วันพฤหัสบดีที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2554

หนุ่มอักษร, นอนตื่นสาย, ร่ายแคนโต้ (๒)

(๖)

ไม่มีเปรี้ยว เค็ม ขม
มีแต่...
"ฝันหวาน"

๒๔/๐๑/๒๕๕๔

(๗)

เพียงสัมผัสอย่างทะนุถนอม
สำคัญด้วยหรือ
หากมือนั้นหยาบกร้าน

๒๕/๐๑/๒๕๕๔

(๘)

แล้วเธอก็ยิ้ม
ยิ้ม
ยิ้ม

๒๖/๐๑/๒๕๕๔

(๙)

เราต่างเก็บความสุขไว้ที่ไส้ติ่ง
รอวันแตกโพละ
แล้วตัดทิ้ง

๒๗/๐๑/๒๕๕๔

(๑๐)

ผู้คนเริงระบำบนรถไฟฟ้า
ยิ้มร่าทักทายกันบนรถเมล์
ความฝัน

๒๘/๐๑/๒๕๕๔


"หนุ่มอักษร... นอนตื่นสาย"

วันพฤหัสบดีที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2554

เรื่องราวของคนเก็บขยะอ่านหนังสือพิมพ์มติชน ป้าเสื้อเหลืองขายหนังสือเสื้อแดง และนักเรียนมัธยมฯ ตัดสินใจทำบัตรเดบิต

(๑)

ก็นั่นแหละ, ป้ายรถเมล์ธรรมดา ๆ อุดมไปด้วยคนธรรมดา ๆ ที่ไม่มีเงินถุงเงินถังมากพอจะซื้อรถยนต์ ไม่มากพอจะขึ้นรถแท็กซี่ จึงต้องมายืนออเพื่อรอรถเมล์สายที่จะพาพวกเขาไปติดแหง็กบนท้องถนนเพิ่มความเครียดให้แก่ชีวิต

ชายคนนั้นก็เป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง แม้ว่าการแต่งตัวจะซอมซ่อไปนิด (หรือไม่นิดในสายตาของหลายคน) แต่ก็พอเหมาะพอควรกับอาชีพที่เขาทำ-คนเก็บขยะ, ข้าพเจ้าเดาจากพาหนะคู่กายของเขา-สามล้อเก่าคร่ำคร่า ด้านข้างห้อยตะกร้าใบใหญ่เก่าพอกัน ในตะกร้านั้นเต็มไปด้วยขยะจำพวกขวดน้ำ เศษเหล็ก กระดาษ ฯลฯ

ภาพนี้คงจะผ่านตาข้าพเจ้าไปแบบไม่หวนกลับเข้ามาในความทรงจำ หากชายคนนั้นไม่ได้หยิบหนังสือพิมพ์ใหม่เอี่ยมออกมาจากกระเป๋า และนั่งลงอ่านมันอย่างตั้งใจตรงป้ายรถเมล์

หนังสือพิมพ์ฉบับนั้นคือหนังสือพิมพ์มติชน

คนเก็บขยะอ่านหนังสือพิมพ์ไม่ใช่เรื่องแปลก ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย ไม่ใช่เรื่องผิดศีลธรรมหรือน่าอุจาดตา จึงไม่มีใครสนใจ แต่สำหรับข้าพเจ้า, ผู้ถูกมายาคติหลายอย่างครอบงำในสมอง ได้แต่เก็บเอาภาพนั้นมาใคร่ครวญ

มายาคติประการแรก, ภารกิจของคนเก็บขยะคือเก็บขยะ มิพักจะพูดถึงการนั่งละเลียดจิบกาแฟอ่านหนังสือพิมพ์แกล้มอาหารเช้าอย่างที่คนรวยหรือนักธุรกิจในละครหลังข่าวชอบทำ (แล้วก็มักจะพบข่าวแย่งผัวเมียในหนังสือพิมพ์ธุรกิจ-ฮา) คนเก็บขยะกับการอ่านหนังสือพิมพ์ หรือการอ่านอะไรสักอย่างหนึ่งน่าจะเป็นภาพที่ไปด้วยกันไม่ค่อยได้ ถ้าข้าพเจ้าหยิบเอาฉากนี้ไปเขียนเป็นเรื่องสั้น ก็คงมิวายถูกติติงมาว่า "ไม่สมจริง"

