วันพฤหัสบดีที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558

คนแปลกหน้า

ทำไมเป็นแบบนี้ก็ไม่รู้
จู่จู่ก็เหมือนคนไม่รู้จัก
เหมือนเป็นคนแปลกหน้ามาทายทัก
เหมือนคนไม่เคยรักเคยห่วงใย

จู่จู่ก็เปลี่ยนไปไม่เหมือนเก่า
วันนั้นเธอแค่เหงาใช่ไหม
ที่ผ่านมาฉันผิดอะไร
ฉันรักมากเกินไป, หรือไม่พอ

หรือเรื่องวันนั้นแค่ฝันไป
ตื่นแล้วอย่าคว้าไขว่ร้องขอ
ไร้คุณค่าความหวังจะรั้งรอ
ความรักเคยถักทอเพียงภาพลวง

แต่แววตาอาลัยในวันก่อน
ทุกความอาวรณ์ห่วงหวง
ความอบอุ่นของสองมือเคยถือควง
แจ่มชัดอยู่เต็มทรวงเต็มดวงฤทัย

ทำไมจบแบบนี้ก็ไม่รู้
จู่จู่ก็จากลาน้ำตาไหล
วันที่ฉันรักเธอแล้วทั้งใจ
เธอกลับเดินจากไป, ทำไมนะ

วันศุกร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2558

บางบทบันทึกถึงหญิงสาวห้อง 268


เธอขยับลูกบิดเพื่อความแน่นอนใจว่าล็อกประตูแน่นหนา ก่อนจะลั่นกลอนเสริมกุญแจขนาดที่ต้องใช้ชะแลงและมัดกล้ามฉกรรจ์ของหนึ่งหรือสองชายเพื่องัดมันออกหากลูกกุญแจหล่นหาย ไม่รู้ว่าสมบัติล้ำค่าที่เธอซ่อนในห้องคืออะไร อาจจะเป็นทองห่อผ้าขี้ริ้ว เป็นไข่มุกเมื่อหล่นบนจานหยก เป็นเพชรยอดมงกุฎขององค์ราม

หรืออาจจะเป็นความไว้เนื้อเชื่อใจที่มีต่อใครสักคน

ผมทอดก้าวเชื่องช้าเผื่อการสบตาและยิ้มทักทาย แต่ก็เหมือนทุกครั้งที่ลงเอยด้วยการก้มหน้าก้มตาเดินอย่างไม่อินังขังขอบต่อเพื่อนร่วมตึกของเธอ มีก็แต่พี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างหน้าหอพักเท่านั้นที่ได้สบตาเธอมากกว่าผมยามที่เธอจำต้องมองค้อนหากพี่มอเตอร์ไซค์ทำเป็นเห็นผาดผ่าน

"ริจะเป็นนักเขียนต้องขี้เสือก" มิตรสหายร่วมอุดมการณ์น้ำหมึกและน้ำเมาหลุดหล่นวลีเลี่ยมทองไว้ในวงน้ำสีอำพันฝืดเฝื่อน แปลให้สละสลวยขึ้นมาหน่อยว่านักเขียนต้องรู้จักสังเกตชีวิตของคนรอบตัว แต่สำหรับเธอ ไม่ต้องสังเกตถึงขนาดเพ่งเล็ง เรื่องราวกึ่งลึกลับเกือบมิสทรี่ก็กระเด็นกระดอนเข้าคลองจักษุผมเป็นกระสาย

หญิงสาวปริศนาซุกซ่อนตัวเองอยู่ในห้อง 268 ซึ่งคือห้องเยื้องทางสามแพร่งที่บันไดชั้นห้าของหอพัก นั่นเป็นเหตุผลและข้อบังคับในการเดินผ่านห้องของเธอต่อให้ไม่มีเจตนาละลาบละล้วง กิจวัตรเธอเที่ยงตรงราวกับนาฬิกาสวิสฯ ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องความแม่นยำเสียยิ่งกว่าลูกดิ่งวัดองศาพีระมิดโบราณ

ผมเคยตั้งชื่อเล่นๆ ให้เธอว่าแม่สาวเจ็ดเช้าเจ็ดดึก เพราะเมื่อเข็มนาฬิกาเวียนมาที่เลข 7 เสียงไขประตูห้องนั้นจะดังขึ้น เธอพาตัวเองออกมาตรวจสอบความเรียบร้อยของลูกบิดที่หน้าประตู ก่อนจะขัดกลอนขังตัวเองไว้นอกห้อง จำเนียรกาลผ่านกว่าเข็มสั้นจะคืบคลานถึงเลข 7 อีกรอบ ภาพเดิมฉายทวนย้อน เธอพาตัวเองมาปลดปล่อยอิสรภาพของกุญแจ ก่อนจะปิดประตู ล็อกลูกบิด ลั่นกลอนภายในเก็บตัวเองไว้ดุจเดิม

ความรู้น้อยนิดผ่านสายตาขี้เสือกคือเธอเคยเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงจากเครื่องแบบที่สวมใส่ พ้นจากนั้นข้อมูลเธอคือหลุมดำปริศนา แม้แต่คณะที่เรียนยังคาดเดาไม่ถูก เพราะหนังสือทุกเล่มเก็บเรียบในกระเป๋าถือสีดำสนิทเหมือนสีของแววตาเฉยชายามเธอมองบันไดเก่าคร่ำคร่า แววตาที่ไม่เคยเปลี่ยนแม้เธอจะลอกเปลือกนักศึกษาสู่พนักงานออฟฟิศมาดเฉียบ

การพบพานไม่ผูกพันนับแต่วัยเรียนกระทั่งทำมาหาเลี้ยงชีวิตได้ชักนำเอาเรื่องราวของเธอมาสิงสถิตเป็นส่วนหนึ่งของก้อนภูเขาน้ำแข็งแห่งการคาดเดาและจินตนาการ ทั้งที่จุดโผล่พ้นยอดมีแค่เจ็ดเช้าเจ็ดดึกที่เราสวนทางกันบ้างเมื่อโชคชะตาหมุนเข็มความบังเอิญมาหาเป็นครั้งคราว

สวัสดีครับ ผมเห็นคุณมาตั้งแต่ตอนเรียนรามฯ แล้ว คุณชื่ออะไร ทำงานที่ไหนครับ เรียนรามฯ คณะอะไร อ๋อนี่ก็รุ่นน้องผมน่ะสิ - จิตวิญญาณความขี้เสือกของนักเขียนร่ำๆ จะง้างปากของกายหยาบเพื่อเอ่ยเอื้อนวจีเท้าความถึงวันแรกไล่มาถึงความค้างคาของวานวัน แต่เมื่อเสียงลั่นกลอนประตูของเธอดังและหนักแน่นพอๆ กับสายตาเงียบงันต่อคนแปลกหน้า นักเขียนขี้เสือกควรต้องม้วนเสื่อไปเสียก่อนจะถูกฟ้องว่าคุกคามความเป็นส่วนตัว

อย่าว่าแต่เริ่มต้นบทสนทนา แม้แต่รอยยิ้มที่มอบให้ก็ยังไม่มีสัญญาณตอบรับจากเป้าหมายที่ท่านส่ง

ใบหน้ารูปไข่ ผมยาวหยักศกปลาย ผิวน้ำผึ้งหนึ่งแดด จมูกเป็นสันโด่งสอดรับกับดวงตาคมสวย หัวคิ้วมีรอยยับย่นเล็กๆ เนื่องจากเธอมักจะผูกโบไว้ที่คิ้ว ซึ่งน่าจะเป็นทักษะพื้นฐานของเธอนอกเหนือจากการผูกเงื่อนมาตรฐานสมัยเรียนเนตรนารี - ผมควรจะเติมรายละเอียดของเธอนอกเหนือจากข้อมูลทั่วไปแทนที่จะปล่อยให้เธอเป็นตัวละครไร้หน้าตาอย่างที่เรื่องสั้นดาดๆ ของนักเขียนมือไม่ถึงชอบเขียนถึง แต่เมื่อรูปหน้าเหล่านั้นไม่มีฐานของเรื่องราวที่จะประกอบสร้างเป็นมนุษย์คนหนึ่ง คำพรรณนาลักษณะของใบหน้าก็กลายเพียงหมึกเปื้อนกระดาษรอการหลงลืม เช่นเดียวกับหญิงสาวห้อง 268 ในชีวิตของเราทุกคนที่โชคชะตาขีดเส้นมาให้รู้จักเพียงเลขห้อง ไม่มากไม่น้อยไปกว่านั้น

เข็มนาฬิกาคืบคลานกลับมาที่เจ็ดดึก เสียงขัดกลอนข้างในดังพร้อมๆ กับเสียงล็อกลูกบิด เธอจะหันหับห้องร้องไห้ในที่นอนเหมือนนางลาวทองหรือนอนหัวเราะร่ากับมุกหูกระจงปัญญาอ่อนจากการรับชมเดี่ยวสิบเอ็ดก็สุดจะคาดเดา การพบพานทางสายตาของเราเกิดขึ้นชั่วพริบตาเหมือนการพัดผ่านของออกซิเจนจืดจาง เธออาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเสี้ยววินาทีที่แล้วมีสิ่งมีชีวิตขี้เสือกส่งสายตามองเธออย่างใคร่รู้ สำหรับเธอแล้ว ผมก็คืออุปกรณ์ประกอบฉากบันไดชั้นห้าซึ่งมีคุณค่ามากเท่ากับหินปลอมยับย่นบนฉากละครเวทีของเด็กประถมฯ

เรื่องราวของหญิงสาวห้อง 268 ยังคงเป็นมิสทรี่สีกลางคืนยามเดือนดับ ตราบเท่าที่โชคชะตาเปิดโอกาสให้คนแปลกหน้าได้รู้จักกันผ่านการบีบคั้นของความบังเอิญแต่ถ่ายเดียว บางทีหญิงสาวอาจลุกขึ้นมีชีวิตท่ามกลางหน้ากระดาษของผมได้ในสักวัน หากกุญแจชื่อความไว้เนื้อเชื่อใจหลุดหล่นออกมาพร้อมรอยยิ้มตอบกลับเบาบางเมื่อผมทักทายด้วยสายตาเฉกเช่นทุกคราครั้ง

แต่ผมกลับเชื่อเหลือใจว่า สักวันคือวันที่ไม่มีทางมาถึง

ธันวาคม ๒๕๕๘

วันจันทร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ฝันฝากใจให้กันบ้างนะคุณ

ฝันฝากใจให้กันบ้างนะคุณ
คิดถึงอ้อมกอดอุ่นกรุ่นความฝัน
คิดถึงยิ้มขวยเขินเกินจำนรรจ์
คิดถึงกันบ้างไหม, ใจอาวรณ์

อย่าลืมเลือนเพื่อนใจเมื่อไกลห่าง
จำใจร้างหัวใจจึงไหวอ่อน
มาพบกันในฝันนะอย่าตัดรอน
ขอกอดคุณเสียก่อนจะขาดใจ

ฝันฝากความคิดถึงบ้างนะคุณ
อ้อมกอดอุ่นกลางความฝันชวนหวั่นไหว
จะขอนอนตักหนุนละมุนละไม
ขานเพลงไพรกล่อมคุณอบอุ่นฤดี

อย่าลืมจุดนัดหมายปลายโพ้นฟ้า
ดวงดาราล้วนประจักษ์เป็นสักขี
ละอองรุ้งระยับแววแว่วหวานวจี
พบกันที่ปลายเสี้ยวของเรียวจันทร์

จะเกี่ยวก้อยเดินทางระหว่างดาว
กะพริบพราวเมื่อข้ามผ่านสะพานสวรรค์
รื่นจำเรียงดุริยะประโคนธรรพ์
เห่กล่อมฝันให้ฝันดีนะที่รัก

๑๖ พ.ย. ๒๕๕๘

วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

15 ประสบการณ์ในปีนัง


1. ทางม้าลายของที่นี่ศักดิ์สิทธิ์มาก ไฟจราจรคือประกาศิต กดปุ่มขอข้ามถนนไม่มีบีบแตรหรือด่าแม่ตามหลัง ไฟแดงเหลืออีกยี่สิบวิไม่มีคนข้ามก็ไม่มีใครแหกด่านแม้ไม่มีตำรวจเฝ้า ศักดิ์ศรีของส้นตีนมีค่าเท่ากับล้อรถเรือนแสนของเฟอร์รารี่ นี่เป็นสิ่งที่ชอบมาก

2. เดินในเมืองจอร์จทาวน์เหมือนเล่นเกมเขาวงกต ถนนมึงจะคดเคี้ยวเลี้ยวเข้ารูไปไหนนักหนา ถ้าเล็งตึกสูงเป็นแลนด์มาร์ค เดินอีกสักสองนาทีก็ไม่รู้แล้วว่าแลนด์มาร์คหายไปไหน

3. เมืองนี้มีแต่คนชรา รถเมล์ต้องจอดแช่เพราะกว่าจะยักแย่ยักยันขึ้นรถครบคนก็กินเวลาหลายนาที สงสัยว่าหนุ่มสาวจะเข้าไปเป็นฟันเฟืองที่กัวลาลัมเปอร์กันหมดแล้ว

4. เมืองเกาะในฤดูมรสุม ฝนนึกอยากจะตกตอนไหนก็ตกได้แม้ว่าสองนาทีก่อนเพิ่งร้อนแดดเปรี้ยง

5. สามสิ่งที่ไม่มีในปีนังคือ ตำรวจ ฟุตปาธ และตะแกรงท่อระบายน้ำ

6. เล่าลือกันว่าที่ไม่เห็นตำรวจสักคนบนเกาะเป็นเพราะคดีฉกชิงวิ่งราวเป็นเรื่องเล็กน้อยเกินกว่าตำรวจจะมาใส่ใจ เอ่อ..พี่ไปสืบคดีฆาตกรรมทั้งกรมกองเรอะ

7. เกิดมาชาตินี้ได้กินสเต็กเนื้อแกะกับเนื้อนกกระจอกเทศจากเชฟโรงแรมห้าดาวก็ตายตาหลับแล้ววะ

8. ขนมปังอะไรสักอย่างราดน้ำปรุงรส ใส่ไส้เนื้อแห้งหรือว่าแฮมตรงกลางอันละไม่เกินสามริงกิตในตรอกอาหารจีนแถวโรงแรมคือโคตรอร่อย คือไปทีไรต้องไปโดนหนึ่งชิ้น แม้จะยังไม่รู้ว่ามันเรียกว่าอะไรจนกระทั่งบัดนี้

9. ประเทศนี้ต้องขาดแคลนน้ำตาลและทำนาเกลือเองแน่นอน รสชาติเป๊ปซี่จึงจืดจางเหมือนน้ำล้าง..เอ่อ..ล้างมือ ขณะที่ทุกเมนูอาหารมีความเค็มเป็นธงนำ

10. ผัดหมี่โรงแรมห้าดาวรสชาติแพงเท่าผัดหมี่ถุงละสิบหน้าราม

11. ขนมขบเคี้ยวในมาเลย์อร่อยมาก ราคาคิดเป็นหน่วยเงินบาทแล้วก็น่าจะถูกกว่าที่ไทยด้วย ที่เค้าว่าประเทศนี้โรงงานผลิตขนมเยอะท่าจะจริง

12. การเซฟงานมาทำที่นี่ไม่มีความหมายใด ๆ เพราะความสโลว์ไลฟ์ซุกซ่อนอยู่ในทุกอณูอากาศ

13. ถ้าสตรีทอาร์ตไม่มีรูปที่อีตาเออร์เนสต์วาดไว้ก็ไม่รู้ว่าจะเอาอะไรมาเรียกเป็นสตรีทอาร์ต เพราะทั้งตรอกนั้นไม่มีอะไรเลยนอกจากร้านเช่าจักรยานกับร้านขายของที่ระลึก (ฮา) เค้าถึงว่าศิลปะพูดได้น่าฟังและเสียงดังมาก

14. เท่าที่สำรวจคร่าว ๆ พิพิธภัณฑ์ในปีนังมีแต่ของจัดแสดง ยังไม่มีการเล่าเรื่อง มิวเซียมคอนเทนต์ทั้งหลายน่ามาลองเจาะตลาดแถวนี้ดู

15. ทุกประเทศมีคาเฟ่แมว ปีนังก็เช่นกัน

วันอังคารที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2558

วันนี้ฉันจะรักเธอทั้งใจ

เธอคือบุปผางามพิสุทธิ์
คือเพชรยอดมงกุฎสูงค่า
ส่วนฉันเป็นคนธรรมดา
เพียงเธอจะมองมาก็เกินคิด

แต่เธอก็ยังอยู่ตรงนี้
ส่วนฉันก็รู้ดีไม่มีสิทธิ์
ฉันไม่คู่ควรเธอแม้สักนิด
ไม่ควรมาใกล้ชิดด้วยซ้ำไป

แต่จะห้ามความรักก็ยากนัก
เพราะเธอน่ารักเกินทนไหว
ขอบคุณนะที่เธอไว้ใจ
เราจึงมาชิดใกล้หัวใจกัน

วันนี้แสงแห่งหวังยังวาววาม
ความรู้สึกงดงามเหมือนความฝัน
แต่ไม่รู้จากนี้กี่หมื่นวัน
เรานั้นอาจลาร้างห่างเหินไป

กลัว...ฉันกลัวจะเผลอทำเธอเจ็บ
แต่เกินเก็บเรื่องของเราเอาไว้ได้
เถอะ! วันนี้ฉันจะรักเธอทั้งใจ
พรุ่งนี้เป็นอย่างไรก็ไม่กลัว

๑๓ ต.ค. ๒๕๕๘

วันพฤหัสบดีที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ถาม

ลองถามหัวใจได้ไหมเธอ
วันนั้นแค่เผลอหรือเธอเหงา
อ้อมกอดอุ่นจางบางเบา
เรื่องราวระหว่างเราช่างเลือนราง

รอยยิ้มเคยยิ้มยามชิดใกล้
แววตาอาลัยเมื่อไกลห่าง
คือความจริงใช่ไหมในฝันจาง
หรือแค่เธออ้างว้างในวานวัน

ใจเธออาจอ่อนแอแค่เพราะเหงา
เรื่องราวระหว่างเราคือภาพฝัน
เธออาจไม่เคยรักกัน
แต่ฉันรักเธอแล้วทั้งใจ

ลองถามตัวเองดูสักครั้ง
เธอลืมทุกความหลังแล้วใช่ไหม
คงลบเลือนทุกสิ่งทิ้งไป
ทิ้งฉันไว้ในความช้ำเกินจำนรรจ์

ฉันถามความขมขื่นทุกคืนค่ำ
ในถ้อยคำพร่ำเพ้อละเมอฝัน
คนที่เธอจะมีใจให้กัน
ทำไมถึงเป็นฉันไม่ได้นะ?

ต.ค. ๒๕๕๘

วันอังคารที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2558

ขอแค่คนบอกลาสบายใจ

ก็เจ็บได้, ร้องไห้เป็นเช่นคนอื่น
แต่ต้องกลั้นก้อนสะอื้นฝืนยิ้มร่า
รับฟังทุกถ้อยคำเธอพูดมา
เสแสร้งเสมือนว่าจะเข้าใจ

หัวเราะเหมือนเป็นเรื่องเล่นเล่น
รอยยิ้มเยือกเย็นเห็นหรือไม่
แต่แววตาเว้าวอนซ่อนความนัย
เธอเห็นรอยร้าวไหมในแววตา

เหมือนทั้งโลกมืดดำความช้ำหม่น
มองไม่เห็นบางคนอยู่ตรงหน้า
เหมือนไม่ได้ยินคำจำนรรจา
คำที่เธอบอกลาช่างพร่าเลือน

ฉันเจ็บได้, ร้องไห้เป็นเช่นคนอื่น
แต่ต้องฝืนยิ้มไว้ให้เสมือน-
ว่าฉันทนไหวไม่สะเทือน
กลบเกลื่อนรอยร้าวรานให้ผ่านไป

ยิ้มรับความเศร้าหนาวสั่น
กลืนกลั้นความทุกข์ทนหม่นไหม้
ขอแค่คนบอกลาสบายใจ
ฉันจะเก็บความเจ็บไว้คนเดียว

๒๒ กันยายน ๒๕๕๘

วันศุกร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2558

คนรัก

คนรัก ๑ น. คนที่รับด้านร้ายของอีกฝ่ายได้โดยไม่รู้สึกว่าต้องทน.

(พจนานุกรมฉบับวุฒินันท์ ชัยศรี. กันยายน ๒๕๕๘.)

คนรัก ๒ น. คนที่เราปรารถนาจะเดินเคียงข้างเขาจนสุดทาง แม้หนทางข้างหน้าจะมีหุบเหวเปลวไฟ หรือมืดมิดสิ้นไร้ความหวัง.

(พจนานุกรมฉบับวุฒินันท์ ชัยศรี. ตุลาคม ๒๕๕๘.)

คนรัก ๓ น. คนที่หากเราได้สบตา เราจะรู้ได้ทันทีว่าจะใช้ชีวิตที่เหลืออยู่เพื่อใคร.

(พจนานุกรมฉบับวุฒินันท์ ชัยศรี. มกราคม ๒๕๕๙.)
คนรัก ๔ น. คนที่ไม่เคยบอกให้เราต้องเข้มแข็งเวลาที่เราร้องไห้ แต่จะคอยโอบกอดและปล่อยให้เราร้องไห้จนสาแก่ใจ เพราะเชื่อมั่นว่าเราจะกลับมาเข้มแข็งได้ดังเดิม.

(พจนานุกรมฉบับวุฒินันท์ ชัยศรี. เมษายน ๒๕๕๙.)

วันอังคารที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2558

ความตายครั้งที่สามของยุ่น


(เปิดเผยเนื้อหาในภาพยนตร์ "ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ")

"There are three deaths: the first is when the body ceases to function. The second is when the body is consigned to the grave. The third is that moment, sometime in the future, when your name is spoken for the last time."

