วันศุกร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

10 เรื่องที่เราได้เรียนรู้จากการปั่นจักรยานในเมืองหลวง


ไม่ว่าฝนจะตก แดดจะออก ขรี้จะแตก พระจะสึก หรือกระแสแอนตี้ฮิปสเตอร์จะมาแรงแค่ไหน ฮิป (โป) สะเต้ออย่างเราก็ยังคงก้มหน้าปั่นจักรยานมาทำงานต่อไปเพื่อให้ชีวิตมันฮิป และนี่ก็คือ 10 เรื่องที่เราได้เรียนรู้จากการปั่นจักรยานในเมืองหลวงมาหลายเดือน

1. การปั่นจักรยานบนถนนในกรุงเทพฯ ทำไมมันไม่ชิค ไม่คูลเหมือนที่เค้าพูด ๆ กันเลยวะ มันคือสงคราม! สงครามระหว่างพาหนะสองล้อขับเคลื่อนด้วยแรงคนตัวน้อย ๆ กับมอเตอร์ไซค์ รถยนต์ รถเมล์ รถร่วม ฯลฯ สงครามที่กองโจรตัวน้อย ๆ จะต้องเอาตัวรอดให้ได้ในสมรภูมิที่เต็มไปด้วยเรื่องเกินคาดเดา ทั้งเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างฝาท่อระบายน้ำกว้างไปนิด หรือเรื่องอย่างรถร่วมจะเบียดเข้าเลนซ้าย บีเอ็มคันหรูจะเลี้ยวซ้ายโดยไม่มีสัญญาณบอกเพราะเลี้ยวซ้ายผ่านตลอด ขณะที่เราเพิ่งจะหลบเข้าเลนซ้ายมาแบบเกินจะยั้งตีน

2. ศัตรูที่น่ากลัวที่สุดของจักรยานไม่ใช่รถร่วมฯ อย่างที่ตั้งความหวังไว้ แต่กลับเป็นพาหนะสองล้อเหมือนกันอย่างพี่มอ'ไซค์ทั้งรับจ้างและไม่รับจ้าง มอเตอร์ไซค์น่าจะเป็นพาหนะที่ได้รับอภิสิทธิ์สูงสุดบนถนนประเทศไทยแล้ว ไม่ว่าจะอยากแซง อยากปาด อยากเบียด อยากพรวดออกมาจากซอย อยากยูเทิร์น อยากขี่สวนเลน อยากปีนฟุตบาท ฯลฯ พี่ท่านก็ทำได้ทั้งนั้น สิ่งเดียวที่พี่มอ'ไซค์ทำไม่ได้คือทำถูกกฎจราจร

3. มอเตอร์ไซค์ขี่สวนเลน เรื่องที่ดูเหมือนจะเล็กแต่เป็นพิษภัยกับจักรยานมาก การไม่เปลี่ยนเลนหลีกทันทีไม่ใช่เพราะหยิ่ง แต่เพราะต้องหันไปมองดูก่อนว่ามีรถกำลังซิ่งตามหลังมารึเปล่า ซี้ซั้วเปลี่ยนเลนก็ดับอนาถกันพอดี เราไม่ติดใจมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่สวนเลนมาเท่าไร เพราะเขาคงยอมแบกรับความเสี่ยงเพื่อแลกกับการประหยัดเวลา แต่สำหรับคุณพ่อลูกอ่อนที่กระเตงลูกน้อยไว้ที่เบาะขับมอเตอร์ไซค์สวนเลนมา แน่นอนว่าเขาคงประหยัดเวลาขับอ้อมไปยูเทิร์นไกล ๆ แต่อะไรล่ะคือราคาที่เขาต้องจ่ายหากเกิดอุบัติเหตุ

4. น่าสังเกตว่ารถ ปอ. ส่วนมากจะมารยาทดี ไม่ค่อยคุกคามคนปั่นจักรยานมากนัก ส่วนรถร่วมฯ เราจะรู้สึกถึงรังสีอำมหิตบางอย่างที่แผ่มาคุกคามเวลาถูกจี้ตูด บางครั้งรังสีอำมหิตก็แถมพกเสียงแตรปี๊น ๆ พยายามทำความเข้าใจว่ารถร่วมฯ เขาได้เงินจากค่าตั๋ว ดังนั้นการเบียดเข้าเลนซ้ายไม่ได้เพราะติดจักรยานเพียงป้ายเดียวอาจทำให้เขาสูญเสียรายได้ไปหลายร้อยหลายพัน ใจเขาใจเราเนอะ

5. ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมาในข้อ 4 เวลาขี่ไปใกล้ ๆ ป้ายรถเมล์ ควรคำนวนว่าจะปั่นพ้นไม่ขวางทางรถเมล์ไหม ถ้าไม่พ้นก็จอดหลบให้รถเมล์ได้ทำหน้าที่รับส่งมวลชนก่อนดีกว่า นี่เห็นแก่คนหมู่มากนะไม่ได้กลัวพี่รถร่วมฯ (ฮา)

6. นอกจากไฟกระพริบและกระจกมองหลังแล้ว สิ่งที่ต้องตรวจเช็คให้ทำงานได้ 100% เสมอไม่ใช่ชุดเฟืองขับ ไม่ใช่ลมยาง แต่เป็นระบบเบรก เพราะการปั่นในกรุงเทพฯ ต้องเบรกบ่อยกว่าสปริ้นท์ ปั่นไปเถอะอีกสักสองนาทีก็มีเรื่องให้มึงต้องเบรกเอี๊ยดดดด! จนได้

7. อาการเบรกบ่อยแบบนี้ไม่อนุญาตให้คุณใจลอย หาไม่จะพาตัวเองเข้าไปสู่สถานการณ์สุ่มเสี่ยง เช่น ปั่นชิดซ้ายสุดขณะที่รถร่วมฯ ก็จะเบียดเข้าเลนซ้ายเพื่อแย่งผู้โดยสารจากรถร่วมฯ คันหลัง หรือรู้สึกตัวอีกทีเมื่ออยู่ท่ามกลางสามแยกที่รถสามคันต่างจะแย่งเข้าสู่ทางของกรู ดังนั้นการปั่นจักรยานในกรุงเทพฯ คือการบำเพ็ญสมาธิอย่างยิ่งยวด

8. ผิดรีบรับผิด ไม่ผิดก็ต้องรับผิด ไหว้ได้รีบไหว้ ชนชั้นจักรยานในประเทศโลกที่สามควรเจียมเนื้อเจียมตัว เพราะอาวุธที่เราใช้ฟาดคู่กรณีได้มีแค่... สูบลมพกพา

9. ถ้าอยากผลักดันกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองจักรยานจริง ๆ หนึ่งนโยบายที่ควรมีอย่างยิ่งคือ 1 ห้าง 1 ห้องอาบน้ำครับ เพราะห้องอาบน้ำเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการปั่นจักรยานในประเทศเมืองร้อน อยากจะปั่นจักรยานไปดูหนังในห้าง แต่ของแถมคือกลิ่นจั๊กกะแร้อบอวลเต็มโรงนี่ก็ไม่ไหวนะครัช

10. สมัยหัดขับรถบนถนนแถวบ้าน เวลาเห็นมอเตอร์ไซค์ขี่กินเลนเข้ามามาก ๆ เราก็รำคาญคิดว่าทำไมไม่ชิดซ้ายสุด ๆ ไปวะ ขี้เกียจแซง แต่พอได้ปั่นจักรยานบนถนนแถวบ้านเท่านั้นแหละ เราก็เห็นใจมอเตอร์ไซค์ขึ้นมาทันที ด้วยว่าไหล่ถนนประเทศไทยนั้นช่างเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนามในการชิดซ้าย ทั้งหลุมบ่อและแขนขาของต้นไม้ที่ยื่นมาฟาดหน้า ดังนั้นเราคิดว่าหากให้คนขับรถยนต์ทุกคนได้ลองขี่พาหนะทุกระดับ เราจะเห็นใจกันมากขึ้น บีบแตรไล่จักรยานที่กินเลนน้อยลง ยิ่งไหล่ทางกรุงเทพฯ นั้นยิ่งมิราเคิลมาก มีทั้งฝาท่อที่ไม่ยอมปิด ตะแกรงระบายน้ำแนวตั้ง (ทำเป็นแนวขวางมันจะตายมั้ย) หลุมบ่อขรุขระยิ่งกว่าดาวอังคาร และ เดอะ ขี้สีก ว้อเท่อะ ที่ทำให้จักรยานเราหอมละมุนจนคนข้าง ๆ มองค้อนเวลาแบกขึ้นบีทีเอส

หวังว่าการปั่นไปเรื่อย ๆ จะได้เรียนรู้มากขึ้นเรื่อย ๆ นะครับ เพราะนี่คือวิถีแห่งฮิป (โป) สะเต้อ!!!

