วันศุกร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

10 เรื่องที่เราได้เรียนรู้จากการปั่นจักรยานในเมืองหลวง


ไม่ว่าฝนจะตก แดดจะออก ขรี้จะแตก พระจะสึก หรือกระแสแอนตี้ฮิปสเตอร์จะมาแรงแค่ไหน ฮิป (โป) สะเต้ออย่างเราก็ยังคงก้มหน้าปั่นจักรยานมาทำงานต่อไปเพื่อให้ชีวิตมันฮิป และนี่ก็คือ 10 เรื่องที่เราได้เรียนรู้จากการปั่นจักรยานในเมืองหลวงมาหลายเดือน

1. การปั่นจักรยานบนถนนในกรุงเทพฯ ทำไมมันไม่ชิค ไม่คูลเหมือนที่เค้าพูด ๆ กันเลยวะ มันคือสงคราม! สงครามระหว่างพาหนะสองล้อขับเคลื่อนด้วยแรงคนตัวน้อย ๆ กับมอเตอร์ไซค์ รถยนต์ รถเมล์ รถร่วม ฯลฯ สงครามที่กองโจรตัวน้อย ๆ จะต้องเอาตัวรอดให้ได้ในสมรภูมิที่เต็มไปด้วยเรื่องเกินคาดเดา ทั้งเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างฝาท่อระบายน้ำกว้างไปนิด หรือเรื่องอย่างรถร่วมจะเบียดเข้าเลนซ้าย บีเอ็มคันหรูจะเลี้ยวซ้ายโดยไม่มีสัญญาณบอกเพราะเลี้ยวซ้ายผ่านตลอด ขณะที่เราเพิ่งจะหลบเข้าเลนซ้ายมาแบบเกินจะยั้งตีน

2. ศัตรูที่น่ากลัวที่สุดของจักรยานไม่ใช่รถร่วมฯ อย่างที่ตั้งความหวังไว้ แต่กลับเป็นพาหนะสองล้อเหมือนกันอย่างพี่มอ'ไซค์ทั้งรับจ้างและไม่รับจ้าง มอเตอร์ไซค์น่าจะเป็นพาหนะที่ได้รับอภิสิทธิ์สูงสุดบนถนนประเทศไทยแล้ว ไม่ว่าจะอยากแซง อยากปาด อยากเบียด อยากพรวดออกมาจากซอย อยากยูเทิร์น อยากขี่สวนเลน อยากปีนฟุตบาท ฯลฯ พี่ท่านก็ทำได้ทั้งนั้น สิ่งเดียวที่พี่มอ'ไซค์ทำไม่ได้คือทำถูกกฎจราจร

3. มอเตอร์ไซค์ขี่สวนเลน เรื่องที่ดูเหมือนจะเล็กแต่เป็นพิษภัยกับจักรยานมาก การไม่เปลี่ยนเลนหลีกทันทีไม่ใช่เพราะหยิ่ง แต่เพราะต้องหันไปมองดูก่อนว่ามีรถกำลังซิ่งตามหลังมารึเปล่า ซี้ซั้วเปลี่ยนเลนก็ดับอนาถกันพอดี เราไม่ติดใจมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่สวนเลนมาเท่าไร เพราะเขาคงยอมแบกรับความเสี่ยงเพื่อแลกกับการประหยัดเวลา แต่สำหรับคุณพ่อลูกอ่อนที่กระเตงลูกน้อยไว้ที่เบาะขับมอเตอร์ไซค์สวนเลนมา แน่นอนว่าเขาคงประหยัดเวลาขับอ้อมไปยูเทิร์นไกล ๆ แต่อะไรล่ะคือราคาที่เขาต้องจ่ายหากเกิดอุบัติเหตุ

4. น่าสังเกตว่ารถ ปอ. ส่วนมากจะมารยาทดี ไม่ค่อยคุกคามคนปั่นจักรยานมากนัก ส่วนรถร่วมฯ เราจะรู้สึกถึงรังสีอำมหิตบางอย่างที่แผ่มาคุกคามเวลาถูกจี้ตูด บางครั้งรังสีอำมหิตก็แถมพกเสียงแตรปี๊น ๆ พยายามทำความเข้าใจว่ารถร่วมฯ เขาได้เงินจากค่าตั๋ว ดังนั้นการเบียดเข้าเลนซ้ายไม่ได้เพราะติดจักรยานเพียงป้ายเดียวอาจทำให้เขาสูญเสียรายได้ไปหลายร้อยหลายพัน ใจเขาใจเราเนอะ

5. ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมาในข้อ 4 เวลาขี่ไปใกล้ ๆ ป้ายรถเมล์ ควรคำนวนว่าจะปั่นพ้นไม่ขวางทางรถเมล์ไหม ถ้าไม่พ้นก็จอดหลบให้รถเมล์ได้ทำหน้าที่รับส่งมวลชนก่อนดีกว่า นี่เห็นแก่คนหมู่มากนะไม่ได้กลัวพี่รถร่วมฯ (ฮา)

6. นอกจากไฟกระพริบและกระจกมองหลังแล้ว สิ่งที่ต้องตรวจเช็คให้ทำงานได้ 100% เสมอไม่ใช่ชุดเฟืองขับ ไม่ใช่ลมยาง แต่เป็นระบบเบรก เพราะการปั่นในกรุงเทพฯ ต้องเบรกบ่อยกว่าสปริ้นท์ ปั่นไปเถอะอีกสักสองนาทีก็มีเรื่องให้มึงต้องเบรกเอี๊ยดดดด! จนได้

7. อาการเบรกบ่อยแบบนี้ไม่อนุญาตให้คุณใจลอย หาไม่จะพาตัวเองเข้าไปสู่สถานการณ์สุ่มเสี่ยง เช่น ปั่นชิดซ้ายสุดขณะที่รถร่วมฯ ก็จะเบียดเข้าเลนซ้ายเพื่อแย่งผู้โดยสารจากรถร่วมฯ คันหลัง หรือรู้สึกตัวอีกทีเมื่ออยู่ท่ามกลางสามแยกที่รถสามคันต่างจะแย่งเข้าสู่ทางของกรู ดังนั้นการปั่นจักรยานในกรุงเทพฯ คือการบำเพ็ญสมาธิอย่างยิ่งยวด

8. ผิดรีบรับผิด ไม่ผิดก็ต้องรับผิด ไหว้ได้รีบไหว้ ชนชั้นจักรยานในประเทศโลกที่สามควรเจียมเนื้อเจียมตัว เพราะอาวุธที่เราใช้ฟาดคู่กรณีได้มีแค่... สูบลมพกพา

9. ถ้าอยากผลักดันกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองจักรยานจริง ๆ หนึ่งนโยบายที่ควรมีอย่างยิ่งคือ 1 ห้าง 1 ห้องอาบน้ำครับ เพราะห้องอาบน้ำเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการปั่นจักรยานในประเทศเมืองร้อน อยากจะปั่นจักรยานไปดูหนังในห้าง แต่ของแถมคือกลิ่นจั๊กกะแร้อบอวลเต็มโรงนี่ก็ไม่ไหวนะครัช

10. สมัยหัดขับรถบนถนนแถวบ้าน เวลาเห็นมอเตอร์ไซค์ขี่กินเลนเข้ามามาก ๆ เราก็รำคาญคิดว่าทำไมไม่ชิดซ้ายสุด ๆ ไปวะ ขี้เกียจแซง แต่พอได้ปั่นจักรยานบนถนนแถวบ้านเท่านั้นแหละ เราก็เห็นใจมอเตอร์ไซค์ขึ้นมาทันที ด้วยว่าไหล่ถนนประเทศไทยนั้นช่างเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนามในการชิดซ้าย ทั้งหลุมบ่อและแขนขาของต้นไม้ที่ยื่นมาฟาดหน้า ดังนั้นเราคิดว่าหากให้คนขับรถยนต์ทุกคนได้ลองขี่พาหนะทุกระดับ เราจะเห็นใจกันมากขึ้น บีบแตรไล่จักรยานที่กินเลนน้อยลง ยิ่งไหล่ทางกรุงเทพฯ นั้นยิ่งมิราเคิลมาก มีทั้งฝาท่อที่ไม่ยอมปิด ตะแกรงระบายน้ำแนวตั้ง (ทำเป็นแนวขวางมันจะตายมั้ย) หลุมบ่อขรุขระยิ่งกว่าดาวอังคาร และ เดอะ ขี้สีก ว้อเท่อะ ที่ทำให้จักรยานเราหอมละมุนจนคนข้าง ๆ มองค้อนเวลาแบกขึ้นบีทีเอส

หวังว่าการปั่นไปเรื่อย ๆ จะได้เรียนรู้มากขึ้นเรื่อย ๆ นะครับ เพราะนี่คือวิถีแห่งฮิป (โป) สะเต้อ!!!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น