"การตายมีสามขั้น ขั้นแรกคือเมื่อร่างกายหยุดทำงาน ขั้นที่สองคือเมื่อร่างกายถูกฝังลงหลุม ขั้นที่สามคือเมื่อถึงเวลาหนึ่ง ชื่อของคุณจะได้รับการเอ่ยถึงเป็นครั้งสุดท้าย"

(David Eagleman : "Metamorphosis" from "Sum: Forty Tales from the Afterlives" สำนวนแปลของณัฐกานต์ อมาตยกุล)

เชื่อว่าคนทำงานศิลปะทุกแขนงต่างก็หวังใจว่าความตายครั้งที่สามของตนจะมาถึงช้าที่สุด (และไม่ "กลาย" เป็นอย่างอื่นไปเสีย) ดังนั้นส่วนมากจะไม่ค่อยสนใจความตายสองครั้งแรกของตนมากนัก หากมันได้สังเวยเพื่อให้ชื่อของตนรอวัน "เกิดใหม่" ในอีกร้อยอีกพันปีข้างหน้าจากริมฝีปากของใครสักคน

ครั้งที่โอดีซีอุสเกลี้ยกล่อมให้อคีลีสเข้าร่วมรบในสงครามกรุงทรอย เขากล่าวว่าอคีลีสเป็นนักรบที่เก่งกาจและจะเป็นที่เลื่องลือไปอีกหลายชั่วอายุคน อาจจะร้อยหรือพันปี ทว่าสักวันมันก็จะถูกหลงลืม แต่หากอคีลีสเข้าร่วมสงครามกรุงทรอย "ความตายครั้งที่สาม" ของอคีลีสจะไม่เกิดขึ้นชั่วกัลปาวสาน นั่นก็คงเป็นเหตุผลว่าทำไมอคีลีสจึงกล้ากระโจนเข้าสู่สงครามแม้จะรู้อยู่แก่ใจว่านี่คือสมรภูมิสุดท้ายที่ตนต้องทิ้งชีวิตไว้ที่นี่

ยุ่นอาจเป็นทหารธรรมดาไม่ใช่อคีลีส ทว่าไม่ว่าจะเป็นทหารระดับชั้นไหนก็ต้องสู้ ยิ่งเป็นวงการกราฟฟิกแล้ว การต่อสู้เพื่อก้าวไปสู่จุดสูงสุดของวิชาชีพยิ่งเข้มข้นกว่าสงครามกรุงทรอยเสียอีก

เท่าที่เห็น ยุ่นคือกราฟฟิกระดับกลางเก่ากลางใหม่ ไม่ใช่รุคกี้ใหม่หมาด แต่อาจยังไม่ถึงขั้นซีเนียร์ มีคนในวงการร่ำลือถึงฝีมือของยุ่น อาร์ตไดของบริษัทชั้นนำยอมรับในฝีมือถึงขนาดออกปากว่าเลิกเป็นฟรีแลนซ์เมื่อไรเดินเข้ามาทำงานได้เลย มีรุ่นน้องนับถือผลงานและเอาเป็นแบบอย่าง แต่กระนั้นเขาก็ยังดีใจออกนอกหน้าเมื่องานของแบรนด์ระดับอินเตอร์ตกมาถึงมือเขา เลยเดาเอาว่ายุ่นก็คงเหมือนนักรบยศสูงประมาณนายพลที่กำลังเฝ้ารอโอกาสครั้งใหญ่ การรับงานแบรนด์อินเตอร์ครั้งนั้นก็เหมือนได้รับเชิญให้เข้าร่วมสงครามกรุงทรอย รอวันเลื่อนชั้นเป็นแม่ทัพใหญ่ของวงการ ฝากชื่อไว้ให้ "การตายครั้งที่สาม" ไม่เกิดขึ้นชั่วกัลปาวสาน

เราไม่รู้เหตุผลที่ยุ่นตัดสินใจมาเป็นฟรีแลนซ์ชัดเจน วิถีแห่งโรนินซามูไรไร้นายหรือจะดีเท่ามีนายคุ้มหัวเป็นหลักประกันชีวิต เท่าที่เห็นคือความทุ่มเทที่มีต่องานในระดับไม่ธรรมดา ยุ่นคือคนที่พร้อมจะเสียสละทรัพยากรทุกอย่างที่มีเพื่อให้งานออกมาดีที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรส่วนตัวอย่างเวลาและร่างกาย ยุ่นไม่สนใจว่าจะนอนกี่โมง ไม่สนใจว่าวันนี้มีอะไรกิน ไม่สนแม้แต่หาเวลาไปรับเช็คด้วยซ้ำ ทั้งหมดที่ยุ่นสนใจคือรับงานมาและทุ่มเททุกอย่างให้งานออกมาดีที่สุด จึงเดาเอาเองว่ายุ่นคือคนที่พร้อมจะตัดทุกอย่างในชีวิตที่ไม่เกี่ยวกับการสร้างงานออกไปให้หมด ดังนั้นการที่ยุ่นมาเป็นฟรีแลนซ์จึงไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นผลลัพธ์

เหตุผลที่ยุ่นไปรักษาโรค ไม่ใช่เพราะห่วงสุขภาพ สำหรับยุ่นแล้วทรัพยากรร่างกายยังเคลื่อนไหวได้ ยังมีแรงทำงาน ยุ่นกล้าเผา "ยาสลบช้าง" เพียงเพราะมันทำให้ยุ่นหลับจนไม่ได้ทำงาน แต่ที่จำใจต้องไปรักษาให้หายขาดเพราะมันทำให้เสียเวลา เสียสมาธิทำงาน ยุ่นจึงพยายามขอยาจากหมออิมแบบที่ "กินแล้วหายเลย" โดยไม่ต้องมาเบียดบังทรัพยากรเวลาที่เขาจะต้องเอาไปทุ่มเทกับงาน

แต่แล้วทุกอย่างก็เปลี่ยนไปเมื่อยุ่นแบ่งเอา "ความรู้สึก" ไปใส่ใจเรื่องอื่นนอกจากโฟกัสที่งานของตัวเอง แม้ผลคือหายจากโรค แต่ผลข้างเคียงคือโอกาสในการแสดงฝีมือของยุ่นพังพินาศ เหมือนมีโอกาสเข้าร่วมสงครามกรุงทรอยแต่ทะลึ่งเหยียบกับดักตายโง่ ๆ อยู่ริมชายหาด เทพที่ไหนก็มาช่วยไม่ทัน

การเดินหันหลังออกจากห้องตรวจของหมออิมเป็นฉากที่แทบไม่มีคำพูดอะไรแต่กลับเปี่ยมความหมายและสั่นสะเทือนหัวใจอย่างยิ่ง ยุ่นอาจไม่ได้เสียใจที่จะไม่ได้พบหมออิมอีก แต่อาจเป็นความเสียใจที่ความสำเร็จของการหายป่วยช่างมีค่าเล็กน้อยเหลือเกิน (สิ่งที่กูทำสำเร็จมีแค่ทำให้ไอ้คนที่ไม่ได้มีความหมายกับใครหายป่วย...แค่นี้เองเหรอวะ!) เมื่อเทียบกับงาน "ปลดชนวนระเบิด" ที่เคยทำให้หัวใจเขาพองโตกว่านี้มหาศาล เขาอาจเสียใจที่ก้าวต่อไปไม่ได้ในทางที่บังเอิญหลงมา รู้ตัวอีกทีว่าพาตัวเองเข้ามาสู่ความว่างเปล่าน่าอดสูก็เมื่ออยู่นอกห้องตรวจโรคแล้ว

เพื่อจะไปให้ถึงจุดสูงสุดของงานศิลปะ แอนดรูว์ นีแมน พระเอกของเรื่อง Whiplash ยอมทิ้งทุกอย่างเพื่อทุ่มเทจิตวิญญาณให้แก่การตีกลอง ไม่ว่าจะเป็นการบอกเลิกแฟนสาว หรือทะเลาะกับคนในครอบครัว หรือแม้แต่ทิ้งทุกอย่างในชีวิตในฉากสุดท้ายของหนังที่โคตรจะพีค

การกลับมาเป็นฟรีแลนซ์ของยุ่นในครึ่งหลังของหนังจึงโหด จึงดิบ จึงทุ่มเทอย่างบ้าคลั่ง เพราะยุ่นผิดหวังกับตัวเองที่ยังคงหลงเหลือความรู้สึกผูกพันกับสิ่งที่ไม่จำเป็นต่องาน ผิดหวังกับความสัมพันธ์ที่เผลอสร้างกับคนอื่นรอบข้าง จึงตัดเอาความผูกพันทุกอย่างออกไปจากชีวิตเพื่อกลับมาสู่เส้นทางเดิมของตนเอง เพื่อจะให้ "ความตายครั้งที่สาม" ไม่เกิดขึ้นง่าย ๆ หากเขาได้ไปจารึกชื่อไว้ที่นิวยอร์ก ยุ่นรับทุกงานและทุ่มเทเกินร้อยยิ่งกว่ายุ่นคนก่อน เพราะวงการฟรีแลนซ์ไม่เคยมีโอกาสครั้งที่สาม

แต่ใช่ว่าการเทหมดหน้าตักจะชนะเสมอไป ครั้งนี้ยุ่นแพ้อีก เป็นการแพ้อย่างราบคาบ และทำให้เขาได้เรียนรู้อะไรบางอย่าง... บางอย่างแบบที่คนที่ยังห่วงใยชีวิตควรได้เรียนรู้ บางอย่างแบบที่คนอย่างยุ่นแม่งไม่น่าจะรู้เลยว่ะ

เคยนึกบริภาษผู้กำกับตอนดูสิบนาทีสุดท้ายของหนังว่า เชี่ยแม่ง พี่เต๋อเปี่ยนไป๋ว่ะ แต่พอตั้งสติได้ก็เออ จริง ๆ แล้วจบแฮปปี้เอนดิ้งแบบนี้แม่งหดหู่กว่า เป็นโศกนาฏกรรมกว่าตายไปแบบพีค ๆ เยอะเลย

ฉากสุดท้ายยุ่นบอกหมออิมว่ายุ่นมีความสุขกับการดูพระอาทิตย์ตกดิน เช่นเดียวกับความสุขที่ได้มาพบหมออิมเพียงไม่กี่นาที คำพูดนี้คืออะไร? นั่นคือยุ่นถูกกลืนกลายไปกับธรรมชาติรอบตัว ความสุขเล็ก ๆ ที่เพียงแค่มองหาก็พบ ยุ่นไม่รู้สึกแปลกแยก ไม่โดดเดี่ยว ไม่อีโก้ ไม่เซลฟ์ ไม่ถูกผลักดันด้วยแรงทะเยอทะยานอย่างบ้าคลั่งของวัยหนุ่มว่ากูจะต้องโดดเด่น แตกต่าง กูจะต้องเปลี่ยนโลก กูจะต้องฝากชื่อไว้ กูต้องทำสิ่งที่ยื้อเวลาความตายครั้งที่สามให้นานที่สุด

มองในแง่หนึ่งจะว่ายุ่นเติบโตขึ้นก็ได้ ใช่ โลกแม่งก็เป็นงี้แหละ ยอมรับมันและมีความสุขกับสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ รอบตัวดิวะ งานศิลปะคือการสร้างความสุขเว้ยไม่ใช่การแข่งขันที่อยากฝากชื่อไว้ด้วยอหังการ์ของศิลปิน ศิลปะคือการจัดวางคอมโพสิชั่นทั้งตัวงานและชีวิตของศิลปิน เอาธรรมะเข้าขย่มอีกหน่อยก็ได้ว่ามนุษย์แม่งต้องเดินสายกลางว่ะ พระพุทธองค์สอนไว้

จากนี้ยุ่นอาจจัดวางชีวิตใหม่ให้สมดุล อาจเดินเข้าไปสมัครงานกราฟฟิกประจำสักที่หนึ่ง ฝีมือระดับนี้คงขึ้นเป็นอาร์ตไดได้ไม่ยาก ก้าวหน้าหน่อยมาจีบหมออิม แต่งงานแฮปปี้เอนดิ้ง หรือต่อให้คงวิถีฟรีแลนซ์เอาไว้ แต่จากนี้คงมีหลายสิ่งที่เขาต้องให้ความสำคัญนอกจากการทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างให้แก่การสร้างงาน นั่นก็เป็นอนาคตที่สุดจะคาดเดา สิ่งที่น่าสงสัยก็คือ เมื่อไม่ได้เดิมพันชีวิตและจิตวิญญาณให้แก่งาน เมื่อปราศจากความทะเยอทะยานและแรงขับเคลื่อนอย่างบ้าคลั่งของวัยหนุ่มแล้ว ยุ่นจะพาตัวเองไปได้ไกลแค่ไหน

บางทีการที่ยุ่นยังมีชีวิตอยู่ มันก็คือประจักษ์พยานการตายครั้งที่สามของยุ่นทั้งที่ยังหายใจ รอเพียงให้การตายครั้งที่หนึ่งและสองมาถึงเท่านั้นเอง

เหมือนกับเราในตอนนี้นั่นแหละ

๑๕ กันยายน ๒๕๕๘

วันจันทร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2558

กลับมา

ตื่นมาท่ามกลางความว่างเปล่า
อวลกลิ่นความเหงาอยู่เต็มตื่น
เนิ่นนานนับปีกี่วันคืน
ที่ทนฝืนกลั้นน้ำตาอาลัย

แววตาของเธอวันนั้น
เป็นเพียงแค่ความฝันใช่ไหม
รอยยิ้มเคยยิ้มพิมพ์ใจ
จู่จู่ก็หายไปไม่หวนคืน

เหมือนไม่มีเหตุผลการจากลา
เหลือก็แต่น้ำตาขมขื่น
จะหยัดร่างก็เจ็บจมล้มทั้งยืน
ทนฝืนทรมานนานนับปี

กลับมาได้ไหม...ได้หรือเปล่า
ฉันคุกเข่าร้องไห้ไร้ศักดิ์ศรี
กลับมารักกันอีกครั้งนะคนดี
หากว่าใจดวงนี้ไม่เปลี่ยนไป

หากแววตาวันนั้นไม่ใช่ฝัน
โปรดกลับมาหาฉันได้ไหม
หากแม้ซอกมุมหนึ่งของหัวใจ
ยังมีฉันเก็บไว้ในใจเธอ

๑๔ ก.ย. ๒๕๕๘

วันศุกร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2558

หลงรักนักวิ่ง (๒)

ช่วงนี้หลงรักการวิ่งเป็นพิเศษ
มันเป็นเพียงหนึ่งชั่วโมงที่ได้อยู่ในห้วงสุญญากาศส่วนตัวท่ามกลางคืนวันแห่งความทรมาน
มันเป็นเพียงชั่วโมงเดียวในหนึ่งวันที่ฉันไม่ต้องคิดถึงเธอด้วยความปวดร้าว

กันยายน ๒๕๕๘

วันอังคารที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2558

The Chaser : ไล่ล่ามนุษย์หรือปิศาจ



(เปิดเผยเนื้อหาในภาพยนตร์)

เอาไปเลย 12/10 กะโหลกสำหรับ The Chaser ผลงานการกำกับของนา ฮอง จิน ภาพยนตร์ที่พี่โต้ง บรรจง ปิสัญธนะกูล ผู้กำกับพันล้านคัดสรรมาให้ชมในเทศกาลภาพยนตร์คัดสรร Cinema Diverse: Director's Choice. ของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จะว่าไปครั้งนี้ก็ทิ้งช่วงจากครั้งที่แล้วตอนไปดู Synedoche, New York อยู่นานเหมือนกัน อะไร ๆ ก็เปลี่ยนไปหลายอย่าง ที่น่าตื่นเต้นคือมีคนเข้าร่วมกิจกรรมเยอะมากจนต้องมีเก้าอี้เสริม ต่างจากครั้งแรกที่เข้าไปเลือกที่นั่งได้เลย ส่วนที่ขัดใจคือครั้งนี้ไม่มีอาหารและเครื่องดื่มฟรี (ฮา) แต่ที่เหมือนกันทั้งสองครั้งที่ไปเข้าร่วมคือ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมาก ขึ้นแท่นเป็นภาพยนตร์ในดวงใจได้ทั้งสองเรื่องเลย

ว่ากันด้วยเนื้อหนังก็สมราคาคุยว่าเป็น "หนึ่งในภาพยนตร์แอ็กชั่นทริลเลอร์ที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งของประเทศเกาหลีใต้" ประเทศที่สร้างหนังแอ็คชั่นทริลเลอร์ได้ "โหดสัส" (คำของพี่โต้ง) ทั้งเรื่องก็มีพล็อตสั้น ๆ ว่าพ่อเล้าอดีตตำรวจต้องมาไล่ล่าฆาตกรโรคจิต ชิงไหวชิงพริบเพื่อตามหาหญิงสาวที่หายไป (เรื่องย่อยาวกว่านี้ก็ไปหาอ่านตามเว็บเอาก็แล้วกันนะ) บรรยากาศก็เป็นทริลเลอร์เข้ม ๆ สืบสวนสอบสวนประมาณนึง ตามหาร่องรอยคนหายและหาแรงจูงใจของฆาตกรแบบมึน ๆ นิดนึงเพราะผู้กำกับหลอกเราหลงไปหลายทางเอาเรื่อง มีแอ็คชั่นวิ่งหนีหรือวิ่งไล่ล่าทั้งมันทั้งฮาอยู่หลายฉาก มีปมดราม่าแม่ลูกมาเรียกน้ำตาแถมท้าย สรุปคือเข้มข้นคุ้มค่าทุกนาทีที่ได้ดู ไม่รู้ว่าฉบับที่ฮอลลีวูดเอาไปรีเมกนี่เข้มข้นเท่าต้นฉบับรึเปล่า

สิ่งที่รู้สึกตอนดูหนังเรื่องนี้คือทำไมเรารู้สึกว่ามันจริ๊งจริงจังวะ หรือจะเป็นเหมือนที่เค้าบอกว่าหนังทริลเลอร์ของฝรั่งมันเป็นหนังของอีกชนชั้นหนึ่ง พอเวลาดูก็เหมือนเป็นโลกอีกใบหนึ่งที่เราตื่นเต้นสนุกสนานไปกับการไล่ล่าสืบสวนของตัวเอก ซึ่งไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเราเลย แต่กับเรื่องนี้เราทั้งลุ้นทั้งด่าตัวละครเหมือนว่ามันเป็นคนข้างบ้านเรา แม่งเอ๊ย อีกนิดเดียวจะได้ตัวละ แม่งอีกนิดจะรอดแล้ว หรือเป็นเพราะตัวละครในเรื่องมีแต่คนที่เป็นมนุษย์แท้ ๆ คือเป็นคนที่มีรักโลภโกรธหลงคละเคล้ากันไปหมด มีพระเอกที่แม่งเหี้ยมาก ตำรวจดีบ้างเลวบ้าง เอาหน้าห่วงชื่อเสียงบ้าง จะจับฆาตกรเพราะจะเอามากลบข่าวผู้ว่าฯ โดนปาขี้บ้าง สืบสวนหาแรงจูงใจของฆาตกรเพราะจะได้เอาไปฟ้อง ไม่ได้สนใจสืบหาแบบจริงจังบ้าง เป็นพวก "คนสีเทา ๆ" กันทั้งเรื่อง เลยรู้สึกว่าโลกในภาพยนตร์มันขับเคลื่อนด้วยความจริงและคนจริง ๆ ชิบหาย (หรือเหตุผลมันมีง่าย ๆ แค่ว่าหน้าคนเกาหลีมันคล้าย ๆ คนไทยเท่านั้นเอง 555)

ต้องสารภาพว่าเรามัวแต่ไปตื่นเต้นกับส่วนที่เป็นการไล่ล่ากับลุ้นว่านางเอกจะรอดไหม เรื่องจะจบยังไง เลยไม่ได้ตามเก็บพวกสัญลักษณ์ รายละเอียดหนัง แรงจูงใจอะไรต่าง ๆ โชคดีที่หลังจากหนังจบ น้องมะม่วงคนชวนมาดูสะกิดให้เรานึกถึงพวกสัญลักษณ์ทางศาสนาหรือปรัชญาที่ผู้กำกับทิ้งรอยเอาไว้ในเรื่อง แต่เพราะเราไม่ได้ตั้งใจเก็บรายละเอียดเลยเบลอ ๆ ไปบ้าง อย่างรอยลิ่มที่หัวของหลานชายน้องบอกว่าเป็นเหมือนรอยไม้กางเขน แต่ทำไมเรามองเป็นรอยมงกุฎหนามของพระเยซูไปได้หว่า ไอ้ที่บอกน้องว่าพี่ยังงง ๆ กับเรื่องอยู่นี่เรื่องจริงนะไม่ได้แกล้ง (ฮา)

นึกแล้วก็คุ้น ๆ อยู่ว่าหลังหนังจบมีการเสวนา มีผู้ชมคนหนึ่งก็พยายามตีความแรงจูงใจของฆาตกรว่าเป็นเรื่องทางศาสนา เพราะมันมีการตอกลิ่ม การจับศพแขวนเหมือนห้อยไม้กางเขน ฆาตกรแม่งยังเป็นช่างแกะสลักพระเยซูที่หน้าโบสถ์อีก พระเอกก็สืบไปจนเห็นภาพส่วนต่าง ๆ ของพระเยซูในห้องที่ฆาตกรเคยอยู่ ก็เข้าเค้า ติดอยู่นิดเดียวว่าทำไมถึงมีปากคำของผู้หญิงขายตัวคนหนึ่งบอกว่าเพราะฆาตกรมันหมดสมรรถภาพทางเพศแล้ว พวกตำรวจสืบสวนก็เลยตีความว่ามันหันมาฟินกับการเจาะกระโหลกผู้หญิงแทน เหตุผลนี้แม่งก็เข้าเค้าอีกแหละ ผู้กำกับก็ไซโคมาอีกว่า "ทุกสิ่งที่ผมใส่ในหนังมีความหมาย" ฮ่วย

