วันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ถอยคนละก้าวแล้วเชือดไก่

ประกาศถอยคนละก้าวแล้วเชือดไก่
แกนนำมีเท่าไรก็เชือดหมด
อำนาจยิ่งใช้กลับยิ่งลด
ยิ่งแข็งกร้าวยิ่งถอยถดเสื่อมศรัทธา

เขามิใช่ลูกหลานของท่านหรือ
เพียงประท้วงด้วยสองมืออันเดียงสา
หรือท่านจะนับญาติร่วมชาติมา
เฉพาะคนที่ปิดตาว่าท่านดี

โบราณว่าเชือดไก่ให้ลิงตื่น
ลิงจะกลัวจนยืนไม่ติดที่
แต่เชือดคน, คนยิ่งล้นท้นทวี
เพราะคนมีความเห็นใจให้แก่กัน

ขอให้ถอยคนละก้าวแล้วเชือดไก่
หวังเพียงให้ลิงกลัวจนตัวสั่น
แต่เด็กเด็กมิใช่ลิงยิ่งประจัญ
นับถอยหลังรอวันท่านสิ้นลาย

๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๓

วันอังคารที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2563

น้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรง

บ่นเหมือนน้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรง
น้ำหนักคำเบาโหวงโขยงเขย่ง
โอ้เมฆหมอกมืดดำน่ายำเกรง
ล้วนแต่ม็อบทำตัวเองตะเบ็งไป

จะข้ามหัวรัฐสภานั้นหรือเล่า
รัฐสภาเห็นหัวเขาอยู่หรือไม่
หากปัญหาถูกแก้ตามกลไก
การเมืองหรือจะไหลลงกลางเมือง!

๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๓

วันศุกร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ปีศาจ (๒)

โค่นเรา, ก็ไม่จบที่รุ่นเรา
หากไม่โค่นรากเหง้าของปัญหา
โค่นเรา, ก็จะมีรุ่นใหม่มา
กี่ล้านการเข่นฆ่าก็ไม่ตาย

โค่นใครก็ไม่จบที่รุ่นนี้
โค่นคนเพียงคนที่จะสูญหาย
แต่เมล็ดพันธุ์อุดมการณ์หว่านกระจาย
เติบโตตามความชั่วร้ายที่คุณทำ

หากตายสิบย่อมเกิดแสนความแค้นโกรธ
หวังว่าเราจะยกโทษหรือ, น่าขำ!
เมื่อคุณเริ่มสงครามสาริยำ
ก็แล้วแต่ผลกรรมจะนำพา

ไม่มีวันจบลงที่รุ่นใคร
ยิ่งโค่นล้มเท่าไรยิ่งแกร่งกล้า
เราคือปีศาจ* แห่งกาลเวลา
ซึ่งคุณปลุกชีพมาฆ่าคุณเอง

๑๗ ตุลาคม ๒๕๖๓
-------------
*"ท่านไม่สามารถจะยับยั้งความเปลี่ยนแปลงแห่งกาลเวลาได้ดอก เมื่อวันเวลาล่วงไป ของเก่าทั้งหลายก็นับวันจะเข้าไปอยู่ใกล้พิพิธภัณฑ์ยิ่งขึ้น...ผมเป็น 'ปีศาจ' ที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่า ทำให้เกิดความละเมอหวาดกลัว และไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องปลอบใจท่านเหล่านี้ได้ เท่ากับไม่มีอะไรหยุดยั้งความรุดหน้าของกาลเวลาที่จะสร้าง 'ปีศาจ' เหล่านี้ให้มากขึ้นทุกที"
(ปีศาจ : เสนีย์ เสาวพงศ์)

วันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ปีศาจ (๑)

 

เรามีแต่ร่มกันฝน
มีก็แต่เดนคนที่ต้องฝ่า
ไม่ต้องยิงหรอกน้ำ, แก๊สน้ำตา
เมื่อคุณฆ่ามนุษยธรรมประจำใจ

