วันอังคารที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2556

6 สิ่งที่ได้เรียนรู้หลังการบริจาคเลือดที่สภากาชาดมานานนับปี

1. แผลที่เจ็บที่สุดในการบริจาคเลือดไม่ใช่แผลตรงข้อพับ แต่เป็นแผลตรงปลายนิ้วตอนที่เจาะทดสอบว่าเลือดไม่ลอย จึ๋งเดียวเจ็บจี๊ด ซี้ดส์ถึงขั้วหัวใจ

2. การเล่นกีตาร์เป็นประจำทำให้นิ้วด้านจนเจาะปลายนิ้วข้างซ้ายไม่ได้

3. มีความเชื่อว่าควรบริจาคเลือดด้วยแขนข้างไม่ถนัด เพราะถ้าบริจาคข้างถนัด เวลาใช้แขนข้างถนัดทำงานคงเจ็บแผลลำบากน่าดู ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะแขนซ้ายของผมก็ยังทำงานได้ปกติไม่เจ็บแผลแต่อย่างใด แต่ถ้าถามว่าทุกครั้งคนถนัดขวาอย่างผมไปต่อคิวบริจาคข้างไหน ก็ข้างซ้ายสิแหม่ (อ้าว 55)

4. ว่าด้วยอุปกรณ์ประกอบการปั๊มเลือด สภากาชาดให้กำแท่งอะไรไม่รู้ไม่มันเบย สู้ลูกบอลหยุ่นๆ ที่ศิริราชไม่ได้

5. ป้าในห้องแจกขนมมักจะมาพร้อมเรื่องเล่าที่มีเป้าประสงค์ให้เรากินน้ำหวานและขนมเยอะๆ เช่นว่า "วันก่อนนะคนนึงยังหนุ่มแน่น ออกมาจากห้องไม่ยอมกินน้ำหวาน บอกไม่เป็นไรๆ พ้นจากประตูห้องเท่านั้นแหละล้มตึง" ไม่รู้จริงรึเปล่า แต่เรารู้ว่าป้าหวังดีเลยขอสองชุดทุกที

6. คนกลัวเข็มอย่างผมก็บริจาคเลือดได้ ถ้ามีแรงบันดาลใจมากพอ และไม่กลัวเสียฟอร์มเวลามือสั่นหลับตาปี๋ทุกครั้งตอนโดนเข็มทิ่ม

วันจันทร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2556

Like Father, Like Son / Catching Fire : โครงสร้างเปราะบางรอเวลาล่มสลาย




(เปิดเผยเรื่องราวในภาพยนตร์เรื่อง Like Father, Like Son และ The Hunger Game: Catching Fire)

สองเรื่องสองรสในวันเดียวกัน แต่น่าแปลกที่กลับเห็นอะไรบางอย่างร่วมกันอยู่

ว่าด้วย Like Father, Like Son เสียก่อน ก็ถึงว่าทำไมกลิ่นของ Nobody Knows มันแรงซะจนรู้สึกได้ เดินมาดูโปสเตอร์หน้าโรงถึงเพิ่งรู้ว่าที่แท้ก็เป็น Hirokazu Kore-eda ผู้กำกับคนเดียวกันนี่เอง ด้วยสไตล์การเล่าเรื่องเนิบช้าไม่มีจุดพีกเหมือนไม่อยากเล่าเรื่อง (ฮา) แต่ให้คนดูซึมซับกับความรู้สึกแบบ "แช่อิ่ม" ไปตามภาพโทนนวลตา และเสียงเพลงประกอบนุ่มหู ซึ่งไม่เหมาะเลยกับเด็กที่โตมากับทุนนิยมอย่างเราผู้ชมชอบหนังที่ตัดชั้บชั้บให้ตื่นเต้นและรวดเร็วเพื่อเพิ่มรอบฉาย (ฮา) ถ้าไม่คิดว่ามันเป็นสไตล์ผู้กำกับที่ชอบเล่าเรื่องเนิบ ๆ อาจจะคิดไปได้ว่า Hirokazu เกลียดเจ้าทุนนิยมมากถึงขนาดเอาความเนิบช้าซึ่งเป็นปฏิปักษ์ของทุนนิยมมาใช้ในหนังที่เสนอแนวคิดต้านทุนนิยมทั้งเรื่องนี้และ Nobody Knows ก็เป็นได้ (ฮา อ้าว ไม่ฮาเหรอ)

จะว่าไป Like Father, Like Son ก็คล้าย ๆ จะเป็นภาคต่อของ Nobody Knows แต่คราวนี้ขยับขยายมาเล่าเรื่องของครอบครัวที่เหมือนจะสมบูรณ์พร้อมกันดูบ้าง กับพล็อตเรื่องแสนเชยหนังเกาหลีมาก ๆ อย่างการสลับลูกในโรงพยาบาล เอาลูกเขามาเลี้ยงเอาเมี่ยงเขามาอมอยู่ได้ตั้ง 6 ปีกว่า ๆ เหมือนคำถามสำคัญของหนังจากตัวอย่างหนัง หรือในบทวิจารณ์มากมายจะถามว่า คุณจะเลือกอะไรระหว่างสายเลือดกับความผูกพัน แต่ที่จริงแล้วนั่นน่าจะเป็นคำถามรอง ๆ ของหนังเรื่องนี้ด้วยซ้ำ เพราะการเดินเรื่องทั้งหมดของ Like Father, Like Son คือการสะท้อนภาพครอบครัวที่กำลังจะล่มสลายในอีกมุมหนึ่งต่อจาก Nobody Knows เมื่อสังคมญี่ปุ่นถูกขับเคลื่อนด้วยทุนนิยมเต็มรูปแบบ ใช่จะมีแต่บรรดาผู้แพ้เท่านั้นที่ถูกทิ้งไว้เป็นขยะอยู่เบื้องล่าง แม้แต่คนที่ยืนอยู่บนจุดสูงสุดของโลกทุนนิยมก็ไม่ควรลืมทบทวนตัวเองว่านี่คือชัยชนะแน่หรือ?

หนังให้ภาพของสองครอบครัวที่ต่างกันสุดขั้ว หนึ่งคือครอบครัวโนโนมิยะที่ดูเหมือนจะสมบูรณ์พร้อมทุกอย่างในความหมายของโลกทุนนิยม ด้วยภาพของคอนโดสุดหรู เดินทางด้วยรถสุดเริ่ด (ภาษีรถยนต์ส่วนตัวในญี่ปุ่นแพงมาก ใช่ว่าใครจะมีรถยนต์ไว้ขับได้ง่าย ๆ แถมยังเป็นรถ Lexus อีกตะหาก ไม่ใช่ระดับ CEO หรือพวกประธานบริษัทรสนิยมสุดหรูนี่นั่งไม่ได้นะฮะ 55) ลูกชายสุดที่รักสอบเข้าโรงเรียนดี ๆ แถมยังให้เรียนพิเศษเปียโนแบบไฮโซ ๆ ทว่าเมื่อมารู้ทีหลังว่าแท้จริงแล้วเคตะ ลูกที่พวกเขาเลี้ยงมา 6 ปีไม่ใช่ลูกของเขา และลูกแท้จริงของเขาชื่อริวเซ อยู่กับครอบครัวไซกิ เจ้าของร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้ากระจอก ๆ ในชนบท เรียวตะ โนโนมิยะผู้มีชีวิตเพอร์เฟคในโลกทุนนิยมถึงกับทนยอมรับความจริงไม่ได้ ตลอดเวลาเขามักจะมองครอบครัวไซกิด้วยสายตาหมิ่นหยามตลอดเวลา พาลพาโลคิดเอาว่าครอบครัวนี้ไม่มีปัญญาจะเลี้ยงลูกของเขาให้กลายมาเป็นคนดีได้ เรียวตะถึงขนาดเสนอว่าจะรับเลี้ยงเด็กทั้งสองคนเองโดยให้เหตุผลว่า "เพื่ออนาคตของเด็ก" ซึ่งเมื่อโดนหยามแบบนี้ มีหรือครอบครัวไซกิจะทนได้ แต่คำพูดของเรียวตะที่ดูถูกครอบครัวไซกิไว้ก็กลับมาทำร้ายตัวเขาเองเมื่อวันหนึ่งริวเซหนีออกจากคอนโดสุดหรูกลับมายังบ้านร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้ากระจอก ๆ ซึ่งดูจะเป็น "ที่พึ่งทางใจ" ของเด็กน้อยได้มากกว่า ครอบครัวไซกิได้ทีจึงใช้คำพูดของเรียวตะเองสวนกลับเขาไปว่า เดี๋ยวจะรับเลี้ยงไว้ทั้งสองคนเอง ชายหนุ่มผู้เคยชนะมาตลอดจึงต้องทบทวนตัวเองอีกครั้ง

ครอบครัวโนโนมิยะที่มีเรียวตะเป็นผู้นำ คือภาพของครอบครัวสมัยใหม่ในโลกของทุนนิยมเต็มรูปแบบ เรียวตะคือสถาปนิกหนุ่มอนาคตไกลผู้บันดาล House อันสวยงามได้แต่กลับไม่มีปัญญาจะเติมความอบอุ่นในซากของ House ให้กลายเป็น Home ได้ เห็นได้จากฉากแรก ๆ ที่เขาให้คำแนะนำรุ่นน้องเพื่อนสร้างแบบร่างชุมชนที่สมบูรณ์แบบ เขากำหนดแสงและองค์ประกอบทุกอย่างในแบบร่าง เช่นว่าตรงนี้ควรมีคนมาเดินออกกำลังกายหรือจูงหมาน่ารัก ๆ เพื่อให้รู้สึกถึงความอบอุ่น สำหรับเขาแล้ว ส่วนต่าง ๆ ในบ้านเป็นแค่องค์ประกอบที่ทำให้ความหมายของคำว่าบ้านเดินไปตามทฤษฎีเท่านั้น คุณยายของเคตะและครอบครัวไซกิยังพูดตรงกันโดยมิได้นัดหมายว่าบ้านของเรียวตะนั้นเหมือนโรงแรมมากกว่าบ้าน นั่นคือเป็นห้องที่เหมาะจะมาพักชั่วครั้งชั่วคราว แต่ไม่เหมาะแก่การหยั่งรากชีวิต เช่นเดียวกับทุนนิยมที่พยายามลิดรอนอัตลักษณ์ให้เรา "ไร้รากเหง้า" มากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อจะหาวัตถุต่าง ๆ มาบริโภคเพื่อยึดเหนี่ยวหรือเติมเต็มจิตใจ

ทุกครั้งเมื่อเรียวตะกระแนะกระแหนครอบครัวไซกิเรื่องความขาดแคลนทางวัตถุ คำพูดนั้นก็มักจะเป็นหอกที่กลับมาทิ่มแทงตัวเขาเองว่าขาดแคลนสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจมากเพียงใด เช่นในฉากที่เคตะเล่าว่าไซกิ ยูดาอิ หรือไซกิผู้พ่อนั้นซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นทุกอย่าง เรียวตะจึงสวนไปว่า "อย่าลืมไปบอกเค้าซ่อมฮีตเตอร์ด้วยล่ะ" แต่เรียวตะอาจจะลืมไปว่าต่อให้ครอบครัวไซกิไม่มีฮีตเตอร์ แม้อากาศจะหนาวแต่บรรยากาศในบ้านก็อบอุ่น ไม่เหมือนฮีตเตอร์ราคาแพงของเรียวตะที่อาจให้อากาศอบอุ่น แต่บรรยากาศในบ้านหนาวเหน็บสิ้นดี

ความสามารถใน "การซ่อม" (Fixed) ของครอบครัวไซกิยังไม่ได้อยู่ที่การซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าเท่านั้น ฉากหนึ่งที่ไซกิ ยูคาริเดินผ่านมาเห็นเคตะนั่งซึมอยู่มุมหนึ่งของบ้าน เธอจึงเข้าไปถามด้วยความห่วงใย ก่อนจะพูดว่า "แบบนี้ต้องซ่อมเธอแล้ว" โดยการจี้เส้นให้เคตะกลับมาหัวเราะสนุกสนานดังเดิม คำว่าการซ่อม ไม่ว่าใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือมนุษย์ ล้วนสวนทางกับวิถีบริโภคนิยมที่มุ่งเน้นให้คนบริโภคทรัพยากรมาก ๆ หากเกิด "สิ่งชำรุด" ขึ้น แทนที่มนุษย์สมัยใหม่จะเลือกซ่อม พวกเขากลับเลือก "ซื้อใหม่" หรือหาสิ่งใหม่ ๆ ที่ดีกว่าเดิมเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด จึงไม่น่าแปลกใจที่เรียวตะอุทานออกมาอย่างไม่ตั้งใจว่า "มิน่าล่ะ เขา (เคตะ) ถึง..." (ถึงไม่มีความสามารถ/พรสวรรค์เหมือนเรา?) เมื่อได้รู้ความจริงว่าเคตะไม่ใช่ลูก จึงสะท้อนความคิดในระดับจิตสำนึกของเรียวตะว่าไม่ได้มองเคตะในฐานะลูก หรือแม้แต่ในฐานะมนุษย์ด้วยซ้ำ ทว่ามองในฐานะวัตถุชิ้นหนึ่งที่จะมาเติมเต็มให้ชีวิตเขาสมบูรณ์แบบ แต่เคตะกลับเป็น "วัตถุชำรุด" ที่ทำให้ชีวิตเขาต้องแปดเปื้อนความล้มเหลว โดยที่เขาไม่สนใจจะ "ซ่อม" หรือดูแลความรู้สึกของเคตะในฐานะมนุษย์ด้วยซ้ำ แม้สุดท้ายเรื่องอาจจะจบอย่างสุขสันต์ แต่สำหรับเรียวตะที่เติบโตมาในโลกที่ซึมซับทุนนิยม/บริโภคนิยมเข้าไปอย่างเข้มข้น ในภายหลังเมื่อเรื่องเดินทางกลับมาที่จุดเดิม เคตะจะยังถูกมองเหมือนวัตถุที่ชำรุดอีกหรือไม่

ประเด็นอันแหลมคมของสังคมทุนนิยมยังสอดแทรกอยู่ในอีกหลายฉาก แต่ไม่มีฉากไหนจะเสียดสีได้รุนแรงและเจ็บแสบเท่าฉากที่เรียวตะพยายามสร้างบรรยากาศในบ้านให้อบอุ่น แต่พี่แกก็เล่นซื้อชุดแคมป์ปิ้งมาตั้งแคมป์ในคอนโด! ตกปลาบนฟ้า นอนเต้นท์ซึ่งกางอยู่ในคอนโดเปิดแอร์เย็นสบาย (แหมทุนนิยมนี่มันสบายจริง ๆ นะเทอว์) ยิ่งฉากนี้วางอยู่ท้ายเรื่อง บวกกับการพยายามสร้างให้ฉากนี้เหมือนเป็น "ฉากที่มีความสุข" ด้วยเพลงอบอุ่น ๆ ภาพสโลว์ให้เห็นรอยยิ้ม ยิ่งขับเน้นให้เห็น "ความสุข" ที่สุดแสนจอมปลอมมากขึ้น และเห็นจุดจบอันแสนสิ้นหวังของเรียวตะและครอบครัวโนโนมิยะมากขึ้น

ส่วนครอบครัวไซกิเองแม้จะให้เป็นภาพแทนครอบครัวบ้านนอกที่เต็มไปด้วยความรักความอบอุ่น มีเวลาแสดงความรักแก่ลูก ๆ เต็มที่ และยังไม่ถูกทุนนิยมแปดเปื้อนมากนัก ประหนึ่งเป็นครอบครัวตัวอย่างที่ให้เรียวตะได้เรียนรู้การเป็นพ่อคนและการปฏิบัติกับคนอื่นอย่างมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน แต่ก็ใช่ว่าครอบครัวไซกิจะบริสุทธิ์เป็นพ่อพระไปเสียทั้งหมด เพราะยูดาอิเองก็ยังตาลุกวาวเมื่อเห็นช่องทางฟ้องร้องเพื่อจะได้เงินจำนวนมาก หรือตื่นเต้นกับอาหารราคาแพง หรือคำพูดของเขาที่ว่า "ถ้าจะแสดงความจริงใจก็ต้องจ่ายด้วยเงิน" ซึ่งก็ไม่ต้องตีความอะไรอีก รวมถึงตัวละครอื่น ๆ เช่นนางพยาบาลคนสลับลูกที่ก่อเหตุเพราะความอิจฉาในความร่ำรวยเพียบพร้อมของครอบครัวโนโนมิยะ นั่นคือไม่ว่าจะดีหรือเลวแค่ไหน ทุกคนก็ดูเหมือนจะอยู่ในวังวนทุนนิยมไม่ต่างกัน สุดท้ายแล้วการจบที่เหมือนจะแฮปปี้ ทว่าซุกขยะไว้ใต้พรมของหนังเรื่องนี้ก็ดูเหมือนจะเป็นบทสรุปที่ผู้กำกับอยากจะถามทิ้งท้ายไว้ว่า เราจะอยู่กันแบบนี้ต่อไปจริง ๆ หรือ

ไม่แน่ว่าที่สุดแล้ววันหนึ่ง ครอบครัวโนโนมิยะที่ดูเหมือนจะสมบูรณ์พร้อมในโลกทุนนิยม ทว่าโครงสร้างภายในเปราะบางอย่างยิ่ง อาจจะต้องถูกบีบให้จนตรอกและนำไปสู่บทสรุปอันแสนเศร้าไม่ต่างจากครอบครัวที่แตกร้าวในจุดต่ำสุดของโลกทุนนิยมเลย ดังที่ผู้กำกับได้กล่าวไว้ในฉากที่โนโนมิยะ มิโดริ ไปรับเคตะกลับมาที่บ้าน เธอชวนลูกว่าเราหนีไปจากที่นี่เถอะ เมื่อเคตะถามว่าไปไหน เธอบอกว่าไปใน "ที่ที่ไม่มีใครรู้จัก" (Nobody Knows) เสมือนหนึ่งเป็นการเกริ่นการณ์ (foreshadow) ว่า หากเรายังอยู่กันไปแบบนี้ ไม่ช้าทุนนิยมจะพาสังคมญี่ปุ่นไปสู่จุดจบแบบเดียวกับใน Nobody Knows ภาพยนตร์โศกนาฏกรรมเรื่องเก่าของเขา ไม่ว่าจะเป็นคนที่อยู่ในจุดสูงสุดหรือต่ำสุดของทุนนิยมก็ตามที

-----------------------------------

ส่วน The Hunger Game: Catching Fire ภาคต่อของ The Hunger Game อันนี้ก็คงไม่ต้องตีความสัญลักษณ์มากมาย เพราะมันก็บอกโต้ง ๆ อยู่แล้วว่าเรากำลังสู้กับระบบของอะไร ไม่ว่าจะเป็นการใส่ฉากความแร้นแค้นของเขตบ้านนอกต่าง ๆ สลับกับฉากการกินให้อ้วกของพวกชนชั้นสูงเพื่อจะกินต่อ เหมือนฉายภาพสังคมฝรั่งเศสก่อนการเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศสอะไรทำนองนั้น ส่วนฉากที่อลังการที่สุดคือฉากการยิงธนูขึ้นฟ้าของแคทนิส เป็นสัญลักษณ์การลุกฮือต่อระบบของผู้ถูกกดขี่ โหมโรงก่อนการปฏิวัติได้อย่างสุดยอดและสมบูรณ์แบบ ภาคนี้คือการขมวดปมของเกมล่าชีวิตไปสู่การปฏิวัติและล้มล้างแคปิตอล ภายหลังฟันเฟืองชิ้นสุดท้ายของระบบการปฏิวัติมาถึง นั่นคือแคทนิส ผู้มีหน้าที่เป็น The Messiah หรือพระผู้ช่วยให้รอด หรือผู้ปลดปล่อย ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนลุกฮือขึ้นปฏิวัติ เช่นเดียวกับ The One อย่าง Neo ใน The Matrix น่าเสียดายว่าในหนังไม่ได้ให้รายละเอียดเรื่องสำคัญ ๆ ที่จะชวนให้เราเชื่อได้ว่าแคทนิสนี่แหละเหมาะสมที่สุดในการเป็นผู้ปลดปล่อย ไม่ว่าจะเป็นภูมิหลังของแคทนิส หรือความหมายของนกม็อกกิ้งเจย์ที่ชาวแคปปิตอลขยะแขยงนักหนา ฯลฯ เข้าใจว่าผู้กำกับคงอยากจะทำภาคแรกเพื่อขายแอ็คชั่นให้ดังติดตลาดไว้ก่อน เนื้อเรื่องบางส่วนจึงไม่ได้กล่าวถึง แต่จุดนี้ก็ย้อนมาทำร้ายการเล่าเรื่องในภาคสองอยู่พอสมควร

น่าสนใจว่าไม่ว่าจะเป็นแคทนิสหรือนีโอ ล้วนแต่เป็นผู้ปลดปล่อยที่ไม่ตระหนักรู้หรือไม่ยอมรับในความสามารถของตนเองมาก่อนว่าจะเป็นผู้นำการปฏิวัติได้ ทว่าด้วยกลไกหรือระบบบางอย่างก็ทำให้พวกเขากลายมาเป็นผู้ปลดปล่อยในที่สุดไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่ จึงน่าคิดว่าแท้จริงแล้ว "การปฏิวัติ" หรืออะไรก็ตามที่เป็นปฏิปักษ์ต่อทุนนิยม เป็นกลไกที่เกิดมาเพื่อต่อต้านระบบ หรือเป็นเพียงระบบย่อยระบบหนึ่งที่หลอกให้มนุษย์มีความหวังลม ๆ แล้ง ๆ ไปกับ The Messiah หรือ The Revolutionist เพื่อจะทนการกดขี่ของระบบใหญ่ที่ควบคุมเราอยู่ต่อไปได้ (มองในแง่นี้ หากเปรียบทุนนิยมเป็นศาสนา มันก็เป็นศาสนาที่ยิ่งใหญ่และทรงอำนาจที่สุดนับแต่โลกนี้ถือกำเนิดมา) ดังความจริงที่นีโอได้ค้นพบเมื่อเจอสถาปนิกแห่งเมทริกซ์ในภาค Reloaded (และก็ชวนคิดไปอีกว่า จะจบแบบเดอะเมทริกซ์ไตรภาคหรือเปล่า ไม่นะ!!!)

