วันศุกร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2555

จดหมายถึงนักเขียนหนุ่ม ฉบับที่ 8

(1.) เครื่องอัดเสียง

เรื่องมันเริ่มง่าย ๆ ว่า เครื่องอัดเสียงเครื่องเก่าเริ่มจะชาร์จไฟไม่เข้าแล้ว อีกไม่นานมันก็คงลาโลกไปตามอายุขัย ตามประสาเครื่องใช้ไฟฟ้าสมัยนี้ที่อายุการใช้งานสั้นเสียเหลือเกิน อันที่จริงจะฝืนชาร์จก็พอไหว เพราะเสียบคอมแล้วไฟยังวิ่งอยู่ แต่ด้วยความที่กำลังจะมีเงินเลยอยากได้เครื่องใหม่ ฮาฮา

ผมเป็นพวกหลงใหลในอารยธรรมของโซนี่ มีเครื่องอัดเสียงรุ่นหนึ่งของโซนี่ที่เห็นแล้วชอบมาก ดูเท่สุด ๆ ถ้าเอามาใช้คงดูเป็นโฟรเฟสชั่นแนลดี ติดอยู่แค่ราคาเกือบเจ็ดพันเลยคิดหนัก พอจะถอยลงไปหารุ่นราคาห้าพัน ก็บอกตัวเองว่า เพิ่มอีกสองพันก็ได้รุ่นที่อยากได้แล้วนะ แต่พอเลื่อนงบขึ้นมาหาไอ้เครื่องอัดเสียงที่อยากได้ ภาพไอพอดคลาสสิคที่อยากได้ก็วิ่งเข้ามาในหัว ด่าตัวเองหน้ากระจก ไอ้ห่า บวกอีกสองพันมึงก็ได้ไอพอดคลาสสิค 160 Gb แล้วนี่นา อัดเสียงได้ด้วย (มั้ง) การต่อสู้ระหว่างกิเลสอยากได้นู่นนี่ตามประสายาจกถูกหวยกับความงกเลยเริ่มขึ้น

หยิบประเด็นมาคุยกับรุ่นน้องคนหนึ่ง คุยไปคุยมาเลยบรรลุสัจธรรมด้วยตัวเองซะงั้น บอกตัวเองว่า เออ อีกเดี๋ยวก็จะออกจากวงการไปทำงานประจำอะไรสักอย่างแถวบ้านแล้วนี่นา จะซื้อเครื่องอัดเสียงเทพ ๆ ให้ดูเป็นนักเขียนสารคดีมืออาชีพไปหาพระแสงของ้าวอะไร

"ทำไมพี่กอล์ฟไม่ทำต่อล่ะ" เธอหมายถึงทำงานเขียนสารคดีเป็นอาชีพต่อไป

ชะงักความคิด ก่อนจะนึกขึ้นได้ถึงเป้าหมายที่วางไว้

"พี่อยากกลับบ้านไปดูแลพ่อแม่" คำตอบสร้างภาพให้ตัวเองหล่อสุด ๆ แต่ก็ตั้งใจอย่างนั้นล่ะนะ

"ก็เอาเวลาตอนที่ไม่ได้ทำงานกลับไปอยู่บ้าน ทำงานเมื่อไหร่ก็ค่อยขึ้นมากรุงเทพฯ"

ชะงักความคิดรอบสอง อันที่จริงจะทำอย่างนั้นก็ได้ เพราะตอนทำงานสารคดีแบบฟรีแลนซ์ก็มีระยะเวลาในการเก็บข้อมูลช่วงหนึ่ง นอกนั้นจะทำงานเวลาไหนก็ได้ เอากลับไปทำที่บ้านก็ได้ เวลาตรวจแก้งานค่อยขึ้นมาอีกที ถ้าตอนนี้ไม่ติดว่าทำวิทยานิพนธ์ต้องใช้หนังสือหอสมุด ผมก็คงกลับไปนอนตีพุงที่บ้านสบายใจ

จากนั้นคู่สนทนาก็ยกตัวอย่างรุ่นน้องอีกคนที่ใช้เวลาครึ่งเดือนกลับไปช่วยงานที่บ้าน อีกครึ่งเดือนมาทำงานที่กรุงเทพ บาลานซ์ความฝันกับความจริงได้อย่างสมดุล ผมมองเข็มนาฬิกาที่กำลังวิ่งไม่หยุด เสียงดังติ๊กต่อก ๆ ๆ ไม่รู้เทอมนี้การเรียนของผมจะจบลงหรือชีวิตของผมจะจบลงกันแน่ แต่ที่เลี่ยงไม่ได้คือ ถึงเวลาที่ต้องตัดสินใจกับชีวิตจริง ๆ เสียแล้ว

