วันเสาร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2552

โปสการ์ดใบสุดท้าย


คุณรักเพื่อนมากแค่ไหน?

อาจจะเป็นคำถามเชยๆ คล้ายกับคำโฆษณาภาพยนตร์สักเรื่องหนึ่ง ผมเชื่อว่าทุกคนล้วนมีคำตอบอยู่ในใจเหมือนกัน แต่จะมากน้อยก็อาจจะแตกต่างกันไปบ้างตามความผูกพันที่มีให้เพื่อน สำหรับผมแล้ว ผมกล้าพูดได้ว่า ความรักของผมที่มีให้เพื่อนนั้นมีไม่น้อยกว่าใคร มันเปี่ยมล้นไปด้วยความพิสุทธิ์และเต็มไปด้วยความทรงจำอันแสนเศร้า

“ผมรักเพื่อน” นี่คือถ้อยคำสั้นๆ คำเดียวที่ผมต้องการจะบอกใครสักคนที่อยากจะรับฟังเรื่องราวของผม ของเขา และของเธอ ...ใช่แล้วล่ะ ความหมายของคำพูดผมก็เหมือนสูตรสำเร็จของนิยายน้ำเน่าทั่วๆ ไปในท้องตลาด แต่บางครั้ง..มิใช่ชีวิตจริงหรือที่โศกเศร้ากว่าในนิยาย... ผมรักพงษ์..เพื่อนสนิทเพียงคนเดียวที่ผมมี และผมรักหนิง..ผู้หญิงที่ผมไม่ควรคิดอะไรเกินเลยไปกว่าคำว่าเพื่อน

..................................................

ผมและพงษ์เติบโตมาด้วยกันในหมู่บ้านแถบชานเมือง พ่อแม่ของเราทั้งคู่ต่างก็ทำงานอยู่บริษัทเดียวกัน เมื่อถึงเวลาทำงาน บ้านหลังใหญ่ทั้งสองหลังจึงกลายเป็นสมบัติของเด็กน้อยจอมซนอย่างเราเสมอ แม้จะนิสัยต่างกันอยู่บ้างตรงที่ผมค่อนข้างขี้อายและเก็บตัว ส่วนพงษ์นั้นโผงผาง มุทะลุ แต่เรื่องความซุกซนเป็นลิงทโมนนั้นพวกเราไม่แพ้กันเลย บางครั้งเราเล่นจนข้าวของเสียหายถูกพ่อแม่ตีอยู่เสมอๆ พงษ์นั้นมักจะเป็นหัวโจกในการเล่นทุกครั้ง ส่วนผมก็เป็นลูกไล่คอยทำตามภารกิจที่พงษ์สั่งการ

ผ่านมาอีกสองปี ข้างบ้านของผมก็มีครอบครัวใหม่ย้ายเข้ามา เด็กหญิงแก้มยุ้ยแววตาดูตื่นกลัวอยู่บ้างเมื่อพบหน้าพวกเรา แต่หลังจากผ่านไปสองสามวัน เธอก็เดินเข้ามาทักทายเราในขณะที่เราเล่นกันอยู่หลังบ้าน

“ขอเล่นด้วยคนสิ”

จากวันนั้น เราสามคนก็ตัวติดกันเป็นตังเม

สองปีที่พวกเราสามคนอยู่ด้วยกันนั้นเป็นสองปีที่ผมมีความสุขเหลือเกิน หนิงนั้นซุกซนไม่แพ้ผมและพงษ์ บางครั้งเธอจะกลายๆ เป็นหัวโจกของพวกเราด้วยซ้ำ ความผูกพันระหว่างผม พงษ์ และหนิงก่อตัวขึ้นเงียบๆ แม้เราจะเป็นเด็ก แต่ก็รู้อยู่ในใจว่า มิตรภาพและความผูกพันที่พวกเรามีต่อกันนั้นลึกซึ้งมากเพียงใด จึงไม่น่าแปลกใจว่าทั้งผมและพงษ์ต่างก็ร้องไห้เมื่อหนิงต้องย้ายตามพ่อไปอยู่ต่างจังหวัด

“หนิงต้องกลับมาหาพวกเรา...สัญญานะ”

..........................

อย่างที่ผมเคยบอกนั่นแหละ ผมกับพงษ์แม้จะซุกซนเหมือนกันแต่ก็มีบางอย่างต่างกัน เราอาจจะเคยเล่นบอลด้วยกันตอนอายุห้าขวบ แต่เมื่อวันนี้ผมและพงษ์ต่างก็โตเป็นวัยรุ่นอายุสิบหก ฝีเท้าในเชิงกีฬาฟุตบอลของผมก็ต่างกับพงษ์ราวฟ้ากับดิน พงษ์เติบโตขึ้นเป็นหนุ่มเพลย์บอยหล่อเหลา แถมยังเป็นนักกีฬาของโรงเรียนอีกต่างหาก วันๆ มีสาวๆ มาห้อมล้อมมากมาย ส่วนผมน่ะเหรอ...ผมก็เป็นหนอนหนังสือตัวอ้วนๆ ที่วันๆ หมกตัวอยู่แต่กับหนังสือ

แต่เราก็ยังเป็นเพื่อนที่รักกันมากที่สุด ไม่น่าแปลกใจว่าเราทั้งสองคนชอบไปไหนมาไหนด้วยกัน ตัวติดกันเป็นปาท่องโก๋ ทุกครั้งหลังเลิกเรียนผมมักจะมานั่งอ่านหนังสือริมสนามฟุตบอลเพื่อรอกลับบ้านพร้อมกันเสมอ

เรื่องราวของเราดำเนินไปคล้ายกับบทเพลงคลาสสิกสักบทหนึ่ง เรียบเรื่อย ไม่เร่งร้อน จนกระทั่งมีวาทยกรคนหนึ่งมาเปลี่ยนแปลงการเดินทำนอง

“วันนี้มีนักเรียนใหม่ย้ายมาห้องเรา พ่อของเธอเป็นผู้พิพากษา ต้องย้ายไปนู่นไปนี่บ่อยๆ ขอให้เพื่อนทุกคนดูแลเธอให้ดีๆ นะ ...เอ้า เข้ามาสิ”

ชั่วขณะนั้น...เด็กทุกคนในห้องต่างเงียบกริบ ต่างจากวินาทีก่อนหน้าที่คุยกันเสียงดังลั่น ใบหน้าราวกับเทพธิดาสลักด้วยหยกเนื้องามนั้นยิ้มอายๆ แก้มแดงระเรื่อบ่งบอกความรู้สึกภายในของหญิงสาว ริมฝีปากอิ่มนั้นเผยอน้อยๆ ยินเสียงอ่อนหวานแผ่วเบา

“หนิงค่ะ...ฝากตัวด้วยนะคะ”

ผมและพงษ์หันมามองหน้ากันแทบจะทันที

.............................

“ไผ่..พงษ์..พวกเธอจริงๆ ด้วย นี่ยังจำหนิงได้ใช่มั้ย” เสียงหนิงเต็มไปด้วยความตื่นเต้น

“พวกเราจะลืมหนิงได้ไงล่ะ” พงษ์เอ่ยขึ้นด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นไม่แพ้กัน

ใช่หนิงจริงๆ น้ำเสียง คำพูด ท่าทาง แววตาไม่ต่างไปจากตอนเด็ก เพียงแต่ตอนนี้หนิงเติบโตเป็นสาวแล้ว ...สาววัยรุ่นหน้าตาสะสวย รูปร่างอรชรอ้อนแอ้น ท่อนแขนงามระหง ผมยาวสยายเคลียไหล่ใบหน้าผุดผ่องราวกับพระจันทร์ทอแสงนวลในราตรี ชุดมัธยมปลายยิ่งทำให้เธอดูสดใสน่ารัก ผมอยากพูดอะไรกับหนิงบ้างแต่ก็ไม่มีโอกาสเพราะพงษ์เอาแต่พูดไม่หยุด ผมได้แต่ยิ้มให้หนิง และเมื่อหนิงยิ้มตอบกลับมาด้วยไมตรี ผมก็รู้สึกว่ารอยยิ้มนั้นสดใสและอบอุ่นกว่าแสงตะวันในฤดูหนาว

...เป็นรอยยิ้มที่ทำให้หัวใจผมรู้สึกหวั่นไหวเป็นครั้งแรกตั้งแต่เกิดมา

............................

