วันอังคารที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2556

6 สิ่งที่ได้เรียนรู้หลังการบริจาคเลือดที่สภากาชาดมานานนับปี

1. แผลที่เจ็บที่สุดในการบริจาคเลือดไม่ใช่แผลตรงข้อพับ แต่เป็นแผลตรงปลายนิ้วตอนที่เจาะทดสอบว่าเลือดไม่ลอย จึ๋งเดียวเจ็บจี๊ด ซี้ดส์ถึงขั้วหัวใจ

2. การเล่นกีตาร์เป็นประจำทำให้นิ้วด้านจนเจาะปลายนิ้วข้างซ้ายไม่ได้

3. มีความเชื่อว่าควรบริจาคเลือดด้วยแขนข้างไม่ถนัด เพราะถ้าบริจาคข้างถนัด เวลาใช้แขนข้างถนัดทำงานคงเจ็บแผลลำบากน่าดู ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะแขนซ้ายของผมก็ยังทำงานได้ปกติไม่เจ็บแผลแต่อย่างใด แต่ถ้าถามว่าทุกครั้งคนถนัดขวาอย่างผมไปต่อคิวบริจาคข้างไหน ก็ข้างซ้ายสิแหม่ (อ้าว 55)

4. ว่าด้วยอุปกรณ์ประกอบการปั๊มเลือด สภากาชาดให้กำแท่งอะไรไม่รู้ไม่มันเบย สู้ลูกบอลหยุ่นๆ ที่ศิริราชไม่ได้

5. ป้าในห้องแจกขนมมักจะมาพร้อมเรื่องเล่าที่มีเป้าประสงค์ให้เรากินน้ำหวานและขนมเยอะๆ เช่นว่า "วันก่อนนะคนนึงยังหนุ่มแน่น ออกมาจากห้องไม่ยอมกินน้ำหวาน บอกไม่เป็นไรๆ พ้นจากประตูห้องเท่านั้นแหละล้มตึง" ไม่รู้จริงรึเปล่า แต่เรารู้ว่าป้าหวังดีเลยขอสองชุดทุกที

6. คนกลัวเข็มอย่างผมก็บริจาคเลือดได้ ถ้ามีแรงบันดาลใจมากพอ และไม่กลัวเสียฟอร์มเวลามือสั่นหลับตาปี๋ทุกครั้งตอนโดนเข็มทิ่ม

วันจันทร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2556

Like Father, Like Son / Catching Fire : โครงสร้างเปราะบางรอเวลาล่มสลาย




(เปิดเผยเรื่องราวในภาพยนตร์เรื่อง Like Father, Like Son และ The Hunger Game: Catching Fire)

สองเรื่องสองรสในวันเดียวกัน แต่น่าแปลกที่กลับเห็นอะไรบางอย่างร่วมกันอยู่

ว่าด้วย Like Father, Like Son เสียก่อน ก็ถึงว่าทำไมกลิ่นของ Nobody Knows มันแรงซะจนรู้สึกได้ เดินมาดูโปสเตอร์หน้าโรงถึงเพิ่งรู้ว่าที่แท้ก็เป็น Hirokazu Kore-eda ผู้กำกับคนเดียวกันนี่เอง ด้วยสไตล์การเล่าเรื่องเนิบช้าไม่มีจุดพีกเหมือนไม่อยากเล่าเรื่อง (ฮา) แต่ให้คนดูซึมซับกับความรู้สึกแบบ "แช่อิ่ม" ไปตามภาพโทนนวลตา และเสียงเพลงประกอบนุ่มหู ซึ่งไม่เหมาะเลยกับเด็กที่โตมากับทุนนิยมอย่างเราผู้ชมชอบหนังที่ตัดชั้บชั้บให้ตื่นเต้นและรวดเร็วเพื่อเพิ่มรอบฉาย (ฮา) ถ้าไม่คิดว่ามันเป็นสไตล์ผู้กำกับที่ชอบเล่าเรื่องเนิบ ๆ อาจจะคิดไปได้ว่า Hirokazu เกลียดเจ้าทุนนิยมมากถึงขนาดเอาความเนิบช้าซึ่งเป็นปฏิปักษ์ของทุนนิยมมาใช้ในหนังที่เสนอแนวคิดต้านทุนนิยมทั้งเรื่องนี้และ Nobody Knows ก็เป็นได้ (ฮา อ้าว ไม่ฮาเหรอ)

จะว่าไป Like Father, Like Son ก็คล้าย ๆ จะเป็นภาคต่อของ Nobody Knows แต่คราวนี้ขยับขยายมาเล่าเรื่องของครอบครัวที่เหมือนจะสมบูรณ์พร้อมกันดูบ้าง กับพล็อตเรื่องแสนเชยหนังเกาหลีมาก ๆ อย่างการสลับลูกในโรงพยาบาล เอาลูกเขามาเลี้ยงเอาเมี่ยงเขามาอมอยู่ได้ตั้ง 6 ปีกว่า ๆ เหมือนคำถามสำคัญของหนังจากตัวอย่างหนัง หรือในบทวิจารณ์มากมายจะถามว่า คุณจะเลือกอะไรระหว่างสายเลือดกับความผูกพัน แต่ที่จริงแล้วนั่นน่าจะเป็นคำถามรอง ๆ ของหนังเรื่องนี้ด้วยซ้ำ เพราะการเดินเรื่องทั้งหมดของ Like Father, Like Son คือการสะท้อนภาพครอบครัวที่กำลังจะล่มสลายในอีกมุมหนึ่งต่อจาก Nobody Knows เมื่อสังคมญี่ปุ่นถูกขับเคลื่อนด้วยทุนนิยมเต็มรูปแบบ ใช่จะมีแต่บรรดาผู้แพ้เท่านั้นที่ถูกทิ้งไว้เป็นขยะอยู่เบื้องล่าง แม้แต่คนที่ยืนอยู่บนจุดสูงสุดของโลกทุนนิยมก็ไม่ควรลืมทบทวนตัวเองว่านี่คือชัยชนะแน่หรือ?