มายาคติประการที่สอง, ข้าพเจ้าเคยคิดว่า หนังสือพิมพ์มติชนเนื้อหาค่อนข้างหนักในเรื่องการเมือง ไม่ค่อยจะมีเรื่องประกาศผลหวย ข่าวชาวบ้านขูดหาเลขตามต้นไม้ ฯลฯ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ หนังสือพิมพ์มติชนอาจไม่ใช่หนังสือพิมพ์ที่เขาเรียกกันว่า "หัวสี" ที่เน้นข่าวเอาใจชาวบ้านและแฟนละครหลังข่าว เช่นไทยรัฐ เดลินิวส์ ข่าวสด ฯลฯ แม้มันจะผ่านแท่นพิมพ์เดียวกันมาก็ตาม หนังสือพิมพ์มติชนจึงเหมาะสมสำหรับสิ่งมีชีวิตประเภทหนึ่งที่เรียกว่า "ปัญญาชน" มากกว่า

แต่มายาคติก็คือมายาคติ, มายาคติไม่ใช่ความจริง เมื่อภาพตรงหน้าที่ปรากฏไม่ตรงกับมายาคติที่ฝังอยู่ในความคิดของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจึงได้แต่ฉงนสนเท่ห์อยู่เช่นนั้น พยายามพิจารณารายละเอียด, หนังสือพิมพ์ใหม่เอี่ยมเกินกว่าที่เขาจะเก็บมาจากกองขยะ หรือเขาจะลงทุนซื้อมาอ่าน, รายได้จากการเก็บขยะขายมีมากเทียวหรือ เขาจึงมีเงินพอมาซื้อหนังสือพิมพ์ของ "ปัญญาชน" ทั้งที่ราคาก็แพงกว่า หรือนี่คือการลงทุนให้เกิดผลงอกเงยทางปัญญา, แวบหนึ่งข้าพเจ้านึกถึงวินมอเตอร์ไซค์กางหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์เล่มหนึ่งพลางถกเถียงกันอย่างเมามัน, และอีกแวบหนึ่ง ภาพของคนขายโปสเตอร์หน้ารามฯ กำลังนั่งอ่านเรื่องสั้นของมาร์เกซ ฉบับแปลของสำนักพิมพ์สามัญชนเล่มล่าสุดก็ลอยเข้ามาในความคิด

รถเมล์มาแล้ว, หมดเวลาคิด, วันนี้ข้าพเจ้ามีหลายเรื่องที่สำคัญกว่านี้ต้องสะสาง

(๒)

ข้าพเจ้าไม่รู้ว่าป้าเป็นเสื้อเหลืองหรือเปล่า เพียงแต่อนุมานเอาจากที่ข้าพเจ้าเห็นช่อง ASTV เปิดอยู่ทุกครั้งที่เดินเข้าร้าน

ร้านหนังสือของป้าส่วนใหญ่จะมีแต่หนังสือที่ขายคล่องจำพวกนิตยสารหรือหนังสือการ์ตูน รวมถึงหนังสือวาบหวิวปลุกใจเสือป่าและเสือไบ (ซึ่งหลัง ๆ มักจะวางเด่นกว่าหนังสือปลุกใจเสือป่า)  น้องคนขายน่าจะจำข้าพเจ้าได้ เพราะข้าพเจ้ามักจะมาพลิกหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์แทบทุกสัปดาห์-แล้วก็ไม่ซื้อ... (หรือนาน ๆ ก็ซื้อสักทีนึง)

ความน่ารักน่าชังของร้านนี้น่าจะอยู่ที่มีหนังสือสองสีวางอยู่บนแผงเดียวกัน- อันที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกเพราะร้านหนังสือหลายร้านก็เป็นเช่นนี้ แต่มันมาน่าแปลกเมื่อมาคิดรวมกันกับเจ้าของร้านผู้นิยมเปิด ASTV ชวนให้คิดว่าป้าเป็นเสื้อเหลืองระดับใด

