วันศุกร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2558

วรรณกรรมในชีวิต : ชีวิตในวรรณกรรม / ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ



เป็นหนังสือ "ภาคบังคับ" ของผู้สนใจวรรณกรรมกับการเมืองในประเทศไทย แม้เรื่องราวทั้ง 16 บทนั้น ผู้เขียนตั้งใจว่าจะเขียนเรื่องนี้เป็น "อัตชีวประวัติทางวรรณกรรม" ซึ่งบรรจุเรื่องราวของวรรณกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทว่าก็หนีไม่พ้นที่จะต้องพูดถึงประวัติศาสตร์การเมืองและวรรณกรรมในแต่ละช่วงชีวิต โดยเฉพาะเหตุการณ์ครั้งสำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองและวรรณกรรมคือ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ที่ทำให้เกิด "ผลสะเทือนราวกับแรงกระเพื่อมของน้ำที่ยังคงส่งผ่านกาลเวลาต่อมา" และยิ่งทำให้เห็นว่า ชีวิต วรรณกรรม และการเมือง เป็นสามสิ่งที่เกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออก ไม่ว่าจะเป็นบุคคลใด หรืออยู่ท่ามกลางยุคสมัยใด

-------------------------------

ความนำ

ประวัติศาสตร์สังคมจึงเป็นทั้งโศกนาฏกรรมและความก้าวหน้า เป็นทั้งความล้มเหลวและความสำเร็จ แม้เราไม่อาจปฏิเสธความขัดแย้งแห่งชีวิตเหล่านั้นไปได้ อย่างน้อยเราควรมีโอกาส "เลือก" ด้วยตัวของเราเองบ้าง ตรงนี้เองที่ประวัติศาสตร์มีความหมายขึ้นมา กล่าวคือ สังคมไหนที่ยังปล่อยให้โศกนาฏกรรมทำนองเดียวกันนั้นเกิดซ้ำรอยซ้ำแล้วซ้ำเล่า สังคมนั้นไม่เพียงแต่ไม่อาจเรียนรู้บทเรียนจากประวัติศาสตร์เท่านั้น หากยังทำลายภูมิปัญญาอันสะสมจากประสบการณ์ของตนเองลงไป ทำให้สังคมและสมาชิกแห่งประชาสังคมของตนตกต่ำ กลายเป็นตัวตลกของประวัติศาสตร์ไปในสายตาของสังคมอื่นในที่สุด
(หน้า 14)

-------------------------------

บทที่ 1 วรรณกรรมกับการเมือง


อิตาโล คัลวิโน นักเขียนอิตาลีผู้ล่วงลับไปแล้ว เคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่า "นี่เป็นข้อขัดแย้งในอำนาจของวรรณกรรม เนื่องจากว่ามันจะแสดงออกถึงพลังอำนาจที่แท้จริงของมัน แสดงถึงพลังในการท้าทายสิทธิอำนาจของผู้ใหญ่ก็ต่อเมื่อมันถูกกดขี่บีบคั้น แต่ในสังคมเสรีที่ทำอะไรก็ได้อย่างของเรา วรรณกรรมสร้างได้ก็แต่เพียงการเอาอกเอาใจคนอ่านเป็นครั้งคราว ในขณะที่โดยทั่วไปมันสร้างแต่สิ่งไร้สาระเต็มไปหมด"
(หน้า 18)

สิ่งหนึ่งที่สังคมรวบอำนาจชอบทำ คือ การที่รัฐบาลทำตัวเป็นปราชญ์ราชบัณฑิตแต่ผู้เดียวในโลกนี้ มิลาน กุนเดรา นักเขียนเชโกสโลวะเกียฝีปากจัด ผู้ชำนาญการเขียนการเมืองเรื่องของเซ็กซ์มากกว่าการเมืองเรื่องลัทธิคอมมิวนิสต์ ให้สัมภาษณ์ว่า การเขียนเรื่องที่เป็นสองแง่สองง่ามในทางศีลธรรม อันเป็นด้านที่เป็นสีเทาในชีวิตมนุษย์ดังเช่นที่เขาชอบทำนั้น ถือเป็นการท้าทายรัฐบาลนักกดขี่ที่ต้องการเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเพียงสีขาวกับสีดำเท่านั้น เขาพูดว่า "โลกของลัทธิรวบอำนาจ ไม่ว่าจะสร้างขึ้นมาบนลัทธิมาร์กซ์หรืออะไรอื่นก็ตาม เป็นโลกของคำตอบมากกว่าโลกของคำถาม ในนั้นนวนิยายไม่มีบทบาทอะไร"
(หน้า 20)