หนังให้ภาพของสองครอบครัวที่ต่างกันสุดขั้ว หนึ่งคือครอบครัวโนโนมิยะที่ดูเหมือนจะสมบูรณ์พร้อมทุกอย่างในความหมายของโลกทุนนิยม ด้วยภาพของคอนโดสุดหรู เดินทางด้วยรถสุดเริ่ด (ภาษีรถยนต์ส่วนตัวในญี่ปุ่นแพงมาก ใช่ว่าใครจะมีรถยนต์ไว้ขับได้ง่าย ๆ แถมยังเป็นรถ Lexus อีกตะหาก ไม่ใช่ระดับ CEO หรือพวกประธานบริษัทรสนิยมสุดหรูนี่นั่งไม่ได้นะฮะ 55) ลูกชายสุดที่รักสอบเข้าโรงเรียนดี ๆ แถมยังให้เรียนพิเศษเปียโนแบบไฮโซ ๆ ทว่าเมื่อมารู้ทีหลังว่าแท้จริงแล้วเคตะ ลูกที่พวกเขาเลี้ยงมา 6 ปีไม่ใช่ลูกของเขา และลูกแท้จริงของเขาชื่อริวเซ อยู่กับครอบครัวไซกิ เจ้าของร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้ากระจอก ๆ ในชนบท เรียวตะ โนโนมิยะผู้มีชีวิตเพอร์เฟคในโลกทุนนิยมถึงกับทนยอมรับความจริงไม่ได้ ตลอดเวลาเขามักจะมองครอบครัวไซกิด้วยสายตาหมิ่นหยามตลอดเวลา พาลพาโลคิดเอาว่าครอบครัวนี้ไม่มีปัญญาจะเลี้ยงลูกของเขาให้กลายมาเป็นคนดีได้ เรียวตะถึงขนาดเสนอว่าจะรับเลี้ยงเด็กทั้งสองคนเองโดยให้เหตุผลว่า "เพื่ออนาคตของเด็ก" ซึ่งเมื่อโดนหยามแบบนี้ มีหรือครอบครัวไซกิจะทนได้ แต่คำพูดของเรียวตะที่ดูถูกครอบครัวไซกิไว้ก็กลับมาทำร้ายตัวเขาเองเมื่อวันหนึ่งริวเซหนีออกจากคอนโดสุดหรูกลับมายังบ้านร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้ากระจอก ๆ ซึ่งดูจะเป็น "ที่พึ่งทางใจ" ของเด็กน้อยได้มากกว่า ครอบครัวไซกิได้ทีจึงใช้คำพูดของเรียวตะเองสวนกลับเขาไปว่า เดี๋ยวจะรับเลี้ยงไว้ทั้งสองคนเอง ชายหนุ่มผู้เคยชนะมาตลอดจึงต้องทบทวนตัวเองอีกครั้ง

ครอบครัวโนโนมิยะที่มีเรียวตะเป็นผู้นำ คือภาพของครอบครัวสมัยใหม่ในโลกของทุนนิยมเต็มรูปแบบ เรียวตะคือสถาปนิกหนุ่มอนาคตไกลผู้บันดาล House อันสวยงามได้แต่กลับไม่มีปัญญาจะเติมความอบอุ่นในซากของ House ให้กลายเป็น Home ได้ เห็นได้จากฉากแรก ๆ ที่เขาให้คำแนะนำรุ่นน้องเพื่อนสร้างแบบร่างชุมชนที่สมบูรณ์แบบ เขากำหนดแสงและองค์ประกอบทุกอย่างในแบบร่าง เช่นว่าตรงนี้ควรมีคนมาเดินออกกำลังกายหรือจูงหมาน่ารัก ๆ เพื่อให้รู้สึกถึงความอบอุ่น สำหรับเขาแล้ว ส่วนต่าง ๆ ในบ้านเป็นแค่องค์ประกอบที่ทำให้ความหมายของคำว่าบ้านเดินไปตามทฤษฎีเท่านั้น คุณยายของเคตะและครอบครัวไซกิยังพูดตรงกันโดยมิได้นัดหมายว่าบ้านของเรียวตะนั้นเหมือนโรงแรมมากกว่าบ้าน นั่นคือเป็นห้องที่เหมาะจะมาพักชั่วครั้งชั่วคราว แต่ไม่เหมาะแก่การหยั่งรากชีวิต เช่นเดียวกับทุนนิยมที่พยายามลิดรอนอัตลักษณ์ให้เรา "ไร้รากเหง้า" มากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อจะหาวัตถุต่าง ๆ มาบริโภคเพื่อยึดเหนี่ยวหรือเติมเต็มจิตใจ

