วันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2556

ว่าด้วยความศรัทธาในวิชาชีพนักเขียน

(1) เฮียหนวดร้านจักรยาน

เจ้าของร้านจักรยานแถว ๆ ที่ทำงานผมเป็นเฮียหนวดดูท่าทางดุ ๆ เวลาแกพูดผมแยกไม่ค่อยออกว่าแกพูดธรรมดาหรือแกคำราม

"บันไดจักรยานคู่ละ 80 บาท"

การตกลงซื้อขายเกิดขึ้นโดยผมเข้าใจว่าค่าแรงเปลี่ยนบันไดจักรยานคงรวมอยู่ในราคาสินค้าเรียบร้อยแล้ว เฮียหนวดเดินแบกเครื่องมือออกมาดึงบันไดอันเก่าทิ้ง ทว่าบันไดเก่านั้นเก่าเกินไป ระหว่างเกลียวข้อต่อเต็มไปด้วยสนิมเขรอะ เพียงแค่ประแจไม่พอหมุนมันออกมาง่ายดาย ต้องใช้ทั้งน้ำมันหล่อลื่น คีมล็อก และเหงื่ออีกหลายถังของเฮียกว่าการเปลี่ยนบันไดจักรยานจะเสร็จสิ้น ผู้นั่งดูอยู่เฉย ๆ อย่างผมเห็นต้นเหตุความเหนื่อยของแกมาจากจักรยานบุโรทั่งของผมจึงเอ่ยปากเสนอตัวช่วยแกบ้าง แต่แกคงเห็นว่าไขมันผมมีมากกว่ากล้ามจึงบอกว่าไม่เป็นไร ผมจึงถามราคาอีกครั้งเพราะเห็นว่าค่าบันไดจักรยานไม่ควรจะรวมอยู่กับค่าเสียเหงื่อสองถังของแกอีกต่อไปแล้ว

"80 บาท" แกยังยืนยันคำเดิม แถมยังช่วยขันน็อตเบาะหลังที่เริ่มหลวม และหยอดน้ำมันให้โซ่หมุนสะดวกขึ้นอีกต่างหาก

(2) วิชาชีพนักเขียน

ค่าแรงการใช้งานวิชาชีพนักเขียนของผม อัตราทั่ว ๆ ไปอยู่ที่หน้าละ 1,000 บาท (จัดหน้าปกติ ตัวพิมพ์ Cordia 16 Point) ซึ่งอัตรานี้รวมการหาข้อมูล การสัมภาษณ์ ฯลฯ ไว้แล้ว นอกเสียจากเป็นงานเชิงวิชาการที่ต้องหาข้อมูลลึกก็จะบวกค่าหาข้อมูลเข้าไปอีกนิดหน่อย ที่เหลือก็บวกลบตามแต่ความยากง่ายและระยะเวลาในการทำงาน แต่ส่วนมากจะโดนลบเสียมากกว่า (ไม่ฮา)

เท่าที่เคยถาม ๆ นักเขียนฟรีแลนซ์ท่านอื่น ๆ ก็ใช้อัตราประมาณนี้ หลายท่านคิดเงินต่อหน้าสูงกว่าผมด้วยซ้ำไป มันอาจเป็นแค่ "แค่หน้าละพัน" หรือว่า "หน้าละตั้งพัน" ก็แล้วแต่มุมมองและความเข้าใจของแต่ละคน

ที่สำคัญกว่านั้นน่าจะเป็นเรื่องของ "ความศรัทธาต่อวิชาชีพ"

เงินหนึ่งพันที่ร้องขอ ไม่ใช่เรื่องของการขูดรีด ความงกหรือหน้าเลือดอยากได้เงินเยอะ ๆ (อันที่จริงนี่ถือว่าเป็นราคาที่ถูกมากจนอาจเป็นการตัดราคาของเพื่อนร่วมวิชาชีพซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการผิดจรรยาบรรณ) แต่เป็นราคาที่แสดงว่าคุณมีความเคารพต่อวิชาชีพนี้มากพอ เมื่อคิดจะใช้คนที่มีมาตรฐานระดับหนึ่ง คุณก็ต้องพร้อมจะจ่ายราคามาตรฐานของวิชาชีพนี้ด้วย

