วันอังคารที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2558

ความตายครั้งที่สามของยุ่น


(เปิดเผยเนื้อหาในภาพยนตร์ "ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ")

"There are three deaths: the first is when the body ceases to function. The second is when the body is consigned to the grave. The third is that moment, sometime in the future, when your name is spoken for the last time."

"การตายมีสามขั้น ขั้นแรกคือเมื่อร่างกายหยุดทำงาน ขั้นที่สองคือเมื่อร่างกายถูกฝังลงหลุม ขั้นที่สามคือเมื่อถึงเวลาหนึ่ง ชื่อของคุณจะได้รับการเอ่ยถึงเป็นครั้งสุดท้าย"

(David Eagleman : "Metamorphosis" from "Sum: Forty Tales from the Afterlives" สำนวนแปลของณัฐกานต์ อมาตยกุล)

เชื่อว่าคนทำงานศิลปะทุกแขนงต่างก็หวังใจว่าความตายครั้งที่สามของตนจะมาถึงช้าที่สุด (และไม่ "กลาย" เป็นอย่างอื่นไปเสีย) ดังนั้นส่วนมากจะไม่ค่อยสนใจความตายสองครั้งแรกของตนมากนัก หากมันได้สังเวยเพื่อให้ชื่อของตนรอวัน "เกิดใหม่" ในอีกร้อยอีกพันปีข้างหน้าจากริมฝีปากของใครสักคน

ครั้งที่โอดีซีอุสเกลี้ยกล่อมให้อคีลีสเข้าร่วมรบในสงครามกรุงทรอย เขากล่าวว่าอคีลีสเป็นนักรบที่เก่งกาจและจะเป็นที่เลื่องลือไปอีกหลายชั่วอายุคน อาจจะร้อยหรือพันปี ทว่าสักวันมันก็จะถูกหลงลืม แต่หากอคีลีสเข้าร่วมสงครามกรุงทรอย "ความตายครั้งที่สาม" ของอคีลีสจะไม่เกิดขึ้นชั่วกัลปาวสาน นั่นก็คงเป็นเหตุผลว่าทำไมอคีลีสจึงกล้ากระโจนเข้าสู่สงครามแม้จะรู้อยู่แก่ใจว่านี่คือสมรภูมิสุดท้ายที่ตนต้องทิ้งชีวิตไว้ที่นี่

ยุ่นอาจเป็นทหารธรรมดาไม่ใช่อคีลีส ทว่าไม่ว่าจะเป็นทหารระดับชั้นไหนก็ต้องสู้ ยิ่งเป็นวงการกราฟฟิกแล้ว การต่อสู้เพื่อก้าวไปสู่จุดสูงสุดของวิชาชีพยิ่งเข้มข้นกว่าสงครามกรุงทรอยเสียอีก

เท่าที่เห็น ยุ่นคือกราฟฟิกระดับกลางเก่ากลางใหม่ ไม่ใช่รุคกี้ใหม่หมาด แต่อาจยังไม่ถึงขั้นซีเนียร์ มีคนในวงการร่ำลือถึงฝีมือของยุ่น อาร์ตไดของบริษัทชั้นนำยอมรับในฝีมือถึงขนาดออกปากว่าเลิกเป็นฟรีแลนซ์เมื่อไรเดินเข้ามาทำงานได้เลย มีรุ่นน้องนับถือผลงานและเอาเป็นแบบอย่าง แต่กระนั้นเขาก็ยังดีใจออกนอกหน้าเมื่องานของแบรนด์ระดับอินเตอร์ตกมาถึงมือเขา เลยเดาเอาว่ายุ่นก็คงเหมือนนักรบยศสูงประมาณนายพลที่กำลังเฝ้ารอโอกาสครั้งใหญ่ การรับงานแบรนด์อินเตอร์ครั้งนั้นก็เหมือนได้รับเชิญให้เข้าร่วมสงครามกรุงทรอย รอวันเลื่อนชั้นเป็นแม่ทัพใหญ่ของวงการ ฝากชื่อไว้ให้ "การตายครั้งที่สาม" ไม่เกิดขึ้นชั่วกัลปาวสาน