ทุกครั้งเมื่อเรียวตะกระแนะกระแหนครอบครัวไซกิเรื่องความขาดแคลนทางวัตถุ คำพูดนั้นก็มักจะเป็นหอกที่กลับมาทิ่มแทงตัวเขาเองว่าขาดแคลนสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจมากเพียงใด เช่นในฉากที่เคตะเล่าว่าไซกิ ยูดาอิ หรือไซกิผู้พ่อนั้นซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นทุกอย่าง เรียวตะจึงสวนไปว่า "อย่าลืมไปบอกเค้าซ่อมฮีตเตอร์ด้วยล่ะ" แต่เรียวตะอาจจะลืมไปว่าต่อให้ครอบครัวไซกิไม่มีฮีตเตอร์ แม้อากาศจะหนาวแต่บรรยากาศในบ้านก็อบอุ่น ไม่เหมือนฮีตเตอร์ราคาแพงของเรียวตะที่อาจให้อากาศอบอุ่น แต่บรรยากาศในบ้านหนาวเหน็บสิ้นดี

ความสามารถใน "การซ่อม" (Fixed) ของครอบครัวไซกิยังไม่ได้อยู่ที่การซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าเท่านั้น ฉากหนึ่งที่ไซกิ ยูคาริเดินผ่านมาเห็นเคตะนั่งซึมอยู่มุมหนึ่งของบ้าน เธอจึงเข้าไปถามด้วยความห่วงใย ก่อนจะพูดว่า "แบบนี้ต้องซ่อมเธอแล้ว" โดยการจี้เส้นให้เคตะกลับมาหัวเราะสนุกสนานดังเดิม คำว่าการซ่อม ไม่ว่าใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือมนุษย์ ล้วนสวนทางกับวิถีบริโภคนิยมที่มุ่งเน้นให้คนบริโภคทรัพยากรมาก ๆ หากเกิด "สิ่งชำรุด" ขึ้น แทนที่มนุษย์สมัยใหม่จะเลือกซ่อม พวกเขากลับเลือก "ซื้อใหม่" หรือหาสิ่งใหม่ ๆ ที่ดีกว่าเดิมเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด จึงไม่น่าแปลกใจที่เรียวตะอุทานออกมาอย่างไม่ตั้งใจว่า "มิน่าล่ะ เขา (เคตะ) ถึง..." (ถึงไม่มีความสามารถ/พรสวรรค์เหมือนเรา?) เมื่อได้รู้ความจริงว่าเคตะไม่ใช่ลูก จึงสะท้อนความคิดในระดับจิตสำนึกของเรียวตะว่าไม่ได้มองเคตะในฐานะลูก หรือแม้แต่ในฐานะมนุษย์ด้วยซ้ำ ทว่ามองในฐานะวัตถุชิ้นหนึ่งที่จะมาเติมเต็มให้ชีวิตเขาสมบูรณ์แบบ แต่เคตะกลับเป็น "วัตถุชำรุด" ที่ทำให้ชีวิตเขาต้องแปดเปื้อนความล้มเหลว โดยที่เขาไม่สนใจจะ "ซ่อม" หรือดูแลความรู้สึกของเคตะในฐานะมนุษย์ด้วยซ้ำ แม้สุดท้ายเรื่องอาจจะจบอย่างสุขสันต์ แต่สำหรับเรียวตะที่เติบโตมาในโลกที่ซึมซับทุนนิยม/บริโภคนิยมเข้าไปอย่างเข้มข้น ในภายหลังเมื่อเรื่องเดินทางกลับมาที่จุดเดิม เคตะจะยังถูกมองเหมือนวัตถุที่ชำรุดอีกหรือไม่

ประเด็นอันแหลมคมของสังคมทุนนิยมยังสอดแทรกอยู่ในอีกหลายฉาก แต่ไม่มีฉากไหนจะเสียดสีได้รุนแรงและเจ็บแสบเท่าฉากที่เรียวตะพยายามสร้างบรรยากาศในบ้านให้อบอุ่น แต่พี่แกก็เล่นซื้อชุดแคมป์ปิ้งมาตั้งแคมป์ในคอนโด! ตกปลาบนฟ้า นอนเต้นท์ซึ่งกางอยู่ในคอนโดเปิดแอร์เย็นสบาย (แหมทุนนิยมนี่มันสบายจริง ๆ นะเทอว์) ยิ่งฉากนี้วางอยู่ท้ายเรื่อง บวกกับการพยายามสร้างให้ฉากนี้เหมือนเป็น "ฉากที่มีความสุข" ด้วยเพลงอบอุ่น ๆ ภาพสโลว์ให้เห็นรอยยิ้ม ยิ่งขับเน้นให้เห็น "ความสุข" ที่สุดแสนจอมปลอมมากขึ้น และเห็นจุดจบอันแสนสิ้นหวังของเรียวตะและครอบครัวโนโนมิยะมากขึ้น