เรากลับมานั่งตกผลึกอยู่วันนึงเลยนึกถึงอีกคำพูดนึงของผู้กำกับที่เค้าพูดหลังเสวนาจบประมาณว่า เค้าไม่ได้สนใจเรื่องแรงจูงใจหรือภูมิหลังของตัวละคร สิ่งที่เค้าสนใจคือมนุษย์คนหนึ่งจะตัดสินใจยังไงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้า (ประมาณนี้มั้ง) แบบนี้ก็พอเข้าใจโครงสร้างที่ผู้กำกับทำกับหนังเรื่องนี้ให้มีแต่ตัวละครสีเทา ๆ สถานการณ์ที่มันโคตรจะจริง และแรงจูงใจที่คลุมเครือ แท้จริงแล้วเค้าคงต้องการปอกเปลือกความเป็นมนุษย์ออกมา และแสดงให้เห็นว่ามนุษย์ต่างจากปิศาจตรงไหน

จุงโฮ พระเอกที่ไม่น่าจะได้ชื่อว่าเป็นพระเอกเลยเพราะไม่หล่อแล้วยังทำตัวเหี้ยมากทั้งเรื่อง (ฮา) ภูมิหลังเป็นอดีตตำรวจที่รับส่วยโดนไล่ออกเลยผันตัวมาเป็นพ่อเล้าจัดหาเด็กบริการ แต่ถึงจะเหี้ยยังไงหมอนี่ก็คงมีความเป็นมนุษย์แบบเรา ๆ ท่าน ๆ นี่แหละ รักโลภโกรธหลงประสาปุถุชน รักผลประโยชน์ตัวเองที่สุด ตอนแรกมันยังคิดอยู่ตลอดเลยว่าฆาตกรมันหลอกเด็กบริการเอาไปขายต่อ พอสืบไปสักครึ่งเรื่องถึงรู้ว่าไอ้นี่มันฆาตกรโรคจิตจริง แต่ก็ช่วยนางเอกไว้ไม่ทันแล้วเพราะหาหลักฐานไม่ทัน อัยการสั่งไม่ฟ้อง ฆาตกรมาจัดการงานที่ทำค้างไว้จนสำเร็จ

หลังจากนั้นพระเอกแม่งก็พระเอกจริง ๆ ทั้งที่มีเส้นสายกับเพื่อนตำรวจเก่า ๆ จะขอแรงมาช่วยสืบต่อหรือเป็นกองหนุนก็ได้เพราะเพื่อนมันก็อยากจับฆาตกรทั้งนั้น แต่มันก็หนีไปสืบต่อคนเดียวไปจนถึงบ้านฆาตกรพร้อมไปดวลเดี่ยวอย่างไม่กลัวถูกฆ่า เพราะคราวนี้จุงโฮไม่ได้ไปในฐานะผู้เสียผลประโยชน์เพราะเสียเด็กในเล้าเหมือนเดิม แต่ไปในฐานะผู้ชายคนหนึ่งที่อยากทวงความยุติธรรมให้ผู้หญิงคนหนึ่งโดยไม่เกี่ยงวิธีการ ฉากบีบคั้นหัวใจที่สุดคือฉากที่จุงโฮกำลังยกค้อนขึ้นเตรียมฟาดหัวคนร้ายให้สาสมกับความผิดแม้ตัวเองอาจต้องมีความผิดข้อหาฆ่าคนตาย แต่นั่นก็คือการทวงคืนความยุติธรรมในแบบของปุถุชนคนหนึ่ง พอเพื่อนตำรวจมาห้ามไว้ทัน เขาจึงมองเห็นมีจินที่เหลือแต่หัวมีน้ำไหลออกมาจากดวงตาไร้แววด้วยความรู้สึกผิดที่แก้แค้นให้ไม่ได้

ส่วนตัวฆาตกรโรคจิต หนังทิ้งปมไว้สองทางว่าแรงจูงใจคืออะไร แต่ดูจะหนักไปทางศาสนามากกว่าเพราะค่อนข้างเน้นหลายฉาก แต่ที่สุดแล้วเราว่าไม่สำคัญเท่าไรนัก เพราะไม่ว่าจะฆ่าคนด้วยเหตุผลสูงส่งเช่นการคลั่งลัทธิศาสนา หรือจะฆ่าด้วยเหตุผลต่ำ ๆ อย่างจู๋ไม่แข็งเลยเครียด ที่สุดแล้วมันก็คือการกระทำของคนที่ละทิ้งความเป็นมนุษย์ไปแล้วนั่นเอง หรือก็คือปิศาจในคราบมนุษย์ที่ต้องการฆ่าคนโดยยกสารพัดเหตุผลมาบังหน้า

The Chaser จึงเป็นหนังที่น่าจะเป็นการพาผู้ชมเข้าไปไล่ล่าสำรวจแก่นกลางความเป็นมนุษย์ของตนเองว่าท่ามกลางความรักโลภโกรธหลงอย่างปุถุชนของเรา เราค้นพบความเป็นมนุษย์หรือเป็นปิศาจที่ไล่ล่าคนอื่นด้วยสารพัดข้ออ้างที่เรียกว่าเหตุผล ไม่ว่าเปลือกนอกเราจะเป็นคนเหี้ย ๆ อย่างไร แต่ถ้าแก่นกลางในใจเราพร้อมจะจับมือน้อย ๆ ไร้ที่พึ่งในคืนฝนพรำอย่างที่พระเอกทำในตอนจบ เราก็คงยังเป็นมนุษย์อยู่ แต่ถ้าเมื่อไรเราอยากจะตอกลิ่มใส่คนอื่น ไม่ว่าจะมีเหตุผลสูงส่งเพียงใดหรือแม้แต่ไม่มีเหตุผลเพียงพอ เราก็คงกลายเป็นปิศาจไปแล้ว

ไม่น่าเชื่อว่านี่เป็นผลงานเรื่องยาวเรื่องแรกของผู้กำกับ หรือถ้าเป็นผลงานเรื่องแรกจริง ผู้กำกับก็คงได้เรียนรู้มนุษย์มาไม่น้อยเลยจึงถ่ายทอดความเป็นมนุษย์ออกมาได้เข้มข้นแบบนี้ทั้งที่ไม่ใช่หนังดราม่า แต่จะว่าเป็นผลงานเรื่องแรกก็น่าเชื่ออยู่เพราะมีบางจุดที่ดูจะบังเอิญและจงใจหลายส่วนเพื่อให้เรื่องกระชับและไปต่อได้เร็ว ๆ หรือเพิ่มความดราม่า อย่างจู่ ๆ สองตัวเอกก็ขับรถมาชนกันเลยไม่ต้องหาตัวละ นางเอกหลบมาอยู่ร้านสะดวกซื้อดันเจอเจ้าของร้านปากเปราะซวยอีกกู หรือลูกสาวนางเอกเดินหลงไปโดนใครฟาดหัวก็ไม่รู้ คงเพื่อให้พระเอกเซ็นรับเป็นลูกเพิ่มความดราม่าเข้าไปอีกหน่อยมั้ง (ฮา) แต่ชีวิตเราแม่งก็อาจจะมีแต่เรื่องบังเอิญแบบนี้เกิดขึ้นจริงก็ได้ ชีวิตถึงมีเรื่องราวให้เล่าได้

ส่วนเรื่องความเป็นทริลเลอร์ การมีภูมิหลังและแรงจูงใจของตัวละครไม่ชัดเจนนักไม่รู้ว่าจะเป็นข้อดีหรือข้อเสีย แต่ก็อย่างว่า ถ้ามีภูมิหลังและแรงจูงใจให้เห็นมากไป มันจะกลายเป็นตัวละครในหนังทริลเลอร์ฝรั่งซึ่งจบแล้วก็จบเลย ไม่ใช่มนุษย์จริง ๆ แบบที่เรายังติดค้างและขบคิดกับมันมาจนถึงวันนี้

๘ กันยายน ๒๕๕๘

วันศุกร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2558

เงาภาพซิลลูเอตต์

ระเบียงห้องเช่าโกโรโกโสคือกรอบรูปบรรจุภาพแสงแรกเร้ารึงความคะนึงหา
ริ้วเมฆน้ำเงินอมม่วงหม่นสลับกับแสงเรื่อแดงดังเปลวเพลิงใกล้มอดดับ ฉาบทาด้วยหมอกมืดที่ค่อยจางลงจากแสงสีทองอุ่นเรืองที่ถักทอขึ้นมาจากขอบฟ้าอีกฟากฝั่ง
ขาดก็แต่เพียงใครคนหนึ่งยืนอยู่ที่ระเบียง มองกลับมาอย่างแสนรัก ซ่อนรอยยิ้มหวานเบาบางไว้ในเงาภาพซิลลูเอตต์สมบูรณ์แบบ
ฉันอาจไม่มีวันได้เห็นภาพนั้นด้วยสองตาเปื้อนรอยน้ำตาอุ่นชื้นรื้นจาง
แต่ฉันเชื่อหมดหัวใจว่า นั่นคือรอยยิ้มที่งดงามที่สุดในโลกหม่นเศร้านี้


ก.ย. ๒๕๕๘

วันพุธที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2558

ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต / วีรพร นิติประภา


จริง ๆ เล่มนี้อ่านจบนานมากตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว แต่ต้องทำใจอยู่หลายเดือนเหมือนกันกว่าจะกล้าเขียนถึง เพราะจำได้ว่าหลังอ่านจบเราจิตตกถึงขนาดไม่พูดกับใครไปสองสามวัน กลายเป็นตะกอนความเศร้าขนาดใหญ่ที่ตกค้างในใจ เผลอกวนให้ตะกอนมันฟุ้งขึ้นมาทีไรก็ทำให้ปวดร้าวขึ้นมาทุกครั้ง แต่เพื่อฉลองที่เล่มนี้เป็นหนึ่งในเก้าเล่มสุดท้ายรางวัลซีไรต์ก็เลยถือโอกาสเขียนถึงเสียเลย


พอนึกย้อนไปถึงเล่มนี้ เราคิดถึงสองเรื่องที่ดูไม่น่าจะเกี่ยวกับนิยายเล่มนี้เลย เรื่องแรกคือคำพูดที่เรามักจะบอกเด็กที่เรียนวิชาการเขียนย่อหน้าอยู่เสมอว่า ขนาดของความคิดจะเป็นตัวกำหนดขนาดของบทเขียนเสมอ ยิ่งความคิดของเราใหญ่และซับซ้อนมากขึ้นเท่าไร บทเขียนก็จะยาวและโครงสร้างก็จะซับซ้อนมากขึ้นเท่านั้น

หลังอ่านนวนิยายเรื่องนี้จบ เราไม่รู้ว่าคนเขียนแบกรับมวลความเศร้าก้อนใหญ่และซับซ้อนขนาดนี้ไว้ได้อย่างไร ยิ่งกว่านั้นคือต้องแบกรับมันจนกระทั่งเขียนนิยายเรื่องนี้จบลง ซึ่งระหว่างทางที่แบกรับต้องจาริกเข้าไปในความรู้สึกร้าวรานของตัวเอง ต้องใช้ไปกี่บาดแผลทางใจที่จะเค้นเอาความเศร้าออกมาในแต่ละตัวอักษร หลังอ่านจบ เรารู้ว่าความยาวของบทเขียนความเศร้าเรื่องนี้ไม่ได้มีแค่ 256 หน้าเท่าที่มีในเล่ม แต่คือสิ่งที่ไม่ได้เขียนอีกหลายร้อยหลายพันหน้าซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัด

เรื่องที่สองซึ่งยิ่งไม่เกี่ยวกับนวนิยายเล่มนี้คือเรานึกถึงการบรรยายฉากเวลาจะออกรบในเรื่องรามเกียรติ์ฉบับรัชกาลที่ 1 เวลาที่แต่ละตัวละครจะออกรบจะมีแพทเทิร์นคือจะต้องอาบน้ำ แต่งองค์ทรงเครื่อง นั่งรถศึกชิลล์ ๆ ชมนกชมไม้ก่อนจะถึงสมรภูมิ ไม่ว่าจะเป็นศึกที่มึงควรจะรีบไปแค่ไหน น้องถูกฆ่าตาย-ทหารมาแจ้ง-ฮึ้ยกูโกรธทนไม่ไหว แต่สุดท้ายมึงก็ต้องไปอาบน้ำ แต่งองค์ทรงเครื่อง นั่งรถศึกชิลล์ ๆ ชมนกชมไม้ก่อนจะถึงสมรภูมิอยู่ดี สิ่งที่น่าสนใจคือไม่ว่าฉากแพทเทิร์นพวกนี้มีเนื้อหาซ้ำกันมากแค่ไหน แต่กวียุคนั้นเก่งมากที่เขียนบรรยายแทบไม่ซ้ำกันเลย เรียกว่าคอนเทนต์เดิมแต่เปลี่ยนดีไซน์ได้ดีไม่น่าเบื่อ

ตอนอ่านนวนิยายเล่มนี้ พอเข้าฉากเศร้า เรากลับทึ่งเหมือนตอนอ่านฉากซ้ำในรามเกียรติ์ ใช่ ตอนนี้เศร้า ตอนนี้ก็เศร้าอีกแล้ว แต่คนเขียนเขียนถึงความเศร้าได้ไม่ซ้ำเลย เราจึงเพิ่งรู้ว่าความเศร้ามีเป็นร้อยเป็นพันเฉดสีขนาดนี้

ถ้าจะจำกัดความ นวนิยายเล่มนี้คือกลุ่มก้อนของมวลความเศร้าขนาดใหญ่หลายร้อยหลายพันเฉดสี นวนิยายที่จะกระตุ้นตะกอนความเศร้าประดามีที่เก็บไว้ในใจให้ฟุ้งขึ้นมาจนน้ำตารื้นหรือสะอึกสะอื้นอีกครั้ง

เราไม่แปลกใจถ้าคนรุ่นหนึ่งอ่านแล้วอาจไม่เข้าใจว่าตัวละครตัวนี้ทำไมทำแบบนี้ บางสิ่งบางอย่างไม่สมเหตุสมผล บางความเศร้าไม่เห็นต้องเศร้าเลย เช่นว่า

"เธอเป็นหญิงสาวหน้าตาธรรมดา ท่าทางธรรมดา ผู้ซึ่งจะยืนมองท้องฟ้าทุกเช้าระหว่างรอรถเมล์ตอนเขายังเรียนมหาวิทยาลัยอยู่ เขาไม่เคยคิดจะทำความรู้จักกับเธอ ไม่เคยคิดจะตามเธอขึ้นรถไป ไม่เคยอยากรู้ว่าเธอเป็นใคร ทำอะไร อยู่ที่ไหน มาจากไหนหรือกำลังจะไปไหน เขาพอใจแค่จะมองเธอเช่นนั้น...ยืนหลังตรง มีมือจับอยู่ที่สายกระเป๋าซึงพาดเฉลียงกลางอกเหมือนปฏิญาณตน เงยหน้ามองขึ้นบนท้องฟ้าเรื่อราง กลางเมืองฝันสลาย

"เขาแค่อยากมีเธอให้ยืนมองเช่นนั้นไปทุกเช้า ไม่มากกว่านั้น ไม่น้อยกว่านั้น แล้วเธอก็หายไป เขารอ แต่เธอไม่เคยมาอีก เขาไม่อยากไปโรงเรียน ไม่อยากเห็นซีกเสี้ยวเซียวซีดของท้องฟ้ายามเช้า และรู้สึกเหมือนมีก้อนหินหนัก ๆ กดทับอยู่ข้างใน อยู่มาวันหนึ่งก้อนหินนั่นก็หายไปด้วยเช่นกัน หลงเหลือไว้แต่หลุมโพรงว่างเปล่าตรงที่มันทับอยู่...ข้างในหลุมโพรงว่างเปล่าที่อยู่ข้างในหลุมโพรงว่างเปล่าที่อยู่ข้างในหลุมโพรงว่างเปล่า หลุมอื่น ๆ" (น.91)

สำหรับคนรุ่นหนึ่ง แค่คนแปลกหน้าที่ไม่แม้แต่รู้จักชื่อหายไปจากชีวิตจะเป็นความเศร้าได้อย่างไร แต่สำหรับคนในยุคสมัยอันแสนเปราะบางอย่างยุคของเรา เรารู้ว่านี่คือความเศร้าและเจ็บปวดที่สมเหตุสมผลที่สุดแล้ว

สิ่งเดียวที่รู้สึกว่าเบาบางไปสักหน่อยคือบทบาทของชลิกา เส้าที่สามของความรักสามเส้าครั้งนี้ แม้จะรู้ว่าสิ่งที่ไม่ได้พูดในนิยายต่างหากที่เศร้านักหนา แต่เราก็อยากให้ชลิกามีเสียงมากกว่านี้สักหน่อยเพราะรู้สึกว่าเรากับชลิกามีอะไรคล้ายกันหลายอย่าง

ไม่ว่าเล่มนี้จะได้ประดับตราซีไรต์หรือไม่ แต่การที่ "นวนิยายรักน้ำเน่าฉบับมาตรฐาน" (จากคำนำสำนักพิมพ์) มาได้ถึงขนาดนี้ก็นับว่าสมฐานะนวนิยายรักชั้นดีแล้ว นวนิยายรักในโลกนี้มีมากมายมหาศาล แต่เล่มที่จะตราตรึงหัวใจเราคงมีไม่กี่เรื่อง และเราคิดว่าเล่มนี้คือหนึ่งในนั้น

สิ่งที่ต้องเตือนอย่างเดียวก่อนอ่านคือนวนิยายเล่มนี้อาจไม่เหมาะกับคนที่มักจะเอาความเศร้าเบาบางเป็นเพียงอาหารหวานหล่อเลี้ยงหัวใจ เพราะมันเศร้าขมเหมือนยาแรง กินไม่ระวังจะน็อคเอาง่าย ๆ เว้นแต่จะมีรสนิยมชื่นชอบการเฆี่ยนตีหัวใจตัวเองด้วยความรวดร้าว

=======================
Quotations: (จริง ๆ มีโควตสวย ๆ เยอะมาก ถ้าเอามาทั้งหมดก็คือลอกทั้งเล่มมา (ฮา) เลยคัดมาแต่ของตัวละครชื่อปราณละกัน เพราะเรารู้สึกว่าเข้าใจความเจ็บปวดของปราณมากที่สุดนะ)

รอยยิ้มพรายไร้ที่มา มิตรภาพลึกรางผาดเผิน ความบังเอิญเหนือจริง กับหญิงสาวที่ซ่อนครึ่งใบหน้าเอาไว้ในเงาสลัว แค่นั้นก็เพียงพอที่เขาจะปล่อยหัวใจให้ล่มสลายลงในปลายคืน...บางคืน แล้วยอมให้ใครสักคนซึ่งไม่เคยเห็นหน้ามาก่อนพาเขาไปยังห้องหับหลับนอนที่ไม่เคยไป เป็นคู่รักชั่วคราวครั้งละคืนหรือสองของหญิงสาวมากหน้าหลายตา เพื่อจะมาค้นพบเอาบัดนี้...ในอายุยี่สิบหกว่าการกอดรัดฟัดเหวี่ยงคนแปลกหน้ากับอัตกามว่างเปล่าบนเรือนร่างกันและกันของคนสองคน พาเขาดั้นด้นไปไกลได้แค่ไม่ต้องตื่นแต่ลำพังบนผ้าปูที่นอนซึ่งยังเรียบตึงเท่านั้น (น. 53)

ระหว่างหลายปีที่ผันผ่าน ปราณเขียนเพลงให้ครอบครัวของเขาเอาไว้หลายเพลง...แต่เขาก็ได้แต่เก็บซ่อนบทเพลงพวกนั้นเอาไว้ในใจ ไม่เคยเล่า ไม่เคยเล่นให้ใครฟัง และไม่เคยกลับไปเยี่ยมบ้านแม่น้ำอย่างที่ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้กับชลิกา เมื่อสิ่งหนึ่งเปลี่ยนไป ปราณก็อดไม่ได้ที่จะกลัวว่าสิ่งอื่น ๆ ที่เหลืออยู่จะเปลี่ยนตาม สู้ทิ้งทุกอย่างเอาไว้ที่เก่า...ตรงที่พรากจาก โดยไม่แตะต้องเลยดีกว่า ทิ้งมันเอาไว้อย่างนั้น ที่ไหนสักแห่งลึกร้างกลางแก่นใจ แล้วบอกตัวเองให้เชื่อให้ได้ว่ามันจะคงอยู่คงเป็นเช่นนั้น ไม่มีวันเปลี่ยนแปร (น. 147)

เธอแตะรอยแตกบนริมฝีปากเบา ๆ ด้วยปลายนิ้ว ปราณเบือนหน้าหนี รวดร้าวบิดริ้วขึ้นข้างใน ไม่รู้จะบอกเธออย่างไรว่าเขายังเจ็บ ไม่ใช่ตรงนั้น แต่ลึกลงไป ไม่ได้บอกว่าเขาเจ็บแค่ไหน ไม่ได้บอกว่าเขาทำอย่างไรกับความเจ็บปวดนั่น ไม่ได้บอกเธอว่าชั่วขณะหนึ่งเขาลืมตัวไปว่าเป็นใคร เดียวดายมาอย่างไร ฟันฝ่าชีวิตมาแบบไหน เคยผ่านอะไรต่อมิอะไรมามากมายเพียงใด ก่อนจะมาฟั่นเฟือนเลอะเทอะ...ว่าเขามีใคร (น. 186)

ในโลกที่ไม่มีอะไรน่าประทับใจให้จดจำ เขาแทบนึกไม่ออกด้วยซ้ำว่าจะลืมเธออย่างที่ตั้งใจได้อย่างไร จนกระทั่งได้พบผู้ชายอังกฤษที่เดินทางมารอบโลกเพื่อติดตั้งระบบไฟฟ้ารอบกรงหมีให้กับสวนสัตว์คนหนึ่ง ซึ่งเขาเล่าให้ฟังว่าเวลาหมีที่ขังโดนลูกกรงไฟฟ้าชอร์ตเจ็บเอาหลาย ๆ ครั้ง พวกมันจะเรียนรู้ที่จะไม่ไปใกล้ที่ตรงนั้นอีกโดยสัญชาตญาณ จนแม้เมื่อเอาสายไฟหรือกระทั่งลูกกรงออกตลอดชั่วอายุขัย... พวกมันก็จะไม่ยอมกลับไปเฉียดกรายเข้าใกล้บริเวณนั้นอีกเลย

เขาจึงไปหาเข็มหมุดมาพกติดตัวเอาไว้เล่มหนึ่ง ทุกทีที่คิดถึงเธอขึ้นมา ปราณก็จะเอาเข็มนั่นทิ่มแทงปลายนิ้วตัวเองหลาย ๆ ครั้ง ในช่วงแรก ๆ เขาถึงกับรับงานเล่นดนตรีไม่ได้เพราะปลายนิ้วระบมจนกดสายกีตาร์ไม่ไหว แล้วยังเผลอเอาเข็มนั่นข่วนขูดอกตนจนเป็นลายเลือดพร้อยด้วยหลายหนเมื่อทนถูกความโหยหากลุ้มรุมกัดกินไม่ไหวในบางคืน แต่ต่อมาเวลาคิดถึงเธอเขาก็จะเริ่มรู้สึกเจ็บปลายนิ้วขึ้นมาเองเฉย ๆ โดยไม่ต้องใช้เข็มทิ่ม และในที่สุดก็รู้สึกเจ็บขึ้นมาเองล่วงหน้าตั้งแต่ก่อนจะเริ่มคิดถึงเธอเสียอีก ซึ่งทำให้เขาสามารถรีบหาอะไรหมกมุ่นทำตัดหน้าเพื่อหลบเลี่ยงตัดรอนการต้องคิดถึงเธอลงไปได้ทีละน้อย และยิ่งระยะห่างระหว่างการคิดถึงเธอแต่ละครั้งถูกถ่างถอยออกกว้างเท่าไร ความทรงจำเกี่ยวกับเธอก็ยิ่งเลือนรางจางลงเท่านั้น (น. 237)

------------------------------------------
วีรพร นิติประภา. ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556.

