วันพุธที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2558

ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต / วีรพร นิติประภา


จริง ๆ เล่มนี้อ่านจบนานมากตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว แต่ต้องทำใจอยู่หลายเดือนเหมือนกันกว่าจะกล้าเขียนถึง เพราะจำได้ว่าหลังอ่านจบเราจิตตกถึงขนาดไม่พูดกับใครไปสองสามวัน กลายเป็นตะกอนความเศร้าขนาดใหญ่ที่ตกค้างในใจ เผลอกวนให้ตะกอนมันฟุ้งขึ้นมาทีไรก็ทำให้ปวดร้าวขึ้นมาทุกครั้ง แต่เพื่อฉลองที่เล่มนี้เป็นหนึ่งในเก้าเล่มสุดท้ายรางวัลซีไรต์ก็เลยถือโอกาสเขียนถึงเสียเลย


พอนึกย้อนไปถึงเล่มนี้ เราคิดถึงสองเรื่องที่ดูไม่น่าจะเกี่ยวกับนิยายเล่มนี้เลย เรื่องแรกคือคำพูดที่เรามักจะบอกเด็กที่เรียนวิชาการเขียนย่อหน้าอยู่เสมอว่า ขนาดของความคิดจะเป็นตัวกำหนดขนาดของบทเขียนเสมอ ยิ่งความคิดของเราใหญ่และซับซ้อนมากขึ้นเท่าไร บทเขียนก็จะยาวและโครงสร้างก็จะซับซ้อนมากขึ้นเท่านั้น

หลังอ่านนวนิยายเรื่องนี้จบ เราไม่รู้ว่าคนเขียนแบกรับมวลความเศร้าก้อนใหญ่และซับซ้อนขนาดนี้ไว้ได้อย่างไร ยิ่งกว่านั้นคือต้องแบกรับมันจนกระทั่งเขียนนิยายเรื่องนี้จบลง ซึ่งระหว่างทางที่แบกรับต้องจาริกเข้าไปในความรู้สึกร้าวรานของตัวเอง ต้องใช้ไปกี่บาดแผลทางใจที่จะเค้นเอาความเศร้าออกมาในแต่ละตัวอักษร หลังอ่านจบ เรารู้ว่าความยาวของบทเขียนความเศร้าเรื่องนี้ไม่ได้มีแค่ 256 หน้าเท่าที่มีในเล่ม แต่คือสิ่งที่ไม่ได้เขียนอีกหลายร้อยหลายพันหน้าซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัด

เรื่องที่สองซึ่งยิ่งไม่เกี่ยวกับนวนิยายเล่มนี้คือเรานึกถึงการบรรยายฉากเวลาจะออกรบในเรื่องรามเกียรติ์ฉบับรัชกาลที่ 1 เวลาที่แต่ละตัวละครจะออกรบจะมีแพทเทิร์นคือจะต้องอาบน้ำ แต่งองค์ทรงเครื่อง นั่งรถศึกชิลล์ ๆ ชมนกชมไม้ก่อนจะถึงสมรภูมิ ไม่ว่าจะเป็นศึกที่มึงควรจะรีบไปแค่ไหน น้องถูกฆ่าตาย-ทหารมาแจ้ง-ฮึ้ยกูโกรธทนไม่ไหว แต่สุดท้ายมึงก็ต้องไปอาบน้ำ แต่งองค์ทรงเครื่อง นั่งรถศึกชิลล์ ๆ ชมนกชมไม้ก่อนจะถึงสมรภูมิอยู่ดี สิ่งที่น่าสนใจคือไม่ว่าฉากแพทเทิร์นพวกนี้มีเนื้อหาซ้ำกันมากแค่ไหน แต่กวียุคนั้นเก่งมากที่เขียนบรรยายแทบไม่ซ้ำกันเลย เรียกว่าคอนเทนต์เดิมแต่เปลี่ยนดีไซน์ได้ดีไม่น่าเบื่อ

ตอนอ่านนวนิยายเล่มนี้ พอเข้าฉากเศร้า เรากลับทึ่งเหมือนตอนอ่านฉากซ้ำในรามเกียรติ์ ใช่ ตอนนี้เศร้า ตอนนี้ก็เศร้าอีกแล้ว แต่คนเขียนเขียนถึงความเศร้าได้ไม่ซ้ำเลย เราจึงเพิ่งรู้ว่าความเศร้ามีเป็นร้อยเป็นพันเฉดสีขนาดนี้

ถ้าจะจำกัดความ นวนิยายเล่มนี้คือกลุ่มก้อนของมวลความเศร้าขนาดใหญ่หลายร้อยหลายพันเฉดสี นวนิยายที่จะกระตุ้นตะกอนความเศร้าประดามีที่เก็บไว้ในใจให้ฟุ้งขึ้นมาจนน้ำตารื้นหรือสะอึกสะอื้นอีกครั้ง

เราไม่แปลกใจถ้าคนรุ่นหนึ่งอ่านแล้วอาจไม่เข้าใจว่าตัวละครตัวนี้ทำไมทำแบบนี้ บางสิ่งบางอย่างไม่สมเหตุสมผล บางความเศร้าไม่เห็นต้องเศร้าเลย เช่นว่า

"เธอเป็นหญิงสาวหน้าตาธรรมดา ท่าทางธรรมดา ผู้ซึ่งจะยืนมองท้องฟ้าทุกเช้าระหว่างรอรถเมล์ตอนเขายังเรียนมหาวิทยาลัยอยู่ เขาไม่เคยคิดจะทำความรู้จักกับเธอ ไม่เคยคิดจะตามเธอขึ้นรถไป ไม่เคยอยากรู้ว่าเธอเป็นใคร ทำอะไร อยู่ที่ไหน มาจากไหนหรือกำลังจะไปไหน เขาพอใจแค่จะมองเธอเช่นนั้น...ยืนหลังตรง มีมือจับอยู่ที่สายกระเป๋าซึงพาดเฉลียงกลางอกเหมือนปฏิญาณตน เงยหน้ามองขึ้นบนท้องฟ้าเรื่อราง กลางเมืองฝันสลาย

"เขาแค่อยากมีเธอให้ยืนมองเช่นนั้นไปทุกเช้า ไม่มากกว่านั้น ไม่น้อยกว่านั้น แล้วเธอก็หายไป เขารอ แต่เธอไม่เคยมาอีก เขาไม่อยากไปโรงเรียน ไม่อยากเห็นซีกเสี้ยวเซียวซีดของท้องฟ้ายามเช้า และรู้สึกเหมือนมีก้อนหินหนัก ๆ กดทับอยู่ข้างใน อยู่มาวันหนึ่งก้อนหินนั่นก็หายไปด้วยเช่นกัน หลงเหลือไว้แต่หลุมโพรงว่างเปล่าตรงที่มันทับอยู่...ข้างในหลุมโพรงว่างเปล่าที่อยู่ข้างในหลุมโพรงว่างเปล่าที่อยู่ข้างในหลุมโพรงว่างเปล่า หลุมอื่น ๆ" (น.91)

สำหรับคนรุ่นหนึ่ง แค่คนแปลกหน้าที่ไม่แม้แต่รู้จักชื่อหายไปจากชีวิตจะเป็นความเศร้าได้อย่างไร แต่สำหรับคนในยุคสมัยอันแสนเปราะบางอย่างยุคของเรา เรารู้ว่านี่คือความเศร้าและเจ็บปวดที่สมเหตุสมผลที่สุดแล้ว

สิ่งเดียวที่รู้สึกว่าเบาบางไปสักหน่อยคือบทบาทของชลิกา เส้าที่สามของความรักสามเส้าครั้งนี้ แม้จะรู้ว่าสิ่งที่ไม่ได้พูดในนิยายต่างหากที่เศร้านักหนา แต่เราก็อยากให้ชลิกามีเสียงมากกว่านี้สักหน่อยเพราะรู้สึกว่าเรากับชลิกามีอะไรคล้ายกันหลายอย่าง

ไม่ว่าเล่มนี้จะได้ประดับตราซีไรต์หรือไม่ แต่การที่ "นวนิยายรักน้ำเน่าฉบับมาตรฐาน" (จากคำนำสำนักพิมพ์) มาได้ถึงขนาดนี้ก็นับว่าสมฐานะนวนิยายรักชั้นดีแล้ว นวนิยายรักในโลกนี้มีมากมายมหาศาล แต่เล่มที่จะตราตรึงหัวใจเราคงมีไม่กี่เรื่อง และเราคิดว่าเล่มนี้คือหนึ่งในนั้น

สิ่งที่ต้องเตือนอย่างเดียวก่อนอ่านคือนวนิยายเล่มนี้อาจไม่เหมาะกับคนที่มักจะเอาความเศร้าเบาบางเป็นเพียงอาหารหวานหล่อเลี้ยงหัวใจ เพราะมันเศร้าขมเหมือนยาแรง กินไม่ระวังจะน็อคเอาง่าย ๆ เว้นแต่จะมีรสนิยมชื่นชอบการเฆี่ยนตีหัวใจตัวเองด้วยความรวดร้าว

=======================
Quotations: (จริง ๆ มีโควตสวย ๆ เยอะมาก ถ้าเอามาทั้งหมดก็คือลอกทั้งเล่มมา (ฮา) เลยคัดมาแต่ของตัวละครชื่อปราณละกัน เพราะเรารู้สึกว่าเข้าใจความเจ็บปวดของปราณมากที่สุดนะ)

รอยยิ้มพรายไร้ที่มา มิตรภาพลึกรางผาดเผิน ความบังเอิญเหนือจริง กับหญิงสาวที่ซ่อนครึ่งใบหน้าเอาไว้ในเงาสลัว แค่นั้นก็เพียงพอที่เขาจะปล่อยหัวใจให้ล่มสลายลงในปลายคืน...บางคืน แล้วยอมให้ใครสักคนซึ่งไม่เคยเห็นหน้ามาก่อนพาเขาไปยังห้องหับหลับนอนที่ไม่เคยไป เป็นคู่รักชั่วคราวครั้งละคืนหรือสองของหญิงสาวมากหน้าหลายตา เพื่อจะมาค้นพบเอาบัดนี้...ในอายุยี่สิบหกว่าการกอดรัดฟัดเหวี่ยงคนแปลกหน้ากับอัตกามว่างเปล่าบนเรือนร่างกันและกันของคนสองคน พาเขาดั้นด้นไปไกลได้แค่ไม่ต้องตื่นแต่ลำพังบนผ้าปูที่นอนซึ่งยังเรียบตึงเท่านั้น (น. 53)

ระหว่างหลายปีที่ผันผ่าน ปราณเขียนเพลงให้ครอบครัวของเขาเอาไว้หลายเพลง...แต่เขาก็ได้แต่เก็บซ่อนบทเพลงพวกนั้นเอาไว้ในใจ ไม่เคยเล่า ไม่เคยเล่นให้ใครฟัง และไม่เคยกลับไปเยี่ยมบ้านแม่น้ำอย่างที่ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้กับชลิกา เมื่อสิ่งหนึ่งเปลี่ยนไป ปราณก็อดไม่ได้ที่จะกลัวว่าสิ่งอื่น ๆ ที่เหลืออยู่จะเปลี่ยนตาม สู้ทิ้งทุกอย่างเอาไว้ที่เก่า...ตรงที่พรากจาก โดยไม่แตะต้องเลยดีกว่า ทิ้งมันเอาไว้อย่างนั้น ที่ไหนสักแห่งลึกร้างกลางแก่นใจ แล้วบอกตัวเองให้เชื่อให้ได้ว่ามันจะคงอยู่คงเป็นเช่นนั้น ไม่มีวันเปลี่ยนแปร (น. 147)

เธอแตะรอยแตกบนริมฝีปากเบา ๆ ด้วยปลายนิ้ว ปราณเบือนหน้าหนี รวดร้าวบิดริ้วขึ้นข้างใน ไม่รู้จะบอกเธออย่างไรว่าเขายังเจ็บ ไม่ใช่ตรงนั้น แต่ลึกลงไป ไม่ได้บอกว่าเขาเจ็บแค่ไหน ไม่ได้บอกว่าเขาทำอย่างไรกับความเจ็บปวดนั่น ไม่ได้บอกเธอว่าชั่วขณะหนึ่งเขาลืมตัวไปว่าเป็นใคร เดียวดายมาอย่างไร ฟันฝ่าชีวิตมาแบบไหน เคยผ่านอะไรต่อมิอะไรมามากมายเพียงใด ก่อนจะมาฟั่นเฟือนเลอะเทอะ...ว่าเขามีใคร (น. 186)

ในโลกที่ไม่มีอะไรน่าประทับใจให้จดจำ เขาแทบนึกไม่ออกด้วยซ้ำว่าจะลืมเธออย่างที่ตั้งใจได้อย่างไร จนกระทั่งได้พบผู้ชายอังกฤษที่เดินทางมารอบโลกเพื่อติดตั้งระบบไฟฟ้ารอบกรงหมีให้กับสวนสัตว์คนหนึ่ง ซึ่งเขาเล่าให้ฟังว่าเวลาหมีที่ขังโดนลูกกรงไฟฟ้าชอร์ตเจ็บเอาหลาย ๆ ครั้ง พวกมันจะเรียนรู้ที่จะไม่ไปใกล้ที่ตรงนั้นอีกโดยสัญชาตญาณ จนแม้เมื่อเอาสายไฟหรือกระทั่งลูกกรงออกตลอดชั่วอายุขัย... พวกมันก็จะไม่ยอมกลับไปเฉียดกรายเข้าใกล้บริเวณนั้นอีกเลย

เขาจึงไปหาเข็มหมุดมาพกติดตัวเอาไว้เล่มหนึ่ง ทุกทีที่คิดถึงเธอขึ้นมา ปราณก็จะเอาเข็มนั่นทิ่มแทงปลายนิ้วตัวเองหลาย ๆ ครั้ง ในช่วงแรก ๆ เขาถึงกับรับงานเล่นดนตรีไม่ได้เพราะปลายนิ้วระบมจนกดสายกีตาร์ไม่ไหว แล้วยังเผลอเอาเข็มนั่นข่วนขูดอกตนจนเป็นลายเลือดพร้อยด้วยหลายหนเมื่อทนถูกความโหยหากลุ้มรุมกัดกินไม่ไหวในบางคืน แต่ต่อมาเวลาคิดถึงเธอเขาก็จะเริ่มรู้สึกเจ็บปลายนิ้วขึ้นมาเองเฉย ๆ โดยไม่ต้องใช้เข็มทิ่ม และในที่สุดก็รู้สึกเจ็บขึ้นมาเองล่วงหน้าตั้งแต่ก่อนจะเริ่มคิดถึงเธอเสียอีก ซึ่งทำให้เขาสามารถรีบหาอะไรหมกมุ่นทำตัดหน้าเพื่อหลบเลี่ยงตัดรอนการต้องคิดถึงเธอลงไปได้ทีละน้อย และยิ่งระยะห่างระหว่างการคิดถึงเธอแต่ละครั้งถูกถ่างถอยออกกว้างเท่าไร ความทรงจำเกี่ยวกับเธอก็ยิ่งเลือนรางจางลงเท่านั้น (น. 237)

------------------------------------------
วีรพร นิติประภา. ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น