วันพุธที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2552

วิจารณ์วรรณกรรม : ความเหงา...ของกะทิ


คงเป็นเรื่องน่าอายหากจะสารภาพว่า ผมเพิ่งจะอ่าน "ความสุขของกะทิ" นวนิยายซีไรต์ชื่อดังคับฟ้าของวงการวรรณกรรมไทยจบลงเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ทั้งที่ตั้งใจจะอ่านให้จบตั้งแต่เมื่อปีที่เล่มนี้ได้ซีไรต์ ด้วยอยากรู้ว่านวนิยายเล่มนี้ "มีของ" อย่างไรถึงเอาชนะวรรณกรรมเนื้อหาหนัก ๆ ที่ฟาดฟันกันในปีนั้นอย่างดุเดือดได้ และยังได้รับความนิยมจนจะพิมพ์เป็นครั้งที่หนึ่งร้อยอยู่แล้ว แถมยังนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์อีกด้วย

หลังอ่านหนังสือ "มีของ" เล่มนี้จบ ผมมีความรู้สึกสองประการ

ประการแรก ความเห็นเดิมที่ผมเคยมองว่า หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่นวนิยาย แต่เป็นวรรณกรรมเยาวชน ได้เปลี่ยนแปลงไป จริงอยู่ นวนิยายก็อาจเป็นวรรณกรรมเยาวชน วรรณกรรมเยาวชนก็เป็นนวนิยายได้ อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่ามีเส้นคั่นบาง ๆ ระหว่างนวนิยายกับวรรณกรรมเยาวชน แม้จะดูคล้าย แต่ก็ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว


สิ่งที่แตกต่างประการหนึ่งคือ กลุ่มผู้อ่าน


กะทิไม่ได้มุ่งหมายจะบอกเล่าเรื่องราวของเธอให้เด็กรุ่นราวคราวเดียวกันฟังเท่านั้น แต่เธอกำลังเล่าเรื่องของเธอให้ผู้ใหญ่ที่กำลังสับสนว้าวุ่นในชีวิตได้เห็นหนทางการแก้ไขปัญหาของเธอ เล่าให้คนเมืองผู้คลุกคลีกับมลพิษทางอากาศและทางเสียงได้เห็นความสงบงดงามของชนบทที่หล่อหลอมให้หัวใจของเด็กน้อยเข้มแข็ง เล่าบรรยากาศการทำครัวย้อนยุค โรงเรียนวัด การทำบุญ และบ้านริมน้ำให้คนแก่ฟังเพื่อให้เกิดอาการ Nostalgia เล็ก ๆ และ... ฯลฯ ทั้งหมดคือส่วนผสมที่ทำให้หนังสือเล่มนี้ยกระดับตัวเองจากวรรณกรรมเยาวชนมาเป็นนวนิยายที่สามารถอ่านได้ทุกเพศทุกวัย จับใจ “ไร้จริต” อย่างที่ อัวร์ซูล่า เฮกเคล โปรยไว้หลังปก (จริง ๆ อาจจะไร้จริตมากกว่านี้หากกะทิดูเป็นเด็กธรรมดามากกว่านี้สักหน่อย)

พอเพียงและเพียงพอ คือสิ่งที่กะทิพยายามบอกทุกคน

ประการที่สอง กะทิได้ตอบคำถามที่คาใจผมมาตั้งแต่ได้ยินข่าวรางวัลซีไรต์ปี ๔๙ ว่า หนังสือเล่มนี้สมศักดิ์ศรีรางวัลสูงสุดของวงการวรรณกรรมไทย (ในสายตาสำนักพิมพ์และผู้อ่านกลุ่มใหญ่) หรือไม่


คำตอบก็คือ มั้ง!?


ที่ต้องแทงกั๊กไว้แบบนี้ เพราะผมไม่แน่ใจว่าตัวเองมีความรู้มากพอที่จะวิจารณ์กะทิในทางลบหรือไม่ เกิดฟันธงไปว่า “ไม่” ประเดี๋ยวจะโดน “กูรู” ทั้ง “ของจริง” และพวก “กูรู้” สับเอาเสียเปล่า ๆ

เอาเป็นว่า ผมขอเสนอความคิดเห็นบางประการทิ้งไว้ก็แล้วกัน

ในเรื่องของเนื้อหา ถือว่ากะทิสอบผ่านความเป็นวรรณกรรมอมตะนิรันดร์กาลของมนุษยชาติ คือจับเอาเรื่องราวความสุข ความทุกข์ อารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์มาถ่ายทอดโดยไม่อิงบริบททางสังคมมากเท่าใดนัก ทำให้ไม่กลายเป็น “วรรณกรรมฤดูกาล” (คำของ ลาว คำหอม) คือวรรณกรรมที่จะ “อิน” อยู่ซักระยะหนึ่งจนกว่ากระแสจะหายไป เช่นวรรณกรรมเกี่ยวกับสถานการณ์สามจังหวัดชายแดนใต้ที่กำลังเป็นกระแสหลักในขณะนั้นและต่างก็เข้าชิงรางวัลนี้กันพรึ่บพรั่บ


