วันพฤหัสบดีที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

กลับก่อนนะ

 

ตรงนั้น, มีแค่เธอกับเขาอยู่
ตรงนี้, เธอไม่รู้ว่ามีฉัน
รอตรงนี้หรือกลับก่อนก็เหมือนกัน
เพราะไม่ใช่คนสำคัญของเธอแล้ว

วันอังคารที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2564

องก์ที่ 3 : องก์สุดท้ายของนาฏกรรมชีวิต

 

(1.)
หากมีคำถามว่า อะไรที่ยังผลักดันให้ผมเขียนเรื่องสั้นรางวัลพานแว่นฟ้า นอกเหนือจากเรื่องเกียรติยศเงินรางวัล
คำตอบก็คือ โมเมนต์เล็ก ๆ ในช่วงประกาศผล วินาทีพลิกกระดาษเพื่อ "เปิดชื่อผู้เขียน" ก่อนจะแถลงข่าว ผมรอเวลานี้เพื่อจะทำเซอร์ไพรส์ให้กับครูผู้ที่ผมเคารพรักอย่างยิ่งคือ อ.รื่นฤทัย ว่า "อ๋อ เรื่องของกอล์ฟนี่เอง" (ขอบคุณระบบปิดชื่อผู้เขียนของรางวัลพานแว่นฟ้ามา ณ ที่นี้ด้วย) ซึ่งก็จะเป็นหัวข้อเรียกเสียงหัวเราะตอนพูดคุยทักทายในงานรับรางวัลที่รัฐสภาทุกปี
นักวิจัยท่านอื่นบูชาครูด้วยงานวิจัยเรื่องใหม่ แต่ผมที่ได้รับโอกาสทำวิจัยจากครูในหัวข้อ "เรื่องสั้นรางวัลพานแว่นฟ้า" กลับบูชาครูด้วย "เรื่องสั้นรางวัลพานแว่นฟ้า" เรื่องใหม่ อาจจะฟังดูผิดวัตถุประสงค์ตอนที่ขอทุนวิจัยไปสักหน่อย (ฮา) แต่ก็เป็นสิ่งที่นักวิจัยก้นกุฏิผู้ขยันเขียนเรื่องสั้นมากกว่าเขียนวิจัยพอจะใช้แทนมาลัยบูชาครูทุกปีได้บ้าง

(2.)
องก์ที่ 3 เป็นคำศัพท์ที่มักจะใช้ในละครหรือภาพยนตร์ กล่าวถึงเนื้อหาในช่วงสุดท้ายหรือบทสรุปสุดท้ายของเรื่องราวทั้งหมด หากเปรียบเรื่องสั้นในปี 62-63 (อำนาจ/พลเมืองดี) เป็นหนังไตรภาค เรื่องสั้นเรื่องนี้ก็คือภาคสุดท้าย บทสรุปของเรื่องราว "ละครการเมือง" ที่เรื่องเล่ามิอาจเปลี่ยนแปลงโลก ทว่าผู้แพ้ก็ยังคงต้องเขียนวรรณกรรมต่อไป แต่นั่นก็อาจเป็นเพียงเฉพาะนาฏกรรมชีวิตของตัวผู้เขียนซึ่งยังคงหลงทางสายชีวิตและควานหาองก์ที่สามของตนเองไม่พบ

(3.)
องก์สุดท้ายในนาฏกรรมชีวิตของ อ.รื่นฤทัย ครูก็ยังคงทำงานเพื่อยังประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นตราบจนลมหายใจสุดท้าย ในงานประกาศผลรางวัลพานแว่นฟ้าปีนี้ ทุกคนในงานต่างก็เอ่ยคำอาลัย ระลึกถึงคุณงามความดีของครู ตัวผมเองก่อนการเสวนาได้กล่าวระลึกถึงครูเพียงสั้น ๆ แต่ก็ทำเอาก้อนสะอื้นมาจุกอยู่ที่คอเมื่อนึกขึ้นมาได้ว่า "โมเมนต์เล็ก ๆ ในช่วงประกาศผล" คงจะไม่ได้เป็นหัวข้อเรียกเสียงหัวเราะระหว่างผมกับครูอีกแล้ว แต่ก็พยายามข่มใจทำเสียงปกติ พูดเนื้อหาการเสวนาต่อไป เพราะหากครูมองมาจากสรวงสวรรค์ชั้นกวี คงอยากจะเห็นเราทำงานอย่างเต็มความสามารถเพื่อเป็นประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นมากกว่า แม้ว่าคงไม่ได้สักส่วนเสี้ยวเมื่อเทียบกับสิ่งที่ครูสร้างไว้แก่โลกใบนี้

