วันศุกร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2559

จดหมายถึงเพื่อน / กนกพงศ์ สงสมพันธุ์


เล่มนี้อ่านจบมาหลายเดือนแต่ยังไม่ได้รีวิวซะที ทำให้รู้สึกเหมือนติดค้างพี่กนกพงศ์อยู่เล็กน้อย วันนี้พอจะมีเวลาเลยเขียนเก็บไว้เป็นความประทับใจเล่มหนึ่งส่งท้ายปีก็แล้วกัน

"จดหมายถึงเพื่อน" คือหนังสือรวบรวมจดหมายที่กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ นักเขียนหนุ่มตลอดกาลเขียนถึงเพื่อนรักอย่างขจรฤทธิ์ รักษา เนื้อหาพูดถึงเรื่องราวในวงการวรรณกรรม หนังสือหนังหาที่กนกพงศ์อ่าน กิจกรรมของนักเขียนหนุ่ม เพื่อนรักเพื่อนร้ายประดามี และเรื่องสัพเพเหระอื่น ๆ ที่เราจะเข้าใจกนกพงศ์มากขึ้นโดยไม่ต้องตามอ่านระหว่างบรรทัดเหมือนในเรื่องสั้น

อ่านเล่มนี้จบ แวบแรกที่เรานึกถึงก็คือเรื่องสั้นที่ไม่เคยตีพิมพ์มาก่อนของกนกพงศ์ที่สำนักพิมพ์นาครเอามาตีพิมพ์ในราหูอมจันทร์เล่มต้น ๆ ที่พูดถึงเพื่อนนักเขียน เพื่อนกวีในละแวกบ้าน ในที่สุดเราก็ได้กระจ่างว่าเพื่อนเหล่านี้เป็นใคร สำคัญอย่างไรถึงโผล่อยู่ในเรื่องสั้นที่ไม่เคยตีพิมพ์ของกนกพงศ์อยู่บ่อย ๆ

แวบที่สอง นึกถึงเรื่องสั้น "พิธีเลื่อนยศให้กับผู้พันแซนเดอร์ส" ของพี่ขจรฤทธิ์ที่ตีพิมพ์ในราหูอมจันทร์เล่มแรก อ่านตอนนั้นไม่รู้ว่าพี่เขียดแกแดกดันใครรู้แต่อ่านแล้วขำมาก คงจะเป็นเรื่อง "รู้กัน" ระหว่างแกกับกนกพงศ์ หลังจากอ่านจดหมายพวกนี้ ถ้ากลับไปอ่านเรื่องนั้นอีกรอบคงขำกว่าเดิม

แวบที่สาม ในเล่มอัดแน่นด้วยการเล่าถึงบรรยากาศความซบเซาของวงการวรรณกรรมในยุคที่ "ปราบดา" และ "วินทร์" ยังถือเป็น "เมนสตรีม" อยู่เลย ถ้ากนกพงศ์มีชีวิตยืนยาวมาจนถึงปัจจุบัน ได้เห็นการต่อแถวยาวเป็นกิโลเพื่อซื้อหนังสือของนักเขียนเบสต์เซลเลอร์อย่างนิ้วกลม ได้เห็น "กาละแมร์" ขึ้นปกนิตยสารไรต์เตอร์ (แถมยังขายดีจนพิมพ์ครั้งที่สอง) ไม่รู้ว่า "บรรณาธิการรุ่นที่สอง" อย่างกนกพงศ์จะพูดกับ "บรรณาธิการผู้ก่อตั้ง" อย่างพี่ขจรฤทธิ์ว่าอย่างไรบ้าง จดหมายถึงเพื่อนจะแซบกว่านี้สักกี่ร้อยดีกรี

เล่มนี้อาจไม่ใช่หนังสือประเภทที่คนอยากเป็นนักเขียนอ่านแล้วจะเกิดกำลังใจ ยิ่งคนที่เขียนหนังสือแนว "ขายยาก" แบบแกอ่านแล้วคงจะใจเสียมากกว่าเกิดแรงฮึด เพราะขนาดมือกระบี่เรื่องสั้นอันดับต้น ๆ ของแผ่นดินอย่างกนกพงศ์ก็ยังมีความท้อแท้ ความอึดอัด ความเศร้า ความผิดหวังบางอย่างที่ระบายอย่างตรงไปตรงมากับเพื่อน อ่านแล้วก็สะท้อนใจว่า นี่ขนาดเจ้าสำนักวรรณกรรมเพื่อชีวิต (คนสุดท้าย) อย่างกนกพงศ์ยังท้อบ้างบางจังหวะ แล้วลูกกระจ๊อกอย่างเราจะเหลืออะไรให้หวังได้บ้างวะ (ฮา)