วันอาทิตย์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ก้อนหิน

คู่รักทุกคู่ในโลกเว้นแต่คู่ของข้าพเจ้าคงไม่มีคู่ไหนเลิกรากันเพราะก้อนหินเป็นแน่ หรือที่จริงควรจะกล่าวว่าเพราะปลาทองคู่นั้นซึ่งข้าพเจ้าซื้อมาเป็นของขวัญในวันแห่งความรักเป็นต้นเหตุให้เราทุ่มเถียงกันเรื่องก้อนหิน เธอยืนยันหนักแน่นว่าจะต้องใช้ก้อนหินประดับตู้ปลาคุณภาพสูงที่วางขายอยู่ในร้าน พลางร่ายถึงสรรพคุณว่าก้อนหินเหล่านั้นสีสรรพ์สวยงาม เจียระไนโค้งมนไม่เป็นอันตรายต่อร่างบอบบางสีทอง ซ้ำยังผ่านการฆ่าเชื้อด้วยกรรมวิธีทันสมัย ส่วนข้าพเจ้าไม่มีอะไรจะกล่าวนอกจากแสดงความแปลกใจอย่างโจ่งแจ้งว่าเหตุใดมนุษย์จึงซื้อขายหินก้อนเล็ก ๆ ด้วยราคาเทียบเท่ากับค่าจ้างกรรมาชนแบกหินภูเขาในอัตราอย่างน้อยสามถึงสี่วัน ทั้งที่จริงก้อนหินเหล่านั้นเราล้วนฉกฉวยได้จากหลังบ้านของเราเอง แม้อาจแตกต่างในรายละเอียดแต่เนื้อแท้แล้วล้วนคือก้อนหินดุจเดียวกัน เพียงเท่านั้นเธอก็เอ่ยคำลา สำทับว่าข้าพเจ้าหยาบคายและสิ้นไร้ความห่วงใยต่อเธอแม้เพียงเศษเสี้ยว ก่อนจะเดินจากไป ทิ้งข้าพเจ้าให้อยู่กับปลาทองคู่กรรมในถุงน้ำสีหม่น

๑๕/๐๒/๒๕๕๘

วันเสาร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ลืม

เธอจะลืมฉันเลยก็ได้
ทำเหมือนว่าไม่เคยมีอยู่
เธอคงไม่สนใจไม่รับรู้
เคยเคียงคู่กลับไร้ค่าน้ำตานอง

ฉันจะไม่ร่ำไห้ให้เธอเห็น
จะหลบเร้นแววตาไว้ไม่หม่นหมอง
ความรักเคยอบอุ่นคือฝุ่นละออง
กวาดทิ้งแล้วไม่ต้องมารำคาญ

ภาพฝันเคยร่วมฝันพลันพินาศ
ความหวังเคยหวังวาดเมื่อวันหวาน
พริบตาก็หายวับกับวันวาน
เหลือแต่รอยร้าวรานการจากลา

เส้นทางชีวิตฉันนั้นเหน็บหนาว
แต่หากเธอร่วมก้าวคงกล้าฝ่า
เมื่อเหลือเพียงความช้ำและน้ำตา
หนทางข้างหน้าช่างแสนไกล

ฉันไม่มีความหมายมาแต่ต้น
ฉันไม่มีตัวตนมาแต่ไหน
สุดท้ายคนพ่ายแพ้แค่ฝันไป
เจ็บก็รักษาใจให้ตัวเอง
...
เส้นทางของคนแพ้แค่ทำใจ
เจ็บก็ก้าวต่อไปเพียงลำพัง

ก.พ. ๒๕๕๘

วันพุธที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เคลื่อนไหวในจันทร์กระจ่าง / แอมโบรส เบียร์ซ


บันทึกไว้ในพอศอ 2558 ว่า สี่ซ้าห้าปีผ่านไป อาการ "ไม่ถูกโรค" กับนักเขียนมะกันก็ยังไม่หาย แม้จะเป็น "บิ๊กเนม" ระดับแอมโบรส เบียร์ซ ก็ตามที อันที่จริงถ้าย้อนเวลากลับไปช่วงอ่านใหม่ ๆ ผมอาจจะตื่นเต้นกับเรื่องสั้นชุดนี้ก็เป็นได้นะ หลอกหลอนลับลวงหักมุมตกค้างในใจดีแท้ แต่เหมือนเลยวัยอ่านแล้วยังไงไม่รู้ หรืออีกทางหนึ่งก็ยังไม่แก่กล้าพอจะอ่านงานของนักเขียนอเมริกันแล้ว "ซึ้งซ่าน" อาการเดียวกับตอนอ่านงานของปาป้าเฮมิงเวย์ (บางเรื่องที่ยกย่องกัน) แล้วเกาหัวแกรก ๆ นั่นแล