แต่ก็ใช่ว่าลำพังตัวแคทนิสเองจะก่อให้เกิดการปฏิวัติได้ ตัวระบบที่จวนจะพังมิพังแหล่นั่นก็เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาหนึ่งที่ทำให้เกิดการบ่อนทำลายขึ้นภายใน มีคนมากมายพร้อมจะทรยศหักหลัง ปธน. สโนว์ตลอดเวลา (ชื่อแกเหมือนสโนว์บอลล์ หัวหน้าหมูทรราชใน Animal Farm เลยนะ 55) เหมือนจะย้ำปรัชญาการปฏิวัติว่าความสำเร็จของการปฏิวัติไม่มีทางเกิดจากพลังบริสุทธิ์ของประชาชน แต่เกิดจากตัวระบบที่จวนเจียนจะพังและการบ่อนทำลายภายในเป็นปัจจัยสำคัญ เช่นเดียวกับการที่นีโอร่วมมือกับนครเครื่องจักรยุติสงคราม เพราะโปรแกรมนายสมิธเกิดปัญหาจนนครเครื่องจักรควบคุมไม่ได้ ดังที่แคทนิสพูดกับ ปธน.สโนว์ว่า "ระบบนั่นมันคงเปราะบางมากสินะ จึงล่มสลายได้ด้วยเบอร์รี่พิษเพียงไม่กี่ลูก"

ทั้ง Like Father, Like Son และ The Hunger Game: Catching Fire แม้จะกล่าวถึงเรื่องราวทุนนิยมในแง่มุมต่างกันไป แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นร่วมกันคือ "ความเปราะบาง" ของสังคมทุนนิยม แม้ว่าโครงสร้างภายนอกอาจจะดูทรงอำนาจมากกว่าโครงสร้างใด ๆ แต่ความไร้รากเหง้า ความไม่มั่นคง การถูกกดขี่และความเจ็บปวดของผู้อยู่ใต้ระบบนั่นเองที่จะเป็นระเบิดรอเวลาจุดชนวน และโครงสร้างอันเปราะบางนี้พร้อมจะล่มสลายได้ทุกเมื่อ เพียงแค่รอเวลาการปรากฏตัวขึ้นของความจริงเล็กน้อย หรือสิ่งเล็ก ๆ บางสิ่งที่จะสั่นคลอนจิตใจของผู้คน ซึ่งเปรียบเสมือนไม้ขีดไฟเพียงก้านเดียวที่จะจุดชนวนระเบิดนั้น

เรื่องราวอื่น ๆ จำพวกการล้มล้างระบบอะไรนั่นไม่วิเคราะห์มากหรอก เพราะคงมีคนพูดไปเยอะมากอยู่แล้ว โดยเฉพาะได้ยินข่าวว่ามีน้องเทพคนหนึ่งกำลังทำวิทยานิพนธ์เรื่องนี้ขึ้นแท่นวิทยานิพนธ์ยอดเยี่ยมเลยเชียว รออ่านเล่มนั้นอย่างใจจดใจจ่อดีกว่า 55

-----------------------------------

แม้ผมจะบอกไปว่า Like Father, Like Son จะจบแบบซุกขยะใต้พรม หรือรีบจบไปหน่อยก็ตามที แต่ก็เป็นหนังหนึ่งในไม่กี่เรื่องที่เรียกน้ำตาจากผมในโรงหนังได้ (นี่ขนาดยังไม่บิ้วต์ไปให้สุดนะ 555) อาจเป็นเพราะผมดันสิ้นหวังไปกับตอนจบที่ผู้กำกับไม่ได้ใส่เอาไว้ก็เป็นได้ ส่วน The Hunger Game: Catching Fire นั้นก็ดีทั้งเนื้อหาและวิธีการเล่า รวมถึงฉากแอ็คชั่นและสเปเชียลเอฟเฟคที่น่าตื่นเต้นตื่นตาตื่นใจด้วยพลังของทุนนิยม สมกับเป็นหนังต่อต้านทุนนิยมประเภทเอาหอกสนองคืนผู้ใช้ 555 ทั้งสองเรื่องไม่เสียดายเงินแน่นอนครับ แต่ว่ามันก็จวนจะออกโรงทั้งสองเรื่องแล้วนี่นา (ฮา)

วันพฤหัสบดีที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2556

Seven years itch and you forget it

เจ็ดปีที่ผันผ่านไม่นานนัก
เธอจำห้วงความรักได้หรือไม่
เมื่อตะวันค่อยเคลื่อนเลือนหายไป
เราอยู่ ณ หนใดในโลกนี้

เมื่อบ่มความรักจนสุกงอม
ใจก็พร้อมจะเผยใจไม่หลีกหนี
ไม่โทษดาวโทษเดือนเหมือนทุกที
โทษก็แต่ดวงฤดีที่เผยรัก

ใบไม้ร่วงหล่นลงกี่ใบ
เธอยังจำได้ไหมใจประจักษ์
วันนั้นลมรำเพยมาเชยชัก
คำแน่นหนักยังแว่วไหวไม่รู้วาย

รอยยิ้มรอยนั้นในฝันนี้
ตราตรึงดวงฤดีมิเลือนหาย
ความสัมพันธ์ซับซ้อนค่อนผ่อนคลาย
เหลือเพียงความหมายของหัวใจ

เจ็ดปีที่ผันผ่านอาจนานนัก
เธอลืมห้วงความรักแล้วหรือไม่
เจ็ดปีที่ผันผ่านอาจนานไป
เหลือเพียงใครคนหนึ่งซึ่งไม่ลืม

วันอังคารที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2556

หัวสิวของแมรี่ และแฮปปี้ของนุกนิก




(เปิดเผยเรื่องราวบางส่วนในภาพยนตร์เรื่อง "ผีโป๊ สะดือพูด และสิวของนุกนิก" และ "Mary Is Happy, Mary Is Happy.")

ขณะที่เรื่องหนึ่งก็ตั้งหน้าตั้งตาจะเล่าเรื่องเหลือเกิน อีกเรื่องหนึ่งก็สลายวิธีการเล่าเรื่องเดิม ๆ ซะจนเราจับต้นชนปลายแทบไม่ถูก การชมสองเรื่องติดต่อกันจึงทำให้ปรับอารมณ์แทบไม่ทัน 55 แต่น่าแปลกที่ทั้งสองเรื่องสองขั้วกลับพาไปสู่ความรู้สึกสุดท้ายที่กลิ่นคล้าย ๆ กันซะอย่างนั้น (หรือเพราะเราดูทั้งสองเรื่องติดต่อกันรวดเดียวนะ 55)

ว่ากันที่ผีโป๊ฯ ก่อน ผมยังไม่เคยดู "หมาอภินิหารและขวดใส่มหาสมุทร" ผมงานก่อนหน้านี้ของคุณอมร หะริณนิติสุข ผู้กำกับผีโป๊ฯ แต่เข้าใจว่าคุณอมรคงจะกำลังซาบซึ้งอยู่กับปรัชญาหรือแนวคิดทางศาสนาบางสำนัก จึงได้ดึงเอาแนวคิดสองขั้วมาปะทะสังสรรค์เพื่อจะพานุกนิกนั้นบรรลุนิพพานผ่านหัวสิว แต่ผลก็คือบทพูดออกจะเป็นการยกตำราหรือคำเทศนามายิงผ่านปากตัวละครเสียมากกว่า เหมือนว่ากลัวคนดูไม่เข้าใจหรือจะตีความไม่ถึง เสน่ห์ของหนังเลยลดลงไปมากโข โดยเฉพาะตอนที่นิทานเรื่องเต่ากับปลาโผล่มา ผมถึงกับกุมขมับ ขอโทษนะพี่ แต่ผมว่ามันเช้ยยยยเชยจริง ๆ นะ 555

เข้าใจว่าด้วยงบประมาณที่จำกัดจำเขี่ย คุณอมรคงเขียนบทเองกำกับเอง เปรียบเปรยไปก็เหมือนคนเล่นหมากรุกกับคนดูอยู่วงนอก คนเล่นหมากรุกเองตอนนั้นก็คิดอะไรไม่ออกหรอกนอกจากเดินไปตามเกม ขณะที่คนวงนอกน่าจะเห็นข้อจำกัดหรือจุดที่ควรเพิ่มเติมและลดทอนในบทมากกว่า หนังเรื่องต่อไปถ้ามีมือดี ๆ มาช่วยเขียนบท หรืออย่างน้อยก็เกลาบทไม่ให้เทศนาคนดูมากเกินไป ก็น่าจะทำให้เรื่องไหลลื่นขึ้นไม่น้อย เพราะตัวพล็อตเองก็น่าสนใจอยู่แล้วในระดับหนึ่ง ดังที่ซอมเมอร์เซต มอห์ม กล่าวไว้ว่า การโกนหนวดแต่ละคราวแฝงปรัชญาล้ำลึก เช่นนั้นแล้วไยหัวสิวธรรมดายิ่งของนุกนิกจะพาเธอไปสู่นิพพานไม่ได้

อันที่จริงถ้าผู้กำกับเองจะลองจินตนาการถึงคนดูที่จะอุตส่าห์บุกเข้ามาชมผลงานของเค้าถึงในโรงหนัง ผมว่าคงไม่มีประเภทที่ว่าวัยรุ่นเดินสยามกิ๊วก๊าวแล้วเห็นโปสเตอร์ เฮ้ยแกไปดูเรื่องนี้เถอะน่าสนุก หรือเข้ามาเพราะเป็นแฟนคลับโบวี่อะไรเทือกนั้น คือแค่ชื่อหนังของพี่ก็จัด Genre ของคนดูได้แล้วระดับหนึ่งว่าไม่แมสแน่ ๆ คนที่มาดูก็ต้องตั้งใจมาก ๆ หรือเป็นคอหนังแนว ๆ อยู่แล้วแหละนะ ดังนั้นจึงไม่น่าจะต้องให้บทพูด 'เฉลย' แก่นเรื่องอยู่บ่อย ๆ บางจุดอาจจะอมพะนำเอาไว้แล้วค่อยมาพูดทีเดียวตอนค่อย ๆ คลี่คลายเรื่องยังจะดู 'เซ็กซี่' กว่าด้วยซ้ำ ตัวอย่างเช่นเรื่องที่นุกนิกไม่ยอมกลับไปหาแม่เพราะถูกพ่อเลี้ยงข่มขืน เรื่องนี้คนดูกลับได้รู้ตั้งแต่ฉากแรกตอนที่นุกนิกคุยโทรศัพท์กับเพื่อนสนิท พอมา repeat อีกทีในตอนคุยโทรศัพท์กับแม่ และโดนผีนุกนิกกระชากหัวคุยกับตัวเอง ในแง่ของการคลี่คลายเรื่องมันก็ไม่ 'เซ็กซี่' เสียแล้ว เลยเป็นผลให้การสร้าง Impact สะเทือนอารมณ์ก็ทำไม่ได้ ทั้งที่บทตรงนี้มีศักยภาพเพียงพอ

แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องชมหนังเรื่องนี้มาก ๆ คือนางเอกอย่างโบวี่ที่ "เอาอยู่" หรือจะว่าไปก็เป็นสิ่งเดียวที่พาคนดูไปจนจบเรื่องก็ว่าได้ (แหมก็แสดงอยู่คนเดียว 55) ก่อนหน้านี้ผมไม่เคยมองโบวี่ในฐานะนักแสดงเป็นพิเศษ แต่พลังการแสดงจากหนังเรื่องนี้ก็ทำให้จากนี้ไปผมคงต้องพินิจการแสดงของเธออย่างตั้งใจมากขึ้นในฐานะนักแสดงตัวจริง

เช่นเดียวกับแมรี่ฯ จุดที่น่าจะเติมหรือน่าจะตัดในบทหนังนั้นมีไม่น้อย ทว่าอย่างที่รู้กันว่าหนังเรื่องนี้สร้างจากทวิตเตอร์ 410 ทวิตเป๊ะ ๆ และอีกอย่างนวพลก็เป็นมือเขียนบทที่แม่นอยู่แล้ว การขาดความลื่นไหลในบางจุดจึงไม่น่าจะเป็นจุดอ่อนของการเขียนบท แต่เพราะเงื่อนไขการทำหนังบังคับมาแบบนั้น ดังนั้นการพาทวิตเตอร์ 410 ทวิตไปได้จนเป็นเรื่องราวจึงเป็นเรื่องน่าชมเชยมากกว่า และต่อให้ผมโจมตีโครงสร้างการเล่าเรื่อง นวพลก็คงจะยักไหล่และตอบว่า "ถ้าแก้ก็ไม่รู้ว่าจะทำหนังเรื่องนี้มาทำไมว่ะ" ดังเช่นที่พี่แกเคยตอบกูรูวิจารณ์ในงานเทศกาลหนังที่เวนิซและปูซาน

คิดกว้าง ๆ จะจัดมันให้เป็นหนัง Deconstruct ก็ไม่ได้ เพราะพี่แกไม่ได้รื้อสร้างแต่เล่นรื้อทิ้ง Destruct วิธีการเล่าเรื่องมันซะเลย 555 ก็คงจะเรียกว่างานแนวทดลองอย่างหนึ่งกระมัง จะว่าไปก็ไม่แปลกเพราะการตั้งต้นทวิตแรก ๆ ตั้งแต่อยากเลี้ยงแมงกะพรุน แล้วมีแมงกะพรุนส่ง Fedex มาถึงบ้าน นั่นก็น่าจะบอกไวยากรณ์ของเรื่องกับคนดูตั้งแต่แรกแล้วว่า จากนี้ไปมึงเหวอทุกฉากแน่ แล้วก็จริง ๆ 555 น่าเสียดายที่ดูหนังเรื่องนี้หลังจากเพิ่งดู Synecdoche มาหมาด ๆ อารมณ์การโดนคอฟแมนเขย่าวิญญาณยังตกค้างอยู่ การทดลองที่น่าตื่นเต้นของหนังเรื่องนี้สำหรับผมเลยโดนลดทอนเหลือแค่ว่าน่าสนใจดีเท่านั้น

ขณะที่ผีโป๊ฯ มีโบวี่ แมรี่ฯ ก็มีซูริเป็นคู่ชกที่สมน้ำสมเนื้อ บทน้องอาจไม่ใช่นางเอกเหมือนแมรี่ แต่หลายต่อหลายฉากกลับขโมยซีนแมรี่ไปซะดื้อ ๆ ขณะที่แมรี่สวิงสวายไปกับบทประหลาด ๆ ซูริเหมือนพลังงานจลน์ที่ไหลเอื่อย ๆ แต่ทรงพลังชิบหาย และยังทำหน้าที่คอยประคองแมรี่ไปครึ่งค่อนเรื่อง จนป่านนี้พี่ก็ยังไม่รู้ชื่อน้องเลย แต่จะติดตามการแสดงต่อไปนะครับซูริ น้องอนาคตไกลแน่นอนพี่คอนเฟิร์ม

แล้วก็อย่างที่บอกไว้ในตอนแรก ขณะที่วิธีการเล่าเรื่องทั้งสองต่างกันสุดขั้วแบบนี้ แต่ก็น่าสนใจว่าบทสรุปสุดท้ายต่างก็มีกลิ่นคล้าย ๆ กัน คิดว่ามันคงจะเป็นกลิ่นของยุคสมัยกระมัง (แต่ของนวพลเหวอกว่าเยอะ 555) สรุปว่าน่าดูทั้งสองเรื่องครับ เรื่องแรกอาจจะเน้นไปที่การอุดหนุนผู้กำกับอินดี้ให้มีกำลังใจพัฒนาผลงานชิ้นต่อไปให้ดีขึ้น ส่วนเรื่องหลังนี่ฐานแฟนคลับนวพลเหนียวแน่นอยู่แล้ว (วันที่ผมไปดูก็เต็มโรง) แต่ก็ต้องไปลองชมการทดลองที่น่าสนใจและน่าจับตามองของผู้กำกับรุ่นใหม่ที่คอหนังแนว ๆ ชาวไทยไม่น่าจะพลาด

๒ ธันวาคม ๒๕๕๖

วันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ถามตัวเอง

๏ ถามตัวเองก่อนไหมใครควรหยุด
หลังเร่งสุดซอยไปไม่ไถ่ถาม
จำนำข้าวก็เร่งงาบจนเกินงาม
ใครจะกล้าเดินตามสองล้านล้าน!

