วันพฤหัสบดีที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2555

เด็กน้อยน่ารำคาญ

ข้าพเจ้าไม่ใช่นางสาวไทยจึงไม่ได้รักเด็ก ติดจะรำคาญด้วยซ้ำถ้าเป็นเด็กขี้โวยวายหรือชอบงอแงในที่สาธารณะ ระหว่างการเดินทางบนรถเมล์ที่ไม่ค่อยมีคนในวันนี้ ข้าพเจ้าพบเด็กน้อยน่ารำคาญคนหนึ่ง เขาร้องอยู่ตลอดเวลาว่า พ่อจ๋า พ่อจ๋า ด้วยเสียงเบา ๆ ในระดับที่ได้ยินไปทั่วทั้งรถ แม้ข้าพเจ้าจะพยายามทุ่มสมาธิให้กับหนังสือตรงหน้าแต่ก็ไม่ได้ผล ได้แต่ปิดหนังสืออย่างเสียอารมณ์ มองไปยังต้นเสียง เด็กน้อยน่ารำคาญคนนั้นยิ้มเริงร่าอยู่ในอ้อมกอดแม่อย่างไม่รู้สึกรู้สากับความไร้มารยาทของตนเอง ถ้ามีความสุขดีแล้วเขาร้องหาพ่อทำไม ข้าพเจ้าได้แต่นึกในใจ ยังไม่ทันจะคิดจบ เสียงผู้ชายเบาะข้าง ๆ กันก็บอกฝ่ายหญิงให้เอาลูกมาให้เขา เพราะลูกร้องเสียงดังรบกวนชาวบ้าน

เด็กน้อยหัวเราะเอิ๊กอ๊ากเมื่อแม่ยื่นเจ้าหนูให้พ่ออุ้ม ก่อนจะกลับไปนั่งยังเบาะตนเอง ข้อสงสัยที่ว่าทำไมสองคนนี้ถึงไม่นั่งด้วยกันปรากฏชัดตั้งแต่ก่อนที่ข้าพเจ้าจะตั้งคำถามกับตัวเองด้วยซ้ำ เมื่อสังเกตจากแววตาเย็นชาและท่าทีเมินหมางที่ทั้งสองหยิบยื่นให้แก่กันผ่านปราการความรู้สึกหนาแน่นที่กั้นกางอยู่ระหว่างเบาะรถเมล์ทั้งสองฟาก

เด็กน้อยน่ารำคาญเมื่ออยู่ในอ้อมอกของพ่อจ๋าแล้วก็มิวายร้องขึ้นมาอีกว่า แม่จ๋า แม่จ๋า ด้วยเสียงระดับเดซิเบลเท่าเดิม พ่อจ๋าอุ้มเด็กน้อยพลางบอกให้ลูกหยุดร้องหาแม่สักพัก เมื่อเห็นว่าไม่ได้ผลก็ส่งกลับไปให้แม่จ๋า แม่จ๋ารับลูกไปอุ้มสักพักเด็กก็ร้องหาพ่อจ๋า ทั้งสองผลัดกันรับส่งเด็กน้อยน่ารำคาญคนนี้ไปมาเหมือนโยนลูกบอล เจ้าลูกบอลเสียงแปดหลอดหัวเราะอารมณ์ดีเหมือนกำลังเล่นเกมสนุก ๆ กับพ่อจ๋าแม่จ๋า

ข้าพเจ้ายิ้มบาง ๆ มองไปนอกหน้าต่าง รถราในกรุงเทพฯ ยังติดเป็นตังเมเช่นเคย เสียงร้องพ่อจ๋าแม่จ๋าของเด็กน้อยอาจจะเพิ่มความหงุดหงิดให้กับผู้โดยสารคนอื่นเป็นทบทวี เว้นแต่ข้าพเจ้าที่รู้สึกต่างไปจากครั้งแรกที่ได้ยิน บางจังหวะในเสียงร้องของเด็กน้อยน่ารำคาญชวนให้ข้าพเจ้านึกถึงท่วงทำนองเศร้า ๆ ของบทกวีสักบทที่ข้าพเจ้าจำชื่อไม่ได้


วุฒินันท์ ชัยศรี
๘ มีนาคม ๒๕๕๕

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น