วันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ขอบคุณสำหรับทุกแรงบันดาลใจ

ฉันไม่เคยอยากเป็นนักเขียน
ฉันแค่ชอบอ่านหนังสือ
จนวันที่ได้มาพบกับเธอ...
เธอชอบนักเขียน
และทั้งหมดที่ฉันพยายาม
ก็หวังเพียงแค่ให้เธอหันมาสนใจฉันบ้าง...

ถึงวันนี้
ความฝันนั้นจบลงที่ความว่างเปล่า
และความสนใจที่เธอมีต่อฉันก็คงเบาบางไม่ต่างจากวันแรกที่เราพบกัน

แต่สำหรับฉัน, มันไม่เคยว่างเปล่า
เพราะเรื่องราวเหล่านั้นได้หล่อหลอมตัวตนให้ฉันกลายเป็นใครคนหนึ่ง, คนที่ฉันเคยพอใจที่จะเป็นมากที่สุด
แม้ว่าวันนี้ ทุกสิ่งจะกลายเป็นอดีตไปแล้วก็ตาม

ขอบคุณสำหรับทุกแรงบันดาลใจ
สุขสันต์วันเกิดนะ

วันพุธที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ทฤษฎีผู้หญิงโรยราเร็ว

เห็นข่าวดาราคบกันมาสิบกว่าปีเลิกกัน ก็นึกถึงทฤษฎี "ผู้หญิงโรยราเร็ว" ที่เราเคยพูดตอนจีบ (ว่าที่) แฟนคนที่สองว่า

"ที่เราคบกันเนี่ย ถ้าน้องรู้สึกว่าไม่ใช่ต้องรีบบอกนะ ตอนนี้พี่ 27 (อายุตอนที่จีบเค้า) น้อง 25 ถ้าคบไปแล้วไม่เวิร์ค แต่ยื้อไว้เพราะเสียดายเวลา เพราะคิดว่าจะปรับตัวกันได้ ผ่านไปสองปีสามปี พี่อายุ 30 ยังพอหาแฟนใหม่ได้เพราะเป็นผู้ชาย แต่น้อง 27-28 จะเริ่มหาแฟนลำบากแล้ว พวกผู้ชายน่ะ ถ้าเจอผู้หญิงคุณสมบัติพอ ๆ กัน มันเลือกวัยเอ๊าะ ๆ กว่าทั้งนั้นแหละ"

อาจฟังดูตลก แต่เราคิดว่าสิ่งสำคัญมากในชีวิตของทุกคนคือเวลาที่จะมีให้กับสิ่งต่าง ๆ เสียอย่างอื่นยังหามาชดเชยกันได้ แต่ถ้าทำให้เค้าเสียเวลาในชีวิต มันไม่มีอะไรจะมาชดเชยให้เค้าได้เลย ในสังคมผู้ชายเป็นใหญ่และมีตัวเลือกมากกว่าผู้หญิง เวลาของสองฝ่ายจึงสำคัญไม่เท่ากัน ยิ่งเป็นผู้หญิงที่อยากมีใครสักคนที่จะคอยดูแลกันตลอดชีวิต อยากสร้างครอบครัวแสนอบอุ่น เวลาช่วง 20-35 สำคัญที่สุดแล้ว

อันที่จริงคนเราคบกันสักปีก็พอจะเดาได้แล้วว่าไปรอดไหม นิสัยหลักไม่เข้ากันจะปรับให้เค้าได้ไหม หรือจะเลิก แต่ผู้ชายส่วนมากก็ไม่อยากปรับตัวหรอกแต่ฝืนคบแก้เหงาไปอย่างนั้นจนกว่าจะหาคนใหม่ได้ ส่วนฝ่ายหญิงก็เข้าใจว่าผู้ชายยังรักและกำลังพยายามปรับตัว ก็หลงรออย่างมีความหวัง ซึ่งจะพังทลายลงไปทันทีที่ฝ่ายชายได้เจอคนใหม่ เหลือก็แต่สารพัดเหตุผลแก้เก้อของผู้ชายไว้ดูต่างหน้า เราจึงคิดว่าเป็นเรื่องไม่ดีเลยที่สองฝ่ายจะยื้อกันไปเพราะความเหงาหรือความหวังลม ๆ แล้ง ๆ

"ถ้าน้องรู้สึกว่าไม่ใช่ต้องรีบบอกนะ" ชายหนุ่มตัวอ้วนกลมย้ำคำ ขณะที่น้องคนนั้นหัวเราะ ไม่รู้ว่าทฤษฎีนี้น้องฟังแค่ขำ ๆ หรือที่จริงมีผลกับความสัมพันธ์ของเราบ้างหรือเปล่า เพราะหลังจากเลิกกับแฟนคนแรก เราก็ไม่เคยคบใครได้เกินหนึ่งปีเลย (ฮา)

วันเสาร์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ควรจะก้าวต่อไปก็ไม่ก้าว

ควรจะก้าวต่อไปก็ไม่ก้าว
รอยน้ำตาร้อนผ่าวแม้เลือนหาย
แต่ความเจ็บเจียนตายจำจนตาย
เมื่อรำลึกถึงข่าวร้ายอันร้าวราน

ยังยินเสียงร่ำไห้ห่มคลุมโลก
แว่วเพลงพญาโศกขับผสาน
ใจหยุดลงตรงนั้นนิรันดร์กาล
เหมือนน้ำตาในวันวานยังแวววาว

ดั่งเรือน้อยวเนจรรอนแรมร้าง
อยู่ท่ามกลางมหรรณพเหน็บหนาว
ในคืนเดือนดับสิ้นแสงดาว
เหมือนสิ้นหนทางก้าวต่อไป

ภาพข้างฝายังซีดจางอยู่ข้างฝา
เอื้อมมือปลดลงมาก็ไม่ไหว
สองมือปิดหน้าร่ำอาลัย
ใจเจ็บเจียนขาดใจไม่รู้ลืม

๑๓ ตุลาคม ๒๕๖๑

วันอังคารที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ศักดิ์ศรีในวิชาชีพ

สองสามวันมานี้ผมได้ฟังเรื่องขำขื่นมาจากเพื่อนอาจารย์มหาวิทยาลัยในเมืองหลวงท่านหนึ่ง (ขออนุญาตไม่เปิดเผยชื่อเพื่อนและชื่อมหาวิทยาลัย เพราะเพื่อนผมเกรงว่าจะมีผลกระทบกับเด็กในอนาคต)

เรื่องราวเริ่มต้นอย่างชื่นมื่น เมื่อลูกศิษย์ระดับปริญญาตรีคนหนึ่งของเพื่อนผมทำงานวิจัยได้ในระดับดีมาก จนได้เป็นตัวแทนนำเสนอบทความในระดับนานาชาติ และเรื่องราวก็ควรจะจบลงอย่างแฮปปี้เอนดิ้งตรงที่ลูกศิษย์คนนั้นจะได้ไปนำเสนอผลงาน ทางมหาวิทยาลัยก็ได้หน้าได้ตา อาจารย์ที่ปรึกษาก็ได้รับเกียรติในฐานะคนที่ร่วมต่อสู้ฝ่าฟันอุปสรรคการวิจัยมาพร้อมกับนักศึกษาจนงานสำเร็จด้วยดี

แต่ก็เป็นเรื่องขึ้น เมื่อมีอาจารย์อีกคนหนึ่งกระหายอยากได้รับเกียรติของอาจารย์ที่ปรึกษากับเค้าด้วย เข้าใจว่าคน ๆ นี้คงเติบโตมาโดยไม่เคยมีใครสั่งสอนว่า ถ้าอยากได้รับเกียรติ ต้องให้เกียรติผู้อื่นก่อน มิใช่ฉกฉวยเอามาอย่างน่าละอาย

ด้วยเส้นสาย อำนาจ ความสนิทสนม หรืออะไรก็แล้วแต่ อาจารย์คนนั้นมีคำสั่งผ่านการประชุมงุบงิบของผู้บริหารว่า ขอใส่ชื่อเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของเด็กด้วย

บางทีเรื่องนี้อาจจบลงง่าย ๆ และเงียบ ๆ ถ้าเพื่อนของผมเป็นคนประเภทว่า "แจ๋วครับพี่ ดีครับท่าน ทันครับผม เหมาะสมครับเจ้านาย" ก้มโค้งคารวะ เค้าสั่งบ้าบออะไรมาก็ยอมรับหมดเพราะกลัวผู้ใหญ่จะกลั่นแกล้งไม่ให้ก้าวหน้า

แต่เผอิญเพื่อนผมรักศักดิ์ศรีในวิชาชีพมากกว่าความก้าวหน้าจากเส้นสาย

มันไม่ใช่เรื่องของการกันท่า ไม่ใช่เรื่องของการหวงเด็กไว้เป็นผลงานของตัวเองคนเดียว แต่เป็นเรื่องจริยธรรมทางวิชาการ เป็นเรื่องของการให้เกียรติคนทำงาน เป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่อย่างเราพร่ำสอนเด็กนั่นแหละ ซึ่งถ้าไม่ทำให้เป็นตัวอย่าง จะมาท่องตำราให้เด็กฟังอย่างไร เขาก็คงไม่เชื่ออีกต่อไป

แน่ล่ะ ในสายตาใครบางคน อาจารย์มหาวิทยาลัยก็เป็นเพียงกรรมกรวิชาการ แต่อย่างน้อยพวกเราก็ไม่ใช่ทาสในเรือนเบี้ย เรื่องอะไรจะให้ใครบางคนที่ไม่ได้ลงทุนลงแรง ไม่ได้ฝ่าฟันอุปสรรคร่วมกันกับเด็กมาแทรกชื่ออยู่ตรงนั้น คนที่เคยเรียนหรือทำงานอย่างพวกเรารู้ดีว่า ชื่ออาจารย์ที่ปรึกษาอาจเป็นเพียงบรรทัดสั้น ๆ แต่แลกมาด้วยหยาดเหงื่อและน้ำตาของความเป็นครูอยู่เป็นแรมปี