(4.)
เรื่องสั้นพานแว่นฟ้าของผมทั้งสามเรื่องในช่วงปี 2562-2564 (อำนาจ/พลเมืองดี/องก์ที่ 3) หากจะมีประโยชน์แก่ใคร หรือแก่วงการวรรณกรรม/การวิจัยบ้าง ขอยกคุณความดีทั้งหมดแด่ อ.รื่นฤทัย ครูผู้มอบโอกาสการวิจัย เปิดมุมมองใหม่ทางวรรณกรรม และมอบ "ชีวิตใหม่" ในการกลับมาเขียนเรื่องสั้นอีกครั้ง
ด้วยความระลึกถึงครูผู้เป็นแรงบันดาลใจไม่รู้จบ

วันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2564

การสอนเขียนออนไลน์

(1.)
ปัญหาหนึ่งที่พบในการสอนวิชาการเขียนแบบออนไลน์ก็คือ การคอมเมนต์งาน
เบามือเกินไป เด็กก็ไม่ได้อะไร
แต่ถ้าหนักมือเกินไป เด็กก็เสียกำลังใจในการเขียน (เรายังจำได้ในผลประเมินอาจารย์ปีแรก ๆ คอมเมนต์หนึ่งบอกว่า หนูเคยคิดว่าหนูเขียนหนังสือได้ จนกระทั่งเจอคอมเมนต์อาจารย์ หนูท้อจนอยากจะเลิกเขียนเลย โอ้ยตายลูก...)
ทั้งที่ย้ำเสมอว่าผมก็แค่คนคนหนึ่ง ความเห็นของผมไม่ใช่คำตัดสิน อนาคตคุณอาจเป็นนักเขียนที่ยิ่งใหญ่ของโลกก็ได้ นักเขียนดัง ๆ มากมายหลายคนก็ไม่ได้เกิดมาเทพเลย แต่ขัดเกลาตัวเองผ่านคอมเมนต์ทั้งนั้น
แต่คนเสียกำลังใจไปแล้วก็นะ...
ยุคหลังเลยเบามือลง เคลือบน้ำตาลให้ทานง่ายขึ้นมาหน่อย แต่ก็มิวายมีคนใจเสียแทบทุกปี (แฮ่ ๆ)