พยายามแคะความหมายจากคำของหลาย ๆ เรื่อง อย่างที่ลุงแกบอกไว้ว่า "อักษรตัวใดตัวหนึ่งเมื่อถูกคัดสรรมาเพื่อเขียนวรรณกรรมแล้ว หากสามารถทดแทนหรือมีความหมายเท่ากับอักษรอื่น ๆ สามหรือสี่ตัวได้ นั่นหมายถึงงานเขียนนั้นเป็นงานชั้นดี" ก็ยังแคะไม่ค่อยออก เป็นปัญหาว่าเพราะเป็นงานแปล หรือต่อให้กลับไปอ่านต้นฉบับก็ยังแคะไม่ออกอยู่ดีเพราะต้องรู้ความหมาย "อิ้งลิช อเมริกันสไตล์" อีกคำรบหนึ่งหรือเปล่า อย่ากระนั้นเลยรอบนี้ตัดสินใจอ่านเอาเรื่องเอาพล็อตจากลุงเป็นหลักก็แล้วกัน

พล็อตดีไหมก็นับว่าดีเลยนะ แต่ที่ชอบมากกว่าคือบรรยากาศของเรื่องที่ช่างลับลวงพราง ลึกลับน่าขนลุกมันซะทุกเรื่อง (อ่านตอนกลางคืนจะได้อารมณ์มาก) เรื่องที่ชอบมากในเล่มนี้คือ "หญิงสาวอีกฟากกำแพง" บรรยากาศแบบนี้มันชวนหวิวใจปนขนลุกดี ส่วนเรื่องที่คนเค้ายกย่องกันมาก ๆ อย่าง "กวัดแกว่งบางเบาใต้สะพานมรณะ" ก็มองข้ามไม่ได้เลย ลับลวงพราง โขยกเขย่าเศร้าสะเทือนดี "ม้าบินและบุรุษชาติอาชาไนย" ก็ต้องอ่านไปจนบรรทัดสุดท้ายแล้วจะอุทานแบบว่า เฮ้ย! เจ๋งดีนะ "คำสั่งประหารในคืนแรม" ก็ช่างยอกย้อนจิตใจมนุษย์ดี "ดวงตาพยัคฆ์" นี่ก็เสือสมิงเวอร์ชั่นอเมริกัน อีกเรื่องที่ชอบในโทนเรื่องเศร้า ๆ จากสงคราม (ซึ่งมีหลายเรื่องในเล่ม) ชอบ "สงครามในฤดูใบไม้ผลิ" นอกนั้นก็เศร้าอยู่แต่ไม่สะเทือนมากเท่าไร เรื่องที่ไม่ได้พูดถึงไม่ใช่ว่าไม่ดี ดีระดับมาตรฐานเรื่องสั้นชั้นดีทั้งนั้นแหละนะ แต่ที่ไม่สะเทือนมากคงเพราะเราพ้นวัย (วัยตื่นเต้นกับเรื่องสั้นหักมุม) หรือยังไม่ถึงวัย (นิ่งสงบสยบความเคลื่อนไหว) หรือสติปัญญายังไม่ถึงในเรื่องสั้นบางเรื่องก็ไม่ทราบได้ คงต้องเก็บไว้อ่านอีกรอบตอนอายุเยอะกว่านี้

------------------------------------------
Quotations:

