วันพฤหัสบดีที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2561

Cher Don't Cry เฌอจ๋าอย่าร้องไห้


(เปิดเผยเรื่องราวในภาพยนตร์ Girls Don't Cry)
(เขียนจากมุมมองคามิโอชิเฌอปราง ดังนั้นอย่าคาดหวังความเป็นกลาง)

(1.)

หงุดหงิดจนขับรถชนกรวยในห้าง (จริง ๆ แค่เสย 55) นี่คือความรู้สึกหลังออกมาจากโรงภาพยนตร์ และคิดว่าคามิโอชิของเฌอปรางหลาย ๆ คนก็น่าจะรู้สึกแบบนี้เหมือนกัน

เราไม่รู้หรอกว่าเทปสัมภาษณ์เต็มเป็นยังไง แต่จังหวะแอร์ไทม์ของเฌอปรางในหนังไม่ดีเลยแทบทุกซีน ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจของผู้กำกับ ทั้ง ๆ ที่สิ่งที่เฌอปรางพูด ก็เป็นสิ่งที่แฟนคลับเคยได้ยินบ่อย ๆ ทั้งเวลาให้สัมภาษณ์หรือในไลฟ์ นั่นคือทัศนคติที่ตรงไปตรงมา ไม่โลกสวย ไม่เพ้อฝัน ทนต่อแรงกดดัน จัดการทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวด้วยความรับผิดชอบสูง (มาก) เป็นทัศนคติแบบที่แม้แต่คนวัยเลขสามอย่างเรายังทำไม่ได้ขนาดนั้น

ทัศนคติ ความเป็นผู้นำเกินวัย และความสามารถในการรับมือกับสื่อต่างหากคือสิ่งที่แฟนคลับมากมาย "ซื้อ" จากเฌอปราง ไม่ใช่แค่หน้าตาน่ารัก ไม่ใช่ความแอ๊บ ความเฟค หรืออะไรทั้งหลายที่หนังพยายามจะชวนให้คิดแบบนั้น

แต่ก็อย่างว่า ทัศนคติแบบนี้มันไม่จับใจ มันไม่ Touch คนหมู่มาก มันแบบ เฮ้ยแก เราก็คนป่าววะ เราต้องเพอร์เฟคขนาดนั้นเลยเหรอวะ หยวน ๆ บ้างได้ปะ ทำให้แอร์ไทม์ของเฌอปรางโผล่มาทุกครั้งในฐานะตัวขัดมุก อารมณ์แบบน้อง ๆ กำลังคุยกันด้วยความหวัง ความฝัน ฟุ้ง ๆ ก็มีรุ่นพี่มาดึงสติ น้องเอ้ย น้องคิดถึงความเป็นจริงและสิ่งที่เป็นไปได้หน่อยมั้ย คนฟังก็ เฮ่ออออ อะไรกันนักหนา

(2.)

นึกถึงเรื่องที่เราชอบพูดกับเด็กที่เรียนสารคดีว่า เอาเข้าจริงแล้วในพื้นที่สารคดีหนึ่งเรื่องก็ไม่ใช่ความจริงทั้งหมด แต่มันคือความจริงที่เราเลือกที่จะเล่าหรือไม่เล่าอะไรบ้าง จะฉายสปอตไลท์เข้าไปตรงไหน ตรงนั้นฉายแสงสีอะไรลงไป เรื่องของเค้าจะให้เค้าเล่าเอง จะเล่าผ่านทัศนคติเรา หรือเล่าผ่านปากคนอื่น คาแรกเตอร์ของคนในสารคดีจะถูกประกอบสร้างออกมาเป็นคนแบบไหน มู้ดแอนด์โทนของเรื่องจะออกมาอย่างไร อยู่ที่ว่าเรายุติธรรมต่อข้อมูลในมือเรามากแค่ไหน