๏ ถามตัวเองก่อนไหมใครทำผิด
คนต่อต้านจึงจุดติดมหาศาล
ถามตัวเองก่อนไหมใครอันธพาล
ก่อนดื้อด้านให้บ้านเมืองวอดวาย

๏ ถามตัวเองก่อนไหมใครควรถอย
ใครควรถอนอำนาจถ่อยก่อนฉิบหาย
ก่อนผองเราจะเข้าเกมอันตราย
ก่อนจะเพิ่มคนตายหลายหมื่นคน

๏ หากเธอถามตัวเองวันก่อน
วันนี้คงไม่รุ่มร้อนสับสน
ถึงวันนี้ชาวไทยคงไม่ทน
หากยังไม่ถามตนเมื่อคนตาย ๚ะ๛

๒ ธันวาคม ๒๕๕๖

พฤศจิกามหาวิบัติ (๒)

๏ ศพนี้ไม่ได้เกิดขึ้นลอยลอย
หลังศพนี้ใครควรถอยใครควรบุก
หลังศพนี้ควรตั้งรับหรือเร่งรุก
ใครควรเลี่ยงทุรยุคหรือนำพา

๏ ศพนี้เกิดจากใครไม่รับผิด
เห็นชีวิตชาวไทยไม่มีค่า
อีกกี่ศพจึงข้ามผ่านกาลเวลา
จึงลบล้างรอยน้ำตาประชาชน

๏ ศพนี้เกิดจากใครไม่ขอโทษ
ความเกรี้ยวโกรธจึงก่อร่างโกลาหล
คนจึงปลุกปั่นคนไปฆ่าคน
เป็นมหาจลาจลกลางใจเมือง

๏ ศพนี้จะไม่ใช่ศพสุดท้าย
หากท้าทายฝูงชนจนหนุนเนื่อง
คำขอโทษหากกล่าวยากทำปากเปลือง
อีกกี่ศพจึงจบเรื่องอันร้าวราน

๏ ศพนี้ไม่ได้เกิดขึ้นลอยลอย
อีกกี่ร้อยกี่หมื่นมหาศาล
เป็นฟ่อนฟืนไฟแค้นอันแสนนาน
เซ่นสังเวยอุดมการณ์อำนาจกู! ๚ะ๛

๑ ธันวาคม ๒๕๕๖

วันเสาร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

พฤศจิกามหาวิบัติ (๑)

๏ ขณะที่คุณตระหนกกับซากศพ
คุณกลับไม่เคารพเขาทั้งหลาย
คุณไม่เห็นความตายเป็นความตาย
แต่เห็นเป็นความหมายการต่อรอง

๏ เมื่อการเมืองเหมือนเกมกีฬาสี
รูปธรรมความดีมีเพียงสอง
ทุกทุกความชอบธรรมตามครรลอง
มีก็แต่พวกพ้องของตน

๏ หากมีร่างร่วงหล่นลงพื้น
และมีเสียงสะอื้นสักเพียงหน
'แค่มีใครตายเพียงหนึ่งคน
ก็พ้นเรื่องผิดถูกชั่วดี'*

๏ คุณกลับแย่งความชอบธรรมเหมือนส่ำสัตว์
ดั่งแร้งหิวโซซัดน่าบัดสี
คุณอ้างสิทธิ์การเข่นฆ่าทันที
เพื่อให้การต่อตีนั้นชอบธรรม

๏ คุณแกล้งลืมความเป็นมาของซากศพ
ก่อนปลุกเร้าแนวรบโหมกระหน่ำ
คุณประณามคนอื่นว่าสาริยำ
แท้คุณย้ำความชั่วในตัวคุณ! ๚ะ๛

๑ ธันวาคม ๒๕๕๖

*วรรคหนึ่งจากบทกวี "กวีฝันถึงสันติภาพใช่อ่อนแอ" ที่เขียนให้เพื่อนกวี โอบอ้อม หอมจันทร์ เมื่อปี ๒๕๕๓

วันอังคารที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ภาพขาวดำ

พิมพ์แล้วลบ พิมพ์แล้วลบ...
ร่างที่ 1 แปลงกายเป็นร่าง 2 3 4 ก่อนจะตรงดิ่งลงถังขยะ
รูปประโยคสั้นกระชับที่คล้ายเป็นอาวุธ กลับย้อนมาทิ่มแทงตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า
วันที่ก้าวข้ามงานเก่า ๆ ไม่พ้น นึกถึงเซียนภาพขาวดำคนหนึ่ง
"พี่ไม่คิดจะถ่ายภาพสีบ้างเหรอ" ข้าพเจ้าเผลอทำคำถามโง่ ๆ หล่นจากปาก
เซียนภาพขาวดำยิ้มกระหยิ่ม
"แค่ขาว-ดำมึงก็เล่นได้ทั้งชาติแล้ว จะเล่นสีทำไม"
หวังว่าพยัญชนะ 44 รูป สระ 21 รูป และวรรณยุกต์อีก 4 รูป จะมีอะไรให้ข้าพเจ้าเล่นไปได้อีกทั้งชาติเหมือนกัน

วันเสาร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

บทบันทึกเพื่อความเข้าใจตัวเอง หมายเลข ๑

๑. เราไม่ได้ไร้เดียงสาจนต้องดิ้นรนเห่อไปตามกระแสเรื่องการทำตามฝัน ใช่ว่าเราไม่เคยลอง แถมยังล้มมาหลายครั้งแล้ว เรารู้ว่าคนเหลวไหลไร้สาระอย่างเราคงทำอะไรที่ยิ่งใหญ่ไม่สำเร็จหรอก เราแค่ไม่อาจนิ่งดูดายเมื่อเห็นตัวเองในอนาคตค่อย ๆ พังทลายความฝันด้วยมือตัวเองลงช้า ๆ อันที่จริงเราจะปล่อยให้มันพังลงไปเลยก็ได้ เพราะมันก็ไม่ใช่เรื่องยิ่งใหญ่อะไรมากมาย เพียงแต่พอนึกถึงหน้าเพื่อนสนิทคนหนึ่งแล้ว หากวันหนึ่งเราบอกกับมันว่า "เฮ้ย กูเลิกแล้วว่ะ" เราว่าตัวเราเองนั่นแหละที่จะตายตาไม่หลับ

๒. เราไม่รู้ว่าเวลาที่ควรคิดถึงอนาคตอย่างจริงจังนี่คือตอนอายุเท่าไหร่ เราเคยพูดเรื่องนี้กับเพื่อนตอนอายุ ๒๖ เขาบอกว่ายังเร็วเกินไปที่จะคิดเรื่องนี้ หวังว่าถ้าเราพูดเรื่องนี้ตอนอายุเกิน ๓๐ แล้ว คงจะไม่โดนเพื่อนตอกหน้ากลับมาว่า มึงมาคิดอะไรเอาป่านนี้

๓. ถึงวันนี้เราเตรียมอุปกรณ์สำหรับปั่นจักรยานทางไกลเกือบครบแล้ว เหลือก็แค่ฟิตซ้อมกำลังขาและเตรียมพร้อมกำลังใจ ทว่าอันที่จริงเราลืมไปว่าควรต้องเตรียมชุดปะยาง สูบลมแบบพกพา และความรู้เรื่องการปะยางเบื้องต้นด้วย เพราะไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้างในการเดินทางอันยาวไกล แต่ก็นั่นแหละ เราก็ยังเป็นเราวันยังค่ำ เราคงไม่ยอมคิดเรื่องนี้หรือเตรียมให้พร้อม และมานั่งเศร้าเสียใจเมื่อยางรั่วกลางทางในจุดที่ห่างไกลจากร้านซ่อมไม่รู้กี่ร้อยกิโลเมตร

๔. เราคิดว่าสุดท้ายแล้วเราก็ต้องหกล้มซมซานกลับมาในวังวนเดิม ๆ ได้แต่หวังว่ามันจะไม่เร็วเกินไปนัก อย่างน้อยก็ขอให้หลังจากเราได้เล่าเรื่องของเพื่อนที่เรารักที่สุดจบแล้วก็พอ ก่อนที่อะไร ๆ จะสายเกินไปและไม่มีโอกาสกลับมาแก้ตัว

๕. เรารู้ว่ามันอาจฟังดูน่ารำคาญสำหรับบางคน เรื่องที่เราชอบทำตัวเหมือนพระเอกหนังโศก แบบว่ามีบาดแผลในใจ ก้าวข้ามความเจ็บปวดไม่พ้นอะไรทำนองนั้น แต่จนถึงทุกวันนี้ บางคืนเรายังคงฝันร้าย และเรายังทำใจไม่ได้กับบางเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิต

๖. บางครั้งการร้องไห้บ่อยกว่า ร้องเสียงดังกว่า ไม่ได้แปลว่าเสียใจมากกว่า อย่าคิดว่าคนอื่นไม่เสียใจกับการสูญเสีย เขาแค่เข้มแข็งมากพอจะไม่คร่ำครวญสามเวลาหลังอาหารเหมือนเรา

๗. อย่าไปคิดว่าตัวเองเก่งกาจมากพอจะแบกโลกได้ทั้งใบ สองไหล่ก็เล็กแค่นี้ เอาแค่แบกชีวิตตัวเองก็ยังลำบาก

๘. เราเองก็อยากมีคำตอบชัด ๆ ให้ครอบครัวบ้างสักเรื่อง แต่คำตอบที่เราคิดว่าชัดเจน ส่วนมากจะไม่มีใครได้ยิน

๙. เรารู้ว่าถ้าทำลืม ๆ ไปซะ เราคงใช้ชีวิตได้ง่ายกว่านี้ แต่ก็นั่นแหละ เรื่องบางเรื่องรู้แล้วก็ทำเป็นลืมไม่ได้

๑๐. อันที่จริงเราเกลียดตัวเองมากกว่าเกลียดระบบสักร้อยเท่าได้มั้ง แต่ก็อย่างว่าแหละ เรามักจะให้อภัยตัวเองก่อนอย่างอื่น ปัญหามันเลยวนเวียนมาทำร้ายเราไม่รู้จักจบสิ้น

๑๖ พ.ย. ๕๖

วันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

Synecdoche, New york : the epic of SMALLEST things and the Death of Director


หมายเหตุก่อนอ่าน
1. เปิดเผยเรื่องราวในภาพยนตร์
2. เขียนขึ้นจากความทรงจำหลังการชมเพียงหนึ่งรอบ อาจมีคำพูด ฉาก หรือตัวละครคลาดเคลื่อนไปบ้าง
3. ก่อนอ่าน ควรชมภาพยนตร์อย่างน้อยหนึ่งรอบ เนื่องจากลำดับเรื่องและกลวิธีการเล่าเรื่องซับซ้อนพอสมควร ทำให้ผู้เขียนซึ่งยังอ่อนประสบการณ์ไม่อาจเล่าเรื่องตามลำดับให้เข้าใจได้ง่าย
4. ขอบคุณภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

--------------------------------------------

หลังจากโดน Synecdoche, New york ภาพยนตร์ฝีมือการกำกับเรื่องแรกของของนักเขียนบทมือฉมัง Charlie Kaufman เขย่าเสียจนนอนไม่หลับ เลยคิดว่าต้องลุกขึ้นมาเขียนถึงเรื่องนี้เพื่อบำบัดใจสักหน่อย

จะเริ่มเล่าเรื่องย่ออย่างไรดี? เอาเป็นว่ากล่าวอย่างรวบรัดละกัน (อยากอ่านเรื่องย่อเต็ม ๆ ก็เสิร์ชหาในเน็ตนะ 55) เป็นเรื่องราวของ เคเดน โคดาร์ด ผู้กำกับละครเวทีที่มีชื่อเสียง วันหนึ่งเขาต้องเผชิญหน้ากับโรคประหลาดที่ทำให้อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายเขาทำงานผิดปกติทีละอย่าง ๆ ขณะที่เขาเผชิญโรคร้าย อเดล ภรรยาของเขาก็ทิ้งเขาไปและไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในนิวยอร์ก โดยนำลูกสาวคือโอลีฟไปด้วย ในที่สุดเขาจึงตัดสินใจทิ้งทุกอย่างในชีวิต และนำเงินที่ได้มาจากกองทุนเพื่อเนรมิตโกดังขนาดยักษ์ในนิวยอร์กให้กลายเป็นสถานที่แสดงละครเวทีซึ่งจะเป็นละครที่ถ่ายทอดตัวตนของเขาออกมาได้อย่างตรงไปตรงมาที่สุด

ลำดับเรื่องอันอลหม่าน

Kaufman เริ่มเรื่องโดยการใช้ลำดับเวลา ลำดับสถานที่ และลำดับเหตุการณ์อย่างปั่นป่วนในสิบนาทีแรก เริ่มด้วยฉายให้เห็นชีวิตของเคเดนที่อลวนด้วยเสียงโทรทัศน์ เสียงอ่านบทกวีในวิทยุ เสียงร้องเพลงของลูกสาว การเปิดหนังสือพิมพ์ที่เพียงแค่พลิกหน้า วันที่ในหนังสือพิมพ์ก็เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ลูกสาวของเขาบอกว่าเป็นวันอังคารแต่แม่กลับตอบว่าเป็นวันศุกร์ การไปพบหมอเพื่อเย็บแผลแตก แต่เมื่อหมอเย็บแผลของเขาเสร็จก็แนะนำให้ไปพบจักษุแพทย์ ตามด้วยหมอที่เชี่ยวชาญเรื่องสมองและสุดท้ายก็ลงเอยที่จิตแพทย์ แล้วภาพก็ตัดสลับมาที่ละครเวทีที่เขากำกับ ซึ่งในละครเวทีเรื่องดังกล่าวมีทั้งฉากไปทำงาน ฉากขับรถชนกำแพง และฉากที่นอนรวมอยู่ในเวทีเดียว คล้ายจะบอกไวยากรณ์ของหนังกลาย ๆ ว่าจากนี้ไป ลำดับเวลา ลำดับสถานที่ และลำดับเหตุการณ์ต่าง ๆ ในเรื่องจะเป็นเสมือนละครเวที นั่นคือมีทุกฉาก ทุกสถานที่ ทุกเหตุการณ์ และทุกลำดับเวลาปรากฏอยู่ในพื้นที่เดียวกัน (เช่นเดียวกับบทละครกรีกที่ Space-Time สามารถข้ามลำดับเวลานับร้อยปีหรือการเดินทางหลายหมื่นกิโลเมตรเพียงชั่วลัดนิ้วมือ) ขึ้นอยู่กับว่าผู้กำกับจะเลือกฉายแสงไฟเข้าไปในฉากใด

ไวยากรณ์ของหนังข้อนี้ถูกย้ำเตือนอยู่เรื่อย ๆ ตลอดแทบทุกฉาก เช่นฉากที่เคเดนบอกว่าภรรยาเพิ่งทิ้งไปอาทิตย์เดียว แต่ชู้รักของเขาบอกว่านี่ผ่านมาสองปีแล้ว การก่อตั้งกองละครเวทีที่ดูเหมือนประเดี๋ยวประด๋าว ขณะที่เคเดนกำลังพูดถึงพล็อตใหม่ที่เพิ่มเข้ามา มีคนในกองถามว่าเมื่อไหร่จะมีคนมาดู เพราะนี่ผ่านไปนานถึง 17 ปีแล้ว! บ้านของฮาเซล สาวขายตั๋วที่เป็นชู้รักของเคเดน ซึ่งตัวบ้านลุกติดไฟอยู่ตลอดเวลา แต่หลายครั้งที่มองเห็นห้องเปล่า ๆ และเตียงนอนเท่านั้น ดูเหนือจริงจนคล้ายจะเป็นเพียงฉากหนึ่งในละครเวทีมากกว่าบ้าน หรือแม้แต่บันทึกของลูกสาวที่ดูเหมือนว่าจะมีหน้าบันทึกเพิ่มขึ้นทุกวันจนถึงวัยสาว แม้เขาจะพบบันทึกนี้ตอนที่ภรรยาเพิ่งจะพาลูกสาวที่ยังเล็กหนีไป ลำดับเวลาและเหตุการณ์อันอลหม่านนี้ มองผิวเผินอาจดูว่าเคเดนนั่นแหละบ้าที่จำไม่ได้ แต่ถ้าดูจากไวยากรณ์เรื่องแล้ว นี่คือการเลือกฉายแสงลงที่ฉากบางส่วนในละครเวที ซึ่งล้วนแต่เป็นเศษเสี้ยวบางส่วนในชีวิตของเคเดนนั่นเอง

สิ่งยิ่งใหญ่กระจ้อยร่อย
 

ขณะที่ละครเวทีของเคเดนดูเหมือนจะเป็นงานชิ้นยิ่งใหญ่มหึมา งานของอเดลภรรยาคนแรกดูเหมือนจะเป็นงานชิ้นกระจ้อยร่อย คือการวาดภาพขนาดเล็กมาก ต้องใช้แว่นขยายส่องดูจึงจะเห็นรายละเอียดภาพ แต่แท้จริงแล้ว งานศิลปะของทั้งคู่ต่างเป็นกระจกสะท้อนกันและกันให้เห็นชัดเจนขึ้น

ละครเวทีของเคเดนเนรมิตโกดังขนาดใหญ่กลางนิวยอร์ก พรั่งพร้อมด้วยฉากต่าง ๆ มากมายในนั้น ทว่ามันก็มีไว้เพื่อแสดงสิ่งที่กระจ้อยร่อยเหลือเกิน นั่นคือชีวิตของเคเดนที่สุดท้ายแทบไม่มีความหมาย ขณะที่ภาพเล็ก ๆ ของอเดล กลับรวบรวมความหมายของชีวิตในชั่วขณะหนึ่ง ๆ ไว้อย่างครบถ้วน ไม่มีการใช้พื้นที่และการเติมสีอย่างเปล่าเปลือง

นอกจากนั้นภาพวาดของอเดลเท่าที่เราได้เห็นคือภาพของคนสำคัญในชีวิต ราวกับว่าเธอเรียนรู้ว่าอะไรคือแก่นสาร (Essence) ที่ตนเองอยากจะยึดถือ ขณะที่สเกลอันยิ่งใหญ่ของละครเวทีของเคเดนกลับเปล่าโหวงด้วยคนที่สำคัญบ้างไม่สำคัญบ้างเดินอยู่ทั้งในฉากและในสตูดิโอ เช่นเดียวกับในชีวิตจริงของเขาที่บอกว่ามีคนสำคัญสำหรับเขา แต่ก็เป็นเขาเองนั่นแหละที่ทำให้คนสำคัญหลุดลอยไป

การทำสตูดิโอหรือโรงละครขนาดยักษ์ของเคเดนเพื่อจะพบความจริงอันแสนกระจ้อยร่อย แท้จริงแล้วเหมือนหรือต่างอย่างไรจากการวาดภาพขนาดเล็กกระจ้อยร่อยของอเดลแต่แฝงความหมายอันยิ่งใหญ่ของชีวิตเอาไว้?

ใครกำกับชีวิตใคร

แน่นอนว่านี่คือเรื่องราวของเคเดนซึ่งเป็นผู้กำกับละครเวที และลำดับเวลาหรือลำดับเหตุการณ์ต่าง ๆ ในช่วงแรกล้วนเป็นฝีมือการกำกับของเขาเอง แต่ Kaufman ก็ทิ้งไวยากรณ์อีกข้อไว้ในเรื่องเป็นระยะ ๆ นั่นคือตัวเคเดนเองก็ถูกกำกับอยู่เช่นกัน เช่นการต้องไปหาหมอโดยคำสั่งหมออีกคนไปเรื่อย ๆ การคบกับฮาเซล พนักงานขายตั๋ว ที่เมื่อแรกจีบเธอ เธอเป็นคนบอกบทให้เขาพูด รวมถึงบอกให้เขาทำอะไรต่าง ๆ เช่น คุกเข่าขอความรัก การที่เคเดนไม่อยากมีเซ็กซ์หลังจากงานศพของแม่ แต่ชู้รักอีกคนก็เร่งเร้าจนเขาต้องยอม หนังสือของจิตแพทย์สาวที่มีบทบอกให้เขาทำสิ่งต่าง ๆ และเหตุการณ์ก็เป็นไปตามที่หนังสือเขียน ส่วนฉากที่เขาถูกกำกับที่น่าสะเทือนใจที่สุดคงหนีไม่พ้นฉากที่ลูกสาวของเขาใกล้จะตาย และเขาต้องพูดตามบทที่ลูกสาว (ที่ถูกชู้รักของเธอหลอก) กำหนดให้ว่าเขาเป็นเกย์และทิ้งแม่ไปอยู่กินกับผู้ชายเพื่อให้ลูกสาวจากไปอย่างสงบ

เช่นเดียวกับการเป็นผู้กำกับที่พยายามสร้างละครเวทีเรื่องราวของเขาเอง แต่เมื่อเวลาผ่านไปเรื่อย ๆ บทบาทผู้กำกับของเขากลับลดน้อยและพร่าเลือน เขาหานักแสดงมาเล่นเป็นตัวเขาเอง แต่เขาก็ไม่อาจกำกับให้นักแสดงเลิกจีบภรรยาคนปัจจุบันในชีวิตจริงของเขาได้ นอกจากนั้น เขาเองต่างหากที่ถูกเคเดนที่เป็นนักแสดงมากำกับชีวิตเขาเมื่อนักแสดงยื่นที่อยู่ของภรรยาเก่ามาให้เขาเดินทางไปตามหา และในที่สุดเขาก็ไม่สามารถกำกับให้เคเดนที่เป็นนักแสดงอยู่ในบทของเขาเองได้จริง ๆ ในฉากที่ชีวิตจริงเขาพยายามฆ่าตัวตายแต่ถูกใครคนหนึ่งช่วยไว้ แต่เมื่อนักแสดงอกหักและฆ่าตัวตายกลับไม่มีใครช่วยนักแสดงเหมือนในชีวิตจริงของเขา

จะว่าไปแล้วตัวละครทุกตัวในเรื่องนี้ล้วนถูกความเจ็บปวดหรืออะไรบางอย่างกำกับอยู่ทั้งสิ้น เคเดนถูกความป่วยไข้ทั้งทางกายและทางใจจากที่ถูกภรรยาทิ้งเป็นเครื่องกำกับให้เขาสร้างละครเวทีเรื่องใหม่ อเดลถูกความเจ็บปวดและผิดหวังจากตัวเคเดนกำกับให้เนรเทศตัวเองออกไปจากชีวิตของเคเดน โอลีฟลูกสาวถูกความเจ็บปวดจากความผิดหวังในตัวเคเดนกำกับเอาไว้จนวาระสุดท้ายของชีวิต ดังที่ชู้รักของเธอหลอกเอาไว้เพื่อให้เธอตัดใจและกีดกันไม่ให้พบเคเดน เช่นเดียวกับผู้หญิงของเคเดนทุกคนที่ต่างมีชีวิตพลิกผันไปเมื่อได้คบหากับเคเดน

หรือแท้จริงแล้วเราต่างกำกับชีวิตของกันและกันไว้ด้วยความเจ็บปวด

เศษซากของตัวตน
 

นอกจากความอลหม่านของเรื่องและชะตากรรมของตัวละครที่ปวดร้าว เศษซากเหตุการณ์ สถานที่ และเวลาที่เคเดนฉีกออกเป็นส่วน ๆ แล้วดึงเราเข้าไปร่วมในฉาก พร้อมกันนั้นก็ดึงเราออกมาเป็นคนดูในฐานะผู้กำกับก็ชวนให้คนดูฉงนได้ไม่แพ้กัน

