วันพุธที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เคลื่อนไหวในจันทร์กระจ่าง / แอมโบรส เบียร์ซ


บันทึกไว้ในพอศอ 2558 ว่า สี่ซ้าห้าปีผ่านไป อาการ "ไม่ถูกโรค" กับนักเขียนมะกันก็ยังไม่หาย แม้จะเป็น "บิ๊กเนม" ระดับแอมโบรส เบียร์ซ ก็ตามที อันที่จริงถ้าย้อนเวลากลับไปช่วงอ่านใหม่ ๆ ผมอาจจะตื่นเต้นกับเรื่องสั้นชุดนี้ก็เป็นได้นะ หลอกหลอนลับลวงหักมุมตกค้างในใจดีแท้ แต่เหมือนเลยวัยอ่านแล้วยังไงไม่รู้ หรืออีกทางหนึ่งก็ยังไม่แก่กล้าพอจะอ่านงานของนักเขียนอเมริกันแล้ว "ซึ้งซ่าน" อาการเดียวกับตอนอ่านงานของปาป้าเฮมิงเวย์ (บางเรื่องที่ยกย่องกัน) แล้วเกาหัวแกรก ๆ นั่นแล

พยายามแคะความหมายจากคำของหลาย ๆ เรื่อง อย่างที่ลุงแกบอกไว้ว่า "อักษรตัวใดตัวหนึ่งเมื่อถูกคัดสรรมาเพื่อเขียนวรรณกรรมแล้ว หากสามารถทดแทนหรือมีความหมายเท่ากับอักษรอื่น ๆ สามหรือสี่ตัวได้ นั่นหมายถึงงานเขียนนั้นเป็นงานชั้นดี" ก็ยังแคะไม่ค่อยออก เป็นปัญหาว่าเพราะเป็นงานแปล หรือต่อให้กลับไปอ่านต้นฉบับก็ยังแคะไม่ออกอยู่ดีเพราะต้องรู้ความหมาย "อิ้งลิช อเมริกันสไตล์" อีกคำรบหนึ่งหรือเปล่า อย่ากระนั้นเลยรอบนี้ตัดสินใจอ่านเอาเรื่องเอาพล็อตจากลุงเป็นหลักก็แล้วกัน

พล็อตดีไหมก็นับว่าดีเลยนะ แต่ที่ชอบมากกว่าคือบรรยากาศของเรื่องที่ช่างลับลวงพราง ลึกลับน่าขนลุกมันซะทุกเรื่อง (อ่านตอนกลางคืนจะได้อารมณ์มาก) เรื่องที่ชอบมากในเล่มนี้คือ "หญิงสาวอีกฟากกำแพง" บรรยากาศแบบนี้มันชวนหวิวใจปนขนลุกดี ส่วนเรื่องที่คนเค้ายกย่องกันมาก ๆ อย่าง "กวัดแกว่งบางเบาใต้สะพานมรณะ" ก็มองข้ามไม่ได้เลย ลับลวงพราง โขยกเขย่าเศร้าสะเทือนดี "ม้าบินและบุรุษชาติอาชาไนย" ก็ต้องอ่านไปจนบรรทัดสุดท้ายแล้วจะอุทานแบบว่า เฮ้ย! เจ๋งดีนะ "คำสั่งประหารในคืนแรม" ก็ช่างยอกย้อนจิตใจมนุษย์ดี "ดวงตาพยัคฆ์" นี่ก็เสือสมิงเวอร์ชั่นอเมริกัน อีกเรื่องที่ชอบในโทนเรื่องเศร้า ๆ จากสงคราม (ซึ่งมีหลายเรื่องในเล่ม) ชอบ "สงครามในฤดูใบไม้ผลิ" นอกนั้นก็เศร้าอยู่แต่ไม่สะเทือนมากเท่าไร เรื่องที่ไม่ได้พูดถึงไม่ใช่ว่าไม่ดี ดีระดับมาตรฐานเรื่องสั้นชั้นดีทั้งนั้นแหละนะ แต่ที่ไม่สะเทือนมากคงเพราะเราพ้นวัย (วัยตื่นเต้นกับเรื่องสั้นหักมุม) หรือยังไม่ถึงวัย (นิ่งสงบสยบความเคลื่อนไหว) หรือสติปัญญายังไม่ถึงในเรื่องสั้นบางเรื่องก็ไม่ทราบได้ คงต้องเก็บไว้อ่านอีกรอบตอนอายุเยอะกว่านี้