วันพุธที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2558

หลงรักนักวิ่ง

(๑.)
หากคุณหลงรักนักวิ่ง
สิ่งแรกที่คุณควรทำคือ เคาะฝุ่นเกรอะกรังจากรองเท้าหลังตู้ที่คุณหลงลืม
ชงวินัยผสมความมุ่งมั่นดื่มต่างน้ำเป็นแรงขับเคลื่อน
ให้ความปรารถนารุนแรงเป็นเท้ายักษ์ถีบคุณหลุดพ้นจากแรงดึงดูดของหลุมดำชื่อเตียงในรุ่งสาง
ย่ำเท้าลงสู่เข็มยะเยือกแห่งความร้าวรานทางร่างกาย
"ความเจ็บปวดเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทัณฑ์ทรมานเป็นทางเลือก"*
เอาความอิ่มเอมหลังผ่านพ้นกิโลเมตรแรกเป็นยารักษาแผลที่จะเกิดขึ้นชั่วกาล
ผลัดเนื้อเปลี่ยนกระดูกท่ามกลางกิโลเมตรต่อกิโลเมตรพ้นผ่าน
กว่าจะจบชั้นอนุบาลที่ห้ากิโลเมตรแรก กี่ครั้งที่คุณต้องฝ่าฟันกับความทุกข์เทวษของห้าร้อยกิโลเมตรที่ดัดปั้นน่องขาและแรงปอด
แต่นั่นก็คือทัณฑ์ทรมานที่คุณเต็มใจเลือกแล้ว

(๒.)
หากคุณหลงรักนักวิ่ง
คุณฝันว่าสักวันจะได้วิ่งเคียงข้างเธอตลอด 42.195 กิโลเมตร
กี่ครั้งที่คุณไปได้สุดชีวิตแค่คำยืดยาวจำพวกมินิและฮาล์ฟห้อยหน้ามาราธอน
ทุกครั้งคุณล้มลง ตะคริวตะคอกใส่หน้าคุณถึงขีดจำกัดของร่างกายที่ยังฝึกฝนไม่พอ
คุณลุกขึ้นชงวินัยผสมความมุ่งมั่นกรอกปากอีกเท่าตัว
ร้อยพันกิโลเมตรที่ตอกย้ำในมัดกล้ามขาคือสิ่วค้อนค่อยสกัดคำนำหน้ามาราธอนออกไปทีละนิด
ผสานผสมจินตนาการว่าตนคือฟีร์ดิปปิเดซ**ที่จะนำสาสน์แห่งรักไปกระซิบข้างหูเธอตรงเส้นชัย

(๓.)
หากคุณหลงรักนักวิ่ง
วันหนึ่งคุณกลับพบว่า 42.195 กิโลเมตรคือเส้นทางแสนสั้นที่คุณจะได้ใช้เวลาร่วมกับเธอ
น่าเสียดายที่การออกวิ่งในครั้งที่คุณพอจะทนทานกับระยะทางนี้ได้ คุณกลับพบว่ามีคนหลงรักนักวิ่งมากมาย
หมื่นพันผู้คนต่างห้อมล้อมเธอ กีดกันนักมาราธอนใหม่หมาดไว้กับโลกสุญญากาศของตัวเอง
กว่าจะรู้ว่าคุณไม่มีทางเข้าใกล้เธอได้ ปลายทางของคุณก็อยู่ตรงหน้าเสียแล้ว

(๔.)
ฟีร์ดิปปิเดซตะโกนว่าเราชนะแล้ว พร้อมกับสิ้นใจเมื่อถึงเส้นชัย
คุณปริ่มจะสิ้นใจ ทว่ายังจำยอมกลั้นกลืนสาสน์แห่งรักลงคอไปพร้อมกับน้ำดื่มดับกระหาย
คุณอาจไม่สมหวังเมื่อหลงรักนักวิ่ง
แต่อนุสาวรีย์ความรักนั้นแฝงฝังในมัดกล้ามปูดโปนและปอดแกร่งทนทาน
เมื่อมองย้อนกลับไปยังเส้นทางหลายพันกิโลเมตรที่ทอดยาวอยู่ข้างหลัง ก่อนที่ความปรารถนารุนแรงจะกระชากร่างคุณข้ามเส้น 42.195 กิโลเมตรมา
คุณคงจะรู้ว่า การหลงรักนักวิ่งไม่มีวันสูญเปล่า

สิงหาคม ๒๕๕๘
_________________
*จากหนังสือ What I Talk About When I Talk About Running ของ Haruki Murakami สำนวนแปลของ นพดล เวชสวัสดิ์
**นายทหารชาวกรีกผู้วิ่งข้ามที่ราบมาราธอนไปยังกรุงเอเธนส์

วันพฤหัสบดีที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2558

หลับใหลในโลกเศร้า

อยากจะนอนหลับใหลในโลกเศร้า
ในห้องแห่งความเหงาว้าเหว่
ให้ความอาลัยช่วยไกวเปล
กล่อมเห่ด้วยน้ำตาอาวรณ์

ทอดทิ้งทุกสิ่งไว้ในโลกเศร้า
ท่ามกลางฝันสีเทาเราหลบซ่อน
ปล่อยเสียงสะอึกสะอื้นกล่อมนอน
ตราบที่ใจไหวอ่อนยังอ่อนใจ

กี่ครั้งที่มีรักแล้วร้าวนัก
จะขอเลิกมีรักได้ไหม
ลบเลือนทุกสิ่งทิ้งไป
ลืมทุกความหวั่นไหวที่เคยมี

เพียงแค่หายใจก็ยังเจ็บ
ซ่อนเก็บหัวใจไร้ศักดิ์ศรี
มีแต่รอยร้าวบิ่นสิ้นดี
ไร้ค่ากว่าที่จะให้ใคร

อยากลบเลือนความรักในโลกเศร้า
ลืมทุกความเปลี่ยวเหงาร้าวไหว
จมดิ่งสู่ห้วงฝันนิรันดร์ไป
ดีกว่าตื่นมาร้องไห้เพียงลำพัง

๒๐ ส.ค. ๕๘

วันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ดีไม่พอ

เพราะรู้ว่าไม่มีวันดีพอ
จึงไม่ขอเรียกร้องให้มองฉัน
ขอแค่เป็นเช่นนี้ในทุกวัน
แค่ยิ้ม, ทักทายกันแค่นั้นพอ

ทุกสิ่งที่เคยทำให้กัน
รู้ว่าเธอนั้นไม่เคยขอ
และฉันไม่เคยเฝ้ารอ
ไม่กล้าแม้จะสานต่อความสัมพันธ์

เพราะฉันก็เป็นได้แค่นี้
เป็นคนธรรมดาที่มีแต่ฝัน
เพียงมือเปล่าและหัวใจให้กัน
เธอจะกุมมือนั้นนานเท่าใด?

นอกจากรักเธอมากกว่าตัวเอง
ฉันก็ไม่เคยเก่งเรื่องไหน
จึงขอแค่แอบรักเธอเรื่อยไป
หวังเพียงให้เธอเป็นสุขทุกทุกวัน

เพราะรู้ว่าไม่มีวันดีพอ
จึงไม่ขอแม้สิทธิ์จะคิดฝัน
หวังเพียงเธอได้พบใครควรคู่กัน
ฉันจะรอยินดี...ตรงนี้นะ

๑๖ ส.ค. ๒๕๕๘

วันจันทร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ทางฝัน

มันก็จริงที่ชีวิตต้องเดินไป
จะหัวเราะหรือร้องไห้ต้องไปต่อ
กาลเวลาไม่เคยรั้งรอ
ท่ามกลางการถักทอโชคชะตา

อาจเคยมีใครอยู่เคียงข้าง
พอให้ผ่านความอ้างว้างขมปร่า
แต่แล้วสักวันกาลเวลา
ก็เข่นฆ่าความสัมพันธ์อันเปราะบาง

ไม่เคยกุมมือใครได้เต็มมือ
จึงมิอาจยุดยื้อเมื่อเหินห่าง
ต้องสูญเสียสักกี่คนบนหนทาง
เหลือแต่ความอ้างว้างเต็มหัวใจ

ใช่! ชีวิตต้องเดินต่อก็พอรู้
ภาพฝันยังฝันอยู่ยังสู้ได้
แต่กี่คนที่ผ่านมาแล้วผ่านไป
ท่ามกลางความอ่อนไหวทุกคืนวัน

ก็ถูกแล้วที่ชีวิตต้องเดินไป
แต่วันนี้หัวใจกลับไหวหวั่น
ปวดร้าวกว่าไม่มีใครเคียงข้างกัน
คือต้องชื่นชมฝันเพียงลำพัง

ส.ค. ๒๕๕๘

วันอังคารที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

เสน่ห์

เสน่ห์ [สะเหฺน่] น. รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ทั้งในมุมที่น่ารักและน่าชัง เมื่อประกอบกันแล้วทำให้เธอกลายเป็นผู้หญิงที่พิเศษที่สุดในโลก.

(พจนานุกรมฉบับวุฒินันท์ ชัยศรี. กรกฎาคม ๒๕๕๘.)

วันพุธที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

เกินพอ (๒)

เพียงหนึ่งรอยยิ้มที่เธอให้
ก็มากเกินไปสำหรับฉัน
เพียงหนึ่งคำทักทายที่ให้กัน
ก็มากพอเปลี่ยนฝันเป็นฝันดี

ทั้งที่รู้แก่ใจไม่คู่ควร
แต่ใจก็ปั่นป่วนเกินหลบหนี
พ่ายแพ้แรงดึงดูดทุกที
จากแสนล้านดาวที่นัยน์ตางาม

เธอมีคนมากมายมาหลงรัก
รู้ทั้งรู้ก็เกินหักใจห้าม
คิดถึงนัยน์ตาหวานแวววาม
คงต้องปล่อยไปตามหัวใจ

ฉันเป็นเพียงคนนอกสายตา
เกินกว่าจะมอบหัวใจให้
ขอแค่มองแววตาเรื่อยไป
อย่ามาห่วงใยสนใจกัน

เธอไม่ต้องทำอะไรให้ฉันนะ
จะขอรักอยู่ไกลไกลแค่ในฝัน
แค่เป็นเธอที่เป็นเธออยู่ทุกวัน
ก็เป็นคนมหัศจรรย์ของฉันแล้ว

๘ ก.ค. ๕๘

วันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

กลางทาง


กลางทางนั้นมืดมิดเหน็บหนาว
ฉันทนก้าวแม้ความหวังยังเลือนพร่า
แต่หากเราจูงมือทั้งน้ำตา
คงดีกว่าหากเธอไปให้ไกลกัน

การมีเธอร่วมทางช่างอบอุ่น
ขอบคุณที่เดินเป็นเพื่อนฉัน
ขอบคุณทุกความสัมพันธ์
ขอบคุณทุกความฝันเคยฝันดี

เส้นทางระหว่างเราไม่ยาวนัก
สั้นเกินจะเรียกรักได้เต็มที่
อย่างน้อยจากวันนั้นถึงวันนี้
เราก็เคยมีกันและกัน

กลางทางอาจมืดมิดเหน็บหนาว
แต่แสงดาวก็ย้ำเตือนเพื่อนร่วมฝัน
มือที่เคยกุมมือเมื่อวานวัน
ยังคงอยู่ตรงนั้นในกลางใจ

ปลายทางของเธอไม่มีฉัน
เธอมีคนร่วมฝันความฝันใหม่
ปลายทางความฝันเรายังยาวไกล
ฉันจะก้าวต่อไปเพียงคนเดียว

๒ ก.ค. ๕๘

* ภาพประกอบจาก Music Video "ทิ้งไว้กลางทาง"

วันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ปล่อยดาว


ระวังเป็นน้ำผึ้งเพียงหนึ่งหยด
ที่ราดรดเปลวไฟให้โหมกล้า
แรกเริ่มอาจเป็นเพียงลมแผ่วมา
สุดท้ายคือมหาวาตภัย

โบราณว่าเชือดไก่ให้ลิงดู
แต่เชือดคนคนยิ่งสู้รู้หรือไม่!
มนุษย์ต่างจากสัตว์ที่ใด?
ตรงที่มีความเห็นใจให้แก่กัน

คุณขังดวงดาวให้ดับลง
ลูกกรงคุณใหญ่แค่ไหนนั่น?
ปลายปืนอาจปิดตะวันจันทร์
ฤาขวางกั้นดวงดาวที่พราวฟ้า

ดวงดาวอาจอ่อนแรงแสงริบหรี่
อำนาจที่คุณมีย่อมใหญ่กว่า
แต่รู้เถิดเมื่อดับดาวสักดวงมา
หมื่นล้านดาวหาญกล้าจะลุกฮือ!

๒๙ มิ.ย. ๕๘

วันพฤหัสบดีที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2558

คิดถึง (๗)

เป็นเพราะเราห่างกันวันหนึ่ง
เลยรู้ว่าคิดถึงมากแค่ไหน
มองหมื่นแสนล้านดาวดวงใด
ก็ยังไม่เหมือนดาวในดวงตา

เธอได้ยินเสียงลมกระซิบไหม
สายลมหอบความห่วงใยฉันไปหา
คิดถึงนะ... คิดถึงทุกเวลา
แม้ฉันจะจากมาไม่ถึงวัน

แววตาหวานชวนหวั่นไหวใครคนหนึ่ง
ช่างหวานซึ้งตรึงใจในความฝัน
คิดถึงเกินคำจะจำนรรจ์
ด้วยใจไหวหวั่นเดียวดาย

เพียงเพราะเราห่างกันแค่วันหนึ่ง
เลยรู้ว่าคิดถึงใจแทบสลาย
ขอโทษที่คิดถึงมากมาย
เพราะเธอมีความหมายมากเกินใคร

คิดถึงนะ... คิดถึงเธอที่สุด
คิดถึงเกินหยุดคิดถึงได้
ฟังสิฟัง... ลมรำเพยเผยความนัย
ว่ามีใครคนหนึ่ง... คิดถึงนะ

มิ.ย. ๒๕๕๘

วันพุธที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2558

นัย / ตา (๔)

ปัญหาอยู่ที่นัยน์ตาเธอ
ที่ฉันเผลอสบเข้าเช้าวันก่อน
หัวใจจึงจวนเจียนจะขาดรอน
อาวรณ์วุ่นวายไม่เว้นวัน

ปัญหาอยู่ที่นัยน์ตาเธอ
ที่ฉันเผลอรับไว้ในความฝัน
งามดุจดาวทั้งโพ้นฟ้ามารวมกัน
หมื่นแสนทางช้างเผือกนั้นยังพ่ายแพ้

ปัญหาคือฉันเผลอสบตา
พอรู้ตัวเกินกว่าหาทางแก้
ถึงจะหักห้ามใจไม่เหลียวแล
หัวใจกลับอ่อนแอเกินต้านทาน

สลัดทิ้งอย่างไรก็ไม่หลุด
นัยน์ตาพิสุทธิ์แสนหวาน
สลักลงตรงกลางใจไปชั่วกาล
ซึ้งซ่านตราตรึงถึงวิญญาณ์

ปัญหาคือตอนนี้ที่ใจฉัน
คอยเฝ้าฝันหวานซึ้งคะนึงหา
หัวใจไหวหวั่นทุกวันเวลา
เพราะหลงรักนัยน์ตาคนน่ารัก!

มิ.ย. ๒๕๕๘

วันพุธที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2558

แรงที่ชื่อ "ความรัก" ใน Interstellar


(เปิดเผยเรื่องราวในภาพยนตร์)

“Love, Tars, LOVE. It's just like Brand said. My connection with Murph, it is quantifiable. It's the key!”

Interstellar ภาพยนตร์ไซไฟที่ถูก (นักวิจารณ์ที่ไม่สนใจอ่านเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์) กล่าวหาว่าเป็นหนังครอบครัวที่มีฉากหลังเป็นอวกาศ ใช่ซะที่ไหนเล่า! นี่มันหนังไซไฟเต็มรูปแบบตะหากเฟ้ย! เรื่องราวทั้งหมดในภาพยนตร์คือทฤษฎีการเดินทางข้ามเอกภพผสานกับจินตนาการที่น่าจะเป็นไปได้ในอนาคต ลำพังแค่การดูหนังโดยไม่เข้าใจเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์มากนักก็สนุกดีอยู่แล้ว แต่ยิ่งได้อ่านหนังสือ The Science of Interstellar ที่เขียนโดยปรมาจารย์ด้านหลุมดำอย่าง Kip Thorne (ลุงแกเป็นที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์ในภาพยนตร์) ก็ยิ่งพบว่าภาพยนตร์เรื่องนี้อัดแน่นด้วยทฤษฎีเรื่องเอกภพทั้งที่พิสูจน์ได้และเป็นเพียงสมมติฐาน แทบไม่มีส่วนไหนในเรื่องเลยที่แต่งขึ้นลอย ๆ โดยไม่มีสมมติฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ นอกจากนั้นก็ยังถือว่าเป็นภาพยนตร์ที่แสดงภาพสิ่งสำคัญในเอกภพอย่างรูหนอนและหลุมดำจากจินตนาการของมนุษย์ได้ใกล้เคียงที่สุด จึงน่าจะพูดได้ว่าเป็นหนัง Sci-Fi เต็มรูปแบบ แถมยังหนักไปทาง Sci ด้วยซ้ำ (แต่ยังแมสได้อีก ลุงโนแลนแกจะเก่งไปถึงไหนเนี่ย)

หนึ่งในเรื่องราวที่โนแลนเสนอไว้อย่างน่าสนใจและอาจเป็นหัวใจของเรื่องนี้เลยก็เป็นได้คือ ความรักนั้นอาจเป็น “แรง” ชนิดหนึ่ง หรือเป็นสิ่งที่วัดปริมาตรได้ในเชิงฟิสิกส์ (Quantifiable) ซึ่งเป็นคำพูดในฉากที่คูเปอร์ตัวเอกของเรื่องพูดขึ้นหลังจากกระโจนเข้าไปในหลุมดำ และค้นพบมิติเชิงซ้อนของกาลเวลาซ่อนอยู่ในภาวะเอกฐาน (Singularity) ของหลุมดำ เขาจึงค้นพบวิธีที่จะติดต่อกับเมิร์ฟลูกสาวสุดที่รัก

ความรักจะเป็นแรงชนิดหนึ่งได้อย่างไร?

