วันจันทร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

สิ่งเล็กเล็กที่เรียกว่ารัก: โศกนาฏกรรมและการก้าวผ่านวัยของ "เงือกน้อย"

หมายเหตุก่อนอ่าน
- ข้อเขียนนี้เปิดเผยเรื่องราวทั้งหมดของภาพยนตร์
- ข้อเขียนนี้เป็นบทวิจารณ์ภาพยนตร์ที่ยังไม่สมบูรณ์ เนื่องจาก
(๑) เขียนขึ้นจากความทรงจำที่ได้ชมเพียงหนึ่งรอบ อาจมีชื่อตัวละคร Quote คำพูด หรือเหตุการณ์คลาดเคลื่อนไปบ้าง
(๒) เหมาะสำหรับผู้ที่เคยดูมาก่อน เพราะในการอธิบายแต่ละฉาก จะพูดถึงอย่างกว้าง ๆ
(๓) ไม่มีตำราในการอ้างอิงและตรวจสอบความหมายของ Technical Term (แปลว่าอะไรดีเนี่ย ศัพท์ทางวิชาการ?) อยู่ใกล้ ๆ มือ จึงได้แต่อธิบายเท่าที่สมองก้อนน้อย ๆ นี้พอจะเข้าใจ
- ขอบคุณน้องเอ๋ย สำหรับประเด็นดี ๆ ที่ทำให้ข้อเขียนนี้สมบูรณ์ขึ้น
- ข้อเขียนนี้ไม่เหมาะสำหรับผู้ไม่ชอบอ่านอะไรยาว ๆ

..................................

เป็นเรื่องแปลกอย่างหนึ่งที่ว่า ภาพยนตร์ไทยดี ๆ หลาย ๆ เรื่องมักจะมีตัวอย่างหนัง (Trailer) สับขาหลอกว่าเป็นหนังอีกเรื่องหนึ่ง เท่าที่ผมนึกได้ในตอนนี้ก็มีเรื่อง รักแห่งสยาม (ที่ทำ Trailer เป็นหนังรักกุ๊กกิ๊กวัยใส) ความจำสั้น..แต่รักฉันยาว (ที่ทำ Trailer เป็นหนังรักของเป้กับญารินดา) และเรื่องสิ่งเล็กเล็กฯ นี้ อาจเป็นเพราะภาพยนตร์ไทย "อาย" ที่จะแสดงความดีเด่นของหนังออกมาทางตัวอย่างหนัง หรือเพราะกลัวว่าถ้าคนรู้ว่าหนัง "ดี" แล้วคนจะไม่ไปดู (?) ก็ไม่ทราบได้

สิ่งเล็กเล็กที่เรียกว่ารัก ก็เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ทำ Trailer เป็นหนังรักกุ๊กกิ๊ก ผสมอาการถวิลหา (Nostalgia) วัยมัธยมฯ ให้คนดูได้อมยิ้มกัน แต่เมื่อเข้าไปดูในโรง ในหนังกลับมีอะไรมากกว่านั้น

หนังใช้เวลาในช่วงแรกอย่างรวบรัด เล่าถึงความประทับใจต่าง ๆ ของน้ำที่มีต่อพี่โชน รุ่นพี่สุดหล่อ สุดเท่ สุภาพบุรุษสุด ๆ แม้บางฉากจะดูเหมือนจงใจใส่เข้ามาให้พี่โชนดู "หล่อ" มากไปหน่อย อย่างฉากซื้อเป๊ปซี่ให้ แต่ก็ไม่ถึงขนาดยัดเยียดแต่อย่างใด

บางคนที่คิดเยอะอาจมองว่า นี่มันรักกันเร็วไปหรือเปล่า? แต่ลองนึกกลับไปสมัยมัธยมเถิด ท่านจะพบว่า ในตอนนั้นเวลาเราเผลอหลงรัก หรือเผลอปลื้มใคร มันแป๊บเดียวจริง ๆ อาจเป็นเพราะภาวะทางอารมณ์ในช่วงนั้นนับว่าเป็นวัยที่อ่อนไหว ใช้ความรู้สึกนำเหตุผล จึงทำให้หลายคนเผลอหลงรักใครแบบที่ตัวเองอธิบายไม่ได้ แต่แท้จริงแล้ว ปมปัญหาในใจนั้นเป็นเรื่องที่พอจะอธิบายได้
.............................

ภูมิหลังและปมในใจของตัวละคร

หนังช่วงแรกบอกให้เรารู้จักภูมิหลังของตัวละครน้ำว่า เป็นเด็กขาดความอบอุ่นที่ควรได้รับจากพ่อ เธอจึงมองหาผู้ชายที่มีลักษณะคล้ายพ่อของเธอเพื่อมาเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไป นั่นคือพี่โชน

พี่โชนคล้ายพ่อของน้ำตรงไหน?