เนื้อหาความสุขและความทุกข์ของมนุษย์อันเป็นอมตะในเรื่องกะทิ อาจจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ได้ใจกรรมการไปเต็มที่


ส่วนในด้านกลวิธีก็ถือว่าสอบผ่าน อย่างที่พูดไปแล้วในความคิดเห็นประการแรก คือเรียบง่าย ไร้จริต แม้จะมีบางช่วงบางตอนที่ดูแปลก ๆ และจงใจไปนิด เช่น ตอนเจอกับน้องพิ้งค์ ตอนที่หลวงลุงรับนิมนต์ข้ามประเทศและพี่ทองจะไปอเมริกาซึ่งผมรู้สึกติดใจว่าต้องมีลูกเล่นอะไรตอนจบแน่ (แล้วก็จริง ๆ ด้วย) แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็ต้องบอกว่า คุณงามพรรณเขียนถึงกะทิได้อย่าง “เข้าไปนั่งในใจเด็ก” ได้ คืออ่านแล้วรู้สึกเหมือนอ่านไดอารี่ของเด็กมากกว่านวนิยาย นอกจากนั้นยังมีวิธีเล่าที่ “เนียน” ในสิ่งที่เด็กไม่น่าจะพูดออกมาได้ เช่น การให้ผู้ใหญ่พูดแทนเด็กแล้วกะทิตอบรับว่า “พูดแทนใจ” แทน หรือนึกคำพูด “คำใหญ่” ของคนนั้นคนนี้แล้วลงท้ายว่า “กะทิเห็นด้วย”


เรื่องภาษา อันนี้ก็ไม่ต้องพูดถึง คุณงามพรรณใช้ภาษา “กินขาด” และ “กินใจ” อย่างที่คนที่เรียกตัวเองว่า “นักเขียน” ในปัจจุบันบางคนยังทำไม่ได้ ยกตัวอย่างประโยคที่กินใจผมมาให้ดูสักสองตัวอย่าง


ยิ้มของพี่ทองเหมือนโรคติดต่อ ยิ้มที่ส่งมาจากหัวใจระรื่น ต่อสายตรงถึงปากและแววตา แผ่รัศมีเป็นคลื่นรอบ ๆ เหมือนเวลาโยนก้อนหินลงในน้ำจนคนรอบข้างรู้สึกได้
(น.๑๔)


หรือ สีหน้าของตาขณะมองตรงมาที่กะทิดูเหนื่อยล้าและโรยแรง ไม่ต่างจากศาลาริมน้ำหลังนี้ ที่ผ่านแดด ผ่านฝน ผ่านโลกมานานจนทุกอณูเนื้อไม้อาบอิ่มด้วยอดีต และไม่ปรารถนาใดในอนาคตอีกแล้ว (น.๒๗ – ๒๘)


อ้าว ก็ดีไปหมดนี่ แล้วปัญหาอยู่ตรงไหน
ปัญหาใหญ่ที่ผมมองอยู่ที่ตัวละคร คือ ด.ญ. ณกมล หรือหนูกะทินี่แหละ
ผมรู้สึกว่ากะทิเหมือนนางฟ้าที่ลอยมาจากสรวงสวรรค์

พูดให้ชัดขึ้นไปอีก ผมยังไม่เชื่อว่าหนูกะทิจะสามารถมีตัวตนอยู่จริงในโลกนี้ได้!


เด็กอายุเพียงไม่กี่ขวบ เหตุใดจึงสามารถมองโลก มองชีวิตได้อย่างลึกซึ้ง ยอมรับกฎไตรลักษณ์ได้หน้าตาเฉย ทำใจยอมรับเรื่องร้ายที่สุดในชีวิตได้อย่างมีความสุข แม้จะบอกว่ากะทิ “ไม่เข้าใจ” ความตาย แล้วก็ใช้ความ “แอ๊บแบ๊ว” แบบเด็ก ๆ จบความไม่เข้าใจไปดื้อ ๆ จึงไม่เสียใจ แต่ที่จริงแล้วถึงกะทิจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจกฎไตรลักษณ์ อย่างน้อยด้วยความเป็นปุถุชนก็น่าจะโศกเศร้าบ้างสักนิด ผมจำได้ว่ามีฉากหนึ่งที่กินใจผมมาก และเป็นฉากที่ผมเห็นว่ากะทิมีตัวตนมากที่สุดในเรื่อง คือฉากที่กะทิวิ่งบนหาดทรายและร้องไห้


