วันอังคารที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2557

I post therefore I am

เขาก้มหน้ากดโทรศัพท์เอาเป็นเอาตาย
เพราะเขามีความหมายในมือถือ
เขากดปุ่มยกโป้งแทนปรบมือ
"ฉันโพสต์จึงมีอยู่*" คือปรัชญาชีวิต!

๒๑ ต.ค. ๕๗
__________
*"I post therefore I am" วาทะเลื่องชื่อของ Wooddy Chezzy นักปรัชญาชาว Hungry

วันจันทร์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2557

นัย / ตา (๒)

เวลาที่ผมสบตาคุณ รู้สึกเหมือนได้อ่านนวนิยายชั้นเยี่ยมเล่มหนึ่ง มันกว้างกว่าสุดขอบของความจริงกับความฝัน ลึกกว่าหัวใจมหาสมุทร บางครั้งอ่อนโยน บางคราวเหงาลึก บางขณะดึงดูดอย่างร้ายกาจประหนึ่งหลุมดำปริศนาที่ปรากฏขึ้นมาเพื่อกลืนกินทั้งจักรวาลจนพินาศย่อยยับ ถ้าเป็นไปได้ ผมอยากเพ่งพิศและพร่ำอ่านความหมายในสายตาคุณไปจนกว่าจะถึงลมหายใจสุดท้าย

วันพฤหัสบดีที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2557

Dream / ฝัน


Hold fast to dreams
For if dreams die
Life is a broken-winged bird
That cannot fly.

Hold fast to dreams
For when dreams go
Life is a barren field
Frozen with snow.

เถิดกล้าคว้าฝัน
หากพลันฝันสลาย
ชีวิตย่อมคล้าย
วิหคไร้ปีกเหิน

ปล่อยฝันหลุดลอย
ปวดร้าวเหลือเกิน
ดุจปล่อยชีวิตเผชิญ
ทุ่งแล้งสะท้านหนาว


บทกวี: Langston Hughes
บทแปล: วุฒินันท์ ชัยศรี
๑๐/๑๐/๒๕๕๗

วันพุธที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2557

All You Need Is Kill / Edge of Tomorrow / มองผ่านสายตาผู้ชนะหรือผู้แพ้


(เปิดเผยเรื่องราวใน All You Need Is Kill และ Edge of Tomorrow)

ก่อนหน้าจะได้ชม Edge of Tomorrow ผมมีโอกาสได้อ่านการ์ตูน All You Need Is Kill ซึ่งทั้งสองเรื่องสร้างจากต้นฉบับดั้งเดิมคือ All You Need Is Kill ไลท์โนเวลชื่อดังของ Hiroshi Sakurazaka ได้ยินมาว่าการ์ตูนเขียนตามต้นฉบับนิยาย ส่วนภาพยนตร์นั้นดัดแปลงจากนิยายไปเยอะ เหลือแค่โครงเรื่องการตายแล้วย้อนมาเกิดใหม่ (รุ่นน้องคนหนึ่งบอกว่าฉบับฮอลลีวูดคือไซไฟตลก ๆ 555)

ด้วยความที่ชอบ All You Need Is Kill จึงคาดหวังกับภาพยนตร์พอสมควร แต่พอดูจบก็บ่นกระปอดกระแปดว่า ไรวะ แฮปปี้ฮอลลีวูดซะงั้น เลยพาตัวเองไปติดลูปดูซ้ำอีกรอบเพื่อหาเหตุผลว่า ทำไมต้องเล่าต่างกันแบบนี้ด้วย

พล็อตของ All You Need Is Kill / Edge of Tomorrow เล่าสั้น ๆ ก็คือสงครามระหว่างมนุษย์ชาติกับสิ่งมีชีวิตจากต่างดาวนามว่า มิมิค ซึ่งมีความสามารถในการย้อนเวลาเพื่อให้ตัวเองได้เปรียบในสมรภูมิ และบังเอิญตัวเอกก็ได้รับความสามารถจากมิมิคให้ย้อนเวลาได้เมื่อตาย ตัวเอกจึงรบและตายซ้ำแล้วซ้ำเล่าพร้อมกับค่อย ๆ พัฒนาความสามารถทางการรบของตนเองขึ้นมาจนกระทั่งเอาชนะสงครามได้ในที่สุด ฉบับการ์ตูนนั้นตัวเอกเอาชนะได้หนึ่งสมรภูมิ (พร้อมกับความสามารถที่จะชนะในทุกสงครามที่เหลือ) ส่วนฉบับภาพยนตร์นั้นพระเอกสังหาร Omega ซึ่งเป็น "ตัวแม่" ของพวกมิมิค ทำให้ชนะสงครามอย่างเด็ดขาด

แน่นอนว่าทั้งสองฉบับ ชัยชนะเป็นของมนุษยชาติ ทว่าสิ่งที่แตกต่างกันระหว่างสองฉบับคือ ฉบับภาพยนตร์จบลงด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของวิลเลียม เคจ ส่วนฉบับการ์ตูนคือความหมองเศร้าของคิริยะ เคย์จิ ทั้งที่เป็นผู้พิชิตสงครามเหมือนกัน

ทำไมต้องแฮปปี้ฮอลลีวูด? ทำไมต้องทราจิดี้แจแปน?