ข้อมูลที่เรารู้เกี่ยวกับพ่อของน้ำอาจมีแค่ว่า เขาไปทำงานเป็นผู้ช่วยกุ๊กที่อเมริกา แต่นั่นก็เพียงพอแล้ว เพราะทำให้เห็นว่า พ่อของน้ำเป็นผู้ชายที่มีความละเอียดอ่อนอย่างศิลปิน (Artistic) จึงทำงานศิลปะอย่างการทำอาหารได้ดี ผู้ชายที่น้ำสนใจจึงต้องมีความละเอียดอ่อนอย่างศิลปินเช่นกัน และพี่โชนก็มีความเป็นศิลปินอยู่ไม่น้อย นั่นคือชอบถ่ายรูป

แม้สัดส่วนของภูมิหลังโชนมีน้อยกว่าน้ำ แต่ภูมิหลังของเขาจำเป็นมากในการทำความเข้าใจตัวละครตัวนี้ เพราะดูจะเป็นเรื่องเหลือเชื่อที่คนหล่อลากไส้อย่างโชนจะมาแอบชอบเด็กหน้าปลวกอย่างน้ำได้ เราจะได้ทราบในหนังช่วงต่อมาว่า เขาเป็นเด็กชายที่เกิดมาพร้อมกับบาดแผลในอดีต (trauma) คือเกิดมาในวันที่พ่อของเขายิงลูกโทษไม่เข้า ทำให้ทีมจังหวัดไม่ได้แชมป์ประเทศไทย บาดแผลนี้ทำให้เขาไม่กล้าเล่นฟุตบอลอย่างจริง ๆ จัง ๆ และไม่กล้าเตะลูกโทษ แม้ว่าเขาจะเล่นฟุตบอลได้ดีเพียงใดก็ตาม

trauma ในใจของเขาเป็นบาดแผลที่ค่อนข้างลึกทีเดียว เห็นได้จากตอนที่เขาพูดกับน้ำอย่างขมขื่นว่า "มันเป็นเหมือนนามสกุลพี่ไปแล้ว.. ไอ้โชน พ่อยิงลูกโทษไม่เข้า" กระทั่งพ่อและแม่ของเขาก็ยังเป็นห่วงเรื่องปมในใจข้อนี้ของเขา หนังมาเน้นย้ำในฉากที่พ่อแอบมาดูโชนยิงลูกโทษครั้งแรกแต่ไม่เข้า พ่อของโชนแทบจะหนีกลับบ้านเลยทีเดียว

นั่นจึงเป็นคำอธิบายว่า ทำไมโชนถึงเป็นผู้ชายที่สุภาพบุรุษสุด ๆ มีนิสัยชอบ take care คนอื่น (อาจจะถึงขนาดไปทั่ว!) เพราะในวัยเด็กของเขาคงต้องเผชิญกับการไม่ยอมรับจากคนอื่นมาไม่น้อยจากบาดแผลข้อนี้ของเขา การเติบโตผ่านวัยเด็กของเขาจึงส่งผลมาถึงตอนเป็นวัยรุ่น ๓ ประการที่สำคัญกับการดำเนินเรื่องในหนังคือ

(๑) เขาเป็นผู้ชายที่ขาดความมั่นใจในตนเอง เพราะในตอนเด็กไม่ได้รับการยอมรับจากเพื่อน
(๒) เขาเป็นคนที่มีบาดแผลทางความรู้สึก จึงสนใจผู้หญิงที่ห่วงใยความรู้สึกของเขา
(๓) จากข้อ (๑) เขาจึงเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับเพื่อนสนิทในวัยเด็กมาก

ลักษณะข้อ (๑) และ (๒) ของโชน จึงเป็นคำอธิบายว่า ทำไมเขาถึงชอบน้ำตั้งแต่ตอนที่น้ำยังไม่สวย เพราะผู้หญิงคนอื่น ๆ มาทำดีหรือให้ของขวัญเขาเพราะรูปกายภายนอก หรือเพราะอยากครอบครองเขา แต่ไม่มีใครที่เข้ามาพร้อมกับก้าวลึกเข้าไปในความรู้สึกของเขาเหมือนน้ำ ในฉากที่น้ำซื้อยา (หรือปลาสเตอร์?) ให้โชน พร้อมกับพูดด้วยถ้อยคำที่ห่วงใยในความรู้สึก (โดยไม่รู้ตัว น้ำนับว่าเป็นคนที่เข้าใจผู้ชายแนว Artist ที่สุด จากการมีพ่อเป็นคน Artist จึงรู้ว่าคนเช่นนี้ต้องการการ take care ความรู้สึกมากกว่าอย่างอื่น) จึงทำให้โชนประทับใจในตัวน้ำนับแต่นั้น ภายหลังเมื่อน้ำแอบให้ช็อคโกแลต โชนจึงเก็บไว้ในตู้เย็นอย่างดี (เช่นเดียวกับที่น้ำเก็บเป๊ปซี่ของโชนไว้)