สายลมปนไอร้อนที่ลอยขึ้นมาจากพื้นทรายกระทบใบหน้า กะทิวิ่งเร็วขึ้นเรื่อย ๆ วิ่งไปให้ถึงขอบฟ้า เท้าสัมผัสทรายเนื้อละเอียดอย่างที่แม่ทำไม่ได้...อย่างที่แม่เคยทำได้ สองมือกำเข้าหากัน ขยับขึ้นลงตามจังหวะการวิ่งอย่างที่แม่ทำไม่ได้...อย่างที่แม่เคยทำได้ กะทิยกมือขึ้นปาดน้ำตา กิริยาง่าย ๆ แบบนี้แม่ก็ทำไม่ได้...ทั้ง ๆ ที่เคยทำได้

กะทิเห็นประตูโรงแรมแวบผ่านปลายตา แต่ขาเหมือนหยุดไม่ได้ กะทิยังคงทะยานไปข้างหน้า และภาวนาให้หาดทรายทอดยาวอย่ารู้จบ
จวบจนเมื่อเข่าอ่อนทรุดลงบนพื้นทราย กะทิจึงรู้ว่าเหงื่อไหลโซมกาย ขาสั่นระริก เหมือน ๆ กันกับไหลที่สั่นตามแรงสะอื้น กะทิร้องไห้อย่างไม่อายใคร อย่างทำนบพัง อย่างที่ไม่เคยมาก่อน (น.๕๑)

นี่คือครั้งเดียวที่กะทิร้องไห้ เป็นการร้องไห้อย่างสมเหตุสมผลและสะเทือนอารมณ์มาก ไม่พร่ำเพ้อ ไม่ฟูมฟาย แต่แน่นหนักในความรู้สึกตามสไตล์คนที่ชอบเก็บงำอารมณ์ เป็นการร้องไห้ในแบบฉบับของกะทิจริง ๆ แต่เมื่อถึงตอนที่แม่ของกะทิตาย ทั้งที่เป็นเรื่องหนักหนากว่าตอนป่วยแต่น้ำหนักอารมณ์ของกะทิกลับดูล่องลอยพิกล และยอมรับได้อย่างไม่ทุกข์ร้อน


แต่วันนี้ชีวิตก็มีความสุขดีตรงที่มีพี่ทองมายืนชมทะเลอยู่ด้วยกัน แม้ว่ากะทิเพิ่งสูญเสียคนที่กะทิรักมากที่สุดไป
(น.๘๐)


ง่าย ๆ อย่างนั้น?


แม้จะบอกว่ากะทิเป็นเด็กหญิงที่ได้รับความรักความอบอุ่นจากตาและยายเพียงพอทำให้หัวใจเข้มแข็ง แต่ตาและยายยังไงก็ไม่เหมือนพ่อแม่ เมื่อไปที่โรงเรียน มีเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน เพื่อนไม่ถามหรือไม่ล้อบ้างหรือ? กะทิไม่น้อยเนื้อต่ำใจบ้างหรือ? ไม่ถามถึงพ่อแม่บ้างหรือ? การได้พบกับแม่ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ก่อนจะจากกันอีกครั้งชั่วนิรันดร์ ไม่ทำให้หัวใจของกะทิสั่นไหวบ้างหรือ?


ถ้าจะบอกว่าบรรยากาศธรรมชาติอันแสนอบอุ่นของบ้านริมคลองทำให้กะทิเข้มแข็ง น่าจะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เพราะคนที่จะ “อิน” กับบรรยากาศสุขสงบของ “บ้านนอก” ก็คือคนที่เติบโตและประสบแต่ความวุ่นวายในเมืองหลวงเท่านั้นเอง จึงจะมีมโนทัศน์สุขสงบของบ้านนอกอยู่ในใจแบบนั้น สำหรับกะทิที่เติบโตมาจากบ้านนอก บรรยากาศอันคุ้นชินยังไงก็คงไม่ “อิน” จนทำให้เข้มแข็งได้ขนาดนั้น


นอกจากนั้นความรักที่จะทำให้กะทิตัดสินใจจะอยู่ที่บ้านริมคลองกับตายายต่อไปนั้นน่าจะเป็นความรักที่มากพอ จนมากกว่าความผูกพันทางสายเลือดกับพ่อ นั่นหมายถึงเป็นความรักนอกเหนือจากที่ได้รับจากตากับยาย เช่น ความผูกพันกับเพื่อนที่โรงเรียน เพื่อนเล่นข้างบ้าน ฯลฯ เท่าที่เห็น เพื่อนของกะทิมีแต่ “พี่ทอง” ที่เป็นเหมือน Puppy Love ของกะทิ