เรามีแค่มือสองมือ
แต่คุณถืออำนาจบาตรใหญ่
วันนี้คุณพร้อมยอมลั่นไก
แสกหน้าคนไทยไม่รู้ร้อน

เรารู้ว่าคุณกลัวปีศาจ
อำนาจที่แท้จริงจะหลอกหลอน
คุณกลัวว่าวันหนึ่งเมื่อตื่นนอน
คุณจะถูกถอดถอนอำนาจทราม

จากนี้ไม่มีใครที่ไม่รู้
ไม่มีใครจะทนอยู่ให้คุณหยาม
ประกายไฟนิดน้อยจะลุกลาม
เป็นเปลวเพลิงสงครามที่คุณกลัว

๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๓

วันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2563

แว่วข่าวคราวว่าข้าวแข็ง / พัชรพร ศุภผล

"แว่วข่าวคราวว่าข้าวแข็ง" ของพัชรพร ศุภผล เรื่องนี้น่าจะขึ้นแท่นเรื่องสั้นพานแว่นฟ้าที่ชอบที่สุดของปี 2563 นี้เลย (แต่ยังอ่านไม่หมดนะ 55)

พลิกมาอ่านเรื่องนี้เป็นลำดับแรก ๆ เพราะจำชื่อน้องได้ (ปีก่อนน้องได้รับรางวัลจากเรื่อง "เสรีสิบสี่เส้นบรรทัด" ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ชวนว้าวเหมือนกันเมื่อเทียบกับอายุคนเขียน ตอนนั้นน้องยังใส่ชุดนักศึกษามารับรางวัลอยู่เลย) เพื่อดูว่าพัฒนาการในปีนี้เป็นอย่างไร แล้วก็ไม่ผิดหวัง

พัชรพรเลือกใช้ตัวละครชนชั้นกลางเป็นแกนหลักในการดำเนินเรื่อง ซึ่งเป็นชนชั้นที่พร้อมจะเป็นผู้กระทำและกลายเป็นผู้ถูกกระทำอยู่ตลอดเวลา ซ้อนเรื่องเล่าของ "ลุงข้าวแข็ง" ลุงหัวดื้อในโลกโซเชียลที่ทำให้ตัวละครหลักค่อย ๆ ได้ทบทวนสิทธิพลเมืองของตัวเองทีละนิด ก่อนจะตบท้ายเรื่องด้วยการใช้นิทานเปรียบเทียบ (Allegory) เรื่องสั้น ๆ ซ้อนเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง แต่ส่งผลสั่นสะเทือนเหมือนโดนตบหน้าฉาดใหญ่ ที่สำคัญคือเป็นเรื่องที่ใช้ฉาก "โรคระบาดครั้งใหญ่" เป็นตัวขับเคลื่อนปมปัญหาในเรื่องด้วย นับว่า "สายตาจับปรากฏการณ์ทางสังคม" ของนักเขียนคนนี้ไม่ตกสมัยและไม่ธรรมดาเลย

เด็ก ๆ ที่เรียนในชั้นเรียนถามอยู่เสมอว่า จะเขียนเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคมให้ "เป็นเรื่องเป็นราว" ได้อย่างไร ผมก็จนใจในคำตอบ ไอ้เรื่องภาษาสละสลวย พล็อตซับซ้อน กลวิธีเล่าเรื่องเท่ ๆ ทั้งหมดไม่สำคัญเท่าการพยายามใคร่ครวญปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม แล้วใช้สายตา "capture" ภาพพวกนั้นมาปะติดปะต่อกัน แบบที่กนกพงศ์เคยบอกว่า "โครงเรื่องสำหรับงานวรรณกรรมไม่ได้วางไว้ทั้งแท่งให้เราเดินไปพบ ทว่ามันคล้ายภาพซึ่งใครแกล้งฉีกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แล้วขว้างให้กระจัดกระจายอยู่ในที่ต่าง ๆ ปล่อยให้นักเขียนค้นหาแต่ละชิ้นส่วนเพื่อมาประกอบขึ้นเป็นภาพที่สมบูรณ์อีกครั้งหนึ่ง" ซึ่งเรื่องแบบนี้เอาเข้าจริง ๆ ก็ไม่มีวิธีสอนที่ตายตัว เพราะ "สายตาจับปรากฏการณ์ทางสังคม" ของนักเขียนแต่ละคน แต่ละยุคก็ไม่เหมือนกัน ยิ่งไปสอนเค้ามากเดี๋ยวเด็กจะยิ่งรู้ว่าเรามันเหลาเหย่ตกสมัยไปแล้ว 55