หลายคนในโรงเรียนอาจแปลกใจอยู่บ้างเมื่อเห็นนักเรียนใหม่คนที่สวยที่สุดในโรงเรียนอยู่กับคู่ปาท่องโก๋อย่างพวกเราตลอดเวลา ต่างคนต่างก็ลือไปต่างๆ นานา บ้างก็ว่าพงษ์กับหนิงเป็นแฟนกันเสียแล้ว มีแต่เพียงผม พงษ์ และหนิงเท่านั้นที่รู้ว่าความจริงเป็นอย่างไร สำหรับกิจวัตรประจำวันต่างๆ ที่ผมและพงษ์เคยทำร่วมกันเมื่อวันวานนั้น ในวันนี้มีหนิงเข้ามามีเอี่ยวด้วยเสมอ เราไปไหนมาไหนด้วยกัน กินข้าว ท่องหนังสือ เที่ยวเล่น กลับบ้านด้วยกัน หรือตอนที่พงษ์ซ้อมฟุตบอล ผมกับหนิงก็จะนั่งอ่านหนังสือรออยู่เงียบๆ

วันเวลาผ่านไปรวดเร็วนัก ปีต่อมาเราก็เลื่อนขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ห้า หนึ่งปีที่ผ่านได้เพาะบ่มความรู้สึกของเราให้ลึกซึ้งยิ่งกว่าตอนเด็ก สำหรับพงษ์นั้นผมไม่รู้ว่าเขารู้สึกอย่างไรกับหนิง แต่สำหรับผมแล้ว...ผมรักหนิง…

ผมรักหนิง...ผมบอกคำนี้กับตัวเองมาไม่รู้กี่ครั้ง แม้ในตอนแรกจะเลือนรางในความรู้สึก แต่วันเวลาก็ช่วยระบายผืนผ้าแห่งความรู้สึกนี้ให้แจ่มชัดขึ้น ทุกวันที่ผ่านไปผมเห็นรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ความสดใสในแววตาดำขลับคู่นั้น ผมไม่รู้ว่าตกหลุมรักเธอตั้งแต่เมื่อไร รู้แต่เพียงว่า ตอนนี้ผมไม่อาจขึ้นจากหลุมนั้นได้อีกแล้ว...

ความรู้สึกของผมมันมีมากเหลือเกิน จนหลายครั้งมันกลั่นตัวออกมาเป็นบันทึกประจำวันที่ยาวเหยียด หรือบทกวีรักหวานซึ้ง ผมเขียนออกมาทุกวันๆ จนกระทั่งผมทนเก็บความรู้สึกไว้กับตัวไม่ได้ วันหนึ่งผมจึงพิมพ์บทกวีพวกนั้นลงในโปสการ์ด แอบไปสอดไว้ในกล่องไปรษณีย์หน้าบ้านเธอ ผมอิ่มใจเหลือเกินเมื่อหนิงพลิกอ่านแล้วยิ้มอย่างเขินอาย

“มีคนส่งโปสการ์ดมาให้หนิงด้วยแหละ”

“ไหนเหรอ” พงษ์หยิบโปสการ์ดจากมือหนิงมาดู

“ต้องเป็นคนที่โรแมนติกมากแน่ๆ เลย กลอนหวานซึ้งซะขนาดนี้ เฮ้อ...หนิงชอบผู้ชายแบบนี้จัง ทำไมไม่เหลือที่อยู่ไว้ให้ติดต่อกลับบ้างนะ หนิงอยากรู้จักเขาจังเลย”

ผมแทบเก็บอาการตื่นเต้นไว้ไม่ได้ ทำทีหยิบโปสการ์ดมาพลิกอ่าน ทั้งที่ความจริงผมอ่านมันกว่าร้อยรอบทั้งก่อนและหลังพิมพ์เสร็จ ความรู้สึกดีในตอนที่แอบเอาไปให้หนิงก็มากพออยู่แล้ว ยิ่งหนิงออกปากว่าชอบใจยิ่งทำให้หัวใจของผมพองโต

จากวันนั้น ผมก็ทยอยส่งบทกวีบนโปสการ์ดให้หนิงเดือนละใบ ทุกครั้งหนิงจะหยิบมาให้พวกเราดูด้วยความตื่นเต้นและใฝ่ฝันหาเจ้าของโปสการ์ด ในขณะที่พงษ์มีท่าทีแปลกๆ ต่อโปสการ์ดของผม

จะอย่างไรก็เถอะ สำหรับผมแล้ว แค่หนิงรู้สึกดีกับบทกวีรักของผม แค่นั้นก็มากพอให้หัวใจของผมได้หายใจด้วยความรักต่อไปได้ หนิงคือหัวใจของผม หนิงคือความรัก ผมรักหนิง...

“ไผ่!”

ผมสะดุ้งสุดตัว หันหน้าไปยังต้นเสียงหวานใสนั้น ตาสีนิลจ้องผมอยู่เขม็ง

“หนิงเรียกตั้งนานก็ไม่รู้ตัว..เหม่อถึงสาวไหนอยู่ละฮึ” เธอพูดพลางหัวเราะ

“ปะ...เปล่า...ไม่ได้คิดถึงใครอยู่สักหน่อย” ผมตอบตะกุกตะกัก

“ฮั่นแน่...มีพิรุธอย่างนี้...แอบปิ๊งสาวที่ไหนล่ะซี้...บอกหนิงมาสิ เผื่อหนิงจะช่วยไผ่ได้” เธอยิ้มให้ผม ยิ่งทำให้ผมหน้าแดงขึ้นไปอีก

“อะ..เอ่อ...”

“กลับกันเถอะ” พงษ์ในชุดนักกีฬาฟุตบอล เดินสะพายกระเป๋ามาเป็นสัญญาณว่าเลิกซ้อมและถึงเวลากลับบ้านแล้ว ผมโล่งใจราวกับนักมวยที่ถูกถลุงได้ยินเสียงระฆังหมดยก รีบคว้ากระเป๋าเดินตามพงษ์ไปทันที

“ไผ่อ่ะ เดี๋ยวนี้หัดมีความลับกับหนิงแล้วเหรอ” หนิงบ่นอุบอิบ ก่อนจะถือกระเป๋าเดินตามเรามา

“เนี่ยนะ...เดี๋ยวพรุ่งนี้ก็ถึงวาเลนไทน์แล้ว พ่อหนุ่มโปสการ์ดจะมาเปิดเผยตัวไหมนะ? หนิงอยากเจอเขาจังเลย หนิงชอบคนโรแมนติกแบบนี้แหละ เขียนบทกวีหวานๆ บางทีก็อบอุ่นหัวใจ หนิงว่านะ..เขาต้องเป็นผู้ชายที่ดูดีมากๆ แน่เลย...” หนิงพร่ำไปเรื่อยเปื่อย

หลังจากส่งหนิงถึงบ้านเรียบร้อย หนุ่มนักกีฬากับหนอนหนังสือตัวอ้วนก็เดินกลับบ้านด้วยกัน ผมครุ่นคิดเรื่องราวชั่วโมงก่อนมาตลอดทาง นี่ผมเผยพิรุธอะไรให้หนิงจับได้หรือเปล่า? ผมควรจะปรึกษาพงษ์ดีไหม? เพลย์บอยอย่างมันอาจจะให้คำแนะนำอะไรดีๆ แก่ผมก็เป็นได้ ผมหันไปมองหน้าพงษ์อยู่นาน ก่อนจะตัดสินใจเอ่ยปาก แต่กลับเป็นเสียงของพงษ์ที่พูดตัดหน้า

“ไผ่...เรามีเรื่องจะปรึกษานาย”

ผมขมวดคิ้วเป็นเชิงสงสัย “อะไรล่ะ?”

“เราไม่ชอบนายโปสการ์ดนั่นเลยว่ะ...มันทำให้เรา...”

“ทำไมเหรอ” ผมสะดุ้งเล็กน้อยก่อนจะรีบซ่อนพิรุธ

“ทำให้เรารู้สึกว่า...เราอาจจะทำอะไรช้าเกินไป” พงษ์ถอนหายใจยาว “เราจะทำยังไงดี...ไผ่...เรารักหนิง”

.........................................