(2.)
วิชาการเขียน เป็นวิชาบังคับของหลักสูตร แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนจะเขียนเชิงครีเอทีฟได้ อันนี้เราก็เข้าใจ และพยายามไม่รีดเค้นจากเด็กจนเกินสมควรถ้าเห็นแววว่าเขาไม่ได้มุ่งมั่นจะเดินมาทางสายนี้ (เพราะที่จริงงานสายนี้ก็ไม่ได้มีมากมาย และหลายงานก็ไม่ได้ทำให้ร่ำรวย)
ปกติแล้วถ้าเป็นการคอมเมนต์แบบต่อหน้า เรายังพอมองเห็นสีหน้า แววตาของเด็ก ลองหย่อนระเบิดลงไปสักลูกแล้วดูปฏิกิริยา ถ้าเด็กหน้าไม่เปลี่ยนสี มุ่งมั่นจะเขียนให้ดีขึ้น ก็แจงแจงคอมเมนต์ทั้งหมดที่มองเห็น (เด็กกลุ่มนี้มักจะเขียนงานดีเป็นพื้นอยู่แล้ว) ถ้าเด็กหน้าเสีย ก็เบามือลง แตะเฉพาะจุดสำคัญ เหยาะคำชมให้กำลังใจลงไปสักหน่อย อย่าเพิ่งท้อนะตัวเธอว์ ถ้าเป็นเด็กประเภทรับได้เฉพาะคำชม ก็มอบกระเช้าของขวัญพร้อมดอกไม้ช่อใหญ่ ๆ ให้เลิศลอย แอบซ่อนจุดที่อยากแก้ไขด้วยคำว่า งานคุณดีมากเลย ถ้าปรับตรงนี้ได้ก็จะดีขึ้นกว่าเดิมอีก อะไรทำนองนี้
แต่พอเป็นออนไลน์ โดยเฉพาะกับเด็กกลุ่มนี้ที่ไม่เคยสอนเลย (ปกติจะได้สอนเด็กนอกหลักสูตรตัวเองตอนปี 1 บางวิชา แต่เทอมนั้นไปทำงานที่จีนพอดี) ไม่เคยเห็นหน้า ไม่รู้ว่าเด็กแต่ละคนเป็นอย่างไร ความมั่นใจในตัวเองมากน้อยแค่ไหน อยากจะเรียนรู้จากเรามากน้อยเพียงใด หรือแค่อยากได้เกรดจากเรา
ไม่รู้อะไรสักอย่าง...
ก็เลยคอมเมนต์งานไปแบบกว้าง ๆ กลาง ๆ แต่ผลก็คือ เด็กก็แก้มาเท่าที่เราคอมเมนต์ไปแบบกว้าง ๆ กลาง ๆ นั่นแหละ บางการแก้ไขก็ชวนให้ "สูน" เช่นว่า สามย่อหน้านี้เนื้อความเดียวกันหมดเลยนะครับ ลองปรับให้เป็นย่อหน้าเดียวไหม การแก้กลับมาก็คือ ตีบรรทัดของทั้งสามย่อหน้าไปรวมกัน นี่ไง กลายเป็นย่อหน้าเดียว (แบบยาว ๆ) แล้ว อันนี้ไม่รู้เด็กกวงติงหรือไม่เข้าใจเรื่องย่อหน้าจริง ๆ แต่คิดว่าเป็นอย่างหลัง ก็มาเขียนอธิบายและแก้ไขกันไปตามสภาพพพพพ (ออกเสียงแบบ พส)
แก้กลับไปกลับมาสามสี่รอบ ออดอ้อนว่า หนูแก้เยอะขนาดนี้ต้องให้ A แล้วล่ะ ได้แต่หัวเราะ รับปากไม่ได้...

(3.)
วิชาฝึกฝนทักษะการเขียนแบบนี้ คงจำเป็นต้องได้พบเจอพูดคุยกันจริง ๆ ไม่เช่นนั้นสิ่งที่เราให้กับเด็กได้คงลดน้อยถอยลงจนแทบไม่ได้อะไรเลย ได้แต่หวังลม ๆ แล้ง ๆ ว่าเราคงจะได้เจอกับเด็ก ๆ ในเร็ววันนะ

วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2564

ละครโรงใหญ่ของ "พลเมืองดี"

 

"พลเมืองดี" ไอเดียของเรื่องสั้นเรื่องนี้มาจากวันหนึ่งที่กำลัง "จนพล็อต" จะเดดไลน์แล้วเขียนอะไรส่งดีวะ ก็พอดีเหลือบไปเห็นวัตถุประสงค์การประกวดของรางวัลพานแว่นฟ้าข้อหนึ่งว่า

"เพื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย"

เห็นแล้วก็นึกขำ "พลเมืองในระบอบประชาธิปไตย" น่าจะเป็นสิ่งสุดท้ายที่รัฐไทยทุกยุคทุกสมัยต้องการให้เกิดขึ้นกับประชาชนของตนเอง ไม่เช่นนั้นในช่วงเวลาที่ผ่านมาคงไม่ลิดรอน กวาดล้าง ทำลายคนที่ "แหลม" ขึ้นมาต่อต้านโครงสร้างอำนาจอันบิดเบี้ยว ขณะเดียวกัน ใครที่ "เชื่อง" หรือเอื้อผลประโยชน์ให้แก่โครงสร้างอำนาจนั้น รัฐก็พร้อมจะเชิดชูให้เป็น "พลเมืองดี" เสมอ ไม่ว่าพฤติการณ์ส่วนตัวของคนคนนั้นจะต่ำช้าสักเพียงใด

เราจึงเห็นการถอดถอนรางวัลศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ไปจากคนที่ทำงาน "ยกระดับ" วรรณศิลป์ของประเทศมาทั้งชีวิต พร้อมกันนั้นก็เห็นข่าวการยกย่องเชิดชู "คนดี" ประเภทที่ใครเห็นก็ได้แต่ยิ้มมุมปากอย่างรังเกียจ