ส่วนครอบครัวไซกิเองแม้จะให้เป็นภาพแทนครอบครัวบ้านนอกที่เต็มไปด้วยความรักความอบอุ่น มีเวลาแสดงความรักแก่ลูก ๆ เต็มที่ และยังไม่ถูกทุนนิยมแปดเปื้อนมากนัก ประหนึ่งเป็นครอบครัวตัวอย่างที่ให้เรียวตะได้เรียนรู้การเป็นพ่อคนและการปฏิบัติกับคนอื่นอย่างมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน แต่ก็ใช่ว่าครอบครัวไซกิจะบริสุทธิ์เป็นพ่อพระไปเสียทั้งหมด เพราะยูดาอิเองก็ยังตาลุกวาวเมื่อเห็นช่องทางฟ้องร้องเพื่อจะได้เงินจำนวนมาก หรือตื่นเต้นกับอาหารราคาแพง หรือคำพูดของเขาที่ว่า "ถ้าจะแสดงความจริงใจก็ต้องจ่ายด้วยเงิน" ซึ่งก็ไม่ต้องตีความอะไรอีก รวมถึงตัวละครอื่น ๆ เช่นนางพยาบาลคนสลับลูกที่ก่อเหตุเพราะความอิจฉาในความร่ำรวยเพียบพร้อมของครอบครัวโนโนมิยะ นั่นคือไม่ว่าจะดีหรือเลวแค่ไหน ทุกคนก็ดูเหมือนจะอยู่ในวังวนทุนนิยมไม่ต่างกัน สุดท้ายแล้วการจบที่เหมือนจะแฮปปี้ ทว่าซุกขยะไว้ใต้พรมของหนังเรื่องนี้ก็ดูเหมือนจะเป็นบทสรุปที่ผู้กำกับอยากจะถามทิ้งท้ายไว้ว่า เราจะอยู่กันแบบนี้ต่อไปจริง ๆ หรือ

ไม่แน่ว่าที่สุดแล้ววันหนึ่ง ครอบครัวโนโนมิยะที่ดูเหมือนจะสมบูรณ์พร้อมในโลกทุนนิยม ทว่าโครงสร้างภายในเปราะบางอย่างยิ่ง อาจจะต้องถูกบีบให้จนตรอกและนำไปสู่บทสรุปอันแสนเศร้าไม่ต่างจากครอบครัวที่แตกร้าวในจุดต่ำสุดของโลกทุนนิยมเลย ดังที่ผู้กำกับได้กล่าวไว้ในฉากที่โนโนมิยะ มิโดริ ไปรับเคตะกลับมาที่บ้าน เธอชวนลูกว่าเราหนีไปจากที่นี่เถอะ เมื่อเคตะถามว่าไปไหน เธอบอกว่าไปใน "ที่ที่ไม่มีใครรู้จัก" (Nobody Knows) เสมือนหนึ่งเป็นการเกริ่นการณ์ (foreshadow) ว่า หากเรายังอยู่กันไปแบบนี้ ไม่ช้าทุนนิยมจะพาสังคมญี่ปุ่นไปสู่จุดจบแบบเดียวกับใน Nobody Knows ภาพยนตร์โศกนาฏกรรมเรื่องเก่าของเขา ไม่ว่าจะเป็นคนที่อยู่ในจุดสูงสุดหรือต่ำสุดของทุนนิยมก็ตามที

-----------------------------------

ส่วน The Hunger Game: Catching Fire ภาคต่อของ The Hunger Game อันนี้ก็คงไม่ต้องตีความสัญลักษณ์มากมาย เพราะมันก็บอกโต้ง ๆ อยู่แล้วว่าเรากำลังสู้กับระบบของอะไร ไม่ว่าจะเป็นการใส่ฉากความแร้นแค้นของเขตบ้านนอกต่าง ๆ สลับกับฉากการกินให้อ้วกของพวกชนชั้นสูงเพื่อจะกินต่อ เหมือนฉายภาพสังคมฝรั่งเศสก่อนการเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศสอะไรทำนองนั้น ส่วนฉากที่อลังการที่สุดคือฉากการยิงธนูขึ้นฟ้าของแคทนิส เป็นสัญลักษณ์การลุกฮือต่อระบบของผู้ถูกกดขี่ โหมโรงก่อนการปฏิวัติได้อย่างสุดยอดและสมบูรณ์แบบ ภาคนี้คือการขมวดปมของเกมล่าชีวิตไปสู่การปฏิวัติและล้มล้างแคปิตอล ภายหลังฟันเฟืองชิ้นสุดท้ายของระบบการปฏิวัติมาถึง นั่นคือแคทนิส ผู้มีหน้าที่เป็น The Messiah หรือพระผู้ช่วยให้รอด หรือผู้ปลดปล่อย ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนลุกฮือขึ้นปฏิวัติ เช่นเดียวกับ The One อย่าง Neo ใน The Matrix น่าเสียดายว่าในหนังไม่ได้ให้รายละเอียดเรื่องสำคัญ ๆ ที่จะชวนให้เราเชื่อได้ว่าแคทนิสนี่แหละเหมาะสมที่สุดในการเป็นผู้ปลดปล่อย ไม่ว่าจะเป็นภูมิหลังของแคทนิส หรือความหมายของนกม็อกกิ้งเจย์ที่ชาวแคปปิตอลขยะแขยงนักหนา ฯลฯ เข้าใจว่าผู้กำกับคงอยากจะทำภาคแรกเพื่อขายแอ็คชั่นให้ดังติดตลาดไว้ก่อน เนื้อเรื่องบางส่วนจึงไม่ได้กล่าวถึง แต่จุดนี้ก็ย้อนมาทำร้ายการเล่าเรื่องในภาคสองอยู่พอสมควร