เราไม่รู้เหตุผลที่ยุ่นตัดสินใจมาเป็นฟรีแลนซ์ชัดเจน วิถีแห่งโรนินซามูไรไร้นายหรือจะดีเท่ามีนายคุ้มหัวเป็นหลักประกันชีวิต เท่าที่เห็นคือความทุ่มเทที่มีต่องานในระดับไม่ธรรมดา ยุ่นคือคนที่พร้อมจะเสียสละทรัพยากรทุกอย่างที่มีเพื่อให้งานออกมาดีที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรส่วนตัวอย่างเวลาและร่างกาย ยุ่นไม่สนใจว่าจะนอนกี่โมง ไม่สนใจว่าวันนี้มีอะไรกิน ไม่สนแม้แต่หาเวลาไปรับเช็คด้วยซ้ำ ทั้งหมดที่ยุ่นสนใจคือรับงานมาและทุ่มเททุกอย่างให้งานออกมาดีที่สุด จึงเดาเอาเองว่ายุ่นคือคนที่พร้อมจะตัดทุกอย่างในชีวิตที่ไม่เกี่ยวกับการสร้างงานออกไปให้หมด ดังนั้นการที่ยุ่นมาเป็นฟรีแลนซ์จึงไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นผลลัพธ์

เหตุผลที่ยุ่นไปรักษาโรค ไม่ใช่เพราะห่วงสุขภาพ สำหรับยุ่นแล้วทรัพยากรร่างกายยังเคลื่อนไหวได้ ยังมีแรงทำงาน ยุ่นกล้าเผา "ยาสลบช้าง" เพียงเพราะมันทำให้ยุ่นหลับจนไม่ได้ทำงาน แต่ที่จำใจต้องไปรักษาให้หายขาดเพราะมันทำให้เสียเวลา เสียสมาธิทำงาน ยุ่นจึงพยายามขอยาจากหมออิมแบบที่ "กินแล้วหายเลย" โดยไม่ต้องมาเบียดบังทรัพยากรเวลาที่เขาจะต้องเอาไปทุ่มเทกับงาน

แต่แล้วทุกอย่างก็เปลี่ยนไปเมื่อยุ่นแบ่งเอา "ความรู้สึก" ไปใส่ใจเรื่องอื่นนอกจากโฟกัสที่งานของตัวเอง แม้ผลคือหายจากโรค แต่ผลข้างเคียงคือโอกาสในการแสดงฝีมือของยุ่นพังพินาศ เหมือนมีโอกาสเข้าร่วมสงครามกรุงทรอยแต่ทะลึ่งเหยียบกับดักตายโง่ ๆ อยู่ริมชายหาด เทพที่ไหนก็มาช่วยไม่ทัน

การเดินหันหลังออกจากห้องตรวจของหมออิมเป็นฉากที่แทบไม่มีคำพูดอะไรแต่กลับเปี่ยมความหมายและสั่นสะเทือนหัวใจอย่างยิ่ง ยุ่นอาจไม่ได้เสียใจที่จะไม่ได้พบหมออิมอีก แต่อาจเป็นความเสียใจที่ความสำเร็จของการหายป่วยช่างมีค่าเล็กน้อยเหลือเกิน (สิ่งที่กูทำสำเร็จมีแค่ทำให้ไอ้คนที่ไม่ได้มีความหมายกับใครหายป่วย...แค่นี้เองเหรอวะ!) เมื่อเทียบกับงาน "ปลดชนวนระเบิด" ที่เคยทำให้หัวใจเขาพองโตกว่านี้มหาศาล เขาอาจเสียใจที่ก้าวต่อไปไม่ได้ในทางที่บังเอิญหลงมา รู้ตัวอีกทีว่าพาตัวเองเข้ามาสู่ความว่างเปล่าน่าอดสูก็เมื่ออยู่นอกห้องตรวจโรคแล้ว

เพื่อจะไปให้ถึงจุดสูงสุดของงานศิลปะ แอนดรูว์ นีแมน พระเอกของเรื่อง Whiplash ยอมทิ้งทุกอย่างเพื่อทุ่มเทจิตวิญญาณให้แก่การตีกลอง ไม่ว่าจะเป็นการบอกเลิกแฟนสาว หรือทะเลาะกับคนในครอบครัว หรือแม้แต่ทิ้งทุกอย่างในชีวิตในฉากสุดท้ายของหนังที่โคตรจะพีค

การกลับมาเป็นฟรีแลนซ์ของยุ่นในครึ่งหลังของหนังจึงโหด จึงดิบ จึงทุ่มเทอย่างบ้าคลั่ง เพราะยุ่นผิดหวังกับตัวเองที่ยังคงหลงเหลือความรู้สึกผูกพันกับสิ่งที่ไม่จำเป็นต่องาน ผิดหวังกับความสัมพันธ์ที่เผลอสร้างกับคนอื่นรอบข้าง จึงตัดเอาความผูกพันทุกอย่างออกไปจากชีวิตเพื่อกลับมาสู่เส้นทางเดิมของตนเอง เพื่อจะให้ "ความตายครั้งที่สาม" ไม่เกิดขึ้นง่าย ๆ หากเขาได้ไปจารึกชื่อไว้ที่นิวยอร์ก ยุ่นรับทุกงานและทุ่มเทเกินร้อยยิ่งกว่ายุ่นคนก่อน เพราะวงการฟรีแลนซ์ไม่เคยมีโอกาสครั้งที่สาม