ก่อนอื่นไปที่พื้นความรู้เรื่องแรงเสียก่อน แรงพื้นฐานของจักรวาลหรือในทางฟิสิกส์เรียกว่า "อันตรกิริยาพื้นฐาน" นั้นมีอยู่ 4 ชนิด คือ แรงแม่เหล็กไฟฟ้า แรงนิวเคลียร์ชนิดเข้ม แรงนิวเคลียร์ชนิดอ่อน และที่เราคุ้นเคยกันดีที่สุดคือ แรงโน้มถ่วง แรงทั้ง 4 ชนิดคือแรงที่อนุภาคกระทำต่อกันในรูปแบบต่าง ๆ เช่น แรงนิวเคลียร์ชนิดเข้มคือการกระทำระหว่างอนุภาคระดับเล็กกว่าอะตอม แรงแม่เหล็กไฟฟ้าคือการกระทำระหว่างประจุไฟฟ้า เป็นต้น (หาอ่านได้ในหนังสือฟิสิกส์ทั่วไปนะจ๊ะ)

สิ่งที่น่าสนใจของทั้ง 4 แรงนี้คือ ความเข้มข้นของทั้ง 3 แรง ได้แก่ แรงแม่เหล็กไฟฟ้า แรงนิวเคลียร์ชนิดเข้ม แรงนิวเคลียร์ชนิดอ่อน ทั้งหมดเข้มข้นสูงกว่าแรงโน้มถ่วงอย่างมาก เทียบเป็นค่าสัมพัทธ์คือสมมติค่าให้แรงโน้มถ่วงเป็น 1 เมื่อเทียบกับแรงนิวเคลียร์ชนิดอ่อนซึ่งเบาสุดของทั้งสามแรงก็ยังมีค่าเป็น 10 ยกกำลัง 25 ของแรงโน้มถ่วง เกี่ยวกับเรื่องความเข้มข้นที่แตกต่างกันอย่างมากนี้ โปรเฟสเซอร์สุดสวยแห่งวงการฟิสิกส์ Lisa Randall สันนิษฐานว่าแรงโน้มถ่วงนั้นเป็นสิ่งที่รั่วขึ้นไปในมิติที่สูงกว่า และนี่ก็คงเป็นเหตุผลว่า เหตุใดแรงโน้มถ่วงจึงถูกใช้เป็นแรงหลักในการติดต่อสื่อสารจาก “คนในมิติที่สูงกว่า” (ในมิติที่คูเปอร์เห็น “เวลา” เป็นมิติทางกายภาพจับต้องได้) มาถึง “คนในมิติ 3+1” ได้ (มิติของเราที่มีกว้าง x ยาว x สูง และ มิติเวลาที่เดินไปข้างหน้า จับต้องไม่ได้)

ทว่าลำพังแรงโน้มถ่วงก็ยังไม่ดีพอที่จะเชื่อมต่อข้ามสเปซไทม์ได้ โดยเฉพาะจากในมิติที่สูงกว่ามิติ 3+1 ซึ่งในนั้นมีมิติเชิงซ้อนจำนวนมหาศาล ไม่เช่นนั้นเจ้าหุ่นพูดมากอย่าง Tars ที่ตกลงไปในหลุมดำก่อนคูเปอร์คงสามารถส่งข้อมูลควอนตัมที่พบในหลุมดำออกไปหาใครสักคนได้แล้ว

Tars เมื่ออยู่ท่ามกลางมิติเชิงซ้อนของเวลาในภาวะเอกฐานของหลุมดำ ก็เหมือนกับ "พวกเขา" ในมิติที่สูงกว่า ตรงที่เข้าถึงได้ทุกสเปซไทม์ของโลกในมิติ 3+1 แต่ไม่สามารถเชื่อมต่อได้เลย ดังที่คูเปอร์พูดว่า "They have access to infinite time and space, but they're not bound by anything. They can't find a specific place in time. They can't communicate."

การ "เชื่อมต่อไม่ได้" นั้นเกิดจากอะไร?

ในโลก 3+1 มิติของเรา สมมติว่าเราจะนัดเพื่อนกินข้าว ณ ที่ใดที่หนึ่ง นอกจากเราจะต้องบอกมิติของสเปซ ยังจะต้องบอกมิติเวลาด้วยว่าจะนัดหมายไปพบกันกี่โมง การเชื่อมต่อของทุกมิติจึงจะเสร็จสมบูรณ์ สิ่งมีชีวิตในสามมิติอย่างเราไม่มีปัญหากับการเคลื่อนไหวในมิติสเปซ เนื่องจากเราเข้าถึงได้ทุกมิติ อาจจะเดินขึ้น-ลง เลี้ยวซ้ายไปทางตะวันออก วกกลับมาทางเหนือมายังสถานที่นัดหมายได้ แต่สำหรับมิติเวลา เราไม่สามารถเดินไปจากหกโมงเย็นเพื่อเลี้ยวกลับไปกินข้าวกับเพื่อนตอนแปดโมงเช้าของวันเดียวกันได้

เช่นเดียวกัน ในมิติที่สูงขึ้นไปดังเช่นมิติเชิงซ้อนในหลุมดำที่เวลาถูกทำให้กลายเป็นมิติทางกายภาพ ซึ่งหมายถึงเราเดินย้อนเลี้ยวหรือรุดหน้าไปยังมิติเวลา อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต หรือช่วงใด ๆ ก็ได้ มันจึงต้องการสิ่งที่จะเชื่อมต่อนอกเหนือจากเวลาอีก

อันที่จริงแล้วมิติเชิงซ้อนของเวลาที่คูเปอร์ได้ค้นพบในภาวะเอกฐานของหลุมดำควรจะเป็นอย่างเดียวกับที่ Tars พบ คือเต็มไปด้วยสเปซไทม์กระจัดกระจายจนจับต้นชนปลายไม่ถูก (อาจจะเป็นในฉากภาพเชิงซ้อนมหาศาลช่วงแรกที่เขาถูกดึงดูดผ่านขอบฟ้าเหตุการณ์เข้ามา) ทว่าที่สุดแล้วคูเปอร์ก็ถูกดึงดูดเข้าสู่สเปซไทม์ "พิเศษ" เพียงที่เดียว นั่นคือห้องนอนของเมิร์ฟ ลูกสาวที่เขาถวิลหาถึงตลอดเวลานับแต่จากมา ดังนั้นแรงที่ดึงดูดเขา หรือมิติที่เชื่อมต่อเขากับเมิร์ฟในมิติที่สูงกว่ามิติ 3+1 จะเป็นอะไรอย่างอื่นได้นอกจาก "ความรัก"

ความสำคัญของ "ความรัก" ในฐานะสิ่งที่วัดค่าได้ในเชิงฟิสิกส์ยิ่งถูกเน้นย้ำในฉากที่เอมีเลียพยายามโน้มน้าวให้ทุกคนเดินทางไปยังดาวเอ็ดมันส์แทนที่จะเป็นดาวแมนน์ เธอกล่าวว่าความรักอาจไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเอง แต่ถูกสร้างขึ้นในมิติที่สูงกว่าซึ่งสิ่งมีชีวิต 3 มิติอย่างเราไม่สามารถรับรู้ได้ (ลำพังแค่มิติเวลาในมิติที่ 4 เราก็ยังเกือบจะ can't consciously perceive เลย) เธอถูกความรักดึงดูดข้ามจักรวาล (across the universe) ข้ามมิติเวลา (to someone I haven't seen in a decade) เข้าไปหาเอ็ดมันส์ที่อาจตายไปแล้ว (อาจหมายความไปถึงมิติเชิงกายภาพของเอ็ดมันส์)

"Love isn't something we invented. It's observable, powerful. It has to mean something... Maybe it means something more, something we can't...yet understand. Maybe it's some evidence, some artifact of higher dimension that we can't consciously perceive. I'm drawn across the universe to someone I haven't seen in a decade who I know is probably dead."

เอมีเลียเชื่อและพยายามอธิบายถึงความสำคัญของแรงที่ชื่อความรักว่าเป็นแรงที่เดินทางข้ามสเปซไทม์ได้ ก่อนจะปิดท้ายว่าเราควรศรัทธามันแม้จะยังไม่เข้าใจก็ตาม "Love is the one thing we're capable of perceiving that transcends dimensions of time and space. Maybe we should trust that, even if we can't understand it yet."

ความรักในฐานะแรงในทางฟิสิกส์อาจจะคล้ายคลึงกับแรงโน้มถ่วงตรงที่เราแทบจะไม่มีความรู้เกี่ยวกับมันมากนัก ซ้ำยังวัดค่าในเชิงฟิสิกส์ไม่ได้ชัดเจน แต่มัน observable และ powerful อย่างที่เอมีเลียว่า และหากแรงโน้มถ่วงส่งผ่านสเปซไทม์ได้ ความรักก็เป็น "the key" ที่เชื่อมต่อระหว่างพ่อกับลูกสาวข้ามสเปซไทม์แม้แต่ในมิติที่สูงกว่า

การที่โนแลนเลือกใช้ความรักของพ่อลูกแทนที่ความรักของหนุ่มสาว ในแง่หนึ่งก็ทำให้แรงของความรักนั้นหนักแน่นน่าเชือถือมากขึ้น เห็นได้จากฉากการโน้มน้าวของเอมีเลีย ทั้งที่เป็นแรงที่ชื่อความรักเหมือนกัน แต่เมื่อเอมีเลียจะใช้แรงนี้เดินทางไปหาเอ็ดมันส์กลับไม่ได้รับความเชื่อถือจากคนในทีมแม้แต่น้อย (ทำหน้าเหมือนเอมีเลียเพี้ยนแล้วอีกต่างหาก) ในบทหนังปูให้เห็นอยู่ตลอดว่าความรักของสองพ่อลูกคู่นี้ไม่ธรรมดา ก่อนจะจากโลกไปคูเปอร์ก็โอ๋แต่ลูกสาว พอออกไปอวกาศก็คิดถึงแต่ลูกสาวตลอดเวลา ตอนเกือบตายก็เห็นแต่หน้าลูกสาว (มึงรักลูกลำเอียงมาก) ฝ่ายเมิร์ฟก็แค้นพ่อเพราะเข้าใจผิดว่าพ่อทิ้งครอบครัวไปตั้งอาณานิคมที่ดาวอื่น ถึงขนาดด่าพ่อว่า "son of bitch" (ลูกอีดอก) แค่นี้ก็รู้แล้วว่าเมิร์ฟรักพ่อแค่ไหน อย่าลืมว่าความเกลียดชังก็คือเหรียญอีกด้านของความรัก คนที่แค้นกันสุดชีวิต ส่วนมากเริ่มมาจากความรักอย่างสุดซึ้งแทบทั้งนั้น

เมื่อคูเปอร์สามารถเชื่อมต่อกับเมิร์ฟจากมิติที่สูงกว่าไปสู่มิติ 3+1 ด้วยแรงที่ชื่อความรัก เขาได้ส่งข้อมูลจากอีกด้านของหลุมดำ (ซึ่งเชื่อกันว่าคือกฎความโน้มถ่วงควอนตัมที่พบในภาวะเอกฐานของหลุมดำ นำมาสู่การควบคุมความวิปลาสของแรงโน้มถ่วงในสถานีอวกาศจนสามารถยกอาณานิคมขนาดมหึมาขึ้นจากโลกได้) ผ่านแรงโน้มถ่วงใส่ลงไปในนาฬิกาที่คูเปอร์ให้กับเมิร์ฟ นั่นคือไคล์แมกซ์วัดใจว่าแรงที่ชื่อความรักนั้นมีอยู่จริงหรือไม่ ในจุดนี้การตั้งชื่อตัวละครลูกสาวว่า Murphy Cooper ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ไม่ได้ตั้งขึ้นลอย ๆ เพราะชื่อนี้ตั้งมาจาก "กฎของเมอร์ฟี" (Murphy's Law) ซึ่งกล่าวว่า "ทุกสิ่งที่สามารถผิดพลาด จะผิดพลาด" (Anything that can go wrong, will go wrong) (ซับไทยแปลว่า อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด คนละเรื่องเลย 55)

ก่อนหน้านี้ในฉากที่เอมีเลียโน้มน้าวให้เดินทางไปดาวเอ็ดมันส์ คูเปอร์บอกว่าการที่เอมีเลียเชื่อเรื่องแรงของความรักนั้นอาจจะผิดได้ (ตามกฎของเมอร์ฟี) เพราะตอนนั้นคูเปอร์ยังไม่รู้ว่าภายในมิติที่สูงกว่ามิติ 3+1 นั้น ความรักทำให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่างเขากับลูกสาว จนเมื่อเขาหล่นมาในภาวะเอกฐานของหลุมดำจึงเข้าใจว่าแรงที่ชื่อความรักมีจริง ดังนั้นในนาทีที่ Tars เจ้าหุ่นพูดมากถามคูเปอร์ว่า "ถ้าเธอไม่กลับมาเอานาฬิกา (ที่ใส่ข้อมูลควอนตัมไว้ล่ะ)" หรือถ้าพูดแบบกฎของเมอร์ฟีคือ "ความศรัทธาเรื่องแรงชื่อความรักจะผิดพลาดได้หรือไม่" คูเปอร์จึงแน่ใจและยืนยันไปว่าเมิร์ฟกลับมาเอานาฬิกาแน่ "Because I gave it to her." หรือพูดในภาษาแรงแห่งความรักคือ "เธอกลับมาเอานาฬิกาแน่ (เพราะความรักนั้นเชื่อมโยงเราสองคนไว้)"

ทุกสิ่งที่ผิดพลาดได้ จะผิดพลาด แต่คูเปอร์เข้าใจแล้วว่าแรงที่ชื่อความรักนั้นมีอยู่จริง ดังนั้นแม้ถูกทดสอบด้วยกฎของเมอร์ฟีก็ไม่มีทางผิดพลาดเด็ดขาด

ความรักจึงอาจจะเป็นแรงพื้นฐานอีกชนิดหนึ่งในจักรวาลซึ่งมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับแรงโน้มถ่วง ในแง่ที่มันอาจรั่วอยู่ระหว่างมิติ 3+1 ของเราไปถึงมิติที่สูงกว่าเช่นเดียวกับแรงโน้มถ่วง รวมถึงเหนี่ยวนำวัตถุที่มีคุณสมบัติพิเศษบางอย่างข้ามสเปซไทม์ หรือแม้แต่ในมิติที่สูงกว่านั้น สมมติอย่างสุดโต่งให้เห็นภาพเช่นว่าแรงที่ชื่อความรักนั้นเหนี่ยวนำสิ่งที่เรียกว่าวิญญาณ (Soul) ดังนั้นเรื่องคู่แท้หรือบุพเพสันนิวาส เรื่องความรักข้ามภพข้ามชาติก็อาจอธิบายได้ในเชิงฟิสิกส์ เพราะในเมื่อมิติเวลา อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต เป็นสิ่งที่มีอยู่และจับต้องได้ทางกายภาพ (โดยเฉพาะในมิติที่สูงกว่ามิติ 3+1 ซึ่งสามารถมองเห็นมิติเวลาในทางกายภาพ) แรงที่ชื่อความรักซึ่งส่งข้ามสเปซไทม์ได้ ก็ย่อมเหนี่ยวนำคนสองคนมาพบกันในเวลาและสถานที่ที่เหมาะสม ซึ่งอาจเป็นจุดใดจุดหนึ่งของโลกคู่ขนานในจักรวาลอันกว้างใหญ่ หรือพูดในภาษาชาวมิติ 3+1 ก็คือ "พบกันในชาตินี้" นั่นเอง

คำกล่าวที่ดูเหมือนจะติดตลกของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ที่ว่า "Gravitation is not responsible for people falling in love." จึงอาจไม่ใช่การพูดเพียงให้ขบขัน แต่เป็นเพราะแรงโน้มถ่วงและแรงที่ชื่อความรักนั้นเป็นแรงคนละชนิดกันในจักรวาลนี้ต่างหาก

มิถุนายน 2558

วันศุกร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2558

ปราชัย

หากใครรักมากกว่าต้องปราชัย
ฉันคงพ่ายแพ้ไปตั้งแต่ต้น
เมื่อฉันมอบรักให้ใครสักคน
ก็ทุ่มจนหมดใจไม่เผื่อลา

ความรักมิใช่เกมการแข่งขัน
ทุ่มเดิมพันมากกว่าหรือน้อยกว่า
หากรักเผื่อใจช้ำเสียน้ำตา
จะมีค่าอะไรให้รักกัน

ฉันรักใครฉันก็ให้ไปทั้งหมด
ทุกหยาดหยดเลือดเนื้อในใจฉัน
จะเซ่นสรวงดวงวิญญาณ์บูชายัญ
หากเธอปรารถนามั่น-ฉันยอมพลี

ดวงใจทั้งใจอยู่ในมือ
จะรักหรือรังเกียจหยามเหยียดขยี้
ก็ตามแต่กรุณานะคนดี
ให้แล้วไม่มีทวงคืนมา

หากฉันรักมากกว่าแล้วปราชัย
ก็เชิญเธอชนะไปฉันไม่ว่า
คนแพ้แค่เจ็บช้ำเช็ดน้ำตา
ด้วยรักที่สมค่าคำว่ารัก

๒๓ เม.ย. ๒๕๕๘

วันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2558

คิดถึง (๖)

คิดถึงรอยยิ้มเคยยิ้มตอบ
พอได้ปลอบใจฝันยามสั่นหนาว
ค่ำคืนความหวั่นไหวไร้ดาว
มีแต่ความปวดร้าวอยู่พราวฟ้า

คิดถึงความฝันเคยร่วมฝัน
แม้เหลือเพียงฉันในฝันพร่า
คิดถึงบางความหมายในสายตา
จากคนเคยห่วงหาอาลัย

ขอโทษที่วันนี้มีน้ำตา
หลั่งจากความอ่อนล้าเกินรับไหว
หนทางข้างหน้านั้นแสนไกล
ดาวเหนือดับดวงไปไม่รู้ทาง

ละอองความทรงจำช้ำหม่น
กลั่นมาเป็นฝนพราวพร่าง
ห่มคลุมอ้อมกอดอ้างว้าง
อำพรางน้ำตาความอาลัย

ขอคิดถึงรอยยิ้มเคยยิ้มหวาน
เพียงเพื่อผ่านคืนวันความหวั่นไหว
จดจำทุกเรื่องราวปวดร้าวใจ
เพื่อจะก้าวต่อไปเมื่อไร้เธอ

๑๖ เม.ย. ๕๘

วันจันทร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2558

น้ำตา

ถ้าหากน้ำตาฉันมีค่า
พอให้เธอหันมามองบ้าง
นึกถึงภาพทรงจำสีจาง
เรื่องราวระหว่างทาง-ระหว่างเรา

ถ้าหากน้ำตาฉันมีค่า
พอให้เธอมองมาที่เก่า
แววตาเปี่ยมฝันคงบรรเทา
ต่อลมหายใจเหงาอีกวัน

แต่เพราะยิ่งร้องไห้ยิ่งไร้ค่า
เธอไม่เคยมองมาที่ฉัน
ลืมแล้วทุกภาพเคยผูกพัน
เป็นเพียงความฝันเปล่าดาย

กลั้นกลืนน้ำตาไม่กล้าหลั่ง
เก็บทุกภาพความหลังเปี่ยมความหมาย
ตอกตรึงความฝันจนวันตาย
ในซากใจแหลกสลายด้วยคำลา

ขอโทษที่ร้องไห้ให้เธอเห็น
จะหลบเร้นรักไว้ไม่ครวญหา
ไม่มีอีกแล้วน้ำตา
เพราะไม่เคยมีค่าสำหรับเธอ
...
ฉันจะไม่ร้องไห้ฟายน้ำตา
เพราะฉันไม่มีค่าสำหรับเธอ

๒๓ มี.ค. ๒๕๕๘

วันศุกร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2558

ไม่อยากหวังและผิดหวังอีกครั้งแล้ว

ไม่อยากหวังและผิดหวังอีกครั้งแล้ว
ใจฉันเหมือนแก้วร้าวบิ่น
สัมผัสแผ่วแผ่วก็พังภินท์
แหลกสิ้นเป็นผงทรายสลายไป

จะต้องรักและเสียรักสักกี่ครั้ง
ความหวังจึงเลิกหวังลงได้
จะต้องมีกี่ใจมาแลกใจ
จึงจะไม่เจ็บช้ำด้วยคำลา

ต้องสุขใจและเสียใจไม่รู้จบ
การพานพบและพรากไปอย่างไร้ค่า
น้ำตาหลั่งรินจนชินตา
แต่ก็ยังหลั่งมาเมื่อรักร้าว

หนทางข้างหน้านั้นแสนไกล
แต่ใจยังเจ็บเหน็บหนาว
เมฆหม่นมืดดำไร้ดาว
ล้มแล้วก็ฝืนก้าวต่อไป

ต้องมีรักและเสียรักสักกี่ครั้ง
ความหวังจะเลิกหวังลงได้
ต้องเจ็บอีกกี่ครั้งจึงฝังใจ
ไม่อยากหวังและผิดหวังอีกครั้งแล้ว!

๒๐ มี.ค. ๒๕๕๘

วันอาทิตย์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2558

อำนาจ

อำนาจคุณจะยาวนานสักแค่ไหน
เมื่อไม่ได้มีรากฐานผ่านสิทธิ์เสียง
วาดวิมานไร้หลักมักเอนเอียง
ลมพัดเพียงแผ่วแผ่วก็พร้อมพัง

อำนาจนั้นจะยาวนานสักแค่ไหน
เมื่อคุณใช้อย่างเกินกล้าอย่างบ้าคลั่ง
อำนาจที่ชิงมาน่าชิงชัง
แต่คุณยังยิ้มยั่วไม่กลัวเกรง

อำนาจคุณยิ่งใช้ยิ่งใกล้หมด
แต่คุณไม่ละลดการข่มเหง
หรือคิดว่าเราพอใจได้ฟังเพลง
จำได้ไหมตายายตะเบ็งหลับหูหลับตา

หากคิดว่าอำนาจเป็นนิรันดร์
ก็เชิญฝันให้สมมาดปรารถนา
เมื่อคุณข่มโคขืนกลืนหญ้าคา
โคคลั่งจะขวิดฆ่าคนขืนโค!