อีกประการหนึ่ง น้ำเป็นส่วนสำคัญในการช่วยให้โชนก้าวผ่าน trauma เรื่องยิงลูกโทษมาได้ นั่นคือฉากที่โชนตัดสินใจยิงลูกโทษด้วยตัวเองเป็นครั้งแรก อาจเป็นเพราะโชนรู้ว่าน้ำดูอยู่ด้วย อย่างไรก็ตาม ในหนังไม่ได้บอกว่าโชนจะยิงลูกนั้นเพื่อให้น้ำเห็นว่าเขาทำได้ (บางทีโชนอาจจะอยากก้าวข้าม trauma ด้วยตนเองก็เป็นได้) แต่ผมมองว่าตั้งแต่ที่ได้รู้จักน้ำ และเห็นการเปลี่ยนแปลงของน้ำ ทำให้โชนรู้ว่าคนเรานั้นเปลี่ยนแปลงกันได้จริง ๆ การเปลี่ยนแปลงตนเองของน้ำจึงทำให้โชนกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองบ้าง

อีกประการหนึ่ง การเปิดตัวของหนังที่พูดถึงภาพถ่ายแบบ Close-Up ของโชน โชนกล่าวว่า ชอบที่จะมองลึกลงไปให้เห็นอะไรดี ๆ ข้างใน นั่นแสดงว่าโชนเป็นคนที่ไม่ได้มองคนอื่นเพียงรูปกายภายนอก และโชนยังชอบอวัยวะ "ดวงตา" มากที่สุด นั่นก็คือ ดวงตาเป็นอวัยวะเดียวที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลง หรือปรุงแต่งเป็นอย่างอื่นได้ แม้น้ำจะสามารถขัดผิวให้ขาว จัดฟันให้เป็นระเบียบ แต่งผมให้สวย ฯลฯ จะมีก็แต่เพียงดวงตาเท่านั้นที่น้ำไม่สามารถแปรเปลี่ยนให้เป็นอื่นได้ (นอกซะจากใส่คอนแทคเลนส์เปลี่ยนสีตา เหอะ ๆ) ดวงตาจึงแสดงถึงอัตลักษณ์ที่แท้จริงของแต่ละคน การชอบดวงตาของโชนจึงเป็นสิ่งที่แสดงว่า โชนชอบน้ำที่เป็นน้ำจริง ๆ ไม่ว่ารูปกายภายนอกของน้ำจะเป็นเด็กหน้าปลวกหรือภายหลังเปลี่ยนแปลงมาเป็นเด็กสวยก็ตามที

และลักษณะข้อ (๓) จึงทำให้เกิดตัวละคร "ท้อป" เพื่อนสนิทในวัยเด็กของโชนที่สนิทกันอย่าง "เพื่อนตาย" เพราะท้อปคงจะเป็นเพื่อนคนเดียวในวัยเด็กของโชนที่ทำให้โชนผ่านวัยเด็กอันแสนขมขื่นมาได้ ความรักเพื่อนคนนี้ของโชนเห็นได้จากฉากต่าง ๆ เช่น เมื่อท้อปเข้ามา เขากลายเป็นคนป๊อปในโรงเรียนแทนโชน แต่โชนก็ไม่รู้สึกอิจฉาท้อปเลย หรือฉากยิงลูกโทษ ท้อปก็เป็นคนอาสาจะยิงลูกโทษแทนโชนเอง และเป็นคนแรกที่หยิบยื่นโอกาสให้โชนยิงใหม่อีกครั้ง นั่นแสดงว่าเขาเข้าใจบาดแผลของโชนมากเพียงใด

เหตุนี้โชนจึงไม่ยอมเสียเพื่อนสนิทที่สุดอย่างท้อปไป และทำให้เขาตัดสินใจเลือกเพื่อนมากกว่าเลือกสมหวังในความรัก คำขอที่ดูบ้าบออย่าง "กูขออย่างหนึ่ง มึงอย่าเป็นแฟนกับน้ำ" จึงเป็นคำขอที่โชนรับฟังได้ และโชนเลือกที่จะทำตามที่เพื่อนรักขอ
...................................

Little Mermaid ที่ชื่อน้ำ

หากจะมีเทพนิยายเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่อง หลายคนคงนึกถึง "สโนว์ไวท์" ละครเวทีที่ทำให้น้ำกับโชนได้มาใกล้ชิดกันอีกขั้น การที่มีเทพนิยายเรื่องสโนวไวท์เข้ามาในเรื่องนั้น นอกจากจะล้อเลียนเรื่องค่านิยม "ความขาว"ของคนไทย (เพราะแค่น้ำขาวขึ้นจากเครื่องสำอางค์ ก็สวยขึ้นเยอะ) ยังมีหน้าที่อีก ๒ ประการคือ

