วันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ว่าด้วยเรื่องราวของลูกเขยครูขี่คร่าน อาแปะขายกาแฟ และความรู้ในมิติที่แตกต่าง

พื้นที่ว่างบนรถเมล์มีไม่มากนัก จึงดูเหมือนว่าเขาและเธอเหล่านั้นกำลังนั่งล้อมวงแนบชิดและแลกเปลี่ยนเรื่องราวต่าง ๆ โดยมีเบาะเล็ก ๆ เป็นฉากกั้นความเป็นส่วนตัว แต่เบาะไม่ใช่กำแพง มันจึงเก็บเสียงสนทนาที่ค่อนข้างดังไม่ได้ และนี่คือบทสนทนาของหญิงวัยกลางคนที่นั่งข้างหน้าข้าพเจ้า

"ครูน่ะเป็นอาชีพที่เอาเปรียบคนมากที่สุดแล้ว"
"ใช่ ๆ"
"วัน ๆ ไม่เห็นทำอะไรเลย มานั่งเต๊ะหน้าห้อง แล้วก็พูด ๆ ให้หมดชั่วโมงไปวัน ๆ เด็กอ่านหนังสือไม่รู้เรื่องก็ไม่เอาเป็นธุระ ปล่อยผ่านไปจนโต"
"ใช่ ๆ" ข้าพเจ้าคาดว่าคู่สนทนาคนนี้เป็นลูกขุนพลอยพยัก
"พวกข้าราชการ ทำงานกินเงินเดือนหลวง ภาษีของเราทั้งนั้น ไม่เหมือนพวกทำมาค้าขายอย่างเรา ทนหากินเช้าค่ำ ปากกัดตีนถีบ ลำบากแทบตายกว่าจะได้เงินมาแต่ละบาท"
"ใช่ ๆ" อีกคนคงเป็นลูกขุนพลอยพยักจริง ๆ

ยังไม่ทันที่ความคิดของข้าพเจ้าจะเอ่ยถามว่า มิใช่เพราะครูหรือเธอจึงสามารถคิดเลขได้ถูกต้อง ก็เป็นเสียงของเธอมากลบเสียงในใจเสียก่อน
"ฉันน่ะ แค่พ่อสอนให้คิดเลขเป็น ฉันก็ขายของเป็นแล้ว... เขาน่าจะเลิกจ้างครูไปได้แล้ว เรียนไปก็เท่านั้นแหละ ไม่เห็นเกี่ยวกับไอ้ที่จะมาทำมาหากินเลย"

.........................

คลับคล้ายคลับคลาว่าข้าพเจ้าเคยได้ยินวาทกรรมเหล่านี้มาจากที่ไหนสักแห่ง นึกไปนึกมาจึงถึงบางอ้อ... เป็นคำบ่นกระปอดกระแปดของแม่ยายของญาติข้าพเจ้า
"บ่อยากได้ดอก ลูกเขยครูน่ะมันขี่คร่าน"
(ไม่อยากได้หรอก ลูกเขยครูน่ะเป็นคนเกียจคร้าน)

สมการ ข้าราชการ = คนเกียจคร้าน เป็นตรรกะปกติของพ่อค้าแม่ขาย หรือคนหาเช้ากินค่ำที่ข้าพเจ้ารู้จัก
(ย้ำว่า "ที่ข้าพเจ้ารู้จัก" เพราะข้าพเจ้ามีคนรู้จักที่ประกอบอาชีพนี้ไม่มากนัก)
เมื่อ ข้าราชการ = ครู จึงพลอยทำให้เกิดสมการ ครู = คนเกียจคร้าน ตามไปด้วย

ข้าพเจ้าคงจะไม่พูดถึงความล้มเหลวของระบบการศึกษาพื้นฐาน ที่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการเฉพาะทางของบางพื้นที่หรือนักเรียนบางคนได้ เช่น ไม่มีหลักสูตรวิชาชีพเฉพาะทาง เช่น ปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์ ที่ไม่ใช่แค่หลักสูตรกิ๊กก๊อกในวิชา กพอ. (ไม่รู้ว่าปัจจุบันเปลี่ยนชื่อหรือยัง)
แต่เป็นการสอนระดับการรู้จักคัดเลือกพันธุ์ข้าว การวางแผนทำชลประทานให้มีน้ำเพียงพอ หรือการบริหารจัดการฟาร์มสัตว์ ซึ่งมีสอนเฉพาะในมหาวิทยาลัยบางแห่งเท่านั้น กว่าจะเข้าไปถึงระดับนั้นก็ต้องใช้เงินทองมากมาย
หรือหลักสูตรพ่อค้าแม่ค้า ซึ่งบางคนอาจบอกว่าไม่ต้องสอนเพราะมันอยู่ในสายเลือดอยู่แล้ว แต่การได้เรียนก็น่าจะทำให้ "ลัดเวลา" ได้มากขึ้น