..."ความตายน่ากลัว!" - เป็นคำพูดของบุรุษผู้กำหนดความตาย
"มันน่ากลัวเฉพาะบรรพบุรุษที่ป่าเถื่อนเท่านั้น" จารบุรุษพูดอย่างเคร่งขรึม "เพราะพวกเขาด้อยสติปัญญาที่จะจำแนกแยกแยะความคิดเกี่ยวกับจิตสำนึกออกจากความคิดเกี่ยวกับร่างกายที่ใช้แสดงความรู้สึกนั้นได้- แม้กระทั่งพวกที่มีสติปัญญาต่ำกว่า อย่างเช่นพวกลิง อาจจะไม่สามารถจินตนาการภาพบ้านที่ปราศจากคนอยู่อาศัยได้ และเมื่อเห็นกระท่อมผุพังหลังหนึ่ง มันก็คิดว่าผู้อยู่อาศัยกำลังมีความทุกข์ สำหรับพวกเราที่เห็นความตายเป็นสิ่งน่ากลัว เพราะเราได้รับการสืบทอดสันดานมาให้คิดว่าเป็นเช่นนั้น ปรุงแต่งความนึกคิดด้วยทฤษฎีที่ป่าเถื่อนและเลื่อนลอยเพ้อฝันเกี่ยวกับอีกภพหนึ่ง-ดังเช่นการให้นามของสถานที่ต่าง ๆ อันเป็นต้นกำเนิดของตำนานที่อธิบายเรื่องราวความเป็นมาของสถานที่ดังกล่าวนั้น รวมไปถึงประพฤติกรรมอันไร้เหตุผลที่อธิบายด้วยหลักปรัชญาต่าง ๆ

"ท่านสามารถแขวนคอผมได้...ท่านนายพล แต่อำนาจอันชั่วร้ายของท่านก็สิ้นสุดลงตรงนั้น ท่านไม่สามารถตัดสินให้ผมขึ้นสวรรค์ได้"
(คำสั่งประหารในคืนแรม: หน้า 86)

พวกเราไม่ใช่คนแปลกหน้าที่ใหม่ต่อภูมิประเทศแถวนี้เสียจนไม่รู้ว่าชีวิตอันโดดเดี่ยวอ้างว้างของชาวทุ่งราบจำนวนมากมาย มีแนวโน้มส่อว่าพฤติกรรมและลักษณะนิสัยจะแปรเปลี่ยนผิดปกติไปนั้น หาได้จำแนกออกจากความวิปลาสทางจิตได้ง่าย ๆ อย่างชัดเจนเสมอไปไม่ มนุษย์คนหนึ่งก็เหมือนกับต้นไม้ต้นหนึ่ง หากอยู่ในท่ามกลางป่าแห่งเพื่อนฝูง เขาก็จะเติบโตตรงขึ้นไปตามที่ธรรมชาติโดยทั่วไปและธรรมชาติแห่งปัจเจกบุคคลของเขาจะเอื้ออำนวย หากขึ้นอยู่ตามลำพังในพื้นที่ว่างโล่ง เขาก็จะโอนอ่อนคล้อยตามแรงบังคับกดดันที่แวดล้อม ทำให้รูปทรงบิดเบี้ยวแปรเปลี่ยนไป
(อาคันตุกะในยามวิกาล: หน้า 168)

การเป็นคนอย่างไซลาส ดีมเมอร์ ซึ่งมีชีวิตและอุปนิสัยไม่สุงสิงสมาคมกับใคร ใช้ชีวิตสถิตเสถียร ไม่เดินทางท่องเที่ยวสังสรรค์ จนนักเล่าเรื่องขำขันประจำหมู่บ้าน (ผู้ซึ่งเคยเรียนระดับมหาวิทยาลัยมาแล้ว) เกิดแรงดลใจให้สมญานามแก่เขาว่า ไอบิเด็ม (Ibidem.)
(เหยือกน้ำหวาน: หน้า 224)

[เบียร์ซ, แอมโบรส ; วิมล กุณราชา, แปล. เคลื่อนไหวในจันทร์กระจ่าง The Moonlit road. ปทุมธานี : นาคร, 2557.]

วันอังคารที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

สาระประจำวันนี้: ฟรักโทส และ น้ำต้อย


เริ่มจากสงสัยว่าไอ้น้ำตาล Fructose ถอดเป็นภาษาไทยว่าไงวะ ไม่คิดว่าจะเจอในพจนานุกรมจริง ๆ (ตายห่าก่อนหน้านี้ใช้ฟรุกโตสตลอดเลย ขออภัยในสำเนียงภูธร) แต่พอดูคำแปล "น้ำต้อยของดอกไม้" แปลว่าอะไรวะเนี่ย ก็เลยเปิดต่อ อ๋อเป็นเช่นฉะนี้เองครับ วันนี้เลยได้สาระมาสองคำ แต่ไม่รู้จะเอาไปใช้ที่ไหนแฮะ 555

อ้างอิง: พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 : เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2556. หน้า 856, 627.