ข่าวว่าลมมรสุมจะพัดผ่านมาในฤดูฝนนี้ แต่จะร้ายแรงเพียงไรผมก็มิอาจคาดเดา กาลเวลาผ่านมาไม่นานนัก แต่ผมรู้สึกว่ายาวนานยิ่งกว่านิรันดร์กาล เพื่อนสนิทของผมทั้งสองคน คนหนึ่งหล่อเหลาราวเทพบุตร ดีกรีนักกีฬายอดเยี่ยม คนหนึ่งงดงามราวเทพธิดา เป็นดาวดวงเด่นประจำโรงเรียน นับเป็นคู่ที่เหมาะสมกันที่สุดในสายตาของทุกคน ไม่นานนักหลังจากที่พงษ์มาปรึกษาผม ทั้งสองก็ได้เป็นแฟนกัน

วันนั้นผมบอกกับพงษ์ว่า วันวาเลนไทน์ที่จะถึงนี้ให้พงษ์นำโปสการ์ดไปให้หนิง

“เราจะปลอมโปสการ์ดให้นายเอง”

จะปลอมยากอะไร ในเมื่อโปสการ์ดทุกใบล้วนเป็นฝีมือของผม คืนนั้นผมกลับถึงบ้านด้วยใจที่ล่องลอย หยิบบทกวีเก่าๆ ที่ผมยังไม่ได้ส่งไปให้หนิงขึ้นมา จรดมือที่แป้นพิมพ์อยู่เนิ่นนาน ก่อนจะซบหน้าลงไปที่แขน น้ำตารินไหลไม่หยุด

โปสการ์ดสีสวยออกมาจากเครื่องปริ้นต์เครื่องเดิม ขณะที่ผมกอดหมอนซึ่งเต็มไปด้วยรอยน้ำตา

...................................................

หลังจากหนิงตกใจกับโปสการ์ดในวันวาเลนไทน์ เธอมองหน้าพงษ์อย่างกึ่งเชื่อกึ่งไม่เชื่อ แต่เมื่อสบสายตาแน่วแน่ของพงษ์ สักพักเธอก็ยิ้มอย่างเอียงอาย ใบหน้าแดงก่ำ

“พงษ์นี่เอง หนิงไม่นึกเลยนะว่าพงษ์จะเป็นคนโรแมนติกขนาดนี้...หนิงก็ว่า” หนิงกล่าวพลางพลิกโปสการ์ดไปมา “พงษ์บ้า!...บ้าๆๆๆๆ ที่สุด” หนิงทุบแขนพงษ์เบาๆ

“เราขอเป็นแฟนกับหนิงได้มั้ย?” พงษ์ยิ้มกว้าง
หนิงยิ้มให้พงษ์แทนคำตอบ เป็นรอยยิ้มที่สดใสและอบอุ่นกว่าแสงตะวันในฤดูหนาว...เป็นรอยยิ้มที่เคยทำให้หัวใจผมรู้สึกหวั่นไหวเป็นครั้งแรก ตอนนี้หนิงส่งรอยยิ้มนั้นให้เพื่อนคนที่ผมรักมากที่สุด

นับแต่วันนั้น หนุ่มหล่อกับสาวสวยเพื่อนสนิทของผมก็เป็นคู่รักที่ใครๆ ก็เหลียวมองด้วยความชื่นชม ความสัมพันธ์ของพงษ์และหนิงเป็นไปอย่างราบรื่น บทกวีรักบนโปสการ์ดถูกส่งไปยังกล่องไปรษณีย์ทุกเดือนเหมือนเดิม

“ขอบใจมากนะไผ่...ไผ่ทำได้เหมือนมากเลย อีกอย่างนายโปสการ์ดคนนั้นก็หายหน้าไปเลยเนอะ” พงษ์พูดกับผมในวันหนึ่ง

“เพราะเขารู้ว่าหนิงมีเจ้าของแล้วล่ะมั้ง...เลยไม่กล้าส่งมาอีก” ผมหัวเราะ

หลายเดือนก่อนผมทำโปสการ์ดด้วยความสุขใจอย่างล้นเหลือ แต่หลังจากพงษ์และหนิงเป็นแฟนกัน ผมก็ได้แต่พยายามนึกถึงความรู้สึกเมื่อแรกรักหนิง พยายามเขียนออกมาเป็นบทกวี และเสียน้ำตาทุกครั้งที่ทำโปสการ์ดเสร็จ

..............................................

เหมือนผมจะเคยบอกไปแล้วว่าพงษ์เป็นเพลย์บอย แน่ล่ะ หนุ่มหล่อสมาร์ทอย่างพงษ์ แถมยังเป็นนักกีฬาของโรงเรียน ถึงจะมีดาวโรงเรียนอย่างหนิงอยู่ข้างกายในฐานะแฟน แต่พงษ์ก็ไม่เลิกนิสัยเจ้าชู้ กะล่อน ชอบหลีสาวๆ สวยๆ ประกอบกับรอบกายเขาก็มีสาวๆ รุมล้อมอยู่เป็นประจำ แรกๆ หนิงก็ไม่ว่าอะไร แต่พักหลังหนิงก็เริ่มทนไม่ได้ ทั้งสองมีปากเสียงกันบ่อยๆ ความสัมพันธ์ของเราทั้งสามคนเริ่มไม่เหมือนเดิม ...ผมเคยได้ยินใครนะที่บอกว่า ความรักมักเป็นตัวทำลายมิตรภาพ บางครั้งผมก็เห็นจริงกับคำพูดนี้

“ไผ่...เราจะทำอย่างไรดี...หนิงไม่เข้าใจเราเลย”

“ไผ่...ทำไมพงษ์ทำแบบนี้...พงษ์ไม่รักเราแล้วใช่มั้ย?”

เมื่อทั้งคู่มีปัญหากัน ต่างฝ่ายต่างก็แอบมาปรึกษากับผมเสมอๆ ซึ่งผมก็ตักเตือนพงษ์ให้ทำตัวให้ดีขึ้นบ้าง ย้ำกับหนิงว่าพงษ์ยังรักหนิงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลงบ้าง เสมือนว่าผมเป็นกาวใจให้ทั้งคู่ประสานรอยร้าวที่มีต่อกันได้ ผมควรจะภูมิใจกับตำแหน่งนี้หรือเปล่านะ...

“ไผ่...ช่วยเขียนโปสการ์ดง้อหนิงให้ที”

คำขอร้องอย่างหนึ่งของเพื่อนรักที่ผมไม่เคยปฏิเสธ อันที่จริงผมก็ทำเป็นประจำทุกเดือนอยู่แล้ว ถึงแม้หนิงจะโกรธอะไรพงษ์ก็ตาม เมื่อเธอได้รับโปสการ์ดที่เต็มไปด้วยบทกวีหวานๆ หรือคำขอโทษ เธอก็จะหายโกรธ หันมาคุยกับพงษ์ด้วยรอยยิ้ม

ผมรู้สึกดีใจอยู่ลึกๆ ว่าอย่างน้อยโปสการ์ดของผมก็ทำให้หนิงมีรอยยิ้มได้...

..............................................

ลมมรสุมพัดผ่านมาในหน้าฝน สายลมแรงทำให้ต้นไม้ที่หยั่งรากลึกเริ่มหวั่นไหว เช่นเดียวกับความรักของพงษ์และหนิง ทั้งสองทะเลาะกันบ่อยกว่าเดิม ผมในฐานะของคนกลางเริ่มหนักใจมากขึ้น ความร้าวฉานในสายสัมพันธ์เริ่มทวีความรุนแรง บางขณะผมสงสารพงษ์ แต่พักหลังผมสงสารหนิงมากกว่า บางครั้งพงษ์แสดงอาการเบื่อหนิงออกมาอย่างชัดเจน พงษ์เองก็คงเหมือนผู้ชายทั่วไปที่ไม่ชอบผู้หญิงจู้จี้จุกจิก เขาคงอยากมีอิสระบ้าง แต่ก็ไม่น่าทำเช่นนี้กับหนิง...ไม่น่าเลย

ถ้าเป็นผม ผมจะไม่ทำให้หนิงร้องไห้

ทุกครั้งที่ทะเลาะกัน หนิงจะมาหาผม มาร้องไห้กับผม มาเล่าเรื่องของพงษ์ให้ผมฟัง ทุกเรื่องราวที่พงษ์ทำกับหนิงทำให้ผมเจ็บ ทุกถ้อยคำของหนิงมันกรีดแทงลงไปในหัวใจ หลายครั้งผมเคยคิดจะบอกให้หนิงเลิกกับพงษ์ แต่ต่อไปจะเป็นอย่างไร หนิงเองก็รักพงษ์มาก พงษ์เองก็ต้องเสียใจหากต้องเลิกกับหนิง ผมได้แต่พยายามประสานรอยร้าวของทั้งคู่ด้วยโปสการ์ด..โปสการ์ดที่หนิงชอบ...โปสการ์ดที่เปี่ยมไปด้วยความรักของผมที่มีต่อหนิง...หากมันทำให้หนิงมีความสุขได้ จะต้องเจ็บเพียงใดผมก็จะทำ

ผมส่งโปสการ์ดไปง้อหนิงแทนพงษ์ครั้งแล้วครั้งเล่า ทุกครั้งหนิงก็ยอมยกโทษให้พงษ์ ผมดีใจที่ทำให้คนที่ผมรักทั้งสองคนมีความสุข...ผมดีใจที่ทั้งสองคนกลับมารักกันดังเดิม...อย่างที่ควรจะเป็น

...............................................