แต่หากอยากอ่านเพื่อรู้จัก Last Man Standing ของวงการวรรณกรรมเพื่อชีวิตแบบไม่ต้องตามเก็บระหว่างบรรทัด หนังสือเล่มนี้ก็ถือว่าตอบโจทย์ในการเปิดเปลือยตัวตนบางส่วนของกนกพงศ์ให้เรารู้จัก-ศึกษาเพื่อจะเข้าใจนักเขียนหนุ่มตลอดกาลมากขึ้น นอกจากนี้จดหมายเหล่านี้ยังเป็น "บทบันทึกประวัติศาสตร์" ของวงการวรรณกรรมในช่วงที่กนกพงศ์ยังมีชีวิตอยู่ (หรืออาจจะเรียกว่าเป็นบทบันทึกประวัติศาสตร์วรรณกรรมเพื่อชีวิตยุคสุดท้ายก็ได้ ถ้านับว่ากนกพงศ์เป็นนักเขียนเพื่อชีวิตคนสุดท้าย) หรือที่จริงถ้าไม่คิดอะไรมาก อ่านเล่น ๆ ก็สนุกมากอยู่แล้ว เพราะกนกพงศ์ก็เขียนจดหมายได้น่าอ่านพอ ๆ กับเรื่องสั้นที่เขาเขียนนั่นแหละ
------------------------------------------
Quotations:

เมื่อมีการรวบรวม “จดหมายถึงเพื่อน” ออกมาเป็นเล่ม ผมก็ยังหวังแบบเดียวกับที่ไพวรินทร์พูดไว้ที่กระทรวงศึกษาธิการในวันที่เรารำลึกถึงกนกพงศ์ว่า หากได้บันทึกถึงสิ่งที่เราได้พูดคุยกับกนกพงศ์นั้น มันมีมุมมองความคิดที่นำมาใช้อธิบายเรื่องต่าง ๆ ได้มากมาย สิ่งเหล่านี้อยู่ในขั้น “จินตนาการ” คือมันอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคตของสังคมเราด้วย เหมือนเรื่องสั้น “โลกใบเล็กของซัลมาน” ที่บอกถึงการแย่งชิงทรัพยากรที่ทุนกระทำต่อคนพื้นเมือง ซึ่งวันนี้ไม่เพียงแต่ที่กระบี่ ที่มีการปิดล้อมอารยธรรมดั้งเดิมให้ขาดลมหายใจ แม้แต่สุสานสาธารณะที่ฝังศพของชาวเกาะสิเหร่มานับพันปี ก็ถูกนายทุนยึดครอง (ไม่ต้องบอกว่าเป็นนายทุนพรรคการเมืองไหน) หรือในเรื่องสั้น “สะพานขาด” ในฉากที่รถถังในนามกองทัพของประเทศแล่นมาถึงสะพาน ทางขวาคือบ้าน ทางซ้ายคือนาข้าว เมื่อรถถังเลือกเคลื่อนสายพานตัดผ่านนาข้าวในฤดูพรรษานั้น กนกพงศ์ตั้งคำถามว่ากองทัพเป็นใคร ใหญ่กว่าพระพุทธเจ้าหรือไร พระพุทธเจ้ายังสั่งสาวกมิให้แม้แต่เหยียบย่ำด้วยเท้าน้อย ๆ แน่นอน... ในระยะที่ผ่านมา วาทกรรมการพัฒนาได้รุกรานคนเหล่านี้อย่างหนัก เสาไฟฟ้าแรงสูง เขื่อน ถนน ล้วนปักลงบนกลางหัวใจคนเหล่านี้ทั้งสิ้น หากเราไม่ติดเรื่องฉากและสถานที่ นำเอาเรื่องเหล่านี้มาใช้ในระดับ “จินตนาการ” มันจะอธิบายสังคมได้อย่างลึกล้ำ ผมยกงานเก่า ๆ สมัยที่ความคิดความอ่านของเขายังนิ่ม ๆ มาเป็นตัวอย่างเพื่อง่ายแก่ความเข้าใจ
(คำนิยมของเจน สงสมพันธุ์ หน้า 9)
-----------
จึงไม่เป็นเรื่องแปลกที่หนังสืองานศพของคนส่วนใหญ่หรือทั้งหมดในโลกนี้จึงมีแต่เรื่องดี ๆ ที่ได้กระทำไว้ ส่วนเรื่องชั่ว ๆ เช่น โกง ทรยศ หักหลัง หรือมักมากในกามนั้น ไม่จำเป็นต้องบันทึกไว้ ปล่อยให้เวลามันค่อยทำลายประวัติศาสตร์ส่วนนี้ไปอย่างช้า ๆ ไม่นานคนบนโลกใบนี้ก็จะลืมไปเองว่าเขาได้ทำกรรมชั่วอะไรไว้บ้าง อีกสิบปีหรืออีกร้อยปีต่อมา ถ้าอยากจะอ่านเรื่องของเขา อยากรู้รายละเอียดของชีวิตเขา เราก็จะได้อ่านแต่เรื่องดี ๆ
(คำนำของขจรฤทธิ์ รักษา หน้า 13)
-----------
ญี่ปุ่นไม่มีวงการวรรณกรรม มันเป็นอาชีพหนึ่ง ธุรกิจหนึ่ง ซึ่งเป็นมาแต่ไหนแต่ไร เขาเองยังแปลกใจที่มาอยู่เมืองไทยแล้วเห็นว่ามีงานวรรณกรรมเยอะมาก นักเขียนก็แห่กันไปร่วม แต่วรรณกรรมกลับไม่เจริญรุ่งเรือง ที่ญี่ปุ่นโอกาสน้อยมากที่นักอ่านจะได้เจอนักเขียน และยิ่งน้อยลงไปอีกกับโอกาสที่นักเขียนจะมาเจอนักเขียนด้วยกัน ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างทำงาน ไม่สัมพันธ์เกี่ยวข้องใด ๆ กัน