๑ มี.ค. ๒๕๕๘

วันศุกร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

10 เรื่องที่เราได้เรียนรู้จากการปั่นจักรยานในเมืองหลวง


ไม่ว่าฝนจะตก แดดจะออก ขรี้จะแตก พระจะสึก หรือกระแสแอนตี้ฮิปสเตอร์จะมาแรงแค่ไหน ฮิป (โป) สะเต้ออย่างเราก็ยังคงก้มหน้าปั่นจักรยานมาทำงานต่อไปเพื่อให้ชีวิตมันฮิป และนี่ก็คือ 10 เรื่องที่เราได้เรียนรู้จากการปั่นจักรยานในเมืองหลวงมาหลายเดือน

1. การปั่นจักรยานบนถนนในกรุงเทพฯ ทำไมมันไม่ชิค ไม่คูลเหมือนที่เค้าพูด ๆ กันเลยวะ มันคือสงคราม! สงครามระหว่างพาหนะสองล้อขับเคลื่อนด้วยแรงคนตัวน้อย ๆ กับมอเตอร์ไซค์ รถยนต์ รถเมล์ รถร่วม ฯลฯ สงครามที่กองโจรตัวน้อย ๆ จะต้องเอาตัวรอดให้ได้ในสมรภูมิที่เต็มไปด้วยเรื่องเกินคาดเดา ทั้งเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างฝาท่อระบายน้ำกว้างไปนิด หรือเรื่องอย่างรถร่วมจะเบียดเข้าเลนซ้าย บีเอ็มคันหรูจะเลี้ยวซ้ายโดยไม่มีสัญญาณบอกเพราะเลี้ยวซ้ายผ่านตลอด ขณะที่เราเพิ่งจะหลบเข้าเลนซ้ายมาแบบเกินจะยั้งตีน

2. ศัตรูที่น่ากลัวที่สุดของจักรยานไม่ใช่รถร่วมฯ อย่างที่ตั้งความหวังไว้ แต่กลับเป็นพาหนะสองล้อเหมือนกันอย่างพี่มอ'ไซค์ทั้งรับจ้างและไม่รับจ้าง มอเตอร์ไซค์น่าจะเป็นพาหนะที่ได้รับอภิสิทธิ์สูงสุดบนถนนประเทศไทยแล้ว ไม่ว่าจะอยากแซง อยากปาด อยากเบียด อยากพรวดออกมาจากซอย อยากยูเทิร์น อยากขี่สวนเลน อยากปีนฟุตบาท ฯลฯ พี่ท่านก็ทำได้ทั้งนั้น สิ่งเดียวที่พี่มอ'ไซค์ทำไม่ได้คือทำถูกกฎจราจร

3. มอเตอร์ไซค์ขี่สวนเลน เรื่องที่ดูเหมือนจะเล็กแต่เป็นพิษภัยกับจักรยานมาก การไม่เปลี่ยนเลนหลีกทันทีไม่ใช่เพราะหยิ่ง แต่เพราะต้องหันไปมองดูก่อนว่ามีรถกำลังซิ่งตามหลังมารึเปล่า ซี้ซั้วเปลี่ยนเลนก็ดับอนาถกันพอดี เราไม่ติดใจมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่สวนเลนมาเท่าไร เพราะเขาคงยอมแบกรับความเสี่ยงเพื่อแลกกับการประหยัดเวลา แต่สำหรับคุณพ่อลูกอ่อนที่กระเตงลูกน้อยไว้ที่เบาะขับมอเตอร์ไซค์สวนเลนมา แน่นอนว่าเขาคงประหยัดเวลาขับอ้อมไปยูเทิร์นไกล ๆ แต่อะไรล่ะคือราคาที่เขาต้องจ่ายหากเกิดอุบัติเหตุ

4. น่าสังเกตว่ารถ ปอ. ส่วนมากจะมารยาทดี ไม่ค่อยคุกคามคนปั่นจักรยานมากนัก ส่วนรถร่วมฯ เราจะรู้สึกถึงรังสีอำมหิตบางอย่างที่แผ่มาคุกคามเวลาถูกจี้ตูด บางครั้งรังสีอำมหิตก็แถมพกเสียงแตรปี๊น ๆ พยายามทำความเข้าใจว่ารถร่วมฯ เขาได้เงินจากค่าตั๋ว ดังนั้นการเบียดเข้าเลนซ้ายไม่ได้เพราะติดจักรยานเพียงป้ายเดียวอาจทำให้เขาสูญเสียรายได้ไปหลายร้อยหลายพัน ใจเขาใจเราเนอะ

5. ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมาในข้อ 4 เวลาขี่ไปใกล้ ๆ ป้ายรถเมล์ ควรคำนวนว่าจะปั่นพ้นไม่ขวางทางรถเมล์ไหม ถ้าไม่พ้นก็จอดหลบให้รถเมล์ได้ทำหน้าที่รับส่งมวลชนก่อนดีกว่า นี่เห็นแก่คนหมู่มากนะไม่ได้กลัวพี่รถร่วมฯ (ฮา)

6. นอกจากไฟกระพริบและกระจกมองหลังแล้ว สิ่งที่ต้องตรวจเช็คให้ทำงานได้ 100% เสมอไม่ใช่ชุดเฟืองขับ ไม่ใช่ลมยาง แต่เป็นระบบเบรก เพราะการปั่นในกรุงเทพฯ ต้องเบรกบ่อยกว่าสปริ้นท์ ปั่นไปเถอะอีกสักสองนาทีก็มีเรื่องให้มึงต้องเบรกเอี๊ยดดดด! จนได้

7. อาการเบรกบ่อยแบบนี้ไม่อนุญาตให้คุณใจลอย หาไม่จะพาตัวเองเข้าไปสู่สถานการณ์สุ่มเสี่ยง เช่น ปั่นชิดซ้ายสุดขณะที่รถร่วมฯ ก็จะเบียดเข้าเลนซ้ายเพื่อแย่งผู้โดยสารจากรถร่วมฯ คันหลัง หรือรู้สึกตัวอีกทีเมื่ออยู่ท่ามกลางสามแยกที่รถสามคันต่างจะแย่งเข้าสู่ทางของกรู ดังนั้นการปั่นจักรยานในกรุงเทพฯ คือการบำเพ็ญสมาธิอย่างยิ่งยวด

8. ผิดรีบรับผิด ไม่ผิดก็ต้องรับผิด ไหว้ได้รีบไหว้ ชนชั้นจักรยานในประเทศโลกที่สามควรเจียมเนื้อเจียมตัว เพราะอาวุธที่เราใช้ฟาดคู่กรณีได้มีแค่... สูบลมพกพา

9. ถ้าอยากผลักดันกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองจักรยานจริง ๆ หนึ่งนโยบายที่ควรมีอย่างยิ่งคือ 1 ห้าง 1 ห้องอาบน้ำครับ เพราะห้องอาบน้ำเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการปั่นจักรยานในประเทศเมืองร้อน อยากจะปั่นจักรยานไปดูหนังในห้าง แต่ของแถมคือกลิ่นจั๊กกะแร้อบอวลเต็มโรงนี่ก็ไม่ไหวนะครัช

10. สมัยหัดขับรถบนถนนแถวบ้าน เวลาเห็นมอเตอร์ไซค์ขี่กินเลนเข้ามามาก ๆ เราก็รำคาญคิดว่าทำไมไม่ชิดซ้ายสุด ๆ ไปวะ ขี้เกียจแซง แต่พอได้ปั่นจักรยานบนถนนแถวบ้านเท่านั้นแหละ เราก็เห็นใจมอเตอร์ไซค์ขึ้นมาทันที ด้วยว่าไหล่ถนนประเทศไทยนั้นช่างเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนามในการชิดซ้าย ทั้งหลุมบ่อและแขนขาของต้นไม้ที่ยื่นมาฟาดหน้า ดังนั้นเราคิดว่าหากให้คนขับรถยนต์ทุกคนได้ลองขี่พาหนะทุกระดับ เราจะเห็นใจกันมากขึ้น บีบแตรไล่จักรยานที่กินเลนน้อยลง ยิ่งไหล่ทางกรุงเทพฯ นั้นยิ่งมิราเคิลมาก มีทั้งฝาท่อที่ไม่ยอมปิด ตะแกรงระบายน้ำแนวตั้ง (ทำเป็นแนวขวางมันจะตายมั้ย) หลุมบ่อขรุขระยิ่งกว่าดาวอังคาร และ เดอะ ขี้สีก ว้อเท่อะ ที่ทำให้จักรยานเราหอมละมุนจนคนข้าง ๆ มองค้อนเวลาแบกขึ้นบีทีเอส

หวังว่าการปั่นไปเรื่อย ๆ จะได้เรียนรู้มากขึ้นเรื่อย ๆ นะครับ เพราะนี่คือวิถีแห่งฮิป (โป) สะเต้อ!!!

วันอาทิตย์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ก้อนหิน

คู่รักทุกคู่ในโลกเว้นแต่คู่ของข้าพเจ้าคงไม่มีคู่ไหนเลิกรากันเพราะก้อนหินเป็นแน่ หรือที่จริงควรจะกล่าวว่าเพราะปลาทองคู่นั้นซึ่งข้าพเจ้าซื้อมาเป็นของขวัญในวันแห่งความรักเป็นต้นเหตุให้เราทุ่มเถียงกันเรื่องก้อนหิน เธอยืนยันหนักแน่นว่าจะต้องใช้ก้อนหินประดับตู้ปลาคุณภาพสูงที่วางขายอยู่ในร้าน พลางร่ายถึงสรรพคุณว่าก้อนหินเหล่านั้นสีสรรพ์สวยงาม เจียระไนโค้งมนไม่เป็นอันตรายต่อร่างบอบบางสีทอง ซ้ำยังผ่านการฆ่าเชื้อด้วยกรรมวิธีทันสมัย ส่วนข้าพเจ้าไม่มีอะไรจะกล่าวนอกจากแสดงความแปลกใจอย่างโจ่งแจ้งว่าเหตุใดมนุษย์จึงซื้อขายหินก้อนเล็ก ๆ ด้วยราคาเทียบเท่ากับค่าจ้างกรรมาชนแบกหินภูเขาในอัตราอย่างน้อยสามถึงสี่วัน ทั้งที่จริงก้อนหินเหล่านั้นเราล้วนฉกฉวยได้จากหลังบ้านของเราเอง แม้อาจแตกต่างในรายละเอียดแต่เนื้อแท้แล้วล้วนคือก้อนหินดุจเดียวกัน เพียงเท่านั้นเธอก็เอ่ยคำลา สำทับว่าข้าพเจ้าหยาบคายและสิ้นไร้ความห่วงใยต่อเธอแม้เพียงเศษเสี้ยว ก่อนจะเดินจากไป ทิ้งข้าพเจ้าให้อยู่กับปลาทองคู่กรรมในถุงน้ำสีหม่น

๑๕/๐๒/๒๕๕๘

วันเสาร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ลืม

เธอจะลืมฉันเลยก็ได้
ทำเหมือนว่าไม่เคยมีอยู่
เธอคงไม่สนใจไม่รับรู้
เคยเคียงคู่กลับไร้ค่าน้ำตานอง

ฉันจะไม่ร่ำไห้ให้เธอเห็น
จะหลบเร้นแววตาไว้ไม่หม่นหมอง
ความรักเคยอบอุ่นคือฝุ่นละออง
กวาดทิ้งแล้วไม่ต้องมารำคาญ

ภาพฝันเคยร่วมฝันพลันพินาศ
ความหวังเคยหวังวาดเมื่อวันหวาน
พริบตาก็หายวับกับวันวาน
เหลือแต่รอยร้าวรานการจากลา

เส้นทางชีวิตฉันนั้นเหน็บหนาว
แต่หากเธอร่วมก้าวคงกล้าฝ่า
เมื่อเหลือเพียงความช้ำและน้ำตา
หนทางข้างหน้าช่างแสนไกล

ฉันไม่มีความหมายมาแต่ต้น
ฉันไม่มีตัวตนมาแต่ไหน
สุดท้ายคนพ่ายแพ้แค่ฝันไป
เจ็บก็รักษาใจให้ตัวเอง
...
เส้นทางของคนแพ้แค่ทำใจ
เจ็บก็ก้าวต่อไปเพียงลำพัง

ก.พ. ๒๕๕๘

วันพุธที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เคลื่อนไหวในจันทร์กระจ่าง / แอมโบรส เบียร์ซ


บันทึกไว้ในพอศอ 2558 ว่า สี่ซ้าห้าปีผ่านไป อาการ "ไม่ถูกโรค" กับนักเขียนมะกันก็ยังไม่หาย แม้จะเป็น "บิ๊กเนม" ระดับแอมโบรส เบียร์ซ ก็ตามที อันที่จริงถ้าย้อนเวลากลับไปช่วงอ่านใหม่ ๆ ผมอาจจะตื่นเต้นกับเรื่องสั้นชุดนี้ก็เป็นได้นะ หลอกหลอนลับลวงหักมุมตกค้างในใจดีแท้ แต่เหมือนเลยวัยอ่านแล้วยังไงไม่รู้ หรืออีกทางหนึ่งก็ยังไม่แก่กล้าพอจะอ่านงานของนักเขียนอเมริกันแล้ว "ซึ้งซ่าน" อาการเดียวกับตอนอ่านงานของปาป้าเฮมิงเวย์ (บางเรื่องที่ยกย่องกัน) แล้วเกาหัวแกรก ๆ นั่นแล

พยายามแคะความหมายจากคำของหลาย ๆ เรื่อง อย่างที่ลุงแกบอกไว้ว่า "อักษรตัวใดตัวหนึ่งเมื่อถูกคัดสรรมาเพื่อเขียนวรรณกรรมแล้ว หากสามารถทดแทนหรือมีความหมายเท่ากับอักษรอื่น ๆ สามหรือสี่ตัวได้ นั่นหมายถึงงานเขียนนั้นเป็นงานชั้นดี" ก็ยังแคะไม่ค่อยออก เป็นปัญหาว่าเพราะเป็นงานแปล หรือต่อให้กลับไปอ่านต้นฉบับก็ยังแคะไม่ออกอยู่ดีเพราะต้องรู้ความหมาย "อิ้งลิช อเมริกันสไตล์" อีกคำรบหนึ่งหรือเปล่า อย่ากระนั้นเลยรอบนี้ตัดสินใจอ่านเอาเรื่องเอาพล็อตจากลุงเป็นหลักก็แล้วกัน

พล็อตดีไหมก็นับว่าดีเลยนะ แต่ที่ชอบมากกว่าคือบรรยากาศของเรื่องที่ช่างลับลวงพราง ลึกลับน่าขนลุกมันซะทุกเรื่อง (อ่านตอนกลางคืนจะได้อารมณ์มาก) เรื่องที่ชอบมากในเล่มนี้คือ "หญิงสาวอีกฟากกำแพง" บรรยากาศแบบนี้มันชวนหวิวใจปนขนลุกดี ส่วนเรื่องที่คนเค้ายกย่องกันมาก ๆ อย่าง "กวัดแกว่งบางเบาใต้สะพานมรณะ" ก็มองข้ามไม่ได้เลย ลับลวงพราง โขยกเขย่าเศร้าสะเทือนดี "ม้าบินและบุรุษชาติอาชาไนย" ก็ต้องอ่านไปจนบรรทัดสุดท้ายแล้วจะอุทานแบบว่า เฮ้ย! เจ๋งดีนะ "คำสั่งประหารในคืนแรม" ก็ช่างยอกย้อนจิตใจมนุษย์ดี "ดวงตาพยัคฆ์" นี่ก็เสือสมิงเวอร์ชั่นอเมริกัน อีกเรื่องที่ชอบในโทนเรื่องเศร้า ๆ จากสงคราม (ซึ่งมีหลายเรื่องในเล่ม) ชอบ "สงครามในฤดูใบไม้ผลิ" นอกนั้นก็เศร้าอยู่แต่ไม่สะเทือนมากเท่าไร เรื่องที่ไม่ได้พูดถึงไม่ใช่ว่าไม่ดี ดีระดับมาตรฐานเรื่องสั้นชั้นดีทั้งนั้นแหละนะ แต่ที่ไม่สะเทือนมากคงเพราะเราพ้นวัย (วัยตื่นเต้นกับเรื่องสั้นหักมุม) หรือยังไม่ถึงวัย (นิ่งสงบสยบความเคลื่อนไหว) หรือสติปัญญายังไม่ถึงในเรื่องสั้นบางเรื่องก็ไม่ทราบได้ คงต้องเก็บไว้อ่านอีกรอบตอนอายุเยอะกว่านี้

------------------------------------------
Quotations:

..."ความตายน่ากลัว!" - เป็นคำพูดของบุรุษผู้กำหนดความตาย
"มันน่ากลัวเฉพาะบรรพบุรุษที่ป่าเถื่อนเท่านั้น" จารบุรุษพูดอย่างเคร่งขรึม "เพราะพวกเขาด้อยสติปัญญาที่จะจำแนกแยกแยะความคิดเกี่ยวกับจิตสำนึกออกจากความคิดเกี่ยวกับร่างกายที่ใช้แสดงความรู้สึกนั้นได้- แม้กระทั่งพวกที่มีสติปัญญาต่ำกว่า อย่างเช่นพวกลิง อาจจะไม่สามารถจินตนาการภาพบ้านที่ปราศจากคนอยู่อาศัยได้ และเมื่อเห็นกระท่อมผุพังหลังหนึ่ง มันก็คิดว่าผู้อยู่อาศัยกำลังมีความทุกข์ สำหรับพวกเราที่เห็นความตายเป็นสิ่งน่ากลัว เพราะเราได้รับการสืบทอดสันดานมาให้คิดว่าเป็นเช่นนั้น ปรุงแต่งความนึกคิดด้วยทฤษฎีที่ป่าเถื่อนและเลื่อนลอยเพ้อฝันเกี่ยวกับอีกภพหนึ่ง-ดังเช่นการให้นามของสถานที่ต่าง ๆ อันเป็นต้นกำเนิดของตำนานที่อธิบายเรื่องราวความเป็นมาของสถานที่ดังกล่าวนั้น รวมไปถึงประพฤติกรรมอันไร้เหตุผลที่อธิบายด้วยหลักปรัชญาต่าง ๆ

"ท่านสามารถแขวนคอผมได้...ท่านนายพล แต่อำนาจอันชั่วร้ายของท่านก็สิ้นสุดลงตรงนั้น ท่านไม่สามารถตัดสินให้ผมขึ้นสวรรค์ได้"
(คำสั่งประหารในคืนแรม: หน้า 86)

พวกเราไม่ใช่คนแปลกหน้าที่ใหม่ต่อภูมิประเทศแถวนี้เสียจนไม่รู้ว่าชีวิตอันโดดเดี่ยวอ้างว้างของชาวทุ่งราบจำนวนมากมาย มีแนวโน้มส่อว่าพฤติกรรมและลักษณะนิสัยจะแปรเปลี่ยนผิดปกติไปนั้น หาได้จำแนกออกจากความวิปลาสทางจิตได้ง่าย ๆ อย่างชัดเจนเสมอไปไม่ มนุษย์คนหนึ่งก็เหมือนกับต้นไม้ต้นหนึ่ง หากอยู่ในท่ามกลางป่าแห่งเพื่อนฝูง เขาก็จะเติบโตตรงขึ้นไปตามที่ธรรมชาติโดยทั่วไปและธรรมชาติแห่งปัจเจกบุคคลของเขาจะเอื้ออำนวย หากขึ้นอยู่ตามลำพังในพื้นที่ว่างโล่ง เขาก็จะโอนอ่อนคล้อยตามแรงบังคับกดดันที่แวดล้อม ทำให้รูปทรงบิดเบี้ยวแปรเปลี่ยนไป
(อาคันตุกะในยามวิกาล: หน้า 168)

การเป็นคนอย่างไซลาส ดีมเมอร์ ซึ่งมีชีวิตและอุปนิสัยไม่สุงสิงสมาคมกับใคร ใช้ชีวิตสถิตเสถียร ไม่เดินทางท่องเที่ยวสังสรรค์ จนนักเล่าเรื่องขำขันประจำหมู่บ้าน (ผู้ซึ่งเคยเรียนระดับมหาวิทยาลัยมาแล้ว) เกิดแรงดลใจให้สมญานามแก่เขาว่า ไอบิเด็ม (Ibidem.)
(เหยือกน้ำหวาน: หน้า 224)

[เบียร์ซ, แอมโบรส ; วิมล กุณราชา, แปล. เคลื่อนไหวในจันทร์กระจ่าง The Moonlit road. ปทุมธานี : นาคร, 2557.]

วันอังคารที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

สาระประจำวันนี้: ฟรักโทส และ น้ำต้อย


เริ่มจากสงสัยว่าไอ้น้ำตาล Fructose ถอดเป็นภาษาไทยว่าไงวะ ไม่คิดว่าจะเจอในพจนานุกรมจริง ๆ (ตายห่าก่อนหน้านี้ใช้ฟรุกโตสตลอดเลย ขออภัยในสำเนียงภูธร) แต่พอดูคำแปล "น้ำต้อยของดอกไม้" แปลว่าอะไรวะเนี่ย ก็เลยเปิดต่อ อ๋อเป็นเช่นฉะนี้เองครับ วันนี้เลยได้สาระมาสองคำ แต่ไม่รู้จะเอาไปใช้ที่ไหนแฮะ 555

อ้างอิง: พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 : เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2556. หน้า 856, 627.