ลิเกโรงใหญ่ของ "โจ้" เมื่อคืน คงจะเปิดม่านภายหลังจากการ "ดีล" กันเรียบร้อยหมดแล้ว การก้าวพลาดและรีบรับความผิดเอาไว้คนเดียว น่าจะเป็นการเดินหมากที่ "ผู้ใหญ่" ในโครงสร้างอำนาจนี้พอใจไม่น้อย เพราะถ้าปล่อยไว้เนิ่นนานกว่านี้ หนองเน่าของระบบตำรวจที่เละเทะอยู่ข้างในคงจะถูกสาวไส้ไหลนองเหม็นคลุ้ง จะว่าไปโจ้ก็น่าจะเป็นพลเมืองดีในสายตาของพวกเขา อีกไม่นานก็คงจัดฉากให้รับผิด ติดคุกพองาม (หรือไม่ติดเลย) สรรสร้างคุณงามความดีระหว่างรับโทษและถูกปล่อยตัวออกมาพร้อมกับการยกย่องเชิดชู (รัฐไทยถนัดอยู่แล้วเรื่องการฟอกตัวอาชญากร เพราะขนาดคนติดคุกคดียาเสพติดยังกลายเป็นรัฐมนตรีได้)

"คลิปลับ" ที่พลเมืองดีถืออยู่ ตัวละครในเรื่องของผมคงโล่งใจที่ไม่ได้เอามันออกมาสาวไส้ "คนใหญ่คนโต" เรื่องจึงจบลงด้วยดี ไม่มีใครเสียอะไรไป ส่วนตัวละครผู้ปล่อยคลิปในลิเกโรงใหญ่ของโจ้ ตอนนี้ไม่รู้ว่าเขารู้สึกอย่างไรที่คลิปของเขาซึ่งเสี่ยงชีวิตเอาออกมาเปิดเผยจะกลายเป็นมวยล้มต้มคนดูจากกระบวนการยุติธรรมอันบิดเบี้ยวในสังคม

แล้ว "พลเมืองในระบอบประชาธิปไตย" ตอนนี้พวกเขาอยู่ที่ไหนกัน?

คำตอบคงจะเหมือนอาการของ "พลเมืองดี" ทั้งสองคนในตอนท้ายเรื่องว่า
--มันหลบตาผมเล็กน้อย ใช่ พูดแค่นี้ผมก็พอเข้าใจ ผมเองก็อยากจะพูดอะไรบางอย่างกับมัน แต่ถึงผมไม่พูดมันก็คงเข้าใจ--

พวกเราแทบไม่จำเป็นต้องสื่อสารกันด้วยคำพูด แค่มองตากันด้วยแววตาสิ้นหวังก็เข้าใจ เพราะสังคมนี้เต็มไปด้วยสิ่งที่ตั้งคำถามไม่ได้ และป่วยการจะหาคำตอบ

วันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

อาลัย "นิรันศักดิ์ บุญจันทร์"

 

ข่าวร้ายในวงการวรรณกรรม มาพร้อมกับยามสายที่หม่นมัวด้วยเมฆฝนและคลุ้งควันจากการเผาศพโรคระบาด

ผมคิดว่านักเขียนหนุ่มสาวยุคของผมหลาย ๆ คนคงใจหายเมื่อได้ยินข่าวเมื่อตอนสาย ๆ ว่าพี่ตุ๋ย นิรันศักดิ์ บุญจันทร์ ผู้เป็นนัก "จุดประกายวรรณกรรม" คอลัมน์ที่เป็นพื้นที่ "แจ้งเกิด" ของนักเขียนหน้าใหม่ ๆ หลายคนในยุคนั้น วันนี้พี่จากไปแล้วด้วยโรคมะเร็งตับ

ผมเองก็เป็นหนึ่งในเด็กน้อยหัดเขียนที่ได้รับ "ประกายไฟ" จากพี่ตุ๋ย จำได้ว่าเรื่องสั้นเรื่องแรกที่ลงตีพิมพ์ในคอลัมน์จุดประกายวรรณกรรมเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของปลาในเชิงเปรียบเปรยกับชีวิตมนุษย์ ซึ่งหากมองกลับไปในวัยสามสิบกว่า ๆ ก็รู้สึกเขิน ๆ เหมือนกันที่ส่งเรื่องสั้นแบบ "เทิ่ง ๆ" ขาดชั้นเชิงตามประสาคนเพิ่งหัดเขียนไปให้พี่อ่าน ซึ่งหากเป็นผม ที่เดียวที่เรื่องของเด็กคนนั้นจะได้ลงคือตะกร้า หรือตอบกลับไปพร้อมคำแนะนำยาวเหยียด

