วันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2563

แว่วข่าวคราวว่าข้าวแข็ง / พัชรพร ศุภผล

"แว่วข่าวคราวว่าข้าวแข็ง" ของพัชรพร ศุภผล เรื่องนี้น่าจะขึ้นแท่นเรื่องสั้นพานแว่นฟ้าที่ชอบที่สุดของปี 2563 นี้เลย (แต่ยังอ่านไม่หมดนะ 55)

พลิกมาอ่านเรื่องนี้เป็นลำดับแรก ๆ เพราะจำชื่อน้องได้ (ปีก่อนน้องได้รับรางวัลจากเรื่อง "เสรีสิบสี่เส้นบรรทัด" ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ชวนว้าวเหมือนกันเมื่อเทียบกับอายุคนเขียน ตอนนั้นน้องยังใส่ชุดนักศึกษามารับรางวัลอยู่เลย) เพื่อดูว่าพัฒนาการในปีนี้เป็นอย่างไร แล้วก็ไม่ผิดหวัง

พัชรพรเลือกใช้ตัวละครชนชั้นกลางเป็นแกนหลักในการดำเนินเรื่อง ซึ่งเป็นชนชั้นที่พร้อมจะเป็นผู้กระทำและกลายเป็นผู้ถูกกระทำอยู่ตลอดเวลา ซ้อนเรื่องเล่าของ "ลุงข้าวแข็ง" ลุงหัวดื้อในโลกโซเชียลที่ทำให้ตัวละครหลักค่อย ๆ ได้ทบทวนสิทธิพลเมืองของตัวเองทีละนิด ก่อนจะตบท้ายเรื่องด้วยการใช้นิทานเปรียบเทียบ (Allegory) เรื่องสั้น ๆ ซ้อนเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง แต่ส่งผลสั่นสะเทือนเหมือนโดนตบหน้าฉาดใหญ่ ที่สำคัญคือเป็นเรื่องที่ใช้ฉาก "โรคระบาดครั้งใหญ่" เป็นตัวขับเคลื่อนปมปัญหาในเรื่องด้วย นับว่า "สายตาจับปรากฏการณ์ทางสังคม" ของนักเขียนคนนี้ไม่ตกสมัยและไม่ธรรมดาเลย

เด็ก ๆ ที่เรียนในชั้นเรียนถามอยู่เสมอว่า จะเขียนเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคมให้ "เป็นเรื่องเป็นราว" ได้อย่างไร ผมก็จนใจในคำตอบ ไอ้เรื่องภาษาสละสลวย พล็อตซับซ้อน กลวิธีเล่าเรื่องเท่ ๆ ทั้งหมดไม่สำคัญเท่าการพยายามใคร่ครวญปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม แล้วใช้สายตา "capture" ภาพพวกนั้นมาปะติดปะต่อกัน แบบที่กนกพงศ์เคยบอกว่า "โครงเรื่องสำหรับงานวรรณกรรมไม่ได้วางไว้ทั้งแท่งให้เราเดินไปพบ ทว่ามันคล้ายภาพซึ่งใครแกล้งฉีกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แล้วขว้างให้กระจัดกระจายอยู่ในที่ต่าง ๆ ปล่อยให้นักเขียนค้นหาแต่ละชิ้นส่วนเพื่อมาประกอบขึ้นเป็นภาพที่สมบูรณ์อีกครั้งหนึ่ง" ซึ่งเรื่องแบบนี้เอาเข้าจริง ๆ ก็ไม่มีวิธีสอนที่ตายตัว เพราะ "สายตาจับปรากฏการณ์ทางสังคม" ของนักเขียนแต่ละคน แต่ละยุคก็ไม่เหมือนกัน ยิ่งไปสอนเค้ามากเดี๋ยวเด็กจะยิ่งรู้ว่าเรามันเหลาเหย่ตกสมัยไปแล้ว 55

แต่สำหรับนักเขียนรุ่นใหม่คนหนึ่งที่จับเอาเรื่องราวที่เกิดขึ้นท่ามกลางโรคระบาดครั้งใหญ่ เรื่องไซเบอร์บูลลี่ของพลเมืองออนไลน์เลเวลหนึ่ง และนิทานเปรียบเทียบมาเล่าซ้อนกันสามชั้น เราจะต้องการอะไรจากนักเขียนรุ่นใหม่มากไปกว่านี้อีกเล่า!