น่าสนใจว่าไม่ว่าจะเป็นแคทนิสหรือนีโอ ล้วนแต่เป็นผู้ปลดปล่อยที่ไม่ตระหนักรู้หรือไม่ยอมรับในความสามารถของตนเองมาก่อนว่าจะเป็นผู้นำการปฏิวัติได้ ทว่าด้วยกลไกหรือระบบบางอย่างก็ทำให้พวกเขากลายมาเป็นผู้ปลดปล่อยในที่สุดไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่ จึงน่าคิดว่าแท้จริงแล้ว "การปฏิวัติ" หรืออะไรก็ตามที่เป็นปฏิปักษ์ต่อทุนนิยม เป็นกลไกที่เกิดมาเพื่อต่อต้านระบบ หรือเป็นเพียงระบบย่อยระบบหนึ่งที่หลอกให้มนุษย์มีความหวังลม ๆ แล้ง ๆ ไปกับ The Messiah หรือ The Revolutionist เพื่อจะทนการกดขี่ของระบบใหญ่ที่ควบคุมเราอยู่ต่อไปได้ (มองในแง่นี้ หากเปรียบทุนนิยมเป็นศาสนา มันก็เป็นศาสนาที่ยิ่งใหญ่และทรงอำนาจที่สุดนับแต่โลกนี้ถือกำเนิดมา) ดังความจริงที่นีโอได้ค้นพบเมื่อเจอสถาปนิกแห่งเมทริกซ์ในภาค Reloaded (และก็ชวนคิดไปอีกว่า จะจบแบบเดอะเมทริกซ์ไตรภาคหรือเปล่า ไม่นะ!!!)

แต่ก็ใช่ว่าลำพังตัวแคทนิสเองจะก่อให้เกิดการปฏิวัติได้ ตัวระบบที่จวนจะพังมิพังแหล่นั่นก็เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาหนึ่งที่ทำให้เกิดการบ่อนทำลายขึ้นภายใน มีคนมากมายพร้อมจะทรยศหักหลัง ปธน. สโนว์ตลอดเวลา (ชื่อแกเหมือนสโนว์บอลล์ หัวหน้าหมูทรราชใน Animal Farm เลยนะ 55) เหมือนจะย้ำปรัชญาการปฏิวัติว่าความสำเร็จของการปฏิวัติไม่มีทางเกิดจากพลังบริสุทธิ์ของประชาชน แต่เกิดจากตัวระบบที่จวนเจียนจะพังและการบ่อนทำลายภายในเป็นปัจจัยสำคัญ เช่นเดียวกับการที่นีโอร่วมมือกับนครเครื่องจักรยุติสงคราม เพราะโปรแกรมนายสมิธเกิดปัญหาจนนครเครื่องจักรควบคุมไม่ได้ ดังที่แคทนิสพูดกับ ปธน.สโนว์ว่า "ระบบนั่นมันคงเปราะบางมากสินะ จึงล่มสลายได้ด้วยเบอร์รี่พิษเพียงไม่กี่ลูก"

ทั้ง Like Father, Like Son และ The Hunger Game: Catching Fire แม้จะกล่าวถึงเรื่องราวทุนนิยมในแง่มุมต่างกันไป แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นร่วมกันคือ "ความเปราะบาง" ของสังคมทุนนิยม แม้ว่าโครงสร้างภายนอกอาจจะดูทรงอำนาจมากกว่าโครงสร้างใด ๆ แต่ความไร้รากเหง้า ความไม่มั่นคง การถูกกดขี่และความเจ็บปวดของผู้อยู่ใต้ระบบนั่นเองที่จะเป็นระเบิดรอเวลาจุดชนวน และโครงสร้างอันเปราะบางนี้พร้อมจะล่มสลายได้ทุกเมื่อ เพียงแค่รอเวลาการปรากฏตัวขึ้นของความจริงเล็กน้อย หรือสิ่งเล็ก ๆ บางสิ่งที่จะสั่นคลอนจิตใจของผู้คน ซึ่งเปรียบเสมือนไม้ขีดไฟเพียงก้านเดียวที่จะจุดชนวนระเบิดนั้น

เรื่องราวอื่น ๆ จำพวกการล้มล้างระบบอะไรนั่นไม่วิเคราะห์มากหรอก เพราะคงมีคนพูดไปเยอะมากอยู่แล้ว โดยเฉพาะได้ยินข่าวว่ามีน้องเทพคนหนึ่งกำลังทำวิทยานิพนธ์เรื่องนี้ขึ้นแท่นวิทยานิพนธ์ยอดเยี่ยมเลยเชียว รออ่านเล่มนั้นอย่างใจจดใจจ่อดีกว่า 55