แต่สำหรับนักเขียนรุ่นใหม่คนหนึ่งที่จับเอาเรื่องราวที่เกิดขึ้นท่ามกลางโรคระบาดครั้งใหญ่ เรื่องไซเบอร์บูลลี่ของพลเมืองออนไลน์เลเวลหนึ่ง และนิทานเปรียบเทียบมาเล่าซ้อนกันสามชั้น เราจะต้องการอะไรจากนักเขียนรุ่นใหม่มากไปกว่านี้อีกเล่า!

ถึงแม้ว่าในทัศนะของผม ถ้าพูดถึงความเข้มข้นทางวรรณกรรม เท่าที่อ่านในเล่มถึงตอนนี้ก็คงต้องยกให้ "เส้นแบ่ง" ของวัฒน์เป็นอันดับหนึ่ง แต่มือระดับเคยชนะเลิศพานแว่นฟ้าและว่าที่ซีไรต์ผมไม่ชมมากเพราะคงมีคนชมเยอะอยู่แล้ว 55 แต่ถ้าพูดถึงความสดใหม่น่าติดตามก็ขอยกป้ายไฟเชียร์น้องพัชรพรไว้ก่อนเลย ขอให้เข้ารอบพานแว่นฟ้าทุกปีนะจ๊ะ จะรออ่านเสมอ
 

วันพุธที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2563

วันเกิดของคนสำคัญที่สุดในหัวใจ

บังเอิญที่วันรับรางวัลสำคัญในชีวิต เป็นวันเกิดของคนสำคัญที่สุดในหัวใจ

รางวัล คำชื่นชม และสิ่งดี ๆ ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในวันนี้ ขอมอบเป็นของขวัญวันเกิดให้พี่เค้กนะครับ แทนคำขอบคุณทุกสิ่งที่แสนดีที่มอบให้กอล์ฟเสมอนับตั้งแต่ได้เจอกัน เหมือนเพลงพี่ป้างท่อนนึงที่ร้องว่า "ตั้งแต่วันฉันพบเธอ ก็เจอแต่สิ่งดีงาม"

สุขสันต์วันเกิดนะครับ

คนดี ความดี และพลเมืองดีในโลกวรรณกรรม

เรื่องสั้นชื่อ "พลเมืองดี" ปรากฏในบรรณพิภพของไทยอย่างน้อยก็ 3 เรื่อง เรื่องแรกเกิดขึ้นเมื่อปี 2490 คือเรื่อง "พลเมืองดี" ของดอกไม้สด กล่าวถึงพลเมืองดีที่ไปยุ่งไม่เข้าเรื่องกับการตกลงกันระหว่างเจ้าของวัวกับโจรเรียกค่าไถ่วัว ในปี 2514 ลาว คำหอม ได้เขียนถึงลุงชาวไร่ผู้เป็น "พลเมืองดี" ซึ่งจำใจต้องเลี้ยงดูปูเสื่อเจ้าหน้าที่รัฐ และแทบจะกราบกรานให้เขาทำตามหน้าที่ของตนเสียที ต่อมาในปี 2522 อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ได้เขียนถึงขอทานที่ตัดสินใจเป็น "พลเมืองดี" ช่วยจับโจรกระชากสร้อย แต่โจรคนนั้นกลับเป็นลูกชายของแม่ค้าข้าวแกงซึ่งแบ่งข้าวแดงแกงร้อนแก่ขอทานเสมอ