มีหลายคนเข้าใจผิดว่า งานเขียนไม่ใช่เรื่องยากเลย แค่มีพรสวรรค์ด้านขีด ๆ เขียน ๆ ไปนั่งหน้าคอม จิ้ม ๆ คีย์บอร์ดจนครบหน้าก็ได้เงิน แล้วจะเอาอะไรนักหนา

สำหรับผมแล้ว คำว่าพรสวรรค์ไม่มีอยู่จริง ทุกอย่างเป็นเรื่องของการฝึกฝนและเคี่ยวกรำตัวเองอย่างหนัก เพียงหนึ่งประโยคที่เข้าใจง่าย ๆ เบื้องหลังของมันบรรจุการเคี่ยวกรำรูปประโยคผ่านการเรียนรู้หลายสิบปีและการอ่านหนังสือนับร้อยเล่ม แต่คนส่วนมากมักจะมองแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น ไม่ได้มองว่าฐานที่อยู่ใต้น้ำนั้นมีขนาดใหญ่เพียงใด จึงมักจะตีราคางานเขียนต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

ถ้าเช่นนั้นการที่เภสัชกรคนหนึ่งนั่งประจำอยู่ในแผนกยา คอยรับใบสั่งยาแล้วเดินไปหยิบให้คนไข้ ก็ควรถูกตั้งคำถามทำนองเดียวกันว่า "ก็แค่นั่งสบายอยู่ในห้องแอร์ เดินไปหยิบยาแค่นั้น ทำไมให้เงินเดือนมากถึงสองสามหมื่น" นั่นแสดงว่าคนพูดไม่ได้มองถึงเบื้องหลังของเภสัชกรว่ากว่าจะได้มานั่งในห้องเก็บยา เขาต้องเรียนอะไรบ้าง ท่องจำชื่อสารเคมีมามากแค่ไหน มีความรู้เรื่องการวิเคราะห์ยามากเพียงใด มีองค์ความรู้มากมายแค่ไหนที่เขาต้องรู้ในฐานะเภสัชกร

เงินเดือนหลายหมื่นจึงมิใช่ค่าแรงที่มากเกินควร แต่คือการที่รัฐในฐานะนายจ้างเคารพต่อความรู้ความสามารถและแสดงความศรัทธาที่มีต่อวิชาชีพของเขา

วิชาชีพนักเขียนในสายตาของนายจ้างก็ควรจะเป็นเช่นนั้น

(3) ใครก็เป็นนักเขียนได้

แน่ล่ะ ใคร ๆ ก็เขียนหนังสือได้ แต่การเขียนหนังสือได้ "ดี" นั้น ไม่ใช่ใครจะเขียนได้ง่าย ๆ อย่าว่าแต่คนที่ไม่อยู่ในวงการเลย แม้แต่คนที่อ้างตัวเองว่าทำงานในวงการการเขียนเพื่อการสื่อสาร กระนั้นงานหลายชิ้นกลับอ่านไม่ค่อยจะรู้เรื่อง รูปประโยควกไปเวียนมาจนน่าปวดหัว

ภาษาคือเครื่องมือสื่อสารความคิด ดังนั้นนักเขียนที่ดีไม่ใช่แค่ใช้ภาษาได้ดี แต่ความคิดในสมองต้องเป็นระบบมากพอจะสื่อสารให้คนอ่านเข้าใจได้ง่ายที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสายของการเขียนเพื่อการสื่อสาร เช่น การเขียนข่าว บทความ สารคดี บางครั้งการเขียนจึงไม่ใช่แค่การเล่นคำ แต่คือการประมวลข้อมูลทั้งหมดที่รับรู้และคัดเลือกเอาเฉพาะคำที่สื่อสารได้ออกมาเรียงร้อยกันเป็นประโยคหรือย่อหน้า เรียกให้ง่ายก็คือการ "ย่อยข้อมูล" เป็นข้อเขียนที่อ่านง่าย ดังนั้นนักเขียนที่เก่ง ๆ นอกจากจะต้องฝึกการเป็นนายของภาษาแล้ว พวกเขายังต้องฝึกจัดระบบความคิดของตัวเองอยู่เสมอ

ทุกอย่างอยู่ที่การฝึกฝน อาจกล่าวได้ว่าการฝึกฝนนั่นแหละคือต้นทุนของวิชาชีพนักเขียน