แต่ก็อย่างที่พอจะคาดเดากันได้ เรื่องนี้ไม่ใช่นิทานคุณธรรมที่ตัวเอกต้องชนะและตัวร้ายรับผลกรรม แต่คือหนังชีวิตที่คนดี ๆ คนหนึ่งต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว ไม่รู้ว่าจะมีอำนาจมืดมากลั่นแกล้งหรือไม่ในอนาคต ขณะที่คนที่พอจะช่วยเหลือได้ก็ได้แต่รับเรื่องมาแล้วหลบลี้หนีหน้า คงเพราะกลัวว่าการลุกขึ้นต่อสู้ด้วยความกล้าหาญและจริยธรรมจะทำให้ความก้าวหน้าในตำแหน่งของตัวเองหยุดชะงักลง

ไม่ว่าเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร ผมกับเพื่อนคนนั้นก็เห็นตรงกันว่าต้องไม่ให้เด็กเสียประโยชน์ ถึงผู้ใหญ่จะตีกันด้วยเหตุผลงี่เง่าแค่ไหน ที่สุดแล้วเด็กต้องได้นำเสนอผลงานตามความสามารถของเด็ก ส่วนใครจะมาคอยขอส่วนบุญจากงานของเด็กหรือไม่ ด้วยเงื่อนไขแบบใด ก็คงขึ้นอยู่กับจิตสำนึกขององค์กรนั้น ๆ ว่าจะยอมให้เกิดขึ้นหรือเปล่า

ส่วนคนที่เฝ้าสังเกตการณ์อยู่ข้างนอกอย่างผม ก็คงได้แต่ให้กำลังใจเพื่อนคนนั้น และเขียนถึงเรื่องนี้เพื่อบันทึกไว้ว่านี่คือเหตุการณ์อัปยศที่สุดครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นในรั้วมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของประเทศไทย

และสำหรับผู้บริหารทุกคนที่มีส่วนให้คำสั่งพรรค์นี้หลุดออกมาจากห้องประชุมได้ ผมคงจะไม่ทวงถามถึงคำว่าธรรมาภิบาล จริยธรรมทางวิชาการ หรือแม้แต่คำง่ายๆ อย่างจิตสำนึกของความเป็นมนุษย์ เพราะท่านผู้สูงส่งทั้งหลายคงมีข้อแก้ต่างในใจให้ตัวเองไม่รู้สึกผิดอยู่แล้ว เป็นต้นว่า มันเป็นวัฒนธรรมองค์กร มันเป็นธรรมเนียมของสังคมไทย หรือผู้มีอำนาจสั่งมาจะให้ทำอย่างไร ฯลฯ

ผมเพียงอยากให้ท่านนึกภาพตัวเองยืนอยู่หน้าชั้นเรียน ในฐานะครูคนหนึ่ง เมื่อท่านพ่นคำสวยงามอย่างคำว่าคุณธรรม จริยธรรม ความซื่อสัตย์ออกจากปากให้ลูกศิษย์ฟัง

ท่านรู้สึกละอายใจบ้างหรือไม่

...ไม่ต้องตอบหรอกครับ ผมไม่แน่ใจว่าอยากฟัง

วันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ถึงคุณ... ในวันรับปริญญาของจุฬาฯ

ไม่ว่าคุณจะเห็นข้อความนี้หรือไม่...

เราอยากบอกว่า ยินดีด้วยกับทุกความสำเร็จของคุณ ทั้งในวันนี้ และในอนาคต เพราะเรารู้ว่า ไม่ว่าคุณอยากทำอะไร หากคุณตั้งใจ คุณจะไปถึงฝั่งฝันได้ด้วยความสามารถของคุณอย่างแน่นอน

ขอโทษนะที่เรารักษาสัญญาที่ให้ไว้กับคุณไม่ได้มากมายหลายข้อ รวมทั้งคำสัญญาง่าย ๆ อย่างจะไปช่วยถือของวันรับปริญญา เราจะไม่แก้ตัวว่ามันเป็นความจำเป็นหรืออะไร เพราะการผิดสัญญาก็คือการผิดสัญญา และเรารู้ว่าหลายสิ่งที่เราทำไม่ดีกับคุณนั้น แค่คำว่าขอโทษมันไม่พอจะชดเชยอะไรได้ แต่เราก็จะขอโทษ และไม่หวังให้คุณให้อภัยใด ๆ

เรายืนอยู่ตรงนี้ เราทำได้เพียงเอ่ยคำขอโทษที่ไม่มีค่า ส่งคำยินดีและกำลังใจซึ่งคุณอาจไม่ต้องการมันอีกแล้ว แต่มันคือความรู้สึกจากใจจริงของเรา หากความปรารถนาดีคือส่วนหนึ่งของความรัก เราคิดว่าในใจเรามีสิ่งนี้ให้คุณเสมอ เราอยากเห็นคุณเติบโตและประสบความสำเร็จกับทุกเส้นทางที่เลือกเดิน และในทุกก้าวของความสำเร็จ จะมีเราคอยเฝ้ามองอยู่ไกล ๆ และยิ้มยินดีกับความสำเร็จของคุณเสมอนะ

วันอาทิตย์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2561

เดินทางไปจีน

สำหรับท่านที่ยังไม่ทราบหรือผมยังไม่ได้บอกนะครับ ผมจะเดินทางไปปฏิบัติราชการที่มหาวิทยาลัย Yuxi Normal สาธารณรัฐประชาชนจีน ตามข้อตกลงความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมากับ Yuxi Normal University กำหนดการในคำสั่งคือวันที่ 25 สิงหาคม 2561 - 20 มกราคม 2562 (แต่เดินทางจริงวันนี้ ดังนั้นวันเวลากลับอาจบวกลบหนึ่งอาทิตย์) ในระหว่างนี้ เบอร์โทรศัพท์ 089-440xxxx จะติดต่อไม่ได้ รวมถึงช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ เช่น Facebook/Line/Gmail เนื่องจากที่จีนจะบล็อคไว้ทั้งหมดครับ หากใครมีธุระเร่งด่วน สามารถติดต่อได้ผ่านโปรแกรม Wechat (ID: bigheadman33) หรือผ่านพี่เมย์ กนิษฐา ประธานหลักสูตรภาษาไทยต่างชาติของราชภัฏโคราชได้ครับ แต่ถ้าไม่เร่งด่วนก็ทิ้งข้อความไว้ในช่องทางติดต่อปกติได้ครับ (จะพยายามใช้ VPN แหกบล็อคมาดูบ้างหากมีโอกาส 555)

สำหรับโพสต์นี้ก็คงเป็นโพสต์สุดท้ายของปีที่ได้โพสต์จากประเทศไทย และก็คงไม่ค่อยได้เข้ามาในสังคมออนไลน์บ่อยนัก ดังนั้นถ้าตกหล่นข่าวอะไร หรือไม่ได้แสดงความยินดีเรื่องสำคัญอะไรกับใครก็ขออภัยล่วงหน้านะครับ สำหรับข่าวร้ายที่ไม่อยากได้ยินตอนอยู่จีนคือเฌอปรางประกาศแกรดจาก BNK48 (ฮา) ส่วนข่าวดีที่อยากได้ยินตอนกลับมาที่ไทยคือรัฐบาลประกาศวันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการแล้ว ไชโย! (นี่จะไม่ได้กลับเพราะประโยคสุดท้ายนี่แหละ ล้อเล่นขำ ๆ นะ 555)

See ya next year na krab!

วันพฤหัสบดีที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2561

Cher Don't Cry เฌอจ๋าอย่าร้องไห้


(เปิดเผยเรื่องราวในภาพยนตร์ Girls Don't Cry)
(เขียนจากมุมมองคามิโอชิเฌอปราง ดังนั้นอย่าคาดหวังความเป็นกลาง)

(1.)

หงุดหงิดจนขับรถชนกรวยในห้าง (จริง ๆ แค่เสย 55) นี่คือความรู้สึกหลังออกมาจากโรงภาพยนตร์ และคิดว่าคามิโอชิของเฌอปรางหลาย ๆ คนก็น่าจะรู้สึกแบบนี้เหมือนกัน

เราไม่รู้หรอกว่าเทปสัมภาษณ์เต็มเป็นยังไง แต่จังหวะแอร์ไทม์ของเฌอปรางในหนังไม่ดีเลยแทบทุกซีน ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจของผู้กำกับ ทั้ง ๆ ที่สิ่งที่เฌอปรางพูด ก็เป็นสิ่งที่แฟนคลับเคยได้ยินบ่อย ๆ ทั้งเวลาให้สัมภาษณ์หรือในไลฟ์ นั่นคือทัศนคติที่ตรงไปตรงมา ไม่โลกสวย ไม่เพ้อฝัน ทนต่อแรงกดดัน จัดการทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวด้วยความรับผิดชอบสูง (มาก) เป็นทัศนคติแบบที่แม้แต่คนวัยเลขสามอย่างเรายังทำไม่ได้ขนาดนั้น

ทัศนคติ ความเป็นผู้นำเกินวัย และความสามารถในการรับมือกับสื่อต่างหากคือสิ่งที่แฟนคลับมากมาย "ซื้อ" จากเฌอปราง ไม่ใช่แค่หน้าตาน่ารัก ไม่ใช่ความแอ๊บ ความเฟค หรืออะไรทั้งหลายที่หนังพยายามจะชวนให้คิดแบบนั้น

แต่ก็อย่างว่า ทัศนคติแบบนี้มันไม่จับใจ มันไม่ Touch คนหมู่มาก มันแบบ เฮ้ยแก เราก็คนป่าววะ เราต้องเพอร์เฟคขนาดนั้นเลยเหรอวะ หยวน ๆ บ้างได้ปะ ทำให้แอร์ไทม์ของเฌอปรางโผล่มาทุกครั้งในฐานะตัวขัดมุก อารมณ์แบบน้อง ๆ กำลังคุยกันด้วยความหวัง ความฝัน ฟุ้ง ๆ ก็มีรุ่นพี่มาดึงสติ น้องเอ้ย น้องคิดถึงความเป็นจริงและสิ่งที่เป็นไปได้หน่อยมั้ย คนฟังก็ เฮ่ออออ อะไรกันนักหนา

(2.)