คนดี ความดี และพลเมืองดี สามคำที่ควรจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่ในโลกของวรรณกรรมกลับแยกขาดจากกันอย่างน่ากังขา สะท้อนให้เห็นความบิดเบี้ยวบางประการในสังคม นอกจากนี้ ตัวละครในนามของ "พลเมืองดี" มักจะอยู่ในรูปของคำถาม มิใช่คำตอบ

ผ่านมาสี่สิบปี ข้าพเจ้าได้เขียนเรื่องสั้นชื่อเดียวกันขึ้นมาอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ไม่ได้ต้องการให้เกิดคำถาม ทว่าเป็นการเสนอคำตอบให้แก่ผู้อ่านว่าการเป็นพลเมืองดีในทัศนะของข้าพเจ้าควรจะเป็นอย่างไร

ข้าพเจ้าขอยกบางถ้อยคำในเรื่องสั้นของข้าพเจ้ามาให้ท่านฟังดังนี้

"เราเป็นฟันเฟืองของสังคมก็จริง แต่ฟันเฟืองกระจ้อยร่อยอย่างเรา ๆ ควรสำเหนียกว่าหากไปขัดแข้งขัดขาฟันเฟืองใหญ่ให้ติดขัด นอกจากตัวเราเองจะพังพินาศแล้ว ฟันเฟืองกระจิ๋วหลิวที่อยู่ข้างล่างเราก็คงเละเทะไม่เป็นท่า

"สังคมของเราก็แบบนี้ 'พลเมืองดี' อย่างพวกเราแม้จะเห็นบางสิ่งที่ผุพัง แต่ควรรู้ว่าอะไรที่ถอดรื้อทิ้งได้ อะไรที่ควรปล่อยไว้อย่างนั้นเพื่อให้ชีวิตของเรายังปกติสุข"

ฟังดูแล้ว "พลเมืองดี" ในเรื่องเล่าของข้าพเจ้าช่างเป็นคนน่าสงสาร ต้องทุกข์ทนอยู่ในสังคมแสนโหดร้ายและน่าเวทนา แต่ก็น่ายินดีว่า ทั้งหมดเป็นแค่สังคมในจินตนาการของข้าพเจ้าเท่านั้น มิใช่สังคมที่เราอาศัยอยู่ในตอนนี้-สังคมที่พวกเรารู้แจ้งแก่ใจดีว่ายึดถือความยุติธรรมเป็นที่ตั้ง ไม่ว่าจะรวยหรือจน มีอำนาจล้นฟ้าเพียงใด เมื่อทำความผิดภายใต้กฎหมายเดียวกันก็ต้องรับโทษเหมือนกันอย่างเท่าเทียม

นักเขียนท่านหนึ่งเคยกล่าวว่า Artists use lies to tell the truth, while politicians use them to cover the truth up. ข้าพเจ้าหวังว่า เรื่องเล่าของข้าพเจ้าในโลกที่สมมติขึ้น จะเป็นเพียงเรื่องโกหก ไม่มีความจริงซุกซ่อนอยู่แม้แต่บรรทัดเดียว

เพราะหากคำโกหกของข้าพเจ้าเกิดขึ้นจริงในสังคมใดสังคมหนึ่งแม้เพียงส่วนเสี้ยว สังคมนั้นนับว่าเป็นสังคมที่น่าเศร้าและสิ้นหวังเหลือเกิน

(คำกล่าวว่าด้วยแรงบันดาลใจของเรื่องสั้น "พลเมืองดี" รางวัลรองชนะเลิศพานแว่นฟ้า 2563)

