วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ลูกเฌอ


เห็นข่าวน้องแคน BNK มีภาพหลุดโดนพักงาน เราก็เฮ้อในใจ แต่ก็นะวัยรุ่นมันก็คงต้องมีอะไรแบบนี้กันบ้าง แล้วเสียงปีศาจก็กระซิบขึ้นว่า "ถ้าเป็นเฌอปรางล่ะ"

หัวใจร้าว ๆ หล่นลงไปที่ตาตุ่ม พอเป็นลูกสาวเราแล้วก็แอบหวงตามประสาพ่อ ได้ยินว่าก่อนหน้านี้ก็เคยมีแฟน แหงล่ะน่ารักขนาดนี้ไม่มีก็แปลกแล้ว แต่พอเป็นไอดอลก็พักความสัมพันธ์ไป ลุงโอตะฟังแล้วก็ใจชื้น ความรักจากลูกสาวจะได้จัดสรรปันส่วนให้โอตะทุกคนอย่างเท่าเทียม รวมทั้งลุงด้วย (เค้าจะรู้จักมึงมั้ย งานจับมือก็ไม่เคยมา ตู้ปลาก็ไม่เคยไป 555)
ต่ถึงวันใดวันหนึ่งที่เฌอแกรดหรือเลิกเป็นไอดอลและเปิดตัวชายหนุ่มของเฌอ ใจที่ฝากไว้กับลูกสาวก็คงกระเด็นกระดอนกลับมาในสภาพบิ่นร้าว หัวอกพ่อรู้ว่าลูกสาวโตแล้วก็คงต้องไปมีชีวิตของตัวเอง แต่ก็อดใจหายไม่ได้ แต่ช่างเถอะนั่นก็เป็นเรื่องในอนาคต ระหว่างที่ยังเป็นไอดอลให้ลุงโอตะได้โอชิอยู่ตอนนี้ ก็อยากจะฝากกลอนที่ดัดแปลงมาจากวรรคทองของสนธิกาญจน์ กาญจนาสน์ ถึงลูกเฌอว่า

"เฌอจะแอบรักใครอย่าให้รู้
เฌอจะอยู่กับใครอย่าให้เห็น
ลุงโอตะขอร้องสองประเด็น
แล้วจะเป็นผู้แพ้ที่แท้จริง"

วันพุธที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

การวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์?


สองสามวันนี้คุยกับมิตรสหายคนหนึ่ง (คนเดิม) มีประเด็นหนึ่งที่ยังคงติดค้างในใจก็คือคำว่า การวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ คำนี้ยากทั้งคำจำกัดความและวิธีการ ทำอย่างไร-ทำได้แค่ไหน-ใครได้ประโยชน์บ้าง

มองย้อนกลับมาหาตัวเองที่ยังวนเวียนอยู่ในวงการอ่านเขียน ก็ไม่พ้นจะต้องเขียนอ่านวิจารณ์อะไรต่าง ๆ มากมาย สมัยที่เรายังอายุน้อย ๆ เราคิดว่าสิ่งสำคัญที่สุดของการวิจารณ์คือเนื้อหา ส่วนน้ำเสียงหรือท่าทีเป็นเรื่องที่ไม่สลักสำคัญอะไรเลย ยาดีจะเคลือบน้ำตาลหรือไม่ อย่างไรคนกินก็ได้ประโยชน์ เป็นต้นว่าวันดีคืนดีอ่านเรื่องสั้นของน้องคนหนึ่ง เออ คนนี้บทสนทนายังอ่อนและเยอะเกินจำเป็นอยู่ ก็มีหลายทางเลือกให้พูดถึง เช่นว่า

"อย่างไรก็ตาม การใช้บทสนทนาในเรื่องสั้นเรื่องนี้ยังไม่คมคายนัก อย่าลืมว่าทุกองค์ประกอบในเรื่องสั้นควรกระชับและมีความหมายเสมอ ผู้เขียนอาจลองไปศึกษาตัวอย่างบทสนทนาแบบ less is more เช่นในงานคลาสสิกของปาป้าเฮมิงเวย์"

หรือ...