(2.) หัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต

หลังจบปริญญาตรี ผมเคยหลบหนีช่วงเวลาที่ต้องตัดสินใจว่าจะเอายังไงกับชีวิต โดยเลือกเรียนต่อปริญญาโทและคิดตามประสาง่าย ๆ ว่า เอาน่า---จบไปเป็นอาจารย์มหาลัยก็โอเค คิดเอาเองว่าอาชีพนี้น่าจะเหมาะกับคนที่ยังไม่รู้ว่าชีวิตนี้จะทำอะไรนอกจากเขียนหนังสือ จะให้ไปทำหนังสือ-นิตยสารก็คงไม่ใช่แนวทางที่ชอบ แต่เขียนหนังสืออย่างเดียวก็อยู่ไม่ได้

แต่สองสามปีที่เรียนต่อ เป็นช่วงที่รับเขียนสารคดีฟรีแลนซ์จากที่นู่นที่นี่ ภาพร่างที่เคยปรากฏจาง ๆ ในใจก็ค่อยชัดขึ้น ผมพบว่า เอาเข้าจริง ๆ เขียนหนังสืออย่างเดียวก็อยู่ได้ โดยเฉพาะจากการช่วยงานพี่อรสม (อรสม สุทธิสาคร) การทำงานกับพี่อรสมเป็นการทำงานฟรีแลนซ์ที่ดีที่สุดในสามโลก เงินดี ข้อมูลครบ เป็นข้อมูลที่เขียนได้จริง ไม่ใช่ข้อมูลจากการนั่งเสิร์ชในกูเกิ้ลซึ่งไม่พอสำหรับการเขียน ร่วมงานแล้วสบายใจ มีปัญหาอะไรก็บอกกล่าวกันได้ ที่สำคัญคือ พี่อรสมช่วยปกป้องเราจากเจ้าของงาน ไม่ปล่อยให้เกิดงานงอก แก้แล้วแก้อีกกลับไปกลับมาจนน่ารำคาญ ต่างจากงานฟรีแลนซ์ที่อื่นที่มีข้อมูลให้ในระดับกูเกิ้ล ส่วนคนประสานงานก็พูดหวานกับเราแต่ลมปาก สุดท้ายก็ปล่อยให้งานงอก แก้แล้วแก้อีกตามใจเจ้าของงานทุกอย่างจนมูลค่าความเหนื่อยเพิ่มไปสองสามเท่าในราคาจ้างเท่าเดิม

เลยคิดว่า ถ้าเกาะความดังพี่อรสม ช่วยงานแกไปเรื่อย ๆ คงจะพออยู่ได้ (ฮา) ประกอบกับช่วงที่กำลังประสบปัญหาทางการเงิน พอได้อยู่แบบประหยัดก็พบว่า คนเราแม่งไม่ต้องใช้เงินมากหรอกในการมีชีวิตอยู่ ยิ่งที่บ้านผมปลูกข้าวกินเองยิ่งสบาย

ชักลังเล-ชักลังเล

(3.) ความมั่นคง
ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ที่ไหน ก็คงอยากให้ลูกมีความมั่นคงในชีวิต-อย่างน้อยก็ความมั่นคงทางการเงิน เช่นว่า มีเงินเดือนประจำทุกเดือน มีเงินผ่อนรถมาขับ มีเมีย-มีลูก ชีวิตเดินทางไปตามสเตป Gen X ครั้นจะกลับไปนั่ง ๆ นอน ๆ ที่บ้าน มีงานทีค่อยขึ้นมากรุงเทพฯ ชาวบ้านร้านตลาดคงนินทาได้ว่าลูกชายบ้านนี้ไม่เอาอ่าว ดูสิรถก็ไม่มีจะขับไปไหนมาไหน

คอนเซปต์เรื่องความมั่นคงของแต่ละคนอาจแตกต่างกันบ้างในรายละเอียด แต่ผมคิดว่าโดยหลักใหญ่ใจความแล้วคงเหมือน ๆ กัน