วันเสาร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2563

บ้านอีกหลังหนึ่งที่อบอุ่นเสมอ

 

กี่ปีกี่วันที่ผันผ่าน ที่นี่ยังคงเป็น "บ้าน" อีกหลังหนึ่งที่อบอุ่นเสมอ

ขอบคุณพี่น้ำ อ.วรุณญา อัจฉริยบดีนะครับที่ให้เกียรติเชิญมาเป็นวิทยากรร่วมเสวนา "เรื่องสั้นในบริบทสังคมไทย" ไม่รู้ว่าเด็กจะได้อะไรจากการบรรยายครั้งนี้บ้าง ได้นำไปใช้ในการเรียนที่สวนสุนันทาและในมหาวิทยาลัยชีวิตกี่มากน้อย แต่สิ่งที่ผมได้รับกลับมาคือการต้อนรับอย่างอบอุ่น และได้เห็นแววตากระหายความรู้ของเด็ก ๆ ตลอดการพูดคุยกัน สิ่งเหล่านี้คือน้ำทิพย์ชโลมใจที่ทำให้เรายังอยากทำวิชาชีพนี้ต่อไปครับ

วันพุธที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2563

ผู้คนในโลกภาพฝัน / อดิศร ไพรวัฒนานุพันธ์

 

นักเขียนเรื่องสั้นไซไฟของไทย หายากกว่ายาก ออกรวมเล่มสักเล่มก็แสนเข็ญ แต่อดิศร ไพรวัฒนานุพันธ์ เป็นนักเขียนไทยหนึ่งในไม่กี่คนที่มีรวมเรื่องสั้นไซไฟเป็นเล่มที่สอง และเกือบทุกเรื่องในทั้งสองเล่มผ่านการตีพิมพ์ในนิตยสารมาแล้วทั้งสิ้น น่าจะเป็นเครื่องการันตีคุณภาพของผลงานได้เป็นอย่างดี

เมื่อพูดถึงเรื่องสั้นไซไฟ (Science Fiction หรือ Sci-Fi) หลายคนมักจะนึกภาพว่าจะต้องเป็นเรื่องสั้นที่มีองค์ประกอบสำคัญในเรื่องคือเทคโนโลยีล้ำหน้าเกินกว่าที่มนุษย์จะจินตนาการได้ ในยุคที่วิทยาศาสตร์ยังทอดเท้าอย่างอ้อยอิ่ง แนวคิดสำคัญของไซไฟหลายเรื่องก็ดูจะเป็นเช่นนั้น เราเคยตื่นเต้นกับ "Le Voyage dans la Lune“ (1902) ก่อนที่มนุษย์จะฝากรอยเท้าบนดวงจันทร์ได้จริงในอีก 67 ปีต่อมา เราตื่นเต้นกับเรื่องเล่าที่เขียนถึงการเดินทางข้ามเวลา จักรวาลคู่ขนาน และเทคโนโลยีล้ำยุค จนกระทั่งเรื่องราวเหล่านั้นเริ่มไล่กวดเรามาเรื่อย ๆ และความจริงในปัจจุบันนั้นล้ำหน้าเกินกว่าที่จินตนาการจากไซไฟจะไปถึงเสียอีก

"อนาคด" (2555) งานยุคแรกของอดิศรก็มีกลิ่นอายเช่นนั้น หลายเรื่องกล่าวถึงความล้ำยุคของเทคโนโลยีในจินตนาการ เช่น การเดินทางข้ามดวงดาวที่สะดวกสบายเหมือนนั่งรถไฟฟ้า (สัมภาษณ์งานบริษัทข้ามดาว, 2555) การตัดต่อพันธุกรรมเพื่อให้มนุษย์เข้าใกล้คำว่าสมบูรณ์แบบ (มนุษย์ตกรุ่น, 2553) ระบบ "ชีวิตสบาย" ซึ่งในยุคของเรารู้จักในชื่อ Big Data Analytics ในอีกหลายปีหลังจากเรื่องนี้ตีพิมพ์ (ชีวิตสบาย, 2555)