ช่วงเรียนมหาวิทยาลัยปีสาม ผมยังเขียนสารคดีไม่เป็น ผมฝึกฝน ช่วงปีสี่ผมยังเขียนเรื่องสั้นไม่เป็น แถมยังโดนค่อนขอดจากเพื่อนนักเขียนว่าอย่ามาสะเออะวิจารณ์งานของเขาถ้ายังเขียนเรื่องสั้นไม่เป็น จากนั้นผมก็เริ่มฝึกฝน

ไม่ใช่ว่าใครเกิดมาก็เขียนหนังสือเป็นเลย สำหรับผมแล้วการเขียนคือทักษะ และทุกอย่างอยู่ที่การฝึกฝน

ดังนั้นผมจึงปวดใจมากเวลาที่เพื่อนบางคนมาวานให้เขียนกลอนหรืออะไรทำนองนี้ให้บริษัทของเขา แล้วบอกว่า "กลอนแค่บทเดียวกอล์ฟไม่เหนื่อยอะไรหรอก กอล์ฟเขียนเก่งจะตาย"

ผมไม่ได้งกขนาดจะคิดเงินเพื่อนจากกลอนบทเดียว เพียงแต่อยากบอกให้เขารู้ว่ามันไม่ง่าย ไม่มีอะไรง่ายเลยสำหรับการเขียนทุกประเภท กลอนที่เขียนลงเฟซบุ้กบ่อย ๆ แน่ล่ะส่วนหนึ่งเป็นการระบายความในใจ แต่ส่วนหนึ่งของมันคือการฝึกฝนไม่ให้มือตก

งานที่ผมได้ราคาหน้าละพันเป็นปกติไม่มีอิดออด หรือถึงขนาดได้เงินบวกเพิ่ม ทั้งหมดเป็นงานที่นักเขียนหรือคนที่อยู่ในแวดวงการเขียนด้วยกันเป็นคนจ้างทั้งสิ้น เพราะพวกเขาเหล่านั้นต่างรู้ว่าการเขียนไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

(4) ผู้ศรัทธาในวิชาชีพ

ตอนที่เฮียหนวดแกเดินไปเอาเงินทอนหลังร้าน ผมอยากจะขี่จักรยานหนีหายไปเลยและให้เงินทอนเป็นค่าเหงื่อสองถังของแก แต่สุดท้ายแกก็กลับมาเร็วกว่าที่คิดพร้อมเงินทอน

เวลาที่ผมไปซื้อของหรือใช้บริการอะไรทำนองนี้ ผมไม่ค่อยต่อราคา เพราะคิดว่าราคานี้เขาคิดไว้ดีแล้ว เหมาะควรแล้วต่อวิชาชีพของเขา ยิ่งได้เห็นเขาทุ่มเททำงานในสิ่งที่ผมจ้างเขาอย่างเต็มที่ ผมยิ่งไม่รู้สึกเสียดายกับเงินทุกบาททุกสตางค์ที่ได้จ่ายไป แถมอยากให้เงินเขาเพิ่มด้วยซ้ำ นั่นเพราะผมศรัทธาคนที่ทำงานด้วยความศรัทธาในวิชาชีพของตน

ผมขี่รถจักรยานออกไปจากร้านด้วยความหวังว่า สักวันสิ่งที่เรียกว่า "วิชาชีพนักเขียน" จะได้รับการยอมรับโดยทั่วไปว่ามันมีอยู่จริง พร้อมค่าตอบแทนที่เหมาะสมแก่งาน มิใช่การดูถูกของนายจ้างและการยอมจำนนต่อเศษเงินที่ไม่สมควรเรียกว่าค่าแรงเหมือนที่เคยเป็นมา