นึกถึงเรื่องที่เราชอบพูดกับเด็กที่เรียนสารคดีว่า เอาเข้าจริงแล้วในพื้นที่สารคดีหนึ่งเรื่องก็ไม่ใช่ความจริงทั้งหมด แต่มันคือความจริงที่เราเลือกที่จะเล่าหรือไม่เล่าอะไรบ้าง จะฉายสปอตไลท์เข้าไปตรงไหน ตรงนั้นฉายแสงสีอะไรลงไป เรื่องของเค้าจะให้เค้าเล่าเอง จะเล่าผ่านทัศนคติเรา หรือเล่าผ่านปากคนอื่น คาแรกเตอร์ของคนในสารคดีจะถูกประกอบสร้างออกมาเป็นคนแบบไหน มู้ดแอนด์โทนของเรื่องจะออกมาอย่างไร อยู่ที่ว่าเรายุติธรรมต่อข้อมูลในมือเรามากแค่ไหน

จุดอ่อนหนึ่งของการเดินเรื่องสารคดีโดยใช้บทสัมภาษณ์เป็นหลักคือ การจัดการคำพูดของคนซึ่งเจือปนอคติและฉันทาคติต่อประเด็นใดประเด็นหนึ่ง (หรือแม้แต่ "เสียงเล่า" ของเราเองที่ย่อมมีการตัดสินความถูกผิดของประเด็นนั้นไม่มากก็น้อย) ถ้าจัดเรียงคำพูดไม่ดีขึ้นมาเมื่อไร น้ำหนักของอคติก็จะเอนเอียงไปด้านเดียวและส่งผลต่อการรับรู้และตัดสินของผู้ชม ผลงานชิ้นก่อนหน้าอย่าง The Master นับว่าเป็นตัวอย่างของการจัดการกับข้อมูลบทสัมภาษณ์ได้ดีมาก แต่ก็อาจเป็นเพราะตัวผู้กำกับเอง "อิน" กับร้านพี่แว่น จึงมีเส้นเรื่องที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าจะเล่าแบบไหน

ในแง่ของการทำงานเรื่องนี้ ก็ถือว่าควรจะให้เครดิตผู้กำกับอยู่บ้างในการทำงานนี้ซึ่งน่าจะมีข้อจำกัดมากมายทั้งเรื่องเวลาและข้อมูล แต่ก็ยังเรียบเรียงเทปสัมภาษณ์ของเด็กหลายสิบคนออกมาให้เห็นเป็นเรื่องราวและพาคนดูไปจนจบ (แต่มีแอร์ไทม์จริง ๆ อยู่ไม่กี่คน) มีแง่มุมทั้งในด้านกว้างและด้านลึกให้พูดถึง

น่าเสียดายที่สำหรับเรื่องนี้ เส้นเรื่องที่ผู้กำกับเลือกเป็นหลักคือเส้นเรื่องความพยายามและการต่อสู้ของอันเดอร์เกิร์ล ที่นอกจากความพยายามจะไม่ให้ดอกผลดังฝันแล้ว ยังต้องต่อสู้กับปัจจัยอะไรอีกมากมายที่พวกเธอไม่เคยคาดคิดมาก่อน แต่อันที่จริงการเลือกเส้นเรื่องแบบนี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าเสียดายอะไร เพราะคนหมู่มากในสังคมก็คืออันเดอร์เกิร์ลทั้งนั้น เราอยู่ในสังคมห่าเหวอะไรไม่รู้ที่ไม่ได้ตัดสินกันที่ความสามารถและความพยายามเหมือนกัน เส้นเรื่องแบบนี้จึงจับใจคน จึงแมส จึงพาคนดูไปลุ้นเอาใจช่วยอันเดอร์เกิร์ลตลอดทาง (ซึ่งอันที่จริงถ้าในองก์การต่อสู้ของอันเดอร์เป็นเสียงเล่าของโมบายล์ ตอนจบองก์คงพีคมากกว่านี้เพราะในที่สุดโมบายล์ก็ต่อสู้ฝ่าฟันอุปสรรคจนไม่ใช่แค่ติดเซ็มบัตสึเฉย ๆ แต่ได้เป็นถึงเซ็นเตอร์ของเพลงที่ดังที่สุดอย่างคุกกี้เสี่ยงทาย แต่เสียงเล่าหลักของหนังองก์นี้กลับเป็นปูเป้ ถ้าจะให้เดา หนูโมก็คงรั่ว ๆ กาว ๆ ตามประสาเค้า จะหยิบมาเป็นเสียงเล่าก็อาจไม่ได้สารที่ต้องการสื่อ ส่วนปูเป้คงเล่าสนุกกว่า จับใจหัวใจอันเดอร์ในสังคมอย่างเรา ๆ มากกว่า)

ภาพตัดมาที่เฌอปราง... "เฌอไม่สนิทกับใครเลย..." "เฌอมองว่ามันเป็นการทำงาน..." "การร้องไห้ไม่ช่วยอะไร ล้มแล้วก็ต้องลุกเอง..." ฟังดูเย็นชา โหดร้าย ไร้อารมณ์ ไม่มีหัวใจ ฟังยังไงก็ไม่ใช่ทัศนคติของคนหมู่มากแน่ ๆ หรือแม้กระทั่ง "เฌอเช็คช่องทางออนไลน์ทุกช่องทาง..." เอ๊ะเช็คออนไลน์ทำไมกลัวตกกระแสเหรอ ต้องแบ๊วออนไลน์ตลอดงี้เหรอ ทั้งที่จริงคำถามตอนสัมภาษณ์อาจเป็นว่า ในเมื่อช่องทางออนไลน์ก็สำคัญ เฌอจัดการกับมันอย่างไรบ้าง ก็เป็นได้

ส่วนหนึ่งที่เราไม่รู้สึกแย่กับคำตอบของเฌอปราง ไม่ใช่แค่เพราะเป็นคามิโอชิเลยหน้ามืดตามัว แต่เพราะเห็น "บริบท" ของคำตอบทำนองนี้อยู่แล้วจากสื่ออื่น ๆ ช่องทางอื่น ๆ ซึ่งเฌอปรางก็ตอบแบบนี้ทุกทีนั่นแหละ (คุณจะเอาอะไรกับเด็กสายวิทย์ที่พูดว่า "ถ้าเลี้ยงงูคงต้องเอาหนูมาป้อน...ก็มันเป็นธรรมชาติของมัน" ได้อย่างหน้าตาเฉยล่ะ!)

ก็ไม่แปลกอะไรที่ภาพของเฌอปรางจะออกมาเป็นแบบหนึ่งด้วยจังหวะการลงแอร์ไทม์แบบนั้นในหนัง และก็ไม่ผิดอะไรที่ผู้กำกับไม่ได้โอชิเฌอปราง จึงไม่เคยเห็น "ความเป็นมนุษย์" ด้านอื่น ๆ ที่เฌอปรางได้แสดงออกผ่านทางสื่ออื่น ๆ ด้านตลก ด้านบื้อ ๆ ด้านเอ๋อ ๆ (เป็นคนที่ถูกน้องในวงแกล้งอำบ่อยมาก) ด้านความเสียใจ การเสียน้ำตา (ร้องไห้กับแฟนคลับบ่อยมากเช่นกัน) ไม่เคยเห็น "ความพยายาม" ด้านอื่น ๆ ของเฌอปรางในการต่อสู้กับแรงกดดันร้อยแปดพันอย่างรอบตัว ทั้งการรับมือความกดดันภายในวง ทั้งการรับมือกับสื่อภายนอก วุฒิภาวะในการตอบคำถามแทนน้อง ๆ หลายครั้ง การรักษาภาพลักษณ์ในฐานะกัปตันที่จะผิดพลาดไม่ได้ รู้ทั้งรู้ว่าตัวเองก็มีจุดด้อยที่ขาดพื้นฐานด้านการร้องเพลงและการเต้น เฌอปรางก็ไม่เคยปิดบังอะไร และพยายามพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ทั้งการบริหารสื่อโซเชียลในมือของตัวเอง ซึ่งตรงนี้หงุดหงิดมากเพราะในหนังเหมือนสื่อว่าต้องแอ๊บแบ๊ว ต้องเฟค แต่คอนเทนต์ออนไลน์ที่เฌอปรางทำไม่ได้เฟคอะไรเลย (หน้าสดออกบ่อยมาก) หลายชิ้นเป็นคอนเทนต์ที่ตั้งใจทำอย่างดีเสียด้วย ยิ่งทำให้เห็นว่าเฌอปรางจริงจังกับการเอนเตอร์เทนแฟนคลับของเค้าขนาดไหน เช่น Vlog เวิลด์เซ็มบัตสึที่เล่าเรื่องได้สนุกดี (ก็ไม่ใช่ "คนไม่มีหัวใจ" คนนี้เหรอที่พูดขอบคุณรินะซังในงานประกาศผลเวิลด์เซ็มบัตสึ ทั้งที่จะพูดแต่เรื่องตัวเองเพื่อกอบโกยคะแนนนิยมก็ยังได้)

เอาเข้าจริงหน้าตา ความน่ารัก ความแอ๊บแบ๊ว หรืออะไรต่าง ๆ ที่เป็นอยู่ในหนัง คงไม่พอเป็นปัจจัยที่จะส่งเด็กไทยคนหนึ่งขึ้นไปติดอันดับ 39 ของเวิลด์เซ็มบัตสึได้ (ถ้าวัดกันปอนด์ต่อปอนด์เรื่องหน้าตาเรายกให้อร ถ้าความแบ๊วเรายกให้มิวสิค) แต่ความเฉลียวฉลาด ความพยายามในการบริหารจัดการทุกอย่างรอบตัว และที่สำคัญคือทัศนคติเกินวัยของเด็กคนนี้ต่างหากที่ทำให้แฟนคลับรักและส่งเธอขึ้นไปยืนจุดนั้น โอชิทุกคนรู้ แต่ไม่มีช่องทางจะพูดสอดแทรกในหนัง และก็ไม่ใช่หน้าที่ของผู้กำกับที่ต้องรู้หรือต้องเล่า เพราะสิ่งที่เค้ามีในมือคือการติดตามการทำงานของวง และเทปสัมภาษณ์ของแต่ละคนเท่านั้น

จังหวะหนึ่งในหนัง เฌอปรางพูดทำนองว่า ถ้าสลับตำแหน่งให้คนอื่นมาอยู่ตรงนี้มันจะเป็นอย่างไร เราก็ตัดต่อคำพูดน้องในหัวเสร็จสรรพเลยว่า ถ้าสลับคนที่บ่นเรื่องเฌอปรางมาอยู่ในตำแหน่งกัปตัน เขาจะรับมือความกดดันขนาดนี้ได้ไหม ซึ่งดูจากทัศนคติที่แตกต่างกันก็น่าจะรู้ผลกันอยู่

(3.)