สำหรับผมที่คิดกับชีวิตแบบมินิมอล กลับพบว่าชีวิตตัวเองตอนนี้ก็มั่นคงมากพอควร อย่างน้อยก็มีบ้านซุกหัวนอน มีข้าวกินไม่ขาดแคลน ไม่ต้องสนว่าราคาข้าวจะขึ้นไปเท่าไหร่เพราะปลูกกินเอง ส่วนเรื่องลูกเมียนั้นคิดว่าพอจะตัดทิ้งไปได้ด้วยเหตุผลหลาย ๆ อย่างประกอบกัน ทั้งเรื่องที่ว่าเราคงเป็นคนที่อยู่กับใครลำบาก เว้นแต่จะเป็นคนที่เข้าใจวิถีชีวิตแบบนี้ ส่วนเรื่องลูกก็เหมือนจะเคยเขียนไว้ในสเตตัสสักที่หนึ่ง

สำหรับงานประเภทฟรีแลนซ์ (พุ่งหลาวฟรี) แน่นอนว่าไม่มีอะไรรับประกันว่าจะมีคนจ้างอยู่ตลอด แต่เท่าที่ผ่านมาสองสามปีก็พอจะมีงานเข้ามาเรื่อย ๆ ให้อยู่ได้โดยไม่เดือดร้อน เว้นแต่ช่วงนี้ที่โดนเจ้าของงานและเจ้าของรางวัลต่าง ๆ ออกเงินช้าพร้อมกันหลายงาน บวกกับใช้เงินอนาคตไปซื้อหูฟังใหม่ ตัดแว่นใหม่ เลยกรอบหนักไปหน่อย

ถ้าความมั่นคงของชีวิตที่ว่า มันต้องแลกมาด้วยการต้องตื่นไปทำงานแปดโมงเช้า เลิกงานห้าโมงเย็น นั่งรถเมล์วันละสองสามชั่วโมงกลับมาสลบที่ห้อง ไม่เหลือพลังมากพอจะเขียนงานที่อยากเขียน หรือถึงจะพอเขียนได้ก็คงกระปริบกระปรอยไปทีละนิด ๆ ผมไม่รู้ว่าจะต้องใช้เวลาเท่าไหร่ถึงจะปรับตัวให้เข้ากับความมั่นคงของชีวิตที่ว่าได้

นึกถึงคำพูดของพี่โดมลูกพี่อรสมที่แกบอกว่า ชีวิตตอนนี้มีความสุขมากจนอยากจะสตาฟฟ์ชีวิตช่วงนี้ไว้เลย ผมกลับมาคิดถึงชีวิตตัวเองในตอนนี้ก็พบว่าความรู้สึกไม่ต่างกัน ได้ตื่นในเวลาที่อยากตื่น ได้นอนในเวลาที่อยากนอน วันนี้วันจันทร์รึ? อยากตื่นสักเที่ยง ๆ นะเพราะเมื่อคืนเชียร์แมนยูหนักไปหน่อยก็ทำได้  (เว้นแต่วันที่มีนัดสัมภาษณ์หรือประชุมงาน) อาทิตย์นี้ต้องหมุนเวลากลับด้าน นอนกลางวันทำงานกลางคืนก็ทำได้ อยากกินอะไรก็ซื้อมากินได้ อยากได้ Gadget ฟุ่มเฟือยเช่นว่ามือถือ Xperia Arc S มาถือโก้ ๆ ถอยหูฟัง Beats ก็มีเงินพอซื้อได้ไม่ต้องขอแม่

ไปรับงานขององค์กรขนาดใหญ่งานหนึ่งมา ระยะเวลาการทำงานหนึ่งปี ได้เงินเฉลี่ยเดือนละหมื่น อาจไม่มากไม่มายเมื่อเทียบกับงานประจำ แต่เมื่อคิดว่าเวลาทำงานจริง ๆ เอางานยิบย่อยทั้งปีมาตีเป็นสามเดือน คือหกสิบวันเก็บข้อมูล สามสิบวันเขียน เวลาที่เหลืออีกเก้าเดือนคือเวลาที่ได้มาฟรี ๆ ซึ่งเราก็ใช้มันได้ดังใจ จะเอาไปเขียนอย่างอื่นได้ เช่นว่าเขียนเรื่องสั้นส่งหน้านิตยสารหรือส่งประกวดบ้าง ถ้ายังมีงานอย่างนี้อยู่เรื่อย ๆ เราก็ยังใช้ชีวิตแบบนี้อยู่ได้เรื่อย ๆ ดังนั้นพอคิดว่าอีกไม่นานต้องจากชีวิตแบบนี้ไปก็ใจหาย