“ทำไมหนิงไม่เข้าใจเราบ้างเลย”

คำรำพันของพงษ์หลั่งออกมาพร้อมน้ำตา หลังจากดื่มเหล้าไปหลายอึก วันนี้พงษ์กับหนิงทะเลาะกันค่อนข้างแรง อาจจะร้ายแรงกว่าที่ผมคิดก็ได้ เพราะผมไม่เคยเห็นพงษ์ดื่มมากมายขนาดนี้

“เฮ้ย...ใจเย็นๆ สิ มันอาจจะดีขึ้นก็ได้ เหมือนที่ผ่านๆ มาไง” ผมพยายามปลอบ

“ไม่หรอกไผ่...คราวนี้มันหนักกว่าที่ผ่านๆ มา”

“เราทำโปสการ์ดไปง้อหนิงอีกก็ได้นะ” ผมตบไหล่พงษ์เบาๆ

“ไม่...ไม่ได้หรอกไผ่ หนิงบอกว่า ไม่อยากได้โปสการ์ดพวกนั้นแล้ว”

ผมนิ่งเงียบไปชั่วขณะ แม้จะพยายามคิดว่าเป็นเพราะหนิงพูดไปตามอารมณ์ แต่ก็อดเสียใจไม่ได้ ดวงตาคลอไปด้วยน้ำใสๆ ก้มหน้าลงมองพื้น

“เราอยากอยู่กับหนิงตลอดเวลาเลยนะ” พงษ์พูด “แต่บางครั้งเวลาเราอยู่ด้วยกันแล้วมีคนอื่นมายุ่งเกี่ยวกับเรา หนิงก็จะอารมณ์ไม่ดี หาเรื่องเราบ่อยๆ หนิงไม่เข้าใจเราเลย”

พงษ์จิบเหล้าหยดสุดท้าย “เราอยากอยู่กับหนิงตลอดไป แต่ถ้ายังเป็นแบบนี้ เราไม่รู้ว่าจะทนได้อีกนานเท่าไหร่ ...ไผ่ เราจะทำยังไงดี”

..................................................

ผมไม่ลืมจรดปากกาด้วยลายมือหวัดๆ ไว้มุมล่างของโปสการ์ด คำพูดที่ออกมาจากใจของพงษ์อาจจะทำให้หนิงอารมณ์ดีขึ้นก็เป็นได้

“เราอยากอยู่กับหนิงตลอดไป”

ผมหย่อนโปสการ์ดไว้ในกล่องไปรษณีย์ที่คุ้นเคยในตอนเช้ามืด ก่อนจะรีบขี่มอเตอร์ไซค์กลับมายังบ้านของพงษ์

.......................................................

“พงษ์หายไปไหนก็ไม่รู้ หลังจากไผ่ออกไปได้สักพักนั่นแหละ...น้านึกว่าไปด้วยกันซะอีก” แม่ของพงษ์พูดช้าๆ เธอตื่นมาตอนเช้ามืดหลังจากได้ยินเสียงมอเตอร์ไซค์ของลูกชายบึ่งออกจากบ้าน

ไปบ้านของหนิงหรือเปล่า? พงษ์อาจจะเมาแล้วคิดถึงหนิง อยากพบหนิง แต่ผมไม่อยากให้หนิงเห็นสภาพของพงษ์ที่เมาเต็มคราบ ดีไม่ดีอาจจะทะเลาะกันอีก ...ตอนนี้พงษ์อาจจะถึงบ้านหนิงแล้วก็ได้

ผมรีบควบมอเตอร์ไซค์ตามไปทันที

..........................................................

“หนิงบอกแม่ว่า จะไปโรงเรียนน่ะ มีซ้อมอะไรไม่รู้แต่เช้ามืด หนิงบอกแม่อย่างนั้น” แม่ของหนิงพูดพลางล้างหน้าล้างตาหลังจากตื่นนอนแต่เช้ามืด
พงษ์ก็ไม่รู้อยู่ไหน หนิงก็ไปโรงเรียน เกิดอะไรขึ้นกันแน่? แม้ตอนนี้ผมไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร แต่ความรู้สึกบางอย่างก็ทำให้หัวใจรู้สึกหวิวๆ อย่างไรชอบกล

ผมต้องรีบไปหาหนิง

.....................................

บรรยากาศในโรงเรียนตอนเช้ามืดเงียบกริบและเย็นยะเยือก ผมเห็นรถของหนิงจอดสงบอยู่ใต้อาคารเรียน แสงสว่างบางชั้นถูกเปิดขึ้น หนิงอาจจะอยู่ตรงนั้น

“หนูผู้หญิงนะเหรอ เขาบอกว่าลืมของน่ะ ลุงบอกให้รอตอนเช้าแต่เขาก็ไม่ยอม ลุงเลยให้กุญแจขึ้นไปแล้ว ประเดี๋ยวก็คงลงมา”

ผมเดินขึ้นไปตามแสงสีซีดๆ บนทางเดิน เมื่อถึงชั้นที่ไฟเปิดอยู่ คือห้องเปลี่ยนเสื้อของนักกีฬา ผมเอะใจรีบเข้าไปดูยังล็อกเกอร์ของพงษ์ ภายในนั้นมีโปสการ์ดของผมอยู่เป็นร้อยฉบับ อาจจะเป็นทุกฉบับที่ผมเคยส่งให้หนิง แล้วตอนนี้ตัวหนิงอยู่ที่ไหน?

ผมนึกถึงดาดฟ้าของตึกที่หนิงและพงษ์มักจะขึ้นไปนั่งเล่นด้วยกัน

...................................................

“ไผ่” เสียงเรียกชื่อของผมแผ่วเบาราวกระซิบ

เธอยืนอยู่บนดาดฟ้า ใบหน้าของหนิง...ผู้หญิงที่ผมรักสุดหัวใจเต็มไปด้วยน้ำตา เธอกอดโปสการ์ดใบหนึ่งไว้แน่น น้ำตารินหลั่งออกมาจากดวงตาคู่นั้นไม่ขาดสาย

“หนิง” ผมพูดได้เพียงเท่านั้น ความสงสารหนิงแล่นเข้ามาจับหัวใจ ผมเดินไปกอดเธอแน่น

“ไผ่...” น้ำเสียงสะอึกสะอื้นขาดเป็นห้วงๆ “พงษ์ทิ้งหนิงไปแล้ว พงษ์ไปจากชีวิตหนิงแล้ว”

ผมถอนหายใจ ในที่สุดวันนี้ก็มาถึงสินะ น้ำตาร้อนๆ ของผมไหลออกมาผะผ่าว ผมเสียใจ...ผมเสียใจที่เพื่อนรักของผมทั้งคู่ต้องแยกทางกัน ผมเสียใจที่เห็นหนิงร้องไห้...

“ไม่เอานะ...อย่าร้องไห้...”