พอตั้งสติได้เราก็เกรี้ยวกราดใส่ผู้กำกับน้อยลง หันไปอีกทางหนึ่ง ไม่รู้ว่าออฟฟิเชียลได้ดูไฟนอลคัทหรือเปล่า ถ้าดูแล้วปล่อยให้ผ่านไปแบบนี้ ก็ถือว่าพวกคุณใจร้ายมากที่โยนบททดสอบและความกดดันหนักหนา (อีกแล้ว) ให้เด็กอายุยี่สิบต้น ๆ คนหนึ่งที่ทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อวงมาขนาดนี้ หรือคิดว่าแค่นี้คงไม่ทำให้ความนิยมลดลง แต่บาดแผลเล็ก ๆ ในใจเด็กสาวคนหนึ่งที่จะถูกคนที่ไม่รู้จักเธอจดจำภาพเธอไว้ในแง่มุมที่ไม่ค่อยดีนัก ในบทที่เจ้าตัวไม่ได้เรียกร้องขอรับไว้ ใครกันจะรับผิดชอบ อีกแล้วเหรอที่เฌอต้องเสียสละ อีกแล้วเหรอที่เฌอต้องแบกรับอะไรที่เฌอไม่เคยต้องการหรือร้องขอ ถ้าเราอยู่ในจุดที่เฌออยู่ หนังจบเราประกาศแกรดแม่งเลย (ฮา) แต่เฌอปรางไม่ทำอย่างนั้นหรอก เธอก็คงจะก้มหน้าก้มตาสู้ต่อไปด้วยความพยายามในแบบของเธอ ด้วยหัวใจดวงน้อย ๆ ดวงนั้นทั้งที่ถูกใครหลายคนในโลกโซเชียลกล่าวหาว่าไม่มีหัวใจ

คำถามก็คือ บทบาทของ "คนข้างบน" ที่เฌอปรางแบกรับอยู่ในเรื่อง มันมีวิธีเล่ามากมายที่จะให้เมมเบอร์ตัวท็อปคนอื่น ๆ มาช่วยแบกรับได้ แต่สุดท้ายหนังก็ใช้วิธีเล่าอย่างที่เห็น เพราะเมมเบอร์ตัวท็อปคนอื่นไม่ได้พูดแบบที่เฌอพูด? หรือเพราะกลัวกระทบความนิยมของตัวท็อปคนอื่น ๆ? หรือแค่เพราะคิดว่าคนระดับกัปตันเฌอปรางแบกรับมันได้? อย่าลืมว่าที่จริงแล้วเฌอปรางก็เป็นเพียงเด็กสาวอายุยี่สิบต้น ๆ คนหนึ่งเท่านั้น มันยุติธรรมแค่ไหนกันที่มอบหมายให้เธอมายืนในจุดที่ไม่มีใครอยากจะยืนในหนังเรื่องนี้...เพียงลำพัง

สำหรับคนที่อยากรู้จัก BNK48 จะไปดูเรื่องนี้ก็ไม่เสียหายอะไร เราก็จะได้เห็นการต่อสู้ ความพยายาม มิตรภาพ ตามสไตล์การ์ตูนโชเน็นจั๊มป์ เห็น Coming of Age ของเด็กสาว หรือเห็นสารอะไรต่าง ๆ ที่ผู้กำกับต้องการจะบอกนั่นแหละ หรือจะตีความเป็นภาพเล็ก ๆ ที่สะท้อนสังคมไทย เป็นก้อนกรวดอธิบายจักรวาลอะไรก็ว่ากันไป

แต่สำหรับคนที่อยากรู้จักเฌอปราง ดูเรื่องนี้ก็คงต้องทำใจกลาง ๆ แล้วตามมาเก็บ "ความเป็นมนุษย์" ของเธอต่อในสื่อช่องทางอื่น ๆ แล้วคงจะพอเข้าใจว่า การที่เฌอปรางได้เป็นกัปตันของ BNK48 และทำหน้าที่ไม่เคยขาดตกบกพร่องจนถึงทุกวันนี้ ได้เป็น No.39 ของเวิลด์เซ็มบัตสึ ไม่ใช่แค่เพราะ "รู้ทั้งรู้ว่าเค้าใช้อะไรตัดสินใจ ต้องน่ารักใช่ไหมที่ใครเขาพูดกัน"

แต่เพราะบ่าน้อย ๆ และหัวใจดวงเล็ก ๆ ของเธอยิ่งใหญ่พอจะแบกรับความรับผิดชอบ ชื่อเสียง และเกียรติยศเหล่านั้นได้ต่างหาก

(Credit ภาพจาก MV Shonichi)

วันอังคารที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ผลงานในแฟ้ม KPI



ใกล้ถึงสิ้นเดือน สัญญาทดลองงานของวิชาชีพล่าสุดในชีวิตก็กำลังจะสิ้นสุดลง ขณะกำลังเตรียมผลงานเข้าแฟ้ม KPI ก็ได้โอกาสทบทวนภาพรวมของตัวเองในปีที่ผ่านมา

เอกสารประกอบการสอนรายวิชาใหม่ (เตรียมกันอาทิตย์ต่ออาทิตย์เลย ขอโทษรุ่นแรกที่เรียนด้วยนะครับ) / บทความวิจัยนำเสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ 2 บทความ / ผลงานสร้างสรรค์ 2 เรื่อง (อันนี้เป็นงาน 'แก้เครียด' จากงานที่กล่าวมา แต่เหมือนว่าเอามาใช้ประเมินได้ด้วย ดี ๆ ไม่เสียเปล่า 555) / ภาระการสอนตามมาตรฐานขั้นต่ำและการเป็นวิทยากรอีกนิดหน่อย

ผลงานที่อวดอ้างมา ถ้าเทียบกับอาจารย์เก่ง ๆ รุ่นเดียวกันหรือรุ่นน้อง (เช่น อ.โจ อ.โบว์ อ.น้องน้ำ อ.น้องอิ๊ก ฯลฯ) ก็นับว่าห่างไกลจากพวกเขาหลายโยชน์ ดุจดั่งแมงป่องน้อยชูหางเทียบพญานาคี แต่ถ้าเทียบกับตัวเองในสมัยก่อน ๆ ก็นับว่าดีขึ้นประมาณนึง อย่างน้อยก็รู้จักทำในสิ่งที่ควรทำเสียบ้าง 555

หากมีคำถามว่า เราทำงานเต็มที่แค่ไหน หรือเราตั้งใจทำงานในวิชาชีพหรือเปล่า ผลงานที่พอมีอยู่บ้างในแฟ้มนี้คงพอแทนคำตอบได้ และหวังว่าปีหน้า แฟ้มผลงานน้อย ๆ นี้จะยังมีอะไรให้ใส่ลงไปอีกตามสมควร

วันพุธที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

โลกทั้งใบแหลกสลาย

ใครคนหนึ่งกลายเป็นโลกทั้งใบของคุณ
กลายเป็นความหมายของทั้งชีวิตคุณ
เพียงเพราะในวันที่เสี้ยวแสงแห่งความหวังดับลงในคืนเดือนมืด
มีเพียงมือเรียวบางข้างนั้นที่ยื่นเข้ามา
ฉุดรั้งคุณขึ้นจากหลุมดำแห่งความอ้างว้าง

ทึกทักเอาเองว่าเธอเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง
เป็นพลัง ความหวัง แรงบันดาลใจ
ขับเคลื่อน ไขว่คว้า เพื่อเป็นใครที่เธอฝัน
โดยไม่เคยถามเลยว่า
วันนั้นที่เธอยื่นมือเข้ามา
เป็นเพราะคุณมีความหมายต่อเธอ
หรือแค่เพราะเธอเป็นคนดี

วันที่ใครคนหนึ่งเป็นโลกทั้งใบของคุณ
ส่วนเธอคนนั้นมีใครอีกคนเป็นโลกทั้งใบของเธอ
โลกสองใบหมุนโคจร
ทั้งสองคนต่างก็วิ่งตามโลกของตัวเอง
คุณก่อร่างสร้างตัวตนดังภาพฝัน
เพียงเพื่อถึงวันหนึ่งจะพบว่า
ไม่เคยมีใครต้องการมันเลย

คุณตอบกลับสายตาตัวเองผ่านกระจกร้าว
จะลืมทุกสิ่งทุกอย่างแล้วกลับไปนอนนิ่งในหลุมดำ
หรือคงรูปอย่างร้าวราน
เพราะอย่างน้อยก็ยังมีเธอหลงเหลือในห้วงคำนึง
กล่องแมวของชเรอดิงเงอร์ยังคงปิดอยู่อย่างนั้น
เพียงเพราะคุณไม่กล้ายอมรับบางสิ่ง
ที่จะทำให้หัวใจแหลกสลาย

วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ลูกเฌอ


เห็นข่าวน้องแคน BNK มีภาพหลุดโดนพักงาน เราก็เฮ้อในใจ แต่ก็นะวัยรุ่นมันก็คงต้องมีอะไรแบบนี้กันบ้าง แล้วเสียงปีศาจก็กระซิบขึ้นว่า "ถ้าเป็นเฌอปรางล่ะ"

