วันจันทร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ขุนช้างขุนแผน สำนวนครูแจ้ง

หากยังจำกันได้ในค่าย IBook2 ผมได้อ่าน "บทอัศจรรย์" ของขุนช้างขุนแผน สำนวน "ครูแจ้ง" ให้หลาย ๆ คนฟัง ซึ่งปฏิกิริยาหลังได้ฟังแล้ว... คงไม่ต้องสาธยายมาก ^_^

นั่นคือสำนวนแบบชาวบ้านของแท้ โลดโผน เห็นภาพ และใช้สัญลักษณ์อย่างชาญฉลาดที่สุด แม้แต่เรื่อง "โจ๋งครึ่ม" โต้ง ๆ ขนาดนี้ ยังเขียนออกมาเป็นกลอนได้อย่างไพเราะและลงตัว

น่าเสียดายที่อาจจะโลดโผนเกินไปในสายตาของผู้ชำระ เมื่อรวบรวมเข้าเป็นฉบับหลวง จึงต้องตัดออกไป เรา ๆ ท่าน ๆ เลยได้อ่านแต่ฉบับที่สวยงาม ขาวสะอาด แม้จะมีคำโลดโผนโผล่มาบ้างก็แค่พอวับ ๆ แวม ๆ อาทิ บทอัศจรรย์ระหว่างพลายแก้วกับสายทอง (พี่เลี้ยงนางพิม) ที่ว่า

๏ พลางเป่าปัถมังกระทั่งทรวง
สายทองง่วงงงงวยระทวยนิ่ง
ทำตาปริบปรอยม่อยประวิง
เจ้าพลายอิงเอนทับลงกับเตียง

๏ ค่อยขยับจับเลื่อนแต่น้อยน้อย
ฝนปรอยฟ้าลั่นสนั่นเปรี้ยง
ลมพัดซัดคลื่นสำเภาเอียง
ค่อยหลีกเลี่ยงแล่นเลียบตลิ่งมา

๏ พายุหนักชักใบได้ครึ่งรอก
แต่เกลือกกลอกกลับกลิ้งอยู่หนักหนา
ทอดสมอรอท้ายเป็นหลายครา
เภตราหยุดแล่นเป็นคราวคราว

๏ สมพาสพิมดุจริมแม่น้ำตื้น
ไม่มีคลื่นแต่ระลอกกระฉอกฉาว

 ปะสายทองดุจต้องพายุว่าว
พอออกอ่าวก็จมล่มลงไป


เรือน้อยลำนั้นคงเจอพายุหนักไปหน่อย เลยล่มที่ปากอ่าวซะงั้น (ฮา)

แต่ฉบับหลวงก็จะประมาณนี้ครับ มีวับ ๆ แวม ๆ ให้หัวใจตึ๊กตั๊กเล่น แต่นอกนั้นก็ไม่มีอะไร ประเดี๋ยวจะไม่ได้เป็น "ยอดแห่งกลอนสุภาพ" นัยว่าคงต้องสุภาพไว้ เพื่อให้เด็ก ๆ อ่านแล้วใจไม่แตกไปเสียก่อน

แต่เมื่อพูดถึงฉบับชาวบ้าน แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่ขับกันแบบเอาฮา และมุกของชาวบ้านส่วนมากก็จะพูด "เรื่องอย่างว่า" อย่างโจ่งแจ้ง เพราะเป็นมุกที่เรียกเสียงฮาได้ตลอดเวลา และฮามาก ไม่เชื่อไปฟังเวลาชาวบ้านเล่นเพลงปฏิพากษ์ หรือไม่ต้องไปหาไกล ตลกคณะเสียงอีสานนี่แหละ ชุดไหนก็ได้ ดูได้เลย ชุดไหนไม่มีมุกสองแง่สองง่าม ผมยอมให้อมขี้หมามาพ่นใส่หน้าผมได้เลย และมุกพวกนี้ถือเป็นมุกที่ฮาสุด ๆ เสียด้วย

