วันอังคารที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2558

824 : งามพรรณ เวชชาชีวะ


ง่ายงาม คือคำจำกัดความสั้น ๆ หากจะพูดถึง 824

แต่ถ้าจะให้พูดยาวกว่านั้น นี่คือ 24 ชั่วโมงของทั้ง 8 ชีวิตที่ร้อยเรียงกันด้วยความรักและมิตรภาพ ถ้าผู้เขียนทำอย่างที่กล่าวไว้ในคำตามจริง ๆ คือจรดปากกาหลังจากวันที่ประกาศผลซีไรต์ หนังสือเล่มนี้ก็คงเป็นความสุขของกะทิฉบับขยายสเกลขึ้นจากภาพความสุขของเด็กตัวน้อยมาเป็นภาพความสุขบ้างทุกข์บ้างของผู้คนใน "ซอยอยู่สบาย" ที่เกาะเกี่ยวชะตากรรมกันอยู่อย่างบางเบา

คุณงามพรรณยังคงเป็นนักเขียนมือฉกาจในการเก็บเกี่ยวรายละเอียดชีวิตเล็ก ๆ น้อย ๆ และนำมาถ่ายทอดผ่านภาษาเรียบง่ายทว่าละเอียดลออจนเห็นภาพ แสง สี เสียง ชัดเจนทุกฉากชีวิต กระทั่งได้ยินเสียงดนตรีคลอเคล้าในบางบท แม้เป็นเพียงส่วนเสี้ยวในแต่ละช่วงเวลา แต่นั่นก็เป็นส่วนเสี้ยวของยอดภูเขาน้ำแข็งที่กำลังส่องแสงสะท้อนสวยงาม ส่วนฐานของภูเขาน้ำแข็งเราอาจกลับไปขุดได้สักส่วนหนึ่งในการแนะนำตัวละครแปดบทแรก หรืออันที่จริงเราอาจไม่ต้องสนใจเลยก็ได้

ตอนที่อายุน้อยกว่านี้ ผมเคยตั้งข้อสงสัยถึงเด็กหญิงกะทิเอาไว้ว่าทำไมเด็กคนนี้ถึงได้เข้มแข็งและมีความสุขขนาดนั้น ทั้งที่เงื่อนไขหลายอย่างในชีวิตควรจะหล่อหลอมให้เด็กหญิงกะทิเป็นเด็กหญิงเหงา ๆ คนหนึ่งที่ไขว่คว้าหาความอบอุ่นมากกว่านี้

จากวันนั้นผ่านมาห้าปี ผมอยากกลับไปถอนคำพูดตัวเอง

ชีวิตคนเราในบางจังหวะมันไม่ต้องการภูมิหลังหรือความซับซ้อนทางอารมณ์มากขนาดนั้น เงื่อนไขชีวิตอาจมีผลบ้างแต่คงหลอมคนไม่ได้เหมือนสูตรทางเคมีของนักเล่นแร่แปรธาตุ หัวใจของมนุษย์ต่างหากที่เป็นปัจจัยของความเข้มแข็ง ความอ่อนแอ ความอ่อนโยน ความเปราะบางทั้งหลาย และทำให้ชีวิตเป็นชีวิต การหยุดใคร่ครวญทบทวนอดีตและภูมิหลังอาจเป็นสิ่งจำเป็น แต่สิ่งที่จะทำให้ชีวิตเดินไปข้างหน้าคือปัจจุบันต่างหาก

นั่นคงเป็นเหตุผลที่ผู้เขียนเลือกเปิดเรื่องนวนิยายเรื่องนี้ด้วยตัวละครลุงสุขกับป้าแสง ความสำคัญของสองตัวละครนี้ยิ่งถูกตอกย้ำในบทแนะนำตัวละครลุงต่อ ทั้งที่ดูเผิน ๆ ลุงสุขกับป้าแสงเรียกว่าแทบจะไม่ได้เกี่ยวข้องใด ๆ กับซอยอยู่สบาย แม้แต่ตอนที่เป็นไคลแม็กซ์ของเรื่องซึ่งขมวดเอาตัวละครแทบทั้งหมดมาไว้ในฉาก ก็ดูเหมือนว่าทั้งสองไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องมากนัก

แต่หากตัดลุงสุขกับป้าแสงออก นวนิยายเรื่องนี้ก็ล้มไม่เป็นท่า เพราะนี่คือความสัมพันธ์ที่เรียกว่าเป็นกระดูกสันหลังของนวนิยายเรื่องนี้ ความสัมพันธ์ที่เหมือนนิยายพาฝัน ทว่าเป็นนิยายพาฝันที่ทั้งจริงและเจ็บปวด แต่อย่างไรปัจจุบันก็ยังคงอยู่ และชีวิตก็ต้องก้าวเดินต่อไป เช่นเดียวกับนิยายชีวิตของแต่ละคนในซอยนี้