-------------------------------

บทที่ 2 จาก "คัมภีร์" ถึง "ภัยขาว"

ตกลงหนังสือ "คัมภีร์" เลยกลายเป็นหนังสือเล่มละบาทเล่มแรกและเล่มสุดท้ายที่มีรูปลักษณ์ประหลาดที่สุด คือมีปกแต่เพียงท่อนบนสุดที่มีชื่อหนังสือคัมภีร์ กับมีหน้าสุดท้ายซึ่งเหลืออยู่ครึ่งหน้ากับชื่อเรื่องที่ดูตื่นเต้นดี แม้ไม่มีข้อความรายละเอียด แต่คิดว่าคนอ่านคงเดาได้ว่ามันควรจะพูดอะไรบ้าง

พลังของ "หนังสือ" นั้นน่าสนใจมาก บางครั้งข้อความเปิดเสรีนั้น อาจมีพลังน้อยกว่าข้อความที่ไม่อาจพูดหรือพิมพ์ออกมาอย่างโจ่งแจ้งเสียอีก
(หน้า 35)

-------------------------------

บทที่ 5 เมื่อชีวิตเจอ (วรรณ) กรรม

น่าตลกที่อำนาจเผด็จการอย่างทั่วไปนั้นสามารถทำให้เกิดพลังปฏิกิริยาตอบโต้ได้แรงพอ ๆ กัน แม้ฝ่ายหลังจะไม่มีอำนาจและกำลังในการทำลายและข่มขู่เหมือนกับของทางการก็ตาม แต่มันเป็นอำนาจของความคิด ในวินาทีนั้นเองที่เรามีความรู้สึกว่า เพียงเราเขียนประโยคประท้วงสังคมเพียงวรรคเดียวบนผนังเหนือโถปัสสาวะผู้ชายในห้องน้ำในตึกห้องสมุดกลางของมหาวิทยาลัย ก็จะทำให้เกิดการสั่นสะเทือนไปทั่วทั้งในตึกและในมหาวิทยาลัยแห่งนั้น และกระทั่งถึงรัฐบาลได้
(หน้า 59)

-------------------------------

บทที่ 6 วรรณกรรมกับ "หัวใจ"

"โคะโคะโระ" เป็นวรรณกรรมเพื่อชีวิตที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและแตกต่างจากวรรณกรรมเพื่อชีวิตเพื่อประชาชนที่เรารู้จักกันอย่างยิ่ง ข้อความและเหตุการณ์ความเป็นไปที่เกิดขึ้นในเรื่องนั้น ผมรู้สึกเสมือนประหนึ่งเอาน้ำเย็นเฉียบราดลงไปในหัวใจ...ทำให้ผมได้ข้อคิดว่า วรรณกรรมหรือในความหมายที่กว้างคือภูมิปัญญาแห่งสังคมนั้น มันคือวิญญาณ (หรือหัวใจ) ของประวัติศาสตร์สังคมนั้น ๆ ตราบใดที่ยังไม่อาจ "รู้สึก" กับวรรณกรรมและความคิดของประเทศนั้น ก็ไม่อาจรู้จักและเข้าใจประวัติศาสตร์และอื่น ๆ ของประเทศนั้นได้
(หน้า 68)

-------------------------------

บทที่ 8 วรรณกรรมเพื่อพรรคเพื่อประชาชน

...เขาเริ่มคิดว่าการเป็นหมอคงไม่สามารถช่วยอะไรต่อภาวะเสื่อมทรามของสังคมจีนได้ อย่างดีแพทย์ก็รักษาโรคภัยไข้เจ็บ ให้คนไข้มีชีวิตอยู่ในทางกายภาพต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง แต่หากสังคมที่คนเหล่านั้นอาศัยอยู่ยังเน่าเฟะ การมีชีวิตอยู่กลับเป็นการช่วยต่ออายุให้พวกเขาต้องผจญเวรเผชิญกรรมและความเหลวแหลกของสังคมอีก นั่นไม่ใช่การฆ่าคนอย่างเลือดเย็นดอกหรือ