เมื่อมองมาที่ "ผู้คนในโลกภาพฝัน" (2562) ซึ่งเรื่องสั้นทุกเรื่องกล่าวถึงเทคโนโลยีเพียงสิ่งเดียวคือ "กล่องภาพฝัน" กล่องเล็ก ๆ ขนาดเท่าโทรศัพท์มือถือที่สามารถบันดาลภาพฝันได้ทุกอย่างตามที่ใจปรารถนา สำหรับคนที่คุ้นเคยกับเทคโนโลยี Virtual Reality (VR) และ Augmented Reality (AR) กล่องภาพฝันอาจจะไม่ได้เหนือล้ำเกินจินตนาการเท่าใดนัก

แต่กล่องภาพฝันดังกล่าวกลับบันดาลเรื่องราวไม่ซ้ำรสได้มากถึง 13 เรื่อง!

การกลับมาของเรื่องสั้นไซไฟเล่มที่สองของอดิศร คล้ายจะบอกผู้อ่านถึงความสำคัญอีกประการหนึ่งของเรื่องสั้นไซไฟว่า มิใช่เป็นเพียงการเสนอเทคโนโลยีล้ำสมัยเพียงอย่างเดียว แต่เรื่องสั้นไซไฟที่ดีจะต้องพาผู้อ่านกลับเข้าไปสำรวจจิตใจของมนุษย์ ความบิดเบี้ยว กิเลสตัณหา ท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลงไปและเทคโนโลยีที่รายล้อมพวกเขาอยู่

เทคโนโลยีทำให้มนุษย์ดีขึ้นหรือไม่? หรือไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร พวกเขาก็ยังคงเดินหลงทางไม่สิ้นสุด เมื่อมีโอกาสก็กัดกินกันเองไม่แตกต่างจากสมัยเริ่มต้นอารยธรรม? กลับเป็นเทคโนโลยีล้ำสมัยที่เปิดเปลือยสันดานดิบที่แท้จริงของมนุษย์?

รวมเรื่องสั้นชุดนี้ซึ่งมีแกนกลางอยู่ที่ "กล่องภาพฝัน" นำพาผู้อ่านไปพบกับโลกทั้ง 13 ใบของแต่ละตัวละคร มีทั้งปัญหาความหมกมุ่น ปวดร้าว ลวงหลอก ที่กล่องภาพฝันก็ไม่อาจเยียวยา (คนบ้า, ภาพฝันค้าง, ดวลกำปั้น) เรื่องราวระหว่างผู้ปกครองและผู้ถูกปกครองที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะยุคสมัยใด (อธิษฐานแล้วรวย, เรื่องเล่าข้างถนน, ภาพผู้นำ) หรือแม้แต่เรื่องสืบสวนสอบสวนที่ชวนให้ลุ้นระทึกจนถึงหน้าสุดท้าย (สืบความจริง)

เรื่องที่ผมชอบที่สุดสองเรื่อง น่าแปลกที่เป็นเรื่องซึ่งไม่ต้องใช้เทคโนโลยีกล่องภาพฝันในเรื่องเลย นั่นคือ "น้ำตารูปปั้น" (2557) เรื่องราวปาฏิหาริย์ที่รูปปั้นหลั่งน้ำตาได้โดยไม่ต้องใช้กล่องภาพฝัน และ "เรื่องเล่าข้างถนน" (2557) นักปลุกระดมต่อต้านอำนาจรัฐซึ่งมีที่มาอย่างคาดไม่ถึง แต่นักปลุกระดมก็ได้ทิ้งบางสิ่งซึ่งสำคัญมากพอจะเปลี่ยนแปลงอนาคต ทั้งสองเรื่องต่างก็เป็นเรื่องที่ทำให้เรากลับมาทบทวนความจริงของกล่องภาพฝันว่า แท้จริงแล้วเป็นกล่องภาพฝันหรืออะไรกันแน่ที่บันดาลให้ใจเราบิดเบี้ยวและหลงงมงายไปกับภาพตรงหน้า

