกวันแกตั้งขวดเหล้าไว้บนแคร่อย่างนั้นเอง เป็นขวดเหล้าก็จริง แต่น้ำในขวดไม่ใช่เหล้า เป็นน้ำจากก๊อก และอาการเมาเหล้าของแกก็เป็นอย่างที่คนเรียกกันว่า เมาดิบ

แกกล้ำกลืนกินศักดิ์ศรีมานานปี ไม่เคยมีใครรู้และย่อมไม่มีทางรู้ว่า แกต้องขายเลือดเลี้ยงชีวิตอันมีศักดิ์ศรีค้ำคอเช่นนี้มานานแล้ว
(หน้า 16)

ก่อนเข้านอนคืนนั้น มีนาไม่นึกอยากหยิบสมุดภาพงานแต่งงานมาดู มีนามีภาพอื่นที่ทวนซ้ำอยู่ในสมองมาตั้งแต่เลิกงานแล้ว

ภาพหญิงสาวคนหนึ่งที่มายืนดูโชว์ริมสระน้ำ เธอยืนอยู่กับชายหนุ่มคนหนึ่งที่หันมามองเธอในเวลาที่สายตาทุกคู่ในบริเวณนั้นอยู่ที่มีนา ทั้งสองส่งยิ้มให้กัน มีนารู้แล้วว่าตัวเองต้องการอะไรมากที่สุดในชีวิต เธอไม่ต้องการสายตาที่มองมาหลายล้านคู่ แต่ต้องการสายตาเพียงคู่เดียวที่มองมาอย่างแสนรักหนักหนา พาให้มีนามองตอบเจ้าของสายตากลับไปได้ด้วยรักเปี่ยมล้นพอกัน
(หน้า 29)

ป้าแหวงผ่านความรักมามากจนรู้ว่าอย่าได้หวังสิ่งใดจากความรักเลย ความรักแสนจะขี้เล่น ถ้าโลดไล่ไขว่คว้าก็จะหนีห่างหาย ถ้าเผลอสบาย ๆ ก็จะมาเคล้าเคลีย ยิ่งรักแท้ด้วยแล้ว อาถรรพณ์แรงนัก หากไม่แน่ใจก็อย่าลงไปเล่นด้วยเลย ดังนั้น ป้าแหวงจึงใช้อุบายแยบคายทำเป็นสงวนท่าทีกับความรัก ทั้ง ๆ ที่ใจโลดขึ้นในอกและกู่ร้องเพรียกหาทุกนาที
(หน้า 40)

เงินเก็บก็พอมีอยู่หรอก เอาไว้เผื่อเจ็บไข้ ไม่มีใช้จริง ๆ ก็จะขายที่ผืนน้อยมันละ เคยตั้งใจนะว่าจะยกให้ลูก มันจะได้มีสมบัติเผื่อไว้ลำบากวันข้างหน้า..." คนพูดเว้นช่วงไป "คำสัญญานี่มันบาดลึกนะ มันบาดลึกตรงใจนี่แหละเวลาที่คนพูดลืมสัญญา"
(หน้า 88)

หัวใจมนุษย์ไม่กลัวความเจ็บปวด ไม่หวั่นความผิดหวัง และเสาะหาความหวังมาหล่อเลี้ยงได้เสมอ นั่นเพราะเดิมพันที่จะได้มาซึ่งความสมหวังสูงนัก และหัวใจย่อมพร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อเดิมพันนี้
(หน้า 104)

[งามพรรณ เวชชาชีวะ. 824. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : เวิร์คพอยท์พับลิชชิ่ง, 2554.]