...ชาวญี่ปุ่นคนนั้นเขายิ่งงงที่ผมบอกว่า ตอนนี้วรรณกรรมไทยมีปัญหา เพราะวรรณกรรมแปลเข้ามาตีตลาด เขาไม่เข้าใจว่าคนไทยเปรียบเทียบได้อย่างไรว่าวรรณกรรมแปลดีกว่าวรรณกรรมไทย ในเมื่อสำหรับชาวญี่ปุ่น แม้จะยอมรับว่างานของตอลสตอยหรือดอสโตเยฟสกี้นั้นยอดเยี่ยม แต่มันก็ยอดเยี่ยมแบบรัสเซีย เหมือนที่เฮมิงเวย์ก็ยอดเยี่ยมแบบอเมริกา ญี่ปุ่นเองก็ต้องมียอดเยี่ยมของเขา ซึ่งไม่อาจไปแข่งขันกับใครได้ และใครจะมาแข่งก็ไม่ได้
(หน้า 25)
-----------
ไม่ใช่เหตุผลหรอกครับที่บอกว่า ก็วรรณกรรมสมัยใหม่ของเราเริ่มมาได้แค่ร้อยปีกว่า ๆ เท่านั้นเอง มันเป็นข้ออ้างเพื่อไม่ต้องรับผิดชอบกับความรู้สึกหดหู่เสียมากกว่า ผมว่าร้อยปีมันก็เยอะพอสมควรในการพัฒนาอะไรไป มันควรไปไกลกว่านี้ แต่นี่กลายเป็นว่า เรายังอยู่กันที่ก้าวแรกอยู่เลย ร้อยปีของเรากับห้าสิบปีหรือยี่สิบปีแทบไม่ต่างกัน ในเมื่อถึงวันนี้ คุณกับผม กับใคร ๆ อีกหลายคน ยังเขียนหนังสือกันด้วยความรู้สึกว่า เราต้องสร้างงานเพื่อเป็นรากฐานของวรรณกรรมไทยอยู่เลย ผ่านไปร้อยกว่าปีแล้ว เรายังทำหน้าที่เดินขนดินมาถมพื้นเพื่อสร้างบ้านกันอยู่เลย
(หน้า 27)
-----------
การเขียนหนังสือเล่มใหญ่ไม่ใช่เรื่องง่าย หนังสือใหญ่สร้างพันธะแก่คนอ่านโดยปริยายของมันอย่างหนึ่งว่า เมื่อจบแล้วมันต้องมีอะไรติดอยู่ในหัว ประทับในอารมณ์ พื้นที่มากมายมหาศาลของตัวหนังสือนั่น มันต้องมีอะไรสักอย่างสิน่า ดูได้เลย งานเขียนเล่มใหญ่ ๆ โดยเฉพาะฉากรัสเซีย แม้เราจะรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง แต่เมื่ออ่านจบไป มันจะมีบางอย่างที่เรารู้สึกหนัก ๆ ตกค้างอยู่ รู้สึกเหมือนโดนทุบหัว ฟลิกเกอร์ไม่ได้ให้ความรู้สึกนั้น ความน่าเบื่อมันเกิดมีขึ้นเสียก่อน เมื่อเกิดความน่าเบื่อเสียแล้ว ข้างหน้าก็มีแต่ความล้มเหลว
(หน้า 37)
-----------
ข่าวครูในโรงเรียนของเมียเขานินทาเขาเข้าหูผมบ่อย แน่ละ ในสังคมครูย่อมมีการแข่งขัน อิจฉาริษยา และตั้งข้อรังเกียจ เมียของเขามีผัวเป็นนักเขียน ได้ช่วยเขียนตำรา แล้วเมียของเขาก็เอาไปโม้ข่มคนอื่น เท่าที่เป็นอยู่นี้ ผมถือว่าศักดิ์ศรีของนักเขียนเสียหายไปมากแล้ว ครูคนอื่น ๆ ก็เข้าใจว่า อ๋อ นักเขียนก็เป็นอย่างนี้เอง ไม่ได้วิเศษวิโสอะไร ช่วยเมียทำอาจารย์สาม เป็นการเอาเปรียบคนอื่น โดยตรรกะที่ว่า ผมก็เป็นนักเขียน ผมอาจพลอยเสื่อมไปด้วยก็ได้ เพราะยังไงผมก็เป็นเพื่อนของเขา เป็นพวกนักเขียนด้วยกัน
(หน้า 46)
-----------
แต่ผมเห็นว่าวิกฤติวรรณกรรมที่เป็นอยู่นี้ก็เพราะนักเขียนเราไม่ยอมทำงานกัน แล้วก็พูดให้ฟังว่า ธุรกิจหนังสือเป็นอย่างไร สายส่ง ร้านหนังสือเป็นอย่างไร จุดใหญ่ใจความอยู่ที่การยึดครองแผงของหนังสือแปล เพราะพวกเราไม่ยอมทำงานกัน

