วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2559

ความรัก

ความรัก น. สิ่งที่จะไม่เปลี่ยนแปลงแม้เมื่อเห็นคนที่ตนรักอยู่ในจุดต่ำสุดของชีวิต.

(พจนานุกรมฉบับวุฒินันท์ ชัยศรี. กันยายน ๒๕๕๙.)

วันจันทร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2559

โลกสามสลึงของ "ศิลปินเถื่อน"


จะว่าไปแล้ว นับตั้งแต่ ป.อินทรปาลิตสร้างหัสนิยาย (แปลไทยเป็นไทยว่านิยายชวนหัว) เรื่องสามเกลอ พล นิกร กิมหงวนให้ดังค้างฟ้าสร้างสถิติตีพิมพ์กว่าครึ่งล้านเล่มภายในปีเดียว (น่าจะ พ.ศ. 2482) ก็ไม่เคยมีหัสนิยายเรื่องไหนของนักเขียนในยุคหลังเทียบชั้นได้ทั้งยอดพิมพ์และดีกรีความฮาน้ำตาเล็ด ถ้าจะเห็นมีนักเขียนร่วมสมัยของเราคนไหนพอเลียบ ๆ เคียง ๆ เรื่องความฮาของ ปู่ ป. ได้ก็อาจจะเป็นคุณดำรงค์ อารีกุล เจ้าของ "จักรยานแดงในรั้วเขียว" อันโด่งดัง นอกจากนี้เขาก็ยังสร้างตัวละคร "หมง หงจินเป่า" และผองเพื่อนใน "ชมรมกอดลมไว้อย่าให้หงอย" หรือเหล่าสุนัขจอมยียวนใน "ขบวนการเล็บงาม" ที่ออกวาดลวดลายอยู่บ่อย ๆ ในเซ็คชั่นเรื่องสั้นขายหัวเราะให้คนอ่านเสพติดกันงอมแงม

ที่พูดมาตั้งนานยังไม่เกี่ยวกับเรื่องที่จะรีวิวเลย (ฮา) นอกจากชื่อที่เอ่ยมาแล้ว ผมคิดว่า 'ธราธิป' น่าจะเป็นอีกหนึ่งในเพชรเม็ดงามที่วงการหัสนิยายไม่น่าจะเผลอลืม ผลงานของเขาอย่าง "เดอะกร๊วกฟาเธอร์แห่งหมู่บ้านซวยซ้ำซาก” ที่เล่าถึงเรื่องราวชีวิตบัดซบของนักเขียน (เขาเอง) ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง หรือ “โรงเรียนนักเลง” ที่เล่าถึงชีวิตช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัยรามคำแหง แม้จะไม่ได้ติดลองลิสต์ร้อยเล่มที่คนไทยควรอ่าน แต่เมื่อเปิดผ่านก็เชื่อได้ว่าจะเรียกรอยยิ้มพอเห็นไรฟันแบบชนชั้นสูง หรือหัวร่องอหายอย่างไพร่ก็ตามแต่ความศรัทธา

"ศิลปินเถื่อน" (ฉบับสมบูรณ์พูนสุข) เป็นอีกหนึ่งผลงานของ 'ธราธิป' ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2533 ว่าด้วยเรื่องราวของศิลปิน 5 คน ได้แก่ เปี๊ยก อาร์ต จิตรกรหนุ่ม, รอย อนารยชน ผู้เชี่ยวชาญทางไสยศาสตร์, เป บูรพา กวีหนุ่มจากอีสาน, สินจิต นักดนตรีจากล้านนา และ "ผม" ผู้เล่าเรื่อง ซึ่งไม่ได้บอกชื่อเสียงเรียงนาม ที่ต่างต้องมาใช้ชีวิตร่วมกันในบ้านสวนสุดแสนทุรกันดาร เรื่องราววุ่น ๆ เกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน ส่วนมากจะเป็นเรื่องอาหารการกินที่อดอยากเหลือแสน หรือเรื่องที่พวกเขาบางคนไปพัวพันกับหญิงสาวแต่ก็ต้องช้ำใจกลับมาทุกราย

เอาจริง ๆ เรื่องย่อมีเท่านี้แหละ ก็เรื่องชวนขันคงไม่มีคติสอนใจอะไร ทว่าในความธรรมดาของเรื่องราวนั้นกลับแฝงไว้ด้วยพฤติกรรมจัดจ้านและบ้าบอที่ทำให้ลมหายใจของทุกตัวละครกลั้วไว้ด้วยเสียงกลั้นหัวเราะ