ภาพลักษณ์ของกะทิที่ผมเห็น คือเด็กเหงา ๆ คนหนึ่งที่อาศัยอยู่กับตายายบริเวณบ้านริมคลองที่มีธรรมชาติสุขสงบร่มรื่น ตัวของกะทิเองไม่มีปฏิสัมพันธ์มากนักกับเพื่อนบ้านหรือคนรอบข้าง และดูเหมือนเหินห่างจากเพื่อนวัยเดียวกันอยู่บ้างด้วยความที่เป็น “คนมีระดับ” ที่อาศัยอยู่บ้านนอก (ตากับยายเป็นอดีตไฮโซที่มาอาศัยอยู่บ้านนอก จึงน่าจะทำให้ภาพลักษณ์ “ไฮโซ” ติดอยู่กับกะทิพอสมควร)


ถ้ากะทิเป็นเด็กเหงา ๆ (ตามที่ผมเห็น) เช่นนั้นความเหงาก็จะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เธอไขว่คว้าหาความอบอุ่น หาหลักยึดของชีวิตที่มั่นคงพอจะทำให้ตนเองเข้มแข็งขึ้น


ความรักจากตายาย บรรยากาศอันแสนอบอุ่นที่บ้านริมคลอง และเพื่อนใจหนึ่งคน นั่นจะมากพอหรือสำหรับการหล่อหลอมให้เด็กน้อยคนหนึ่งเข้มแข็งได้ถึงขนาดนั้น?

มิพักต้องพูดถึงความ ไม่สมจริงอื่น ๆ ซึ่งผมไม่อยากพูดถึงมาก อาทิ การตัดสินใจ "ทิ้งลูก" ของแม่กะทิ ด้วยเหตุผล? การให้ลูกกลับมาพบอีกครั้ง? การ ฯลฯ
อาจจะเป็นข้อจำกัดเรื่องความยาวของ Novella ที่ไม่สามารถปูพื้นหลังของตัวละครให้ละเอียดลึกซึ้งได้มากกว่านี้ หรือเป็นความจงใจของผู้เขียนที่จะเขียนเรื่อง “ความสุข” ของกะทิ จึงไม่วาง sub-plot เกี่ยวกับชีวิต เพื่อนบ้าน โรงเรียน ฯลฯ ของกะทิ ไม่งั้นนวนิยายอาจต้องเปลี่ยนชื่อเป็น “ชีวิตของกะทิ”


หรืออาจจะเป็นความจงใจของผู้เขียนที่ต้องการให้ “กะทิ” มีบทบาทอันโดดเด่นผิดจากคนธรรมดา คือต้องการให้เป็น “นางฟ้าตัวน้อย” แต่แรกเริ่ม อาจจะเพื่อสั่งสอน เพื่อแสดงนามธรรมของชีวิตให้ออกมาเป็นรูปธรรมผ่านเด็กหญิงคนหนึ่ง –ก็เป็นได้


แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ความเห็นเชิงลบของผมที่มีต่อนวนิยายเรื่องนี้คือจุดบอดในตัวละครนี่แหละ เมื่อเทียบกันแล้ว ด.ญ. พิงค์ในตอน “ดินสอสี” ยังดูสมจริงกว่ากะทิเยอะ


ด.ญ. กะทิ ที่ผมรู้จัก ก็เป็นเพียงเด็กหญิงเหงา ๆ ที่ไม่น่าจะมีตัวตนคนหนึ่งเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ณ วันนี้ เด็กหญิงณกมล ก็ทำยอดขายไปแล้วเป็นล้านเล่ม ซึ่งผมอนุมานเอาเองว่า มีคนได้รู้จักกะทิแล้วมากมายหลายสิบล้านคน

แต่พวกเขาจะรู้จักกะทิในแง่มุมใด รู้จักมากน้อยแค่ไหน ผมก็ไม่อาจทราบได้

แต่อย่างน้อย กะทิก็ขึ้นชื่อว่ามีคนหลายสิบล้านคนรู้จัก แม้จะไม่เคยได้พูดคุยกับเธอจริง ๆ ก็ตามที


บางที...นั่นอาจจะเป็นความเหงาที่แท้จริงของกะทิ...ก็เป็นได้
*ขอบคุณภาพประกอบจาก www.amarinpocketbook.com

2 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ26 กรกฎาคม 2556 เวลา 08:40

    เห็นด้วยมากๆๆๆๆ มีจุดที่ชั้นคิดแล้วคิดอีกว่าในความเป็นจริงแล้วยังไงก้อเปนไปไม่ได้ ยิ่งเมื่อแม่กะิทิตาย แต่กะทิกลับยอมรับได้??? ไม่ร้องไห้ เสียใจสักแอะ ซึ่งธรรมดาของเด็กอายุเท่านี้น่าจะแสดงอารมณ์ได้มากกว่านี้

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ไม่ระบุชื่อ26 กรกฎาคม 2556 เวลา 08:42

      ช่ายๆๆๆ อ่านแร้วแม่งไม่อินเรยอะ!!!

      ลบ