วันจันทร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2558

ปีศาจแห่งเล็กซิงตัน (Lexington Ghosts) / Haruki Murakami


รวมเรื่องสั้นชุดสุดท้ายในโปรเจคท์ "แฟนมูราคามิรวมหัว" ซึ่งมีทั้งหมด 3 เล่ม ถ้าเล่มแรก (เส้นแสงที่สูญหายฯ) คือบันทึกวัยเยาว์อันแหว่งวิ่นเว้าโหวง เล่มสอง (คำสาปร้านเบเกอรี่) เป็นการตะโกนอย่างเงียบงันของปัจเจก เล่มสามก็คงเป็นงานแนวทดลองที่พยายามขยายพื้นที่ประวัติศาสตร์และความทรงจำของปัจเจกเพื่อให้ตัวตนของเราดำรงอยู่ได้ในวันที่ทุกสิ่งรอบตัวกำลังล่มสลายลงอย่างช้า ๆ อย่างที่เฮียแกว่า "ผมอยากสร้างสรรค์อดีตขึ้นใหม่อีกครั้ง (re-create the past) มากกว่าจะผลิตซ้ำอดีต (re-produce the past)"

น่าแปลกว่าคราวนี้ผมกลับติดใจเรื่องที่เล่าเรียบ ๆ ตัวละครก็เรียบ ๆ อย่าง "เงียบงัน" ที่กลับรู้สึกสั่นไหวรุนแรงทันทีที่อ่านจบ ขณะที่บางเรื่องอย่าง "ปีศาจแห่งเล็กซิงตัน" "มนุษย์น้ำแข็ง" หรือ "ชายคนที่เจ็ด" รู้สึกแวบแรกว่าน่าจะดีเพราะแปลกดี แต่พอปล่อยเวลาตกตะกอนสักพักก็พบว่าเรื่องนั้นไม่ได้เขย่าให้เราสั่นสะเทือนมากนัก อีกเรื่องที่คิดว่าดีก็คือ "โทนี ทะกิทะนิ" เรื่องเล่าถึงการพลัดพรากจากความทรงจำแบบที่มูราคามิถนัด แม้จะเคยรู้สึกแบบนี้กับนิยายมูราคามิเล่มอื่น ๆ บ่อยแล้ว แต่เรื่องนี้ก็ทำให้เรารู้สึกถึงความแปร่งปร่าของความเหงาที่เกิดจากการถูกตัวตนในอดีตของตัวเองทอดทิ้งได้ในอีกรสชาติหนึ่ง ส่วน "การมาถึงของปีศาจเขียว" เป็นเรื่องที่ถ้าเป็นนักเขียนใหม่เขียนมาจะถามว่า แกเขียนอะไรของแก๊ แต่ในเมื่อเป็นเฮียมู เราก็ได้แต่ย้อนกลับไปอ่านอีกรอบก่อนจะได้ข้อสรุปคล้าย ๆ กับที่คนแปลเขียนไว้ท้ายเรื่องนั่นแหละ (ฮา)

โดยภาพรวม นี่คงเป็นเล่มที่ชอบน้อยที่สุดในชุดแฟนรวมหัว เพราะรู้สึกว่าบางเรื่องคอนเซปต์มันใหญ่เกินจะเล่าด้วยเรื่องสั้น อย่าง "การมาถึงของปีศาจเขียว" หรือ "ชายคนที่เจ็ด" หรือบางเรื่องแนว ๆ เดียวกันก็รู้สึกว่าเล่มคำสาปร้านเบเกอรี่ทำได้ดีกว่า แต่ก็อย่างว่าแหละ นักเขียนระดับเฮียมูก็คงรู้ว่าทำอะไรอยู่ แฟนานุแฟนเฮียก็คงต้องตามอ่านกันต่อไป จะชอบหรือจะชังอย่างไร อย่างน้อยก็คงอดคิดไม่ได้ว่าเฮียแกเขียนหนังสือได้ "กล้าและบ้าบิ่น" จริง ๆ นั่นแหละ

------------------------------------------
Quotations:

"น่าจะสักสองอาทิตย์ได้ที่ผมได้แต่นอนหลับไป หลับจนกระทั่งเวลากร่อนสลายและละลายหายไปราวกับไม่มีอยู่ และไม่ว่าผมจะหลับไปนานสักเท่าไร มันก็เหมือนไม่เคยจะเพียงพอเลย ตอนนั้น โลกแห่งนิทรารมณ์กลับกลายเป็นโลกแห่งความจริง ชีวิตประจำวันเริ่มเป็นสิ่งไร้ค่า เป็นความไร้สาระและสถานที่ชั่วคราว เป็นโลกที่มีอยู่เพียงผิวเผินและขาดแคลนสีสันแห่งชีวิต ผมไม่อยากจะอยู่ในโลกแบบนั้นอีกต่อไป พอเวลาค่อย ๆ ผ่านไป ผมชักเริ่มเข้าใจแล้วว่าพ่อรู้สึกอย่างไรตอนที่แม่ตาย คุณรู้ใช่ไหมว่า ผมกำลังหมายความว่าอะไร หลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นใหม่ในรูปแบบที่แตกต่างออกไป ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลง สิ่งเดิมมันก็อยู่ไม่ได้"

เคซีย์เงียบไปชั่วขณะ เหมือนกำลังคิดอะไรอยู่ ช่วงเวลานี้เป็นปลายฤดูใบไม้ร่วงแล้ว บางครั้งบางคราวเสียงลูกโอ๊กที่ตกกระทบพื้นก็แว่วเข้ามากระทบหูของผม
"สรุปว่า มีแค่อย่างเดียวที่ผมพอจะพูดได้" เคซีย์ยกศีรษะของเขาขึ้นหน่อย และรอยยิ้มอันเป็นเอกลักษณ์ก็หวนคืนสูริมฝีปากของเขา "ถ้าผมตาย ก็คงไม่มีใครในโลกนี้ที่จะดำดิ่งหลับใหลลึกยาวนานปานนั้นอีกแล้ว"
(ปีศาจแห่งเล็กซิงตัน: หน้า 36)

ในตอนแรกอะโอะกิมันเลยมองเอาด้วยสายตาเหมือนยิ้มเยาะผม ราวกับจะพูดว่า "เป็นไงล่ะ" ผมรู้ว่าเรื่องทั้งหมดนี่เป็นฝีมือของอะโอะกิ เขาเองก็รู้ว่าผมรู้เรื่องนั้น เราจ้องกันเขม็งอยู่ชั่วครู่หนึ่ง แต่ระหว่างที่ผมมองคนคนนี้ จู่ ๆ ผมก็เริ่มมีความรู้สึกประหลาด ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ มันเป็นความรู้สึกชนิดที่ผมไม่เคยรู้สึกมาก่อน แน่นอนผมโกรธอะโอะกิ บางทีผมแค้นมันจนอยากฆ่าให้ตาย แต่ในรถไฟที่คนแน่นขนัดขบวนนั้น แทนที่จะรู้สึกโกรธหรือแค้น สิ่งที่ผมรู้สึกกลับใกล้เคียงกับความเศร้าหรือสงสารมากกว่า "คนเราวัดความเก่งหรือภูมิใจในชัยชนะกันได้ด้วยเรื่องแค่นี้จริง ๆ หรือ ผู้ชายคนนี้พอใจและมีความสุขได้ด้วยเรื่องแค่นี้จริง ๆ หรือ" พอคิดอย่างนี้แล้ว ผมกลับรู้สึกเศร้าอยู่ลึก ๆ ในใจมากกว่า ผู้ชายคนนี้คงไม่อาจเข้าใจในความสุขหรือความภูมิใจอันแท้จริงไปได้ตลอดกาล จนกระทั่งเขาตาย ผู้ชายคนนี้คงไม่อาจรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนอันสงบเงียบที่พวยพุ่งมาจากส่วนลึกของร่างกายได้สักครั้ง

มนุษย์บางประเภทก็ขาดความลึกซึ้งโดยสิ้นเชิง ผมไม่ได้กำลังบอกว่าตัวเองมีความลึกซึ้งหรอกนะครับ สิ่งที่ผมอยากจะพูดคือ เรามีความสามารถที่จะเข้าถึงความลึกซึ้งนั้นได้หรือไม่ต่างหาก แต่คนอย่างพวกเขาไม่มีความสามารถแบบนั้นเลย นั่นคือชีวิตที่แบนราบและกลางกลวง จะดึงดูดสายตาให้คนมองได้สักเท่าไร จะภูมิใจในชัยชนะของตนเองออกนอกหน้าแค่ไหน ข้างในพวกเขาก็ยังว่างเปล่า
(เงียบงัน: หน้า 76)

ผมไม่เคยสนใจเรื่องอนาคต ผมไม่เคยมีความคิดเรื่องนั้น น้ำแข็งไม่เคยกักขังอนาคต มีเพียงวันวานเท่านั้นที่ถูกผนึกรักษาเอาไว้ ราวกับว่าอดีตยังคงมีชีวิต ทุกเรื่องราวของโลกใบนี้จะถูกเก็บรักษาเอาไว้อยู่ข้างในอย่างแจ่มชัดและห่างไกล น้ำแข็งผนึกเก็บทุกสิ่งทุกอย่างเอาไว้ในลักษณะเช่นนั้น ชัดเจนและใสกระจ่าง นั่นแหละคือแก่นแท้ของน้ำแข็ง
(มนุษย์น้ำแข็ง: หน้า 90)

เขาจะเข้าไปในห้องเป็นบางครั้ง และอยู่ในนั้นราว 1-2 ชั่วโมง ไม่ได้ทำอะไรเป็นพิเศษ เพียงแค่ปลดปล่อยจิตใจให้ว่างโล่ง เขาจะนั่งลงกับพื้น มองไปบนผนังกำแพงว่างเปล่า มองเงาร่างของเงาภรรยาที่จากไปแล้ว แต่เมื่อหลายเดือนผ่านไป เขาสูญเสียความสามารถในการจดจำสิ่งต่าง ๆ ที่เคยอยู่ในห้อง สีสันและกลิ่นของมันเลือนหายไปจากความทรงจำของเขาก่อนที่เขาจะทันรู้ตัว กระทั่งห้วงอารมณ์กระจ่างชัดที่เขาเฝ้าทะนุถนอมก็หลุดลอยไป ราวกับมันล่าถอยไปจากความทรงจำของเขา คล้ายกับฝุ่นผงในอากาศ ความทรงจำของเขาเปลี่ยนรูปร่าง และการเปลี่ยนแต่ละครั้งมันก็สลัวรางขึ้นเรื่อย ๆ ความทรงจำแต่ละเรื่องในตอนนี้คือเงาร่างของเงาของเงา สิ่งเดียวที่ยังคงแจ่มชัดสำหรับเขาคือความรู้สึกสูญสลาย บางครั้งเขาแทบจะนึกภาพใบหน้าของภรรยาไม่ออก แต่สิ่งที่เขานึกถึงเสมอคือหญิงสาวแปลกหน้าของหยาดน้ำตาเมื่อเธอเห็นเสื้อผ้าที่ภรรยาของเขาทิ้งเอาไว้ภายในห้อง เขานึกถึงใบหน้าธรรมดาสามัญและรองเท้าหนังเก่า ๆ ของเธอ เสียงสะอื้นเบา ๆ ของเธอยังคงวนเวียนอยู่ในความทรงจำของเขา เขาไม่ได้ต้องการที่จะจดจำเรื่องใด ๆ แต่มันกลับเข้ามาในชีวิตก่อนที่เขาจะรู้ว่ามันกำลังเกิดขึ้น เป็นเวลายาวนานหลังจากที่เขาลืมเรื่องต่าง ๆ จนหมดสิ้น แม้กระทั่งชื่อของหญิงสาวคนนั้น แต่ภาพของเธอกลับมิอาจลืมเลือนได้อย่างน่าประหลาด
(โทนี ทะกิทะนิ: หน้า 136 - 137)

------------------------------------------

[Haruki Murakami, เขียน ; ธนพล เศตะพราหมณ์ ยอดมนุษย์หญิง และคณะ, แปล ; ดวงฤทัย เอสะนาชาตัง, บรรณาธิการ. ปีศาจแห่งเล็กซิงตัน Lexington Ghosts. กรุงเทพฯ : กำมะหยี่, 2553.]

วันจันทร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2558

ลมหนาว

เธอเหมือนลมหนาวผ่านมา
จูบแล้วจากลา
เหลือรอยน้ำตาร้าวราน

ความหนาวเพราะเหงาทรมาน
หนาวถึงวิญญาณ
สะท้านสะเทือนหัวใจ

หนาวเพราะมิเคยมีใคร
อาจหนาวทรวงใน
ยังพอทนไหวไม่เพ้อ

แต่หนาวเพราะเคยมีเธอ
หนาวสั่นหวั่นละเมอ
พลั้งเผลอร้องไห้ใจสั่น

สองมือเคยกุมมือกัน
เหลือเพียงมือฉัน
มือนั้นใช้กอดตัวเอง

ความหนาวห่มร่างคว้างเคว้ง
กอดความวังเวง
วิเวกหวิวหวีดกรีดใจ

เธอเหมือนลมหนาวผ่านไป
จูบลาอาลัย
ทิ้งให้หนาวช้ำลำพัง

ม.ค. ๒๕๕๘

วันศุกร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2558

นัย / ตา (๓)

"...การเปิดตัวของหนังที่พูดถึงภาพถ่ายแบบ Close-Up ของโชน เขากล่าวว่า ชอบที่จะมองลึกลงไปให้เห็นอะไรดี ๆ ข้างใน นั่นแสดงว่าโชนไม่ได้มองคนอื่นเพียงรูปกายภายนอก และโชนยังกล่าวอีกว่าเขาชอบ "ดวงตา" มากที่สุด นั่นก็คือ ดวงตาเป็นอวัยวะเดียวที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลง หรือปรุงแต่งเป็นอย่างอื่นได้ แม้น้ำจะขัดผิวให้ขาว จัดฟันให้เป็นระเบียบ แต่งผมให้สวย ฯลฯ จะมีก็แต่เพียงดวงตาเท่านั้นที่น้ำไม่สามารถแปรเปลี่ยนให้เป็นอื่นได้ ดวงตาจึงแสดงถึงอัตลักษณ์ที่แท้จริงของแต่ละคน การที่โชนชอบดวงตาจึงหมายถึงโชนชอบน้ำที่เป็นน้ำจริง ๆ ไม่ว่ารูปกายภายนอกของน้ำจะเป็นเด็กหน้าปลวกหรือภายหลังเปลี่ยนแปลงมาเป็นเด็กหน้าสวยก็ตามที..."

(สิ่งเล็กเล็กที่เรียกว่ารัก: โศกนาฏกรรมและการก้าวผ่านวัยของเงือกน้อย)

การหลงรักผู้หญิงที่ดวงตาเป็นเหมือนดาบสองคมนะ ข้อดีคือไม่ว่ารูปกายภายนอกของเค้าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร จะอ้วนขึ้น ผอมลง สวยขึ้น ขี้เหร่ลง ดัดฟัน ขัดผิว เปลี่ยนทรงผม ทำศัลยกรรม ฯลฯ เราก็ยังสบตาคู่เดิมนั้นได้ไม่รู้เบื่อ แต่เมื่อถึงวันหนึ่งที่ดวงตาคู่นั้นไม่ได้มองกลับมาที่เราด้วยความห่วงหาอาทรเช่นเคย เราก็กลับพบว่าดวงตาคู่นั้นยังเป็นดวงตาคู่เดิมที่เราเคยหลงรัก ดวงตาคู่เดิมที่ยังคงหวานซึ้งในความทรงจำ แม้จากนี้เราไม่มีสิทธิ์ใช้คำว่ารักกับเจ้าของดวงตาคู่นั้นไปตลอดกาลก็ตามที

วรรณกรรมในชีวิต : ชีวิตในวรรณกรรม / ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ



เป็นหนังสือ "ภาคบังคับ" ของผู้สนใจวรรณกรรมกับการเมืองในประเทศไทย แม้เรื่องราวทั้ง 16 บทนั้น ผู้เขียนตั้งใจว่าจะเขียนเรื่องนี้เป็น "อัตชีวประวัติทางวรรณกรรม" ซึ่งบรรจุเรื่องราวของวรรณกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทว่าก็หนีไม่พ้นที่จะต้องพูดถึงประวัติศาสตร์การเมืองและวรรณกรรมในแต่ละช่วงชีวิต โดยเฉพาะเหตุการณ์ครั้งสำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองและวรรณกรรมคือ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ที่ทำให้เกิด "ผลสะเทือนราวกับแรงกระเพื่อมของน้ำที่ยังคงส่งผ่านกาลเวลาต่อมา" และยิ่งทำให้เห็นว่า ชีวิต วรรณกรรม และการเมือง เป็นสามสิ่งที่เกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออก ไม่ว่าจะเป็นบุคคลใด หรืออยู่ท่ามกลางยุคสมัยใด

-------------------------------

ความนำ

ประวัติศาสตร์สังคมจึงเป็นทั้งโศกนาฏกรรมและความก้าวหน้า เป็นทั้งความล้มเหลวและความสำเร็จ แม้เราไม่อาจปฏิเสธความขัดแย้งแห่งชีวิตเหล่านั้นไปได้ อย่างน้อยเราควรมีโอกาส "เลือก" ด้วยตัวของเราเองบ้าง ตรงนี้เองที่ประวัติศาสตร์มีความหมายขึ้นมา กล่าวคือ สังคมไหนที่ยังปล่อยให้โศกนาฏกรรมทำนองเดียวกันนั้นเกิดซ้ำรอยซ้ำแล้วซ้ำเล่า สังคมนั้นไม่เพียงแต่ไม่อาจเรียนรู้บทเรียนจากประวัติศาสตร์เท่านั้น หากยังทำลายภูมิปัญญาอันสะสมจากประสบการณ์ของตนเองลงไป ทำให้สังคมและสมาชิกแห่งประชาสังคมของตนตกต่ำ กลายเป็นตัวตลกของประวัติศาสตร์ไปในสายตาของสังคมอื่นในที่สุด
(หน้า 14)

-------------------------------

บทที่ 1 วรรณกรรมกับการเมือง


อิตาโล คัลวิโน นักเขียนอิตาลีผู้ล่วงลับไปแล้ว เคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่า "นี่เป็นข้อขัดแย้งในอำนาจของวรรณกรรม เนื่องจากว่ามันจะแสดงออกถึงพลังอำนาจที่แท้จริงของมัน แสดงถึงพลังในการท้าทายสิทธิอำนาจของผู้ใหญ่ก็ต่อเมื่อมันถูกกดขี่บีบคั้น แต่ในสังคมเสรีที่ทำอะไรก็ได้อย่างของเรา วรรณกรรมสร้างได้ก็แต่เพียงการเอาอกเอาใจคนอ่านเป็นครั้งคราว ในขณะที่โดยทั่วไปมันสร้างแต่สิ่งไร้สาระเต็มไปหมด"
(หน้า 18)

สิ่งหนึ่งที่สังคมรวบอำนาจชอบทำ คือ การที่รัฐบาลทำตัวเป็นปราชญ์ราชบัณฑิตแต่ผู้เดียวในโลกนี้ มิลาน กุนเดรา นักเขียนเชโกสโลวะเกียฝีปากจัด ผู้ชำนาญการเขียนการเมืองเรื่องของเซ็กซ์มากกว่าการเมืองเรื่องลัทธิคอมมิวนิสต์ ให้สัมภาษณ์ว่า การเขียนเรื่องที่เป็นสองแง่สองง่ามในทางศีลธรรม อันเป็นด้านที่เป็นสีเทาในชีวิตมนุษย์ดังเช่นที่เขาชอบทำนั้น ถือเป็นการท้าทายรัฐบาลนักกดขี่ที่ต้องการเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเพียงสีขาวกับสีดำเท่านั้น เขาพูดว่า "โลกของลัทธิรวบอำนาจ ไม่ว่าจะสร้างขึ้นมาบนลัทธิมาร์กซ์หรืออะไรอื่นก็ตาม เป็นโลกของคำตอบมากกว่าโลกของคำถาม ในนั้นนวนิยายไม่มีบทบาทอะไร"
(หน้า 20)

-------------------------------

บทที่ 2 จาก "คัมภีร์" ถึง "ภัยขาว"

ตกลงหนังสือ "คัมภีร์" เลยกลายเป็นหนังสือเล่มละบาทเล่มแรกและเล่มสุดท้ายที่มีรูปลักษณ์ประหลาดที่สุด คือมีปกแต่เพียงท่อนบนสุดที่มีชื่อหนังสือคัมภีร์ กับมีหน้าสุดท้ายซึ่งเหลืออยู่ครึ่งหน้ากับชื่อเรื่องที่ดูตื่นเต้นดี แม้ไม่มีข้อความรายละเอียด แต่คิดว่าคนอ่านคงเดาได้ว่ามันควรจะพูดอะไรบ้าง

พลังของ "หนังสือ" นั้นน่าสนใจมาก บางครั้งข้อความเปิดเสรีนั้น อาจมีพลังน้อยกว่าข้อความที่ไม่อาจพูดหรือพิมพ์ออกมาอย่างโจ่งแจ้งเสียอีก
(หน้า 35)

-------------------------------

บทที่ 5 เมื่อชีวิตเจอ (วรรณ) กรรม

น่าตลกที่อำนาจเผด็จการอย่างทั่วไปนั้นสามารถทำให้เกิดพลังปฏิกิริยาตอบโต้ได้แรงพอ ๆ กัน แม้ฝ่ายหลังจะไม่มีอำนาจและกำลังในการทำลายและข่มขู่เหมือนกับของทางการก็ตาม แต่มันเป็นอำนาจของความคิด ในวินาทีนั้นเองที่เรามีความรู้สึกว่า เพียงเราเขียนประโยคประท้วงสังคมเพียงวรรคเดียวบนผนังเหนือโถปัสสาวะผู้ชายในห้องน้ำในตึกห้องสมุดกลางของมหาวิทยาลัย ก็จะทำให้เกิดการสั่นสะเทือนไปทั่วทั้งในตึกและในมหาวิทยาลัยแห่งนั้น และกระทั่งถึงรัฐบาลได้
(หน้า 59)

-------------------------------

บทที่ 6 วรรณกรรมกับ "หัวใจ"

"โคะโคะโระ" เป็นวรรณกรรมเพื่อชีวิตที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและแตกต่างจากวรรณกรรมเพื่อชีวิตเพื่อประชาชนที่เรารู้จักกันอย่างยิ่ง ข้อความและเหตุการณ์ความเป็นไปที่เกิดขึ้นในเรื่องนั้น ผมรู้สึกเสมือนประหนึ่งเอาน้ำเย็นเฉียบราดลงไปในหัวใจ...ทำให้ผมได้ข้อคิดว่า วรรณกรรมหรือในความหมายที่กว้างคือภูมิปัญญาแห่งสังคมนั้น มันคือวิญญาณ (หรือหัวใจ) ของประวัติศาสตร์สังคมนั้น ๆ ตราบใดที่ยังไม่อาจ "รู้สึก" กับวรรณกรรมและความคิดของประเทศนั้น ก็ไม่อาจรู้จักและเข้าใจประวัติศาสตร์และอื่น ๆ ของประเทศนั้นได้
(หน้า 68)

-------------------------------

บทที่ 8 วรรณกรรมเพื่อพรรคเพื่อประชาชน

...เขาเริ่มคิดว่าการเป็นหมอคงไม่สามารถช่วยอะไรต่อภาวะเสื่อมทรามของสังคมจีนได้ อย่างดีแพทย์ก็รักษาโรคภัยไข้เจ็บ ให้คนไข้มีชีวิตอยู่ในทางกายภาพต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง แต่หากสังคมที่คนเหล่านั้นอาศัยอยู่ยังเน่าเฟะ การมีชีวิตอยู่กลับเป็นการช่วยต่ออายุให้พวกเขาต้องผจญเวรเผชิญกรรมและความเหลวแหลกของสังคมอีก นั่นไม่ใช่การฆ่าคนอย่างเลือดเย็นดอกหรือ

หลู่ซิ่นเขียนในบันทึกต่อไปว่า "ข้าพเจ้ารู้สึกว่าการเรียนวิชาแพทย์ไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญ กับพลเมืองที่โง่เขลาและอ่อนแอนั้น สิ่งที่เราต้องทำเป็นเบื้องแรกคือ การเปลี่ยนแปลงจิตใจของพวกเขา และในขณะนั้นข้าพเจ้ารู้สึกว่าสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงจิตใจได้ดีที่สุดได้แก่วรรณคดี"
(หน้า 87 - 88)

การใช้นโยบายพรรคคอมมิวนิสต์ไปชี้นำบงการนักเขียน มีผลทำให้นักเขียนของพรรคฯ ผู้หนึ่งคือ เจียงกวงจื่อ ถูกขับออกจากพรรคฯ จากข้อหาที่เขายังเป็นพวกลัทธิโรแมนติกและมีโลกทรรศน์นายทุนน้อย เขากล่าวว่า "ข้าพเจ้าเป็นนักโรแมนติก บรรดานักปฏิวัติทั้งปวงล้วนเป็นนักโรแมนติก ถ้าไม่โรแมนติก ใครบ้างเล่าจะเข้ามาเริ่มทำการปฏิวัติ"
(หน้า 98)

-------------------------------

บทที่ 9 ก่อนอรุณจะรุ่ง : วรรณกรรมในชีวิตรัสเซีย
พอไปเจอสภาพและบทบาทของปัญญาชนรัสเซียเข้า ผมเกือบหงายหลัง เพราะนึกไม่ถึงว่าของจริงนั้นหนักหน่วงกว่าที่เรารู้จักและถกเถียงกันเกือบตาย ก่อนอื่น คำว่าปัญญาชนในบริบทของรัสเซียนั้นเขาใช้คำว่า intelligentsiya แปลว่า ผู้นำแห่งปัญญาชนของสังคม ลักษณะสำคัญคือการเป็นชนชั้นนำ (elite) และเป็นปัญญาชนของสังคม ไม่ใช่นั่งคิดนั่งบ่นอยู่คนเดียวหรือสองสามคนในวงเหล้าเดียวกัน หากแต่ต้องแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคมออกมาให้ประจักษ์...

