วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

อดีตเด็กประวัติศาสตร์

สมัยเรียนที่ศิลปากร เราเรียนวิชาโทประวัติศาสตร์ ซึ่งหากจะมีแบ่งสายย่อย เราต้องอยู่สายประวัติศาสตร์ยุโรปสมัยใหม่แน่นอน เพราะแปดตัวของวิชาโท เราเก็บวิชาของ อ.สัญชัย กับ อ.อนันต์ชัยไปซะครึ่งหนึ่ง (แต่เหมือนจะได้ A แค่วิชา Nazi Germany เพราะเรียนเช้า นอกนั้นบ่ายหมด ซึ่งหลับทุกที ไม่ใช่อาจารย์สอนไม่ดีนะ แต่ตกบ่ายแล้วง่วงมากทุกวิชา 555)

ภาพจำถึงอาจารย์ทั้งสองมีอยู่สองภาพ ภาพแรกคือด้วยความที่เป็นประวัติศาสตร์ยุโรป อาจารย์ก็เลยชอบสรรหา text ภาษาอังกฤษมาให้เรียนในห้อง ซึ่งอาจารย์มักจะพูดว่าอ่านไม่ยาก ๆ นี่คือบทความระดับเด็กมัธยมฯ ของฝรั่งเขาอ่านกันนะ ซึ่งไม่รู้จะเชื่ออาจารย์ดีหรือเปล่า 555 แต่ก็มีผลทางอ้อมให้เราอดทนอ่านข้อความภาษาอังกฤษยาว ๆ ที่ไม่ใช่นิยายได้มากขึ้น แม้จะเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง ส่วนภาพที่สองคือ ทุกครั้งที่เข้าไปพบอาจารย์ จะเห็นอาจารย์ง่วนอยู่กับหนังสือภาษาอังกฤษกองโตและเขียนอะไรอยู่สักอย่าง ทำให้รู้ว่ากว่าอาจารย์จะเตรียมสอนหรือเขียนตำราขึ้นมาสักเล่มต้องใช้ความเพียรพยายามมากขนาดไหน จึงรู้สึกผิดทุกครั้งที่นั่งหลับตอนอาจารย์เลคเชอร์ (แต่ก็หลับอยู่ดี 555)

คุณูปการสำคัญของอาจารย์ทั้งสองท่านที่ควรยกย่องเป็นพิเศษคือหนังสือของอาจารย์ที่นับเป็นเพชรเม็ดงามแห่งวงการประวัติศาสตร์ยุโรปในประเทศไทย ถ้าใครศึกษาประวัติศาสตร์ยุโรปภาคภาษาไทยโดยไม่ได้อ่านหนังสือของอาจารย์ ก็คงเหมือนศึกษาวรรณกรรมอินเดียแต่ไม่อ่านมหาภารตะและรามายณะยังไงยังงั้น ทุกครั้งที่เห็นหนังสือเล่มใหม่ของอาจารย์ในร้านหนังสือ เราคว้าทันทีโดยไม่ต้องอ่านข้างในก่อน เพราะเรารู้ว่าคุณค่าของหนังสือจากปลายปากกาอาจารย์มีมูลค่ามากกว่าราคาหนังสือเป็นร้อยเท่าพันเท่าแน่นอน

ในโอกาสที่อาจารย์ทั้งสองท่านได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณ อดีตลูกศิษย์วิชาโทตัวเล็ก ๆ ที่ชอบนั่งหลับหลังห้องก็รู้สึกตัวพองขึ้นมาด้วยความภาคภูมิใจที่เคยได้เรียนกับอาจารย์ทั้งสองท่าน จึงขอแสดงความยินดีกับอาจารย์อยู่ไกล ๆ จากพื้นที่ออนไลน์ และยังระลึกถึงบุญคุณของอาจารย์เสมอครับ