วุฒินันท์ ชัยศรี
24 มีนาคม 2556

วันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2556

หญิงสาวในบทกวี

"ทำไมคุณถึงทำแบบนี้" เธอตะโกนลั่น "เอาฉันไปเพ้อพร่ำรำพันเป็นตุเป็นตะ หยุดเดี๋ยวนี้เลยนะ ฉันไม่อยากเป็นหญิงสาวในบทกวีของคุณ"
"แล้วคุณจะให้ผมทำยังไง" ผมตอบเธอด้วยน้ำเสียงโรยแรง "นับแต่วันที่ผมเห็นหน้าคุณ ผมก็ตายไปแล้ว คุณเข้าใจความหมายนี้ไหม---"
เธอสั่นศีรษะ หรี่ตามองผมราวกับกำลังจ้องคนเสียสติ
"ทุกอย่างที่เป็นตัวผมตายไปหมดแล้ว เหลือก็แต่คุณ---แววตาสดใสของคุณ ริมฝีปากบางของคุณ น้ำเสียงอ่อนโยนของคุณ ทุกอย่างที่เป็นคุณกลายเป็นทุกอย่างในชีวิตผม หัวใจของผมยังเต้นอยู่เพื่อคุณคนเดียว---แล้วมันจะเป็นไปได้อย่างไรที่จะให้ผมเอาคุณออกไปจากบทกวีที่ผมเขียน แม้เพียงช่องว่างระหว่างวรรคตอนที่อัดแน่นด้วยความครุ่นคำนึงถึงคุณ หรือเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของสำเนียงอักขระอันอ่อนหวานซึ่งรอยยิ้มละมุนละไมของคุณเผยร่างอยู่ตรงนั้น"

๒๑ มีนาคม ๒๕๕๖

วันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2556

My Neighbor Totoro: เพื่อนรักของเด็กเด็ก ความฝันเล็กเล็กอันแสนโหดร้าย

(เปิดเผยเรื่องราวในภาพยนตร์)

มีคนทักมานานว่าน่ารักเหมือน Totoro (ฮา) แต่ก็เพิ่งได้ชมแอนิเมชั่นเรื่องนี้ (ตกยุคมาก 55) และก็เกือบจะจบลงด้วยความอิ่มเอมใจอย่างที่ผู้สร้างอยากจะให้เป็น แต่เนื่องจากข้าพเจ้ามีข้อสังเกตเล็ก ๆ ตรงท้าย ๆ เรื่อง จึงลองค้นหาข้อมูลเกี่ยวแก่ Totoro ดู และพบกับความจริงอันน่าเศร้าบางประการ---

ก่อนอื่นควรจะต้องเล่าถึงเรื่องย่อในแอนิเมชั่นเสียก่อนพอให้รู้เรื่องคร่าว ๆ --- เด็กน้อยสองคนชื่อ Satsuki และ Mei ย้ายบ้านมาอยู่ที่ชนบทและได้พบกับสัตว์ประหลาดชื่อว่า Totoro (ซึ่งอาจเป็นชื่อที่ Mei ตั้งให้จากเสียงคำรามของมัน หรือเป็นคำพ้องเสียงของ Troll ในการออกเสียงแบบญี่ปุ่น) นับแต่วันที่เด็กน้อยทั้งสองได้พบกับ Totoro ก็มีเรื่องราวมหัศจรรย์เกิดขึ้นมากมายราวกับความฝัน

แม่ของทั้งสองป่วยและรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลมานาน วันหนึ่งถึงกำหนดที่แม่จะกลับบ้าน โรงพยาบาลกลับโทรเลขมาให้พ่อติดต่อกลับไป ทั้ง Satsuki และ Mei กลัวว่าจะเกิดเรื่องร้ายกับแม่ น้องสาว Mei จึงหอบข้าวโพดวิ่งไปโรงพยาบาลโดยหวังว่าจะให้แม่กินเพื่อให้อาการดีขึ้น ฝ่าย Satsuki เมื่อเห็นน้องหายไปนานจึงออกตามหาแต่ก็ไม่พบ เมื่อได้ยินข่าวว่าพบรองเท้าของ Mei ในสระน้ำจึงรีบรุดกลับมาดู แต่ก็โล่งใจเมื่อเห็นว่าไม่ใช่รองเท้าของน้องสาว เธอหมดหนทางตามหาน้องจึงขอความช่วยเหลือจาก Totoro พี่น้องทั้งสองจึงได้พบกันและได้นำของฝากไปเยี่ยมแม่ เพลงท้ายเรื่องบอกกล่าวเราว่าเรื่องราวจบลงอย่างมีความสุข

อาจกล่าวได้ว่าแอนิเมชั่นเรื่องนี้ทำให้ผู้ชมมีแต่ความสุขและอิ่มเอมใจ เพราะเรื่องนี้ไม่มีตัวร้าย ความเกลียดชัง หรือความรู้สึกด้านลบเลยแม้แต่น้อย เป็นเสมือนภาพฝันวัยเยาว์อันแสนงดงาม ดังที่ Roger Ebert นักวิจารณ์ภาพยนตร์กล่าวไว้ว่า

    "My Neighbor Totoro is based on experience, situation and exploration—not on conflict and threat,"

นอกจากนั้นยังกล่าวถึงเสน่ห์ของเรื่องนี้ว่า

    "...it would never have won its worldwide audience just because of its warm heart. It is also rich with human comedy in the way it observes the two remarkably convincing, lifelike little girls... It is a little sad, a little scary, a little surprising and a little informative, just like life itself. It depends on a situation instead of a plot, and suggests that the wonder of life and the resources of imagination supply all the adventure you need."