ลุงสุขกับป้าแสงจึงเปรียบเสมือนภาพแทน (Representation) ขณะเดียวกันก็เป็นภาพปฏิทรรศน์ (Paradox) ในความสัมพันธ์ของตัวละครทั้งหมดในซอย ความพาฝันที่แฝงความปวดร้าวของชีวิตของลุงสุข ต่างอะไรจากความปวดร้าวที่แฝงความพาฝันของลุงต่อ ป้าแหวง สันทัด มีนา หรือกระทั่งเจ้ามอมแมม

ชื่อของตัวละครหลายตัวยิ่งขับเน้นภาพปฏิทรรศน์ของแต่ละตัวละคร ลุงสุข ควรจะสุขตามชื่อ แต่ใครเลยจะตอบได้ว่าสิ่งที่ลุงต่อสู้อยู่นั้นทำให้ลุงสุขตามชื่อหรือไม่? ป้าแสงก็เปรียบเสมือนแสงดาวแห่งความฝันและความหวังทั้งชีวิตของลุงสุข แต่ที่จริงป้าแสงเป็นแสงแรกอรุณหรือแสงสุดท้ายที่กำลังริบหรี่?

เช่นเดียวกับลุงต่อ ชีวิตที่ควรจะเดินต่อกลับหยุดนิ่งเพราะมีบางคนที่ลืมสัญญา เจ้ามอมแมม คล้ายจะตั้งมาล้อกับเรื่อง "มอม" ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ที่รอเจ้าของแท้จริงมาทั้งชีวิต แต่คราวนี้ผู้เขียนโยนคำถามหนักหน่วงของชีวิตเข้าใส่มอมแมมเมื่อเจ้าของของเจ้ามอมแมมตายไปแล้วจริง ๆ เมื่อสองตัวละครที่ถูกลืมสัญญาคือลุงต่อและเจ้ามอมมาพบกัน จึงเสมือนว่าทำให้ชีวิตกลับเข้าสู่ปัจจุบันและเดินต่อไปได้ใช่หรือไม่?  ป้าแหวง ผู้มีชีวิตเว้าแหว่งที่ยอมเสี่ยงชีวิตเพื่อความรัก เรื่องแสนจะจริงที่จบลงราวกับเรื่องพาฝัน เช่นเดียวกับมีนาและสันทัด ชีวิตที่แสนจะจริงอันแอบซ่อนเรื่องพาฝันอย่างดอกฟ้าและหมาวัด เหมือนบทเกริ่นการณ์ที่ล้อไปกับชีวิตคนอื่น ๆ หรือไม่ คงไม่มีใครรู้นอกจากเจ้าตัวในเรื่อง

สภาวะขัดแย้งของความสุขและความทุกข์ สภาวะขัดแย้งของภาพชีวิตและภาพพาฝัน ทุกอย่างถูกผลักดันให้ดำเนินไปได้ด้วยสิ่งเดียวคือ หัวใจ

หัวใจนั่นเองที่ทำให้ชีวิตเป็นชีวิต

24 ชั่วโมงนี้อาจจะพิเศษกว่า 24 ชั่วโมงอื่นเมื่อมันได้รับการประกอบขึ้นเป็นเรื่องเล่า ทว่าเมื่อเรื่องเล่าจบลง 24 ชั่วโมงข้างหน้าชีวิตก็ยังคงต้องดำเนินต่อไป ลุงสุขก็ยังคงดูแลป้าแสงด้วยความรัก ด้วยหัวใจที่ทั้งสุขและทุกข์ เช่นเดียวกับความสุขอมทุกข์ ความทุกข์เคล้าสุขของอีก 7 ชีวิตในนวนิยายเรื่องนี้ ขอเพียงแค่มีความรักและความฝันไว้เติมเชื้อไฟให้หัวใจได้สู้ต่อบ้างก็พอแล้ว

นั่นแหละคือสิ่งที่เรียกว่าชีวิต และนั่นแหละคือความง่ายงามของ 824 ดังที่ผู้เขียนได้สรุปทุกสิ่งทุกอย่างของนวนิยายเล่มนี้ไว้ในย่อหน้าหนึ่งของคำนำว่า