(๑) เป็นการชักนำ "เจ้าชาย" ให้มาจุมพิตสโนวไวท์ แบบ ม.ค.ป.ด. (หมาคาบไปแ_ก) นั่นคือ "ท้อป" ที่มาสนใจน้ำครั้งแรกเพราะได้ดูเธอเล่นเป็นสโนว์ไวท์ ท้อปจึงเปรียบเสมือนเจ้าชายที่จู่ ๆ มาจากไหนไม่รู้ แล้วก็มาจุมพิต คือขอน้ำเป็นแฟน แล้วก็ได้แต่งงานกัน คือได้คบกันชั่วระยะเวลาหนึ่ง ขณะที่โชน คนทำฉากที่คอยดูแลช่วยเหลือน้ำมาโดยตลอด เปรียบได้กับคนแคระ กลับไม่สามารถทำอะไรได้ ทำได้ดีที่สุดแค่ "เป็นตัวแสดงแทน" เพียงชั่วครู่ และยังไม่ได้จุมพิตเจ้าหญิงเลยด้วยซ้ำ

(๒) เป็นการส่งนัยล่วงหน้าว่าในเรื่องจะมีเรื่องราวของเทพนิยายอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง
เทพนิยายเรื่องดังกล่าวคือ  The Little Mermaid
-เทพนิยายเรื่องนี้เข้ามาเกี่ยวข้องตั้งแต่เมื่อไหร่? อย่างไร?

อันที่จริงเทพนิยายเรื่องนี้มี ๒ เวอร์ชั่น คือตัวเทพนิยายดั้งเดิมของ Hans Christian Andersen กับฉบับของดิสนีย์ที่ออกฉายในปี ๑๙๘๙ เมื่อเปรียบเทียบกับเนื้อหาในสิ่งเล็กเล็กฯ แล้ว จะคล้ายกับฉบับของดิสนีย์มากกว่า

เมื่อดูพล็อตเรื่องที่ว่า ผู้หญิงคนหนึ่งแอบชอบผู้ชาย และพยายามจะเปลี่ยนแปลงตนเองเพื่อให้เขาสนใจ พล็อตของทั้งสองเรื่องก็ดูใกล้เคียงกัน Ariel เจ้าหญิงเงือกน้อยตกหลุมรักเจ้าชาย และได้ช่วยเจ้าชายให้รอดจากการจมน้ำ คือน้ำเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเป็นกำลังใจให้โชนก้าวผ่าน Trauma ของตนเองดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น เจ้าชายโชนจดจำได้ว่าหญิงคนนั้นมีเสียงที่แสนไพเราะ นั่นคือแรงบันดาลใจที่เขาได้รับจากน้ำโดยไม่รู้ตัว แต่โชนจะไม่เคยได้ยินเสียงที่แสนไพเราะนี้จากปากของน้ำ

เสียงพูดของน้ำหายไปไหน?

Ariel ทำสัญญากับ Ursula แม่มดแห่งท้องทะเลไว้ว่า แม่มดจะเปลี่ยนเธอให้เป็นมนุษย์ (คือเปลี่ยนหางปลาให้เป็นขามนุษย์) แต่จะริบเสียงของเธอไปเสียเป็นการแลกเปลี่ยน น้ำจึงเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นคนที่สวยขึ้น เรียนเก่งขึ้น มั่นใจขึ้น แต่ก็ไม่สามารถบอกความรู้สึกที่แท้จริงได้เลย เปรียบเสมือน Ariel ที่ไม่สามารถร้องเพลงด้วยเสียงอันแสนไพเราะให้เจ้าชายฟังเพื่อยืนยันว่าเธอเป็นคนที่รักเจ้าชายและช่วยเจ้าชายไว้ในคืนนั้น

กุญแจที่บ่งบอกว่าเรื่องสิ่งเล็กเล็กฯ กับ The Little Mermaid มีความสัมพันธ์กันคือ "ปลาหมึก" !?

หากยังจำกันได้ ตอนที่ไปเที่ยวเขื่อน ฉากบนสะพานที่น้ำถือปลาหมึกขึ้นมาให้โชนกิน และโชนเล่า "เรื่องราวของปลาหมึก" นับเป็นครั้งแรกที่โชนกับน้ำได้พูดกันเรื่องความรักอย่างจริง ๆ จัง ๆ ขอให้สังเกตภาพในฉาก กล้องจงใจถ่ายภาพจากด้านบน น้ำถือปลาหมึกขึ้นมาบนสะพานแล้ววางลง ทั้งสองหันหน้าไปคนละทิศ นั่นคือการที่ทั้งสองอยู่คนละโลก น้ำอยู่ในโลกของเงือก และโชนอยู่ในโลกของมนุษย์ แต่สักพักโชนก็มานั่งลงข้างน้ำ (หันหน้าไปทางทิศเดียวกัน) โดยมีปลาหมึกคั่นกลาง นั่นคือทั้งสองมาอยู่ในโลกเดียวกันแล้ว

ถามว่าปลาหมึกเกี่ยวอะไรด้วย?