ย้อนกลับไปที่โทนเรื่อง ฉบับการ์ตูนนั้นช่างซีเรียสเอาจริงเอาจัง ภาพโดนยิงไส้ทะลักเครื่องในเหวอะหวะน่าได้เรต 18+ ยิ่งนัก การตายแต่ละครั้งของพระเอกไม่ได้ตายทิ้งตายขว้าง แต่ตายเพราะลุยฝึกฝีมือการรบในสมรภูมิอย่างเอาจริงเอาจัง ขนาดว่าแม่ครัวสุดอึ๋มมาเชิญให้กินเจ้าหล่อนแทนข้าว พระเอกก็ยังเลือกไปฝึกการรบ เพื่อเป้าหมายพิชิตสงครามอย่างเดียว

เอาจริงเอาจังกับชีวิต ลุยเพื่อพิชิตเป้าหมายแบบแจแปนนีสสไตล์กันจริง ๆ

ขณะที่ฉบับภาพยนตร์ เมื่อมันเป็นฮอลลีวู้ดก็หนีไม่พ้นต้องมีสุขเศร้าเคล้าน้ำตาและเสียงฮาให้ครบรส เช่นว่าการตายแบบโง่ ๆ ของพระเอกเพื่อเรียกเสียงฮาในหลายฉาก มุกเห่ย ๆ ของตัวประกอบไว้ขัดโศก หรือฉากจำพวกชนชาวอเมริกันสามัคคีกันไว้เถิดจะเกิดผล จงยอมเสียสละตนเพื่อชาติตอนบุกไปยังลูฟว์ท้ายเรื่อง ก็มีอยู่ในภาพยนตร์ครบถ้วน

นี่ยังไม่รวมความซับซ้อนของวิธีการเล่าฉบับการ์ตูน (นิยาย) เนื่องด้วยมันมีพื้นที่ให้อธิบายเรื่องราวต่าง ๆ ได้มากกว่า ขณะที่ภาพยนตร์เมนสตรีมแบบนี้ต้องพาไปด้วยเส้นเรื่องหลักเส้นเดียว จะพาวกเข้าซอยเดี๋ยวจะงงกันเปล่า ๆ (แค่นี้ก็ยังงงจนต้องวนลูปแล้ว) ไม่แปลกที่จะจบกันไปตามสไตล์ของแต่ละวิธีเล่า เล่าง่ายก็จบง่าย เล่าซับซ้อนก็ลุ่มลึกขึ้น

แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นว่าเป็นสิ่งสำคัญที่พาเรื่องไปสู่สุขนาฏกรรมหรือโศกนาฏกรรมคือ มันเล่าผ่านมุมมองของใคร

ชื่อเรื่อง All You Need Is Kill คล้ายกับจะตั้งมาเพื่อประชดประชันเนื้อเรื่อง เพราะที่จริงแล้วตัวเอกในเรื่องไม่มีใครมีความสุขกับการฆ่าฟัน แม้ว่าในช่วงแรกริต้า วราทัสกี้ มาเข้ากองทัพเพื่อต้องการแก้แค้น เมื่อเธอติดลูปก็เดินหน้าฆ่าไม่เลี้ยงเพื่อพิชิตสงครามจนดูเหมือนจักรกลที่มีไว้สังหารมิมิค ส่วนเคย์จิเมื่อถึงลูปที่พิชิตมิมิคด้วยขวานสงครามได้แล้ว เขาก็ขนานนามตัวเองว่าเป็นเครื่องจักรสังหารเช่นกัน แรกเริ่มเดิมทีทั้งคู่ต้องการเพียงการฆ่าฟันมิมิคเพื่อเอาตัวรอดจากสงครามเท่านั้น และลูปสงครามนับร้อยสองร้อยลูปที่วนเวียนไม่จบสิ้นก็แทบทำให้ความเป็นมนุษย์สูญสิ้น คงเหลือแต่กลไกสังหารที่ฝังแน่นในร่างกายเท่านั้น แต่เมื่อทั้งคู่ได้มาพบกันและใช้เวลาหนึ่งลูปไปกับเรื่องธรรมดา ๆ ร่วมกัน อย่างการกินข้าว การชงกาแฟ การพูดคุยเรื่องสัพเพเหระ ฯลฯ จึงได้เรียนรู้ว่าแท้จริงแล้ว ชีวิตธรรมดาที่ไร้สงครามนั้นมีคุณค่าเพียงใด