ฉากการพบกันครั้งแรกระหว่าง Mei กับ Totoro คือการที่ Mei ตาม Totoro ตัวน้อย ๆ เข้าไปในพุ่มไม้จนจับพลัดจับผลูหล่นลงไปในถ้ำ หากจะตีความว่าป่าคือความเป็นผู้หญิง (Womanhood) และถ้ำนั้นคือช่องคลอด (Vagina) ซึ่งเป็นสถานที่ให้กำเนิดมนุษย์ การเดินทางจากป่าสู่ถ้ำจนได้พบสัตว์ประหลาดตัวอ้วนกลมในเรื่อง จึงน่าจะหมายถึงการย้อนกลับไปสู่ "ความฝันและจินตนาการในวัยเยาว์" ของเด็กทั้งสองคนที่มีความผูกพันกับแม่อย่างลึกซึ้ง นั่นคือพวกเธอสร้าง Totoro ขึ้นมาในจินตนาการเพื่อชดเชยกับการต้องอยู่ห่างจากแม่ หลายครั้งจึงปรากฏว่าหลังจากพบ Totoro เด็กสองคนมักจะตื่นขึ้นมาราวกับว่าเรื่องที่พบ Totoro เป็นความฝัน

อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตของข้าพเจ้าตอนท้ายเรื่องในฉากที่ Satsuki เห็นรองเท้าในสระน้ำแล้วบอกว่าไม่ใช่รองเท้าของ Mei เป็นฉากที่ใช้เวลานานจนน่าสงสัย และอันที่จริงไม่จำเป็นต้องมีฉากนี้ก็ได้ หากหา Mei ไม่พบก็วิ่งไปขอร้อง Totoro แต่แรกเลยไม่ดีกว่าหรือ?

จากนั้นข้าพเจ้าจึงได้พบข้อสันนิษฐานของนักวิจารณ์ภาพยนตร์กลุ่มหนึ่งซึ่งเชื่อกันว่า แท้จริงแล้ว Totoro คือยมทูต (Shinigami: God of Death) ดังที่กล่าวไว้ในบล็อก http://hayao-miyazaki.tumblr.com/post/4273299861/totoro-shinigami และเรื่องราวในแอนิเมชั่นแท้จริงแล้วกำเนิดมาจาก "เหตุการณ์ในเมืองซายามะ" (The Sayama incident) ซึ่งมีเนื้อความคร่าว ๆ ว่า เด็กน้อยคนหนึ่งถูกลักพาตัวไปข่มขืนและฆ่า เมื่อพี่สาวได้พบศพน้องจึงเสียใจมากจนเสียสติ พร่ำรำพันว่าเห็นทานูกิยักษ์ และแมวปีศาจ ต่อมาไม่นานพี่สาวก็ฆ่าตัวตายตามน้องไป ดังเนื้อความว่า:

    The Sayama incident occured in May 1963. It’s quite an important case for discrimination in Japan. The case goes that one day, in Sayama (in Saitama prefecture), a young girl was kidnapped for ransom, raped and then murdered. Her older sister apparently found her body, but was so traumatized by it, when asked what she had seen, she merely said “I met a large Tanuki (looks like a racoon)” and “I saw a cat monster.” ... Anyway, the older sister later commited suicide.

นักวิจารณ์ได้ตั้งข้อสังเกตหลายประการว่าแอนิเมชั่นเรื่องนี้กล่าวถึงเหตุการณ์ในซายามะ เป็นต้นว่า มีข้อความและสถานที่ในเรื่องหลายแห่งแสดงให้เห็นว่าชนบทที่สองพี่น้องย้ายไปอยู่นั้นคือเมืองซายามะ (อ่านรายละเอียดในบล็อก) นอกจากนั้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคมก็พ้องพานกับชื่อของสองพี่น้องคือ Mei ออกเสียงคล้าย May และ Satsuki ก็เป็นวิธีออกเสียงแบบหนึ่งของเดือนพฤษภาคมอีกด้วย

