วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ONET... โอ้ เซ็งเป็ด!!

เห็นข้อสอบโอเน็ตของเด็กสมัยนี้แล้ว...อ่อนใจ

ประมาณว่า ถ้านายวุฒินันท์ ตอนนี้อยู่ ม.6 และเพิ่งสอบโอเน็ตเสร็จไป ขอบอกว่า มันหมดอนาคตแน่ ๆ ไม่ต้องหวังแล้ว อักษงอักษร- อักษรจุฬาฯ ไม่ต้องคิด อักษรศิลปากรแม้แต่ตูดก็ไม่มีทางฟลุกติด มีแววว่าจะได้เข้าเรียนในโควตารามฯ แทน... ชัวร์ป๊าด!

..........................................................

ข้อสอบ "แนวใหม่" (เขาว่างั้น)

อยากรู้ว่าแนวใหม่ยังไง ติดตามรายละเอียดได้ในข่าว หรือตามเว็บบอร์ดวัยรุ่น อาทิ เด็กดีดอตคอม คงด่าคนออกกันกระจุยแล้ว

โดยสรุปแบบสั้น ๆ ของ "แนวใหม่" ก็คือ เป็นข้อสอบปรนัยที่มิใช่ 4 ตัวเลือก ความน่าจะเป็น 1/4 อีกต่อไป แต่เป็นข้อสอบปรนัยที่สามารถเลือกได้มากกว่า 1 ตัวเลือก หากเห็นว่าถูกต้องมากกว่า 1!

และบางข้อก็เป็นข้อสอบเพื่อวัดความสามารถในการคิดวิเคราะห์เชิงสัมพันธ์ เช่น การจัดดอกไม้ เลือกสีผ้าปูโต๊ะ พร้อมทั้งเลือกเสิร์ฟอาหารในสถานการณ์เฉพาะ ซึ่งเป็นความรู้เกี่ยวกับการงานพื้นฐานอาชีพ โดยใน 1 ข้อ มี 3 ข้อย่อย และต้องเลือกให้ถูกทั้งหมดจึงจะได้คะแนน (แบบนี้มึ... เอ้ย คุณฆ่าผมเลยดีกว่า)

....................................................

ข้อดี - ข้อเสีย

บางข้อก็เป็นข้อสอบที่น่าชื่นชม เช่น ข้อสอบวิชาสังคม:
ฟิลิปปินส์ เคยเป็นเมืองขึ้นของประเทศใด อ่าส์... มีสองคำตอบ คือ สเปน และ สหรัฐฯ เออ... ก็พอทน อันนี้วัดความรู้ได้จริง (แต่นายวุฒินันท์ ตอบไม่ได้แน่ ๆ)

แต่บางข้อก็เรียกร้องจินตนาการจากเด็กมากเกินไปนิดส์ เช่น ข้อสอบวิชาภาษาไทย:
พูดถึงวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณี ตอนสุดสาครโดนชีเปลือยหลอกแล้วพระฤาษีมาช่วยสุดสาคร ก็อีตอน "แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์..." นั่นแล แต่ข้อสอบก็ดั้นถามมาอย่างน่ารัก-
ให้เลือกเครื่องดนตรี ฉาก และเครื่องแต่งตัวของตัวละครที่เหมาะสมกับเนื้อเรื่อง
เช็ดเป็ด! ภาษาไทยหรือการละครวะ!
อุ้ย... เผลอพูดจาไม่สุภาพ

บางข้อก็เป็นการดัดหลัง "เดะกุงเต๊บ" ที่ไม่เคยซักผ้าด้วยมือ โดยการถามถึงขั้นตอนการซักผ้าด้วยมือ! แช่ผ้ากี่นาที? ซักยังไง? ตากยังไง? อันนี้นายวุฒินันท์สบายไป เพราะซักมือเป็นประจำ (ไม่มีคนซักให้+ไม่มีตังค์หยอดเครื่อง)

บางข้อก็รู้เลยว่า คนออกข้อสอบอยากให้นักเรียนได้คลายเครียดบ้าง เลยกวน teen (หมายถึงกวนใจวัยรุ่นวัยทีนส์เอจ) นิโหน่ย
เช่น วิชาพลศึกษา ให้บทความน้องอะไรไม่รู้นักเทนนิส และบอกประวัติยืดยาว ตบด้วยคำถามน่ารักน่าชังว่า:
การตีลูกวอลเลย์ (หมายถึงลูกที่ยังไม่ตกพื้นฝ่ายเรา ไม่ใช่ลูกบอลของกีฬาอีกชนิดหนึ่ง) จะต้องตีลูกเมื่อลูกอยู่ในระดับใด!
พ่อมึ.... อุ้ย เผลออุทานไม่สุภาพ (อีกแล้ว) เอ่อ... บิดาคุณสิ แล้วจะให้ชีวประวัติมาทำดอกนมแมวอะไรฟระ
ข้อนี้อ่านนอกห้องต้องฮา แต่ก็เข้าใจว่า น้อง ๆ อ่านในห้องแล้วคงต้องไม่ฮา!

....................................................