น่าคิดว่าทำไมต้องถือปลาหมึกขึ้นมา ทำไมไม่ถือน้ำหรืออะไรที่น่าจะกินง่ายกว่า ทั้งที่ในหนังไม่มีการบอกว่าโชนหรือน้ำชอบปลาหมึกเป็นพิเศษ ปลาหมึกในที่นี้จึงเป็นสัญลักษณ์ที่มีนัยกระหวัดไปถึงเทพนิยายเรื่องเงือกน้อย หากจะยังจำได้ Ursula แม่มดแห่งท้องทะเลมีรูปร่างเป็นปลาหมึก!

ฉากนี้จึงเป็นภาพซ้อนทับเทพนิยายเรื่องนี้อย่างแท้จริง แม่มดปลาหมึก Ursula ทำให้เงือกน้อยกลายเป็นมนุษย์และมาอยู่ในโลกเดียวกัน ได้พูดคุยกันเรื่องความรัก เจ้าชายโชนบอกถึงความปรารถนาในใจที่มีต่อหญิงผู้มีเสียงไพเราะคนนั้น คือการบอกซ้ำ ๆ ราวกับชักชวนน้ำว่า "จับมือกัน... จับมือกัน... จับมือกัน... จับมือกัน" (ในการเล่าเรื่องราวของปลาหมึก) แต่เงือกน้อยอย่างน้ำสูญเสียเสียงให้แม่มดปลาหมึก Ursula ไปแล้ว เธอจึงไม่มีเสียง หรือไม่สามารถพูดอะไรเพื่อตอบสนองความปรารถนาของเจ้าชายได้เลย

ในหนังยิ่งเน้นย้ำความเป็นเงือกน้อยของน้ำอีกครั้งในฉากที่น้ำสารภาพรักกับโชน แต่กลับพบว่าโชนตกลงเป็นแฟนกับพี่ปิ่น เพื่อนในกลุ่มโชน น้ำถึงกับช็อค และเผลอเดินตกสระน้ำ นั่นคือฉากในเทพนิยายที่ Ariel ได้เสียงของเธอกลับมาในวินาทีสุดท้ายและร้องเพลงด้วยเสียงอันแสนไพเราะ เจ้าชายโชนจึงเพิ่งจะรู้ว่าเงือกน้อยเป็นคนที่รักเขาอย่างแท้จริง แต่สายเกินไปเสียแล้ว เธอจึงต้องกลับเป็นเงือกน้อยดังเดิม จะเห็นว่าในวินาทีที่น้ำตกลงไปในสระน้ำ กล้องจงใจตัดภาพจากที่ถ่ายมุมบนมาเป็นภาพที่ถ่ายจากขอบสระ และจับภาพตัวน้ำที่โผล่พ้นสระน้ำเพียงครึ่งตัว เราจึงเห็นเพียงครึ่งตัวบนของน้ำเท่านั้น คล้ายกับเธอเป็นเงือกน้อยที่มีท่อนล่างเป็นปลา (อยู่ในน้ำ) เพื่อสื่อให้เห็นว่าสิ่งที่เธอทำมาทั้งหมด คือการพัฒนาตนเองมาจนเป็นเธอในวันนี้ หรือคือการเปลี่ยนแปลงจากเงือกน้อยสู่มนุษย์นั้นสูญเปล่า นั่นคือการกลับไปสู่ความเป็น Little Mermaid ของเธอ ซึ่งสอดคล้องกับเรื่องราวในเทพนิยายที่เจ้าชายมอบ "kiss of true love" ให้ Ariel ไม่ทัน และเธอต้องกลับกลายเป็นเงือกน้อยตามเดิม

นั่นคือโศกนาฏกรรมในเทพนิยายที่สอดคล้องกับโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในเรื่อง
..............................

โศกนาฏกรรม และการก้าวผ่านวัยของตัวละครเอกทั้งสอง

สองสิ่งที่ขับเน้นให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นมากกว่าภาพยนตร์รักวัยใสธรรมดาก็คือ การมีเรื่องราวของโศกนาฏกรรม (Tragedy) และการใช้ผลแห่งโศกนาฏกรรม เพื่อให้ตัวละครก้าวผ่านวัย (Coming of Age) ซึ่งสามารถทำได้อย่างงดงามและลงตัวมาก

โศกนาฏกรรมคือความเศร้าสลดในชะตากรรมของตัวละครเอก อันเกิดจากความผิดพลาดหรือข้อบกพร่อง (Tragic flaw) ของตัวละครนั้น ส่วน Coming of Age ไม่ทราบว่ามีคำแปลไทยว่าอย่างไร จึงขออนุญาตแปลว่า "การก้าวผ่านวัย" ไว้ก่อน คือการที่ตัวละครในวัยหนึ่งได้เรียนรู้จากเรื่องราวหรือจากประสบการณ์ในเรื่อง และได้เติบโตพัฒนาจิตใจจนก้าวข้ามวัยนั้นมาได้

โศกนาฏกรรมของโชนและน้ำคือ การที่ทั้งคู่ไม่สมหวังในความรัก อันเกิดมาจาก Tragic flaw ว่าทั้งคู่ไม่ยอมเปิดเผยความในใจออกมาตรง ๆ ทั้งที่ทั้งสองคนต่างก็แอบชอบกันมานาน