-----------------------------------

แม้ผมจะบอกไปว่า Like Father, Like Son จะจบแบบซุกขยะใต้พรม หรือรีบจบไปหน่อยก็ตามที แต่ก็เป็นหนังหนึ่งในไม่กี่เรื่องที่เรียกน้ำตาจากผมในโรงหนังได้ (นี่ขนาดยังไม่บิ้วต์ไปให้สุดนะ 555) อาจเป็นเพราะผมดันสิ้นหวังไปกับตอนจบที่ผู้กำกับไม่ได้ใส่เอาไว้ก็เป็นได้ ส่วน The Hunger Game: Catching Fire นั้นก็ดีทั้งเนื้อหาและวิธีการเล่า รวมถึงฉากแอ็คชั่นและสเปเชียลเอฟเฟคที่น่าตื่นเต้นตื่นตาตื่นใจด้วยพลังของทุนนิยม สมกับเป็นหนังต่อต้านทุนนิยมประเภทเอาหอกสนองคืนผู้ใช้ 555 ทั้งสองเรื่องไม่เสียดายเงินแน่นอนครับ แต่ว่ามันก็จวนจะออกโรงทั้งสองเรื่องแล้วนี่นา (ฮา)

วันพฤหัสบดีที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2556

Seven years itch and you forget it

เจ็ดปีที่ผันผ่านไม่นานนัก
เธอจำห้วงความรักได้หรือไม่
เมื่อตะวันค่อยเคลื่อนเลือนหายไป
เราอยู่ ณ หนใดในโลกนี้

เมื่อบ่มความรักจนสุกงอม
ใจก็พร้อมจะเผยใจไม่หลีกหนี
ไม่โทษดาวโทษเดือนเหมือนทุกที
โทษก็แต่ดวงฤดีที่เผยรัก

ใบไม้ร่วงหล่นลงกี่ใบ
เธอยังจำได้ไหมใจประจักษ์
วันนั้นลมรำเพยมาเชยชัก
คำแน่นหนักยังแว่วไหวไม่รู้วาย

รอยยิ้มรอยนั้นในฝันนี้
ตราตรึงดวงฤดีมิเลือนหาย
ความสัมพันธ์ซับซ้อนค่อนผ่อนคลาย
เหลือเพียงความหมายของหัวใจ

เจ็ดปีที่ผันผ่านอาจนานนัก
เธอลืมห้วงความรักแล้วหรือไม่
เจ็ดปีที่ผันผ่านอาจนานไป
เหลือเพียงใครคนหนึ่งซึ่งไม่ลืม

วันอังคารที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2556

หัวสิวของแมรี่ และแฮปปี้ของนุกนิก




(เปิดเผยเรื่องราวบางส่วนในภาพยนตร์เรื่อง "ผีโป๊ สะดือพูด และสิวของนุกนิก" และ "Mary Is Happy, Mary Is Happy.")

ขณะที่เรื่องหนึ่งก็ตั้งหน้าตั้งตาจะเล่าเรื่องเหลือเกิน อีกเรื่องหนึ่งก็สลายวิธีการเล่าเรื่องเดิม ๆ ซะจนเราจับต้นชนปลายแทบไม่ถูก การชมสองเรื่องติดต่อกันจึงทำให้ปรับอารมณ์แทบไม่ทัน 55 แต่น่าแปลกที่ทั้งสองเรื่องสองขั้วกลับพาไปสู่ความรู้สึกสุดท้ายที่กลิ่นคล้าย ๆ กันซะอย่างนั้น (หรือเพราะเราดูทั้งสองเรื่องติดต่อกันรวดเดียวนะ 55)

ว่ากันที่ผีโป๊ฯ ก่อน ผมยังไม่เคยดู "หมาอภินิหารและขวดใส่มหาสมุทร" ผมงานก่อนหน้านี้ของคุณอมร หะริณนิติสุข ผู้กำกับผีโป๊ฯ แต่เข้าใจว่าคุณอมรคงจะกำลังซาบซึ้งอยู่กับปรัชญาหรือแนวคิดทางศาสนาบางสำนัก จึงได้ดึงเอาแนวคิดสองขั้วมาปะทะสังสรรค์เพื่อจะพานุกนิกนั้นบรรลุนิพพานผ่านหัวสิว แต่ผลก็คือบทพูดออกจะเป็นการยกตำราหรือคำเทศนามายิงผ่านปากตัวละครเสียมากกว่า เหมือนว่ากลัวคนดูไม่เข้าใจหรือจะตีความไม่ถึง เสน่ห์ของหนังเลยลดลงไปมากโข โดยเฉพาะตอนที่นิทานเรื่องเต่ากับปลาโผล่มา ผมถึงกับกุมขมับ ขอโทษนะพี่ แต่ผมว่ามันเช้ยยยยเชยจริง ๆ นะ 555

เข้าใจว่าด้วยงบประมาณที่จำกัดจำเขี่ย คุณอมรคงเขียนบทเองกำกับเอง เปรียบเปรยไปก็เหมือนคนเล่นหมากรุกกับคนดูอยู่วงนอก คนเล่นหมากรุกเองตอนนั้นก็คิดอะไรไม่ออกหรอกนอกจากเดินไปตามเกม ขณะที่คนวงนอกน่าจะเห็นข้อจำกัดหรือจุดที่ควรเพิ่มเติมและลดทอนในบทมากกว่า หนังเรื่องต่อไปถ้ามีมือดี ๆ มาช่วยเขียนบท หรืออย่างน้อยก็เกลาบทไม่ให้เทศนาคนดูมากเกินไป ก็น่าจะทำให้เรื่องไหลลื่นขึ้นไม่น้อย เพราะตัวพล็อตเองก็น่าสนใจอยู่แล้วในระดับหนึ่ง ดังที่ซอมเมอร์เซต มอห์ม กล่าวไว้ว่า การโกนหนวดแต่ละคราวแฝงปรัชญาล้ำลึก เช่นนั้นแล้วไยหัวสิวธรรมดายิ่งของนุกนิกจะพาเธอไปสู่นิพพานไม่ได้