แล้วก็เช่นทุกเย็นวันศุกร์, หลังจากฝ่ามรสุมรถติดวินาศสันตะโรมาแล้ว ข้าพเจ้าก็โผล่หัวมาที่ร้านนี้ หยิบเนชั่นสุดสัปดาห์ขึ้นมา เปิดสารบัญ แล้วก็วางลงที่เดิม เดินเข้าไปในร้าน ดูการ์ตูนเรื่องใหม่ ๆ ที่ออกมา ระหว่างที่เดินตรวจตราการ์ตูน ก็ได้ยินเสียงป้าและหนุ่มคนหนึ่งกำลังถกเถียงอย่างออกรส

ข้าพเจ้าอนุมานเอาเองว่าเขาคงเป็นหนุ่มเสื้อแดง จากการที่หนุ่มคนนั้นถือหนังสือ Red Power ในมือ เอาล่ะสิ, ป้าเสื้อเหลือง ศิษย์เฮียลิ้ม ปะทะ หนุ่มเสื้อแดง ศิษย์น้องตู่ ศึกเดือดเลือดสาดเริ่มขึ้นแล้วตรงหน้าข้าพเจ้า!

แต่แล้วก็ไม่มีการนองเลือดแต่อย่างใด, ออกจะคุยถูกคอด้วยซ้ำ ข้าพเจ้าประเมินเอาจากน้ำเสียงของทั้งคู่ หัวข้อสนทนาในขณะนั้นคือเรื่องคนไทย ๗ คนที่ถูกกัมพูชาจับไป ก่อนจะนำมาสู่บทสรุปที่ว่า รัฐบาลหนุ่มอ๊อกซ์ฟอร์ดนั้นสำมะหาอันใดมิได้

ข้าพเจ้าหัวเราะเบา ๆ หยิบการ์ตูน จ่ายเงิน เดินออกจากร้าน ไม่รู้ว่าน้องคนขายจะสังเกตเห็นรอยยิ้มของข้าพเจ้าหรือเปล่า

(๓)

เธอตั้งใจอ่านมันราวกับเป็นหัวข้อที่จะออกในข้อสอบวันพรุ่งนี้

เด็กสาวในชุดมัธยมปลาย, (ไม่รู้ว่าเธอทำอะไรอยู่ถึงได้กลับดึกนัก), นั่งอยู่ข้างข้าพเจ้า มือเรียวเล็กถือแผ่นพับประชาสัมพันธ์ของธนาคารชื่อดังแห่งหนึ่ง เป็นแผ่นพับเชิญชวนให้ทำบัตรเดบิตเป็นของตนเอง

มันก็ไม่น่าจะใช่เรื่องผิดแปลกอะไรสำหรับเด็กสาวที่ต้องการความสะดวกสบายทางธุรกรรมในยุคสมัยแห่งเทคโนโลยีและความรวดเร็ว อีกประการหนึ่ง บัตรเดบิตไม่ใช่บัตรเครดิต ไม่ได้ไปกู้หนี้ยืมสินของธนาคารมาจ่าย มีเงินในบัญชีเท่าไหร่ก็ใช้ได้แค่นั้น เธอคงไม่ถึงขนาดติดหนี้หัวโต หาเงินไปชดใช้ธนาคารไม่ได้จนต้องกระโดดตึกฆ่าตัวตายอะไรเทือกนั้น

แน่นอน, บัตรเดบิตยังยั่วยวนใจด้วยสิทธิพิเศษมากมาย เช่น ส่วนลดตั๋วภาพยนตร์ ส่วนลดร้านอาหารที่ร่วมรายการ ส่วนลดโยนโบวล์ และส่วนลดในกิจกรรมนันทนาการอื่น ๆ ที่วัยรุ่นไม่อยากตกเทรนด์พึงประสงค์

ก็นั่นแหละ, เธอตั้งใจอ่านมันราวกับเป็นหัวข้อที่จะออกในข้อสอบวันพรุ่งนี้

(๔)

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเป็นเรื่องระดับมหภาค คงจะใช้ทฤษฎี "ก้อนกรวดก้อนเดียวอธิบายจักรวาล" ไม่ได้