หัวใจร้าว ๆ หล่นลงไปที่ตาตุ่ม พอเป็นลูกสาวเราแล้วก็แอบหวงตามประสาพ่อ ได้ยินว่าก่อนหน้านี้ก็เคยมีแฟน แหงล่ะน่ารักขนาดนี้ไม่มีก็แปลกแล้ว แต่พอเป็นไอดอลก็พักความสัมพันธ์ไป ลุงโอตะฟังแล้วก็ใจชื้น ความรักจากลูกสาวจะได้จัดสรรปันส่วนให้โอตะทุกคนอย่างเท่าเทียม รวมทั้งลุงด้วย (เค้าจะรู้จักมึงมั้ย งานจับมือก็ไม่เคยมา ตู้ปลาก็ไม่เคยไป 555)
ต่ถึงวันใดวันหนึ่งที่เฌอแกรดหรือเลิกเป็นไอดอลและเปิดตัวชายหนุ่มของเฌอ ใจที่ฝากไว้กับลูกสาวก็คงกระเด็นกระดอนกลับมาในสภาพบิ่นร้าว หัวอกพ่อรู้ว่าลูกสาวโตแล้วก็คงต้องไปมีชีวิตของตัวเอง แต่ก็อดใจหายไม่ได้ แต่ช่างเถอะนั่นก็เป็นเรื่องในอนาคต ระหว่างที่ยังเป็นไอดอลให้ลุงโอตะได้โอชิอยู่ตอนนี้ ก็อยากจะฝากกลอนที่ดัดแปลงมาจากวรรคทองของสนธิกาญจน์ กาญจนาสน์ ถึงลูกเฌอว่า

"เฌอจะแอบรักใครอย่าให้รู้
เฌอจะอยู่กับใครอย่าให้เห็น
ลุงโอตะขอร้องสองประเด็น
แล้วจะเป็นผู้แพ้ที่แท้จริง"

วันพุธที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

การวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์?


สองสามวันนี้คุยกับมิตรสหายคนหนึ่ง (คนเดิม) มีประเด็นหนึ่งที่ยังคงติดค้างในใจก็คือคำว่า การวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ คำนี้ยากทั้งคำจำกัดความและวิธีการ ทำอย่างไร-ทำได้แค่ไหน-ใครได้ประโยชน์บ้าง

มองย้อนกลับมาหาตัวเองที่ยังวนเวียนอยู่ในวงการอ่านเขียน ก็ไม่พ้นจะต้องเขียนอ่านวิจารณ์อะไรต่าง ๆ มากมาย สมัยที่เรายังอายุน้อย ๆ เราคิดว่าสิ่งสำคัญที่สุดของการวิจารณ์คือเนื้อหา ส่วนน้ำเสียงหรือท่าทีเป็นเรื่องที่ไม่สลักสำคัญอะไรเลย ยาดีจะเคลือบน้ำตาลหรือไม่ อย่างไรคนกินก็ได้ประโยชน์ เป็นต้นว่าวันดีคืนดีอ่านเรื่องสั้นของน้องคนหนึ่ง เออ คนนี้บทสนทนายังอ่อนและเยอะเกินจำเป็นอยู่ ก็มีหลายทางเลือกให้พูดถึง เช่นว่า

"อย่างไรก็ตาม การใช้บทสนทนาในเรื่องสั้นเรื่องนี้ยังไม่คมคายนัก อย่าลืมว่าทุกองค์ประกอบในเรื่องสั้นควรกระชับและมีความหมายเสมอ ผู้เขียนอาจลองไปศึกษาตัวอย่างบทสนทนาแบบ less is more เช่นในงานคลาสสิกของปาป้าเฮมิงเวย์"

หรือ...

"บทสนทนาที่เห็นนั้นพร่ำเพรื่อและเพ้อเจ้อ ใส่มาพอให้พาเรื่องไปได้เป็นฉาก ๆ เท่านั้น ถ้าผู้เขียนยังเห็นว่าบทสนทนาในเรื่องสั้นเป็นแบบเดียวกับที่นางร้ายในละครหลังข่าวเถียงฉอด ๆ กับแม่ค้าละก็ แนะนำให้เลิกเขียนและไปเปิดร้านขายส้มตำหน้าปากซอย ทีนี้ล่ะคงได้ใช้บทสนทนาที่ตัวเองถนัดได้เต็มที่"

สมัยที่เราเป็นเด็กกะโปกไม่ค่อยมีวุฒิภาวะ มักจะเลือกพูดแบบหลังเป็นประจำ (ฮา) ยาดีต้องแรงสิวะ คนอ่านจะได้ตื่น แต่อันที่จริงพอกลับมาคิดดู เหตุผลลึก ๆ ที่ซ่อนอยู่คงเป็นเพราะเราไม่รู้วิธีการอื่นที่จะยกระดับความเป็นมนุษย์ของตนเองให้น่าภาคภูมิใจนอกจากการประชดดูถูกเหยียดหยามความผิดพลาดและความไม่สมบูรณ์แบบของมนุษย์คนอื่น

พอแก่ตัวลง ความเกรี้ยวกราดในวัยหนุ่มก็ค่อยมอดลง เรามองเห็นสิ่งต่าง ๆ รอบข้างมากขึ้น เรายอมรับได้มากขึ้นว่ามนุษย์ไม่สมบูรณ์แบบ มนุษย์แต่ละคนต้องพยายามต่อสู้ท่ามกลางข้อจำกัดมากมาย เราเห็นอกเห็นใจมนุษย์คนอื่นมากขึ้น อายุปูนนี้เราจึงคิดว่า น้ำเสียงและท่าทีก็เป็นสิ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่าเนื้อหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับมิตรสหายที่พยายามต่อสู้ทำงานศิลปะอยู่ด้วยกันในประเทศที่ต้นไม้ศิลปะช่างแคระเกร็น ไม่มีดินน้ำปุ๋ยให้งอกงาม

แน่นอน Content is King and always will be. แต่น้ำเสียงและท่าทีก็คงเป็นเสมือนแพคเกจจิ้งที่บ่งบอกว่าเราใส่ใจกับความเป็นมนุษย์ของคนอื่นมากแค่ไหน ไม่ใช่ถึงขนาดต้องเคลือบมธุรสวาจาหวานหยดย้อย ใส่หน้ากากชื่นชมกันเองอย่างไม่อายปากแบบที่คมทวน คันธนู เขียนไว้ว่า "ผลัดกันเขียนเวียนกันอ่านวานกันชม" โต ๆ กันแล้วคงพอดูแลความรู้สึกกันเองได้ มันคงสำคัญที่ว่าเจตนาของการวิจารณ์นั้นจะกระตุ้นเตือนสติเพื่อน หรือมุ่งทำร้ายกันให้แหลกคามือเพื่อเป็นเหยื่อให้อัตตาของตนได้ดื่มกินเลือดเนื้อของคนอื่น ซึ่งมันก็มักจะสะท้อนผ่านกลวิธีการเขียนและภาษาที่ใช้ ถ้าไม่ไร้เดียงสานักก็พออ่านกันออก

แต่เราจะตัดสินได้หรือไม่ว่าน้ำเสียงและท่าทีแบบไหนที่ดีหรือไม่ดี เช่น คำแรง ๆ น้ำเสียงเสียดสีประชดประชันอาจช่วยตบหน้าให้ผู้ถูกวิจารณ์ตื่นรู้และปรับปรุงงานต่อไปให้ดี ลบล้างคำดูถูกเหยียดหยาม หรือมันอาจทำลายกำลังใจในการทำงาน ทำลายงานที่มีแนวโน้มว่าอาจจะเป็นงานที่ดีในอนาคต ฯลฯ สุดท้ายไม่มีใครรู้ผลลัพธ์ที่จะตามมา ไม่มีใครรู้ว่าการวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์แท้จริงเป็นอย่างไร มีขอบเขตแค่ไหน แล้วจะสร้างสรรค์หรือทำลายอะไรได้บ้าง

การวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ สำหรับเราแล้วก็ยังเป็นคำที่ยาก และอาจเปลี่ยนนิยามไปอีกถ้าแก่ตัวลงกว่านี้ (ฮา) แต่ความหมายสำหรับเราในตอนนี้คือ การวิจารณ์ด้วยเหตุผลและให้เกียรติความเป็นมนุษย์ของกันและกัน ถึงคำจะดูกว้าง แต่ก็คงพอจะครอบคลุมวิธีการที่มนุษย์ที่มีเกียรติพึงกระทำต่อกันได้ประมาณหนึ่ง

หรือถ้ายังมองว่าคนอื่นไม่มีค่าพอที่จะให้เกียรติกัน อย่างน้อยก็ควรให้เกียรติตนเองที่ได้ทำหน้าที่วิจารณ์ในฐานะมนุษย์ที่มีเหตุผลคนหนึ่ง มิใช่เดรัจฉานพยศที่ดื้อดึงห้อตะบึงทำลายทุกอย่างที่ไม่สบอารมณ์เพียงเพื่อสนองตัณหาตัวเอง

วันจันทร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2561

พลังเงียบของเขต 8



"พลังเงียบของเขต 8" เรื่องสั้นลำดับที่สองที่ได้รับรางวัลขณะประกอบสัมมาชีพเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย (เธอจ๋า งานหลักของอาจารย์คือเขียนงานวิจัย ไม่ใช่เขียนเรื่องสั้น 555)

เรื่องสั้นเรื่องนี้เกิดขึ้นจากการเฝ้ามองสื่อสังคมออนไลน์ในฐานะเครื่องมือต่อรองอำนาจทางการเมืองยุคใหม่ เสียงของปัจเจกบุคคลถูกรับฟังมากขึ้น การเคลื่อนไหวทางการเมืองถูกขับเคลื่อนและสื่อสารไปถึงคนจำนวนมากผ่านสื่อสมัยใหม่โดยไม่ต้องง้อเหล่าฐานันดรที่สี่ซึ่งนับวันจะตกต่ำลงเรื่อย ๆ แต่ยูโทเปียการเมืองไทยก็อาจจะยังอยู่ไกลเกินเอื้อม ในเมื่อพลวัตทางการเมืองของไทยทุกองคาพยพยังเป็นแนวคิดคร่ำครึและฉาบฉวย (ที่พูดมานี่แปลว่าอะไรก็ไม่รู้เหมือนกัน พูดคำเท่ ๆ ให้สมกับเป็นอาจารย์ไว้ก่อน 555)