หลู่ซิ่นเขียนในบันทึกต่อไปว่า "ข้าพเจ้ารู้สึกว่าการเรียนวิชาแพทย์ไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญ กับพลเมืองที่โง่เขลาและอ่อนแอนั้น สิ่งที่เราต้องทำเป็นเบื้องแรกคือ การเปลี่ยนแปลงจิตใจของพวกเขา และในขณะนั้นข้าพเจ้ารู้สึกว่าสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงจิตใจได้ดีที่สุดได้แก่วรรณคดี"
(หน้า 87 - 88)

การใช้นโยบายพรรคคอมมิวนิสต์ไปชี้นำบงการนักเขียน มีผลทำให้นักเขียนของพรรคฯ ผู้หนึ่งคือ เจียงกวงจื่อ ถูกขับออกจากพรรคฯ จากข้อหาที่เขายังเป็นพวกลัทธิโรแมนติกและมีโลกทรรศน์นายทุนน้อย เขากล่าวว่า "ข้าพเจ้าเป็นนักโรแมนติก บรรดานักปฏิวัติทั้งปวงล้วนเป็นนักโรแมนติก ถ้าไม่โรแมนติก ใครบ้างเล่าจะเข้ามาเริ่มทำการปฏิวัติ"
(หน้า 98)

-------------------------------

บทที่ 9 ก่อนอรุณจะรุ่ง : วรรณกรรมในชีวิตรัสเซีย
พอไปเจอสภาพและบทบาทของปัญญาชนรัสเซียเข้า ผมเกือบหงายหลัง เพราะนึกไม่ถึงว่าของจริงนั้นหนักหน่วงกว่าที่เรารู้จักและถกเถียงกันเกือบตาย ก่อนอื่น คำว่าปัญญาชนในบริบทของรัสเซียนั้นเขาใช้คำว่า intelligentsiya แปลว่า ผู้นำแห่งปัญญาชนของสังคม ลักษณะสำคัญคือการเป็นชนชั้นนำ (elite) และเป็นปัญญาชนของสังคม ไม่ใช่นั่งคิดนั่งบ่นอยู่คนเดียวหรือสองสามคนในวงเหล้าเดียวกัน หากแต่ต้องแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคมออกมาให้ประจักษ์...

ปัญญาชนรัสเซียหลายคนต้องถูกจับกุมคุมขัง เนรเทศ และในที่สุดถูกแขวนคอ รวมทั้งพี่ชายของเลนินด้วย แต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่อาจยับยั้งการเคลื่อนไหวของปัญญาชนและขบวนการประชาชนไปได้ จนในที่สุดพลังและคลื่นของการปฏิวัติก็ถาโถมเข้าทำลายระบบเก่าให้พังทลายลงไปในการปฏิวัติเดือนตุลาคม ค.ศ. 1917
(หน้า 104-105)

-------------------------------

บทที่ 12 "เทพ" กับ "มาร" ในงานเขียนของดอสโตลเยฟสกี้

Irving Howe ให้ข้อคิดในการวิเคราะห์วรรณกรรมกับการเมืองในรัสเซียไว้ดีมาก เขาบอกว่า เนื่องจากวรรณกรรมรัสเซียในศตวรรษที่ 19 นั้นเต็มไปด้วยความเอาจริงเอาจังยิ่งนัก อันเป็นผลมาจากสภาพสังคมการเมืองที่ถูกบีบคั้นจากพระเจ้าซาร์ สภาพดังกล่าวนี้เองทำให้การพินิจวรรณกรรมรัสเซียจะต้องถือว่า "ศาสนาเป็นเสมือนสาขาหนึ่งของการเมือง และการเมืองก็เป็นรูปแบบหนึ่งของศาสนา" ถ้าใครยังใช้กรอบวรรณกรรมวิจารณ์แบบที่ว่าสะท้อนสังคมหรือเป็นปรากฏการณ์สังคมเท่านั้น ก็จะพบอุปสรรคความยากลำบากในการทำความเข้าใจวรรณกรรมรัสเซียเหล่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานของดอสโตลเยฟสกี้ ซึ่งผลงานแห่งการสร้างสรรค์ของเขานั้น ไม่ได้หมายถึงและแสดงถึงความงาม หรือศิลปะของวรรณคดีอย่างที่คนเข้าใจกัน หากแต่การสร้างสรรค์ของเขานั้น กลับมีความหมายนัยยะถึงการพยากรณ์ของศาสดา
(หน้า 119)

-------------------------------

บทที่ 13 เสรีภาพกับความตาย

ถ้าหากเราเชื่อตามคำอธิบายของซิกมันด์ ฟรอยด์ ที่ว่ามนุษย์เป็นสัตว์ต่อต้านสังคม (anti-social) การดำรงอยู่ของมนุษย์ก็คือการถูกกดขี่โดยสังคมในระดับหนึ่ง การกดขี่ของสังคมนี้เองที่เปิดช่องให้มนุษย์สามารถอยู่รอดได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ด้วยการแปรเปลี่ยนการกดขี่ให้มาเป็นการชื่นชมดูดดื่ม (sublimation) ในสังคม กล่าวคือ การกดขี่ของสังคมผลักดันให้มนุษย์สรรค์สร้างที่พักพิงอันวิจิตรและมีรสนิยมยิ่ง สำหรับให้เขาดำรงชีวิตอย่างมีความหมายกับตัวเขาเองขึ้นมา
(หน้า 125)

-------------------------------

บทที่ 15 "คำสารภาพ" ของ ตอลสตอย

วรรณกรรมรัสเซียในศตวรรษที่ 19 จึงมีลักษณะเด่นที่แตกต่างจากยุโรป ตรงที่ว่าวรรณกรรมรัสเซียสมัยใหม่ใช้เวลาสั้นกว่าของยุโรป ในการสร้างสรรค์ด้านศิลปะและเทคนิค หรือรูปแบบจากคนหนึ่งหรือสำนักหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง แต่หลังจากทำงานวรรณกรรมระยะหนึ่ง พวกเขาก็พร้อมจะกระโดดไปสู่อีกขั้นของพัฒนาการ นั่นคือการผลักดันให้งานเขียนของพวกเขาออกไปสู่สังคมและเป็นอาวุธทางสังคม ที่ทำหน้าที่ในการช่วยสร้างสรรค์และนำการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น-และจะต้องเป็นไปโดยเร็วด้วย
(หน้า 139)

สังเกตว่า ทันทีที่ตอลสตอยไม่เชื่อศาสนาแบบเก่าอีกต่อไปแล้ว เขาก็พบว่าการสั่งสอนและเขียนให้คนอื่นกลายเป็นคนดีมีความรู้นั้นเป็นเรื่องหลอกลวงสิ้นดี เนื่องจากการทำงานอยู่ในวงวรรณกรรม เขาจึงมองเห็นชีวิตจากภายในวงการได้ชัดเจน และนำมาเปรียบเทียบกับการสั่งสอนศีลธรรมของศาสนจักร เขาคิดว่าพวกนักเขียน นักวรรณกรรม ศิลปิน และกวี ก็เหมือนกับนักศาสนาเช่นกัน เพราะแต่ละคนต่างก็มีสาวกที่ไม่เคยตั้งข้อสงสัยถึงความถูกต้องของคำสั่งสอนเหล่านั้น
(หน้า 144)

-------------------------------

บทที่ 16 สู่วิญญาณของขบวนการเดือนตุลาคม

ประการที่สองซึ่งผมชอบมากคือ ธีรยุทธบอกว่า มนุษย์นั้นต่างจากสัตว์โลกอื่น ๆ ไม่ใช่ตรงที่เป็น "สัตว์ประเสริฐ" กว่า แต่ที่สำคัญคือ "มนุษย์เรากลับมีชีวิตอยู่อย่างฝืนธรรมชาติ หรืออีกนัยหนึ่ง มนุษย์เป็นมนุษย์เพราะมีวิญญาณขบถ วิญญาณนี้จึงเก่าแก่พอ ๆ กับประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เราอาจละเลยมองข้ามสิ่งหนึ่งไปว่า การค้นพบที่ยิ่งใหญ่ของมนุษย์ก็คือการค้นพบคำว่า "ไม่" เพราะในโลกที่เป็นจริงนั้นไม่มีภาวะปฏิเสธหรือภาวะที่ไม่มีอยู่จริง"
(หน้า 153)

-------------------------------

[ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ. วรรณกรรมในชีวิต : ชีวิตในวรรณกรรม. กรุงเทพฯ : มิ่งมิตร, 2539.]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น