อาจจะเหมือนกับที่ผู้กองพยัคฆ์กล่าวไว้ในเรื่อง "สืบความจริง" ว่า "การจะเห็นความจริงใช่ว่าต้องมองโดยปราศจากภาพฝันรบกวนเสมอไป จ่าเห็นความจริงได้ถ้าจ่าอยากเห็น..."

แต่มนุษย์ก็เป็นเช่นนี้เสมอมา เราไม่เคยต้องการมองเห็นความจริง เราเพียงอยากเห็นสิ่งที่เราอยากเห็น ไม่ว่าจะมีกล่องภาพฝันหรือไม่

"ผู้คนในโลกภาพฝัน" จึงเป็นรวมเรื่องสั้นไซไฟลำดับสองของอดิศร ไพรวัฒนานุพันธ์ที่ใช้การ "ถอยหลัง" เพื่อ "ก้าวกระโดด" ให้เห็นพัฒนาการของนักเขียนไซไฟของไทย โดยการกลับมาใช้เทคโนโลยีที่จับต้องได้เพื่อเข้ามาสำรวจแง่มุมต่าง ๆ ของจิตใจมนุษย์ให้ลึกลงไปอีกขั้น กาลเวลา 7 ปี ที่ทิ้งระยะจาก "อนาคด" เรื่องสั้นไซไฟเล่มแรก นับว่าไม่สูญเปล่าเลย

สิงหาคม 2563

วันเสาร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2563

คือนกน้อยนอกกรงเถื่อน

นกน้อยในกรงขัง
ย่อมระวังว่าเสรี
คือโรคอันเกิดมี
แก่ปีกซึ่งใฝ่ถึงฝัน*

เด็กน้อยมิใช่นก
ซึ่งเกิดในกรงอาธรรม์
กรงใดจะกางกั้น
เมื่อปีกกล้าท้าเวหน

หากฟ้ายังเลือกนก
ปีกเสรีฤๅยอมทน
หากคนเท่ากับคน
เขามาโค่นผู้ใดหรือ?

เกินกาลจะขังนก
ให้นบน้อมในกำมือ
แสนปีกจะบินฮือ
สู่ขอบฟ้ามหานที

นกน้อยนอกกรงเถื่อน
ย่อมเตือนตนว่าเสรี
คือสิทธิ์สถิตที่
ปีกแห่งฝันนิรันดร

๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๓

*จากคำกล่าวว่า "Birds born in a cage think flying is an illness." ของ Alejandro Jodorowsky

วันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

มิใช่คนรุ่นใหม่ผู้ไร้หลัก

เพราะไม่เหลือหวังใดให้วาดหวัง
จึงต้องแสดงพลังให้โลกเห็น
เพราะไม่เหลือหนทางที่ชัดเจน
เพราะถูกเข่นถูกฆ่าอนาคต

เพราะมีคนทำลายทางที่ควรสร้าง
แสงหวังเคยสว่างกลับสูญหมด
เพราะไม่ยอมงอมือเท้าเศร้ารันทด
จึงต้องออกมากำหนดชะตากรรม

คือพลังเล็กเล็กเด็กรุ่นใหม่
เป็นพลังยิ่งใหญ่มาเหยียบย่ำ
บนหนทางทายท้าอาธรรม
ซึ่งครอบงำโลกฝันอันเสรี

ใช่เป็นคนรุ่นใหม่ผู้ไร้หลัก
แต่ไม่ยอมจมปลักอยู่กับที่
คนรุ่นอื่นในโลกนั้นเชิญฝันดี
คนรุ่นนี้ขอเชื่อมั่นในฝันตน