จุดอ่อนหนึ่งของการเดินเรื่องสารคดีโดยใช้บทสัมภาษณ์เป็นหลักคือ การจัดการคำพูดของคนซึ่งเจือปนอคติและฉันทาคติต่อประเด็นใดประเด็นหนึ่ง (หรือแม้แต่ "เสียงเล่า" ของเราเองที่ย่อมมีการตัดสินความถูกผิดของประเด็นนั้นไม่มากก็น้อย) ถ้าจัดเรียงคำพูดไม่ดีขึ้นมาเมื่อไร น้ำหนักของอคติก็จะเอนเอียงไปด้านเดียวและส่งผลต่อการรับรู้และตัดสินของผู้ชม ผลงานชิ้นก่อนหน้าอย่าง The Master นับว่าเป็นตัวอย่างของการจัดการกับข้อมูลบทสัมภาษณ์ได้ดีมาก แต่ก็อาจเป็นเพราะตัวผู้กำกับเอง "อิน" กับร้านพี่แว่น จึงมีเส้นเรื่องที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าจะเล่าแบบไหน

ในแง่ของการทำงานเรื่องนี้ ก็ถือว่าควรจะให้เครดิตผู้กำกับอยู่บ้างในการทำงานนี้ซึ่งน่าจะมีข้อจำกัดมากมายทั้งเรื่องเวลาและข้อมูล แต่ก็ยังเรียบเรียงเทปสัมภาษณ์ของเด็กหลายสิบคนออกมาให้เห็นเป็นเรื่องราวและพาคนดูไปจนจบ (แต่มีแอร์ไทม์จริง ๆ อยู่ไม่กี่คน) มีแง่มุมทั้งในด้านกว้างและด้านลึกให้พูดถึง

น่าเสียดายที่สำหรับเรื่องนี้ เส้นเรื่องที่ผู้กำกับเลือกเป็นหลักคือเส้นเรื่องความพยายามและการต่อสู้ของอันเดอร์เกิร์ล ที่นอกจากความพยายามจะไม่ให้ดอกผลดังฝันแล้ว ยังต้องต่อสู้กับปัจจัยอะไรอีกมากมายที่พวกเธอไม่เคยคาดคิดมาก่อน แต่อันที่จริงการเลือกเส้นเรื่องแบบนี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าเสียดายอะไร เพราะคนหมู่มากในสังคมก็คืออันเดอร์เกิร์ลทั้งนั้น เราอยู่ในสังคมห่าเหวอะไรไม่รู้ที่ไม่ได้ตัดสินกันที่ความสามารถและความพยายามเหมือนกัน เส้นเรื่องแบบนี้จึงจับใจคน จึงแมส จึงพาคนดูไปลุ้นเอาใจช่วยอันเดอร์เกิร์ลตลอดทาง (ซึ่งอันที่จริงถ้าในองก์การต่อสู้ของอันเดอร์เป็นเสียงเล่าของโมบายล์ ตอนจบองก์คงพีคมากกว่านี้เพราะในที่สุดโมบายล์ก็ต่อสู้ฝ่าฟันอุปสรรคจนไม่ใช่แค่ติดเซ็มบัตสึเฉย ๆ แต่ได้เป็นถึงเซ็นเตอร์ของเพลงที่ดังที่สุดอย่างคุกกี้เสี่ยงทาย แต่เสียงเล่าหลักของหนังองก์นี้กลับเป็นปูเป้ ถ้าจะให้เดา หนูโมก็คงรั่ว ๆ กาว ๆ ตามประสาเค้า จะหยิบมาเป็นเสียงเล่าก็อาจไม่ได้สารที่ต้องการสื่อ ส่วนปูเป้คงเล่าสนุกกว่า จับใจหัวใจอันเดอร์ในสังคมอย่างเรา ๆ มากกว่า)

ภาพตัดมาที่เฌอปราง... "เฌอไม่สนิทกับใครเลย..." "เฌอมองว่ามันเป็นการทำงาน..." "การร้องไห้ไม่ช่วยอะไร ล้มแล้วก็ต้องลุกเอง..." ฟังดูเย็นชา โหดร้าย ไร้อารมณ์ ไม่มีหัวใจ ฟังยังไงก็ไม่ใช่ทัศนคติของคนหมู่มากแน่ ๆ หรือแม้กระทั่ง "เฌอเช็คช่องทางออนไลน์ทุกช่องทาง..." เอ๊ะเช็คออนไลน์ทำไมกลัวตกกระแสเหรอ ต้องแบ๊วออนไลน์ตลอดงี้เหรอ ทั้งที่จริงคำถามตอนสัมภาษณ์อาจเป็นว่า ในเมื่อช่องทางออนไลน์ก็สำคัญ เฌอจัดการกับมันอย่างไรบ้าง ก็เป็นได้