Tragic flaw แรกของน้ำที่ไม่ยอมเปิดเผยความรู้สึกออกมาตรง ๆ ทำให้น้ำก่อปม Tragic flaw ครั้งที่สองคือ พยายามเปลี่ยนแปลงตัวเองให้สวยขึ้น เหมือนเงือกน้อยที่เปลี่ยนตัวเองเป็นคน นั่นกลับชักนำให้ "เจ้าชายท้อป" จากเรื่องสโนว์ไวท์มาตกหลุมรัก

Tragic flaw แรกของโชนที่ไม่ยอมเปิดเผยความรู้สึกออกมาตรง ๆ ทำให้โชนก่อปม Tragic flaw ครั้งที่สองขึ้นมาเอง คือ ไม่ยอมขัดขวางเมื่อท้อปของเป็นแฟนกับน้ำ ยอมถอยให้เพื่อนสนิทที่สุดอย่างท้อปสารภาพรักกับน้ำ

ปม Tragic flaw ของทั้งคู่จึงบิดแน่นขึ้นจนยากจะคลาย น้ำเองก็กลัวพี่โชนจะเกลียดน้ำเพราะปฏิเสธเพื่อนพี่โชน พี่โชนก็กลัวเพื่อนจะเสียใจเพราะหลงรักผู้หญิงคนเดียวกัน ขณะเดียวกันจากการที่เป็นคนขาดมั่นใจในตนเอง จึงคิดว่าหากน้ำคบกับพี่ท้อปไปเรื่อย ๆ ก็อาจจะลืมตนเองได้ น้ำจึงกลายเป็นแฟนของเพื่อนสนิทที่สุดของพี่โชน ยิ่งนานไป ทั้งสองจึงยิ่งเป็นเหมือนเส้นขนาน อยู่ใกล้กันแต่ไม่มีวันบรรจบกัน

Tragic flaw สุดท้ายของทั้งคู่จึงเกิดขึ้นเมื่อน้ำตัดสินใจบอกรักพี่โชนในวันที่สายไป และพี่โชนก็ตอบรับเป็นแฟนพี่ปิ่นเมื่อไม่กี่วันผ่านมา จึงนำไปสู่ Climax ของโศกนาฏกรรมความรักที่ไม่สมหวังของตัวเอกทั้งสอง แล้วในที่สุด น้ำก็เกิดความเข้าใจชีวิต (Enlightenment) และก้าวผ่านวัยได้อย่างงดงามในตอนนั้น  เห็นได้จากฉากที่หนีออกมาจากสระน้ำ เธอพบพี่ปิ่น แทนที่เธอจะวิ่งหนีเหมือนที่วิ่งหนีพี่โชน เธอกลับสวมกอดพี่ปิ่นแล้วร้องไห้ นั่นคือเธอได้เรียนรู้และพัฒนาจิตใจจนก้าวข้ามความเป็นเด็กสาวสู่ความเป็นหญิงสาวในนาทีนั้นเอง

ฉากน้ำสารภาพรักพี่โชน ต้องขอชมว่าน้องที่เล่นเป็นน้องน้ำแสดงฉากนี้ได้ยอดเยี่ยมที่สุด เรียกว่า "ถึง" อารมณ์ความรู้สึกของเด็กสาวที่หลงรักผู้ชายคนหนึ่งมาตลอด สั่นสะเทือนความรู้สึกของผู้ชม กระทั่งผมยังต้องแอบเสียน้ำตาให้เธอ

ส่วน Enlightenment ของโชนเกิดทีหลังน้ำ เมื่อภาพตัดมาที่บ้านโชน แสดงข้าวของในบ้าน และภาพความหลังที่สื่อว่าโชนแอบชอบน้ำมานานแล้วตั้งแต่ยังไม่สวย ในที่สุดโชนจึงตัดสินใจนำอัลบั้มที่โชนถ่ายภาพน้ำเก็บไว้นำไปให้น้ำ โชนได้ก้าวผ่านปมในใจของตนเองที่ไม่ยอมเปิดเผยความรู้สึก ก้าวผ่านความเป็นผู้ชายปากแข็ง ผู้ชายขี้อาย และการเป็นผู้ชายที่ไม่มั่นใจในตนเอง โดยการบอกความรู้สึกให้น้ำรู้ผ่านอัลบั้มรูปนั้น ขณะเดียวกันเขาก็ได้เดินไปในทางสายชีวิตใหม่คือ ได้เป็นนักฟุตบอลเยาวชนของสโมสรบางกอกกล๊าส Coming of Age ของโชนในฉากนี้จึงมีทั้งทางจิตใจและทางสถานะเปลี่ยนผ่านวัยของชีวิต
.............................