นี่ก็เรืออีกเหมือนกัน มาเจอสำนวนครูแจ้งกันหน่อย (บทนี้แหละครับที่อ่านในค่าย)

๏ เกิดพยับพยุห์พัดอัศจรรย์
สลาตันเป็นละลอกกระฉอกฉาน
ทะเลลึกดังจะล่มด้วยลมกาฬ
กระทบดานกระแทกดังกำลังแรง

๏ สำเภาจีนเจียนจมด้วยลมซัด
สลุบลัดเลียบบังเข้าฝั่งแฝง
ไหหลำแล่นตัดแหลมแคมตะแคง
ตลบตะแลงเลาะเลียบมาตามเลา


๏ ถึงปากน้ำแล่นส่งเข้าตรงร่อง
ให้ขัดข้องแข็งขืนไม่ใคร่เข้า

ด้วยร่องน้อยน้ำอับคับสำเภา

ขึ้นติดตั้งหลังเต่าอยู่โตงเตง


๏ พอกำลังลมจัดพัดกระโชก
กระแทกโคกกระท้อนโขดเรือโดดเหยง

เข้าครึ่งลำหายแคลงไม่โคลงเคลง

จุ้นจู๊เกรงเรือหักค่อยยักย้าย

๏ ด้วยคลองน้อยเรือถนัดจึงขัดขึง
เข้าติดตึงครึ่งลำระส่ำระสาย
พอชักใบขึ้นกบรอกลมตอกท้าย

ก็มิดหายไปทั้งลำพอน้ำมา


๏ พอฝนลงลมถอยเรือลอยลำ
ก็ตามน้ำแล่นล่องออกจากท่า
ทั้งสองเสร็จสมชมชื่นดังจินดา
ก็แนบหน้าผาสุขมาทุกวัน

เป็นไงครับ อึ้ง ทึ่ง สยิวกิ้วกันไหม เอ... นี่เขาพูดถึงการแล่นเรือนี่นะ อิอิ ขอบอกว่า ต่อให้คนที่ไม่มีความลามกติดตัว อ่านแล้วก็ยังพอจะรู้ครับว่าเป็นเรื่องของ "การแล่นเรือ" จริง ๆ ส่วนคนที่มีความลามกติดตัวอยู่บ้าง อ่านแล้วฮาก๊ากแน่นอน โดยเฉพาะคนที่มีคลังศัพท์ทำนองนี้ในสมอง เพราะ "ครูแจ้ง" เล่นเอามาพูดเสียแพรวพราว ได้อารมณ์ "การแล่นเรือ" จริง ๆ

นี่แหละครับคือ "เสภา" สำนวนชาวบ้าน ที่ขับกัน เล่นกันแบบไม่ต้องไว้มาดผู้ดี ก็เป็นผู้ดีแล้วขำก๊ากไม่ได้นี่นา (ตามทฤษฎีรสของสันสกฤตเขาว่าไว้อย่างนั้น)

อ่านมาถึงตอนนี้ หลายคนคงอยากรู้ว่า "ครูแจ้ง" คือใคร?

กล่าวสั้น ๆ คือครูเพลงที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เดิมโด่งดังในการเล่นเพลงพื้นบ้าน หันมาเล่นเสภาในปลายสมัยรัชกาลที่ ๓ และมีชื่อเสียงในด้านเสภาช่วงสมัยรัชกาลที่ ๔ ดังนั้น ลีลากลอนเสภาของครูแจ้งจึงกระเดียดไปทางเพลงยาวสองแง่สองง่าม สำนวนถึงพริกถึงขิงถูกใจชาวบ้านยิ่งนัก สำหรับประวัติยาวกว่านี้ก็ไปหาอ่านใน "ตำนานเสภา" พระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพต่อละกันครับ