จะด้วยเป็นการให้กำลังใจนักหัดเขียนหน้าใหม่ หรือเรื่องสั้นเรื่องนั้นมีอะไรบางอย่างที่สายตาฝ้าฟางของผมในวัยนี้ก็ยังมองไม่เห็น แต่เรื่องสั้นเรื่องนั้นก็ได้รับการตีพิมพ์

ผมขอยกคำพูดจากโพสต์ของพี่ท็อป อดิศร ไพรวัฒนานุพันธ์ เลขาธิการสมาคมนักเขียนคนปัจจุบันที่บอกว่า "มันมีความหมายมากมาย เสริมสร้างกำลังใจได้เป็นอย่างดีกับการรู้ว่าผลงานเราได้รับการยอมรับจากใครสักคน"

นั่นคือสิ่งเดียวกับที่ผมรู้สึกเมื่อเห็นชื่อของตัวเองตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ครั้งแรก ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรที่พี่ตุ๋ยเลือกเรื่องนั้นไปตีพิมพ์ ทว่าความพองโตของหัวใจ และประกายไฟที่ถูกจุดขึ้นมาครั้งนั้น ก็คือไฟกองเดียวกันที่ทำให้วัยหนุ่มของผมเต็มไปด้วยเรื่องสั้นมากมายที่หลั่งไหลออกมาจากปลายปากกา ได้พิมพ์บ้าง ได้รางวัลบ้าง ลงตะกร้าเงียบหายบ้างไปตามคุณภาพของผลงาน

แม้ตอนนี้ไฟการเขียนของผมจะมอดลงจนเข็นเรื่องสั้นออกมาได้แค่ปีละเรื่องก็เต็มกลืน และยังไม่ถึงขั้นที่จะเรียกตัวเองว่านักเขียนหนุ่มได้เต็มปาก แต่เมื่อมองย้อนไปก็พอใจกับวัยหนุ่มที่ได้ผ่านมันไปอย่างมีความหมายอยู่บ้าง และพูดได้เต็มปากว่าไฟฝันอันวาวโรจน์ของวัยหนุ่มมีจุดประกายวรรณกรรมเป็นประกายแสงแรก เช่นเดียวกับนักเขียนหนุ่มอีกหลาย ๆ คนที่ยังคงยืนหยัดเขียนอยู่ในวงการนี้แม้จะยากลำบากเพียงใด

ด้วยรักและอาลัยนัก "จุดประกายวรรณกรรม" พี่ตุ๋ย นิรันศักดิ์ บุญจันทร์ และขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของพี่ด้วยครับ

เขาจะรู้บ้างไหม?

 

เขารู้บ้างไหมว่าใครเกลียด
ก่อนนอนเขาเครียดบ้างไหม
ศพแล้วศพเล่าล้มลงไป
น้ำตาเขาไหลหรือไม่มี

เขาเห็นคนเท่ากันบ้างหรือเปล่า
สายตาเมื่อมองเราเห็นศักดิ์ศรี
หรือแค่ทาสสาริยำให้ย่ำยี
คิดว่าชี้นิ้วสั่งได้ดังใจ?

เขาเห็นคนตายบ้างหรือเปล่า
เขาเคยโศกเศร้าบ้างไหม
นั่นศพพ่อ, แม่, ลูก, หรือญาติใคร
หรือเขาไม่นับญาติคนชาตินี้

เขาได้ยินบ้างไหมใครก่นด่า
หรือเขาปิดหูตาคอยหลบหนี
เสียงร่ำไห้ประชาชนท้นทวี
จะเหลือที่แห่งใดให้หลบเร้น?

เขาจะรู้บ้างไหมใครสาปแช่ง
ที่เขาแกล้งทำบ้านเมืองเหมือนเรื่องเล่น
กี่หมื่นศพกี่แสนล้านความลำเค็ญ
เขาจึงจะมองเห็นเราเป็นคน

วันจันทร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2564

ทองแท้ไม่กลัวไฟ?