ส่วนหนึ่งที่เราไม่รู้สึกแย่กับคำตอบของเฌอปราง ไม่ใช่แค่เพราะเป็นคามิโอชิเลยหน้ามืดตามัว แต่เพราะเห็น "บริบท" ของคำตอบทำนองนี้อยู่แล้วจากสื่ออื่น ๆ ช่องทางอื่น ๆ ซึ่งเฌอปรางก็ตอบแบบนี้ทุกทีนั่นแหละ (คุณจะเอาอะไรกับเด็กสายวิทย์ที่พูดว่า "ถ้าเลี้ยงงูคงต้องเอาหนูมาป้อน...ก็มันเป็นธรรมชาติของมัน" ได้อย่างหน้าตาเฉยล่ะ!)

ก็ไม่แปลกอะไรที่ภาพของเฌอปรางจะออกมาเป็นแบบหนึ่งด้วยจังหวะการลงแอร์ไทม์แบบนั้นในหนัง และก็ไม่ผิดอะไรที่ผู้กำกับไม่ได้โอชิเฌอปราง จึงไม่เคยเห็น "ความเป็นมนุษย์" ด้านอื่น ๆ ที่เฌอปรางได้แสดงออกผ่านทางสื่ออื่น ๆ ด้านตลก ด้านบื้อ ๆ ด้านเอ๋อ ๆ (เป็นคนที่ถูกน้องในวงแกล้งอำบ่อยมาก) ด้านความเสียใจ การเสียน้ำตา (ร้องไห้กับแฟนคลับบ่อยมากเช่นกัน) ไม่เคยเห็น "ความพยายาม" ด้านอื่น ๆ ของเฌอปรางในการต่อสู้กับแรงกดดันร้อยแปดพันอย่างรอบตัว ทั้งการรับมือความกดดันภายในวง ทั้งการรับมือกับสื่อภายนอก วุฒิภาวะในการตอบคำถามแทนน้อง ๆ หลายครั้ง การรักษาภาพลักษณ์ในฐานะกัปตันที่จะผิดพลาดไม่ได้ รู้ทั้งรู้ว่าตัวเองก็มีจุดด้อยที่ขาดพื้นฐานด้านการร้องเพลงและการเต้น เฌอปรางก็ไม่เคยปิดบังอะไร และพยายามพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ทั้งการบริหารสื่อโซเชียลในมือของตัวเอง ซึ่งตรงนี้หงุดหงิดมากเพราะในหนังเหมือนสื่อว่าต้องแอ๊บแบ๊ว ต้องเฟค แต่คอนเทนต์ออนไลน์ที่เฌอปรางทำไม่ได้เฟคอะไรเลย (หน้าสดออกบ่อยมาก) หลายชิ้นเป็นคอนเทนต์ที่ตั้งใจทำอย่างดีเสียด้วย ยิ่งทำให้เห็นว่าเฌอปรางจริงจังกับการเอนเตอร์เทนแฟนคลับของเค้าขนาดไหน เช่น Vlog เวิลด์เซ็มบัตสึที่เล่าเรื่องได้สนุกดี (ก็ไม่ใช่ "คนไม่มีหัวใจ" คนนี้เหรอที่พูดขอบคุณรินะซังในงานประกาศผลเวิลด์เซ็มบัตสึ ทั้งที่จะพูดแต่เรื่องตัวเองเพื่อกอบโกยคะแนนนิยมก็ยังได้)