ปัญญาชนรัสเซียหลายคนต้องถูกจับกุมคุมขัง เนรเทศ และในที่สุดถูกแขวนคอ รวมทั้งพี่ชายของเลนินด้วย แต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่อาจยับยั้งการเคลื่อนไหวของปัญญาชนและขบวนการประชาชนไปได้ จนในที่สุดพลังและคลื่นของการปฏิวัติก็ถาโถมเข้าทำลายระบบเก่าให้พังทลายลงไปในการปฏิวัติเดือนตุลาคม ค.ศ. 1917
(หน้า 104-105)

-------------------------------

บทที่ 12 "เทพ" กับ "มาร" ในงานเขียนของดอสโตลเยฟสกี้

Irving Howe ให้ข้อคิดในการวิเคราะห์วรรณกรรมกับการเมืองในรัสเซียไว้ดีมาก เขาบอกว่า เนื่องจากวรรณกรรมรัสเซียในศตวรรษที่ 19 นั้นเต็มไปด้วยความเอาจริงเอาจังยิ่งนัก อันเป็นผลมาจากสภาพสังคมการเมืองที่ถูกบีบคั้นจากพระเจ้าซาร์ สภาพดังกล่าวนี้เองทำให้การพินิจวรรณกรรมรัสเซียจะต้องถือว่า "ศาสนาเป็นเสมือนสาขาหนึ่งของการเมือง และการเมืองก็เป็นรูปแบบหนึ่งของศาสนา" ถ้าใครยังใช้กรอบวรรณกรรมวิจารณ์แบบที่ว่าสะท้อนสังคมหรือเป็นปรากฏการณ์สังคมเท่านั้น ก็จะพบอุปสรรคความยากลำบากในการทำความเข้าใจวรรณกรรมรัสเซียเหล่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานของดอสโตลเยฟสกี้ ซึ่งผลงานแห่งการสร้างสรรค์ของเขานั้น ไม่ได้หมายถึงและแสดงถึงความงาม หรือศิลปะของวรรณคดีอย่างที่คนเข้าใจกัน หากแต่การสร้างสรรค์ของเขานั้น กลับมีความหมายนัยยะถึงการพยากรณ์ของศาสดา
(หน้า 119)

-------------------------------

บทที่ 13 เสรีภาพกับความตาย

ถ้าหากเราเชื่อตามคำอธิบายของซิกมันด์ ฟรอยด์ ที่ว่ามนุษย์เป็นสัตว์ต่อต้านสังคม (anti-social) การดำรงอยู่ของมนุษย์ก็คือการถูกกดขี่โดยสังคมในระดับหนึ่ง การกดขี่ของสังคมนี้เองที่เปิดช่องให้มนุษย์สามารถอยู่รอดได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ด้วยการแปรเปลี่ยนการกดขี่ให้มาเป็นการชื่นชมดูดดื่ม (sublimation) ในสังคม กล่าวคือ การกดขี่ของสังคมผลักดันให้มนุษย์สรรค์สร้างที่พักพิงอันวิจิตรและมีรสนิยมยิ่ง สำหรับให้เขาดำรงชีวิตอย่างมีความหมายกับตัวเขาเองขึ้นมา
(หน้า 125)

-------------------------------

บทที่ 15 "คำสารภาพ" ของ ตอลสตอย

วรรณกรรมรัสเซียในศตวรรษที่ 19 จึงมีลักษณะเด่นที่แตกต่างจากยุโรป ตรงที่ว่าวรรณกรรมรัสเซียสมัยใหม่ใช้เวลาสั้นกว่าของยุโรป ในการสร้างสรรค์ด้านศิลปะและเทคนิค หรือรูปแบบจากคนหนึ่งหรือสำนักหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง แต่หลังจากทำงานวรรณกรรมระยะหนึ่ง พวกเขาก็พร้อมจะกระโดดไปสู่อีกขั้นของพัฒนาการ นั่นคือการผลักดันให้งานเขียนของพวกเขาออกไปสู่สังคมและเป็นอาวุธทางสังคม ที่ทำหน้าที่ในการช่วยสร้างสรรค์และนำการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น-และจะต้องเป็นไปโดยเร็วด้วย
(หน้า 139)

สังเกตว่า ทันทีที่ตอลสตอยไม่เชื่อศาสนาแบบเก่าอีกต่อไปแล้ว เขาก็พบว่าการสั่งสอนและเขียนให้คนอื่นกลายเป็นคนดีมีความรู้นั้นเป็นเรื่องหลอกลวงสิ้นดี เนื่องจากการทำงานอยู่ในวงวรรณกรรม เขาจึงมองเห็นชีวิตจากภายในวงการได้ชัดเจน และนำมาเปรียบเทียบกับการสั่งสอนศีลธรรมของศาสนจักร เขาคิดว่าพวกนักเขียน นักวรรณกรรม ศิลปิน และกวี ก็เหมือนกับนักศาสนาเช่นกัน เพราะแต่ละคนต่างก็มีสาวกที่ไม่เคยตั้งข้อสงสัยถึงความถูกต้องของคำสั่งสอนเหล่านั้น
(หน้า 144)

-------------------------------

บทที่ 16 สู่วิญญาณของขบวนการเดือนตุลาคม

ประการที่สองซึ่งผมชอบมากคือ ธีรยุทธบอกว่า มนุษย์นั้นต่างจากสัตว์โลกอื่น ๆ ไม่ใช่ตรงที่เป็น "สัตว์ประเสริฐ" กว่า แต่ที่สำคัญคือ "มนุษย์เรากลับมีชีวิตอยู่อย่างฝืนธรรมชาติ หรืออีกนัยหนึ่ง มนุษย์เป็นมนุษย์เพราะมีวิญญาณขบถ วิญญาณนี้จึงเก่าแก่พอ ๆ กับประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เราอาจละเลยมองข้ามสิ่งหนึ่งไปว่า การค้นพบที่ยิ่งใหญ่ของมนุษย์ก็คือการค้นพบคำว่า "ไม่" เพราะในโลกที่เป็นจริงนั้นไม่มีภาวะปฏิเสธหรือภาวะที่ไม่มีอยู่จริง"
(หน้า 153)

-------------------------------

[ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ. วรรณกรรมในชีวิต : ชีวิตในวรรณกรรม. กรุงเทพฯ : มิ่งมิตร, 2539.]

วันอังคารที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2558

824 : งามพรรณ เวชชาชีวะ


ง่ายงาม คือคำจำกัดความสั้น ๆ หากจะพูดถึง 824

แต่ถ้าจะให้พูดยาวกว่านั้น นี่คือ 24 ชั่วโมงของทั้ง 8 ชีวิตที่ร้อยเรียงกันด้วยความรักและมิตรภาพ ถ้าผู้เขียนทำอย่างที่กล่าวไว้ในคำตามจริง ๆ คือจรดปากกาหลังจากวันที่ประกาศผลซีไรต์ หนังสือเล่มนี้ก็คงเป็นความสุขของกะทิฉบับขยายสเกลขึ้นจากภาพความสุขของเด็กตัวน้อยมาเป็นภาพความสุขบ้างทุกข์บ้างของผู้คนใน "ซอยอยู่สบาย" ที่เกาะเกี่ยวชะตากรรมกันอยู่อย่างบางเบา

คุณงามพรรณยังคงเป็นนักเขียนมือฉกาจในการเก็บเกี่ยวรายละเอียดชีวิตเล็ก ๆ น้อย ๆ และนำมาถ่ายทอดผ่านภาษาเรียบง่ายทว่าละเอียดลออจนเห็นภาพ แสง สี เสียง ชัดเจนทุกฉากชีวิต กระทั่งได้ยินเสียงดนตรีคลอเคล้าในบางบท แม้เป็นเพียงส่วนเสี้ยวในแต่ละช่วงเวลา แต่นั่นก็เป็นส่วนเสี้ยวของยอดภูเขาน้ำแข็งที่กำลังส่องแสงสะท้อนสวยงาม ส่วนฐานของภูเขาน้ำแข็งเราอาจกลับไปขุดได้สักส่วนหนึ่งในการแนะนำตัวละครแปดบทแรก หรืออันที่จริงเราอาจไม่ต้องสนใจเลยก็ได้

ตอนที่อายุน้อยกว่านี้ ผมเคยตั้งข้อสงสัยถึงเด็กหญิงกะทิเอาไว้ว่าทำไมเด็กคนนี้ถึงได้เข้มแข็งและมีความสุขขนาดนั้น ทั้งที่เงื่อนไขหลายอย่างในชีวิตควรจะหล่อหลอมให้เด็กหญิงกะทิเป็นเด็กหญิงเหงา ๆ คนหนึ่งที่ไขว่คว้าหาความอบอุ่นมากกว่านี้

จากวันนั้นผ่านมาห้าปี ผมอยากกลับไปถอนคำพูดตัวเอง

ชีวิตคนเราในบางจังหวะมันไม่ต้องการภูมิหลังหรือความซับซ้อนทางอารมณ์มากขนาดนั้น เงื่อนไขชีวิตอาจมีผลบ้างแต่คงหลอมคนไม่ได้เหมือนสูตรทางเคมีของนักเล่นแร่แปรธาตุ หัวใจของมนุษย์ต่างหากที่เป็นปัจจัยของความเข้มแข็ง ความอ่อนแอ ความอ่อนโยน ความเปราะบางทั้งหลาย และทำให้ชีวิตเป็นชีวิต การหยุดใคร่ครวญทบทวนอดีตและภูมิหลังอาจเป็นสิ่งจำเป็น แต่สิ่งที่จะทำให้ชีวิตเดินไปข้างหน้าคือปัจจุบันต่างหาก

นั่นคงเป็นเหตุผลที่ผู้เขียนเลือกเปิดเรื่องนวนิยายเรื่องนี้ด้วยตัวละครลุงสุขกับป้าแสง ความสำคัญของสองตัวละครนี้ยิ่งถูกตอกย้ำในบทแนะนำตัวละครลุงต่อ ทั้งที่ดูเผิน ๆ ลุงสุขกับป้าแสงเรียกว่าแทบจะไม่ได้เกี่ยวข้องใด ๆ กับซอยอยู่สบาย แม้แต่ตอนที่เป็นไคลแม็กซ์ของเรื่องซึ่งขมวดเอาตัวละครแทบทั้งหมดมาไว้ในฉาก ก็ดูเหมือนว่าทั้งสองไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องมากนัก

แต่หากตัดลุงสุขกับป้าแสงออก นวนิยายเรื่องนี้ก็ล้มไม่เป็นท่า เพราะนี่คือความสัมพันธ์ที่เรียกว่าเป็นกระดูกสันหลังของนวนิยายเรื่องนี้ ความสัมพันธ์ที่เหมือนนิยายพาฝัน ทว่าเป็นนิยายพาฝันที่ทั้งจริงและเจ็บปวด แต่อย่างไรปัจจุบันก็ยังคงอยู่ และชีวิตก็ต้องก้าวเดินต่อไป เช่นเดียวกับนิยายชีวิตของแต่ละคนในซอยนี้

ลุงสุขกับป้าแสงจึงเปรียบเสมือนภาพแทน (Representation) ขณะเดียวกันก็เป็นภาพปฏิทรรศน์ (Paradox) ในความสัมพันธ์ของตัวละครทั้งหมดในซอย ความพาฝันที่แฝงความปวดร้าวของชีวิตของลุงสุข ต่างอะไรจากความปวดร้าวที่แฝงความพาฝันของลุงต่อ ป้าแหวง สันทัด มีนา หรือกระทั่งเจ้ามอมแมม

ชื่อของตัวละครหลายตัวยิ่งขับเน้นภาพปฏิทรรศน์ของแต่ละตัวละคร ลุงสุข ควรจะสุขตามชื่อ แต่ใครเลยจะตอบได้ว่าสิ่งที่ลุงต่อสู้อยู่นั้นทำให้ลุงสุขตามชื่อหรือไม่? ป้าแสงก็เปรียบเสมือนแสงดาวแห่งความฝันและความหวังทั้งชีวิตของลุงสุข แต่ที่จริงป้าแสงเป็นแสงแรกอรุณหรือแสงสุดท้ายที่กำลังริบหรี่?

เช่นเดียวกับลุงต่อ ชีวิตที่ควรจะเดินต่อกลับหยุดนิ่งเพราะมีบางคนที่ลืมสัญญา เจ้ามอมแมม คล้ายจะตั้งมาล้อกับเรื่อง "มอม" ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ที่รอเจ้าของแท้จริงมาทั้งชีวิต แต่คราวนี้ผู้เขียนโยนคำถามหนักหน่วงของชีวิตเข้าใส่มอมแมมเมื่อเจ้าของของเจ้ามอมแมมตายไปแล้วจริง ๆ เมื่อสองตัวละครที่ถูกลืมสัญญาคือลุงต่อและเจ้ามอมมาพบกัน จึงเสมือนว่าทำให้ชีวิตกลับเข้าสู่ปัจจุบันและเดินต่อไปได้ใช่หรือไม่?  ป้าแหวง ผู้มีชีวิตเว้าแหว่งที่ยอมเสี่ยงชีวิตเพื่อความรัก เรื่องแสนจะจริงที่จบลงราวกับเรื่องพาฝัน เช่นเดียวกับมีนาและสันทัด ชีวิตที่แสนจะจริงอันแอบซ่อนเรื่องพาฝันอย่างดอกฟ้าและหมาวัด เหมือนบทเกริ่นการณ์ที่ล้อไปกับชีวิตคนอื่น ๆ หรือไม่ คงไม่มีใครรู้นอกจากเจ้าตัวในเรื่อง

สภาวะขัดแย้งของความสุขและความทุกข์ สภาวะขัดแย้งของภาพชีวิตและภาพพาฝัน ทุกอย่างถูกผลักดันให้ดำเนินไปได้ด้วยสิ่งเดียวคือ หัวใจ

หัวใจนั่นเองที่ทำให้ชีวิตเป็นชีวิต

24 ชั่วโมงนี้อาจจะพิเศษกว่า 24 ชั่วโมงอื่นเมื่อมันได้รับการประกอบขึ้นเป็นเรื่องเล่า ทว่าเมื่อเรื่องเล่าจบลง 24 ชั่วโมงข้างหน้าชีวิตก็ยังคงต้องดำเนินต่อไป ลุงสุขก็ยังคงดูแลป้าแสงด้วยความรัก ด้วยหัวใจที่ทั้งสุขและทุกข์ เช่นเดียวกับความสุขอมทุกข์ ความทุกข์เคล้าสุขของอีก 7 ชีวิตในนวนิยายเรื่องนี้ ขอเพียงแค่มีความรักและความฝันไว้เติมเชื้อไฟให้หัวใจได้สู้ต่อบ้างก็พอแล้ว

นั่นแหละคือสิ่งที่เรียกว่าชีวิต และนั่นแหละคือความง่ายงามของ 824 ดังที่ผู้เขียนได้สรุปทุกสิ่งทุกอย่างของนวนิยายเล่มนี้ไว้ในย่อหน้าหนึ่งของคำนำว่า

“824 เป็นเพียงเส้นทางหนึ่งที่ผู้เขียนเลือกพาผู้อ่านไปพบกับแปดชีวิตที่ล้วนมีหัวใจหนึ่งเดียวในอก หัวใจที่มีความหวัง ความฝัน และความรักที่จะมอบให้ ความสมหวังในความรักเป็นสิ่งที่หัวใจทุกดวงปรารถนา แต่การจะได้มาย่อมต้องแลกด้วยสิ่งต่าง ๆ รวมทั้งความรักเองด้วย”

------------------------------------------
Quotations:

ลุงต่อไปธนาคารก็จริง แต่ไม่ใช่เพื่อถอนเงินจากบัญชีเงินฝากที่จำนวนเงินลดน้อยถอยลงอย่างน่าใจหาย แต่แกยังไปธนาคารเลือดเพื่อขายเลือดอีกด้วย แกนอนน้ำตาไหลย้อนอยู่ในอกยามที่เลือดถ่ายจากตัวเพื่อแลกเป็นเงิน ไม่มีใครรู้ว่าทุกวันแกตั้งขวดเหล้าไว้บนแคร่อย่างนั้นเอง เป็นขวดเหล้าก็จริง แต่น้ำในขวดไม่ใช่เหล้า เป็นน้ำจากก๊อก และอาการเมาเหล้าของแกก็เป็นอย่างที่คนเรียกกันว่า เมาดิบ

แกกล้ำกลืนกินศักดิ์ศรีมานานปี ไม่เคยมีใครรู้และย่อมไม่มีทางรู้ว่า แกต้องขายเลือดเลี้ยงชีวิตอันมีศักดิ์ศรีค้ำคอเช่นนี้มานานแล้ว
(หน้า 16)

ก่อนเข้านอนคืนนั้น มีนาไม่นึกอยากหยิบสมุดภาพงานแต่งงานมาดู มีนามีภาพอื่นที่ทวนซ้ำอยู่ในสมองมาตั้งแต่เลิกงานแล้ว

ภาพหญิงสาวคนหนึ่งที่มายืนดูโชว์ริมสระน้ำ เธอยืนอยู่กับชายหนุ่มคนหนึ่งที่หันมามองเธอในเวลาที่สายตาทุกคู่ในบริเวณนั้นอยู่ที่มีนา ทั้งสองส่งยิ้มให้กัน มีนารู้แล้วว่าตัวเองต้องการอะไรมากที่สุดในชีวิต เธอไม่ต้องการสายตาที่มองมาหลายล้านคู่ แต่ต้องการสายตาเพียงคู่เดียวที่มองมาอย่างแสนรักหนักหนา พาให้มีนามองตอบเจ้าของสายตากลับไปได้ด้วยรักเปี่ยมล้นพอกัน
(หน้า 29)

ป้าแหวงผ่านความรักมามากจนรู้ว่าอย่าได้หวังสิ่งใดจากความรักเลย ความรักแสนจะขี้เล่น ถ้าโลดไล่ไขว่คว้าก็จะหนีห่างหาย ถ้าเผลอสบาย ๆ ก็จะมาเคล้าเคลีย ยิ่งรักแท้ด้วยแล้ว อาถรรพณ์แรงนัก หากไม่แน่ใจก็อย่าลงไปเล่นด้วยเลย ดังนั้น ป้าแหวงจึงใช้อุบายแยบคายทำเป็นสงวนท่าทีกับความรัก ทั้ง ๆ ที่ใจโลดขึ้นในอกและกู่ร้องเพรียกหาทุกนาที
(หน้า 40)

เงินเก็บก็พอมีอยู่หรอก เอาไว้เผื่อเจ็บไข้ ไม่มีใช้จริง ๆ ก็จะขายที่ผืนน้อยมันละ เคยตั้งใจนะว่าจะยกให้ลูก มันจะได้มีสมบัติเผื่อไว้ลำบากวันข้างหน้า..." คนพูดเว้นช่วงไป "คำสัญญานี่มันบาดลึกนะ มันบาดลึกตรงใจนี่แหละเวลาที่คนพูดลืมสัญญา"
(หน้า 88)

หัวใจมนุษย์ไม่กลัวความเจ็บปวด ไม่หวั่นความผิดหวัง และเสาะหาความหวังมาหล่อเลี้ยงได้เสมอ นั่นเพราะเดิมพันที่จะได้มาซึ่งความสมหวังสูงนัก และหัวใจย่อมพร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อเดิมพันนี้
(หน้า 104)

[งามพรรณ เวชชาชีวะ. 824. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : เวิร์คพอยท์พับลิชชิ่ง, 2554.]