------------------------------------------
Quotations:

..."ความตายน่ากลัว!" - เป็นคำพูดของบุรุษผู้กำหนดความตาย
"มันน่ากลัวเฉพาะบรรพบุรุษที่ป่าเถื่อนเท่านั้น" จารบุรุษพูดอย่างเคร่งขรึม "เพราะพวกเขาด้อยสติปัญญาที่จะจำแนกแยกแยะความคิดเกี่ยวกับจิตสำนึกออกจากความคิดเกี่ยวกับร่างกายที่ใช้แสดงความรู้สึกนั้นได้- แม้กระทั่งพวกที่มีสติปัญญาต่ำกว่า อย่างเช่นพวกลิง อาจจะไม่สามารถจินตนาการภาพบ้านที่ปราศจากคนอยู่อาศัยได้ และเมื่อเห็นกระท่อมผุพังหลังหนึ่ง มันก็คิดว่าผู้อยู่อาศัยกำลังมีความทุกข์ สำหรับพวกเราที่เห็นความตายเป็นสิ่งน่ากลัว เพราะเราได้รับการสืบทอดสันดานมาให้คิดว่าเป็นเช่นนั้น ปรุงแต่งความนึกคิดด้วยทฤษฎีที่ป่าเถื่อนและเลื่อนลอยเพ้อฝันเกี่ยวกับอีกภพหนึ่ง-ดังเช่นการให้นามของสถานที่ต่าง ๆ อันเป็นต้นกำเนิดของตำนานที่อธิบายเรื่องราวความเป็นมาของสถานที่ดังกล่าวนั้น รวมไปถึงประพฤติกรรมอันไร้เหตุผลที่อธิบายด้วยหลักปรัชญาต่าง ๆ

"ท่านสามารถแขวนคอผมได้...ท่านนายพล แต่อำนาจอันชั่วร้ายของท่านก็สิ้นสุดลงตรงนั้น ท่านไม่สามารถตัดสินให้ผมขึ้นสวรรค์ได้"
(คำสั่งประหารในคืนแรม: หน้า 86)

พวกเราไม่ใช่คนแปลกหน้าที่ใหม่ต่อภูมิประเทศแถวนี้เสียจนไม่รู้ว่าชีวิตอันโดดเดี่ยวอ้างว้างของชาวทุ่งราบจำนวนมากมาย มีแนวโน้มส่อว่าพฤติกรรมและลักษณะนิสัยจะแปรเปลี่ยนผิดปกติไปนั้น หาได้จำแนกออกจากความวิปลาสทางจิตได้ง่าย ๆ อย่างชัดเจนเสมอไปไม่ มนุษย์คนหนึ่งก็เหมือนกับต้นไม้ต้นหนึ่ง หากอยู่ในท่ามกลางป่าแห่งเพื่อนฝูง เขาก็จะเติบโตตรงขึ้นไปตามที่ธรรมชาติโดยทั่วไปและธรรมชาติแห่งปัจเจกบุคคลของเขาจะเอื้ออำนวย หากขึ้นอยู่ตามลำพังในพื้นที่ว่างโล่ง เขาก็จะโอนอ่อนคล้อยตามแรงบังคับกดดันที่แวดล้อม ทำให้รูปทรงบิดเบี้ยวแปรเปลี่ยนไป
(อาคันตุกะในยามวิกาล: หน้า 168)

การเป็นคนอย่างไซลาส ดีมเมอร์ ซึ่งมีชีวิตและอุปนิสัยไม่สุงสิงสมาคมกับใคร ใช้ชีวิตสถิตเสถียร ไม่เดินทางท่องเที่ยวสังสรรค์ จนนักเล่าเรื่องขำขันประจำหมู่บ้าน (ผู้ซึ่งเคยเรียนระดับมหาวิทยาลัยมาแล้ว) เกิดแรงดลใจให้สมญานามแก่เขาว่า ไอบิเด็ม (Ibidem.)
(เหยือกน้ำหวาน: หน้า 224)

[เบียร์ซ, แอมโบรส ; วิมล กุณราชา, แปล. เคลื่อนไหวในจันทร์กระจ่าง The Moonlit road. ปทุมธานี : นาคร, 2557.]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น