เอาเข้าจริงหน้าตา ความน่ารัก ความแอ๊บแบ๊ว หรืออะไรต่าง ๆ ที่เป็นอยู่ในหนัง คงไม่พอเป็นปัจจัยที่จะส่งเด็กไทยคนหนึ่งขึ้นไปติดอันดับ 39 ของเวิลด์เซ็มบัตสึได้ (ถ้าวัดกันปอนด์ต่อปอนด์เรื่องหน้าตาเรายกให้อร ถ้าความแบ๊วเรายกให้มิวสิค) แต่ความเฉลียวฉลาด ความพยายามในการบริหารจัดการทุกอย่างรอบตัว และที่สำคัญคือทัศนคติเกินวัยของเด็กคนนี้ต่างหากที่ทำให้แฟนคลับรักและส่งเธอขึ้นไปยืนจุดนั้น โอชิทุกคนรู้ แต่ไม่มีช่องทางจะพูดสอดแทรกในหนัง และก็ไม่ใช่หน้าที่ของผู้กำกับที่ต้องรู้หรือต้องเล่า เพราะสิ่งที่เค้ามีในมือคือการติดตามการทำงานของวง และเทปสัมภาษณ์ของแต่ละคนเท่านั้น

จังหวะหนึ่งในหนัง เฌอปรางพูดทำนองว่า ถ้าสลับตำแหน่งให้คนอื่นมาอยู่ตรงนี้มันจะเป็นอย่างไร เราก็ตัดต่อคำพูดน้องในหัวเสร็จสรรพเลยว่า ถ้าสลับคนที่บ่นเรื่องเฌอปรางมาอยู่ในตำแหน่งกัปตัน เขาจะรับมือความกดดันขนาดนี้ได้ไหม ซึ่งดูจากทัศนคติที่แตกต่างกันก็น่าจะรู้ผลกันอยู่

(3.)

พอตั้งสติได้เราก็เกรี้ยวกราดใส่ผู้กำกับน้อยลง หันไปอีกทางหนึ่ง ไม่รู้ว่าออฟฟิเชียลได้ดูไฟนอลคัทหรือเปล่า ถ้าดูแล้วปล่อยให้ผ่านไปแบบนี้ ก็ถือว่าพวกคุณใจร้ายมากที่โยนบททดสอบและความกดดันหนักหนา (อีกแล้ว) ให้เด็กอายุยี่สิบต้น ๆ คนหนึ่งที่ทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อวงมาขนาดนี้ หรือคิดว่าแค่นี้คงไม่ทำให้ความนิยมลดลง แต่บาดแผลเล็ก ๆ ในใจเด็กสาวคนหนึ่งที่จะถูกคนที่ไม่รู้จักเธอจดจำภาพเธอไว้ในแง่มุมที่ไม่ค่อยดีนัก ในบทที่เจ้าตัวไม่ได้เรียกร้องขอรับไว้ ใครกันจะรับผิดชอบ อีกแล้วเหรอที่เฌอต้องเสียสละ อีกแล้วเหรอที่เฌอต้องแบกรับอะไรที่เฌอไม่เคยต้องการหรือร้องขอ ถ้าเราอยู่ในจุดที่เฌออยู่ หนังจบเราประกาศแกรดแม่งเลย (ฮา) แต่เฌอปรางไม่ทำอย่างนั้นหรอก เธอก็คงจะก้มหน้าก้มตาสู้ต่อไปด้วยความพยายามในแบบของเธอ ด้วยหัวใจดวงน้อย ๆ ดวงนั้นทั้งที่ถูกใครหลายคนในโลกโซเชียลกล่าวหาว่าไม่มีหัวใจ

คำถามก็คือ บทบาทของ "คนข้างบน" ที่เฌอปรางแบกรับอยู่ในเรื่อง มันมีวิธีเล่ามากมายที่จะให้เมมเบอร์ตัวท็อปคนอื่น ๆ มาช่วยแบกรับได้ แต่สุดท้ายหนังก็ใช้วิธีเล่าอย่างที่เห็น เพราะเมมเบอร์ตัวท็อปคนอื่นไม่ได้พูดแบบที่เฌอพูด? หรือเพราะกลัวกระทบความนิยมของตัวท็อปคนอื่น ๆ? หรือแค่เพราะคิดว่าคนระดับกัปตันเฌอปรางแบกรับมันได้? อย่าลืมว่าที่จริงแล้วเฌอปรางก็เป็นเพียงเด็กสาวอายุยี่สิบต้น ๆ คนหนึ่งเท่านั้น มันยุติธรรมแค่ไหนกันที่มอบหมายให้เธอมายืนในจุดที่ไม่มีใครอยากจะยืนในหนังเรื่องนี้...เพียงลำพัง