ถึงแม้ว่าในทัศนะของผม ถ้าพูดถึงความเข้มข้นทางวรรณกรรม เท่าที่อ่านในเล่มถึงตอนนี้ก็คงต้องยกให้ "เส้นแบ่ง" ของวัฒน์เป็นอันดับหนึ่ง แต่มือระดับเคยชนะเลิศพานแว่นฟ้าและว่าที่ซีไรต์ผมไม่ชมมากเพราะคงมีคนชมเยอะอยู่แล้ว 55 แต่ถ้าพูดถึงความสดใหม่น่าติดตามก็ขอยกป้ายไฟเชียร์น้องพัชรพรไว้ก่อนเลย ขอให้เข้ารอบพานแว่นฟ้าทุกปีนะจ๊ะ จะรออ่านเสมอ
 

วันพุธที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2563

วันเกิดของคนสำคัญที่สุดในหัวใจ

บังเอิญที่วันรับรางวัลสำคัญในชีวิต เป็นวันเกิดของคนสำคัญที่สุดในหัวใจ

รางวัล คำชื่นชม และสิ่งดี ๆ ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในวันนี้ ขอมอบเป็นของขวัญวันเกิดให้พี่เค้กนะครับ แทนคำขอบคุณทุกสิ่งที่แสนดีที่มอบให้กอล์ฟเสมอนับตั้งแต่ได้เจอกัน เหมือนเพลงพี่ป้างท่อนนึงที่ร้องว่า "ตั้งแต่วันฉันพบเธอ ก็เจอแต่สิ่งดีงาม"

สุขสันต์วันเกิดนะครับ

คนดี ความดี และพลเมืองดีในโลกวรรณกรรม

เรื่องสั้นชื่อ "พลเมืองดี" ปรากฏในบรรณพิภพของไทยอย่างน้อยก็ 3 เรื่อง เรื่องแรกเกิดขึ้นเมื่อปี 2490 คือเรื่อง "พลเมืองดี" ของดอกไม้สด กล่าวถึงพลเมืองดีที่ไปยุ่งไม่เข้าเรื่องกับการตกลงกันระหว่างเจ้าของวัวกับโจรเรียกค่าไถ่วัว ในปี 2514 ลาว คำหอม ได้เขียนถึงลุงชาวไร่ผู้เป็น "พลเมืองดี" ซึ่งจำใจต้องเลี้ยงดูปูเสื่อเจ้าหน้าที่รัฐ และแทบจะกราบกรานให้เขาทำตามหน้าที่ของตนเสียที ต่อมาในปี 2522 อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ได้เขียนถึงขอทานที่ตัดสินใจเป็น "พลเมืองดี" ช่วยจับโจรกระชากสร้อย แต่โจรคนนั้นกลับเป็นลูกชายของแม่ค้าข้าวแกงซึ่งแบ่งข้าวแดงแกงร้อนแก่ขอทานเสมอ

คนดี ความดี และพลเมืองดี สามคำที่ควรจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่ในโลกของวรรณกรรมกลับแยกขาดจากกันอย่างน่ากังขา สะท้อนให้เห็นความบิดเบี้ยวบางประการในสังคม นอกจากนี้ ตัวละครในนามของ "พลเมืองดี" มักจะอยู่ในรูปของคำถาม มิใช่คำตอบ

ผ่านมาสี่สิบปี ข้าพเจ้าได้เขียนเรื่องสั้นชื่อเดียวกันขึ้นมาอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ไม่ได้ต้องการให้เกิดคำถาม ทว่าเป็นการเสนอคำตอบให้แก่ผู้อ่านว่าการเป็นพลเมืองดีในทัศนะของข้าพเจ้าควรจะเป็นอย่างไร