ตัวละครคู่ขนานแบบไร้สาระ และตอนจบแบบ "ปาหมอน"

เขียนมาถึงบรรทัดนี้ ผมต้องขอปรบมือดัง ๆ ให้กับทีมเขียนบทเรื่องนี้ที่เขียนออกมาได้ดีจริง ๆ ทำให้หนังเรื่องนี้ไม่เป็นเพียงหนังรักดาด ๆ แต่มีเรื่องราวมากมายซ่อนอยู่ในนั้น หนังเรื่องนี้ "เกือบจะ" เป็นหนังที่ยอดเยี่ยมในสายตาของผมไปแล้ว หากไม่ติดอยู่ที่ (๑) การสร้างตัวละครคู่ขนานแบบไร้สาระ (๒) ตอนจบแบบ "ปาหมอน" ซึ่งผมเดาเอาเองว่า เป็นผลกระทบมาจากความคิดไม่ได้เรื่องของนายทุนทำหนัง

(๑) ตัวละครคู่ขนานแบบไร้สาระ ที่ผมกล่าวถึงคือ ศึกชิงครูพละ คู่ระหว่างครูคนสวย(เจี๊ยบ) กับครูสอนภาษาอังกฤษที่ไม่สวย(ตุ๊กกี้) เข้าใจว่าทีมเขียนบทน่าจะทำให้เป็นตัวละครคู่ขนาน คือเป็นคู่เปรียบเทียบของน้ำกับ "น้องมะม่วง" คนสวย (น้องเฟย์? รึเปล่าลืมชื่อ) ในการชิงหัวใจพี่โชน และเป็นตัวละครเปรียบเทียบระหว่างครูสอนภาษาอังกฤษกับตัวน้ำเอง การเปรียบเทียบแรกเห็นได้จากครูทั้งสองต่างก็มีเด็กของตัวเอง ครูเจี๊ยบก็ให้ท้ายเฟย์ ครูตุ๊กกี้ก็ให้ท้ายน้ำ ครูเจี๊ยบและเฟย์มีอาวุธเป็นความสวยและมารยา ครูตุ๊กกี้และน้ำมีจิตใจดีงาม ส่วนการเปรียบเทียบที่สองคือตัวครูและน้ำเอง ครูตุ๊กกี้ยอมคนรักจนสูญเสียความเป็นตัวเอง กระทั่งกลายเป็นตัวตลก ทั้ง ๆ ที่เป็นคนสอนคำว่า inspiration ให้น้ำ ส่วนน้ำได้ก้าวผ่าน Coming of Age ของตนเอง เรียนรู้คำว่า inspiration จากครูและให้พี่โชนเป็นสิ่งนั้น การเปลี่ยนแปลงของเธอจึงเป็นการพัฒนา (develope) ไม่ใช่ change จนสูญเสียตนเอง

แต่เมื่อครูภาษาอังกฤษรับบทโดยตุ๊กกี้ และใส่ความตลกจนเกินพอดี ตัวละครนี้จึงไม่สามารถนำมาเป็นคู่เปรียบเทียบอย่างที่บทหนังต้องการได้เลย เพราะมันหลุดไปจากการเปรียบเทียบกันอย่างมาก อย่าลืมว่าการเปรียบเทียบนั้นจะต้องมีลักษณะบางประการที่ใกล้เคียงกัน แต่เมื่อตุ๊กกี้เข้ามาขับเน้นความตลกให้เด่นมากกว่าการเปรียบเทียบ ตัวละครคู่ขนานนี้จึงเสมือน "ติ่ง" ของหนัง ที่ไม่ใช่ส่วนเกิน แต่ทำหน้าที่ของตนเองได้ไม่ดีพอ คาดว่าน่าจะเป็นความจงใจของนายทุนที่ต้องการจะใส่ความตลกเข้ามาเป็นตัวชูโรง โดยไม่ได้ดูความเหมาะสมหรือบริบทของหนังเลยแม้แต่น้อย

(๒) ตอนจบแบบ "ปาหมอน" หรือตอนจบแบบขว้างหมอน เป็นภาษาชาวการ์ตูนที่หมายความว่า จบได้แย่ จบดื้อ ๆ หรือจบแบบไม่ถูกใจจอร์จ มันน่าโมโหจนต้องปาหมอนให้หายแค้น อะไรทำนองนั้น อันที่จริงผมคิดว่า ตัดจบแค่ตอนที่น้ำร้องไห้ในห้อง ขณะที่โชนเอาสมุดบันทึกมาให้ นั่นก็เป็นการจบที่เยี่ยมยอดที่สุดแล้ว แต่หนังยังมีต่อมาถึงชีวิตในวัยผู้ใหญ่ของทั้งสอง น้ำได้เป็นดีไซน์เนอร์ชื่อดัง ส่วนโชนเป็นนักฟุตบอลที่ประสบความสำเร็จและผันตัวเองมาเป็นศิลปินช่างภาพ น้ำมาออกรายการโทรทัศน์ และโชนมาสารภาพรักน้ำกลางรายการ - Happy Ending ซะงั้น!!

การจบแบบนี้คือการทำลายประเด็นที่หนังสร้างมาทั้งหมด!!!