ได้เวลาหกโมง ผมสรุปจบลงตรงที่ว่า การแก้วิกฤตินี้มีอยู่ทางเดียว คือเราต้องช่วยกันทำงานเสียก่อน ไอ้จะไปเย้ว ๆ ส่งเสริมหรือกระตุ้นการขายนั้นเสียเวลา หนึ่ง เราจะขายอะไร ในเมื่อไม่มีสินค้าไปขาย สอง การเย้ว ๆ แบบนั้น แทนที่จะได้เขียนกันบ้าง ก็กลับไม่ได้เขียน มันจะยิ่งวิกฤติไปกันใหญ่
(หน้า 50-51)
-----------
ในสถานการณ์ตลาดวรรณกรรมบ้านเราเป็นแบบนี้ มันคงเสี่ยงพอสมควรกับการฝากชีวิตไว้กับการเขียนหนังสือแต่เพียงอย่างเดียว จะทำอย่างไรล่ะครับ หากเราไม่มีคนอ่าน ผมสะทกสะท้อนพอสมควรกับความคิดที่ว่า คนอ่านได้เปลี่ยนรุ่นไปแล้ว จริงเท็จอย่างไรไม่รู้ แต่ผมมักแวบความรู้สึกขึ้นอย่างนั้น จากที่เมื่อก่อนผมเคยเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า ขอเพียงเราเขียนดี งานมีคุณภาพ และยืนหยัดอย่างต่อเนื่อง เราก็จะมีคนอ่านของเราเอง ซึ่งคงไม่ได้หมายถึงร่ำรวย เป็นเบสต์เซลเลอร์ ขอเพียงแค่พออยู่ได้ ผมหวังแค่นั้น และเชื่อมั่นเช่นนั้น แต่ถึงวันนี้เขียนดีอาจไม่เป็นคำตอบ ในเมื่อทุกอย่างมันเป็นเทรนด์ เป็นกระแส โลกตกอยู่ในยุคของการโฆษณา เราจะเขียนหนังสือกันไปเงียบ ๆ แล้วปล่อยให้ผลงานไปหาคำตอบของมันเอาเองยังไงก็เสี่ยง
(หน้า 71)
-----------
นับวัน ต่อสิ่งที่ผมประจักษ์ด้วยตนเอง ผมจึงยิ่งเสียดายเพื่อนนักเขียนที่เป็นครูของผมทุกคน ไปติดกับดักทางความคิด ที่ส่งผ่านมาจากส่วนกลาง เขาคิดว่าสังคมเป็นโพสต์โมเดิร์น จึงพยายามเกาะติด ขณะที่ผมมองเห็นว่า ที่แท้พวกเขาตกเป็นทาสทางความคิดของนักวิชาการจากส่วนกลาง แค่นั้นเอง