มนุษย์เป็นมนุษย์เพราะใช้ชีวิตอย่างมนุษย์ มิใช่เครื่องจักรสังหาร

ทั้งสองยิ่งได้เรียนรู้มากขึ้นเมื่อต้องพบกับความสูญเสียจากการพิชิตสมรภูมิแรกของตน ริต้าสูญเสียผู้บังคับบัญชาที่บังเอิญตายในลูปที่เธอพิชิตสงครามพอดี ส่วนเคย์จิสูญเสียริต้า วราทัสกี้ เพื่อให้หลุดจากลูปได้

ริต้าปลงตกด้วยคำว่า "ไม่มีสงครามครั้งไหนไม่มีคนตาย"

ส่วนเคย์จิแม้จะพิชิตสมรภูมิแรกของตนเองได้ และจะพิชิตสงครามได้แน่นอน กลับต้องสะเทือนใจเมื่อคิดว่า ชัยชนะของมนุษยชาติที่จะได้มาจะมีประโยชน์อะไร ในเมื่อคนรักคนเดียวที่อยากปกป้องอย่างริต้าตายแล้ว - ด้วยมือของเขาเอง

บทสรุปสุดท้ายของสงครามคือฉากการห้ำหั่นกันของสองยอดนักรบอย่างริต้าและเคย์จิในตอนท้ายเรื่องยิ่งน่าสะเทือนใจ เพราะมีเพียงคนเดียวเท่านั้นจะที่รอดไปจากสมรภูมินี้

บางครั้งเพื่อชนะสงคราม เราอาจต้องฆ่าคนที่เรารัก

นั่นแหละคือความหมายของสงคราม มันโหดร้ายและปวดร้าวมากขนาดนั้น

All You Need Is Kill จึงเหมือนคำเย้ยหยันของผู้ที่จำต้องตกอยู่ในวังวนสงครามอันน่าชิงชัง ทั้งที่จริงแล้วมนุษย์นั้น All You Need Is (not) Kill, All You Need Is (not) War แต่ All You Need Is Live, All You Need Is Love.

นั่นคงเป็นมุมมองของคนในประเทศที่ต้องเผชิญสงครามภายในมานานหลายทศวรรษ แถมยังเคยพ่ายแพ้สงครามมาอย่างเจ็บปวด

ส่วน Edge of Tomorrow ที่สร้างจากประเทศที่มีคนเคยทิ้งคำคมว่า A man can be destroyed but not defeated. ก็แสดงปรัชญาข้อนี้อย่างชัดแจ้ง หลายต่อหลายครั้งที่วิลเลียม เคจ นายทหารผู้ไม่เอาไหนถอดใจว่า "เรามาไกลได้เท่านี้แหละ" บางครั้งถึงขนาดหนีทัพไปดื่มเบียร์อย่างระทดท้อ ทว่าถึงที่สุดแล้วเขาก็เริ่มใหม่ พยายามใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า ถึงขนาดไปได้ไกลจนเกือบเข้าถึง Omega (ในนิมิตปลอม) โดยไม่ต้องพึ่งพาริต้า วราทัสกี้ด้วยซ้ำ

สำหรับอเมริกาแล้ว ไม่มีสงครามครั้งไหนที่เอาชนะไม่ได้ เว้นแต่สงครามที่เรายังไม่พยายามให้มากพอ เว้นแต่สงครามที่เราถอนตัวไปก่อนจะรบชนะ

และเมื่อทำลาย Omega สำเร็จ เหตุการณ์รีเซ็ตกลับมาที่เดิม เพื่อนที่เขาผูกพัน และผู้หญิงคนสำคัญที่สุดยังมีชีวิตอยู่ จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่เคจไม่จะหัวเราะในตอนจบ

ไม่มีความตาย (อันไร้ค่า) ไม่มีความเจ็บปวด (ที่ยากจะลืม) หากเราเป็นฝ่ายชนะสงคราม

ฉากสุดท้าย ภาพความโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงา จมลึกในบาดแผลจากสงครามของคิริยะ เคย์จิ จึงเป็นภาพที่ตัดกับความอบอุ่นและเสียงหัวเราะของวิลเลียม เคจ ทั้งที่ต่างคนต่างก็เป็นผู้ชนะสงครามมิมิค

ความหมายของสงครามใน All You Need Is Kill และ Edge of Tomorrow จึงแตกต่างกันตรงที่ว่าใครเป็นคนเล่าเรื่อง

๐๑/๑๐/๒๕๕๗.