อันที่จริงถ้าผู้กำกับเองจะลองจินตนาการถึงคนดูที่จะอุตส่าห์บุกเข้ามาชมผลงานของเค้าถึงในโรงหนัง ผมว่าคงไม่มีประเภทที่ว่าวัยรุ่นเดินสยามกิ๊วก๊าวแล้วเห็นโปสเตอร์ เฮ้ยแกไปดูเรื่องนี้เถอะน่าสนุก หรือเข้ามาเพราะเป็นแฟนคลับโบวี่อะไรเทือกนั้น คือแค่ชื่อหนังของพี่ก็จัด Genre ของคนดูได้แล้วระดับหนึ่งว่าไม่แมสแน่ ๆ คนที่มาดูก็ต้องตั้งใจมาก ๆ หรือเป็นคอหนังแนว ๆ อยู่แล้วแหละนะ ดังนั้นจึงไม่น่าจะต้องให้บทพูด 'เฉลย' แก่นเรื่องอยู่บ่อย ๆ บางจุดอาจจะอมพะนำเอาไว้แล้วค่อยมาพูดทีเดียวตอนค่อย ๆ คลี่คลายเรื่องยังจะดู 'เซ็กซี่' กว่าด้วยซ้ำ ตัวอย่างเช่นเรื่องที่นุกนิกไม่ยอมกลับไปหาแม่เพราะถูกพ่อเลี้ยงข่มขืน เรื่องนี้คนดูกลับได้รู้ตั้งแต่ฉากแรกตอนที่นุกนิกคุยโทรศัพท์กับเพื่อนสนิท พอมา repeat อีกทีในตอนคุยโทรศัพท์กับแม่ และโดนผีนุกนิกกระชากหัวคุยกับตัวเอง ในแง่ของการคลี่คลายเรื่องมันก็ไม่ 'เซ็กซี่' เสียแล้ว เลยเป็นผลให้การสร้าง Impact สะเทือนอารมณ์ก็ทำไม่ได้ ทั้งที่บทตรงนี้มีศักยภาพเพียงพอ

แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องชมหนังเรื่องนี้มาก ๆ คือนางเอกอย่างโบวี่ที่ "เอาอยู่" หรือจะว่าไปก็เป็นสิ่งเดียวที่พาคนดูไปจนจบเรื่องก็ว่าได้ (แหมก็แสดงอยู่คนเดียว 55) ก่อนหน้านี้ผมไม่เคยมองโบวี่ในฐานะนักแสดงเป็นพิเศษ แต่พลังการแสดงจากหนังเรื่องนี้ก็ทำให้จากนี้ไปผมคงต้องพินิจการแสดงของเธออย่างตั้งใจมากขึ้นในฐานะนักแสดงตัวจริง

เช่นเดียวกับแมรี่ฯ จุดที่น่าจะเติมหรือน่าจะตัดในบทหนังนั้นมีไม่น้อย ทว่าอย่างที่รู้กันว่าหนังเรื่องนี้สร้างจากทวิตเตอร์ 410 ทวิตเป๊ะ ๆ และอีกอย่างนวพลก็เป็นมือเขียนบทที่แม่นอยู่แล้ว การขาดความลื่นไหลในบางจุดจึงไม่น่าจะเป็นจุดอ่อนของการเขียนบท แต่เพราะเงื่อนไขการทำหนังบังคับมาแบบนั้น ดังนั้นการพาทวิตเตอร์ 410 ทวิตไปได้จนเป็นเรื่องราวจึงเป็นเรื่องน่าชมเชยมากกว่า และต่อให้ผมโจมตีโครงสร้างการเล่าเรื่อง นวพลก็คงจะยักไหล่และตอบว่า "ถ้าแก้ก็ไม่รู้ว่าจะทำหนังเรื่องนี้มาทำไมว่ะ" ดังเช่นที่พี่แกเคยตอบกูรูวิจารณ์ในงานเทศกาลหนังที่เวนิซและปูซาน

คิดกว้าง ๆ จะจัดมันให้เป็นหนัง Deconstruct ก็ไม่ได้ เพราะพี่แกไม่ได้รื้อสร้างแต่เล่นรื้อทิ้ง Destruct วิธีการเล่าเรื่องมันซะเลย 555 ก็คงจะเรียกว่างานแนวทดลองอย่างหนึ่งกระมัง จะว่าไปก็ไม่แปลกเพราะการตั้งต้นทวิตแรก ๆ ตั้งแต่อยากเลี้ยงแมงกะพรุน แล้วมีแมงกะพรุนส่ง Fedex มาถึงบ้าน นั่นก็น่าจะบอกไวยากรณ์ของเรื่องกับคนดูตั้งแต่แรกแล้วว่า จากนี้ไปมึงเหวอทุกฉากแน่ แล้วก็จริง ๆ 555 น่าเสียดายที่ดูหนังเรื่องนี้หลังจากเพิ่งดู Synecdoche มาหมาด ๆ อารมณ์การโดนคอฟแมนเขย่าวิญญาณยังตกค้างอยู่ การทดลองที่น่าตื่นเต้นของหนังเรื่องนี้สำหรับผมเลยโดนลดทอนเหลือแค่ว่าน่าสนใจดีเท่านั้น