นับเนื่องแต่ฉากแรก เคเดนหมกมุ่นอยู่กับตนเองมาก เห็นได้จากขณะที่เขาดูโทรทัศน์ในแต่ละฉาก จะมีหน้าของเขาปรากฏเป็นตัวละครในโทรทัศน์อยู่เสมอ เช่นเดียวกับอาการป่วยของเขาที่จำเพาะเจาะจงต้องเป็นอาการที่อวัยวะอัตโนมัติผิดปกติ เช่น น้ำลายไม่ไหล ไม่มีน้ำตา ควบคุมการสั่นของขาไม่ได้ ยิ่งทำให้เขารู้สึกถึงตัวตนของเขาชัดเจนขึ้นอีก เพราะต้องคอยบังคับอวัยวะอัตโนมัติเหล่านี้ให้ทำงานอยู่ตลอดเวลา

ทว่าตัวตนของเคเดนเริ่มแตกร้าวขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในช่วงที่เคเดนเอาจริงเอาจังกับการสร้างสตูดิโอในโกดังขนาดยักษ์ เขาจำลองแต่ละฉาก แต่ละเหตุการณ์ในชีวิตไว้ในโกดัง หาคนมาแสดงเป็นตัวเขา พร้อมกันนั้นก็ยืนกำกับอยู่ข้างนอก ทว่าเส้นแบ่งระหว่างเคเดนและคนที่แสดงเป็นตัวเขาเองกลับพร่าเลือนลงเรื่อย ๆ เช่นในวันหนึ่งเขาสืบที่อยู่อเดล ภรรยาคนแรกมาได้ เขาจึงออกไปตามหาห้องของเธอ และพบกับหญิงชราแปลกหน้าที่อ้างว่าเป็นเพื่อนข้างห้องของอเดลและให้กุญแจห้องมา เมื่อเขาเข้าไปในห้องก็พบว่าเธอทิ้งโน้ตให้ทำความสะอาดให้ด้วย ทั้งที่เป็นเรื่องในชีวิตจริงแต่ทุกอย่างกลับเหมือนมีบทกำหนดไว้แล้วและเขาเองนั่นแหละต้องแสดงตามนั้น

เมื่อเขากลับมาที่บ้านของภรรยาคนใหม่ เขาโกหกเพื่อให้เธอสบายใจ แต่คนที่แสดงเป็นตัวเขาในฉากเดียวกันนี้กลับพูดความจริงว่าเคเดนไปทำความสะอาดที่บ้านภรรยาคนเก่า นั่นเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ภรรยาใหม่จากเขาไป ฉากนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความพร่าเลือนของเคเดนและคนที่แสดงเป็นเคเดนว่าแท้จริงแล้วใครคือนักแสดงและอะไรคือการแสดง ระหว่าง "เคเดนตัวจริง" ที่ "โกหก" ภรรยาใหม่ หรือ "เคเดนนักแสดง" ที่ "พูดความจริง" กับภรรยาใหม่ที่เป็นนักแสดง

การรื้อสร้างเพื่อถอดถอนอัตตา

ขณะที่กำลังมึนงงอยู่กับความพร่าเลือนของตัวตนที่กำลังสลายลงไปเรื่อย ๆ Kaufman ก็บิดเรื่องให้ดูเหมือนจะเข้าสู่ไคลแม็กซ์ เมื่อเคเดนที่เป็นนักแสดงกระโดดตึกตายจริง ๆ ในฉากที่เคเดนตัวจริงเกือบจะกระโดดตึกแต่มีคนช่วยไว้ พวกเขาทำพิธีศพให้เคเดนนักแสดง และเคเดนก็ดูเหมือนจะพบสัจธรรมที่เป็นแก่นของหนังเรื่องนี้คือตัวตนของเขาไม่มีอยู่จริง แต่เพียงแวบเดียวเท่านั้น ฉากนี้ก็กลับกลายเป็นฉากในละครเวทีที่มีเคเดนตัวจริงยืนกำกับอยู่ข้างนอกพร้อมกับนักแสดงเป็นเคเดนคนใหม่ ฉากที่ควรจะเป็นไคลแม็กซ์ของหนังกลับกลายเป็นฉากหนึ่งในละครเวทีของเคเดนเท่านั้น

หลังจากฉากนี้ Kaufman ค่อย ๆ ให้เคเดนถอยห่างจากบทบาทผู้กำกับออกไปเรื่อย ๆ โดยมีคนที่รับบทเป็นคนทำความสะอาดมารับบทเป็นผู้กำกับแทน ส่วนเขาออกไปรับบทเป็นคนทำความสะอาด แล้วฉากงานศพที่ดูเหมือนจะเป็นไคลแม็กซ์นี้ก็วนซ้ำกลับมาอีกครั้ง แต่คราวนี้ประโยคสรุปแก่นเรื่องที่เคยออกจากปากของเคเดน กลับเป็นบาทหลวงคนหนึ่งที่ได้บทพูดนี้ไป โครงสร้างของหนังและละครเวทีซึ่งเป็นอัตตาแท้จริงของเคเดนเริ่มพังทลายจากการถูกรื้อสร้าง (Deconstruction) ครั้งแล้วครั้งเล่า

และนับจากฉากนี้ไป ละครเวทีซึ่งบอกเล่าชีวิตของเคเดนกลับดำเนินไปเรื่อย ๆ โดยที่ไม่มีเคเดน (ซึ่งกำลังรับบทเป็นคนทำความสะอาด) กำกับอีกต่อไปแล้ว นั่นคือ "เรื่องของเคเดน" ไม่จำเป็นต้องมีเคเดนก็ยังดำเนินเรื่องต่อไปได้ และเคเดนจะค่อย ๆ ถอยห่างออกไปจากชีวิตตนเองเรื่อย ๆ จากนี้ไปผู้ชมจะเริ่มสับสนกับชื่อตัวละครและบทบาทที่แต่ละตัวจะได้รับแล้ว คำว่า "I" ที่เคเดนพูดจึงคลุมเครือขึ้นเรื่อย ๆ อาจหมายถึงเคเดน หมายถึงคนทำความสะอาด หรือหมายถึงใครก็ได้ในเรื่องนี้

ในตอนท้ายเรื่อง เมื่อเขาถอยห่างออกมาจากตัวตนจนลมหายใจของเขาแทบจะไม่ได้หมายถึงใครแล้ว เขาก็ได้พบกับโน้ตของอเดลภรรยาคนแรกที่บอกเล่าถึงความเจ็บปวดต่าง ๆ ในชีวิตที่ได้เผชิญมา เขาจึงได้เรียนรู้ว่า ชีวิตที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวดและสับสนของเขานั้นช่างกระจ้อยร่อย แท้จริงแล้วชีวิตที่แต่ละคนล้วนเป็นตัวเอกของตัวเองต่างก็มีความเจ็บปวดไม่ต่างจากเขาเลย

ในที่สุดแล้ว เขาเดินทางออกมาจากอัตตาของตัวเองจนไกลสุดกู่ นับแต่ฉากที่เขาพูดเรื่องความไร้ตัวตน (ตอนที่เขาพูดในงานศพนักแสดงคนแรก) ทั้งที่เขาควรจะเรียนรู้เรื่องนี้นับแต่วินาทีที่พูดประโยคนั้นแล้ว แต่เปล่าเลย เขาเพิ่งจะเข้าใจมันจริง ๆ ก็ต่อเมื่อเดินทางมาถึงวินาทีสุดท้ายของหนังเท่านั้น นั่นคงจะเป็นเพราะว่า การพูดว่าไร้ตัวตนนั้นพูดไม่ยาก แต่กว่าจะถ่องแท้ในประโยคดังกล่าว จะต้องใช้การรื้อสร้างเพื่อถอดหลายต่อหลายสิ่งที่ประกอบขึ้นเป็นตัวตนของตัวเองไม่รู้กี่ชั้นต่อกี่ชั้น

the epic of SMALLEST things and the Death of Director

Charlie Kaufman ได้สร้างงานระดับ epic ขึ้นอีกหน้าหนึ่งในวงการภาพยนตร์ Synecdoche, New york เป็นภาพยนตร์ที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตทั้งด้วยสเกลเรื่องเล็กนิดเดียวและยิ่งใหญ่มหึมาไปพร้อมกัน แม้จะเป็นเพียงชีวิตเล็ก ๆ ชีวิตหนึ่ง แต่ก็เป็นมหากาพย์ที่หนักหน่วงเหมือนระดมคลื่นยักษ์เข้าใส่สมองและหัวใจไม่หยุดยั้ง เช่นเดียวกับความหมายของคำว่า Synecdoche ที่หมายถึงการพูดถึงบางส่วนเพื่อหมายถึงทั้งหมด การพูดถึงบางส่วนของชีวิตเคเดน อาจหมายถึงทั้งหมดของชีวิตเคเดน ทั้งหมดของชีวิตศิลปิน หรือกระทั่งทั้งหมดของชีวิตมนุษย์ ล้วนเป็นไปได้ทั้งสิ้น

การตั้งคำถามต่อตัวตน ความหมายของศิลปะและชีวิต ดูเหมือนจะเป็นคำถามที่ถามกันมาเนิ่นนานหลายศตวรรษ แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ได้เขย่าให้เราลุกขึ้นตั้งคำถามกับตัวเองอย่างจริงจังกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา นอกจากนี้ การค่อย ๆ หายตัวไปของผู้กำกับและการสลายเส้นแบ่งระหว่างตัวละครต่าง ๆ นั่นคือการเปิดพื้นที่ให้ผู้ชมได้แทรกซึมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของภาพยนตร์อย่างไม่รู้ตัว เฉกเช่นคำประกาศเรื่องมรณกรรมของผู้แต่งของโรลอง บาร์ต ที่จากนี้ไปผู้ชมจะต้องเติมชีวิตของตนลงไปใน epic ของตนเองเพื่อค้นหาความหมายของชีวิต


วุฒินันท์ ชัยศรี
๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๖

วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

นิรโทษกรรม (๓)



๏ คราวหลังอย่าประเมินผิวเผินอีก
คราวหลังอย่ารู้หลีกมีปีกหาง
คราวหลังอย่าคิดทำเรื่องอำพราง
เดี๋ยวจะหมดสิ้นทางถอนตัว

๏ คราวหลังอย่าแปรรูปนิติรัฐ
ให้หมดเสี้ยนขวางขัดพวกคนชั่ว
คราวหลังเรื่องเวรกรรมจงรู้กลัว
อย่ามืดมัวหลงอำนาจประกาศชัย

๏ คราวหลังอย่าเหยียบย่ำซ้ำเติมศพ
ควรเคารพอย่าย่ำยีแม้สีไหน
ว่าเขาเป็นฆาตกรก่อนนี้ไย
แล้วทำไมไม่เอาเขาไปเข้าคุก!

๏ อย่าทำเหมือนบ้านเมืองเป็นเรื่องเล่น
อย่ามองเห็นบ้านเมืองเป็นเรื่องสนุก
เร่งแต่สุมไฟฟอนให้ร้อนทุกข์
คงสักวันเถอะกลียุคจะเยี่ยมยล

๏ คลื่นมหาประชาราษฎร์เริ่มทบทวี
เท่านี้การต่อสู้ก็รู้ผล
เมื่อมองเห็นคนไทยไม่ใช่คน
ก็ปี้ป่นแบบนี้แหละที่รัก! ๚ะ๛

วุฒินันท์ ชัยศรี
๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๖

วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เลิกบุหรี่

เห็นเธอสูบบุหรี่ฉุย
แล้วพ่นควันปุ๋ยปุ๋ย
เท่กว่าใคร


อยากลองสูบบุหรี่บ้าง
เผื่อจะได้หาทาง
มาชิดใกล้


แต่ฉันแพ้ควันบุหรี่
ฉันเลยเป็นคนดี
(สสส. ว่าไว้)


กว่าจะหัดสูบบุหรี่
เธอก็คงเดินหนี
ไปแสนไกล


งั้นเลิกสูบบุหรี่กัน
เริ่มเลิกที่ตัวฉัน
เลิกทันใด


สูบบุหรี่เป็นมะเร็ง
เธอเป็นแล้วคงเซ็ง
เธอว่าไหม


ถ้าไม่มีควันบุหรี่
จะทวงคืนพื้นที่
เพื่อชิดใกล้


เลิกบุหรี่แล้วมีแฟน
มีคนให้ควงแขน
เธอสนไหม?



๘ พ.ย. ๒๕๕๖

วันอาทิตย์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

จะไม่มีสงครามครั้งสุดท้าย!



๏ "จะไม่มีสงครามครั้งสุดท้าย!"
หากไม่เห็นความตายมีคุณค่า
หากไม่เห็นคนตายในสายตา
หากเห็นการเข่นฆ่าคือชอบธรรม

๏ เพลิงกาฬใกล้มอดจะปะทุ
หากเร่งสร้างพายุโหมกระหน่ำ
หากยัดเยียดกฎหมา-สาริยำ
มาเหยียบซ้ำซากศพทบทวี

๏ จะเปลี่ยนจากยุคเข็ญเป็นกลียุค
หากเร่งรุกชำเรารัฐน่าบัดสี
หากเร่งเติมแรงต้านการต่อตี
"จะไม่มีสงครามครั้งสุดท้าย!" ๚ะ๛



-----------
วุฒินันท์ ชัยศรี

๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๖

วันเสาร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

นิรโทษกรรม (๒)


เอาวะ! เลือดเพื่อนก็เลือดเพื่อน
มันไม่เหมือนเลือดกูหรอกเหวย
ขอยกมือหน่อยนะอย่าโกรธเลย
คนคุ้นเคยอย่าขุ่นเคืองเรื่องนิดเดียว

แหมก็เสียงข้างมากเขาว่ามา
สมองหม... เอ่อ... สมองข้าแม้เห็นต่างอย่างเฉลียว
แต่ฝักถั่วเพื่อนกูก็กรูเกรียว
มันเสียวเสียวถ้าไม่ยกจะตกงาน

ว้าเว้ย! ไม่เป็นกูไม่รู้หรอก
มติพรรคเขาบอกอย่างหน้าด้า... เอ่อ... ซาบซ่าน
ยึดมั่นประชาธิปไตยในหลักการ
ตามสันดานเสียงข้างมากมันลากเอา

ก็นะ! เลือดเพื่อนก็เลือดเพื่อน
เปื้อนมือสักหน่อยอย่าหงอยเหงา
เลือดเพื่อนหรือเลือดใครใช่เลือดเรา
เช็ดตูดก็หายเศร้านะเพื่อนรัก!


วุฒินันท์ ชัยศรี
๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๖

"ในกรณีนี้ ผมทำหน้าที่โหวตในฐานะ ส.ส. ถึงแม้ผมไม่เห็นด้วยในมาตรานี้ แต่ในเมื่อพรรคมีมติเสียงข้างมากมาแล้วว่าเห็นด้วยตามร่างของกรรมาธิการ จึงคิดว่าควรมีวินัยและเดินตามมติพรรค มิฉะนั้นผมอาจจะกลายเป็นเหมือน ส.ส.บางพรรคที่ชอบตีรวนในสภา ไม่เคารพต่อเสียงข้างมาก จนก่อเหตุวุ่นวายหลายครั้ง ทำให้ภาพลักษณ์สภาเสื่อมเสีย ซึ่งผมมองว่าไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง ดังนั้นผมต้องไม่เหมือนพวกเขา ผมต้องเคารพกติกาเป็นหลัก" ---- ก่อแก้ว พิกุลทอง

จากข่าว "เปิดชื่อ 18 ส.ส.เสื้อแดง โหวตหนุน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอย"
http://www.isranews.org/%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%88%E0%B8%99-%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%B2/item/24797-dang.html

วันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

นิรโทษกรรม


ให้หลั่งเลือด, ชั่วข้ามคืนก็กลืนเลือด
แม้ยังไม่แห้งเหือดฤาเลือนหาย
โบราณกล่าว, เสร็จนาให้ฆ่าควาย
แต่ขุนพลคนร้ายยังอยู่ครบ!

ทะลุซอยยังไม่ไหวไปผิดซอย
โจรบ้าห้าร้อยคอยเลี่ยงหลบ
ฝักถั่วเต็มสภาน่าบัดซบ
เหยียบกี่หมื่นแสนศพจึงรู้พอ

นิรโทษฯ คือเนรเทศนิติรัฐ!
ตกต่ำเหมือนส่ำสัตว์เสียแล้วหนอ
จากนี้ใครฆ่าใครไม่รั้งรอ
กุมอำนาจแล้วจึงขอนิรโทษกรรม

คราบเลือดไม่แห้งเหือดไม่จางหาย
คราบน้ำลายเคยก่นด่าช่างน่าขำ
เราฆ่าหรือเขาฆ่าสาริยำ
สุดท้ายก็กลับคำเพียงชั่วคืน

หลงว่าเสร็จหน้านาฆ่าโคถึก
ทว่าศึกเพิ่งเริ่มต้น-คนเริ่มตื่น
นอนกอดระเบิดเวลาอยู่เต็มกลืน
คนอาสัตย์จะหยัดยืนสักกี่น้ำ!


วุฒินันท์ ชัยศรี
๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๖

วันพุธที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2556

แม่สาย



วันก่อนวิทยุเปิดเพลง "แม่สาย" เลยคุยกับพี่ในที่ทำงานว่า คนสมัยก่อนนี่ช่างมีเวลาละเมียดละไมกับเนื้อเพลงเหลือเกิน เพลงนี้ใช้เวลาเล่าเรื่องเกือบ ๆ 5 นาที แถมกว่าจะเข้าเรื่อง ยังมีเกริ่นนำอย่างกับเรื่องสั้นสมัยก่อน

"ฟากฟ้ายามเย็น เห็นแสงรำไร อาทิตย์จะลับโลกไป พระจันทร์จะโผล่ขึ้นมา..." เปิดด้วยการบรรยายฉากว่าถึงตอนเย็นแล้วนะ อันนี้เรื่องสั้นสมัยก่อนทำกันเยอะจริง ๆ (แม้แต่สมัยนี้) คิดอะไรไม่ออกเกริ่นฉากไว้ก่อน

"หมู่มวลวิหค เหินลมอยู่กลางเวหา จะกลับคืนสู่ชายคา ชายป่าคือแหล่งพักพิง..." ตามด้วยการเล่าว่าเย็นแล้วนกมันก็บินกลับรัง แต่มีนกบางตัว (คือนางเอกในเพลง) ยังไม่กลับบ้าน เอาล่ะเข้าเรื่องซะที เบ็ดเสร็จใช้เวลาเกริ่นเรื่องนาทีกว่า ๆ ยังไม่เข้าท่อนบริดจ์ ท่อนฮุกเลย นี่ถ้าเพลงสมัยนี้ต้องยิงเข้าฮุคตั้งแต่ต้นนาทีแล้ว

"เมื่อรู้สึกตัวว่าสายเกินไป หมื่นพันที่เธอผ่านชาย หัวใจเธอจึงเย็นชา สังคมกระหน่ำ ซ้ำสองเธอต้องติดยา ไม่คิดหวนคืนบ้านนา ปรารถนาเพียงยาเมา" นั่นไง ยิงฮุคแล้วไม่พอ ยังทวีความขัดแย้งเข้าไปอีก นี่เพลงรึเรื่องสั้นวะเนี่ย แล้วก็ส่งมาที่ไคล์แมกซ์ของเรื่องว่า "ผู้เฒ่าล้มป่วย คนช่วยไปบอก เธอจึงจากเมืองบางกอก หวังไปให้ทันเวลา...นกน้อยกลับมาแค่ทันพระสวด ใครเล่าเจ็บปวดรวดร้าวเท่าสาวเมืองเหนือ"

ยังไม่พอ ตอนจบยังตั้งคำถามกับ "ความเป็นเรื่องเล่า" อีก ว่า "สังคมเมืองไทย ใครฟังเขาคงไม่เชื่อ..." ทำนองว่าเรื่องบางเรื่องเหมาะจะเป็นเรื่องจริงมากกว่า

ยังไม่นับภาษา การเล่นคำ "แม่สายที่เธอจากมา เหมือนวาจาว่าสายเกินไป" ความเปรียบ (metaphor) ให้เธอเป็น "นกน้อยจากท้องนาราคาถูก" ฯลฯ

ฟังจบเพลง เหมือนอ่านเรื่องสั้นจบเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว แต่ก่อนนี่มีเวลาฟังเพลงเยอะกันจริง ๆ ถ้าเป็นคนสมัยนี้เวลาไม่ค่อยมี เพลงเปิดมาก็ ฉันรักเธอ อะอึ๊อ๊ะ... จบ ล่ะมั้ง 555

วันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ช่อการะเกด ลด 50%!!