ลองมาดูฉากเปิดตัวของตัวละครแต่ละตัวดูบ้าง

"สินจิต นักดนตรีจากล้านนาเพื่อนผู้น่าสงสารที่สุด ตัวสูงขนาดหมาเซนต์เบอร์นาร์ดเบอร์แอล เคยเรียนมาหลายสาขาแต่มาผ่านสาขาสุดท้ายที่ศรีธัญญา

"ในหัวสมองโตๆ ของสินจิตมีเรื่องนานาชนิดตั้งแต่เล็กขนาดมดแพ้ท้อง จนถึงเรื่องใหญ่ขนาดจะอพยพหอไอเฟลมาไว้ที่ทุ่งกุลา ดวงตาเปี่ยมฝันคู่ที่ เป บูรพา รำพึงแกมอิจฉาว่า "ตาไอ้สินจิตมันเป็นดวงตาทรมานใจสาว ยิ่งกว่าตาพระลออีก อย่าว่าแต่กูเป็นลูกผู้ชายเลย นี่ถ้ามันเป็นควาย กูก็พร้อมวิ่งเข้าไปซบเขามันขอเป็นคันไถ" (น.29)

"เป บูรพา...หน้าตาแบบใบตอง คือผีตองเหลือง และดั้งยับเยินยิ่งกว่าลำห้วยในหน้าแล้ง ที่ลึกจนมองไม่เห็นพื้นผิว ...”หน้าตาเป มันเหมือนกับว่า ไม่เต็มใจมาเกิด หรือเกิดแบบลวกๆ” คนหนึ่งว่า ผมพยักหน้าเห็นด้วย" (น.151)

นอกจากฉากเปิดตัวของแต่ละคนจะงามสง่าสมราคาศิลปินแล้ว พฤติกรรมแบบหมูไม่กลัวน้ำร้อนชอบแกว่งปากไปหาตีนก็นำพาเรื่องราวปวดหัวมาให้แก้ปัญหากันไม่เว้นวัน เช่นตอนหนึ่งเมื่อในตลาดเกิดมีสาวงามย้ายเข้ามาอยู่ ศิลปินหัวงูจึงออกขายขนมจีบโดย (แกล้ง) ไม่รู้เลยว่า "เพราะมะม่วงงาม มดแดงย่อมชุม ยิ่งเป็นมะม่วงสวนคนอื่น ยังมีอย่างอื่นนอกจากมดแดง อาทิ ไม้คมแฝก และจิ๊กโก๋" (น.22) ทำเอาต่างคนต่างก็งัดกลยุทธพิชิตใจเธอมาใช้

"เปเคยเปรยว่า มีว่านชนิดที่กินแล้วมีเสน่ห์ ขนาดสาวเห็นสะกิดแม่ไหม รอยตอบเรียบๆ ว่ามี

"พอมึงกินแค่เคี้ยวหมากแหลก เดินผ่านหน้าบ้านให้เค้าเห็นทุกวัน พอสักเจ็ดวันให้หลัง เขาเห็นมึงเดินมาอีก เขาจะสะกิดแม่ทันทีว่า ...ไอ้เอี้ยนั่นมาอีกแล้ว" (น.17)

หัสนิยายเล่มนี้ไม่ได้บรรจุไว้แต่เพียงเรื่องราวบ้า ๆ บวม ๆ ของเหล่าศิลปินสามสลึง แต่ยังมีเรื่องราวความรัก มิตรภาพของเพื่อนแท้ที่ยอมตายแทนเราได้ พอ ๆ กับที่อยากจะแกล้งเราเอาให้ตายนั่นแหละ อ่านแล้วอาจจะพอให้นึกถึงความทรงจำดี ๆ กับเพื่อนบ้า ๆ ขึ้นมาบ้างสักคน (ถ้ามี) สำหรับใครที่มองหาสาระประโยชน์อันพึงมีแก่ชีวิต ข้ามเล่มนี้ไปก็ไม่นับว่าพลาดอันใด แต่สำหรับใครที่อยากจะมองหารอยยิ้มประโลมใจในวันแห้งผากของชีวิต หนังสือเล่มนี้ก็เหมาะมือสำหรับบรรเทาความกระหายทางรอยยิ้มได้บ้าง อย่างที่ เป บูรพา กล่าวไว้เมื่อจับนกเขาได้ในวันที่ไม่มีอะไรจะกิน

“กูใฝ่ฝันจะกินนกนางนวล ญาติของโจนาธาน ลิฟวิงสตัน แต่ไม่สมหวัง มากินไอ้ตัวนี้ก็ยังดีวะ” (น.133)

-------------------------
ธราธิป ชอบธรรม. ศิลปินเถื่อน. กรุงเทพฯ : แมงทับ, 2533.