สำหรับคนที่อยากรู้จัก BNK48 จะไปดูเรื่องนี้ก็ไม่เสียหายอะไร เราก็จะได้เห็นการต่อสู้ ความพยายาม มิตรภาพ ตามสไตล์การ์ตูนโชเน็นจั๊มป์ เห็น Coming of Age ของเด็กสาว หรือเห็นสารอะไรต่าง ๆ ที่ผู้กำกับต้องการจะบอกนั่นแหละ หรือจะตีความเป็นภาพเล็ก ๆ ที่สะท้อนสังคมไทย เป็นก้อนกรวดอธิบายจักรวาลอะไรก็ว่ากันไป

แต่สำหรับคนที่อยากรู้จักเฌอปราง ดูเรื่องนี้ก็คงต้องทำใจกลาง ๆ แล้วตามมาเก็บ "ความเป็นมนุษย์" ของเธอต่อในสื่อช่องทางอื่น ๆ แล้วคงจะพอเข้าใจว่า การที่เฌอปรางได้เป็นกัปตันของ BNK48 และทำหน้าที่ไม่เคยขาดตกบกพร่องจนถึงทุกวันนี้ ได้เป็น No.39 ของเวิลด์เซ็มบัตสึ ไม่ใช่แค่เพราะ "รู้ทั้งรู้ว่าเค้าใช้อะไรตัดสินใจ ต้องน่ารักใช่ไหมที่ใครเขาพูดกัน"

แต่เพราะบ่าน้อย ๆ และหัวใจดวงเล็ก ๆ ของเธอยิ่งใหญ่พอจะแบกรับความรับผิดชอบ ชื่อเสียง และเกียรติยศเหล่านั้นได้ต่างหาก

(Credit ภาพจาก MV Shonichi)

วันอังคารที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ผลงานในแฟ้ม KPI



ใกล้ถึงสิ้นเดือน สัญญาทดลองงานของวิชาชีพล่าสุดในชีวิตก็กำลังจะสิ้นสุดลง ขณะกำลังเตรียมผลงานเข้าแฟ้ม KPI ก็ได้โอกาสทบทวนภาพรวมของตัวเองในปีที่ผ่านมา

เอกสารประกอบการสอนรายวิชาใหม่ (เตรียมกันอาทิตย์ต่ออาทิตย์เลย ขอโทษรุ่นแรกที่เรียนด้วยนะครับ) / บทความวิจัยนำเสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ 2 บทความ / ผลงานสร้างสรรค์ 2 เรื่อง (อันนี้เป็นงาน 'แก้เครียด' จากงานที่กล่าวมา แต่เหมือนว่าเอามาใช้ประเมินได้ด้วย ดี ๆ ไม่เสียเปล่า 555) / ภาระการสอนตามมาตรฐานขั้นต่ำและการเป็นวิทยากรอีกนิดหน่อย

ผลงานที่อวดอ้างมา ถ้าเทียบกับอาจารย์เก่ง ๆ รุ่นเดียวกันหรือรุ่นน้อง (เช่น อ.โจ อ.โบว์ อ.น้องน้ำ อ.น้องอิ๊ก ฯลฯ) ก็นับว่าห่างไกลจากพวกเขาหลายโยชน์ ดุจดั่งแมงป่องน้อยชูหางเทียบพญานาคี แต่ถ้าเทียบกับตัวเองในสมัยก่อน ๆ ก็นับว่าดีขึ้นประมาณนึง อย่างน้อยก็รู้จักทำในสิ่งที่ควรทำเสียบ้าง 555

หากมีคำถามว่า เราทำงานเต็มที่แค่ไหน หรือเราตั้งใจทำงานในวิชาชีพหรือเปล่า ผลงานที่พอมีอยู่บ้างในแฟ้มนี้คงพอแทนคำตอบได้ และหวังว่าปีหน้า แฟ้มผลงานน้อย ๆ นี้จะยังมีอะไรให้ใส่ลงไปอีกตามสมควร