เพราะก้อนกรวดนั้นอาจแค่กระเด็นกระดอนเข้ามาในสายตาเราด้วยความ "บังเอิญ"

คนเก็บขยะอาจจะอ่าน นสพ. มติชน เพราะเพิ่งเก็บได้ข้างทาง, เพราะบังเอิญมีคนทำหล่นไว้ เลยมาเปิดดูเผื่อมีเลขเด็ด ก็เป็นได้ ป้าเสื้อเหลืองอาจจะไม่ใช่เสื้อเหลือง ผมก็แค่บังเอิญเดินเข้าไปในร้านตอนที่แกกำลังเปิด ASTV ก็เป็นได้, แกอาจจะคุยกับหนุ่มเสื้อแดงให้ถูกคอ เพื่อหนุ่มเสื้อแดงจะได้มาอุดหนุนหนังสือร้านแกบ่อย ๆ ก็เป็นได้ น้องมัธยมฯ อาจจะตั้งใจอ่านแผ่นพับ เพราะในมือไม่มีอะไรอ่าน หรืออาจจะอ่านไปงั้น ๆ ตามประสาคนชอบอ่าน ก็เป็นได้

แต่ก้อนกรวดหลายก้อนที่กระเด็นมาเข้าตา ก็ชวนให้ผมใคร่ครวญถึงหลายสิ่งหลายอย่างที่ตกค้างในความคิด

เคยคิดว่า โอกาสที่ประเทศไทยจะเปลี่ยนผ่านการปกครองอย่างรุนแรงและเด็ดขาดมีน้อยมาก เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่เกื้อหนุนให้การเปลี่ยนแปลงเป็นไปในทางประนีประนอม จนถึงตอนนี้ ปัจจัยที่ว่าก็ชักจะเหลือน้อยลงเรื่อย ๆ, แล้วการเปลี่ยนผ่านที่ว่า จะเป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง หรือก็แค่กลเกมชิงอำนาจของคนไม่กี่กลุ่มเช่นที่เคยเป็นมา

การเปลี่ยนแปลงน่าจะต้องเกิดขึ้น แต่ผมก็เริ่มไม่แน่ใจเรื่องเงื่อนไขเวลา รูปแบบการต่อสู้ และลักษณะการเปลี่ยนแปลง

และก้อนกรวดไม่กี่ก้อนที่บังเอิญมาเข้าตา ก็ทำให้ความไม่แน่ใจของผมเพิ่มมากขึ้นทุกที


วุฒินันท์ ชัยศรี
๒๐/๐๑/๒๕๕๔

แง่มุมชีวิตที่ชวนคิดจากคุณเฉลียว สุวรรณกิตติ

สิ่งหนึ่งที่ผมชอบมากที่สุด (แม้จะยังทำได้ไม่ดีนัก) ในการรับเขียนงานสารคดีคือ การได้มีโอกาสเข้าพบและพูดคุยกับบุคคลสำคัญ ๆ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาร่วมกับนิสัยขี้อาย ไม่ค่อยกล้าคุยกับใครมากนัก บวกกับที่ไม่ค่อยจะเสาะแสวงหาโอกาสสุงสิงกับมนุษย์คนอื่นมากเท่าไหร่ของผม ทำให้การได้พูดคุยกับท่านทั้งหลายเหล่านี้เป็นประสบการณ์ล้ำค่าที่นาน ๆ จะเกิดขึ้นสักครั้ง

แน่นอนว่าประเด็นหลักในการพูดคุยก็ต้องอยู่ที่การสัมภาษณ์เพื่อนำไปเขียนงานเป็นส่วนใหญ่ แต่ทุกครั้งที่ได้พูดคุยกับท่านเหล่านั้นผมมักจะได้ "ของแถม" เป็นทัศนะหรือแง่คิดอันทรงคุณค่าที่จะหาจากที่ไหนไม่ได้ติดไม้ติดมือกลับมาเสมอ