"บทสนทนาที่เห็นนั้นพร่ำเพรื่อและเพ้อเจ้อ ใส่มาพอให้พาเรื่องไปได้เป็นฉาก ๆ เท่านั้น ถ้าผู้เขียนยังเห็นว่าบทสนทนาในเรื่องสั้นเป็นแบบเดียวกับที่นางร้ายในละครหลังข่าวเถียงฉอด ๆ กับแม่ค้าละก็ แนะนำให้เลิกเขียนและไปเปิดร้านขายส้มตำหน้าปากซอย ทีนี้ล่ะคงได้ใช้บทสนทนาที่ตัวเองถนัดได้เต็มที่"

สมัยที่เราเป็นเด็กกะโปกไม่ค่อยมีวุฒิภาวะ มักจะเลือกพูดแบบหลังเป็นประจำ (ฮา) ยาดีต้องแรงสิวะ คนอ่านจะได้ตื่น แต่อันที่จริงพอกลับมาคิดดู เหตุผลลึก ๆ ที่ซ่อนอยู่คงเป็นเพราะเราไม่รู้วิธีการอื่นที่จะยกระดับความเป็นมนุษย์ของตนเองให้น่าภาคภูมิใจนอกจากการประชดดูถูกเหยียดหยามความผิดพลาดและความไม่สมบูรณ์แบบของมนุษย์คนอื่น

พอแก่ตัวลง ความเกรี้ยวกราดในวัยหนุ่มก็ค่อยมอดลง เรามองเห็นสิ่งต่าง ๆ รอบข้างมากขึ้น เรายอมรับได้มากขึ้นว่ามนุษย์ไม่สมบูรณ์แบบ มนุษย์แต่ละคนต้องพยายามต่อสู้ท่ามกลางข้อจำกัดมากมาย เราเห็นอกเห็นใจมนุษย์คนอื่นมากขึ้น อายุปูนนี้เราจึงคิดว่า น้ำเสียงและท่าทีก็เป็นสิ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่าเนื้อหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับมิตรสหายที่พยายามต่อสู้ทำงานศิลปะอยู่ด้วยกันในประเทศที่ต้นไม้ศิลปะช่างแคระเกร็น ไม่มีดินน้ำปุ๋ยให้งอกงาม

แน่นอน Content is King and always will be. แต่น้ำเสียงและท่าทีก็คงเป็นเสมือนแพคเกจจิ้งที่บ่งบอกว่าเราใส่ใจกับความเป็นมนุษย์ของคนอื่นมากแค่ไหน ไม่ใช่ถึงขนาดต้องเคลือบมธุรสวาจาหวานหยดย้อย ใส่หน้ากากชื่นชมกันเองอย่างไม่อายปากแบบที่คมทวน คันธนู เขียนไว้ว่า "ผลัดกันเขียนเวียนกันอ่านวานกันชม" โต ๆ กันแล้วคงพอดูแลความรู้สึกกันเองได้ มันคงสำคัญที่ว่าเจตนาของการวิจารณ์นั้นจะกระตุ้นเตือนสติเพื่อน หรือมุ่งทำร้ายกันให้แหลกคามือเพื่อเป็นเหยื่อให้อัตตาของตนได้ดื่มกินเลือดเนื้อของคนอื่น ซึ่งมันก็มักจะสะท้อนผ่านกลวิธีการเขียนและภาษาที่ใช้ ถ้าไม่ไร้เดียงสานักก็พออ่านกันออก

แต่เราจะตัดสินได้หรือไม่ว่าน้ำเสียงและท่าทีแบบไหนที่ดีหรือไม่ดี เช่น คำแรง ๆ น้ำเสียงเสียดสีประชดประชันอาจช่วยตบหน้าให้ผู้ถูกวิจารณ์ตื่นรู้และปรับปรุงงานต่อไปให้ดี ลบล้างคำดูถูกเหยียดหยาม หรือมันอาจทำลายกำลังใจในการทำงาน ทำลายงานที่มีแนวโน้มว่าอาจจะเป็นงานที่ดีในอนาคต ฯลฯ สุดท้ายไม่มีใครรู้ผลลัพธ์ที่จะตามมา ไม่มีใครรู้ว่าการวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์แท้จริงเป็นอย่างไร มีขอบเขตแค่ไหน แล้วจะสร้างสรรค์หรือทำลายอะไรได้บ้าง

การวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ สำหรับเราแล้วก็ยังเป็นคำที่ยาก และอาจเปลี่ยนนิยามไปอีกถ้าแก่ตัวลงกว่านี้ (ฮา) แต่ความหมายสำหรับเราในตอนนี้คือ การวิจารณ์ด้วยเหตุผลและให้เกียรติความเป็นมนุษย์ของกันและกัน ถึงคำจะดูกว้าง แต่ก็คงพอจะครอบคลุมวิธีการที่มนุษย์ที่มีเกียรติพึงกระทำต่อกันได้ประมาณหนึ่ง

หรือถ้ายังมองว่าคนอื่นไม่มีค่าพอที่จะให้เกียรติกัน อย่างน้อยก็ควรให้เกียรติตนเองที่ได้ทำหน้าที่วิจารณ์ในฐานะมนุษย์ที่มีเหตุผลคนหนึ่ง มิใช่เดรัจฉานพยศที่ดื้อดึงห้อตะบึงทำลายทุกอย่างที่ไม่สบอารมณ์เพียงเพื่อสนองตัณหาตัวเอง