“หนิงไม่เหลือใครแล้ว...หนิงไม่มีใครอีกแล้ว”

“หนิงยังมีเราอยู่ทั้งคนนะ...เราจะดูแลหนิงเอง”

“ไผ่...ขอบใจนะ...ไผ่เป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของหนิงเลยรู้มั้ย”

ผมดีใจที่หนิงรู้สึกกับผมเช่นนั้น แม้จะเป็นเพียงความรู้สึกแค่เพื่อนสนิทเท่านั้นก็ตามที ผมดีใจที่ได้ทำอะไรๆ เพื่อเธอ ผมดีใจที่เห็นรอยยิ้มของเธอ เพียงเท่านี้ก็มากพอแล้วสำหรับชีวิตน้อยๆ ของผมที่ไม่เคยมีค่าสำหรับใคร ผมนึกเสียใจที่ทุกอย่างมันเป็นแบบนี้ เป็นเพราะผมหรือ...เพราะนายโปสการ์ดที่ริมีความรัก สร้างความหวังให้หนิงจนทำให้ชีวิตของเธอต้องสับสนว้าวุ่นเช่นนี้ วินาทีนั้นผมอยากจะสารภาพทุกอย่าง อยากบอกหนิงว่าผมรักเธอเพียงใด อยากปลอบโยน อยากเป็นคนรักษาแผลใจที่หนิงได้รับจากพงษ์ อยากบอกคำๆ หนึ่งที่ผมเก็บมันไว้ในใจมาหลายปี

“หนิง...”

“ไผ่...หนิงต้องไปแล้วนะ”

หนิงใช้เรี่ยวแรงทั้งหมดของเธอผลักผมสุดแรงจนผมล้มลงต่อหน้าเธอ ตกใจและสับสน ผมเหลียวมองโปสการ์ดในมือเธอ...มันคือโปสการ์ดใบที่ผมเพิ่งนำไปให้เธอ

“หนิงรักบทกวีที่พงษ์เขียน รักโปสการ์ดทุกใบที่พงษ์ส่งให้” เสียงหนิงเต็มไปด้วยความโศกเศร้าอาลัย

“...หนิงจะไปอยู่กับพงษ์...ตลอดไป”

คำพูดสุดท้ายออกมาจากริมฝีปากของหนิง ก่อนที่เธอจะทิ้งร่างลงจากตึก หายลงไปในความมืดมนอนธกาลเบื้องล่าง

..................................................

กว่าผมจะรู้ว่าอะไรเป็นอะไรก็เลยมาจนรุ่งเช้าหลังจากวิ่งวุ่นพาร่างที่ไร้วิญญาณของหนิงไปส่งโรงพยาบาล

พงษ์และหนิงตายแล้ว

ผมร้องไห้อย่างที่ไม่เคยร้องมากมายขนาดนี้มาก่อน เพียงแค่การสูญเสียหนิงยังไม่โหดร้ายพอสำหรับชีวิตของผมอีกหรือ? ผมต้องสูญเสียเพื่อนรักไปพร้อมกันสองคน ผมรู้สึกเหมือนโลกทั้งใบถล่มลงมากดทับผมไว้จนหายใจไม่ออก

ผมมารู้ในภายหลังว่าหลังจากหนิงได้ยินเสียงมอเตอร์ไซค์ของผมในคืนนั้น สักพักเธอก็ออกมาพบโปสการ์ดของผม พงษ์ที่ขี่รถออกไปก็โทรศัพท์หาหนิงเพื่อนัดมาปรับความเข้าใจที่โรงเรียน ที่ถนนหลังโรงเรียนเกิดอุบัติเหตุ พงษ์เพื่อนรักของผมนอนสิ้นลมหายใจตรงนั้นเอง โทรศัพท์ปรากฏชื่อหนิงเป็นเบอร์สุดท้ายที่พงษ์โทรหา

ทุกสิ่งเกิดขึ้นเร็วจนผมตั้งตัวไม่ทัน แต่ชีวิตของมนุษย์ก็เป็นเช่นนี้มิใช่หรือ? ได้แต่ปล่อยให้มืออันแข็งแรงของชะตากรรมจับเราเหวี่ยงโยนไปมา ...เรามีสิทธิเพียงแค่ร้องไห้หรือหัวเราะให้กับผลของมันเท่านั้นเอง

............................................................

ทุกวันนี้ผมยังเก็บโปสการ์ดเหล่านั้นไว้เป็นอย่างดีในกล่องเล็กๆ ใบหนึ่ง โปสการ์ดทุกใบที่ผมส่งให้หนิงนอนสงบนิ่งอยู่ในกล่องโดยไม่รู้สึกรู้สาอะไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น หลายครั้งทีเดียวที่ผมอยากจะทิ้งมันเสียให้พ้นหูพ้นตา ก็เป็นเพราะโปสการ์ดของผมมิใช่หรือที่ทำให้หนิงต้องจากผมไปอย่างไม่มีวันกลับ แต่ทุกครั้งที่ผมจะยกกล่องไปทิ้ง เสียงของหนิงก็ยังแว่วมาเตือนความทรงจำเสมอ

“...ไผ่เป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของหนิงเลยรู้มั้ย”

“...รักบทกวีที่พงษ์เขียน รักโปสการ์ดทุกใบที่พงษ์ส่งให้”

โปสการ์ดเหล่านั้นเป็นตัวแทนของความรัก ความทรงจำอันงดงามที่พวกเราทั้งสามคนมีต่อกัน มิตรภาพอันบริสุทธิ์ถูกบรรจุลงไว้เต็มกล่องใบเล็กนี้ ผมหยิบโปสการ์ดมาอ่านทีละใบ ตั้งแต่ใบแรกที่หนิงประทับใจหนักหนา จนถึงใบเกือบสุดท้าย...เป็นบทกวีอ่อนหวานและคำขอโทษของพงษ์...ที่ผมพิมพ์ให้เช่นทุกครั้ง สักพักผมจึงเก็บโปสการ์ดลงในกล่อง

หนิงรักบทกวี รักโปสการ์ดของผม...บางทีผมอาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของโชคชะตาที่ทำให้ทั้งสองคนมาพบกันก็เป็นได้...

น้ำตาของผมรินไหลออกมาเงียบๆ

...........................................................

เวลาล่วงเลยมาหลายปี ผมไม่เคยเห็นโปสการ์ดใบสุดท้ายอีกเลยนับตั้งแต่คืนที่หนิงจากผมไป มันอันตรธานไปราวกับหนิงเก็บมันไว้ในอีกโลกหนึ่ง ผมเพียรพยายามตามหาโปสการ์ดใบนั้นทุกวัน จะด้วยเหตุผลอะไรผมก็ไม่แน่ใจนัก อาจจะเป็นเพราะมันคือสายใยเส้นสุดท้ายที่จะโยงให้เราทั้งสามคนมาพบกันอีกครั้ง แต่ทุกวันที่ผ่านไปก็เหมือนกันกับวันนี้...คือไม่พบแม้แต่เงาของมัน

บางที...ผมอาจจะต้องตามหาโปสการ์ดใบสุดท้ายไปจนกว่าจะสิ้นลมหายใจ...


ตีพิมพ์ครั้งแรก : สกุลไทยรายสัปดาห์ ฉบับที่ 2844 ประจำวันที่ 21 เมษายน 2552
ตีพิมพ์ครั้งที่สอง : หนังสือ "เช้า สาย บ่าย เย็น" ของกลุ่ม YoungThai

*ขอบคุณภาพประกอบจาก www.fotosearch.com

วันศุกร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2552

น้ำใจนาง


กาพย์สุรางคนางค์

๏ ความเศร้าเร้ารุม เหมือนไฟเข้าสุม ร้อนรุ่มภายใน
ดังต้องคมมีด มุ่งกรีดกลางใจ เมื่อเจ้าจากไป
กับใครอีกคน

๏ น้ำตารินหลั่ง เมื่อย้อนยามหลัง ช่างแสนสุขล้น
เจ้าลืมสิ้นแล้ว แม่แก้วโกมล ผีใดมันดล
ให้คนเปลี่ยนไป

๏ เสียแรงพี่รัก ดวงแดแน่หนัก ทุกห้องหัวใจ
ทั้งสี่ห้องหอ ไม่รอผู้ใด เป็นสิทธิทรามวัย
ที่ได้ครอบครอง

๏ เจ้ากลับลืมพี่ ลืมคู่ชีวี เคยคู่สู่สอง
เมื่อพบคนใหม่ หัวใจเจ้าปอง ชาติเชื้อวันทอง
ย่อมต้องสองใจ

๏ เสียแรงเกิดมา เป็นชาติอาชา กลับต้องร้องไห้
น้ำตารินหลั่ง คับคั่งความนัย เถิดหักห้ามไว้
อย่าได้จาบัลย์