สำหรับผมแล้ว ครึ่งชั่วโมงที่ได้คุยกับคนสำคัญมีค่ามากกว่านั่งอ่านสารานุกรมความรู้เป็นวัน ๆ หรือหลายสิบวัน โดยเฉพาะกับคนระดับ "Elite" อย่างคุณเฉลียว สุวรรณกิตติ รองประธานกรรมการบริษัททรู คอร์เปอเรชั่น แม้จะไม่ได้คุยนอกเรื่องมากนักเพราะเงื่อนไขเรื่องเวลาและการทำงาน แต่แน่นอน, บุคคลระดับนี้ไม่ว่าจะพูดเรื่องอะไรก็นำมาเป็นแง่คิดแก่คนรุ่นหลังได้เสมอ แง่คิดหลัก ๆ ก็คงจะเป็นเรื่องแง่มุมทางธุรกิจ นโยบายเศรษฐกิจที่ผิดพลาดของรัฐ ฯลฯ เรื่องเหล่านี้หาอ่านได้ที่คอลัมน์ของท่าน ผมคงจะไม่เอามาพูดมาก อยากได้มะพร้าวเนื้อแน่นหอมหวานคงต้องตามไปซื้อที่สวนเอง

ที่ผมอยากพูดถึงคือแง่มุมเล็ก ๆ ของชีวิตในบางประเด็นที่ผมฟังแล้วรู้สึกว่า เออ น่าคิดแฮะ!

(๑) เป็นผู้หญิงเรียนหนังสือมากก็ไม่ดี

เปิดฉากคำนี้มาก็ทำเอาชาวเฟมินิสต์เต้นผาง หาว่าความคิดโบราณ กีดกันสิทธิสตรี แต่จริง ๆ แล้วเป็นอารมณ์ขันของท่านที่ทำให้เห็นชีวิตในแง่มุมที่น่าสนใจไม่น้อย

ผู้หญิงเรียนหนังสือมาก ท่านว่าจะหาคู่ครองยาก

ไม่เกี่ยวว่าการเรียนสูงทำให้มีความรู้สูง เชื่อมั่นในตัวเองมาก ผู้ชายไม่ชอบอะไรทำนองนั้น

ท่านบอกว่า เรียนหนังสือสูง ๆ ก็ต้องใช้เวลามาก พอเรียนจบมาอายุได้สัก 25-30 ปี ผู้ชายที่อายุเท่ากับหรือมากกว่าเราที่เป็นคนดี ๆ ส่วนมากก็มักจะถูกผู้หญิงลักพาตัวไปแต่งงานหมดแล้ว

"ไอ้ที่เหลือรอดมาถึงมือเราเนี่ย มันต้องเป็นคนที่มีปัญหาแน่ ๆ"

ฮาตึง! ผมหัวเราะพลางนึกถึงเรื่องของคนใกล้ตัว

(๒) การสอนให้ "คิด"

ท่านว่าคนอินเดียเป็นคนช่างคิด ผมเห็นด้วย ไม่เช่นนั้นอินเดียคงไม่กลายเป็นแหล่งอารยธรรมสำคัญของตะวันออก เป็นต้นกำเนิดของศาสนาหลายศาสนาที่ทรงอิทธิพลทั่วโลกแน่นอน

เมื่อไม่กี่วันมานี้ ท่านได้อ่านหนังสือนิทานสอนเด็กของอินเดีย เรื่องมีอยู่ว่า ต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง มีหนูขุดดินอยู่ที่โคนต้นไม้ กิ้งก่าเกาะต้นไม้อยู่ แมวป่าอาศัยในโพรง ส่วนนกทำรังอยู่บนต้นไม้

ถ้าเป็นคำถามของเด็กไทยคงจะถามประมาณว่า ต้นไม้ต้นนี้มีสัตว์อยู่กี่ชนิด ตัวอะไรเกาะอยู่บนยอดไม้ ตัวอะไรอยู่ในโพรง

แต่คำถามของเด็กอินเดียคือ "ทำไม"

ทำไมนกถึงทำรังอยู่บนยอดไม้ ทำไมแมวต้องอยู่ในโพรง

ผมนึกถึงระบบการศึกษาของเราที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเป็นล้านครั้ง ผมอยู่ในรุ่นที่เขาเปลี่ยนระบบเป็น Child Center ที่เด็กเรียกชื่อเล่น ๆ (แต่ดันสมจริง) ว่า ควาย เซ็นเตอร์