ขอบคุณสถาบันพระปกเกล้าและคณะกรรมการที่จัดงานนี้ขึ้นและให้โอกาสเราได้ตีพิมพ์ผลงานร่วมกับนักเขียนที่ชื่นชอบหลายท่าน เช่น ครอบครัวนักเขียน คุณจารี-นทธี หรือป๊อก ปองวุฒิ นักเขียนหนุ่มที่เปี่ยมพลังที่สุดในวงการ และการได้พบปะพูดคุยกับอาจารย์ที่เคารพรักและมิตรน้ำหมึกทั้งหลายในงานเปิดตัวหนังสือวันนี้ก็ทำให้งานหนังสือปีนี้ไม่เงียบเหงาจนเกินไปนัก

วันเสาร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2561

ด้วยรัก


ด้วยรัก...
แม้กี่หมื่นอุปสรรคเหนื่อยหนักหนา
เพียงทั้งสองชิดใกล้ไม่ห่างตา
ฝันที่สุดปลายฟ้าก็ไม่ไกล

ขอเพียงเธอ...
เคียงข้างเขาเสมอได้ไหม
ก่อนหลับตาก็ลึกซึ้งถึงอุ่นไอ
เมื่อตื่นมาก็พบใครอยู่ใกล้กัน

สุขสันต์วันวิวาห์
สองคนสัญญาจะร่วมฝัน
วิญญาณ์และดวงใจผูกพัน
คือความหมาย ณ นิรันดร์คำมั่นรัก

Your wedding day may come and go,
but may your love forever grow.
Wishing you a love that grows day after day and year after year.
Congratulations on my best friend wedding.

วันพุธที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ในความเป็นคน

ดราม่าอาจารย์คอลัมนิสต์ของสำนักข่าวออนไลน์แห่งหนึ่งทำให้นึกอะไรได้สองเรื่อง
เรื่องแรก เราบอกเพื่อนและน้อง ๆ ของเราเสมอว่า อย่าหลงเชื่อคนที่มีฐานะทางสังคม หรือพวกนักเขียนมากนัก (รวมทั้งตัวเราเองด้วย อุ่ย!) จริงอยู่ว่าคนชั่ว ๆ มันก็มีอยู่ทุกวงการ แต่ในคราบของชนชั้นปัญญาชน คนชั่วเหล่านี้มีวิธีปกปิดหรือกลบเกลื่อนความชั่วของตัวเองได้แนบเนียนกว่าวงการอื่น ๆ และในฐานะที่เราก็เคยใช้การเขียนทำมาหากินมาบ้าง บอกเลยว่าเราจะเลือกหยิบคำอะไรมาใช้ให้ตัวเองดูหล่อได้ทั้งนั้น (อย่างเช่นในสเตตัสนี้) หรือหยิบคำหวานแบบไหนก็ได้มาปรนเปรอหญิงสาวที่กำลังจีบ บางทีเราพูดพร่ำไปว่าแววตาของคุณทำให้หัวใจผมสลาย ทว่ามีแต่เราที่รู้ว่าใจเราสลายเพราะแววตาจริงหรือแกล้งพูดสวย ๆ ไปอย่างนั้นเอง ดังนั้นอย่าไปสนใจคำพูดเค้ามาก การกระทำเท่านั้นที่จะบอกได้ว่าเค้าเป็นคนแบบไหน หรือไม่ก็ไปถามแฟนเก่า (ฮา)
เรื่องที่สอง เราเองก็เป็นคนชั่วในหลายเรื่อง เพราะถ้าเราเป็นคนดีจริงก็คงไม่ทำให้ผู้หญิงที่เรารักเสียใจและปัจจุบันก็เสียเค้าไปทุกคน แต่เรื่องสุดท้ายในชีวิตที่จะทำ (และไม่คิดจะทำ) คือการลงไม้ลงมือกับผู้หญิง อันที่จริงถ้าเรื่องทำร้ายจิตใจอาจเผลอไปบ้างเพราะเราปากไว ปากหมา และปากจัดมาก (ปัจจุบันก็พยายามลดลงบ้าง) แต่เรื่องต่อยตีผู้หญิงนี่เป็นเรื่องที่เกินความเข้าใจของเราจริง ๆ ทำไมเขาไม่คิดว่าผู้หญิงไม่ควรถูกผู้ชายทำร้ายร่างกายไม่ว่าในกรณีใด ๆ การที่เรามองผู้หญิงเป็นเพศที่อ่อนแอกว่าผู้ชายและควรได้รับการปกป้อง พวกเฟมินิสต์อาจจะด่าเราก็ไม่ว่ากัน แต่สำหรับเราแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสรีระ กล้ามเนื้อ มวลกระดูก ความอ่อนไหวทางอารมณ์ และโซ่ตรวนจากค่านิยมบ้าบอในสังคม แค่นี้มันก็พันธนาการความเข้มแข็งของผู้หญิงไว้เกือบเก้าสิบเก้าเปอร์เซ็นต์แล้ว มึงยังกล้าซ้ำเค้าด้วยกำปั้นอีกเหรอวะ ผู้ชายที่ซ้อมผู้หญิงนี่เราก็อยากรู้เหมือนกันว่าเขาคิดยังไง ถูกเลี้ยงดูมาแบบไหน แต่ถึงรู้ภูมิหลังอันแสนเศร้า (ถ้ามี) ก็คงไม่ได้ทำให้ความเห็นใจเราเพิ่มขึ้นแม้สักน้อย คนพรรค์นี้อย่าว่าแต่จะถามหาความเป็นลูกผู้ชายเลย แค่จะถามหาความเป็นคน บางทีอาจจะไม่มีด้วยซ้ำ

วันศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

เสือดำและเพชรพระอุมา


เห็นข่าวการยิงเสือดำ นอกจากความโกรธแค้นแทนสัตว์ป่าอย่างที่สามัญสำนึกของมนุษย์จะพึงมีแล้ว ใจผมก็ยังนึกกระหวัดไปถึงฉากแรกในนวนิยายระดับขึ้นหิ้งของไทยอย่าง "เพชรพระอุมา" ซึ่งเป็นการเปิดตัวตัวละครเอกอย่าง รพินทร์ ไพรวัลย์ ได้อย่างตราตรึงใจสมชื่อชั้นนักเขียนชั้นครูอย่างพนมเทียน

ในวิชาการเขียนเชิงสร้างสรรค์ คำหนึ่งที่ผมมักจะยกมาพูดกับเด็กเสมอคือคำพูดคลาสสิกของปาป้าเฮมิงเวย์ที่ว่า Show the Readers everything, Tell them nothing. ซึ่งใช้ได้ทั้งกับการเล่าเรื่องและการสร้างตัวละคร อย่าเขียนว่าผู้ถูกสัมภาษณ์เป็นคนขยันและอดทน แต่ควรเขียนถึงกิจวัตรที่สะท้อนความขยันและอดทนของเขา

ทีนี้ลองมาดูว่าพนมเทียนเปิดตัวรพินทร์ ไพรวัลย์ อย่างไรบ้าง

เรื่องราวเริ่มขึ้นเมื่อคนงานในสถานีกักสัตว์ประมาทเลินเล่อ ทำให้เสือดำหลุดจากกรงและทำร้ายคนในละแวกนั้นด้วยความตื่นกลัว ส่วนคนงานที่หนีพ้นบ้างก็ใช้ปืนยิงส่ง ๆ บ้างก็หนีเข้าตึก มีก็แต่รพินทร์ ไพรวัลย์ที่อยู่ในสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและมีสติที่สุด

...............................................

"...ผู้จัดการก็วิ่งหน้าเริดมาหาเขา ซึ่งในขณะนี้ดูเหมือนจะเป็นคนเดียวที่ยืนอยู่ในที่โล่งบริเวณสถานีกักสัตว์ใกล้กับรถที่จอดอยู่..."

...............................................

ในที่สุดผู้อำนวยการซึ่งเป็นผู้จ้างวานการขนย้ายสัตว์ป่าก็ตัดสินใจให้รพินทร์ปลิดชีวิตเสือดำเคราะห์ร้ายตัวนั้นเสียก่อนจะมีใครตาย แม้รพินทร์ไม่อยากฆ่าแต่ด้วยความจำเป็นจึงต้องทำ แต่การฆ่าของเขานั้นไม่ใช่การระดมยิงไรเฟิลจากระยะไกล แต่เป็นการยิงอย่าง "เยนเทิลแมน" โดยใช้กระสุนเพียงนัดเดียว ถ้าพลาดก็เท่ากับตาย เป็นการเดิมพันการฆ่าอีกชีวิตหนึ่งด้วยชีวิตตัวเอง

...............................................

"...ว่าแล้วเขาก็ล้วงมือลงไปในกระเป๋าย่ามของเสื้อล่าสัตว์ที่สวมอยู่ หยิบลูกซิลเวอร์ทิปออกมา กระชากลูกเลื่อนออก ยัดลูกปืนเข้าไปในรังเพลิงนัดเดียว กระแทกลูกเลื่อนปิดแล้วเดินดุ่ม ๆ ตามรอยของเจ้าดำ ซึ่งเห็นมันเผ่นหายไปทางกรงสัตว์ที่ขังไว้เก่า ๆ ด้านซ้ายของบริเวณ..."

...............................................

นอกจากจะใช้กระสุนนัดเดียวแล้ว รพินทร์ยังให้โอกาสเจ้าเสือดำต่อสู้ป้องกันตัวเอง เป็นการให้เกียรติในฐานะคู่ต่อสู้ที่เท่าเทียมกัน โดยการรอจังหวะให้เสือตัวนั้นกระโจนเข้ามาแล้วยิงสวน

...............................................