ขณะที่ผีโป๊ฯ มีโบวี่ แมรี่ฯ ก็มีซูริเป็นคู่ชกที่สมน้ำสมเนื้อ บทน้องอาจไม่ใช่นางเอกเหมือนแมรี่ แต่หลายต่อหลายฉากกลับขโมยซีนแมรี่ไปซะดื้อ ๆ ขณะที่แมรี่สวิงสวายไปกับบทประหลาด ๆ ซูริเหมือนพลังงานจลน์ที่ไหลเอื่อย ๆ แต่ทรงพลังชิบหาย และยังทำหน้าที่คอยประคองแมรี่ไปครึ่งค่อนเรื่อง จนป่านนี้พี่ก็ยังไม่รู้ชื่อน้องเลย แต่จะติดตามการแสดงต่อไปนะครับซูริ น้องอนาคตไกลแน่นอนพี่คอนเฟิร์ม

แล้วก็อย่างที่บอกไว้ในตอนแรก ขณะที่วิธีการเล่าเรื่องทั้งสองต่างกันสุดขั้วแบบนี้ แต่ก็น่าสนใจว่าบทสรุปสุดท้ายต่างก็มีกลิ่นคล้าย ๆ กัน คิดว่ามันคงจะเป็นกลิ่นของยุคสมัยกระมัง (แต่ของนวพลเหวอกว่าเยอะ 555) สรุปว่าน่าดูทั้งสองเรื่องครับ เรื่องแรกอาจจะเน้นไปที่การอุดหนุนผู้กำกับอินดี้ให้มีกำลังใจพัฒนาผลงานชิ้นต่อไปให้ดีขึ้น ส่วนเรื่องหลังนี่ฐานแฟนคลับนวพลเหนียวแน่นอยู่แล้ว (วันที่ผมไปดูก็เต็มโรง) แต่ก็ต้องไปลองชมการทดลองที่น่าสนใจและน่าจับตามองของผู้กำกับรุ่นใหม่ที่คอหนังแนว ๆ ชาวไทยไม่น่าจะพลาด

๒ ธันวาคม ๒๕๕๖

วันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ถามตัวเอง

๏ ถามตัวเองก่อนไหมใครควรหยุด
หลังเร่งสุดซอยไปไม่ไถ่ถาม
จำนำข้าวก็เร่งงาบจนเกินงาม
ใครจะกล้าเดินตามสองล้านล้าน!

๏ ถามตัวเองก่อนไหมใครทำผิด
คนต่อต้านจึงจุดติดมหาศาล
ถามตัวเองก่อนไหมใครอันธพาล
ก่อนดื้อด้านให้บ้านเมืองวอดวาย

๏ ถามตัวเองก่อนไหมใครควรถอย
ใครควรถอนอำนาจถ่อยก่อนฉิบหาย
ก่อนผองเราจะเข้าเกมอันตราย
ก่อนจะเพิ่มคนตายหลายหมื่นคน

๏ หากเธอถามตัวเองวันก่อน
วันนี้คงไม่รุ่มร้อนสับสน
ถึงวันนี้ชาวไทยคงไม่ทน
หากยังไม่ถามตนเมื่อคนตาย ๚ะ๛

๒ ธันวาคม ๒๕๕๖

พฤศจิกามหาวิบัติ (๒)

๏ ศพนี้ไม่ได้เกิดขึ้นลอยลอย
หลังศพนี้ใครควรถอยใครควรบุก
หลังศพนี้ควรตั้งรับหรือเร่งรุก
ใครควรเลี่ยงทุรยุคหรือนำพา

๏ ศพนี้เกิดจากใครไม่รับผิด
เห็นชีวิตชาวไทยไม่มีค่า
อีกกี่ศพจึงข้ามผ่านกาลเวลา
จึงลบล้างรอยน้ำตาประชาชน

๏ ศพนี้เกิดจากใครไม่ขอโทษ
ความเกรี้ยวโกรธจึงก่อร่างโกลาหล
คนจึงปลุกปั่นคนไปฆ่าคน
เป็นมหาจลาจลกลางใจเมือง

๏ ศพนี้จะไม่ใช่ศพสุดท้าย
หากท้าทายฝูงชนจนหนุนเนื่อง
คำขอโทษหากกล่าวยากทำปากเปลือง
อีกกี่ศพจึงจบเรื่องอันร้าวราน

๏ ศพนี้ไม่ได้เกิดขึ้นลอยลอย
อีกกี่ร้อยกี่หมื่นมหาศาล
เป็นฟ่อนฟืนไฟแค้นอันแสนนาน
เซ่นสังเวยอุดมการณ์อำนาจกู! ๚ะ๛

๑ ธันวาคม ๒๕๕๖