โบราณว่ากระเบื้องเฟื่องฟูลอย
คนถ่อยจะอวดหน้ามาเป็นใหญ่
น้ำเต้าน้อยถอยจมความจัญไร
เศษกระเบื้องกระสันใจอยากเป็นทอง

ยุคแห่งความทุกข์เข็ญเป็นกลียุค
ยิ่งทนทุกข์กับเศษคนยิ่งหม่นหมอง
คนพาลก็เพ้อพล่ามทำลำพอง
คนโง่ก็ขึ้นครองอำนาจทราม

อาแปะคุมหางเสือไม่รู้ท่า
ก็หันเรือเข้าป่าทำงุ่มง่าม
ลูกน้องโง่จ้วงพายไม่รู้ความ
ก็พาคนไปตายตามอยู่เต็มตา

หากท่านเป็นทองแท้ไม่กลัวไฟ
เถิดเชิญเผาตัวเองไปใครจะว่า
เมื่อทองปลอมหลุดลอกออกมา
คงเห็นแต่ใบหน้าเคลือบซีเมนต์
 

วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

คารวะครู "อรสม สุทธิสาคร"


เวลาที่ผมต้องเขียนเล่าถึงประสบการณ์การเขียนของตัวเอง ผมก็มักจะเขียนถึงคุณอรสม สุทธิสาคร (หรือพี่อรสมของน้อง ๆ วงการนักเขียน) ว่าเป็นครูผู้สอนวิชาการเขียนสารคดีให้แก่ผม แต่ที่จริงแล้ว สิ่งที่พี่อรสมเคยสอนผมไม่ได้มีแค่วิชาสารคดี แต่คือวิชาที่เรียกว่า วิชาชีวิต

หากชีวิตของผมมีสิ่งที่เรียกว่าด้านดีของชีวิตอยู่บ้าง สิ่งดี ๆ ทั้งหมดนั้นล้วนเป็นสิ่งที่ผลิดอกออกผลมาเพราะคำสั่งสอนจากครูของผมคนนี้นี่เอง

ยิ่งตอนนี้มาประกอบสัมมาอาชีพเป็นครูบาอาจารย์ ยิ่งรู้สึกผิดในใจว่าสิ่งที่เราสอนเด็กอยู่ทุกวันนี้ เทียบไม่ได้เลยกับสิ่งที่ครูเคยถ่ายทอดให้แก่เราเมื่อยังเยาว์วัย

สิ่งที่พี่อรสมทำไม่ใช่แค่การสร้างสรรค์ผลงานสารคดีเปี่ยมคุณภาพไว้มากมาย ไม่ใช่แค่สอนวิชาสารคดีให้แก่น้อง ๆ หลายสิบรุ่น แต่คือการเป็นเสาหลักของวงการสารคดี คือร่มโพธิ์ร่มไทรที่เติบโตและหยั่งรากลึก ทำให้สังคมยอมรับสารคดีในฐานะงานศิลปะที่สำคัญอีกแขนงหนึ่ง

รางวัลศิลปินแห่งชาติ จึงเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับพี่อรสม ไม่ว่าจะเป็นฐานะของศิลปินผู้รังสรรค์ผลงานสารคดีไว้อย่างวิจิตร หรือในฐานะครูของศิลปินสารคดีอีกหลายคนที่ยังคงโลดแล่นอยู่ในวงการน้ำหมึกนี้

ขอแสดงความยินดีกับพี่อรสม ที่ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2563 นะครับ

ปล. ภาพแอบยิ้มแฉ่งอยู่ข้างหลังพี่วีและพี่อรสม สมัยฝากตัวเป็นศิษย์ก้นกุฏิทางการเขียน

วันศุกร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ตั๋วช้าง


หากมิยอมนบนอบอำนาจช้าง
หญ้าแพรกก็แหลกร่างอย่างทาสไพร่
หากอิงแอบแทบเท้าย่อมก้าวไกล
ศักดิ์ศรีใดจะเหลือมาสู้หน้าคน

"ยอดหญ้าแยงหินแยกหยัดระชด"
คือฝันอันโป้ปดและปี้ป่น
เกียรติยศแห่งหญ้าอันแยบยล
คือเป็นทาสอุทิศตนใต้ตีนช้าง!

วันอังคารที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2564

Sailing to Cyberpunk 2077

 

Once out of nature I shall never take
My bodily form from any natural thing,
But such a form as Grecian goldsmiths make
Of hammered gold and gold enamelling

สิ้นลม, แต่ข้าฯ มิสิ้นลาย
มิทอดร่างสิ้นสลายเป็นฝุ่นผง
ช่างทองกรีกจักขึ้นรูปข้าฯ ธำรง
ประกายมาศประดับองค์ค่าควรเมือง

To keep a drowsy Emperor awake;
Or set upon a golden bough to sing
To lords and ladies of Byzantium
Of what is past, or passing, or to come.