แน่นอนว่าสำนวนครูแจ้งนั้น หลายสำนวนโลดโผน ลือเลื่องกระเดื่องไปทั่วแผ่นดิน แต่บางครั้งคนในวังก็มองว่า "หยาบ" ไปหน่อย จึงไม่ได้รวมเข้าฉบับหลวง แต่ก็ใช่ว่าฉบับที่อ่านกันอยู่ไม่มีสำนวนครูแจ้ง เพราะมีหลายตอนที่ครูแจ้งแต่งได้ดีเยี่ยม โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับไสยศาสตร์ เครื่องรางของขลัง เรื่องทำนองนี้ในขุนช้างขุนแผนฉบับหลวง ส่วนมากเป็นฝีมือครูแจ้งทั้งสิ้น เช่นตอนตีดาบฟ้าฟื้น

๏ จะจัดแจงตีดาบไว้ปราบศึก
ตรองตรึกหาเหล็กไว้หนักหนา
ได้เสร็จสมอารมณ์ตามตำรา
ท่านวางไว้ในมหาศาสตราคม

๏ เอาเหล็กยอดพระเจดีย์มหาธาตุ
ยอดปราสาททวารามาประสม
เหล็กขนันผีพรายทั้งตายกลม
เหล็กตรึงโลงตรึงปั้นลมสลักเพชร

และเหล็กอื่น ๆ อีกกว่าสิบชนิด พร้อมวิธีตีดาบอย่างละเอียด ไปหาอ่านเพิ่มเติมได้ในฉบับหลวงครับ

สำนวนครูแจ้งเป็นที่นิยมเช่นนี้เพราะครูแจ้งแต่งได้กระชับและเห็นภาพ คือ "ถึง" แต่สำนวนของครูแจ้งบางครั้งดู "ซาดิสม์" ไปหน่อย เช่นตอนขุนแผนฆ่านางบัวคลี่ทำกุมารทอง

๏ เอามีดคร่ำตำอกเข้าต้ำอัก

เลือดทะลักหลวมทะลุตลอดสัน

นางกระเดือกเสือกดิ้นสิ้นชีวัน

เลือดก็ดั้นดาษแดงดังแทงควาย


๏ แล้วผ่าแผ่แล่แล่งตลอดอก

แหวะหวะฉะรกให้ขาดสาย

พินิจแน่แลเห็นว่าเป็นชาย
ก็สมหมายดังใจไม่รั้งรอ

อืยยยส์... โหดจนเห็นภาพจริง ๆ แต่ถ้าไม่ได้อารมณ์แบบนี้ ก็คงไม่ใช่ "ครูแจ้ง" แน่นอน

นอกจาก "เรื่องแล่นเรือ" เรื่องไสยศาสตร์ของขลัง กับเรื่องซาดิสม์ ครูแจ้งก็ยังเขียนเรื่องอื่น ๆ รวมถึงเรื่อง "สองแง่สองง่าม" ไว้อีกหลายสำนวน แต่หลายบทถูกตัดออกจากสำนวนหลวงเพราะ "ทะลึ่ง" เกินไป แต่ถึงกระนั้นก็เถอะ ผมเชื่อ (อย่างเหลือเกิน) ว่า คนไทยชอบนักแหละเรื่องแบบนี้ พอตัดออกไป รสมันส์ ๆ ในวรรณคดีก็จืดจางลงไปนิด ผมจะยกตัวอย่างมาสักหน่อยพอให้ครึกครื้น โดยยกมาจาก "ขุนช้างขุนแผนฉบับอ่านใหม่" ของ ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านพูดถึงตอนนางศรีประจันอบรมนางพิม ก่อนจะส่งตัวเข้าหอ สำนวนหลวงดูเป็นการอบรมธรรมดา ๆ แต่ลองดูสำนวนครูแจ้งกัน

๏ งามปลื้มอย่าลืมแม่สอนสั่ง
อุตส่าห์ฟังจำไว้ให้ถ้วนถี่
อันการปรนนิบัติของสตรี
เมื่อทำดีแล้วชายไม่หน่ายใจ