“824 เป็นเพียงเส้นทางหนึ่งที่ผู้เขียนเลือกพาผู้อ่านไปพบกับแปดชีวิตที่ล้วนมีหัวใจหนึ่งเดียวในอก หัวใจที่มีความหวัง ความฝัน และความรักที่จะมอบให้ ความสมหวังในความรักเป็นสิ่งที่หัวใจทุกดวงปรารถนา แต่การจะได้มาย่อมต้องแลกด้วยสิ่งต่าง ๆ รวมทั้งความรักเองด้วย”

------------------------------------------
Quotations:

ลุงต่อไปธนาคารก็จริง แต่ไม่ใช่เพื่อถอนเงินจากบัญชีเงินฝากที่จำนวนเงินลดน้อยถอยลงอย่างน่าใจหาย แต่แกยังไปธนาคารเลือดเพื่อขายเลือดอีกด้วย แกนอนน้ำตาไหลย้อนอยู่ในอกยามที่เลือดถ่ายจากตัวเพื่อแลกเป็นเงิน ไม่มีใครรู้ว่าทุกวันแกตั้งขวดเหล้าไว้บนแคร่อย่างนั้นเอง เป็นขวดเหล้าก็จริง แต่น้ำในขวดไม่ใช่เหล้า เป็นน้ำจากก๊อก และอาการเมาเหล้าของแกก็เป็นอย่างที่คนเรียกกันว่า เมาดิบ

แกกล้ำกลืนกินศักดิ์ศรีมานานปี ไม่เคยมีใครรู้และย่อมไม่มีทางรู้ว่า แกต้องขายเลือดเลี้ยงชีวิตอันมีศักดิ์ศรีค้ำคอเช่นนี้มานานแล้ว
(หน้า 16)

ก่อนเข้านอนคืนนั้น มีนาไม่นึกอยากหยิบสมุดภาพงานแต่งงานมาดู มีนามีภาพอื่นที่ทวนซ้ำอยู่ในสมองมาตั้งแต่เลิกงานแล้ว

ภาพหญิงสาวคนหนึ่งที่มายืนดูโชว์ริมสระน้ำ เธอยืนอยู่กับชายหนุ่มคนหนึ่งที่หันมามองเธอในเวลาที่สายตาทุกคู่ในบริเวณนั้นอยู่ที่มีนา ทั้งสองส่งยิ้มให้กัน มีนารู้แล้วว่าตัวเองต้องการอะไรมากที่สุดในชีวิต เธอไม่ต้องการสายตาที่มองมาหลายล้านคู่ แต่ต้องการสายตาเพียงคู่เดียวที่มองมาอย่างแสนรักหนักหนา พาให้มีนามองตอบเจ้าของสายตากลับไปได้ด้วยรักเปี่ยมล้นพอกัน
(หน้า 29)

ป้าแหวงผ่านความรักมามากจนรู้ว่าอย่าได้หวังสิ่งใดจากความรักเลย ความรักแสนจะขี้เล่น ถ้าโลดไล่ไขว่คว้าก็จะหนีห่างหาย ถ้าเผลอสบาย ๆ ก็จะมาเคล้าเคลีย ยิ่งรักแท้ด้วยแล้ว อาถรรพณ์แรงนัก หากไม่แน่ใจก็อย่าลงไปเล่นด้วยเลย ดังนั้น ป้าแหวงจึงใช้อุบายแยบคายทำเป็นสงวนท่าทีกับความรัก ทั้ง ๆ ที่ใจโลดขึ้นในอกและกู่ร้องเพรียกหาทุกนาที
(หน้า 40)

เงินเก็บก็พอมีอยู่หรอก เอาไว้เผื่อเจ็บไข้ ไม่มีใช้จริง ๆ ก็จะขายที่ผืนน้อยมันละ เคยตั้งใจนะว่าจะยกให้ลูก มันจะได้มีสมบัติเผื่อไว้ลำบากวันข้างหน้า..." คนพูดเว้นช่วงไป "คำสัญญานี่มันบาดลึกนะ มันบาดลึกตรงใจนี่แหละเวลาที่คนพูดลืมสัญญา"
(หน้า 88)

หัวใจมนุษย์ไม่กลัวความเจ็บปวด ไม่หวั่นความผิดหวัง และเสาะหาความหวังมาหล่อเลี้ยงได้เสมอ นั่นเพราะเดิมพันที่จะได้มาซึ่งความสมหวังสูงนัก และหัวใจย่อมพร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อเดิมพันนี้
(หน้า 104)

[งามพรรณ เวชชาชีวะ. 824. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : เวิร์คพอยท์พับลิชชิ่ง, 2554.]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น