เป็นแสงรุ้งตรึงตรามหากษัตริย์
เปล่งแสงแจรงจรัสลือเลื่อง
ในหมู่ชนไบแซนไทน์อันรุ่งเรือง
หลอมอดีตนับเนื่องตราบนิรันดร์

Sailing to Byzantium (IV.) : William Butler Yeats
[Ending Poem of Cyberpunk 2077]
บทแปลไทย : วุฒินันท์ ชัยศรี

วันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ถอยคนละก้าวแล้วเชือดไก่

ประกาศถอยคนละก้าวแล้วเชือดไก่
แกนนำมีเท่าไรก็เชือดหมด
อำนาจยิ่งใช้กลับยิ่งลด
ยิ่งแข็งกร้าวยิ่งถอยถดเสื่อมศรัทธา

เขามิใช่ลูกหลานของท่านหรือ
เพียงประท้วงด้วยสองมืออันเดียงสา
หรือท่านจะนับญาติร่วมชาติมา
เฉพาะคนที่ปิดตาว่าท่านดี

โบราณว่าเชือดไก่ให้ลิงตื่น
ลิงจะกลัวจนยืนไม่ติดที่
แต่เชือดคน, คนยิ่งล้นท้นทวี
เพราะคนมีความเห็นใจให้แก่กัน

ขอให้ถอยคนละก้าวแล้วเชือดไก่
หวังเพียงให้ลิงกลัวจนตัวสั่น
แต่เด็กเด็กมิใช่ลิงยิ่งประจัญ
นับถอยหลังรอวันท่านสิ้นลาย

๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๓

วันอังคารที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2563

น้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรง

บ่นเหมือนน้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรง
น้ำหนักคำเบาโหวงโขยงเขย่ง
โอ้เมฆหมอกมืดดำน่ายำเกรง
ล้วนแต่ม็อบทำตัวเองตะเบ็งไป

จะข้ามหัวรัฐสภานั้นหรือเล่า
รัฐสภาเห็นหัวเขาอยู่หรือไม่
หากปัญหาถูกแก้ตามกลไก
การเมืองหรือจะไหลลงกลางเมือง!

๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๓

วันศุกร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ปีศาจ (๒)

โค่นเรา, ก็ไม่จบที่รุ่นเรา
หากไม่โค่นรากเหง้าของปัญหา
โค่นเรา, ก็จะมีรุ่นใหม่มา
กี่ล้านการเข่นฆ่าก็ไม่ตาย

โค่นใครก็ไม่จบที่รุ่นนี้
โค่นคนเพียงคนที่จะสูญหาย
แต่เมล็ดพันธุ์อุดมการณ์หว่านกระจาย
เติบโตตามความชั่วร้ายที่คุณทำ

หากตายสิบย่อมเกิดแสนความแค้นโกรธ
หวังว่าเราจะยกโทษหรือ, น่าขำ!
เมื่อคุณเริ่มสงครามสาริยำ
ก็แล้วแต่ผลกรรมจะนำพา

ไม่มีวันจบลงที่รุ่นใคร
ยิ่งโค่นล้มเท่าไรยิ่งแกร่งกล้า
เราคือปีศาจ* แห่งกาลเวลา
ซึ่งคุณปลุกชีพมาฆ่าคุณเอง

๑๗ ตุลาคม ๒๕๖๓
-------------
*"ท่านไม่สามารถจะยับยั้งความเปลี่ยนแปลงแห่งกาลเวลาได้ดอก เมื่อวันเวลาล่วงไป ของเก่าทั้งหลายก็นับวันจะเข้าไปอยู่ใกล้พิพิธภัณฑ์ยิ่งขึ้น...ผมเป็น 'ปีศาจ' ที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่า ทำให้เกิดความละเมอหวาดกลัว และไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องปลอบใจท่านเหล่านี้ได้ เท่ากับไม่มีอะไรหยุดยั้งความรุดหน้าของกาลเวลาที่จะสร้าง 'ปีศาจ' เหล่านี้ให้มากขึ้นทุกที"
(ปีศาจ : เสนีย์ เสาวพงศ์)