แต่แน่ล่ะ เราไม่มีหลักสูตรเหล่านั้น เรามีแต่หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานพิมพ์เดียวกัน คือหลักสูตรการศึกษาแบบชนชั้นกลางป้อนตลาดทุนนิยม
เป็นหลักสูตรที่ทำให้นักเรียนหุงข้าวไม่เป็น ทำกับข้าวไม่เป็น ทำงานบ้านไม่เป็น นอนตื่นสาย ฉลาดแกมโกง และแบมือขอเงินพ่อแม่จนโต
แต่ข้าพเจ้าก็ยังจะไม่พูดถึงเรื่องนี้ แม้มันจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดตรรกะ ครู = คนที่ไม่มีประโยชน์ ในความคิดของบางคน

ข้าพเจ้าคงจะไม่แก้ตัว หรือไม่พูดถึงคุณค่า ความสำคัญ และความจำเป็นที่ต้องมีอาชีพ "ครู" อยู่ในโลก แม้ข้าพเจ้าจะทราบดี เพราะตระกูลของข้าพเจ้าเป็นครูกันแทบทั้งตระกูล

หรืออันที่จริง แม้ข้าพเจ้าจะพูดถึงเรื่องที่ข้าพเจ้ายกมาข้างต้นทั้งหมด ก็อาจไม่สามารถถมช่องว่างทางความคิดระหว่างข้าพเจ้ากับหญิงวัยกลางคนที่อยู่ตรงหน้าได้

.........................

ข้าพเจ้าเคยคุยกับอาแปะร้านกาแฟคนหนึ่งแถว ๆ ตลาดในหมู่บ้าน กาแฟของแกขายดีมาก แต่ก่อนแกได้กำไรวันละกว่า 3,000 บาท!! 3,000X30 = 90,000 บาท นี่มันเงินเดือนระดับผู้บริหาร CEO เลยนะเนี่ย
"เดี๋ยวนี้ขายไม่ดีเลยอาตี๋"
"ได้วันละเท่าไหร่ครับ"
"วันละสองพันกว่า ๆ เอง"
2,000X30 = 60,000+- บาท ก็ยังเยอะอยู่ดีนะอาแปะ (ฟังแล้วอยากลาออกจากที่เรียนมาช่วยแปะขายกาแฟ)

เมื่ออาแปะทราบว่าข้าพเจ้าเพิ่งเรียนจบปริญญาตรีใบที่สอง และกำลังเรียนต่อปริญญาโท แกแสดงอาการแปลกใจเป็นอย่างยิ่ง
"ลื้อจะเรียนไปทำไมตั้งสองสามใบ จะเอาไปทำอะไรนักหนา"
ครั้นจะตอบว่า "เรียนเพราะอยากรู้" ก็ดูจะกวนอวัยวะใช้เดินไปหน่อย แม้มันจะเป็นเหตุผลจริง ๆ ก็ตามที
ข้าพเจ้าได้แต่ยิ้ม คิดหาคำตอบที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดในตรรกะที่อาแปะจะเข้าใจ
"ยังไม่อยากทำงาน อยากมีข้ออ้างเที่ยวเล่นในกรุงเทพฯ" (แต่จริง ๆ นี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งเหมือนกัน แหะ ๆ)

อาแปะจบ ป.4 พูดไทยได้แต่อ่านหนังสือไทยไม่ได้ ตั้งร้านขายกาแฟแต่ยังหนุ่ม ส่งออกลูก ๆ ไปตั้งร้านขายกาแฟตามอำเภอต่าง ๆ อาแปะอาจลืมความรู้ตอน ป.4 ที่เคยเรียนมาทั้งหมดแล้ว เพราะมันไม่จำเป็นอะไรเลยกับชีวิต สิ่งที่อาแปะอยากรู้ก็คือ สูตรผสมกาแฟให้อร่อย ขายดี นอกเหนือจากนั้นคือสิ่งที่ไร้สาระ รู้ไปก็เท่านั้น
เพราะ "ความรู้" ของเราทั้งสองคน มีรูปแบบ ขนาด ลักษณะ มิติ และคุณค่าแตกต่างกัน
ตรรกะที่บอกว่า "เรียนเพราะอยากรู้" หรือคำว่าปรัชญาที่มาจาก Philos + Sophia "ความรักในความรู้" (ซึ่งบังเอิญสอดคล้องกับคำแปลของชื่อผมอย่างประหลาด วุฒิ(ความรู้) + นันท์(ยินดี) = ผู้ยินดีในความรู้) จึงมิใช่ตรรกะที่อาแปะจะเข้าใจได้

.........................

เช่นเดียวกัน ข้าพเจ้าไม่มีคำอธิบายใด ๆ ไปอธิบายให้หญิงวัยกลางคนที่นั่งข้างหน้าข้าพเจ้าเข้าใจได้ว่า เหตุใดโลกนี้จึงต้องมีครู
เพราะตรรกะของเราเป็นตรรกะคนละชุด


วุฒินันท์ ชัยศรี
๒๔/๐๘/๒๐๑๐

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น