"...เขาตวัดไรเฟิลขึ้นอย่างใจเย็น ตาจับอยู่ที่เป้าหมายอันมีระยะห่างประมาณไม่เกิน 10 เมตร โดยมีกรงนกเงือกกั้นกลาง ไอ้ดำเผ่นพรวดพราดขึ้นโดยเร็ว กระโจนไต่ตะกุยตะกายขึ้นไปบนต้นฉำฉา พอถึงคาคบ ก็หมอบทำตัวหูลู่ อ้าปากแสยะเขี้ยวมาทางเขา พร้อมด้วยดวงตาอันลุกจ้าดุร้าย
และพริบตานั้นเอง มันก็เผ่นพรวดสยายเล็บพุ่งลงมาใส่อย่างดุเดือด โดยข้ามหลังกรงนกเงือกลงมา
30-06 แผดระเบิดกึกก้องไปทั่ว
เป็นการยิงสวนในระยะเผาขน!
ร่างของเสือดำขนาดใหญ่ ปะทะร่างของจอมพรานโดยแรง เขาล้มกระแทกลงไปเบื้องหลัง ปืนหลุดกระเด็นจากมือ ส่วนเสือร้ายม้วนตัวสั่นริก ๆ อยู่กับที่ตรงนั้น มีแต่ส่วนหางยาวเท่านั้นที่แกว่งกวาดไปมาอยู่สองสามครั้ง แล้วก็สงบนิ่ง
ผู้จัดการของสถานที่ และคนงานทั้งหลายพากันวิ่งพรูเข้ามา เป็นเวลาเดียวกับที่รพินทร์ลุกขึ้นยืนช้า ๆ เดินมาโคลงศีรษะอย่างสุดเสียดายอยู่ที่ซากของไอ้ดำร้ายกาจตัวนั้น
กระสุน 30-60 เจาะแสกหน้าของมันทะลุเลยออกต่ำกว่าต้นคอเล็กน้อย!"

...............................................

ฉากการยิงเสือดำของรพินทร์ ไพรวัลย์ จึงเป็นหนึ่งในฉากเปิดตัวตัวละครที่ 'คลาสสิก' น่าประทับใจฉากหนึ่ง เพราะมันสามารถอธิบายลักษณะนิสัยของตัวละครทำนองว่า กล้าหาญ มั่นใจตัวเอง กล้าได้กล้าเสีย คุ้นเคยชำนาญพงไพรเป็นอย่างดี กล้าเดิมพันด้วยชีวิตตัวเอง ให้เกียรติสัตว์ป่าที่ตนล่า เป็นสุภาพบุรุษ มีน้ำใจนักกีฬา ฯลฯ ได้โดยไม่ต้องใช้คำพวกนี้ให้รุงรังน่าเบื่อ

(แต่จะด้วยความที่กลัวคนอ่านบางกลุ่ม "ไม่เก็ต" หรืออย่างไรไม่ทราบ พนมเทียนก็ให้ตัวละครอีกตัวแอบอธิบายเฉลยการกระทำไว้ในย่อหน้าต่อมาอีกนิดหน่อย อาจจะเพื่อให้คนอ่านที่พรรษายังไม่แข็งกล้าได้เข้าใจความหมายของฉากเสี่ยงตายนั้น)

...............................................

"...ทีแรกผมนึกว่าเขาจะยิงผ่านลูกกรงตาข่ายของนกเงือกเข้าไปเสียอีก แต่เขากลับรอจังหวะให้มันพุ่งเข้าใส่และยิงในขณะนั้น ผมก็อยากจะเชื่อตามคุณอำพลว่า ในข้อที่รับรองว่าเขาเป็นสุภาพบุรุษและนักกีฬาคนหนึ่ง เพราะแม้กระทั่งสัตว์เขาก็ยังให้โอกาสกับมัน ถ้ามือเขาไม่ดีจริง เมื่อกี้นี้เขาอาจถึงแก่ชีวิต มันเป็นการแลกกันอย่างยุติธรรมดีเหลือเกิน..."

...............................................

เขียนมาถึงตรงนี้ก็นึกถึงท่านประธานบริษัทคนนั้นอีกครั้ง ไม่รู้ว่าฉากการล่าเสือดำของท่านจะ "สุภาพบุรุษ" "นักกีฬา" "แลกกันอย่างยุติธรรม" อย่างรพินทร์ ไพรวัลย์ หรือเป็นแค่ไอ้ขี้ขลาดเห็นแก่ตัวคนหนึ่งที่เล็งยิงสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ด้วยปืนไรเฟิลจากระยะพ้นอันตรายเพียงเพื่อสนองตัณหาบ้าบอของตนเอง

วันศุกร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

สัตว์ชรากับเสือหนุ่ม


ในห้วงเวลาปัจจุบัน ทุกครั้งที่ผมสอน เรื่องที่เรียกเสียงหัวเราะ เสียงเฮฮา หรือถึงขั้นโห่ฮาได้ดังที่สุดก็คือการยกตัวอย่างที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลปัจจุบัน หรือบางประเด็นของรัฐบาลที่อ่อนไหวหากจะพูดในที่สาธารณะ เมื่อยกขึ้นมาพูดคุยกับนักศึกษา (ปิดไมค์) ก็มักจะมีหลายคนกระตือรือร้นช่วยกันตอบ (ซึ่งต่างจากประเด็นทั่ว ๆ ไปที่นักศึกษามักจะเออออห่อหมกขี้เกียจพูด) ราวกับว่าพวกเขาอัดอั้นกับหลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นในสังคมแต่ไม่มีพื้นที่จะพูดหรือไม่มีคนกล้าฟังเขาพูด

สิ่งที่เกิดขึ้นชวนให้ผมนึกแปลกใจว่า เด็กต่างจังหวัด (นี่เราดูแคลนเด็กใช่ไหม ทั้งที่เราก็เด็กต่างจังหวัดเหมือนกัน-แฮ่) ที่แม้ไม่ได้เรียนคณะที่เกี่ยวข้องกับการบ้านการเมือง ดูภายนอกไม่น่าจะสนใจการเมือง ยังมีอารมณ์ร่วมกับสถานการณ์บ้านเมืองในระดับที่เข้มข้นเกินธรรมดา ซึ่งปะทุออกมาผ่านน้ำเสียงยามเปิดวงสนทนา หรือเสียงโห่ฮาเวลาผมหลุดคำพูดที่น่าจะถูกใจพวกเขาไม่น้อย แล้วคนที่อยู่วงในเข้าไป คนที่สนใจการเมือง คนที่สูญเสียคนสำคัญจากความขัดแย้ง คนที่เจ็บปวดหรืออกหักจากรัฐบาล อุณหภูมิอารมณ์จะระอุแค่ไหน เสียงโห่ฮาในใจจะดังเพียงใด

ประเทศวัยชราที่ปกครองด้วยลุงคนนั้นคนนี้ ไม่มีที่ว่างให้เสียงของพวกเขาซึ่งควรจะเป็นอนาคตของประเทศเลย บางทีนักศึกษาหลายกลุ่มในสถานที่ไกลปืนเที่ยงแห่งนี้คงพอจะรู้สึกได้แล้วกระมังว่าตนเองมีตรวนอะไรล่ามมือล่ามเท้าอยู่บ้าง และตรวนที่ว่าเกิดจากอะไรหรือเกิดจากใคร เมื่อมีโอกาสได้พูดจึงค่อนข้างเผ็ดร้อน และเสียงของพวกเขาก็ออกจะเกรี้ยวกราดเมื่อพูดถึงลุง ๆ ทั้งหลายเหล่านั้น

นี่ก็ครบรอบสี่ปีการเลือกตั้งครั้งหลังสุด นึก ๆ ไปก็นึกเห็นใจรัฐบาลที่พยายามยื้อเวลาเลือกตั้งไปให้นานที่สุด พยายามเข็นกฎหมายและใช้เล่ห์ร้ายต่าง ๆ ที่จะทำให้ตัวเองสืบทอดอำนาจไปให้นานแสนนาน เพราะหากผมอยู่ในจุดนั้น แถมยังเล่นกระโดดเหยง ๆ ขี้รดหลังเสือเล่นอย่างไม่เกรงศักดิ์ศรีเสือ (ก็ลื้อหมอบคลานมาให้อั๊วะขี่เองนี่หว่า-ฮา) ผมเองก็คงหาทางอยู่บนหลังเสือให้นานที่สุดเช่นกัน ขืนลงมาตอนนี้ เสือมันคงไม่จบแค่ขย้ำคอ แต่คงอยากฉีกร่างเป็นชิ้น ๆ ให้สมแค้น

โชคดีที่ยังพอจะมีเสือหนุ่มแน่นหลายตัวในประเทศนี้ แม้จะมีความพยายามควบคุมประชากรเสือหนุ่มที่มีเขี้ยวเล็บอยู่บ่อย ๆ แต่พวกเสือซ่อนเล็บรอเวลาคนแก่เหลาเหย่ลงจากหลังก็ยังมีอีกไม่น้อย อาจเพราะเหตุนี้พวกเขาจึงกลัวจนไม่ยอมคืนอำนาจที่ปล้นมาเสียที ผมก็ได้แต่หวังว่าพวกเขาทั้งหลายจะไม่เผลอพลัดตกลงมาในวันที่อุณหภูมิในใจของเสือหนุ่มเหล่านี้เดือดดาลถึงขีดสุด

ไม่เช่นนั้น เสียงโห่ฮาที่ผมเคยได้ยินในวันก่อนจะแปรเปลี่ยนไปเป็นอะไรในอนาคต-ผมก็ไม่อาจคาดเดาได้

วันพฤหัสบดีที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

เฌอปราง


วิธีฆ่าเขานั้นไม่ยาก เพียงแค่เธอเลิกรักเขา แล้ววันหนึ่งเขาก็จะตาย...
(ต้นส้มแสนรัก)

วิธีฆ่าผมนั้นไม่ยาก เพียงแค่เฌอเลิกรักผม แล้ววันหนึ่งผมก็จะตาย...
(เฌอปรางแสนรัก)

วันจันทร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2561

เลือกทางที่จะไม่ทำให้ตัวเองเสียใจภายหลัง

(๑.)