ประกายไฟหมื่นแสนแม้นลามทุ่ง
คือแสงรุ้งเรืองแสงทุกแห่งหน
เราออกมาประกาศชื่อเราคือคน
ผู้ไม่ทนเป็นทาสอำนาจทราม

กรกฎาคม ๒๕๖๓

วันอาทิตย์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2563

คุณแม่สัมพันธ์ในดวงใจ


คือแม่ผู้มีไหล่เล็กเล็ก
แบกภาระของเด็กเด็กทั้งหลาย
น้อง-พี่ สามี และลูกชาย
หวังแค่คนอื่นสบายก็เพียงพอ

ใช่เพียงเด็กสามคนคือลูกแม่
ลูกศิษย์ล้วนดูแลเสริมต่อ
อบรมบ่มนิสัยใจคอ
ถักทอคุณงามความดี

รักลูกคนอื่นเท่าลูกตน
กวดขันเข้มข้นเต็มที่
กาลเวลาผันผ่านนานกี่ปี
ครูตัวเล็กคนนี้เป็นที่รัก

คือครูผู้มีไหล่เล็กเล็ก
แบกความฝันเด็กเด็กล้วนเหนื่อยหนัก
สองมือน้อยเอยมิเคยพัก
คอยฟูมฟักคนดีสู่สังคม

จับมือเด็กถือดินสอเขียนกอไก่
อ่านเขียนภาษาไทยคอยเพาะบ่ม
ดอกบัวจึงเบ่งบานจากเปลือกตม
ยินแต่เสียงชื่นชมยินดี

เป็นคุณแม่ตัวเล็กเล็กเข้มแข็งนัก
เป็นคุณครูผู้เปี่ยมรักเปี่ยมศักดิ์ศรี
ภาระใดใดใจแม่มี
ล้วนทำอย่างเต็มที่ทุกคืนวัน

คือคุณครูผู้มีมือเล็กเล็ก
คอยเฝ้าเติมฝันเด็กให้เต็มฝัน
มือเล็กเล็กประคองใจไปด้วยกัน
คือคุณแม่สัมพันธ์ในดวงใจ

๒๙ มีนาคม ๒๕๖๓

วันพุธที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

Terminal 21



ชีวิตปลิดปลิวดังใบไม้
กี่สิบใบหล่นร่างกลางเมืองหลวง
คมกระสุนเปรี้ยงไป, ใจทุกดวง
ก็หล่นลงแหลกร่วงเป็นธุลี

ยมทูตแค้นใจแต่ใดเล่า
พรากเพื่อนเราแม้ยังไม่ถึงที่
ต่างศพต่อศพทบทวี
ล้วนเพื่อนพ้องน้องพี่โคราชเรา

ร้องไห้เถอะนะถ้าอยากร้อง
จะเคียงข้างคอยประคองให้คลายเศร้า
กี่เดือนปีผันผ่านนานเนา
เพื่อนจะเฝ้ารักษาใจให้กลับคืน

รัตติกาลเคลื่อนคล้อยคลี่คลาย
ฝันร้ายจบลงรอเธอตื่น
น้ำค้างคือน้ำใจช่วยใจฟื้น
จะรอเธอหยัดยืนได้อีกครั้ง

แม้ดวงใจแหลกร้าวยังก้าวไหว
เพราะสายธารน้ำใจที่ไหลหลั่ง
ฉันพร้อมเดินกับเธอด้วยช่วยเป็นพลัง
อรุณรุ่งและความหวังยังรอคอย

วันพุธที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563

สุขีปีหนูทอง

หกสามปีชวดแล้ว ชื่นชัย
โชคบ่ชวดหายไป แน่แท้
คือมุสิกมาศมิ่งนัย นำโชค
รวยร่ำเลิศทรัพย์แก้ ชวดร้ายสลายสูญ