ได้ยินข่าวว่าหนังสือช่อการะเกดรุ่น 3 ลดราคา 50% ก็ใจหาย ในที่สุดก็ถึงคิวลดราคาสะบั้นหั่นแหลกของสนามเรื่องสั้นในตำนาน นึกถึงหนังสือช่อการะเกดรุ่น 3 ราคาเต็มทุกเล่มของตัวเองที่บ้าน แถมยังถ่อไปซื้อถึงออฟฟิศ ฅ. คน สมัยอยู่ซอย 43/1 แทบทุกเล่มอีกต่างหาก สมดังที่ศิษย์เก่าช่อฯ ร่วมรุ่นคนหนึ่งแซวว่าเป็น "ศิษย์ช่อฯ ผู้รักสถาบัน"

การกลับมาและการมีอยู่ของช่อการะเกด ยุค 3 ทำให้ผม "มีไฟ" เขียนเรื่องสั้นอย่างเป็นบ้าเป็นหลังในช่วงหนึ่ง (แม้ว่าการ "เปิดซิง" ตีพิมพ์ครั้งแรกจะไม่ได้เริ่มที่ช่อการะเกดก็ตามที) ในทุก ๆ ไตรมาสก็จะมีงานส่งไปให้พี่สุชาติได้ผ่านตาอยู่เสมอ แล้วพอถึงแต่ละรอบไตรมาสก็จะคิดขึ้นมาว่า เอ... คราวนี้จะเขียนอะไรให้ชนะใจพี่สุชาติดีนะ คิดแค่นี้ก็ดูเหมือนว่าประดาพล็อตพิลึกๆ  กลวิธีเล่าเรื่องแปลกๆ ฯลฯ พากันไหลมาเทมาให้ลองเขียนอย่างสนุกสนาน แม้ว่าแทบทุกไตรมาสจะลงเอยด้วย "ผ่านเลย" นาน ๆ ครั้งก็ "ผ่านรอ" ให้ชื่นใจเล่น แต่ก็ไม่เคยเข็ด ยังทำหน้ามึนขยันส่งไปให้แกอยู่เรื่อย ๆ

อาจจะเพราะเหตุนี้ พี่สุชาติจึงเกิดความเมตตากรุณาปนสงสารที่เห็นเด็กอ้วน ๆ คนหนึ่งส่งเรื่องสั้นมาแทบทุกไตรมาส จึงทำให้เล่มรองสุดท้ายคือเล่ม 54 ได้ผ่านเกิดสมใจ จำได้ว่าคอมเม้นต์เรื่องสั้นที่ได้ผ่านเกิด พี่สุชาติเขียนไว้ว่า "ขอให้ใจเย็น ๆ ไม่ต้องรีบร้อนที่จะมีชิ้นงานในทุกฉบับ..." คงเพราะเค้าเห็นว่าไอ้อ้วนนี่ขยันส่งมาเหลือเกิน ใจเย็น ๆ ค่อย ๆ ขัดเกลาให้ถึงที่สุดก่อนค่อยส่งมาก็ได้นะ 555

ผลจากการมีอยู่ของช่อการะเกดตลอด 3 ปี นับแต่เล่ม 42 - 55 นอกจากจะทำให้ผมได้ฝึกฝีมือเขียนเรื่องสั้นโดยมีแรงผลักดันว่า "อยากชนะใจ บก. ในตำนานอย่างพี่สุชาติสักครั้ง" ยังทำให้มีเรื่องสั้นในมืออีกกลุ่มหนึ่งที่เอามาขัดเกลาใหม่และได้ผ่านเกิดในเวทีอื่น ๆ เช่นเรื่องสั้นแนวทดลองที่รวมเล่มส่งรางวัลยังไทยอาร์ตติส 2011 และแนวไม่ทดลอง (55) ที่รวมเล่มส่งในปี 2012 หรือกระทั่งเรื่องสั้น "การตามหาหนังสือนิยายฯ" ที่ได้รองชนะเลิศนายอินทร์ฯ ปีก่อน ก็เป็นหนึ่งในเรื่องสั้นที่ตั้งใจว่าจะส่งเป็นลำดับถัดจากการได้ผ่านเกิด (แต่ขัดเกลาไม่ทันส่ง ช่อการะเกดปิดตัวไปซะก่อน)

ยอมรับว่าการจากไปของช่อการะเกดส่งผลสะเทือนต่อแรงบันดาลใจในการเขียนเรื่องสั้นของผมอยู่พอสมควร จากแสงไฟที่เคยทนฟ้าฝนเป็นตะเกียงเจ้าพายุ วันนี้เหลือแค่แสงเทียนเล่มเล็กๆ กลางสายฝนจวนจะดับมิดับแหล่ แม้ว่ายังเหลือนิตยสารอีกหลายหัวและงานประกวดอีกหลายงานให้ประลองฝีมือก็ตามที ที่สุดแล้วมันอาจเร้าใจน้อยกว่าการนึกถึงหน้า บก. เครางาม แล้วบอกกับตัวเองว่า ไหนลองเขียนอะไรใหม่ ๆ ไปชนะใจแกสักครั้งซิ แต่ก็คงพยายามเขียนต่อไป ลับฝีมือไว้ด้วยความหวังว่าอีกไม่นานคนรักวรรณกรรมสักคนหรือสักกลุ่มคงจะปลุกปั้นให้ช่อการะเกดกลับมาได้อีกครั้ง

สุดท้ายนี้อย่าลืมไปซื้อตำนานอีกบทหนึ่งของวงการเรื่องสั้นไทยมาเก็บสะสมไว้นะครับ โดยเฉพาะเล่ม 54 ที่กล่าวกันว่ามีนักเขียนหน้าตาดีได้ผ่านเกิดเปิดซิงช่อการะเกดเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายในยุคที่ 3 อิอิ (โฆษณาแฝง)

วันพุธที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เธอรักฝน


เธอที่รัก...เธอรักฝน
เป็นไปได้ว่าชาติที่แล้วเธอเกิดเป็นกบอ๊บอ๊บ
จึงเริงร่ายามท้องฟ้าโรยน้ำเย็นชุ่มฉ่ำ
และผลิบานราวบุปผาต้องละอองน้ำค้าง

เธอที่รัก...ฉันเกลียดฝน
เมื่อม่านฟ้าเทาหอบมวลสารความเศร้ามาทับถม
มันหนาวเหน็บเกินกว่าการกอดตัวเองของฉันจะทานทน
น้ำตาฟ้าทยอยร่วงหล่นแข่งกับน้ำตาฉันเอง

เธอที่รัก...ฉันรักเธอ
แม้ม่านฝนจะทำให้ความสุขของเราสวนทาง
แต่ฉันก็หลงรักรอยยิ้มของเธอในวันฝนตกเสมอมา
ขอแค่เธอแบ่งปันอ้อมกอดซึ่งโอบล้อมเมฆฝนอย่างเริงใจ
มาให้ฉันที่กำลังร้องไห้และหนาวเหน็บบ้างเท่านั้น

๑๖ ต.ค. ๕๖

*ขอบคุณภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

วันอาทิตย์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2556

6 ตุลา


๖ ตุลาฯ หวนมาอีกคราครั้ง
ทุกร่องรอยความหลังความคลั่งบ้า
มรดกความเกลียดชังยังติดตา
เราเข่นฆ่ากันในนามของความดี

ปลุกระดมคนไทยคอยไล่ล่า
ลงเอยด้วยการฆ่าน่าบัดสี
สามทศวรรษผ่านนานปี
ถึงวันนี้มีอะไรไม่เหมือนเดิม?

ยังมีฝ่ายรักล้นเสียจนคลั่ง
ส่วนฝ่ายชังก็เกลียดชังทั้งส่งเสริม
รอยเลือดและน้ำตามาต่อเติม
ยิ่งพูนเพิ่มเรื่องราวปวดร้าวใจ

๖ ตุลาฯ หวนมาอีกคราครั้ง
เราก็ยังแค้นเคียดเกลียดกันใช่ไหม
เราส่งต่อมรดกสุมอกใคร
เราต้องฆ่ากันต่อไปใช่ไหมที่รัก?

เก้าอี้ในมือต่างถือไว้
เราจะเข่นฆ่าใครใจคงประจักษ์
ตราบที่สุมไฟเกลียดเคียดแค้นนัก
เราคงชักมาฟาดฟันกันต่อตา

ประวัติศาสตร์อัปยศแสนอดสู
เราเรียนรู้, หรือจะรั้งความคลั่งบ้า
ผ่านคืนวันสกปรก ๖ ตุลาฯ
เราเข่นฆ่าความเกลียดชังหรือยังนะ?


วุฒินันท์ ชัยศรี
๖ ตุลาคม ๒๕๕๖

วันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2556

แม่วงก์


จะชะนะหรือแพ้นะแม่จ๋า
วันก่อนเห็นคนบ้ามาพูดเล่น
กูจะล้างหมดป่าหาใช่ประเด็น
ต้องมุ่งเน้นเรื่องน้ำท่วม, จงร่วมมือ

บางทีเราอาจแพ้นะแม่จ๋า
จะพูดดีหรือก่นด่าเขายังดื้อ
ไม่มีคนมาสนใจไม่หืออือ
กฎหมู่คือประชาธิปไตย-ตามใจกู!

แน่ล่ะ, เราอาจแพ้นะแม่จ๋า
แต่หัวใจสั่งมาว่าต้องสู้
มีก็แต่สองเท้าลองก้าวดู
ก้าวเดินสู่ศิวิไลซ์กลางใจเมือง

บางทีเราอาจชะนะ, นะแม่จ๋า
เมื่อคลื่นคนยังเคลื่อนมาคอยหนุนเนื่อง
บางทีฟ้าสีทองอาจรองเรือง
และคนเขื่องจะหมดค่าราคาคน!

หวังว่าเราจะชะนะ, นะแม่จ๋า
ลูกของแม่ทยอยมาเหมือนห่าฝน
กลายเป็นคลื่นมวลมหาประชาชน
จะถั่งท้นไปพังเขื่อนคนเถื่อนแล้ว!


๒๒ กันยายน ๒๕๕๖

วันจันทร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2556

จดหมายถึงหญิงสาวในโลกคู่ขนาน ฉบับที่ 1


ฉันจะเริ่มต้นจดหมายนี้อย่างไรดี อันที่จริงแล้วการเริ่มต้นจดหมายที่เขียนถึงเธอไม่เคยเป็นเรื่องยากสำหรับฉันเลย ฉันจำความรู้สึกนั้นได้ กระดาษเปล่าวางตรงหน้า มือขวากุมกำปากกาลูกลื่นสีน้ำเงิน ขนาดเส้น 0.7 (ไม่รู้ว่าเธอจำได้หรือเปล่าว่าอันที่จริงฉันชอบปากกาที่มีขนาดเส้น 1.0 ขึ้นไป มันทำให้ความคิดของฉันพรั่งพรูราวกับตาน้ำนิรันดร์ แต่ฉันก็เกรงว่ากระดาษจะเลอะเปรอะเปื้อนจนทำให้เธอรำคาญ) แล้วทุกคำที่ฉันอยากพูดก็ไหลลงสู่กระดาษ ไม่มีการเรียบเรียง ไม่ขึ้นต้นด้วยเปิดเรื่อง ตามด้วยเนื้อหา ลงท้ายด้วยสรุปความเหมือนในเรียงความที่เคยเรียนกันในตอนมัธยมฯ ฉันพูดโพล่งถึงสิ่งที่อยากพูด แล้วจบลงเมื่ออยากจบทั้งที่ข้อความอาจจะยังค้างเติ่งอยู่กลางเรื่อง ฉันคิดว่าเธอคงจะชินเสียแล้วกับจดหมายไม่มีที่มาที่ไป แล้วจบลงเช่นเดียวกับตอนเริ่ม ซึ่งไม่ได้มีสาระอะไรมากไปกว่าคำบ่นเบื่อไร้สาระของฉัน แม้เธอเคยบอกว่าฉันควรจะเก็บเรื่องราวเหล่านี้ไปเล่าให้แม่ฟังดีกว่า แต่ฉันก็พอจะจำได้ว่าฉันเคยเปรียบเธอกับแม่ของฉันว่าเป็นคนที่มีบรรยากาศคล้าย ๆ กัน จึงทำให้ฉันไม่ตะขิดตะขวงใจที่จะเล่าเรื่องโดยไม่ผสมความเกรงใจให้เธอฟังมาโดยตลอด แต่วันนี้เงื่อนไขทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป เธอกลายเป็นอีกคนซึ่งฉันไม่เคยรู้จัก อันที่จริงฉันควรจะรู้นับตั้งแต่วันที่เราได้พบกันอีกครั้ง แต่เป็นฉันเองแหละที่แกล้งทำเป็นไม่ใส่ใจ เพียงเพราะฉันต้องการเวลาอีกสักนิด แม้จะรู้ว่าเวลาไม่ใช่ยา แต่การเยียวยาจำเป็นต้องใช้เวลา เธอคงไม่ใจร้ายถึงขนาดรีบร้อนผลักไสให้ความจริงอันน่ากลัวเหมือนแทร็กเตอร์ยักษ์เคลื่อนเข้ามาบดขยี้ฉันซึ่งเปราะบางกว่าฟองสบู่ที่บังเอิญเกิดขึ้นตอนเธออาบน้ำ

อาจจะเป็นสองเดือน สามเดือน หรือครึ่งปีที่ฉันไม่ได้เขียนจดหมายถึงเธอ ฉันไม่แน่ใจ ฉันไม่ได้จดวันที่ลงท้ายจดหมายฉบับก่อนหน้าเอาไว้ ทั้งที่ฉันรู้อยู่แก่ใจว่านั่นจะเป็นจดหมายฉบับสุดท้ายที่ฉันจะส่งถึงเธอในโลกแห่งความจริง (ซึ่งมันก็จบห้วน ๆ ราวกับจะมีภาคต่อ และอาจทำให้เธอคาดหวัง หรือเธออาจไม่เคยคาดหวัง) ทั้งที่นิสัยของฉันน่าจะต้องมีตัวเลขในใจอยู่บ้าง เช่นว่าฉันจำได้ว่าฉันเคยคบกับผู้หญิงคนหนึ่งนาน 2 ปี 2 เดือน 13 วัน นั่นหมายถึงฉันจำวันแรกและวันสุดท้ายที่ทั้งสองคนคบกันได้ แต่กับจดหมายฉบับสุดท้ายที่ส่งถึงเธอ ฉันจำไม่ได้เสียแล้วว่าเป็นวันไหน แต่นั่นก็อาจจะเป็นเรื่องดี เพราะเพียงแค่เรื่องราวรางเลือนในกระแสสำนึกซึ่งฉันพยายามเติมมันให้อัดแน่นด้วยทุกสิ่งทุกอย่างนอกจากเรื่องของเธอ กระนั้นภาพของเธอก็ยังติดตรึงอยู่ในนั้นไม่เคยจางหาย หากมันผสมรวมกับตัวเลขละเอียดลออ ยิ่งจะทำให้เรื่องของเธอชัดเจนกว่านี้ นั่นคือใบมีดคมกริบที่พร้อมจะสร้างแผลในซอกหลืบของใจได้ทุกเมื่อ

อ่านมาสองสามย่อหน้า ฉันก็ยังไม่เข้าเรื่องเสียที เธอคงสงสัยว่าฉันเขียนจดหมายมาบอกอะไร ข้อนี้ฉันอาจตอบได้ไม่ชัดเจนพอ แต่ถ้าเปลี่ยนคำถามเป็นเพื่ออะไร แล้ววิสัชนาว่าฉันต้องการเพียงเปิดเปลือยความรู้สึกอันน่าสมเพชเพื่อเรียกร้องขอความเห็นใจจากเธอ  ฉันลองถามตัวเองด้วยคำถามนั้นซึ่งคำตอบคือไม่ใช่ แน่นอนว่ามันเป็นความรู้สึกที่น่าสมเพช แต่ที่สุดแล้วมันก็เป็นเพียงคำอธิบายอย่างตรงไปตรงมาของฉันซึ่งไม่ได้ผ่านการคิดอย่างซับซ้อนแล้วซ่อนมันด้วยคำโกหกสั้น ๆ ที่ให้ผลลัพธ์เดียวกัน ฉันไม่อยากใช้วิธีการเช่นนั้นกับเธอ ยกตัวอย่าง สมมติว่าวันนี้ฉันไม่อยากกินข้าวเย็น โดยไม่มีเหตุผลอะไรที่หนักแน่นพอฟัง เพียงแค่ไม่อยากกินข้าวเย็นเท่านั้น เมื่อเพื่อนถามว่ากินข้าวเย็นหรือยังเพื่อชวนฉันไปร่วมโต๊ะ ฉันคิดล่วงหน้า ถ้าฉันตอบว่ายังไม่กินแต่ไม่อยากกิน เพื่อนก็ต้องถามเหตุผล คาดเดาไปต่าง ๆ นานา อาจคิดว่าฉันป่วย หรือจะไดเอ็ตลดความอ้วน ฉันแก้ต่างว่าไม่ใช่แต่ก็ไม่มีเหตุผลดีพอ เพื่อนคงคิดว่าฉันโกหก และพยายามซักไซ้อย่างนักสืบเพียงเพื่อให้ตรรกะของพวกเขาสมบูรณ์ ฉันคิดไว้หมดแล้วว่าเรื่องราวของฉันพิสูจน์ไม่ได้ด้วยตรรกะและจะกลายเป็นเรื่องยืดยาว ฉันจึงตัดบทคำชักชวนกินข้าวเย็นของเพื่อนด้วยคำโกหกสั้น ๆ ว่าฉันกินแล้ว แต่ไม่ใช่สำหรับเธอ ฉันพร้อมจะเล่าทุกสิ่งที่ฉันคิดแม้ว่ามันไม่มีเหตุผลมากพอที่เธอจะเชื่อ และไม่มีความใกล้เคียงกับตรรกะชุดใด ๆ ในโลก แต่ฉันก็พร้อมจะเปิดเปลือยความรู้สึกทั้งมวลต่อหน้าเธอ เพราะเธอมีค่าเกินกว่าจะตัดบทด้วยคำโกหก เอาล่ะ กลับมาที่คำถามแรก ฉันต้องการบอกอะไร ฉันลองสรุปเป็นข้อความสั้น ๆ ได้ความว่า: ฉันไม่เคยเจ็บปวดกับเรื่องของเธอแม้ว่าบางครั้งมันจะทำให้เกิดบาดแผลในใจ แต่ฉันกลับอยากลืมเรื่องราวที่เกิดขึ้นระหว่างเราไปให้สิ้น กระนั้นฉันก็ยินดีให้เธอดำรงชีวิตอยู่ในความคิดคำนึงของฉันในฐานะบาดแผลชั่วนิรันดร์ ดีกว่าให้เธอมีตัวตนจับต้องได้ในอ้อมกอด

เห็นไหมล่ะว่ามันฟังดูไม่เข้าท่าเอาเสียเลย ไม่มีเหตุผลไหนที่สอดคล้องกับประโยคข้างต้นแม้แต่น้อย ทำไมฉันถึงอยากลืมเรื่องที่เกิดขึ้นระหว่างเราทั้งที่ฉันไม่ได้เจ็บปวด และหากไม่เจ็บปวดทำไมฉันถึงให้เธอดำรงชีวิตอยู่ในฐานะบาดแผล ฉันตอบคำถามเหล่านี้ด้วยตรรกะไม่ได้เลยสักข้อ แต่เธอเชื่อได้ว่ามันไม่ใช่คำโกหก เพียงแค่ทุกสิ่งเป็นไปเช่นนั้นเท่านั้นเอง หากเธอจะลองจับประโยคนี้มาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ คำเชื่อมประโยคนี้ล้วนมีแต่ความขัดแย้งอย่าง -แม้ว่า แต่ กระนั้น- ฉันพยายามเชื่อมประโยคหลักและอนุประโยคให้สอดคล้องกันแล้วหลายวิธี แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ฉันรู้สึกอย่างแท้จริง (อันที่จริงประโยคที่ว่ามานั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่ฉันรู้สึกจริง ๆ เป็นเพียงประโยคที่ใกล้เคียงสิ่งที่ฉันรู้สึกมากที่สุด เหมือนแบบจำลองอันไม่ผิดแผกซึ่งจำลองมาจากโลกของแบบตามหลักปรัชญาของเพลโต) ความจริงแล้วฉันอาจจะตัดบทด้วยคำโกหกสั้น ๆ ว่า ฉันมีแฟนใหม่แล้ว ซึ่งมันพอจะรวมใจความของประโยคหลัก ๆ ที่กระจัดกระจายอยู่ให้สอดคล้อง เช่นว่า ฉันไม่เคยเจ็บปวดกับเรื่องของเธอ ฉันอยากลืมเรื่องราวที่เกิดขึ้นระหว่างเรา ฉันไม่อยากกอดเธอ แถมยังทำให้เธอรู้สึกสบายใจที่จะได้จบความสัมพันธ์ระหว่างฉันกับเธอเสียที แต่นั่นก็จะเป็นการไม่เคารพความรู้สึกแท้จริงที่ฉันมีต่อเธอ ซึ่งแท้จริงมันเป็นเพียงเส้นด้ายเบาบางที่ไม่เคยขาด แม้ว่าฉันจะพยายามฉุดกระชาก แต่ที่สุดมันก็เป็นการยึดยื้อของฉันเองเพียงเพื่อให้เส้นด้ายดำรงอยู่อย่างเบาบางที่สุดเท่านั้น