ไม่รู้กี่ล้านครั้งที่รัฐมนตรีศึกษาฯ ประกาศจะปฏิวัติระบบการสอนให้เด็ก "คิด" แทนการ "ท่องจำ" แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่เคยเห็นเป็นรูปเป็นร่างเสียที เพราะเราเคยชินกับการท่องจำมากกว่า การปฏิรูปจึงเป็นเพียงเปลือก ในเมื่อเนื้อในเราก็ยังต้องท่องหนังสือไปเอ็นสะทร้านซ์ หรือแอดมิชชั่น หรืออะไรก็ไม่รู้ผมตามไม่ทันแล้ว

อย่าว่าแต่วัยมัธยมเลย แม้ในระดับมหาวิทยาลัยก็ยังคงท่องจำกันอยู่ หากท่องจำเรื่องที่เป็นประโยชน์ก็ดีไป เช่น ประวัติศาสตร์ที่จะมาเป็นรากฐานในการมองย้อนกลับไปเพื่อนำอดีตมาทำความเข้าใจปัจจุบัน

แต่เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ผมได้คุยกับเด็กสาวคนหนึ่ง เธอบอกว่าข้อสอบของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง (ขอสงวนนาม) ยังมีคำถามทำนองว่า ในวรรณคดีเรื่องนี้มีของวิเศษปรากฎกี่ชิ้น แต่ละชิ้นมีอานุภาพอะไรบ้าง

ฮาตึง! ผมเรียนวรรณคดีมาจนผมบางเส้นเริ่มหงอกยังตอบไม่ได้เลยครับพี่น้อง

วิธีเรียนแบบท่องจำของเราน่าจะได้รับมาจากการสืบทอดพระพุทธศาสนา เพราะสมัยก่อนต้องบวชเรียน การสืบทอดพระธรรมนั้นก็มาจากการสังคายนาพระธรรมของเหล่าสงฆ์ที่ใช้วิธีการท่องจำปากต่อปาก

แต่การท่องจำก็ไม่ได้ช่วยให้ผู้ใดบรรลุมรรคผล, เท่าที่เคยอ่านประวัติพุทธสาวก/สาวิกา ไม่มีใครบรรลุเป็นพระอรหันต์โดยการท่องจำเลยแม้แต่รายเดียว (ถ้าจำผิดขออภัย,ท่านผู้รู้เติมได้) แม้แต่พระอานนท์ผู้จำคำสอนของพระศาสดาได้ทั้งหมด ก็ยังบรรลุเป็นพระอรหันต์เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานไปแล้ว

การ "คิด" ต่างหากที่ทำให้บรรลุธรรม, ในประวัติพุทธสาวกที่มีการบันทึกไว้ พระพุทธเจ้ามักจะใช้วิธีการต่าง ๆ ให้เวไนยสัตว์เหล่านั้นได้ "คิด" จนนำไปสู่การบรรลุธรรม ไม่เคยให้ท่องจำหัวข้อธรรมะแต่อย่างใด

แน่ล่ะ ถ้าไม่มีฐานความรู้จากการท่องจำ ก็คงไม่สามารถคิดต่อยอดไปได้ แต่ผมคิดว่า "ฐาน" จริง ๆ ของความรู้น่าจะอยู่ที่ "ความคิด" มากกว่า

ใคร่ครวญสิ่งที่รู้มา, ขบคิดให้เข้าใจ, แล้วความจำจะตามมาเอง

อินเดียจึงเป็นสถานที่ชุมนุมนักปราชญ์ผู้กำเนิดศาสนาหลายศาสนาในโลกโดยมิได้นัดหมาย คงเพราะนิทานที่สอนเด็กให้ "คิด" เรื่องนั้นนั่นเอง

สองข้อนี้แหละครับคือแง่มุมชีวิตที่ชวนคิดจากคุณเฉลียว สุวรรณกิตติ ที่ผมอยากเก็บมาฝาก


วุฒินันท์ ชัยศรี
๒๐/๐๑/๒๕๕๔

วันพฤหัสบดีที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2554

หนุ่มอักษร, นอนตื่นสาย, ร่ายแคนโต้* (๑)