...ที่ว่าน่ากลัวก็คือ เขาไม่รู้ ไม่เฉลียวใจว่า กรอบความคิดย่อมมีผลต่อพฤติกรรมในชีวิตจริง ทุกวันนี้ครูอะไรต่าง ๆ ที่เป็นนักวิจัยเหล่านี้ กลายเป็นห่างเหินจากเพื่อนบ้านร่วมพื้นที่ ร่วมสังคมโดยสิ้นเชิง มองเพื่อนบ้านโง่เง่า ด้อยพัฒนา กักขฬะ ไม่ได้เรื่องไปเสียหมด วางตัวเป็นนักวิชาการ ไม่สัมพันธ์คบหา

ผมอยู่ในสถานที่เดียวกันนี้ ทำตัวเสมือนน้ำ และอยู่ในที่ต่ำ ผมจึงได้ยินคำนินทาว่าร้ายจากชาวบ้านถึงนักวิชาการของเรามากเหลือเกิน กระทั่งนับวันผมชักลังเลที่จะคบหา กลัวชาวบ้านจะพลอยหมั่นไส้ไปอีกคน
(หน้า 77)
-----------
ในความเป็นนักเขียนนั้น น่าจะมีอะไรบางอย่างซึ่งน่าเคารพยำเกรง ผมเจอลักษณะแบบนี้กับตัวเองบ่อย จนเป็นสถิติให้คิดเชื่อมั่นได้ ช่วงขณะที่ผมกับน้าหงาคุยกัน ไม่มีใครกล้าเข้ามายุ่งเหมือนเราอยู่กันสองคนในโลก มีคนอื่นคอยมุงดู พวกนักดนตรีอื่น ๆ นอบน้อมดี นอบน้อมจนเกินไปเสียด้วยซ้ำ ตอนแรกโน้น ผมก็งง ๆ อยู่เหมือนกันกับท่าทีของคนเหล่านี้ พวกเขาดัง เป็นที่รู้จักของมหาชน น่าจะกร่างใส่ผม แต่กลับไม่ อาจเป็นไปได้นะครับที่พวกนักดนตรี ศิลปินเหล่านั้น รู้ตัวเองดีว่าในหัวหาได้มีอะไร ขณะข้างหน้าเบื้องหน้านี้คือนักเขียน นักเขียนที่มีความหมายรวมถึงนักคิดนะครับ (ส่วนผมจะเป็นนักคิดจริง หรือมีอะไรในหัวหรือไม่ ไม่รู้) พวกเขาจึงเกรง เว้นแต่น้าหงา ที่เขาเป็นนักเขียนอยู่ด้วย

ศักดิ์ศรีของนักเขียนในวงศิลปินนั้น เหนือกว่าทุกแขนง แม้นักเขียนจะเป็นศิลปินที่ยากจนที่สุดก็ตาม
(หน้า 99)
-----------
“การเดินทางของพาย พาเทล” ดีจริง ๆ นะครับ หวังว่าคุณคงอ่านแล้ว

ชอบไหม

ชอบหรือไม่ชอบ ผมไม่แปลกใจอันใด เพราะเห็นอยู่ว่าบางคนอาจไม่ชอบก็เป็นได้เหมือนกัน มันดูเป็นนิทานเกินไป ขาดความจริงจัง ซ้ำเหมือนจะไม่ได้ลึกซึ้งในแง่ปรัชญาใดมาก แต่ผมชอบมาก ชอบในแง่ที่มันเป็น “เรื่องเล่าสมัยใหม่” ผมได้มองวิธีเขียนของเรื่องเล่าสมัยนี้ เป็นนิทานและสนุก ทำให้ง่าย และมีประโยคกินใจเพียงแต่พองาม ให้คนอ่านได้คิดใคร่ครวญ