สำหรับผมนี่คือความมั่นคงในชีวิต แต่น่าเสียดายที่ไม่ตรงตามที่สังคมบอกไว้

(4.) วัยหนุ่ม

หรือจะกลับไปทำงานประจำตามที่ตั้งเป้าหมายไว้แต่เดิม พ้นจากภาระและความคาดหวังทั้งหลายจากครอบครัวแล้วค่อยกลับมาใช้ชีวิตอย่างที่อยากใช้

เช่นนั้นวัยหนุ่มของผมอาจจะหล่นหาย

วัยหนุ่มเราก็เขียนงานได้อย่างหนึ่ง พอแก่ตัวไปงานก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง ผมไม่เคยอ่านงานในวัยแก่ของตัวเอง (ฮา) แต่ผมคิดว่าค่อนข้างพอใจกับงานในวัยหนุ่ม เพราะได้พูดในสิ่งที่อยากพูดทั้งหมดแบบตรงไปตรงมา ไม่มีจริตเสแสร้งไปตามสภาพความเจนโลก จอห์น สไตน์เบ็คยังเคยบอกว่าอยากตายตอนอายุ 19 ปี เพราะในวัยนั้นเขาได้เขียนในสิ่งที่อยากเขียนอย่างตรงไปตรงมาที่สุดแล้ว

ผมไม่ใช่นักเขียนที่เก่งอาจอะไรพอจะเทียบกับตำนานเหล่านั้น งานของผมก็ไม่ได้ดีเด่อะไรกว่าคนอื่นเป็นพิเศษ เพียงแค่คิดว่า ถ้าปล่อยให้วัยหนุ่มช่วงนี้หล่นหาย พอแก่ตัวไปจะมาเสียดายทีหลังมั้ยว่า--- ไอ้ห่าเอ้ย ทำไมตอนนั้นมึงไม่เขียนเรื่องนี้ด้วยวัยหนุ่มนะ มาเขียนตอนแก่แล้วแม่งดัดจริตชิบหาย

เงื่อนเวลาและเงื่อนไขหลาย ๆ อย่างมันเริ่มกระชั้นเข้ามา ทำให้ผมต้องคิด---คิดมากขึ้นกับหัวเลี้ยวหัวต่อที่แท้จริงของชีวิต เพื่อนคนหนึ่งหล่นปรัชญาฮาเฮไว้ในวงเหล้าว่า ชีวิตถ้าคิดมากเกินไปแม่งก็ไม่สนุก ผมเห็นด้วยแต่ก็แอบเติมประโยคท้ายไปว่าถ้าคิดน้อยเกินไปมันก็ไม่ใช่ชีวิตที่ดี คนเราต้องบาลานซ์ตัวเองให้ได้ระหว่างความจริงกับความฝัน

แต่---ด้วยวิธีใด

    "ฉันคิดว่าสิ่งมีชีวิตที่เกิดมาเพียงวันเดียว มันเป็นห้วงเวลาที่น่าตื่นเต้น และมีความหมายอย่างที่สุด แต่ละวินาที คือการเรียนรู้ การหาประสบการณ์ มันคงเต็มไปด้วยความสนุกสนาน แม้ห้วงเวลาจะสั้น แต่ความรู้สึกกลับประทับใจ

    พวกเรามีชีวิตยาวนานเกินไป ความงดงามในชีวิตของพวกเราจึงลดน้อยลง โดยที่พวกเราไม่รู้สึกตัว"


โรงเรียนที่เงียบที่สุดในโลก ของฟ้า พูลวรลักษณ์ บอกความจริงอันน่าเศร้านี้ไว้ในซอกมุมหนึ่ง

มิน่าล่ะ ทำไมอาว์ 'รงค์ ถึงชอบพูดว่า "ไม่มีพรุ่งนี้" เพราะหากไม่มีพรุ่งนี้ วันนี้เราคงจะวิ่งชนสิ่งที่อยากทำโดยไม่ต้องคิดเรื่องไร้สาระอะไรให้มากความ

"ทำไมพี่กอล์ฟไม่ทำต่อล่ะ" แว่วเสียงน้องคนนั้นขึ้นมาในความคิดอีกครั้ง

ตอนนี้ผมยังตอบเธอให้ชัดไม่ได้ เพราะคิดไม่ออกว่าทำไม หวังว่าเมื่อถึงเวลาที่ต้องตัดสินใจ ผมจะคิดคำตอบที่เหมาะสมที่สุดได้เสียที


วุฒินันท์ ชัยศรี
๒๓ มีนาคม ๒๕๕๕

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น