เธออาจกล่าวหาว่าฉันอ่านนิยายมากเกินไป และพยายามสมมติตัวเองให้เหมือนพระเอกที่เปล่าเปลี่ยวปวดร้าว จมจ่อมอยู่ในห้องเล็ก ๆ แคบ ๆ ที่มีมวลสารความเหงาอัดแน่นเต็มทุกพื้นที่ เพื่อจะได้รู้สึกดีกับความเจ็บปวดที่ต้องเผชิญทุกเมื่อเชื่อวันอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ฉันเองก็พยายามคิดเช่นนี้ แต่ที่สุดแล้วฉันกลับพบว่า ฉันไม่ได้เลียนแบบคนในนิยาย นิยายต่างหากที่เลียนแบบคนในชีวิตจริงของฉัน เธอจำไม่ได้หรือ ในวันที่เธอบอกฉันว่ากำลังคบใครอยู่ ฉันหัวเราะลั่น เพียรถามซ้ำเรื่องคนที่เธอคบ ไม่ใช่เพื่อเยาะเย้ยเธอ หรือเย้ยหยันโชคชะตาบัดซบ เพียงแต่เรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นพล็อตของนิยายที่ฉันชอบ เธอดูสับสนกับตัวเอง ไม่แน่ใจกับคนที่เธอคบหาว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นถูกต้องแล้วหรือ ซ้ำยังมาปรึกษาฉันซึ่งเธอรู้อยู่เต็มอกว่าฉันรักเธอ ไม่ต่างจากนางเอกในนิยายเรื่องนั้นที่เธอเองก็ไม่เคยอ่าน ฉันเชื่อจริง ๆ ว่าคนเขียนคงต้องมีไทม์แมชชีนสักเครื่อง ตั้งเวลาในอนาคตเพื่อมาลอบดูความสัมพันธ์ของเราที่เกิดขึ้น แล้วเอาไปเขียนนิยายเรื่องนั้นแน่นอน จึงได้เลียนแบบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแทบทุกกระเบียด หรืออันที่จริงเรื่องราวพิลึกพิลั่นเป็นสิ่งปกติในความสัมพันธ์ของมนุษย์

แต่ที่สุดแล้วนิยายเรื่องนั้นก็ไม่ได้เขียนเรื่องของเราจนจบ หรือจะกล่าวอีกแบบหนึ่งคือตอนจบนั้นไม่ใช่เรื่องของเรา เป็นเพียงส่วนเสี้ยวหนึ่งของเรื่องของเราเท่านั้น เขาอาจเอาสายสัมพันธ์ของเราไปขยายความต่อ หรืออาจไม่เกี่ยวข้องอะไรกับเราเลย เป็นเพียงการทบซ้อนอย่างบังเอิญที่สุดของสายสัมพันธ์ซึ่งมนุษยชาติพึงถักทอต่อกัน เพราะอันที่จริงเรื่องราวของเราล้วนแต่ทบซ้อนอยู่ด้วยกันไม่มีที่สิ้นสุด อย่างที่ฉันเคยบอกกับเธอว่าโลกนี้จะไม่มีตัวบทอีกต่อไป มีแต่บริบทอันซับซ้อน เธอเป็นบริบทของฉัน ฉันเป็นบริบทของเธอ นิยายเรื่องนั้นเป็นบริบทของเรา เราเป็นบริบทของนิยายเรื่องนั้น ฉัน เธอ นิยาย และสายสัมพันธ์ทั้งมวลล้วนเป็นบริบทต่อกัน หรือที่จริงเส้นด้ายเบาบางที่ไม่เคยขาดลงเพราะมันไม่อาจขาดลงได้จริงในโลกแห่งบริบท แต่เมื่อฉันตั้งสติและลองคิดดูอีกทีก็ไม่ใช่อยู่ดี มีหลายสิ่งซึ่งไม่ได้ดำรงอยู่ในบริบทของฉัน และฉันคิดว่าฉันเองก็อาจไม่ได้ดำรงอยู่ในบางบริบทของเธอ ขอบเขตของบริบทอาจไพศาลแต่ความจริงแล้วการทบซ้อนนั้นอาจเพียงเล็กน้อยเกินกว่าจะรู้สึก จนพูดได้ว่ามันไม่มี ฉันไม่รู้เพราะนั่นเป็นบริบทของเธอ ไม่มีใครรู้จักบริบทของใครมากพอจะบอกได้ว่ารู้จักเว้นแต่เขาจะละเอียดมากพอจนจับแรงกระเพื่อมเล็ก ๆ ซึ่งเกิดจากแรงกระทบเบาบางซ่อนอยู่ในสายสัมพันธ์นั้น สำหรับคนอื่นแล้วฉันไม่ใจเย็นพอจะหยุดนิ่งจนรู้สึกถึงแรงกระเพื่อมเล็กน้อย แต่สำหรับเธอ ฉันรับรู้ แต่ก็นั่นแหละ เธอคงต้องกล่าวหาว่าฉันอ่านนิยายมากเกินไป

ฉันอาจไม่ใช่คนที่อธิบายอะไรได้ดีพอ เธออาจจะบอกว่าฉันเสียสติไปแล้วตั้งแต่ย่อหน้าที่พูดถึงความรู้สึกทั้งมวล แม้ว่าฉันจะพยายามบอกเธอแล้วว่าฉันอยากจะเปิดเปลือยความรู้สึกทุกอย่าง และระมัดระวังในการทยอยปล่อยมวลความคิดให้หลั่งไหล แต่ที่สุดมันก็กลายเป็นเพียงกลุ่มก้อนของความรู้สึก ไม่มีประเด็นแจ่มชัดพอจะจับต้องได้ ซ้ำยังเต็มไปด้วยคำเชื่อมที่แสดงความขัดแย้ง แตกแขนงความคิดออกไปหลายประเด็น ฉันเพียงพยายามหาทางที่จะกล่าวถึงเธออย่างสัตย์ซื่อ แต่มันกลับเต็มไปด้วยความขัดแย้งซึ่งทำให้เธอมีชีวิตอยู่ในห้วงคำนึงของฉัน และกำลังเต้นรำด้วยท่วงท่าแปลกใหม่ไม่เคยมีใครเห็นมาก่อน เขาเรียกว่าอะไรกันนะ คอนทราสต์ทำให้ฮาร์โมนีสอดประสาน ขับเน้นให้นักเต้นรำอย่างเธอเริงร่าย และฉันโคจรอยู่รอบเธอโดยไม่เคยสัมผัสถึง หรืออันที่จริงเธอไม่เคยมีดาวบริวาร ฉันเป็นเพียงแค่สะเก็ดอุกกาบาตที่เคยเฉียดกราย

ฉันคงต้องจบจดหมายฉบับนี้ลงโดยไร้ข้อสรุป เนื่องเพราะฉันได้กล่าวถึงสิ่งที่ฉันต้องการบอกเธอไปสิ้นแล้ว เพียงแต่มันไม่ได้เรียบเรียงอยู่ในรูปตรรกะซึ่งสั้นกระชับมากพอกับคำโกหกตัดบทปัดรำคาญ เธออาจอ่านเพียงสรุปข้อความสั้น ๆ สองสามบรรทัดที่อยู่ตรงกลางจดหมาย หรือไม่อ่านเลยทั้งหมด นั่นขึ้นอยู่กับความละเอียดลออในการจับแรงกระเพื่อมของความรู้สึก แน่นอนล่ะ มันแปรผันตรงกับความสำคัญของสายสัมพันธ์ ซึ่งฉันไม่แน่ใจว่าสำหรับเธอแล้วมันมีค่าเพียงใด ป่วยการที่ฉันจะคิด ที่สุดแล้วเรื่องราวในบันทึกนี้อาจกลายไปเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องสั้นหรือบทกวีที่ฉันเขียนเพื่อเธอแต่เธอไม่เคยอ่านหรือไม่ ฉันไม่รู้ มีเพียงความหวังอันเลือนรางว่าจดหมายฉบับสุดท้ายในโลกคู่ขนานนี้คงยังไม่มาถึงในเร็ววัน

กันยายน ๒๕๕๕

วันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ฟ้า (๒)


๏ รักเราเหมือนเมฆน้อย
ลอยตามลมแล้วผ่านไป
คิดเอื้อมมือคว้าไขว่
รักก็หายตามสายลม

๏ เหลือแต่ฝนน้ำตา
กลั่นมาตามความตรอมตรม
น้ำตารสขื่นขม
จมรอยเศร้าความร้าวราน

๏ รักเราเหมือนเมฆลอย
เพียงลมคล้อยรอยจูบหวาน
แล้วเธอก็อันตรธาน
เพียงผ่านพบไม่ผูกพัน

๏ ความรักอันเลือนราง
จึงจางหายคล้ายความฝัน
มีแต่ใครคนหนึ่งนั้น
ที่ไม่ลืม, ไม่เคยลืม ๚ะ๛

"หนุ่มอักษร... นอนตื่นสาย"
๙ ส.ค. ๕๖
เที่ยวบินกลับจากภูเก็ต

วันอังคารที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2556

บางบทบันทึกในวัสสานฤดู (จากนักอุดอู้ในมหานคร)

(๑)

พลันที่น้ำตาฟ้าหยดแรกถลาลงสู่พื้น เสียงถอนหายใจของบางกอกเกี้ยนกว่าหกล้านชีวิตก็มาชุมนุมบนรูจมูกของแต่ละคนโดยมิได้นัดหมาย ไม่เว้นแม้แต่พวกไร้วาสนาจะหย่อนก้นลงบนเบาะหนังเทียมของก้อนหนี้สินเคลื่อนที่ซึ่งรัฐบาลลดราคาให้หนึ่งแสนบาท

ฝนเหมือนยางยืด หยดแหมะก็เหนียวหนับ ผสานกับกลิ่นอับใต้วงแขนซึ่งต้องเสนอหน้าผึ่งผายยามแสดงกายกรรมบนรถเมล์ ราวกับเอาขยะเน่าบูดยัดเยียดทวารหายใจแทนยาดม

ซื้ด...ซื้ด

หากหลีกหนีไม่ได้ ก็จงเริงใจกับการถูกข่มขืน ทุภาษิตจากปากสปอนเซอร์ตัวยงของโรงกลั่นสุราได้กล่าวไว้ นึกขึ้นพอให้อาการถูกข่มขืนทางรูจมูกด้วยกลิ่นเหม็นเน่าได้ทุเลาลงบ้าง อย่างน้อยก็ได้เจริญอานาปานสติ เพราะรับรู้ได้ถึงทุกลมหายใจเข้าซึ่งพ่วงช้างเน่าครั้งละสิบตัว

อาการเคลื่อนที่ของรถเมล์เนิบช้า คล้ายกับความพยายามของหอยทากเมื่อจะเต้นมูนวอร์ค

บางกอกทราฟฟิคแยม เหมือนแยมหมดอายุข้นเหนียว โรยไว้ทุกฟันเฟืองเครื่องสี่ล้อ ประดับประดาด้วยไฟแดงระบัดใบอยู่ทั่วกรุงเทพฯ พร้อมกับการเกิดขึ้นของมหกรรมมอเตอร์โชว์บนถนนทุกสายในมหานคร มาตรวัดระยะทางซึ่งเคยนับเป็นกิโลเมตร พลันกลายเป็นการนับชั่วโมงซึ่งยาวนานกว่าอสงไขย ความเท่าเทียมของเข็มไมล์เกิดขึ้นที่นี่และเดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะเป็นรถสปอร์ตราคาระยับหรือรถญี่ปุ่นซึ่งทำด้วยกระป๋องโค้กและค้างค่าผ่อนอีกสิบปี

ร่องรอยเม็ดฝนชำระคราบไคลของพาหนะและสังขารคน เหมือนน้ำตาเปื้อนมาสคาร่าของหญิงสาวช้ำรัก

เม็ดฝนในมหานคร ไม่เคยทำให้อะไรงอกงามนอกจากเสียงแช่งด่า

(๒)

ห้ากิโลเมตรด้วยแรงตีน นับแล้วว่าเหนื่อยอ่อน แต่คาดว่าเร็วกว่าการแน่นิ่งของสองพันแรงม้าบนถนนตายซาก จึงสละการบำเพ็ญทุกรกิริยาด้วยกลิ่นเหม็นบูดมารองรับแรงอารมณ์ของเมฆฝนเอาแต่ใจ และเม็ดฝนดำมะเมี่ยมเพราะมีมลพิษยี่สิบชั้นทำหน้าที่เป็นเครื่องกรองบนท้องฟ้า ต่างอะไรกับเล่นกรีฑาในคลองแสนแสบ

เรียมเอ๋ย, พี่หนาวสั่น และไม่ได้อยากจะเป็นพระเอกเอ็มวี แต่มึงบีบให้กูทำ

เมตาฟอร์แห่งการงอกงามและการกำเนิดใหม่ ไฉนเมื่อปรากฏร่างในเมืองฟ้าอมรจึงกลายเป็นความขื่นขม? กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา เมืองท่าดินดำน้ำดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว กลับงอกงามด้วยตึกอันใหญ่อันรามซึ่งไม่ต้องการหยดน้ำจากฟากฟ้าเพื่อเติบโต

ธรรมชาติของต้นไม้นั้นอ่อนน้อม มันจึงค้อมตัวอยู่ใต้คอนกรีต และไม่เคยงอกงามนับแต่ถูกถมทับด้วยศิวิไลซ์เซชั่น

ฝีเท้าก้าวช้าลง จะเร่งหรือจะย่องกูก็เปียกเท่ากัน สู้ถนอมพลังงานให้เผาผลาญช้าลงน่าจะดีกว่า ทัศนียภาพซึ่งชุมนุมอยู่รอบระยะมองเห็นของดวงตาจึงค่อยเผยตัวมากขึ้น

หยดฝนมหานครแตกร้าวไร้อ้อมกอด กลิ้งเกลือกทุรนทุรายใต้น้ำครำน่าเวทนา

สุนทรียรสอย่างหนึ่งของเด็กบ้านนอกหลังฝนหมาดคือการเฝ้ามองหยดน้ำกลิ้งกลอกหยอกเย้าอย่างเริงใจบนใบบอน มิผิดแผกจากชายชำนาญรักหยอกเย้าดรุณีแรกรู้รสซ่านสุข

ทว่าสำหรับสุนทรียรสของที่นี่ ปรากฏเพียงหยดน้ำเสือกไสร่างไปตามพื้นถนนซึ่งฉาบทาด้วยความหยาบคายของคอนกรีต แว่วเสียงผู้รับเหมาซึ่งฝังคำสาปแช่งเอาไว้เนื่องจากได้รับเงินไม่เต็มจำนวน

อากาศร้อนไหววูบเพียงเสี้ยววินาที ท่ามกลางความหนาวยะเยือกของห่าฝน, เมืองนรก!

(๓)

ราวกับปาฏิหาริย์, ใบไม้อ่อนระบัดใบในซอกคอนกรีตปริร้าว พ้นรอยบดทับของก้อนยางทั้งสองล้อและสี่ล้อ งดงามเหมือนแก้มเด็กขวยเขิน

ฉันหยุดมองด้วยความชื่นชมล้นพ้น, ราวจะระเหิดในฉับพลัน

ฝนหยุดแล้ว

อย่างน้อยก็ยังมีอีกลมหายใจหนึ่งที่ปีติกับม่านน้ำแห่งความคิดถึงจากฟากฟ้า และใช้ประโยชน์จากมันมากกว่าเมตาฟอร์หรือเสียงแช่งด่า

แม้จะเป็นช่วงสั้นจนน่าใจหาย

เพราะฉันรู้แก่ใจว่า อีกไม่นานคงต้องมีก้อนยางไร้หัวใจสักล้อหนึ่งบดขยี้มันให้กลับไปจมดินเหมือนเดิม พร้อมกับการซ่อมแซมรอยแตกร้าว เพื่อให้คอนกรีตหยาบกระด้างสถิตอยู่ชั่วกัลปาวสาน

นั่นคือวิถีธรรมดาของมหานครซึ่งเซ็งแซ่ด้วยเสียงสาปแช่งยามท้องฟ้าให้พร


วุฒินันท์ ชัยศรี
๖ สิงหาคม ๒๕๕๖

วันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เหงา

เคยบอกเธอว่าทนเหงาได้
ความเหงาปวดร้าวใจแค่บางช่วง
ข่มตาหลับหรือนับดาวสักล้านดวง
คืนเหงาคงลับล่วงไปอีกคืน

แต่คืนนี้ความเหงากลับร้าวลึก
ความรู้สึกทุกข์ทนเกินทนฝืน
กอดหมอนนอนหนาวน้ำตารื้น
กัดฟันกลั้นสะอื้นขมขื่นใจ

ทั้งที่บอกตัวเองว่าจะต้องทน
แต่สุดท้ายก็จำนนทนไม่ไหว
ความเหงามันหนาวเหน็บเกินเก็บไว้
บาดลึกกลางฤทัยไม่รู้จาง

หลับตายังเห็นภาพเธอเต็มตา
แต่ตื่นมาไม่มีใครอยู่เคียงข้าง
กลิ่นหอมยังรับรู้อยู่เลือนราง
ทั้งที่ไม่มีทางจะพบกัน

เคยบอกเธอว่าทนเหงาได้
แล้วก็ทนไม่ไหวใจหวาดหวั่น
คืนนี้แส้ความเหงาเฝ้าลงทัณฑ์
หลับฝันทั้งน้ำตาอาลัยรัก


"หนุ่มอักษร... นอนตื่นสาย"
๖ ส.ค. ๕๖

วันพุธที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

คิดถึง (๓)

๏ หากความคิดถึงฆ่าคนได้
ฉันคงสิ้นใจหลายล้านหน
เพียงแวบหนึ่งแค่คิดถึงใครหนึ่งคน
ก็ทุรายทุรนถึงเพียงนี้

๏ หากความคิดถึงคือเครื่องทัณฑ์
ก็คือเครื่องฆ่าฉันทุกวันที่-
เผลอคิดถึงภาพเธอทุกนาที
ทรมานทบทวีไม่เว้นวัน

๏ หากความคิดถึงคือตราบาป
ฉันก็ต้องคำสาปตราบที่ฝัน-
ถึงใครที่ไม่ควรเคียงคู่กัน,
ความสัมพันธ์ที่พบพานเพื่อจากลา

๏ หากความคิดถึงคือเยื่อใย
มันคงขาดลงไปต่อหน้า
ด้วยคมเคียวความช้ำหยดน้ำตา
ภาพทรงจำขมปร่ามาเวียนวน

๏ ความคิดถึงจึงควรเป็นเครื่องประหาร
เพื่อจะสิ้นทรมานในหนึ่งหน
ใช่สิ้นเปลืองความคิดถึงอย่างทุกข์ทน
ให้กับคนที่หัวใจไม่เคยลืม ๚ะ๛


"หนุ่มอักษร... นอนตื่นสาย"
๒๓ ก.ค. ๕๖

วันอังคารที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เหยื่อรัก

๏ นี่คือใยแมงมุมอันนุ่มอุ่น
นี่คืออ้อมกอดคุณที่กอดฉัน
เหมือนที่เคยกอดใครหลายร้อยพัน
กอดนุ่มนวลชวนฝัน, ฉันไม่ลืม

๏ รู้ว่าคุณมีใครใครไว้ให้กอด
พร่ำพรอดกอดไว้ให้ใจปลื้ม
ส่วนตัวฉันไม่มีสิทธิ์แม้คิดยืม
ดูดดื่มอ้อมกอดคุณยามคร่ำครวญ

๏ เหมือนแมลงตัวนิดติดกับดัก
คุณเอารักมาถักใยให้ถี่ถ้วน
ความสัมพันธ์กลายเป็นพิษติดโซ่ตรวน
อยู่ในความนุ่มนวลของน้ำตา

๏ ยอมเป็นเหยื่อในหลายร้อยหลายพันเหยื่อ
เพียงเพื่อวันนี้จะมีค่า
ได้สัมผัสกอดคุณอุ่นวิญญาณ์
ก่อนคว้าความว่างเปล่าปวดร้าวใจ

๏ ไม่มีแล้วใยแมงมุมอันนุ่มนวล
แล้วเหยื่อรักก็คร่ำครวญหวนไห้
คุณสูบรักหมดแล้วก็จากไป
เหลือไว้เพียงซากร่างร้างวิญญาณ
---
ก่อนที่คุณจะหมดรักแล้วจากไป
โปรดใช้ความเมตตาฆ่าฉันที ๚ะ๛


"หนุ่มอักษร... นอนตื่นสาย"
๑๗ ก.ค. ๕๖

วันอาทิตย์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

Pacific Rim การต่อสู้ริมแปซิฟิค และอายานามิ เรย์


(เปิดเผยเรื่องราวในภาพยนตร์)