แน่ละ คนอ่านในที่นี้คือชนชั้นกลางผู้อยู่ในกระแส เป็นคนอ่านรุ่นใหม่ คนอ่านของยุคสมัยนี้ ผมคิดว่าคนอ่านทุกวันนี้คงไม่พร้อมจะจับ “เรื่อง” ทั้งเรื่อง คงไม่มีความพยายามมากพอที่จะวิเคราะห์เอากับตัวเรื่องทั้งหมด เขาคงพอใจที่จะอ่านอะไรที่สนุกเหมือนจริงก็ได้ ไม่เหมือนก็ได้ และพึงใจที่จะเก็บซับบางประโยคซึ่งกระทบต่อชีวิตเขา ประโยคง่าย ๆ ที่เขารู้สึกอยู่แล้ว อาทิ ปรัชญาง่าย ๆ เกี่ยวกับโลกที่หมุนเร็วและหมุนช้า อะไรประมาณนี้ เขาซึมซับประโยคเหล่านั้นได้ โดยไม่ต้องคิดถึงเรื่องราวทั้งหมด
(หน้า 115-116)
-----------
คุณควรรู้ไว้อย่างหนึ่งนะครับ วันนั้นผมนุ่งกางเกงขาสั้น (เพราะยังมีแผลที่เท้า) รองเท้าแตะ เสื้อยีน แต่พอเป็นนักเขียนซีไรต์ขึ้นมา ผมก็เลยกลับนั่งอยู่ที่โต๊ะนั้นอย่างผู้ยิ่งใหญ่ บรรดา สส. ผู้ทรงเกียรติทั้งหลายต่างก็นิ่งฟังผม นึก ๆ ก็ครึ้มใจดีนะครับ
(หน้า 120)
-----------
อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้นิยายเรื่องนี้น่าสนใจ คือตัวละคร ที่เลวระยำทั้งพระเอกนางเอก คนเขียนช่างเลือกตัวละครได้เก่ง ทำให้คนอ่านทั้งเกลียด ทั้งสมเพช ทั้งสงสารไปในขณะเดียวกัน แล้วที่สุดก็เหมือนจะลึกซึ้งได้ว่า ตัวละครที่ปะปนอยู่ด้วยนิสัยเลว ๆ แบบนี้เองคือคนจริง ๆ ทำให้ยิ่งอ่านไปยิ่งนึกรักพวกเขา ผูกพันกันโดยไม่รู้ตัว

แกบรรยายความคิดจิตใจของผู้หญิงได้เก่งเหลือเกิน ที่ผมเห็นว่าคุ้มค่า คุ้มเวลาแก่การอ่าน ก็ด้วยได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้แหละ ผมเห็นว่าพวกเราโดยมากจะอ่อนด้อยในการพรรณนาตัวละครผู้หญิง พูดอีกทีเราแทบไม่ใช้ตัวละครผู้หญิงด้วยซ้ำ เพราะพรรณนาไม่ถูก สร้างพวกหล่อนขึ้นมาไม่ได้ จำได้ว่าพี่ชาติของเราเคยคุยเรื่องงานเขียนของพี่ประมวล แกคงไม่รู้จะแนะนำอย่างไรละครับ นอกจากบอกออกไปตรง ๆ ว่า “มึงควรจะมีนางเอกบ้าง”

การที่เราไม่มีผู้หญิงที่เป็นตัวตนอยู่ในงานเขียน ทำให้งานของพวกเราลดเสน่ห์ลงไปมากทีเดียว
(หน้า 124-125)
-----------
ผมเลือกม่านมายา (ในจำนวนหนังสือเป็นร้อย ๆ) ด้วยประโยคแรกของหนังสือโดนใจเหลือเกิน "ฉันเคยรักเขาถึงเพียงนี้ได้อย่างไร"

ผมคิดว่านี่เป็นประโยคที่ผู้หญิงร่วมครึ่งโลกเคยถามกับตัวเอง ผู้หญิงซึ่งผิดหวังต่อผู้ชายที่เลือกและรัก วันหนึ่งเมื่ออะไร ๆ มันเปลี่ยนไป ต่างออกไป อารมณ์ของผู้หญิงก็จะเป็นดังประโยคนี้ มองผู้ชาย (แอบมอง) แล้วก็นึกสงสัยขึ้นมาอย่างประหลาด เคยรักเขาถึงเพียงนี้ได้อย่างไร