๏ สู้ถ่อมตัวปรนนิบัติคอยจัดแจง
เมื่อเขาแข็งแล้วอย่าขัดอัชฌาสัย

รู้จิตผัวว่าสมัครรักเท่าไร
ก็ยักย้ายส่ายให้ถูกใจกัน


หึ หึ... คงไม่ต้องอธิบายมั้งครับสำหรับบทนี้

ลองดูอีกสักบทหนึ่งตอนที่สอนให้ทำกับข้าวเอาใจสามี คุณแม่ก็แสนดีบอกสูตรอาหารเด็ดให้เหมือนในฉบับหลวง คือมีต้มตีนหมู ไข่ไก่สด และปลาไหลต้มยำ แต่ที่แถมมาต่างกับฉบับหลวงคือ "สรรพคุณ" ของกับข้าวว่าดีเหลือหลาย

๏ อุตส่าห์จำทำให้ผัวกินลอง
ล้วนแต่ของมีกำลังทั้งสามสิ่ง
ทำให้กินเนืองเนืองเปรื่องขึ้นจริง
ทุกสิ่งของแท้เป็นแน่นอน

๏ ทำให้กินทุกวันหมั่นสำเหนียก
แม้อ่อนเปียกก็จะแข็งเป็นไม้ท่อน

พอตกค่ำขึ้นท้ายไม่หลับนอน

พายเรือคอนเหยาะเหยาะจนเคาะระฆัง


หึ หึ... เป็นอีกบทที่คงไม่ต้องอธิบาย เชื่อว่าผู้ที่มีความสัปดนอยู่ในหัวใจเล็ก ๆ คงจะขำกิ๊กได้บ้าง

ทุกวันนี้เด็กไทยไม่ชอบอ่านวรรณคดี อาจเป็นเพราะอ่านยาก แต่ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะเรื่องราวในฉบับหลวงหรือที่สอน ๆ กันในหลักสูตรอาจจะราบเรียบไปหน่อย ผมคิดว่าหากเด็ก ๆ (ที่อาจจะโตแล้วสักหน่อยก็ได้เอ้า) ที่ชินชากับสำนวน "คุณหนู" ในรั้วโรงเรียน มีโอกาสได้อ่านสำนวน "ทะลึ่ง" ของชาวบ้าน ที่ถูกจริตของคนไทยแบบนี้ ไม่แน่ว่าอาจจะ "ติดใจ" และเผลอตกหลุมรักวรรณคดีไทยโดยไม่รู้ตัวอย่างผมก็ได้

2 ความคิดเห็น:

  1. บทอัศจรรย์ ว่าด้วยเรื่องเพศในสังคมไทย
    ต่ายว่าน่าขันดีนะ เอาเข้าจริงเรื่องเพศก็เป็นเรื่องธรรมดา ที่ชาวบ้านสมัยก่อน หรือในชนบทเห็นว่าเป็นปัจจัยหนึ่งของชีวิตแหละ
    เหมือนกิน นอน มันขาดไม่ได้ ...
    แต่พอมายุคหนึ่ง เราก็เห็นว่าเรื่องเพศเป็นสิ่งไม่สุภาพ หยาบคาย
    เพื่อพยายามทำให้ตัวเองดูมีอารยะ มีวัฒนธรรม ไม่ป่าเถื่อนก็เท่านั้น
    จริงหรอ....
    ยิ่งเราปกปิดแสร้งทำว่า ไม่เคยสัมผัสมันในชีวิต ก็เหมือนกับว่า
    เราบ้าไปกันใหญ่เนาะ
    วัฒนธรรมหลวงบางทีลดทอนวัฒนธรรมราษฎร์ ไปอย่างน่าเสียดาย ตัดรากอะไรบางอย่างแยกออกไปจากตัว เหมือนกับการตั้งชื่อให้กับอำเภอทางภาคอีสานอย่างหมดจดงดงามก็เช่นกัน...

    (Rabbit)

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. เปนเพราะวัฒนธรรมวิคเตอเรียนครับ
      ซึ่งเข้ามาในราวรัชกาลที่3-4
      วัฒนธรรมนี้สอนให้รักนวลสวนตัว
      เรื่องเพศเปนเรื่องน่ารังเกียจ
      ค่านิยมนี้จึงติดมาในปัจจุบันครับ

      ลบ