วันพุธที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

"ทางด่วน" หน้ารามคำแหง

"เร็ว ๆ ดิ เดี๋ยวไม่ทัน มึงลง "ทางด่วน" มาเลย"

อาจเป็นเพราะทนความอืดอาดของผมไม่ไหว หรืออาจเป็นเพราะเห็นฝูงชนเบียดเสียดอยู่เต็มบาทวิถี ราวกับอยู่บนรถเมล์สายสุดท้ายของชุมชนแออัด เพื่อนผมจึงกวักมือเรียกให้ลงไปอยู่บน "ทางด่วน" ด้วยกัน เพื่อให้เวลาที่เหลืออยู่น้อยแสนน้อยเพียงพอต่อการไปถึงสถานที่นัดหมาย

"อันตรายตายห่ะ มึงยังจะให้กูลง-"
ไม่ทันขาดคำ มอเตอร์ไซค์วิ่งเฉียดแขนผมไปนิดเดียว
"เออน่ะ นิด ๆ หน่อย ๆ เพิ่มความตื่นเต้นให้ชีวิต" เพื่อนผมยักคิ้ว ก่อนจะสำทับ "ไปเร็ว ๆ เดี๋ยวพวกนั้นไม่รอนะเว้ย"

ผมนึกกังวลว่า การลง "ทางด่วน" ครั้งนี้จะมีตำรวจมาจับหรือเปล่า แต่ก็ใจชื้นขึ้นหน่อยเมื่อเห็นว่า มีคนจำนวนมากเริ่มใช้บริการ "ทางด่วน" เหมือนผมแล้ว

ไชโย! ประเทศประชาธิปไตย เสียงข้างมากชนะ!

ผมยักไหล่ ก่อนจะเร่งฝีเท้าตามเพื่อนให้ทัน

...............

"ทางด่วน" เป็นศัพท์เฉพาะที่ผมและผองเพื่อนรามฯ บัญญัติความหมายขึ้นใหม่ ใช้เรียกพื้นที่ช่องซ้ายสุดของถนนฝั่งตรงข้ามมหาวิทยาลัยรามคำแหง

ต้องขออธิบายสภาพภูมิศาสตร์หน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหงสักนิดว่า เป็นพื้นที่ที่ดีพอจะชิงแชมป์ "ถนนสายรถติดที่สุดในประเทศไทย" ได้แบบสบาย ๆ

ถนนกว้างเพียง ๖ เลน และระยะทางตลอดพื้นที่มหาวิทยาลัยเป็นถนนที่ไม่มีแยกอื่นมายุ่งเกี่ยว ดังนั้นใครเผลอหลงเข้ามาแล้วก็จำต้องขับกินลมชมวิวอยู่บริเวณนี้สักครู่ใหญ่ ๆ

นอกจากนี้ พื้นที่นี้ยังเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยที่มีนักศึกษามากที่สุดในประเทศ และอัตราค่าครองชีพของที่นี่ค่อนข้างเหมาะสมกับคนเบี้ยน้อยหอยน้อย จึงเกิดการชุมนุมกันของประชากรจำนวนมหาศาลโดยมิได้นัดหมาย เมื่อคนเยอะรถจึงแยะ ทั้งรถส่วนตัว แท็กซี่ รถเมล์ เมื่อรถแยะรถจึงติด และเมื่อถนนไม่กว้าง ไม่มีแยกระบาย รถจึงติดเป็นกาวตราช้าง

ต่อไปก็ถึงคิวอธิบายพื้นที่ฝั่งตรงข้ามมหาวิทยาลัย ด้วยเหตุปัจจัยที่มีประชากรหนาแน่น ความต้องการสินค้าจึงสูงตามไปด้วย แต่สตุ้งสตางค์ของประชากรมีไม่มากนัก เมื่อคำนวณตามหลักเศรษฐศาสตร์แล้ว สินค้าที่เหมาะสมที่สุดในการขายย่อมมิใช่กระเป๋ายี่ห้อ "กุชชี่" หรือ "พราดา" ราคาเหยียบหมื่นจากต่างประเทศ แต่เป็นกระเป๋าราคา 199 ติดยี่ห้อกุชชี่แบกะดิน เมื่อเป็นสินค้าแบกะดินจึงต้องหาดินในการแบขาย ในที่สุดจึงลงเอย ณ ทางเท้าฝั่งตรงข้ามมหาวิทยาลัยที่บรรดาพ่อค้าแม่ขายต่างจับจองเป็นพื้นที่ตั้งร้านขายของ เหลือเพียงช่องแคบ ๆ ให้คนแย่งกันเดิน