๏ น้ำใจนารี หารักแท้มี เพียงภาพในฝัน
จักหักใจห้าม สิ้นความผูกพัน จากนี้ขาดกัน
จนวันสิ้นลม ๚ะ๛

*ขอบคุณภาพประกอบจาก imageshack.com

วันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2552

อนิจจาน่าเสียดาย (ฉบับพิสดาร)


๏ อนิจจาน่าเสียดาย
ฉันทำรองเท้าหายไปข้างหนึ่ง
ข้างนั้นสลักคำรักซึ้ง-ซึ้ง
มีกลิ่นหึ่งของขี้หมา..เหยียบมาเมื่อวาน

๏ ครึ่งหนึ่งหลงเหลือติดเท้านี้
สั่นฤดีเสียสะเทือนสะท้าน
ปล่อยเท้าเปล่าเปลือยเหยียบดินดาน
ทรมานปานนางทาสจะขาดใจ(แต่ก็มิได้นำพา)

๏ อีกครึ่งอยู่ที่น้องแก้ว
จิ๊กของพี่ไปแล้วจะทำไฉน
หาใกล้ๆ แต่น้องก็หนีไกล
แถมซ่อนอย่างไวไม่เห็นกัน

๏ เสียแรงเก็บตังค์ซื้อ
ควรหรือนางเอาไปล้างเสียอย่างนั้น
ทิ้งให้พี่ ดม หา แทบจาบัลย์
ที่ไหนนั่นมิ่งขวัญจะให้คืน

๏ โดนจิ๊กโก๋ฝากรอยเท้าไว้กะอก
แถมยังตกในมือของเขาอื่น
แสนเจ็บเล็บขบปูนปืน
โดนเกย์เสียบเสียววิญญาณ(บรึ๋ย!)

๏ ใจนางอย่างน้ำแข็งขายกลางดึก
พอคึกคึกลงแก้วใสเมรัยสะท้าน
ชั่วครู่ก็เมาเป็นอันธพาล
แล้วจึงคลานอย่างอนาถมิอาจยืน

๏ บุราณว่าพรากจากไนกี้
ลับลี้โดนขายให้คนอื่น
เสียแรงโศกเศร้าทุกวันคืน
ฝืนหาตามตลาดเย็นขุกเข็ญใจ

๏ รักหญิงปิ๊งปั๊งไปทั้งโลก
หายทุกข์โศกจากไนกี้แล้วฤาไฉน
มิเสียแรงเป็นบุรุษอาชาไนย
มาหลงใหลลูกสาวมหากวี

๏ เชิญนางเอารองเท้าคืนเถิดหนอ
ไม่ต้องรอเปลี่ยนยี่ห้อเป็นไนกี้
ขอเพียงแต่ให้รองเท้านี้
สวมพอดีกับใจของสองเรา ๚ะ๛

แด่..ลูกสาวท่านมหากวี ด้วยความเคารพรัก*ขอบคุณภาพประกอบจาก www.soccersuck.com

ผึ้งกับดอกไม้

กาลครั้งหนึ่งไม่นานนัก มีผึ้งหนุ่มตัวหนึ่งอาศัยอยู่ในสวนดอกไม้เล็ก ๆ ที่ไม่มีผู้ใดมาดูแล จึงดูราวกับว่าผึ้งหนุ่มตัวนั้นเป็นเจ้าของสวนดอกไม้เสียเอง ทุกวันเขาจะเก็บกินน้ำหวานจากสวนดอกไม้แห่งนี้เพื่อเลี้ยงชีวิต จนเมื่อเขาเติบใหญ่ขึ้นจึงสังเกตเห็นว่าดอกไม้บางดอกนั้นเริ่มแห้งเฉา ผึ้งหนุ่มรำพึงรำพันกับตนเองเบา ๆ

“อนิจจา! ใยดอกไม้บางดอกจึงเหี่ยวแห้งเช่นนี้ ชะรอยจะเป็นเพราะเราเก็บกินน้ำหวานจากดอกไม้มากเกินไป หากเรายังอยู่ที่นี่ต่อไป ดอกไม้จักเหี่ยวแห้งไปทั้งสวน อย่ากระนั้นเลย เราควรจะหยุดเก็บน้ำหวานจากดอกไม้ในสวนน้อยแห่งนี้ และไปจากที่นี่เสีย เพื่อให้ดอกไม้ยังคงเบ่งบานอยู่ต่อไปได้”

รวดเร็วเท่าความคิดราวกามนิตหนุ่ม ผึ้งน้อยบินจรหลีกหนีจากสวนดอกไม้น้อยไปแสนไกล เขาได้พบกับฝูงผึ้งผองเพื่อน จึงปักหลักอยู่ที่นั่นอย่างมีความสุข ไม่กลับมายังสวนดอกไม้อีกเลย

สวนดอกไม้น้อยนับวันกลับยิ่งเหี่ยวเฉา และหากดอกไม้สามารถพูดได้ ผึ้งหนุ่มอาจจะได้ยินคำรำพันจากดอกไม้ “เธอกำลังเข้าใจผิด ผึ้งน้อย ฉันมิได้เหี่ยวแห้งเพราะเธอดื่มน้ำหวานจากฉันมากเกินไปหรอก ฉันกลับดีใจที่เธอชื่นชมรสน้ำหวานของฉัน แม้ดอกไม้บางดอกอาจเหี่ยวแห้งไป แต่นั่นก็เป็นเพราะเงื่อนไขของธรรมชาติและกาลเวลา จะมีดอกไม้ดอกใดหรือที่สามารถยืนยงอยู่ชั่วกาล

“เธอไม่เห็นหรอกหรือว่าในความเหี่ยวเฉานั้น ยังมีดอกไม้เล็ก ๆ ที่แอบซุกตัวอยู่ข้างหลังรอวันเบ่งบาน หาใช่ฝีมือใครอื่น หากเป็นเธอนั่นแหละที่ช่วยผสมเกสรจากการดื่มน้ำหวานของเธอ ฉันมิได้เบ่งบานเพื่อเธอ แต่ฉันเบ่งบานเพราะเธอ”

แต่คำรำพันของดอกไม้ไม่มีเสียง มันจึงไหวหวิวและเงียบงันในธารเวลา นานชั่วลมเหมันต์ผ่านพ้น มวลบุปผาในสวนน้อยก็เหี่ยวแห้งลงทั้งหมด เหลือเพียงเศษซากดอกไม้ที่รอวันย่อยเป็นปุ๋ยดิน ผึ้งหนุ่มเคยบินผ่านที่แห่งนี้ครั้งหรือสองครั้ง แต่ไม่อาจระลึกได้แม้สักเสี้ยววินาทีว่าที่นี่คือสวนดอกไม้น้อยที่ตนเคยอาศัย

*ขอบคุณภาพประกอบจาก www.fotosearch.com

วันพุธที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2552

วิจารณ์วรรณกรรม : ความเหงา...ของกะทิ


คงเป็นเรื่องน่าอายหากจะสารภาพว่า ผมเพิ่งจะอ่าน "ความสุขของกะทิ" นวนิยายซีไรต์ชื่อดังคับฟ้าของวงการวรรณกรรมไทยจบลงเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ทั้งที่ตั้งใจจะอ่านให้จบตั้งแต่เมื่อปีที่เล่มนี้ได้ซีไรต์ ด้วยอยากรู้ว่านวนิยายเล่มนี้ "มีของ" อย่างไรถึงเอาชนะวรรณกรรมเนื้อหาหนัก ๆ ที่ฟาดฟันกันในปีนั้นอย่างดุเดือดได้ และยังได้รับความนิยมจนจะพิมพ์เป็นครั้งที่หนึ่งร้อยอยู่แล้ว แถมยังนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์อีกด้วย

หลังอ่านหนังสือ "มีของ" เล่มนี้จบ ผมมีความรู้สึกสองประการ

ประการแรก ความเห็นเดิมที่ผมเคยมองว่า หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่นวนิยาย แต่เป็นวรรณกรรมเยาวชน ได้เปลี่ยนแปลงไป จริงอยู่ นวนิยายก็อาจเป็นวรรณกรรมเยาวชน วรรณกรรมเยาวชนก็เป็นนวนิยายได้ อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่ามีเส้นคั่นบาง ๆ ระหว่างนวนิยายกับวรรณกรรมเยาวชน แม้จะดูคล้าย แต่ก็ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว


สิ่งที่แตกต่างประการหนึ่งคือ กลุ่มผู้อ่าน


กะทิไม่ได้มุ่งหมายจะบอกเล่าเรื่องราวของเธอให้เด็กรุ่นราวคราวเดียวกันฟังเท่านั้น แต่เธอกำลังเล่าเรื่องของเธอให้ผู้ใหญ่ที่กำลังสับสนว้าวุ่นในชีวิตได้เห็นหนทางการแก้ไขปัญหาของเธอ เล่าให้คนเมืองผู้คลุกคลีกับมลพิษทางอากาศและทางเสียงได้เห็นความสงบงดงามของชนบทที่หล่อหลอมให้หัวใจของเด็กน้อยเข้มแข็ง เล่าบรรยากาศการทำครัวย้อนยุค โรงเรียนวัด การทำบุญ และบ้านริมน้ำให้คนแก่ฟังเพื่อให้เกิดอาการ Nostalgia เล็ก ๆ และ... ฯลฯ ทั้งหมดคือส่วนผสมที่ทำให้หนังสือเล่มนี้ยกระดับตัวเองจากวรรณกรรมเยาวชนมาเป็นนวนิยายที่สามารถอ่านได้ทุกเพศทุกวัย จับใจ “ไร้จริต” อย่างที่ อัวร์ซูล่า เฮกเคล โปรยไว้หลังปก (จริง ๆ อาจจะไร้จริตมากกว่านี้หากกะทิดูเป็นเด็กธรรมดามากกว่านี้สักหน่อย)

พอเพียงและเพียงพอ คือสิ่งที่กะทิพยายามบอกทุกคน

ประการที่สอง กะทิได้ตอบคำถามที่คาใจผมมาตั้งแต่ได้ยินข่าวรางวัลซีไรต์ปี ๔๙ ว่า หนังสือเล่มนี้สมศักดิ์ศรีรางวัลสูงสุดของวงการวรรณกรรมไทย (ในสายตาสำนักพิมพ์และผู้อ่านกลุ่มใหญ่) หรือไม่


คำตอบก็คือ มั้ง!?


ที่ต้องแทงกั๊กไว้แบบนี้ เพราะผมไม่แน่ใจว่าตัวเองมีความรู้มากพอที่จะวิจารณ์กะทิในทางลบหรือไม่ เกิดฟันธงไปว่า “ไม่” ประเดี๋ยวจะโดน “กูรู” ทั้ง “ของจริง” และพวก “กูรู้” สับเอาเสียเปล่า ๆ

เอาเป็นว่า ผมขอเสนอความคิดเห็นบางประการทิ้งไว้ก็แล้วกัน

ในเรื่องของเนื้อหา ถือว่ากะทิสอบผ่านความเป็นวรรณกรรมอมตะนิรันดร์กาลของมนุษยชาติ คือจับเอาเรื่องราวความสุข ความทุกข์ อารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์มาถ่ายทอดโดยไม่อิงบริบททางสังคมมากเท่าใดนัก ทำให้ไม่กลายเป็น “วรรณกรรมฤดูกาล” (คำของ ลาว คำหอม) คือวรรณกรรมที่จะ “อิน” อยู่ซักระยะหนึ่งจนกว่ากระแสจะหายไป เช่นวรรณกรรมเกี่ยวกับสถานการณ์สามจังหวัดชายแดนใต้ที่กำลังเป็นกระแสหลักในขณะนั้นและต่างก็เข้าชิงรางวัลนี้กันพรึ่บพรั่บ


เนื้อหาความสุขและความทุกข์ของมนุษย์อันเป็นอมตะในเรื่องกะทิ อาจจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ได้ใจกรรมการไปเต็มที่


ส่วนในด้านกลวิธีก็ถือว่าสอบผ่าน อย่างที่พูดไปแล้วในความคิดเห็นประการแรก คือเรียบง่าย ไร้จริต แม้จะมีบางช่วงบางตอนที่ดูแปลก ๆ และจงใจไปนิด เช่น ตอนเจอกับน้องพิ้งค์ ตอนที่หลวงลุงรับนิมนต์ข้ามประเทศและพี่ทองจะไปอเมริกาซึ่งผมรู้สึกติดใจว่าต้องมีลูกเล่นอะไรตอนจบแน่ (แล้วก็จริง ๆ ด้วย) แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็ต้องบอกว่า คุณงามพรรณเขียนถึงกะทิได้อย่าง “เข้าไปนั่งในใจเด็ก” ได้ คืออ่านแล้วรู้สึกเหมือนอ่านไดอารี่ของเด็กมากกว่านวนิยาย นอกจากนั้นยังมีวิธีเล่าที่ “เนียน” ในสิ่งที่เด็กไม่น่าจะพูดออกมาได้ เช่น การให้ผู้ใหญ่พูดแทนเด็กแล้วกะทิตอบรับว่า “พูดแทนใจ” แทน หรือนึกคำพูด “คำใหญ่” ของคนนั้นคนนี้แล้วลงท้ายว่า “กะทิเห็นด้วย”


เรื่องภาษา อันนี้ก็ไม่ต้องพูดถึง คุณงามพรรณใช้ภาษา “กินขาด” และ “กินใจ” อย่างที่คนที่เรียกตัวเองว่า “นักเขียน” ในปัจจุบันบางคนยังทำไม่ได้ ยกตัวอย่างประโยคที่กินใจผมมาให้ดูสักสองตัวอย่าง


ยิ้มของพี่ทองเหมือนโรคติดต่อ ยิ้มที่ส่งมาจากหัวใจระรื่น ต่อสายตรงถึงปากและแววตา แผ่รัศมีเป็นคลื่นรอบ ๆ เหมือนเวลาโยนก้อนหินลงในน้ำจนคนรอบข้างรู้สึกได้
(น.๑๔)


หรือ สีหน้าของตาขณะมองตรงมาที่กะทิดูเหนื่อยล้าและโรยแรง ไม่ต่างจากศาลาริมน้ำหลังนี้ ที่ผ่านแดด ผ่านฝน ผ่านโลกมานานจนทุกอณูเนื้อไม้อาบอิ่มด้วยอดีต และไม่ปรารถนาใดในอนาคตอีกแล้ว (น.๒๗ – ๒๘)


อ้าว ก็ดีไปหมดนี่ แล้วปัญหาอยู่ตรงไหน
ปัญหาใหญ่ที่ผมมองอยู่ที่ตัวละคร คือ ด.ญ. ณกมล หรือหนูกะทินี่แหละ
ผมรู้สึกว่ากะทิเหมือนนางฟ้าที่ลอยมาจากสรวงสวรรค์

พูดให้ชัดขึ้นไปอีก ผมยังไม่เชื่อว่าหนูกะทิจะสามารถมีตัวตนอยู่จริงในโลกนี้ได้!


เด็กอายุเพียงไม่กี่ขวบ เหตุใดจึงสามารถมองโลก มองชีวิตได้อย่างลึกซึ้ง ยอมรับกฎไตรลักษณ์ได้หน้าตาเฉย ทำใจยอมรับเรื่องร้ายที่สุดในชีวิตได้อย่างมีความสุข แม้จะบอกว่ากะทิ “ไม่เข้าใจ” ความตาย แล้วก็ใช้ความ “แอ๊บแบ๊ว” แบบเด็ก ๆ จบความไม่เข้าใจไปดื้อ ๆ จึงไม่เสียใจ แต่ที่จริงแล้วถึงกะทิจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจกฎไตรลักษณ์ อย่างน้อยด้วยความเป็นปุถุชนก็น่าจะโศกเศร้าบ้างสักนิด ผมจำได้ว่ามีฉากหนึ่งที่กินใจผมมาก และเป็นฉากที่ผมเห็นว่ากะทิมีตัวตนมากที่สุดในเรื่อง คือฉากที่กะทิวิ่งบนหาดทรายและร้องไห้


สายลมปนไอร้อนที่ลอยขึ้นมาจากพื้นทรายกระทบใบหน้า กะทิวิ่งเร็วขึ้นเรื่อย ๆ วิ่งไปให้ถึงขอบฟ้า เท้าสัมผัสทรายเนื้อละเอียดอย่างที่แม่ทำไม่ได้...อย่างที่แม่เคยทำได้ สองมือกำเข้าหากัน ขยับขึ้นลงตามจังหวะการวิ่งอย่างที่แม่ทำไม่ได้...อย่างที่แม่เคยทำได้ กะทิยกมือขึ้นปาดน้ำตา กิริยาง่าย ๆ แบบนี้แม่ก็ทำไม่ได้...ทั้ง ๆ ที่เคยทำได้

