วันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

อาลัย "นิรันศักดิ์ บุญจันทร์"

 

ข่าวร้ายในวงการวรรณกรรม มาพร้อมกับยามสายที่หม่นมัวด้วยเมฆฝนและคลุ้งควันจากการเผาศพโรคระบาด

ผมคิดว่านักเขียนหนุ่มสาวยุคของผมหลาย ๆ คนคงใจหายเมื่อได้ยินข่าวเมื่อตอนสาย ๆ ว่าพี่ตุ๋ย นิรันศักดิ์ บุญจันทร์ ผู้เป็นนัก "จุดประกายวรรณกรรม" คอลัมน์ที่เป็นพื้นที่ "แจ้งเกิด" ของนักเขียนหน้าใหม่ ๆ หลายคนในยุคนั้น วันนี้พี่จากไปแล้วด้วยโรคมะเร็งตับ

ผมเองก็เป็นหนึ่งในเด็กน้อยหัดเขียนที่ได้รับ "ประกายไฟ" จากพี่ตุ๋ย จำได้ว่าเรื่องสั้นเรื่องแรกที่ลงตีพิมพ์ในคอลัมน์จุดประกายวรรณกรรมเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของปลาในเชิงเปรียบเปรยกับชีวิตมนุษย์ ซึ่งหากมองกลับไปในวัยสามสิบกว่า ๆ ก็รู้สึกเขิน ๆ เหมือนกันที่ส่งเรื่องสั้นแบบ "เทิ่ง ๆ" ขาดชั้นเชิงตามประสาคนเพิ่งหัดเขียนไปให้พี่อ่าน ซึ่งหากเป็นผม ที่เดียวที่เรื่องของเด็กคนนั้นจะได้ลงคือตะกร้า หรือตอบกลับไปพร้อมคำแนะนำยาวเหยียด

จะด้วยเป็นการให้กำลังใจนักหัดเขียนหน้าใหม่ หรือเรื่องสั้นเรื่องนั้นมีอะไรบางอย่างที่สายตาฝ้าฟางของผมในวัยนี้ก็ยังมองไม่เห็น แต่เรื่องสั้นเรื่องนั้นก็ได้รับการตีพิมพ์

ผมขอยกคำพูดจากโพสต์ของพี่ท็อป อดิศร ไพรวัฒนานุพันธ์ เลขาธิการสมาคมนักเขียนคนปัจจุบันที่บอกว่า "มันมีความหมายมากมาย เสริมสร้างกำลังใจได้เป็นอย่างดีกับการรู้ว่าผลงานเราได้รับการยอมรับจากใครสักคน"

นั่นคือสิ่งเดียวกับที่ผมรู้สึกเมื่อเห็นชื่อของตัวเองตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ครั้งแรก ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรที่พี่ตุ๋ยเลือกเรื่องนั้นไปตีพิมพ์ ทว่าความพองโตของหัวใจ และประกายไฟที่ถูกจุดขึ้นมาครั้งนั้น ก็คือไฟกองเดียวกันที่ทำให้วัยหนุ่มของผมเต็มไปด้วยเรื่องสั้นมากมายที่หลั่งไหลออกมาจากปลายปากกา ได้พิมพ์บ้าง ได้รางวัลบ้าง ลงตะกร้าเงียบหายบ้างไปตามคุณภาพของผลงาน

แม้ตอนนี้ไฟการเขียนของผมจะมอดลงจนเข็นเรื่องสั้นออกมาได้แค่ปีละเรื่องก็เต็มกลืน และยังไม่ถึงขั้นที่จะเรียกตัวเองว่านักเขียนหนุ่มได้เต็มปาก แต่เมื่อมองย้อนไปก็พอใจกับวัยหนุ่มที่ได้ผ่านมันไปอย่างมีความหมายอยู่บ้าง และพูดได้เต็มปากว่าไฟฝันอันวาวโรจน์ของวัยหนุ่มมีจุดประกายวรรณกรรมเป็นประกายแสงแรก เช่นเดียวกับนักเขียนหนุ่มอีกหลาย ๆ คนที่ยังคงยืนหยัดเขียนอยู่ในวงการนี้แม้จะยากลำบากเพียงใด

ด้วยรักและอาลัยนัก "จุดประกายวรรณกรรม" พี่ตุ๋ย นิรันศักดิ์ บุญจันทร์ และขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของพี่ด้วยครับ

เขาจะรู้บ้างไหม?

 

เขารู้บ้างไหมว่าใครเกลียด
ก่อนนอนเขาเครียดบ้างไหม
ศพแล้วศพเล่าล้มลงไป
น้ำตาเขาไหลหรือไม่มี

เขาเห็นคนเท่ากันบ้างหรือเปล่า
สายตาเมื่อมองเราเห็นศักดิ์ศรี
หรือแค่ทาสสาริยำให้ย่ำยี
คิดว่าชี้นิ้วสั่งได้ดังใจ?

เขาเห็นคนตายบ้างหรือเปล่า
เขาเคยโศกเศร้าบ้างไหม
นั่นศพพ่อ, แม่, ลูก, หรือญาติใคร
หรือเขาไม่นับญาติคนชาตินี้

เขาได้ยินบ้างไหมใครก่นด่า
หรือเขาปิดหูตาคอยหลบหนี
เสียงร่ำไห้ประชาชนท้นทวี
จะเหลือที่แห่งใดให้หลบเร้น?

เขาจะรู้บ้างไหมใครสาปแช่ง
ที่เขาแกล้งทำบ้านเมืองเหมือนเรื่องเล่น
กี่หมื่นศพกี่แสนล้านความลำเค็ญ
เขาจึงจะมองเห็นเราเป็นคน