รถเยอะ ถนนแคบ รถจึงติดฉันใด คนเยอะ ทางเท้าเหลือให้เดินแค่ช่องแคบ ๆ คนจึงติดกันเป็นตังเมไม่แพ้รถติดฉันนั้น

ถ้านึกภาพไม่ออกว่าเวลาที่คนเยอะ ๆ แล้วเดินเบียดเสียดกันบนทางเท้าหน้ารามคำแหงเป็นเช่นใด ขอให้นึกภาพรถเมล์ที่มีคนยัดแน่นจนไม่มีช่องหายใจ กระนั้นกระเป๋ารถเมล์ยังอุตส่าห์ตะโกน "ชิดในหน่อยพี่ ชิดในหน่อย" จนต้องมีคนตะโกนตอบมาว่า "เบียดกันจนจะเป็นผัวเป็นเมียกันแล้วโว้ย"

เพื่อไม่ให้กลายเป็นผัวเป็นเมียกันทั้งบนรถเมล์และทางเท้า จึงเป็นที่มาของการขยายทางเดิน โดยการจับจองช่องซ้ายสุดของถนนติดกับบาทวิถี ตั้งเป็น "ทางด่วน" ตาม "กติกู" ใครที่คิดจะใช้บริการก็ไม่ต้องจ่ายค่าบริการอื่นใดนอกจาก "ความเสี่ยง" ที่จะโดนรถเมล์หรือมอเตอร์ไซค์รับจ้างอารมณ์หงุดหงิดขับซิ่งมาสอยก้น

..................

อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่เป็นประชากรย่านรามคำแหงมานานหลายปี ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้นบน "ทางด่วน" หน้ารามคำแหง คือเริ่มมีคนใช้บริการมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วง "คนติด" หนัก ๆ จนรถบนถนนต้องยอมยกเลนซ้ายสุดให้เป็นสิทธิ์ขาดของประชาชนคนเดินเท้า ผลก็คือ คนไม่ติดมาก แต่รถติดยิ่งกว่ากาวตราช้างที่แห้งมานานนับสิบปี

ผมนึกย้อนไปถึงช่วงแรกที่มีสินค้ามาตั้งร้านวางขายบนทางเท้า ผู้คนต่างบ่นว่าไม่มีทางเดิน แต่เมื่อมีพ่อค้าแม่ค้าเอาสินค้ามาวางหนักเข้า พื้นที่บนบาทวิถีก็กลายเป็นพื้นที่สำหรับขายสินค้าไปโดยปริยาย ประชาชนยอมรับเสียงส่วนใหญ่ของพ่อค้าแม่ค้าโดยดุษณี

ช่วงแรกที่มีการเปิดใช้ "ทางด่วน" ของคนเดิน บรรดาคนขับรถต่างก่นด่าประชาชนเดินเท้าอย่างอารมณ์เสีย เพราะทำให้รถติดหนักกว่าเดิม ร่ำ ๆ จะขับชนคนบน "ทางด่วน" ให้รู้แล้วรู้รอด แต่นานเข้า บรรดารถยนต์บนท้องถนนก็ยอมหลีกทางให้ประชาชนเสียงส่วนใหญ่ใช้ "ทางด่วน" เป็นช่องทางพิเศษโดยดุษณี

เรื่องราวการตั้งร้านบนบาทวิถี หรือการขยาย "ทางด่วน" ก็คงจะเหมือนกับสินค้าที่วางขายบนทางเท้า เต็มไปด้วยบรรดาของก๊อปแบรนด์เนม และภาพยนตร์-เพลงละเมิดลิขสิทธิ์ สินค้าผิดกฎหมายทุกชิ้นได้รับฉันทามติจากประชาชนในย่านนี้ให้สามารถขายได้อย่างถูกกฎหมาย ผมเดาเอาจากการที่มีคนอุดหนุนมากมายทุกวัน ทั้งที่สถานีตำรวจนครบาลบางกะปิอยู่ห่างไปแค่ป้ายรถเมล์เดียว

โดยไม่ตั้งใจ ผมนึกย้อนไปถึงข้อเขียนเก่า ๆ ที่เคยเขียนไว้ทำนองว่า เสียงข้างมากอาจไม่ใช่เสียงที่ถูกต้องเสมอไป แล้วก็มีผู้เข้าแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเสียยืดยาว กระนั้นผมก็ยังคงเชื่อในสิ่งที่เขียน

ในตอนนี้ผมเห็นพลังของเสียงข้างมากแล้ว จึงอาจต้องกลับไปทบทวนว่า สิ่งที่ผมเคยเขียนไปนั้นยังถูกต้องอยู่หรือเปล่าหนอ?


วุฒินันท์ ชัยศรี
๐๗/๐๘/๒๕๕๓

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น