ส่วนเรื่องความตายของ Mei และ Satsuki มีความเกี่ยวพันกับ "รถบัสแมว" (The Nekobus: A bus-shaped giant cat) ที่ปรากฏขึ้นตอนที่มันจะพา Satsuki ไปหา Mei ซึ่งรถบัสแมวได้ขึ้นป้ายจุดหมายปลายทางตามลำดับว่า  ป่า - หนองน้ำ - สุสาน - หีบศพ - Mei ซึ่งมีความหมายตามลำดับถึงการตายของ Mei คือ "ป่า" เป็นสัญลักษณ์หมายถึงความเป็นผู้หญิง (Womanhood) ซึ่งตามเหตุการณ์ซายามะนั้น Mei ถูกข่มขืน (การทำลายหรือล่วงล้ำ Womanhood) หนองน้ำคือสถานที่พบศพ จากนั้นเธอก็ถูกนำไปสุสานและถูกฝังไว้ในหีบศพ ทั้งหมดคือสถานที่ที่ Satsuki ต้องการจะไปเช่นเดียวกับน้องสาว คือไปสู่ความตาย (ในบล็อกภาษาอังกฤษอธิบายอีกอย่างว่าก่อนจะถึงคำว่า Mei มีคำหนึ่งปรากฏขึ้น คำแรกหมายถึงสุสาน คำที่สองหมายถึงถนน: the first character means grave, the second meaning road. หรือก็คือถนนที่นำไปสู่ความตาย แต่ข้าพเจ้าเห็นว่า "ป่า" และ "หนองน้ำ" ก็มีความหมายที่สำคัญไม่แพ้กัน จึงยึดตามซับไตเติ้ลภาษาไทยเป็นหลัก)

นอกจากนั้นในเพลงประกอบตอนรถบัสแมว ยังมีข้อความตอนหนึ่งว่า:

    notta okyaku wa youki na obake (those guests who ride are cheerful ghosts.)

การขึ้นรถบัสแมวเพื่อออกตามหา Mei จึงมีความเป็นไปได้อย่างมากที่จะหมายถึงการฆ่าตัวตามตามน้องสาวของ Satsuki เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ซายามะ ส่วนข้อสันนิษฐานว่า Totoro คือยมทูต และเรื่องราวในแอนิเมชั่นคือ The Sayama incident นั้นยังมีรายละเอียดอื่น ๆ อีกมากซึ่งอ่านเพิ่มเติมได้ในบล็อกที่ยกมาข้างต้น

การกล่าวว่าเรื่องราวสุขนาฏกรรมใน Totoro แท้จริงแอบซ่อนโศกนาฏกรรมแสนเศร้าไว้เบื้องหลังอาจจะเป็นการทำร้ายจิตใจผู้ชมมากไปหน่อย แต่ที่จริงแล้วสำหรับเด็กน้อยทั้งสอง ความตายอาจไม่ใช่เรื่องน่ากลัวเลยสำหรับพวกเธอ เห็นได้จากฉากแรก ๆ ที่พวกเธอได้พบบ้านใหม่ (แต่สภาพเก่ามาก) และเขย่าเสาบ้าน (ซึ่งใกล้พัง) อย่างสนุกสนาน แถมยังตะโกนอย่างมีความสุขว่า "บ้านจะพังแล้ว" ราวกับเป็นเรื่องเล่นสนุกสำหรับพวกเธอ และอีกฉากหนึ่งที่มีลมพายุหนักพัดบ้านจวนจะพังมิพังแหล่ บางครั้งเกิดเสียงดังน่ากลัวเหมือนมีผี แต่พ่อก็บอกให้พวกเธอหัวเราะเสียงดัง ๆ เพื่อไล่ผี ภาพที่สองพี่น้องหัวเราะเสียงดังท่ามกลางบ้านที่จวนเจียนจะพังทำให้เห็นว่าทั้งคู่ไม่ยี่หระต่อสิ่งซึ่งต้องสูญสลาย ไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือร่างกาย (หากเปรียบสังขารเป็นบ้านของวิญญาณ) เมื่อคนหนึ่งออกจากสังขาร ฝ่ายพี่จึงไม่ลังเลที่จะออกจากสังขารเช่นกัน อาจจะด้วยความหวังว่าจะได้พบน้องสาวในโลกวิญญาณ และนั่นก็เป็นเหตุผลเดียวกันว่าทำไมเมื่อทั้งสองได้พบ Totoro (ซึ่งแท้จริงเป็นยมทูต) จึงไม่มีความหวาดกลัวใด ๆ กลับเห็นว่าเป็นสัตว์ประหลาดใจดีน่ารัก อีกทั้งคำพูดที่ได้ยิน Mei พูดบ่อย ๆ คือ "หนูไม่กลัวผี" นั่นคือไม่กลัวที่จะอยู่กับโลกหลังความตายนั่นเอง