เป็นประโยคตั้งต้นนิยายที่ง่ายและเจ๋ง ในความรู้สึกของผมนะครับ
(หน้า 132)
-----------
ผมเคยบอกใช่ไหมครับว่า เราจะไปจัดค่ายนักเขียน กระตุ้นให้เด็ก ๆ เขาอ่านหนังสือกันได้อย่างไร ในเมื่อเมียของพวกเราไม่อ่าน เราควรทำให้เมียอ่านหนังสือให้ได้เสียก่อน
(หน้า 141)
-----------
แต่หนังสือที่ผมอ่านช่วงนี้ และถือว่าชอบคือ “เมียเจ้า” ของเอมี ตัน คนนี้เขียนหนังสือดีจริง ๆ ครับ ฝีมือยอดเยี่ยม ต้องยอมรับว่าเขาเขียนได้สนุก แม้จะเป็นเรื่องหนัก สนุกขนาดผมต้องอ่านรวดเดียวจบ วางไม่ลง และทำให้ผมสะทกสะเทือนไปกับเรื่องเล่าถึงแม่ของเขากับชีวิตในประเทศจีนยุคสงคราม ผมนับถือฝีมือ ไม่แปลกที่สตีเฟน คิง สรรเสริญเยินยอ หากจะขาดหรือพร่องไปสำหรับเอมี ตัน ก็เห็นจะเป็นทัศนะของเขา ที่มันไม่ยิ่งใหญ่หรือลุ่มลึก นิยายของเอมี ตัน จึงเป็นได้แค่นิยายที่ดี เพราะเขียนดี แต่ไม่ยิ่งใหญ่ระดับโลกแบบของนักเขียนใหญ่ท่านอื่น ๆ คุณอาจอ่านแล้ว หรือถ้ายังก็ลองดูนะครับ แล้วจะได้เห็นว่าทัศนะของคนเขียนก็เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญในนิยาย
(หน้า 157)
-----------
ปัญหาของแกอยู่ตรงนี้แหละครับ ลงว่าได้ถอดใจเสียแล้ว การเขียนก็เป็นเรื่องยากยิ่ง งานเขียนนั้นต้องสร้างมันด้วยใจ ด้วยความอดทน พยายาม อุตสาหะ หลายหนที่ถึงขั้นต้องต่อสู้เอาด้วยความเหนื่อยหนัก ถึงขั้นที่พูดได้เลยว่า แลกมาด้วยชีวิต แต่เมื่อถอดใจเสียแล้ว จะเหลืออะไรไปต่อสู้เอามันมา

...กรณีของพี่ทั้งสอง หรือใครอื่นที่แวดล้อมผมอยู่ มีผลต่อผมพอสมควร ผมกำลังมีชีวิตอยู่ท่ามกลางผู้ใช้ชีวิตหลังความตาย พวกเขาไม่ได้หวังถึงวันข้างหน้าอีกแล้ว เอาแต่สรรเสริญเยินยอตัวเองกับวันที่ผ่านมา ผมมองดูคนเหล่านี้แล้ว ไม่ก่อให้เกิดกำลังใจหรือพลังในการทำงานใด ๆ ทั้งสิ้น ซ้ำร้ายหลายหนที่ผมรู้สึกหดหู่
(หน้า 182-183)
-----------
ปัญหานี้ไม่เกิดกับวัยหนุ่มนะครับ เพราะวัยหนุ่ม เรายังเต็มด้วยความทะเยอะทะยาน อยากมีชื่อเสียง เงินทอง อยากมีคนรัก ผู้หญิง ความทะเยอะทะยานนั้นได้สร้างความใฝ่ฝัน เป็นเป้าหมายให้ชีวิต และโดยเรี่ยวแรง พละกำลังของวัยหนุ่ม ทำให้เราโถมเข้าหามัน เป็นจังหวะสมาธิโดยธรรมชาติ นี่น่าจะเป็นคำตอบได้ว่า ทำไมนักเขียนโดยส่วนใหญ่จึงสร้างงานดี ๆ ไว้ในวัยหนุ่ม ครั้นเวลาผ่านไป เติบโตเป็นผู้ใหญ่ ก็กลับเขียนไม่ได้ หายหน้าหายตากันไปหมด
(หน้า 243)
-----------
กนกพงศ์ สงสมพันธุ์. จดหมายถึงเพื่อน. กรุงเทพฯ : บ้านหนังสือ, 2554.