(๑)

ในคำ "รัก" มีช่องไฟ
ในความรัก
มีที่ว่าง

๑๔/๐๑/๒๕๕๔

(๒)

ต้นไม้ผลิใบอ่อน
หมายความว่า
รากหยั่งลงลึกพอ

๑๖/๐๑/๒๕๕๔

(๓)

มากเหลือเกิน "ที่จอดรถ"
น้อยเหลือเกิน
ที่จอด "รัก"

๑๘/๐๑/๒๕๕๔

(๔)

ร่มวิเศษของเด็กน้อย
กันฝนจากดวงตาให้ทุกคนได้
เว้นแต่ผู้ใหญ่ใจแคบ

๒๒/๐๑/๒๕๕๔

(๕)

นับแต่วันแรกที่หนวดเคราของฉันเริ่มงอก
หมายความว่า
เธอต้องเจ็บทุกครั้งที่ฉันหอมแก้มเธอ

๒๓/๐๑/๒๕๕๔


"หนุ่มอักษร... นอนตื่นสาย"

__________
*หนุ่มอักษร, นอนตื่นสาย, ร่ายแคนโต้ หรือชื่อโครงการที่เขียนในสมุดว่า

หนุ่มอักษร
นอนตื่นสาย
ร่ายแคนโต้

เป็น โครงการเขียนแคนโต้ของ "หนุ่มอักษร... นอนตื่นสาย" ในวันที่นึกครึ้มอกครึ้มใจอยากเขียนแคนโต้อย่างน้อยวันละบท แต่ก็อย่างที่เห็น บางบทก็เว้นช่วงไปวันสองวันหรือสามสี่วันตามแต่อัตราความขี้เกียจของเจ้าตัว เจ้าหนุ่มอักษรฯ บอกว่าอยากส่งเป็น SMS หาแฟน ๆ กลอนของเขาทุกคน แต่ติดที่ไม่มีเงินในโทรศัพท์ ก็เลยมาฝากใน FB ผมครั้งละ 5 บท ไม่มีธีมหรือคอนเซปต์ใด ๆ ครบ 5 บทก็จะเอามาฝากที (เขาว่างั้น) ผมซึ่งขัดคอหนุ่มอักษรฯ ไม่ได้ก็เลยต้องเอามาลงให้เขา ไม่งั้นเดี๋ยวเขาจะงอแงดิ้นพราด ๆ ไม่ยอมกินนมก่อนนอน (แต่ผมว่าเขาก็เขียนได้งั้น ๆ แหละ 55)

วันพฤหัสบดีที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2554

ตามหาบทกวีที่หายไป (๓)

๏ ไม่มีรักไม่มีฝันในนั้นหรอก
ไม่มีหมอกหนาวชื้นอันชื่นหวาน
ไม่มียิ้มยามสุขสันต์สำเริงสำราญ
หรือเพียงเสียงขับขานของนกน้อย

๏ มีแต่ความว่างเปล่าอันว่างเปล่า
ในห้วงทะเลเหงาแสนเศร้าสร้อย
เศษซากความรู้สึกล่องลอย
ค่อยค่อยเกาะเกี่ยวกันเป็นฝันลวง

๏ ค่อยซึมซับความเจ็บที่เหน็บหนาว
สิ้นแสงดาววิบวอมในอ้อมสรวง
สิ้นสุมาลย์หวานฉ่ำน้ำผึ้งรวง
มีก็เพียงการลับล่วงของห้วงกาล

๏ เพราะเพิ่งรู้บทกวีไม่มีจริง
เมื่อหัวใจที่หยุดนิ่งกลับชาด้าน
ท้องฟ้าเป็นสีฟ้ามาเนิ่นนาน
แล้ววิญญาณก็หลับใหลในนิทรา

๏ ที่สุดความอ่อนไหวก็ไร้เสียง
เหลือเพียงเสี้ยวฝันอันเลือนพร่า
เถิดกวีผู้ชอกช้ำเอ่ยคำลา
ออกตามหาบทกวี-ไม่มีจริง ๚ะ๛