แต่ใช่ว่าการเทหมดหน้าตักจะชนะเสมอไป ครั้งนี้ยุ่นแพ้อีก เป็นการแพ้อย่างราบคาบ และทำให้เขาได้เรียนรู้อะไรบางอย่าง... บางอย่างแบบที่คนที่ยังห่วงใยชีวิตควรได้เรียนรู้ บางอย่างแบบที่คนอย่างยุ่นแม่งไม่น่าจะรู้เลยว่ะ

เคยนึกบริภาษผู้กำกับตอนดูสิบนาทีสุดท้ายของหนังว่า เชี่ยแม่ง พี่เต๋อเปี่ยนไป๋ว่ะ แต่พอตั้งสติได้ก็เออ จริง ๆ แล้วจบแฮปปี้เอนดิ้งแบบนี้แม่งหดหู่กว่า เป็นโศกนาฏกรรมกว่าตายไปแบบพีค ๆ เยอะเลย

ฉากสุดท้ายยุ่นบอกหมออิมว่ายุ่นมีความสุขกับการดูพระอาทิตย์ตกดิน เช่นเดียวกับความสุขที่ได้มาพบหมออิมเพียงไม่กี่นาที คำพูดนี้คืออะไร? นั่นคือยุ่นถูกกลืนกลายไปกับธรรมชาติรอบตัว ความสุขเล็ก ๆ ที่เพียงแค่มองหาก็พบ ยุ่นไม่รู้สึกแปลกแยก ไม่โดดเดี่ยว ไม่อีโก้ ไม่เซลฟ์ ไม่ถูกผลักดันด้วยแรงทะเยอทะยานอย่างบ้าคลั่งของวัยหนุ่มว่ากูจะต้องโดดเด่น แตกต่าง กูจะต้องเปลี่ยนโลก กูจะต้องฝากชื่อไว้ กูต้องทำสิ่งที่ยื้อเวลาความตายครั้งที่สามให้นานที่สุด

มองในแง่หนึ่งจะว่ายุ่นเติบโตขึ้นก็ได้ ใช่ โลกแม่งก็เป็นงี้แหละ ยอมรับมันและมีความสุขกับสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ รอบตัวดิวะ งานศิลปะคือการสร้างความสุขเว้ยไม่ใช่การแข่งขันที่อยากฝากชื่อไว้ด้วยอหังการ์ของศิลปิน ศิลปะคือการจัดวางคอมโพสิชั่นทั้งตัวงานและชีวิตของศิลปิน เอาธรรมะเข้าขย่มอีกหน่อยก็ได้ว่ามนุษย์แม่งต้องเดินสายกลางว่ะ พระพุทธองค์สอนไว้

จากนี้ยุ่นอาจจัดวางชีวิตใหม่ให้สมดุล อาจเดินเข้าไปสมัครงานกราฟฟิกประจำสักที่หนึ่ง ฝีมือระดับนี้คงขึ้นเป็นอาร์ตไดได้ไม่ยาก ก้าวหน้าหน่อยมาจีบหมออิม แต่งงานแฮปปี้เอนดิ้ง หรือต่อให้คงวิถีฟรีแลนซ์เอาไว้ แต่จากนี้คงมีหลายสิ่งที่เขาต้องให้ความสำคัญนอกจากการทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างให้แก่การสร้างงาน นั่นก็เป็นอนาคตที่สุดจะคาดเดา สิ่งที่น่าสงสัยก็คือ เมื่อไม่ได้เดิมพันชีวิตและจิตวิญญาณให้แก่งาน เมื่อปราศจากความทะเยอทะยานและแรงขับเคลื่อนอย่างบ้าคลั่งของวัยหนุ่มแล้ว ยุ่นจะพาตัวเองไปได้ไกลแค่ไหน

บางทีการที่ยุ่นยังมีชีวิตอยู่ มันก็คือประจักษ์พยานการตายครั้งที่สามของยุ่นทั้งที่ยังหายใจ รอเพียงให้การตายครั้งที่หนึ่งและสองมาถึงเท่านั้นเอง

เหมือนกับเราในตอนนี้นั่นแหละ

๑๕ กันยายน ๒๕๕๘

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น