แวบแรกที่รู้สึกกับหนังเรื่องนี้ก็คือ หนังแม่งเป็นศูนย์รวมสหบทมากมายหลายเรื่องชิบหาย ไคจูนี่ก็ก๊อดซิลล่า เอาคนมาขับหุ่นยักษ์สู้สัตว์ประหลาดนี่ก็เอวานเกเลี่ยน (ด้วยสโลแกน 'เราสร้างปีศาจเพื่อสู้กับปีศาจ') คนขับก็เรียกว่าไพลอตเหมือนกันอีก บอดี้สูทของนางเอกตอนขับหุ่นก็ดูเซ็กซี่ไม่แพ้บอดี้สูทของอายานามิ เรย์ รูปทรงหุ่นบางตัวก็นึกถึงหุ่นรบในกันดั้ม ชื่อหุ่นว่าเยเกอร์ก็ชวนให้นึกถึงชื่อ เอเลน เยเกอร์ พระเอกใน Attack on Titan (การ์ตูนยักษ์โรคจิตไล่กินคนที่วาดภาพไม่สวยเลยโดยเฉพาะเล่มแรก แต่ด้วยเนื้อหาที่เจ๋งสุดตีนเลยขึ้นชั้นเป็นอะนิเมะดังคับฟ้าเรียบร้อยแล้ว) พ่วงมาด้วยมิคาสะ แอ็กเกอร์แมน หญิงสาวผมดำชาวตะวันออกผู้นั้น ยิ่งตอนพยายามสร้างกำแพงกั้นไคจูนี่ก็ยิ่งชวนให้นึกถึง (มึงคิดว่ากำแพงพวกนี้จะกั้นไททันขนาดห้าสิบเมตรได้เหรอวะ เอ้ยนี่มันไคจู) อีเหล็กหุ่น ๆ เท่ ๆ นี่ก็หุ่นทรานส์ฟอร์เมอร์ แต่ดูไปดูมาชักเท่กว่า นึกถึงคอมเม้นต์ฝรั่งที่เขาบอกว่าหนังเรื่องนี้แม่งคือ "Transformers on steroids" แม่นแท้เหลา

อย่าคิดสำมะหาอันใดกับบทหนัง หนังแอ๊คชั่นหุ่นยนต์สู้สัตว์ประหลาดจะสนเรื่องบทหนังไปทำมะเขืออันใด แม้ว่าที่จริงบทมันก็ไม่ได้เลวร้ายอะไรมาก แต่สำหรับคนคิดเยอะอาจมีคำถามนู่นนี่มากมายกับดราม่าของตัวละครที่หลายตัวชวนให้งง ๆ แต่น่าชื่นชมตรงที่เขียนเรื่องให้มีคนขับเยเกอร์สองคนที่ต้องแชร์ความทรงจำกันนะ เออถ้าขับคนเดียวคงไม่รู้จะใส่ความขัดแย้งอะไรให้หนังดูมีอะไรขึ้นมาบ้างนอกจากการขับหุ่นยักษ์ไปสู้สัตว์ประหลาด ถ้ามีแต่เส้นเรื่องหลักอันนี้ก็คงจะน่าเบื่อมั่ก ๆ เออ แล้วก็ไม่รู้ทำไมหนังหุ่นของฮอลลีวูดต้องมีตลกรั่ว ๆ ของนักวิทยาศาสตร์หรือเจ้าหน้าที่สติเฟื่องแถมอยู่เป็นพัก ๆ หรือมันเป็นสูตรทำหนังหุ่นยนต์ แต่อย่าเยอะดิวะ จะดูหุ่นสู้ไคจูเฟ้ย ๆ

ฉากแอ็คชั่นเรียกว่าอลังการงานสร้างสมราคาคุย แถมยังแอบโรคจิตนิด ๆ ในตอนกลางเรื่อง ซึ่งชวนให้สะใจอย่างมาก มึงเปรี้ยวนักใช่ไหมไอ้เจ้าไคจู เอาเรือรบมาทุบหัวแม่งเลย 55 (แล้วก็ไม่มีฉากงี่เง่า ๆ แบบทรานฟอร์เมอร์ภาคสาม โหออปติมัสโผล่มาอย่างเท่ เผลออีกทีติดอยู่กับสายไฟฟ้า ถุย!) น่าเสียดายก็แค่อีหุ่นเยเกอร์จากจีนกับรัสเซีย โผล่มาสามนาทีก็ซี๊แหงแก๋ ใช่ซี๊จีนมันของก๊อปคุณภาพต่ำ อุตส่าห์มีคนขับเป็นแฝดสามแต่งตัวแบบเส้าหลินแต่ไม่ช่วยอะไรเลย ส่วนของรัสเซียมันก็ดีแต่ใหญ่ใช่ไหมในสายตาของอเมริกันชน ปัดโธ่ น่าจะโชว์ฆ่าไคจูก่อนสักคนละตัวค่อยม่องเท่งก็ได้น่า

แม้ว่าฉากสู้กันจะน้อยไปหน่อย (แหมคุณพี่จะให้ห้านาทีสู้กันครั้งหนึ่งเหรอครับ) แต่ก็คิดว่าไม่เสียดายเงินที่อุตส่าห์จ่ายไปเพื่อแลกกับภาพสามมิติความคมชัดระดับ 4K นะ (ชัดจนเป็นแผลที่ตาเลยนะครับแหม่) ติ่งหุ่นยนต์อย่างเราคิดแล้วอยากไปดูอีกสักรอบที่ไอแมกซ์ แค่ได้เห็นฉากสู้กันแบบฉิบหายวายป่วง และเห็นนาโอโกะในชุดบอดี้สูทสุดเซ็กซี่ก็คุ้มแล้ว

วันพุธที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เกินพอ

๏ ไม่หวังจะเป็นอันดับหนึ่ง
ไม่คิดหวานซึ้งเป็นที่สอง
หรือแม้เพียงตัวสำรอง
เพียงเธอเหลียวมองก็เกินพอ

๏ อาจเป็นฝุ่นผงในสายตา
ก็เกินกว่าหัวใจจะร้องขอ
ไม่เคยคิดฝันหรือเฝ้ารอ
สานต่อสายสัมพันธ์ในวันวาน

๏ เพียงภาพฝันละเมอเมื่อเธอเหงา
รุ่งเช้าก็ลืมเลือนเหมือนลมผ่าน
เว้นแต่ใครไม่เคยลืมจึงร้าวราน
ทรมานใจสิ้นแทบภิณฑ์พัง

๏ คิดถึงคราใดใจเจียนขาด
ความหวังเคยหวังวาดก็สิ้นหวัง
จะก้าวเดินต่อไปก็ไร้พลัง
เดินกลับหลังก็ครวญคร่ำซ้ำแผลใจ

๏ เหลียวมองฉันบ้างนะคนดี
ตามแต่จะมีเมตตาให้
ไม่เคยคิดหวังอันดับใด
แค่อย่าผ่านเลยไปก็พอ
---
อาจอยู่นอกสายตาเกินกว่าใคร
แค่อย่ามองผ่านไปก็เกินพอ ๚ะ๛


"หนุ่มอักษร... นอนตื่นสาย"
๑๑ ก.ค. ๕๖

วันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

บทบันทึกถึงหญิงสาวคอกข้าง ๆ

ฉันจะกระซิบความลับให้ฟังอย่างหนึ่ง เราเดินสวนกันทุกครั้งในความฝัน แต่เธอมองไม่เห็นฉันหรอก เพราะมันเป็นฝันเล็ก ๆ ของฉันเอง

ส่วนสิ่งที่ไม่เคยลับคือ เรามีโอกาสเดินสวนกันอยู่บ้างบางครั้ง ทว่านอกจากรอยยิ้มแล้ว เราไม่ได้แลกเปลี่ยนอะไรกันเลยแม้สักเดซิเบล รู้ไหมว่าค้างคาวใช้วิธีส่งคลื่นความถี่สูงให้เห็นอุปสรรคขวางหน้า ฉันเพียงส่งคลื่นความรู้สึกเบา ๆ ก็รู้ว่ากำแพงขนาดมหึมากั้นขวางเราไว้อยู่ สำรวจดูแล้วน่าจะพอฟัดพอเหวี่ยงกับกำแพงแบ่งแยกประเทศของเผ่าพันธุ์อารยันอันสูงส่ง นึกชื่นชมเธอที่อุตสาหะเนรมิตเอาไว้ขนาดนั้นเพื่อสกัดกั้นคนไร้ค่าคนหนึ่งมิให้ล่วงล้ำเขตแดนศักดิ์สิทธิ์ ส่วนค้อนที่ใช้ทุบกำแพงก็กลับมาอัดฉันเสียจนน่วมช้ำหนอง

การจาริกแสวงบุญทางหัวใจ จึงไร้ค่าและเปล่ากลวงพอ ๆ กับออกซิเจนในเมืองหลวงที่ไม่ผ่านเครื่องกรองอากาศ

รู้จักชื่อก็เหมือนคนแปลกหน้า อย่าว่าแต่อยู่คนละตึก เพราะบางครั้งฉันรู้สึกเหมือนหล่นลงหลุมดำท่ามกลางพื้นที่ขนาดหนึ่งคูณหนึ่งตารางเมตรซึ่งเป็นจักรวาลน้อย ๆ ของฉัน เธอหรือจะหาพบ

ในคอกมืดและหนึบพอ ๆ กับสะดือทะเลตอนเปิดจุก แต่ความรู้สึกถูกจับกระชากหมุนวนในความมืดสนิทจนแทบอาเจียนก็ยังน้อยกว่าตอนที่เธอแสร้งยิ้มให้ แล้วจะมีประโยชน์อะไรสำหรับหูฟังระบบตัดเสียงรบกวนภายนอก เมื่อเสียงในใจตะโกนใส่ทุกวันจนหูแทบหนวก

บางครั้งเพื่อไม่ให้เธอขัดเขิน ฉันเลือกทำแบบเดียวกัน คือแสร้งยิ้มให้ แต่ที่จริงเธอไม่รู้หรอกว่าฉันแสร้งทำเป็นว่าแสร้งยิ้มให้เพื่อให้เธอไม่รู้ว่าฉันไม่ได้อยากแสร้งยิ้มให้

หนึ่ง สอง สาม สี่ ฉันนับนิ้ว หนึ่ง สอง สาม สี่ คนที่ฉันเผลอใช้มีดแทงหัวใจฉันเองเพราะความฉลาดทางความรักในระดับต่ำกว่ามาตรฐาน

ก้มหน้าก้มตาเขียนหนังสืองานศพ ก่อนจะเดินทางไปสมทบในเร็ววันด้วยซากร่างเปล่ากลวง นั่นคือจุดหมายสุดท้ายของฉันหลังจากหล่นลงมาด้วยความพยายามปีนกำแพงเบอร์ลิน

ความทะเยอทะยานทางสายตาของเธอบ่งบอกถึงสิ่งที่ฉันไม่อาจคว้ามาได้ นั่นก็เพียงพอแล้วสำหรับเหตุผลที่การดำรงอยู่อย่างอากาศธาตุของฉันจะมีความหมาย

ที่นี่ไม่มีผีเสื้อเก็บน้ำหวานจากดอกไม้ด้วยเสน่หา ฝนมิได้โอบอุ้มความคิดถึงลงมาจากฟากฟ้า และซากศพไก่ในผัดกะเพราก็เป็นไก่ที่ไม่เคยได้รับความรัก

แล้วใครเลยจะใช้หัวใจทำหน้าที่อื่นนอกจากสูบฉีดเลือด


๕ กรกฎาคม ๒๕๕๖

วันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

สมุดบัญชี

สมุดบัญชีที่ใช้มาตั้งแต่สมัยเป็นฟรีแลนซ์รายการเต็มแล้ว ถึงเวลาเปลี่ยนสมุดเสียที นี่เป็นสมุดบัญชีที่ทำให้ชีวิตตื่นเต้นเอาเรื่อง ด้วยวงสวิงยอดเงินขึ้นลงที่ระทึกใจยิ่งกว่าตลาดหุ้นดาวโจร ลุ้นทุกครั้งที่อัพเดทบัญชีว่าเงินค่าจ้างจากลูกค้าผู้น่ารักจะเข้าวันไหน จะเบี้ยวตูป่าวแว๊

จุดต่ำสุดของสมุดอยู่ที่ 0.26 บาท ไม่เหลือกระทั่งค่ารถกลับไปตายรังที่บ้าน ต้องยอมเสียฟอร์มยื้มเงินพี่ชายบ้างเป็นครั้งคราว ส่วนจุดสูงสุดของบัญชีขณะนั้นไม่เกินสองหมื่น เว้นแต่เวลาถูกหวยรางวัลวรรณกรรมซึ่งนานน๊านทีจะได้กะเค้ามั่ง

สมุดบัญชีเล่มนี้เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ทางการเงินช่วงที่ชีวิตขัดสนและดิ้นรนที่สุด แต่สิ่งที่สมุดไม่ได้บันทึกไว้คือเป็นช่วงที่ได้เขียนงานที่ทำให้ตัวเองรู้สึกพอใจอยู่หลายชิ้นเหมือนกันนะ (ความแร้นแค้นเป็นแรงผลักดันอันดีเยี่ยมในการสร้างสรรค์งานนะครับแหม่)

แหมเขียนเหมือนตอนนี้รวยแล้วเลยนะ 555 จริงๆ แล้วคือยังขัดสนและดิ้นรนเหมือนเดิม แค่อาจจะน้อยลงกว่าตอนนั้นนิดนึง

๔ ก.ค. ๕๖

วันพุธที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เท่านี้

๏ แล้วฉันก็ทำได้เท่านี้
ฉันก็ทำได้ดีเท่าที่เห็น
ฉันก็เป็นได้ดีเท่าที่เป็น
คือหลบเร้นแฝงร่างเหมือนอย่างเงา

๏ มีตัวตนอยู่บ้างในบางวัน
เพราะมิใช่คนสำคัญอย่างใครเขา
ดีแค่ไหนได้แค่นี้แค่มีเรา
แค่มีกันวันเธอเหงาเท่านั้นพอ

๏ อาจเคยปวดร้าวบ้างบางเวลา
จะไม่บีบน้ำตามาร้องขอ
ไม่มีสิทธิ์อาวรณ์งอนง้อ
ไม่เฝ้ารอให้เธอรักแม้สักครั้ง

๏ เพราะฉันก็ทำได้เท่านี้
คือรักเธออย่างที่ไม่มีหวัง
จนกว่าใจสลายสิ้นภิณฑ์พัง
นับถอยหลังทุกคืนวันหวั่นฤทัย

๏ ยอมแพ้หมดแล้วทุกอย่าง
แค่ขออยู่เคียงข้างบ้างได้ไหม
มิต้องเป็นอันดับหนึ่งในหัวใจ
เพียงอย่าทิ้งฉันไปก็พอ
----
ไม่ขอแม้เศษเสี้ยวรักจากหัวใจ
แค่อย่าทิ้งฉันไปได้ไหมเธอ ๚ะ๛


"หนุ่มอักษร...นอนตื่นสาย"
๔ ก.ค. ๕๖

วันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ว่าด้วยประชาธิป'ไทย [Paradox-o-cracy]

(เปิดเผยเรื่องราวบางส่วนในภาพยนตร์-ซึ่งคาดว่าพวกคุณรู้กันอยู่แล้ว)

คนที่ผมเห็นว่าจะเกิดความรู้สึกไม่คุ้มค่าตั๋วหลังจากได้ชมภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้คือ พวกศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองแบบฮาร์ดคอร์อยู่แล้ว พวกคนเกลียดขี้หน้า ส.ศิวรักษ์ อ.ปริญญา หรือ บก.ลายจุด (เพราะโผล่บ่อย) รวมถึงแฟนคลับอาจารย์บางคนที่โผล่มาน้อยไปหน่อย เช่น แฟนคลับไชยันต์ หรือแฟนคลับวรเจตน์ (ที่โผล่ออกมามากกว่าหนุ่มผมยาวนิดหน่อย แต่โดนเซ็นเซอร์ไปกว่าครึ่ง-ฮา) นอกเหนือจากนั้นก็แล้วแต่ความคาดหวังของแต่ละคน

การเปิดตัวที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดในภาพยนตร์เรื่องนี้ สำหรับผมแล้วไม่ใช่ประกาศคณะราษฎร แต่เป็นสัญลักษณ์เรทภาพยนตร์ "ทั่วไป" เพราะสำหรับบ้านนี้เมืองนี้แล้ว อะไรที่เกี่ยวข้องกับการเมืองน่าจะได้เรทที่น่ากลัวกว่านี้ แต่ก็นั่นแหละ ด้วยเนื้อหาที่พยายามเล่าเรื่องการเมืองไทยนับแต่ 2475 ยาวมาจนถึงการขึ้นครองอำนาจของทักษิณ ภายในเวลาชั่วโมงกว่า ๆ (เข้าใจว่าอาจจะมีภาคต่อ) ทำให้ประเด็นต่าง ๆ ของการต่อสู้ประชาธิปไตยอันยาวนานไม่ได้ลงลึกมากนัก ยังไม่นับการเซ็นเซอร์ที่ดูแล้วโคตรเท่และตลกฉิบหายในเวลาเดียวกัน

เส้นเรื่องว่าด้วยการต่อสู้แย่งชิงอำนาจของบรรดาอีลีทได้แก่ เจ้า-คณะราษฎร / คณะราษฎรสายพลเรือน-สายทหาร ประชาธิปไตยในช่วงแรกจึงดูเหมือนก้อนขนมอำนาจหรืออะไรสักอย่างที่ถูกแย่งชิงไปมา ไม่มีเรื่องรัฐสภาหรือการต่อสู้นอกเหนือจากนี้ในช่วงเวลานั้น ไม่มีประชาชนหรือคนชั้นกลางโผล่มาแจมกับเกมชิงอำนาจแม้แต่ประชาชนในพระนคร แล้วพลังบริสุทธิ์ของนักศึกษาก็โผล่มาพอให้ชื่นใจใน 14 ตุลา ในการต่อสู้ของทหาร-ปัญญาชน ก่อนจะหายไปใน 6 ตุลาโดยไม่ต้องการคำอธิบายมากไปกว่าปัญญาชนหนีเข้าป่าแล้วไปเจอ พคท. เหี้ย ๆ จึงออกป่ามา แล้ว...?