ข้าพเจ้าขอยกบางถ้อยคำในเรื่องสั้นของข้าพเจ้ามาให้ท่านฟังดังนี้

"เราเป็นฟันเฟืองของสังคมก็จริง แต่ฟันเฟืองกระจ้อยร่อยอย่างเรา ๆ ควรสำเหนียกว่าหากไปขัดแข้งขัดขาฟันเฟืองใหญ่ให้ติดขัด นอกจากตัวเราเองจะพังพินาศแล้ว ฟันเฟืองกระจิ๋วหลิวที่อยู่ข้างล่างเราก็คงเละเทะไม่เป็นท่า

"สังคมของเราก็แบบนี้ 'พลเมืองดี' อย่างพวกเราแม้จะเห็นบางสิ่งที่ผุพัง แต่ควรรู้ว่าอะไรที่ถอดรื้อทิ้งได้ อะไรที่ควรปล่อยไว้อย่างนั้นเพื่อให้ชีวิตของเรายังปกติสุข"

ฟังดูแล้ว "พลเมืองดี" ในเรื่องเล่าของข้าพเจ้าช่างเป็นคนน่าสงสาร ต้องทุกข์ทนอยู่ในสังคมแสนโหดร้ายและน่าเวทนา แต่ก็น่ายินดีว่า ทั้งหมดเป็นแค่สังคมในจินตนาการของข้าพเจ้าเท่านั้น มิใช่สังคมที่เราอาศัยอยู่ในตอนนี้-สังคมที่พวกเรารู้แจ้งแก่ใจดีว่ายึดถือความยุติธรรมเป็นที่ตั้ง ไม่ว่าจะรวยหรือจน มีอำนาจล้นฟ้าเพียงใด เมื่อทำความผิดภายใต้กฎหมายเดียวกันก็ต้องรับโทษเหมือนกันอย่างเท่าเทียม

นักเขียนท่านหนึ่งเคยกล่าวว่า Artists use lies to tell the truth, while politicians use them to cover the truth up. ข้าพเจ้าหวังว่า เรื่องเล่าของข้าพเจ้าในโลกที่สมมติขึ้น จะเป็นเพียงเรื่องโกหก ไม่มีความจริงซุกซ่อนอยู่แม้แต่บรรทัดเดียว

เพราะหากคำโกหกของข้าพเจ้าเกิดขึ้นจริงในสังคมใดสังคมหนึ่งแม้เพียงส่วนเสี้ยว สังคมนั้นนับว่าเป็นสังคมที่น่าเศร้าและสิ้นหวังเหลือเกิน

(คำกล่าวว่าด้วยแรงบันดาลใจของเรื่องสั้น "พลเมืองดี" รางวัลรองชนะเลิศพานแว่นฟ้า 2563)

วันเสาร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2563

บ้านอีกหลังหนึ่งที่อบอุ่นเสมอ

 

กี่ปีกี่วันที่ผันผ่าน ที่นี่ยังคงเป็น "บ้าน" อีกหลังหนึ่งที่อบอุ่นเสมอ

ขอบคุณพี่น้ำ อ.วรุณญา อัจฉริยบดีนะครับที่ให้เกียรติเชิญมาเป็นวิทยากรร่วมเสวนา "เรื่องสั้นในบริบทสังคมไทย" ไม่รู้ว่าเด็กจะได้อะไรจากการบรรยายครั้งนี้บ้าง ได้นำไปใช้ในการเรียนที่สวนสุนันทาและในมหาวิทยาลัยชีวิตกี่มากน้อย แต่สิ่งที่ผมได้รับกลับมาคือการต้อนรับอย่างอบอุ่น และได้เห็นแววตากระหายความรู้ของเด็ก ๆ ตลอดการพูดคุยกัน สิ่งเหล่านี้คือน้ำทิพย์ชโลมใจที่ทำให้เรายังอยากทำวิชาชีพนี้ต่อไปครับ