เพราะนั่นหมายความว่า โศกนาฏกรรมความรักของน้ำและโชนที่ผ่านมาทั้งหมดในเรื่องเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์ เพราะไม่สามารถทำให้ตัวเองก้าวผ่าน Coming of Age ของตนเองได้ ว่าง่าย ๆ คือทั้งสอง "ไม่เติบโต" หรือ "ไม่ได้เรียนรู้" อะไรบางอย่างจากประสบการณ์ครั้งนั้น แต่กลับยังฝังใจและยังรอให้ความรักเปลี่ยนจากโศกนาฏกรรมเป็นความสุข นั่นคือจิตใจไม่ได้รับการชำระล้าง (catharsis) จากโศกนาฏกรรม ทั้งสองจึงไม่ได้ก้าวผ่านเทพนิยายมาสู่ชีวิตจริง และก้าวผ่านวัยเพ้อฝันหวานซึ้งอย่างวัยรุ่น แต่กลับติดอยู่ในโลกของเทพนิยายทั้งที่เติบโตขึ้นจนเป็นผู้ใหญ่แล้ว

การจบแบบนี้คงไม่มีอะไรมากไปกว่าวิธีคิดในการทำหนังของนายทุน ครั้งหนึ่งผมเคยฟังคุณวิทิต คำสระแก้ว ผู้กำกับเรื่อง "กั๊กกะกาวน์" และ "เขาชนไก่" พูดถึงการเสนองานให้นายทุนฟังว่า นายทุนเขาจะคำนวณความคุ้มค่าด้วยหลักคิดง่าย ๆ เช่น เรื่องเขาชนไก่ เป็นหนังวัยมัธยม เขาก็จะคำนวณจากจำนวนเด็กมัธยมในขณะนั้น!? เนื่องจากเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่จะมาดู (ง่ายไปไหมนี่) นั่นคือ ถ้าหนังมีความเฉพาะด้านใด เขาก็จะคำนวณจากความเฉพาะด้านนั้น คงจะเช่นเดียวกับเรื่องสิ่งเล็กเล็กฯ นี้ ที่เป็นภาพยนตร์วัยมัธยม ดังนั้นกลุ่มเป้าหมายหลักน่าจะเป็นเด็กมัธยม

ดังนั้นจึงส่งผลต่อมาว่า หากจะให้จบแบบโศกนาฏกรรม คงไม่ถูกใจผู้ชมภาพยนตร์วัยเด็กเท่าไหร่ เพราะเด็กคงไม่คิดเยอะเหมือนผม (ฮา) จึงต้องปรับเปลี่ยนให้เป็น Happy Ending แบบฝัน ๆ ไปเสียในตอนท้าย ซึ่งก็น่าจะได้ผล เพราะพอออกมาจากโรง มีแต่คนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า "จบดีจัง" "จบซึ้งจัง" คงมีแต่ผมที่หดหู่อยากปาหมอนอยู่คนเดียว เหอะ ๆ (คงจะเหมือนตอนจบของ กวน มึน โฮ ที่ดูในวันเดียวกัน คนในโรงบ่นอุบว่า ทำไมจบแบบนี้ จบไม่ดีเลย แต่ผมกลับเห็นว่า จบดีชะมัด!)
..................................

บทส่งท้าย

หากไม่นับข้อเสียที่พูดมา ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็นับว่าเป็นภาพยนตร์ที่ยอดเยี่ยมเรื่องหนึ่ง ฉากหน้าเป็นภาพยนตร์รักวัยใส แต่ในเนื้อหากลับมีประเด็นให้ขบคิดมากมาย อันที่จริงผมยังหลงเหลืออีกหลายประเด็นที่ยังไม่ได้พูดถึง เช่น เรื่องเพื่อนมัธยม (เพื่อนสาวของน้ำ) เรื่องมุมมองต่างผ่าน Gender ที่ต่างกัน แต่แค่นี้ก็นับว่าเยอะ และเพียงพอในการกล่าวถึงความรู้สึกดีที่มีต่อหนังเรื่องนี้แล้ว

และทำให้เห็นว่าคนไทยนั้นมีศักยภาพและความคิดที่เจ๋งพอจะทำหนังไทยดี ๆ ได้อยู่จริง ๆ เพียงแต่หลายต่อหลายเรื่อง ความสมบูรณ์ของหนังได้ถูกทำลายไปด้วยวิธีคิดของนายทุนที่ดูถูกคนดู และคิดแต่จะขายสิ่งที่ขายง่าย ๆ เพียงอย่างเดียว

จึงได้แต่หวังลม ๆ แล้ง ๆ ว่าในอนาคตจะมีนายทุนหนังที่มีหัวคิดพอ และเห็นคุณค่าของหนังไทยว่าไม่ใช่เป็นเพียง "สินค้า" แต่คือ "งานศิลปะ"


วุฒินันท์ ชัยศรี
๒๖/๐๘/๒๐๑๐

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น