วันอาทิตย์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2558

วานปีศาจเขียน : 'รงค์ วงษ์สวรรค์


อย่าให้นกกระจิบแนะนำหนังสือของพญาอินทรีแห่งสวนอักษรเลย ขอให้วรรคตอน "เพรียวนม" ประดามีทำหน้าที่แนะนำตัวเองดีกว่า

-------------------------------------------------

"เว้นแขนไว้ไม่ได้หรือ ผมรักแขนของผมมากกว่าอวัยวะชิ้นอื่น ผมรอดจากการจมน้ำตายหลายหนก็เพราะมัน ผมจึงควรจะมีกตัญญูกับมันบ้าง ผมได้ปีนขึ้นไปนั่งบนยอดไม้สูงก็โดยอาศัยมันช่วยโหนเถาวัลย์ เวลานอนหนาวผมก็ได้มันไว้กอดตัวเอง..."

(หน้า 16)

-------------------------------------------------

แดดร้อนบรรลัย--มันร้อนจนน่าจะฉวยมีดมาไล่แทงกัน

(หน้า 21)

-------------------------------------------------

"ชีวิตคนเราบางทีมันก็เหมือนกับการเดินเข้าไปในร้านขายถ้วยชามราคาแพง คุณจะเห็นเจ้าของร้านวางป้ายเตือนให้รู้ว่า คุณจะต้องรับผิดชอบกับการแตกสลาย...ในขณะที่คุณหยิบมันขึ้นมาดู แล้วไม่หนไหนก็หนไหนคุณจะต้องพลาดเข้าจนได้ ปล่อยให้ชามหล่นจากมือ"

(หน้า 30)

-------------------------------------------------

"ยำผ้าขี้ริ้วนะคะ"

คนโซที่สองยักไหล่ "กินมันได้หรือ ผมมีเอาไว้ห่อทอง"

"ถูกของคุณ" คนโซที่หนึ่งสั่งเหล้าบัดซบนั้นอีกแบน

ทั้งสองพยายามใช้หัวแม่ตีนคิดว่าทำอย่างไรจึงจะเดินออกจากร้านด้วยมาดสง่า

และไม่โดนเตะ

(หน้า 37)

-------------------------------------------------

พนักงานรับใช้นำบรั่นดีมาเสิร์ฟ

"น้ำเย็น...รีบเอาน้ำเย็นมาด้วย" แต่เขาไม่รั้งรอจะจิบมันก่อนราวหนึ่งในสองของที่ขอดมาในก้นแก้ว

รสมันเพี้ยนเหมือนเหล้าโรงดองสมุนไพร

เพื่อนของเขาจิบบ้าง และตะโกน "โกง! ไอ้สัตว์นี่โกง! มันเอาเหล้าปลอมมาให้กิน"

สีเผื่อนปรากฏบนใบหน้าของชายร่างย้อย

และนาฑีถัดมาเขาจึงยิ้ม และยิ้มอย่างเก็บธรรมบางบทที่หล่นอยู่บนพื้นขึ้นมาได้ เขาพูด "แต่มันก็แสดงให้เห็นว่าไอ้สัตว์บาร์เท็นเดอร์มันมีความซื่อสัตย์กับไอ้เจ้าของภัตตาคาร"

(หน้า 45)

-------------------------------------------------

เขาเคยเห็นสงคราม แม้ว่ามันจะไม่โหดร้ายเหมือนสงครามในภาพยนตร์หรือในนวนิยาย แต่มันก็คือสงคราม มันจะมีความหมายอย่างไรเขาไม่รู้ เขารู้แต่เพียงว่า--สงครามคือความหิว ความกลัว ความพลัดพราก และความตาย

แต่ความตายก็ดูเหมือนจะน่ารักกว่าความว้าเหว่

(หน้า 51)