"หนุ่มอักษร... นอนตื่นสาย"
๐๖/๐๑/๒๕๕๔

วันพุธที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2554

ตามหาบทกวีที่หายไป (๒)

๏ ว่ากันว่าบทกวีที่แท้จริง
คือความหยุดนิ่งในเคลื่อนไหว
จะสรรคำจำนรรจ์มาเจียระไน
ให้หยดย้อยเพียงใดคงไม่พอ

๏ คือความงามความดีที่ประเดิม
ไม่ต้องการการต่อเติมเมื่อเริ่มก่อ
แล้วปล่อยให้ความรักร่วมถักทอ
ขึ้นตรงต่อจิตวิญญาณการเติมเต็ม

๏ การตามหาบทกวีที่ลบเลือน
จึงเหมือนดิ่งจมเพื่องมเข็ม
ท่ามกลางชเลฝันอันอิ่มเอม
ในหนังสือนับแสนเล่มที่เปล่าดาย

๏ เมื่อสรรพสิ่งยังวิ่งไปไม่ยอมหยุด
ฤาอาจยุดยื้อกวีที่หล่นหาย
เมื่อฉันหวั่นไหวทั้งใจกาย
ย่อมสิ้นไร้ความหมายเมื่อร่ายกวี ๚ะ๛


"หนุ่มอักษร... นอนตื่นสาย"
๐๕/๐๑/๒๕๕๔

วันอังคารที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2554

ตามหาบทกวีที่หายไป

๏ ฉันยังพลัดหลงอยู่ตรงนี้
แม้ไม่ควรอยู่ที่นี่หรือที่ไหน
การตามหาบทกวีที่หายไป
จะเสาะหาอย่างไรก็ไม่พบ

๏ เศษซากทำนองหล่นบนอากาศ
คงพอวาดเพียงฝันอันรู้จบ
วิญญาณเงียบเหงาเซาซบ
ความเศร้าฟุ้งตลบราวฝุ่นควัน

๏ ไม่มีแม้เศษผงในรองเท้า
ไม่มีแม้รอยเงาในภาพฝัน
ไม่มีแม้ช่องว่างระหว่างกัน
มีเพียงฉัน, ไม่มีเธอ-ไม่มีใคร

๏ จะเสาะหาอย่างไรก็ไม่พบ
บทกวีมิรู้จบจะอยู่ไหน
ซ่อนอยู่ตามความฝันอันรำไร
หรือหลบเร้นในซากใจแหลกลาญ

๏ ฉันยังพลัดหลงอยู่ตรงนี้
ตรงที่ภาพฝันเคยผันผ่าน
และยังคงอยู่ตรงนี้อีกเนิ่นนาน
จนกว่าห้วงกาลจะกลืนกิน ๚ะ๛


"หนุ่มอักษร... นอนตื่นสาย"
๐๕/๐๑/๒๕๕๔

วันเสาร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2554

อย่ารอฉันเลยนะคนดี

๏ อย่ารอฉันเลยนะคนดี
หากเธอนั้นมีคนดีกว่า
ที่บังเอิญเดินผ่านเข้ามา
ในช่วงเวลาของชีวิต

๏ ฉันเองก็ยังเดิมเดิม
ที่เพิ่มมีแต่เรื่องผิด
ไม่มีความหวังสักนิด
ที่จะคิดทำตามฝันในวันวาน

๏ ยังใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อย
เป็นคนเรื่อยเรื่อยไร้หลักฐาน
เธอต้องรอเช่นนี้อีกกี่กาล
จะอีกนานเท่าไรคงไม่พอ

๏ เธอมีใครอีกคนที่ดีกว่า
ยังมีทางข้างหน้าให้เดินต่อ
เธออาจไม่ท้อ, แต่ฉันท้อ
จะให้เธอมารอคนแบบนี้

๏ เถิดไปกับใครที่เหมาะสม
ดีกว่ามาจมอยู่กับที่
อย่ารอฉันเลยนะคนดี
เธอยังมีก้าวต่อไปให้เลือกเดิน ๚ะ๛


"หนุ่มอักษร... นอนตื่นสาย"
๐๑/๐๑/๒๕๕๔