ตัวละครที่ตกหล่นในหน้าประวัติศาสตร์หลายตัวไม่ได้รับการขยายความมากนัก เช่นเดียวกับบางคำถามที่ค้างในใจยังไม่ได้รับคำตอบชัดเจน เช่นว่า movement ของ พคท. มีบ้างไหม / ทำไม พคท. ถึงเหี้ย / จอมพล ป. สฤษดิ์ ถนอม ต่างกันอย่างไร ทำไมบางคนถึงพิทักษ์อำนาจตัวเองไม่สำเร็จ / ตัวละครเจ้าที่สำคัญหลายคนหายไปไหน (ไม่ใช่แค่องค์กษัตริย์เท่านั้น แต่เจ้าที่มีบทบาททางการเมืองในยุคหลังอย่างเสนีย์ คึกฤทธิ์ ก็แทบไม่พูดถึงเท่าไหร่) / นักศึกษาโดดเดี่ยวตัวเองหลัง 14 ตุลา คืออะไร / ทำไมถึงเรียก 14 ตุลาว่าชัยชนะ ขณะที่ 6 ตุลาคือความพ่ายแพ้ ฯลฯ ตัวละครที่ผู้กำกับคัดเลือกให้มาพูดบางคนก็เป็นปริศนา เช่น จิระนันท์ แทนที่จะเป็นเสกสรรค์ ซึ่งน่าจะดีกว่าทั้งในแง่การพูดถึง movement นักศึกษาช่วง 14 ตุลา และทัศนะทางการเมืองในเชิงวิชาการ แต่ก็แน่นอนล่ะ อาจจะด้วยข้อจำกัดเรื่องเวลาหรืออะไรอื่น ๆ อีกมากมายในประเทศนี้ ก็คงไม่มีพื้นที่ (รวมทั้งพื้นที่ในแง่การคัดเลือกตัวละครนำแสดง) และเวลามากพอสำหรับพูดถึงทุกเรื่องให้สิ้นสงสัยภายในชั่วโมงกว่า ๆ

สิ่งหนึ่งที่พอจะจับต้องได้นอกจากเส้นเรื่องการแย่งชิงอำนาจของพวกอีลีทก็คงเหมือนชื่อเรื่องภาษาอังกฤษที่ว่า Paradoxocracy เรื่องราวการต่อสู้ทั้งหลายมันช่างย้อนแย้งและบ้าบอ ปรีดีผู้ก่อการโค่นอำนาจเจ้าต้องร่วมมือกับเจ้าก่อตั้งเสรีไทยเพื่อต่อสู้กับคณะราษฎรสายทหารที่ร่วมมือกับญี่ปุ่น / การเลี้ยงสองสายอำนาจไว้กัดกันเองของจอมพล ป. เพื่อให้ตัวเองได้เสวยอำนาจต่อไปนาน ๆ สุดท้ายก็ถูกสฤษดิ์แว้งกัดยึดอำนาจไป / ผู้ก่อการปฏิวัติเพื่อมวลชนสุดท้ายกลับกลายเป็นอำนาจนิยมเบ็ดเสร็จเพราะต้องการพิทักษ์การปฏิวัติ ฯลฯ การยึดมั่นในอุดมการณ์แบบสุดโต่งจึงดูไร้เดียงสา เพราะโลกนี้ไม่มีสีขาวหรือสีดำที่แท้จริง

หากความคาดหวังของภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้อยู่ที่การเป็นสารคดีฉายในฟรีทีวี ซึ่งเป็นความตั้งใจแรกของผู้กำกับ ก็อาจนับว่าประสบความสำเร็จตามสมควร แต่ในเมื่อภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้มาพร้อมกับความยาวหนึ่งชั่วโมงครึ่งในโรงภาพยนตร์ และค่าตั๋วอีกนิดหน่อย ความคาดหวังจึงน่าจะมีมากกว่าที่หนังเล่าออกมาได้ โดยเฉพาะในยุคสมัยที่คำถามสำคัญของสารคดีเปลี่ยนไปจาก "สิ่งนี้คืออะไร" กลายเป็น "ทำไมจึงต้องมี/ต้องเป็นสิ่งนี้" ทว่าภาพยนตร์สารคดีเรื่องประชาธิป'ไทยยังอยู่ที่การตอบคำถามข้อแรกเป็นส่วนใหญ่ซึ่งออกจะเชยไปนิด (หวังว่าในภาคต่อคงจะตอบคำถามข้อหลังมากกว่าเดิม) แต่อย่างน้อยที่สุดผมก็ไม่คิดว่าคนระดับเป็นเอกจะไร้เดียงสาในสิ่งที่เขาพยายามทำอยู่ บางทีอาจจะเป็นอย่างที่หลายคนบอกไว้ว่า สิ่งสำคัญของภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในเนื้อหาที่เล่าออกมา แต่อยู่ในเนื้อหาที่ไม่ได้ถูกกล่าวถึงต่างหาก

๑ ก.ค. ๕๖

วันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2556

น้ำตา

๏ หากน้ำตาหนึ่งหยดรินรดใจ
แล้วจะลืมเรื่องเธอได้สักเรื่องหนึ่ง
ให้น้ำตาลบภาพฝันอันตราตรึง
ลบทุกความหวานซึ้งซึ่งเคยมี

๏ เช่นนั้นจะร้องไห้ให้ใจขาด
ลบเรื่องเธอซึ่งหวังวาดไว้เต็มที่
ให้น้ำตาล้างใจเคยใยดี
ลืมคนเคยย่ำยีบีฑา

๏ แต่ทุกค่ำคืนที่ร้องไห้
ภาพรอยยิ้มหวานใสเคยใฝ่หา
ยิ่งมองเห็นชัดถนัดตา
เกินกว่าจะอำพรางล้างรอยช้ำ

๏ น้ำตาหนึ่งหยดรินรดใจ
ภาพเธอยิ่งหวนให้ใจถลำ
น้ำตาอีกล้านหยดยิ่งหยดซ้ำ
ยิ่งจดจำทุกความหลังฝังฤทัย

๏ เสียงสะอื้นทุกคืนค่ำคอยกล่อมนอน
มีเพียงหมอนซับน้ำตาที่รินไหล
ทุกหยดหยาดยิ่งบาดลึกลงแผลใจ
ยิ่งร้องไห้ยิ่งตราตรึง, คิดถึงเธอ ๚ะ๛

๑๗ มิ.ย. ๕๖

วันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2556

หลับตา

๏ วันนั้นฉันเอาแต่หลับตา
บอดบ้าอยู่เต็มใจจึงไม่เห็น
ทั้งหูตาจมูกปากไม่จำเป็น
เพียงหลบเร้นหัวใจไม่รับรู้

๏ วันนั้นฉันเอาแต่ปิดตา
แล้วหลอกตัวเองว่าเธอรักอยู่
กวีหวานแว่วผจงจึงพร่างพรู
มีเธอเคียงคู่อยู่เช่นนั้น

๏ แต่ความจริงที่รับรู้แรกสบตา
คือความจริงที่บอกว่าไม่รักฉัน
เธอไม่มีหัวใจไว้รักกัน
รู้ทั้งรู้นับแต่วันแรกพบ

๏ แต่เพราะหัวใจไม่รักดี
ทั้งที่จุดเริ่มต้นคือจุดจบ
และไม่นานคำรักคงเลือนลบ
เลี่ยงหลบอย่างไรก็ไม่พ้น

๏ หากวันนั้นฉันเพียงแต่เปิดตา
ยอมรับว่าเธอไม่รักเพียงสักหน
คงไม่ต้องร้องไห้ทุรายทุรน
ให้กับคนไม่มีใจ,ไม่เคยรัก ๚ะ๛

๑๕ มิถุนายน ๕๖

วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2556

จดหมายถึงหญิงสาวในโลกคู่ขนาน ฉบับที่ 2



เธอที่รัก, ฉันไม่รู้หรอกนะว่าเกิดอะไรขึ้นกับความสัมพันธ์ระหว่างเรา บางทีเธออาจจะสับสนระหว่างตัวตนในโลกจริง ตัวตนในโลกเสมือน และการสร้างงานของฉัน ซึ่งบางครั้งมันอาจเกี่ยวพันกัน บางครั้งมันแยกจากกันเด็ดขาด บางครั้งมันอาจเกี่ยวพันบางส่วน ที่เหลือเป็นการแต่งเติมของจินตนาการ---ฉันอาจจะบอกเธอจนเธอเบื่อจะฟังแล้ว แต่ฉันก็ยังอยากจะบอกเธออีกครั้ง

เอาล่ะ ฉันยอมรับตรง ๆ ก็ได้ว่าเธอเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ได้รับการบันทึกไว้ในโลกส่วนตัวของฉัน เธอคือแผลเป็นหนึ่งในใจของฉัน ทุกสิ่งทุกอย่างที่ประกอบเป็นเธออยู่ในส่วนเสี้ยวหนึ่งของเรื่องราวที่ฉันเขียน เธอสำคัญมากพอที่ฉันจะเคยเก็บเธอไว้เงียบ ๆ ในฐานะหนึ่งในคนค้ำจุนหัวใจ แน่นอนฉันเผลอพูดความในใจออกไปตอนที่เรากลับมาพบกันอีกครั้ง และมันนำมาซึ่งการสูญเสียเธอไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ ตอนนั้นฉันคงจะคิดบ้า ๆ อะไรสักอย่าง หรือไม่ก็ดูหนังดากานดามากเกินไป ไอ้ที่บอกว่า---ไม่เกี่ยวหรอกว่าเธอจะรู้สึกอย่างไร ขอให้ฉันได้บอกความรู้สึกดี ๆ ก็พอแล้ว---เอาเข้าจริงมันโคตรจะบทภาพยนตร์น้ำเน่ามาก ๆ และฉันก็ดันลืมไปว่าฉันเป็นแค่ไอ้ไข่ย้อยในโลกจริง และไม่ได้รับบทโดยซันนี่

เธอรู้ไหม จากวันนั้นจนถึงวันนี้ก็นับได้แปดปีแล้วที่เรารู้จักกัน หรือมากกว่านั้นถ้าเธอจะนับเวลาก่อนหน้าว่า-เรารู้จักกัน วันนี้ฉันอาจเปลี่ยนไปบ้าง ฉันอาจไม่เหมือนคนเดิมในแปดปีก่อนที่โพล่งเรื่องความรู้สึกออกไปชัด ๆ ตรงไปตรงมา เพราะตอนนั้นฉันคิดตามประสาเด็ก ๆ ว่าการพูดขวานผ่าซากเป็นการให้เกียรติความรู้สึกดีที่มีต่อใครบางคน แต่เมื่ออายุมากขึ้นมาหน่อย ฉันจึงได้เรียนรู้ว่าคนอย่างฉันพูดความจริงได้มากน้อยแค่ไหน ทว่าถึงแม้จะปิดปากเงียบมากขึ้น ข้างในของฉันก็ยังแปรปรวนและอ่อนไหวจนน่ารำคาญเหมือนเดิม หรืออาจจะมากกว่าเมื่อแปดปีก่อนด้วยซ้ำ แต่ฉันก็พยายามแล้วที่จะเก็บทุกสิ่งไว้ในหัวใจไม่แสดงออก โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวแก่เธอ นับตั้งแต่วันที่ฉันตัดสินใจว่าจะไม่ทำให้เธอรำคาญใจอีก

แต่เธอก็อาจจะรำคาญที่ยังคงเห็นฉันไม่หยุดคร่ำครวญจนถึงวันนี้ หรือเธออาจจะคิดว่าต้นเหตุของเสียงคร่ำครวญนั้นคือเธอ และเธอไม่อยากรู้สึกผิด เธอไม่อยากแบกรับความรู้สึกที่เธอไม่อยากรับ เธออยากเห็นฉันมีชีวิตที่ดี เธอไม่อยากให้ฉันยึดติดกับเธออีกตลอดกัลปาวสาน

เธอที่รัก, ขอให้เธอรู้ไว้ว่า-นับแต่วันที่เธอสูญสลายไปจากใจของฉัน เธอไม่เคยย้อนกลับมาอีก เธอคือแผลเป็นที่ฉันไม่ได้กลับไปเหลียวมอง เธอเป็นหนึ่งในคนค้ำจุนหัวใจ ทว่าไม่ใช่เสาหลักซึ่งค้ำจุนหัวใจฉันเอาไว้ (อันที่จริงมันไม่ต่างกันหรอกในเมื่อทุกอย่างมันพังทลายไปหมดแล้วตั้งแต่เดือนก่อน แต่ถ้าพูดกันถึงรายละเอียด แน่นอนมันแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง)

กล่าวอย่างรวบรัด สภาพที่ฉันเป็นอยู่ทุกวันนี้ เป็นผลจากใครบางคนซึ่งเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของฉัน-ใครบางคนซึ่งเป็นหลักยึดสุดท้ายในใจฉันจากไปแล้ว และฉันยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า ชีวิตในส่วนที่ฉันจะใช้เพื่อใครสักคนได้พังทลายลงไปเรียบร้อยแล้ว-อย่างสมบูรณ์ ที่เหลือตอนนี้ก็แค่ซากร่างหรืออะไรสักอย่างกลวง ๆ ที่ใช้ชีวิตไปเรื่อย ๆ อย่างที่คนรอบตัวอยากให้เป็น มันน่าสมเพชถึงขนาดที่ว่าการเป็นคนอื่นที่ฉันไม่อยากจะเป็นทำให้ฉันใช้เวลาไปกับสิ่งที่ไม่ได้รักอย่างสุรุ่ยสุร่าย---แค่เวลาจะร้องไห้ให้ใครคนนั้นฉันยังแทบไม่มีเลย---ทว่าใครคนนั้นอาจไม่ใช่เธอ-เกือบจะเป็นเธอ-แต่ไม่ใช่เธอ ดังนั้นเธอสบายใจได้ สบายใจมาก ๆ ได้เลยเสียด้วยว่าการล้มลงของฉันครั้งนี้ เธอไม่มีส่วนใด ๆ เลย

เธอที่รัก, ฉันไม่รู้หรอกนะว่าเกิดอะไรขึ้นกับความสัมพันธ์ระหว่างเรา (น่าตลกดี นั่นเป็นสิ่งที่ฉันเคยเรียกไว้อย่างประชดประชันว่า 'ความเปราะบางแห่งยุคสมัย' ทว่าเมื่อเกิดกับตัวเอง ฉันกลับไม่รู้ว่าจะรับมืออย่างไร) เธออาจจะไม่อยากเป็นเพื่อนกับฉันอีกต่อไป หรือเธออาจจะอยากเป็นเพื่อน ทว่าไม่อยากเห็นเรื่องราวการคร่ำครวญไร้สาระของฉัน ฉันพยายามคิดย้อนไปถึงเรื่องราวหลายอย่างที่ฉันพยายามพูดกับเธอ หลายเรื่องที่ฉันพยายามสื่อสารถึงเธอ ทว่าฉันเพิ่งรู้ว่ามันไม่ได้ผล (บางทีฉันอาจจะขาดความสามารถในการสื่อสารมากเกินไป) แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด เธอก็ได้เลือกแล้ว และฉันก็เคารพการตัดสินใจนั้น

นี่อาจเป็นข้อความที่เธอไม่มีโอกาสอ่าน ไม่อยากอ่าน ไม่มีวันได้อ่าน หรือกระทั่งอ่านแล้วก็ยังไม่เข้าใจทุกอย่างนัก แต่ฉันก็พยายามแล้วที่จะสื่อสารไปให้ถึงเธอเพื่อบอกว่า---ฉันสบายดี แม้ไม่ใช่ในความหมายปกติ และเธอก็ไม่มีส่วนใด ๆ กับความป่วยไข้ทางใจของฉันในวันนี้---ไม่มีส่วนใด ๆ อีกต่อไปแล้ว


10 มิ.ย. 56

วันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

บางห้วงคำนึง-ระลึกถึงกนกพงศ์


๏ หากวันนี้กนกพงศ์ยังคงอยู่
ไม่รู้จะเลือกข้างไหน
จะเป็นหัวก้าวหน้าประชาธิปไตย
หรือศักดินาสาไถยเหมือนใครประณาม

๏ หากวันนี้กนกพงศ์ยังไม่ตาย
จะอยู่ข้างพี่ชายหรือตรงข้าม
เมื่อสังคมเสียงข้างมากลากเข้าความ
ล้วนมิเคยไถ่ถามความเห็นใคร

๏ ผิดจากเรามิใช่เราไม่เผาผี
ผิดจากสีก็ต่างสีหรือมิใช่
วิถีทางหลากหลายล้วนตายไป
เสียงข้างมากยุคใหม่เขาไม่ฟัง

๏ ชนชั้นทุนที่โอบล้อมโลกซัลมาน
วันผ่านก็เพียงความหลัง
ทุนสามานย์-ทุนศักดินา, ละล้าละลัง
จะอยู่ฝั่งทุนไหนให้เลือกเอา

๏ ไม่มีตรงกลางระหว่างนี้
ไม่เลือกสักหนึ่งสีคือขลาดเขลา
เมื่อถนนโคลีเซียมแผ่เงื้อมเงา
สยายมนต์แห่งแม่เฒ่าให้กลับฟื้น!

๏ อาจโชคดีที่กนกพงศ์ไม่อยู่
จึงมิต้องรับรู้หรือทนฝืน
ยุคนักเขียนเลือกข้างช่างกล้ำกลืน
เพื่อนเกลียดเพื่อนต่างจุดยืน, ขมขื่นนัก! ๚ะ๛


๕ พฤษภาคม ๒๕๕๖

วันพฤหัสบดีที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

"I can't accept your friend request."


(เปิดเผยเรื่องราวในภาพยนตร์เกรียนฟิคชั่น)

เมื่อน้องมิว เอ้ย พลอยดาวถามก้อยว่าเธอจะช่วยตี๋ได้อย่างไร คำตอบที่ผู้ชมจะทราบตอนท้ายเรื่องคือการที่พลอยดาวกดยอมรับคำขอเป็นเพื่อนของตี๋ในเฟซบุ้คซึ่งดูเหมือนว่าเธอไม่เคยกดรับมาตลอดตั้งแต่รู้จักกันในโลกความจริง

การกระทำที่ดูเหมือนจะเล็กน้อยเหลือเกินของพลอยดาว มองในอีกแง่หนึ่งนี่คงจะเป็นภาพสะท้อนของยุคสมัยที่การอยู่ในร่วมกันในชุมชนเสมือนที่มีโลโก้ตัวเอฟบนพื้นสีน้ำเงินมีความสำคัญมากกว่าการเดินกระทบไหล่กันบนดาวเคราะห์สีน้ำเงินเสียอีก

เพราะในโลกความจริง บางครั้งเราไม่สามารถพูดความจริงได้เต็มปาก เพราะถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขมากมายของพื้นที่และเวลาในโลกจริง สิ่งที่เราต้องแสดงออกในโลกความเป็นจริงคืออัตลักษณ์ที่ถูกบังคับให้เป็น หรืออัตลักษณ์ที่คนอื่นต้องการจะเห็น

พื้นที่และเวลาที่ตี๋บอกว่าไม่ได้คิดอะไรกับพลอยดาว คือพื้นที่และเวลาที่เพื่อน ๆ รุมจ้องอยู่ และตี๋ก็คงพูดอะไรไม่ได้มากไปกว่ายืนยันว่าคิดกับพลอยดาว "แค่เพื่อน แค่เพื่อนจริง ๆ" แต่เมื่อพลอยดาวสารภาพความจริงว่าเป็นแฟนกับเพื่อนตัวเอง ไอ้คำว่าแค่เพื่อนของตี๋ก็ถูกพิสูจน์ในอีกไม่กี่วินาทีต่อมาว่าโกหกทั้งเพ

แต่ในโลกเสมือนนั้น พื้นที่และเวลาทั้งหมดล้วนเป็นของเราทั้งสิ้น เราสามารถจะสร้างอัตลักษณ์ให้กับตัวเองอย่างไรก็ได้ไม่ว่าจะเป็นการขยันโพสต์คำคมเท่ ๆ อัพรูปแบ๊ว ๆ ตอนใส่เสื้อผ้าราคาเรือนหมื่น หรือลงรูปของกินแพง ๆ ชนิดที่ต้องเก็บเงินมาทั้งเดือนเพื่อถ่ายรูปสร้างอัตลักษณ์ให้ตัวเองเป็นคนมีเงินกินของดีมีระดับ ก่อนจะแด๊กมาม่าไปจนถึงสิ้นเดือน หรือว่าจะทำตัวเป็นคุณพ่อรู้ดี อัพเรื่องวิชาการและการเมืองด้วยภาษาถ่อยเถื่อนถูกใจวัยรุ่นเพื่อสถาปนาตัวเองเป็นศาสดาให้สาวกกดไลค์แอนด์แชร์ก็ย่อมทำได้ทั้งนั้น

พื้นที่และเวลาสำหรับการแสดงอัตลักษณ์ที่ไร้ขีดจำกัดนี้ จึงทำให้หลายคนหลง (หรืออาจจะเป็นเรื่องจริงของยุคสมัย) ว่าการกระทำในโลกเสมือนนี่แหละคือการกระทำด้วยความจริงใจจากตัวตนจริง ๆ ที่เราเป็นอยู่ ตัวตนที่อยากจะเป็น หรือตัวตนที่พยายามสร้างในโลกเสมือนใบนี้

การกระทำใด ๆ ก็ตามต่อเพื่อนในโลกเสมือน หลายครั้งจึงถูกเหมารวมว่าทำไปจากใจจริงทั้งสิ้น

หลายคนโกรธเมื่อถูกอันเฟรนด์ หลายคนน้อยใจเมื่อแอดเฟรนด์แล้วเพื่อนไม่ยอมกดรับคำขอ พอเจอหน้ากันในโลกความจริงก็เหวี่ยงใส่ ไถ่ถามหาเหตุผลต่าง ๆ นานาว่าทำไมไม่ยอมรับแอดฉัน

อาจจะเป็นเหตุผลเดียวกันนั้นเองที่พลอยดาวไม่ยอมกดรับคำขอเป็นเพื่อนของตี๋เสียที

ที่สุดแล้ว การกดรับเป็นเพื่อนในโลกเสมือนจึงกลายเป็นเงื่อนไขของการเป็นเพื่อนในโลกจริงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การกระทำที่ดูเหมือนจะเล็กน้อยเหลือเกินของพลอยดาว แต่สำหรับตี๋แล้วมันคงจะเป็นเรื่องยิ่งใหญ่เสียเต็มประดา เพราะนั่นหมายความว่าพลอยดาวได้ยอมรับตี๋เป็นเพื่อนอย่างสนิทใจแล้ว

มันดูเป็นเรื่องตลกย้อนแย้งที่ขำไม่ออกเลยทีเดียวเมื่อคิดว่าโลกเสมือนกลับกลายเป็นพื้นที่ของตัวตนแท้จริงและความจริงใจ ขณะที่โลกจริงเรากลับต้องใส่หน้ากากตอแหลใส่กันทุกวัน

การกดรับคำขอเป็นเพื่อนในโลกสมมติ (Respond to Friend Request) จึงกลายเป็นเรื่องจริงจังเหลือเกินในยุคสมัยของเรา