-------------------------------------------------

"คุณมีความรักไหม?" ชายผู้เป็นทาสของความรักถาม

ผู้เป็นทาสของความเกลียดตอบทันที "ถ้าคุณคิดว่าการที่ผมต้องสมสู่กับผู้หญิงผอมเหมือนกิ้งก่าตัวหนึ่ง-เอ๊ย-คนหนึ่ง ผมต้องเฝ้าพะวงว่าลูกสาวอายุหกขวบที่นั่งเรือด่วนไปโรงเรียนจะพลัดตกน้ำไหม ผมเห็นแมวสีสวาทมันเล็มหญ้ากินก็ให้นึกเป็นห่วงว่ามันป่วย ได้ยินเสียงหมาร้องอยู่หน้าบ้านก็ต้องวิ่งออกไปดูว่ามันจะเป็นหมาของเราโดนรถยนต์ชนหรือเปล่า ผู้หญิงแก่ ๆ อีกคนในบ้านที่เราเรียกว่าแม่ยาย...หน้าที่ของแกคือโขลกหมากกินในเวลาที่ผมต้องการความสงัด และร้องตะโกนเสียดสีถ้าผมเมากลับบ้านและตามหึงแทนเมียของผม ถ้าคุณคิดว่าการมีเงื่อนไขผูกพันกับสิ่งเหล่านั้นมันเป็นความรัก ถุย! ผมก็มีความรักน่ะซิ"

"ผมจะมีความรักโดยไม่ต้องมีภาระกับความยุ่งยากเหล่านั้นได้ไหม?"

"ได้...ทำไมจะไม่ได้ ถ้ามันเป็นความรักที่ผิดหวัง"

(หน้า 60)

-------------------------------------------------

นรีผู้นอนซมอยู่ในมุ้งอับราของหล่อนรู้สึกอยากเห็นแสงแดด หล่อนรักแสงแดดในยามเช้าและยามเย็น หล่อนรักเสียงมอดไชไม้--มันเป็นดุริยางค์ของหล่อนผู้เดียวดาย หล่อนรักกลิ่นหอมของใบเนียมนวลประกอบน้ำกลอกกลิ้งบนใบบอน และเลื่อมระยับบนใบพุดซ้อน ความรัก--หล่อนมีความรัก หล่อนรักหมอนที่เคยหนุน อ้อมกอด (ของตัวเอง) ที่เคยซบเพื่อร้องไห้ และหล่อนมิวายรักความผิดหวัง

มันไม่ช่วยให้หล่อนตระหนักว่าหล่อนเป็นคนเท่านั้น

มันเตือนให้รู้ว่าหล่อนเป็นหญิง และอาภัพ และใคร่จะมีชีวิตเพื่อเสพย์ความอาภัพนั้น

โลกร้องไห้เป็นกำนัลหล่อนในกังวานพริ้ง

(หน้า 65)

-------------------------------------------------

"ผมพอจะเหมือนคุณบ้างไหม?" เขาถาม

"ยัง--ยังไม่เหมือน..."

"ทำไม--ผมควรแก้ไขอย่างไร?"

"ไม่ยากเลย" ข้าพเจ้าบอก "โยนความดีทิ้งไปเสียบ้าง แล้วก็หาความบัดซบอย่างถึงใจมาประดับ เท่านั้น...คุณก็จะเป็น 'รงค์ วงษ์สวรรค์อย่างสมบูรณ์"

(หน้า 96)

-------------------------------------------------

['รงค์ วงษ์สวรรค์. วานปีศาจเขียน. กรุงเทพฯ : มติชน, 2549.]

วันจันทร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2558

Final Masquerade


Tearing me apart with the words you wouldn't say
And suddenly tomorrow's a moment washed away
'Cause I don't have a reason, and you don't have the time
But we both keep on waiting for something we won't find

ให้วาจาเงียบงันฆ่าฉันทิ้ง
สิ่งที่หวังวันพรุ่งพลันเลือนพร่า
เราคือเหยื่อของเหตุผลและกาลเวลา
จึงรอสิ่งซึ่งรู้ว่าจะไม่พบ

วันพฤหัสบดีที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558

เค้าดาว

เค้าดาวในคืนฝันอันเงียบเหงา
จะเอื้อมคว้าถึงเค้าอย่างไรไหว
เอื้อมสุดมือไม่ถึงดาวยิ่งหนาวใจ
ทำอย่างไร เค้า (เป็น) ดาว เราแค่ดิน...