กะทิเห็นประตูโรงแรมแวบผ่านปลายตา แต่ขาเหมือนหยุดไม่ได้ กะทิยังคงทะยานไปข้างหน้า และภาวนาให้หาดทรายทอดยาวอย่ารู้จบ
จวบจนเมื่อเข่าอ่อนทรุดลงบนพื้นทราย กะทิจึงรู้ว่าเหงื่อไหลโซมกาย ขาสั่นระริก เหมือน ๆ กันกับไหลที่สั่นตามแรงสะอื้น กะทิร้องไห้อย่างไม่อายใคร อย่างทำนบพัง อย่างที่ไม่เคยมาก่อน (น.๕๑)

นี่คือครั้งเดียวที่กะทิร้องไห้ เป็นการร้องไห้อย่างสมเหตุสมผลและสะเทือนอารมณ์มาก ไม่พร่ำเพ้อ ไม่ฟูมฟาย แต่แน่นหนักในความรู้สึกตามสไตล์คนที่ชอบเก็บงำอารมณ์ เป็นการร้องไห้ในแบบฉบับของกะทิจริง ๆ แต่เมื่อถึงตอนที่แม่ของกะทิตาย ทั้งที่เป็นเรื่องหนักหนากว่าตอนป่วยแต่น้ำหนักอารมณ์ของกะทิกลับดูล่องลอยพิกล และยอมรับได้อย่างไม่ทุกข์ร้อน


แต่วันนี้ชีวิตก็มีความสุขดีตรงที่มีพี่ทองมายืนชมทะเลอยู่ด้วยกัน แม้ว่ากะทิเพิ่งสูญเสียคนที่กะทิรักมากที่สุดไป
(น.๘๐)


ง่าย ๆ อย่างนั้น?


แม้จะบอกว่ากะทิเป็นเด็กหญิงที่ได้รับความรักความอบอุ่นจากตาและยายเพียงพอทำให้หัวใจเข้มแข็ง แต่ตาและยายยังไงก็ไม่เหมือนพ่อแม่ เมื่อไปที่โรงเรียน มีเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน เพื่อนไม่ถามหรือไม่ล้อบ้างหรือ? กะทิไม่น้อยเนื้อต่ำใจบ้างหรือ? ไม่ถามถึงพ่อแม่บ้างหรือ? การได้พบกับแม่ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ก่อนจะจากกันอีกครั้งชั่วนิรันดร์ ไม่ทำให้หัวใจของกะทิสั่นไหวบ้างหรือ?


ถ้าจะบอกว่าบรรยากาศธรรมชาติอันแสนอบอุ่นของบ้านริมคลองทำให้กะทิเข้มแข็ง น่าจะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เพราะคนที่จะ “อิน” กับบรรยากาศสุขสงบของ “บ้านนอก” ก็คือคนที่เติบโตและประสบแต่ความวุ่นวายในเมืองหลวงเท่านั้นเอง จึงจะมีมโนทัศน์สุขสงบของบ้านนอกอยู่ในใจแบบนั้น สำหรับกะทิที่เติบโตมาจากบ้านนอก บรรยากาศอันคุ้นชินยังไงก็คงไม่ “อิน” จนทำให้เข้มแข็งได้ขนาดนั้น


นอกจากนั้นความรักที่จะทำให้กะทิตัดสินใจจะอยู่ที่บ้านริมคลองกับตายายต่อไปนั้นน่าจะเป็นความรักที่มากพอ จนมากกว่าความผูกพันทางสายเลือดกับพ่อ นั่นหมายถึงเป็นความรักนอกเหนือจากที่ได้รับจากตากับยาย เช่น ความผูกพันกับเพื่อนที่โรงเรียน เพื่อนเล่นข้างบ้าน ฯลฯ เท่าที่เห็น เพื่อนของกะทิมีแต่ “พี่ทอง” ที่เป็นเหมือน Puppy Love ของกะทิ


ภาพลักษณ์ของกะทิที่ผมเห็น คือเด็กเหงา ๆ คนหนึ่งที่อาศัยอยู่กับตายายบริเวณบ้านริมคลองที่มีธรรมชาติสุขสงบร่มรื่น ตัวของกะทิเองไม่มีปฏิสัมพันธ์มากนักกับเพื่อนบ้านหรือคนรอบข้าง และดูเหมือนเหินห่างจากเพื่อนวัยเดียวกันอยู่บ้างด้วยความที่เป็น “คนมีระดับ” ที่อาศัยอยู่บ้านนอก (ตากับยายเป็นอดีตไฮโซที่มาอาศัยอยู่บ้านนอก จึงน่าจะทำให้ภาพลักษณ์ “ไฮโซ” ติดอยู่กับกะทิพอสมควร)


ถ้ากะทิเป็นเด็กเหงา ๆ (ตามที่ผมเห็น) เช่นนั้นความเหงาก็จะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เธอไขว่คว้าหาความอบอุ่น หาหลักยึดของชีวิตที่มั่นคงพอจะทำให้ตนเองเข้มแข็งขึ้น


ความรักจากตายาย บรรยากาศอันแสนอบอุ่นที่บ้านริมคลอง และเพื่อนใจหนึ่งคน นั่นจะมากพอหรือสำหรับการหล่อหลอมให้เด็กน้อยคนหนึ่งเข้มแข็งได้ถึงขนาดนั้น?

มิพักต้องพูดถึงความ ไม่สมจริงอื่น ๆ ซึ่งผมไม่อยากพูดถึงมาก อาทิ การตัดสินใจ "ทิ้งลูก" ของแม่กะทิ ด้วยเหตุผล? การให้ลูกกลับมาพบอีกครั้ง? การ ฯลฯ
อาจจะเป็นข้อจำกัดเรื่องความยาวของ Novella ที่ไม่สามารถปูพื้นหลังของตัวละครให้ละเอียดลึกซึ้งได้มากกว่านี้ หรือเป็นความจงใจของผู้เขียนที่จะเขียนเรื่อง “ความสุข” ของกะทิ จึงไม่วาง sub-plot เกี่ยวกับชีวิต เพื่อนบ้าน โรงเรียน ฯลฯ ของกะทิ ไม่งั้นนวนิยายอาจต้องเปลี่ยนชื่อเป็น “ชีวิตของกะทิ”


หรืออาจจะเป็นความจงใจของผู้เขียนที่ต้องการให้ “กะทิ” มีบทบาทอันโดดเด่นผิดจากคนธรรมดา คือต้องการให้เป็น “นางฟ้าตัวน้อย” แต่แรกเริ่ม อาจจะเพื่อสั่งสอน เพื่อแสดงนามธรรมของชีวิตให้ออกมาเป็นรูปธรรมผ่านเด็กหญิงคนหนึ่ง –ก็เป็นได้


แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ความเห็นเชิงลบของผมที่มีต่อนวนิยายเรื่องนี้คือจุดบอดในตัวละครนี่แหละ เมื่อเทียบกันแล้ว ด.ญ. พิงค์ในตอน “ดินสอสี” ยังดูสมจริงกว่ากะทิเยอะ


ด.ญ. กะทิ ที่ผมรู้จัก ก็เป็นเพียงเด็กหญิงเหงา ๆ ที่ไม่น่าจะมีตัวตนคนหนึ่งเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ณ วันนี้ เด็กหญิงณกมล ก็ทำยอดขายไปแล้วเป็นล้านเล่ม ซึ่งผมอนุมานเอาเองว่า มีคนได้รู้จักกะทิแล้วมากมายหลายสิบล้านคน

แต่พวกเขาจะรู้จักกะทิในแง่มุมใด รู้จักมากน้อยแค่ไหน ผมก็ไม่อาจทราบได้

แต่อย่างน้อย กะทิก็ขึ้นชื่อว่ามีคนหลายสิบล้านคนรู้จัก แม้จะไม่เคยได้พูดคุยกับเธอจริง ๆ ก็ตามที


บางที...นั่นอาจจะเป็นความเหงาที่แท้จริงของกะทิ...ก็เป็นได้
*ขอบคุณภาพประกอบจาก www.amarinpocketbook.com