วันอังคารที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ความเปลี่ยนแปลง

ภาพโคลสอัพนัยน์ตาหวานซึ้งที่เขาเป็นคนถ่าย
ฉันเองก็มีภาพนั้น
มองผ่านเลนส์เรตินาของดวงตาละเมอฝัน
เก็บไว้ในเมมโมรีส่วนเสี้ยวความทรงจำ
ที่ยิ่งพยายามลบเท่าไรก็ยิ่งแจ่มชัดมากเท่านั้น

ฉันเคยยืนตรงที่เขายืนอยู่
ทั้งที่เธอเคยกลายเป็นความจริงของฉัน
ผ่านพ้นภาพฝันกระทั่งมือสัมผัสมือ
ในวันที่แหวนวงนั้นยังอยู่ที่เดิมของมัน
...เขาเป็นทุกอย่างที่ฉันเป็นไม่ได้
หรืออย่างน้อยฉันก็ไม่เคยเป็นได้เลย
ต่อให้พยายามสักแค่ไหน
นั่นยิ่งตอกย้ำความเปล่ากลวงของคำสัญญา
ที่ฉันทำลายด้วยมือฉันเอง

ฉันขอโทษที่พยายามเปิดกล่องของชโรดิงเจอร์
ก่อนจะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่แบบที่เธอเกลียด
ส่วนหนึ่งของวิญญาณที่หล่อเลี้ยงด้วยแรงบันดาลใจจากเธอ
กลับเป็นมะเร็งร้ายร้าวราน
และลบเลือนด้วยแรงกระชากของกาลเวลา
นั่นก็เพียงพอแล้วที่ฉันควรกลบฝังทุกอย่างเอาไว้ที่เดิม
ไม่แตะต้องมันอีก

"เมื่อสิ่งหนึ่งเปลี่ยนไป ปราณก็อดไม่ได้ที่จะกลัวว่าสิ่งอื่น ๆ ที่เหลืออยู่จะเปลี่ยนตาม สู้ทิ้งทุกอย่างเอาไว้ที่เก่า...ตรงที่พรากจาก โดยไม่แตะต้องเลยดีกว่า ทิ้งมันเอาไว้อย่างนั้น ที่ไหนสักแห่งลึกร้างกลางแก่นใจ แล้วบอกตัวเองให้เชื่อให้ได้ว่ามันจะคงอยู่คงเป็นเช่นนั้น ไม่มีวันเปลี่ยนแปร"
(ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต หน้า ๑๔๗)

ธันวาคม ๒๕๕๙

วันอาทิตย์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2559

บางข้อความถึงเธอ

- "ลองมีแฟนเป็นคนเหี้ย ๆ อย่างเราดูสิ แล้วไอ้ปัญหาที่เธอหนักอกหนักใจอยู่มันจะกลายเป็นเรื่องเล็ก... เล็กพอ ๆ กับขนาดหน้าอกเธอนั่นแหละ"

- ไม่รู้ตั้งแต่เมื่อไรที่ฉันรับเอารอยยิ้มของเธอมาเป็นเครื่องพยุงชีพหัวใจ

- แม้เธอไม่ใช่พิคาชู แต่ไฟฟ้าแสนโวลต์จากรอยยิ้มเธอก็พุ่งเข้าช็อตหัวใจฉันจนเจียนตายไปหลายครั้ง

- คุณใช้วิธีไหนซ่อนห้วงจักรวาลไว้ในแววตา

- คุณคือเหตุผลเดียวที่ทำให้ลมหายใจของผมยังมีความหมายอยู่

- อยากให้ดวงหน้าพริ้มฝันของคุณเป็นสิ่งแรกที่ฉันมองเห็นเมื่อลืมตาตื่นทุกชื่นเช้า

- การตกหลุมรักในความรู้สึกของผมน่ะเหรอ... มันเหมือนตอนที่คุณเผลอเหม่อลอยขณะเครื่องบินทะยานขึ้นจากพื้นดิน วินาทีนั้นใจคุณวูบหาย...หายไป คุณหลงคิดว่านั่นเป็นความรู้สึกชั่วพริบตา แต่ไม่ใช่... ใจคุณไม่เคยกลับมา หลงเหลือแต่เพียงความเปล่าโหวงเต็มอก หัวใจคุณกลายเป็นสมบัติชั่วนิรันดร์ของใครคนหนึ่ง และที่มันยังเต้นอยู่ได้ก็ด้วยความคิดถึงที่มีต่อเค้าคนนั้น... เพียงเท่านั้น

- สิ่งเดียวที่มนุษย์ไม่สามารถทำให้อ่อนเยาว์กว่าอายุได้คือแววตา

- การกอดคือฮีตเตอร์ที่อบอุ่นที่สุดนับแต่มนุษย์เริ่มรู้จักความหนาวที่เกิดจากความเหงา

-
คงมีเพียงบางริมฝีปาก... ที่เราอยากฝากจุมพิตสุดท้ายเอาไว้