ยังไงก็ขอแสดงความยินดีกับตัวเอง ที่รอดพ้นจากยุคการศึกษา "แนวใหม่" ที่ยิ่งทำยิ่งวิกฤติมาได้ (ถ้าใครพอจำได้ ผมคือนักเรียนมัธยมรุ่นสุดท้ายที่ใช้ระบบ Entrance)
ม่ายงั้นบรรลัยแน่ ๆ
และขอแสดงความยินร้ายกับน้อง ๆ เหยื่อของ "แนวใหม่" ที่ทดลองกันไม่จบไม่สิ้น
(ใหม่มันทุกปี จนเริ่มรู้สึกว่าตัวเองแก่พ้นสมัยแล้ว เพราะตามไม่ทัน)
สุดท้ายก็ขอเป็นกำลังใจให้น้อง ๆ ผ่านพ้นการทดลอง "แนวใหม่" ไปให้ได้ทุกคนนะครับ!!

วันเสาร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ความหลงหรือความรัก

๏ เธออาจจะเรียกว่า... ความหลง
เพราะฉันคงหลงใหลในความหวาน
จนยอมปล่อยใจให้ทรมาน
ร้าวรานด้วยฤทธิ์พิษร้าย

๏ เธอควรจะเรียกว่า... ความหลง
เพราะฉันคงรู้ตัวเมื่อสาย
คงรู้สึกเมื่อหัวใจใกล้หนาวตาย
เมื่อร่างกายสลายไปในความจริง

๏ แล้วจะเรียกว่า...รัก...ได้ไหม
เมื่อรู้สึกแล้วสุขใจไปทุกสิ่ง
เมื่อสัมผัสแล้วหัวใจไหวประวิง
เมื่อละทิ้งแล้วหัวใจร่ำไห้ตาม

๏ แล้วเราจะเรียกว่าอะไร
หนึ่งคำถามที่หัวใจใคร่จะถาม
ที่รู้สึกอยู่เต็มใจจงนิยาม
คือความหลง...หรือความงามของความรัก ๚ะ๛

วันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

อดีตและศรัทธา

เพราะมีอดีต เราจึงมีรากเหง้า และเพราะมีศรัทธา เราจึงมีสีสัน

รากเหง้า...


ขุดกล้วยไม้จากป่าใหญ่มาปลูกในกระถางเล็ก ๆ สีสันสวยงาม หากกล้วยไม้พูดได้ บางทีมันอาจจะไม่คร่ำครวญ ไม่ร้องไห้โหยหาป่าอย่างที่เราคิด เพราะกล้วยไม้อาจจะตื่นตาตื่นใจกับสีสันของเมืองหลวง ต่อเมื่อได้นำกล้วยไม้กลับไปปลูกในป่า ตอนนั้นกล้วยไม้อาจจะเพิ่งรู้ตัวว่า ไม่มีดินที่ไหนอีกแล้วที่จะเหมาะกับตนมากกว่าที่ป่าแห่งนี้


เราทุกคนก็เหมือนกล้วยไม้ พลัดบ้านพลัดถิ่นมาหลงสีสันน่าตื่นตาของเมืองหลวง และคิดว่าตนไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมที่บ้านได้อีกแล้ว ทั้งที่จริงรากเหง้าของชีวิตไม่มีวันจะตัดขาดได้ไม่ว่าจะผ่านไปนานเท่าไร


สีสัน...

ดอกไม้สองดอกเป็นดอกไม้อิสระ มันจะดูดน้ำสีอะไรจากพื้นดินก็ได้เพื่อที่จะมีสีตามต้องการ ดอกแรกเป็นดอกที่สักแต่จะดูดน้ำสีอะไรก็ได้ขึ้นมาพอให้อยู่รอดไปได้วัน ๆ ดอกที่สองพยายามที่จะดูดสีแดงซึ่งเป็นสีที่ดูดยากที่สุด เพราะมันฝันจะเป็นดอกกุหลาบสีสวย ตัวแทนแห่งความรัก แม้จะต้องใช้ความอดทนอย่างหนักก็ตาม


ในที่สุด ดอกไม้ดอกที่สองก็ได้กลายเป็นดอกกุหลาบสีสันสวยงามอย่างที่ใจปรารถนา เพื่อเป็นดอกไม้สำหรับส่งต่อความรักให้แก่คนอื่นต่อไป ขณะที่ดอกไม้ดอกแรกตอนนี้เป็นเพียงดอกไม้ไร้ชื่อ มีสีผสมปนเปกันจนแทบจะดูไม่ได้ และรอวันเหี่ยวแห้งไปอย่างไร้ค่า

แต่น่าแปลก คนหลายคนมักจะเลือกเป็นดอกไม้ดอกแรก โดยอาจจะแอบหวังอยู่ลึก ๆ ว่า ถ้าบังเอิญ น้ำสีที่สักแต่จะดูด ๆ ขึ้นมาอาจผสมกันเป็นสีสันสวยงาม ทั้งที่โลกของความเป็นจริงแทบจะไม่มีโอกาสเป็นไปได้เลย

หากไร้ซึ่งอดีตและศรัทธา เราก็คงไม่มีที่มาและที่ไป เป็นต้นไม้ไร้ค่า ไร้ซึ่งรากเหง้าและสีสัน

อดีตและศรัทธา จึงไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์ควรจะมี แต่เป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่อาจไม่มีต่างหาก