อยู่มาวันหนึ่งเราค้นพบตัวเองว่า ยิ่งแก่ตัวลงมากเท่าไร ความสามารถในการวินิจฉัยและตัดสินอะไร ๆ ก็ยิ่งลดลงมากเท่านั้น

วันก่อนมีรุ่นน้องคนหนึ่งมาปรึกษาเรื่องอนาคต เราก็พูดอะไรไปเรื่อยเปื่อย ก่อนจะปิดท้ายด้วยคำคมทำนองว่า ชีวิตก่อนสามสิบไปใช้ซะให้คุ้ม เพราะหลังสามสิบมันจะไม่ใช่ชีวิตเราคนเดียวแล้ว หรือคำปลุกปลอบฝันทำนองว่า ไปโบยบินข้างนอกเสียให้พอใจ เพราะวันหนึ่งหากจำเป็นต้องกลับเข้ากรงจะได้ไม่ต้องมีอะไรคาใจ

เช้านี้ขณะกำลังชู้ตบาสคนเดียวเงียบ ๆ ก็นึกเรื่องนี้ขึ้นมาอีกครั้ง ก็ใช่อยู่ว่าชีวิตใครก็ตัดสินใจกันเอง แต่ถ้าเกิดน้องบ้าจี้ไปตามคำพูดสวย ๆ ของเรา แน่นอนว่าเค้าอาจได้ประสบการณ์ชีวิตหลากหลายรูปแบบ แต่ราคาที่ต้องจ่ายคือการเสียโอกาสในวิชาชีพที่มั่นคงไปหลายปี เพราะด้วยความสามารถของน้องเค้า การจะก้าวไปสู่จุดสูงสุดทางวิชาการและวิชาชีพตั้งแต่อายุยังน้อยไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลย

การตัดสินใจใช้เวลากับอะไรบางอย่าง มันก็อาจเปลี่ยนแปลงชีวิตใครคนหนึ่งได้

และชีวิตที่ดี กับชีวิตที่มีความสุข บางครั้งมันไม่ใช่ชีวิตเดียวกัน

(๒.)

เรานึกถึงเพื่อนสมัยมัธยมฯ คนหนึ่งที่มักเป็นกังวลกับอนาคตของเรา กลัวเราจะไม่มีชีวิตที่ดี ตอนเราจิตหลุด ๆ เธอก็โทรมาไถ่ถามชี้ทางชีวิต (เรานึกขอบคุณเธออยู่เสมอ) นึกย้อนไปก็น่าขำ ถ้าจะเรียกการมีเวลามาเล่นบาสตอนเช้ามืดก่อนไปทำงาน แทนที่จะนั่งสัปหงกอยู่บนรถเมล์หรือเรือแสนแสบว่าชีวิตที่ดีได้ ตอนนี้เราก็คงจะมีชีวิตที่ดีพอให้เธอคนนั้นไม่ต้องเป็นกังวล

แต่ถามว่าเป็นชีวิตที่มีความสุขไหม? ว่ากันตามจริงมันก็ยังห่างไกลจากคำว่าทุกข์ เรามีความสุขอย่างที่ชอบบอกคนอื่นว่า 'สุขตามอัตภาพ' ทว่าหากเทียบกับตอนเป็นฟรีแลนซ์สมัยเรียนจบใหม่ ๆ ออกเที่ยวไปสัมภาษณ์คนตามจังหวัดนู้นจังหวัดนี้ นอนโรงแรมจิ้งหรีดอวลกลิ่นบุหรี่ของคนที่มาพักก่อนหน้า ถึงช่วงเก็บตัวเขียนอะไรบางอย่างก็นอนกลางวันแล้วตื่นกลางคืนมาสลักประติมากรรมถ้อยคำจนถึงเช้า บางคืนเหงาออกไปจิบเบียร์คุยเรื่องหัวใจกับเพื่อนสนิทคนหนึ่งซึ่งหลงรักผู้หญิงคนเดียวกัน หยิบเรื่องสั้นที่เพิ่งเขียนเสร็จให้มันอ่านซึ่งมันก็พูดเหมือนทุกครั้งว่ากูอ่านไม่รู้เรื่อง แต่แม่งต้องมีอะไร (ตกลงมีอะไรวะ) แน่นอนมันไม่ใช่ชีวิตที่ดี แต่นั่นคือช่วงที่ชีวิตโคตรมีความสุข

แต่ถ้าถามว่าตอนนี้อยากกลับไปมีชีวิตที่มีความสุขแบบนั้นอีกไหม มันก็เป็นไปไม่ได้ด้วยหลายปัจจัย ทั้งเพราะหัวใจที่ชราภาพก่อนวัยอันควร หรือแม้แต่เพื่อนสนิทคนนั้นก็พลัดพรากจากกันพร้อมคำทิ้งท้ายว่ากลับไปทำชีวิตให้เป็นชีวิตกันก่อนดีกว่าว่ะ (และอีกหลายข้ออ้าง) ทว่าต่อให้ทุกอย่างเป็นไปเหมือนเดิม เราก็มีความสุขกับสิ่งเดิมไม่ได้เหมือนแต่ก่อนแล้ว

(๓.)

ยิ่งแก่ตัวลง ความสามารถในการวินิจฉัยและตัดสินอะไร ๆ ก็ลดลง เราตัดสินชีวิตคนอื่นน้อยลง เราไม่แน่ใจในความเชื่อและคำแนะนำของตัวเองมากขึ้น เพราะคำพูดหลายประโยคที่เราพูดเท่ ๆ ออกไป มันก็ถูกพิสูจน์ด้วยชีวิตแล้วว่าบางทีก็ไม่เป็นความจริง หรือการกระทำบางเรื่องที่เราเคยทำลงไปอย่างมั่นใจ สุดท้ายมันก็กลับมาแว้งกัดชีวิตเราในภายหลัง สมัยสอนหนังสือที่สวนสุนันทา เราเคยหลุดหล่นวลีเลี่ยมทองทำนองว่า ความสามารถที่คุณมีต่างหากคือความมั่นคงของชีวิต หรือแปลไทยเป็นไทยว่า ถ้ามึงเก่งจริงก็ไม่อดตายหรอก ซึ่งเอาเข้าจริงแล้ว ในบางพื้นที่ของสังคมไทย ความสามารถอาจจะเป็นปัจจัยสุดท้ายของการประสบความสำเร็จในชีวิตก็เป็นได้

บางแนวทางชีวิตที่ถูกประเมินค่าด้วยมุมมองที่แตกต่างกัน เราก็หยุดคิดกับมันมากขึ้น เช่นบางคนทำงานจนไม่มีเวลาให้แก่ครอบครัว ก็อาจจะถูกตัดสินจากคนรักครอบครัวว่านั่นไม่ใช่ชีวิตที่ดี แต่อีกมุมหนึ่ง คนทำงานคนนั้นอาจเป็นคนที่รักครอบครัวมากที่สุด เพียงแต่ครอบครัวของเขาคือคนทั้งบริษัท หรือประชาชนทั้งประเทศ การทำงานหามรุ่งหามค่ำเพื่อให้ผลงานออกมาดีที่สุดย่อมทำให้ครอบครัวในสเกลใหญ่มีความสุข ดุจเดียวกับพระเวสสันดรที่ยอมให้ทานบุตรและภรรยาเพื่อบรรลุพระโพธิญาณมาโปรดเวไนยสัตว์ในภายภาคหน้า เช่นเดียวกัน การที่เราย้ายมาทำงานต่างจังหวัดเพื่อกลับมาอยู่กับครอบครัว เราอาจถูกคนรักครอบครัวตัดสินว่าเป็นคนดี แต่ตอนนี้เราเองไม่ได้คิดถึงชีวิตในเชิงคุณค่าความดี เพียงแต่ทำตามปัจจัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นและเป็นไปในแต่ละช่วงชีวิต ขณะเดียวกันก็พยายามประคองชีวิตส่วนที่ยังไม่แตกสลายไว้ให้นานที่สุด

ทางเลือกสู่ชีวิตที่ดี กับชีวิตที่มีความสุข หากมันไม่ใช่สิ่งเดียวกัน คงมีหลายปัจจัยให้ชั่ง ตวง วัด ซึ่งคงสัมพัทธ์กับวุฒิภาวะแต่ละช่วงวัย และเสียงร่ำร้องของหัวใจในขณะนั้น

(๔.)

อย่างไรก็ดี เราเชื่อว่ารุ่นน้องคนนั้นมีวุฒิภาวะสูงกว่าเราเยอะ เค้าฉลาดมากพอที่จะเลือกเส้นทางที่ดีที่สุดให้แก่ชีวิตโดยอาจไม่ต้องไยดีต่อคำพูดขายฝันสวยหรูของเรา แต่หากจะแก้ไขคำแนะนำที่มีให้แก่รุ่นน้องคนนั้น เราควรจะแก้ไขอย่างไรดี

คำแนะนำคลาสสิกอย่าง 'เลือกทางที่จะไม่ทำให้ตัวเองเสียใจภายหลัง' พูดง่าย ทำยาก เราเองก็เคยเลือกทางที่ทำให้ตัวเองกลับมานึกเสียใจหลายครั้ง ซึ่งสุดท้ายก็ไม่มีอะไรดีไปกว่าการยอมรับมันและทำความเข้าใจตัวเอง ก่อนจะตัดสินใจเลือกทางเดินต่อไป

เราไม่รู้หรอกว่าสุดท้ายแล้วเส้นทางข้างหน้ามันจะทำให้เราเสียใจภายหลังหรือไม่ แต่นั่นคือทางเลือกที่ดีที่สุดเท่าที่ตาชั่งชีวิตซึ่งหลอมจากประสบการณ์ได้เลือกออกมา

ส่วนจะเสียใจภายหลังหรือไม่ ลึก ๆ แล้วในหัวใจเราคงมีคำตอบซ่อนอยู่

วันพฤหัสบดีที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2561

แววตา (๒)

แววตาของบางคนถูกสร้างขึ้นมา
เพื่อให้คนที่เผลอสบตาใจสลาย

วันพฤหัสบดีที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2561

แววตา

แววตาของบางคนถูกสร้างขึ้นมา
เพื่อให้หัวใจของอีกคนรู้สึกลึกซึ้งเกินกว่า
ความสัมพันธ์ที่ควรจะเป็น