อีกปัจจัยหนึ่งที่อาจทำให้ Satsuki ตัดสินใจตายตาม Mei ไปคือความรักของพี่น้อง ในเรื่องนั้นทั้งสองคนไม่ได้รักกันอย่างธรรมดา แต่รักกันจนเสมือนเป็นคนเดียวกัน ฉากความผูกพันบางฉากเช่น Mei ตาม Satsuki ไปที่โรงเรียนนั้นอาจดูเป็นความรักของพี่น้องที่แสนธรรมดา ฉากที่น่าคิดกลับเป็นฉากที่ Mei จับภูติปล่อยฝุ่น (Susuwatari) ได้ แต่คนที่เปื้อนฝุ่นกลับเป็นทั้ง Mei และ Satsuki (หากจะกล่าวว่าทั้งคู่เปื้อนฝุ่นตอนขึ้นไปชั้นบน เหตุใดไม่มีรอยเท้าเปื้อนฝุ่นของ Satsuki โผล่ตามทางลงมาจากชั้นบน?) นอกจากนั้นในโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์แอนิเมชั่นเรื่องนี้ ภาพของคนที่รอรถเมล์อยู่นั้นไม่ใช่ทั้ง Satsuki และ Mei เพราะเธอใส่ชุดของ Satsuki แต่ผูกผมเหมือน Mei (Satsuki บอกในเรื่องว่าชอบไว้ผมสั้น) แต่สีผมกลับเป็นสีของ Satsuki อีกทอดหนึ่ง ยิ่งแสดงให้เห็นว่าสองพี่น้องมีความผูกพันกันจนแยกไม่ออก นี่อาจเป็นการปูพื้นเรื่องไว้อย่างชาญฉลาดของผู้กำกับซึ่งแสดงถึงความผูกพันของสองพี่น้อง และนำไปสู่บทสรุปสุดท้ายคือความตายของทั้งคู่ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น

ภาพร่างของความตายเบื้องหลังเรื่องนี้อาจเป็นเรื่องเศร้าโศก แต่ผู้กำกับ Hayao Miyazaki ก็ได้นำมาสร้างให้เป็นแอนิเมชั่นเรื่องยิ่งใหญ่ผ่านสายตาของเด็กซึ่งงดงามเปี่ยมความฝัน Totoro กลายเป็นตัวละครที่มีชื่อเสียงมากที่สุดตัวหนึ่งและจะสร้างความสุขในใจให้เด็ก ๆ เช่นเดียวกับตัวการ์ตูนอย่างมิกกี้เมาส์หรือวินนี่เดอะพูห์ หากจะมีคำขอโทษหรือการชดเชยใดสำหรับเหตุการณ์ซายามะที่ผู้ใหญ่ได้ทำลายความพิสุทธิ์ของเด็กลง ก็คงไม่มีการชดเชยแบบใดที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าการนำเรื่องราวอันแสนเศร้ามาเล่าชดเชยความผิดบาปนั้น เพื่อให้เด็ก ๆ มีความฝันอันแสนงดงามอย่างที่เขาควรจะได้รับ ดังเช่นที่ My Neighbor Totoro ได้กลายมาเป็นเพื่อนรักของเด็ก ๆ และความฝันเล็ก ๆ ของทุกคน

แม้ว่าที่สุดแล้ว เรื่องราวอันแสนเศร้านั้นอาจจะถูกลบเลือนไปตามกาลเวลา แต่อย่างน้อยก็ขอให้ความทรงจำที่เหลืออยู่เป็นความทรงจำที่แสนงดงาม

วุฒินันท์ ชัยศรี

๑๔ มีนาคม ๒๕๕๖

บทความอ้างอิง
http://en.wikipedia.org/wiki/My_Neighbor_Totoro
http://hayao-miyazaki.tumblr.com/post/4273299861/totoro-shinigami
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต