วันพุธที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ความทรงจำเรื่อง "ลุงบุญมีระลึกชาติ"

ครั้งแรกที่ผมรู้จักชื่อคุณเจ้ย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ไม่ได้มาจากการสัมผัสงานของเขาโดยตรง แต่รู้จักผ่านบทวิจารณ์ภาพยนตร์เรื่อง "สัตว์ประหลาด" (Tropical Malady) ของรุ่นน้องคนหนึ่ง เธอเขียนออกมาได้ค่อนข้างดีแม้ขณะนั้นจะอยู่แค่ปี ๓

ผมคิดว่า ความงามของอัญมณีไม่ได้อยู่ที่คนเจียระไนเพียงฝ่ายเดียว แต่อัญมณีเองก็ต้องมีความคงทนงดงามอยู่ในตัวเองด้วย ฉันใดก็ฉันนั้น ภาพยนตร์เรื่อง "สัตว์ประหลาด" ก็คงต้องมีอะไรดี ๆ อยู่ข้างในไม่น้อย รุ่นน้องผมจึงสามารถสกัดเอาแง่มุมต่าง ๆ ที่น่าสนใจของภาพยนตร์ออกมาเป็นบทวิจารณ์ชวนอ่านได้ ผมจึงไปเสาะแสวงหา "สัตว์ประหลาด" เพื่อลองเข้าสู่โลกของคุณเจ้ยด้วยตนเอง

ทันทีที่ภาพยนตร์จบลง ผมรู้สึกว่ามีเศษความคิดหล่นกระจัดกระจายรอบตัว ราวกับเป็นชิ้นส่วนจิ๊กซอว์ที่คุณเจ้ยโยนออกมาให้ผมทีละชิ้น ๆ ก่อนที่จะแสดงภาพเต็มของจิ๊กซอว์เพียงเสี้ยววินาที แล้วหนีหายไปดื้อ ๆ ผมรู้ว่ามีคำตอบสมบูรณ์ของภาพยนตร์อยู่จริง แต่ปรากฎเลือนรางในความรู้สึก จนไม่สามารถหยิบชิ้นส่วนเหล่านั้นมาต่อเป็นภาพสมบูรณ์ได้ นี่เองเป็นเสน่ห์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะเชื้อเชิญให้ผู้ชมตีความได้ไม่รู้จบ ผมจึงไม่แปลกใจที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลขวัญใจกรรมการ (Jury Prize) จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ แม้จะมีหลายส่วนในภาพยนตร์ที่ผมไม่สามารถตีความได้เลยแม้แต่น้อยด้วยระดับสติปัญญาในขณะนั้น (หรือแม้ในขณะนี้ก็ตามที)

แต่แล้วกาลเวลาก็จับภาพยนตร์ของคุณเจ้ยโยนทิ้งไว้ในกล่องความทรงจำส่วนลึก ก่อนจะดึงเรื่องอื่นเข้ามาชุลมุนในความสนใจ จนผมเผลอลืมเรื่องของคุณเจ้ยไปเสียสนิท

.................

กระทั่งภาพยนตร์เรื่อง "ลุงบุญมีระลึกชาติ" ผลงานล่าสุดของเขาได้รับรางวัลปาล์มทองคำ ซึ่งนับเป็นรางวัลสูงสุดในงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ชื่อของคุณเจ้ยและชิ้นส่วนความคิดจากผลงานเรื่องก่อนหน้าจึงหวนกลับมาอยู่ในความสนใจของผมอีกครั้ง รุ่นน้องคนที่เคยแนะนำให้ผมรู้จักคุณเจ้ยผ่านบทวิจารณ์แทบจะฉุดกระชากลากคอผมเข้าไปสัมผัสโลกของคุณเจ้ยเป็นคำรบสองทันทีที่ภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉายในเมืองไทย

การเข้าไปในโลกของเขาครั้งใหม่นี้ ดูเหมือนว่าคุณเจ้ยจะโยนจิ๊กซอว์ออกมามากกว่าเดิม และให้ดูภาพสมบูรณ์นานกว่าเดิมอีกนิดจนพอจะเห็นเรื่องราวต่าง ๆ ชัดเจนขึ้น กอปรกับชิ้นส่วนความคิดจากครั้งที่ได้ดู "สัตว์ประหลาด" ก็มาช่วยเสริมให้เห็นภาพของเรื่องนี้ชัดเจนขึ้น แม้จะไม่ถึงขนาดประกอบชิ้นส่วนทั้งหมดเป็นภาพสมบูรณ์ได้ก็ตามที

แต่การได้ชมเพียงรอบเดียวออกจะน้อยเกินไปสำหรับการนำมาเขียนวิจารณ์ให้มีน้ำมีนวล ผมจึงต้องพับเรื่องการวิจารณ์เก็บไว้ในกระเป๋าเสียก่อน ทำได้เพียงเขียนบันทึกสิ่งที่จับต้องได้ในการชมภาพยนตร์รอบนี้ไว้ในสมุดว่า:

แท้จริงแล้ว เรื่องผีหรือวิญญาณ ตลอดจนการกลับชาติมาเกิด มิใช่อื่นใดเลยนอกจากจิตวิญญาณที่มีอยู่แล้วในตัวมนุษย์ทุกคน และต้องใช้สัญชาตญาณดั้งเดิมของมนุษย์เป็นสื่อสัมผัส

จิตวิญญาณของมนุษย์แต่ละคนนั้น ต่างก็มี "ความทรงจำ" ที่สร้างอัตลักษณ์และประวัติศาสตร์ของตนเอง ดังนั้นการรับรู้ถึงจิตวิญญาณและความทรงจำ ไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือผู้อื่น จึงเป็นเครื่องยืนยันว่ามนุษย์ผู้นั้นมีตัวตนและมีคุณค่าในฐานะมนุษย์อย่างแท้จริง

ขณะที่ "กระบวนการสร้างมนุษย์ให้เป็นอารยะ" ทั้งหลายที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์โลก เช่น การสร้างโลกสมัยใหม่ การสร้างรัฐ-ชาติ โลกาภิวัตน์ ฯลฯ พยายามกีดกันมนุษย์ออกจากสัญชาตญาณดั้งเดิม ปฏิเสธอัตลักษณ์และประวัติศาสตร์บุคคลโดยการทำลาย "ความทรงจำ" ของจิตวิญญาณทิ้งไป และสร้างความทรงจำใหม่ให้อยู่ในกรอบเดียวกัน เพื่อให้มนุษย์สูญสิ้นตัวตน ลดคุณค่ากลายเป็นเพียงฟันเฟืองเล็ก ๆ ในกลไกการขับเคลื่อนโลกให้เดินไปข้างหน้า

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร จิตวิญญาณและสัญชาตญาณดั้งเดิมยังคงมีอยู่ในตัวมนุษย์เสมอ และไม่มีวันจะถูกทำลายลงไปได้ ไม่ว่าเขาและเธอเหล่านั้นจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

......................

นอกจากสิ่งที่เขียนไว้ในสมุดแล้ว ชิ้นส่วนความคิดจากภาพยนตร์ที่เก็บไว้ในความทรงจำยังมีอีกหลายส่วนที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องราวที่สังคมไทยไม่กล้าพูดถึง เช่น เรื่องศาสนา เรื่องระบอบกษัตริย์ เรื่องคอมมิวนิสต์ ฯลฯ ซึ่งผมและรุ่นน้องได้ถกเถียงกันอย่างเมามันอยู่หลายชั่วโมงหลังจากเรื่องราวของลุงบุญมีจบลง ภาพยนตร์ของคุณเจ้ยยังคงเสน่ห์ "การตีความได้ไม่รู้จบ" ไว้เสมอ และดูเหมือนว่าความคิดของพวกเราจะแตกกิ่งก้านสาขาออกไปมากกว่าเดิม

เร็ว ๆ นี้ ผมเพิ่งได้ข่าวว่า "ลุงบุญมีระลึกชาติ" จะเปิดรอบฉาย และสาขาที่ฉายเพิ่ม รวมทั้งออกเดินสายไปฉายยังต่างจังหวัด น่าดีใจว่าภาพยนตร์ที่เชิญชวนให้เกิดความงอกเงยทางปัญญาได้รับการตอบรับจากประชาชนมากขึ้น แม้ว่าอาจจะเป็นผลข้างเคียงมาจากการได้รับรางวัล หรือการดูตามกระแสก็ตามที แต่อย่างไรเสีย คนดูเยอะก็คงดีกว่าคนดูน้อย การที่คนจำนวนมากขึ้นไปดูหนังแบบนี้ก็น่าจะเชื้อเชิญให้เกิดการ "ออกกำลังกายทางปัญญา" ร่วมกันมากขึ้น เอากระแสตักตวงปริมาณไว้ก่อน ประเดี๋ยวคุณภาพของประชากรก็เพิ่มขึ้นเองน่า

คิดจบ ผมก็รู้สึกทะแม่ง ๆ กับตรรกะชวนงงงวยของตัวเอง

ขณะที่ผมคิดจะตีตั๋วเข้าไปชมอีกครั้ง พอดีรายการเรื่องเล่าเช้านี้ได้แสดงอันดับหนังทำเงินในเมืองไทยประจำสัปดาห์ อันดับหนึ่งคือ "ตุ๊กกี้ เจ้าหญิงขายกบ"

ทำเอาผมลังเลใจ... จะดูลุงบุญมี หรือตุ๊กกี้ดีนะ?


วุฒินันท์ ชัยศรี
๐๗/๐๘/๒๕๕๓

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น